พระสถูปเจดีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชานุสรณ์
บ.เมืองงาย ต.เมืองงาย อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
การเดินทางไปพระสถูปเจดีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชานุสรณ์ ตั้งอยู่ บ้านเมืองงาย ตำบลเมืองงาย อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากที่ตั้งที่ว่าการอำเภอเชียงดาวไปทางทิศเหนือประมาณ ๑๒ กิโลเมตร และอยู่ห่างจากเส้นทางเชียงใหม่-ฝาง ตรงก.ม. ๗๘/๘๐๐ ไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๕ กิโลเมตร ค่ะ
ยินดีต้อนรับทุกท่าน
เข้าสู่ดินแดนแห่งประวัติศาสตร์ อนุสรณ์สถานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
“ดอยนางสูงเสียดฟ้า สมฉายาเมืองงายในฝัน พระสถูปเจดีย์ฯ มีตำนาน อนุสรณ์สถานพระองค์ดำ”
ประตูทางเข้า/ออก พระสถูปเจดีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชานุสรณ์ มีรูปปั้นไก่วางเรียงรายประดับด้านหน้าประตูค่ะ
เวลาเปิด - ปิด ๐๕.๐๐ – ๑๙.๓๐ น.
พระสถูปเจดีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชานุสรณ์ เป็นเจดีย์ฐาน ๘ เหลี่ยม กว้าง ๑๐.๓๐ เมตร สูง ๒๕.๑๒ เมตร ฐานด้านหนึ่งประดิษฐานพระบรมรูปของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และแต่ละด้านของฐานมีแผ่นศิลาสลักลวดลายเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระองค์สลับกับแผ่นหินที่เล่าพระราชประวัติของพระองค์ และประวัติการก่อสร้างพระสถูปเจดีย์ ซึ่งจะมีประชาชนแวะเวียนมากราบไหว้สักการะองค์พระสถูปเจดีย์ฯ อยู่เสมอค่ะ
ประวัติการสร้าง
พระสถูปเจดีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชานุสรณ์
โดยที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงปรีชาสามารถ ได้ทรงกอบกู้เอกราชของชาติไทยในอดีต ทั้งทรงมีพระบุญญาบารมี พระบรมเดชานุภาพแผ่ไพศาลเป็นที่หวาดหวั่น และเกรงขามแก่ข้าศึกศัตรูหมู่ปัจจามิตรทั้งปวง ในจังหวัดต่างๆ ซึ่งตามประวัติศาสตร์ที่พระองค์ได้ทรงมีบทบาทในการกรีธาทัพไปปราบปรามอริราชศัตรู ต่างได้จัดสร้างอนุสาวรีย์ หรือสิ่งอนุสรณ์เป็นการยกย่องเทิดทูนพระเกียรติ และเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้ถวายความจงรักภักดี และบำเพ็ญการกุศลบวงสรวงพระวิญญาณของพระองค์ตลอดมา
สำหรับชาวเชียงใหม่ได้ระลึกอยู่เสมอว่า การที่พวกเราได้อยู่อย่างเป็นสุขจนกระทั่งทุกวันนี้ ก็ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ได้ทรงมีพระเมตตาต่อชาติไทย จึงได้เห็นพ้องต้องกันว่า ควรจะได้ร่วมกันจัดสร้างสิ่งอันเป็นอนุสรณ์แด่พระองค์ขึ้น เนื่องจากบริเวณบ้านเมืองงาย ตำบลเมืองงาย อำเภอเชียงดาว เป็นสถานที่ที่พระองค์ได้ทรงยั้งทัพตั้งค่าย เป็นการเตรียมตัวเข้าโจมตีขับไล่อริราชศัตรูโดยมีหลักฐานปรากฏชัดจากไม้รั้วค่ายซึ่งยังมีอยู่มากในบริเวณนั้น ประกอบด้วยพระสถูปเจดีย์ซึ่งอยู่นอกเขตไทยได้ชำรุดทรุดโทรมและถูกทำลายไป จึงควรจะได้สร้างขึ้นในที่แห่งนี้แทนพระเจดีย์องค์ที่ได้สูญเสียไปนั้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปบวงสรวงดวงพระวิญญาณสมเด็จพระนเรศวร เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๐๘ ณ ที่แห่งนี้ และเมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๑๑ ได้ทรงเจิมและทรงพระสุหร่ายศิลาฤกษ์และแผ่นอิฐซึ่งได้มาจากพระเจดีย์องค์เดิม ซึ่งประดิษฐาน ณ เมืองหาง รัฐไทยใหญ่ สหภาพพม่า ก่อนถูกทำลาย
นอกจากนั้นในวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๑๒ ได้เสด็จฯ มาเป็นประธานในพระราชพิธีพุทธาภิเษก ณ วัดพระสิงห์วรวิหารฯ เพื่อทรงเททองเป็นปฐมฤกษ์ ด้วยพระบารมีของล้นเกล้าล้นกระหม่อมทั้งสององค์ประชาชนได้มาร่วมพิธีและเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอย่างล้นหลาม และประชาชนได้มาสั่งจองพระบูชาฯ พระเครื่องและสิ่งที่สร้างขึ้นในคราวนี้จนหมดสามารถมีทุนเพียงพอในการที่จะนำไปก่อสร้างพระสถูปเจดีย์และพระอนุสาวรีย์
ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๑๓ ทางจังหวัดได้เรียนเชิญ พลเอก หลวงกัมปนาท แสนยากร องคมนตรีไปเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์บรรจุแผ่นอิฐและบรรจุพระกริ่งพระเครื่องไว้ในองค์พระสถูปเจดีย์ ในงานนี้ประชาชนได้เกิดความศรัทธาอย่างแรงกล้านำแก้วแหวนเงินทองและสิ่งมีค่าอื่นๆ มาสมทบบรรจุไว้ในองค์พระสถูปนี้อย่างมากมาย
และเมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๑๓ จังหวัดได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่ออัญเชิญเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไปเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอนุสรณ์และพระสถูปเจดีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชานุสรณ์ ซึ่งได้โปรดเกล้าฯ เสด็จฯ ในวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๑๔
ด้วยเดชาภินิหารของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย อันมีพระสยามเทวาธิราชเป็นอาทิ ขอพระวิญญาณของพระองค์ซึ่งไม่ว่าทิพยวิมานชั้นฟ้าใดๆ ขอได้โปรดทรงรับรู้ในความยึดมั่นกตัญญู จงรักภักดี ของบรรดาชาวไทยทั้งมวลอันมีต่อพระองค์ท่านอย่างไม่มีเสื่อมคลาย และพวกข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอปฏิญาณต่อดวงพระวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ว่า พวกเราพร้อมที่จะเจริญรอยตามพระยุคลบาท ในอันที่จะรักษาผืนแผ่นดินไทยทุกกระเบียดนิ้ว ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานไว้แก่คนทั้งมวล ให้ยืนยงคงอยู่ตราบชั่วฟ้าดินสลาย
พระคาถาบูชาสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
(กล่าวนะโม ๓ จบ) โอม ปะระเม นะเรศวรมะหาราช นะเรศสะ จิตติ อิทธิฤทธา นุภาเวนะ นะเรศจิตติ สิทธิ สังโฆ นะโม พุทธ ปะฐะวี คงคา ภุมมะ เทวา ขะมามิหัง (สวด ๓ จบหรือ ๙ จบ)
ประวัติพระบรมรูปของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
กรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบและปั้นเสร็จเรียบร้อยเมื่อเดือนกันยายน ๒๕๑๓ และเททองหล่อหลอม เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๑๓ ตรงกับวันแรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๐ และตบแต่งแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๑๓ จากนั้นก็ได้อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ สถูปเจดีย์ที่สร้างขึ้น เพื่อทันประกอบพิธีเปิดและฉลองในเดือนมกราคม ๒๕๑๔
แบบของอนุสรณ์
๑. ขนาดสูงประมาณ ๒ เมตร
๒. ลักษณะเป็นพระรูปยืนประทับแท่น
๓. เครื่องทรง ชุดเครื่องทรงออกศึกพระหัตถ์ซ้ายทรงพระแสงดาบ พระหัตถ์ขวาทรงพระเต้าในลักษณะหลั่งน้ำทักษิโณธก
๔. ไม่สรวมพระมาลา
๕. หล่อด้วยโลหะรมดำ
พระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเสด็จพระราชสมภพ ณ เมืองพิษณุโลก เมื่อปีเถาะ พุทธศักราช ๒๐๙๘ พระองค์เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชา และพระวิสุทธิกษัตรี ราชธิดาในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และสมเด็จพระศรีสุริโยทัย ดังนั้นพระองค์จึงมีพระชาติ ทั้งราชวงศ์พระร่วงแห่งกรุงสุโขทัยทางพระราชบิดา และราชวงศ์อยุธยาทางพระราชมารดา พระองค์ทรงมีพระพี่นางพระนามว่า พระสุวรรณเทวีหรือพระสุพรรณกัลยา และพระน้องยาเธอพระนามว่า สมเด็จพระเอกาทศรศ
ในขณะที่กรุงศรีอยุธยา ต้องตกเป็นประเทศราชของพม่า เมื่อพระองค์มีพระชันษาได้ ๙ ปี พระเจ้าหงสาวดีได้ขอไปเป็นพระราชบุตรบุญธรรม พระองค์ได้ประทับอยู่ที่หงสาวดีถึง ๖ ปี เมื่อพระชันษาได้ ๑๕ ปี จึงได้เสด็จกลับกรุงศรีอยุธยา เพื่อช่วยพระราชกิจของพระราชบิดา ทรงดำรงพระยศเป็นพระมหาอุปราชาโดยได้เสด็จขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก
ขณะทรงพระเยาว์และในระหว่างที่พระองค์ทรงประทับอยู่ที่กรุงหงสาวดี ก็ได้ศึกษาวิชาศิลปะศาสตร์ และวิชาพิชัยสงคราม ทรงนิยมในวิชาการรบทัพจับศึก พระองค์ทรงมีโอกาสศึกษา ทั้งภายในราชสำนักไทย และราชสำนักพม่า มอญ และได้ทราบยุทธวิธีของชาติต่างๆ ที่มารวมกันอยู่ในกรุงหงสาวดีเป็นอย่างดี ทรงนำหลักวิชามาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับเหตุการณ์ และสภาพแวดล้อมได้เป็นเลิศ ดังเห็นได้จากการสงครามทุกครั้งของพระองค์ยุทธวิธีที่ทรงใช้ เช่น การใช้คนจำนวนน้อยเอาชนะคนจำนวนมาก และยุทธวิธีเดินเส้นใน พระองค์ทรงนำมาใช้ก่อนจอมทัพที่เลื่องชื่อในยุโรป
นอกจากนั้นหลักการสงครามที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน เช่น การดำรงความมุ่งหมาย หลักการรุก การออมกำลัง และการรวมกำลัง การดำเนินกลยุทธ เอกภาพในการบังคับบัญชา การระวังป้องกัน การจู่โจม หลักความง่าย ฯลฯ พระองค์ก็ทรงนำมาใช้อย่างเชี่ยวชาญ และประสบความสำเร็จอย่างงดงามมาโดยตลอด
พระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจอันเป็นคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติและพสกนิกรนานัปการราชการสงครามในสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่และสำคัญยิ่ง พระองค์ได้ทรงกอบกู้เอกราชจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก และได้ทรงแผ่อำนาจของราชอาณาจักรไทย อย่างกว้างใหญ่ไพศาล ทรงปราบปรามศัตรูของบ้านเมืองจนราบคาบ พระองค์ได้แสดงพระเดชานุภาพและพระปรีชาสามารถในการสงครามเป็นที่ประจักษ์แก่พสกนิกรและเป็นที่เกรงขามแก่อริราชไพรีทั้งปวง ทรงกระทำยุทธหัตถีชนะมังสามเกลียดพระมหาอุปราช ที่ตำบลหนองสาหร่าย จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๑๓๕
ลุพุทธศักราช ๒๑๔๘ พระยาอังวะยกทัพไปตีเมืองนายและจะไปตีเมืองแสนหวีอันอยู่ในพระราชอาณาจักร พระองค์จึงได้กรีฑาทัพขึ้นมายังเมืองเชียงใหม่และยกทัพมุ่งไปเมืองหาง ทรงโปรดให้ตั้งค่ายยั้งทัพ ณ ตำบลเมืองงาย คือที่ตั้งพระสถูปฯ ปัจจุบัน แล้วเสด็จยกทัพหลวงไปที่ตำบลทุ่งแก้ว ราชอาณาจักรพม่า แล้วทรงประชวรเป็นละลอกที่พระพักตร์กลายเป็นพิษเสด็จสวรรคต รวมพระชนมายุได้ ๕๐ พรรษา และเสวยราชได้ ๑๕ พรรษา
พระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ทั้งสิ้นทั้งปวงของพระองค์ เป็นไปเพื่อประโยชน์ของบ้านเมืองและคนไทยทั้งมวล ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ จะอยู่ในสนามรบและชนบทโดยตลอด มิได้ว่างเว้น แม้แต่เมื่อเสด็จสวรรคต ก็เสด็จสวรรคตในระหว่างเดินทัพไปปราบศัตรูของชาติไทย นับว่าพระองค์ได้ทรงสละพระองค์เพื่อชาติบ้านเมืองโดยสิ้นเชิง สมควรที่ชาวไทยรุ่นหลังต่อมาได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์และจดจำวีรกรรมของพระองค์ เทิดทูนไว้เหนือเกล้าฯ ไปตราบชั่วกาลนาน
พระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับเมืองงายในอดีต
เมืองงายในอดีตมีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์อยู่มิใช่น้อย จากบทความรู้เรื่องเมืองงายของอาจารย์ชุ่ม ณ บางช้าง ได้กล่าวไว้ว่า ความสำคัญของเมืองงายเนื่องจากตั้งอยู่ในเส้นทางเดินทัพบุเรงนอง กษัตริย์พม่าเคยทรงใช้เส้นทางผ่านสายเมืองงายนี้เข้าโจมตีนครเชียงใหม่ถึง ๒ ครั้ง เมื่อพ.ศ.๒๑๐๑ ครั้งหนึ่ง กับเมื่อพ.ศ.๒๑๐๗ อีกครั้งหนึ่ง และสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา ก็ได้ทรงใช้เส้นทางนี้ เมื่อคราวเสด็จยกกองทัพไปตีกรุงอังวะเมื่อ พ.ศ.๒๑๔๗
ปรากฏหลักฐานจากหนังสือไทยรบพม่า พระราชนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีข้อความพิสดารว่า “ครั้นพระเจ้าอังวะมีอำนาจขึ้น เหล่าเมืองไทยใหญ่ที่อยู่ใกล้แดนพม่ากลัวเกรงกลัวยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าอังวะก็มี เมืองที่อยู่ห่างออกไปไม่ยอมอ่อนน้อมโดยดี พระเจ้าอังวะก็ยกทัพปราบปรามตีได้เมืองไทยใหญ่ ที่ตั้งตัวเป็นอิสระโดยลำดับมาจนถึงเมืองหน่ายที่มาขึ้นอยู่กับไทย พระเจ้าอังวะตีได้เมืองหน่ายแล้วจะมาตีเมืองแสนหวี สมเด็จพระนเรศวรทรงทราบก็ขัดเคือง จึงดำรัสสั่งให้กะเกณฑ์รี้พลจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ เข้ากองทัพจะเสด็จไปตีเมืองอังวะ
กองทัพที่ยกไปคราวนี้ จะเดินทางเมืองเชียงใหม่ไปข้ามแม่น้ำสาละวิน ที่เมืองหางแล้วผ่านแว่นแคว้นไทยใหญ่ไปเข้าแดนพม่าที่ใกล้เมืองอังวะ ทางที่กะนี้สะดวกกว่าจะยกไปทางเมืองมอญ เพราะไปทางเมืองมอญจะต้องรบพุ่งกับเมืองตองอูและเมืองแปงก่อนจึงจะผ่านขึ้นไปถึงเมืองอังวะได้ไปทางเมืองเชียงใหม่เดินทางในพระราชอาณาจักรไป จนในแดนไทยใหญ่พวกไทยใหญ่ที่เข้ากับไทยก็มีมาก โดยจะมีบางเมืองที่จะต่อสู้ก็จะไม่แข็งแรงเท่าใดนักเพราะพระเจ้าอังวะ ก็เพิ่งได้เมืองเหล่านั้นไว้ในอำนาจ
ที่สมเด็จพระนเรศวรเสด็จมาทางเมืองเชียงใหม่คงเป็นด้วยเหตุเหล่านี้ เห็นจะเอาเมืองเชียงใหม่เป็นที่ประชุมพล และเกณฑ์กองทัพมอญ ทัพชาวล้านนา เข้าสมทบกับกองทัพไทย จำนวนเบ็ดเสร็จคงจะราวสัก ๒๐๐,๐๐๐ แต่รายการที่มีในหนังสือพงศาวดารน้อยนักปรากฏแต่ว่า สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถ เสด็จออกจากพระนครเมื่อ ณ วันพฤหัสบดีเดือนยี่ แรม ๘ ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ.๒๑๔๗ เสด็จโดยกระบวนเรือไปตั้งทัพชัย ณ ตำบลพระหล่อ แล้วยกกองทัพบกไปทางเมืองกำแพงเพชร ครั้นเสด็จไปถึงเมืองเชียงใหม่ จัดกระบวนทัพอยู่เดือน ๑ แล้วให้กองทัพสมเด็จพระเอกาทศรถออกไปทางเมืองฝาง
ส่วนกองทัพหลวงยกไปทางเมืองหาง ครั้นเสด็จถึงเมืองหางตั้งค่ายหลวงประทับอยู่ที่ทุ่งแก้ว สมเด็จพระนเรศวรประชวรเป็นละลอกขึ้นที่พระพักตร์ แล้วกลายเป็นบาดทะพิษพระอาการหนัก จึงโปรดให้ข้าหลวงรีบไปเชิญเสด็จพระเอกาทศรถมาเฝ้า สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จมาถึงได้ ๓ วัน สมเด็จพระนเรศวรก็สวรรคตที่เมืองหาง เมื่อ ณ วันจันทร์ เดือน ๖ ขึ้น ๘ ค่ำปีมะเส็ง พ.ศ.๒๑๔๘ พระชันษา ๕๐ ปี เสวยราชสมบัติได้ ๑๕ ปี
กองทัพหลวงของสมเด็จพระนเรศวรครั้งนี้จะต้องไปตามเส้นทางเมืองงายอย่างปราศจากข้อสงสัย เนื่องจากเส้นทางเชียงใหม่-ฝาง ยังไม่มีในสมัยนั้น และการประทับแรมที่เมืองงายก็น่าปราศจากข้อสงสัยเช่นเดียวกันเพราะคงจะแยกกำลังศึกแสนคนออกเป็น ๒ กองทัพหลวงที่เมืองงายนี้เลย แล้วต่อจากนั้นสมเด็จพระเอกาทศรถก็ทรงคุมกองทัพหน้าไปทางเมืองฝาง
ส่วนสมเด็จพระนเรศวรทรงคุมกองทัพหลวงไปทางเมืองหาง และไปทรงพระประชวร แล้วเสด็จสวรรคต ณ เมืองนั้นตามที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์ดังกล่าวข้างต้น ความสำคัญของเมืองงายทางด้านประวัติศาสตร์ จึงอยู่ตรงที่ว่า เมืองงายเป็นตำแหน่งสุดท้ายในแผ่นดินในสมัยปัจจุบันซึ่งอดีตที่พระมหาราชผู้เกรียงไกรได้ประทับและเสด็จผ่าน
เมืองหาง หรือเมืองห้างหลวง ปัจจุบันติดชายแดนประเทศไทย ห่างจากเมืองฝาง ประมาณ ๔๐ กิโลเมตร อยู่ในรัฐไทยใหญ่ สหภาพพม่า มีเจดีย์สร้างไว้ที่เชิงเขา ๒ องค์ เป็นเจดีย์ที่สมเด็จพระเอกาทศรถโปรดให้สร้างขึ้น แต่ในปัจจุบันนี้ได้ชำรุดทรุดโทรมถูกทำลายจนหมดสิ้น
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช แด่ลูกหลาน เหลนไทย
อันอังคารสังขารของกูนี้
บัดนี้ผ่านสี่ร้อยกว่าปีหามีไม่
ถึงกายกูตัวกูจะจากไป
วิญญาณไซร้ยังอยู่คู่แผ่นดิน
ก็แผ่นดินผืนนี้หรือมิใช่ ที่กูสู้กู้ไว้ ให้ลูกหลาน
บัดนี้เหลนโหลนอยู่สุขมานาน
ถึงปราศปรานยังอยู่คู่พวกมึง
กูสู้กู้แผ่นดินไว้ให้อิสระนำคนไทยสู่ชัยชนะมิรู้สิ้น
ถึงตัวตาย(ไป) รักษ์ไว้ ซึ่งแผ่นดิน
ปณิธานนี้มิเลือนถึงสิ้นปราณ
แผ่นดินผืนนี้มีความศักดิ์สิทธิ์
แม้นมันผู้ใดคิดมุ่งร้ายต้องตายสิ้น
เหตุเพราะกูผู้กอบกู้กู้แผ่นดิน
ยังดูแลตราบสิ้นชั่วกาลนาน
กรุงศรีเคยคลุกคลีด้วยสีเลือด
แผ่นดินเคยลุกเดือดเลือดโลมไหล
แต่ไทยต้องคงนานความเป็นไทย
ถึงไม่มีใครวิญญาณกูจะรู้เอง
แผ่นศิลาสลักลวดลายเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ฐานองค์พระสถูปเจดีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชานุสรณ์ ค่ะ
รูปปั้นไก่และช้าง ตั้งอยู่เต็มบริเวณรอบๆ พระสถูปเจดีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชานุสรณ์ เพราะส่วนใหญ่ผู้คนที่มากราบไหว้มักจะนำไก่มาถวายท่าน ด้ายเชื่อว่าพระองค์รักการชนไก่ค่ะ
ประวัติการสร้างค่ายหลวงที่ประทับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (จำลอง)
กรมศิลปากรได้จำลองจัดสร้างขึ้น เทอดพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในคราวเสด็จยาตราทัพผ่านเมืองงายไปสู่เมืองอังวะ เมื่อปี พ.ศ.๒๑๔๗-๒๑๔๘ แต่ทรงประชวรระหว่างทางเสด็จสวรรคตที่เมืองหางเสียก่อน
ค่ายหลวงจำลองนี้ กรมศิลปากรจัดสร้างขึ้นในพระราชวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จมาทรงประกอบพระราชพิธีบวงสรวงและเปิดพระสถูปเจดีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชานุสรณ์ เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๑๕ เนื่องจากค่ายหลวงจำลองที่จัดสร้างขึ้นเป็นการชั่วคราว จึงทำให้เกิดการชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา จึงได้มีการบูรณะมาโดยถึง ๕ ครั้ง
การบูรณะค่ายหลวงจำลองครั้งที่ ๑ พ.ศ.๒๕๓๐,๒๕๓๓ พลอากาศเอกประชา มุ่งธัญญ คุณอนะ วงศ์สรรพ์ ได้มอบหมายให้นายปัน เขื่อนเพชร เป็นผู้บูรณะซ่อมแซม โดยเงินกองทุนสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ๔๐๐,๐๐๐ บาท
การบูรณะค่ายหลวงจำลองครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๕๓๙ คุณหญิงพันธ์เครือ ยงใจยุทธ บูรณะปรับปรุงท้องพระโรงที่ประทับและเครื่องราชสักการะ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท
การบูรณะค่ายหลวงจำลองครั้งที่ ๓ โดย พ.ศ.๒๕๔๒ คุณธีรัช ฌานนท์, คุณทัศนีย์ จัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์และรูปราชที่ประทับและเครื่องราชสักการะ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท
การบูรณะค่ายหลวงจำลองครั้งที่ ๔ พ.ศ.๒๕๔๐ คุณอนะ วงศ์สรรพ์ พร้อมคณะ บูรณะเปลี่ยนหลังคาและพื้นไม้ตลอดห้อง ๒๕๐,๐๐๐ บาท โดยมอบหมายให้นายปัน เขื่อนเพชร เป็นผู้บูรณะ
การบูรณะค่ายหลวงจำลองครั้งที่ ๕ โดยมีพระครูสุตาลงกต (พระมหาภานุพงษ์ เสนาธรรม) วัดหนองโค้ง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ พร้อมด้วยผู้มีจิตศรัทธาในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ร่วมบูรณะลงมือก่อสร้างเมื่อวันพุธที่ ๑๗ เดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ตรงกับวันขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๗ เหนือ ใช้ทุนทรัพย์สินในการก่อสร้างทั้งสิ้น ๕,๑๒๐,๐๐๐ บาท
พระพุทธรูป ประดิษฐานภายใน ค่ายหลวงประทับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (จำลอง) ค่ะ
รูปสมเด็จพระพนรัตนพระสังฆราชอรัญวาสี (พระมหาเถระคันฉ่อง) วัดป่าแก้ว ประดิษฐานภายใน ค่ายหลวงประทับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (จำลอง) ค่ะ
บทสรรเสริญสมเด็จพระพนรัตน วัดป่าแก้ว
(ว่านะโม ๓ จบ) อิติปิโส ภะคะวาอะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโรปุริสะทัมมะสาระถิ สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ (๓ จบ)
พระบรมรูปสมเด็จพระเอกาทศรถ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระสุพรรณกัลยา (เรียงจากซ้าย-ขวา) ประดิษฐานภายใน ค่ายหลวงประทับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (จำลอง) ค่ะ
พระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประดิษฐานภายใน ค่ายหลวงประทับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (จำลอง) ค่ะ
บทคาถาบูชาสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
โอม ปรเม นเรศวรมหาราชา นเรศสจิตติ อิทธิฤทธานุภาเวนะ นเรศจิตติ สิทธิสังโฆ นโมพุทธายะ ปฐวี คงคา ภูมเทวา ขมามิหัง
พระบรมรูปสมเด็จพระสุพรรณกัลยา ประดิษฐานภายใน ค่ายหลวงประทับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (จำลอง) ค่ะ
บทบูชาสมเด็จพระสุพรรณกัลยา
โอมสุภูตะ จะ มหาภูโต สุวัณณ กัลยา จะ มหาเทโว เทวะธิตา นะระปูชิโต โสระโหปัจจะยาทินนัง สุวัณณ กัลยา จะมหาภูตัง ศิริโสภา นะมะเสยยัง อาคัจฉายะ อาคัจฉาหิอาคัจฉันติ เอหิ เอหิ มานิมามา
พระบรมรูปสมเด็จพระเอกาทศรถ ประดิษฐานภายใน ค่ายหลวงประทับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (จำลอง) ค่ะ
บทบูชาสมเด็จพระเอกาทศรถ
โอม ปรเมเอกาทะศะ รัสสัง มหาราชานัง สัพพเทวาภิปูชิตัง มหาลาโภ นิรันตะรัง มหาลาภัง ภวันตุโนโหตุสัพพะทา
ห้ององครักษ์เครื่องถวายราชสักการะ ภายใน ค่ายหลวงประทับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (จำลอง) ค่ะ
ห้องศาสตราวุธ ภายใน ค่ายหลวงประทับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (จำลอง) ค่ะ
ยินดีต้อนรับสู่ แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน" (http://dannipparn.com/) | Powered by Discuz! X1.5 |