แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

ชื่อกระทู้: ขอเชิญร่วมปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ ณ สวนปฏิบัติธรรมจิตต์ประภัสสร อ.หนองแค จ.สระบุรี [สั่งพิมพ์]

โดย: UMP    เวลา: 2015-11-10 16:35     ชื่อกระทู้: ขอเชิญร่วมปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ ณ สวนปฏิบัติธรรมจิตต์ประภัสสร อ.หนองแค จ.สระบุรี

"ขอเชิญร่วมปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ ณ สวนปฏิบัติธรรมจิตต์ประภัสสร อ.หนองแค จ.สระบุรี 4 - 7 ธ.ค. 58"

1. ผู้ให้กรรมฐานและสอบอารมณ์ : คุณแม่ชีเกณฑ์ นิลพันธ์ ปัจจุบันท่านเป็นผู้อบรมและสอบอารมณ์ผู้ปฏิบัติธรรม ที่ วัดป่าเจดีย์เทวธรรม อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด ท่านมีประสบการณ์อบรมผู้ปฏิบัติธรรม ทั้งจากวัดร่ำเปิง ตโปทาราม จ.เชียงใหม่ และสถานที่อื่นๆ มากว่า 42 ปี ท่านเปิดกว้างสอนได้ทุกแนวการปฏิบัติ ทั้งมีคำบริกรรม ไม่มีคำบริกรรม และผู้เริ่มต้นใหม่ที่ไม่เคยปฏิบัติมาก่อน

2. การเดินทาง : สวนปฏิบัติธรรมจิตต์ประภัสสร ตั้งอยู่เลขที่ 62 ม.1 ต.ห้วยทราย อ.หนองแค จ.สระบุรี คนละฝั่งกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลห้วยทราย ใกล้กับสำนักปฏิบัติแสงธรรมส่องชีวิต สาขา 4 มีเนื่อที่ 1 ไร่ 3 งาน สอบถามการเดินทางได้ที่ คุณแม่ชีสมทรง 0852989594   
ดูแผนที่การเดินทางจากกรุงเทพฯ ได้ที่ http://pantip.com/topic/34419110

3.การเตรียมตัว : สามารถเข้าร่วมปฏิบัติธรรมได้ตามวันเวลาที่ตนเองสะดวก สิ่งของที่ต้องเตรียมไป คือ เครื่องนอน เต้นท์หรือเต้นท์มุ้ง ชุดขาว หรือเสื้อผ้าสีอ่อน ของใช้ส่วนตัว ยาทากันยุง น้ำปานะชงต่างๆ (ไม่มีค่าใช้จ่าย)

4. อ่านแนวทางการสอนและการสอบอารมณ์ของคุณแม่ชีเกณฑ์ ได้ที่... http://pantip.com/topic/34419110/comment29 หรือจาก https://web.facebook.com/%E0%B8% ... 03876685810/?ref=hl

5. สอบถามรายละเอียดและแจ้งชื่อลงทะเบียน : ***เปิดรับผู้ปฏิบัติธรรมเพียง 20 คนเท่านั้น***
แจ้งชื่อลงทะเบียนได้ที่ คุณแม่ชีเกณฑ์ 062-1270465(12call) , 0868540049(dtac) 10.00-22.00 น., หรือเฟสบุค แม่ชีเกณฑ์ วัดป่าเจดีย์เทวธรรม https://web.facebook.com/profile.php?id=100006281232950&__nodl

โดย: UMP    เวลา: 2015-11-10 16:37

"แผนที่การเดินทางสู่สวนปฏิบัติธรรมจิตต์ประภัสสร"

สวนปฏิบัติธรรมจิตต์ประภัสสร ตั้งอยู่เลขที่ 62 ม.1 ต.ห้วยทราย อ.หนองแค จ.สระบุรี อยู่คนละฝั่งกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลห้วยทราย อ.หนองแค จ.สระบุรี ใกล้กับสำนักปฏิบัติแสงธรรมส่องชีวิต สาขา 4 มีเนื่อที่ 1 ไร่ 3 งาน สอบถามการเดินทางได้ที่คุณแม่ชีสมทรง 0852989594


โดย: UMP    เวลา: 2015-11-10 16:41

"บรรยากาศในสวนปฏิบัติธรรมจิตต์ประภัสสร"

โดย: UMP    เวลา: 2015-11-10 16:41

"เงื่อนไขการเข้าร่วมปฏิบัติธรรม"
เปิดรับเพียง 20 คน งดกาแฟ ปิดวาจาทุกคน งดเครื่องมือสื่อสารทุกชนิด งดอ่าน งดเขียน ไม่เน้นการสวดมนต์ ไม่เน้นการนั่งสมาธินานๆ เน้นให้ปฏิบัติทั้งวัน 


โดย: UMP    เวลา: 2015-11-10 16:42

"สถานที่กางเต้นท์หรือมุ้งและห้องน้ำ"


โดย: UMP    เวลา: 2015-11-10 16:43

"คุณแม่บวชมานานหรือยังค่ะ"

เคยมีผู้ปฏิบัติธรรมถามแม่ว่า...คุณแม่บวชมากี่ปีแล้วค่ะ แม่ก็บอกว่า แม่บวชมาตั้งแต่แม่อายุ 18 ปี ปีนี้แม่ก็อายุ 59 ปีแล้ว ไปบวกลบกันเองนะ ปีเกิดในบัตรแม่เกินมาปีนึง เมื่อนั่งคำนวณแล้ว เขาก็บอกว่าคุณแม่บวชตั้งแต่หนูยังไม่เกิดเสียอีก 

แม่บวชที่ วัดบูรพาภิราม อ.เมือง จ. ร้อยเอ็ด ในปี 2518 หลังจากบวชได้ 7 วัน แม่ก็เดินทางไปเข้ากรรมฐานที่ วัดบุญศรีมุณีกรณ์ ในกรุงเทพฯ ซึ่งขณะนั้นเป็นเพียงสำนักบุญศรีมุณีกรณ์ สอนวิปัสสนากรรมฐานสายยุบหนอ พองหนอ แม่เข้ากรรมฐานอยู่ที่นั่นเกือบ 4 เดือน แล้วจึงเดินทางกลับร้อยเอ็ด หลังจากนั้นแม่ก็ไปอยู่ที่เชียงใหม่หลายปี บางปีก็ไปอยู่แม่ฮ่องสอน ลำพูน ชลบุรีแล้วก็กลับมาที่ร้อยเอ็ด ตั้งแต่ปี 2535 

หลวงพ่อที่วัดบูรพาภิราม เป็นผู้ออกบัตรนี้ให้แม่ หลังจากที่บวชได้ 6 วัน เพราะแม่ต้องเดินทางเข้ากรุงเทพ ฯ บัตรนี้แม่ก็รักษาให้มันอยู่ในสภาพดีที่สุด นับตั้งแต่วันที่ได้มา 

อ่านประวัติการปฏิบัติของคุณแม่ชีเกณฑ์ได้ที่    http://pantip.com/topic/32013264


โดย: UMP    เวลา: 2015-11-10 16:43

"คุณแม่สอนปฏิบัติแนวไหนค่ะ"

แม่สอนวิปัสสนาในสติปัฏฐาน 4 มีสติรู้เท่าทันอารมณ์ ดับอารมณ์ได้ทันปัจจุบัน ถามว่าแนวไหนก็แนวมรรคมีองค์ 8 คุณจะเอาแนวไหนก็ได้ แต่ให้คุณเอาแนวเจริญสติปัฏฐาน 4 สติปัฏฐาน 4 ไม่ใช่เฉพาะหนอ แม่เปิดกว้าง อะไรก็ได้ จะมีคำบริกรรมหรือไม่มีก็ได้ 

มีผู้ปฏิบัติธรรมคนหนึ่ง เขาเล่นสมถะ จิตนิ่งเข้าฌานอยู่เป็นสิบปี แต่เขาไม่เจริญสติเลยทำให้เขาติดอยู่ตรงนั้น มีแต่ความสงบแต่ไม่มีปัญญาที่จะดับทุกข์ในใจตน เขาบริกรรมพุทโธ แม่ก็เลยบอกว่าเพราะเธอขาดสติและปัญญา เธอจงเจริญสติโดยเอาพุทโธนั่นแหละเป็นกรรมฐาน

สติปัฏฐาน 4 กว้าง จะเอาวิธีกรรมใดก็ได้ จะเอา 84,000 พระธรรมขันธ์มากำหนด จะเพ่งอะไรก็ได้ แต่เมื่อจิตสงบแล้วคุณต้องเจริญสติ ให้รู้เท่าทันอารมณ์ที่มากระทบทางตาหูลิ้นจมูกกายใจ ในผู้ที่ไม่มีคำบริกรรมอะไรเลย ก็ให้รู้เท่าทันอารมณ์เช่นกัน ให้มีสติรู้เท่าทันว่าโกรธ ว่าเกลียด มีโทสะมีโมโหมั้ย ให้รู้เท่าทันอารมณ์ที่คิด ที่ปรุงแต่ง 

ถ้าให้เอาหนอเข้าไป เขาฝืน เขาเคือง เขาอึดอัด ก็เอาอะไรก็ได้ แม่จะบอกจุดให้เขาไปสังเกตเพื่อให้เกิดสติและปัญญา ทำไมต้องให้รู้เท่าทันอารมณ์เพราะจะได้รู้จักตัวเองเห็นตัวเอง ว่ากำลังเกาะกำลังยึดอะไรอยู่ ทุกข์กับมันมากมั้ย เมื่อเห็นตัวเองจะได้เห็นโทษเห็นภัยอารมณ์ที่เราไปเกาะไปยึดอยู่ 

เมื่อรู้จักตัวเอง เห็นว่ามันทันมั่งไม่ทันมั่ง เอาอยู่มั่งเอาไม่อยู่มั่ง ถ้าอยากออกจากทุกข์ อยากแก้ตัวเอง แม่ก็จะสอนให้เขาเกิดสติเกิดปัญญา ที่จะสอนตัวเองเตือนตัวเองได้ หัวใจของการปฏิบัติอยู่ตรงนี้ ให้เรารู้เท่าทันอารมณ์และดับอารมณ์ปัจจุบันได้ทัน ดับทันมันก็ไม่ทุกข์ ดับไม่ทันมันก็เป็นภพเป็นชาติ


โดย: UMP    เวลา: 2015-11-10 16:49

"บรรยากาศใน วัดป่าเจดีย์เทวธรรม บ.โคกสูง ต.ดงลาน อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด"

ในช่วงเวลาปกติที่คุณแม่ไม่ได้รับนิมนต์ไปเปิดปฏิบัติธรรมที่ไหน ท่านจะอยู่ดูแลผู้ปฏิบัติธรรมมที่ วัดป่าเจดีย์เทวธรรม อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด ในช่วงวันหยุดยาวสิ้นปีนี้ ขอเชิญทุกท่านมาร่วมปฏิบัติธรรมกับคุณแม่ชีเกณฑ์ ได้ที่ วัดป่าเจดีย์เทวธรรม แจ้งชื่อและสอบถามเส้นทางได้ที่ คุณแม่ชีเกณฑ์ 0621270465,0868540049



โดย: UMP    เวลา: 2015-11-10 16:50

"ลูกเดินจงกรมยังไง"

คุณแม่ชีเกณฑ์ : ลูกเดินจงกรมยังไง
ผู้ปฏิบัติธรรม: เดินไปเรื่อยๆ บริกรรมพุทโธไปด้วย แต่ใจรู้สึกว่าเดินแบบธรรมดาใจมันร้อน บางทีก็เบื่อ ดูแต่นาฬิกา พอเดินช้าๆ กะว่าเพื่อฆ่าเวลาใจมันกลับเย็น เดินจงกรมแบบไหนที่เหมาะกับหนู หนูจะเดินช้าๆ ได้ไหม

คุณแม่ชีเกณฑ์ : การเดินช้าๆ ช่วยขัดจิต ขัดกิเลส ลูกเดินอย่างนี้นะ พอพุท ยกเท้าขึ้น ให้คำว่าพุทที่เอ่ยออกมา กับเท้าที่ยกขึ้น เกิดขึ้นพร้อมๆกัน แล้วหยุดไว้อย่าเพิ่งเอาลง ลูกจะเห็นคำว่าโธผุดขึ้นในใจ ให้คำว่าโธในใจดับไปก่อน แล้วเอ่ยออกมาใหม่ พร้อมกับขาที่เหยียบลงไป

ถ้ามันแว่บไปคิดให้หยุดค้างไว้ พอมันหยุดคิดก็เอาขาลง มันคิดอีกก็หยุดอีก มันหยุดคิดเราก็ไปต่อ ถ้ามันปวดขาก็หยุดค้างไว้ มันหายปวดเราก็ไปต่อ มันปวดอีกก็หยุดอีก มันหายเราก็ค่อยไป

......ทดลองทำตามที่คุณแม่บอก พยายามให้การรับรู้เท้าที่ยกขึ้นและคำว่าพุทเกิดขึ้นพร้อมๆกัน แล้วหยุดค้างไว้ เราเห็นคำว่าโธผุดขึ้นในใจจริงๆ ทั้งๆที่เท้ายังไม่ได้เอาลง พอคำว่าโธดับเราจึงเอ่ยออกมาใหม่พร้อมกับเอาเท้าลง

มันคิดขึ้นมาก็หยุดทันที บางทีค้างขาไว้จนปวดมันจึงกลับมา มากี่รอบก็หยุดเท่านั้น สิ่งหนึ่งที่เห็นคือความคิดมันดับเองได้โดยที่เราไม่ต้องไปยุ่งกับมัน มันเกิดขึ้นมากี่ครั้ง มันก็ดับของมันเอง เพิ่งรู้ว่า เออ หนอ ความคิดมันดับเองได้ มันเกิดของมันเอง มันก็ดับมันไปเอง เราโง่แท้ๆเลยหนอ ไปนั่งหาวิธีหยุดมัน

หยุดขาค้างไว้บ่อยๆ มันก็เริ่มตึงเริ่มปวด เจ็บขึ้นมาก็หยุดค้างไว้ทันที วินาทีที่หยุดความเจ็บหายไป เดินไปอีกขึ้นมาอีกก็หยุดอีก พอหยุดมันก็หายไป เกิดๆดับๆจนสุดท้ายมันก็หายไป เราจึงรู้ว่าความเจ็บก็มีช่องว่างของมันอยู่เหมือนกัน มันไม่ได้อยู่กับเราตลอด

ความเบื่อหน่ายในการเดินจงกรมหายไป ใจเริ่มเบิกบานและกระตือรือร้นต่อการปฏิบัติธรรม คุณแม่ท่านว่าการเห็นการเกิดดับนี่แหละคือต้นทางของการวิปัสสนา


โดย: UMP    เวลา: 2015-11-10 16:50

"นั่งสมาธิแล้วเงียบหาย ตัวหาย สถานที่ก็หาย"

เริ่มแรกของการปฏิบัติเมื่อผ่านเรื่องการเดินจงกรมมาได้แล้ว เหลือเพียงเรื่องการนั่งสมาธิที่ยังไม่ดีนัก เริ่มแรกนั่งแล้วเงียบหาย ตัวหาย สถานที่ก็หาย ตอนแรกคิดว่าดีเพราะไม่ฟุ้งซ่าน แต่รู้สึกไม่มั่นใจ ถามคุณแม่ชีเกณฑ์ท่านว่านั่งแบบนี้ถูกไหม

ท่านบอกว่า....ไม่ได้แล้ว หายเงียบไปแบบนั้นหาใช่ดีไม่ การนั่งสมาธิที่ดีต้องมีสติรู้กายรู้ใจอยู่ครบถ้วน ต้องตื่นอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่หายไปไหน ท่านบอกว่าขณะกำลังเกิดภาวะเช่นนั้น ให้แก้ด้วยการลุกเดิน อย่าปล่อยให้ดิ่งหายไปแบบนี้

เมื่อไม่หายไปไหนมาเจออีกภาวะหนึ่งคือ โงกง่วงโยกไปโยกมา น่าอายมากถ้าใครมาเห็น คุณแม่บอกว่า.....เพราะสติมันอ่อนเลยทำให้เสียการทรงตัว สติไม่พอที่จะประคองตัวเองให้หลังตั้งตรงไว้ได้ ให้สำรวจว่าร่างกายของเราเหนื่อยอ่อนเพลียไหม หรือมันจะเป็นนิวรณ์ ไม่เหนื่อยไม่เพลียพอเริ่มนั่งก็เริ่มง่วง อันนี้เป็นนิวรณ์แล้ว

กลับมาดูตัวเองอาจจะใช่ ปกติบ่าย 2 ของทุกวันเราจะงีบหลับ แต่นี่ไม่ได้นอนเลยและพบว่าหลังอาหารเที่ยงจะรู้สึกง่วงอย่างหนัก เมื่อเห็นจุดที่จะแก้การโงกง่วงของตัวเองได้ จึงเปลี่ยนเวลาการกินอาหารให้เสร็จก่อนเที่ยง บ่ายโมงเขาจะง่วงพอดี นอนเสียครึ่งชม.ก่อนไปปฏิบัติธรรม ทำให้อาการโงกง่วงหายไป คุณแม่ยังบอกอีกว่าอย่าปล่อยให้เป็นอย่างนั้นมันจะติดเป็นนิสัย เราต้องขัดมัน ถ้ามันโงกง่วงให้เราลุกเดินทันที อย่านั่งต่อต้องฝืนลุกขึ้นมา


โดย: UMP    เวลา: 2015-11-10 16:51

"จมแช่อยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง"

เมื่อผ่านอาการโงกง่วงมาแล้ว หากนั่งนานเกินไปจะมีการจมแช่อยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ระยะหลังคุณแม่ท่านให้นั่ง 5 นาที เดิน 5 นาที เพื่อไม่ให้จมแช่ทั้งขณะเดินและขณะนั่ง

นั่ง 5 นาทียังไม่ทันง่วงและไม่จมในความคิด เดิน 5 นาทีก็ยังไม่ทันออกนอกวัด ทำแบบนี้แล้วทำให้มีความรู้สึกตัวต่อเนื่องไม่ขาดตอน กว่าจะแก้ได้ไม่ใช่แค่วันเดียว เราใช้เวลาร่วม 3 เดือนกว่าจะแก้ได้ เมื่อดีขึ้นแล้วคุณแม่ท่านก็ให้เพิ่มเวลาขึ้นตามความเหมาะสม แต่หากกลับมาเป็นอีกเพราะสติอ่อนกำลังลง ท่านก็ให้กลับไปทำแบบเดิมอีก

ถามคุณแม่ว่านั่งสมาธิลืมตาได้หรือไม่ เพราะหลับตาแล้วมันจะพาหลับ คุณแม่บอกว่าจะลืมตาก็ได้ขอให้มีสติรู้ตัวอยู่ เราก็เลยนั่งหลังตรงและลืมตา หากวันไหนง่วงทั้งเดินและนั่งจนเอาไม่อยู่ จะด้วยสภาพร่างกายหรือสภาพอากาศ เราแก้ด้วยการจับไม้กวาดกวาดใบไม้ไปจนหมดชม. ดีกว่าทนนั่งง่วงเดินง่วงอยู่อย่างนั้น


โดย: UMP    เวลา: 2015-11-10 16:51


"มีความคิดเกิดขึ้นมากขณะเดินและนั่ง"

ถามคุณแม่ว่า...มีความคิดเกิดขึ้นมากขณะเดินและนั่ง บางทีคิดไปข้างหน้า บางทีคิดไปข้างหลัง ควรทำอย่างไรดี

คุณแม่ท่านบอกว่า...พอมีความคิดเกิดขึ้นก็ให้หยุด เช่นกำลังจะก้าวเท้าลง หากเห็นมันก็หยุดคาอยู่อย่างนั้นเลย พอมันดับเราก็ค่อยไปต่อ

ทำตามที่ท่านบอก เราเห็นสิ่งที่คิดดับลงไป เดี๋ยวมันก็มาอีก เราก็หยุดอีก มันก็ดับลงไปอีก ไปๆมาๆอยู่อย่างนี้ สู้กันหลายยก ผ่านวันที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 มันก็แทบจะไม่โผล่ขึ้นมา

อีกวิธีที่ท่านแนะนำเวลาที่ฟุ้งมากๆ ให้กำหนด คิดหนอ คิดหนอ หลายๆ ครั้ง เอาจนมันหายไปเลย หรืออยากหนอ อยากหนอ ถ้ามันอยากขึ้นมา วิธีนี้จะช่วยให้หายฟุ้งได้ เพราะจิตมาสนใจคำที่เราพูดออกมา และมารับรู้การเคลื่อนไหวที่ปากอย่างต่อเนื่อง การปรุงแต่งสิ่งที่คิดขาดตอน จนเลิกปรุงแต่งไป ความคิดจึงดับลง

ทุกวิธีต้องใช้ความตั้งใจและความเพียรพยายาม แม้ขณะนี้จะไม่ดีเลิศมากนักแต่ก็เบาบางจากความฟุ้งซ่าน เสียงข้างในเงียบขึ้นมากเหลือเพียงแต่เสียงภายนอก คุณแม่ท่านบอกว่าผู้ใดที่ไปร่วมปฏิบัติธรรมกับท่านไม่ได้ หากมีปัญหาอารมณ์ใจท่านยินดีให้คำแนะนำผ่านทางโทรศัพท์ พูดคุยเกี่ยวกับการปฏิบัติกับคุณแม่ชีเกณฑ์ ได้ที่ 0621270465(12call) , 0868540049 (dtac) 4.00-5.30,10.00-22.00 น.
โดย: UMP    เวลา: 2015-11-10 16:52

"วางเพื่อรู้จักตัวเอง"

บอกกับคุณแม่ว่า....พอเดินจงกรมมากๆ บริกรรมพุทโธในใจไปด้วย นานไปกลับรู้สึกหนวกหูคำว่าพุทโธ ทั้งๆ ที่บริกรรมมาตั้งหลายปีแล้ว ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ จะบาปไหม ใจมันรู้แล้วตรงไหนพุธ ตรงไหนโธ มันก็อันเดียวกัน มันอยากรู้เฉยๆ ไม่อยากบริกรรมแล้ว

คุณแม่ท่านบอกว่า...ก็ใจมันไม่เอาแล้ว ก็วางเสีย ให้จับจุดที่เคยพุทโธแทน เรารู้ว่าจังหวะไหน จุดไหนที่เป็นจุดที่เราบริกรรมพุท , โธ ก็ใช้การรับรู้ตำแหน่งนั้นแทนคำว่าพุธ โธ

ทำตามที่คุณแม่แนะนำ คือรับรู้จุดที่เคยพุท โธ เฉยๆ ไม่มีคำบริกรรม แต่พอออกจากทางจงกรม ในชีวิตประจำวันเราก็ยังพุทโธ จะทำอะไรก็คอยพุทโธ คุณแม่ท่านแนะให้ปล่อยในชีวิตประจำวันด้วย เราไม่กล้ากลัวใจไม่สงบ พอมีอารมณ์โกรธขึ้นมา ก็พุทโธทันทีจนติดเป็นนิสัย

คุณแม่ท่านว่า.....บริกรรมมาตั้งนาน แต่ยังไม่ทันอารมณ์ตัวเอง เราต้องแก้ปัญหาให้ถูกจุด แก้กันที่เหตุ บริกรรมแบบนกแก้วนกขุนทอง ไม่มีสติตามรู้ตามเห็นมันจริงๆ ไม่มีปัญญากำกับเห็นโทษเห็นภัยมันจริงๆ มันก็โกรธอยู่อย่างนั้น ถ้ามัวแต่หลบ จะเห็นตัวเองได้ยังไง

2 วันแรกพยายามไม่พุทโธ ตาเห็น หูได้ยิน คิดทันที รู้สึกทันที วุ่นวายไปหมดจนแทบจะทนไม่ได้ เลยรู้ว่าตัวเองยังถูกปรุงแต่งได้ง่าย อะไรเข้ามาก็เอาไม่อยู่ วันที่ 3 จึงค่อยดีขึ้นและก็ดีขึ้นเรื่อยๆ หลายวันผ่านไปใจเริ่มสงบโดยไม่ต้องพุทโธก็ได้ คุณแม่ท่านให้วิ่งเข้าหาอารมณ์ที่เกิดตรงหน้า วิ่งเข้าหาเวทนาที่เกิดขณะนั้น วิ่งเข้าใจที่มันรู้สึกจริงๆ เพื่อจะได้เห็นเหตุจริงๆ ที่ทำให้ใจสับสนวุ่นวาย

พอโกรธต้องทนเห็นมันไหม้ มันเดือด มันร้อนรน มันมอดไหม้จนสุดจะทน อดทนดูเฉยๆ จนมันดับลงเอง เรารู้แล้วว่าถ้าไม่ไปยุ่งกับมัน แต่งโน่น เติมนี่ ทนเอาหน่อย ไม่ถึงนาทีเดี๋ยวมันก็ดับ

เมื่อเห็นอาการตัวเองที่กำลังมอดไหม้อย่างเต็มที่ เราขยาดกลัวอารมณ์เหล่านี้มาก คุณแม่ท่านว่าถ้าไม่เห็นว่ามันเป็นของร้อน เราจะไปรู้โทษของมันจริงๆ ได้อย่างไร พยายามฝึกสติและใช้ปัญญา พาตัวเองอยู่เหนืออารมณ์เหล่านี้ให้ได้แล้วจะไม่ร้อน


โดย: UMP    เวลา: 2015-11-10 16:52

"นั่งสมาธิแล้วความจำหาย บางทีพุทธโธก็หาย แต่ก็จะดึงกลับมา จะเดินนั่งนอนยืนมีแต่พุทธโธ ฟังธรรมได้ทั้งคืน จิตของลูกเป็นอะไร แก้ไขอย่างไรค่ะ"

ขณะที่นั่ง พอหายใจเข้าพุท พอหายใจออกโธปุบ ให้ใช้สติสำรวจอาการ 32 ของตัวเอง จากปลายเท้าจรดหัว จากหัวจรดปลายเท้าว่า ยังนั่งตัวตรง ตัวเอน คอก้ม คอหักมั้ย ให้มีสติเห็นสมบูรณ์เหมือนลืมตาอยู่ทุกขณะ แล้วจะไม่มีอาการอย่างนั้น ที่มันวูบหายไปเพราะสมาธิลงลึก แล้วจิตดิ่งลงในสมาธิ สติอ่อนมันเลยวูบหายไปแว่บเดียว เหมือนตัวเองไม่มีตัวไม่มีตน

อย่านั่งนาน ให้นั่งแค่ 10 นาที เดิน 10 นาที ไปจนครบชม. พอสติแก่กล้าขึ้น มีสติสมบูรณ์เมื่อไหร่ นั่งนานก็จะไม่เป็นอาการนั้น ทำถูกแล้ว ไม่ว่าอะไรเกิดขี้น ก็ให้มีสติรู้อยู่กับพุทกับโธ แต่อย่าลืมสำรวจตัวเองอยู่ทุกขณะ รู้ตัวเองทุกขณะ ว่าครบถ้วนบริบูรณ์อยู่ นั่งอยู่ท่าอะไร จิตก็จะไม่ลงลึก เพราะมีสติสมบูรณ์

ที่ฟังธรรมได้ทั้งคืน เพราะจิตมีศรัทธา มีความเลื่อมใสในธรรม จิตมันจดจ่อ ถ้าจิตมาอยู่กับกายก็ให้หยุดฟัง ให้ฟังจิต เอาจิตกับสติมาตั้งอยู่กับตัวเอง จิตจะไม่คล้อยไปกับเสียงธรรม ปฏิบัติให้มากแล้วจะเข้าใจสิ่งที่ฟัง ฟังแค่ 5 นาที แต่เข้าถึงและเข้าใจ ก็มีอานิสงส์มากกว่าฟังทั้งคืน


โดย: UMP    เวลา: 2015-11-10 16:53

"การเดินจงกรม 6 จังหวะ สำหรับผู้ที่ทุกข์ใจและฟุ้งมาก"

1. ยกส้น...(หยุด)...หนอ...(หยุด)
2. ยก...(หยุด)....หนอ...(หยุด)
3. ย่าง...(หยุด)...หนอ...(หยุด)
4.ลง...(หยุด)...หนอ...(หยุด)
5. ถูก...(หยุด)....หนอ...(หยุด)
6. เหยียบ...(หยุด)....หนอ...(หยุด)

นอกจากจะรับรู้ที่เท้า ปาก ใจ หูก็ยังคงได้ยินเสียง บางทีมันก็รู้ลมหายใจ ตาก็เห็นสัตว์ที่เดินบนพื้นดิน รู้อากาศร้อนเย็น จิตแว่บออกไปคิดก็รู้

ออกเสียงดังทุกจังหวะและคำว่าหนอ ให้การรับรู้ของเท้า ปากและใจตรงกัน หากความคิดเข้าแทรกหยุดค้างไว้ทันที ความคิดดับจึงไปต่อ หากมันไม่ยอมดับก็ค้างไว้เลย เมื่อขาเริ่มเกร็งมันจะทิ้งความคิดมารับรู้อาการที่ขา การเดินจงกรมเช่นนี้ เป็นวิธีที่ขัดใจมากสำหรับผู้ที่ใจร้อน อารมณ์รุนแรง มันจะดิ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ขณะที่หยุดค้างไว้ ให้เราดูใจที่มันดิ้น มันหยุดดิ้นเมื่อไหร่จึงจะไปต่อ อดทนฝืนจิตไม่ทำตามที่มันสั่งให้ได้ 1-2 อาทิตย์มันก็จะหยุดดิ้น ยกเว้นคนที่ไม่สม่ำเสมอและไม่เอาจริง เมื่อมันหยุดดิ้นความสงบเย็นจะเกิดขึ้น 4 วันแรกจะปวดเมื่อยไปทั้งตัว เริ่มแรกตัวจะเอียงซ้ายเอียงขวาให้ทำความรู้สึกไปตามอาการเอียง ถ้ามันคิดติดกันเป็นลูกโซ่ ให้กำหนด คิดหนอๆเอาจนมันหยุด

วิธีนี้เป็นวิธีหักดิบ ผู้ที่ความอดทนน้อยมักจะถอยไปเสียก่อน สิ่งที่จำเป็นมากคือความต่อเนื่อง อย่างน้อยวันละ 1 ชม. เป็นเวลา 2 อาทิตย์จึงจะเริ่มเห็นผลชัดเจน หลังการปฏิบัติทุกครั้ง คุณแม่ท่านให้แผ่เมตตาเจาะจงให้เจ้ากรรมนายเวรเราก่อน เมื่อจิตใจเราเข้มแข็งขึ้นจึงจะแบ่งปันให้ผู้อื่นได้ และหมั่นตักบาตรให้เขาด้วย

เรื่องใดที่ขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำอีก ให้พิจารณาไตร่ตรอง ทำไมใจเรายังคิดเรื่องนี้ ยังคาใจตรงไหน ตัดสินใจเด็ดขาดกับมันว่าจะทำยังไงแล้วก็วางมัน และคอยเตือนตัวเองหากตายขณะนี้ ต้องไปเกิดเป็นจิ้งจกตุ๊กแกเฝ้าอยู่บ้านเขาแน่นอน การรับรู้หลายจุดถี่ๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดสติและให้สติเร็วขึ้น

เมื่อมีสติ ก็จะเกิดสมาธิ และปัญญาในการแก้ไขปัญหาก็จะตามมา ส่วนการหยุดนั้น เพื่อให้เห็นการเกิดดับของการรับรู้และความคิด ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกิดแล้วดับในทันที เมื่อเข้าใจในความเป็นจริง มันก็จะค่อยๆ ยอมรับว่าทุกสิ่งมันจบไปแล้ว และเลิกที่จะไปขุดคุ้ยขึ้นมาอีก เมื่อถึงเวลาที่จิตเขาก้าวเดินเองได้ คำบริกรรมก็จะค่อยๆ เลือนหายไป


โดย: UMP    เวลา: 2015-11-10 16:53

"รู้เท่าทันจิต"

ผู้ปฏิบัติธรรม : คุณแม่ค่ะ ปฏิบัติธรรมยังไงให้ถึงธรรมค่ะ
คุณแม่ชีเกณฑ์ : ก็วางสิ วางทุกอย่างมันก็ถึงเท่านั้นเอง ถ้าจิตไม่ว่างมันจะไปถึงได้ยังไง มัวแต่วุ่นนั่นวุ่นนี่ คิดโน่นคิดนี่ กังวลนั้นกังวลนี้...วาง ทำจิตให้ว่าง ทำจิตให้เป็นกลางๆ มีหน้าที่รู้เท่าทันจิต จิตมันมีหน้าที่คิด แต่เราทำใจเป็นกลางๆ เราพยายามว่า...เราจะปล่อยวางทุกอย่าง แต่มันก็ปล่อยไม่ได้ พอทำใจเป็นกลางๆ มีหน้าที่รู้เท่าทันจิต เราจะปล่อยมัน รู้เท่าทันทุกอย่าง มันก็พ้นทุกข์ ถ้าไม่รู้เท่าทัน ก็หลงใช่มั้ย

ผู้ปฏิบัติธรรม : แล้วทำอย่างไรถึงจะเข้าถึง มรรคมีองค์ 8 ค่ะ
คุณแม่ชีเกณฑ์ : จะเข้าสู่มรรคมีองค์ 8 ก็ต้องเดินอย่างนี้เสียก่อน รู้เท่าทันจิตเสียก่อน ถ้าไม่รู้เท่าทันจิต มันจะไปได้อย่างไรเล่า เริ่มต้นมันก็ต้องไปรู้เท่าทันจิตก่อน มันถึงจะเข้าถึงมรรคมีองค์ 8

จะให้มันเข้าสู่มรรคมีองค์ 8 มันไม่ไป ไม่มีทางหรอกคนเรา กิเลสไม่ยอมหรอก ใช่ไหม เหมือนที่แม่บอกให้เราปฏิบัตินั่นนะ อันน้นมันตายตัวอยู่แล้ว มันจะไปของมันเอง

การตามรู้จิตนี่แหละมรรคมีองค์ 8 จิตจะผิดศีลมันก็รู้ใช่มั้ย มรรคมีองค์ 8 ให้เว้นจากการฆ่าก่อนใช่มั้ย แล้วก็ห้ามคิดชั่วคิดร้ายต่อผู้อื่นใช่มั้ย ลงวาระสุดท้าย ให้รู้กายในกาย ให้รู้จิตในจิต รู้เวทนาในเวทนาใช่มั้ย ถึงจะไปได้ ให้ตั้งสติมั่น ตามรู้จิต ถ้าไม่ตามรู้จิต ไม่ตั้งสติมั่น มรรคมีองค์ 8 จะเกิดไหมนั่น

ต้องบอกให้เขาตามรู้จิตก่อน มรรคมีองค์ 8 ถึงจะสมบูรณ์ ถึงจะเกิดขึ้น เขาจะรู้ของเขาเอง ทำจิตให้ว่างให้บริสุทธิ์ มรรคมีองค์ 8 อยู่ในนั้น เขาจะเข้าใจเอง บอกไปก็มีแต่ไปท่องมรรคมีองค์ 8 แต่ไม่เข้าใจ มันต้องเดินก่อน ทำจิตให้เป็นกลางๆ ว่างๆ มรรคมีองค์ 8 ก็จะเกิดเอง ปฏิบัติแล้วมีสติเดี๋ยวก็เข้าใจเอง

มรรคมีองค์ 8 มันมีหลาย มีสติรู้เท่าทันจิตก่อนก็แล้วกัน ทันคิดชั่วคิดดีก็ให้รู้ รู้ไปก่อนมันจะไปเอง ทำใจเป็นกลางๆ ปล่อยวาง ว่างทุกอย่าง ทำจิตให้สะอาดหมดจด ผ่องแผ้ว ก็ศีล 5 ศีล 8 บอกอยู่แล้ว เดี๋ยวมันปฏิบัติ ถ้ามันไปเจอทุกข์ เจอเวทนา ทำไมเราถึงทุกข์ เพราะเราทำกรรม เออ อันนี้ท่านจึงให้เว้นจากการฆ่า

เพราะความบริสุทธิ์ หมดจด มันจะเป็นศีล มีสมาธิ มันจะรู้ของมันเอง แม่รู้ของแม่เอง นี่ละ ลงมรรคมีองค์ 8 แจ้งเลย อ่านจนหูแตก แม่ก็เคยอ่าน หนังสืออ่านกันมานานแล้วไม่ใช่หรือ แล้วเข้าใจมั้ย มันเข้าใจลึกซึ้งมั้ย

ต้องบอกให้มันตามรู้จิต จิตคิดชั่ว จิตคิดดี ให้รู้จิตพยาบาท อาฆาต จิตคิดฆ่าอะไร จิตมันโกรธ มันเกลียด ให้มันรู้ มันจะรู้เอง ไปอ่านมรรคมีองค์ 8 มันไปท่อง อ่านแล้วมันไม่ซึ้งในธรรมะ มันไม่เห็น ต้องให้มันเห็นด้วยฐานแท้ นั่นละ มรรคมีองค์ 8 อยู่ตรงนี้ ถึงจะเข้าใจ

ถ้าไม่มีสติ แล้วไม่รู้เท่าทันจิต มรรคมีองค์ 8 จะเกิดมั้ย มันก็ไม่เกิดใช่มั้ย ให้มีสติตามรู้เท่าทันจิตเสียก่อน มรรคมีองค์ 8 ถึงจะเกิดขึ้น ปัญญาถึงจะเข้าใจ ปัญญาถึงจะถ่องแท้ รู้แล้วก็วาง ดีก็วาง ชั่วก็วาง ติดสุขติดดีก็วาง รู้แล้วไม่วาง มันก็ไม่ใช่มรรคมีองค์ 8


โดย: UMP    เวลา: 2015-11-10 16:54

"ผมพยายามศึกษาพระธรรมคำสอน แล้วก็ศึกษาไปไกลโพ้นพอสมควร เพื่อหวังเข้าให้ถึงแก่น แต่ก็เข้าไม่ถึงสักที แก่นพระพุทธศาสนา... อยู่ตรงไหนหนอ? "

แก่นพระพุทธศาสนาก็อยู่ที่ใจคุณต่างหาก คุณทำใจให้ผ่องแผ้ว ไม่คิดไม่ปรุงไม่แต่ง ทำใจให้สะอาดหมดจด ให้ขาวรอบอยู่ทุกขณะ จิตไม่ฟุ้งซ่าน ไม่พยาบาท ให้ลดละปล่อยวาง ว่างอยู่ตลอด ไม่อุปาทาน ไม่ยึดมั่นในตัวกูของกู ทำแต่จิตตัวเองให้ขาวสะอาด หมดจดผ่องแผ้วอยู่ทุกขณะลมหายใจ

แล้วก็ให้เห็นตามความเป็นจริง กับทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ทุกสิ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป สรรพสัตว์ทั้งหลาย สรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ไม่มีอะไรเที่ยง มีแต่ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ทำจิตให้ขาวรอบผ่องแผ้วหมดจด ทุกลมหายใจเข้าออก ลดละปล่อยวางตัวกู อัตตาตัวตน นี่คือแก่นแท้ของพระพุทธศานา.


โดย: UMP    เวลา: 2015-11-10 16:54

"สมาธิกับวิปัสสนาต่างกันยังไงค่ะ"

ถ้าสมาธิอย่างเดียวก็นิ่ง ไม่รู้ตัวเอง เสึยงเข้ามาก็ไม่รับรู้ เย็นร้อนอ่อนแข็งมาสัมผัสกายก็ไม่รับรู้ นั่งนิ่งอย่างเดียว แต่ถ้าเป็นอารมณ์วิปัสสนา วิ แปลว่าตัวปัญญา รู้แจ้งในอารมณ์ ที่นิ่งก็รู้ว่านิ่ง วิปัสสนามีสติและปัญญาปนอยู่กับสมาธิ มีสติรับรู้อารมณ์ 

ที่เป็นสมาธิก็รับรู้ว่าเป็นสมาธิ รู้ว่ามันสงบ แต่ถ้ามีอารมณ์มากระทบทางหูก็รับรู้ ถ้าลืมตา ตาไปกระทบรูปก็รับรู้ทันที หรือว่ากายอยู่ในองค์สมาธิ หูได้ยินเสียงก็รับรู้ ได้ยินเสียงมาสัมผัสหู เย็นมา มีลมผ่านมา กายเย็นก็รับรู้ว่ากายเย็น กายร้อนก็รับรู้ว่ากายร้อน มีมดมีอะไรมาแตะต้องตัวก็รับรู้ มีอะไรก็รับรู้หมด พร้อมกับปัญญาคอยพิจารณาในสิ่งนั้น รู้แล้วก็วาง

วิ แปลว่าตัวปัญญา รู้เท่าทันอารมณ์นิ่ง อารมณ์สุข อารมณ์ทุกข์ นิ่งในสมาธิ จิตเสพอารมณ์ เบิกบานในอารมณ์สมาธิก็รู้ รู้แล้วก็ใช้ปัญญาพิจารณา ถอนออกจากความยินดียินร้าย ไม่ให้ไปติดในอารมณ์ที่ชอบใจ ไม่ชอบใจ เพราะอารมณ์ชอบใจและไม่ชอบใจนี้ เป็นนิวรณ์เครื่องขวางกั้นให้ผู้ปฏิบัติธรรมเนิ่นช้า หรือติดอยู่แค่ตรงนั้น


โดย: UMP    เวลา: 2015-11-10 16:55

"อาการที่เรียกว่าปิติมีอะไรบ้างค่ะ เกิดเพราะอะไร ดีหรือไม่ดี และแก้ไขอย่างไร"

อาการซาบซ่านทั่วร่างกาย  ตัวเบาเหมือนจะลอย  น้ำตาไหล ขนลุกขนพอง  ตัวโยกไปมา  คันเหมือนมดไต่ ตัวแข็งเหมือนหิน  ลมหายใจหายไป  ตัวหายไป  ไม่รู้สึกว่ามีร่างกายนี้อยู่เลย ตัวลอยขึ้น ตัวสั่น มือมาตีหน้าผาก หัวโขกพื้น ตัวยืดตัวยาว ตัวขยายใหญ่กว้าง เห็นสีแสงสว่าง สั่นเป็นเจ้าเข้า นี้เป็นอาการของปิติ เกิดเพราะสติเราอ่อน หนักสมาธิไป 


เมื่อเกิดสมาธิที่ไม่มีสติเท่าเทียมกัน ทำให้เราไม่มีสติพอที่จะประคองร่างกายให้ตั้งไว้ได้ หรือหากน้ำตาไหล สติเราไม่ทันกับใจที่ถูกปรุงแต่ง และด้วยวิบากกรรม เมื่อสติไม่พอวิบากกรรมจะเข้าแทรก ปิติก็เป็นนิวรณ์หรือเครื่องข้องที่ทำให้การปฏิบัติธรรมไม่ก้าวหน้า หยุดอยู่ตรงนั้น พอนั่งสมาธิก็ผลุบเข้าสู่สภาวะนี้เหมือนไปติดอยู่ในอีกภพหนึ่ง รู้ตัวอยู่แต่ไม่มีกำลังพอที่จะต่อต้านหรือพาตัวเองออกมา ต้องปล่อยให้คลายตัวลงเองจึงจะออกมาได้ 


นั่นเพราะสติเราอ่อนยังไม่มีกำลังพอที่จะต่อต้าน บางคนไปติดภาวะแบบนี้เป็น 10 ปีเพราะไม่รู้จะแก้อย่างไร ทำให้เลิกนั่งสมาธิไปเลยก็มี สรุปว่าไม่ดี แรกๆบางคนอาจจะตื่นเต้นเพราะไม่เคยเจอภาวะเช่นนี้ จากปกติมีแต่ภาวะฟุ้งซ่าน พอจิตสงบมาเจอสภาวะเช่นนี้ เลยคิดไปว่าตัวเองก้าวหน้าขึ้น ไม่ฟุ้งซ่านแล้ว 


บางคนอาจคิดไปว่ากำลังเข้าฌานนั้นฌานนี้ ไม่มีหรอกฌานตัวโยกไปโยกมา มีแต่ฌานโลกีย์ นั่งแล้วไม่มีสติรู้ตัวหรือควบคุมตัวเองไม่ได้ หากตายขณะนั้นคิดว่าจิตจะไปไหน ก็ไปแบบคนไม่มีสติ ไปตามบุญตามกรรมที่ทำมา หรือวิบากกรรมเก่าเข้าแทรกพอดี ก็ไปตามกรรมนั้นเลย น้ำตาไหล ขนลุกขนพอง  เห็นสีแสงสว่าง คันเหมือนมดไต่ ให้กำหนดรู้หนอๆ ไปจนกว่าอาการจะหาย อย่าไปปรุงแต่งต่อ 


ส่วนอาการอื่นๆทางร่างกาย ให้เดินจงกรม 5 นาที นั่ง 5 นาที ทำสลับไปสลับมาจนครบ 1 ชม. การทำแบบนี้ทำให้สติตื่นและตั้งมั่น ไม่ฟุ้งซ่าน ขจัดนิวรณ์ในใจ และทำให้ไม่ติดในความชอบที่จะนั่งนานๆ กระฉับกระเฉง ไม่ขี้เกียจ ช่วยปรับสมดุลร่างกาย โรคที่เป็นอยู่ถูกขับออก เป็นการรักษาโดยธรรมชาติ ทำเช่นนี้ประมาณ 2 อาทิตย์ อาการทุกอย่างก็จะหายไป เมื่อสติมีมากขึ้นก็เพิ่มเวลาตามสมควร หากเป็นอีกก็แก้กันอีก 


บางคนวิบากกรรมเข้าแทรกขณะนั่งสมาธิเกิดนิมิต ไม่รู้ว่าต้องกำหนด เจ้ากรรมนายเวรมาแสดงตัวและดึงเธอไป หลังจากนั้นก็กลายเป็นคนสติเลื่อนลอย ไม่รับรู้อะไรอีก เขาก็มาปฏิบัติแก้ด้วยการลุกนั่ง 5 นาที มาเป็นนิมิตมาอีกก็ให้กำหนดรู้หนอๆ อย่างเดียว ทำอยู่ปีกว่าและแผ่เมตตา อาการก็เป็นปกติ


ช่วงแรกอาจต้องตั้งเวลา เราต้องทนกับใจที่มันดิ้น มันขัดใจ มันไม่เอา มันไม่ยอม  ก็เพราะไอ้ใจที่มันดิ้นนี้ไม่ใช่หรือที่พาเราเดือดร้อน หากเราทนได้ ฝืนได้ มันก็จะหยุดดิ้นเอง เพราะมันชินแล้ว เมื่อจำระยะเวลาที่ต้องลุก ต้องนั่งได้ เราก็ลุกนั่งเองโดยไม่ต้องตั้งนาฬิกา  ทุกครั้งหลังการปฏิบัติ คุณแม่จะให้แผ่เมตตาเจาะจงให้กับเจ้ากรรมนายเวรตัวเอง แผ่ไปจนกว่าเราจะพ้นสภาวะตรงนี้ จึงเริ่มแผ่เมตตาให้คนอื่น


โดย: UMP    เวลา: 2015-11-10 16:55

"หนูไม่มีเงินทำบุญเลย แล้วการแผ่เมตตาของหนูจะมีกำลังได้อย่างไรค่ะ"

คุณแม่เราป่วยหนักมานานแล้ว ท่านร้องครวญครางเสียงดังทั้งวันทั้งคืน นอกจากการดูแลรักษา คุณแม่ชีเกณฑ์ท่านให้แบ่งเวลาเพื่อปฏิบัติธรรมจริงๆ จังๆ ทุกวัน แล้วแผ่เมตตาเจาะจงให้กับเจ้ากรรมนายเวรของคุณแม่ของเรา

ตอนนี้เราแทบจะไม่มีเงินทำบุญเลย ถามท่านว่าแล้วจะมีบุญแผ่เมตตาให้เขาได้อย่างไร ท่านบอกว่าไม่เป็นไร อย่าได้กังวลในเรื่องนั้น ให้นึกถึงทานทุกอย่างที่เคยทำไว้มากมายในอดีต แล้วแผ่เมตตาออกไป

เรายังบอกท่านอีกว่า บางวันยุ่งมากจนไม่มีเวลาปฏิบัติ บางวันก็เหนื่อยมากจนปฏิบัติไม่ไหว นั่งสมาธิ พอสงบสักนิดก็หลับทุกที แล้วการแผ่เมตตาจะมีกำลังได้อย่างไร

ท่านบอกว่าแม้จะไม่ได้ปฏิบัติมากมายนักด้วยความจำเป็น แค่ปฏิบัติเดินจงกรมและนั่งสมาธิด้วยใจสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน ตั้งมั่น แน่วแน่ เป็นหนึ่งเดียว แค่เพียง 20 นาทีก็เพียงพอที่จะทำให้การแผ่เมตตานั้นมีกำลังแล้ว หรือในแต่ละวัน จิตเราไม่ถูกปรุงแต่ง ไม่ฟุ้งซ่าน ก็จะทำให้การแผ่เมตตานั้นมีกำลังเช่นกัน

ท่านให้เราส่งจิตไปถึงเจ้ากรรมนายเวรของคุณแม่ของเรา บอกเขาว่าหากเขายินดีปลดปล่อยแม่ของเรา ไม่ให้ท่านทุกข์ทรมาน เราจะบวชและปฏิบัติธรรมอย่างจริงๆจังๆ แล้วอุทิศบุญให้พวกเขาได้พ้นจากความทุกข์ทรมานและภพภูมิที่เป็นอยู่

ถามคุณแม่อีกว่า จะเจรจาขอเจ็บป่วยทุกข์ทรมานแทนคุณแม่ของเราได้ไหม ท่านถามกลับว่าเวลาเราโกรธใคร หากลูกเขามาบอกให้ไปโกรธเขาแทน เราเปลี่ยนคนโกรธได้ไหม มันเป็นคนละคนกัน ใจเราก็ไม่โกรธ หากไปทำอะไรเขาก็เท่ากับสร้างกรรมให้ตัวเองเสียอีก ทางเดียวที่จะแทนกันได้คือปฏิบัติธรรมจริงๆ จังๆ อย่างถูกทางและแผ่เมตตาให้กับพวกเขา

เราไม่รอเวลา แม้จะยังไม่ได้บวช เราก็ขอตั้งจิตอธิฐานปฏิบัติธรรมอย่างจริงๆ จังๆ ทุกวัน แล้วแผ่เมตตาให้กับพวกเขา เพื่อให้ความทุกข์ทรมานของคุณแม่ของเราได้คลายลงบ้าง ขอแบ่งปันความรู้เล็กๆน้อยๆ นี้ ไปยังเพื่อนๆ ทุกท่าน เผื่อว่าอาจจะเป็นประโยชน์ได้บ้าง


โดย: UMP    เวลา: 2015-11-10 16:55

"ทำให้การเกิดครั้งนี้...เป็นครั้งสุดท้ายนะลูก"

เล่าให้คุณแม่ฟังว่า ฝันเห็นจานบินมีสำแสงส่องมาและดูดคนที่โดนแสงนั้นขึ้นไป วิ่งกลับเข้าไปในบ้าน เอาคุณพ่อที่นอนป่วยอยู่ซ่อนไว้ใต้เตียง แล้วตัวเองวิ่งหนีแสงนั้นออกไปนอกบ้าน หนีไปซ่อนตัวตรงนั้นตรงนี้ แต่หนีไปซ่อนตรงไหนมันก็หาเจอ ไม่มีทางหนีมันได้เลย

ถามคุณแม่ว่าสิ่งที่เราหนีไม่ได้ก็คือความตายใช่ไหม ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดบนโลกนี้เราไม่มีทางหนีมันพ้น ในใจคิดจะมีวันใดหนอที่เราจะยืนรอรับมันอย่างสง่าผ่าเผย ไม่วิ่งหนีมันเช่นนี้

ถามท่านอีกว่า ทำอย่างไรถึงจะกล้าเผชิญหน้ากับความตายอย่างสง่าผ่าเผย ท่านบอกตั้งใจปฏิบัติไปนะ อย่าทิ้งความเพียร ทำให้สม่ำเสมอ เมื่อสติแก่กล้าและเข้าใจในความเป็นจริงของสรรพสิ่ง วันนั้นลูกจะกล้าเผชิญหน้ากับความตายอย่างสง่าผ่าเผย

หัดตายเสียตั้งแต่ตอนที่ยังไม่ตาย ทุกข์ใจแค่นี้ยังทนไม่ได้ แล้วเมื่อถึงเวลานั้นที่ต้องจากทุกสิ่งไป จะทนได้หรือ เห็นแล้วใช่ไหมไม่ว่าเราจะไปซ่อนที่ไหนมันก็หาเจอ ไม่มีของวิเศษอันใดจะทำให้เราหนีมันได้ มีทางเดียวที่จะไม่ต้องหนีมันอีกไปตลอด ลูกก็ต้องไม่กลับมาเกิดอีก ทำให้การเกิดครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายนะลูก


โดย: UMP    เวลา: 2015-11-10 16:56

"เราหรือกาแฟที่ทำความเพียร"

เมื่อก่อนก่อนที่จะได้มาปฏิบัติธรรมกับคุณแม่ชีเกณฑ์ ฉันมักดื่มกาแฟเป็นกิจวัตร เช้าก่อนทำงาน ๑ แก้ว ประมาณบ่าย ๒ โมงดื่มอีก ๑ แก้ว ครั้นเริ่มปฏิบัติธรรมกับคุณแม่ชีเกณฑ์ เมื่อต้นปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๕๗ ทุกครั้งที่มีการเสวนาธรรม คุณแม่มักจะบอกผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนทุกครั้งที่ร่วมกันปฏิบัติธรรมว่า ให้ละการดื่มกาแฟ...

ซึ่งตอนแรกฉันก็นึกสงสัยและเกิดคำถามว่าเพราะอะไร...และทำไมคุณแม่จึงให้หยุดดื่มกาแฟ เฉกเช่นเดียวกับบทความนี้ที่มีผู้ปฎิบัติธรรมท่านหนึ่งได้เสวนาธรรมเรื่องนี้กับคุณแม่ เมื่อได้คำตอบผู้ปฏิบัติธรรมผู้นี้ก็สามารถหยุดการดื่มกาแฟได้ แต่หาได้หยุดความเพียรของตนไม่

วันนี้...จึงขอนำมาถ่ายทอดให้ทุกคนที่สงสัยได้อ่านร่วมกัน ดังนี้

“…ตั้งแต่เริ่มต้นคุยกับคุณแม่ชีเกณฑ์ เราบอกท่านว่าวันไหนดื่มกาแฟแล้วจะมีแรงปฏิบัติดีมาก ขยันเดินขยันนั่งไม่เบื่อหน่าย วันไหนไม่ได้ดื่มกาแฟ จะเกิดความรู้สึกตื้อๆ ไม่เห็นสภาวะอะไรเลย เราจึงถามตัวเองว่านี่เราทำความเพียรหรือให้กาแฟมันทำความเพียรกันแน่ 

คุณแม่จึงบอกให้เราหยุดดื่มกาแฟ และสอนให้อยู่ได้ด้วยสติของตัวเราเอง แรกๆ เราก็ยังไม่กล้าที่จะตัด ไม่ดื่มเลย มีดื่มบ้างไม่ดื่มบ้าง หลังๆ ก็เป็นโอเลี้ยง แต่มันจะต่างกันตรงไหนล่ะ จึงตัดสินใจที่จะหยุดดื่มกาแฟ... 

๓ วันแรกที่หยุดดื่ม รู้สึกปวดหัวมาก หงุดหงิดฉุนเฉียว ปฏิบัติไปมีแต่ความขี้เกียจ ไม่ตื่นตัว แต่ก็อดทนฝืนมันไว้ พอเข้าวันที่ ๕ เริ่มดีขึ้น พยายามเคลื่อนไหวตัวเองตลอดเพื่อกระตุ้นสติให้มีกำลัง ตอนนี้แหละที่เราเข้าใจคำพูดของคุณแม่แล้ว ทำไมให้เลิกดื่มกาแฟ เพราะมันไม่ดีต่อสุขภาพ มีผลต่อจิตใจ ทำให้เราอ่อนแอไม่ยอมพึ่งตัวเอง ตอนนี้เราเลิกแล้ว...ไม่ยอมตกเป็นทาสของกาแฟอีกแล้ว เพราะรู้แล้วว่าคิดไปเองที่ว่าอยู่ได้เพราะกาแฟ 

ตอนนี้ก็ผ่านไปเกือบปี เราไม่ดื่มกาแฟเลย ทั้งๆ ที่เคยดื่มกาแฟมาเกือบครึ่งชีวิต และพบว่าการมีสติอยู่กับตัวให้มากขึ้น ทำให้ตื่นยิ่งกว่าการดื่มกาแฟเสียอีก ยิ่งเคลื่อนไหวยิ่งตื่น ไม่ปวดท้อง ไม่ห่วงเรื่องน้ำตาล ไม่ง่วงแม้จะนอนน้อย และที่สำคัญไม่หงุดหงิดฉุนเฉียวเช่นเดิม

ทุกอย่างต้องใช้เวลาและความเพียร บวกกับความตั้งใจจริง หากเราไม่ละแล้ว เราจะเห็นตัวจริงของใจได้อย่างไร เราต้องยืนได้ด้วยตัวเองหาใช่ยืนได้ด้วยกาแฟ”

หลายคนคงไม่สงสัยแล้วใช่ไหมว่า เหตุใดคุณแม่ชีเกณฑ์จึงมักบอกผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนให้หยุดดื่มกาแฟ


โดย: UMP    เวลา: 2015-11-10 16:56

"มัจจุราชมาเตือน"

เช้าหนึ่งเกิดความเบื่อ เบื่อที่จะกิน ไม่สนใจเรื่องตัวเอง เบื่องานบ้านที่ทำไม่จบสิ้น เบื่อแต่ไม่ขี้เกียจ ยังคงทำทุกอย่างตามปกติ แต่ใจทำแบบงั้นๆ พูดคุยงานตามปกติ ไม่สนใจมากนัก ตอนบ่ายไปซื้อของที่ตลาดริมน้ำ เห็นป้าคนหนึ่งอายุ 50 กว่าๆ ในมือถือของ เดินไปได้ไม่ถึง 5 ก้าว แกก็นั่งพักตามรถที่จอดแถวนั้น หน้าบ้านคนอื่นบ้าง 

เราเดินไปซื้อของ ขากลับยังคงเห็นป้าเดินบ้างพักบ้าง ที่ว่ามัจจุราชมาเตือนนั้นคือ ใช่วันใดวันหนึ่งเราอาจจะเดินได้แค่ 5 ก้าวอย่างป้าเขา ถ้าเราไม่รีบคงจะไม่ทันการณ์ ขาเรายังเดินได้อยู่ก็จงเดิน มือเรายังเขียนได้อยู่ก็จงเขียน ใครจะไปรู้ว่าวันข้างหน้า ตาเราอาจจะบอดหรือความจำเสื่อม หรืออาจจะเคลื่อนที่ไม่ได้ทั้งตัวก็เป็นได้ 

สิ่งใดที่ยังไม่ทำก็ทำเสียก่อนจะหมดโอกาส เวลาไม่คอยท่าใคร ใจเราพลิกกลับในทันที ความเบื่อโลกหายไป เรารีบทำในสิ่งที่ค้างอยู่ ตัดสินใจในเรื่องที่คาอยู่ ใจไม่ไปข้องแวะอยู่ที่ใดนานๆ ช่วงเวลาที่ยังมีโอกาสได้พูดคุยกับคุณแม่ชีเกณฑ์ เราไม่รีรอที่จะทำตามคำที่ท่านแนะนำ เพราะไม่รู้ว่าเวลาของเราจะหมดลงเมื่อใด


โดย: UMP    เวลา: 2015-11-10 16:57

"อสรพิษ"           

เล่าให้คุณแม่ชีเกณฑ์ท่านฟังว่าเวลาขับรถ มักจะควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ ทั้งที่เป็นเวลาที่มีสติมากที่สุด เจอรถจอดขวางทาง รถขับช้า รถผิดเลนส์ อารมณ์ขึ้นมาทันที บีบแตรใส่เขาด้วยความมีอารมณ์ ถามท่านว่าทำอย่างไรจึงจะบีบแตรไปแบบไม่มีอารมณ์ปนไปด้วย ท่านบอกว่าที่เป็นเช่นนั้นเพราะสติเราช้ากว่าใจ พอตาเห็นใจก็ถูกปรุงแต่งทันที ห้ามไม่ทันจนเกิดเป็นอารมณ์ขึ้นมา           

ท่านบอกว่าถ้าตายขณะนั้น จะไปเกิดเป็นสัตว์ดุร้ายหรืออสรพิษ เช่น งูเห่า งูจงอาง หมาบ้า เสือ ตะขาบ แมงป่อง คงเคยเกิดเป็นงูเห่ามาก่อน จึงมีใจที่ร้ายเช่นนั้น พร้อมที่จะฉกกัดทุกคนที่ไม่พอใจ มันเกิดเพราะยังมีอัตตาตัวตนอยู่ข้างใน เห็นไหมของข้างนอกวางได้แต่ของข้างในมันยังไม่ขาด เราต้องเห็นโทษเห็นภัยมันอย่างแท้จริง จึงจะขาดจากมันได้                       

ถามท่านว่าแล้วทำอย่างไรจึงจะห้ามมันทัน ท่านบอกว่าต้องให้สติถี่ยิบทันกับสิ่งที่มากระทบทางอายตนะทั้ง 6 ให้สติหนาแน่นประดุจกำแพงปูน แค่รูขุมขนไม่พอเพราะความมีตัวตนมันแทรกขึ้นมาได้ทุกรูขุมขน ท่านแนะวิธีดึงใจให้ช้าลงและให้มีสติมากขึ้น ด้วยการกำหนด เห็นหนอๆๆ ได้เย็นหนอๆๆ คิดหนอๆๆ กำหนดทุกอิริยาบถเท่าที่จะกำหนดได้ หากไม่ทันโกรธขึ้นมาแล้วก็ต้องกำหนด โกรธหนอๆๆเพื่อดึงขามันไว้            

การหนอเป็นการสะกัดกั้นความปรุงแต่งต่อ เช่นตาเห็นหากเรากำหนดทันมันก็จะไม่ไปต่อ ว่าเธอทำอย่างนั้นอย่างนี้ มันจะหยุดอยู่แค่นั้น หรือหูได้ยิน เราก็กำหนดได้ยินหนอๆๆ ไม่อย่างนั้นมันจะคิดต่อว่าเขาว่าเราหรือเปล่า ท่านบอกว่าแค่รู้ทัน มันแค่ห้ามไม่ให้มันเกิดขึ้น ถ้าวันใดสติอ่อนกำลัง มันก็จะโกรธขึ้นมาอีก ถามท่านว่าแล้วทำอย่างไรให้มันขาดไปเลย ท่านบอกว่าเราต้องเห็นโทษเห็นภัยของความมีอัตตาตัวตนอย่างแท้จริง มันจึงจะขาดไปได้ ปัญญาที่เกิดในขณะเดียวกันกับสติที่สมบูรณ์เท่านั้นที่จะตัดขาดได้      

ถามท่านอีกว่าแล้วจะทำอย่างไรให้สติถี่ยิบและเร็วขึ้นอย่างที่ท่านว่า ท่านบอกว่าความต่อเนื่องคือเรื่องใหญ่และสำคัญมาก หากต้องทำงานให้แบ่งเวลาปฏิบัติบ้างทุกวัน วันละเล็กน้อยเพื่อความต่อเนื่อง ไปทำงานก็ต้องเจริญสติต่อไม่ให้ขาด ต้องรู้ทุกขณะที่มีอารมณ์มากระทบใจ โดนตำหนิรู้สึกอย่างไร หิวเป็นยังไง เห็นผู้ชายผู้หญิงรู้สึกอย่างไร ขับรถไปรถติดเป็นยังไง นั่งนานเป็นยังไง ไม่กินกาแฟเป็นยังไง เห็นอาหารแล้วเป็นอย่างไร เห็นเงินในกระเป๋ารู้สึกยังไง ถึงบ้านแล้วเป็นยังไง ให้รู้ไปจนกระทั่งหลับ ตื่นขึ้นมาก็ให้รู้ต่อ ความต่อเนื่องจะทำให้สติมีกำลัง ในคนทำงานต้องใช้เวลา เดือนหรือ 3 เดือนจิตจึงจะมีกำลังขึ้นมา            

เราตั้งใจแล้วที่จะทำตามท่านบอก จะขยันกำหนดไม่ขี้เกียจไม่ขี้ลืม ไม่อิดออดอ้างโน่นอ้างนี่เพราะไม่อยากทำ เราทนกับนิสัยอันเลวร้ายของตัวเองไม่ได้แล้ว ตายไปไม่แคล้วเป็นงูเห่าแน่นอนหากปล่อยไว้เช่นนี้

โดย: UMP    เวลา: 2015-11-10 16:57

"สติไม่ทันกับใจ"

บอกกับท่านว่าเราใจร้อนเวลาขับรถ เป็นเหตุให้ไม่พอใจทุกครั้งที่ขับรถ ท่านบอกให้ใช้สติ ปัญญาเข้ามาดับมัน แต่ก็ยังไม่ทัน ปัญญาสอนตัวเองมักมาทีหลัง โกรธไปก่อนแล้ว ท่านบอกว่านั่นเพราะจิตมันไปเร็วกว่าสติ            

ท่านถามว่าเวลาเดินจงกรมเดินอย่างไร เราบอกเดินหยุด 3 จังหวะช้าๆ ท่านบอกให้เดิน ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ วันถัดมาท่านให้เดิน 4 จังหวะ คือ ยกส้นหนอ ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ  เราหายไป 2 วันหาจังหวะให้ลงตัว บอกท่านว่าพูดติดๆกันไม่ได้ ต้องพูด ยกส้น.....หยุดไปนิด.....แล้วพูดว่าหนอ ยกหยุดไปแล้วก็หนอ เดินจงกรม1 ชม.ได้แค่ 2 รอบ ไม่เหลือเวลาสำหรับนั่งสมาธิ             

เราบอกท่านว่าวันแรกเห็นจิตมันดิ้น มันถูกขัดใจไม่ได้ตามใจมัน วันที่ 2 ม้นเริ่มหยุดดิ้นแต่ก็ยังไม่เย็น เมื่อผ่านไป 3 วัน พบว่าการเดินมี 5 จังหวะ ท่านจึงบอกว่าจริงๆแล้วมี 6 จังหวะคือ ยกส้นหนอ ยกหนอ ย่างหนอ ลงหนอ ถูกหนอ เหยียบหนอ  เมื่อเริ่มเดิน 6 จังหวะวันแรกเดินได้แค่ 1 รอบ วันที่ 2 ของการเดิน 6 จังหวะใจของเริ่มเย็นลงไม่ร้อนเหมือนวันแรก  เมื่อกลับบ้านเริ่มหนอมากขึ้น โดยไม่ต้องบังคับใจตัวเอง ซ้ายหนอ ขวาหนอ ยกหนอ ก้มหนอ เงยหนอ คิดหนอ เห็นหนอ            

ผ่านไปเกือบอาทิตย์บอกท่านว่าการหนอนี้เหมือนทางลัด จะก้มเงยหยิบจับบิดหมุนก้าวเดิน รู้สึกตัวได้ง่ายขึ้น ไม่เหมือนแต่ก่อนพยายามแทบตายแต่ยังไม่รู้ทั่วตัว ใครๆก็คิดว่าการหนอช้า ในชีวิตปกติจะไปทันการณ์ได้อย่างไร มัวแต่หนอมันก็ดับไปแล้ว ท่านบอกว่าหากเรามีสติที่ช้าการหนอจะทำให้จิตเราช้าลง เมื่อสติกับจิตทันกันก็จะมีการหยุดยั้งคิดก่อนที่จะทำอะไรลงไป ก่อนจะโกรธเราก็จะมีสติตามทันหยุดยั้งอารมณ์ไว้ได้             

เราเห็นคุณค่าของการหนอแล้วในวันนี้ ท่านไม่ได้บังคับให้ทำแต่เราเต็มใจทำเพราะเห็นว่านี่คือวิธีที่จะแก้นิสัยใจร้อนลงได้ อาจต้องทนกับไฟที่เผาตัวเองหลายวันหรือหลายสัปดาห์ ท่านบอกว่าการหนอเป็นการฝึกให้เราทนกับไฟที่เผาลนจิตใจเราให้ได้ ผลจากการเดิน 6 จังหวะและหนอช้าๆ ปวดขามาก ปวดไปทั้งตัว นั่นเพียงแค่ชม.เดียว แต่ตอนนี้เราผ่านมาได้แล้ว ทุกอย่างเป็นเครื่องทดสอบความตั้งใจจริงๆ


โดย: UMP    เวลา: 2015-11-10 16:57

"ของวิเศษอยู่ที่ใจ"              

วันหนึ่งได้ยินคนคุยกันเรื่องศาสนากำลังเสื่อม เรากลับรู้สึกตรงข้าม เรากำลังรู้สึกว่าศาสนาเจริญขึ้นต่างหาก เจริญขึ้นที่ใจของเรา สว่างกระจ่างจ้าอยู่ข้างในนี้ ไม่รู้เลยว่าศาสนาพุทธเข้าไปอยู่ข้างในเสียตั้งแต่ตอนไหน แต่ก่อนนั้นเรารู้สึกว่าศาสนาพุทธอยู่ที่หนังสือ ที่พระ ที่วัด ที่ครูบาอาจารย์ แต่ตอนนี้เรารู้แล้วว่าศาสนาพุทธได้เกิดขึ้นที่ใจเสียแล้ว เราไม่ต้องการหนังสือและ CD ธรรมะอันใดอีกเพราะทุกอย่างมีครบแล้วที่ใจดวงนี้     

และมีอีกวันที่เห็นความกล้าหาญของตัวเอง วันที่ถอดสิ่งที่ห้อยคอมาตลอด บอกกับแม่ชีเกณฑ์ท่านว่า เราไม่ต้องการสิ่งวิเศษหรือของขลังอันใดอีก เพราะของวิเศษที่สุดที่จะคุ้มครองเราได้อยู่ที่ใจดวงนี้แล้ว ท่านบอกว่าธรรมะของพระพุทธเจ้า 84,000 พระธรรมขันธ์ รวมลงคือใจดวงนี้ดวงเดียว ไม่มีอันใดวิเศษเท่าใจดวงนี้แล้วหากเราทำให้เขาปกป้องเราได้              

สิ่งอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นนี้เพียงแค่ในระยะเวลาไม่กี่เดือน ท่านเป็นเพียงผู้ตอบ แนะแนวทางและเตือนเมื่อผิด ท่านมักจะให้การบ้านให้ไปดูเอง เช่น ท่านถามว่าเวลาได้ยินเสียงคิดว่าเสียงมาหาหูหรือหูไปหาเสียง นี่เป็นเพียงบางส่วนของเรื่องที่ผ่านมา ท่านให้ความกระจ่างในอีกหลายเรื่องทั้งเรื่องในใจและนอกใจ ท่านย้ำเสมอให้มีสติอยู่กับตัว อย่าประมาทเพราะความตายมาถึงเมื่อไหร่ไม่รู้ ท่านจะสอดแทรกให้เห็นถึงความไม่เที่ยงในสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งความทุกข์และความบังคับมันไม่ได้ดั่งใจในชีวิตประจำวัน ท่านชึ้ให้เห็นถึงโทษของมันที่เกิดขึ้นกับใจ 
     
สุดท้ายท่านเน้นย้ำให้เห็นถึงความยินดียินร้าย ท่านบอกว่าตราบใดยังมีความยินดียินร้ายอยู่ไม่มีวันที่จะหมดภพหมดชาติได้ เวลาโกรธ ท่านกลับสอนว่าหากมีปัญญาพอ เราจะมองเหตุการณ์นั้นหรือผู้คนที่เกี่ยวข้องอย่างพิจารณาให้ละเอียดขึ้น ให้เห็นถึงความแตกต่างของเขาและเรา ให้เห็นความเสมอภาค ให้เห็นข้อด้อยของตัวเอง ให้เตือนตนเองด้วยตัวเอง

เราไม่ใช่คนเก่ง ไม่ใช่คนมีปัญญา เป็นเพียงคนธรรมดาคนหนึ่งที่ท่านเมตตาอบรมสั่งสอน ขณะนี้ใจของเราอยู่ที่ตัวเรา ไม่ได้ไปอยู่ที่ผู้อื่นหรือสิ่งอื่นอีกแล้ว


โดย: UMP    เวลา: 2015-11-10 16:58

"สิ่งแรกที่เปลี่ยนตัวเอง"           

เริ่มแรกที่ปฏิบัติกับแม่ชีเกณฑ์ ท่านจะมีคำถามให้เราไปหาคำตอบ จากคำถามของท่านเราเห็นอย่างหนึ่งที่ท่านไม่ได้บอก คำถามของท่านทำให้พฤติกรรมเราเปลี่ยนไป เราจึงรู้ว่าที่ผ่านมาทำไมเราอยากโน่นอยากนี่ โกรธง่าย อะไรกระทบก็ไปตามนั้น เพราะเราส่งใจออกไปข้างนอกและตามไปโดยไม่รู้ตัวตลอดเวลา หาเหตุมานานแล้วทำไมเป็นเช่นนั้น ทำไมห้ามไม่ได้                             

ท่านถามเรื่องเสียงทำให้เราเห็นว่าเวลาได้ยินเสียงก็ส่งใจไปไว้ที่คนพูด เห็นภาพก็ส่งใจไปไวัที่ของ ได้กลิ่นก็ส่งใจไปไว้ที่กับข้าว เราพยายามฝืนสิ่งที่เคยทำมาตลอดชีวิต เวลาได้ยินเสียงเราเอาใจไว้ที่หูตัวเอง เห็นภาพก็เอาใจไว้แค่ตา ได้กลิ่นก็เอาไว้แค่จมูก ผ่านไปทำเช่นนี้จนชิน เวลาได้ยินคนคุยกันใจเราก็ยังอยู่ข้างใน เห็นรถบนถนนใจเราก็ยังอยู่ข้างใน เกิดอะไรขึ้นใจเราก็ยังอยู่ข้างใน   นี่คือจุดแรกที่เราเปลี่ยนตัวเองคือการไม่ส่งใจออกไปข้างนอก ท่านบอกว่าเคล็ดลับอยู่ตรงนี้นี่เอง เข้าใจตัวเองเห็นจุดของตัวเอง เอาใจออกไปเกาะทำไม ทำไมไม่ไว้กับตัวเองล่ะ  ทุกข์ก็เพราะอย่างนี้แหละ


โดย: UMP    เวลา: 2015-11-10 16:58

"รู้ตัวทั่วพร้อม"

ผู้ปฏิบัติธรรม : คุณแม่ค่ะ ทำอย่างไรหนูถึงจะรู้ตัวทั่วพร้อม ปฏิบัติมาตั้งหลายปีแล้ว หนังสือก็อ่านมามาก ฟังก็เยอะ แต่ทำยังไงก็รู้ได้เป็นขณะเท่านั้นเอง เดี๋ยวก็เผลอไปอีก ลองมาหลายวิธีแล้ว รู้ตัวทั่วพร้อมเป็นอย่างไรก็ไม่รู้

คุณแม่ชีเกณฑ์ : ลูกต้องกำหนดทุกอิริยาบถย่อยๆ ถี่ยิบ ใจรู้สึกอย่างไรก็ให้รู้ด้วย ไม่ใช่แค่อิริยาบถใหญ่ ๆ ไม่ใช่แค่ทางจงกรม ชม.เดียวมันไม่พอ ขาก้าวไปก็ซ้ายหนอ ขวาหนอ มือหยิบจับก็ หยิบหนอ จับหนอ ปล่อยหนอ ตาเห็นก็เห็นหนอ มันคิดขึ้นมาก็คิดหนอ มันปวดหลังก็ปวดหนอ

ก้มหนอ คู้หนอ เหยียดหนอ เงยหนอ ยืดหนอ หดหนอ งอหนอ ไม่ชอบหนอ ชอบหนอ ดีใจหนอ ง่วงหนอ หิวหนอ บิดหนอ เกาหนอ ถูหนอ ได้ยินหนอ โกรธหนอ กดหนอ อยากหนอ เบื่อหนอ ยกหนอ วางหนอ กำหนดทุกอิริยบถเท่าที่จะกำหนดได้ ถ้าเรียกไม่ถูกก็รู้เฉยๆ หรือ หนอเฉยๆก็ได้

การกำหนดทุกอิริยาบถถี่ยิบทั้งที่กายและใจ เพื่อให้เรารู้เท่าทันสิ่งที่จะเข้ามาปรุงแต่งจิต กิเลสมันเข้ามาได้ทุกรูขุมขนเลยใช่ไหม สติต้องหนาแน่นถี่ยิบประดุจำกำแพงปูน มันจึงยากที่จะถูกปรุงแต่ง

บางคนบอกว่ามันช้า อาการที่เกิดมันรู้และจบไปตั้งนานแล้ว กำหนดไม่ทัน นั่นเพราะสติเราช้ามันจึงกำหนดไม่ทัน เริ่มแรกก็เป็นอย่างนั้น พอเราชินและชำนาญ ทั้งคำที่กำหนด การรับรู้และอาการจะเป็นปัจจุบันทันกัน

กำหนดทุกอิริยาบถทั้งที่กายและใจ ตั้งแต่เริ่มลืมตาตื่นไปจนถึงเข้านอน แม้หลับฝันไปมันก็รู้ว่ากำลังฝัน มีนิมิตเข้ามาในฝัน มันก็กำหนดรู้หนอๆ ไม่ไหลไม่เผลอไปกับนิมิตนั้น กำหนดให้ชินจนติดเป็นนิสัย ทั้งทางจงกรมและในชีวิตประจำวัน เมื่อชำนาญมันจะทิ้งคำบริกรรมเอง เหลือแค่กาารตามรู้เฉยๆ แต่เป็นการตามรู้อย่างละเอียด

ทุกอย่างต้องใช้เวลาและความเพียร บางคนทำได้แค่อาทิตย์เดียวก็เบื่อก็เลิก บางคนกำหนดอยู่อย่างนั้นตั้ง 7 เดือน มันลืมไปก็ตั้งใหม่ ลืมมากก็กลายเป็นลืมน้อย จนเป็นไม่เคยเผลอและไม่เคยลืม เมื่อสติถี่รอบ สมาธิตั้งมั่น ก็ต้องพร้อมไปด้วยปัญญาจึงจะตัดกิเลสได้ขาด ไม่ใช่จะเอาแต่สติ อย่าทิ้งการทำสมาธิ และฝึกเจริญปัญญาไปด้วย

....คุณแม่ท่านยินดีสอบอารมณ์และให้คำแนะนำแก่ผู้ปฏิบัติธรรมทุกท่าน สนทนาธรรมกับท่านได้ที่ 0861009373(12call) 0868540049( dtac) 4.00-5.30 น., 20.00-22.00 น.


โดย: UMP    เวลา: 2015-11-10 16:59

"ทำอย่างไรความไม่ชอบใจในตัวเขาจะลดลงได้ และอภัยให้เขาได้"

ฉุกคิดขึ้นมาในใจ ทำไมเราแผ่เมตตาไปให้เขาแล้วไม่ได้ผล ทำไมเขายังมาเป็นนิวรณ์ในใจเรา ทำไมเราวางพฤติกรรมของเขาไม่ได้ ทำไมเราไม่เมตตาเขา เลิกปล่อยให้ใจคิดฟุ้งซ่าน ยิ่งคิดก็ยิ่งไม่ชอบใจเขาเรื่องนั้นเรื่องนี้

พาตัวเองเข้าทางจงกรม เดินไปเดินมาหกจังหวะช้าๆ ใจมันก็คิดได้ว่าเพราะเรามีความไม่ชอบเขาเป็นทุนเดิมอยู่ในใจ ใจมันจึงขุ่นมัวเมื่อคิดถึงสิ่งที่เขาทำ

ทำอย่างไรหนอเราถึงจะวางเขาได้ ผ่านไปหลายชม. ขณะเดินเก็บผักมาทำกับข้าว คำตอบผุดขึ้นในใจ...ทำไมเราไม่เห็นใจเขาบ้าง เขามีภาระหน้าที่ต้องรับผิดชอบ อีกทั้งยังต้องเลี้ยงสามีและลูกที่ไม่ยอมไปทำมาหากิน ฝนก็ตกหนักเช่นนี้ เขาคงลำบากไม่น้อย เขาไม่ทุกข์ไม่ลำบากกว่าเราหรือ ใช่แล้ว...ความไม่ชอบใจในตัวเขาจะลดลงได้และอภัยเขาได้ เมื่อเราเกิดความเห็นอกเห็นใจเขา

แล้วทำอย่างไร...ความยินดียินร้ายจึงจะหายไปจากใจเราได้ ใช่คุณแม่บอกไว้เราต้องเห็นโทษเห็นภัยมันจริงๆ ใช่บางเรื่องมันขาดอย่างสนิทใจแต่บางเรื่องมันไม่ขาด ความยินร้าย ความไม่ชอบใจ มันยังมีอำนาจเหนือใจเราอยู่ ความเพียรเท่านั้น เราต้องทำสติให้มีกำลังกว่านี้ ให้มันทันกับการปรุงแต่ง และต้องลับปัญญาให้มันกล้าแกร่งและคมกว่านี้ จะได้ตัดมันให้ขาดในทันที


โดย: UMP    เวลา: 2015-11-10 16:59

"สติที่ดื่น"

การปฏิบัติทุกรูปแบบหรือแม้จะไม่มีรูปแบบ จะสมบูรณ์ไม่ได้หากขาดสติที่ระมัดระวังภัยให้กับเจ้าของ จงเดินจงนั่งในสถานที่ที่ใจระแวงภัย ปลุกสติให้ตื่นอยู่ตลอด พิจารณาทุกย่างก้าว พิจารณาทุกการกระทบ พิจารณาทุกการเคลื่อนไหว พิจารณาทุกเสียงที่ได้ยิน พิจารณาทุกสิ่งที่เข้ามาสัมผัสกาย พิจารณาทุกคำกลืน พิจารณาทุกความรู้สึกที่ใจ

สติคือเข็มทิศ ใจคือผู้พิจารณา สิ่งที่เข้ามาคืออะไร เป็นโทษเป็นภัยกับเจ้าของไหม ทิศที่จะไปปลอดภัยไหม ควรวางหรือควรปัดป้อง พิจารณาจากสิ่งหนึ่งไปยังสิ่งหนึ่งไม่เคยหยุดนิ่ง หน้าที่ของสติที่ตื่นคือระวังภัยให้กับเจ้าของ ทั้งภัยจากภายนอกและภัยจากข้างใน ภัยจากความปรุงแต่ง ภัยจากความยินดียินร้าย

หัดสติให้ตื่นอยู่ตลอด ให้ระวังภัยอยู่ตลอด ใจที่มีสติที่ตื่นแล้วเป็นผู้นำทาง จักปลอดภัยทั้งภัยจากภายนอกและภัยจากภายใน หน้าที่นี้สำคัญไปจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต เพราะเขาคือผู้เตือนภัยและผู้นำทางให้เรา คุณแม่ท่านบอกว่าทุกอย่างจะสมบูรณ์ได้เมื่อศีลเราบริสุทธิ์หมดจดแล้วจริงๆ ทั้งที่กายและที่ใจ


โดย: UMP    เวลา: 2015-11-12 20:41

"รู้แล้วให้ดับ ให้วาง"

ผู้ปฏิบัติธรรม : คุณแม่ค่ะ หนูก็รู้ทันทุกครั้งที่คิด รู้ทันทุกครั้งที่อยาก แต่ทำไมถึงยังหลงอยู่ ยังยึดอยู่ละค่ะ

คุณแม่ชีเกณฑ์ : รู้เท่าทันว่าตัวเองกำลังหลงอะไรก็ต้องวางสิ ตัวเองกำลังยึดอะไรอยู่ แม้แต่ยึดความสุขที่เสพสุขที่ไปสัมผัสนั้นสัมผัสนี้ ก็ต้องวาง ถ้าไม่วางก็ไปเตลิดเปิดเปิง มันทันนะ แล้วปัญญามันทันรึเปล่า มันเห็นทางสว่าง มันเห็นทางนิพพานหรือมันไปหลงโลกีย์ คำว่ารู้เท่าทันจิตมันต่างจากคำว่าทัน

ครูบาอาจารย์ท่านให้รู้เท่าทันจิต ไม่ให้ปรุงแต่ง ให้วาง รู้ดับรู้วาง...รู้เท่าทันจิตแล้ว รู้ให้ดับ ให้เห็นอาการเกิดดับเสียก่อน ใหม่ๆ ก็ต้องฝึกสติให้ทันจิต ให้เห็นอาการเกิดดับ ไม่ใช่ไปต่อกับมัน ที่ยังหลงอยู่อันนั้นรู้แล้วไม่ดับ

เห็นเท่าทันจิตก็คือให้ดับ รู้เท่าทันจิตแล้วให้ดับ ให้วาง ไม่ให้ไปยึด ไม่ให้เอา ดีก็ไม่เอา ชั่วก็ไม่ให้เอา แล้วพากันไปเอาอยู่ใช่มั้ย เดี๋ยวก็เอาโสดาบัน เดี๋ยวก็เอาสกิทาคา เดี๋ยวก็เอานั้นเอานี้ ถ้ายังเอาอยู่แล้วจะไปได้อะไร นี่เราสอนให้ละให้วาง ถึงจะรู้ว่ามรรคมีองค์ 8 เป็นอย่างนี้เอง

เห็นชอบ เห็นว่าตัวเองกำลังหลงโลกีย์ ตัวเองก็ต้องวาง ถ้าเห็นอยู่ว่าตัวเองหลงอันนี้ แล้วไม่วาง อันนั้นตัวเองเห็นไม่ชอบ เป็นมิจฉาทิฎฐิไม่ใช่เห็นสัมมาทิฎฐิ

เห็นสัมมาทิฎฐิก็คือ เออ อันนี้เราหลงนี่ เราติดดีนี่นา เรามาติดสุขที่เราสัมผัสได้ แปลว่าเรายังพอใจอยู่ นิวรณ์ 5 ไง นิวรณ์ 5 เป็นทางขวางกั้นแก่ผู้ปฏิบัติ ไปหลงติด ชอบใจไม่ชอบใจใช่มั้ย คำว่า...ยินดีในทางดี มันก็ชอบใจทั้งนั้นใช่มั้ย


โดย: UMP    เวลา: 2015-11-12 20:42

"คุณแม่ฝึกผู้ปฏิบัติธรรมให้รู้เท่าทันจิตอย่างไรค่ะ"

ก็ให้เขามีสติก่อนที่จิตจะทำงาน จะคิด จะพูด จะย่าง จะเหยียบ ก็ให้มีสติรู้เสียก่อน ให้สติกับจิตไปพร้อมกัน แม่ก็ให้กำหนดไปตามอาการทั้งที่กายและใจ จะหนอหรือพุทโธแล้วแต่เขา ให้กายที่เคลื่อนไหว จิตที่รับรู้ และคำบริกรรมตรงกัน

คนที่เอาพุทโธ แม่ก็บอกให้มีสติให้รู้เท่าทัน พอบริกรรมว่าพุท จิตจะทำงานก็ให้สติรู้ก่อน พุทโธก็ให้ตรงเหมือนกัน สัมผัสให้รู้เหมือนกัน แต่เขาบริกรรมว่าพุท มีสติรู้ว่าตัวเองยกขาขึ้น จิตรับรู้ว่าเท้ายกขึ้น หน่วงมั้ย หนักมั้ย เวลาเอาขาลง โธก็ให้ถึงพื้น จิตกับสติก็พร้อมกัน

คนที่ไม่มีคำบริกรรม ก็ให้เขารู้เท่าทันอารมณ์ที่จะเข้ามากระทบ ให้รู้เท่าทันว่า จิตโกรธ จิตเกลียด นานกี่นาที มันวิ่งออกไป เราออกไปกับมันมั้ย หรือว่าพยายามที่จะระงับ มีสติยับยั้งหรือคิดตามไปเลย ถ้าคิดตาม มันก็ไม่เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะเราไปปรุงแต่งด้วย

จะเป็นสัมมาทิฏฐิเมื่อรู้ว่าตัวเองปรุงแต่ง ฟุ้งซ่าน คิดตามอารมณ์ตัวเองแล้ว อันนั้นมีสติยับยั้งตัวเอง...โอ อันนี้ไม่ใช่ มันจะทำให้ตัวเองฟุ้งซ่าน มันจะทำให้ตัวเองจิตเป็นอกุศล...อย่างนี้ถือว่า รู้เท่าทันอารมณ์ว่ามันเป็นกุศลหรืออกุศล


โดย: UMP    เวลา: 2015-11-12 20:43

"หนูรู้เท่าทันอารมณ์ หนูเอาจิตตามรู้ หนูไม่กำหนดอะไร ได้ไหมค่ะ"

ได้ แต่ให้เธอรู้เท่าทันว่า จิตโกรธ จิตเกลียด นานกี่นาที มันวิ่งออกไปแล้วเราออกไปกับมันมั้ย หรือว่าเราพยายามที่จะระงับมัน มีสติยับยั้งหรือคิดตามไปเลย

ถ้าคิดตาม อันนั้นมันไม่เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะเราไปปรุงแต่งด้วย จะเป็นสัมมาทิฏฐิเมื่อรู้ว่าตัวเองปรุงแต่ง ฟุ้งซ่าน คิดตามอารมณ์ตัวเองแล้ว อันนั้นมีสติยับยั้งตัวเอง...โอ อันนี้ไม่ใช่ มันจะทำให้ตัวเองฟุ้งซ่าน มันจะทำให้ตัวเองจิตเป็นอกุศล...อย่างนี้ถือว่า รู้เท่าทันอารมณ์ว่ามันเป็นกุศลหรืออกุศล

ถ้าเป็นกุศลก็คิดเพลิน อยากมีรถให้มันสำเร็จ อยากมีบ้าน อย่างนั้น อย่างนี้ คิดปรุงแต่ง มันไม่ใช่อกุศล มันก็เป็นกุศลอยู่ เพราะมันไม่ได้ไปอิจฉาใคร ทีนี้ถ้าเราไปหลงกับมัน แปลว่าตามใจกิเลสเรา ตามใจความอยาก แต่เราไม่มีสติคุม มันก็หลงอารมณ์ ก็เพลิดเพลิน อันนั้นก็ไม่ใช่เป็นสัมมาทิฏฐิเป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะมันคิดหลงไปกับอารมณ์

แต่ถ้าคิดมาก วกวนไปวกวนมา ไม่ได้ดั่งใจเรา มันก็ทุกข์ มันชอบอยากให้เป็นไปตามนั้น ถ้าไม่เป็นไปตามนั้นมันก็ไม่ชอบ มันก็เลยน้อยอก น้อยใจ เสียใจ เศร้าโศกไปก็เป็นทุกข์ นี่มันเป็นสมุทัย เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ก็เลยไม่อยากให้คิดตาม ให้เอาปัจจุบันถึงจะเป็นสัมมาทิฏฐิ






ยินดีต้อนรับสู่ แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน" (http://dannipparn.com/) Powered by Discuz! X1.5