- สมัครสมาชิกเมื่อ
- 2009-1-23
- เข้าสู่ระบบล่าสุด
- 2021-3-25
- สิทธิ์ในการอ่าน
- 150
- เครดิต
- 0
- โพสต์
- 593
- สำคัญ
- 0
- UID
- 15
|
| | | |
พระบรมธาตุเจดีย์ (พระธาตุดอยน้อย หรือ พระธาตุทรายทอง) วัดพระธาตุทรายทอง ประดิษฐานพระบรมธาตุส่วนพระเศียร พระบรมธาตุส่วนหน้าอก (พระอุระ) และพระบรมธาตุส่วนนิ้ว (พระดรรชนี) ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ประวัติพระธาตุทรายทอง
โดย ป้ายประวัติความเป็นมาของ "พระธาตุทรายทอง"
พระธาตุองค์เดิมนี้มีชื่อว่า พระธาตุดอยน้อย เกิดขึ้นมาเมื่อไร ไม่มีประวัติหรือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นรูปธรรมแน่ชัด ผู้เฒ่าผู้แก่หลายท่านในชุมชนบ้านทรายทองเพียงแต่เห็นปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติเป็นแสงสว่างหรือดวงแก้วขนาดเท่ามะพร้าว มีสีเขียวมรกตปนขาวลอยไปลอยมาบริเวณนั้น และมีแสงสว่างจ้าในวันสำคัญๆ ทางพระพุทธศาสนา อาทิ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา ฯลฯ
เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๖ "ท่านพระครูรัตนสารโสภณ" (ก้อนแก้ว สุมโน) อดีตเจ้าคณะตำบลป่าสักเขต ๑ อดีตเจ้าอาวาส วัดห้วยม้าโก้ง พร้อมคณะศรัทธาห้วยม้าโก้ง ได้พร้อมใจกันสร้างพระธาตุขึ้นมา กว้าง ๔ เมตร ยาว ๔ เมตร เพื่อเป็นที่สักการบูชา ค่าก่อสร้างในครั้งนั้นเป็นเงินทั้งสิ้น ๗๕๐ บาท (เจ็ดร้อยห้าสิบบาทถ้วน)
ปี พ.ศ.๒๕๔๐ "ท่านพระครูอดิสัยบุญเขต" เจ้าคณะตำบลป่าสักเขต ๑ เจ้าอาวาสวัดห้วยม้าโก้ง ร่วมกับคณะศรัทธาบ้านห้วยม้าโก้ง ได้สร้างศาลาบนพระธาตุขึ้นมา ๑ หลัง ใช้สำหรับบำเพ็ญศาสนกิจต่างๆ ค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น ๒๓๓,๕๐๐ บาท (สองแสนสามหมื่นสามพันห้าร้อยบาทถ้วน)
เดือนสิงหาคม ปี พ.ศ.๒๕๔๖ "พระอาจารย์อมร ปุญญนันโท" อดีตเจ้าอาวาส ร่วมกับผู้มีจิตศรัทธาคือ คุณวงเดือน หงส์หิรัญ คุณสมพงษ์–คุณทิพพา นครศรี ได้ร่วมกันสร้างพระธาตุให้ใหญ่ขึ้น กว้าง ๗ เมตร ยาว ๗ เมตร สูง ๑๙ เมตร ครอบพระธาตุองค์เดิมไว้ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๕๐๐,๐๐๐ บาท (ห้าแสนบาทถ้วน)
เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๗ "พระอธิการวิรัตน์ วชิรธมฺโม" (พร้อมเพียงบุญ) เจ้าอาวาส พร้อมกับคุณชูจิตร–คุณบุญชัย–คุณพรชัย ศรีชัยยงพานิช คุณประสาธน์–คุณกุสุมา เกียรติไพบูลย์กิจ คุณเยาวลักษณ์ วัฒนสมบัติ คุณประพจน์–คุณสุรณี อภิปุญญา และคณะร่วมกันสร้างฐานพระธาตุ กำแพงแก้ว ฉัตร ปูพื้นพระธาตุ และอื่นๆ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๖๘๙,๐๐๐ บาท (หกแสนแปดหมื่นเก้าพันบาทถ้วน)
งานประเพณีสรงน้ำ "พระธาตุดอยน้อย" หรือ "พระธาตุทรายทอง" มีขึ้นในเดือนมิถุนายน แรม ๘ ค่ำ เดือน ๙ เหนือ ของทุกปี
ประวัติพระธาตุทรายทอง
โดย พระชัยวัฒน์ อชิโต หนังสือตามรอยพระพุทธบาท ฉบับรวมเล่ม ๓
ทางมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ได้หลักฐานชิ้นนี้มาจากประเทศอินเดีย กล่าวถึงประวัติพระธาตุทรายทองว่า เมื่อครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้เสด็จมายังดอยน้อยนี้ เพื่อทรงโปรดชาวเม็ง ชาวยอง ที่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ พร้อมกับตรัสว่า ในอนาคตบริเวณนี้จะเป็นที่ดำรงพระพุทธศาสนาตลอด ๕ พันปี
ชาวเม็งกับชาวยองพากันปลาบปลื้มใจมาก เมื่อพระพุทธองค์จะเสด็จกลับ จึงกราบทูลขอรอยพระพุทธบาท พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงประทับรอยพระหัตถ์และรอยพระบาทไว้บนหน้าผา ซึ่งเป็นแผ่นหินใหญ่หลังวัดพระธาตุทรายทองแห่งนี้ แล้วทรงไปตากผ้าจีวรที่วัดพระบาทตากผ้าอีกด้วย
หลังจากทรงปรินิพพานแล้ว พระมหากัจจายนะ ได้นำพระบรมสารีริกธาตุ ๓ องค์ คือ ส่วนพระเศียร, ส่วนหน้าอก (พระอุระ) และส่วนนิ้ว (พระดรรชนี) รวมเป็น ๓ องค์ ขนาดองค์ละเท่าเมล็ดทรายทองใส่มาในบาตร โดยทางนภากาศมาลงที่ตรงดอยน้อย แล้วมอบให้ชาวเม็งและชาวยองบรรจุไว้ในพระธาตุแห่งนี้
๑,๔๐๐ ปีต่อมา พระนางจามเทวี เจ้าผู้ครองนครหริภุญชัย เห็นว่าพระธาตุองค์เดิมยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ จึงทรงสร้างเจดีย์ครอบองค์เก่าไว้
ต่อมาปี พ.ศ.๒๕๑๖ หลวงปู่โง่น ได้ไปพบประวัติของพระธาตุทรายทองที่อังกฤษดังกล่าวแล้ว จึงกลับมาสร้างเจดีย์ครอบพระธาตุองค์เดิมขึ้นเป็นชั้นที่ ๓ (องค์ปัจจุบันนี้)
นอกจากนี้ยังได้พบศิลาจารึกเป็นภาษาโบราณ แต่ก็ได้บรรจุไว้ในโพรงใต้พื้นพระเจดีย์พร้อมสิ่งของมีค่าอื่นๆ ที่มีผู้บรรจุไว้ก่อนแล้ว สมัยก่อนชาวบ้านจะทิ้งสตางค์ลงไปในโพรงนี้ จะได้ยินเสียงก้องกังวาลสะท้อนขึ้นมาไพเราะมาก ปัจจุบันมีคนมาขุดขโมยสิ่งของไปก็มีอันวิบัติต่างๆ นานา จึงได้ปิดปากโพรงไปแล้ว
ทีนี้ขอย้อนกลับมากล่าวถึงชาวเม็ง และชาวยอง ที่ได้พบกับพระพุทธเจ้าและพระมหากัจจายนะ แล้วเกิดความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ตามประวัติเล่าว่า บางคนก็ได้บรรลุธรรมสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ส่วนคำว่า ชาวเม็ง นั้น ในหนังสือชีวประวัติพระนางจามเทวี เรียกว่า “เมงคบุตร” คือสืบเชื้อสายมาจากมอญนั่นเอง ส่วน ชาวยอง ก็สืบเชื้อสายมาจากเมืองยอง ประเทศพม่า ชาวยองนี้ได้แผ่ขยายออกไปทางเชียงตุง (แล้วเรียกว่า ไทยเขิน) และทางสิบสองปันนา (เรียกว่า ไทยลื้อ)
----------------------
(แหล่งที่มา : พระชัยวัฒน์ อชิโต สำนักงานธัมมวิโมกข์ วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี. (๒๕๔๙, ๙ ธันวาคม). ตามรอยพระพุทธบาท ฉบับรวมเล่ม ๓ (พิมพ์ครั้งที่ ๑). กรุงเทพฯ: เยลโล่การพิมพ์, หน้า ๓๗๗-๓๗๘.)
คำนมัสการพระบรมธาตุเจดีย์ (กล่าวนะโม ๓ จบ) วันทามิ เจติยัง สัพพัง สัพพัฏฐาเนสุ ปะติฏฐิตา สะรีระธาตุโย เกศาธาตุโย อะระหันตา ธาตุโย เจติยัง คันทะกุฏิง จะตุละสี ติสสะหัสเส ธัมมักขันเธ สัพเพสัง ปาทะเจติยัง อะหังวันทามิ ธาตุโย อะหังวันทามิ ทุระโส อะหังวันทามิ สัพพะทา อะหังวันทามิ สิระสาฯ
พระพุทธรูป ประดิษฐานใกล้ พระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระธาตุทรายทอง
ป้ายคำบูชาพระอรหันตธาตุ วัดพระธาตุทรายทอง
| | | | |
|
|