พระบรมธาตุเจดีย์ วัดทาดอยแช่
คำนมัสการพระบรมธาตุเจดีย์
(กล่าวนะโม ๓ จบ) วันทามิ เจติยัง สัพพัง สัพพัฏฐาเนสุ ปะติฏฐิตา สะรีระธาตุโย เกศาธาตุโย อะระหันตา ธาตุโย เจติยัง คันทะกุฏิง จะตุละสี ติสสะหัสเส ธัมมักขันเธ สัพเพสัง ปาทะเจติยัง อะหังวันทามิ ธาตุโย อะหังวันทามิ ทุระโส อะหังวันทามิ สัพพะทา อะหังวันทามิ สิระสาฯ
ประวัติและตำนานวัดทาดอยแช่
วัดทาดอยแช่ สร้างประมาณ พ.ศ.๒๒๕๘ ซึ่งในสมัยนั้นตรงกับสมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๙ (พระเจ้าท้ายสระ) ในสมัยอู่ทอง เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๓๐ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๙๑ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๕๐ เมตร อาคารเสนาสนะประกอบไปด้วย อุโบสถ วิหาร ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ หอระฆัง ศาลาบาตร และวิหารพระครูชยาลังการ ปูชนียวัตถุประกอบไปด้วย พระพุทธรูป และเจดีย์ศิลปะพม่า (พระบรมธาตุเจดีย์)
ตามตำนานกล่าวไว้ว่า บริเวณสันขาตรงกับพระธาตุ สมัยก่อนเป็นถ้ำน้ำแม่ทา ถ้ำนี้ถ้าเอามะนาวโยนลงไปปากถ้ำ มะนาวนั้นจะไปทะลุถึงบ่อน้ำบริเวณอุโบสถบ้านทาหมื่นข้าว ตำบลทากาศ และหนองน้ำ วัดหนองเงือก เขตอำเภอป่าซางปัจจุบัน และภายในถ้ำ จะมีเครื่องบวชลูกแก้ว (ทางภาคเหนือเขาเอาใส่บวช) ซึ่งประดับด้วยเพชรนิลจินดาสวยงามมาก ถ้าบ้านใดจะมีการบวชลูกหลานก็สามารถเข้าไปยืมมาใส่ได้ โดยนำข้าวตอกดอกไม้ธูปเทียนไปขอกับเจ้าที่เจ้าทางที่รักษาภายในถ้ำนั้น และภายในถ้ำนั้น จะมีสุนัขขนสีทองประมาณ ๒ ตัว รักษาอยู่ปากถ้ำ ถ้าถึงวันเดือนดับเดือนเป็ง (ขึ้น ๑๕ ค่ำ แรม ๑๕ ค่ำ) สุนัขก็จะออกมาวิ่งเล่นบริเวณปากถ้ำและบริเวณรอบๆ
และยังมีคนเฒ่าคนแก่เล่าอีกว่า บางครั้งได้มีหญิงรูปงามมาขอยืมที่ปั่นฝ้ายจากชาวบ้าน และบางทีจะมีผู้ชายมาแอ่วหาสาวในบ้านด้วย ซึ่งสมัยนั้นเป็นบ้านสามต้าว แต่เดี๋ยวนี้เป็นแม่น้ำทาไหลผ่าน ปัจจุบันเหตุการณ์ผ่านมา น้ำแม่ทานั้นย้ายทิศทางออกไปท่วมบ้านสามต้าว ชาวบ้านอพยพแยกย้ายคนละที่ละทาง บางคนไปอยู่บ้านสันตอบ้าง บางคนไปอยู่บ้านไร่ (ซึ่งเป็นบ้านดอยแช่ปัจจุบัน)
และถ้ำนั้นก็ถูกปิดลงจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา บางคนว่าเครื่องประดับเครื่องทรงลูกแก้วได้หายไป ถ้ำนั้นก็เลยถูกปิด บางคนก็ว่าท่อนซุงที่ไหลมาตามแม่น้ำทาได้เข้าไปปิดทางเดินของน้ำที่ลอดเข้าไปในถ้ำ จึงทำให้แม่น้ำทาเปลี่ยนทิศไป และทำให้แม่น้ำทาเดิมตื้นเขินจนถึงปัจจุบัน ถึงแม่น้ำทาจะถูกปิดลง แต่ความอัศจรรย์ก็ยังเกิดเป็นระยะๆ จนถึงปัจจุบันสร้างความอัศจรรย์ให้แก่ผู้พบเห็นตลอด
๑. พระธาตุเสด็จ
พระธาตุเสด็จนี้ มีลักษณะคล้ายดวงไฟลูกใหญ่ ๑ ลูก และมีลูกเล็กๆ เป็นบริวาร พระธาตุเสด็จนี้มักจะเห็นใกล้งานประเพณีสรงน้ำพระธาตุคือ ออก ๑ ค่ำ เดือนเก้า เป็นต้นไป จนถึงเดือน ๙ ออก ๘ ค่ำ เชื่อกันว่าถ้าใครมีบุญก็คงได้เห็น พระธาตุนี้จะออกจากธาตุวัดทาดอยแช่ไปทางดอยผาด่าน (หรือดอยผาแดง) ทิศตะวันออกเฉียงใต้ แล้วลอยมาที่ดอยบ่อหางในเขตบ้านหนองบัว ตำบลทากาศ แล้วจะลอยไปที่ดอยบวบบริเวณทางไปมหาวิทยาลัยนิด้า แล้วลอยมาที่พระธาตุตามเดิม
๒. เสียงสวดมนต์
เคยมีอดีตเจ้าอาวาสหลายรูป ตอนทำวัตรสวดมนต์ในช่วงเข้าพรรษา เมื่อช่วงเวลานั่งสมาธิ มักจะได้ยินเสียงคล้ายสวดมนต์ดังมาจากบริเวณพระธาตุ ฟังก็ไม่ถนัดว่าเป็นเสียงสวดบทใด ซึ่งอดีตเจ้าอาวาสได้ยินมา และยังมีคนเฒ่าคนแก่ที่เคยนอนวัดได้ยินอีกด้วย
๓. เสียงแห่กลอง
ซึ่งเสียงแห่กลอง มักจะได้ยินในช่วงวันพระ ๑๕ ค่ำบ้าง ๘ ค่ำบ้าง ซึ่งจะได้ยินตอนดึกประมาณตี ๑ ตี ๒ คล้ายๆ การแห่ฆ้องกลองสมัยเก่า ซึ่งเคยมีคนได้ยินแล้ว เคยเห็นมาแล้ว ซึ่งบุคคลนั้นได้ขับรถยนต์ผ่านถนนสันตอ-ดอยแช่ ในขณะขับรถมาถึงบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำทา ปรากฏว่าได้ยินเสียงแห่ฆ้องกลองบริเวณปากถ้ำเก่า ซึ่งตรงกับพระธาตุ ปรากฏว่าเห็นคนอยู่บริเวณนั้นประมาณ ๔๐-๕๐ คน มีแคร่ตามไฟถือไปมาคล้ายๆ กับมีงาน เมื่อขับรถมาใกล้ๆ ก็เห็นเป็นที่ว่างเปล่า มีแต่ต้นไม้และต้นหญ้า ไม่เห็นแม้แต่คนเดียว
และยังมีพระเถระรูปหนึ่งได้เล่าว่า ภายในบริเวณวัดทาดอยแช่แห่งนี้ เป็นที่ฝังสมบัติไว้ มีไหเงินไหทองฝังอยู่บริเวณใต้วัด จำนวน ๙ ไห ทรัพย์สมบัติเหล่านี้ เจ้าของได้นำมาฝังไว้สมัยสงครามโลก ท่านไม่บอกว่าสงครามสมัยใด สมบัติทั้งหลายเหล่านี้ เจ้าของจะมาพบอีกในสมัยพระศรีอริยเมตตรัยที่มาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป เรื่องทั้งหมดทั้งหลายเหล่านี้ เป็นตำนานจากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ หรือผู้ที่ประสบพบเห็นมา
๔. รายนามเจ้าอาวาสวัดทาดอยแช่ จะมีกี่องค์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ แต่ปรากฏอยู่ในศิลาจารึก บางรูปก็อยู่กี่ปีไม่ทราบ มีเท่าที่ทราบนาม ดังนี้
๑. หลวงปู่ต้าว ไม่ปรากฏหลักฐานว่าอยู่กี่ปี
๒. หลวงปู่ขาโครก ไม่มีหลักฐานว่าอยู่กี่ปี
๓. พระพรหมเสน ธมฺมเสโน พ.ศ.๒๔๑๓-๒๔๕๓
๔. พระธรรมสอน เขมจารี พ.ศ.๒๔๕๓-๒๔๕๕
๕. ครูบาสิทธิ สิทธิญาโน พ.ศ.๒๔๕๕-๒๔๗๒
๖. พระอธิการอินทร พรหมจักโก พ.ศ.๒๔๗๓-๒๔๗๖
๗. เจ้าอธิการดวงดี คนฺธวํโส พ.ศ.๒๔๗๗-๒๔๙๖ (อดีตเจ้าคณะตำบลทากาศ)
๘. พระครูชยาลังการ (อินสม สุมโน) พ.ศ.๒๔๙๗-๒๕๓๔ (อดีตเจ้าคณะอำเภอแม่ทา)
๙. พระสมคิด ธมฺมทีโป พ.ศ.๒๕๓๔-๒๕๓๙
๑๐. พระใบฎีกาบรรดิษฐ์ ญาณวีโร พ.ศ.๒๕๓๙-๒๕๔๓
๑๑. พระครูพินิจเจติยานุการ (บุญรัตน์ สิริภทฺโท) พ.ศ.๒๕๔๓-๒๕๔๖ (รองเจ้าคณะอำเภอแม่ทา)
๑๒. พระอธิการเอกชัย เอกวฑฺฒโน (คำกาศ) องค์ปัจจุบัน เป็นต้นไป
ปัจจุบัน (๒๕๕๕) วัดมีศรัทธาอุปถัมภ์ ๓๔๐ หลังคาเรือน มีหมู่ที่ ๒, หมู่ที่ ๓ และหมู่ที่ ๑๒
----------------------
(แหล่งที่มา : นิตยสารพระเครื่องเมืองพระ. (ปีที่ ๘ ฉบับที่ ๘๖. ประจำเดือนมีนาคม ๒๕๕๕). วัดทาดอยแช่. หน้า ๔๑-๔๒.)