แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

ชื่อกระทู้: สวนปฏิบัติธรรมชมวิว บ.นางิ้ว อ.สังคม จ.หนองคาย สถานที่เหมาะแก่การปลีกวิเวก [สั่งพิมพ์]

โดย: UMP    เวลา: 2014-10-30 20:25     ชื่อกระทู้: สวนปฏิบัติธรรมชมวิว บ.นางิ้ว อ.สังคม จ.หนองคาย สถานที่เหมาะแก่การปลีกวิเวก

สวนปฏิบัติธรรมชมวิว ยินดีต้อนรับผู้อยากปลีกวิเวกอย่างแท้จริง ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย พระและแม่ชี  ที่นี่อยู่กลางหุบเขา ห่างจากหมู่บ้าน 5 กม. ถนนเป็นดินแดง ใช้น้ำประปาภูเขา ใช้ไฟจากโซล่าเซลล์ ไม่มีทีวี ไม่มีตู้เย็น สัญญาณโทรศัพท์มีเพียงบางจุด ห่างไกลบ้านคน ยินดีต้อนรับเฉพาะผู้มาปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐาน 4 เท่านั้น ไม่ยินดีต้อนรับผู้เน้นด้านคาถาอาคม เครื่องราง บอกหวย พระเครื่อง เครื่องรางของขลัง มาทำพิธีต่างๆให้ชาวบ้าน  หรือผู้ที่มาเพื่อหลบหนีบางสิ่ง มาแล้วไม่ปฏิบัติ ไม่ทำงานดูแลเสนาสนะ เอาแต่นั่ง นอน กิน สอบถามรายละเอียดได้ที่ คุณแม่ชีเกณฑ์  086-1009373 (วันทูคอล) และติดตามภาพบรรยากาศบนสวนปฏิบัติธรรมชมวิว ได้ที่  เฟสบุค สวนปฏิบัติธรรมชมวิว
https://www.facebook.com/media/s ... 76685810&type=1



โดย: UMP    เวลา: 2014-10-30 20:26



โดย: UMP    เวลา: 2014-10-30 20:27


โดย: UMP    เวลา: 2014-10-30 20:28

"จิตตกภวังค์"

ผู้ปฏิบัติธรรม : แม่ชีค่ะ ช่วงหลังเวลานั่งสงบหรือไม่สงบก็ปล่อยมันไป ถ้ามันไม่สงบคิดตลอดก็ให้มันคิดไป มองไปเรื่อยๆ ก็รู้ว่ากำลังคิด สักพักมันก็สงบไปเอง ที่สงสัยคือเราเห็นมันตลอดอยู่ดีๆ มันหายไป เราตกภวังค์ไปรึเปล่า

คุณแม่ชีเกณฑ์ : คุณโยมมีสติรู้มันไป รู้ไปรู้มา ไม่ปรุงแต่งมันก็เลยหยุด เพราะจิตคุณโยมเป็นหนึ่ง มันก็เลยสลายไป ถ้าปรุงแต่งมันไม่มีคำว่าหยุด คำว่าตกภวังค์จะอยู่ในลักษณะนี้ นั่งอยู่อาการโงกอ่อนเอนจะไม่รู้ตัวเลย นั่งอยู่ก็ไม่รู้ว่าตัวเองนั่ง หายไปเหมือนอยู่บนอากาศ เขาเรียกว่าจิตตกภวังค์ นิ่งไม่รู้จักตัวเอง คิดก็ไม่รู้ว่าคิด 

เวลาไปประสบกับอารมณ์ข้างนอก มันโกรธรู้ใช่มั้ย ถึงมันไม่ดับไปชั่วขณะ ก็ตามมันไป ไม่ต้องนั่งสมาธิมันก็หายไปเองเพราะไม่ไปปรุงแต่ง มันก็สลายไปแต่ช้า ไม่เหมือนดับด้วยปัญญาที่ดับได้อย่างฉับพลัน คุณโยมนั่งหูได้ยินเสียงมั้ย 

ผู้ปฏิบัติธรรม : แรกๆก็ได้ยิน ต่อไปก็ไม่ได้ยิน
คุณแม่ชีเกณฑ์ : เขาเรียกว่าจิตมันนิ่ง เข้าสู่ภวังค์แต่ภวังค์ยังไม่ลึก ภวังค์ที่มีความรู้ตัวอยู่ ถ้าใครเข้าภวังค์ไม่รู้อะไรเลย ตัวเอนก็ไม่รู้อันนั้นลำบาก มันมีแต่สมาธิ ไม่มีสติควบคุมกาย ต้องเจริญทั้งสติ สมาธิ ปัญญาให้เท่ากันมันจะสมบูรณ์ เพิ่มสติ เพิ่มปัญญาเข้าไปให้มันดับได้ทัน มันไม่ทันก็รู้เท่าทันอย่าหลบมัน อย่านั่งนาน นั่ง 5-10 นาทีแล้วก็เดิน 5-10 นาที สลับไปมากระตุ้นให้มันรู้ตัวตลอด 

พอเริ่มไม่ได้ยินเสียง ไม่รู้ตัว ลุกทันทีอย่าให้ติดเป็นนิสัย พอนั่งใช้จิตสำรวจกายตั้งแต่หัวจรดเท้า ตั้งแต่เท้าจรดหัวเป็นระยะ นั่งหลังงอมั้ยยืดขึ้นมาให้ตรง หูได้ยินเสียงมั้ย ร้อนหรือเย็น ใจมันคิดมั้ย ลมเข้าลมออกรู้ตลอดมั้ย พอมันกำลังจะจมแช่ลุกทันที ดีขึ้นแล้วก็ค่อยๆเพิ่มเวลา แล้วตอนนั้นจะเป็นสัมมาทิฏฐิ รู้หมด รู้ได้เต็มเปี่ยม ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ เป็นกลางๆ เกิดขึ้นมันก็รู้แต่ไม่ไปยึดไปติด จนมันจางคลายเราก็รู้


โดย: UMP    เวลา: 2014-10-30 20:28

"การเดินจงกรม 6 จังหวะ สำหรับผู้ที่ทุกข์ใจและฟุ้งมาก"

1. ยกส้น...(หยุด)...หนอ...(หยุด)
2. ยก...(หยุด)....หนอ...(หยุด)
3. ย่าง...(หยุด)...หนอ...(หยุด)
4.ลง...(หยุด)...หนอ...(หยุด)
5. ถูก...(หยุด)....หนอ...(หยุด)
6. เหยียบ...(หยุด)....หนอ...(หยุด)

นอกจากจะรับรู้ที่เท้า ปาก ใจ หูก็ยังคงได้ยินเสียง บางทีมันก็รู้ลมหายใจ ตาก็เห็นสัตว์ที่เดินบนพื้นดิน รู้อากาศร้อนเย็น จิตแว่บออกไปคิดก็รู้

ออกเสียงดังทุกจังหวะและคำว่าหนอ ให้การรับรู้ของเท้า ปากและใจตรงกัน หากความคิดเข้าแทรกหยุดค้างไว้ทันที ความคิดดับจึงไปต่อ หากมันไม่ยอมดับก็ค้างไว้เลย เมื่อขาเริ่มเกร็งมันจะทิ้งความคิดมารับรู้อาการที่ขา การเดินจงกรมเช่นนี้ เป็นวิธีที่ขัดใจมากสำหรับผู้ที่ใจร้อน อารมณ์รุนแรง มันจะดิ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน 

ขณะที่หยุดค้างไว้ ให้เราดูใจที่มันดิ้น มันหยุดดิ้นเมื่อไหร่จึงจะไปต่อ อดทนฝืนจิตไม่ทำตามที่มันสั่งให้ได้ 1-2 อาทิตย์มันก็จะหยุดดิ้น ยกเว้นคนที่ไม่สม่ำเสมอและไม่เอาจริง เมื่อมันหยุดดิ้นความสงบเย็นจะเกิดขึ้น 4 วันแรกจะปวดเมื่อยไปทั้งตัว เริ่มแรกตัวจะเอียงซ้ายเอียงขวาให้ทำความรู้สึกไปตามอาการเอียง ถ้ามันคิดติดกันเป็นลูกโซ่ ให้กำหนด คิดหนอๆเอาจนมันหยุด 

วิธีนี้เป็นวิธีหักดิบ ผู้ที่ความอดทนน้อยมักจะถอยไปเสียก่อน สิ่งที่จำเป็นมากคือความต่อเนื่อง อย่างน้อยวันละ 1 ชม. เป็นเวลา 2 อาทิตย์จึงจะเริ่มเห็นผลชัดเจน หลังการปฏิบัติทุกครั้ง คุณแม่ท่านให้แผ่เมตตาเจาะจงให้เจ้ากรรมนายเวรเราก่อน เมื่อจิตใจเราเข้มแข็งขึ้นจึงจะแบ่งปันให้ผู้อื่นได้ และหมั่นตักบาตรให้เขาด้วย 

เรื่องใดที่ขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำอีก ให้พิจารณาไตร่ตรอง ทำไมใจเรายังคิดเรื่องนี้ ยังคาใจตรงไหน ตัดสินใจเด็ดขาดกับมันว่าจะทำยังไงแล้วก็วางมัน และคอยเตือนตัวเองหากตายขณะนี้ ต้องไปเกิดเป็นจิ้งจกตุ๊กแกเฝ้าอยู่บ้านเขาแน่นอน การรับรู้หลายจุดถี่ๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดสติและให้สติเร็วขึ้น 

เมื่อมีสติ ก็จะเกิดสมาธิ และปัญญาในการแก้ไขปัญหาก็จะตามมา ส่วนการหยุดนั้น เพื่อให้เห็นการเกิดดับของการรับรู้และความคิด ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกิดแล้วดับในทันที เมื่อเข้าใจในความเป็นจริง มันก็จะค่อยๆ ยอมรับว่าทุกสิ่งมันจบไปแล้ว และเลิกที่จะไปขุดคุ้ยขึ้นมาอีก เมื่อถึงเวลาที่จิตเขาก้าวเดินเองได้ คำบริกรรมก็จะค่อยๆ เลือนหายไป 

ภาพจาก....http://topicstock.pantip.com/cha ... 4907/A12094907.html


โดย: UMP    เวลา: 2014-10-30 20:29

"เสียงมาหาหูหรือหูไปหาเสียง"

เมื่อเริ่มปฏิบัติกับคุณแม่ ขณะที่ใจยังทุกข์และฟุ้งซ่านมาก ท่านให้คำถามนี้เป็นการบ้าน ท่านให้เวลาให้เราดูให้ดีให้มั่นใจที่สุดก่อนจะตอบ แม้จะได้ยินเสียงมาชั่วชีวิตแต่ไม่เคยสนใจว่า มันมาหาเราหรือเราไปหามัน ท่านให้เราหาคำตอบนี้ไปทำไมหนอ ไม่เคยมีใครถามเช่นนี้ สำหรับคำตอบนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องหาด้วยตัวเองจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด

ผลจากการหาคำตอบ เพิ่งรู้ตัวว่านี่เราส่งจิตออกไปฟังเสียงข้างนอกที่ต้นกำเนิดตลอดเลย ถึงว่าสิมันจึงถูกปรุงแต่งง่ายไม่เคยทันกิเลสในใจเลย เราเข้าใจความเป็นจริง ไม่จำเป็นต้องพุ่งใจทั้งหมดออกไปฟังเสียงที่ต้นกำเนิด แค่ที่หูหรือไม่ไปไหนก็ได้ยิน 

เสียงมีมากกว่าที่เคยได้ยิน ได้ยินเสียงนี้แล้วดับ ไปได้ยินอีกเสียง เสียงนั้นดับก็มาได้ยินอีกเสียง เสียงนี้ดับก็มาได้ยินเสียงนี้อีก เราไม่สามารถเลือกฟังเสียงได้ ชอบหรือไม่ชอบก็ต้องได้ยิน ทุกเสียงเกิดแล้วดับ ไม่มีอะไรเหลือตกค้างอยู่เลย เสียงที่ไม่ชอบมันขังอยู่ในใจ เสียงคนพูดมันเกิดความคิด เสียงภาษาอังกฤษมันว่างเปล่า 

บ้านนี้เปิดเพลงเสียงผ่านเลยไป บ้านคนที่เราไม่ชอบเปิดเพลง มันขังอยู่ในใจ เพลงสากลมันก็ผ่าน เพลงเด็กวัยรุ่นเร็วๆ มันขังอยู่ในใจ ความคิดกับเสียงที่ได้ยินดังเท่ากัน เพิ่งเข้าใจว่าเราได้ยินเสียงเพราะการรับรู้ของใจ เสียงไหนไม่สนใจก็ไม่ได้ยิน คิดต่อเนื่องยาวๆ เสียงที่ได้ยินก็น้อยลง หยุดคิดก็ได้ยินมากขึ้น

เมื่อเข้าใจจึงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองเสียใหม่ คือไม่ส่งใจออกไปฟังเสียงข้างนอก มันพุ่งออกไปรับรู้ก็ดึงมันกลับมา พยายามบอกความจริงให้มันเข้าใจให้ถูกต้อง กลิ่นกับข้าวในครัว ภาพที่เห็น ลมที่พัดเย็นก็เช่นเดียวกันเกิดที่จมูก ที่ตาและผิวของเรา ไม่ใช่ในครัว ไม่ใช่ภาพที่เห็นและไม่ใช่ในอากาศ ไม่ต้องส่งใจออกไปให้เหนื่อย ทุกอย่างเกิดในบ้านของเรา ไม่ต้องวิ่งออกไปก็รู้ได้

ความจริงหนึ่งที่ประจักษ์ เสียงทุกเสียงเกิดแล้วดับทันที แล้วเสียงที่เขาว่าเมื่อนานมาแล้วทำไมยังดังอยู่ในหัวเรา เสียงมันดับไปแล้วนี่นาแล้วใครละที่ว่าเราอยู่นี่ โอ้ อนิจจา เราต่างหากละที่ว่าตัวเอง ตำหนิตัวเอง เขาไม่ผิดอะไรเลย คนที่ทำให้เราจมทุกข์อยู่นี่ไม่ใช่เขา แต่เป็นเราต่างหาก เมื่อรู้ตัวมันก็หยุดจมทุกข์ ลุกขึ้นมาปัดฝุ่นทำตัวเองเสียใหม่ สนใจชีวิตปัจจุบันมากขึ้นและก้าวเดินต่อไป

คุณแม่ท่านย้ำเสมอ จะเดิน จะนั่งหูต้องได้ยินเสียง ในชีวิตประจำวันหูก็ต้องได้ยินเสียงอยู่ตลอด ใช่ถ้าเราทิ้งความคิดหูก็จะได้ยินเสียง ไม่จมกับความคิดนานเกินไป เป็นการกระตุ้นให้มีสติอยู่กับตัวตลอด จุดเล็กๆ นี้เอง เสียงมาหาหูหรือหูไปหาเสียง หากเข้าใจอย่างถ่องแท้ นี่คือจุดที่ทำให้เกิดปัญญาต่อยอดขึ้นไปอีก เราจะเข้าใจการปฏิบัติธรรมได้ง่ายและละเอียดละออ 

ภาพจาก http://www.oknation.net/blog/hom ... FallVilMediSTxt.jpg


โดย: UMP    เวลา: 2014-10-30 20:29

"ลมหายใจเข้ามีลักษณะอย่างไร"

ขณะที่เราหายใจเข้า รู้ว่าขณะนี้จิตของเราอยู่กับปัจจุบันอารมณ์มั้ย ให้รู้ว่าลมหายใจเข้ามันยาวขนาดไหน เหมือนแม่ให้บริกรรมพอง ดูสิมันสุดตรงไหน มีอาการพองอยู่ตรงไหน แล้วมันมีลักษณะอย่างใด หายใจเข้าไปให้เต็มปอด ดูว่าขณะนี้เราหายใจเข้ายาวสุดมั้ย แล้วความรู้สึกนึกคิดขณะที่หายใจเข้ามีอารมณ์เจือปนมั้ย มีความปรุงแต่ง มีความรู้สึก มีอุปาทานอะไรอยู่ในใจเรามั้ย ใจเราสอดส่ายไปหาอารมณ์ห่วงใยอะไรรึเปล่า 

ให้เราอยู่กับลมหายใจทุกขณะ ให้พิจารณาตามไป มีสติรู้ตามมากมั้ย หายใจเข้าเต็มปอดสุดอยู่ตรงไหน มีความคับแค้นอึดอัดลมหายใจมั้ย หรือมันปลอดโปร่ง มันเบาในกายมั้ย ให้มีสติรู้ตัวทั่วพร้อมอย่างนี้ แล้วดูว่าอารมณ์ที่หายใจเข้า มันมีแต่ลมหรือมันมีความรู้สึกนึกคิด มีเวทนาในใจมั้ย ความยึดถือ ห่วงสมบัติ ห่วงลูก ห่วงสามี ห่วงความที่จะไม่มี อยู่ในจิตมั้ย

ให้เรารู้เท่าทันว่า เรากำลังทุกข์ เรากำลังเกาะอยู่กับอารมณ์อันใด ให้เรารู้ขณะที่ลมหายใจเข้ายาว ลมหายใจเข้าสั้น เราก็รู้ว่ามันสั้น มันอยู่ในช่วงใด อยู่สุดท้องน้อยหรืออยู่เหนือสะดือขึ้นมา หรือแค่ลมหายใจอยู่ปลายจมูกหรือปลายหน้าอกเรา หรืออยู่แค่ช่วงคอ เมื่อมันแผ่วเบา บางคนบอกว่าเหมือนไม่หายใจเพราะจิตไม่ได้มีอารมณ์ใดๆ จิตที่ไม่เกาะเกี่ยว จิตที่เบา ลมหายใจเข้าก็เหลือน้อย เบา หายใจเข้าให้รู้ หายใจออกให้รู้ หายใจเข้ายาวก็ให้รู้ หายใจออกสั้นก็ให้รู้ รู้อาการว่ามันเบามันหนัก เรารู้อาการว่าจิตมีแต่ความว่างเปล่ากับลมหายใจมั้ย หรือมีความขุ่นมัวอยู่ในใจมั้ย

ถ้าบริกรรมก็ให้คำบริกรรมกับลมหายใจเข้าหรือออก เป็นขณะเดียวกันไปจนสุดลม ไม่ต้องไปบังคับ ทำใจให้สบาย เบาๆ เป็นหนึ่งเดียวกัน และดูว่าเราตามรู้ทุกขณะมั้ยหรือมันแว่บไปคิด มันเกิดความรู้สึกอะไรเข้าแทรกมั้ย ถ้ามันคิดไม่ยอมกลับมาให้กำหนดคิดหนอๆ หรือกำหนดไปตามความรู้สึกที่มันขึ้นมา มันง่วง ตกภวังค์ หรือไม่มีกำลังที่จะหยุดคิด ก็ให้ลุกขึ้นเดินจงกรม ถ้าเดินจงกรมก็ยังไม่หาย ให้จับไม้กวาดมากวาดใบไม้แทน ตามรู้อาการเคลื่อนไหวไป จะทำให้เราสลัดความคิดนั้นออกไปได้

คุณแม่ขอฝากคำถามทิ้งท้ายสำหรับการดูลมหายใจ หายใจเข้าก่อนที่ลมจะออกมันหยุดก่อนมั้ย พอหายใจออกไปแล้ว ก่อนที่มันจะกลับเข้ามามันหยุดก่อนมั้ย และอีกคำถาม หายใจเข้ากับหายใจออก เป็นขณะเดียวกันหรือคนละขณะ


โดย: UMP    เวลา: 2014-10-30 20:30

"เมื่ออารมณ์เข้าแทรกกำหนดอย่างไร"

ผู้ที่บริกรรมพุทหายใจเข้าก็จับดูพุท หายใจออกก็โธ ผู้ที่พองหายใจเข้าก็ดูอาการท้องพอง หายใจออกก็ดูอาการท้องยุบ ผู้ที่ไม่ปรากฏพองยุบเห็นแต่อาการลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ก็ดูแต่อาการและให้มีสติระลึกรู้ประคองตั้งจิตไว้ 

คำว่าประคองคือมีสติให้ต่อเนื่อง ให้เห็นว่าขณะนี้ที่เรากำลังบริกรรมพองหรือยุบ จิตของเราวิ่งออกไปหาอารมณ์อื่นมั้ย มีอารมณ์พอใจและอารมณ์ยินร้ายเข้ามาแทรกในจิตเรามั้ย ถ้าเข้ามาแทรกก็พิจารณาว่า รู้หนอๆ หรือว่ากำหนดไปตามอาการที่มันคิด ที่มันมีความรู้สึก คิดถึงอะไรก็คิดหนอๆ อย่างเดียวก็ได้ ถ้าหงุดหงิด ก็หงุดหงิดหนอๆ ทุกข์ก็ทุกข์หนอๆ มีความทุกข์มีความคับแค้นใจ นิวรณ์ 5 ชอบใจ ไม่ชอบใจ ง่วง ฟุ้ง สงสัย 6 คือนิมิต ให้กำหนดอารมณ์ที่อยู่ในใจ แล้วให้กลับมาดูพอง ดูยุบ 

พอหูได้ยินเสียงก็ได้ยินหนอๆ แต่ให้หยุดพองหยุดยุบ ให้ไปกำหนดแต่อาการที่มันแทรกเข้ามา แล้วก็กลับมาดูพองยุบ สงบก็รู้ว่าสงบ ไม่สงบก็รู้ว่าไม่สงบ รู้สึกเห็นอาการทุกอย่างในกาย เวทนาเกิดขึ้น เจ็บปวดก็รู้ มีสติรู้ว่า เออ มันเป็นธรรมดาของมัน พระพุทธองค์ท่านชี้แนวโลกุตตระ รู้อะไรละอย่างเดียว ไม่ยึด ไม่ติด ไม่เกาะ เพราะการยึดการติด เป็นภพเป็นชาติ 

ผู้ใดที่เข้าฌานเพื่อระงับจากนิวรณ์ทั้งหลายได้ง่าย มันก็ยังเป็นณานที่ไม่ใช่ทางหลุดพ้น เป็นณานโลกีย์ที่ยังยึด ยังติดอยู่ ไม่รู้เนื้อรู้ตัว ออกมาถึงรู้ ถ้าตายจะไปอยู่ในอรูปพรหม ไม่มีหู ไม่มีตา จมูกก็ไม่มี มีช่องเล็กๆ เหมือนน้ำเต้า มีรูให้ลมออกจากตรงนั้น มีแต่ความรู้สึกอย่างเดียว ตั้งอยู่เหมือนก้อนหิน ไม่กระดุกกระดิกหลายหมื่นปี ออกจากนั้นก็เวียนว่ายตายเกิดอีก 

ทำไมไม่มีแข้งไม่มีขาเพราะตอนนั่งเข้าณาน รู้สึกเหมือนตัวเองไม่มีตัวไม่มีตน มีแต่ความรู้สึกลมหายใจเข้าลมหายใจออก อะไรมาต้องกายก็ไม่รับรู้ หูได้ยินเสียงไม่รับรู้ แต่มันเป็นไปไม่ได้ เพราะเรามีกายหยาบอยู่จำเป็นต้องรู้ตัวทั่วพร้อม เราถึงจะทำลายขันธ์ได้ พระพุทธองค์ท่านไม่สรรเสริญเพราะทำให้เราไปยึด ไปเกาะไปติดอยู่ เมื่อถึงเวลามันก็จะเป็นไปเองจากสมาธิที่มีสติ และจะเป็นณานที่เป็นสัมมา มีสติครบถ้วนบริบูรณ์



โดย: UMP    เวลา: 2014-10-30 20:31

"ตกภวังค์หลับและฟุ้งซ่านมาก คิดหนอก็แล้วมันไม่หยุด ทำอย่างไรดีค่ะ"

นั่ง 5 นาทีและลุกขึ้นเดิน ถ้ายังหลับอีกหดเวลาลงมาแค่ 2 นาที หรือพอมันกำลังจะไหลลงไปก็ลุกเดินทันที เดินได้สักรอบก็ลงมานั่ง ทำไปอย่างนี้จนครบชม.

ยิ่งเดินจงกรมไปเรื่อยๆ ไม่เห็นอาการเกิดดับ เรื่องที่คิดมันก็ไม่ดับ ให้ลองเดิน-หยุดช้าๆ 6 จังหวะ จะบริกรรมออกเสียงหรือบริกรรมในใจก็ได้ ให้จิตอยู่กับการเคลื่อนของเท้า จังหวะหยุด และคำบริกรรม จิตจะทิ้งอารมณ์ที่เกาะอยู่มารับรู้คำบริกรรมและการเคลื่อนของเท้าถี่ๆ และการหยุดที่เท้า สติจะถูกกระตุ้นให้รับรู้บ่อยๆ มันก็จะหายง่วง และหายฟุ้งซ่าน

วิธีเดิน 

1. ยกส้น..(หยุด)...หนอ...(หยุด)

2. ยก...(หยุด)...หนอ...(หยุด)

3. ย่าง...(หยุด)...หนอ...(หยุด)

4. ลง...(หยุด)...หนอ...(หยุด)

5. ถูก...(หยุด)...หนอ...(หยุด)

6. เหยียบ...(หยุด)...หนอ...(หยุด)

ถ้าทำอย่างไรก็ไม่หยุดคิดและไม่หายง่วง จะเดินเร็วเหมือนวิ่งก็ได้ แต่ถ้าใจมันเซ็ง อะไรก็ทำไปแบบงั้นๆ ให้ลุกขึ้นเปลี่ยนอิริยาบถ จับไม้กวาดกวาดบ้านหรือถ้ามาวัดก็กวาดใบไม้ในวัด สักพักความคิดก็ดับ อาการง่วงก็หายไป และให้เราสำรวจตัวเอง พักผ่อนพอไหม ถ้ามันน้อยเกินก็ปรับเวลาให้เหมาะสม 

เรื่องมันคาอยู่ในใจเรามากมั้ย ตัดสินใจจัดการให้เด็ดขาดแล้วก็วาง และเตือนตัวเอง หากเราตายไปขณะนี้ จิตเราต้องไปเกาะคนนั้นนั้นแน่นอน ไปเกิดเป็นจิ้งจกตุ๊กแกในบ้านเขา ถ้าอารมณ์รุนแรงมันก็จะไปเกิดเป็นสัตว์ที่ดุร้าย สัตว์ที่มีพิษร้ายในบ้านเขาแน่นอน เตือนมันบ่อยๆให้มันกลัว มันจะได้วาง


โดย: UMP    เวลา: 2014-10-30 20:31

"คุยกับคุณแม่ชีเกณฑ์ ผู้สร้างสวนปฏิบัติธรรมชมวิว บ.นางิ้ว อ.สังคม จ.หนองคาย"

สอบถามการปฏิบัติหรือสอบอารมณ์กับ คุณแม่ชีเกณฑ์ ได้ที่ 086-1009373 (วันทูคอล) และ 086-8540049 (ดีแทค) 11.00-16.00 น. , 19.00-22.00 น , 4.00-5.00 น.


โดย: UMP    เวลา: 2014-10-30 20:32

"หนูจะเดินปัญญายังไงค่ะ คุณแม่ชี" 

เวลาคุณนั่งตัวก้มตัวเงย คุณมีสติรู้ตัวอยู่ตลอดมั้ย หูได้ยินเสียงคุณมีสติรู้มั้ยว่าเสียงเข้ามา พอเสียงมากระทบแล้วคุณยินดียินร้ายมั้ย คุณเกลียด คุณชัง คุณโกรธมั้ย พอใจไม่พอใจคุณมีมั้ย 

ขณะคุณกำลังนั่งสมถะ คุณลองปิดพัดลม ไปที่ธรรมชาติๆ อากาศร้อนๆคุณหงุดหงิดมั้ย คุณทำใจเป็นกลางได้มั้ย ขณะที่อากาศร้อนใจทุรนทุรายมั้ย ใจมันทนได้มั้ย ดีซะอีกให้เรามีสติรู้ตัวอยู่ตลอดเพราะมันจะไม่สงบ ไม่เงียบ ไม่เย็น อากาศมันร้อนทางกาย ใจมันจะร้อนด้วยรึเปล่า เราต้องแยกแยะตรงนี้ 

ถ้าคุณอยากเข้าสู่ปัญญา ขณะร้อนพอมีลมพัดโชยมา คุณรู้มั้ย ให้คุณรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง อารมณ์ที่มาสัมผัส หูได้ยินเสียง จมูกคุณได้กลิ่น นั่งสมาธิหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ได้กลิ่นอาหาร กลิ่นอะไรเข้ามาคุณรู้สึกมั้ย คุณรู้มั้ยตอนลิ้นสัมผัสอาหาร คุณสังเกตว่ารสอาหารมันอยู่เฉพาะลิ้น หรือกลืนลงไปในลำคอมันยังมีรสอยู่ หรือไม่มีรส คุณพิจารณานี่ ยกปัญญาขึ้นมา ว่ารู้เท่าทันสิ่งเหล่านี้มั้ย 

เวลาคุณมีอารมณ์มาสัมผัสทางหูได้ยิน ที่อารมณ์ไม่พอใจถูกตำหนิติเตียน ถูกเขาว่า ถูกเขานินทา ดูสิว่าคุณโกรธมั้ย มันมาจากไหนล่ะ ก็มาจากมันมีตัวกู เขาว่าให้เรานี่นา แล้วตัวเราอยู่ตรงไหนละ ค้นหาสิ ค้นหาสิว่าตัวอยู่ตรงไหน มีแข้งมีขามีหู มีตาแยกออกเป็นอย่างๆ แต่อย่าเพิ่งแยก ให้คุณกำหนดรู้ไป ปัญญาคุณเกิดเมื่อไหร่เดี๋ยวเขาก็จะบอกเอง ขอให้ปฏิบัติ ให้รู้เท่าทันอารมณ์ เดี๋ยวปัญญาเขาเกิด 

ตอนที่เฉย คุณดีใจในอารมณ์ที่เฉย ที่นิ่งที่เย็นมั้ย มีความรู้สึกว่าเสพอารมณ์ในใจมั้ย อารมณ์สุข มีความพอใจอยู่ลึกๆมั้ย คุณจะปล่อยวางตัวตนได้ คุณต้องรู้ว่ามันมีพิษมีภัยยังไง คุณต้องเข้ามาเรียนรู้ใจของคุณ ทุกขณะที่อารมณ์มากระทบว่าคุณเป็นยังไง


โดย: UMP    เวลา: 2014-10-30 20:33

"นั่งสมาธิแล้วความจำหาย บางทีพุทธโธก็หาย แต่ก็จะดึงกลับมา จะเดินนั่งนอนยืนมีแต่พุทธโธ ฟังธรรมได้ทั้งคืน จิตของลูกเป็นอะไร แก้ไขอย่างไรค่ะ" 

ขณะที่นั่ง พอหายใจเข้าพุท พอหายใจออกโธปุบ ให้ใช้สติสำรวจอาการ 32 ของตัวเอง จากปลายเท้าจรดหัว จากหัวจรดปลายเท้าว่า ยังนั่งตัวตรง ตัวเอน คอก้ม คอหักมั้ย ให้มีสติเห็นสมบูรณ์เหมือนลืมตาอยู่ทุกขณะ แล้วจะไม่มีอาการอย่างนั้น ที่มันวูบหายไปเพราะสมาธิลงลึก แล้วจิตดิ่งลงในสมาธิ สติอ่อนมันเลยวูบหายไปแว่บเดียว เหมือนตัวเองไม่มีตัวไม่มีตน 

อย่านั่งนาน ให้นั่งแค่ 10 นาที เดิน 10 นาที ไปจนครบชม. พอสติแก่กล้าขึ้น มีสติสมบูรณ์เมื่อไหร่ นั่งนานก็จะไม่เป็นอาการนั้น ทำถูกแล้ว ไม่ว่าอะไรเกิดขี้น ก็ให้มีสติรู้อยู่กับพุทกับโธ แต่อย่าลืมสำรวจตัวเองอยู่ทุกขณะ รู้ตัวเองทุกขณะ ว่าครบถ้วนบริบูรณ์อยู่ นั่งอยู่ท่าอะไร จิตก็จะไม่ลงลึก เพราะมีสติสมบูรณ์

ที่ฟังธรรมได้ทั้งคืน เพราะจิตมีศรัทธา มีความเลื่อมใสในธรรม จิตมันจดจ่อ ถ้าจิตมาอยู่กับกายก็ให้หยุดฟัง ให้ฟังจิต เอาจิตกับสติมาตั้งอยู่กับตัวเอง จิตจะไม่คล้อยไปกับเสียงธรรม ปฏิบัติให้มากแล้วจะเข้าใจสิ่งที่ฟัง ฟังแค่ 5 นาที แต่เข้าถึงและเข้าใจ ก็มีอานิสงส์มากกว่าฟังทั้งคืน


โดย: UMP    เวลา: 2014-10-30 20:33

"ข้อเสียของการนั่งหลังงอ" 

รูปคุณแม่ชีเกณฑ์กับผู้ปฏิบัติธรรมขณะนั่งสมาธิ เมื่อครั้งที่ท่านไปเปิดปฏิบัติธรรมที่สมุทรปราการ เห็นเพียงท่านที่นั่งหลังตรง ท่านบอกว่าเวลานั่งให้ยืดหลังให้ตรง อย่าให้งอเพราะจะทำให้ปวดหลัง ช่วยให้ไม่ง่วงและสติตั้งมั่น ในเวลาปกติก็พยายามยืดหลังให้ตรง อย่าให้งอ กระดูกที่งอจะทำให้เกิดอาการปวดหลัง 

ทำตามที่ท่านบอก เวลานั่งสมาธิจะคอยดูว่าหลังงอไหม กลายเป็นว่าสติมาจดจ่อที่นี่ เป็นเรื่องดี พอหลังตรง ลมหายใจเข้าสะดวกยาวถึงท้อง หายใจโล่งขึ้น ไม่รู้สึกอึดอัด และไม่รู้สึกว่าต้องบังคับลมหายใจ กลับเห็นลมเข้าลมออกของเขาเองกลายเป็นแค่คนดูเฉยๆ บางครั้งขี้เกียจและลืมโดยเฉพาะในชีวิตปกติ เมื่อเห็นคนแก่หลังงอ ก้มหน้าเดินจนเกือบถึงพื้น เราไม่อยากเป็นอย่างนั้น จึงพยายามฝืนความขี้เกียจของตัวเอง 

บอกท่านว่าเวลานั่งสมาธิหรือนั่งสวดมนต์นานๆ จะไม่รู้ตัวว่าขาชา มารู้สึกตอนลุก ขาชามากจนลุกไม่ได้ ท่านบอกว่าจมอยู่ในสมาธิมากเกิน ถ้ามีสติขาชาเล็กน้อยก็จะรู้ตัวแล้ว หาใช่เรื่องดี ขาชาเพราะเลือดไหลไปเลี้ยงขาไม่ได้ แก่ตัวไปอาจทำให้เป็นอัมพฤกอัมพาต ใช่ว่าตั้งใจจะนั่งให้ถึงชม.แล้วห้ามขยับตัว หากขาชาให้ขยับขาได้ ไม่ใช่ให้ทนอยู่อย่างนั้น เปลี่ยนขาเราก็มีสติรู้ตัวต่อเนื่องก็เป็นสมาธิเหมือนกัน 

ถามคุณแม่ชีว่าแล้วคนที่อ้วนมาก หรือคนที่เอาขาทับกันไม่ได้ให้นั่งอย่างไร ท่านบอกว่าไม่ต้องยกขามาทับกันก็ได้ ให้วางขาบนพื้นในรูป 3 เหลี่ยม หรือนั่งแล้วขาชามากขยับขาไว้แบบนี้ก็ได้ 

สำหรับคนที่นั่งนานไม่ได้ ปวดเข่า ปวดหลัง ก็ให้นั่ง 5 นาที 10 นาทีแล้วลุกขึ้นเดิน หรือเดินมากไม่ได้ก็ให้เดิน 5 นาที 10 นาทีแล้วนั่ง ช่วยให้ไม่ต้องทนกับความเจ็บปวดมาก และไม่ทำให้จมในความคิดมากเกินไป ช่วยกระตุ้นให้สติมีกำลังตื่นตัวมากขึ้น เรื่องฟุ้งซ่านก็จะหายไป แต่ต้องใช้เวลา เมื่อดีขึ้นแล้วค่อยเพิ่มเวลาขึ้นทั้งเดินทั้งนั่ง


โดย: UMP    เวลา: 2014-10-30 20:33

"คุณแม่ทำยังไง หนูถึงจะเห็นอสุภะ เห็นกระโหลกเหมือนเขา"

ไปนั่งเพ่ง นั่งเห็นกระดูก ซี่โครง เห็นตับ เห็นไต มีแต่ของสกปรกโสโครก ถ้าใจมันยังวางไม่ได้ มันก็ไม่มีประโยชน์ เห็นกระดูกซี่โครงแล้วเวลาเขาด่า มันยังโกรธอยู่ มันก็ไม่ดี จะเห็นหรือไม่เห็นก็ไม่เป็นไรหรอก เห็นแล้วปลงได้มั้ยละ ถ้าปลงได้ใช้ได้ ถ้าปลงไม่ได้ก็ใช้ไม่ได้ แปลว่ายังเห็นไม่ถูก 

เห็นถูก เห็นชอบ เหมือนมรรคมีองค์ 8 เออ..กายนี้มันเป็นธรรมดา เดี๋ยวมันก็เสื่อม ผมมันดำเดี๋ยวก็หงอก มันแปรปรวนเนาะ เกิดมามันดำ กลางคนเข้ามามันหงอก แล้วใครจะยอมมั่งละ ถ้าเห็นมันเป็นธรรมชาติทำไมไม่ปล่อย เอาวัตถุนิยมมาย้อมทำไม หนังที่มันเหี่ยวก็เป็นธรรมดา ถ้ายังบำรุงกันอยู่มันก็วางไม่ได้ เห็นอสุภะแต่ยังห่วงสวย อยากให้ตัวเองดูดี มันก็วางไม่ได้ 

กิเลสหยาบละไม่ได้ แล้วจะละกิเลสละเอียดได้อย่างไร ผู้เข้าปฏิบัติ ถ้ารู้แจ้งเห็นจริง มันต้องเห็นว่ามันเป็นธรรมชาติ ก็ปล่อยมัน เอาอะไรมาหยุดมันก็ไม่อยู่ ย้อมไปก็ชั่วขณะ เดี๋ยวก็คืนสู่สภาพเดิม บำรุงขนาดไหน แพงขนาดไหน ดีขนาดไหน ก็หยุดความแก่ความเหี่ยวไม่ได้ สู้เอาเงินไปทำบุญเป็นสเบียงให้แก่ตัวเองดีกว่า

ธรรมะมองแว่บเดียวแล้วพิจารณาให้แตกฉาน แค่หงอกเส้นเดียวก็บรรลุธรรมได้ อสุภะภายนอก ความสกปรกโสโครกมีให้เห็นกันทั้งวัน เห็นแล้วพิจารณาด้วยปัญญา เห็นตามความเป็นจริง เอออันนี้มันเสื่อมแล้วนะ ตามองแทบไม่เห็น มันฝ้ามันฟางแล้ว หูมันก็เริ่มตึง ไม่มีอะไรเลยที่จะเที่ยง นี่แหละท่านว่าให้เห็นทุกข์สัจจริงๆ เห็นทุกข์เห็นโทษของมัน 

แม้ไม่เห็นอสุภะ แต่เข้าใจธรรมชาติของกายนี้ เข้าใจที่มันแปรปรวน เข้าใจที่มันทุกข์ ไม่ไปหลงมัน ไม่ไปยึดมัน อยู่กันไปตามสภาพ ป่วยก็ไม่ทุกข์กับมัน อันนี้แม้ไม่เห็นก็ใช้ได้แล้ว กายนี้จะวางได้ไม่ใช่เห็นอสุภะภายใน แต่วางได้ด้วยปัญญา คนที่เห็นได้ก็ต้องพิจารณาด้วยปัญญา เห็นโทษเห็นภัยมันจึงจะวางได้ เห็นอย่างเดียว ละไม่ได้วางไม่ได้ มันก็ไม่เกิดประโยชน์อันใด


โดย: UMP    เวลา: 2014-10-30 20:34

"เดินจงกรมแล้วยังไม่พ้นนรกได้ เพราะอะไร"

คำว่าเดินจงกรม แล้วไม่พ้นนรกได้เพราะอะไร เพราะวาระจิตที่ไม่เห็นความเป็นจริง แม่จะยกตัวอย่าง แม่บวชมาตั้งแต่น้อย ถ้าสมมุติว่าแม่บวช แต่แม่ไม่ได้เห็นความเป็นจริง ก่อนที่จิตจะออกจากร่าง ก่อนที่จิตจะถอดออกจากกายหยาบ แม่เกิดไปหลงอะไรสักอย่างหนึ่ง 

สมมุติแม่สร้างเสนาสนะ แล้วมีเหตุต้องตาย ขณะที่จิตกำลังออกจากร่าง จิตคิดปุบ...เราตายไปแล้ว ใครจะมาดูแล จิตมาเกาะอยู่ตรงนี้ทันที มันก็เลยไปไหนไม่ได้ ถ้าแม่สร้างกรรมฆ่าสัตว์ตัดชีวิต พอจะตายปุบ เป็นมโนภาพของสัตว์ที่ฆ่ามาปรากฎ จิตของเราไปตกปุบ มันก็ไปเป็นสัตว์นรกทันที 

เดินจงกรมปฏิบัติทำไมไม่ได้ขึ้นสวรรค์ มันอยู่ที่ใจ ใจที่รองรับอารมณ์ขณะที่จิตจะถอดออก ดังนั้นผู้ปฏิบัติแม้แต่แม่ ใครก็ตามจะรับรองไม่ได้ จะรองรับได้มีแต่อารมณ์วาระสุดท้ายที่จะรับ 

"ถ้าจิตไม่ปรุงไม่แต่ง จิตไม่เกาะไม่เกี่ยวแน่นอน ถ้าตายไปในขณะนั้น จิตก็ไม่เวียนว่ายตายเกิด ถ้ามีวิบากอยู่อาจไปสู่ภพภูมิที่ดี ที่เป็นเทพก็เป็นเทพ ที่มีสติปัญญา อยู่ในโลกทิพย์ก็ไม่หลงโลกทิพย์"

ถ้าขณะจิตกำลังจะถอดออกจากกายหยาบ แล้วมีนิมิตภาพขึ้นมา เราต้องตั้งสติ มีสติรู้เท่าทันกับจิต พอมีนิมิตภาพสติจะทำงาน แม้แต่จิตจะออกจากร่าง แม้จะฝัน ถ้าจิตฝึกมาดีแล้ว เขาจะบริหารเอง พอเค้าเห็นนิมิตภาพ เขาก็กำหนดว่าเห็นหนอๆ ภาพนั้นก็สลายไป เมื่อสลายไปเราก็หลุดจากภาวะตรงนั้น 

คุณโยมต้องเจริญสติ จนสติรู้เท่าทันกับจิตที่จะปรุงแต่ง มีปัญญารู้เท่าทันแล้วก็วาง พอเห็นภาพปุบ เพ่งด้วยพลังจิต ภาพนั้นก็จะสลายไป จิตก็จะพ้นจากภาวะนั้น ปฏิบัติให้รู้แจ้งเห็นจริงด้วยตัวเองเท่านั้น จึงจะช่วยคุณโยมได้ การปฏิบัติก็เพื่อตรงนี้ รู้เท่าทันอารมณ์และดับมันได้ทัน สำคัญที่สุดคือวินาทีสุดท้ายก่อนที่เราจะไป


โดย: UMP    เวลา: 2014-10-30 20:35

"โสดาบันขาดจากอะไรค่ะ"

เชื่อในการปฏิบัติของตัวเอง เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ไม่ห้อยพระเครื่องรางต่างๆ ไม่ทำบุญนอกศาสนา ไม่ไปทำพิธีศาสนาพรหมณ์ เขาว่าตรงนั้นหมอดูแม่น พระองค์นั้นนั่งเก่ง ไม่เฮฮาไปกับเขา ใตร่ตรองเสียก่อน ไม่ไปชักชวนคนอื่นว่าท่านนั้นเป็นผู้วิเศษ อันนั้นเป็นได้จริงแต่เป็นโลกีย์ ไม่ใช่ทางหลุดพ้น

ผู้ถึงโสดาบันรู้อย่างนี้ก็นิ่งเสีย ไม่ไปยินร้ายกับสิ่งเหล่านั้นเพราะเข้าใจแล้ว ไม่ถือฤกษ์ถือยาม ว่างเมื่อไหร่ก็ดีวันนั้น เวลาดีตัวเองไม่ดีเวลาก็ไม่ดี ถ้าตัวเองมีคุณธรรม อะไรก็เข้าตัวเองไม่ได้ ไม่ยึดถือคาถา เครื่องรางของขลัง ถ้าขาดจริงจะไม่เอาเลย 

บางคนทำได้แต่ไม่ขาด เพราะยังไม่รู้แจ้ง ไม่ใช่สะสมไม่พอ แต่ปัญญามันยังไม่รู้แจ้ง ไม่ได้รู้ด้วยปัญญา ไม่ได้มั่นใจด้วยปัญญา เชื่อมั่นในการปฏิบัติที่ถูกทางว่าจะพาข้ามพ้นวิบากได้ ไม่หวั่นไหวไปกับกระแสโลก เชื่อใจตัวเอง 

ไม่ยึดถือเครื่องรางของขลัง พระเครื่อง คาถาต่างๆ เพราะเชื่อว่าถ้าใจมีสติ อะไรจะไปเข้าไม่ได้ ถ้ามันเป็นกรรมก็เป็นกรรมไม่มีอะไรที่จะมากั้นได้ ไม่ยึดถือในสมบัติ ไม่ยึดในคน มันยากอยู่ที่จะเป็นได้ ถ้ายังไม่แจ้งพูดไปมันก็ไม่เชื่อ เผลอก็ไปเป็นเหมือนเดิมอีก ฟังแล้วใจมันยังไม่มั่นก็เขวอยู่เหมือนเดิม 

อย่างตอนที่เราเจอทุกข์ เจอภัยพิบัติหนักๆ ขาดความมั่นใจในธรรม ก็อดไม่ได้ที่จะไปบนบานศาลกล่าว ไปทำพิธีสะเดาะเคราะห์ ไปหาร่างทรงหมอดู มันต้องรู้ด้วยตนเอง มั่นใจด้วยตนเอง แจ้งด้วยตนเอง ต้องรู้จริงๆ เข้าใจจริงๆ ถึงจะเข้าถึง ให้เข้าถึงด้วยการปฏิบัติ ด้วยปัญญา ไม่ใช่เข้าถึงด้วยสัญญา มันจึงจะละทุกอย่าง วางทุกอย่าง และจะไม่หวนกลับคืนไปอีก


โดย: UMP    เวลา: 2014-10-30 20:35

"กำหนดเพื่อรู้เท่าทันจิต"

มีคุณโยมมาถาม ทำยังไงถึงจะรู้เท่าทันจิต แม่บอกเขาว่าคุณโยมต้องเจริญสติ แล้วคุณโยมจะทันมัน พอนั่งปฏิบัติหูได้ยินเสียงปุบ ให้คุณโยมกำหนดได้ยินหนอ ๆ อารมณ์กระทบอันใด อายตนะภายนอก ความรู้สึกที่ใจให้รู้เท่าทัน ให้กำหนดรู้ ใหม่ๆ อาจจะฝึกกันหน่อย มันขัดตัวเอง ขัดใจ อย่าตามใจตัวเอง ขัดมันดู แล้วคุณโยมก็จะเท่าทันกับอารมณ์ จะเห็นอารมณ์ จะเท่าทันขึ้น แล้วมันก็จะเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ 

แม่บวชได้ 7 วัน ไปเข้าปฏิบัติที่บุญศรีมณีกรณ์ เขาให้กำหนด ยุบหนอพองหนอ หนอทุกอิริยาบถทั้งที่กายที่ใจ แม่บ่นในใจ มันจะสงบมั้ยเนี่ย เราเคยพุทโธ นั่งปุบนิ่งเลย พอมาวิปัสสนา หูได้ยินเสียงก็ให้รับรู้ ไม่ให้ปล่อย ได้ยินหนอๆ ขวาย่างซ้ายย่าง ให้กำหนดอะไรก็ไม่รู้ วุ่นวายไปหมด แล้วเมื่อไหร่จะเห็นธรรมะละ

พอเปลี่ยนไปปฏิบัติกับหลวงปู่เลื่อน ท่านเป็นอาจารย์สายยุบหนอ พองหนอรุ่นแรก วันแรกท่านบอกว่า...ลูกชีลดสักกายทิฏฐิซะมั่งสิ หลวงปู่ขอบิณฑบาต ลดสักกายทิฏฐิซะลูก ครูบาอาจารย์บอกอะไร ลูกก็ทำตามเถิด อย่าเถียง แม่ไม่ได้เถียงท่าน แต่แม่เถียงในใจ พอรู้ว่าหลวงปู่รู้ว่าเราต้าน เกิดศรัทธาทันที 

พอสติรู้เท่าทัน ก็เลยรู้ว่าที่ให้เรากำหนดรู้ทันเสียง เพราะเมื่อเรารู้ว่าเสียงอันนี้ มันเป็นแค่เสียงเกิดแล้วดับ ถ้าเราไม่ปรุงแต่งว่าเขาด่า พอได้ยินเสียงปุบ เราจะไม่โกรธเลย เวลาหิวทุรนทุรายก็ไม่ให้กิน ให้เอาขึ้นมากำหนด ถ้าอยากให้หยุดเลย มันหายอยากจึงให้กิน ทานข้าวเป็นชม.ได้ 3 คำ ท่านให้เคี้ยวให้ละเอียด ถ้าไม่ละเอียดกระอักออกมาเคี้ยวใหม่ 

ตั้งแต่นั้นมา มีความสงบขึ้น รู้เท่าทันขึ้น ได้เห็นอาการที่เกิดดับ ความปรุงแต่งก็ค่อยๆ จางไป ท่านให้ขัดกิเลสขนาดนั้น ถึงได้รอดมา แม่ได้เห็นคุณค่า ก็เลยได้มาแนะนำ มันยากจริงๆ ที่จะรู้เท่าทันจิต กว่าจะได้มาเลือดตาแทบกระเด็น จิตคนเรามันเร็ว รูขุมขนที่ว่าถี่ อารมณ์ที่จะแทรกเข้าไปถี่ยิบกว่านั้น ต้องทำสติให้หนายิ่งกว่ากำแพงปูน ถึงจะรู้เท่าทันจิต 

คนอื่นจิตเป็นยังไงกรรมใครกรรมมัน เห็นแต่ใจเรา มันจะอยู่ได้เพราะเราเอาชนะอารมณ์ เอาชนะใจเรา ชนะคนอื่นยาก เพราะกิเลสมันหนา ชนะใจตัวเอง ก็เท่ากับชนะใจคนทั้งโลก


โดย: UMP    เวลา: 2014-10-30 20:36

"วิธีแก้อาการโงกง่วงโยกไปโยกมา"

เมื่อเกิดอาการเช่นนี้ คุณแม่ชีเกณฑ์ให้แก้ด้วยการให้ตั้งเวลาให้นั่งสมาธิ 5 นาที เดินจงกรม 5 นาที สลับไปมาจนครบชม. ถ้านั่ง 5 นาทียังเป็นอยู่ให้หดเวลาลงมาอีกเหลือนั่ง 3 นาที เดิน 3 นาที ถ้านั่งลงไปแล้วยังเป็นอยู่ก็หดเวลาลงมาอีก หรือให้เดินอย่างเดียว ติดต่อกันทุกวันเป็นเวลา 2 อาทิตย์ ถ้ายังเป็นอีกก็ให้ทำแบบเดิม ต่อเมื่อหายจากอาการนั้นค่อยๆเพิ่มเวลาขึ้นมาให้เหมาะสม แต่อย่ากลับไปนั่งนานๆ อีก มันจะไหลลงไปที่เดิม

คุณแม่ท่านว่าอาการเช่นนี้อาจด้วยวิบากกรรมของเรา และสภาพร่างกายที่เหนื่อยล้าจากการทำงาน ให้เราดูปรับเวลาให้ร่างกายได้พักบ้าง มันโยกตัวลงไปเพราะสติมันน้อย ไม่สามารถควบคุมการทรงตัวของร่างกายได้ และท่านให้แผ่เมตตาให้เจ้ากรรมนายเวรของตัวเราเองทุกครั้งที่ไปปฏิบัติ และให้ทำบุญตักบาตรกับข้าวอาหารให้เขาด้วย

ถามคุณแม่ว่าทำแบบนี้แล้วทำไมจึงหาย ท่านว่าขนาดเราให้ลุกนั่งอย่างนั้น ใจมันยังหงุดหงิดจนแทบทนไม่ได้เลยใช่ไหม แต่ต้องทนเพราะอยากหาย แล้วคิดว่าเจ้ากรรมนายเวรที่ทำให้มีอาการแบบนั้น เขาจะทนอยู่ได้หรือ เขาก็ร้อนเหมือนกันที่เราผุดลุกผุดนั่งอยู่อย่างนั้น แต่เราอย่าไปปฏิบัติไล่เขาอย่างเดียว เราต้องแผ่เมตตาและทำบุญให้เขาได้อิ่มอาหารอิ่มใจด้วย จะได้เป็นอโหสิกรรมต่อกัน การอย่างนี้ทำให้มีเราความรู้สึกตัวต่อเนื่องไม่ขาดระยะนับชม. จะทำให้สติเราตั้งมั่นและบริบูรณ์ครบถ้วนมากขึ้น การลุกนั่งเสมอกันช่วยปรับธาตุดินน้ำลมไฟในร่างกายให้สมดุล โรคที่เป็นอยู่ก็จะถูกขับออก เลือดลมไหลเวียนสะดวก หายง่วง หายซึม กระปรี้กระเปล่า ไม่ขี้เกียจ นั่งแล้วไม่ฟุ้งไม่จม ตื่นตัวรู้สึกอยู่ตลอด

ขณะที่มีอาการเช่นนี้ในใจคิด เราคงไปปฏิบัติให้ใครเห็นไม่ได้แล้ว โยกไปโยกมาน่าอายมาก รู้ตัวแต่ไม่สามารถบังคับตัวเองได้ กว่าจะหลุดออกมาได้ก็ช่างแสนยาก ตอนผลุบเข้าไปก็ไม่รู้ตัว นั่งได้แค่อึดใจก็ไปติดกับเสียแล้ว 3 อาทิตย์ที่ต้องลุกนั่งอยู่อย่างนั้น ใจก็ไม่หงุดหงิด เป็นปกติเพราะมันชินแล้ว อาการง่วง ฟุ้งซ่าน ตัวโยกหายไป สติตื่นจนไม่ยอมหลับทั้งกลางวันกลางคืน นอนก็เหมือนไม่นอน เป็นอย่างนั้นเกือบเดือนกว่าจะเป็นปกติ

ต้องกราบขอบพระคุณ คุณแม่มากๆที่ทำให้หายจากอาการเช่นนี้ การปฏิบัติเองคนเดียว จำเป็นมากๆ ที่จะต้องมีผู้สอบอารมณ์ ไม่อย่างนั้นเราคงติดอยู่ตรงนี้ ไม่รู้ว่าจะอีกนานเท่าไหร่



โดย: UMP    เวลา: 2014-10-30 20:37

"แบกอะไรหนักที่สุดในโลก"

แบกขันธ์ แบกความคิด แบกความปรุงแต่ง แบกอัตตาตัวตนหนักสุด แบกความปรุงแต่งก็หนัก คนมันฆ่ากันได้ก็เพราะแบกความปรุงแต่ง พอไม่แบกอัตตาตัวตน เสียงเขาพูดมันก็ธรรมดา ภาพคนนั้นก็ไม่ขวาง เสียงดังก็ไม่รำคาญ ไปไหนก็ไม่มีเรื่องกับใคร ขับรถก็ไม่เกิดอุบัติเหตุ ไปทำงานเจ้านายก็ไม่ว่า ลูกน้องก็รัก 

มีคนมาถามทำยังไงลูกค้าจะเข้าร้านเยอะๆ แม่ก็ว่าคุณโยมก็ปฏิบัติภาวนา ทำบุญ ตักบาตรตามกำลัง แล้วแผ่เมตตาให้เจ้ากรรมนายเวร เทวดาที่ร้าน แผ่เมตตาให้ลูกค้า ไม่เอาแพงและที่สำคัญคือลดอัตตาตัวตน ลูกค้าก็จะเต็มร้านเอง คนที่ลดอัตตาตัวตน ยิ้มแย้มแจ่มใส เอาใจใส่ลูกค้าอย่างดี ไม่แบ่งคนนั้นคนนี้ เข้าอกเข้าใจ ใครที่เห็นใครที่สัมผัส เขาก็เกิดเมตตา มาแล้วก็อยากมาอีก ก็เพราะความไม่มีอัตตาตัวตนของเรา


โดย: UMP    เวลา: 2014-10-30 20:37

"ได้ยินเสียงที่พิเศษ เห็นนั่นเห็นนี่ รู้นั่นรู้นี่ รู้พระอภิธรรม ไม่ใช่การหลุดพ้นใช่ไหมครับ"

ใช่ รู้จิตคนก็ไม่ได้หลุดพ้น แต่รู้อารมณ์ ดับอารมณ์ตัวเองได้ต่างหากจึงจะหลุดพ้น มีนายทหารผู้หนึ่งเขาบอกว่า เขานั่งเข้าฌาน หยั่งรู้จิตผู้นั้นผู้นี้ 

เขารู้หมดแต่ยังโกรธยังเกลียดอยู่ พอเขาอ่านในเนตว่าแม่แก้อารมณ์ เขาก็โทรมา แม่ก็บอกว่า คุณโยมสติช้า ปัญญาคุณช้า มีแต่สมาธิ มันจะไปทันได้ไง

คุณโยมต้องทันหูตาจมูกลิ้นกายใจ หูได้ยินเสียง เสียงไปหาหูหรือหูได้ยินเสียง เสียงมาหาหูครับคุณแม่ ถ้าเสียงมาหาหู แล้วทำไมคุณโยมไม่สักแต่ว่าเป็นเสียง ทำไมถึงว่าเป็นเสียงเขาด่าละ ก็คุณโยมมีอัตตาตัวตนอยู่นี่ คุณโยมรู้ทุกอย่าง แต่ไม่รู้ตัวเองว่าถืออัตตาตัวตน ถ้าไม่มีตัวไม่มีตนแล้วอะไรจะโกรธละ 

เขาไปเที่ยวหาครูบาอาจารย์หมด รู้จักหมดเลย หลวงปู่จาม หลวงปู่หล้า หลวงปู่บัว ท่านก็บอกให้ดูแต่ใจกับพุทโธ เขาก็ดูแต่พุทโธ แต่มันก็ยังไม่หาย แม่บอกว่าคุณก็เจริญสติเสียนะ สติคุณรู้ว่ากำลังจะโกรธ คุณดับได้มันก็ไม่โกรธ 

เรียนพระอภิธรรมก็ช่วยคุณโยมให้หลุดพ้นไม่ได้หรอก คุณโยมต้องปฏิบัติเห็นจริงถึงจะหลุดพ้นได้ คุยไม่รู้จักจบ สงสัยไม่รู้จักสิ้น ถ้าคุณโยมจะสิ้นก็อยู่ที่ปัญญากับสติรู้เท่าทันอารมณ์ ดับอารมณ์ทัน รู้ใจคนอื่นก็ไม่สู้เท่ารู้ใจตัวเอง 84,000 พระธรรมขันธ์ ย่อลงมาก็กายกับใจ รู้เท่าทันอารมณ์ ดับอารมณ์ได้ เป็นสิ่งที่เลิศที่สุดแล้ว


โดย: UMP    เวลา: 2014-10-30 20:38

"โสดาปฏิมรรค กับ โสดาบันปฏิผลต่างกันอย่างไรครับ"

โสดาบันปฏิมรรคยังไม่เป็นผล ถ้าเป็นผลก็จะไม่หลงในโลกโลกีย์ ไม่หลงในอารมณ์ ไม่หลงในหญิง ไม่หลงในชาย จะสวยจะงามจะรวยเท่าไหร่ เราก็ไม่พึงปรารถนา ผู้เป็นมรรคอยู่ก็มีโอกาสหลงได้ ก็กลับคืนไปสู่ภาวะเหมือน โสดาบันปฏิมรรค สามารถมีครอบครัวแต่รักษาศีล 5 ไม่ทุกข์ ไม่เกาะอารมณ์อารมณ์อะไรเกิดขึ้นก็รู้ว่ามันเป็นธรรมชาติ

โสดาปฏิผลจะไม่คิดหวังคืนกลับไปสู่ครองเรือน มีแต่จะมุ่งหน้าเข้าไปสู่อีกภาวะที่เราได้ยินได้ฟังในหนังสือ โสดาบันปฏิผล จะไม่ยึดถือในสีลัพตปรามาส คือไม่เชื่อนอกศาสนา ไม่เชื่อร่างทรง แต่รู้ว่าวิญญาณมีจริง ไม่เชื่อว่าศาสนาไหนนอกศาสนาพุทธ จะสอนเท่ากับศาสนาพระพุทธเจ้า ไม่หลงงมงาย ไม่ถือเครื่องรางของขลัง นี่คือสมบัติของโสดาบัน 

ไม่เชื่อมงคลตื่นข่าว ได้ยินข่าวเขาบอกตรงนั้นตรงนี้มีหมอดูแม่นๆ อย่างนี้ๆ ก็ไม่เชื่อไม่สนใจ ไม่ไปรู้ไม่ไปฟัง ฟังอยู่รู้อยู่แต่จะไม่วิ่งเข้าไปหา ได้ยินว่าพระองค์นี้ดังนะ สามารถช่วยคนได้ มีคาถาอาคม แล้วให้เครื่องรางของขลัง ช่วยให้เราพ้นจากทุกข์ได้ โสดาบันปฏิผลไม่เชื่อเลย แล้วไม่มีในใจของโสดาบัน จะไม่ยึด ไม่ติด ไม่เกาะ ไม่เกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ 

เครื่องรางของขลังก็ไม่ใส่ แม้แต่จะใส่ก็สลัดปลดออก สิ่งใดที่มันเข้ามาแล้วทำให้ตัวเองยึด ตัวเองเกาะ ให้ตัวเองติดอยู่ เมื่อมาถึงภาวะนี้ใหม่ๆ จะขน จะละ จะเอาไปทานให้หมดเลย นี้คือลักษณะของผู้เข้าถึงกระแสนั้น เมื่อขาดสะบั้นแล้วถ้าไม่มีคู่ ถ้าเป็นผลก็จะไม่แต่งงาน จะไม่ไปสมสู่ โสดาบันปฏิผลจะไม่มีการปลุกเศก ไม่มีการสะเดาะเคราะห์ จะให้ดูแต่จิต ส่งเสริมแต่การปฏิบัติธรรมอย่างเดียว 

เชื่อว่ากรรมต้องชดใช้ด้วยกรรม บุญส่งเสริมให้เราสูงขึ้นไป เชื่อบุญกับบาป ทางเดียวที่จะแก้กรรมได้คือ ปฏิบัติธรรมเท่านั้นที่จะหลุดพ้น ที่จะแก้ไขได้ทุกอย่าง ไม่มีอันใดที่จะทำลายเราได้ แม้แต่ว่าเครื่องราง มนต์ คาถาอาคมอันใดๆ ก็เข้าไม่ได้ เพราะสติเรารู้ ปัญญาเรารู้แล้ว มันก็กระเด็นออกไป



โดย: UMP    เวลา: 2014-10-30 20:38

"ต้นไม้ไม่มีราก"

ต้นไม้ใหญ่ยืนอยู่ได้หลายร้อยปีเพราะรากแก้วรากฝอยที่แข็งแรง เปรียบดั่งชาติมีได้เพราะจิตที่เข้าไปยึดไว้ ปล่อยสิ่งที่ยึดไว้ทั้งรากแก้วรากฝอยหมดเมื่อใดชาติก็ล้มลงเมื่อนั้น 

สิ่งใดละที่ทำให้ใจเข้าไปยึดติด ความยินดียินร้ายนั่นเอง แล้วทำอย่างไรละจึงจะละความยินดียินร้ายลงได้ สติและปัญญาเห็นโทษเห็นภัยมันนั่นไง

ยินดีมากชอบมาก ยินร้ายมากไม่ชอบมากก็เป็นรากแก้ว ชอบน้อยไม่ชอบน้อยก็เป็นรากฝอย ละทั้งชอบและไม่ชอบ เป็นกลางๆ ชอบก็เป็นภพชาติ ไม่ชอบก็เป็นภพชาติ คือต้นไม้ที่รากค่อยๆทะยอยตาย เมื่อถึงเวลาต้นไม้หรือชาตินั้นก็จะล้มลง และไม่มีวันจะงอกรากหรือฟื้นขึ้นมาใหม่ เพราะรากแห่งความยินดียินร้ายได้ถูกทำลายลงแล้วเสียสิ้น


โดย: UMP    เวลา: 2014-10-30 20:39

"อ่านใดเล่า เท่าอ่านใจตน"

ไม่มีใครเผาเราได้เท่ากับเราจุดไฟเผาตัวเอง(ยกเว้นตอนตาย) ไม่มีใครดับไฟในใจเราได้ นอกจากตัวของเราเอง คมมีดใดจะคมเท่ากับมีดที่เรากรีดลงบนหัวใจตัวเอง หนีคนทั้งโลกได้แต่หนีใจตัวเองไม่พ้น ความจริงคือสิ่งที่เราต้องยอมรับและต้องเผชิญ ทุกข์อันใดเล่าจะเท่ากับทุกข์ที่อยู่ในใจ 

แบกของหนักโดยไม่รู้ว่าแบก เปลือกก็เป็นเพียงเปลือกหาช่วยอันใดได้ ความจริงแท้คือสิ่งที่อยู่ในใจ เราเป็นเพียงสัตว์โลกตัวหนึ่ง มันมาเดี๋ยวมันก็ไป มันไปเดี๋ยวมันก็มาใหม่ ทำไปเพื่อใคร เพื่อกลับมาใหม่หรือเพื่อไม่กลับมา

ธรรมะแท้ของพระพุทธเจ้า ธรรมะเพื่อการหลุดพ้น มองลงที่ใจ วัฏฏะเริ่มที่ใจและจบที่ใจ ใจไม่มีสิ่งใด ไม่มีภาษา ไม่มีคำพูด มีเพียงความรู้สึก 

ไม่มีใครอ่านใจเราได้เท่าตัวเราเอง ไม่มีใครเข้าใจเราได้เท่าเราเข้าใจตัวเอง ไม่มีใครแก้ใจเราได้เท่าเราแก้ใจตัวเอง ไม่มีใครสอนใจเราได้เท่าเราสอนใจตัวอง อ่านใจคนอื่นหรือจะสู้อ่านใจเราเอง


โดย: UMP    เวลา: 2014-10-30 20:39

"เดินจงกรมบริกรรมพุทโธ เดินอย่างไรให้เห็นอาการเกิดดับ"

คุณแม่ชีเกณฑ์ท่านสอนให้เดินช้าๆ เท้ายกขึ้น ให้คำว่าพุท การรับรู้ที่เท้าเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน และก่อนเท้าจะลงให้หยุดไว้ จะเห็นคำว่าโธผุดขึ้นในใจ ให้มันดับไปก่อนแล้วค่อยเอาเท้าลงพร้อมคำว่าโธที่เอ่ยขึ้นมาใหม่ เพื่อให้การรับรู้ เท้าที่ลงและคำว่าโธเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน 

เมื่อเห็นใจมันสั่งให้เอาเท้าลงหรือบอกให้ไป อย่าไปทำตามมัน หยุดดูให้มันดับลงก่อนจึงไปต่อ ถ้าความคิดเกิดขึ้นให้หยุดค้างไว้ ความปวดเกิดขึ้นก็ให้หยุดค้างไว้ เมื่อความคิดและอาการปวดดับจึงไปต่อ มันมาอีกก็หยุดอีก มันดับเราก็ไปต่อ

การเห็นการเกิดดับ เป็นต้นทางของการวิปัสสนา เป็นปัญญาขั้นแรกที่จะพาเราพ้นทุกข์ได้ ผู้ปฏิบัติธรรมที่เห็นและเข้าถึงการเกิดดับจากการปฏิบัติ จะปฏิบัติธรรมเข้าใจได้ง่ายและไม่เนิ่นช้า

จะบริกรรมอะไรหรือไม่บริกรรม คุณแม่ท่านให้สังเกตจุดเดียวกันคือ จุดที่การรับรู้เกิดแล้วก็ดับ และเห็นจิตที่คิด จิตที่สั่งเกิดแล้วดับ การเดินช้าแล้วหยุดจะทำให้เราเห็นธรรมชาติอันแท้จริงนี้ เพราะใจที่ไม่ยอมรับว่าทุกสิ่งเกิดแล้วดับ ความคิดจึงต่อกันยาวเหยียด

ถ้าคิดมากไม่ยอมหยุดเพราะสติเรายังไม่มีกำลังพอ หยุดค้างไว้และให้กำหนดคิดหนอๆ หรือตามอาการความรู้สึกในใจ หากฟุ้งมาก อึดอัดมาก ให้บริกรรมออกเสียงดังๆ เพื่อให้จิตคลายและมาสนใจอาการที่ปากเป็นระยะ เมื่อต่อเนื่องมากๆ มันไม่ถูกปรุงแต่งให้คิดต่อ ความคิดนั้นก็ดับลง หรือจะคิดให้มันจบไปเลย เมื่อสรุปได้ก็วาง


โดย: UMP    เวลา: 2014-11-10 12:44

"เส้นทางการบิณฑบาตบนสวนปฏิบัติธรรมชมวิว" 

ผู้ที่จะขึ้นไปอยู่บนสวนปฏิบัติธรรมชมวิว จะต้องเดินเท้าลงเขาขึ้นเขาตามพระไปบิณฑบาตในหมู่บ้านนางิ้ว รวม 10 กม. ใช้เวลาประมาณ 3 ชม.ในวันที่ฝนตกถนนสายนี้จะกลายเป็นทะเลโคลน ลื่นจนไม่สามารถเดินลงมาได้ จึงควรต้องเตรียมอาหารแห้ง ปลาแห้ง ปลาหมึกแห้งกุ้งแห้ง เครื่องกระป๋อง ติดตัวไปใช้ในยามฉุกเฉิน ผักสดสามารถหาเก็บได้บนเขา ทั้งผักกูดและผักบุ้ง ข้างบนมีเตาแก๊สและหม้อหุงข้าวให้ และการเดินทางขึ้นสวนปฏิบัติธรรมชมวิวต้องใช้รถอีแต๋น รถกระบะสามารถขึ้นไปได้เฉพาะวันที่ฝนไม่ตกเท่านั้น 

ขณะนี้คุณแม่ชีเกณฑ์ พระอาจารย์พิชิต ครูบาตั้ม และช่างจาก จ.ร้อยเอ็ด ขึ้นไปอยู่บนสวนปฏิบัติธรรมชมวิว เป็นระยะเวลา 7 วันแล้ว เพื่อดำเนินการสร้างศาลาโรงธรรมและกุฏิปูน 1 หลังให้แล้วเสร็จ 

***สวนปฏิบัติธรรมชมวิว จะเปิดให้ใช้อย่างเป็นทางการช่วงวันที่ 20 ธ.ค. 57-5 ม.ค. 58 หลังจากนั้นจะปิดชั่วคราว เพื่อดำเนินการสร้างกุฏิไม้อีก 3 หลังให้เสร็จ***

สิ่งที่ต้องเตรียมตัวขึ้นไปคือเต้นท์ ของใช้ส่วนตัว ชุดขาวสำหรับผู้ต้องการเดินลงมาบิณฑบาตกับพระ อาหารแห้งยกเว้นข้าวสาร ถุงดำใส่ขยะ ยา ไฟฉาย ยาทากันยุง ไม้แขวนผ้า ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน เชือก เครื่องนอน เครื่องกันหนาว ข้างบนมีตะเกียงเทียนให้ ต้องนำเทียนติดตัวมาด้วย และข้างบนมีตัวต่อมาก มาตอมอาหารราวกับแมลงวัน ขอให้ทุกท่านเตรียมยาและศึกษาวิธีป้องกันตัวจากตัวต่อมาด้วย สามารถฝากรถไว้ได้ที่สถานีตร.บ้านนางิ้ว น้องชายคุณแม่ชีเกณฑ์ คุณตร.เสน่ห์ นิลพันธ์ ประจำอยู่ที่สถานีตร.บ้านนางิ้ว

ติดต่อแจ้งชื่อเพื่อขึ้นไปปฏิบัติธรรมกับคุณแม่ชีเกณฑ์ บนสวนปฏิบัติธรรมชมวิว ได้ที่ คุณแม่ขีเกณฑ์ 0861009373 (วันทูคอล) 10.00-16.00 น.หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ https://www.facebook.com/pages/สวนปฏิบัติธรรมชมวิว-จหนองคาย/1502603876685810?ref=hl

โดย: UMP    เวลา: 2014-11-10 12:45

ทริปอาสาขนหินสร้างกุฏิบนสวนปฏิบัติธรรมชมวิว 25-26 ต.ค. 57 (22 รูป)

ติดตามภาพบรรยากาศอาสาขนหินสร้างกุฏิบนสวนปฏิบัติธรรมชมวิว 25-26 ต.ค. 57 ได้ที่https://m.facebook.com/events/613532795430754


โดย: UMP    เวลา: 2014-11-10 12:46

"หนูไม่มีเวลาไปปฏิบัติค่ะ"


จะอยู่ที่ไหนก็ปฏิบัติได้ จะทำงานก็ปฏิบัติได้ ให้คุณรู้เท่าทันทุกอริยาบถที่เคลื่อนไหว ทุกความรู้สึกทั้งที่กายที่ใจ แต่รู้อย่างเดียวมันก็ยังละไม่ได้ แก้ไขตัวเองไม่ได้ พอเผลอสติมันก็เป็นอีก ทุกข์อีก โกรธอีก คุณต้องรู้โทษรู้ภัยมันด้วย จะแก้ตัวเองได้คุณต้องรู้จักตัวเอง แล้วเจริญทั้งสติและปัญญาไปด้วยกัน

การปฏิบัติในรูปแบบทุกวันสำคัญที่ตรงนี้ คุณต้องสละเวลาบ้าง ใช้กายและจิตเป็นสนามฝึกซ้อม หัดให้เรารู้เท่าทัน ดับอารมณ์ได้ทัน แม่ไม่ได้ให้นั่งสงบอย่างเดียว เราต้องลุกขึ้นมาเดิน มาเคลื่อนไหว รู้จักกับสิ่งที่มากระทบและรู้ว่าต้องจัดการมันอย่างไร 

มีสักวันไหมที่ไม่เคยโกรธ ไม่เคยหงุดหงิด ไม่เคยเบื่อ ไม่เคยกลัวอนาคต 
ไม่ไปใส่อารมณ์กับใคร ไม่แบกอารมณ์กลับมา อย่ามัวช้าอยู่เลย มั่นใจได้หรือบุญที่ทำมามากมายจะประกันได้ว่า เราจะไม่ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานที่ดุร้าย ก่อนตายใจมันโหด มันเหี้ยม มันอาฆาต มันก็อาจไปเป็นสัตว์ที่ดุร้ายได้ใช่ไหม 



โดย: UMP    เวลา: 2014-11-10 12:47

"ติดอะไรอยู่"

ผู้ปฏิบัติธรรม: คุณแม่ครับ ทำไมผมยังไม่บรรลุสักที ผมติดอะไรอยู่ 

คุณแม่ชีเกณฑ์ : ใจคุณติดอะไรอยู่ คุณยังไม่รู้ใจคุณ แล้วใครจะไปรู้ใจคุณได้ ใจคุณยังยินดีกับอะไร ยังยินร้ายกับอะไร มันก็ติดอันนั้นแหละ

คัดลอกมาจาก https://www.facebook.com/pages/สวนปฏิบัติธรรมชมวิว-จหนองคาย/1502603876685810?ref=hl

โดย: UMP    เวลา: 2014-11-10 12:47

"วิธีไหนก็ดีหมดแต่ขอให้รู้เท่าทัน"

คำสอนใดก็ตาม วิธีกรรมใดก็ตาม ลงมาแล้วก็ให้คุณเห็นใจ เท่าทันกับความคิด กับความปรุงแต่ง ให้เกิดปัญญา จะวิธีไหนก็ดีหมด บริกรรมไหนก็ดีหมด แต่ขอให้มีสติรู้เท่าทันอารมณ์ที่จะมาปรุงแต่งจิตให้มันทุกข์ ให้มันสุข 

พระผู้มีพระภาคเจ้าท่านบอกว่า จงให้รู้เท่าทันใจที่มันปรุงแต่ง เดี๋ยวมันก็ปรุงว่าอันนั้น เดี๋ยวมันก็ปรุงอย่างนี้ เหมือนปลาที่จะทอดไม่เห็นว่ามันเค็ม ก็ยังไปเอาเกลือมาใส่ เหมือนจิตที่รับรู้อารมณ์ จิตก็เป็นสภาวะเฉยๆ กลางๆ แต่เราต่างหากเล่า ปรุงรสให้มันใช่มั้ย 

จะเอารสหวานหรือรสเปรี้ยวละ เขาด่าเรา โอ้..รสเปรี้ยวมาแล้ว ก็โกรธใช่ไหม ได้กินแล้วมันเปรี้ยวซ่า มันแทงใจดำเรา เพราะเราถือว่ามันเป็นเสียง มันถือยึดว่าเป็นตัวกูของกู ถ้าเป็นของคุณ ผมอย่าหงอกนะ หนังอย่าเหี่ยวสิ เต่งตึง สั่งมันสิ สั่งได้มั้ย สั่งมันไม่ได้ใช่มั้ย 

อย่างนั้นมันไม่ใช่ของเราเนาะ ก็ต้องทำใจให้เป็นกลาง รู้แล้วก็วาง แต่เราก็ใช้ให้เป็นประโยชน์ ก็เหมือนที่คุณโยมเสียสละมาสนทนาธรรม มาปฏิบัติ เสียสละเงินทองมา หาได้ใช่เอาใส่แต่ปากที่เมือนทะเล มีเท่าไรก็ไม่เต็มมีแต่ถ่ายเทออก จะวิธีใดก็ตาม จะที่ไหนก็ตาม ก็ขอให้คุณโยมรู้เท่าทันจิตตัวเองและดับให้ทันปัจจุบัน

คัดลอกมาจาก
https://www.facebook.com/pages/สวนปฏิบัติธรรมชมวิว-จหนองคาย/1502603876685810?ref=hl
โดย: UMP    เวลา: 2014-11-10 12:48

"คุณแม่ค่ะ อธิบายความหมายของสติปัฏฐาน 4 แบบง่ายๆและเข้าใจได้ง่ายให้หนูได้ไหมค่ะ"

วิปัสสนาในสติปัฏฐาน 4 อย่าง 1. กาย 2. เวทนา 3.จิต 4.ธรรม.....
ไม่ว่าลูกจะเดิน จะนั่ง จะนอน จะพูด จะคิด จะกระทำสิ่งใด ให้มีสติรู้เท่าทันทุกอย่าง ทั้งที่กายและที่ใจ คำว่ารู้ทันกาย รู้ทั้งกายที่เคลื่อน กายเจ็บ กายปวด ก็ให้มีสติรู้ แล้วดูใจเราทุกข์กับมันมั้ย ห่วงมันมั้ย มันเจ็บมันปวด มันมีอารมณ์หงุดหงิดมั้ย

เวทนามี 2 อย่างคือเวทนาที่กายกับเวทนาที่ใจ ความรู้สึกที่ใจที่เรียกมันเป็นเวทนาเพราะมันเจ็บปวดใจ จิตก็มีสติรู้เท่าทันกับอารมณ์ที่มันมาปรุงแต่งจิต ให้คิดโน่นคิดนี่ เดี๋ยวก็แว่บไปนั่น เดี๋ยวก็แว่บไปนี่ ธรรมก็คือธรรมารมณ์ อารมณ์ที่มากระทบทางหู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ อารมณ์ที่มันโกรธ มันเกลียด มันรัก มันชอบ มันชัง มันเบื่อ สารพัดอารมณ์

มีคนหนึ่งบอกว่าฉันไม่สามารถไปปฏิบัติธรรมได้ เขาคิดว่าต้องทำให้จิตสงบตลอด ต้องเป็นกุศล ต้องดี ถ้าไม่ดีไม่ใช่ธรรม พอไปปฏิบัติก็พยามยามให้ไม่คิด มันเลยสู้กัน ก็เลยว่าตัวเองมันยาก ไปแล้วปฏิบัติไม่ได้ เหมือนน้องคนหนึ่งก็ว่า หนูจะทำได้มั้ยละคุณแม่ หนูอยากไปแต่กลัวจะปฏิบัติไม่ได้ แม่ก็ว่าทำไมจะไม่ได้ แม่ให้มาดูความโกรธ ความเกลียด ความพยาบาท ความน้อยใจ

เราอยู่กับอารมณ์ทางตา หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรส เดี๋ยวมันหยุดหงิด เดี๋ยวมันฟุ้งซ่าน เดี๋ยวมันโมโห เดี๋ยวมันขี้เกียจขี้คร้าน แล้วมันยากมั้ยละ มันอยู่กับอารมณ์ นี่แหละให้ไปรับรู้ ให้ไปวางสิ่งเหล่านี้ ทุกคนก็หัวเราะมีกำลังใจ นี่ต่างหากละธรรม ธรรมารมณ์ที่มาทำให้เราหวั่นไหวนี่ไง

จะอยู่ที่ไหนก็ปฏิบัติได้ จะทำงานก็ปฏิบัติได้ ให้คุณรู้เท่าทันทุกอริยาบถที่เคลื่อนไหว ทุกความรู้สึกทั้งที่กายที่ใจ แต่รู้อย่างเดียวมันก็ยังละไม่ได้ แก้ไขตัวเองไม่ได้ พอเผลอสติมันก็เป็นอีก ทุกข์อีก โกรธอีก คุณต้องรู้โทษรู้ภัยมันด้วย จะแก้ตัวเองได้คุณต้องรู้จักตัวเอง แล้วเจริญทั้งสติและปัญญาไปด้วย

การปฏิบัติในรูปแบบทุกวันสำคัญที่ตรงนี้ คุณต้องสละเวลาบ้าง ใช้กายและจิตเป็นสนามฝึกซ้อม หัดให้เรารู้เท่าทัน ดับอารมณ์ได้ทัน แม่ไม่ได้ให้นั่งสงบอย่างเดียว เราต้องลุกขึ้นมาเดิน มาเคลื่อนไหว รู้จักกับสิ่งที่มากระทบและรู้ว่าต้องจัดการมันอย่างไร

มีสักวันไหมที่ไม่เคยโกรธ ไม่เคยหงุดหงิด ไม่เคยเบื่อ ไม่เคยหวาดหวั่น 
ไม่ไปใส่อารมณ์กับใคร ไม่แบกอารมณ์กลับมา อย่ามัวช้าอยู่เลย มั่นใจได้หรือบุญที่ทำมาจะประกันได้ว่า เราจะไม่ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานที่ดุร้าย ก่อนตายใจมันโหด มันเหี้ยม มันอาฆาต มันก็อาจไปเป็นสัตว์ที่ดุร้ายได้ใช่ไหม

คัดลอกมาจาก
https://www.facebook.com/pages/สวนปฏิบัติธรรมชมวิว/1502603876685810?ref=hl



โดย: UMP    เวลา: 2014-11-10 13:43

"การเดินจงกรมเพื่อการพักจิต"

เมื่อใจเบื่อคำบริกรรม ถามคุณแม่ชีเกณฑ์ว่าใช้ลมหายใจแทนคำบริกรรมได้ไหม ท่านบอกว่าได้ไม่ผิดอะไร วิธีกรรมของครูบาอาจารย์เป็นแนวทาง ผู้ที่รู้จักตัวเองดีแล้วก็ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับตัวเองได้ ในวันนี้จึงขอเดินเงียบๆ ช้าๆ ไม่เร่งตัวเอง ไม่เร่งลมหายใจ ปล่อยใจให้สบาย ไม่ได้ทำเพื่อใครหรือเพื่ออะไร เป็นการเดินจงกรม 6 จังหว โดยใช้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกแทนคำบริกรรม

จังหวะที่ 1. ยกส้น+หายใจเข้า.....หยุดค้าง+หายใจออก
(ยกส้นเท้าขึ้นพร้อมกับหายใจเข้ายาวๆ จนท้องพองจนสุด แล้วหยุดเท้าค้างไว้ค่อยๆปล่อยลมหายใจออกจนท้องยุบ แล้วค่อยเปลี่ยนจังหวะ)

จังหวะที่ 2. ยก+หายใจเข้า....หยุดค้าง+หายใจออก
(ยกเท้าขึ้นพร้อมกับหายใจเข้ายาวๆ จนท้องพอง แล้วหยุดค้างไว้พร้อมกับปล่อยลมออกจนท้องยุบ)

จังหวะที่ 3. ย่าง+ลมหายใจเข้า....หยุดค้าง+ลมหายใจออก
(ก้าวขาออกไปพร้อมกับหายใจเข้ายาวๆ จนท้องพอง แล้วหยุดเท้าค้างไว้พร้อมกับปล่อยลมออกจนท้องยุบ)

จังหวะที่ 4. ลง+ลมหายใจเข้า...หยุดค้าง+ลมหายใจออก
(เอาเท้าลงแต่ปลายเท้ายังไม่ถูกพื้นพร้อมกับหายใจเข้ายาวๆ จนท้องพอง แล้วหยุดเท้าค้างไว้พร้อมกับปล่อยลมออกจนท้องยุบ)

จังหวะที่ 5. ถูก+ลมหายใจเข้า...หยุดค้าง+ลมหายใจออก
(ปลายเท้าถูกพื้นพร้อมกับหายใจเข้ายาวๆ จนท้องพอง แล้วหยุดเท้าค้างไว้พร้อมกับปล่อยลมออกจนท้องยุบ)

จังหวะที่ 6. เหยียบ+ลมหายใจเข้า....หยุดค้าง+ลมหายใจออก
(เหยียบพื้นเต็มเท้าพร้อมกับหายใจเข้ายาวๆ จนท้องพอง แล้วหยุดเท้าค้างไว้พร้อมกับปล่อยลมออกจนท้องยุบ)

ผลจากการเดินจงกรมแบบนี้ ในเวลาไม่กี่วัน ใจก็วางเรื่องที่คิดไปหลายสิบเรื่อง เป็นใจที่สงบ เย็น หนักแน่น ว่างและวาง 

การเดินจงกรมไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าเรารู้จุดนี่คือวิธีพักจิต คลายใจ ชำระจิต โดยที่ไม่ต้องไปไหน ไม่ต้องรอเวลา ไม่เสียเงิน แค่ห้องเล็กๆ ก็กว้างพอ แม้จะเดินได้แค่ก้าวเดียว ยืนกับที่ เดินไม่ได้ ยืนไม่ได้ เคลื่อนไหวได้แค่มือ หรือแค่ปลายนิ้ว ก็สามารถนำวิธีนี้ไปปรับให้เข้ากับตนเองได้ อยู่กับลมหายใจมาครึ่งค่อนชีวิตแล้ว เพิ่งจะใช้เขาให้เป็นประโยชน์สูงสุดก็วันนี้เอง







ยินดีต้อนรับสู่ แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน" (http://dannipparn.com/) Powered by Discuz! X1.5