แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
เจ้าของ: pimnuttapa
go

วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร บ.หลวง ม.๒ ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

IMG_6336.JPG



ตำนานพระบรมธาตุจอมทอง (ต่อ)

ตอนที่ ๘  ความเป็นมาแห่งพระบรมธาตุในกาลต่อมา

ส่วนพระอานันทะ เมื่อได้เห็นพระบรมธาตุเจ้าแล้วพิจารณาดูเห็นเป็นการถูกต้องตามตำนานนั้นทุกประการ จึงได้นำความไปบอกแก่พระมหาพุทฺธญาโณให้ทราบตามที่ตนได้เห็นมานั้น ส่วนพระมหาพุทฺธญาโณเถระเจ้าเมื่อทราบเช่นนั้นแล้วก็มีจิตปีติยินดียิ่งนัก จึงได้นำความไปทูลถวายพระพรพระรัตนราช เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ให้ทรงทราบทุกประการ

ฝ่ายพระรัตนราช (พระเมืองแก้ว หรือ พระยาเมืองแก้ว เป็นโอรสของพระยายอดเชียงราย ซึ่งสืบพระวงศ์มาจากพระยามังราย ผู้สร้างเมืองเชียงใหม่)  เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ เมื่อได้ทราบจากพระมหาพุทฺธญาโณว่า “พระบรมธาตุเจ้าได้เสด็จมาประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุศรีจอมทอง ภายในอาณาเขตแว่นแคว้นของพระองค์เช่นนั้นแล้ว” ก็มีพระทัยยินดีปีติปราโมทย์เป็นกำลัง จึงรับสั่งแก่พระมหาพุทฺธญาโณเถระว่า

“ขอพระคุณเจ้าจงไปจัดการเริ่มปฏิสังขรณ์ปลูกสร้างพระวิหารหลังหนึ่ง ให้เป็น ๔ มุขเหมือนวิหารวัดชัยศรีภูมิ แล้วได้ก่อปราสาทหลังหนึ่งให้เหมือนปราสาทอันมีอยู่ในพระอุโบสถวัดมหาโพธิหลวง (วัดเจ็ดยอด) ไว้ภายในท่ามกลางพระวิหารนั้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุเจ้าให้เป็นอัครสถานประเสริฐต่อไป”

ดังนี้ แล้วทรงประทานเงินหมื่นหนึ่งเพื่อเป็นค่าอุปกรณ์ในการก่อสร้าง พระเถระเจ้ารับคำพร้อมด้วยปะขาวนักบุญ และนายช่างทั้งหลายไปสู่วัดพระธาตุศรีจอมทอง แล้วร่วมกับเจ้าอาวาสเริ่มการปลูกสร้างพระวิหารและปราสาท ในปีชวดอัฏฐศก พ.ศ. ๒๐๖๐ ตามแบบที่พระเมืองแก้ว เจ้าผู้ครองนครสั่งนั้นทุกประการ

เมื่อการปลูกสร้างพระวิหาร และปราสาทสำเร็จบริบูรณ์แล้ว พระเถระจึงไปทูลถวายพระพรให้เจ้าผู้ครองนครทราบ พระเมืองแก้วเจ้าผู้ครองนครมีใจยินดีมากนัก จึงรับสั่งให้สุวรรณช่างทองสร้างโกศทองคำน้ำหนักได้ ๕๖๐ คำ เพื่อเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุและพร้อมด้วยพระเถรานุเถระ เสนามาตย์ชาวบ้านชาวเมืองออกไปทำมหกรรมฉลองเป็นมหาปางใหญ่ แล้วเชิญพระบรมธาตุเจ้าเข้าไว้ในโกศทองคำตั้งไว้ภายในปราสาทนั้นแล้ว ทรงปลงพระราชทานวัตถุไทยทานและเครื่องแห่ไว้กับพระบรมธาตุเจ้าเป็นอันมาก และถวายข้าคนไร่นาตามเขตป่าที่ดิน ย่านน้ำ ไว้สำหรับให้ปฏิบัติรักษาทำนุบำรุงพระบรมธาตุให้เจริญถาวรต่อไปตลอด ๕,๐๐๐ พระวัสสา

ส่วนพระมหาสีลปญฺโญเถระ ผู้เป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีจอมทองได้อยู่อุปฐากรักษาทำนุบำรุงพระบรมธาตุเจ้าได้ ๑๕ พรรษาก็มรณภาพไป ต่อจากนั้นพระมหาสังฆราชสทฺธมฺมทสฺสี ได้มาอยู่เป็นเจ้าอาวาสได้ ๑๖ พรรษาก็มรณภาพไป ต่อจากนั้นพระมหาสังฆราชามังคละมาอยู่เป็นเจ้าอาวาสได้ ๑๒ พรรษา ต่อจากนั้นพระสังฆราชาชวนปญฺโญโสภิตชิตินฺทริยวํโส จากวัดหัวคั้งหลวงมาอยู่เป็นเจ้าอาวาสได้ ๑๐ พรรษาก็มรณภาพไป และพระมหาสามิคณาจิตตะ ผู้เป็นศิษย์ได้อยู่เป็นเจ้าอาวาสแทนต่อมา

ถึง พ.ศ. ๒๑๐๐ ปีมะโรง เดือน ๔ (เดือน ๖ เหนือ) ทายกทายิกาศรัทธาทั้งหลายได้ไปนิมนต์พระมหาสังฆราชาญาณมงคละอยู่แคล้นทุ่งตุ๋มมาเป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีจอมทอง ในสมัยนี้พระนางมหาเทวีเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ พร้อมด้วยพระยาอัครราชมารดา (พระแม่กุราชวงศ์มังรายที่ ๑๕) ได้มีจิตศรัทธานิมนต์พระบรมธาตุจอมทองเข้าไปในเมืองเชียงใหม่ มีความเลื่อมใสยินดีในพระบรมธาตุเจ้ายิ่งนัก จึงถวายไทยทานเป็นอันมากคือเข้าของ เงินคำ ข้าคน ไร่นา ป่า ที่ดิน ย่านน้ำ เครื่องทาน ขันทรงน้ำ และสรรพเครื่องแห่ทั้งมวล โดยนัยดังพระรัตนราชาได้ถวายไว้แด่ภายหลังแล้วจึงมีพระราชเสาวนีย์รับสั่งแก่เสนาบดีผู้ใหญ่ทั้ง ๔ คือ พระยาแสนหลวง ๑ พระยาสามล้าน ๑ พระยาจ่าบ้าน ๑ พระยาเด็กชาย ๑ ว่า “ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป บรรดาข้าพระธาตุเจ้าจอมทอง ให้ยกเว้นอย่าได้ใช้สอย เก็บส่วย และเกณฑ์ไปทำการบ้านเมือง ให้เข้าอยู่อุปัฏฐากพระบรมธาตุเจ้าทุกวันคืนเป็นนิตย์อย่าได้ขาด ดังที่พระรัตนราชหากได้ประทานไว้นั้นทุกประการ” ส่วนเสนาบดีทั้ง ๔ รับพระราชเสาวนีย์แล้วก็จัดผู้คนไว้เป็นข้ารักษาพระบรมธาตุที่รับสั่งต่อมา

ถึงปีขาล สัมฤทธิ์ศกเดือนมาฆะ (เดือน ๓ ใต้เดือน ๕ เหนือ) ขึ้น ๕ ค่ำ วันพุธ พระยาสามล้านไชยสงคราม ได้มีจิตศรัทธามาใส่ช่อฟ้าป้านลมพระวิหารวัดพระธาตุศรีจอมทองและสร้างถนนจากวัดพระธาตุศรีจอมทองไปถึงฝั่งแม่น้ำปิง ยาว ๙๒๐ วา ๒ ศอก กว้าง ๕ วา แล้วปลูกต้นไม้ต่างๆ ไว้สองข้างถนน ถวายผู้คนไว้เป็นข้าพระรัตนตรัย (ข้าพระธาตุ) ลงอาชญาใส่หลาบเงินตราหินไว้เป็นหลักฐาน

ถึง พ.ศ. ๒๑๘๒ พระเจ้ามังธาเจ้าหงสาวดี พระเจ้าแผ่นดินพม่าได้ยกทัพมาปราบลานนาไทยเชียงใหม่ไว้ในอำนาจแล้ว ได้ริบเอาทรัพย์ของพระศาสนาไปและวัดของพระพุทธศาสนาในที่บางแห่งได้ถูกทำลายเสียหายไปบ้านเมืองภูมิประเทศเขตแขวงแห่งนครเชียงใหม่จึงตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าในคราวนี้ (ตามที่เล่าต่อๆ กันมาว่า พระบรมธาตุจอมทองก็ได้ถูกพม่านำไปด้วย ครั้นนำเอาไปถึงเขตแดนพม่าแล้วเปิดผอบออกดูไม่มีพระบรมธาตุอยู่ในผอบนั้น ทั้งนี้ เนื่องจากบรมธาตุได้เสด็จกลับคืนมาประดิษฐานอยู่ในวัดพระธาตุจอมทองตามเดิม แต่ช่วงนี้ไม่มีตำนานกล่าวยืนยัน)

ถึง พ.ศ. ๒๑๘๒ พระเจ้าสุทโธธรรมราชา พระเจ้าแผ่นดินพม่าได้ตกแต่งเครื่องวัตถุไทยทาน ให้เสนานำมาถวายบูชา พระบรมธาตุเจ้าจอมทอง มีทั้งเครื่องอัฏฐบริขาร เครื่องแห่ คือ พัดค้าว จามรบังตะวัน เกือกทุ่งยู โคม ธงไชย ธงลาย ธงดอกคำ ธงช้าง ธงชัยเงิน และเครื่องสักการะอื่นๆ อีกเป็นอันมาก ตามเยี่ยงอย่างที่เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ มีพระรัตนราช (พระเมืองแก้ว) เป็นต้น หากได้เคยถวายทานมาแล้วแต่หนหลัง

ถึง พ.ศ. ๒๓๑๔ ปีขาลโทศก เดือน ๕ (เดือน ๗ เหนือ) แรม ๑๑ ค่ำ วันจันทร์พระบรมธาตุเจ้าองค์ประเสริฐ ก็อันตรธานสูญหายไป นับตั้งแต่นั้นมาถึงปีมะแม ฉลก จุลศักราชล่วงได้ ๑๑๓๖ (พ.ศ. ๒๓๑๘) กษัตริย์เมืองอยุธยา ( คงจะหมายถึงพระเจ้ากรุงธนบุรี (พระเจ้าตากสิน) ยกพลโยธามารบกับพม่าที่นครเชียงใหม่ได้ชัยชนะแล้ว ยกพลไปสู่นครหริภุญชัย นมัสการพระธาตุหริภุญชัยแล้วจึงแต่งตั้งให้พระยาจ่าบ้านเป็นผู้ครองนครเชียงใหม่ ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น พระยาวิเชียรปราการ (หรือวชิระปราการกำแพงเพชร) เมืองเชียงใหม่จึงได้หลุดจากพม่ามาขึ้นกับไทยกลางส่วนใหญ่ตลอดมาจนทุกวันนี้

ถึง พ.ศ. ๒๓๒๒ พระยาวิเชียรปราการ (เดิมชื่อ พระยาจ่าบ้าน พระเจ้ากรุงธนบุรีพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาวิเชียรปราการ และให้ครองเมืองเชียงใหม่)  เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ได้มาคำนึงถึงพระบรมธาตุเจ้าจอมทององค์ประเสริฐ อันได้อันตรธานสูญหายไปแต่ พ.ศ. ๒๓๑๔ นั้น นานประมาณได้ ๙ ปีแล้วจึงได้เห็นนายช่างทองสร้างโกศเงินและโกศทองคำ เพื่อจะนำไปเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุเจ้า กับทั้งพระภิกษุสงฆ์ ๑๒ รูป มีท่านพุทธิมาวํโส ผู้เป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีจอมทองเป็นประธาน ให้พร้อมกันไปทำพิธีอาราธนาอัญเชิญพระบรมธาตุเจ้าตามโบราณประเพณีเป็นครั้งแรกก่อน พระบรมธาตุก็ยังไม่เสด็จมา ต่อมาเมื่อถึงเดือน ๕ (เดือน ๗ เหนือ) แรม ๑๓ ค่ำ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ได้นำโกศเงินโกศทองคำและเครื่องสักการบูชา มาอาราธนาพระบรมธาตุเจ้าเป็นครั้งที่ ๒ พระบรมธาตุเจ้าก็ยังไม่เสด็จมา

ต่อมาถึงเดือน ๖ (เดือน ๘ เหนือ) แรม ๑๓ ค่ำ (เห็นจะเป็นแรม ๓ ค่ำ เพราะต่อไปมีแรม ๔ ค่ำ ๙ ค่ำ) ท่านพุทธิมาวํโสผู้เป็นเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุศรีจอมทองจึงได้ทำพิธีตั้งสัตยาธิษฐานว่า “พระยาวิเชียรปราการ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ได้ปรารถนาสัพพัญญุตญาณ ถ้าความปรารถนานั้นจักสำเร็จดังมโนรถแล้ว ขออัญเชิญพระบรมธาตุเจ้าจงเสด็จมาปรากฏในคูหาปราสาททองเก่าเทอญ” เมื่ออธิษฐานแล้วถึงวันแรม ๔ ค่ำ เวลาก่อนงาย (๐๙.๐๐ น.) พระบรมธาตุเจ้าก็ได้เสด็จออกมาปรากฏในคูหาปราสาทตามคำอธิษฐานของพระเถระเจ้านั้นแล้ว

พระเถระเจ้าจึงได้มีสมณสาส์นไปถวายพรแด่พระยาวิเชียรปราการเจ้าผู้ครองให้ทราบ ตามที่ตนได้อธิษฐานนั้นทุกประการ ฝ่ายเจ้าผู้ครองนครเมื่อได้ทราบแล้วมีใจปีติยินดีซาบซ่านไปทั่วสรีระกาย จึงได้ตกแต่งเครื่องวัตถุไทยทานนานาประการเป็นอันมากนำไปถวายบูชาแด่พระบรมธาตุเจ้า กับทั้งพระภิกษุสงฆ์ในวันเดือน ๖ (เดือน ๘ เหนือ) แรม ๙ ค่ำ เวลา ๕ โมงเย็นแล้ว ได้จัดแจงผู้คน ไร่นาไว้เป็นข้าพระบรมธาตุ เพื่อให้อยู่ปฏิบัติรักษาพระบรมธาตุเจ้าตามประเพณีที่พระรัตนราช (พระเมืองแก้ว) หากได้กระทำมาแต่หนหลังได้อัญเชิญพระบรมธาตุเจ้าไปในเมืองเชียงใหม่ ทำการสระสรงและถวายทานต่างๆ นานได้ ๗ วัน ๗ คืน แล้วจึงได้อัญเชิญพระบรมธาตุเจ้า กลับคืนไปประดิษฐานไว้ที่วัดพระธาตุศรีจอมทองตามเดิม

ต่อมาถึงปีฉลูศก พ.ศ. ๒๓๖๑ (เป็นแผ่นดินรัชกาลที่ ๒ (พระพุทธเลิศหล้านภาลัย) ครองกรุงเทพ) เดือน ๔ (เดือน ๖ เหนือ) ขึ้น ๑๓ ค่ำ เจ้าเสตหัตถี (พระเจ้าช้างเผือก) เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ได้มีศรัทธา ไปปฏิสังขรณ์พระวิหารวัดพระธาตุศรีจอมทอง พร้อมด้วยเสนามาตย์ราชบริพารและพะรภิกษุสงฆ์เป็นจำนวนมาก ถึงปี พ.ศ. ๒๓๖๓ พระเจ้าช้างเผือกนครเชียงใหม่ เสด็จไปปิดทองเสาพระวิหารวัดพระธาตุศรีจอมทองและก่อกำแพงวัด แล้วมีการถวายทานตามประเพณีนิยม

ต่อมาถึงปีจุลศักราช ๑๑๘๕ (พ.ศ. ๒๓๖๗) เจ้าสุภัทระ คำฝั้น ให้เอาทองออกสร้างโกศสำหรับบรรจุพระบรมธาตุเจ้าจอมทองสิ้นทอง ๒๒๒ คำ และสร้างโกศเงินบรรจุพระบรมธาตุสิ้นเงิน ๘๐๐ ดอก แล้วอัญเชิญพระบรมธาตุเจ้าให้เข้าไปโปรดเมตตาในเมืองเชียงใหม่ในปีจุลศักราช ๑๑๘๖ (พ.ศ. ๒๓๖๘) และได้ชักชวนเสนามาตย์ ชาวบ้านชาวเมืองทั้งมวลมาถวายวัตถุไทยทานบูชาพระบรมธาตุเจ้าเป็นอันมาก มีผู้ศรัทธาได้นำปัจจัยมาถวายบูชาพระบรมธาตุคราวนั้นคือเงินเธาะ ๘,๗๐๐ เงินเจียง ๒๕๐ แล้วอัญเชิญพระบรมธาตุเจ้ากลับคืนไปที่วัดพระธาตุศรีจอมทองตามเดิม

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๒ เดือน ๔ (เดือน ๖ เหนือ) วันเพ็ญ เจ้ามหาอุปราชา (ตำนานการปฏิสังขรณ์บอกว่ากรุงเก่า แต่ที่ถูกคือ กรุงเทพฯ) ได้ไปทำการมหกรรมฉลองพระวิหารวัดพระธาตุศรีจอมทองเป็นมหาปางอันใหญ่

ต่อมา พ.ศ. ๒๔๐๕ ปีระกา เดือน ๕ (เดือน ๗ เหนือ) วันพุธ เจ้ากาวิโรรสเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ทำการฉลองหอพระไตรปิฎกวัดหัวข่วงได้มีไทยทานเป็นอันมาก ให้นำไปถวายบูชาพระบรมธาตุเจ้าจอมทอง คือช้างพระที่นั่งใส่เครื่องดาวเงินกูบคำ ม้าพระที่นั่งประดับดาวเงิน ดาบฝักทอง ๑ เล่ม (ดาบฝักทอง ฝักเงิน ยังมีอยู่จนบัดนี้) ดาบหลูบเงิน ๑ เล่ม พระพุทธรูปทองคำ ๑ องค์ พระพุทธรูปนาค ๑ องค์ พระพุทธรูปเงิน ๑ องค์

ต่อมา พ.ศ. ๒๔๔๑ เจ้าอินทวิชานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๗ ได้มีการบำเพ็ญกุศลถวายทานฉลองพระธรรมที่ทรงสร้างขึ้นที่วัดเชียงยืนในจังหวัดเชียงใหม่ ได้อัญเชิญพระบรมธาตุเจ้าจอมทองเข้าไปในเมือง โปรดถวายช้างพระที่นั่งประดับด้วยดาวเงินกับทั้งเครื่องศรีจอมทองตามเดิม

ต่อมา พ.ศ. ๒๔๖๕ เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่พร้อมด้วยพระราชชายา (เจ้าดารารัศมี) ได้รับสั่งพระนายกคณานุการให้จัดการปฏิสังขรณ์พระวิหารวัดพระธาตุศรีจอมทอง อันเจ้าธรรมลังการช้างเผือกสร้างไว้นั้น (สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๑) สำเร็จบริบูรณ์แล้วถึง ๗ เดือน (เดือน ๙ เหนือ) วันเพ็ญ จึงไปพร้อมกันทำบุญถวายทานฉลองพระวิหารเป็นมหาปางอันใหญ่ พร้อมทั้งสระสรงพระบรมธาตุเจ้าด้วยสุคันโธทกเป็นงานมโหฬารยิ่งในกาลนั้นแล

ต่อมา พ.ศ. ๒๔๙๘ ถึง พ.ศ. ๒๕๑๐ พระสุวรรณโมลีศรีบรมธาตุบริหาร (คำ อคฺตปญฺโญ ป.ธ ๖ นธ. เอก) เจ้าคณะอำเภอจอมทองได้เป็นประธานปฏิสังขรณ์ พระวิหารที่ประดิษฐานพระบรมธาตุจอมทอง เป็นการซ่อมใหญ่ครั้งที่ ๖ นับตั้งแต่เริ่มสร้างมาได้เปลี่ยนช่อฟ้าใบระกา กอนระแนง เปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคาเป็นกระเบื้องเคลือบสีเหลืองแก่ หล่อฝาผนังวิหารเล็ก เจาะประตูหน้าต่างด้านข้างและด้านหลังใหม่ ตกแต่งให้สวยงาม สร้างเซฟเก็บพระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปเงิน เพชรนิลจินดา สิ่งของที่มีผู้บริจาคไว้บูชาพระธาตุแต่โบราณกาล ดัดแปลงแท่นพระในพระวิหาร เสร็จแล้วทำการฉลองเป็นการใหญ่ สิ้นทุนทรัพย์ในการซ่อมใหญ่ครั้งที่ ๗ นี้ ๒๑๒,๔๒๑.๙๗ บาท (สองแสนหนึ่งหมื่นสองพันสี่ร้อยยี่สิบเอ็ดบาทเก้าสิบเจ็ดสตางค์)

ต่อมาด้วยความพยายามของพระสุวรรณโมลี วัดพระธาตุศรีจอมทอง ได้รับพระราชทานยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๐๖

ต่อมา พ.ศ.๒๕๒๔ เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างของกรมการศาสนา

ต่อมา พ.ศ.๒๕๓๘ เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างของกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ

มีประเพณีสรงน้ำพระบรมธาตุ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๙ ทิศอุดร



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_6317.JPG



IMG_6313.jpg



ตำนานพระบรมธาตุจอมทอง (ต่อ)

ตอนที่ ๗  ลำดับเจ้าอาวาสผู้รักษาพระบรมธาตุต่อมา

เมื่อพระบรมธาตุเสด็จออกมาจากคูหามาปรากฏแก่คนภายนอกดังกล่าวมาแล้ว พระธมฺมปญฺโญเถระ ผู้เป็นเจ้าอาวาสได้เก็บพระธาตุรักษาไว้ในช่องพระโมลีพระพุทธรูป ต่อมาท่านได้เป็นเจ้าอาวาสได้ ๒๘ พรรษาก็มรณภาพไป พระอานนฺโท มาอยู่เป็นเจ้าอาวาสได้ ๒ พรรษา พระเหมปญฺโญ มาอยู่เป็นเจ้าอาวาสได้ ๒ พรรษา พระญาณมังคละ มาอยู่เป็นเจ้าอาวาสได้ ๑ พรรษา พระพุทธเตชะ มาอยู่เป็นเจ้าอาวาสได้ ๒ พรรษา พระอรัญวาสี มาอยู่เป็นเจ้าอาวาสได้ ๒ พรรษา พระธมฺมรกฺขิตฺ มาอยู่เป็นเจ้าอาวาสได้ ๒ พรรษา พระเอยฺยกปฺปกะ มาอยู่เป็นเจ้าอาวาสได้ ๑ พรรษา ถึงปีจุลศักราช ๘๗๕ (พ.ศ. ๒๐๕๖) เดือน ๗ เดือน (เดือน ๙ เหนือ) แรม ๘ ค่ำ วันอาทิตย์ชาวบ้านทั้งหลายจึงได้นิมนต์พระมหาสีลปญฺโญ มาอยู่เป็นเจ้าอาวาสรักษาพระบรมธาตุ

ต่อมา ถึงจุลศักราช ๘๗๗ (พ.ศ. ๒๐๕๘) มีพระเถระเจ้าองค์หนึ่งชื่อพระมหาพุทธญาโณอยู่ป่าฟ้าหลั่ง ท่านไปอยู่เมืองพุกาม ได้ตำนานพระบรมธาตุเจ้าจากเมืองพุกามมาพิจารณาดูที่พระบรมธาตุเจ้าตั้งอยู่คือ วัดพระธาตุศรีจอมทอง ก็เห็นถูกต้องตามตามตำนานทุกประการ แต่หามีผู้ใดบอกว่าพระบรมธาตุเจ้าเสด็จออกมาจากคูหาและอยู่ในพระโมลีของพระพุทธรูปในวิหารนั้นไม่ พระเถระเจ้าจึงสั่งพระอานันทะผู้เป็นอนุเถระอยู่ป่าฟ้าหลั่งด้วยกัน พร้อมด้วยปะขาวนักบุญทั้งหลาย ให้ไปสู่วัดพระธาตุศรีจอมทองแล้ว สั่งว่า “เมื่อไปถึงที่นั้นแล้วให้ทำการสักการบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียน แล้วตั้งสัจจาอธิษฐาน ถ้าหากว่าพระบรมธาตุตั้งอยู่ในที่นั้นจริงดังตำนานกล่าวไว้แล้ว พระบรมธาตุเจ้าก็จะแสดงปาฏิหาริย์เป็นอัศจรรย์ต่างๆ ให้ปรากฏแก่ท่านทั้งหลายแล” ดังนี้

ส่วนพระอานันทะพร้อมด้วยปะขาวและนักบุญทั้งหลายก็ได้พากันไปสู่ดอยจอมทอง ทำสักการะแล้วอธิษฐานตามที่พระพุทธญาโณสั่งทุกประการ ครั้นแล้วจึงพากันนั่งคอยดูอยู่ที่กลางลานวัด ส่วนพระมหาสีลปญฺโญผู้เป็นเจ้าอาวาส ได้เห็นอาการแห่งชนเหล่านั้นแล้ว จึงนำความไปแจ้งแก่พระอานนัทะว่า “พระบรมธาตุเจ้าองค์หนึ่งเสด็จออกจากคูหาพื้นที่ดอยจอมทอง แล้วเข้าไปในช่องพระโมลีแห่งพระพุทธรูปในพระวิหาร” แล้วจึงได้นำพระบรมธาตุเจ้าองค์นั้นออกมาแสดงแก่พระอานันทะและปะขาวนักบุญทั้งหลาย ณ กาลนั้นแล



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_6290.JPG



IMG_6319.JPG



ตำนานพระบรมธาตุจอมทอง (ต่อ)

อนที่ ๖  พระบรมธาตุเสด็จออกจากคูหาใต้พื้นดอยศรีจอมทอง

ในสมัยที่พระธมฺมปญฺโญเถระ เป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีจอมทองนี้ มีปะขาวผู้หนึ่ง ไม่ปรากฏชื่อ อาศัยอยู่เหนือวัด เป็นผู้อุปการะวัด วันหนึ่งเวลากลางคืน เทพยดามาบอกแก่ตาปะขาวนั้นโดยนิมิต ฝันว่า “พระบรมธาตุองค์หนึ่งของสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ในถ้ำใต้พื้นดอยศรีจอมทองนี้ จักเสด็จออกมาให้คนและเทวดาทั้งหลายสักการบูชา สถานที่นี้เป็นที่วิเศษนัก จักเป็นที่ตั้งแห่งพระศาสนาต่อไปในกาลข้างหน้า” ดังนี้ รุ่งขึ้นเช้าตาปะขาวนั้นจึงไปเล่าความฝันนี้ให้พระธมฺมปญฺโญเถระเจ้าอาวาสฟัง ท่านฟังแล้วก็มีใจยินดียิ่งนักแล้วท่านจึงอธิษฐานว่า “ขอพระบรมสารีริกธาตุนั้นเมื่อข้าพเจ้ายังมิได้เห็น และสักการบูชาแล้ว ขออย่าให้ข้าพเจ้าสิ้นชีวิตไปเสียก่อนเลย” ดังนี้

ครั้นอธิษฐานแล้วล่วงมาถึงปีจุลศักราช ๘๖๑ (พ.ศ. ๒๐๔๒) เดือน ๔ ขึ้น ๑๔ ค่ำ (เดือน ๖ เหนือ) เวลากลางคืน พระบรมธาตุเจ้าองค์ประเสริฐ ก็เสด็จออกจากพระสถูปทองคำอันตั้งอยู่ในคูหาพื้นดอยศรีจอมทอง แสดงปาฏิหาริย์เป็นมหัศจรรย์ต่างๆ ให้ปรากฏแก่คนทั้งหลาย และในวิหารนั้นมีพระพุทธรูปองค์หนึ่ง มีพระโมลีถอดได้ รุ่งขึ้นเช้าเป็นเวลาขึ้น ๑๕ ค่ำ คนทั้งหลายได้มาบูชาข้าวพระพุทธรูปเห็นประตูวิหารเปิดไว้ จึงไปบอกแก่พระธมฺมปญฺโญเถระ เจ้าอาวาส

ท่านไปตรวจดูวิหาร เห็นพระโมลีพระพุทธรูปถูกถอดออกจากพระเศียร วางไว้บนพระเพลา (บนตัก) พระเถระจึงไปตรวจดูเห็นห่อผ้าทิพย์เล็กๆ วางอยู่ในพระโมลีแห่งพระพุทธรูปองค์นั้น จึงเอาไม้ไปคีบออกมา แล้วแก้ห่อออกดู ก็เห็นพระบรมธาตุเจ้าอยู่ในห่อผ้านั้น พระเถระเจ้ามีความยินดียิ่งนัก จึงเอาพระบรมธาตุนั้นบรรจุในโกศงา แล้วเอาไปเก็บไว้ในรูพระโมลีพระพุทธรูปองค์นั้นตามเดิม พระเถระเจ้าได้บอกแก่ตาปะขาวให้นำเครื่องสักการบูชา และน้ำหอมไปอาบองค์สระสรงพระบรมธาตุเจ้าเห็นเป็นอัศจรรย์ยิ่งนัก แต่ไม่ได้บอกให้ผู้อื่นรู้เลย คงรู้แต่ท่านเจ้าอาวาสกับตาปะขาวสองคนเท่านั้น



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_6299.JPG



IMG_6250.JPG



ตำนานพระบรมธาตุจอมทอง (ต่อ)

ตอนที่ ๕  ผู้เริ่มสร้างพระธาตุศรีจอมทองครั้งแรก

เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราช ได้เชิญพระบรมธาตุเข้าบรรจุไว้ในถ้ำคูหาทองคำใต้พื้นดอยจอมทอง ในกาลครั้งนั้นแล้ว ศาสนกาลได้ล่วงมาโดยลำดับ จนถึงจุลศักราช ๘๑๓ ปี (พ.ศ. ๑๙๙๔) มีผู้ชายคนหนึ่งชื่อนายส้อย มีภรรยาชื่อนางเมง ผัวเมียคู่นี้มีบ้านเรือนตั้งอยู่ใกล้ดอยศรีจอมทอง เป็นผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา อยู่มาวันหนึ่งเป็นเพ็ญเดือน ๑๒ (เดือนยี่เหนือ) ปีมะเมีย นายส้อยอาบน้ำชำระกายแล้ว ได้สมาทานศีล ๘ อยู่ ณ ดอยจอมทองนั้น ได้สังเกตเห็นดอยจอมทองมีสัณฐานอันงดงาม สูงขึ้นเป็นลำดับคล้ายหลังเต่าจึงคิดว่า “สถานที่นี้สมควรจะเป็นสถานที่ตั้งแห่งพระรัตนตรัย”

วันหนึ่งนายส้อยจึงปรึกษากับนางเมงภรรยาว่า “เราทั้งสองจะคิดสร้างวัดขึ้นบนดอยนี้ เพื่อเป็นสถานที่แห่งพระศาสนา ท่านจะเห็นเป็นประการใด” ฝ่ายนางเมงภรรยาก็เห็นเป็นการสมควรด้วย จึงปรึกษาเป็นที่ตกลงกันแล้ว จึงได้ลงมือชำระแผ้วถางสถานที่นั้นเสร็จแล้ว เมื่อจุลศักราชล่วงได้ ๘๑๔ (พ.ศ. ๑๙๙๕) เดือน ๗ ขึ้น ๙ ค่ำ (เดือน ๙ เหนือ) วันจันทร์ฤกษ์ได้ ๑๒ ตัว เวลาเช้านายส้อยนางเมงได้ยกเอาเสาศาลาขึ้นเป็นปฐมฤกษ์ พร้อมกับได้ก่อเจดีย์ไว้บนถ้ำคูหาและก่อพระพุทธรูปไว้ ๒ องค์ เมื่อนายส้อยนางเมงได้ปลูกสร้างศาลา และก่อเจดีย์ขึ้นแล้ว คนทั้งหลายจึงเข้าใจกันว่านายส้อยนางเมงได้สร้างวัดขึ้นบนดอยนั้น ฉะนั้นจึงได้พากันเรียกวัดนั้นว่า วัดศรีจอมทอง มาจนกระทั่งบัดนี้

อยู่มาวันหนึ่งนายส้อยได้จุดประทีป ๒ ดวงบูชาพระพุทธรูป แล้วตั้งสัตยาธิษฐานว่า “ข้าพเจ้าทั้งสองมีจิตศรัทธาจะสร้างวัดขึ้นมาในที่นี้ ถ้าการสร้างวัดของข้าพเจ้าทั้งสองจักสำเร็จสมความปรารถนาแล้ว ขอให้ประทีป ๒ ดวงนี้จงตั้งอยู่ในสถานที่เดิม” ดังนี้ ครั้นอธิษฐานแล้วพอเวลารุ่งเช้านายส้อยนางเมงจึงพร้อมกันไปดูที่นั้น เห็นประทีปดวงหนึ่งได้ย้ายไปจากที่ๆ ของนายส้อยนางเมงจึงพร้อมกันไปดูที่นั้นจักสิ้นไปเสียก่อน เทพยดาจึงย้ายประทีปดวงหนึ่งไปเสีย พอถึงเวลากลางคืนเทพยดาจึงมาบอกแก่นายส้อยโดยนิมิตว่า “สถานที่นี้เป็นที่วิเศษ ต่อไปจะเป็นที่ตั้งแห่งพระพุทธศาสนาไปจนตลอด ๕,๐๐๐ พระวัสสา ให้ช่วยบอกแก่คนทั้งหลาย อย่าให้ลบหลู่ดูหมิ่นสถานที่นี้เป็นอันขาด” ส่วนนายส้อยได้ทราบจากนิมิตเช่นนั้นก็มีใจปีติยินดียิ่งนักต่อแต่นั้นมาอีก ๒ ปี นายส้อยนางเมงก็ถึงแก่กรรมไป

นับตั้งแต่นายส้อยนางเมงเริ่มสร้างวัดศรีจอมทองมาเป็นเวลา ๑๕ ปี ถึงปีระกา จุลศักราช ๘๒๘ (พ.ศ. ๒๐๐๙) มีชาย ๒ คนๆ หนึ่งชื่อสิบเงิน อีกหนึ่งคนชื่อสิบถัว ได้ชักชวนกันสร้างวิหารขึ้นหลังหนึ่งหลังคามุงหญ้าคา แล้วนิมนต์ภิกษุรูปหนึ่งชื่อ สารีปุตตเถระมาเป็นเจ้าอาวาสวัดนั้นท่านอยู่เป็นเจ้าอาวาสได้ ๕ พรรษาก็มรณภาพไป ต่อมาถึงปีจุลศักราช ๘๓๒ (พ.ศ. ๒๐๑๓) พระเทพกุลเถระ มาอยู่เป็นเจ้าอาวาส ท่านผู้นี้ได้จัดการปฏิสังขรณ์วิหารใส่ไม้ระแนงและมุงกระเบื้องไว้ ถึงปีจุลศักราช ๘๓๗ (พ.ศ. ๒๐๑๘) ชาวบ้านทั้งหลายไปนิมนต์พระมหาเถระเจ้าองค์หนึ่ง ชื่อพระธมฺมปญฺโญ มาอยู่เป็นเจ้าอาวาส ท่านผู้นี้พร้อมด้วยชาวบ้านได้พากันไปรื้อถอนเอาวิหารกับทั้งพระพุทธรูปองค์ใหญ่หล่อ (ก่อ-ปั้น) ด้วยปูนจากวัดท่าแย้ม ซึ่งอยู่ข้างแม่น้ำกาละ (เข้าใจว่าเป็นแม่น้ำกลาง) มาไว้ในวัดศรีจอมทองในปีพ.ศ. ๒๐๒๒ แล้วได้ชักชวนกันสร้างระเบียงหน้ามุขวิหารขึ้น แล้วก่อปราสาทเฟื้องโดยสูง ๒ วา ๓ ศอก โดยกว้าง ๑ วา ๒ ศอก เพื่อเป็นที่ไว้พระพุทธรูปแล้วก่อกำแพงรอบวิหารทั้ง ๔ ด้าน ยาว ๑๐ วา ๓ ศอก ไว้สำหรับเป็นที่อยู่ของพระภิกษุสงฆ์



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_6279.JPG



IMG_6209.jpg


ตำนานพระบรมธาตุจอมทอง (ต่อ)

ตอนที่ ๔  พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชเสด็จสู่ดอยศรีจอมทอง

จำเดิมแต่กาลที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วได้ ๒๑๘ ปี มีพระราชาองค์หนึ่งพระนามว่า ศรีธรรมาโศกราช หรืออีกนัยหนึ่งว่า พระเจ้าอโศกมหาราช เป็นผู้ทรงเดชานุภาพปราบชมพูทวีปทั้งมวลได้เสด็จไปสู่ดอยศรีจอมทอง พร้อมด้วยท้าวพระยาเสนามาตย์ราชบริพารเป็นอันมาก ด้วยอานุภาพแห่งพระอินทร์ เทพยดาและพระอรหันต์แล้วได้ให้ขุดคูหาอุโมงค์ที่ใต้พื้นดอยศรีจอมทองลึกนัก ใหญ่ประมาณเท่าที่ตั้งพระคันธกุฏิแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระเชตะวันมหาวิหาร พระนครสาวัตถีในสมัยพุทธกาล

แล้วให้สร้างพระสถูปองค์หนึ่งแล้วด้วยทองคำสูง ๖ ศอก ไว้ในคูหานั้น หล่อพระพุทธรูปแล้วด้วยทองและเงินตั้งไว้รอบสถูปนั้น หล่อพระพุทธรูปยืนด้วยทองทิพย์หนัก ๑ แสน ๒ องค์ ตั้งไว้ทางทิศเหนือพระสถูปองค์ ๑ ทิศใต้ ๑ องค์ หล่อพระพุทธรูปนั่งด้วยทองคำ ๒ องค์ หนักองค์ละ ๑ แสน ตั้งไว้ ณ ทิศตะวันออกพระสถูปองค์ ๑ ทิศตะวันตก องค์ ๑ และได้จัดสร้างดุริยดนตรีเครื่องปูลาด เตียงตั้ง และฉัตรธงไว้ทั้ง ๔ ด้านแห่งพระสถูปนั้น แล้วให้หล่อรูปยักษ์ ๘ ตน ยืนเฝ้าที่หน้ามุขพระสถูปทั้ง ๔ ด้านๆ ละตน และยืนเฝ้าประตูแห่งคูหาทั้ง ๔ ด้านๆ ละตน

แล้วพระเจ้าอโศกมหาราชจึงเอาพระเกศแก้ววชิระ (โกศเพชร) หนัก ๑ พันน้ำ มาตั้งไว้เหนืออาสนะทองคำ ครั้นได้นักขัตฤกษ์ชัยมงคล จึงพร้อมด้วยพระอรหันต์ เทวดา นาค ครุฑ และสมณพราหมณ์ ทำการฉลองสมโภชบูชาพระบรมธาตุแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นมหาปางอันใหญ่ตลอด ๗ วัน ครั้นแล้วพระเจ้าอโศกมหาราชจึงได้ทำการอัญเชิญพระทักษิณโมลีธาตุจอมพระเศียรเบื้องขวาแห่งพระพุทธเจ้า เท่าเมล็ดในพุทราเสด็จเข้าสู่โกศแก้ววชิระนั้น พร้อมทั้งพระธาตุกระดูกด้ามมีดเบื้องขวา (พระอัฐิขากรรไกร) โตเท่าเมล็ดข้าวสารหัก มีสัณฐานเป็นสามเหลี่ยม และพระบรมธาตุย่อยอีก ๕ องค์เท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด (เมื่อพระมหากัสสปอธิษฐานกล่าวถึงพระทักษิณโมลีธาตุอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ได้กล่าวถึงพระธาตุย่อย) รวมเป็นพระธาตุ ๗ องค์ ให้เข้าอยู่ในโกศแก้ววชิระนั้น จึงเชิญโกศแก้ววชิระให้เข้าประดิษฐานไว้ในพระสถูปทองคำ

เสร็จแล้ว พระเจ้าอโศกมหาราชพร้อมด้วยท้าวพระยาเสนามาตย์ เทพยดา และพระอรหันต์ทั้งหลาย จึงกล่าวคำอธิษฐานไว้ว่า ข้าแต่พระบรมธาตุเจ้าองค์ประเสริฐในกาลเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระชนม์อยู่ พระองค์ได้เคยเสด็จมาสู่ที่นี้ และได้ตรัสทำนายไว้แก่พระยาอังครัฏฐะว่า “พระทักษิณโมลีธาตุของเราตถาคตจะมาประดิษฐานอยู่ที่นี่” ดังนี้ และบัดนี้พระบรมธาตุเจ้าก็ได้เสด็จเข้าประดิษฐานในที่นี่สมเด็จพระพุทธทำนายแล้ว ในกาลต่อไปข้างหน้า แม้ว่าคน เทวดา และครุฑ นาคใดๆ ก็ดี จักมานำเอาพระบรมธาตุเจ้าไปในสถานที่ใดก็ดีขอพระบรมธาตุเจ้าอย่าได้เสด็จไปเลย แม้ถึงว่าได้เสด็จไปแล้วก็ขอจงได้ เสด็จกลับคืนมาอยู่ ณ สถานที่นี้ตราบเท่า ๕,๐๐๐ พระวัสสา เพื่อได้เป็นที่สักการบูชาแก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลายชั่วกาลนาน

ข้าแต่พระบรมธาตุเจ้าในอนาคตกาลข้างหน้า หากมีพระราชาหรือมหาอำมาตย์ผู้ใด ได้มาสักการะพระบรมธาตุเจ้า ณ ดอยศรีจอมทองที่นี่ ขอจงให้พระราชาเป็นต้น พระองค์นั้นจงมีเดชานุภาพเหมือนดั่งข้าพระพุทธองค์ ข้าพระพุทธเจ้าขอนิมนต์พระบรมธาตุเจ้า จงเสด็จออกมาจากพระสถูปทองคำแสดงอภินิหารให้ปรากฏแก่คนและเทพยดาทั้งหลาย เพื่อให้พระพุทธศาสนารุ่งเรืองต่อไปตลอด ๕,๐๐๐ พระวัสสา ถ้าหากพระราชและอำมาตย์เสวยราชบ้านเมืองที่นี้ ปราศจากการเคารพนับถือพระรัตนตรัย กระทำแต่บาปอกุศลกรรมมีประการต่างๆ ไซร้ ขอพระบรมธาตุเจ้า จงเสด็จประทับอยู่ในพระสถูปทองคำ แห่งข้าพระพุทธเจ้า ขอจงอย่าได้เสด็จออกมาให้ปรากฏแก่ผู้ใดเลย

ข้าแต่พระบรมธาตุเจ้า กาลใดเมื่อพระพุทธศาสนาตั้งอยู่ตลอด ๕,๐๐๐ พระวัสสาแล้ว พระธาตุแห่งพระพุทธเจ้าก็จักเสด็จไปรวมกันในที่แห่งเดียว ขอพระสถูปทองคำของข้าพระพุทธเจ้ากับทั้งเครื่องสักการบูชาทั้งหลาย จงอย่าได้สูญหายไปเป็นอันตรายไปเลย ขอจงตั้งอยู่ตราบเท่าถึงศาสนาพระศรีอริยะเมตไตรยผู้จะมาตรัสในภายหน้า และขอจงให้พระศรีอริยะเมตไตรยพระองค์นั้นจงนำพระสถูปทองคำของข้าพระพุทธเจ้านี้ออกมาแสดงแก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย ได้กระทำสักการบูชาทุก ๗ วันเทอญ เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชทรงอธิษฐานดังนี้แล้ว เหล่าเทพยดา นาคครุฑ ทั้งหลายจึงได้นำเอาหินจากป่าหิมพานต์ เอามาก่อแวดล้อมพระสถูปไว้ ๗ ชั้น เพื่อมิให้คนและสัตว์มาทำอันตรายได้ แล้วจึงอาณัติสั่งเทวดา ๒ ตนและพระยานาค ๒ ตน ให้อยู่พิทักษ์รักษาพระบรมธาตุเจ้าต่อไป

ในกาลใดถ้าหากพระราชามหาอำมาตย์และฝูงชนทั้งหลาย ประกอบด้วยบุญสมภารมีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย ในกาลนั้น เทพยดา และพระยานาคผู้รักษาพระบรมธาตุ ก็ดลบันดาลให้ชนทั้งหลายทราบว่าพระบรมธาตุเจ้ามีอยู่ในที่นี้ ถ้าชนทั้งหลายมีใจหนาแน่นไปด้วยกิเลส ประกอบแต่กรรมอันเป็นอกุศลบาปธรรม เทพเจ้าผู้รักษาพระบรมธาตุก็นิมนต์พระบรมธาตุให้เข้าอยู่ในคูหาใต้พื้นดอยศรีจอมทองเสีย มิให้ออกมาปรากฏแก่คนทั้งหลาย และในกาลนั้นพระเจ้าอโศกธรรมราชาได้รับสั่งให้เสนาอำมาตย์ราชบริพารทั้งหลาย ให้ขุดหลุมใหญ่ฝังทองคำไว้ในทิศทั้ง ๘ แห่งดอยศรีจอมทอง ทรงอธิษฐานไว้ว่าเมื่อใดพระบรมธาตุเจ้า เจริญรุ่งเรืองไปภายหน้า ขอจงให้ผู้อยู่ปฏิบัติรักษาพระบรมธาตุนี้ จงขุดเอาทองคำที่ฝังไว้นี้ออกบำรุงก่อสร้าง สถาปนาพระพุทธศาสนาให้เจริญถาวรต่อไปชั่วกาลนานเทอญ ครั้นแล้วท้าวเธอทั้งหลายพร้อมด้วยเสนาอำมาตย์ราชบริพารก็เสด็จคมนาการกลับไปสู่พระนครของพระองค์ (คืนเมืองปาตลีบุตร ประเทศอินเดีย) ณ กาลนั้นแล



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_6666.JPG



IMG_6248.jpg



ตำนานพระบรมธาตุจอมทอง (ต่อ)

ตอนที่ ๓  พระทักษิณโมลีธาตุเสด็จมาสู่ดอยจอมทอง

เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทั้งหลายเสด็จดับขันธปรินิพพานไป ณ เมืองกุสินารานั้น โทณพราหมณ์ได้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุแก่กษัตริย์ทั้งหลาย ที่ส่งทูตมาขอทั้ง ๘ นคร ส่วนพระทักษิณโมลีธาตุนั้นได้ตกไปเป็นส่วนแห่งมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา ครั้งนั้นพระมหากัสสปะเถระเจ้าผู้เป็นประธานในที่นั้น จึงได้ถวายพระพรแจ้งแก่กษัตริย์เมืองกุสินาราว่า “พระทักษิณโมลีธาตุแห่งพระพุทธองค์เจ้านั้นสมควรให้ไปประดิษฐานไว้ที่ดอยศรีจอมทอง แขวงเมืองอังครัฏฐะ เพราะว่าเมื่อทรงพระชนม์อยู่นั้น พระองค์ได้ตรัสพยากรณ์ทำนายไว้แก่พระยาอังครัฏฐะ ในคราวที่พระองค์เสด็จไปรับบิณฑบาตของพระยาอังครัฏฐะว่า “ดอยจอมทองนี้จักเป็นที่ประดิษฐานพระทักษิณโมลีธาตุแห่งพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ และพระทักษิณโมลีธาตุของเราตถาคต ก็จักมาประดิษฐานบนยอดดอยจอมทองนี้”

ดังนั้น ฝ่ายกษัตริย์ชาวเมืองกุสินาราทั้งหลาย ได้ทรงฟังพระเถระเจ้ากล่าวเช่นนั้นก็ทรงยินดีมากนัก จึงยินยอมพร้อมกันยกถวายพระทักษิณโมลีธาตุนั้นให้แก่พระมหากัสสปเถระเจ้าในกาลนั้น ส่วนพระมหากัสสปเถระเจ้าก็อัญเชิญพระทักษิณโมลีธาตุองค์ประเสริฐตั้งไว้บนฝ่ามือ แล้วผินหน้าเฉพาะต่อเมืองอังครัฏฐะ ตั้งสัตยาอธิษฐานแก่กล่าวอาราธนาว่า “ขอพระบรมธาตุเจ้าองค์ประเสริฐจงเสด็จไปประดิษฐาน ตั้งอยู่ในโกศแก้วอินทนิลภายในเจดีย์ทองคำ ซึ่งอยู่บนยอดดอยศรีจอมทองอันพระยาอังครัฏฐะได้ให้สร้างไว้ด้วยกำลังอานุภาพแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และคำอธิษฐานของข้าพระองค์นี้เทอญ”

ขณะนั้น พระบรมธาตุองค์ประเสริฐก็ได้เปล่งรัศมีแสงสว่างอันขาวบริสุทธิ์ดุจหนึ่งว่าพระจันทร์ในวันเพ็ญ แล้วเสด็จลอยขึ้นสู่อากาศแสดงปาฏิหาริย์มีประการต่างๆ แล้วเสด็จไปประดิษฐานอยู่ในโกศแก้วอินทนิล อันพระยาอังครัฏฐะได้ให้สร้างไว้บนยอดดอยศรีจอมทอง พร้อมด้วยความอัศจรรย์เป็นอันมาก ดั่งอธิษฐานของพระมหากัสสปเถระเจ้า สมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงทำนายไว้ทุกประการนั้นแล (เป็นอันว่าพระบรมธาตุได้เสด็จมาสู่ดอยจอมทอง ภายหลังพุทธปรินิพพานแล้วเล็กน้อย)



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_6248.JPG



IMG_6234.JPG



ตำนานพระบรมธาตุจอมทอง (ต่อ)

ตอนที่ ๒  พระพุทธเจ้าและพระมหาโมคคัลลานะ เสด็จสู่ดอยจอมทอง

ในสมัยเมื่อพระยาอังครัฏฐะครองเมืองอังครัฏฐะอยู่นั้นเป็นสมัยที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว และทรงเสด็จสำราญพระอิริยาบถอยู่ ณ พระเวฬุวันวิหาร กรุงราชคฤห์ ส่วนพระยาอังครัฏฐะนั้น เป็นผู้สนใจคอยสดับข่าวสาส์นความบังเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าพระธรรมและพระสงฆ์อยู่เสมอมา ครั้นอยู่มาวันหนึ่งท้าวเธอได้สดับข่าวจากพวกพ่อค้า ซึ่งมาจากกรุงราชคฤห์ว่า พระพุทธเจ้าได้บังเกิดขึ้นแล้วในโลก และเสด็จประทับอยู่ที่พระเวฬุวันวิหาร กรุงราชคฤห์ ก็มีใจปีติยินดีมากนัก ได้พระราชทานข้าวของเงินทองเสื้อผ้าแก่พ่อค้าเหล่านั้นเป็นอันมาก เป็นผู้มีจิตเลื่อมใสใคร่ประสบเห็นพระพุทธเจ้าเป็นกำลัง จึงได้อธิษฐานรักษาศีล ๕ แล้วประคองอัญชลี (ประนมมือ) หันหน้าสู่ทิศอุดรกล่าวคำอาราธนาว่า “ข้าแต่พระพุทธเจ้า ผู้ประกอบด้วยมหากรุณาแก่หมู่สัตว์เป็นอันมาก วันพรุ่งนี้ขอพระองค์พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์จงเสด็จมาโปรดข้าพระองค์ด้วยเทอญ”

เมื่ออาราธนาแล้วในคืนวันนั้นเวลาจวนจะใกล้รุ่ง สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเข้าสมาบัติ ครั้นออกจากสมาบัติแล้วทรงแผ่พระญาณเล็งดูเวไนยสรรพสัตว์ตามพุทธวิสัย ได้ทรงเห็นพระยาอังครัฏฐะผู้ประกอบด้วยศรัทธาปรารถนา จะถวายทานแก่พระองค์เข้าไปปรากฏในข่ายพระญาณของพระองค์แล้ว ครั้นเวลารุ่งเช้าพระองค์จึงรับสั่งแก่พระมหาโมคคัลลานะว่า ดูกรโมคคัลลานะเธอพร้อมพระอรหันต์บริวารอีก ๔ รูป จงไปสู่เมืองอังครัฏฐะ พร้อมด้วยพระอรหันต์บริวาร ๔ รูปโดยทางอากาศ

ในคืนวันนั้นพระยาอังครัฏฐะทรงสุบินนิมิตฝันว่า มีพระยาหงส์ทอง ๕ ตัว บินมาทางอากาศแล้วลงยังท้องพระลานหลวงของพระองค์ก็ทรงสะดุ้งตื่นขึ้น ขณะเมื่อท้าวเธอกำลังทรงคำนึงถึงพระสุบินนิมิตอยู่นั้น ก็พอดีพระมหาโมคคัลลานะพร้อมด้วยพระอรหันต์ทั้ง ๔ มาถึงท้องพระลานหลวง พระยาอังครัฏฐะเมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นก็ทรงสำคัญว่าเป็นพระพุทธเจ้ามีพระทัยเต็มตื้นด้วยปีติยินดียิ่งนัก จึงนิมนต์พระมหาโมคคัลลานะขึ้นสู่พระโรง แล้วให้ป่าวประกาศเสนามาตย์ราชบริพาร และชาวเมืองทั้งหลายให้ตกแต่งเครื่องสักการะข้าวน้ำ โภชนาหาร แล้วนำมาประชุมพร้อมกันถวายนมัสการพระเถระเจ้าเป็นอันมาก

ขณะนี้พระเถระเจ้าจึงได้แจ้งความจริงแก่พระยาอังครัฏฐะว่า “อาตมามิใช่พระพุทธเจ้า แต่เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์ได้รับสั่งให้มาเพื่ออนุเคราะห์แก่มหาบพิตรดังนี้” ส่วนพระยาอังครัฏฐะได้สมาทานศีล ๘ แล้วถวายอาหารบิณฑบาตแก่พระมหาโมคคัลลานะพร้อมด้วยพระอรหันต์บริวารเสด็จแล้วพระมหาโมคคัลลานะก็แสดงพระธรรมเทศนาให้พระยาอังครัฏฐะตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการ แล้วก็อำลาไปสู่ดอยอังคะสักการะ (ดอยอินทนนท์) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองนี้แล้ว พระมหาเถระเจ้าจึงกล่าวคำทำนายแก่พระอรหันต์ผู้บริวารว่า เมืองแห่งพระยาอังครัฏฐะนี้ต่อไปข้างหน้าจักอุดมสมบูรณ์ และเจริญรุ่งเรืองด้วยพุทธศาสนาตลอด ๕,๐๐๐ พระวัสสา

เมื่อพระมหาโมคคัลลานะพร้อมด้วยพระอรหันต์บริวารกลับถึงพระเวฬุวันวิหารแล้ว ก็กราบทูลพฤติการณ์แห่งพระยาอังครัฏฐะถวายให้พระพุทธเจ้าทรงทราบทุกประการ กาลต่อมา พระยาอังครัฏฐะปรารถนาจะถวายทานแก่พระพุทธเจ้าอีก จึงได้ทำอธิษฐานอาราธนาขอให้พระพุทธเจ้าเสด็จมาสงเคราะห์ดังกล่าวแล้วแต่หนหลัง เมื่อทรงอธิษฐานแล้ว ถึงเวลากลางคืนทรงสุบินนิมิตว่า มีพระยาช้างเผือกเชือกหนึ่ง พร้อมด้วยช้างบริวาร ๕๐๐ เชือก เหาะจากทางทิศเหนือมาสู่ดอยจอมทองทางอากาศ แล้วลงบนดอยนั้นเต็มไปทั่วทั้งดอย และเห็นชาวเมืองทั้งหลายได้พากันถือดอกไม้ธูปเทียน ไปน้อมนมัสการบูชาพระยาช้างเผือกนั้นเป็นอันมาก

ครั้นตื่นจากบรรทมแล้วทรงรำพึงว่า เมื่อคราวที่แล้วเราฝันเห็นพระยาหงส์ ๕ ตัวบินลงมา ณ ที่นี้ พอรุ่งขึ้นก็มีพระอรหันต์ ๕ รูปมาสงเคราะห์แก่เรา บัดนี้เราฝันเห็นพระยาช้างเผือกอีกเล่าชะรอยว่าคราวนี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจักเสด็จมาโปรดเราโดยพระองค์เองเป็นแน่ เมื่อท้าวเธอทรงดำริดังนี้แล้วจึงมีรับสั่งให้เสนามาตย์ราชบริพารและประชาชนชาวเมืองทั้งหลาย ให้ตกแต่งข้าวน้ำโภชนาหารและเครื่องสักการะ มีดอกไม้ ธูปเทียนเป็นต้น แล้วให้ไปประชุมพร้อมเพรียงกัน คอยท่าการเสด็จมาแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ ณ ที่ดอยศรีจอมทอง

ฝ่ายสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงทราบด้วยความปริวิตกแห่งพระยาอังครัฏฐะในกาลครั้งนั้น พระองค์เข้าสู่พระมหากรุณาบัติออกจากสมาบัติแล้วทรงนุ่งสบงจีวร พระกรทั้งสองประคองบาตร เสด็จสู่ดอยจอมทองพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูปเป็นบริวาร โดยทางอากาศเพื่อรับอาหารบิณฑบาตแห่งพระยาอังครัฏฐะในกาลครั้งนั้น ฝ่ายพระยาอังครัฏฐะเมื่อได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมา พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์เป็นอันมากก็มีปีติยินดียิ่งนักจึงเข้าไปถวายบังคมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยเบญจางคประดิษฐ์

ครั้งนั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อจะยกย่องสรรเสริญและทำนายสถานที่นั้น จึงตรัสแก่พระยาอังครัฏฐะว่า ดูก่อนมหาราช สถานที่นี้ต่อไปข้างหน้าจักเป็นอัครสถานอันประเสริฐ จักเป็นที่ประดิษฐานทักษิณโมลีธาตุจอมหัวเบื้องขวาแห่งเรากับธาตุกระดูกด้ามมีดเบื้องขวา มีสัณฐานเป็นรูปสามเหลี่ยมเท่าเมล็ดข้าวสารหัก และธาตุย่อยอีก ๕ องค์ เท่าเม็ดพันธุ์ผักกาดจักมาประดิษฐานอยู่ ณ ที่นี้

เมื่อเราตถาคตนิพพานไปแล้วได้ ๒๑๘ ปีจักได้มีพระราชาองค์หนึ่งนามว่า อโศกมหาราช จักเป็นธรรมมิกราชปราบชมพูทวีปทั้งมวลแล้ว จักเสด็จมาสู่ดอยจอมทองนี้ จักให้สร้างอุโมงค์เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุไว้ใต้พื้นดอยที่นี้ สถานที่นี้จักเป็นอัครสถานอันเลิศแล เมื่อเราตถาคตนิพพานไปแล้วได้ ๑,๐๐๐ ปี จักเจริญครั้งหนึ่งได้ ๒,๐๐๐ ปี จักเจริญครั้งหนึ่งได้ ๓,๐๐๐ ปี จักเจริญครั้งหนึ่ง ได้ ๔,๐๐๐ ปี จักเจริญครั้งหนึ่งได้ ๔,๕๐๐ ปี จักเจริญครั้งหนึ่งได้ ๔,๗๕๐ ปี จักเจริญครั้งหนึ่ง สถานที่นี้จักเจริญในกาล ๗ ครั้ง ด้วยประการฉะนี้แล

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์ทำนายจบลงแล้วได้มีเทวดา ๒ ตน กับ พระยานาค ๒ ตน ที่อยู่รักษาดอยจอมทองที่นั้นเข้าไปกราบทูลขอรับอาสาจะรักษาสถานที่นั้น เพื่อไม่ให้ใครทำอันตรายใดๆ ได้ ส่วนพระยาอังครัฏฐะก็นิมนต์พระพุทธองค์ และภิกษุสงฆ์ ไปรับบิณฑบาตในสถานที่อันตนได้ให้ชัดแจ้งไว้ทางทิศเหนือ แห่งดอยจอมทอง ห่างจากที่ยอดดอยจอมทองประมาณ ๓ ชั่วขว้างก้อนดินแตก (สถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงรับบิณฑบาตนั้นเวลานี้ชื่อวัดด้าง ตั้งอยู่ริมถนนด้านตะวันตก เหนือวัดพระธาตุศรีจอมทอง)  พระพุทธองค์รับนิมนต์แล้วก็เสด็จไปรับบิณฑบาต

ครั้นรับแล้วทรงเสด็จกลับมาสู่ดอยจอมทองอีก แล้วทรงพิจารณาดูสถานที่ที่จะทรงนั่งทำภัตตกิจ (เสวย) แล้วทรงไปนั่งทำภัตตกิจ ณ สถานที่แห่งหนึ่งอันตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือแห่งยอดดอยศรีจอมทอง (ในสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงทำภัตตกิจ (เสวยอาหาร)ได้แก่ที่ตั้งพระอุโบสถ วัดพระธาตุศรีจอมทองในเวลานี้ ซึ่งถือเป็นประเพณีนิมนต์พระธาตุไปบูชาข้าวที่อุโบสถจนทุกวันนี้)  ห่างจากที่พระองค์ประทับยืนครั้งแรกประมาณ ๓ ชั่วไม้ส้าว (สามชั่วไม้รวก) เมื่อพระองค์ทรงทำภัตตกิจเสร็จแล้วจึงทรงแสดงพระธรรมเทศนาโดยนัยพระบาลีว่า อปฺปมตฺตา  โหถ  ภิกฺขเว ดังนี้เป็นต้น ฝ่ายพระยาอังครัฏฐะกับเสนามาตย์ ชาวบ้านชาวเมืองได้ฟังพระธรรมเทศนาก็ชื่นชมยินดีมากนัก จึงนิมนต์พระพุทธเจ้าขอให้พระองค์เสด็จมาโปรดเนืองๆ ต่อไป

ส่วนสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้นทรงแสดงธรรมเทศนาจบลงแล้ว ก็ทรงอำลาพระยาอังครัฏฐะแล้วพาพระภิกษุสงฆ์บริวารเสด็จไปยังดอยอังคะสักการะ (อินทนนท์) โดยทางอากาศแล้วพระองค์ได้ทรงผินพระพักตร์เล็งแลดูเมืองอังครัฏฐะ จึงตรัสทำนายแก่พระอรหันต์ทั้งหลายว่า ชนบทนี้จักเป็นที่สุขเกษมสำราญชื่นบานอุดมสมบูรณ์ด้วยชัชชโภชนาหาร เป็นสถานที่ตั้งแห่งพระพุทธศาสนา โดยดังพระมหาโมคคัลลานะได้กล่าวสรรเสริญไว้ในหนหลัง แล้วพระองค์ก็เสด็จกลับไปสู่เมืองราชคฤห์พร้อมด้วยพระอรหันต์ ๕๐๐ รูปในวันนั้น

ส่วนพระยาอังครัฏฐะ เมื่อได้ทราบคำทำนายจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “สถานที่แห่งดอยจอมทองนั้น จักเป็นที่ประดิษฐานพระทักษิณโมลีธาตุแห่งพระพุทธเจ้าเช่นนั้นแล้ว” จึงรับสั่งให้ปลูกศาลาไว้ในที่ ๓ แห่ง คือ ที่ยอดดอยศรีจอมทอง อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าลงมาประทับยืนที่แรกนั้นแห่งหนึ่ง ที่อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับบิณฑบาตนั้นแห่งหนึ่งและที่อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเสวย (ฉัน) โภชนาหารนั้นแห่งหนึ่ง และได้สร้างพระเจดีย์หลังหนึ่งแล้วด้วยทองคำ วิจิตรไปด้วยแก้ว ๗ ประการ ไว้บนยอดดอยศรีจอมทอง และให้สร้างโกศแก้วอินทนิลดวงหนึ่งควรค่าได้แสนคำไว้ภายในเจดีย์ทองคำนั้นแล้ว จึงตั้งสัตยาธิษฐานว่า “เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ขอให้พระทักษิณโมลีธาตุเบื้องขวาแห่งพระพุทธองค์ จงเสด็จมาประดิษฐานอยู่ในโกศแก้วอินทนิลอันตั้งไว้ ในเจดีย์ทองคำนี้เทอญ”

ครั้นแล้วจึงตั้งไว้ซึ่งพ่อครัว ๕๐๐ ตระกูล ให้อยู่ปฏิบัติรักษาเจดีย์นั้นและรับสั่งพ่อครัวไว้ว่า “เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายเสด็จมาสู่สถานที่นี้อีก ท่านทั้งหลายจงตกแต่งโภชนาหารอันประณีตต่างๆ ถวาย อย่าได้ขาดจงทุกครั้งทุกคราว” ดังนี้แล้วก็เสด็จเข้าพระนครแห่งพระองค์ เสวยราชสมบัติโดยทศพิธราชธรรม จนตราบเท่าสิ้นพระชนมายุแล้วก็ได้ไปบังเกิดในสวรรค์เทวโลกนั้นแล.



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_6676.JPG



IMG_6204.JPG



ตำนานพระบรมธาตุจอมทอง



(แหล่งที่มา : ศุภสิทธิ์ มหาคุณ. (๒๕๓๗, ๒๓ มกราคม). หนังสือพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุประจำปีเกิด.)


ตอนที่ ๑   ดอยจอมทองในสมัยพุทธกาล

บัดนี้จักกล่าวถึงสถานที่คือดอยจอมทองก่อน ดอยจอมทองนี้ได้แก่ที่ตั้งวัดพระธาตุศรีจอมทองในปัจจุบันนี้ ซึ่งเป็นวัดที่พระบรมธาตุประดิษฐานอยู่ ดอยลูกนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกแห่งเมืองกุสินารา ห่างจากเมืองกุสินาราประมาณ ๒๗ โยชน์ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) แห่งดอยจอมทอง มีเมืองๆ หนึ่งชื่อว่า เมืองอังครัฏฐะ ดอยจอมทองนั้นตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ (หรดี) แห่งเมืองอังครัฏฐะ ห่างจากเมืองประมาณ ๕๐ วา

มีแม่น้ำสายหนึ่งชื่อว่าระวิงคะนที (แม่น้ำปิง) ไหลจากทางทิศเหนือผ่านเชิงดอยจอมทองมาทางทิศตะวันออก ห่างจากเชิงดอยประมาณ ๗๕ วา (ปัจจุบันนี้แม่น้ำปิงได้เปลี่ยนทางเดินใหม่ ห่างออกไปประมาณ ๑ กม.เศษ) ไหลลงไปถึงมหาสมุทร ยังมีแม่น้ำอีกสายหนึ่งชื่อ สักการะนที (แม่น้ำแม่กลาง) ไหลจากท้องดอยลูกหนึ่งชื่อ อังคะสักการะ (ดอยอังกาหรือดอยอินทนนท์) อันตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือแห่งเมืองอังครัฏฐะผ่านดอยจอมทองมาทางทิศตะวันตกห่างจากเชิงดอยประมาณ ๓๐๐ วา แล้วไหลไปตกแม่น้ำระมิงคะนทีตำบลสบเตี้ย (เวลานี้เรียกว่า สบกลาง) ทางทิศใต้ดอยจอมทองห่างประมาณ ๒,๐๐๐ วา

ดอยลูกนี้มีสัณฐานดังหลังเต่าคำ สูงจากที่ราบประมาณ ๕ วา เมืองอังครัฏฐะนั้นมีเจ้าครองนครนามว่า พระยาอังครัฏฐะทรงมีบุญบารมีเดชะอำนาจมากนัก  มีเสนามาตย์ราชบริพารและพลโยธาตั้งทั้ง ๒ ข้างแม่น้ำทั้ง ๒ (คือแม่น้ำระมิงคะนที และแม่น้ำสักการะนที) มีหมู่บ้าน ๘ หมื่นตระกูล ดอยจอมทองนั้นเป็นสถานที่สวยงามร่มเย็น มีหมู่ไม้ทองหลางเกิดอยู่บนดอยนั้น และตามตำนานนี้ว่าเป็นสถานที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์เสด็จมาประทับโปรดเวไนยสัตว์และเป็นที่ประดิษฐานพระทักษิณโมลีธาตุแห่งพระพุทธเ
จ้าทุกๆ พระองค์



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_6180.JPG



IMG_6190.JPG



IMG_6682.JPG



IMG_6652.jpg



พระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร เป็นพระธาตุประจำปีเกิด (ปีชวด) ฐานรูปสี่เหลี่ยม หุ้มทองทั้งองค์ กว้าง ๔ เมตร ยาว ๘ เมตร ศิลปกรรมแบบล้านนา ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้มาภายหลัง ส่วนพระบรมธาตุส่วนพระเศียรเบื้องขวา พระธาตุกระดูกด้ามมีดเบื้องขวา (พระอัฐิขากรรไกร) และพระบรมธาตุย่อยอีก ๕ องค์ ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประดิษฐานอยู่ในโกศทองคำตั้งไว้ภายในมณฑปปราสาทภายในพระวิหารหลวง ค่ะ



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_2734.jpg



IMG_6173.jpg



IMG_6153.JPG



IMG_6170.jpg



การเดินทางไปวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร ใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๐๘ (เชียงใหม่ – จอมทอง - ฮอด) ระยะทางห่างจากตัวอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ ๕๘ กิโลเมตร ถ้ามาจากตัวเมืองเชียงใหม่ วัดจะอยู่ด้านซ้ายมือของถนนเชียงใหม่-ฮอด อยู่ใกล้กับตลาดจอมทองค่ะ

การเดินทางไปวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร ดูข้อมูลแผนที่จากเว็บ googleได้ตามลิงค์นี้ค่ะ

https://www.google.co.th/maps/search/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%98%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%88%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3/@18.4140267,98.6770692,14z


IMG_6163.jpg



IMG_6155.jpg



วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร เดิมชื่อ วัดพระธาตุเจ้าศรีจอมทอง ตั้งอยู่ถนนเชียงใหม่-ฮอด หมู่ ๒ ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๐๖ มีเนื้อที่ประมาณ ๑๕ ไร่ บริเวณที่ตั้งเป็นเนินดินสูง ประมาณ ๑๐ เมตร เรียกกันมาตั้งแต่อดีตว่า ดอยจอมทอง ค่ะ


IMG_6178.jpg



ซุ้มประตูทางเข้า/ออก วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร ค่ะ



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html
‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2024-11-28 03:37 , Processed in 0.079389 second(s), 15 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.