แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
เจ้าของ: pimnuttapa
go

พุทธอุทยานพระบาทสี่รอยถ้ำพระเจ้า ม.๗ ต.บ้านกาศ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

11.1.jpg



รูปภาพพระสวัสดิ์ นริสฺสโร



พระสวัสดิ์ นริสฺสโร อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุจอมมอญ รูปที่ ๑ (รับตำแหน่งปี พ.ศ.๒๕๔๓) และท่านเป็นผู้รวบรวมเรียบเรียงหนังสือพุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก (ฉบับชำระสะสาง) ด้วย


ชาตะ วันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๗ มรณภาพ วันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๗ สิริอายุรวมได้ ๕๐ ปี เป็นพระภิกษุได้ ๒๓ พรรษา และได้ลาสิกขาเป็นเวลา ๑ ปี ๕ เดือน


พระอาจารย์สวัสดิ์ ได้รวบรวมเรียบเรียง พุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก ขึ้นมา ท่านได้จาริกตระเวนไปกราบไหว้สักการบูชาพระบาทพระธาตุถึงสิบสองปันนา เชียงรุ้ง เมืองลวง เมืองม้า เมืองลา เมืองหน เมืองฮาย เมืองแช่ เมืองปาน เชียงลอ ซึ่งเมื่อรวบรวมได้มาแล้วก็พิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่มฉบับชำระสะสางเป็นภาคที่ ๑ ก็สำเร็จไปแล้วดังกล่าว แต่เมื่อค้นคว้าดูอีกหลายๆ ที่ และจากที่ พระอาจารย์ชัยวัฒน์ อชิโต ศิษย์พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) (วัดจันทาราม (ท่าซุง) อ.เมือง จ.อุทัยธานี) ซึ่งท่านได้รวบรวมไว้เยอะมากๆ


พระอาจารย์สวัสดิ์ก็ได้ติดต่อไปตามสำนักวัดต่างๆ ที่ออกตำนานพระบาทพระธาตุ ร่วม ๓๐๐ แห่ง เพื่อให้สำนักนั้นๆ ส่งรายละเอียดพร้อมภาพถ่ายมาให้ แล้วพระอาจารย์สวัสดิ์จะได้ส่งพุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลกภาค ๑ ไปถวายฟรี และจะนำตำนานที่ยังไม่ได้ลงพิมพ์มารวบรวมเป็นภาคที่ ๒ ส่งถวายให้อีก แต่ปรากฏว่าได้รับความร่วมมือสนับสนุนเพียง ๒๐ กว่าแห่งเท่านั้นเอง จะเป็นเพราะเหตุอันใดไม่ทราบ จึงเป็นสาเหตุอันหนึ่งที่ให้พระอาจารย์สวัสดิ์สึกขาลาเพศไปสักระยะหนึ่งก่อน เพื่อสะดวกในการตระเวนขับรถไปค้นหาเอาเอง ถึงที่แล้วค่อยกลับมาบวชใหม่ เมื่อเสร็จภารกิจนี้แล้ว


เรียกได้ว่าตะลุยไปได้ทุกหนแห่งโดยไม่ต้องหวังพึ่งใคร สร้างบารมีเป็นของตนเอง ยอมเหน็ดเหนื่อยเสียเวลาสละยศถาบรรดาศักดิ์ ตำแหน่งพระครู ซึ่งทางสงฆ์กำลังจะเสนอให้ได้ในปี ๒๕๔๖ นี้แล้ว ก็ไม่อยากได้ อยากมี อยากเป็น ซึ่งได้เป็นเจ้าอาวาสก็ยังไม่อยากเป็นอยู่แล้ว อยากทำงานเป็นกำลังของพระศาสนาในทำนองปิดทองหลังพระก็เพียงพอแล้ว ยกยอเทิดทูนบูรณะพัฒนา เผยแพร่พระพุทธศาสนาไปอีกรูปแบบหนึ่ง


พระอาจารย์สวัสดิ์อธิษฐานจิตขอสร้างบารมีเป็น พระโพธิสัตว์ ซึ่งมีความผูกพันฝังลึกอยู่ในหัวจิตหัวใจมาตั้งแต่เริ่มศึกษาธรรมะและปฏิบัติธรรมมาช้านานแล้ว อยากจะตัดภพชาติ ไม่ยุ่งเกี่ยวอะไรอีก เพื่อมุ่งสู่นิพพานดับทุกข์อย่างเดียว จิตใจมันก็ไม่ยอม มันร้องไห้อัดอั้นตันใจ อึดอัดมาก มันไม่ยอมท่าเดียว มันบอกว่าสร้างบารมีมาทางนี้หลายภพหลายชาติแล้ว ในบรรดาบารมี ๓๐ ทัศ ที่สร้างมา


ปัจจุบันชาติได้บำเพ็ญ อธิษฐานบารมี ชาติต่อไปจึงจักได้บำเพ็ญ วิริยะบารมี บำเพ็ญเพียรให้มั่นคงอย่างเดียว ไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ใดๆ แม้ข้าวปลาอาหารก็อดมื้อกินมื้อหรือรอดไปได้หลายๆ วัน ด้วยอาศัยเพียรเพ่งภาวนา มีปิติเอิบอิ่มอยู่ในธรรม สร้างกำลังสมาธิจิตให้แข็งแกร่งแก่กล้า ก็ไม่ต้องการอาหารไปหล่อเลี้ยงร่างกายมากนักฯ ตามคติของนักกรรมฐานว่า “กินน้อย นอนน้อย พูดน้อย ทำความเพียรมาก”  


ปัจจุบันชาตินี้อยากทำอย่างนี้ให้ได้เช่นกัน แต่ก็ได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยด้วยโรคภัยเบียดเบียน คงทำบาปกรรมทางเบียดเบียนทรมานสัตว์มาแต่ปางก่อน จึงทำให้เป็นคนขี้โรค ไม่แข็งแรงสมบูรณ์เหมือนใครอื่นเขา เข้าทำนอง ๓ วันดี ๔ วันไข้ ยังดีอยู่ว่าถึงตัวจะเล็กแต่ใจมันใหญ่ มันมีปณิธานอยู่ในหัวใจที่มุ่งมั่นจะสร้างคุณงามความดี สร้างบารมีให้ไว้กับพระศาสนา รักพระศาสนายิ่งกว่าสิ่งอื่นใด เสียสละทั้งกำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญา กำลังทรัพย์เท่าที่มีทุ่มเทให้กับพระพุทธศาสนา มีความเสียสละความสุขส่วนตนเพื่อส่วนรวมเป็นที่ตั้ง


การที่พระอาจารย์สวัสดิ์กล่าวว่า มาสร้างบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ (ปุถุชนโพธิสัตว์) มิใช่ว่าจะเป็นการอวดอ้างเอาเอง หรือเมื่อตอนเป็นพระภิกษุก็ไม่ค่อยอยากจะพูดเปิดเผยอะไร เพราะสงฆ์ด้วยกันบางท่านก็จะกล่าวว่า อุตริมนุษยธรรม ปรับอาบัติว่าถึงปาราชิกก็มี อันที่จริงแล้ว คำว่า อุตริมนุษยธรรม แปลว่า ธรรมอันยิ่งที่ไม่มีในตน ถ้าพูดหรืออวดอ้างไม่เป็นความจริง จึงถือว่าเป็นปาราชิกได้ แต่ถ้าเป็นไปตามความจริง ท่านปรับอาบัติเพียงแค่ ปาจิตตีย์ ปลงอาบัติกันได้ไม่ใช่ผิดมากมายอะไรนัก เมื่อเป็นฆราวาสพระอาจารย์สวัสดิ์จึงกล้าพูดได้อย่างเต็มปากและมิใช่เป็นการทึกทักอวดอ้างเอาเอง


แม้ครูบาอาจารย์ของพระอาจารย์สวัสดิ์สมัยท่านยังมีชีวิตอยู่ อาทิ หลวงปู่พระสุพรหมยานเถร วัดพระพุทธบาทตากผ้า พระอุปัชฌาย์ ก็ได้บอกกล่าวเล่าขานให้พระอาจารย์สวัสดิ์ฟัง ทั้งๆ ที่พระอาจารย์สวัสดิ์มิเคยปริปากบอกท่าน หลวงปู่ท่านก็มีญาณหยั่งรู้ ด้วยหลวงปู่ท่านก็เคยปรารถนาพุทธภูมิ เป็นพระโพธิสัตว์มาเช่นกัน แต่ท่านสร้างบารมีมานานจนแก่กล้าแล้ว ได้ช่วยเหลือสรรพสัตว์มามากแล้ว จึงขอตัดพุทธภูมิเข้าสู่อรหัตตภูมิเสียในปัจจุบันชาติ


อีกองค์หนึ่งที่พยากรณ์พระอาจารย์สวัสดิ์ไว้สมัยที่ท่านมีชีวิตอยู่ คือ หลวงปู่ครูบาธรรมชัย วัดทุ่งหลวง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ว่าพระอาจารย์สวัสดิ์สร้างบารมีเป็นพระโพธิสัตว์และได้เคยอุปัฏฐากหลวงปู่มาแต่ชาติปางก่อน หลวงปู่ท่านก็สร้างบารมีเป็นพระโพธิสัตว์เช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้พระอาจารย์สวัสดิ์ก็ไม่เคยปริปากบอกท่านก่อน แต่ท่านก็รู้ได้ด้วยญาณภายใน


เมื่อไม่นานมานี้ พระอาจารย์สวัสดิ์ไปกราบไหว้คารวะสรีระของหลวงปู่ครูบาธรรมชัย ได้เล่าถึงความผูกพันระหว่างหลวงปู่กับพระอาจารย์สวัสดิ์ให้ผู้ร่วมเดินทาง เล่ายังไม่ทันจบก็เกิดอาการอัดอั้นตันใจ สะอึกสะอื้นร่ำไห้ ปิติอย่างบอกไม่ถูกจนละลำละลักพูดไม่ออก มันร้องสะอื้นลูกเดียวตั้งนาน จนผู้ร่วมเดินทางตกอกตกใจไปตามๆ กัน ว่าพระอาจารย์เป็นอะไรไป และยังมีอีกหลายพระองค์ที่มีความผูกพันสัมผัสทางจิตทางนิมิตฝันบ่อยๆ ที่สร้างบารมีสายโพธิสัตว์


อาทิ พระโพธิสัตว์กวนอิม หลวงปู่เทพโลกอุดร หลวงปู่ทวด สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) พระครูวิหารกิจจานุการ (ปาน โสนนฺโท, หลวงพ่อปาน โสนันโท) พระครูบาเจ้าศรีวิชัย สิริวิชโย พระครูปัญญาวรวัตร (ครูบาผาผ่า) ครูบาราศี (ตุ๊เจ้าเสือดาว) พระครูวิมลคุณากร (หลวงปู่ศุข เกสโร) วัดปากคลองมะขามเฒ่า พระครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนา หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ฯลฯ เป็นต้น



**(หมายเหตุ : สนใจติดตามข้อมูล วัดพระธาตุจอมมอญ เพิ่มเติมได้ที่เว็บแดนนิพพาน @ http://www.dannipparn.com/thread-1106-1-1.html)


--------------------


(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : นาคฤทธิ์ รวบรวมชำระสะสาง (๒๕๔๐-๒๕๔๕). (๒๕๔๕, ตุลาคม). พุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับชำระสะสาง (พิมพ์ครั้งที่ ๑). เชียงใหม่ : ลานนาการพิมพ์. หน้า ๓๐๙-๓๑๐. และหนังสืออนุสรณ์ เนื่องในงานฌาปนกิจศพอาจารย์สวัสดิ์ (คงเดช) วงศ์ประเสริฐ อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุจอมมอญ. ๒๓ มกราคม ๒๕๔๘. ได้รับความอนุเคราะห์เอกสารจาก คุณลุงตีแอ ผู้ดูแลวัดพระธาตุจอมมอญ อายุ ๖๘ ปี (พ.ศ.๒๕๕๖))


(แหล่งอ้างอิงภาพ : นาคฤทธิ์ รวบรวมชำระสะสาง (๒๕๔๐-๒๕๔๕). (๒๕๔๕, ตุลาคม). พุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับชำระสะสาง (พิมพ์ครั้งที่ ๑). เชียงใหม่: ลานนาการพิมพ์, ปกหน้า.)



151329kofknarufbknjb17.jpg



พบตำนานพระพุทธเจ้าเลียบโลก

เสด็จมาประทับรอยพระบาทไว้ที่เมืองยวม



จนกระทั่งในปลายปี พ.ศ.๒๕๔๔ ท่านพระอาจารย์สวัสดิ์ นริสฺสโร ได้รำพึงอยู่ในใจและบอกกล่าวกับญาติโยมบางคนว่าอยากจะรวบรวมเรียบเรียงประวัติพระธาตุสี่จอม ร่วมกับ พระพุทธบาท ที่ได้ไปพบมาและรอยพระหัตถ์ที่อยู่บนดอยพระหัตถ์ บ้านดงสงัด ซึ่งยังไม่มีใครเรียบเรียงเอาไว้ ได้แต่คำเล่าลือสืบๆ กันมา กลัวว่านานไปจะไม่มีใครทราบประวัติความเป็นมา ท่านจึงได้ปักธูปตั้งสัตยาธิษฐานบอกกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเทพยดาอินทร์พรหมทั้งหลายว่า

“การที่ข้าพเจ้าได้ไปพบรอยพระบาทตามที่ฝันไปก่อนนั้น จะเป็นรอยพระพุทธบาทแท้จริงประการใดหรือไม่ ถ้าจริงก็ขอให้พบเจอตำนานเก่าแก่หรือท่านผู้รู้ ผู้เฒ่าผู้แก่ ได้ชี้แนะให้ได้ความกระจ่าง ภายใน ๗ วันนี้ด้วยเถิด เพื่อจะได้เป็นที่ศรัทธาปสาทะแก่พุทธบริษัท จักได้สืบต่ออายุพุทธศาสนาตราบเท่า ๕,๐๐๐ พระวัสสาต่อไป”

หลังจากนั้นได้ ๕ วัน (วันที่ ๖ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๕) ท่านได้เดินทางไปแจกผ้าห่มร่วมกับท่านพระครูอนุสนธิ์วรกิตติ์ เจ้าคณะตำบลแม่สะเรียงเขต ๒ ซึ่งญาติๆ ของเจ้าคณะตำบลถวายให้ไปแจกแก่คนยากจน ได้ไปที่บ้านปู่ทา ทางไปแม่สามแลบ อำเภอสบเมย โดยล่องเรือตามแม่น้ำสาละวิน (น้ำคง) ลงไปเป็นระยะทางหลายสิบกิโลเมตร ขึ้นฝั่งแล้วเดินเลียบไหล่เขาและลำห้วยไปอีก ๓ กิโลเมตร ก็ถึงสำนักสงฆ์บ้านปู่ทา แจกผ้าห่มและยา แล้วพัก ๑ คืน

ก่อนฉันเช้า ได้สนทนาธรรมกับเจ้าสำนักชื่อ ท่านชัย เมื่อคุยกันถึงเรื่องประวัติพระธาตุเจดีย์ต่างๆ ท่านบอกว่า ท่านมีหนังสือดีๆ ไว้อ่านเล่มหนึ่งเก่าแก่ แล้วชื่อหนังสือ ตำนานพระเจ้าเลียบโลก หรือพุทธตำนาน กล่าวถึงพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาแม่น้ำสาละวินด้วย พระอาจารย์สวัสดิ์จึงรีบถามว่า “จริงหรือและอยู่ไหน? เอาหนังสือมาดูซิ อยากรู้จริงๆ” เมื่อได้อ่านค้นคว้าดูแล้วปรากฏว่า เป็นตำนานที่เก่าแก่จริงๆ เป็นคัมภีร์ทางภาคเหนือ มีต้นฉบับเป็นใบลานเขียนด้วยอักษรล้านนา ได้คัดลอกต่อๆ กันมา เป็นเวลาร่วม ๕๐๐ ปีแล้ว

“พุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก” ได้ปริวรรตเป็นภาษาไทยแล้ว มีทั้งหมด ๑๒ กัณฑ์ เมื่อเปิดอ่านค้นหาดูก็ได้พบเจอในกัณฑ์ที่ ๙ กล่าวไว้ว่า..... “จากนั้นพระพุทธเจ้าก็เสด็จไปสู่เมืองยวม (อำเภอขุนยวม ซึ่งที่จริงคือ อำเภอแม่สะเรียง ด้วยผู้ปริวรรตเข้าใจผิดไปเอง) แล้วก็ไว้รอยพระบาทรอยหนึ่ง”...ฯลฯ พระอาจารย์สวัสดิ์จึงบังเกิดศรัทธาปสาทะมีความปิติยินดีเป็นอย่างยิ่งที่รอยพระพุทธบาทที่ท่านพบนั้นต้องเป็นของแท้ดั้งเดิมแน่นอนตามที่ได้สัตยาธิษฐานไว้ดังกล่าว

จึงเป็นแรงดลใจให้พระอาจารย์สวัสดิ์ นริสฺสโร อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุจอมมอญ รวบรวมเรียบเรียง “พุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก” ฉบับ “ชำระสะสาง” ขึ้นออกมาสู่สายตาชาวโลกเป็นฉบับแรก ประกอบด้วยภาพพระบาท พระธาตุเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาธาตุ ที่พระพุทธองค์ได้เสด็จมาฐาปนาประดิษฐานประทานให้ด้วยพระองค์เอง สมัยที่พระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่

ดังนั้น “พุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก” นับว่าเป็นพงศาวดารดึกดำบรรพ์ของพระพุทธศาสนา เป็นมรดกสมบัติศิลปวัฒนธรรมทางการศึกษาที่ล้ำค่าของชาติ จัดเป็นมรดกโลกก็ว่าได้ พระอาจารย์สวัสดิ์จึงได้จัดพิมพ์จำนวน ๒,๐๐๐ เล่ม โดยไว้ถวายที่วัดที่มีพระบาท พระเกศาธาตุเจดีย์ตามที่กล่าวไว้ในตำนาน ตลอดถึงห้องสมุดใหญ่ๆ พุทธสถานต่างๆ ด้วย ที่เหลืออีก ๑,๐๐๐ เล่ม ให้ทำบุญบูชา เพื่อนำรายได้ไปบูรณปฏิสังขรณ์รอยพระพุทธบาทถ้ำพระเจ้า

(วัดใดที่มีพระเจดีย์บรรจุเกศาธาตุและพระพุทธบาทที่ออกตามตำนาน และห้องสมุดประจำจังหวัด พุทธสถานฯ ที่ยังไม่ได้รับหนังสือพุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก โปรดแจ้งความประสงค์ไปได้ที่ วัดพระธาตุจอมมอญ บ้านพะมอลอ หมู่ที่ ๙ ตำบลบ้านกาศ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน จะได้จัดส่งไปถวาย)

หลังจากนั้นเมื่อต้นปี พ.ศ.๒๕๔๖ คณะศรัทธาบ้านแม่ต๊อบเหนือ หมู่ ๗ มี พ่อหลวงจันทร์ พันธุ์พุทธชาต ผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น ได้เห็นพ้องต้องกันว่าให้อาจารย์สวัสดิ์ ซึ่งมีความตั้งใจจริงที่จะบูรณะพัฒนารอยพระพุทธบาทถ้ำพระเจ้าที่เคยปรารภไว้ แต่ชาวบ้านยังไม่ยอมอนุญาตเป็นเวลานาน ๕ ปีแล้ว จนกระทั่งท่านได้สึกขาลาเพศออกมาเป็นการชั่วคราว แล้วจะกลับเข้าไปใหม่ด้วยเหตุผลบางประการ ท่านก็ไม่ได้ละทิ้งความพยายาม มีปณิธานแน่วแน่ที่จะบูรณปฏิสังขรณ์รอยพระพุทธบาทแห่งนี้ให้จนได้ (ตามที่หลวงปู่เทพโลกอุดรได้พยากรณ์ทางนิมิตฝันไว้)  

อาจารย์สวัสดิ์จึงเป็นผู้นำในการดำเนินการพัฒนาให้เป็นสำนักปฏิบัติธรรมในป่าลึกที่สงบวิเวกอีกแห่งหนึ่ง จะขอตั้งชื่อว่า "พุทธอุทยานพระบาทสี่รอยถ้ำพระเจ้า" จัดเป็นสำนักปฏิบัติธรรมในป่าแห่งหนึ่ง เพราะมีความเป็นมาอันเนื่องด้วยพระพุทธเจ้าสี่พระองค์ ดังจะเล่าสู่ท่านฟังต่อไป  

--------------------


(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : นาคฤทธิ์ รวบรวมชำระสะสาง (๒๕๔๐-๒๕๔๕). (๒๕๔๕, ตุลาคม). พุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับชำระสะสาง (พิมพ์ครั้งที่ ๑). เชียงใหม่ : ลานนาการพิมพ์. หน้า
๓๐๕-๓๐๖.)

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

4.jpg



ประวัติการค้นพบรอยพระพุทธบาทพระโคตมสัมมาสัมพุทธเจ้า

(พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๔ หรือองค์ปัจจุบัน)  

พุทธอุทยานพระบาทสี่รอยถ้ำพระเจ้า

อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน



มีพระภิกษุรูปหนึ่ง ชื่อ พระสวัสดิ์ นริสฺสโร อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุจอมมอญ ท่านได้จาริกแสวงบุญไปตามถ้ำตามป่าเขาลำเนาไพร เพื่อไปปฏิบัติสมณธรรมบำเพ็ญภาวนา และได้อัญเชิญพระธาตุตามถ้ำศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ทางเหนือเรียกว่า “ธาตุน้ำ” (อาโปธาตุ) นำมาสักการบูชาและบรรจุพระเจดีย์ อยู่มาคืนหนึ่ง ท่านได้พบกับ หลวงปู่เทพโลกอุดร ทางนิมิตฝัน หลวงปู่ได้กล่าวขึ้นว่า “ต่อแต่นี้ไปท่านจะได้ไปพัฒนาถ้ำอีก ๒ แห่งในป่า เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม มีน้ำประปาภูเขาด้วย”

เมื่อตื่นขึ้นมา จึงทบทวนดูในนิมิตฝันนั้นว่าจะเป็นถ้ำที่ตรงไหนหนอ หลวงปู่ก็มิได้บอกสถานที่ให้ จึงได้คิดถึงถ้ำแห่งหนึ่งที่เคยไปปักกลดอยู่เมื่อนานปีมาแล้ว ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากอำเภอแม่สะเรียงมากนัก ถ้ำนั้นมีชื่อว่า “ถ้ำเหง้า” จากนั้นอีกไม่นาน ท่านก็ได้ไปบูรณะพัฒนาเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมถ้ำเหง้า แล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๕๓๙ จำพรรษาอยู่ ๑ พรรษา ต่อมาก็มีพระภิกษุมาอยู่ปฏิบัติธรรมจำพรรษาทุกปีจนกระทั่งบัดนี้

กาลต่อมา ท่านก็ได้พบถ้ำอีกแห่ง อยู่ทางทิศเหนือของอำเภอแม่สะเรียงไปประมาณ ๒๐ กิโลเมตร เป็นป่าเขาลึกจากถนนใหญ่เข้าไป ๖ กิโลเมตร อยู่ในเขตหมู่บ้านกะเหรี่ยงแม่ต๊อบเหนือ ชาวกระเหรี่ยงเรียกกันว่า “ต่าคอโพเล่อปู” ซึ่งแปลว่า “ถ้ำพระเจ้า” เป็นถ้ำที่กว้างสูงใหญ่ มีหินงอกหินย้อยเป็นรูปลักษณ์ต่างๆ อย่างสวยสดงดงามและมีมากมายหลายถ้ำ จัดเป็นถ้ำที่สวยงามที่สุดในอำเภอแม่สะเรียง มีปล่องถ้ำกว้างมองเห็นท้องฟ้าได้

ภายในถ้ำข้างในยังมีบ่อลึกลงไปเป็นอุโมงค์ ชาวบ้านบอกว่าสามารถเดินตามอุโมงค์ไปได้ไกลหลายสิบกิโลเมตร ชาวแม่สะเรียงยังไม่ค่อยรู้จักถ้ำนี้สักเท่าใดนัก เนื่องจากอยู่ในถิ่นทุรกันดาร เป็นป่าดงพงทึบ ภูเขามีลักษณะเป็นหินผาศิลาใหญ่สลับซับซ้อนเรียงรายอยู่เป็นแห่งๆ ก็มีเป็นธรรมชาติที่งดงามมาก บนหินผาศิลาเหล่านั้น จึงได้พบกับรอยพระพุทธบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีเรื่องราวความเป็นมาน่าอัศจรรย์ดังจะกล่าวต่อไป

ก่อนที่จะพบรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ ท่านนิมิตฝันไปถึง ๓ หนว่า มีรอยพระบาทอยู่บนเขาที่วัดบ้าง อยู่บนเขาที่ลึกเข้าป่าไปบ้าง จนกระทั่งนิมิตฝันครั้งที่ ๓ ว่าท่านได้เข้าไปในป่าเขาลึกเข้าไปทางทิศเหนือของวัด พบสถานที่น่ารื่นรมย์มาก มีเงื้อมผายื่นออกมาคล้ายหน้ามุข มีเสาหินค้ำไว้ ๒ ต้น เหมือนเป็นหน้าถ้ำ มีตะไคร่น้ำและเฟิร์นขึ้นตามเสา มีต้นว่านต้นยาขึ้นอยู่รอบๆ บริเวณนั้นมีน้ำไหลผ่าน ป่าไม้เขียวขจี มีทางคล้ายทางเดินจงกรมที่ปฏิบัติธรรม

ไกลออกไปเห็นเก้งกวางสัตว์ป่าอยู่อย่างเป็นสุข ดูสงบร่มเย็นเหมาะเป็นสถานที่สำหรับบำเพ็ญภาวนามาก รู้สึกมีจิตใจปลอดโปร่งเย็นสบาย จึงเข้าที่นั่งสมาธิอยู่ครู่หนึ่งจิตก็รู้สึกดิ่งเข้าสู่ความสงบโล่งโปร่งเบา มีความสุขอย่างบอกไม่ถูก ออกจากสมาธิก็เดินจงกรมตามทางจงกรมที่มีอยู่ใกล้เงื้อมผานั้น

ทันใดก็ได้เหลือบไปพบเห็นรอยพระพุทธบาทสีทองอร่ามประทับอยู่บนแท่นศิลาที่เงื้อมผา รู้สึกมีความปลาบปลื้มปิติเป็นอันมาก บังเกิดขนพองสยองเกล้าน้ำตาไหลพราก ก้มลงกราบรอยพระบาทด้วยความเคารพเลื่อมใสศรัทธาปสาทะในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างสุดซึ้ง เหมือนกับพระพุทธองค์ได้มาโปรดเรา แล้วก็สะดุ้งตื่นขึ้นมา เหตุการณ์นั้นยังจำติดหูติดตา ชัดเจนแจ่มแจ้งเหมือนกับว่าได้ไปพบไปเห็นมาจริงๆ นับตั้งแต่นั้นมาก็เป็นเวลานาน ๑๐ กว่าปีมาแล้ว ที่นิมิตฝันไปเช่นนี้ จึงทำให้ถูกลืมเลือนไปเสีย

จนกระทั่งประมาณเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๑ พระสวัสดิ์ นริสฺสโร ได้จาริกไปปักกลดอยู่ในถ้ำแห่งนั้น คือ ถ้ำพระเจ้า หลังจากสวดมนต์ไหว้พระแผ่เมตตาภาวนาแล้ว คืนนั้นเกิดสังหรณ์ใจขึ้นมาว่า “ถ้ำนี้น่าจะมีรอยพระพุทธบาทอยู่ เพราะความรู้สึกนั้นเสมือนว่ามีพุทธานุภาพปกคลุมไปทั่วบริเวณถ้ำทั้งหมดเลย” พรุ่งนี้เช้าเราจะออกสำรวจดูให้แน่แก่ใจเสียที

พอสว่างขึ้นมาเห็นฝนตกพรำๆ จึงกางกลดแทนร่มกันฝน เตรียมกล้องถ่ายภาพไปด้วย ออกจากปากถ้ำแล้วปีนขึ้นเขาตรงหน้าถ้ำทางขวามือ หญ้าก็รก กิ่งไม้ก็เป็นหนาม หินก็แหลมคม เขาก็สูงชัน ค่อนข้างจะขึ้นยากสักหน่อย จนกระทั่งถึงบนถ้ำ มองเห็นปล่องถ้ำเหมือนปากบ่อกว้างมาก

เดินสำรวจต่อไปทางซ้ายมืออีกพักหนึ่ง พบหินผาศิลาก้อนหนึ่งใหญ่พอสมควร ตรงกลางนั้นเห็นเป็นรูปคล้ายฝ่าเท้าใหญ่ๆ เหยียบเอาไว้ สีออกดำๆ เป็นดินร่วนทับถมอยู่จนเต็มรอย จึงเอามือคุ้ยเขี่ยดินออกมา ก็พบเห็นเป็นรอยบุ๋มลึกลงไป รอยราบเรียบเสมอกัน เป็นรูปลักษณ์พระบาทข้างขวา นิ้วปรากฏไม่ชัด เรียกว่า "พระบาทเกือกแก้ว" รอยลึกลงไปประมาณ ๑ ฝ่ามือ วัดความกว้างได้ประมาณ ๒ คืบ ยาว ๑ ศอกกว่า ดูเหมือนกับรอยเท้ามนุษย์มาก แต่ใหญ่กว่าหลายเท่า

รู้สึกตื่นเต้นเกิดปิติดีใจเป็นอย่างยิ่งคิดว่า น่าจะเป็นรอยพระพุทธบาทเป็นแน่แท้ จึงได้ถ่ายภาพเอาไว้เป็นที่ระลึกและเก็บผงดินดำและหินบริเวณนั้นใส่ถุงมา เพื่อไว้สักการบูชาและระลึกอยู่เสมอว่า สักวันหนึ่งคงมีโอกาสได้ไปสร้างมณฑปครอบรอยพระพุทธบาทนี้เอาไว้ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ปูชนียวัตถุรอยพระพุทธบาทมิให้ถูกธรรมชาติทำลายให้เสียหายไป เป็นการสืบทอดและจรรโลงอายุพระพุทธศาสนาให้วัฒนาสถาพร เจริญรุ่งเรืองสืบต่อไปในภายหน้า ตราบเท่า ๕,๐๐๐ พระวัสสา

พระภิกษุผู้ค้นพบรอยพระพุทธบาท คือ พระอาจารย์สวัสดิ์ นริสฺสโร อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุจอมมอญ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ท่านมีความผูกพันเกี่ยวกับพระบาท พระธาตุเจดีย์ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ (ชาวล้านนาเรียกว่า ต้นสลี หรือ ต้นสะหลี) มาตลอด มีศรัทธาปสาทะเคารพเลื่อมใสสักการบูชาอยู่เสมอ มีปณิธานที่จะสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา อุทิศชีวิตรับใช้พระพุทธศาสนาเท่าที่จะสามารถกระทำได้

ในปี พ.ศ.๒๕๔๐ ท่านได้จาริกแสวงบุญเดินทางไปสักการบูชาสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ มีพระบาทพระธาตุเจดีย์หลายแห่งทั้งในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ตลอดถึงเวียงจันทน์ ประเทศลาว และพม่า ในใจคิดอยู่เสมอว่ากลับวัดไปคราวนี้ จะสร้างรอยพระพุทธบาทจำลองเอาไว้สักการบูชาที่วัด แต่ยังไม่ทันได้สร้าง ก็ค้นพบรอยพระพุทธบาทรอยจริงดังกล่าวเสียก่อน แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่ไม่ค่อยมีชาวบ้านและทางการสนับสนุน บางคนก็ไม่ค่อยจะเชื่อเท่าใดนัก บ้างก็ว่าอาจเป็นน้ำเซาะหิน จนเป็นรอยลึกอย่างนี้ หรือเป็นธรรมชาติเกิดขึ้นเอง เป็นต้น

ขอท่านพุทธบริษัททั้งหลายได้ช่วยกันอนุรักษ์รอยพระพุทธบาทสี่รอยถ้ำพระเจ้า ไว้เป็นปูชนียวัตถุในพระพุทธศาสนา ท่านใดมีจิตศรัทธาปสาทะ มีความเชื่อเลื่อมใสในคุณพระรัตนตรัย จงช่วยกันสละแรงกายแรงใจและทุนทรัพย์ เพื่อสร้างมณฑปครอบรอยพระพุทธบาทไว้ เพื่อป้องกันภัยธรรมชาติหรือมนุษย์ไปทำลายให้เสียหาย จักได้สืบอายุพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองตราบเท่า ๕,๐๐๐ พระวัสสา เป็นการประกาศให้ชาวโลกได้รับรู้และเป็นที่สักการบูชากราบไหว้ของคนและเทวดาทั้งหลาย

บุคคลหญิงชายคฤหัสถ์นักบวชได้สักการบูชาด้วยปรมามิสบูชา มีข้าวตอก ดอกไม้ แก้วแหวน เงินทอง ธูป เทียน ร่ม ฉัตร ธง สร้างที่ประดิษฐานไว้ ฯลฯ ได้แสดงบอกกล่าวเล่าให้ท่านผู้อื่นฟังก็ดี คัดลอกตำนานสืบทอดไปภายหน้าก็ดี ท่านทั้งหลายนั้นจะได้ผลานิสงส์เป็นอันมากจนไม่อาจที่จะกำหนดนับได้

--------------------


(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : นาคฤทธิ์ รวบรวมชำระสะสาง (๒๕๔๐-๒๕๔๕). (๒๕๔๕, ตุลาคม). พุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับชำระสะสาง (พิมพ์ครั้งที่ ๑). เชียงใหม่ : ลานนาการพิมพ์. หน้า
๓๐๔-๓๐๕, ๓๑๔.)

(แหล่งอ้างอิงภาพ : นาคฤทธิ์ รวบรวมชำระสะสาง (๒๕๔๐-๒๕๔๕). (๒๕๔๕, ตุลาคม). พุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับชำระสะสาง (พิมพ์ครั้งที่ ๑). เชียงใหม่ : ลานนาการพิมพ์. ปกหน้า)


IMG_9805.JPG



วิเคราะห์รอยพระพุทธบาทถ้ำพระเจ้า

พุทธอุทยานพระบาทสี่รอยถ้ำพระเจ้า

อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน



จากตำนานพระพุทธเจ้าเลียบโลก กล่าวถึงพระพุทธองค์เสด็จสู่เมืองยวม (อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอนในปัจจุบัน) ทรงเหยียบประทับรอยพระพุทธบาทไว้หนึ่งรอย ตามตำนานกล่าวไว้เพียงสั้นๆ มิได้ระบุสถานที่ไว้ชัดเจน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเมืองยวมเป็นเมืองหน้าด่านเล็กๆ เมืองหนึ่งในอดีต เป็นไปได้ว่ารอยพระพุทธบาทน่าจะอยู่ไม่ไกลนัก เพื่อที่จักให้ปรากฏแก่สายตาของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย และมีโอกาสได้ไปกราบไหว้สักการบูชากันได้

พระอาจารย์สวัสดิ์ ท่านเคยนิมิตฝันไปพบรอยพระพุทธบาทในป่าเป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ ต่อมาปี พ.ศ.๒๕๔๑ ท่านก็ได้ไปพบคล้ายรอยเท้าแต่ใหญ่มาก ก็เลยคิดว่าความฝันนั้นชะรอยคงจะเป็นรอยพระพุทธบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตามที่ปรากฏในตำนาน และอีกประการหนึ่ง ผู้เฒ่าผู้แก่บ้านแม่ต๊อบเหนือยังได้พบ “ฝาบาตรหิน” อยู่ใจกลางหมู่บ้านด้วย

เรื่องมีอยู่ว่า... ลุงหมวก เรือนคำ, ลุงพะมี (อายุ ๗๗ ปี ถึง พ.ศ.๒๕๔๕) สมัยยังเป็นเด็กอายุ ๑๐ กว่าปี ได้เที่ยววิ่งเล่นบริเวณป่าไม้แงะ (ไม้เต็ง) และไม้ตึง (ไม้พลวง) บนเนินเขามีแต่ป่าไม้ ยังไม่มีบ้านผู้คนอาศัยอยู่ ได้พบแผ่นศิลาหินกลมมนเป็นปริมณฑลคล้ายกระด้ง หนาประมาณ ๑ ฝ่ามือกว่า เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๖๐ เซนติเมตร พื้นผิวราบเรียบสวยงามมาก แผ่นศิลาหินนี้ได้วางอยู่ใต้ต้นไม้แงะใหญ่ ต้นไม้นั้นสูงใหญ่มาก หลายคนโอบจึงจะรอบต้นได้

แผ่นศิลาหินนั้นยังมีตัวหนังสือหรืออักขระ จารเอาไว้ ๓ ตัว ซึ่งก็จำไม่ได้ว่าเป็นตัวลักษณะใด (น่าจะเป็นบาลีหรือขอมก็ได้) ถามปู่ย่าตายายว่าแผ่นศิลาหินนี้คืออะไรหรือ ต่างก็ได้ยินคำบอกเล่าสืบมาแต่โบราณว่า “เป็นฝาบาตรพระพุทธเจ้า” ส่วนบาตรหินนั้น ถูกผู้โลภในสมบัติทุบแตกเสียหายทิ้งไปแล้ว ด้วยคิดว่าจะมีทองคำและของมีค่าอยู่ในนั้น


ภายหลังฝาบาตรนั้นถูกหัวขโมยลักไป ปัจจุบันปรากฏแต่ชื่อ ตรอก-ซอย ในหมู่บ้านเท่านั้นว่า “ฝาบาตร ซอย ๑ ฝาบาตร ซอย ๒ ถึง ฝาบาตร ซอย ๖
บริเวณที่พบฝาบาตรพระพุทธเจ้านั้นอยู่ระหว่าง ฝาบาตรซอย ๒-๓ ดังนั้นฝาบาตรพระพุทธเจ้าดังกล่าวมานี้ น่าจะเป็นสิ่งยืนยันอีกประการหนึ่งว่า พระพุทธองค์ได้เสด็จมาเหยียบรอยพระพุทธบาทไว้บนถ้ำพระเจ้า บ้านแม่ต๊อบเหนือนี้  

อีกประการหนึ่ง ภายในถ้ำพระเจ้านี้ก็ปรากฏมองเห็นเป็น พระพุทธรูปประทับติดอยู่ตามผนังถ้ำ คล้ายปางสมาธิ ๕ องค์ ปางยืน ๒ องค์ คล้ายพระโพธิสัตว์กวนอิม ๑ องค์ พระสังกัจจายน์ ๑ องค์ รวมแล้วประมาณ ๙ องค์ด้วยกัน ด้วยเหตุนี้คนโบราณจึงเรียกว่า "ถ้ำพระเจ้า" หรือ "ถ้ำพระ" มาจนกระทั่งทุกวันนี้ นับว่าน่าจะเป็นพุทธปาฏิหาริย์อีกประการหนึ่งที่พระพุทธเจ้าอาจบันดาลให้เป็นไปเช่นนี้ก็ได้ เสมือนเป็นลายแทงให้ค้นหารอยพระพุทธบาท จนกระทั่งได้มาพบบนถ้ำแห่งนี้


ซึ่งก็คล้ายกับ "พระพุทธฉาย" จังหวัดสระบุรี ดังมีตำนานกล่าวไว้ว่า "พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาโปรดนายพรานมาฏกะ จนสำเร็จพระอรหันต์ เมื่อเสด็จกลับ พระมาฏะทูลขอของที่ระลึก พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงปาฏิหาริย์ ให้เงาเป็นรูปของพระองค์ติดไว้ ณ เงื้อมแห่งภูเขานั้น จึงปรากฏเป็นรูปเงาของพระพุทธเจ้า เป็นที่มาแห่งคำว่า "พระพุทธฉาย" ตราบเท่าทุกวันนี้

พ่อหลวงจันทร์ พันธุ์พุทธชาต ผู้ใหญ่บ้านแม่ต๊อบเหนือ อายุ ๔๔ ปี นายเย็น ใฝ่อำไพทร อายุ ๕๔ ปี เล่าว่า บ้านแม่ต๊อบเหนือ พึ่งมาตั้งรกรากกันอยู่ประมาณ ๓๐ กว่าปีมานี้เอง แต่ก่อนหลายชั่วอายุคนแล้ว มีอยู่ด้วยกัน ๓ แห่ง คือ ที่อยู่ใกล้ห้วยยาว เรียก บ้านเหนือ บ้านที่อยู่ใกล้ห้วยอีกึ (ห้วยกล้วย) เรียก บ้านกลาง (ห้วยนี้ไหลผ่านหน้าถ้ำพระเจ้า) บ้านที่อยู่ฝั่งน้ำแม่ต้อบฝั่งซ้ายทางนี้เรียก บ้านฝาบาตร


และจากคำบอกเล่าของหนานสอน บ้านท่าข้ามใต้ และผู้สูงอายุชาวอำเภอแม่สะเรียงว่า แต่ก่อนบ้านกลางได้ถูกอุทกภัยน้ำป่าไหลหลากท่วมบ้านเรือน ผู้คนหายสาบสูญไปทั้งหมู่บ้าน ซึ่งเป็นระยะเวลาร่วม ๑๐๐ ปีกว่ามาแล้ว ชะรอยด้วยเหตุที่ไปทุบทำลายบาตรหินศักดิ์สิทธิ์นั้นก็เป็นได้ จึงเกิดภัยพิบัติตามมา จากนั้นประมาณ พ.ศ.๒๕๐๗ จึงรวมหมู่บ้านทั้ง ๓ แห่ง เป็นหมู่บ้านเดียวชื่อว่า “บ้านแม่ต๊อบเหนือ” ตราบเท่าทุกวันนี้

รอยพระพุทธบาทถ้ำพระเจ้า เมืองยวม แม่สะเรียงนี้ มีขนาดกว้างยาวพอๆ กับ "พระพุทธบาทสระบุรี" คือ กว้าง ๒ คืบ ยาวศอกกว่า เป็นการประทับรอยพระบาทและทรงอธิษฐานขยายให้ใหญ่ ๓ เท่า (ทราบจากประวัติพระมหาปุณณะเถระ ชาวไทยคนแรกที่ออกบวชเป็นเอหิภิกขุ ณ วิหารเชตวัน เมืองสาวัตถี ต่อมาเดินทางกลับ สุนาปรันตชนบท (สุวรรณภูมิ) บรรลุอรหัตตผลได้อภิญญา จึงไปด้วยกำลังแห่งฤทธิ์ ทูลเชิญพระพุทธเจ้าพร้อมพระอรหันตสาวก ๔๙๙ องค์ เสด็จมาโปรดสัจจพันธ์ดาบส (ชีพัน) บรรลุอรหันต์แล้ว จึงครบ ๕๐๐ องค์

ถึง สุนาปรันตพริบพลีมทานที (นัมมทานที เกาะแก้วพิศดาร จ.ภูเก็ต ในปัจจุบัน) โปรดนาคราช ทูลขอสิ่งบำเรอ จึงประทับรอยพระบาท ณ นัมมทานที วันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือนอ้ายนั้น ขึ้น ๑๕ ค่ำ พระมหาปุณณะตามเสด็จส่งถึง สัจจพันธคีรี พระสัจจพันธได้ทูลขอ จึงประทับรอยพระบาทและทรงอธิษฐานให้ใหญ่ ๓ เท่า (พระพุทธบาทสระบุรีปัจจุบัน) แล้วเสด็จไปทางอากาศ ทรงกระทำอุโบสถ ณ เชตวัน กรุงสาวัตถี...จากประวัติของวัดเพชรพลี จ.เพชรบุรี หน้า ๘-๙)

--------------------


(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : นาคฤทธิ์ รวบรวมชำระสะสาง (๒๕๔๐-๒๕๔๕). (๒๕๔๕, ตุลาคม). พุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับชำระสะสาง (พิมพ์ครั้งที่ ๑). เชียงใหม่ : ลานนาการพิมพ์. หน้า
๓๑๒-๓๑๓.)

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_9795.JPG



IMG_9813.JPG



ก้อนหินประทับรอยพระพุทธบาทของพระโคตมสัมมาสัมพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๔ หรือองค์ปัจจุบัน) ประดิษฐานภายในศาลาครอบรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าโคตมะ พุทธอุทยานพระบาทสี่รอยถ้ำพระเจ้า



IMG_9803.JPG



IMG_9816.JPG



รอยพระพุทธบาทของพระโคตมสัมมาสัมพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๔ หรือองค์ปัจจุบัน) ในภัทรกัป ประดิษฐานอยู่บนถ้ำพระเจ้าทางทิศตะวันออก ภายในศาลาครอบรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าโคตมะ พุทธอุทยานพระบาทสี่รอยถ้ำพระเจ้า



IMG_9800.JPG



IMG_9801.JPG



IMG_9819.JPG



รอยพระพุทธบาทของพระโคตมสัมมาสัมพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๔ หรือองค์ปัจจุบัน) พุทธอุทยานพระบาทสี่รอยถ้ำพระเจ้า

เป็นรอยพระบาทเกือกแก้วเบื้องขวา ไม่ปรากฏรอยนิ้ว ขนาดกว้าง ๒ คืบ (๓๗ เซนติเมตร) ยาว ศอกกว่า (๗๔ เซนติเมตร) ลึก ๕-๑๗ เซนติเมตร เป็นรอยพระพุทธบาทที่สมส่วน สวยงามมากรอยหนึ่ง ส้นพระบาทมนกลม ปลายพระบาทเป็นแนวตรง เฉียงทางปลายนิ้วก้อยนิดหน่อย ขอบรอยฝ่าพระบาทที่เหยียบลงไปมองเห็นได้ชัดเจน ปัจจุบันรอยพระพุทธบาททาสีทองเรียบร้อยแล้ว

ค้นพบเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๑ โดยพระอาจารย์สวัสดิ์ นริสฺสโร วัดพระธาตุจอมมอญ ต.บ้านกาศ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน


IMG_9889.JPG



คำนมัสการพระพุทธบาท
(ว่านะโม ๓ จบ) ยัง ตัตถะ โยนะกะปุเร มุนิโน จะปาทัง ตัง ปาทะ วะลัญชะนะ มะหัง สิระสา นะมามิฯ



IMG_9797.JPG



ตำนานพระพุทธบาทเมืองยวม

อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน



รอยพระพุทธบาทของพระโคตมสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธอุทยานพระบาทสี่รอยถ้ำพระเจ้า มีกล่าวไว้ในตำนานพระเจ้าเลียบโลกว่า  

ในอดีตสมัยครั้งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังดำรงพระชนม์ชีพอยู่ พระองค์ได้ทรงปฏิบัติพุทธกิจเพื่อหิตานุหิตประโยชน์แก่ประชาชนพลโลกทั้งมวล โดยไม่จำกัดชาติ ชั้น วรรณะ นับว่าเป็นพรรษาที่ ๒๕ หลังจากตรัสรู้แล้ว พระชนมายุได้ ๖๐ พรรษา พระองค์ได้เสด็จจาริกสั่งสอนเวไนยสัตว์ไปตามบ้านน้อยเมืองใหญ่ทั้งหลาย

คราวเมื่อเสด็จพยากรณ์มหาอารามทั้ง ๘ แห่งใน อภิวนคร คือ นครเชียงใหม่แล้ว เสด็จบ้านเศรษฐีช่างหม้อ เศรษฐีสร้างพระพุทธรูปถวายเป็นพุทธบูชา จำนวน ๓ ล้าน ๓ แสนองค์ ขุดหลุมฝังไว้ให้คนและเทวดาทั้งหลาย แล้วทรงพยากรณ์ว่า "เมื่อใดพระพุทธรูป ที่ปั้นด้วยดินเหล่านี้ปรากฏขึ้นมาได้กราบไหว้สักการบูชา เมื่อนั้นศาสนาเราตถาคตก็จะยิ่งรุ่งเรืองจำเริญเป็นอันมากแลฯ"

เมื่อทรงพยากรณ์เช่นนี้แล้ว พระพุทธเจ้าก็ทรงพาพระอรหันต์และพระเจ้าอโศกราช เสด็จไปสู่ "ดอยนางนอน" (ดอยนางน้อง บางฉบับว่า "ดอยนั่งนอน") ทรงประทานพระเกศาธาตุหนึ่งองค์บรรจุไว้ พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่า "ธาตุตถาคตองค์นี้ จะปรากฏชื่อว่า "พระธาตุดอยนางนอน" (ปัจจุบันคือ พระธาตุจอมแจ้ง ต.แม่ตื่น อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่)

จากนั้นพระพุทธเจ้าก็เสด็จไปสู่เมืองยวม (อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอนในปัจจุบัน) พม่าเรียกเมืองยวมว่า "ไมลองยี" แปลว่า เมืองหินแร่ใหญ่ เพราะมีเหมืองแร่หลายชนิด) พระองค์ทรงเหยียบรอยพระบาทไว้ ๑ รอย (ปัจจุบันเรียก "พระพุทธบาทถ้ำพระเจ้า" อยู่ที่บ้านแม่ต๊อบเหนือ หมู่ที่ ๗ ตำบลบ้านกาศ)  

แล้วเสด็จไปสู่เมืองธราง (บางฉบับว่า “เมืองบราง”, “พระบาง”, “เมืองทราย” ก็ทรงเหยียบรอยพระบาทไว้ที่นั้นหนึ่งรอย” (อาจเป็นดอยพระบาท ต.ต่อแพ อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน) วิเคราะห์ “เมืองธราง” หรือ “เมืองบราง” ที่พระพุทธองค์เสด็จไปต่อจากเมืองยวม ค้นพบในหนังสือ “คนดีเมืองเหนือ” ของ สงวน โชติสุขรัตน์ หน้า ๑๕๗ กล่าวว่า...เมืองยวม ท่าตาฝั่ง ท่าสีทอ ท่าสีแท บ้านแม่ปะ ผากู่ ริมแม่น้ำสาละวินและเมืองทลาง คือเมืองผาปูนเขตพม่า เจ้ากาวิละก็แต่งตั้งคนไปเกลี้ยกล่อมมาเข้าร่วมเป็นพรรคพวกด้วย ปี พ.ศ.๒๓๒๕)

แล้วก็เสด็จไปสู่เมืองแซร (แปร) เมืองตะโค่งตามลำดับ (ปัจจุบันคือ ที่ตั้งของพระเจดีย์ชเวดากอง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ หรือพม่า) จนบรรลุถึงเมืองกุสินารา และพระวิหารเชตวัน ทรงจำพรรษาที่นั้น

(หมายเหตุ : เมืองยวม หรือ เมืองยวมใต้ คือ อำเภอแม่สะเรียง เปลี่ยนชื่อนี้เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๗ เนื่องด้วยไปพ้องกับอำเภอขุนยวม ซึ่งอยู่จังหวัดเดียวกัน)


--------------------


(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : นาคฤทธิ์ รวบรวมชำระสะสาง (๒๕๔๐-๒๕๔๕). (๒๕๔๕, ตุลาคม). พุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับชำระสะสาง (พิมพ์ครั้งที่ ๑). เชียงใหม่ : ลานนาการพิมพ์. หน้า ๒๒๐, ๑๕๘-๑๖๑.)


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

242.jpg



IMG_0005.JPG



IMG_0085.JPG



IMG_9854.JPG



IMG_9861.JPG



230.jpg



ศาลาครอบรอยพระพุทธบาทของ
พระพุทธเจ้าโคตมะ (พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๔ หรือองค์ปัจจุบัน)

หรือที่พระอาจารย์สวัสดิ์เรียกว่า "ศาลาครอบพระพุทธบาทบนเขา" พุทธอุทยานพระบาทสี่รอยถ้ำพระเจ้า


IMG_9787.JPG



IMG_9840.JPG



ภายในศาลาครอบรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าโคตมะ (พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๔ หรือองค์ปัจจุบัน) พุทธอุทยานพระบาทสี่รอยถ้ำพระเจ้า


IMG_9792.JPG


IMG_9873.JPG



พระพุทธรูปต่างๆ ประดิษฐานภายในศาลาครอบรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าโคตมะ (พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๔ หรือองค์ปัจจุบัน) พุทธอุทยานพระบาทสี่รอยถ้ำพระเจ้า


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

227.jpg



228.jpg



ถึงพุทธอุทยานพระบาทสี่รอยถ้ำพระเจ้า


จะมีป้ายสีเขียว "พระพุทธบาทสี่รอย-พระหัตถ์ถ้ำพระเจ้า" ติดอยู่ที่ต้นไม้บริเวณบันไดไม้ทางขึ้นไปถ้ำพระเจ้า



IMG_9745.JPG



ป้ายประกาศจาก
พุทธอุทยานพระบาทสี่รอยถ้ำพระเจ้า

๑. สถานที่สำคัญ จงสำรวมกายวาจา
๒. ห้ามขูดขีด-ขีดเขียนแก้ไขแต่งเติมรอยพระบาทและสถานที่
๓. ห้ามนำสุรายาเสพติดผิดกฎหมายเข้ามายังถ้ำ
๔. ห้ามตัดต้นไม้ทุกชนิดในสถานที่และบริเวณใกล้เคียง
๕. ห้ามทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูลในบริเวณสถานที่


IMG_9746.JPG



บันไดไม้ทางขึ้น พุทธอุทยานพระบาทสี่รอยถ้ำพระเจ้า



IMG_9750.JPG



IMG_9752.JPG



IMG_9758.JPG



เมื่อถึงด้านบนก้อนหินแล้ว เดินต่อไปอีกประมาณ ๕๐ เมตร ถึงศาลาครอบรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าโคตมะ (พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๔ หรือองค์ปัจจุบัน)



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_9669.JPG



IMG_9670.1.JPG



IMG_9679.JPG



IMG_9675.1.jpg



IMG_9676.JPG



IMG_9701.JPG



IMG_9686.1.JPG



IMG_9704.1.JPG



IMG_9719.1.JPG



IMG_9725.1.JPG



IMG_9733.1.JPG



225.jpg



226.jpg



บรรยากาศระหว่างการเดินเท้าขึ้นเขาในช่วงฤดูแล้ง ไปยังพุทธอุทยานพระบาทสี่รอยถ้ำพระเจ้า


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_9649.1.JPG



IMG_9656.JPG



IMG_9660.JPG



เดินตรงไปตามทางประมาณ ๓๐๐ เมตร ถึงทางแยกและป้ายชี้ทางไป "รอยพระหัตถ์รอยพระบาทถ้ำพระเจ้า"


IMG_9661.JPG



ป้ายชี้ทางไปรอยพระหัตถ์รอยพระบาทถ้ำพระเจ้า พุทธอุทยานพระบาทสี่รอยถ้ำพระเจ้า



IMG_9665.JPG



เส้นทางไปรอยพระหัตถ์รอยพระบาทถ้ำพระเจ้า พุทธอุทยานพระบาทสี่รอยถ้ำพระเจ้า  


221.jpg



การเตรียมตัวเดินเท้าขึ้นเขาไปพุทธอุทยานพระบาทสี่รอยถ้ำพระเจ้า

๑. กำลัง คือ กำลังกายที่แข็งแรง และกำลังใจที่เข้มแข็ง

๒. น้ำและอาหาร สำหรับไว้ดื่มและทานระหว่างเดินทาง เนื่องจากระยะทางการเดินขึ้นเขาประมาณ ๖ กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินขึ้นเขาประมาณ ๓ ชั่วโมง พอไปถึงพุทธอุทยานพระบาทสี่รอยถ้ำพระเจ้า ใช้เวลาในการไปกราบนมัสการรอยพระพุทธบาทแต่ละแห่งรวมทั้งหมดประมาณ ๔ ชั่วโมง เพราะรอยพระพุทธบาทบางรอยอยู่ไกลกันและอยู่บนดอยสูงชันต้องปีนขึ้นไป และการเดินทางกลับลงจากเขาใช้เวลาประมาณ ๓ ชั่วโมง รวมใช้เวลาในการเดินทางไป-กลับประมาณ ๑๐ ชั่วโมง (ไม่รวมเวลาในการสำรวจถ้ำต่างๆ)

๓. ยา เช่น ยาดมแก้หน้ามืด เป็นลม ยาบรรเทาอาการคันจากแมลงกัดต่อย ยาทาแก้ปวดกล้ามเนื้อ หรือยาที่ผู้เดินทางจำเป็นต้องใช้ สำหรับไว้ใช้แก้อาการป่วยหรืออุบัติเหตุต่างๆ ระหว่างการเดินทาง

๔. ไฟฉาย สำหรับไว้ใช้ เมื่อเข้าไปสำรวจถ้ำต่างๆ

๕. รองเท้าเดินป่า ปีนเขา เช่น สวมใส่สบาย ทนต่อการสึกหรอ และป้องกันการลื่น เพราะสภาพของถ้ำพระเจ้าเป็นหินศิลาแหลมคม เวลาปีนเขาอาจลื่น ทำให้รองเท้าขาดได้


๖. ดอกไม้ธูปเทียน ฯลฯ ที่จะถวายเป็นพุทธบูชาแด่รอยพระพุทธบาท รอยพระพุทธหัตถ์ และสังฆทาน ที่จะนำไปทำบุญถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ที่อยู่จำพรรษา ณ พุทธอุทยานพระบาทสี่รอยถ้ำพระเจ้า (แล้วแต่จิตศรัทธา) เพราะที่นั้นห่างไกลและเข้าไปยากลำบาก ทำให้การเป็นอยู่ของพระภิกษุสงฆ์ไม่ค่อยสะดวกสบายนัก



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_9635.JPG



การเดินทางไปพุทธอุทยานพระบาทสี่รอยถ้ำพระเจ้า


ใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๐๘ สายเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน เข้าสู่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เดินทางต่อมาทางทิศเหนือของอ.แม่สะเรียง ไปทางบ้านแม่ต๊อบเหนือ หมู่ที่ ๗ ตำบลบ้านกาศ


โดยใช้เส้นทางสายบ้านท่าข้าม-บ้านเสาหิน อบจ. มส. ๔๐๐๕ ผ่านโรงเรียนบ้านแม่ต้อบเหนือ และผ่านทางเข้าพระธาตุแสงคำ ไปอีกประมาณ ๑ กิโลเมตร แล้วเลี้ยวแยกซ้ายทางเข้าพุทธอุทยานพระบาทสี่รอยถ้ำพระเจ้า



IMG_9637.JPG



พุทธอุทยานพระบาทสี่รอยถ้ำพระเจ้า ตั้งอยู่ที่บ้านแม่ต๊อบเหนือ หมู่ที่ ๗ ตำบลบ้านกาศ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ระยะทางห่างจากตัวเมืองอำเภอแม่สะเรียงไปทางทิศเหนือประมาณ ๒๐ กิโลเมตร


IMG_9636.JPG


IMG_9641.JPG



ทางเข้า พุทธอุทยานพระบาทสี่รอยถ้ำพระเจ้า



IMG_9643.JPG



เมื่อเข้ามาประมาณ ๒๐๐ เมตร ให้จอดรถบริเวณถนนทางขึ้นพุทธอุทยานพระบาทสี่รอยถ้ำพระเจ้า หรือสำนักสงฆ์พระธาตุมอเล แล้วเดินเท้าขึ้นเขาไปถ้ำพระเจ้าต่อ


219.jpg



IMG_9645.JPG



ทางขึ้น พุทธอุทยานพระบาทสี่รอยถ้ำพระเจ้า


เดินเท้าขึ้นเขาไปถ้ำพระเจ้าประมาณ ๖ กิโลเมตร ใช้เส้นทางเดียวกันกับไปพระธาตุมอเล



223.jpg



การเข้าถึงพุทธอุทยานพระบาทสี่รอยถ้ำพระเจ้า

ระยะทางจากหมู่บ้านบ้านแม่ต๊อบเหนือ หมู่ที่ ๗ ตำบลบ้านกาศ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เข้าไปประมาณ ๖ กิโลเมตร ถึงพุทธอุทยานพระบาทสี่รอยถ้ำพระเจ้า

ปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๕๖) สภาพถนนเป็นถนนดินแดง เข้าไปในป่าลึก ทางเข้าไปยากมาก ในฤดูฝนรถจะเข้าไปไม่ได้หรือไปได้อย่างยากลำบาก เนื่องจากพอฝนตกน้ำนอง ถนนก็พัง มีไม้ซุงไหลมากีดขวางการจราจร ปัจจุบันได้ทำถนนเบี่ยงผ่านไปได้แล้ว ในฤดูแล้งเข้าไปโดยยากลำบาก ถ้าขับรถระบบขับเคลื่อน ๔ ล้อ ขับไปได้เพียง ๓ กิโลเมตร และเดินเท้าเข้าไปอีก ๓ กิโลเมตร


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html
‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2024-11-28 02:36 , Processed in 0.071006 second(s), 15 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.