แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
ดู: 12099|ตอบ: 21
go

วัดพระธาตุจอมมอญ ม.๙ ต.บ้านกาศ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

IMG_0701.JPG



วัดพระธาตุจอมมอญ

ม.๙ ต.บ้านกาศ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

[พระธาตุส่วนคาง , โคนขา , พระธาตุแก้ว ,

รอยเท้าพระอรหันต์ ๗ ขวบ]

----------------------


(แก้ไขข้อมูลล่าสุด : 29 ตุลาคม 2565)


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_9584.JPG



313.jpg



การเดินทางไปวัดพระธาตุจอมมอญ


วัดพระธาตุจอมมอญ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอำเภอแม่สะเรียง ระยะทางห่างจากตัวเมืองอำเภอแม่สะเรียงประมาณ ๓ กิโลเมตร ใช้เส้นทางไปทางบ้านพะมอลอ หมู่ที่ ๙ ตำบลบ้านกาศ ผ่านโรงเรียนบ้านพะมอลอ ไปอีก ๗๐๐ เมตร ถึงวัดพระธาตุจอมมอญ



m.jpg



แผนที่ Google Maps ไปพระธาตุ ๔ จอม (จอมมอญ จอมแจ้ง จอมทอง จอมกิตติ) อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน



314.jpg



วัดพระธาตุจอมมอญ ตั้งอยู่ที่บ้านพะมอลอ หมู่ที่ ๙ ตำบลบ้านกาศ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทางกรมการศาสนาได้ประกาศให้วัดพระธาตุจอมมอญขึ้นทะเบียนเป็นวัดถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๒ มีเนื้อที่ทั้งหมด ๑๖ ไร่



IMG_0435.JPG



ที่มาของชื่อ วัดพระธาตุจอมมอญ


วัดพระธาตุจอมมอญ เดิมชาวอำเภอแม่สะเรียงเรียกว่า "วัดจอมมอญ" และเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "วัดพะมอลอ" ตามชื่อหมู่บ้าน หลักฐานอะไรที่ทำให้เรียกชื่อวัดว่า วัดจอมมอญ เหตุเพราะศิลปะภายในวัดแทบจะไม่มีร่องรอยของศิลปะมอญอยู่เลย และบริเวณวัดก็เป็นชุมชนของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง


จึงอนุมานว่า สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประมาณปี พ.ศ.๒๑๔๓ ได้ทรงกอบกู้บ้านเมือง ได้เกลี้ยกล่อมชาวไทย ไทใหญ่ มอญ กะเหรี่ยง พม่า ละว้า จากพม่าเป็นสมัครพรรคพวกให้มาขึ้นกับไทย ประกอบกับกษัตริย์มอญได้หนีข้าศึกทางพม่า นุ่งห่มขาวลี้ภัยเข้ามาพร้อมด้วยบริวาร มาตั้งถิ่นฐานรกรากอยู่บริเวณนี้ จึงได้ช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุจอมมอญ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานระลึกถึง

กาลล่วงไปวัดจอมมอญถูกทิ้งให้ร้างเป็นป่ารกชัฏเป็นเวลายาวนาน จนมาถึงการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่อีกครั้ง เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๐ ต่อมาทางวัดจึงมีการทำเรื่องถึงกรมการศาสนา ขอยกวัดร้างขึ้นทะเบียนเป็นวัดถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๒ แล้วมีการเปลี่ยนชื่อวัด โดยการเพิ่มคำว่า "พระธาตุ" จาก วัดจอมมอญ เปลี่ยนเป็น วัดพระธาตุจอมมอญ


เหตุที่เพิ่มคำว่า "พระธาตุ" ขึ้นมา ด้วยเชื่อว่าองค์เจดีย์มีการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และเป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองมาแต่เก่าก่อน เพื่อให้บังเกิดเป็นสิริมงคลและความสว่างไสวเจริญรุ่งเรือง



IMG_0442.JPG



วัดพระธาตุจอมมอญ ได้รับการคัดเลือกจากกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นอุทยานการศึกษาในวัด ประจำปี ๒๕๔๓ ตามโครงการพัฒนาวัดให้เป็นศูนย์กลางชุมชนและอุทยานการศึกษาในวัด เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๓



IMG_0446.JPG



IMG_0441.JPG



ซุ้มประตู วัดพระธาตุจอมมอญ


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_0449.JPG



ทางขึ้นนมัสการพระธาตุจอมมอญ มี ๒ ทาง


๑. ทางเท้า ระยะทาง ๑๙๐ เมตร บันได ๓๐๖ ขั้น

๒. ทางรถ ระยะทาง ๖๐๐ เมตร



IMG_0452.JPG



IMG_0635.JPG



ทางขึ้นนมัสการพระธาตุจอมมอญโดยรถ วัดพระธาตุจอมมอญ ระยะทาง ๖๐๐ เมตร



IMG_0774.JPG



IMG_0562.JPG



บันไดนาคทางขึ้นนมัสการพระธาตุจอมมอญ วัดพระธาตุจอมมอญ มีบันได ๓๐๖ ขั้น



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_0599.JPG



IMG_0601.JPG



IMG_0606.JPG



รูปพระสังกัจจายน์ ประดิษฐานด้านข้างบันไดทางขึ้นพระธาตุ วัดพระธาตุจอมมอญ



IMG_0609.JPG



IMG_0612.JPG



IMG_0622.JPG



บันไดทางขึ้นพระธาตุ วัดพระธาตุจอมมอญ


IMG_0617.JPG



อาศรม พ. ชาตฺวีโร อยู่
ด้านข้างบันไดทางขึ้นพระธาตุ วัดพระธาตุจอมมอญ

สร้างโดย นายประชา ตงพิพัฒน์ ช่างโดย นายกุญช่วย บุญพร เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๗ ขอให้มีสุข ๓ ประการ มีนิพพานเป็นยอด


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_0702.JPG



IMG_0744.JPG



IMG_0675.JPG



IMG_0651.JPG



IMG_0684.JPG



IMG_0653.JPG



พระบรมธาตุเจดีย์ (พระธาตุจอมมอญ) วัดพระธาตุจอมมอญ

องค์เดิมประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ พระบรมธาตุส่วนพระหนุธาตุ (ส่วนคาง) และพระอูรุงคธาตุ (ส่วนโคนขา) ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต่อมา พ.ศ.๒๕๔๐ ทางวัดบูรณะเสริมพระเจดีย์ใหม่ ได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุ ที่วัดมีอยู่อีกหลายร้อยองค์ และบรรจุพระอาโปธาตุ (พระธาตุแก้ว) ๑,๐๐๐ องค์


IMG_0671.JPG



ประวัติพระธาตุจอมมอญ



วัดพระธาตุจอมมอญ มีพระธาตุจอมมอญ ซึ่งเป็นปูชนียสถานเก่าแก่ ๑ ในพระธาตุ ๔ มุมเมืองของอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอำเภอแม่สะเรียง ในเขตบ้านพะมอลอ หมู่ที่ ๙ ตำบลบ้านกาศ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน สร้างขึ้นในสมัยพระฤาษี เป็นเวลากว่า ๑,๐๐๐ ปีมาแล้ว โดยสร้างพระเจดีย์เป็นหินไว้สักการะ

ต่อมา พ.ศ.๑๙๓๕ พระธาตุจอมมอญได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ในสมัยพระเจ้าแสนเมืองมา (พญาแสนเมืองมา) ราชวงศ์มังราย ครองนครเชียงใหม่ โดยพระเจ้าแสนเมืองมามีรับสั่งให้มหาอุปราชนามว่า เจ้าแสนคำ เป็นผู้ออกแบบก่อสร้างพระเจดีย์และต่อเติมพระเจดีย์องค์เดิมที่พระฤาษีได้สร้างไว้แต่กาลก่อน และให้สร้างวัดขึ้นด้วย (อัฐิเจ้าแสนคำได้บรรจุไว้ที่กู่คำ หรือกู่แสนคำ ตั้งอยู่บริเวณอุโบสถปัจจุบันนี้)

กาลต่อมาประมาณ พ.ศ.๒๑๔๓ ซึ่งเป็นสมัยเดียวกันกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ทรงกอบกู้บ้านเมือง ได้เกลี้ยกล่อมชาวไทย มอญ ไทใหญ่ กะเหรี่ยง พม่า ละว้า จากพม่าเป็นสมัครพรรคพวกให้มาขึ้นกับไทย ประกอบกับกษัตริย์มอญได้หนีข้าศึกทางพม่า นุ่งห่มขาวลี้ภัยเข้ามาพร้อมด้วยบริวาร มาตั้งถิ่นฐานรกรากอยู่บริเวณนี้


พระธาตุจอมมอญ จึงได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่โดยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ให้พระยาเกียรติและพระยาราม ทหารช่างชาวมอญสร้างพระเจดีย์ครอบองค์เก่าที่พังไป ได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้จากพม่า พระพุทธรูปทองคำ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์หลายอย่างบรรจุไว้ที่องค์พระเจดีย์ เพื่อเป็นที่เคารพสักการบูชา และอุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระพี่นางสุพรรณกัลยา หรือพระสุพรรณกัลยา แล้วตั้งชื่อว่า "พระธาตุจอมมอญ"

ต่อมากาลล่วงไปหลายร้อยปี พระเจดีย์ได้ชำรุดทรุดโทรม ซึ่งเหลือแต่ซากปรักหักพัง มีลักษณะเป็นหลุมคล้ายปลักควาย และวัดได้ถูกน้ำป่าไหลหลากมาเชี่ยวกรากท่วมวัด จนกลายเป็นวัดร้าง


ต่อมา พ.ศ.๒๔๕๗ นำโดยชาวกะเหรี่ยงบ้านพะมอลอ ตระกูลกะเหรี่ยง ชื่อ “พ่อเฒ่าหม่อนจอนุ แม่หม่อนโยแฮ พิกุล” สร้างพระเจดีย์ครอบองค์เก่า และได้อัญเชิญพระบรมธาตุจากพม่ามาบรรจุเพิ่มอีกองค์หนึ่ง ขนาดโตเท่าเม็ดถั่วเหลือง ท่านผู้รู้กล่าวว่า องค์หนึ่งเป็น พระหนุธาตุ (ส่วนคาง) อีกองค์หนึ่งเป็น พระอูรุงคธาตุ (ส่วนโคนขา) ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ต่อมา พ.ศ.๒๕๔๐ ทางวัดได้บูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ใหม่ โดยสร้างครอบองค์เดิมให้ใหญ่และสูงขึ้นกว่าเดิม มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปหลวงพ่อทองคำจำลองทั้ง ๔ ทิศ และ
ได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุ ที่วัดมีอยู่อีกหลายร้อยองค์ และบรรจุพระอาโปธาตุ (พระธาตุแก้ว) ๑,๐๐๐ องค์ โดยคุณรัตนาพร จงจิตรนันท์ ผู้อัญเชิญพระธาตุแก้วเสด็จมาที่ห้องพระ แล้วนำมาถวายบรรจุพระเจดีย์นี้ด้วย

----------------------


(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : ป้ายประวัติวัดพระธาตุจอมมอญ และเอกสารประวัติวัดพระธาตุจอมมอญ เรียบเรียงโดย พระอาจารย์สวัสดิ์ นริสฺสโร อดีตเจ้าอาวาสองค์แรกวัดพระธาตุจอมมอญ เรียบเรียงประวัติ พ.ศ.๒๕๔๔ ได้รับความอนุเคราะห์เอกสารจาก คุณลุงตีแอ ผู้ดูแลวัด อายุ ๖๘ ปี (พ.ศ.๒๕๕๖))  


IMG_0787.JPG



ภาพเจดีย์พระธาตุจอมมอญ พ.ศ.๒๔๕๗ วัดพระธาตุจอมมอญ


331.jpg



คำนมัสการพระบรมธาตุเจดีย์

(ว่านะโม ๓ จบ) วันทามิ เจติยัง สัพพัง สัพพัฏฐาเนสุ ปะติฏฐิตา สะรีระธาตุโย เกศาธาตุโย อะระหันตา ธาตุโย เจติยัง คันทะกุฏิง จะตุละสี ติสสะหัสเส ธัมมักขันเธ สัพเพสัง ปาทะเจติยัง อะหังวันทามิ ธาตุโย อะหังวันทามิ ทุระโส อะหังวันทามิ สัพพะทา อะหังวันทามิ สิระสาฯ


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

4.1.jpg



ตำนานพระธาตุ ๔ จอม

(จอมมอญ จอมกิตติ จอมทอง จอมแจ้ง)

อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน



ในอดีตสมัยครั้งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังดำรงพระชนม์ชีพอยู่ พระองค์ได้ทรงปฏิบัติพุทธกิจเพื่อหิตานุหิตประโยชน์แก่ประชาชนพลโลกทั้งมวล โดยไม่จำกัดชาติ ชั้น วรรณะ นับว่าเป็นพรรษาที่ ๒๕ หลังจากตรัสรู้แล้ว พระชนมายุได้ ๖๐ พรรษา พระองค์ได้เสด็จจาริกสั่งสอนเวไนยสัตว์ไปตามบ้านน้อยเมืองใหญ่ทั้งหลาย


จากนั้นพระพุทธเจ้าก็เสด็จไปสู่เมืองยวม (อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอนในปัจจุบัน) พม่าเรียกเมืองยวมว่า "ไมลองยี" แปลว่า เมืองหินแร่ใหญ่ เพราะมีเหมืองแร่หลายชนิด) พระองค์ทรงเหยียบรอยพระบาทไว้ ๑ รอย (ปัจจุบันเรียก "พระพุทธบาทถ้ำพระเจ้า" อยู่ที่บ้านแม่ต๊อบเหนือ หมู่ที่ ๗ ตำบลบ้านกาศ)   

เมื่อมาถึงตอนนี้จะขอกล่าวถึงตำนานพระธาตุ ๔ จอม ที่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าสู่กันฟังต่อๆ มา มีแม่เฒ่าหม่อนเหมย วงค์น้อย อายุ ๘๐ กว่าปี กล่าวว่า คราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาสู่เมืองยวมนี้ พระองค์ได้ทรงหยุดยืนนิ่ง พร้อมเพ่งมองไปทางทิศเหนือยังดอยลูกหนึ่ง ดอยลูกนั้นจึงได้ชื่อว่า “ดอยจอมมอง”

ต่อมายามเกิดภัยสงคราม ผู้คนจึงนำเงินทองบรรทุกเกวียนมาฝังไว้ในถ้ำมากมายถึง ๓ เกวียน ถ้ากองรวมกันก็เป็นม่อนดอย บางส่วนได้สร้างเจดีย์ครอบไว้ จึงเรียกว่า “ดอยจอมม่อน” กาลต่อมาสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกวาดต้อนพม่า มอญ ไทใหญ่ (เงี้ยว) กะเหรี่ยง (ยาง) บัญชาให้ช่างชาวมอญบูรณะพระเจดีย์ขึ้นใหม่ จึงเรียกชื่อว่า “พระธาตุจอมมอญ” มาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

ย้อนกล่าวถึงเมื่อพระพุทธองค์เพ่งมองที่ดอยจอมมอง แล้วเสด็จต่อไปเอาพระหัตถ์ไปแตะที่ดอยลูกหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันตก กิริยาที่มือแตะหรือจับต้อง ภาษาพื้นเมืองโบราณเรียกว่า “ติ” จึงมีชื่อว่า “ดอยจอมกิตติ” มาจนทุกวันนี้


แล้วพระองค์ก็ไปประทับพระหัตถบาทไว้ยังดอยอีกลูกหนึ่งอยู่บนถ้ำ (ปัจจุบันเรียก "รอยพระพุทธหัตถ์ สำนักสงฆ์รอยพระพุทธหัตถ์ อุทยานหินยุคออร์โดวิเชียน (๔๔๓-๔๘๘ ล้านปี)" อยู่ที่บ้านดงสงัด หมู่ที่ ๖ ตำบลแม่สะเรียง)

จากนั้นพระองค์ก็ท่องเที่ยว (ต้องเตียว) ต่อไปยังดอยอีกลูกหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก จึงมีชื่อเรียกว่า "ดอยจอมท่อง" (จอมต้อง) ต่อมาเพี้ยนเป็น "ดอยจอมทอง" มาจนถึงทุกวันนี้ จากนั้นพระองค์ก็จาริกเดินทางต่อไป มาสว่างยังดอยอีกลูกหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองยวมเดิม จึงเรียกว่า "ดอยจอมแจ้ง" มาจนกระทั่งทุกวันนี้  

ต่อมาในยุคของพระฤาษี ประมาณ พ.ศ.๑๐๐๐ กว่า (เข้าใจว่าจะอยู่ในสมัยเดียวกันกับพระฤาษีวาสุเทพแห่งอุจฉุบรรพต (ดอยสุเทพ) ส่วนที่เมืองยวมยังมีพระฤาษี ๔ ตน เป็นพี่น้องกัน


พระฤาษีผู้พี่ (องค์ที่ ๑) พำนักอยู่ดอยจอมกิตติ เก่งทางหมอยา สามารถชุบชีวิตผู้ที่พึ่งตายใหม่ๆ แล้วให้ฟื้นคืนชีพได้ โดยสอนให้ศิษย์ทำการผสมสูตรยาชุบชีวิตไว้เป็นอย่างดี แล้วก็กระโจนลงสู่หม้อยาที่กำลังร้อนเดือดอยู่ ร่างฤาษีได้ละลายหายไปในหม้อยานั้น ศิษย์ตกใจเป็นอย่างยิ่งจึงผสมสูตรยาผิดๆ ถูกๆ ด้วยลืมขั้นตอนการใส่ยาชุบชีวิต ทำให้พระฤาษีผู้เป็นอาจารย์ต้องมาจบชีวิตลงในหม้อยานั่น ปัจจุบันยังมีผู้พบยาฤาษีผสมเป็นก้อนหิน เมื่อทุบดูข้างในจะมีผงยาสีขาวบ้าง สีเหลืองบ้าง สามารถนำมาแช่น้ำเป็นยาวิเศษรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ ตามความเชื่อของคนเจ็บป่วยที่รักษาที่อื่นไม่หาย ก็มาหายกับยาฤาษีผสมนี้ก็มี

พระฤาษีองค์รอง (องค์ที่ ๒) พำนักอยู่ดอยจอมทอง เก่งทางเล่นแร่แปรธาตุ สามารถซัดตะกั่วให้กลายเป็นทองคำก็ได้


พระฤาษีผู้น้องที่สาม (องค์ที่ ๓) พำนักอยู่ดอยจอมแจ้ง เก่งทางวิชาอาคมไสยเวทย์ทุกประการ

พระฤาษีผู้น้องสุดท้อง (องค์ที่ ๔) พำนักอยู่ดอยจอมมอญ เก่งทางเรียกฝนเรียกลม สำเร็จกสิณน้ำกสิณลม บันดาลให้มีน้ำหรือให้บังเกิดเป็นน้ำบ่อทิพย์ขึ้นบนเขาที่แห้งแล้งก็ได้ (มีผู้พบบ่อน้ำทิพย์บนเขาดอยจอมมอญ ๒ ราย ให้ดื่มกินได้ เมื่อพาผู้อื่นไปเอา กลับหายไปหาไม่พบ ปัจจุบันเจาะบ่อบาดาล น้ำใต้ดินได้ไหลพุ่งขึ้นมาเอง ไม่ต้องใช้เครื่องสูบน้ำ พระฤาษีผู้นี้อาจบันดาลให้มีน้ำอุดมสมบูรณ์ เป็นน้ำบ่อทิพย์ใช้เป็นประโยชน์ได้ทั้งวัดเลยทีเดียว)

พระฤาษีทั้งสี่พี่น้องนี้ยังได้สร้างเจดีย์สำเร็จด้วยหินอยู่บนเขาทั้งสี่จอม ไว้เป็นที่สักการบูชาของสาธุชนอีกด้วย และมีอาจารย์ของพระฤาษีเป็นอาจารย์ใหญ่ที่ถ่ายทอดวิชาต่างๆ ให้พระฤาษีทั้ง ๔ ตนนี้ ท่านพำนักอยู่ถ้ำเหง้า (หรืออาจเป็นถ้ำพระเจ้า ซึ่งอยู่ในป่าทางทิศเหนือที่พบรอยพระพุทธบาทนั้นก็ได้) เมื่อหมดยุคของพระฤาษีแล้ว ก็รกร้างเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา และหนีภัยสงครามกันด้วย

กาลต่อมาถือเอาบุพนิมิตที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดชาวเมืองยวมพยากรณ์จอมดอยสี่แห่ง จึงได้สร้างพระธาตุเจดีย์ขึ้น ๔ มุมเมือง โดยที่ชาวอำเภอแม่สะเรียงเป็นอำเภอชายแดนติดเขตพม่า แต่ก่อนเคยเป็นถิ่นฐานอาศัยของชนเผ่าลัวะ (ละว้า) ยาง (กะเหรี่ยง) ต่อมามีชนพื้นเมือง พม่า ไทใหญ่ (เงี้ยว) มอญ (เม็ง) อพยพมาอาศัยอยู่ด้วย เพื่อความสมัครสมานสามัคคีกันในหมู่คณะ ต่างก็ถึงซึ่งพระรัตนตรัยเป็นสรณะที่พึ่ง
จึงปรึกษาหารือกันให้

ชาวมอญ สร้าง “พระธาตุจอมมอญ” ไว้สักการบูชา ประมาณปี พ.ศ.๒๑๔๓ (สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช)

ชาวพม่า สร้าง “พระธาตุจอมกิตติ” ไว้สักการบูชา ประมาณปี พ.ศ.๒๔๕๐

ชาวไทใหญ่ (เงี้ยว) สร้าง “พระธาตุจอมทอง” ไว้สักการบูชา ประมาณปี พ.ศ.๒๒๐๑

ชาวพื้นเมือง สร้าง "พระธาตุจอมแจ้ง" ไว้สักการบูชา ประมาณปี พ.ศ.๒๔๕๗

พระธาตุ ๔ มุมเมืองทุกแห่ง ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากประเทศพม่ามาบรรจุไว้ในพระเจดีย์อีกด้วย และปรากฏเหตุการณ์อัศจรรย์ คือ มีแสงพระธาตุเสด็จลอยไปมาหาสู่กันระหว่างพระธาตุ ๔ จอมนี้อยู่เสมอ ในคืนวันพระและวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

ผู้เฒ่าผู้แก่ได้เล่าสืบๆ กันมา ผูกเป็นคำกลอนพูดติดปากกันว่า “จอมมอญ มาจอมมะติ มาต้องที่นี่ และมาแจ้งที่นี่” ก็คือ พระธาตุจอมมอญ จอมกิตติ จอมทอง และจอมแจ้ง นั่นเอง ผู้เฒ่ากล่าวว่า พระพุทธองค์ได้พยากรณ์ไว้ว่า “หากพระธาตุ ๔ จอมนี้ เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาเมื่อใด ชาวเมืองยวมและพุทธศาสนาจะมีความเจริญรุ่งเรืองถึงที่สุด จะได้อยู่เย็นเป็นสุขถ้วนหน้ากัน”


ปัจจุบันพระธาตุ ๓ แห่ง ได้บูรณปฏิสังขรณ์ มีความเจริญรุ่งเรืองตามลำดับ ยังคงค้างพระธาตุจอมกิตติที่ยังไม่ค่อยเจริญเท่าใดนัก ถึงกระนั้นอำเภอแม่สะเรียงก็มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นกว่าเก่ามาก นับว่าเจริญเป็นอันดับ ๒ รองจากอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนเลยทีเดียว

ดังนั้นพระธาตุ ๔ จอม จึงถือเป็น "พระธาตุคู่บ้านคู่เมือง" แม่สะเรียง สมดั่งคำขวัญของอำเภอแม่สะเรียงว่า.....

ผ้าทอกะเหรี่ยง              เสนาะเสียงสาละวิน
งามถิ่นธรรมชาติ            พระธาตุสี่จอม
ดอกไม้หอมเอื้องแซะ        
แวะบูชารอยพระหัตถ์      พระบาทเมืองยวม

----------------------


(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : นาคฤทธิ์ รวบรวมชำระสะสาง (๒๕๔๐-๒๕๔๕). (๒๕๔๕, ตุลาคม). พุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับชำระสะสาง (พิมพ์ครั้งที่ ๑). เชียงใหม่: ลานนาการพิมพ์, หน้า ๒๒๐-๒๒๑.)



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตำนานและประวัติวัดพระธาตุจอมมอญ



. ยุคพระฤาษี


1.JPG



เล่าสืบกันมาว่า ยังมีพระฤาษีสี่ตนเป็นพี่น้องกัน ได้เป็นผู้ริเริ่มสร้างพระธาตุสี่มุมเมืองยวม คือ พระธาตุจอมมอญ พระธาตุจอมแจ้ง พระธาตุจอมทอง พระธาตุจอมกิตติ พระ
ฤาษีทั้งสี่ตนนั้นได้พำนักอยู่ ณ ดอยสี่มุมเมืองของตน พระฤาษีทั้งสี่พี่น้องเป็นผู้มีตบะเดชะ มีวิทยาคมแก่กล้ามาก ได้ศึกษาเล่าเรียนเพียรปฏิบัติจากพระฤาษีอีกองค์หนึ่ง ผู้เป็นอาจารย์ซึ่งมีฤทธิ์มากและมีอายุมากแล้ว ได้บำเพ็ญเพียรอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่งทางเหนือของเมืองยวม กล่าวกันว่าถ้ำนั้นชื่อ ถ้ำเหง้า หลังจากพระฤาษีทั้งสี่ตนพี่น้องเรียนศิลปศาสตร์ต่างๆ จนจบแล้ว จึงกราบลาอาจารย์ไปบำเพ็ญเพียรสร้างบารมีต่อ

เล่ากันว่าพระฤาษีผู้พี่ พำนักอยู่ที่ “ดอยจอมกิตติ” ปรุงยาสำหรับชุบชีวิตคนที่ตายแล้วให้ฟื้นคืนมาได้ แม้แต่ศพนั้นจะถูกเผาเป็นขี้เถ้าผุยผงก็สามารถชุบชีวิตคืน เมื่อฤาษีผู้พี่สร้างตัวยาขนานแรกสำเร็จแล้ว ก็จะทดลองตัวยาประกอบขนานอื่นๆ ได้เอาตัวยาชนิดหนึ่งใส่กระทะใหญ่ต้มจนเดือด แล้วได้กล่าวกับลูกศิษย์ว่า ถ้าเรากระโจนลงในหม้อยาใบใหญ่ที่เดือดพล่านอยู่นี้ เมื่อเราจมหายละลายไปในพริบตาแล้ว ขอให้ศิษย์ปรุงยาอีกชนิดหนึ่ง หรืออีกขนานหนึ่งที่เตรียมไว้ และตามด้วยอีกขนานหนึ่งและอีกขนานหนึ่งตามสูตร ให้ผสมได้ส่วนตามที่สอน และเทผสมตามๆ กันไปให้ได้จังหวะพอดี พร้อมทั้งบริกรรมพระคาถาวิเศษกำกับ โดยให้สังเกตดูสีน้ำยาในกระทะที่เดือดพล่านนั้น แล้วก็จมหายไปทันที

เมื่อลูกศิษย์เจอประสบการณ์จริงเข้าเช่นนี้ก็ตกใจมาก ลืมขั้นตอนต่างๆ ที่ท่านอาจารย์สอนเสียสิ้น เทยาใส่ผิดๆ ถูกๆ มิได้เป็นไปตามคำสั่ง พระฤาษีอาจารย์องค์พี่ใหญ่จึงสิ้นชีพลงในกระทะน้ำยานั้น และกระทะน้ำยาก็คงถูกเททิ้งไปตามวิธีการเท่าที่ศิษย์จะพึงกระทำได้ ซึ่งอาจจะมีพิธีขอขมาท่านอาจารย์และอื่นๆ ซึ่งตำนานเดิมมิได้กล่าวไว้

กาลต่อมาชนรุ่นหลังที่มีวิชาอาคม ก็ได้ค้นพบตัวยาของท่านฤาษีติดอยู่ในหินเป็นก้อนๆ หรือดูคล้ายหินชนิดหนึ่ง ต่างพากันเรียกว่า “ยาฤาษีผสม” เมื่อค่อยๆ ทุบให้แตกจะเห็นเป็นกระเปาะผงยาอยู่ภายใน เมื่อชาวบ้านผู้ใดเจ็บป่วย ก็นำไปทำน้ำมนต์ดื่มกิน ปรากฏว่ามีคุณวิเศษรักษาคนป่วยได้อย่างปาฏิหาริย์ และสามารถนำมาผสมแร่ธาตุทำทอง นาค เงินได้ (ผงยาภายในกระเปาะนี้ มีสีขาว, สีเหลือง, สีม่วง, สีน้ำตาล, สีแดง, สีเขียวดำ แต่ละก้อนก็มีสีที่ไม่เหมือนกัน)


พระฤาษีผู้น้องรองลงมา เก่งในทางเล่นแร่แปรธาตุ สามารถแปรเปลี่ยนธาตุหรือซัดตะกั่วให้เป็นทองคำก็ทำได้ ตั้งสำนักอยู่ชื่อว่า “ดอยจอมทอง” พระฤาษีผู้น้องที่สาม เก่งในทางอาคมไสยศาสตร์ทั้งหลาย พำนักอยู่ที่ “ดอยจอมแจ้ง”


ฝ่ายพระฤาษีผู้น้องท้ายสุด เก่งในทางเรียกฝนเรียกลมด้วยอำนาจแห่งพลังจิต สำเร็จกสิณอภิญญา สามารถเดินเหินบนน้ำหรือเหาะขึ้นไปบนอากาศก็ได้ด้วยอำนาจแห่งวาโยกสิณ พระฤาษีตนสุดท้ายนี้พำนักอยู่ ณ “ดอยจอมมอญ” ซึ่งสมัยก่อนโน้นเรียกกันว่า ดอยสามเส้า เพราะเป็นภูเขาสามลูกตั้งอยู่ใกล้กัน มีลักษณะคล้ายก้อนเส้านั่นเอง และเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ดอยหัวเกวียน หรือดอยสามเกวียน


๒. ยุคตั้งเมืองใหม่และสร้างวัดพระธาตุจอมมอญ พ.ศ.๑๙๓๕


IMG_0790.JPG



ครั้งเมื่อพระฤาษีอีกสามองค์พี่น้องที่เหลือต่างก็มรณภาพลงไปตามกาลเวลา ต่อมากาลล่วงไปนับร้อยๆ ปี ก็ยังความรกร้างทรุดโทรมแก่พระเจดีย์บรรจุพระธาตุทั้ง ๔ มุมเมืองนั้น ตามกฎธรรมดาแห่งโลกธรรม ในปี พ.ศ.๑๓๑๖ สมัยอาณาจักรโยนกนาคพันธุ์สิงหนวัตินคร (เชียงแสน) ขยายอาณาเขตมาถึงแม่สะเรียงให้เป็นเมืองชายแดนของอาณาจักรยวน (หรือโยนก) มาช้านาน

จนกระทั่งในยุคต่อมา เจดีย์พระธาตุจอมมอญ ก็ได้ถูกบูรณะขึ้นใหม่ในรัชสมัยพระเจ้าแสนเมืองมา (พญาแสนเมืองมา) กษัตริย์แห่งนครเชียงใหม่ องค์ที่ ๗ ราชวงศ์มังราย แห่งอาณาจักรล้านนา ซึ่งสืบราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา พระเจ้ากือนา (พญากือนา)

พระราชบิดาซึ่งมีพระราชดำริให้สร้างนครเชียงใหม่ตะวันตก (คือจังหวัดแม่ฮ่องสอนในปัจจุบัน) จึงมีรับสั่งให้เจ้าราชภาคินัยยกไพร่พลช้างม้าลงมาสร้างเมืองแม่ฮ่องสอน ขุนยวม ปาย และเมืองยวม มีอาณาเขตกว้างขวางมาก จึงได้ให้เกณฑ์ผู้คนย้ายจากตัวนครเชียงใหม่และหัวเมืองรอบนอก ให้อพยพครอบครัวลงมาอาศัยและประกอบอาชีพทำมาหากินอยู่ที่เมืองแม่ฮ่องสอน ตลอดจนเมืองแม่สะเรียงมากยิ่งขึ้น

จากนั้นเจ้าเมืองและผู้ทรงคุณวุฒิความรู้ต่างก็ได้ปรึกษากันว่า เราควรบูรณะพระธาตุเจดีย์ไว้ไหว้สา พร้อมทั้งสร้างวัดไว้เป็นที่พำนักจำวัดของพระภิกษุสามเณร ซึ่งในขณะนั้น พระธาตุสี่มุมเมืองจึงได้รับการบูรณะซ่อมแซมเพื่อให้วัฒนาถาวรสืบไป อนึ่ง สมัยที่
สมเด็จพระนเรศวรมหาราชกวาดต้อนรี้พลจากพม่า ชาวมอญได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณวัดนี้ด้วย

เหตุดังนี้ พระธาตุจอมมอญ จึงมีประวัติว่าเคยได้รับการบูรณะในสมัยพระเจ้าแสนเมืองมา โดยพระเจ้าแสนเมืองมามีรับสั่งให้มหาอุปราชนามว่า เจ้าแสนคำ เป็นผู้ออกแบบก่อสร้างพระเจดีย์และต่อเติมของเดิมที่พระฤาษีได้สร้างไว้แต่กาลก่อน และให้สร้างวัดขึ้นด้วย

เมื่อมหาอุปราชเจ้าแสนคำได้รับพระราชโองการแล้ว พระองค์ก็ยกไพร่พลมาสร้างวัดพระธาตุจอมมอญขึ้น เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๙๓๕ ซึ่งพระเจ้าแสนเมืองมาพระองค์ได้สวรรคตลงก่อน กาลนั้นพญาสามฝั่งแกนได้ขึ้นครองราชย์แทน ซึ่งขณะนั้นเป็นเวลาที่เจ้าแสนคำกำลังก่อสร้างวัด



๓. ยุคที่มาของชื่อ "พระธาตุจอมมอญ" พ.ศ.๒๑๔๓


IMG_0499.JPG



ต่อมาประมาณปี พ.ศ.๒๑๔๓ ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้กวาดต้อนรี้พลพม่า ไทใหญ่ มอญ (เม็ง) กะเหรี่ยง มาตั้งถิ่นฐานรกรากอยู่ใกล้วัดเก่าเรียกว่า วังดิน และได้สร้างพระเจดีย์ขึ้นบนยอดดอยจอมมอญ เอาพระบรมสารีริกธาตุที่ได้จากพม่า พระพุทธรูปทองคำ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์หลายอย่างบรรจุไว้ที่องค์พระเจดีย์ เพื่อเป็นที่เคารพสักการบูชา และอุทิศไว้เป็นพระราชกุศลถวายแด่พระพี่นางสุพรรณกัลยา แล้วตั้งชื่อว่า "
พระธาตุจอมมอญ" (จากหนังสือ เส้นทางโบราณหนตางบ่าเก่า โดยจิฐิญาณี กุณนะ หน้า ๒๔ บรรทัดที่ ๒๑)

กาลต่อมาหลายร้อยปี วัดก็ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา คงเหลือแต่ซากปรักหักพัง และได้ถูกน้ำป่าไหลหลากมาเชี่ยวกรากท่วมวัด วิหารพังทลายไป ทั้งพระอุโบสถเก่าและกู่เจ้าแสนคำ (เจดีย์บรรจุอัฐิเจ้าแสนคำที่เคยสร้างวัดมาก่อน) ก็ชำรุดทรุดโทรม และ
ถูกหัวขโมยพบลายแทงเข้า แล้วมาขุดค้นเอาของมีค่าไปหมด มิได้นำมาทำนุบำรุงบูรณะวัดที่นี่เลย เอาไปขายกินหมด ซึ่งเป็นเวลานานร่วม ๕๗ ปีมาแล้ว (เรียบเรียงประวัติใหม่ปี ๒๕๔๔) ต่อมาทราบว่าคนพวกนี้ตายกันไปแบบแปลกๆ เป็นปริศนาน่าขบคิด ด้วยเหตุมาขโมยของวัดวาอารามด้วยความโลภในสมบัติใต้พื้นแผ่นดินธรณีสงฆ์

ที่พระเจดีย์บนเขาก็เห็นแต่ซาก มีลักษณะเป็นหลุมคล้ายปลักควาย มีหัวขโมยได้ขึ้นไปลักขุดสมบัติเช่นกัน แต่มีเหตุต้องหนีกระเจิดกระเจิงกันไป ด้วยมีสุนัขในหมู่บ้านเป็นฝูง ซึ่งก็อยู่ห่างไกลกันเป็นกิโลเมตร หนทางก็เป็นป่าเขามืดทึบ บรรดาสุนัขฝูงนั้นเหมือนจะรู้เหตุร้าย ได้เห่าหอนและพากันวิ่งจากบ้านเข้าป่าขึ้นไปถึงบนเขาไล่กัดหัวขโมยวิ่งหนีกันไปหัวซุกหัวซุน ชาวบ้านก็แตกตื่นไล่ตามฝูงสุนัขไปจนพวกหัวขโมยไม่กล้ามาขุดสมบัติที่ฐานพระเจดีย์เก่าบนเขาอีกเลย


๔. ยุคสร้างพระเจดีย์ พ.ศ.๒๔๕๗


IMG_0740.JPG



กาลเวลาล่วงไปพระเจดีย์ได้ชำรุดทรุดโทรม เหลือแต่ซากปรักหักพัง เป็นหลุมคล้ายปลักควาย ต่อมา พ.ศ.๒๔๕๗ เนื่องด้วยมีเหตุจูงใจ คือ ที่ซากพระเจดีย์เก่าบนเขานี้ ชาวแม่สะเรียงต่างก็เห็นเหตุการณ์ปาฏิหาริย์ สิ่งมหัศจรรย์เป็นเนืองนิจ ปรากฏแสงพระธาตุเสด็จลอยไปมาหาสู่กันระหว่างพระธาตุสี่มุมเมืองอยู่เสมอ ชาวบ้านมักจะเห็นเช่นนี้บ่อยครั้งมาก บังเกิดความเลื่อมใส จึงคิดว่าชะรอยบรรดาเทพเทวาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่ปกปักรักษาพระพุทธศาสนาอยากจะให้สร้างพระเจดีย์ครอบของเก่าไว้

จึงปรึกษาหารือกันและได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างพระเจดีย์ขึ้นมา ในปี พ.ศ.๒๔๕๗ ตรงกับสมัยเจ้าคณะอำเภอองค์แรกของอำเภอแม่สะเรียง ชื่อ ท่านพระครูอนุสรณ์ศาสนกิจ (ครูบาก๋า) วัดกิตติวงศ์ และตรงกับสมัยนายอำเภอคนที่ ๓ มีนามว่า ร.อ.อ. หลวงสุรัตนาราชกิจ (จำปา ลาวนานนท์) ซึ่งอยู่ระหว่าง พ.ศ.๒๔๕๔-๒๔๖๒ และตรงกับสมัยเดียวกันกับการสร้างวัดจอมแจ้ง หนึ่งในบรรดาพระธาตุ ๔ มุมเมืองด้วย

นับเป็นยุคที่สี่ในการ
สร้างพระเจดีย์ สร้างด้วยความศรัทธาของชาวอำเภอแม่สะเรียง โดยการนำของตระกูลกะเหรี่ยง "พ่อเฒ่าหม่อนจอนุ แม่หม่อนโยแฮ พิกุล" บิดาของพ่อหลวงคำแปง พิกุล ซึ่งเป็นชาวบ้านกะเหรี่ยงพะปลอ (พะปลอ เป็นชื่อของชาวกะเหรี่ยงที่ได้อพยพมาเป็นคนแรก ตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้วัดนี้ กาลต่อมาจึงเพี้ยนเป็น “พะมอลอ” ใช้เป็นชื่อหมู่บ้านมาจนถึงทุกวันนี้)

การสร้างพระเจดีย์ครอบองค์เก่า มี ครูบาติ๊บ อภิวงฺโส วัดป่าหนาด (ปัจจุบันคือ วัดชัยลาภ) เจ้าอาวาสองค์ที่ ๓ เป็นประธานในการสร้างพระเจดีย์ เมื่อได้สร้างพระเจดีย์เสร็จแล้ว ยังสร้างศาลาบำเพ็ญบุญบนยอดเขา ๑ หลัง และเชิงเขาอีก ๑ หลัง แต่หามีพระสงฆ์มาอยู่จำพรรษาไม่ ด้วยเป็นป่ารกชัฏน่าสะพรึงกลัว กล่าวกันว่ามีผีดุ ไม่มีใครกล้ามาอยู่ จึงเป็นวัดร้างเรื่อยมา มีสถานะเป็นเพียงสำนักสงฆ์

ทางด้านหลังวัด ยังมีถ้ำอยู่แห่งหนึ่ง ภายในถ้ำนั้นยังมีถ้วยโถโอชาม กระเบื้องบ้างถ้วยชามดินเผาบ้าง มีอยู่มากมาย เมื่อชาวบ้านมีงานก็ไปขอยืมจากเจ้าถ้ำเจ้าป่าเจ้าเขา เอาไปใช้แล้วก็เอามาคืนไว้อย่างเก่า นานไปเมื่อเอาไปแล้วไม่ยอมเอามาคืน จะไปเอามาอีกก็หาปากถ้ำไม่เจอถูกปิดไปหมด นับแต่นั้นมาก็ไม่เห็นเป็นถ้ำอีกเลย กล่าวกันว่าในถ้ำยังมีพระพุทธรูป มีฆ้องใหญ่ใบหนึ่ง ถ้าตีแล้วเสียงดังกระหึ่มไปหมดดังไกลถึงหมู่บ้าน เมื่อถ้ำถูกปิดแล้ว ถ้าวันไหนคืนไหนได้ยินเสียงฆ้องดังขึ้น ก็จะมีคนในหมู่บ้านล้มหายตายจากอยู่เสมอ เป็นสัญญาณมรณะของผู้คน แต่มาถึงปัจจุบันไม่ค่อยได้ยินเสียงฆ้องเลย เป็นเพราะบ้านเมืองเจริญขึ้น มีเสียงรบกวนทั่วทุกทิศก็ว่าได้


๕. ยุคบูรณะเสริมพระธาตุจอมมอญให้สูง พ.ศ.๒๕๔๐ สู่ปัจจุบัน


IMG_0664.JPG



ต่อมา พ.ศ.๒๕๒๕ มีพระธุดงค์องค์หนึ่งมาปักกลดอยู่บนศาลายอดเขา และเป็นเวลาใกล้เข้าพรรษาแล้ว ชาวบ้านต่างก็ดีใจว่าจะมีพระมาอยู่จำพรรษา ชาวบ้านพะมอลอจึงอาราธนานิมนต์ท่านอยู่จำพรรษา ท่านก็มิได้รับปากว่าจะมาได้ ซึ่งท่านชื่อ
พระสวัสดิ์ นริสฺสโร เป็นศิษย์ของหลวงปู่ครูบาพรหมา (พระสุพรหมยานเถร (ครูบาพรหมฺา พฺรหฺมจกฺโก)) วัดพระพุทธบาทตากผ้า อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ต้องให้หลวงปู่อนุญาตก่อน จึงจะมาได้

เมื่อท่านกลับไปวัดพระพุทธบาทตากผ้าแล้ว ไม่นานชาวบ้านก็พากันไปอาราธนานิมนต์ท่าน และขออนุญาตจากหลวงปู่ครูบาพรหมาให้พระสวัสดิ์มาอยู่จำพรรษาที่วัดพระธาตุจอมมอญ หลวงปู่ท่านไม่อยากให้มาเท่าใดนักด้วยพรรษายังน้อย แต่ชาวบ้านเขามีศรัทธาจริง ประกอบกับไม่มีพระภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษาเลย และเคยเป็นสถานที่ๆ หลวงปู่เคยธุดงค์ปักกลดอยู่ในสมัยก่อนมาแล้ว ท่านจึงอนุญาตให้พระสวัสดิ์ นริสฺสโร ไปอยู่จำพรรษาได้ ๑ พรรษา

พระสวัสดิ์ นริสฺสโร ได้มาอยู่จำพรรษาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๕ ในครั้งนั้นมาอยู่ด้วยกัน ๒ รูป คือ พระสวัสดิ์ นริสฺสโร และพระพิมล ชาตวีโร จากนั้นก็มีหลวงพ่อตาคำ สํวโร จากวัดน้ำจำ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ได้เดินทางมาอยู่จำพรรษา พระภิกษุทั้ง ๓ รูปนี้ ถือเป็นกำลังสำคัญในการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระธาตุจอมมอญ

ต่อมา พ.ศ.๒๕๔๐ ทางวัดได้บูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุจอมมอญขึ้นมาอีกครั้ง โดยสร้างครอบองค์เดิมให้ใหญ่และสูงขึ้น องค์เดิมบรรจุพระบรมธาตุส่วนพระหนุธาตุ (ส่วนคาง) และพระอูรุงคธาตุ (ส่วนโคนขา) เมื่อเสริมใหม่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุ ที่วัดมีอยู่อีกหลายร้อยองค์ และบรรจุพระอาโปธาตุ (พระธาตุแก้ว) ๑,๐๐๐ องค์ ซึ่งคุณรัตนาพร จงจิตรนันท์ ผู้อันเชิญพระธาตุแก้วเสด็จมาที่ห้องพระ แล้วนำมาถวายบรรจุพระเจดีย์แห่งนี้ด้วย

การร่วมแรงร่วมใจกันทั้งทางฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์ในการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระธาตุจอมมอญ ทำให้เสนาสนะถาวรวัตถุมีอยู่อย่างสัปปายะ พระอาจารย์สวัสดิ์ นริสฺสโร ได้ทำเรื่องไปยังกรมการศาสนา เพื่อยกวัดร้างขึ้นเป็นวัดถูกต้องตามกฎหมาย และทางกรมการศาสนาเห็นชอบ ได้ประกาศให้วัดพระธาตุจอมมอญขึ้นทะเบียนเป็นวัด เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๒ โดยแต่งตั้งให้พระอธิการสวัสดิ์ นริสฺสโร เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๓ พร้อมกันนั้นทางวัดพระธาตุจอมมอญยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นอุทยานการศึกษาในปีเดียวกันคือ เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๓



๖. เกิดปาฏิหาริย์พระธาตุเสด็จ พ.ศ.๒๕๒๘


10.jpg



พระธาตุจอมมอญนี้ มีผู้เห็นพระธาตุเสด็จลอยไปมาหาสู่กันระหว่างพระธาตุ ๔ มุมเมืองอยู่เสมอ ภาพพระธาตุเสด็จนี้ถ่ายในวันงานพิธีสืบชะตาอายุวัดพระธาตุจอมมอญและทำบุญทอดผ้าป่าถวายพระประธานหน้าตัก ๓๙ นิ้ว โดยคุณวิบูลย์ คุณอาภรณ์ คุณพินิจ คุณแจ่ม ชินชัย พร้อมญาติมิตร เป็นเจ้าภาพถวายในวันพฤหัสบดีที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๘

ด้วยที่วัดพระธาตุจอมมอญได้รกร้างมานาน ๔๐๐ กว่าปี หลังเสร็จพิธีมหามงคลสืบชะตาวัดเสร็จ ผู้มาร่วมทำบุญกำลังทยอยกันกลับบ้าน เดินลงเขายังไม่ถึงครึ่งทาง แล้วก็มองขึ้นไปเพื่อนมัสการพระเจดีย์อีกครั้ง ทันใดนั้นก็ปรากฏเห็นแสงรัศมีเปล่งออกจากพระเจดีย์ สว่างไสวบริเวณที่พื้นและพุ่งขึ้นข้างบน เป็นดวงกลมโตเท่าลูกมะพร้าว สว่างสุกใสเสด็จลอยขึ้นเหนือองค์พระเจดีย์ ออกสีขาว-เหลือง-ส้ม แล้วลอยไปมาอยู่ครู่หนึ่ง จึงหายลับไปในองค์พระเจดีย์

มีผู้คนเห็นประมาณ ๑๐ กว่าคน พวกที่เล่นฟุตบอลห่างออกไปราว ๑ กิโลเมตร ก็เห็นกันด้วย ภาพที่สามคนพ่อลูกถ่ายยืนอยู่ข้างพระเจดีย์นั้น (คุณพินิจ คุณแจ่ม ชินชัย) ถ่ายก่อนแสงพระธาตุจะเสด็จในเวลาไล่เลี่ยกัน กล้องจับภาพแสงรัศมีได้

ตามภาพที่เห็นข้างพระเจดีย์ จะเห็นรัศมีพุ่งออกจากฐานพระเจดีย์สว่างบริเวณที่พื้นและพุ่งขึ้นข้างบน ซึ่งมิใช่เป็นการถ่ายย้อนแสง เพราะถ่ายไปทางทิศใต้ ดวงอาทิตย์อยู่ทางขวามือของภาพ ทิศตะวันตกอยู่ทางซ้ายมือของทั้ง ๓ คน และตะวันกำลังจะลับขอบฟ้าอยู่แล้ว แสงสว่างที่เจดีย์และที่พื้นน่าจะเป็นรัศมีของพระบรมธาตุอย่างแน่นอน เพราะถ่ายแล้วก็เดินลงเขา พระธาตุก็ปาฏิหาริย์ให้มองเห็นแสงด้วยตาเปล่าขึ้นมาจริงๆ

ปกติโดยมากพระธาตุจะเสด็จตอนกลางคืน แต่ที่เสด็จเป็นปาฏิหาริย์ในครั้งนี้ เนื่องด้วยเป็นวันสำคัญที่สุดวันหนึ่ง คือ วันสืบชะตาต่ออายุวัด ซึ่งรกร้างมานาน ๔๐๐ กว่าปี และมีพระภิกษุสงฆ์มาอยู่จำพรรษาและบูรณปฏิสังขรณ์วัดขึ้นอีกครั้ง เพื่อจักได้สืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองวัฒนาสถาพรยิ่งๆ ขึ้นไป

----------------------


(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : ป้ายประวัติวัดพระธาตุจอมมอญ และเอกสารประวัติวัดพระธาตุจอมมอญ เรียบเรียงโดย พระอาจารย์สวัสดิ์ นริสฺสโร อดีตเจ้าอาวาสองค์แรกวัดพระธาตุจอมมอญ เรียบเรียงประวัติ พ.ศ.๒๕๔๔ ได้รับความอนุเคราะห์เอกสารจาก คุณลุงตีแอ ผู้ดูแลวัด อายุ ๖๘ ปี (พ.ศ.๒๕๕๖))  

(แหล่งอ้างอิงภาพพระธาตุเสด็จ : นาคฤทธิ์ รวบรวมชำระสะสาง (๒๕๔๐-๒๕๔๕). (๒๕๔๕, ตุลาคม). พุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับชำระสะสาง (พิมพ์ครั้งที่ ๑). เชียงใหม่: ลานนาการพิมพ์, ปกหลัง.)

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_0424.JPG



ประวัติบ่อน้ำทิพย์แห่งดอยจอมมอญ วัดพระธาตุจอมมอญ



ใคร่ขอแทรกเรื่องไว้เป็นที่สังเกตสักเล็กน้อยตรงนี้ว่า....อาจจะเป็นเพราะอานุภาพของพระฤาษีผู้น้องนี้ก็เป็นได้ ที่สำเร็จกสิณน้ำกสิณลม จึงบันดาลให้เกิดบ่อน้ำทิพย์ อันสุดแปลกประหลาดขึ้น ณ ดอยจอมมอญนี้...

เมื่อราว ๔๐ กว่าปีที่ผ่านมา (ประมาณ พ.ศ.๒๕๐๐) ผู้ใหญ่คำแปง ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านบ้านพะมอลอคนก่อน ได้ขึ้นไปนมัสการพระเจดีย์บนภูเขา ก็ได้ไปพบแอ่งน้ำเล็กๆ มีน้ำใสขังอยู่ ทั้งๆ ที่ไม่มีฝนตกเลยยามนั้น เมื่อผู้ใหญ่คำแปงกลับลงมาจึงเล่าให้ภรรยาฟังพร้อมทั้งชาวบ้านทั้งหลาย ซึ่งทำให้ภรรยาของผู้ใหญ่คำแปงและชาวบ้านต่างก็สนใจเป็นอันมาก จึงพากันขึ้นไปดูพร้อมทั้งผู้ใหญ่คำแปง โดยต่างก็นำภาชนะติดตัวไปด้วย เพื่อหวังจะขอน้ำมนต์รักษาไข้และเพื่อสวัสดิมงคลต่างๆ


แต่ทุกคนต้องพบกับความผิดหวัง เพราะหาบ่อน้ำน้อยนั้นไม่พบ นัยว่าบ่อน้ำนั้นได้อันตรธานไปแล้วอย่างน่าอัศจรรย์ ชาวบ้านทุกคนไม่มีใครต่อว่าผู้ใหญ่คำแปงว่าพูดปดพูดเท็จ เพราะทุกคนรู้ดีว่า ผู้ใหญ่เป็นคนพูดจริงทำจริงจึงได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน ทุกคนต่างเชื่อว่าเป็นความจริง ที่ว่า “บ่อน้ำทิพย์” นั้นมีจริง...และชาวบ้านยิ่งเชื่อยิ่งขึ้นดังต่อไปนี้

ณ หมู่บ้านพะมอลอ มีกระท่อมอยู่กลางทุ่งนา ยังมีหนุ่มน้อยผู้หนึ่ง เป็นผู้มีหน้าตาสะอาดสดใส จิตใจนั้นเล่าก็ใฝ่แต่กุศลธรรมและมีความฉลาดเกินวัย ผู้เฒ่าผู้แก่ก็เฝ้ามองหนุ่มน้อยนี้ด้วยความเมตตาและเอ็นดู เด็กหนุ่มผู้นี้ชื่อว่า “น้อยอ้าย”
หนุ่มน้อยอ้ายผู้เฒ่าผู้แก่ว่ากันว่า คงเป็นเทวดามาเกิดชั่วครั้งชั่วคราว เพราะว่า “น้อยอ้าย” ตายเร็วเหลือเกิน น้อยอ้ายจากโลกมนุษย์ไปแล้ว คงไปสู่สรวงสวรรค์ดุจเดิม...แต่น้อยอ้ายลงมาเกิดเป็นมนุษย์อย่างมีความหมาย ด้วยการยืนยันกับชาวบ้านพะมอลอว่า ที่บนเขามี “บ่อน้ำทิพย์” เป็นความจริง

“น้อยอ้าย” นั้นได้บวชเป็นสามเณรด้วยความศรัทธา เมื่อบวชแล้วก็รักษาศีลภาวนาเคร่งครัด แต่จะเป็นด้วยเหตุอันใด ก็ไม่มีใครทราบสาเหตุ ทำให้เณรน้อยต้องสึกออกมา
เมื่อสึกออกมาแล้ว แทนที่จะปฏิบัติตนแบบคนทั่วไปก็หาไม่ กลับชอบบำเพ็ญภาวนาดุจเดิม และชอบขึ้นไปจำศีลภาวนาที่บนภูเขาพระธาตุจอมมอญ ขึ้นไปแต่ละครั้งก็เป็นเวลาหลายๆ วัน บรรดาชาวบ้านต่างประหลาดใจมากที่การขึ้นเขาแต่ละครั้ง “น้อยอ้าย” ไม่เคยนำน้ำดื่มขึ้นไปเลย ชาวบ้านจึงไต่ถามด้วยความสงสัยว่า ไม่หิวน้ำแย่หรือ น้อยอ้ายจึงบอกว่า

ที่บนนั้นมี บ่อน้ำทิพย์ ได้อาศัยดื่มกินไม่มีวันหมด แต่น้อยคนจะมองเห็น สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่บนเขาจะบันดาลให้เห็นเฉพาะบางคนเท่านั้น ชาวบ้านต่างก็ให้น้อยอ้ายพาไปดู แต่ก็หาไม่พบอีก...กระทั่งน้อยอ้ายได้จากโลกนี้ไป ผู้เฒ่าผู้แก่สันนิษฐานว่า “ชะรอยองค์พระฤาษีผู้น้อง คงบันดาลให้ได้ดื่มกินเฉพาะผู้จำศีลภาวนาที่มีจิตบริสุทธิ์ หรือเฉพาะคนดีมีบุญเท่านั้นก็เป็นได้”

ยุคต่อมามีพระธุดงค์องค์หนึ่ง
ชื่อ พระสวัสดิ์ นริสฺสโร มาปักกลดอยู่บนศาลายอดเขา และเป็นเวลาใกล้จะเข้าพรรษาแล้ว ชาวบ้านก็ดีใจว่าจะมีพระภิกษุมาอยู่จำพรรษา จึงอาราธนานิมนต์ท่านอยู่จำพรรษา ท่านก็มิได้รับปากว่าจะมาได้ ต้องให้หลวงปู่อนุญาตก่อน จึงจะมาได้ ท่านเป็นศิษย์ของหลวงปู่ครูบาพรหมา (พระสุพรหมยานเถร (ครูบาพรหมฺา พฺรหฺมจกฺโก)) วัดพระพุทธบาทตากผ้า อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน

เมื่อท่านกลับวัดพระพุทธบาทตากผ้าไปแล้ว ไม่นานชาวบ้านต่างก็พากันไปอาราธนานิมนต์ท่านและขออนุญาตจากหลวงปู่ครูบาพรหมาให้พระสวัสดิ์มาอยู่จำพรรษาที่วัดพระธาตุจอมมอญ หลวงปู่ท่านไม่อยากให้มาเท่าใดนักด้วยพรรษายังน้อย แต่เห็นชาวบ้านเขามีศรัทธาจริง ประกอบกับไม่มีพระภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษาเลย และเคยเป็นสถานที่ๆ หลวงปู่เคยธุดงค์ไปปักกลดอยู่ในสมัยก่อนนานมาแล้วด้วย ท่านจึงอนุญาตให้ไปอยู่สัก ๑ พรรษา จากนั้นท่านก็ได้มาอยู่จำพรรษาในปี พ.ศ.๒๕๒๕ มาอยู่ด้วยกัน ๒ องค์ กับพระอาจารย์พิมล ชาตวีโร จากนั้นก็มีหลวงพ่อตาคำ สํวโร ได้เดินทางมาอยู่จำพรรษาด้วย

ในปีต่อมา พระภิกษุ สามเณร ญาติโยม อุบาสก อุบาสิกา ทั้งหลาย ได้ร่วมแรงร่วมใจกันบูรณปฏิสังขรณ์วัดร้างพระธาตุจอมมอญมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ และได้ขออนุญาตไปยังกรมการศาสนายกวัดร้างขึ้นเป็นวัดถูกต้องตามกฎหมาย ทางกรมการศาสนาได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นวัด เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๒ และได้แต่งตั้งให้พระสวัสดิ์ นริสฺสโร เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๓ และได้รับการคัดเลือกให้เป็นอุทยานการศึกษา เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๓


IMG_0565.JPG



อาศัยบารมีพระฤาษีบันดาลน้ำใต้ดินไหลพุ่งออกมาให้ถึง ๒ บ่อ

ในปี พ.ศ.๒๕๔๓ ทางวัดขาดแคลนน้ำ และชาวบ้านที่อพยพหนีน้ำท่วมมาอยู่ที่เชิงหุบเขาหลังวัดก็ได้ขาดแคลนน้ำ บ่อน้ำตื้นที่วัดก็เสียหาย มีโคลนและทรายทะลักออกมาเกือบเต็มบ่อ ทางวัดจึงคิดหาโอกาสที่จะเจาะบ่อบาดาลขึ้นมาใช้ ทางท่านเจ้าอาวาสยังนึกถึงแหล่งน้ำหรือตรงจุดที่ท่านเคยได้นิมิตว่า มีน้ำดีอยู่เสมอ


เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อท่านจำพรรษาได้ ๕-๖ ปี คืนหนึ่งขณะที่จำวัดอยู่ ได้มีเทพยดามาเข้านิมิตฝัน ชี้บอกตรงชายเขาใกล้ทางขึ้นลงกุฏิที่ปลูกไว้ใกล้กู่เจ้าแสนคำ บอกว่า ตรงจุดนี้ ใต้พื้นดินมีน้ำอุดมสมบูรณ์ดีมาก จนกระทั่งบัดนี้เป็นเวลาถึง ๑๓-๑๔ ปีแล้ว ยังไม่ได้พิสูจน์ว่าจะมีจริงตามที่นิมิตบอกไหม ประจวบกับทางวัดเกิดความแห้งแล้งขาดแคลนน้ำอย่างหนัก

จึงขอให้ทางกรมทรัพยากรธรณีมาช่วยเจาะน้ำบาดาลให้ ด้วยทางท่านเจ้าอาวาสก็ชี้จุดบริเวณที่เทพยดาเคยบอกให้ เมื่อทำการเจาะแล้ว ปรากฏว่าน้ำใต้ดินไหลทะลักล้นขึ้นถึงปากบ่อ สูงจากพื้นดินถึง ๓ เมตร ทั้งๆ ที่เป็นฤดูแล้ง เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ นี้เอง น้ำยังไหลอยู่ตลอดจนกระทั่งบัดนี้ โดยไม่ต้องใช้เครื่องสูบน้ำหรือโยกน้ำช่วย ชาวบ้านที่อยู่หน้าวัด ๑๐ กว่าหลังคา ก็ต่อท่อประปาไปใช้กันอย่างสบายไปเลย

อีกบ่อหนึ่งอยู่เนินเขาหลังวัด บริเวณหน้าถ้ำพระฤาษีเดิม ที่ชาวบ้านอพยพไปอยู่นั่นเอง แต่ขาดแคลนน้ำเพราะอยู่ที่สูง ทางหน่วย ร.พ.ช. ได้มาเจาะบ่อบาดาลให้ ก็ปรากฏว่าน้ำใต้ดินไหลล้นออกจากปากบ่อเช่นกัน ชะรอยจะเป็นเพราะพระฤาษีพันกว่าปี ผู้สำเร็จกสิณน้ำกสิณลมองค์นั้นบันดาลความช่วยเหลือ ดังที่น้อยอ้ายได้ดื่มกินน้ำทิพย์บนยอดดอยที่พระฤาษีได้ประทานให้ดังกล่าวมาแต่ต้น บัดนี้ทางการได้มีโครงการสร้างประปาหมู่บ้านขึ้น โดยอาศัยแหล่งน้ำดังกล่าว เพื่อไว้แจกจ่ายให้ทั่วหมู่บ้านพะมอลอ ซึ่งคงจะแล้วเสร็จในปลายปี ๒๕๔๔ นี้

วัดพระธาตุจอมมอญ นับแต่เป็นวัดร้างมานานแล้ว ล้าหลังเขาทั้งหมดในบรรดาพระธาตุ ๔ มุมเมือง กระทั่งถึงบัดนี้ร่วม ๒๐ ปี ที่วัดได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นมา ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง ประชาชนชาวแม่สะเรียงได้รู้จักและศึกษาพระธรรมคำสอน ทั้งฝ่ายหินยานหรือเถรวาท และฝ่ายมหายานหรือมหาสังฆิกวาท ซึ่งเผยแผ่จากอินเดียและจีนผืนแผ่นดินใหญ่ ด้วยทางวัดมีจิตใจกว้างขวางเผยแพร่ส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองในพระพุทธศาสนา ทั้งในไทย จีน และอินเดีย คงจะสมกับคำพยากรณ์ของคนโบราณรุ่นปู่ย่าตาทวด ได้เคยกล่าวกันต่อๆ มาว่า

ต่อไปในภายภาคหน้าเกี่ยวกับพระธาตุ ๔ มุมเมืองนี้ เมื่อใดได้สร้างพระธาตุสำเร็จเรียบร้อยแล้ว อำเภอแม่สะเรียงจะเจริญรุ่งเรืองที่สุด โดยได้กล่าวเป็นปริศนาพยากรณ์ไว้ว่า “จอมมอญ มาตอนมติ มาต้องที่นี่ แล้วมาแจ้งที่นี่” หมายความว่า พระธาตุจอมมอญจะมาบูรณปฏิสังขรณ์ทีหลังเขาหมด หลังจากบูรณะพระธาตุจอมกิตติ มาต้องที่นี่ หมายถึง พระธาตุจอมทอง ซึ่งต่างก็มองเห็นเล็งตรงกันอยู่ และมาแจ้งที่นี่ หมายถึง พระธาตุจอมแจ้ง และมีความหมายว่า ความสว่างไสวความเจริญรุ่งเรืองทั่วอำเภอแม่สะเรียง

ปริศนาคำพยากรณ์ของคนโบราณช่างล่วงรู้ถึงอนาคตได้เป็นอย่างดี ดังนั้นอาศัยความเดิมจากประวัติที่ผู้เฒ่าผู้แก่ได้เล่าสืบๆ กันมาและค้นคว้าประวัติศาสตร์ ประกอบด้วยพระธาตุแห่งนี้ จึงขอตั้งชื่อไว้ว่า “วัดพระธาตุจอมมอญ” เพื่อให้บังเกิดเป็นสิริมงคลและความสว่างไสวเจริญรุ่งเรือง ดั่งคำพยากรณ์ดังกล่าว ดังนั้นอำเภอแม่สะเรียง ก็จะมี “วัดพระธาตุจอมมอญ” เป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองอีกแห่งหนึ่ง

----------------------


(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : เอกสารประวัติวัดพระธาตุจอมมอญ เรียบเรียงโดย พระอาจารย์สวัสดิ์ นริสฺสโร อดีตเจ้าอาวาสองค์แรกวัดพระธาตุจอมมอญ เรียบเรียงประวัติ พ.ศ.๒๕๔๔ ได้รับความอนุเคราะห์เอกสารจาก คุณลุงตีแอ ผู้ดูแลวัด อายุ ๖๘ ปี (พ.ศ.๒๕๕๖))


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_0639.JPG



ซุ้มพระพุทธรูปหลวงพ่อทองคำจำลองทั้งสี่ทิศ พระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระธาตุจอมมอญ



IMG_0657.JPG



พระพุทธรูปปางสมาธิ
ประดิษฐานภายในซุ้มจระนำ พระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระธาตุจอมมอญ

คุณเผด็จ เพชรเกราะ และครอบครัว สร้างถวายเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๙


IMG_0656.JPG



พระพุทธรูปปางนาคปรก
ประดิษฐานภายในซุ้มจระนำ พระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระธาตุจอมมอญ

คุณปรานี ปั้มสายรุ้ง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ สร้างอุทิศถวายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช


IMG_0690.JPG



พระพุทธรูปปางประทานพร ประดิษฐานภายในซุ้มจระนำ พระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระธาตุจอมมอญ


คุณปรานี ปั้มสายรุ้ง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ สร้างอุทิศถวายพระสุพรรณกัลยา หรือพระพี่นางสุพรรณกัลยา


IMG_0688.JPG



พระพุทธรูปปางมารวิชัย (ชนะมาร)
ประดิษฐานภายในซุ้มจระนำ พระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระธาตุจอมมอญ

คุณปรานี ปั้มสายรุ้ง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ สร้างอุทิศถวายสมเด็จพระเอกาทศรถ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_0629.JPG



รอยพระพุทธบาทถ้ำพระเจ้าจำลอง บนยอดดอยพระธาตุจอมมอญ วัดพระธาตุจอมมอญ


**(หมายเหตุ : สนใจติดตามข้อมูล พุทธอุทยานพระบาทสี่รอยถ้ำพระเจ้า เพิ่มเติมได้ที่เว็บแดนนิพพาน @ http://www.dannipparn.com/thread-1137-1-1.html)



IMG_0646.1.JPG



มณฑปครอบรอยเท้าพระอรหันต์ ๗ ขวบ บนยอดดอยพระธาตุจอมมอญ วัดพระธาตุจอมมอญ


IMG_0761.JPG



IMG_0766.JPG



IMG_0767.JPG



IMG_0754.JPG



IMG_0763.JPG



รอยเท้าพระอรหันต์ ๗ ขวบ วัดพระธาตุจอมมอญ


ซึ่งทางวัดได้ไปอัญเชิญมาจากบนดอยบ่อน้ำทิพย์ หรือบ่อแก้ว ห้วยปลาฝา (ห้วยปลาผาก) ตำบลแม่ลาหลวง อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อรอยเท้าพระอรหันต์มาถึงวัดแล้ว คืนนั้นมีแสงลอยตามมาลงที่ต้นโพธิ์หน้าศาลาตงพิพัฒน์ประชาอุทิศ เป็นอัศจรรย์ยิ่งนัก


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html
‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2024-11-5 17:45 , Processed in 0.070288 second(s), 16 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.