แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
ดู: 6761|ตอบ: 29
go

วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร บ.หลวง ม.๒ ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

155555676c8w6f404d76j0.jpg



IMG_6407.JPG



วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร

บ.หลวง  ม.๒  ต.บ้านหลวง  อ.จอมทอง  จ.เชียงใหม่


[พระบรมธาตุส่วนพระเศียรเบื้องขวา ,

พระธาตุกระดูกด้ามมีดเบื้องขวา (พระอัฐิขากรรไกร) ,

พระบรมธาตุย่อยอีก ๕ องค์ , สถานที่พระพุทธเจ้าประทับนั่งฉันภัตตาหาร]



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_2734.jpg



IMG_6173.jpg



IMG_6153.JPG



IMG_6170.jpg



การเดินทางไปวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร ใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๐๘ (เชียงใหม่ – จอมทอง - ฮอด) ระยะทางห่างจากตัวอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ ๕๘ กิโลเมตร ถ้ามาจากตัวเมืองเชียงใหม่ วัดจะอยู่ด้านซ้ายมือของถนนเชียงใหม่-ฮอด อยู่ใกล้กับตลาดจอมทองค่ะ

การเดินทางไปวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร ดูข้อมูลแผนที่จากเว็บ googleได้ตามลิงค์นี้ค่ะ

https://www.google.co.th/maps/search/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%98%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%88%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3/@18.4140267,98.6770692,14z


IMG_6163.jpg



IMG_6155.jpg



วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร เดิมชื่อ วัดพระธาตุเจ้าศรีจอมทอง ตั้งอยู่ถนนเชียงใหม่-ฮอด หมู่ ๒ ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๐๖ มีเนื้อที่ประมาณ ๑๕ ไร่ บริเวณที่ตั้งเป็นเนินดินสูง ประมาณ ๑๐ เมตร เรียกกันมาตั้งแต่อดีตว่า ดอยจอมทอง ค่ะ


IMG_6178.jpg



ซุ้มประตูทางเข้า/ออก วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร ค่ะ



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_6180.JPG



IMG_6190.JPG



IMG_6682.JPG



IMG_6652.jpg



พระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร เป็นพระธาตุประจำปีเกิด (ปีชวด) ฐานรูปสี่เหลี่ยม หุ้มทองทั้งองค์ กว้าง ๔ เมตร ยาว ๘ เมตร ศิลปกรรมแบบล้านนา ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้มาภายหลัง ส่วนพระบรมธาตุส่วนพระเศียรเบื้องขวา พระธาตุกระดูกด้ามมีดเบื้องขวา (พระอัฐิขากรรไกร) และพระบรมธาตุย่อยอีก ๕ องค์ ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประดิษฐานอยู่ในโกศทองคำตั้งไว้ภายในมณฑปปราสาทภายในพระวิหารหลวง ค่ะ



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_6676.JPG



IMG_6204.JPG



ตำนานพระบรมธาตุจอมทอง



(แหล่งที่มา : ศุภสิทธิ์ มหาคุณ. (๒๕๓๗, ๒๓ มกราคม). หนังสือพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุประจำปีเกิด.)


ตอนที่ ๑   ดอยจอมทองในสมัยพุทธกาล

บัดนี้จักกล่าวถึงสถานที่คือดอยจอมทองก่อน ดอยจอมทองนี้ได้แก่ที่ตั้งวัดพระธาตุศรีจอมทองในปัจจุบันนี้ ซึ่งเป็นวัดที่พระบรมธาตุประดิษฐานอยู่ ดอยลูกนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกแห่งเมืองกุสินารา ห่างจากเมืองกุสินาราประมาณ ๒๗ โยชน์ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) แห่งดอยจอมทอง มีเมืองๆ หนึ่งชื่อว่า เมืองอังครัฏฐะ ดอยจอมทองนั้นตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ (หรดี) แห่งเมืองอังครัฏฐะ ห่างจากเมืองประมาณ ๕๐ วา

มีแม่น้ำสายหนึ่งชื่อว่าระวิงคะนที (แม่น้ำปิง) ไหลจากทางทิศเหนือผ่านเชิงดอยจอมทองมาทางทิศตะวันออก ห่างจากเชิงดอยประมาณ ๗๕ วา (ปัจจุบันนี้แม่น้ำปิงได้เปลี่ยนทางเดินใหม่ ห่างออกไปประมาณ ๑ กม.เศษ) ไหลลงไปถึงมหาสมุทร ยังมีแม่น้ำอีกสายหนึ่งชื่อ สักการะนที (แม่น้ำแม่กลาง) ไหลจากท้องดอยลูกหนึ่งชื่อ อังคะสักการะ (ดอยอังกาหรือดอยอินทนนท์) อันตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือแห่งเมืองอังครัฏฐะผ่านดอยจอมทองมาทางทิศตะวันตกห่างจากเชิงดอยประมาณ ๓๐๐ วา แล้วไหลไปตกแม่น้ำระมิงคะนทีตำบลสบเตี้ย (เวลานี้เรียกว่า สบกลาง) ทางทิศใต้ดอยจอมทองห่างประมาณ ๒,๐๐๐ วา

ดอยลูกนี้มีสัณฐานดังหลังเต่าคำ สูงจากที่ราบประมาณ ๕ วา เมืองอังครัฏฐะนั้นมีเจ้าครองนครนามว่า พระยาอังครัฏฐะทรงมีบุญบารมีเดชะอำนาจมากนัก  มีเสนามาตย์ราชบริพารและพลโยธาตั้งทั้ง ๒ ข้างแม่น้ำทั้ง ๒ (คือแม่น้ำระมิงคะนที และแม่น้ำสักการะนที) มีหมู่บ้าน ๘ หมื่นตระกูล ดอยจอมทองนั้นเป็นสถานที่สวยงามร่มเย็น มีหมู่ไม้ทองหลางเกิดอยู่บนดอยนั้น และตามตำนานนี้ว่าเป็นสถานที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์เสด็จมาประทับโปรดเวไนยสัตว์และเป็นที่ประดิษฐานพระทักษิณโมลีธาตุแห่งพระพุทธเ
จ้าทุกๆ พระองค์



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_6248.JPG



IMG_6234.JPG



ตำนานพระบรมธาตุจอมทอง (ต่อ)

ตอนที่ ๒  พระพุทธเจ้าและพระมหาโมคคัลลานะ เสด็จสู่ดอยจอมทอง

ในสมัยเมื่อพระยาอังครัฏฐะครองเมืองอังครัฏฐะอยู่นั้นเป็นสมัยที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว และทรงเสด็จสำราญพระอิริยาบถอยู่ ณ พระเวฬุวันวิหาร กรุงราชคฤห์ ส่วนพระยาอังครัฏฐะนั้น เป็นผู้สนใจคอยสดับข่าวสาส์นความบังเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าพระธรรมและพระสงฆ์อยู่เสมอมา ครั้นอยู่มาวันหนึ่งท้าวเธอได้สดับข่าวจากพวกพ่อค้า ซึ่งมาจากกรุงราชคฤห์ว่า พระพุทธเจ้าได้บังเกิดขึ้นแล้วในโลก และเสด็จประทับอยู่ที่พระเวฬุวันวิหาร กรุงราชคฤห์ ก็มีใจปีติยินดีมากนัก ได้พระราชทานข้าวของเงินทองเสื้อผ้าแก่พ่อค้าเหล่านั้นเป็นอันมาก เป็นผู้มีจิตเลื่อมใสใคร่ประสบเห็นพระพุทธเจ้าเป็นกำลัง จึงได้อธิษฐานรักษาศีล ๕ แล้วประคองอัญชลี (ประนมมือ) หันหน้าสู่ทิศอุดรกล่าวคำอาราธนาว่า “ข้าแต่พระพุทธเจ้า ผู้ประกอบด้วยมหากรุณาแก่หมู่สัตว์เป็นอันมาก วันพรุ่งนี้ขอพระองค์พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์จงเสด็จมาโปรดข้าพระองค์ด้วยเทอญ”

เมื่ออาราธนาแล้วในคืนวันนั้นเวลาจวนจะใกล้รุ่ง สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเข้าสมาบัติ ครั้นออกจากสมาบัติแล้วทรงแผ่พระญาณเล็งดูเวไนยสรรพสัตว์ตามพุทธวิสัย ได้ทรงเห็นพระยาอังครัฏฐะผู้ประกอบด้วยศรัทธาปรารถนา จะถวายทานแก่พระองค์เข้าไปปรากฏในข่ายพระญาณของพระองค์แล้ว ครั้นเวลารุ่งเช้าพระองค์จึงรับสั่งแก่พระมหาโมคคัลลานะว่า ดูกรโมคคัลลานะเธอพร้อมพระอรหันต์บริวารอีก ๔ รูป จงไปสู่เมืองอังครัฏฐะ พร้อมด้วยพระอรหันต์บริวาร ๔ รูปโดยทางอากาศ

ในคืนวันนั้นพระยาอังครัฏฐะทรงสุบินนิมิตฝันว่า มีพระยาหงส์ทอง ๕ ตัว บินมาทางอากาศแล้วลงยังท้องพระลานหลวงของพระองค์ก็ทรงสะดุ้งตื่นขึ้น ขณะเมื่อท้าวเธอกำลังทรงคำนึงถึงพระสุบินนิมิตอยู่นั้น ก็พอดีพระมหาโมคคัลลานะพร้อมด้วยพระอรหันต์ทั้ง ๔ มาถึงท้องพระลานหลวง พระยาอังครัฏฐะเมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นก็ทรงสำคัญว่าเป็นพระพุทธเจ้ามีพระทัยเต็มตื้นด้วยปีติยินดียิ่งนัก จึงนิมนต์พระมหาโมคคัลลานะขึ้นสู่พระโรง แล้วให้ป่าวประกาศเสนามาตย์ราชบริพาร และชาวเมืองทั้งหลายให้ตกแต่งเครื่องสักการะข้าวน้ำ โภชนาหาร แล้วนำมาประชุมพร้อมกันถวายนมัสการพระเถระเจ้าเป็นอันมาก

ขณะนี้พระเถระเจ้าจึงได้แจ้งความจริงแก่พระยาอังครัฏฐะว่า “อาตมามิใช่พระพุทธเจ้า แต่เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์ได้รับสั่งให้มาเพื่ออนุเคราะห์แก่มหาบพิตรดังนี้” ส่วนพระยาอังครัฏฐะได้สมาทานศีล ๘ แล้วถวายอาหารบิณฑบาตแก่พระมหาโมคคัลลานะพร้อมด้วยพระอรหันต์บริวารเสด็จแล้วพระมหาโมคคัลลานะก็แสดงพระธรรมเทศนาให้พระยาอังครัฏฐะตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการ แล้วก็อำลาไปสู่ดอยอังคะสักการะ (ดอยอินทนนท์) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองนี้แล้ว พระมหาเถระเจ้าจึงกล่าวคำทำนายแก่พระอรหันต์ผู้บริวารว่า เมืองแห่งพระยาอังครัฏฐะนี้ต่อไปข้างหน้าจักอุดมสมบูรณ์ และเจริญรุ่งเรืองด้วยพุทธศาสนาตลอด ๕,๐๐๐ พระวัสสา

เมื่อพระมหาโมคคัลลานะพร้อมด้วยพระอรหันต์บริวารกลับถึงพระเวฬุวันวิหารแล้ว ก็กราบทูลพฤติการณ์แห่งพระยาอังครัฏฐะถวายให้พระพุทธเจ้าทรงทราบทุกประการ กาลต่อมา พระยาอังครัฏฐะปรารถนาจะถวายทานแก่พระพุทธเจ้าอีก จึงได้ทำอธิษฐานอาราธนาขอให้พระพุทธเจ้าเสด็จมาสงเคราะห์ดังกล่าวแล้วแต่หนหลัง เมื่อทรงอธิษฐานแล้ว ถึงเวลากลางคืนทรงสุบินนิมิตว่า มีพระยาช้างเผือกเชือกหนึ่ง พร้อมด้วยช้างบริวาร ๕๐๐ เชือก เหาะจากทางทิศเหนือมาสู่ดอยจอมทองทางอากาศ แล้วลงบนดอยนั้นเต็มไปทั่วทั้งดอย และเห็นชาวเมืองทั้งหลายได้พากันถือดอกไม้ธูปเทียน ไปน้อมนมัสการบูชาพระยาช้างเผือกนั้นเป็นอันมาก

ครั้นตื่นจากบรรทมแล้วทรงรำพึงว่า เมื่อคราวที่แล้วเราฝันเห็นพระยาหงส์ ๕ ตัวบินลงมา ณ ที่นี้ พอรุ่งขึ้นก็มีพระอรหันต์ ๕ รูปมาสงเคราะห์แก่เรา บัดนี้เราฝันเห็นพระยาช้างเผือกอีกเล่าชะรอยว่าคราวนี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจักเสด็จมาโปรดเราโดยพระองค์เองเป็นแน่ เมื่อท้าวเธอทรงดำริดังนี้แล้วจึงมีรับสั่งให้เสนามาตย์ราชบริพารและประชาชนชาวเมืองทั้งหลาย ให้ตกแต่งข้าวน้ำโภชนาหารและเครื่องสักการะ มีดอกไม้ ธูปเทียนเป็นต้น แล้วให้ไปประชุมพร้อมเพรียงกัน คอยท่าการเสด็จมาแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ ณ ที่ดอยศรีจอมทอง

ฝ่ายสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงทราบด้วยความปริวิตกแห่งพระยาอังครัฏฐะในกาลครั้งนั้น พระองค์เข้าสู่พระมหากรุณาบัติออกจากสมาบัติแล้วทรงนุ่งสบงจีวร พระกรทั้งสองประคองบาตร เสด็จสู่ดอยจอมทองพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูปเป็นบริวาร โดยทางอากาศเพื่อรับอาหารบิณฑบาตแห่งพระยาอังครัฏฐะในกาลครั้งนั้น ฝ่ายพระยาอังครัฏฐะเมื่อได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมา พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์เป็นอันมากก็มีปีติยินดียิ่งนักจึงเข้าไปถวายบังคมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยเบญจางคประดิษฐ์

ครั้งนั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อจะยกย่องสรรเสริญและทำนายสถานที่นั้น จึงตรัสแก่พระยาอังครัฏฐะว่า ดูก่อนมหาราช สถานที่นี้ต่อไปข้างหน้าจักเป็นอัครสถานอันประเสริฐ จักเป็นที่ประดิษฐานทักษิณโมลีธาตุจอมหัวเบื้องขวาแห่งเรากับธาตุกระดูกด้ามมีดเบื้องขวา มีสัณฐานเป็นรูปสามเหลี่ยมเท่าเมล็ดข้าวสารหัก และธาตุย่อยอีก ๕ องค์ เท่าเม็ดพันธุ์ผักกาดจักมาประดิษฐานอยู่ ณ ที่นี้

เมื่อเราตถาคตนิพพานไปแล้วได้ ๒๑๘ ปีจักได้มีพระราชาองค์หนึ่งนามว่า อโศกมหาราช จักเป็นธรรมมิกราชปราบชมพูทวีปทั้งมวลแล้ว จักเสด็จมาสู่ดอยจอมทองนี้ จักให้สร้างอุโมงค์เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุไว้ใต้พื้นดอยที่นี้ สถานที่นี้จักเป็นอัครสถานอันเลิศแล เมื่อเราตถาคตนิพพานไปแล้วได้ ๑,๐๐๐ ปี จักเจริญครั้งหนึ่งได้ ๒,๐๐๐ ปี จักเจริญครั้งหนึ่งได้ ๓,๐๐๐ ปี จักเจริญครั้งหนึ่ง ได้ ๔,๐๐๐ ปี จักเจริญครั้งหนึ่งได้ ๔,๕๐๐ ปี จักเจริญครั้งหนึ่งได้ ๔,๗๕๐ ปี จักเจริญครั้งหนึ่ง สถานที่นี้จักเจริญในกาล ๗ ครั้ง ด้วยประการฉะนี้แล

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์ทำนายจบลงแล้วได้มีเทวดา ๒ ตน กับ พระยานาค ๒ ตน ที่อยู่รักษาดอยจอมทองที่นั้นเข้าไปกราบทูลขอรับอาสาจะรักษาสถานที่นั้น เพื่อไม่ให้ใครทำอันตรายใดๆ ได้ ส่วนพระยาอังครัฏฐะก็นิมนต์พระพุทธองค์ และภิกษุสงฆ์ ไปรับบิณฑบาตในสถานที่อันตนได้ให้ชัดแจ้งไว้ทางทิศเหนือ แห่งดอยจอมทอง ห่างจากที่ยอดดอยจอมทองประมาณ ๓ ชั่วขว้างก้อนดินแตก (สถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงรับบิณฑบาตนั้นเวลานี้ชื่อวัดด้าง ตั้งอยู่ริมถนนด้านตะวันตก เหนือวัดพระธาตุศรีจอมทอง)  พระพุทธองค์รับนิมนต์แล้วก็เสด็จไปรับบิณฑบาต

ครั้นรับแล้วทรงเสด็จกลับมาสู่ดอยจอมทองอีก แล้วทรงพิจารณาดูสถานที่ที่จะทรงนั่งทำภัตตกิจ (เสวย) แล้วทรงไปนั่งทำภัตตกิจ ณ สถานที่แห่งหนึ่งอันตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือแห่งยอดดอยศรีจอมทอง (ในสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงทำภัตตกิจ (เสวยอาหาร)ได้แก่ที่ตั้งพระอุโบสถ วัดพระธาตุศรีจอมทองในเวลานี้ ซึ่งถือเป็นประเพณีนิมนต์พระธาตุไปบูชาข้าวที่อุโบสถจนทุกวันนี้)  ห่างจากที่พระองค์ประทับยืนครั้งแรกประมาณ ๓ ชั่วไม้ส้าว (สามชั่วไม้รวก) เมื่อพระองค์ทรงทำภัตตกิจเสร็จแล้วจึงทรงแสดงพระธรรมเทศนาโดยนัยพระบาลีว่า อปฺปมตฺตา  โหถ  ภิกฺขเว ดังนี้เป็นต้น ฝ่ายพระยาอังครัฏฐะกับเสนามาตย์ ชาวบ้านชาวเมืองได้ฟังพระธรรมเทศนาก็ชื่นชมยินดีมากนัก จึงนิมนต์พระพุทธเจ้าขอให้พระองค์เสด็จมาโปรดเนืองๆ ต่อไป

ส่วนสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้นทรงแสดงธรรมเทศนาจบลงแล้ว ก็ทรงอำลาพระยาอังครัฏฐะแล้วพาพระภิกษุสงฆ์บริวารเสด็จไปยังดอยอังคะสักการะ (อินทนนท์) โดยทางอากาศแล้วพระองค์ได้ทรงผินพระพักตร์เล็งแลดูเมืองอังครัฏฐะ จึงตรัสทำนายแก่พระอรหันต์ทั้งหลายว่า ชนบทนี้จักเป็นที่สุขเกษมสำราญชื่นบานอุดมสมบูรณ์ด้วยชัชชโภชนาหาร เป็นสถานที่ตั้งแห่งพระพุทธศาสนา โดยดังพระมหาโมคคัลลานะได้กล่าวสรรเสริญไว้ในหนหลัง แล้วพระองค์ก็เสด็จกลับไปสู่เมืองราชคฤห์พร้อมด้วยพระอรหันต์ ๕๐๐ รูปในวันนั้น

ส่วนพระยาอังครัฏฐะ เมื่อได้ทราบคำทำนายจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “สถานที่แห่งดอยจอมทองนั้น จักเป็นที่ประดิษฐานพระทักษิณโมลีธาตุแห่งพระพุทธเจ้าเช่นนั้นแล้ว” จึงรับสั่งให้ปลูกศาลาไว้ในที่ ๓ แห่ง คือ ที่ยอดดอยศรีจอมทอง อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าลงมาประทับยืนที่แรกนั้นแห่งหนึ่ง ที่อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับบิณฑบาตนั้นแห่งหนึ่งและที่อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเสวย (ฉัน) โภชนาหารนั้นแห่งหนึ่ง และได้สร้างพระเจดีย์หลังหนึ่งแล้วด้วยทองคำ วิจิตรไปด้วยแก้ว ๗ ประการ ไว้บนยอดดอยศรีจอมทอง และให้สร้างโกศแก้วอินทนิลดวงหนึ่งควรค่าได้แสนคำไว้ภายในเจดีย์ทองคำนั้นแล้ว จึงตั้งสัตยาธิษฐานว่า “เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ขอให้พระทักษิณโมลีธาตุเบื้องขวาแห่งพระพุทธองค์ จงเสด็จมาประดิษฐานอยู่ในโกศแก้วอินทนิลอันตั้งไว้ ในเจดีย์ทองคำนี้เทอญ”

ครั้นแล้วจึงตั้งไว้ซึ่งพ่อครัว ๕๐๐ ตระกูล ให้อยู่ปฏิบัติรักษาเจดีย์นั้นและรับสั่งพ่อครัวไว้ว่า “เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายเสด็จมาสู่สถานที่นี้อีก ท่านทั้งหลายจงตกแต่งโภชนาหารอันประณีตต่างๆ ถวาย อย่าได้ขาดจงทุกครั้งทุกคราว” ดังนี้แล้วก็เสด็จเข้าพระนครแห่งพระองค์ เสวยราชสมบัติโดยทศพิธราชธรรม จนตราบเท่าสิ้นพระชนมายุแล้วก็ได้ไปบังเกิดในสวรรค์เทวโลกนั้นแล.



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_6666.JPG



IMG_6248.jpg



ตำนานพระบรมธาตุจอมทอง (ต่อ)

ตอนที่ ๓  พระทักษิณโมลีธาตุเสด็จมาสู่ดอยจอมทอง

เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทั้งหลายเสด็จดับขันธปรินิพพานไป ณ เมืองกุสินารานั้น โทณพราหมณ์ได้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุแก่กษัตริย์ทั้งหลาย ที่ส่งทูตมาขอทั้ง ๘ นคร ส่วนพระทักษิณโมลีธาตุนั้นได้ตกไปเป็นส่วนแห่งมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา ครั้งนั้นพระมหากัสสปะเถระเจ้าผู้เป็นประธานในที่นั้น จึงได้ถวายพระพรแจ้งแก่กษัตริย์เมืองกุสินาราว่า “พระทักษิณโมลีธาตุแห่งพระพุทธองค์เจ้านั้นสมควรให้ไปประดิษฐานไว้ที่ดอยศรีจอมทอง แขวงเมืองอังครัฏฐะ เพราะว่าเมื่อทรงพระชนม์อยู่นั้น พระองค์ได้ตรัสพยากรณ์ทำนายไว้แก่พระยาอังครัฏฐะ ในคราวที่พระองค์เสด็จไปรับบิณฑบาตของพระยาอังครัฏฐะว่า “ดอยจอมทองนี้จักเป็นที่ประดิษฐานพระทักษิณโมลีธาตุแห่งพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ และพระทักษิณโมลีธาตุของเราตถาคต ก็จักมาประดิษฐานบนยอดดอยจอมทองนี้”

ดังนั้น ฝ่ายกษัตริย์ชาวเมืองกุสินาราทั้งหลาย ได้ทรงฟังพระเถระเจ้ากล่าวเช่นนั้นก็ทรงยินดีมากนัก จึงยินยอมพร้อมกันยกถวายพระทักษิณโมลีธาตุนั้นให้แก่พระมหากัสสปเถระเจ้าในกาลนั้น ส่วนพระมหากัสสปเถระเจ้าก็อัญเชิญพระทักษิณโมลีธาตุองค์ประเสริฐตั้งไว้บนฝ่ามือ แล้วผินหน้าเฉพาะต่อเมืองอังครัฏฐะ ตั้งสัตยาอธิษฐานแก่กล่าวอาราธนาว่า “ขอพระบรมธาตุเจ้าองค์ประเสริฐจงเสด็จไปประดิษฐาน ตั้งอยู่ในโกศแก้วอินทนิลภายในเจดีย์ทองคำ ซึ่งอยู่บนยอดดอยศรีจอมทองอันพระยาอังครัฏฐะได้ให้สร้างไว้ด้วยกำลังอานุภาพแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และคำอธิษฐานของข้าพระองค์นี้เทอญ”

ขณะนั้น พระบรมธาตุองค์ประเสริฐก็ได้เปล่งรัศมีแสงสว่างอันขาวบริสุทธิ์ดุจหนึ่งว่าพระจันทร์ในวันเพ็ญ แล้วเสด็จลอยขึ้นสู่อากาศแสดงปาฏิหาริย์มีประการต่างๆ แล้วเสด็จไปประดิษฐานอยู่ในโกศแก้วอินทนิล อันพระยาอังครัฏฐะได้ให้สร้างไว้บนยอดดอยศรีจอมทอง พร้อมด้วยความอัศจรรย์เป็นอันมาก ดั่งอธิษฐานของพระมหากัสสปเถระเจ้า สมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงทำนายไว้ทุกประการนั้นแล (เป็นอันว่าพระบรมธาตุได้เสด็จมาสู่ดอยจอมทอง ภายหลังพุทธปรินิพพานแล้วเล็กน้อย)



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_6279.JPG



IMG_6209.jpg


ตำนานพระบรมธาตุจอมทอง (ต่อ)

ตอนที่ ๔  พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชเสด็จสู่ดอยศรีจอมทอง

จำเดิมแต่กาลที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วได้ ๒๑๘ ปี มีพระราชาองค์หนึ่งพระนามว่า ศรีธรรมาโศกราช หรืออีกนัยหนึ่งว่า พระเจ้าอโศกมหาราช เป็นผู้ทรงเดชานุภาพปราบชมพูทวีปทั้งมวลได้เสด็จไปสู่ดอยศรีจอมทอง พร้อมด้วยท้าวพระยาเสนามาตย์ราชบริพารเป็นอันมาก ด้วยอานุภาพแห่งพระอินทร์ เทพยดาและพระอรหันต์แล้วได้ให้ขุดคูหาอุโมงค์ที่ใต้พื้นดอยศรีจอมทองลึกนัก ใหญ่ประมาณเท่าที่ตั้งพระคันธกุฏิแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระเชตะวันมหาวิหาร พระนครสาวัตถีในสมัยพุทธกาล

แล้วให้สร้างพระสถูปองค์หนึ่งแล้วด้วยทองคำสูง ๖ ศอก ไว้ในคูหานั้น หล่อพระพุทธรูปแล้วด้วยทองและเงินตั้งไว้รอบสถูปนั้น หล่อพระพุทธรูปยืนด้วยทองทิพย์หนัก ๑ แสน ๒ องค์ ตั้งไว้ทางทิศเหนือพระสถูปองค์ ๑ ทิศใต้ ๑ องค์ หล่อพระพุทธรูปนั่งด้วยทองคำ ๒ องค์ หนักองค์ละ ๑ แสน ตั้งไว้ ณ ทิศตะวันออกพระสถูปองค์ ๑ ทิศตะวันตก องค์ ๑ และได้จัดสร้างดุริยดนตรีเครื่องปูลาด เตียงตั้ง และฉัตรธงไว้ทั้ง ๔ ด้านแห่งพระสถูปนั้น แล้วให้หล่อรูปยักษ์ ๘ ตน ยืนเฝ้าที่หน้ามุขพระสถูปทั้ง ๔ ด้านๆ ละตน และยืนเฝ้าประตูแห่งคูหาทั้ง ๔ ด้านๆ ละตน

แล้วพระเจ้าอโศกมหาราชจึงเอาพระเกศแก้ววชิระ (โกศเพชร) หนัก ๑ พันน้ำ มาตั้งไว้เหนืออาสนะทองคำ ครั้นได้นักขัตฤกษ์ชัยมงคล จึงพร้อมด้วยพระอรหันต์ เทวดา นาค ครุฑ และสมณพราหมณ์ ทำการฉลองสมโภชบูชาพระบรมธาตุแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นมหาปางอันใหญ่ตลอด ๗ วัน ครั้นแล้วพระเจ้าอโศกมหาราชจึงได้ทำการอัญเชิญพระทักษิณโมลีธาตุจอมพระเศียรเบื้องขวาแห่งพระพุทธเจ้า เท่าเมล็ดในพุทราเสด็จเข้าสู่โกศแก้ววชิระนั้น พร้อมทั้งพระธาตุกระดูกด้ามมีดเบื้องขวา (พระอัฐิขากรรไกร) โตเท่าเมล็ดข้าวสารหัก มีสัณฐานเป็นสามเหลี่ยม และพระบรมธาตุย่อยอีก ๕ องค์เท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด (เมื่อพระมหากัสสปอธิษฐานกล่าวถึงพระทักษิณโมลีธาตุอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ได้กล่าวถึงพระธาตุย่อย) รวมเป็นพระธาตุ ๗ องค์ ให้เข้าอยู่ในโกศแก้ววชิระนั้น จึงเชิญโกศแก้ววชิระให้เข้าประดิษฐานไว้ในพระสถูปทองคำ

เสร็จแล้ว พระเจ้าอโศกมหาราชพร้อมด้วยท้าวพระยาเสนามาตย์ เทพยดา และพระอรหันต์ทั้งหลาย จึงกล่าวคำอธิษฐานไว้ว่า ข้าแต่พระบรมธาตุเจ้าองค์ประเสริฐในกาลเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระชนม์อยู่ พระองค์ได้เคยเสด็จมาสู่ที่นี้ และได้ตรัสทำนายไว้แก่พระยาอังครัฏฐะว่า “พระทักษิณโมลีธาตุของเราตถาคตจะมาประดิษฐานอยู่ที่นี่” ดังนี้ และบัดนี้พระบรมธาตุเจ้าก็ได้เสด็จเข้าประดิษฐานในที่นี่สมเด็จพระพุทธทำนายแล้ว ในกาลต่อไปข้างหน้า แม้ว่าคน เทวดา และครุฑ นาคใดๆ ก็ดี จักมานำเอาพระบรมธาตุเจ้าไปในสถานที่ใดก็ดีขอพระบรมธาตุเจ้าอย่าได้เสด็จไปเลย แม้ถึงว่าได้เสด็จไปแล้วก็ขอจงได้ เสด็จกลับคืนมาอยู่ ณ สถานที่นี้ตราบเท่า ๕,๐๐๐ พระวัสสา เพื่อได้เป็นที่สักการบูชาแก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลายชั่วกาลนาน

ข้าแต่พระบรมธาตุเจ้าในอนาคตกาลข้างหน้า หากมีพระราชาหรือมหาอำมาตย์ผู้ใด ได้มาสักการะพระบรมธาตุเจ้า ณ ดอยศรีจอมทองที่นี่ ขอจงให้พระราชาเป็นต้น พระองค์นั้นจงมีเดชานุภาพเหมือนดั่งข้าพระพุทธองค์ ข้าพระพุทธเจ้าขอนิมนต์พระบรมธาตุเจ้า จงเสด็จออกมาจากพระสถูปทองคำแสดงอภินิหารให้ปรากฏแก่คนและเทพยดาทั้งหลาย เพื่อให้พระพุทธศาสนารุ่งเรืองต่อไปตลอด ๕,๐๐๐ พระวัสสา ถ้าหากพระราชและอำมาตย์เสวยราชบ้านเมืองที่นี้ ปราศจากการเคารพนับถือพระรัตนตรัย กระทำแต่บาปอกุศลกรรมมีประการต่างๆ ไซร้ ขอพระบรมธาตุเจ้า จงเสด็จประทับอยู่ในพระสถูปทองคำ แห่งข้าพระพุทธเจ้า ขอจงอย่าได้เสด็จออกมาให้ปรากฏแก่ผู้ใดเลย

ข้าแต่พระบรมธาตุเจ้า กาลใดเมื่อพระพุทธศาสนาตั้งอยู่ตลอด ๕,๐๐๐ พระวัสสาแล้ว พระธาตุแห่งพระพุทธเจ้าก็จักเสด็จไปรวมกันในที่แห่งเดียว ขอพระสถูปทองคำของข้าพระพุทธเจ้ากับทั้งเครื่องสักการบูชาทั้งหลาย จงอย่าได้สูญหายไปเป็นอันตรายไปเลย ขอจงตั้งอยู่ตราบเท่าถึงศาสนาพระศรีอริยะเมตไตรยผู้จะมาตรัสในภายหน้า และขอจงให้พระศรีอริยะเมตไตรยพระองค์นั้นจงนำพระสถูปทองคำของข้าพระพุทธเจ้านี้ออกมาแสดงแก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย ได้กระทำสักการบูชาทุก ๗ วันเทอญ เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชทรงอธิษฐานดังนี้แล้ว เหล่าเทพยดา นาคครุฑ ทั้งหลายจึงได้นำเอาหินจากป่าหิมพานต์ เอามาก่อแวดล้อมพระสถูปไว้ ๗ ชั้น เพื่อมิให้คนและสัตว์มาทำอันตรายได้ แล้วจึงอาณัติสั่งเทวดา ๒ ตนและพระยานาค ๒ ตน ให้อยู่พิทักษ์รักษาพระบรมธาตุเจ้าต่อไป

ในกาลใดถ้าหากพระราชามหาอำมาตย์และฝูงชนทั้งหลาย ประกอบด้วยบุญสมภารมีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย ในกาลนั้น เทพยดา และพระยานาคผู้รักษาพระบรมธาตุ ก็ดลบันดาลให้ชนทั้งหลายทราบว่าพระบรมธาตุเจ้ามีอยู่ในที่นี้ ถ้าชนทั้งหลายมีใจหนาแน่นไปด้วยกิเลส ประกอบแต่กรรมอันเป็นอกุศลบาปธรรม เทพเจ้าผู้รักษาพระบรมธาตุก็นิมนต์พระบรมธาตุให้เข้าอยู่ในคูหาใต้พื้นดอยศรีจอมทองเสีย มิให้ออกมาปรากฏแก่คนทั้งหลาย และในกาลนั้นพระเจ้าอโศกธรรมราชาได้รับสั่งให้เสนาอำมาตย์ราชบริพารทั้งหลาย ให้ขุดหลุมใหญ่ฝังทองคำไว้ในทิศทั้ง ๘ แห่งดอยศรีจอมทอง ทรงอธิษฐานไว้ว่าเมื่อใดพระบรมธาตุเจ้า เจริญรุ่งเรืองไปภายหน้า ขอจงให้ผู้อยู่ปฏิบัติรักษาพระบรมธาตุนี้ จงขุดเอาทองคำที่ฝังไว้นี้ออกบำรุงก่อสร้าง สถาปนาพระพุทธศาสนาให้เจริญถาวรต่อไปชั่วกาลนานเทอญ ครั้นแล้วท้าวเธอทั้งหลายพร้อมด้วยเสนาอำมาตย์ราชบริพารก็เสด็จคมนาการกลับไปสู่พระนครของพระองค์ (คืนเมืองปาตลีบุตร ประเทศอินเดีย) ณ กาลนั้นแล



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_6299.JPG



IMG_6250.JPG



ตำนานพระบรมธาตุจอมทอง (ต่อ)

ตอนที่ ๕  ผู้เริ่มสร้างพระธาตุศรีจอมทองครั้งแรก

เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราช ได้เชิญพระบรมธาตุเข้าบรรจุไว้ในถ้ำคูหาทองคำใต้พื้นดอยจอมทอง ในกาลครั้งนั้นแล้ว ศาสนกาลได้ล่วงมาโดยลำดับ จนถึงจุลศักราช ๘๑๓ ปี (พ.ศ. ๑๙๙๔) มีผู้ชายคนหนึ่งชื่อนายส้อย มีภรรยาชื่อนางเมง ผัวเมียคู่นี้มีบ้านเรือนตั้งอยู่ใกล้ดอยศรีจอมทอง เป็นผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา อยู่มาวันหนึ่งเป็นเพ็ญเดือน ๑๒ (เดือนยี่เหนือ) ปีมะเมีย นายส้อยอาบน้ำชำระกายแล้ว ได้สมาทานศีล ๘ อยู่ ณ ดอยจอมทองนั้น ได้สังเกตเห็นดอยจอมทองมีสัณฐานอันงดงาม สูงขึ้นเป็นลำดับคล้ายหลังเต่าจึงคิดว่า “สถานที่นี้สมควรจะเป็นสถานที่ตั้งแห่งพระรัตนตรัย”

วันหนึ่งนายส้อยจึงปรึกษากับนางเมงภรรยาว่า “เราทั้งสองจะคิดสร้างวัดขึ้นบนดอยนี้ เพื่อเป็นสถานที่แห่งพระศาสนา ท่านจะเห็นเป็นประการใด” ฝ่ายนางเมงภรรยาก็เห็นเป็นการสมควรด้วย จึงปรึกษาเป็นที่ตกลงกันแล้ว จึงได้ลงมือชำระแผ้วถางสถานที่นั้นเสร็จแล้ว เมื่อจุลศักราชล่วงได้ ๘๑๔ (พ.ศ. ๑๙๙๕) เดือน ๗ ขึ้น ๙ ค่ำ (เดือน ๙ เหนือ) วันจันทร์ฤกษ์ได้ ๑๒ ตัว เวลาเช้านายส้อยนางเมงได้ยกเอาเสาศาลาขึ้นเป็นปฐมฤกษ์ พร้อมกับได้ก่อเจดีย์ไว้บนถ้ำคูหาและก่อพระพุทธรูปไว้ ๒ องค์ เมื่อนายส้อยนางเมงได้ปลูกสร้างศาลา และก่อเจดีย์ขึ้นแล้ว คนทั้งหลายจึงเข้าใจกันว่านายส้อยนางเมงได้สร้างวัดขึ้นบนดอยนั้น ฉะนั้นจึงได้พากันเรียกวัดนั้นว่า วัดศรีจอมทอง มาจนกระทั่งบัดนี้

อยู่มาวันหนึ่งนายส้อยได้จุดประทีป ๒ ดวงบูชาพระพุทธรูป แล้วตั้งสัตยาธิษฐานว่า “ข้าพเจ้าทั้งสองมีจิตศรัทธาจะสร้างวัดขึ้นมาในที่นี้ ถ้าการสร้างวัดของข้าพเจ้าทั้งสองจักสำเร็จสมความปรารถนาแล้ว ขอให้ประทีป ๒ ดวงนี้จงตั้งอยู่ในสถานที่เดิม” ดังนี้ ครั้นอธิษฐานแล้วพอเวลารุ่งเช้านายส้อยนางเมงจึงพร้อมกันไปดูที่นั้น เห็นประทีปดวงหนึ่งได้ย้ายไปจากที่ๆ ของนายส้อยนางเมงจึงพร้อมกันไปดูที่นั้นจักสิ้นไปเสียก่อน เทพยดาจึงย้ายประทีปดวงหนึ่งไปเสีย พอถึงเวลากลางคืนเทพยดาจึงมาบอกแก่นายส้อยโดยนิมิตว่า “สถานที่นี้เป็นที่วิเศษ ต่อไปจะเป็นที่ตั้งแห่งพระพุทธศาสนาไปจนตลอด ๕,๐๐๐ พระวัสสา ให้ช่วยบอกแก่คนทั้งหลาย อย่าให้ลบหลู่ดูหมิ่นสถานที่นี้เป็นอันขาด” ส่วนนายส้อยได้ทราบจากนิมิตเช่นนั้นก็มีใจปีติยินดียิ่งนักต่อแต่นั้นมาอีก ๒ ปี นายส้อยนางเมงก็ถึงแก่กรรมไป

นับตั้งแต่นายส้อยนางเมงเริ่มสร้างวัดศรีจอมทองมาเป็นเวลา ๑๕ ปี ถึงปีระกา จุลศักราช ๘๒๘ (พ.ศ. ๒๐๐๙) มีชาย ๒ คนๆ หนึ่งชื่อสิบเงิน อีกหนึ่งคนชื่อสิบถัว ได้ชักชวนกันสร้างวิหารขึ้นหลังหนึ่งหลังคามุงหญ้าคา แล้วนิมนต์ภิกษุรูปหนึ่งชื่อ สารีปุตตเถระมาเป็นเจ้าอาวาสวัดนั้นท่านอยู่เป็นเจ้าอาวาสได้ ๕ พรรษาก็มรณภาพไป ต่อมาถึงปีจุลศักราช ๘๓๒ (พ.ศ. ๒๐๑๓) พระเทพกุลเถระ มาอยู่เป็นเจ้าอาวาส ท่านผู้นี้ได้จัดการปฏิสังขรณ์วิหารใส่ไม้ระแนงและมุงกระเบื้องไว้ ถึงปีจุลศักราช ๘๓๗ (พ.ศ. ๒๐๑๘) ชาวบ้านทั้งหลายไปนิมนต์พระมหาเถระเจ้าองค์หนึ่ง ชื่อพระธมฺมปญฺโญ มาอยู่เป็นเจ้าอาวาส ท่านผู้นี้พร้อมด้วยชาวบ้านได้พากันไปรื้อถอนเอาวิหารกับทั้งพระพุทธรูปองค์ใหญ่หล่อ (ก่อ-ปั้น) ด้วยปูนจากวัดท่าแย้ม ซึ่งอยู่ข้างแม่น้ำกาละ (เข้าใจว่าเป็นแม่น้ำกลาง) มาไว้ในวัดศรีจอมทองในปีพ.ศ. ๒๐๒๒ แล้วได้ชักชวนกันสร้างระเบียงหน้ามุขวิหารขึ้น แล้วก่อปราสาทเฟื้องโดยสูง ๒ วา ๓ ศอก โดยกว้าง ๑ วา ๒ ศอก เพื่อเป็นที่ไว้พระพุทธรูปแล้วก่อกำแพงรอบวิหารทั้ง ๔ ด้าน ยาว ๑๐ วา ๓ ศอก ไว้สำหรับเป็นที่อยู่ของพระภิกษุสงฆ์



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_6290.JPG



IMG_6319.JPG



ตำนานพระบรมธาตุจอมทอง (ต่อ)

อนที่ ๖  พระบรมธาตุเสด็จออกจากคูหาใต้พื้นดอยศรีจอมทอง

ในสมัยที่พระธมฺมปญฺโญเถระ เป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีจอมทองนี้ มีปะขาวผู้หนึ่ง ไม่ปรากฏชื่อ อาศัยอยู่เหนือวัด เป็นผู้อุปการะวัด วันหนึ่งเวลากลางคืน เทพยดามาบอกแก่ตาปะขาวนั้นโดยนิมิต ฝันว่า “พระบรมธาตุองค์หนึ่งของสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ในถ้ำใต้พื้นดอยศรีจอมทองนี้ จักเสด็จออกมาให้คนและเทวดาทั้งหลายสักการบูชา สถานที่นี้เป็นที่วิเศษนัก จักเป็นที่ตั้งแห่งพระศาสนาต่อไปในกาลข้างหน้า” ดังนี้ รุ่งขึ้นเช้าตาปะขาวนั้นจึงไปเล่าความฝันนี้ให้พระธมฺมปญฺโญเถระเจ้าอาวาสฟัง ท่านฟังแล้วก็มีใจยินดียิ่งนักแล้วท่านจึงอธิษฐานว่า “ขอพระบรมสารีริกธาตุนั้นเมื่อข้าพเจ้ายังมิได้เห็น และสักการบูชาแล้ว ขออย่าให้ข้าพเจ้าสิ้นชีวิตไปเสียก่อนเลย” ดังนี้

ครั้นอธิษฐานแล้วล่วงมาถึงปีจุลศักราช ๘๖๑ (พ.ศ. ๒๐๔๒) เดือน ๔ ขึ้น ๑๔ ค่ำ (เดือน ๖ เหนือ) เวลากลางคืน พระบรมธาตุเจ้าองค์ประเสริฐ ก็เสด็จออกจากพระสถูปทองคำอันตั้งอยู่ในคูหาพื้นดอยศรีจอมทอง แสดงปาฏิหาริย์เป็นมหัศจรรย์ต่างๆ ให้ปรากฏแก่คนทั้งหลาย และในวิหารนั้นมีพระพุทธรูปองค์หนึ่ง มีพระโมลีถอดได้ รุ่งขึ้นเช้าเป็นเวลาขึ้น ๑๕ ค่ำ คนทั้งหลายได้มาบูชาข้าวพระพุทธรูปเห็นประตูวิหารเปิดไว้ จึงไปบอกแก่พระธมฺมปญฺโญเถระ เจ้าอาวาส

ท่านไปตรวจดูวิหาร เห็นพระโมลีพระพุทธรูปถูกถอดออกจากพระเศียร วางไว้บนพระเพลา (บนตัก) พระเถระจึงไปตรวจดูเห็นห่อผ้าทิพย์เล็กๆ วางอยู่ในพระโมลีแห่งพระพุทธรูปองค์นั้น จึงเอาไม้ไปคีบออกมา แล้วแก้ห่อออกดู ก็เห็นพระบรมธาตุเจ้าอยู่ในห่อผ้านั้น พระเถระเจ้ามีความยินดียิ่งนัก จึงเอาพระบรมธาตุนั้นบรรจุในโกศงา แล้วเอาไปเก็บไว้ในรูพระโมลีพระพุทธรูปองค์นั้นตามเดิม พระเถระเจ้าได้บอกแก่ตาปะขาวให้นำเครื่องสักการบูชา และน้ำหอมไปอาบองค์สระสรงพระบรมธาตุเจ้าเห็นเป็นอัศจรรย์ยิ่งนัก แต่ไม่ได้บอกให้ผู้อื่นรู้เลย คงรู้แต่ท่านเจ้าอาวาสกับตาปะขาวสองคนเท่านั้น



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_6317.JPG



IMG_6313.jpg



ตำนานพระบรมธาตุจอมทอง (ต่อ)

ตอนที่ ๗  ลำดับเจ้าอาวาสผู้รักษาพระบรมธาตุต่อมา

เมื่อพระบรมธาตุเสด็จออกมาจากคูหามาปรากฏแก่คนภายนอกดังกล่าวมาแล้ว พระธมฺมปญฺโญเถระ ผู้เป็นเจ้าอาวาสได้เก็บพระธาตุรักษาไว้ในช่องพระโมลีพระพุทธรูป ต่อมาท่านได้เป็นเจ้าอาวาสได้ ๒๘ พรรษาก็มรณภาพไป พระอานนฺโท มาอยู่เป็นเจ้าอาวาสได้ ๒ พรรษา พระเหมปญฺโญ มาอยู่เป็นเจ้าอาวาสได้ ๒ พรรษา พระญาณมังคละ มาอยู่เป็นเจ้าอาวาสได้ ๑ พรรษา พระพุทธเตชะ มาอยู่เป็นเจ้าอาวาสได้ ๒ พรรษา พระอรัญวาสี มาอยู่เป็นเจ้าอาวาสได้ ๒ พรรษา พระธมฺมรกฺขิตฺ มาอยู่เป็นเจ้าอาวาสได้ ๒ พรรษา พระเอยฺยกปฺปกะ มาอยู่เป็นเจ้าอาวาสได้ ๑ พรรษา ถึงปีจุลศักราช ๘๗๕ (พ.ศ. ๒๐๕๖) เดือน ๗ เดือน (เดือน ๙ เหนือ) แรม ๘ ค่ำ วันอาทิตย์ชาวบ้านทั้งหลายจึงได้นิมนต์พระมหาสีลปญฺโญ มาอยู่เป็นเจ้าอาวาสรักษาพระบรมธาตุ

ต่อมา ถึงจุลศักราช ๘๗๗ (พ.ศ. ๒๐๕๘) มีพระเถระเจ้าองค์หนึ่งชื่อพระมหาพุทธญาโณอยู่ป่าฟ้าหลั่ง ท่านไปอยู่เมืองพุกาม ได้ตำนานพระบรมธาตุเจ้าจากเมืองพุกามมาพิจารณาดูที่พระบรมธาตุเจ้าตั้งอยู่คือ วัดพระธาตุศรีจอมทอง ก็เห็นถูกต้องตามตามตำนานทุกประการ แต่หามีผู้ใดบอกว่าพระบรมธาตุเจ้าเสด็จออกมาจากคูหาและอยู่ในพระโมลีของพระพุทธรูปในวิหารนั้นไม่ พระเถระเจ้าจึงสั่งพระอานันทะผู้เป็นอนุเถระอยู่ป่าฟ้าหลั่งด้วยกัน พร้อมด้วยปะขาวนักบุญทั้งหลาย ให้ไปสู่วัดพระธาตุศรีจอมทองแล้ว สั่งว่า “เมื่อไปถึงที่นั้นแล้วให้ทำการสักการบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียน แล้วตั้งสัจจาอธิษฐาน ถ้าหากว่าพระบรมธาตุตั้งอยู่ในที่นั้นจริงดังตำนานกล่าวไว้แล้ว พระบรมธาตุเจ้าก็จะแสดงปาฏิหาริย์เป็นอัศจรรย์ต่างๆ ให้ปรากฏแก่ท่านทั้งหลายแล” ดังนี้

ส่วนพระอานันทะพร้อมด้วยปะขาวและนักบุญทั้งหลายก็ได้พากันไปสู่ดอยจอมทอง ทำสักการะแล้วอธิษฐานตามที่พระพุทธญาโณสั่งทุกประการ ครั้นแล้วจึงพากันนั่งคอยดูอยู่ที่กลางลานวัด ส่วนพระมหาสีลปญฺโญผู้เป็นเจ้าอาวาส ได้เห็นอาการแห่งชนเหล่านั้นแล้ว จึงนำความไปแจ้งแก่พระอานนัทะว่า “พระบรมธาตุเจ้าองค์หนึ่งเสด็จออกจากคูหาพื้นที่ดอยจอมทอง แล้วเข้าไปในช่องพระโมลีแห่งพระพุทธรูปในพระวิหาร” แล้วจึงได้นำพระบรมธาตุเจ้าองค์นั้นออกมาแสดงแก่พระอานันทะและปะขาวนักบุญทั้งหลาย ณ กาลนั้นแล



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html
‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2025-1-10 13:59 , Processed in 0.133874 second(s), 16 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.