แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

ชื่อกระทู้: ขอเชิญร่วมปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ ณ วัดป่าเจดีย์เทวธรรม  จ.ร้อยเอ็ด 25 ธ.ค. 58 - 5 ม.ค. 59 [สั่งพิมพ์]

โดย: UMP    เวลา: 2015-12-6 17:13     ชื่อกระทู้: ขอเชิญร่วมปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ ณ วัดป่าเจดีย์เทวธรรม  จ.ร้อยเอ็ด 25 ธ.ค. 58 - 5 ม.ค. 59

"ขอเชิญร่วมปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ ณ วัดป่าเจดีย์เทวธรรม อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด 25 ธ.ค. 58 - 5 ม.ค. 59"
1. ผู้ให้กรรมฐานและสอบอารมณ์ : คุณแม่ชีเกณฑ์ นิลพันธ์ ปัจจุบันท่านเป็นผู้สอนละสอบอารมณ์ผู้ปฏิบัติธรรม ณ  วัดป่าเจดีย์เทวธรรม อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด ท่านมีประสบการณ์สอนผู้ปฏิบัติธรรม ทั้งจากวัดร่ำเปิง ตโปทาราม จ.เชียงใหม่ และสถานที่อื่นๆ มากว่า 42 ปี ท่านเปิดกว้างสอนได้ทุกแนวการปฏิบัติ ทั้งมีคำบริกรรม ไม่มีคำบริกรรม และผู้เริ่มต้นใหม่ที่ไม่เคยปฏิบัติมาก่อน

2. การเดินทาง : วัดป่าเจดีย์เทวธรรม ตั้งอยู่ใน บ้านโคกสูง ต.ดงลาน อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด อยู่ก่อนถึงตัวเมืองร้อยเอ็ด 8 กม. เข้าซอยเล็กน้อย หลังศูนย์คูโบต้า จ.ร้อยเอ็ด รถประจำทางเข้าร้อยเอ็ดผ่านหน้าปากซอย หากไปลงในเมืองหรือสนามบินทางวัดมีรถรับส่งบริการฟรี สอบถามเส้นทางได้ที่ คุณแม่ชีเกณฑ์ 062-1270465(12call) , 0868540049(dtac) 10.00-22.00 น. ดูแผนที่ของวัดได้ที่
http://pantip.com/topic/34525564/comment26

3.การเตรียมตัว : สามารถเข้าร่วมปฏิบัติธรรมได้ตามวันเวลาที่ตนเองสะดวก สิ่งของที่ต้องเตรียมไป คือ เต้นท์หรือเต้นท์มุ้ง ชุดขาว หรือเสื้อผ้าสีอ่อน ของใช้ส่วนตัว ยาทากันยุง น้ำปานะชงต่างๆ (ไม่มีค่าใช้จ่าย)

4. อ่านแนวทางการสอนและการสอบอารมณ์ของคุณแม่ชีเกณฑ์ ได้ที่...

        - http://pantip.com/topic/34525564/comment26
         - https://web.facebook.com/%E0%B8% ... 03876685810/?ref=hl


5. สอบถามรายละเอียดและแจ้งชื่อลงทะเบียน : แจ้งชื่อลงทะเบียนได้ที่ คุณแม่ชีเกณฑ์ 062-1270465(12call) , 0868540049(dtac) 10.00-22.00 น.



โดย: UMP    เวลา: 2015-12-6 17:14

"บรรยากาศใน วัดป่าเจดีย์เทวธรรม อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด"

โดย: UMP    เวลา: 2015-12-6 17:14

"แผนที่ วัดป่าเจดีย์เทวธรรม"

โดย: UMP    เวลา: 2015-12-6 17:15

"ตารางการปฏิบัติธรรมและกิจกรรมของผู้ปฏิบัติธรรม"

เริ่มตื่นนอนตั้งแต่ตีสาม  จัดการธุระส่วนตัว และเริ่มปฏิบัติ ช่วงเช้าจะมีการสวดมนต์ แต่สำหรับท่านใดที่ต้องการปฏิบัติอย่างเดียวไม่ต้องมาสวดมนต์ก็ได้ ตีห้าครึ่งคุณแม่ท่านเปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหญิงและชาย ถือบาตรร่วมเดินบิณฑบาตไปกับพระในวัด ยกเว้นท่านที่สุขภาพไม่แข็งแรงพอ เน้นการปฏิบัติ ไม่เน้นการสวดมนต์ งดกาแฟ งดโทรศัพท์  เลือกที่จะปิดวาจาได้ มีการสอบอารมณ์ตัวต่อตัวช่วงบ่ายทุกวัน  การปฏิบัติจะเริ่มต้นตั้งแต่ตีสามไปจนถึงสี่ทุ่ม สำหรับท่านที่ต้องการเข้มข้นกับตัวเอง คุณแม่จะให้ปฏิบัติอยู่แต่ในห้องหรือสถานที่ ที่ต้องการ ท่านจะนำอาหารมาให้ เมื่อถึงเวลาท่านก็จะเดินมาสอบอารมณ์

โดย: UMP    เวลา: 2015-12-6 17:15

"จิตเราพร้อมแล้วหรือยัง"

คุณแม่ชีเกณฑ์ ท่านบวชตั้งแต่อายุ 18 ปี บวชมาแล้ว 42 พรรษา ปีนี้ท่าน 60 ปีแล้ว ท่านอบรมดูแลและสอบอารมณ์ผู้ปฏิบัติธรรมมาโดยตลอด ปัจจุบันนี้ท่านอยู่ที่วัดป่าเจดีย์เทวธรรม ซึ่งเดิมเป็นสำนักปฏิบัติธรรมวิปัสสนากรรมฐานที่ท่านตั้งขึ้นมา ที่อยู่ของวัดคือ บ้านโคกสูง ต.ดงลาน อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด

ท่านยินดีคุยธรรมมะและสอบอารมณ์ผู้ปฏิบัติธรรมทุกท่าน คุยกับท่านได้ตั้งแต่ 4.00-5.00,10.00-22.00 น. 0868540049(dtac) , 0621270465(12call) หรือจะไปปฏิบัติธรรมกับท่านที่วัดได้ทุกเมื่อ แต่ช่วง 3-7 ธ.ค. 58 ท่านเดินทางไปเปิดปฏิบัติธรรมที่ จ.สระบุรี หลังจากนั้นไปจนถึงต้นปีหน้าท่านจะอยู่ที่วัดแทบตลอด แต่ให้ดีกรุณาแจ้งท่านล่วงหน้าก่อนเดินทาง

ต้นอาทิตย์ที่ผ่านมา คุณแม่ท่านพาพี่ผู้หญิง 2 คนมาดูสวนปฏิบัติธรรมชมวิว ทั้งคู่ทำร้านอาหาร รายได้ดีแต่เหนื่อยมาก หนึ่งในนั้นบอกว่า แทบจะไม่มีเวลานั่งสมาธิเลย ก่อนจะตายเขาอยากฝึกจิตให้ดีกว่านี้ ถ้ามัวแต่หาเงินเขาเกรงว่ามันจะสายเกินไป

คุณแม่ท่านเคยบอกว่า...จะเอาอะไรกับชีวิต มันมีแต่ความไม่เที่ยง ไม่มีสิ่งไหนอยู่กับเราได้นาน แม้แต่คนก็ตายจาก แม้แต่ตัวเองก็ต้องตาย ความตายอยู่แนบสนิทเป็นเนื้อเดียวกับเรา เหมือนเงาตามตัว ไม่ป่วยก็ตายได้ สักวันแม่ก็ต้องไป บุญก็หยุดความตายไม่ได้ ไปยึดเกาะก็กลับมาอีก อยากกลับมาอีกหรือ กิเลสมันเยอะเกิดมาก็หลงอีก อยากเกิดมาทุกข์อีกหรือ...ให้ทำปัจจุบัน เอาปัจจุบัน เริ่มปัจจุบัน ทำอยู่ทุกขณะ รู้อยู่ทุกขณะ ทันอยู่ทุกขณะ วางอยู่ทุกขณะ สอนอยู่ทุกขณะ แก้ไขอยู่ทุกขณะ จิตเกาะสิ่งใดนั่นคือภพชาติ

ขอทุกท่านอย่าได้ประมาทกับชีวิต เวลาไม่เคยรอ สังขารก็ไม่เคยรอเรา การปฏิบัติเพื่อหมดภพหมดชาติ เริ่มได้ทุกขณะ ไม่เลือกกาล สถานที่ อย่าได้ปรามาทตนเอง ภพชาติจบได้ด้วยตัวเรา ด้วยความเพียร ความอดทน ความตั้งใจจริง และความต่อเนื่อง


โดย: UMP    เวลา: 2015-12-6 17:15

"คุณแม่ฝึกผู้ปฏิบัติธรรมให้รู้เท่าทันจิตอย่างไรค่ะ"

ก็ให้เขามีสติก่อนที่จิตจะทำงาน จะคิด จะพูด จะย่าง จะเหยียบ ก็ให้มีสติรู้เสียก่อน ให้สติกับจิตไปพร้อมกัน แม่ก็ให้กำหนดไปตามอาการทั้งที่กายและใจ จะหนอหรือพุทโธแล้วแต่เขา ให้กายที่เคลื่อนไหว จิตที่รับรู้ และคำบริกรรมตรงกัน

คนที่เอาพุทโธ แม่ก็บอกให้มีสติให้รู้เท่าทัน พอบริกรรมว่าพุท จิตจะทำงานก็ให้สติรู้ก่อน พุทโธก็ให้ตรงเหมือนกัน สัมผัสให้รู้เหมือนกัน แต่เขาบริกรรมว่าพุท มีสติรู้ว่าตัวเองยกขาขึ้น จิตรับรู้ว่าเท้ายกขึ้น หน่วงมั้ย หนักมั้ย เวลาเอาขาลง โธก็ให้ถึงพื้น จิตกับสติก็พร้อมกัน

คนที่ไม่มีคำบริกรรม ก็ให้เขารู้เท่าทันอารมณ์ที่จะเข้ามากระทบ ให้รู้เท่าทันว่า จิตโกรธ จิตเกลียด นานกี่นาที มันวิ่งออกไป เราออกไปกับมันมั้ย หรือว่าพยายามที่จะระงับ มีสติยับยั้งหรือคิดตามไปเลย ถ้าคิดตาม มันก็ไม่เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะเราไปปรุงแต่งด้วย

จะเป็นสัมมาทิฏฐิเมื่อรู้ว่าตัวเองปรุงแต่ง ฟุ้งซ่าน คิดตามอารมณ์ตัวเองแล้ว อันนั้นมีสติยับยั้งตัวเอง...โอ อันนี้ไม่ใช่ มันจะทำให้ตัวเองฟุ้งซ่าน มันจะทำให้ตัวเองจิตเป็นอกุศล...อย่างนี้ถือว่า รู้เท่าทันอารมณ์ว่ามันเป็นกุศลหรืออกุศล


โดย: UMP    เวลา: 2015-12-6 17:16

"หนูรู้เท่าทันอารมณ์ หนูเอาจิตตามรู้ หนูไม่กำหนดอะไร ได้ไหมค่ะ"

ได้ แต่ให้เธอรู้เท่าทันว่า จิตโกรธ จิตเกลียด นานกี่นาที มันวิ่งออกไปแล้วเราออกไปกับมันมั้ย หรือว่าเราพยายามที่จะระงับมัน มีสติยับยั้งหรือคิดตามไปเลย

ถ้าคิดตาม อันนั้นมันไม่เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะเราไปปรุงแต่งด้วย จะเป็นสัมมาทิฏฐิเมื่อรู้ว่าตัวเองปรุงแต่ง ฟุ้งซ่าน คิดตามอารมณ์ตัวเองแล้ว อันนั้นมีสติยับยั้งตัวเอง...โอ อันนี้ไม่ใช่ มันจะทำให้ตัวเองฟุ้งซ่าน มันจะทำให้ตัวเองจิตเป็นอกุศล...อย่างนี้ถือว่า รู้เท่าทันอารมณ์ว่ามันเป็นกุศลหรืออกุศล

ถ้าเป็นเรื่องไม่ใช่อกุศลก็คิดเพลิน อยากมีรถให้มันสำเร็จ อยากมีบ้านอย่างนั้นอย่างนี้ คิดปรุงแต่ง มันไม่ใช่อกุศลเพราะไม่ได้ไปอิจฉาใคร ทีนี้ถ้าเราไปหลงกับมัน แปลว่าตามใจกิเลสเรา ตามใจความอยาก แต่เราไม่มีสติคุม มันก็หลงอารมณ์ ก็เพลิดเพลิน อันนั้นก็ไม่ใช่เป็นสัมมาทิฏฐิเป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะมันคิดหลงไปกับอารมณ์

แต่ถ้าคิดมาก วกวนไปวกวนมา ไม่ได้ดั่งใจเรา มันก็ทุกข์ มันชอบอยากให้เป็นไปตามนั้น ถ้าไม่เป็นไปตามนั้นมันก็ไม่ชอบ มันก็เลยน้อยอก น้อยใจ เสียใจ เศร้าโศกไปก็เป็นทุกข์ นี่มันเป็นสมุทัย เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ก็เลยไม่อยากให้คิดตาม ให้เอาปัจจุบันถึงจะเป็นสัมมาทิฏฐิ



โดย: UMP    เวลา: 2015-12-6 17:16

"รู้แล้วให้ดับ ให้วาง"

ผู้ปฏิบัติธรรม : คุณแม่ค่ะ หนูก็รู้ทันทุกครั้งที่คิด รู้ทันทุกครั้งที่อยาก แต่ทำไมถึงยังหลงอยู่ ยังยึดอยู่ละค่ะ

คุณแม่ชีเกณฑ์ : รู้เท่าทันว่าตัวเองกำลังหลงอะไรก็ต้องวางสิ ตัวเองกำลังยึดอะไรอยู่ แม้แต่ยึดความสุขที่เสพสุขที่ไปสัมผัสนั้นสัมผัสนี้ ก็ต้องวาง ถ้าไม่วางก็ไปเตลิดเปิดเปิง มันทันนะ แล้วปัญญามันทันรึเปล่า มันเห็นทางสว่าง มันเห็นทางนิพพานหรือมันไปหลงโลกีย์ คำว่ารู้เท่าทันจิตมันต่างจากคำว่าทัน

ครูบาอาจารย์ท่านให้รู้เท่าทันจิต ไม่ให้ปรุงแต่ง ให้วาง รู้ดับรู้วาง...รู้เท่าทันจิตแล้ว รู้ให้ดับ ให้เห็นอาการเกิดดับเสียก่อน ใหม่ๆ ก็ต้องฝึกสติให้ทันจิต ให้เห็นอาการเกิดดับ ไม่ใช่ไปต่อกับมัน ที่ยังหลงอยู่อันนั้นรู้แล้วไม่ดับ

เห็นเท่าทันจิตก็คือให้ดับ รู้เท่าทันจิตแล้วให้ดับ ให้วาง ไม่ให้ไปยึด ไม่ให้เอา ดีก็ไม่เอา ชั่วก็ไม่ให้เอา แล้วพากันไปเอาอยู่ใช่มั้ย เดี๋ยวก็เอาโสดาบัน เดี๋ยวก็เอาสกิทาคา เดี๋ยวก็เอานั้นเอานี้ ถ้ายังเอาอยู่แล้วจะไปได้อะไร นี่เราสอนให้ละให้วาง ถึงจะรู้ว่ามรรคมีองค์ 8 เป็นอย่างนี้เอง

เห็นชอบ เห็นว่าตัวเองกำลังหลงโลกีย์ ตัวเองก็ต้องวาง ถ้าเห็นอยู่ว่าตัวเองหลงอันนี้ แล้วไม่วาง อันนั้นตัวเองเห็นไม่ชอบ เป็นมิจฉาทิฎฐิไม่ใช่เห็นสัมมาทิฎฐิ

เห็นสัมมาทิฎฐิก็คือ เออ อันนี้เราหลงนี่ เราติดดีนี่นา เรามาติดสุขที่เราสัมผัสได้ แปลว่าเรายังพอใจอยู่ นิวรณ์ 5 ไง นิวรณ์ 5 เป็นทางขวางกั้นแก่ผู้ปฏิบัติ ไปหลงติด ชอบใจไม่ชอบใจใช่มั้ย คำว่า...ยินดีในทางดี มันก็ชอบใจทั้งนั้นใช่มั้ย


โดย: UMP    เวลา: 2015-12-6 17:16

"ที่นี่เป็นมากกว่า...ผู้มาปฏิบัติธรรม"               

คุณแม่ท่านเล่าว่า เมื่อก่อนห้องน้ำในวัดเก่ามาก สร้างมากว่า 20 ปีแล้ว พอส้วมเต็มท่านจะให้ผู้ที่มาปฏิบัติธรรมในขณะนั้นช่วยกันตักไปรดต้นไผ่ เป็นการทดสอบไปในตัวว่า ยังยินดียินร้ายแค่ไหน ไอ้ที่ว่าได้กันนะ ได้จริงหรือได้ปลอม ก็เห็นใจตัวเองกันคราวนี้ ปัจจุบันห้องน้ำวัดได้สร้างขึ้นใหม่แล้ว

พื้นที่ของวัดเกือบ 10 ไร่ เต็มไปด้วยป่าไผ่และพืชสมุนไพรหายาก ทางเดินในวัดเป็นพื้นทราย ท่านไม่ยอมให้เขาเทถนน ท่านต้องการรักษาสภาพที่เป็นดินเป็นทรายไว้ เหมือนที่มันเคยเป็นมา ท่านบอกว่า การเดินบนพื้นดินด้วยเท้าเปล่าเป็นการปรับธาตุในร่างกาย พื้นดินจะดูดสารพิษออกจากกาย ทำให้ร่างกายปรับตัวสมดุลขึ้น เป็นการบำบัดรักษาโดยธรรมชาติ          

ถามท่านว่าท่านให้ผู้ปฏิบัติธรรมทำอะไรบ้าง ท่านบอกว่าท่านจะให้ตื่นตั้งแต่ตีสาม ไม่มีการสวดมนต์ ตื่นแล้วให้ปฏิบัติเลย เช้าขึ้นมาท่านก็จะให้ผู้ปฏิบัติธรรมแม้จะเป็นผู้หญิงก็ตาม สะพายบาตรออกบินฑบาตเข้าไปในหมู่บ้านตามหลังหลวงพ่อไป  เราจะได้สัมผัสกับคุณค่าแห่งการให้ ช่วยกล่อมเกลาจิตใจเราให้อ่อนโยนขึ้น และรู้ค่าในอาหารที่เขาใส่บาตรมา         

กลับมาทานอาหาร 8 โมงเช้า ถ้าใครจะทาน 2 มื้อก็ให้เก็บไว้เอง จะทานในบาตรหรือนอกบาตรก็ได้ จะใช้ช้อนหรือใช้มือก็ได้ ถ้ามาน้อยวันท่านจะไม่ให้ทำอะไรเลย ให้ปฏิบัติอย่างเดียว จะในห้องหรือตามมุมใดมุมหนึ่งของป่าไผ่แล้วแต่จะเลือกเอา ท่านจะสอบอารมณ์ให้ทุกวัน เวลาไหนก็ได้ที่สะดวก    

ชีวิตที่นี่เป็นมากกว่าแค่..ผู้มาปฏิบัติธรรม คุณจะได้สัมผัสกับธรรมชาติแบบดั้งเดิมที่หาได้ยากแล้วในสมัยนี้ และได้สัมผัสกับคำว่าให้ที่มาจากคนที่เราไม่เคยรู้จัก ซึ่งโอกาสเช่นนี้หาได้ยากในเมืองใหญ่ สัมผัสกับความประทับใจสักครั้งหนึ่งในชีวิตได้ที่นี่ วัดป่าเจดีย์เทวธรรม อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด


โดย: UMP    เวลา: 2015-12-6 17:17

  " เรื่องเล่าจากแม่ชีนัน...ผู้ตามหาสถานที่ ที่ใช่เพื่อการออกบวช"

 แม่ชีนันเดินทางมาจากจังหวัดชลบุรี เข้ามาปฏิบัติธรรมที่วัดเมื่อประมาณครึ่งเดือนที่ผ่านมา ( พ.ศ. 2556) และได้ตัดสินใจออกบวชที่นี่ นี่เป็นเรื่องราวจากการเล่าของแม่ชีนัน 

  เคยไปปฏิบัติที่อื่นมาประมาณ 3 เดือนแล้วและเพิ่งเข้ามาอยู่ที่ร้อยเอ็ดนี้ได้ประมาณครึ่งเดือน ที่ผ่านมาไม่ได้เน้นตลอดเวลาที่อยู่วัด วันพระจะไปสักอาทิตย์นึงแล้วกลับ สุดท้ายก็ไม่ได้อะไร แม่ชีคนหนึ่งแนะนำให้มาที่นี่ วันแรกที่มาทำใจไม่ได้เลยเพราะไม่เคยอยู่ลำบากแบบนี้ เคยเป็นเด็กอยู่ในตลาดชลบุรี ขี้วัว ขี้ควาย ขี้ไก่รับไม่ได้ ในวัดมีทั้งนั้น เวลาไปบินฑบาตต้องเจอกับขี้วัว ขี้ควายบนถนน ต้องเหยียบโดนอยู่แล้ว แต่มาอยู่ที่นี่สามารถผ่านไปได้โดยที่เราไม่รังเกียจ ตัดทิ้งได้ วางได้ ซึ่งไม่ใช่คนอย่างนี้ และมีความรู้สึกว่าการมาฝึกที่นี่ทำให้จิตใจมีสมาธิสงบเงียบ ทำให้ได้ศึกษาธรรมะที่แท้จริง

ท่านแม่ชีมาสอบอารมณ์ทุกวัน เคยไปปฏิบัติที่อื่น เราจะต้องรู้เองว่าเราต้องเดินเข้าหาครูบาอาจารย์ซึ่งบางครั้งเราก็ไม่กล้า แต่ท่านแม่ชีเป็นกันเองมาก สอนแม้กระทั่งการกราบ ซึ่งที่อื่นถ้าไม่ใฝ่รู้ก็จะไม่ได้อะไร คุณแม่ท่านจะสอนตัวต่อตัวและมาสอบอารมณ์ทุกวัน ตรงไหนที่ยังไม่ผ่านท่านจะช่วยแก้ให้ 

รู้สึกว่าตัวเองมาเจอธรรมะที่นี่ มาฝึกจนมีสติ สมาธิและ ปัญญาได้ก็จากที่นี่ ซึ่งแต่ก่อนไปสวดมนต์ก็สวดตามเขาไปแบบนกแก้วนกขุนทอง จิตใจไม่ได้อยู่ตรงนั้น แต่มาที่นี่คุณแม่ท่านสอนให้รู้ทุกอย่าง และเวลาเดินวิปัสสนา ท่านสอนให้ทำถูกต้องทุกอย่าง ตั้งแต่ระยะที่ 1 ไปจนถึงระยะที่ 6 ท่านแนะนำเราจนผ่านแต่ละขั้นมาได้

 ตอนนี้มีจิตใจดีขึ้น มีสติ ทิฐิหายไป แต่ก่อนเป็นคนที่มีทิฐิแรงมาก ไม่ว่ากับพี่กับน้อง แต่พอได้มาสอบอารมณ์ มานั่งปฏิบัติ มันมีสติ ให้สติเตือนเราว่ารู้แล้วหนอ สิ่งที่รู้เราก็ปล่อยวาง มีปัญญาเกิดขึ้น รู้แล้วว่าการไปทะเลาะกัน การเข่นฆ่า ไปตีกัน มันมีแต่โทษ ทำให้จิตใจเราต่ำลง เมื่อระลึกได้ก็ปล่อยวางได้จากสติตัวนี้ 
                     
ใช่เราจับอารมณ์ตรงนี้ได้ มีสติห้ามได้ ก็เกิดปัญญาขึ้นมา ตรงนี้สมควรทำ ตรงนี้ไม่สมควรทำ และอีกอย่างหนึ่งสิ่งที่เคยผิดพลาดมา แม้เรื่องเล็กๆน้อยๆ เช่นเคยตีและเอาไฟเผาตะขาบตัวใหญ่ เขามาให้เห็นขณะเดินจงกรม มาเพื่อบอกและมาเตือนว่าเราเป็นคนทำเขา มีสติทันรีบแผ่เมตตาออกไปเขาก็หายไป 

เวลานั่งสมาธิระลึกถึงว่าเมื่อก่อนเราเคยทำไม่ดี เคยทำอย่างโน้น เคยทำอย่างนี้ ตอนนี้เรามีสติที่จะพิจารณา เราเคยทำไม่ดีกับพ่อกับแม่เราไว้ เราทำได้อย่างไร ก็มีสติขึ้นคือมองเห็น รู้จักมองเห็นโทษ รู้ว่าเราทำให้ท่านเสียใจ 

ชีวิตเปลี่ยนไปจากคนที่ร้ายและไม่ยอมใคร มีทิฐิมานะ เคยเป็นใหญ่อยู่ในบ้านรู้สึกว่าตัวเองจะต้องใหญ่มาอยู่ที่นี่ทำให้เปลี่ยนไปทุกอย่าง สามารถถอดรองเท้าเดินอยู่ในวัดได้ แม้จะต้องเหยียบขี้ไก่ ก็บอกตัวเองได้ว่าเดี๋ยวมันก็หายไป มันไม่ได้มาติดขาเราอยู่ตลอดเวลา ไม่เคยต้องมากวาดอะไรก็ทำได้ ในระหว่างที่กวาดก็กำหนดไป เวลากินก็กำหนดได้ นี่เคี้ยวนะ นี่เรากลืนนะ 

มาใหม่ๆทานอะไรไม่ได้เลย เป็นคนภาคกลางอยู่ดีทานดีมาตลอด ทุกวันนี้อาหารอะไรที่ไม่เคยทานก็ทานได้ แม้น้ำพริกปลาร้าก็ทานได้ เราทานให้มันอิ่มให้มันอยู่ได้ ทานอะไรเข้าไปมันก็อิ่มทั้งนั้น อยู่ชลบุรีเคยกินหอยจ้อ อยู่ที่นี่กินผัดเต้าหู้ก็อยู่ได้
                
เข้ามาเถอะค่ะ เข้ามาอยู่ในธรรมะดีกว่า เข้ามาปฏิบัติเอาธรรมะเข้ามาอยู่ในจิตใจของเรา เข้ามาปฏิบัติแล้วจะทำให้เราละเลิกได้หลายอย่าง เคยยึดไว้ทุกอย่างแต่เดี๋ยวนี้สามารถปล่อยได้เพราะมันไม่ได้เป็นของเรา


โดย: UMP    เวลา: 2015-12-6 17:17

"รู้เท่าทันจิต"

ผู้ปฏิบัติธรรม : คุณแม่ค่ะ ปฏิบัติธรรมยังไงให้ถึงธรรมค่ะ
คุณแม่ชีเกณฑ์ : ก็วางสิ วางทุกอย่างมันก็ถึงเท่านั้นเอง ถ้าจิตไม่ว่างมันจะไปถึงได้ยังไง มัวแต่วุ่นนั่นวุ่นนี่ คิดโน่นคิดนี่ กังวลนั้นกังวลนี้...วาง ทำจิตให้ว่าง ทำจิตให้เป็นกลางๆ มีหน้าที่รู้เท่าทันจิต จิตมันมีหน้าที่คิด แต่เราทำใจเป็นกลางๆ เราพยายามว่า...เราจะปล่อยวางทุกอย่าง แต่มันก็ปล่อยไม่ได้ พอทำใจเป็นกลางๆ มีหน้าที่รู้เท่าทันจิต เราจะปล่อยมัน รู้เท่าทันทุกอย่าง มันก็พ้นทุกข์ ถ้าไม่รู้เท่าทัน ก็หลงใช่มั้ย

ผู้ปฏิบัติธรรม : แล้วทำอย่างไรถึงจะเข้าถึง มรรคมีองค์ 8 ค่ะ
คุณแม่ชีเกณฑ์ : จะเข้าสู่มรรคมีองค์ 8 ก็ต้องเดินอย่างนี้เสียก่อน รู้เท่าทันจิตเสียก่อน ถ้าไม่รู้เท่าทันจิต มันจะไปได้อย่างไรเล่า เริ่มต้นมันก็ต้องไปรู้เท่าทันจิตก่อน มันถึงจะเข้าถึงมรรคมีองค์ 8

จะให้มันเข้าสู่มรรคมีองค์ 8 มันไม่ไป ไม่มีทางหรอกคนเรา กิเลสไม่ยอมหรอก ใช่ไหม เหมือนที่แม่บอกให้เราปฏิบัตินั่นนะ อันน้นมันตายตัวอยู่แล้ว มันจะไปของมันเอง

การตามรู้จิตนี่แหละมรรคมีองค์ 8 จิตจะผิดศีลมันก็รู้ใช่มั้ย มรรคมีองค์ 8 ให้เว้นจากการฆ่าก่อนใช่มั้ย แล้วก็ห้ามคิดชั่วคิดร้ายต่อผู้อื่นใช่มั้ย ลงวาระสุดท้าย ให้รู้กายในกาย ให้รู้จิตในจิต รู้เวทนาในเวทนาใช่มั้ย ถึงจะไปได้ ให้ตั้งสติมั่น ตามรู้จิต ถ้าไม่ตามรู้จิต ไม่ตั้งสติมั่น มรรคมีองค์ 8 จะเกิดไหมนั่น

ต้องบอกให้เขาตามรู้จิตก่อน มรรคมีองค์ 8 ถึงจะสมบูรณ์ ถึงจะเกิดขึ้น เขาจะรู้ของเขาเอง ทำจิตให้ว่างให้บริสุทธิ์ มรรคมีองค์ 8 อยู่ในนั้น เขาจะเข้าใจเอง บอกไปก็มีแต่ไปท่องมรรคมีองค์ 8 แต่ไม่เข้าใจ มันต้องเดินก่อน ทำจิตให้เป็นกลางๆ ว่างๆ มรรคมีองค์ 8 ก็จะเกิดเอง ปฏิบัติแล้วมีสติเดี๋ยวก็เข้าใจเอง

มรรคมีองค์ 8 มันมีหลาย มีสติรู้เท่าทันจิตก่อนก็แล้วกัน ทันคิดชั่วคิดดีก็ให้รู้ รู้ไปก่อนมันจะไปเอง ทำใจเป็นกลางๆ ปล่อยวาง ว่างทุกอย่าง ทำจิตให้สะอาดหมดจด ผ่องแผ้ว ก็ศีล 5 ศีล 8 บอกอยู่แล้ว เดี๋ยวมันปฏิบัติ ถ้ามันไปเจอทุกข์ เจอเวทนา ทำไมเราถึงทุกข์ เพราะเราทำกรรม เออ อันนี้ท่านจึงให้เว้นจากการฆ่า

เพราะความบริสุทธิ์ หมดจด มันจะเป็นศีล มีสมาธิ มันจะรู้ของมันเอง แม่รู้ของแม่เอง นี่ละ ลงมรรคมีองค์ 8 แจ้งเลย อ่านจนหูแตก แม่ก็เคยอ่าน หนังสืออ่านกันมานานแล้วไม่ใช่หรือ แล้วเข้าใจมั้ย มันเข้าใจลึกซึ้งมั้ย

ต้องบอกให้มันตามรู้จิต จิตคิดชั่ว จิตคิดดี ให้รู้จิตพยาบาท อาฆาต จิตคิดฆ่าอะไร จิตมันโกรธ มันเกลียด ให้มันรู้ มันจะรู้เอง ไปอ่านมรรคมีองค์ 8 มันไปท่อง อ่านแล้วมันไม่ซึ้งในธรรมะ มันไม่เห็น ต้องให้มันเห็นด้วยฐานแท้ นั่นละ มรรคมีองค์ 8 อยู่ตรงนี้ ถึงจะเข้าใจ

ถ้าไม่มีสติ แล้วไม่รู้เท่าทันจิต มรรคมีองค์ 8 จะเกิดมั้ย มันก็ไม่เกิดใช่มั้ย ให้มีสติตามรู้เท่าทันจิตเสียก่อน มรรคมีองค์ 8 ถึงจะเกิดขึ้น ปัญญาถึงจะเข้าใจ ปัญญาถึงจะถ่องแท้ รู้แล้วก็วาง ดีก็วาง ชั่วก็วาง ติดสุขติดดีก็วาง รู้แล้วไม่วาง มันก็ไม่ใช่มรรคมีองค์ 8


โดย: UMP    เวลา: 2015-12-6 17:18

"ต้นทางของวิปัสสนา"

ครั้งแรกที่คุยกับคุณแม่ชีเกณฑ์ เล่าให้ท่านฟังว่า มีหลายคนบอกให้เดินจงกรมแบบเดินปกติไม่ต้องเดินช้าก็ได้ เพราะเราต้องหัดให้มีสติในชีวิตประจำวันจริงๆ ถ้ามาเดินช้ามันก็ไม่ใช่ของจริง ตัวเราเองกลับรู้สึกว่าการเดินช้าทำให้ใจเย็น ถ้าเดินแบบปกติยิ่งฟุ้งและร้อนที่ใจ ถามคุณแม่ตรงประเด็นว่า ตัวเองเหมาะกับการเดินจงกรมแบบไหน ที่คิดว่าการเดินช้าทำให้เย็นขึ้น คิดอย่างนี้ถูกไหม 

ท่านตอบว่าการเดินช้าๆ เป็นการขัดกิเลส และท่านถามต่อว่าเดินแบบไหน พุทโธ หรือไม่มีอะไรเลย บอกท่านว่าบริกรรมพุทโธ ท่านบอกให้สังเกตเวลาเดิน เท้ายกขึ้น คำว่าพุท กับการรับรู้ที่เท้ายกขึ้น ให้เกิดขึ้นพร้อมๆกัน และก่อนเท้าจะลงให้หยุดไว้ก่อน จะเห็นคำว่าโธผุดขึ้นในใจ ให้มันดับไปก่อนแล้วค่อยเอาเท้าลงพร้อมคำว่าโธ ให้การรับรู้ทั้งที่เท้าและคำว่าโธเกิดขึ้นพร้อมๆกัน 

ทำตามที่ท่านบอก เห็นคำว่าโธผุดขึ้นก่อนที่เท้าจะลงเสียอีก ไม่ทำตามมัน ค้างเท้าไว้ แล้วเราเห็นคำว่าโธดับลงไป แล้วจึงเอาเท้าลงพร้อมคำว่าโธที่ตั้งใจเอ่ยขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อให้เกิดขึ้นพร้อมๆกัน เราเห็นใจที่มันสั่งให้ไปข้างหน้าแต่เราไม่ทำตามมัน แล้วมันก็ดับลง 

ตอนเย็นท่านโทรมาสอบอารมณ์ ท่านบอกต่อว่าถ้าความคิดเกิดขณะยกเท้า ให้หยุดค้างไว้ หรือความปวดเกิดขึ้นก็ให้หยุดค้างไว้ ท่านไม่บอกว่าทำไม พอเริ่มเดินช้าไม่เหมือนคนอื่นจึงพาตัวเองไปเดินไกลๆ เริ่มเดินอย่างที่ท่านบอก พอความคิดเกิดขึ้นหยุดค้างไว้ เราเห็นความคิดดับลง เป็นครั้งแรกที่ไม่กลัวความคิดเกิด พอปวดขาก็หยุดค้างไว้ เราเห็นความปวดดับลงไป ปวดมันไม่ได้อยู่กับเราตลอด มันก็มีช่องว่างเหมือนกัน คุณแม่ท่านบอกว่าการเห็นการเกิดดับในตัวเรานี่แหละ เป็นต้นทางของการวิปัสสนา เป็นปัญญาขั้นแรกที่จะพาเราออกจากวัฏสงสารนี้ได้ 

จะบริกรรมหรือไม่บริกรรม ก็ให้สังเกตจุดเดียวกัน จะยกเท้าก็ให้มีสติรู้ ก้าวไปก็ให้มีสติรู้ เหยียบไปก็ให้มีสติรู้ ขณะรู้จิตอยู่กับขามั้ย มีสติรู้อยู่กับปัจจุบันมั้ย ยกขาก็ให้รู้ว่าจิตออกไปมั้ย อยู่กับปัจจุบันกับขามั้ย ขาขวายก มันอยู่กับขาหรือวิ่งออกไปข้างนอก มันออกไปก็ให้ใช้สติปัญญาดึงมันกลับคืนมา 

ถ้าหยุดขาค้างไว้มันไม่กลับมา ก็ให้กำหนดคิดหนอๆๆ หรือฟุ้งหนอๆๆ จนกว่ามันจะกลับมา ถ้ามันปรุงจนโกรธหรืออยากก็ให้กำหนดตามความรู้สึกนั้น เพื่อหยุดการปรุงแต่งต่อ ถ้าฟุ้งมากให้เดินแค่ 5 นาที นั่ง 5 นาทีไปจนครบชม. บริกรรมออกเสียงดังๆ เพื่อเป็นการคลายอารมณ์และกระตุ้นให้จิตมารับรู้การเคลื่อนไหวที่ปาก


โดย: UMP    เวลา: 2015-12-6 17:18

"อะไรคือปัญญาขั้นแรกที่ทำให้เราวางกายนี้ได้"

ปัญญารู้เท่าทันอารมณ์นั่นไง เป็นปัญญาขั้นแรก ถ้ารู้ทันอารมณ์มันก็จบเท่านั้น ขั้นแรกก็รู้เท่าทันอารมณ์ เห็นอาการเกิดดับๆ แล้วใจมันจะยอมรับว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันก็ดับ อารมณ์มันก็ดับ กายของเรามันก็ดับ พอเห็นปัญญามันก็เกิด

ต้องพิจารณาเห็นอาการเกิดดับเหมือนตอนที่แม่ปฏิบัติ พอมันเห็นอาการเกิดดับ ทุกสิ่งทุกอย่างมีแต่เกิดกับดับ กายของเรามันก็ดับ ต้องเห็นช่องว่าง ทุกอย่างกายนี้มันก็ดับ มันเห็นโทษทันที เข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันดับสลาย เห็นโทษเห็นภัยมัน

เกสา โลมา ท่องลงไป ไม่เห็นอาการเกิดดับไม่เห็นช่องว่าง มันก็ไม่ก้าวหน้า เห็นตายที่รพ.เผากันตลอดทำไมมันถึงไม่ตัด ทำไมไม่เกิดปัญญา ทำไมมันไม่ขาด เห็นอาการเกิดดับอย่างแจ่มแจ้ง มันถึงจะเข้าใจ ทุกสิ่งทุกอย่างมันดับสลายไป

จับหัวข่มน้ำจนตายก็ไม่เห็น ถ้าไม่เห็นด้วยสติปัญญาของตัวเอง ฟังครูบาอาจารย์เทศน์จนหูแตก หูซ้ายทะลุออกหูขวา มันวางได้มั้ย ถ้ามันไม่เห็นช่องว่างของจิตที่ มันเกิด มันดับ มันวาง มันหมดไป หมดไป เห็นทุกขัง อนิจจังสิ มันถึงวาง ทุกขัง อนิจจัง นึกว่ามันเที่ยงหรือไง ตามดูสิมันอยู่ตลอดมั้ย เดี๋ยวสักวันมันก็จางไป มันไม่เที่ยงอะไร มันแปรปรวนอยู่ตลอด มันก็จบเท่านั้นเอง


โดย: UMP    เวลา: 2015-12-6 17:18

"คุณแม่ค่ะ อธิบายความหมายของสติปัฏฐาน 4 แบบง่ายๆและเข้าใจได้ง่ายให้หนูได้ไหมค่ะ"

วิปัสสนาในสติปัฏฐาน 4 อย่าง 1. กาย 2. เวทนา 3.จิต 4.ธรรม.....
ไม่ว่าลูกจะเดิน จะนั่ง จะนอน จะพูด จะคิด จะกระทำสิ่งใด ให้มีสติรู้เท่าทันทุกอย่าง ทั้งที่กายและที่ใจ คำว่ารู้ทันกาย รู้ทั้งกายที่เคลื่อน กายเจ็บ กายปวด ก็ให้มีสติรู้ แล้วดูใจเราทุกข์กับมันมั้ย ห่วงมันมั้ย มันเจ็บมันปวด มันมีอารมณ์หงุดหงิดมั้ย

เวทนามี 2 อย่างคือเวทนาที่กายกับเวทนาที่ใจ ความรู้สึกที่ใจที่เรียกมันเป็นเวทนาเพราะมันเจ็บปวดใจ จิตก็มีสติรู้เท่าทันกับอารมณ์ที่มันมาปรุงแต่งจิต ให้คิดโน่นคิดนี่ เดี๋ยวก็แว่บไปนั่น เดี๋ยวก็แว่บไปนี่ ธรรมก็คือธรรมารมณ์ อารมณ์ที่มากระทบทางหู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ อารมณ์ที่มันโกรธ มันเกลียด มันรัก มันชอบ มันชัง มันเบื่อ สารพัดอารมณ์

มีคนหนึ่งบอกว่าฉันไม่สามารถไปปฏิบัติธรรมได้ เขาคิดว่าต้องทำให้จิตสงบตลอด ต้องเป็นกุศล ต้องดี ถ้าไม่ดีไม่ใช่ธรรม พอไปปฏิบัติก็พยามยามให้ไม่คิด มันเลยสู้กัน ก็เลยว่าตัวเองมันยาก ไปแล้วปฏิบัติไม่ได้ เหมือนน้องคนหนึ่งก็ว่า หนูจะทำได้มั้ยละคุณแม่ หนูอยากไปแต่กลัวจะปฏิบัติไม่ได้ แม่ก็ว่าทำไมจะไม่ได้ แม่ให้มาดูความโกรธ ความเกลียด ความพยาบาท ความน้อยใจ

เราอยู่กับอารมณ์ทางตา หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรส เดี๋ยวมันหยุดหงิด เดี๋ยวมันฟุ้งซ่าน เดี๋ยวมันโมโห เดี๋ยวมันขี้เกียจขี้คร้าน แล้วมันยากมั้ยละ มันอยู่กับอารมณ์ นี่แหละให้ไปรับรู้ ให้ไปวางสิ่งเหล่านี้ ทุกคนก็หัวเราะมีกำลังใจ นี่ต่างหากละธรรม ธรรมารมณ์ที่มาทำให้เราหวั่นไหวนี่ไง


โดย: UMP    เวลา: 2015-12-6 17:19

"เอาชนะใจตัวเอง"

เรากินกาแฟตั้งแต่เรียนหนังสือ จนทำงานในรง.ต้องแบบกระป๋อง หนักขึ้นไปอีก วันหยุดก็ไม่เว้น เพราะรู้สึกถ้าไม่กินแล้วลุกไม่ขึ้น ขี้เกียจ เอาแต่นอน เราแพ้ใจตัวเองไม่เคยชนะมัน นามร่วม 30 ปีจนมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต จนปวดท้องอย่างหนักและเป็นเรื้อรัง พบว่ากาแฟมีส่วน ไม่ว่าจะกินอาหารเข้าไปด้วยก็ตาม ยิ่งถ้ากินเกิน 1 แก้ว มันจะไปเร่งการหลั่งน้ำกรดในกระเพาะออกมา 

ที่ผ่านมาเราหลอกตัวเอง เราใช้กาแฟย้อมใจให้ตัวเองตื่นในแต่ละวัน เราอ่อนแอยืนด้วยตัวเองไม่ได้ พอง่วงสักนิดก็ไม่ทน ไม่พยายามที่จะฝืนมันด้วยตัวเอง เคยรู้มาว่าใครก็ตามไปปฏิบัติกับคุณแม่ชีเกณฑ์ ที่ร้อยเอ็ด ท่านจะไม่ให้กินกาแฟ เราค้านในใจว่ามันไม่เกี่ยวกัน จนวันนี้เรารู้แล้วว่ามันเกี่ยวกัน สติที่บริสุทธิ์และกล้าแข็ง ต้องออกมาจากการรับรู้ของใจอย่างแท้จริง ที่ไม่มีอะไรไปกระตุ้น 

ทำไมจึงบอกว่ากล้าแข็ง เพราะเขาออกมาโดยเนื้อแท้ของเขา เขามีความมั่นคงหนักแน่นเต็มเปี่ยม ไม่ผันแปรไปตามสิ่งที่มากระตุ้น แม้จะไม่กินกาแฟเขาก็อยู่ได้ แม้จะปวดหัวหรือง่วงนอนเขาก็ยังอยู่ได้อย่างมั่นคง เมื่อเราเกิดความสงสัยว่าใครกันแน่ที่ไปปฏิบัติ เราหรือกาแฟ จึงลองหยุดกินดู 3 วันแรกปวดหัวอย่างหนัก แต่เราอดทนฝืนใจไว้ มันอยากกินก็ไม่พากิน อดทนจนพ้นบ่ายทุกวัน พอช่วงเย็นเขาก็เป็นปกติ 

สิ่งที่เราต้องทนมากไม่ใช่อาการปวดหัว แต่ทนกับความอยากของใจ ผ่านไปได้เป็นอาทิตย์ สติตัวจริงที่เกิดจากการเคลื่อนไหวและรับรู้โดยธรรมชาติได้เกิดขึ้น เราทำงานได้ทั้งวันโดยไม่เหนื่อย ไม่ง่วง กลางคืนก็ไม่ยอมนอน บางครั้งนอนแค่ครึ่งชม.มันก็ตื่น เป็นอย่างนี้เกือบ 2 อาทิตย์ ใจสดชื่นกระปรี้กระเปล่า สมองปรอดโปร่ง ไม่เหลือเค้าของอาการหงุดหงิดฉุนเฉียวเลย

แต่ก่อนคุณแม่เคยบอกว่าให้ตื่นตีสามมาปฏิบัติ เราบอกว่าตื่นไม่ไหว เวลาผ่านไปไม่ถึงครึ่งปี เราตื่นตีสามเกือบทุกวัน บางคืนตื่นตั้งแต่เที่ยงคืน กลางวันก็ไม่มีง่วงไม่มีเพลีย จึงไม่สงสัยเลยที่ท่านบอกว่า ท่านจำวัตรหลังเที่ยงคืนและตื่นขึ้นมาตอนตี 2 ช่วงบ่ายท่านก็ไม่ได้นอน คุยกับท่าน ท่านไม่เคยบอกว่าเหนื่อย ว่าง่วงหรือแสดงอารมณ์อันใด โทรไปยามใดน้ำเสียงของท่านยังคงเรียบนิ่งเหมือนเดิม 

การปฏิบัติธรรมรอบนี้ท่านบอกว่า ต้องการให้หยุดกินกาแฟใน 3-4 วันที่มาปฏิบัติ ใครที่กลัวว่าถ้าไม่กินแล้วจะไม่ได้อะไรเลย ท่านบอกได้สิ วิริยะบารมีที่เกิดจากการต่อสู้กับเวทนานี่ไง ท่านบอกว่าถ้าแค่นี้ทนไม่ได้ ทนไม่ไหว ไม่กินแล้วหงุดหงิดฉุนเฉียว ตอนจะตายเวทนามากกว่านี้หลายเท่านัก จะทนได้หรือ คงไม่แคล้วไปเกิดเป็นพวกสัตว์ดุร้ายแน่นอนถ้ายังเป็นอย่างนี้อยู่

ช่วงที่เราอดกาแฟ ท่านก็เป็นพี่เลี้ยงอยู่ข้างๆ ต้องสอบอารมณ์กับท่านทุกวัน ท่านจะถามถึงความรู้สึกของใจที่เกิดขึ้น เราบอกท่านว่าใจมีแต่ความรู้สึกทนไม่ได้ มีแต่คำว่าไม่ไหวแล้ว แต่ต้องทนเพราะเราต้องการเป็นอิสระ ท่านบอกว่าแค่นี้ยังหงุดหงิด แล้วถ้ามีคนมาด่าหน้าบ้านจะทนได้หรือ ไม่ต้องไปรอตอนตายหรอก เอาแค่ตอนนี้ให้ผ่านก่อน

บางวันแอบกินโอเลี้ยงแทน ไม่บอกท่าน แต่วันนึงเราคิดได้มันเหมือนกัน เมื่อใจไม่ไปยึดติดกับมันว่าต้องกิน และไม่ไปตีความเองว่ามันง่วงเพราะไม่ได้กินกาแฟ นานๆไปเราก็จะปล่อยความคิดเก่าๆ และลืมมันไปได้ เราแก้ไขตัวเองด้วยการปรับเวลานอน พักให้พอ ไม่ดูทีวี ไม่อ่านมากนัก ไม่เล่นเนตนานจนดึก พอร่างกายพักผ่อนเพียงพอเขาก็ค่อยๆปรับตัวขึ้น วันนี้เราอดทนเข้มแข็งและพึ่งตัวเองได้ จะป่วยมากป่วยน้อยก็ไม่มากระทบกับใจของเรา


โดย: UMP    เวลา: 2015-12-6 17:19

ธรรมะวิถี.....ตอน รำลึกพระคุณ

........ครูบาอาจารย์ที่ท่านประทานความรู้มาให้ อบรมจิตใจให้รู้ผิดชอบชั่วดี.........
เสียงเพลงลอยมาแว่วๆ หวลรำลึกถึงครูบาอาจารย์ จะปล่อยให้เป็นเสียงกระซิบอยู่ในใจเราคนเดียวได้ไง ก็อย่างว่าเรามันพวก"แมงโม้" มีเรื่องดีๆต้องเล่า ทนๆฟังกันหน่อยรับรองได้ประโยชน์ 


เรามีครูบาอาจารย์หลายองค์ ตั้งแต่"อาจารย์ แม่ชี พระอาจารย์ หลวงพ่อ หลวงปู่"ที่เมตตาคอยขนาบสอนสั่ง เราเคยนึกเล่นๆ"กิเลสเรามันหนามั๊ง" คนอื่นมีครูบาอาจารย์องค์เดียวก็บรรลุ เรามันต้องทั้งแงะทั้งงัดจากครูบาอาจารย์หลายองค์ เลยจัดตัวเองเป็น"พันธุ์ลูกผสม"


หนึ่งในองค์ครูบาอาจารย์ คือ "แม่ชีเกณฑ์ นิลพันธ์ แห่งสำนักวิปัสนาบ้านโคกสูง จ.ร้อยเอ็ด" แม่ท่านมีวิธีสอนง่ายและสนุก เพราะใช้คำถามให้เราเฝ้าสังเกต"ความจริง"ที่เกิดขึ้นในกายในใจนี้ 


เราจำได้.......แม่ถามคำถามแรก "ลมหายใจเข้า กับ ลมหายใจออก เป็นขณะเดียวกันไหม"
"คนละขณะค่ะ" เสียงเราตอบฉะฉาน
"จิตที่เข้าไปรู้ลมหายใจเข้า กับ จิตที่เข้าไปรู้ลมหายใจออก เป็นดวงเดียวกันหรือคนละดวง"
"ถ้าตอบตามตำราต้องตอบคนละดวง แต่ที่รู้สึกเป็นดวงเดียวกัน"เสียงเราเบาลง


แม่ให้อุบายโดยเดินจงกรม6จังหวะ เราไม่เล่ารายละเอียดใครอยากรู้ไปเรียนกับแม่เอาเอง เพราะ"เค้า"ให้เราเขียน"เรื่องสั้น" อุบายแม่ได้ผล เราเห็นสิ่งที่ถูกรู้เกิด-ดับ และจิตรู้เองก็เกิด-ดับต่อเนื่องเป็นขณะๆ


แม่เริ่มให้เราอธิษฐานเพื่อรวบรวมบารมีที่เคยสั่งสมมาก่อนเดินจงกรม-นั่งสมาธิทุกบังลังก์ สิ่งอัศจรรย์ปรากฎขึ้นดั่งคำบาลีที่ว่า "ธัมโม ปะทีโป วิยะ ตัสสะ สัตถุโน พระธรรมของพระศาสดา สว่างรุ่งเรืองเปรียบดวงประทีป" แสงแห่งพระธรรมแจ้งประจักษ์แก่ใจ "รูป-นามเป็นเพียงสิ่งที่เกิด-ดับในความว่าง ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา" "ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต มีเพียงปัจจุบันขณะที่เกิด-ดับสืบต่อ" 


ม่านหมอกปิดบังจิตได้เผยออกให้สัมผัส"ธรรมชาติเดิมแท้"ชั่วขณะ เสียงแม่นุ่มนวลอ่อนโยน "จุดสำคัญ รักษาใจให้เป็นกลางกับทุกๆสภาวะที่เกิดขึ้น" "สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงสอนมีเพียง2สิ่ง คือ สิ่งที่เที่ยง กับ สิ่งที่ไม่เที่ยง" "ขมอง"น้อยๆของเราจำคำสอนของแม่ได้แม่นยำนัก เราก็ต้องมีดีเหมือนกันสิ


บทความโดย รวีรำแพน


โดย: UMP    เวลา: 2015-12-6 17:19

"วิธีแก้อาการโงกง่วงโยกไปโยกมา"

เมื่อเกิดอาการเช่นนี้ คุณแม่ชีเกณฑ์ให้แก้ด้วยการให้ตั้งเวลาให้นั่งสมาธิ 5 นาที เดินจงกรม 5 นาที สลับไปมาจนครบชม. ถ้านั่ง 5 นาทียังเป็นอยู่ให้หดเวลาลงมาอีกเหลือนั่ง 3 นาที เดิน 3 นาที ถ้านั่งลงไปแล้วยังเป็นอยู่ก็หดเวลาลงมาอีก หรือให้เดินอย่างเดียว ติดต่อกันทุกวันเป็นเวลา 2 อาทิตย์ ถ้ายังเป็นอีกก็ให้ทำแบบเดิม ต่อเมื่อหายจากอาการนั้นค่อยๆเพิ่มเวลาขึ้นมาให้เหมาะสม แต่อย่ากลับไปนั่งนานๆ อีก มันจะไหลลงไปที่เดิม

คุณแม่ท่านว่าอาการเช่นนี้อาจด้วยวิบากกรรมของเรา และสภาพร่างกายที่เหนื่อยล้าจากการทำงาน ให้เราดูปรับเวลาให้ร่างกายได้พักบ้าง มันโยกตัวลงไปเพราะสติมันน้อย ไม่สามารถควบคุมการทรงตัวของร่างกายได้ และท่านให้แผ่เมตตาให้เจ้ากรรมนายเวรของตัวเราเองทุกครั้งที่ไปปฏิบัติ และให้ทำบุญตักบาตรกับข้าวอาหารให้เขาด้วย

ถามคุณแม่ว่าทำแบบนี้แล้วทำไมจึงหาย ท่านว่าขนาดเราให้ลุกนั่งอย่างนั้น ใจมันยังหงุดหงิดจนแทบทนไม่ได้เลยใช่ไหม แต่ต้องทนเพราะอยากหาย แล้วคิดว่าเจ้ากรรมนายเวรที่ทำให้มีอาการแบบนั้น เขาจะทนอยู่ได้หรือ เขาก็ร้อนเหมือนกันที่เราผุดลุกผุดนั่งอยู่อย่างนั้น แต่เราอย่าไปปฏิบัติไล่เขาอย่างเดียว เราต้องแผ่เมตตาและทำบุญให้เขาได้อิ่มอาหารอิ่มใจด้วย จะได้เป็นอโหสิกรรมต่อกัน การทำอย่างนี้ทำให้มีเราความรู้สึกตัวต่อเนื่องไม่ขาดระยะนับชม. จะทำให้สติเราตั้งมั่นและบริบูรณ์ครบถ้วนมากขึ้น การลุกนั่งเสมอกันช่วยปรับธาตุดินน้ำลมไฟในร่างกายให้สมดุล โรคที่เป็นอยู่ก็จะถูกขับออก เลือดลมไหลเวียนสะดวก หายง่วง หายซึม กระปรี้กระเปล่า ไม่ขี้เกียจ นั่งแล้วไม่ฟุ้งไม่จม ตื่นตัวรู้สึกอยู่ตลอด

ขณะที่มีอาการเช่นนี้ในใจคิด เราคงไปปฏิบัติให้ใครเห็นไม่ได้แล้ว โยกไปโยกมาน่าอายมาก รู้ตัวแต่ไม่สามารถบังคับตัวเองได้ กว่าจะหลุดออกมาได้ก็ช่างแสนยาก ตอนผลุบเข้าไปก็ไม่รู้ตัว นั่งได้แค่อึดใจก็ไปติดกับเสียแล้ว 3 อาทิตย์ที่ต้องลุกนั่งอยู่อย่างนั้น ใจก็ไม่หงุดหงิด เป็นปกติเพราะมันชินแล้ว อาการง่วง ฟุ้งซ่าน ตัวโยกหายไป สติตื่นจนไม่ยอมหลับทั้งกลางวันกลางคืน นอนก็เหมือนไม่นอน เป็นอย่างนั้นเกือบเดือนกว่าจะเป็นปกติ

ต้องกราบขอบพระคุณ คุณแม่มากๆที่ทำให้หายจากอาการเช่นนี้ การปฏิบัติเองคนเดียว จำเป็นมากๆ ที่จะต้องมีผู้สอบอารมณ์ ไม่อย่างนั้นเราคงติดอยู่ตรงนี้ ไม่รู้ว่าจะอีกนานเท่าไหร่


โดย: UMP    เวลา: 2015-12-6 17:20

"กำหนดเพื่อรู้เท่าทัน"

มีคุณโยมมาถาม ทำยังไงถึงจะรู้เท่าทันจิต แม่บอกเขาว่าคุณโยมต้องเจริญสติ แล้วคุณโยมจะทันมัน พอนั่งปฏิบัติหูได้ยินเสียงปุบ ให้คุณโยมกำหนดได้ยินหนอ ๆ อารมณ์กระทบอันใด อายตนะภายนอก ความรู้สึกที่ใจให้รู้เท่าทัน ให้กำหนดรู้ ใหม่ๆ อาจจะฝึกกันหน่อย มันขัดตัวเอง ขัดใจ อย่าตามใจตัวเอง ขัดมันดู แล้วคุณโยมก็จะเท่าทันกับอารมณ์ จะเห็นอารมณ์ จะเท่าทันขึ้น แล้วมันก็จะเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ 

แม่บวชได้ 7 วัน ไปเข้าปฏิบัติที่บุญศรีมณีกรณ์ เขาให้กำหนด ยุบหนอพองหนอ หนอทุกอิริยาบถทั้งที่กายที่ใจ แม่บ่นในใจ มันจะสงบมั้ยเนี่ย เราเคยพุทโธ นั่งปุบนิ่งเลย พอมาวิปัสสนา หูได้ยินเสียงก็ให้รับรู้ ไม่ให้ปล่อย ได้ยินหนอๆ ขวาย่างซ้ายย่าง ให้กำหนดอะไรก็ไม่รู้ วุ่นวายไปหมด แล้วเมื่อไหร่จะเห็นธรรมะละ

พอเปลี่ยนไปปฏิบัติกับหลวงปู่เลื่อน ท่านเป็นอาจารย์สายยุบหนอ พองหนอรุ่นแรก วันแรกท่านบอกว่า...ลูกชีลดสักกายทิฏฐิซะมั่งสิ หลวงปู่ขอบิณฑบาต ลดสักกายทิฏฐิซะลูก ครูบาอาจารย์บอกอะไร ลูกก็ทำตามเถิด อย่าเถียง แม่ไม่ได้เถียงท่าน แต่แม่เถียงในใจ พอรู้ว่าหลวงปู่รู้ว่าเราต้าน เกิดศรัทธาทันที 

พอสติรู้เท่าทัน ก็เลยรู้ว่าที่ให้เรากำหนดรู้ทันเสียง เพราะเมื่อเรารู้ว่าเสียงอันนี้ มันเป็นแค่เสียงเกิดแล้วดับ ถ้าเราไม่ปรุงแต่งว่าเขาด่า พอได้ยินเสียงปุบ เราจะไม่โกรธเลย เวลาหิวทุรนทุรายก็ไม่ให้กิน ให้เอาขึ้นมากำหนด ถ้าอยากให้หยุดเลย มันหายอยากจึงให้กิน ทานข้าวเป็นชม.ได้ 3 คำ ท่านให้เคี้ยวให้ละเอียด ถ้าไม่ละเอียดกระอักออกมาเคี้ยวใหม่ 

ตั้งแต่นั้นมา มีความสงบขึ้น รู้เท่าทันขึ้น ได้เห็นอาการที่เกิดดับ ความปรุงแต่งก็ค่อยๆ จางไป ท่านให้ขัดกิเลสขนาดนั้น ถึงได้รอดมา แม่ได้เห็นคุณค่า ก็เลยได้มาแนะนำ มันยากจริงๆ ที่จะรู้เท่าทันจิต กว่าจะได้มาเลือดตาแทบกระเด็น จิตคนเรามันเร็ว รูขุมขนที่ว่าถี่ อารมณ์ที่จะแทรกเข้าไปถี่ยิบกว่านั้น ต้องทำสติให้หนายิ่งกว่ากำแพงปูน ถึงจะรู้เท่าทันจิต 

คนอื่นจิตเป็นยังไงกรรมใครกรรมมัน เห็นแต่ใจเรา มันจะอยู่ได้เพราะเราเอาชนะอารมณ์ เอาชนะใจเรา ชนะคนอื่นยาก เพราะกิเลสมันหนา ชนะใจตัวเอง ก็เท่ากับชนะใจคนทั้งโลก


โดย: UMP    เวลา: 2015-12-6 17:20

"คุณแม่ทำยังไง หนูถึงจะเห็นอสุภะ เห็นกระโหลกเหมือนเขา"

ไปนั่งเพ่ง นั่งเห็นกระดูก ซี่โครง เห็นตับ เห็นไต มีแต่ของสกปรกโสโครก ถ้าใจมันยังวางไม่ได้ มันก็ไม่มีประโยชน์ เห็นกระดูกซี่โครงแล้วเวลาเขาด่า มันยังโกรธอยู่ มันก็ไม่ดี จะเห็นหรือไม่เห็นก็ไม่เป็นไรหรอก เห็นแล้วปลงได้มั้ยละ ถ้าปลงได้ใช้ได้ ถ้าปลงไม่ได้ก็ใช้ไม่ได้ แปลว่ายังเห็นไม่ถูก 

เห็นถูก เห็นชอบ เหมือนมรรคมีองค์ 8 เออ..กายนี้มันเป็นธรรมดา เดี๋ยวมันก็เสื่อม ผมมันดำเดี๋ยวก็หงอก มันแปรปรวนเนาะ เกิดมามันดำ กลางคนเข้ามามันหงอก แล้วใครจะยอมมั่งละ ถ้าเห็นมันเป็นธรรมชาติทำไมไม่ปล่อย เอาวัตถุนิยมมาย้อมทำไม หนังที่มันเหี่ยวก็เป็นธรรมดา ถ้ายังบำรุงกันอยู่มันก็วางไม่ได้ เห็นอสุภะแต่ยังห่วงสวย อยากให้ตัวเองดูดี มันก็วางไม่ได้ 

กิเลสหยาบละไม่ได้ แล้วจะละกิเลสละเอียดได้อย่างไร ผู้เข้าปฏิบัติ ถ้ารู้แจ้งเห็นจริง มันต้องเห็นว่ามันเป็นธรรมชาติ ก็ปล่อยมัน เอาอะไรมาหยุดมันก็ไม่อยู่ ย้อมไปก็ชั่วขณะ เดี๋ยวก็คืนสู่สภาพเดิม บำรุงขนาดไหน แพงขนาดไหน ดีขนาดไหน ก็หยุดความแก่ความเหี่ยวไม่ได้ สู้เอาเงินไปทำบุญเป็นสเบียงให้แก่ตัวเองดีกว่า

ธรรมะมองแว่บเดียวแล้วพิจารณาให้แตกฉาน แค่หงอกเส้นเดียวก็บรรลุธรรมได้ อสุภะภายนอก ความสกปรกโสโครกมีให้เห็นกันทั้งวัน เห็นแล้วพิจารณาด้วยปัญญา เห็นตามความเป็นจริง เอออันนี้มันเสื่อมแล้วนะ ตามองแทบไม่เห็น มันฝ้ามันฟางแล้ว หูมันก็เริ่มตึง ไม่มีอะไรเลยที่จะเที่ยง นี่แหละท่านว่าให้เห็นทุกข์สัจจริงๆ เห็นทุกข์เห็นโทษของมัน 

แม้ไม่เห็นอสุภะ แต่เข้าใจธรรมชาติของกายนี้ เข้าใจที่มันแปรปรวน เข้าใจที่มันทุกข์ ไม่ไปหลงมัน ไม่ไปยึดมัน อยู่กันไปตามสภาพ ป่วยก็ไม่ทุกข์กับมัน อันนี้แม้ไม่เห็นก็ใช้ได้แล้ว กายนี้จะวางได้ไม่ใช่เห็นอสุภะภายใน แต่วางได้ด้วยปัญญา คนที่เห็นได้ก็ต้องพิจารณาด้วยปัญญา เห็นโทษเห็นภัยมันจึงจะวางได้ เห็นอย่างเดียว ละไม่ได้วางไม่ได้ มันก็ไม่เกิดประโยชน์อันใด


โดย: UMP    เวลา: 2015-12-6 17:21

"การเดินจงกรม 6 จังหวะ สำหรับผู้ที่ทุกข์ใจและฟุ้งมาก"

1. ยกส้น...(หยุด)...หนอ...(หยุด)
2. ยก...(หยุด)....หนอ...(หยุด)
3. ย่าง...(หยุด)...หนอ...(หยุด)
4.ลง...(หยุด)...หนอ...(หยุด)
5. ถูก...(หยุด)....หนอ...(หยุด)
6. เหยียบ...(หยุด)....หนอ...(หยุด)

นอกจากจะรับรู้ที่เท้า ปาก ใจ หูก็ยังคงได้ยินเสียง บางทีมันก็รู้ลมหายใจ ตาก็เห็นสัตว์ที่เดินบนพื้นดิน รู้อากาศร้อนเย็น จิตแว่บออกไปคิดก็รู้

ออกเสียงดังทุกจังหวะและคำว่าหนอ ให้การรับรู้ของเท้า ปากและใจตรงกัน หากความคิดเข้าแทรกหยุดค้างไว้ทันที ความคิดดับจึงไปต่อ หากมันไม่ยอมดับก็ค้างไว้เลย เมื่อขาเริ่มเกร็งมันจะทิ้งความคิดมารับรู้อาการที่ขา การเดินจงกรมเช่นนี้ เป็นวิธีที่ขัดใจมากสำหรับผู้ที่ใจร้อน อารมณ์รุนแรง มันจะดิ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน 

ขณะที่หยุดค้างไว้ ให้เราดูใจที่มันดิ้น มันหยุดดิ้นเมื่อไหร่จึงจะไปต่อ อดทนฝืนจิตไม่ทำตามที่มันสั่งให้ได้ 1-2 อาทิตย์มันก็จะหยุดดิ้น ยกเว้นคนที่ไม่สม่ำเสมอและไม่เอาจริง เมื่อมันหยุดดิ้นความสงบเย็นจะเกิดขึ้น 4 วันแรกจะปวดเมื่อยไปทั้งตัว เริ่มแรกตัวจะเอียงซ้ายเอียงขวาให้ทำความรู้สึกไปตามอาการเอียง ถ้ามันคิดติดกันเป็นลูกโซ่ ให้กำหนด คิดหนอๆเอาจนมันหยุด 

วิธีนี้เป็นวิธีหักดิบ ผู้ที่ความอดทนน้อยมักจะถอยไปเสียก่อน สิ่งที่จำเป็นมากคือความต่อเนื่อง อย่างน้อยวันละ 1 ชม. เป็นเวลา 2 อาทิตย์จึงจะเริ่มเห็นผลชัดเจน หลังการปฏิบัติทุกครั้ง คุณแม่ท่านให้แผ่เมตตาเจาะจงให้เจ้ากรรมนายเวรเราก่อน เมื่อจิตใจเราเข้มแข็งขึ้นจึงจะแบ่งปันให้ผู้อื่นได้ และหมั่นตักบาตรให้เขาด้วย 

เรื่องใดที่ขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำอีก ให้พิจารณาไตร่ตรอง ทำไมใจเรายังคิดเรื่องนี้ ยังคาใจตรงไหน ตัดสินใจเด็ดขาดกับมันว่าจะทำยังไงแล้วก็วางมัน และคอยเตือนตัวเองหากตายขณะนี้ ต้องไปเกิดเป็นจิ้งจกตุ๊กแกเฝ้าอยู่บ้านเขาแน่นอน การรับรู้หลายจุดถี่ๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดสติและให้สติเร็วขึ้น 

เมื่อมีสติ ก็จะเกิดสมาธิ และปัญญาในการแก้ไขปัญหาก็จะตามมา ส่วนการหยุดนั้น เพื่อให้เห็นการเกิดดับของการรับรู้และความคิด ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกิดแล้วดับในทันที เมื่อเข้าใจในความเป็นจริง มันก็จะค่อยๆ ยอมรับว่าทุกสิ่งมันจบไปแล้ว และเลิกที่จะไปขุดคุ้ยขึ้นมาอีก เมื่อถึงเวลาที่จิตเขาก้าวเดินเองได้ คำบริกรรมก็จะค่อยๆ เลือนหายไป 


โดย: UMP    เวลา: 2015-12-6 17:21

"เดินจงกรมบริกรรมพุทโธ เดินอย่างไรให้เห็นอาการเกิดดับ"

คุณแม่ชีเกณฑ์ท่านสอนให้เดินช้าๆ เท้ายกขึ้น ให้คำว่าพุท การรับรู้ที่เท้าเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน และก่อนเท้าจะลงให้หยุดไว้ จะเห็นคำว่าโธผุดขึ้นในใจ ให้มันดับไปก่อนแล้วค่อยเอาเท้าลงพร้อมคำว่าโธที่เอ่ยขึ้นมาใหม่ เพื่อให้การรับรู้ เท้าที่ลงและคำว่าโธเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน 

เมื่อเห็นใจมันสั่งให้เอาเท้าลงหรือบอกให้ไป อย่าไปทำตามมัน หยุดดูให้มันดับลงก่อนจึงไปต่อ ถ้าความคิดเกิดขึ้นให้หยุดค้างไว้ ความปวดเกิดขึ้นก็ให้หยุดค้างไว้ เมื่อความคิดและอาการปวดดับจึงไปต่อ มันมาอีกก็หยุดอีก มันดับเราก็ไปต่อ

การเห็นการเกิดดับ เป็นต้นทางของการวิปัสสนา เป็นปัญญาขั้นแรกที่จะพาเราพ้นทุกข์ได้ ผู้ปฏิบัติธรรมที่เห็นและเข้าถึงการเกิดดับจากการปฏิบัติ จะปฏิบัติธรรมเข้าใจได้ง่ายและไม่เนิ่นช้า

จะบริกรรมอะไรหรือไม่บริกรรม คุณแม่ท่านให้สังเกตจุดเดียวกันคือ จุดที่การรับรู้เกิดแล้วก็ดับ และเห็นจิตที่คิด จิตที่สั่งเกิดแล้วดับ การเดินช้าแล้วหยุดจะทำให้เราเห็นธรรมชาติอันแท้จริงนี้ เพราะใจที่ไม่ยอมรับว่าทุกสิ่งเกิดแล้วดับ ความคิดจึงต่อกันยาวเหยียด

ถ้าคิดมากไม่ยอมหยุดเพราะสติเรายังไม่มีกำลังพอ หยุดค้างไว้และให้กำหนดคิดหนอๆ หรือตามอาการความรู้สึกในใจ หากฟุ้งมาก อึดอัดมาก ให้บริกรรมออกเสียงดังๆ เพื่อให้จิตคลายและมาสนใจอาการที่ปากเป็นระยะ เมื่อต่อเนื่องมากๆ มันไม่ถูกปรุงแต่งให้คิดต่อ ความคิดนั้นก็ดับลง หรือจะคิดให้มันจบไปเลย เมื่อสรุปได้ก็วาง


โดย: UMP    เวลา: 2015-12-6 17:21

"การเดินจงกรมเพื่อการพักจิต"

เมื่อใจเบื่อคำบริกรรม ถามคุณแม่ชีเกณฑ์ว่าใช้ลมหายใจแทนคำบริกรรมได้ไหม ท่านบอกว่าได้ไม่ผิดอะไร วิธีกรรมของครูบาอาจารย์เป็นแนวทาง ผู้ที่รู้จักตัวเองดีแล้วก็ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับตัวเองได้ ในวันนี้จึงขอเดินเงียบๆ ช้าๆ ไม่เร่งตัวเอง ไม่เร่งลมหายใจ ปล่อยใจให้สบาย ไม่ได้ทำเพื่อใครหรือเพื่ออะไร เป็นการเดินจงกรม 6 จังหวะ โดยใช้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกแทนคำบริกรรม

จังหวะที่ 1. ยกส้น+หายใจเข้า.....หยุดค้าง+หายใจออก
(ยกส้นเท้าขึ้นพร้อมกับหายใจเข้ายาวๆ จนลมเต็มปอดท้องพองจนสุด แล้วหยุดเท้าค้างไว้พร้อมกับปล่อยลมหายใจออกจนลมหมดท้อง แล้วค่อยเปลี่ยนจังหวะ)

จังหวะที่ 2. ยก+หายใจเข้า....หยุดค้าง+หายใจออก
(ยกเท้าขึ้นพร้อมกับหายใจเข้ายาวๆ แล้วหยุดค้างไว้พร้อมกับปล่อยลมออกจนหมดท้อง)

จังหวะที่ 3. ย่าง+ลมหายใจเข้า....หยุดค้าง+ลมหายใจออก
(ก้าวขาออกไปพร้อมกับหายใจเข้ายาวๆ แล้วหยุดค้างไว้พร้อมกับปล่อยลมออกจนหมดท้อง)

จังหวะที่ 4. ลง+ลมหายใจเข้า...หยุดค้าง+ลมหายใจออก
(เอาเท้าลงแต่ปลายเท้ายังไม่ถูกพื้นพร้อมกับหายใจเข้ายาวๆ แล้วหยุดค้างไว้พร้อมกับปล่อยลมออกจนหมดท้อง)

จังหวะที่ 5. ถูก+ลมหายใจเข้า...หยุดค้าง+ลมหายใจออก
(ปลายเท้าถูกพื้นพร้อมกับหายใจเข้ายาวๆ แล้วหยุดค้างไว้พร้อมกับปล่อยลมออกจนหมดท้อง)

จังหวะที่ 6. เหยียบ+ลมหายใจเข้า....หยุดค้าง+ลมหายใจออก
(เหยียบพื้นเต็มเท้าพร้อมกับหายใจเข้ายาวๆ แล้วหยุดค้างไว้พร้อมกับปล่อยลมออกจนหมดท้อง)

ผลจากการเดินจงกรมแบบนี้ ในเวลาไม่กี่วัน ใจก็วางเรื่องที่คิดไปหลายสิบเรื่อง เป็นใจที่สงบ เย็น หนักแน่น ว่างและวาง 

การเดินจงกรมไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าเรารู้จุดนี่คือวิธีพักจิต คลายใจ ชำระจิต โดยที่ไม่ต้องไปไหน ไม่ต้องรอเวลา ไม่เสียเงิน แค่ห้องเล็กๆ ก็กว้างพอ แม้จะเดินได้แค่ก้าวเดียว ยืนกับที่ เดินไม่ได้ ยืนไม่ได้ เคลื่อนไหวได้แค่มือ หรือแค่ปลายนิ้ว ก็สามารถนำวิธีนี้ไปปรับให้เข้ากับตนเองได้ อยู่กับลมหายใจมาครึ่งค่อนชีวิตแล้ว เพิ่งจะใช้เขาให้เป็นประโยชน์สูงสุดก็วันนี้เอง


โดย: UMP    เวลา: 2015-12-6 17:22

"มันโกรธไปแล้ว ดับยากเพราะอะไรครับ"

คุณแม่ชีเกณฑ์ : เพราะโทสะมันแรง ตัวทิฐิ อัตตาตัวตนมันแรง ก็เลยดับไม่ได้ คุณโยมเห็นกำแพงมั้ย ลมเข้าได้มั้ย สติคุณโยมหนาอย่างนี้เมื่อไหร่ อารมณ์ก็ไหลเข้าไปสู่ใจคุณโยมไม่ได้ แล้วคุณโยมเคยบริกรรมอะไรมั้ย
ผู้ปฏิบัติธรรม : เคยแต่เดินจงกรม

คุณแม่ : แล้วนั่งสมาธิมั้ย
ผู้ปฏิบัติธรรม : เคยนั่งดูลมหายใจ

คุณแม่ : อย่างนั้นแม่จะถาม คุณโยมเคยสังเกตมั้ย เมื่อลมหายใจเข้า ก่อนลมจะออก คุณโยมรู้สึกว่ารู้ตามมั้ย มีสติรู้ตามตลอดมั้ย
ผู้ปฏิบัติธรรม : บางครั้งก็รู้ตาม บางครั้งก็หลง

เห็นมั้ยแปลว่าคุณโยมรู้เป็นบางขณะ คุณโยมต้องรู้ตามทุกขณะ ขณะที่มันเข้า ที่มันออก ทุกขณะที่คุณโยมคิด คุณโยมพูด คุณโยมปรุงแต่ง ให้คุณโยมรู้เท่าทันอยู่ตลอด รู้เท่าทันแล้วให้รู้โทษมันด้วย ไม่ใช่รู้เท่าทันแล้วเฉยๆ ไม่ได้ 

รู้ว่ามันโกรธ ก็โกรธไปไม่ได้ รู้ว่า เออ อันนี้มันโกรธ มันเป็นโทษนะ ตายไปขณะนี้ ต้องไปเกิดเป็นสัตว์นรกแน่นอน เป็นสัตว์เดรัจฉาน ต้องบอกมันอย่างนี้ รู้เฉยๆ ไม่มีอะไรบอกไม่ได้ เพราะมันดื้อ มันไม่เชื่อ ต้องบอกมัน ถ้าตายตอนนี้นะ ถ้าโกรธต้องไปเป็นสัตว์ที่โหด ไปเป็นเสือโคร่งที่ดุร้าย ขย้ำขยี้ ฉีกเนื้อมนุษย์ สัตว์ทั้งหลายที่เล็กและอ่อนแอกว่า ไปเป็นงู ก็คงเป็นงูอสรพิษที่ร้าย 

อันนี้เป็นเรื่องจริงเพราะจิตมันร้ายก่อนที่จะตาย มันก็ต้องไปสู่สิ่งที่ร้าย อันนี้คือแน่นอนเพราะว่ามันไปแล้ว มันสร้างกรรม สร้างภพก่อนที่จะไปให้มันแล้ว 

ไม่ต้องดูยากเลยว่าเราจะตายยังไง นรกขุมไหนละ ดูใจเราก่อน ต้องรู้ตลอดเวลาว่าจิตมันคิด มันปรุงมันแต่งอยู่ในภาวะใด สติเท่านั้นเองที่จะสกัดกั้น และปัญญาเห็นโทษเห็นภัยมันอย่างนี้จึงจะขาดจากมันได้


โดย: UMP    เวลา: 2015-12-6 17:22

"ทำไมบางคนปฏิบัติทุกวันแต่ยังโกรธอยู่ ยังไม่ทันอารมณ์ค่ะ"


ไม่แปลกอะไรเลยเพราะเขายังมีความยินดียินร้ายอยู่ ปัญญายังไม่เห็นโทษเห็นภัยของความยินดียินร้ายและจิตที่ไปยึดอารมณ์ สติมันช้าไม่ทันกับจิตที่ถูกปรุงแต่งไปก่อนแล้ว มันก็เลยยังโกรธอยู่ 


เราต้องย้อนมาดูตัวเอง ทำทุกวันแต่ยังโกรธอยู่ เราพลาดที่ตรงไหน มันผิดที่ตรงไหน ต้องปรึกษาครูบาอาจารย์ที่รู้จริง จะได้แก้ถูกจุด ไม่ผิดทางและไม่เนิ่นช้า ไม่ใช่ว่าปฏิบัติมานานแล้วอารมณ์โกรธจะหายไป อารมณ์โกรธจะละได้เราต้องใช้ปัญญาเห็นโทษเห็นภัยมัน ทุกอย่างจะต้องสมดุลกัน ทั้ง สติ สมาธิและปัญญา สติเป็นตัวกั้นกระแสความปรุงแต่ง ปัญญาเป็นตัวตัดให้ขาด 


สติจะเร็วได้ต้องรู้เท่าทันทุกอิริยาบถ ทุกความรู้สึกที่ใจ ถี่ยิบหนาแน่นประดุจกำแพงปูน จะด้วยการกำหนด หรือวิธีการใดก็ได้แต่ขอให้รู้เท่าทัน ปัญญาเกิดได้ด้วยการสอนใจตัวเอง ชี้เหตุผลตามความเป็นจริงให้ใจมันเห็นและสอนให้เข้าใจหัวอกผู้อื่นเพื่อลดอัตตาตัวตน สติมันทัน ปัญญามันเห็นโทษและอัตตาตัวตนลดลงเมื่อใด มันก็ไม่โกรธเมื่อนั้น 


โดย: UMP    เวลา: 2015-12-6 17:22

"เมื่อเบื่อหน่ายกายนี้ พลิกให้เกิดปัญญา อย่าให้ถลำลึกลงไปจนเกิดความทุกข์"

ยิ่งปฏิบัติธรรมไป ยิ่งเห็นความจริงในร่างกายนี้ ยิ่งเห็นภาระหนักที่ต้องแบกไว้ ยิ่งเกิดความเบื่อหน่าย จนไม่อยากจะมีร่างกายนี้แล้ว มันเป็นภาระอย่างแสนสาหัส เราทำทุกอย่างเพื่อร่างกายที่มันไม่จีรังยั่งยืน ร่างกายที่นำมาแต่ความทุกข์ อยู่กับมันซ้ำแล้วซ้ำอีก นับชาติไม่ถ้วน

เมื่อเกิดความเบื่อหน่ายในร่างกายนี้เกาะกินใจ คุณแม่ท่านว่าเราต้องพลิกความเบื่อหน่ายให้เกิดปัญญา อย่าให้มันปรุงแต่งจนทุกข์หนักเข้าไปอีก มองให้เห็นโทษของมัน มองให้เห็นความไร้สาระของมัน แล้วอย่าไปยึดมัน เบื่อมันให้จริงๆ ไม่ใช่แค่อารมณ์ชั่วครั้งชั่วคราว

กายเรามันไร้สาระเช่นนี้ เราก็ต้องใช้มันให้เกิดประโยชน์สูงสุดสิ พามันปฏิบัติ เอาความเพียรชนะกิเลส จนไม่ต้องเกิดมามีกายนี้อีก พามันทำความดี ทำกุศลให้ถึงพร้อม ตอบแทนพระคุณพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ผู้มีพระคุณ ศาสนา พามันทำสิ่งที่ควรทำที่สุด พามันปฏิบัติจนออกจากวังวนแห่งทุกข์นี้ให้ได้

เราไปจากโลกนี้ ร่างกายที่มันเน่าๆ ก็ถูกทิ้งไว้ ตามไปได้คือบุญบาปที่เราสร้างมา ถ้าเบื่อมันจริงๆ จนไม่อยากมาเจอมันอีก ทำให้ถึงที่สุดสิ ย้อนกลับมามองตัวเอง สิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ จะกิน จะพูด จะคิด จะซื้อ เราเบื่อมัน แล้วเราทำไปแต่ละอย่างเพื่อกลับมามีมันอีกมั้ย แม้แต่คิดจะโกรธ จะเกลียด จะรัก จะชอบ จะอาฆาตใคร เราทำไปเพื่อกลับมาอีกมั้ย ถ้าไม่อยากกลับมาอีก ก็ละมันเสียเถิด


โดย: UMP    เวลา: 2015-12-6 17:23

"สติเป็นผู้คุ้มครองโลก โลกใจของเรา"

คุณแม่ท่านเล่าถึงประวัติของพระพุทธองค์ ในวันที่ท่านตั้งสัจจะอธิฐานและลอยถาดทองคำให้ฟังว่า ท่านพิจารณาเห็นสิ่งใด โดยเริ่มเล่าจากตอนที่ นางสุชาดานำถาดทองใส่ข้าวมธุปายาส มาถวายและกลับไปบ้านแล้ว

พระมหาบุรุษเสด็จลุกขึ้นจากอาสนะ ถือถาดทองข้าวมธุปายาสเสด็จไปยังริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เสด็จลงสรงน้ำ แล้วขึ้นมาประทับนั่งริมฝั่ง ทรงปั้นข้าวมธุปายาสออกเป็นปั้น รวมได้ ๔๙ ปั้น เสวยจนหมด เสร็จแล้วทรงตั้งสัจจะอธิษฐานก่อนจะลอยถาดทองคำว่า...

ข้าพเจ้าจะขอนั่งคู้บัลลังก์อยู่ตรงนี้ อยู่ ณ สถานที่ตรงนี้ ถ้าไม่ได้เห็นความเป็นจริง ไม่แจ้งในทุกข์แล้วจะไม่ลุกออกจากที่นั่ง แม้แต่เอ็นเนื้อหนังกระดูกจะขาดเป็นชิ้นๆ ก็ยอม ถ้าข้าพเจ้าจะได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ก็ขอให้พานทองนี้ ที่น้ำกำลังเชี่ยวนี้ ให้ทวนกระแสคืนเถิด ว่าแล้วก็ปล่อยลงไป น้ำกำลังเชี่ยว แต่อัศจรรย์จริงหนอ พานทองหมุน 3 รอบ ทวนขึ้นกระแส

ท่านได้สติปัญญาว่า โอ้ นี่เราต้องทวนกระแสหรือนี่ อย่างนั้นเราต้องมีสติรู้เท่าทันกับอารมณ์ที่มากระทบสิ เราต้องขัดกับกิเลส เท่านั้นแหละ นั่งขัดสมาธิ รู้เท่าทันกิเลสเพราะปัญญาเกิดตามมา อารมณ์อะไรเข้ามารับรู้ เราต้องรับรู้ รับรู้แล้ว เราต้องพยายามฝืนจิตไม่ให้มันคิด ไม่ให้มันปรุง ไม่ให้มันแต่ง

จนสติแก่กล้าขึ้น สมาธิแก่กล้า ปัญญาเห็นว่า จิตเป็นธรรมชาติ ไม่มีตัวไม่มีตน บังคับให้มันคิดไม่ได้ แต่เราต้องฝึกสติให้รู้เท่าทันมัน สติของท่านแก่กล้า เท่าทัน พอจิตคิดปุบ ท่านดับปับไม่ปรุงแต่งต่อ ท่านมารู้ว่า ไอ้ที่เราคิด เพราะจิตมันไปยึดนี่นา ไปเกาะเพราะสัญญาหมายรู้จำได้ นางนั้นเป็นภรรยาเรา อันนี้เป็นลูกเรา อันนี้เป็นพ่อเรา เป็นตระกูลเรา

พอรู้เท่านั้นแหละ ท่านก็รู้ว่า จิตมันเป็นภาวะที่ต้องปรุงต้องแต่ง เพราะมันเกิดมาด้วยตัณหา มันเกิดมาด้วยความใคร่ มันก็ลงด้วยความใคร่ แล้วอะไรพาหลงล่ะ ก็จิตนี้เองเป็นผู้พาหลง เป็นผู้คิดว่าเป็นหญิง เป็นชาย มีรูปร่างสวยอย่างนั้นอย่างนี้ โอ มันปรุงแต่งนี่เองเนาะ เท่านั้นแหละ มองทะลุเลย โอ้...ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นที่จิตมันปรุงแต่ง

สติรู้เท่าทัน ท่านก็เลยให้มีสติปัฏฐาน 4 อย่าง คือ รู้เท่าทันทุกอริยาบถ เพื่อต้องการให้เรารู้เท่าทันอารมณ์ที่เข้ามาปรุงแต่ง เท่านั้นแหละบรรลุ ปัญญาก็แตกฉานเห็นความจริงว่าคนเกิดด้วยอะไร เพราะความใคร่พาให้เกิด เป็นหญิง เป็นชาย เข้ามาสัมผัสมีเลือดมีเนื้อ ทะลุหมดเลย

ย้อนไปนึกถึงอดีตแจ้งไปหมด เห็นโลกธาตุทั้ง 3 เห็นเทวดา อันนี้ไปเกาะเป็นภพเป็นชาติ จบวางหมดเลย เข้าสู่โลกุตตระ ละอย่างเดียว จิตใด ๆ ไม่เอา ละอย่างเดียว รู้วางๆๆ ท่านถึงบอกว่า...สติเป็นผู้คุ้มครองโลก โลกใจของเรา ถ้าเราคุ้มครองโลกใจของเราได้ คนก็ไม่เดือดร้อนกัน


โดย: UMP    เวลา: 2015-12-6 17:23

"ผู้ที่เคยปรามาสพระพุทธศาสนาแก้ได้อย่างไร"

ผู้ปฏิบัติธรรมบางคนพอตั้งใจปฏิบัติจริงๆจังๆ วิบากกรรมเก่าเข้าแทรก บางคนเห็นพระพุทธรูปใจก็ตำหนิ อันนี้คุณแม่ท่านว่าอันตราย ถ้าเป็นผู้หญิงหากมีครอบครัวแล้ว อาจเกิดตั้งครรภ์แล้วลูกออกมาหน้าตาบิดเบี้ยวหรือไม่สมประกอบ พอเริ่มคิดท่านให้กำหนด คิดหนอๆๆ และให้หัดสอนตัวเองว่า...ช่างเขามีความพยายามเนาะ เขาทำสุดความสามารถของเขาแล้ว

บางคนเกิดดูหมิ่นพระพุทธเจ้าขึ้นมา อันนี้คุณแม่ท่านว่าเพราะเคยนับถือศาสนาอื่น ไม่ศรัทธาในพระพุทธศาสนา นอกจากการกำหนดคิดหนอๆ คุณแม่ท่านก็ให้แยกแยะดูให้ดี พระไม่ดีก็มี แต่พระพุทธองค์ท่านไม่เกี่ยวกับพระเหล่านั้น ท่านเป็นคนละองค์กัน เราไม่ควรไปเหมารวมท่านด้วย มันคิดขึ้นมาก็บอกว่ามันไม่ใช่เรา มันเป็นมาร ชาตินี้เราศรัทธาในพระพุทธเจ้า เราจะไม่หวั่นไหวคลอนแคลน

บางคนเดินจงกรมไปเกิดภาพหลอนเห็นเศียรพระพุทธรูปอยู่ที่พื้น ทำให้ไม่กล้าก้าวเท้าลงไป ผู้ปฏิบัติธรรมคนนี้คุณแม่ต้องขนาบอย่างใกล้ชิด ท่านเอาเท้าลงไปเหยียบให้ดู และบอกว่าไม่มี นั่นคือภาพหลอน และบังคับให้เหยียบลงไปที่พื้น พอรับรู้ว่าไม่มีจริงๆ ภาพเหล่านั้นก็หายไป ผู้ปฏิบัติธรรมคนนี้เคยแสดงความไม่เคารพในสถานที่ทุกครั้งที่ไปวัด พอภาพเกิดขึ้นมาท่านก็ให้กำหนดเห็นหนอๆ

บางคนตำหนิพระในใจ แรกๆก็ว่าพระไม่ดี นานไปก็เหมารวมไปหมด และเกิดความไม่ศรัทธาในพระพุทธศาสนา คุณแม่ท่านว่าหากตำหนิพระปลอมไม่เป็นบาป แต่พระที่ท่านดีก็มีอยู่ เราไม่ควรเหมารวมไปหมด ท่านเป็นคนละองค์กัน เราต้องแยกแยะตามความจริงให้ใจดู มันคิดขึ้นมาก็กำหนดคิดหนอๆ เพื่อหยุดไม่ให้ปรุงแต่งต่อ

นอกจากการกำหนดคุณแม่ท่านให้ขอขมาต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และหมั่นแผ่เมตตาเจาะจงให้แต่เจ้ากรรมนายเวรของตัวเอง เมื่อวิบากรรมเหล่านี้พ้นไปจึงเริ่มแผ่เมตตารวมๆ ให้ผู้อื่นได้


โดย: UMP    เวลา: 2015-12-6 17:24

"เวลานั่งสมาธิ  ควรกำหนดอย่างไรค่ะ"

ผู้ที่บริกรรมพุทโธ หายใจเข้าก็จับดูพุท หายใจออกก็โธ 

ผู้ที่พอง หายใจเข้าก็ดูอาการท้องพอง หายใจออกก็ดูอาการท้องยุบ 

ผู้ที่ไม่ปรากฏพองยุบ เห็นแต่อาการลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ก็ดูแต่อาการและให้มีสติระลึกรู้ประคองตั้งจิตไว้ 

คำว่าประคองคือ มีสติให้ต่อเนื่อง ให้เห็นว่าขณะนี้ ที่เรากำลังบริกรรมพองหรือยุบ จิตของเราวิ่งออกไปหาอารมณ์อื่นมั้ย มีอารมณ์พอใจ และอารมณ์ยินร้าย เข้ามาแทรกในจิตเรามั้ย 


ถ้าเข้ามาแทรกก็พิจารณาว่า รู้หนอ ๆ หรือกำหนดไปตามอาการที่มันคิด ที่มันมีความรู้สึก คิดถึงอะไรก็คิดหนอ ๆ อย่างเดียวก็ได้ 


ถ้าหงุดหงิด ก็หงุดหงิดหนอ ๆ ทุกข์ก็ทุกข์หนอ ๆ มีความทุกข์ มีความคับแค้นใจ นิวรณ์ 5 ชอบใจ ไม่ชอบใจ ง่วง ฟุ้ง สงสัย 6 คือนิมิต ให้กำหนดอารมณ์ที่อยู่ในใจ แล้วให้กลับมาดูพอง ดูยุบ พอหูได้ยินเสียง ก็ได้ยินหนอ ๆ แต่ให้หยุดพอง หยุดยุบ ให้ไปกำหนดแต่อาการที่มันแทรกเข้ามา แล้วก็กลับมาดูพองยุบ 


สงบก็รู้ว่าสงบ ไม่สงบก็รู้ว่าไม่สงบ รู้สึกเห็นอาการทุกอย่างในกาย เวทนาเกิดขึ้น เจ็บปวดก็รู้ มีสติรู้ว่า เออ มันเป็นธรรมดาของมัน พระพุทธองค์ท่านชี้แนวโลกุตตระ รู้อะไรละอย่างเดียว ไม่ยึด ไม่ติด ไม่เกาะ เพราะการยึด การติด เป็นภพเป็นชาติ 

ผู้ใดที่เข้าฌานเพื่อระงับจากนิวรณ์ทั้งหลายได้ง่าย มันก็ยังเป็นณานที่ไม่ใช่ทางหลุดพ้น เป็นณานโลกีย์ที่ยังยึด ยังติดอยู่ ไม่รู้เนื้อรู้ตัว ออกมาถึงรู้ ถ้าตายจะไปอยู่ในอรูปพรหม ไม่มีหู ไม่มีตา จมูกก็ไม่มี มีช่องเล็กๆ เหมือนน้ำเต้า มีรูให้ลมออกจากตรงนั้น มีแต่ความรู้สึกอย่างเดียว ตั้งอยู่เหมือนก้อนหิน ไม่กระดุกกระดิกหลายหมื่นปี ออกจากนั้นก็เวียนว่ายตายเกิดอีก 

ทำไมไม่มีแข้งไม่มีขา เพราะตอนนั่งเข้าณาน รู้สึกเหมือนตัวเองไม่มีตัวไม่มีตน มีแต่ความรู้สึกลมหายใจเข้าลมหายใจออก อะไรมาต้องกายก็ไม่รับรู้ หูได้ยินเสียงไม่รับรู้ แต่มันเป็นไปไม่ได้ เพราะเรามีกายหยาบอยู่ จำเป็นต้องรู้ตัวทั่วพร้อม เราถึงจะทำลายขันธ์ได้ พระพุทธองค์ท่านไม่สรรเสริญ เพราะทำให้เราไปยึด ไปเกาะไปติดอยู่ เมื่อถึงเวลามันก็จะเป็นไปเองจากสมาธิที่มีสติ และจะเป็นณานที่เป็นสัมมา มีสติครบถ้วนบริบูรณ์



โดย: UMP    เวลา: 2015-12-6 21:23

"จิตต้องเสมอเหมือนดั่งเดียวกัน ทั้งคนใกล้และคนไกล....ถึงจะเต็มร้อย"

คุณแม่ชีเกณฑ์ท่านว่า...ตัวเองสำเร็จหรือไม่สำเร็จ จิตกระเพื่อมหรือไม่ ผู้ใกล้ชิดนี่แหละเลิศที่สุด ที่จะทดสอบว่าตัวเองขาดหรือไม่ขาด ที่จะทดสอบว่าจิตของเราอยู่ระดับไหน

ถ้าคนใกล้ชิดยังมีผลกับใจเราอยู่ ด้วยเพราะความเคยชินจึงประมาทไป แก้ยังไงนะหรือก็ให้มีสติเท่านั้นเอง ให้รู้ตัวเองว่า...นี่แสดงว่าเรายังมีความพอใจ ยังมีความยินดียินร้ายอยู่ ไม่ว่าจะเป็นคนใกล้ตัวหรือไกลตัว ทำให้เสมอเหมือนดั่งเดียวกัน จิตต้องเสมอเหมือนกัน ไม่ยินดียินร้ายทั้งคนใกล้และคนไกล ถึงจะผ่านไปได้

คุณได้โสดา สกิทาคา อนาคามี ได้เด็ดขาดมั้ย ทดสอบที่คนใกล้ตัวนี่แหละ เสมอเหมือนดั่งเดียวกันมั้ย ตอนที่โกรธใจกระเพื่อมมั้ย ขุ่นมัวมั้ย หรือว่าจะปากเฉยๆ มันก็ต้องดูใจตัวเอง

อย่างดุให้ลูกศิษย์หรือคนใกล้ชิด เราพูดเฉยๆ แต่ใจไม่กระเพื่อม เหมือนกระตุ้นเขาให้เขามีสติ แต่ใจของเราไม่กระเพื่อมไปด้วย คำว่าโกรธใจมันยังกระเพื่อมอยู่ อันนี้ไม่โกรธ มันไม่กระเพื่อม พูดออกไปเพื่อดุ ต้องใช้คำพูดที่ให้สติ แต่ในใจไม่กระเพื่อม มันไม่ได้โกรธ มันไม่ฉุนไปด้วยเลย

ที่ว่าอรหันต์ด่าไม่มีผล ก็ใจท่านไม่กระเพื่อมเลย ท่านเพื่อจะเตือนสติ แต่ท่านพูดดุด้วยเสียงหยาบคาย เพราะคนพูดหวานไม่กลัว แต่ท่านจะไม่ ท่านไม่อยากให้คนมาเป็นบาป เขาไม่สามารถรู้จิตของท่านได้ เขาก็โกรธใช่มั้ย เพราะเขายังมีความยินดียินร้ายอยู่

กระเพื่อมมั้ย น้อยใจมั้ย ให้สังเกตดู ถ้ากระเพื่อมแสดงว่าเรายังมีความยินดียินร้ายอยู่ เราต้องผ่านกับคนใกล้ถึงจะว่าเต็มร้อย ไม่พอใจนานมั้ย ขุ่นมัวฉุนเฉียวนานมั้ยก็ต้องดู ให้สังเกตตรงนี้ เมื่อสังเกตเห็นตัวเอง...นี่ไม่ใช่นี่ เราต้องการตัดภพตัดชาตินี่ ไม่ใช่นี่ เรากำลังสร้างวจีกรรม มันจะสะสม เราประมาทแล้วนี่ คนไกล้หรือคนไกล ต้องเสมอเหมือนดั่งเดียวกัน อย่างนี้สิถึงจะถือว่าผ่านได้เต็มร้อย


โดย: UMP    เวลา: 2015-12-7 18:52

"ช่วงเวลาที่เหมาะแก่การปฏิบัติ"

คุณแม่ท่านถามว่า...ตื่นมาเดินจงกรมตีสามไหวมั้ย ไม่ไหวค่ะ ผ่านไปอีกอาทิตย์ท่านก็ถามอีก...ตื่นมาเดินจงกรมตีสามไหวมั้ย ก็ยังคงตอบว่าไม่ไหวค่ะ ถ้าตีห้าก็พอไหว 

ผ่านไปอีกสองอาทิตย์ คุณแม่ท่านเล่าว่า...ตอนเช้าแม่ไม่ได้อาบน้ำ มันเสียเวลา ท่านพูดแค่นี้แล้วหยุดไม่บอกว่าเสียเวลายังไง ผ่านไปอีกสองวันท่านก็เล่าว่า...เวลาตีหนึ่งถึงตีสามเป็นเวลาที่เหมาะแก่การเดินจงกรมและนั่งสมาธิ เป็นเวลาที่โลกสงบเงียบไม่วุ่นวาย เป็นช่วงเวลาที่จิตว่างจากการถูกปรุงแต่ง เราจะเห็นจิตของเราได้ชัด

ผ่านไปอีกอาทิตย์เริ่มถามคุณแม่ว่า การเดินจงกรมกับการสวดมนต์ อันไหนอานิสงส์มากกว่ากัน ท่านบอกว่า...การเดินจงกรมลูกจะได้ทั้งสุขภาพที่ดี และได้สติได้ปัญญาที่จะพาให้เราหมดภพหมดชาติ เรารู้ว่าได้สติแน่นอน แต่ได้ปัญญาตรงไหนหนอ จนสุดท้ายเราไม่อยากมีชีวิตที่อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ไม่ขาดเสียที เริ่มเห็นแล้วว่าเวลาปฏิบัติแค่ตอนบ่ายวันละ ชม.ไม่พอ เราไม่มีกำลังมากพอที่จะหยุดมัน และไม่มีปัญญาที่จะตัดให้ขาด เราอาจตายไปก่อนและอาจไปเกิดเป็นอสรพิษร้ายก็ได้

เราพยายามตื่นตีสาม ไม่ไหวก็ต้องทน ยอมรับว่าวันแรกเป็นการเดินจงกรมและนั่งสมาธิที่ทรมานที่สุด แต่ต้องรักษาสัจจะกับตัวเองที่ตั้งใจไว้ ตื่นขึ้นมา ก่อนที่มันจะคิดโน่นคิดนี่ ล้างหน้าแปรงฟันไม่เสียเวลาอาบน้ำอย่างที่ท่านว่า และเริ่มเดินจงกรม 6 จังหวะช้าๆ อย่างที่ท่านสอน เพื่อฆ่าเวลาและห้องที่เดินแคบมาก เดินเร็วก็เวียนหัว ช่วงแรกนั่งสมาธิแล้วง่วงมาก จึงเลือกที่จะเดินจงกรมอย่างเดียว ที่เคยคิดว่าเดินจงกรมตอนตีสามคงไม่ไหว ผิดคาดยิ่งเดินจิตยิ่งตื่น วันไหนที่เริ่มต้นชีวิตด้วยการเดินจงกรมแต่เช้า วันนั้นทำงานอย่างไม่รู้จักเหนื่อย ไม่ง่วงหาวนอน ไม่ต้องกินกาแฟ ไม่ฟุ้งซ่าน จิตเบิกบาน ไม่หงุดหงิดง่าย และใจเย็น

บอกคุณแม่ว่าเดินจงกรมตอนเช้าไม่เห็นอะไรวิเศษ เห็นแต่ใจตัวเอง เรื่องที่ฝังอยู่ในใจมันขึ้นมาและมันก็พิจารณาด้วยความเป็นกลางไม่เข้าข้างตัวเอง ว่าสิ่งที่ตัวเองทำควรหรือไม่ควร เริ่มเห็นเหตุผลว่าทำไมคนนั้นจึงทำเช่นนี้กับเรา แล้วมันก็วาง เรื่องนั้นก็ไม่ขึ้นมาอีก และหลายครั้งความคิดดีๆ ในการแก้ปัญหาจะเกิดขณะที่เดินจงกรมตอนตีสาม คุณแม่ท่านบอกว่าของวิเศษที่สุดคือได้เห็นจิตเห็นใจตัวเองนี่แหละ เห็นใจตัวเอง เราจะเข้าใจตัวเอง เตือนตัวเองสอนตัวเองได้ ไม่หลงตัวเอง เมื่อเราเข้าใจตัวเอง เราก็จะเข้าใจผู้อื่น เห็นใจผู้อื่น ลูกว่าจะมีอะไรที่วิเศษไปกว่านี้อีกไหม

ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาเราพยายามตื่นมาเดินจงกรมตอนตีสามหนึ่งชม. ให้ทัน ช่วงแรกยังต้องตั้งนาฬิกาปลุก แต่เมื่อนานวันเขาจะตื่นเขาเองโดยอัตโนมัติ ชีวิตในแต่ละวันเริ่มเปลี่ยนไป ความเบื่อหน่ายในชีวิตหายไป เริ่มใช้เวลาทุกวินาทีให้มีค่ามากที่สุด นานเป็นปีแล้วที่ไม่เคยนั่งใจลอยคิดถึงใครในอดีต ไม่เอาอดีตมาทิ่มแทงตัวเอง 

คำหนึ่งที่คุณแม่พูดเสมอ...เราทำเพื่อคนอื่นมามากแล้ว ถึงเวลาที่เราต้องทำเพื่อตัวเองบ้าง คิดว่าจะเริ่มต้นเมื่อไหร่ ร่างกายมันคอยเราไหม เริ่มเสียก่อนที่มันจะสายเกินไป






ยินดีต้อนรับสู่ แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน" (http://dannipparn.com/) Powered by Discuz! X1.5