ตำนานและประวัติวัดพระธาตุจอมมอญ
๑. ยุคพระฤาษี
เล่าสืบกันมาว่า ยังมีพระฤาษีสี่ตนเป็นพี่น้องกัน ได้เป็นผู้ริเริ่มสร้างพระธาตุสี่มุมเมืองยวม คือ พระธาตุจอมมอญ พระธาตุจอมแจ้ง พระธาตุจอมทอง พระธาตุจอมกิตติ พระฤาษีทั้งสี่ตนนั้นได้พำนักอยู่ ณ ดอยสี่มุมเมืองของตน พระฤาษีทั้งสี่พี่น้องเป็นผู้มีตบะเดชะ มีวิทยาคมแก่กล้ามาก ได้ศึกษาเล่าเรียนเพียรปฏิบัติจากพระฤาษีอีกองค์หนึ่ง ผู้เป็นอาจารย์ซึ่งมีฤทธิ์มากและมีอายุมากแล้ว ได้บำเพ็ญเพียรอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่งทางเหนือของเมืองยวม กล่าวกันว่าถ้ำนั้นชื่อ ถ้ำเหง้า หลังจากพระฤาษีทั้งสี่ตนพี่น้องเรียนศิลปศาสตร์ต่างๆ จนจบแล้ว จึงกราบลาอาจารย์ไปบำเพ็ญเพียรสร้างบารมีต่อ
เล่ากันว่าพระฤาษีผู้พี่ พำนักอยู่ที่ “ดอยจอมกิตติ” ปรุงยาสำหรับชุบชีวิตคนที่ตายแล้วให้ฟื้นคืนมาได้ แม้แต่ศพนั้นจะถูกเผาเป็นขี้เถ้าผุยผงก็สามารถชุบชีวิตคืน เมื่อฤาษีผู้พี่สร้างตัวยาขนานแรกสำเร็จแล้ว ก็จะทดลองตัวยาประกอบขนานอื่นๆ ได้เอาตัวยาชนิดหนึ่งใส่กระทะใหญ่ต้มจนเดือด แล้วได้กล่าวกับลูกศิษย์ว่า ถ้าเรากระโจนลงในหม้อยาใบใหญ่ที่เดือดพล่านอยู่นี้ เมื่อเราจมหายละลายไปในพริบตาแล้ว ขอให้ศิษย์ปรุงยาอีกชนิดหนึ่ง หรืออีกขนานหนึ่งที่เตรียมไว้ และตามด้วยอีกขนานหนึ่งและอีกขนานหนึ่งตามสูตร ให้ผสมได้ส่วนตามที่สอน และเทผสมตามๆ กันไปให้ได้จังหวะพอดี พร้อมทั้งบริกรรมพระคาถาวิเศษกำกับ โดยให้สังเกตดูสีน้ำยาในกระทะที่เดือดพล่านนั้น แล้วก็จมหายไปทันที
เมื่อลูกศิษย์เจอประสบการณ์จริงเข้าเช่นนี้ก็ตกใจมาก ลืมขั้นตอนต่างๆ ที่ท่านอาจารย์สอนเสียสิ้น เทยาใส่ผิดๆ ถูกๆ มิได้เป็นไปตามคำสั่ง พระฤาษีอาจารย์องค์พี่ใหญ่จึงสิ้นชีพลงในกระทะน้ำยานั้น และกระทะน้ำยาก็คงถูกเททิ้งไปตามวิธีการเท่าที่ศิษย์จะพึงกระทำได้ ซึ่งอาจจะมีพิธีขอขมาท่านอาจารย์และอื่นๆ ซึ่งตำนานเดิมมิได้กล่าวไว้
กาลต่อมาชนรุ่นหลังที่มีวิชาอาคม ก็ได้ค้นพบตัวยาของท่านฤาษีติดอยู่ในหินเป็นก้อนๆ หรือดูคล้ายหินชนิดหนึ่ง ต่างพากันเรียกว่า “ยาฤาษีผสม” เมื่อค่อยๆ ทุบให้แตกจะเห็นเป็นกระเปาะผงยาอยู่ภายใน เมื่อชาวบ้านผู้ใดเจ็บป่วย ก็นำไปทำน้ำมนต์ดื่มกิน ปรากฏว่ามีคุณวิเศษรักษาคนป่วยได้อย่างปาฏิหาริย์ และสามารถนำมาผสมแร่ธาตุทำทอง นาค เงินได้ (ผงยาภายในกระเปาะนี้ มีสีขาว, สีเหลือง, สีม่วง, สีน้ำตาล, สีแดง, สีเขียวดำ แต่ละก้อนก็มีสีที่ไม่เหมือนกัน)
พระฤาษีผู้น้องรองลงมา เก่งในทางเล่นแร่แปรธาตุ สามารถแปรเปลี่ยนธาตุหรือซัดตะกั่วให้เป็นทองคำก็ทำได้ ตั้งสำนักอยู่ชื่อว่า “ดอยจอมทอง” พระฤาษีผู้น้องที่สาม เก่งในทางอาคมไสยศาสตร์ทั้งหลาย พำนักอยู่ที่ “ดอยจอมแจ้ง”
ฝ่ายพระฤาษีผู้น้องท้ายสุด เก่งในทางเรียกฝนเรียกลมด้วยอำนาจแห่งพลังจิต สำเร็จกสิณอภิญญา สามารถเดินเหินบนน้ำหรือเหาะขึ้นไปบนอากาศก็ได้ด้วยอำนาจแห่งวาโยกสิณ พระฤาษีตนสุดท้ายนี้พำนักอยู่ ณ “ดอยจอมมอญ” ซึ่งสมัยก่อนโน้นเรียกกันว่า ดอยสามเส้า เพราะเป็นภูเขาสามลูกตั้งอยู่ใกล้กัน มีลักษณะคล้ายก้อนเส้านั่นเอง และเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ดอยหัวเกวียน หรือดอยสามเกวียน
๒. ยุคตั้งเมืองใหม่และสร้างวัดพระธาตุจอมมอญ พ.ศ.๑๙๓๕
ครั้งเมื่อพระฤาษีอีกสามองค์พี่น้องที่เหลือต่างก็มรณภาพลงไปตามกาลเวลา ต่อมากาลล่วงไปนับร้อยๆ ปี ก็ยังความรกร้างทรุดโทรมแก่พระเจดีย์บรรจุพระธาตุทั้ง ๔ มุมเมืองนั้น ตามกฎธรรมดาแห่งโลกธรรม ในปี พ.ศ.๑๓๑๖ สมัยอาณาจักรโยนกนาคพันธุ์สิงหนวัตินคร (เชียงแสน) ขยายอาณาเขตมาถึงแม่สะเรียงให้เป็นเมืองชายแดนของอาณาจักรยวน (หรือโยนก) มาช้านาน
จนกระทั่งในยุคต่อมา เจดีย์พระธาตุจอมมอญ ก็ได้ถูกบูรณะขึ้นใหม่ในรัชสมัยพระเจ้าแสนเมืองมา (พญาแสนเมืองมา) กษัตริย์แห่งนครเชียงใหม่ องค์ที่ ๗ ราชวงศ์มังราย แห่งอาณาจักรล้านนา ซึ่งสืบราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา พระเจ้ากือนา (พญากือนา)
พระราชบิดาซึ่งมีพระราชดำริให้สร้างนครเชียงใหม่ตะวันตก (คือจังหวัดแม่ฮ่องสอนในปัจจุบัน) จึงมีรับสั่งให้เจ้าราชภาคินัยยกไพร่พลช้างม้าลงมาสร้างเมืองแม่ฮ่องสอน ขุนยวม ปาย และเมืองยวม มีอาณาเขตกว้างขวางมาก จึงได้ให้เกณฑ์ผู้คนย้ายจากตัวนครเชียงใหม่และหัวเมืองรอบนอก ให้อพยพครอบครัวลงมาอาศัยและประกอบอาชีพทำมาหากินอยู่ที่เมืองแม่ฮ่องสอน ตลอดจนเมืองแม่สะเรียงมากยิ่งขึ้น
จากนั้นเจ้าเมืองและผู้ทรงคุณวุฒิความรู้ต่างก็ได้ปรึกษากันว่า เราควรบูรณะพระธาตุเจดีย์ไว้ไหว้สา พร้อมทั้งสร้างวัดไว้เป็นที่พำนักจำวัดของพระภิกษุสามเณร ซึ่งในขณะนั้น พระธาตุสี่มุมเมืองจึงได้รับการบูรณะซ่อมแซมเพื่อให้วัฒนาถาวรสืบไป อนึ่ง สมัยที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชกวาดต้อนรี้พลจากพม่า ชาวมอญได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณวัดนี้ด้วย
เหตุดังนี้ พระธาตุจอมมอญ จึงมีประวัติว่าเคยได้รับการบูรณะในสมัยพระเจ้าแสนเมืองมา โดยพระเจ้าแสนเมืองมามีรับสั่งให้มหาอุปราชนามว่า เจ้าแสนคำ เป็นผู้ออกแบบก่อสร้างพระเจดีย์และต่อเติมของเดิมที่พระฤาษีได้สร้างไว้แต่กาลก่อน และให้สร้างวัดขึ้นด้วย
เมื่อมหาอุปราชเจ้าแสนคำได้รับพระราชโองการแล้ว พระองค์ก็ยกไพร่พลมาสร้างวัดพระธาตุจอมมอญขึ้น เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๙๓๕ ซึ่งพระเจ้าแสนเมืองมาพระองค์ได้สวรรคตลงก่อน กาลนั้นพญาสามฝั่งแกนได้ขึ้นครองราชย์แทน ซึ่งขณะนั้นเป็นเวลาที่เจ้าแสนคำกำลังก่อสร้างวัด
๓. ยุคที่มาของชื่อ "พระธาตุจอมมอญ" พ.ศ.๒๑๔๓
ต่อมาประมาณปี พ.ศ.๒๑๔๓ ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้กวาดต้อนรี้พลพม่า ไทใหญ่ มอญ (เม็ง) กะเหรี่ยง มาตั้งถิ่นฐานรกรากอยู่ใกล้วัดเก่าเรียกว่า วังดิน และได้สร้างพระเจดีย์ขึ้นบนยอดดอยจอมมอญ เอาพระบรมสารีริกธาตุที่ได้จากพม่า พระพุทธรูปทองคำ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์หลายอย่างบรรจุไว้ที่องค์พระเจดีย์ เพื่อเป็นที่เคารพสักการบูชา และอุทิศไว้เป็นพระราชกุศลถวายแด่พระพี่นางสุพรรณกัลยา แล้วตั้งชื่อว่า "พระธาตุจอมมอญ" (จากหนังสือ เส้นทางโบราณหนตางบ่าเก่า โดยจิฐิญาณี กุณนะ หน้า ๒๔ บรรทัดที่ ๒๑)
กาลต่อมาหลายร้อยปี วัดก็ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา คงเหลือแต่ซากปรักหักพัง และได้ถูกน้ำป่าไหลหลากมาเชี่ยวกรากท่วมวัด วิหารพังทลายไป ทั้งพระอุโบสถเก่าและกู่เจ้าแสนคำ (เจดีย์บรรจุอัฐิเจ้าแสนคำที่เคยสร้างวัดมาก่อน) ก็ชำรุดทรุดโทรม และถูกหัวขโมยพบลายแทงเข้า แล้วมาขุดค้นเอาของมีค่าไปหมด มิได้นำมาทำนุบำรุงบูรณะวัดที่นี่เลย เอาไปขายกินหมด ซึ่งเป็นเวลานานร่วม ๕๗ ปีมาแล้ว (เรียบเรียงประวัติใหม่ปี ๒๕๔๔) ต่อมาทราบว่าคนพวกนี้ตายกันไปแบบแปลกๆ เป็นปริศนาน่าขบคิด ด้วยเหตุมาขโมยของวัดวาอารามด้วยความโลภในสมบัติใต้พื้นแผ่นดินธรณีสงฆ์
ที่พระเจดีย์บนเขาก็เห็นแต่ซาก มีลักษณะเป็นหลุมคล้ายปลักควาย มีหัวขโมยได้ขึ้นไปลักขุดสมบัติเช่นกัน แต่มีเหตุต้องหนีกระเจิดกระเจิงกันไป ด้วยมีสุนัขในหมู่บ้านเป็นฝูง ซึ่งก็อยู่ห่างไกลกันเป็นกิโลเมตร หนทางก็เป็นป่าเขามืดทึบ บรรดาสุนัขฝูงนั้นเหมือนจะรู้เหตุร้าย ได้เห่าหอนและพากันวิ่งจากบ้านเข้าป่าขึ้นไปถึงบนเขาไล่กัดหัวขโมยวิ่งหนีกันไปหัวซุกหัวซุน ชาวบ้านก็แตกตื่นไล่ตามฝูงสุนัขไปจนพวกหัวขโมยไม่กล้ามาขุดสมบัติที่ฐานพระเจดีย์เก่าบนเขาอีกเลย
๔. ยุคสร้างพระเจดีย์ พ.ศ.๒๔๕๗
กาลเวลาล่วงไปพระเจดีย์ได้ชำรุดทรุดโทรม เหลือแต่ซากปรักหักพัง เป็นหลุมคล้ายปลักควาย ต่อมา พ.ศ.๒๔๕๗ เนื่องด้วยมีเหตุจูงใจ คือ ที่ซากพระเจดีย์เก่าบนเขานี้ ชาวแม่สะเรียงต่างก็เห็นเหตุการณ์ปาฏิหาริย์ สิ่งมหัศจรรย์เป็นเนืองนิจ ปรากฏแสงพระธาตุเสด็จลอยไปมาหาสู่กันระหว่างพระธาตุสี่มุมเมืองอยู่เสมอ ชาวบ้านมักจะเห็นเช่นนี้บ่อยครั้งมาก บังเกิดความเลื่อมใส จึงคิดว่าชะรอยบรรดาเทพเทวาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่ปกปักรักษาพระพุทธศาสนาอยากจะให้สร้างพระเจดีย์ครอบของเก่าไว้
จึงปรึกษาหารือกันและได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างพระเจดีย์ขึ้นมา ในปี พ.ศ.๒๔๕๗ ตรงกับสมัยเจ้าคณะอำเภอองค์แรกของอำเภอแม่สะเรียง ชื่อ ท่านพระครูอนุสรณ์ศาสนกิจ (ครูบาก๋า) วัดกิตติวงศ์ และตรงกับสมัยนายอำเภอคนที่ ๓ มีนามว่า ร.อ.อ. หลวงสุรัตนาราชกิจ (จำปา ลาวนานนท์) ซึ่งอยู่ระหว่าง พ.ศ.๒๔๕๔-๒๔๖๒ และตรงกับสมัยเดียวกันกับการสร้างวัดจอมแจ้ง หนึ่งในบรรดาพระธาตุ ๔ มุมเมืองด้วย
นับเป็นยุคที่สี่ในการสร้างพระเจดีย์ สร้างด้วยความศรัทธาของชาวอำเภอแม่สะเรียง โดยการนำของตระกูลกะเหรี่ยง "พ่อเฒ่าหม่อนจอนุ แม่หม่อนโยแฮ พิกุล" บิดาของพ่อหลวงคำแปง พิกุล ซึ่งเป็นชาวบ้านกะเหรี่ยงพะปลอ (พะปลอ เป็นชื่อของชาวกะเหรี่ยงที่ได้อพยพมาเป็นคนแรก ตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้วัดนี้ กาลต่อมาจึงเพี้ยนเป็น “พะมอลอ” ใช้เป็นชื่อหมู่บ้านมาจนถึงทุกวันนี้)
การสร้างพระเจดีย์ครอบองค์เก่า มี ครูบาติ๊บ อภิวงฺโส วัดป่าหนาด (ปัจจุบันคือ วัดชัยลาภ) เจ้าอาวาสองค์ที่ ๓ เป็นประธานในการสร้างพระเจดีย์ เมื่อได้สร้างพระเจดีย์เสร็จแล้ว ยังสร้างศาลาบำเพ็ญบุญบนยอดเขา ๑ หลัง และเชิงเขาอีก ๑ หลัง แต่หามีพระสงฆ์มาอยู่จำพรรษาไม่ ด้วยเป็นป่ารกชัฏน่าสะพรึงกลัว กล่าวกันว่ามีผีดุ ไม่มีใครกล้ามาอยู่ จึงเป็นวัดร้างเรื่อยมา มีสถานะเป็นเพียงสำนักสงฆ์
ทางด้านหลังวัด ยังมีถ้ำอยู่แห่งหนึ่ง ภายในถ้ำนั้นยังมีถ้วยโถโอชาม กระเบื้องบ้างถ้วยชามดินเผาบ้าง มีอยู่มากมาย เมื่อชาวบ้านมีงานก็ไปขอยืมจากเจ้าถ้ำเจ้าป่าเจ้าเขา เอาไปใช้แล้วก็เอามาคืนไว้อย่างเก่า นานไปเมื่อเอาไปแล้วไม่ยอมเอามาคืน จะไปเอามาอีกก็หาปากถ้ำไม่เจอถูกปิดไปหมด นับแต่นั้นมาก็ไม่เห็นเป็นถ้ำอีกเลย กล่าวกันว่าในถ้ำยังมีพระพุทธรูป มีฆ้องใหญ่ใบหนึ่ง ถ้าตีแล้วเสียงดังกระหึ่มไปหมดดังไกลถึงหมู่บ้าน เมื่อถ้ำถูกปิดแล้ว ถ้าวันไหนคืนไหนได้ยินเสียงฆ้องดังขึ้น ก็จะมีคนในหมู่บ้านล้มหายตายจากอยู่เสมอ เป็นสัญญาณมรณะของผู้คน แต่มาถึงปัจจุบันไม่ค่อยได้ยินเสียงฆ้องเลย เป็นเพราะบ้านเมืองเจริญขึ้น มีเสียงรบกวนทั่วทุกทิศก็ว่าได้
๕. ยุคบูรณะเสริมพระธาตุจอมมอญให้สูง พ.ศ.๒๕๔๐ สู่ปัจจุบัน
ต่อมา พ.ศ.๒๕๒๕ มีพระธุดงค์องค์หนึ่งมาปักกลดอยู่บนศาลายอดเขา และเป็นเวลาใกล้เข้าพรรษาแล้ว ชาวบ้านต่างก็ดีใจว่าจะมีพระมาอยู่จำพรรษา ชาวบ้านพะมอลอจึงอาราธนานิมนต์ท่านอยู่จำพรรษา ท่านก็มิได้รับปากว่าจะมาได้ ซึ่งท่านชื่อ พระสวัสดิ์ นริสฺสโร เป็นศิษย์ของหลวงปู่ครูบาพรหมา (พระสุพรหมยานเถร (ครูบาพรหมฺา พฺรหฺมจกฺโก)) วัดพระพุทธบาทตากผ้า อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ต้องให้หลวงปู่อนุญาตก่อน จึงจะมาได้
เมื่อท่านกลับไปวัดพระพุทธบาทตากผ้าแล้ว ไม่นานชาวบ้านก็พากันไปอาราธนานิมนต์ท่าน และขออนุญาตจากหลวงปู่ครูบาพรหมาให้พระสวัสดิ์มาอยู่จำพรรษาที่วัดพระธาตุจอมมอญ หลวงปู่ท่านไม่อยากให้มาเท่าใดนักด้วยพรรษายังน้อย แต่ชาวบ้านเขามีศรัทธาจริง ประกอบกับไม่มีพระภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษาเลย และเคยเป็นสถานที่ๆ หลวงปู่เคยธุดงค์ปักกลดอยู่ในสมัยก่อนมาแล้ว ท่านจึงอนุญาตให้พระสวัสดิ์ นริสฺสโร ไปอยู่จำพรรษาได้ ๑ พรรษา
พระสวัสดิ์ นริสฺสโร ได้มาอยู่จำพรรษาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๕ ในครั้งนั้นมาอยู่ด้วยกัน ๒ รูป คือ พระสวัสดิ์ นริสฺสโร และพระพิมล ชาตวีโร จากนั้นก็มีหลวงพ่อตาคำ สํวโร จากวัดน้ำจำ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ได้เดินทางมาอยู่จำพรรษา พระภิกษุทั้ง ๓ รูปนี้ ถือเป็นกำลังสำคัญในการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระธาตุจอมมอญ
ต่อมา พ.ศ.๒๕๔๐ ทางวัดได้บูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุจอมมอญขึ้นมาอีกครั้ง โดยสร้างครอบองค์เดิมให้ใหญ่และสูงขึ้น องค์เดิมบรรจุพระบรมธาตุส่วนพระหนุธาตุ (ส่วนคาง) และพระอูรุงคธาตุ (ส่วนโคนขา) เมื่อเสริมใหม่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุ ที่วัดมีอยู่อีกหลายร้อยองค์ และบรรจุพระอาโปธาตุ (พระธาตุแก้ว) ๑,๐๐๐ องค์ ซึ่งคุณรัตนาพร จงจิตรนันท์ ผู้อันเชิญพระธาตุแก้วเสด็จมาที่ห้องพระ แล้วนำมาถวายบรรจุพระเจดีย์แห่งนี้ด้วย
การร่วมแรงร่วมใจกันทั้งทางฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์ในการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระธาตุจอมมอญ ทำให้เสนาสนะถาวรวัตถุมีอยู่อย่างสัปปายะ พระอาจารย์สวัสดิ์ นริสฺสโร ได้ทำเรื่องไปยังกรมการศาสนา เพื่อยกวัดร้างขึ้นเป็นวัดถูกต้องตามกฎหมาย และทางกรมการศาสนาเห็นชอบ ได้ประกาศให้วัดพระธาตุจอมมอญขึ้นทะเบียนเป็นวัด เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๒ โดยแต่งตั้งให้พระอธิการสวัสดิ์ นริสฺสโร เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๓ พร้อมกันนั้นทางวัดพระธาตุจอมมอญยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นอุทยานการศึกษาในปีเดียวกันคือ เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๓
๖. เกิดปาฏิหาริย์พระธาตุเสด็จ พ.ศ.๒๕๒๘
พระธาตุจอมมอญนี้ มีผู้เห็นพระธาตุเสด็จลอยไปมาหาสู่กันระหว่างพระธาตุ ๔ มุมเมืองอยู่เสมอ ภาพพระธาตุเสด็จนี้ถ่ายในวันงานพิธีสืบชะตาอายุวัดพระธาตุจอมมอญและทำบุญทอดผ้าป่าถวายพระประธานหน้าตัก ๓๙ นิ้ว โดยคุณวิบูลย์ คุณอาภรณ์ คุณพินิจ คุณแจ่ม ชินชัย พร้อมญาติมิตร เป็นเจ้าภาพถวายในวันพฤหัสบดีที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๘
ด้วยที่วัดพระธาตุจอมมอญได้รกร้างมานาน ๔๐๐ กว่าปี หลังเสร็จพิธีมหามงคลสืบชะตาวัดเสร็จ ผู้มาร่วมทำบุญกำลังทยอยกันกลับบ้าน เดินลงเขายังไม่ถึงครึ่งทาง แล้วก็มองขึ้นไปเพื่อนมัสการพระเจดีย์อีกครั้ง ทันใดนั้นก็ปรากฏเห็นแสงรัศมีเปล่งออกจากพระเจดีย์ สว่างไสวบริเวณที่พื้นและพุ่งขึ้นข้างบน เป็นดวงกลมโตเท่าลูกมะพร้าว สว่างสุกใสเสด็จลอยขึ้นเหนือองค์พระเจดีย์ ออกสีขาว-เหลือง-ส้ม แล้วลอยไปมาอยู่ครู่หนึ่ง จึงหายลับไปในองค์พระเจดีย์
มีผู้คนเห็นประมาณ ๑๐ กว่าคน พวกที่เล่นฟุตบอลห่างออกไปราว ๑ กิโลเมตร ก็เห็นกันด้วย ภาพที่สามคนพ่อลูกถ่ายยืนอยู่ข้างพระเจดีย์นั้น (คุณพินิจ คุณแจ่ม ชินชัย) ถ่ายก่อนแสงพระธาตุจะเสด็จในเวลาไล่เลี่ยกัน กล้องจับภาพแสงรัศมีได้
ตามภาพที่เห็นข้างพระเจดีย์ จะเห็นรัศมีพุ่งออกจากฐานพระเจดีย์สว่างบริเวณที่พื้นและพุ่งขึ้นข้างบน ซึ่งมิใช่เป็นการถ่ายย้อนแสง เพราะถ่ายไปทางทิศใต้ ดวงอาทิตย์อยู่ทางขวามือของภาพ ทิศตะวันตกอยู่ทางซ้ายมือของทั้ง ๓ คน และตะวันกำลังจะลับขอบฟ้าอยู่แล้ว แสงสว่างที่เจดีย์และที่พื้นน่าจะเป็นรัศมีของพระบรมธาตุอย่างแน่นอน เพราะถ่ายแล้วก็เดินลงเขา พระธาตุก็ปาฏิหาริย์ให้มองเห็นแสงด้วยตาเปล่าขึ้นมาจริงๆ
ปกติโดยมากพระธาตุจะเสด็จตอนกลางคืน แต่ที่เสด็จเป็นปาฏิหาริย์ในครั้งนี้ เนื่องด้วยเป็นวันสำคัญที่สุดวันหนึ่ง คือ วันสืบชะตาต่ออายุวัด ซึ่งรกร้างมานาน ๔๐๐ กว่าปี และมีพระภิกษุสงฆ์มาอยู่จำพรรษาและบูรณปฏิสังขรณ์วัดขึ้นอีกครั้ง เพื่อจักได้สืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองวัฒนาสถาพรยิ่งๆ ขึ้นไป
----------------------
(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : ป้ายประวัติวัดพระธาตุจอมมอญ และเอกสารประวัติวัดพระธาตุจอมมอญ เรียบเรียงโดย พระอาจารย์สวัสดิ์ นริสฺสโร อดีตเจ้าอาวาสองค์แรกวัดพระธาตุจอมมอญ เรียบเรียงประวัติ พ.ศ.๒๕๔๔ ได้รับความอนุเคราะห์เอกสารจาก คุณลุงตีแอ ผู้ดูแลวัด อายุ ๖๘ ปี (พ.ศ.๒๕๕๖))
(แหล่งอ้างอิงภาพพระธาตุเสด็จ : นาคฤทธิ์ รวบรวมชำระสะสาง (๒๕๔๐-๒๕๔๕). (๒๕๔๕, ตุลาคม). พุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับชำระสะสาง (พิมพ์ครั้งที่ ๑). เชียงใหม่: ลานนาการพิมพ์, ปกหลัง.)