[size=180%]
[size=180%]
[size=180%]มิตรแท้
[size=100%]หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ วัดท่าซุง)
ธรรมปฏิบัติ เล่ม ๑๐ หน้า ๒๒-๒๖
องค์สมเด็จพระชินศรีทรงแนะนำว่า มิตรแท้จริงมี ๔ จำพวก คือ
๑. มิตรที่มีอุปการะ
๒. มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์
๓. มิตรแนะนำประโยชน์
๔. มิตรที่มีความรักใคร่
สำหรับมิตร ๔ อย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านอธิบายไว้ชัด ท่านอธิบายไว้เลยว่า
[size=130%]
มิตรที่มีอุปการะ
มิตรที่มีอุปการะมีลักษณะ ๔ อย่าง คือ
(๑) ป้องกันเพื่อน ผู้ประมาทแล้ว
หมายความว่า เขาเห็นว่าเราจะเพลี่ยงพล้ำหรือขาดทุนพลาดท่าในลักษณะไดก็ตาม เห็นท่าไม่ดีก็พยายามป้องกันตักเตือน
ทุกอย่าง ใครจะเข้ามาประหัตประหารทำร้าย เขาจะเข้ามาป้องกันด้วยชีวิต ถ้าเรายากจนเข็ญใจจะพลาดพลั้งประการใด เขาจะเข้ามาประคับประคอง อันนี้เป็นมิตรดี
(๒) ป้องกันทรัพย์สมบัติของเพื่อนผู้ประมาทแล้ว
นั่นป้องกันตัวนะ อันนี้ป้องกันทรัพย์ เวลานอนหลับ ขโมยขโจรจะเข้ามาปล้นจะเข้ามาลัก ถ้าเขาทราบเขาจะป้องกันทันที
(๓) เมื่อภัยมา เป็นที่พึ่งพากันได้
หมายความ ว่า ถ้าจะมีภัยอะไรก็ตาม เขาจะยอมพลีตัวเขาทุกอย่างเพื่อเรา
(๔) เมื่อมีธุระ ช่วยออกทรัพย์ให้เกินกว่าที่ออกปาก
หมายความว่า เพื่อนเอ๋ย...ฉันขาดเงินอยู่บาท เจ้าหนี้เขาจะมาทวง ถ้าเขามีมาก เอาไปเพื่อน ๑๐ บาทก็แล้วกันนะ ไอ้บาท
เอาไปใช้หนี้ อีก ๙ บาทเอาไปซื้อกินซื้อใช้ จนกว่าจะหามาได้ก็ค่อยมาให้กัน หรือว่าไม่มีก็ไม่เป็นไร ของเท่านี้ เราช่วยกันได้
แม้แต่ ชีวิตเรายังสละได้ นี่อาการอย่างนี้เขาเรียกว่า มิตรที่มีอุปการะ
[size=130%]
มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์
มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ท่านบอกว่ามีลักษณะ ๔ อย่าง คือ
(๑) ขยายความลับตนแก่เพื่อน
หมายความว่าเขาเป็นมิตรจริงๆ แม้จะมีอะไรลึกลับอยู่ไม่มีการปิดบัง บอกกันตรงไปตรงมาเสมอ
(๒) ปกปิดความลับของเพื่อน ไม่ให้แพร่งพรายออกไป
หมายความว่า สิ่งใดที่เพื่อนมีความลับไม่ควรจะเปิดเผย เขาจะปกปิด ใครจะถามจะมาจ้าง จะมาวาน จะมาเข่น จะมาฆ่า เขาจะ ไม่ยอมเปิด
เรื่องนี้ถ้า เราถอยหลังไปถึงประวัติศาสตร์ เราจะทราบชัดว่าคนไทยสมัยก่อนๆนี้ ที่ทรงชาติได้ดีก็เพราะลักษณะอย่างนี้เป็นสำคัญ
(๓) ไม่ละทิ้งกันในยามวิบัติ
หมายความว่า ถ้าเราเกิดความวิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น อย่างมีอุทกภัยน้ำท่วม วาตภัยลมพัดบ้านพัง สมบัติพัง ไฟไหม้บ้าน โจรปล้น ความวิบัติเกิดขึ้น ทรัพย์สินมันไม่มี เขายอมพลีเสียสละช่วยเหลือเสมอ
(๔) แม้แต่ชีวิตก็อาจสละแทนได้
เขาอาจจะยอมตามแทนเราเมื่อภัยใหญ่มาถึง มิตรอย่างนี้เรียกว่ามิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ควรจะคบหาคบไว้ เรามีน้อยก็ยังดีกว่ามีเพื่อนที่ไม่ใช่มิตร เรามีมิตรแท้คนเดียวดีกว่ามีมิตรเทียมๆ หลายแสนคน ไอ้มิตรเทียมๆ หลายแสนคนนั่นแต่ละคนมันก็ให้ความทุกข์ มี ๑๐ คนก็ให้ความทุกข์ ๑๐ คน มี ๑๐๐ คนมันก็ให้ความทุกข์ ๑๐๐ คน ถ้าเรามีมิตรที่ดี ๑ คน เราจะมีความสุขตลอดชีวิต ฉะนั้นจงเลือกคบแต่มิตรที่ดี
[size=130%]
มิตรที่แนะนำประโยชน์
มิตรที่แนะนำประโยชน์ ท่านบอกมี ลักษณะ ๔ คือ
(๑) ห้ามทำความชั่ว ความชั่วนี่เราก็รู้กันอยู่แล้วว่าอะไรมันชั่ว
(๒) แนะนำให้ตั้งอยู่ในความดี
(๓) ให้ฟังในสิ่งที่ไม่เคยได้ฟัง
(๔) บอกทางสวรรค์ คือทางของความสุขให้ ทางสวรรค์หมายทางใดที่เป็นปัจจัย ให้เกิดความสุข ความร่ำรวย ความ ปลอดภัย ความเป็นที่รักแก่คนทั้งหลายเราเรียกกันว่าเป็นทางสวรรค์
นี่มิตรที่แนะนำประโยชน์อย่างนี้ องค์สมเด็จพระทรงธรรม์แนะนำว่าควรคบหาเข้าไว้ อย่าละทิ้ง
[size=130%]
มิตรที่มีความรักใคร่
มิตรที่มีความรักใคร่ เขาก็มีลักษณะ ๔ เหมือนกัน คือ
(๑) เวลานี้เราทุกข์ เขาก็ยอมจะทุกข์ด้วย
คือไม่ทิ้งเรา
(๒) เวลาเรามีความสุขเขาก็สุขด้วย
หมายความว่ารื่นเริงหรรษาเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
(๓) โต้เถียงคนที่พูดติเตียนเพื่อน
หมายความว่า ถ้าเราถูกใครเขาติเตียนไม่ตรงกับความเป็นจริง เขาจะโต้ตอบทันที
(๔) รับรองคนที่พูดสรรเสริญเพื่อน
หมายความว่า ถ้ามิตรที่ดีเขาจะป้องกันเราไว้เสมอ
เป็นอันว่ามิตร ๔ ประการนี้ องค์สมเด็จพระมหามุนีทรงแนะนำว่า ต้องควรคบแสวงหาไว้
ถ้าหากว่าเขาถามว่า ถ้าเราเลือกคนดีประเภทนี้ไม่ได้เราจะทำอย่างไร ก็ควรตัดสินใจว่า ไม่คบใครเสียเลยดีกว่า ถ้าไปคบคนชั่วก็ไปสร้างความทุกข์ให้เรา ถ้าคบคนดีมีความสุข ถ้าหาคนดีไม่ได้มีแต่คนชั่ว เราไม่คบเสียเลยอยู่ตัวคนเดียวดีกว่า เมื่อมันจะทุกข์ก็ทุกข์เฉพาะตัวของเราเอง ไม่ใช่คนอื่นมาสร้างความทุกข์ให้
พิมพ์โดย มิ้ม
ยินดีต้อนรับสู่ แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน" (http://dannipparn.com/) | Powered by Discuz! X1.5 |