แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
เจ้าของ: pimnuttapa
go

วัดพระธาตุบ้านปง ต.บ้านปง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

แก้ไขครั้งสุดท้าย: 2010-12-24 07:20 โดย pimnuttapa

  
Picture-124.jpg

เดี๋ยวเรามากราบนมัสการครูบาเจ้าศรีวิชัย พร้อมกันนะคะ

  (กล่าวนะโม ๓ จบ) อะยังวุจจะติ สิริวิชะยะจะนะ จะ มหาเถโร อุตตะมัง สีลัง นะระเทเวหิ ปูชิโต โสระโห ปัจจะยาทิมหิ มหาลาภา ภะวันตุเม อะหัง วันทามิ สัพพะทา อะหัง วันทามิ สิระสา อะหัง วันทามิ สัพพะโส สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ



Picture-126.jpg

ซุ้มประตูโขง วัดพระธาตุบ้านปง (ธิษฐานนัยแห่ง เขาพระสุเมรุ) ด้านหลังซุ้มประตูโขงจะเป็นบันไดทางเดินขึ้นไปกราบนมัสการพระบรมธาตุศรีเมืองปง วัดพระธาตุบ้านปง ซึ่งมีบันไดทางเดิน ๙๕๑ ขั้น เดี๋ยวเราเดินลอดซุ้มประตูโขงขึ้นไปกราบนมัสการพระบรมธาตุพร้อมกันเลยนะคะ ตามมาเลยค่ะ



Rank: 8Rank: 8

แก้ไขครั้งสุดท้าย: 2010-12-24 07:23 โดย pimnuttapa


Picture-147.jpg

พระบรมธาตุศรีเมืองปง วัดพระธาตุบ้านปง  ปัจจุบันกำลังบูรณปฏิสังขรณ์ พระบรมธาตุเป็นโลหะปราสาททิพยวิมานคำ ทรงล้านนาหลังแรกของโลก ดำเนินการก่อสร้างในปีพุทธศักราช ๒๕๔๙ ณ วัดพระธาตุบ้านปง มงคลคีรี (อรัญญวาส) ค่ะ

ประวัติการก่อสร้างพระบรมธาตุศรีเมืองปง วัดพระธาตุบ้านปง


เริ่มตั้งแต่ปลายปีพุทธศักราช ๒๕๐๘  ซึ่งในขณะนั้นผู้เขียน (เจ้าอาวาสวัดองค์ปัจจุบัน ๒๕๕๐) ยังคงเป็นสามเณรตัวน้อยๆ ยืนดูนายช่างที่กำลังตีผังสำหรับการวางรากฐานการก่อสร้างพระธาตุเจดีย์ภายในวัด (ด้านเหนือพระอุโบสถ) ซึ่งมีพระมหาดวงจันทร์ จันทโชโต (ยอดแก้ว) พระอาจารย์เจ้าอาวาสผู้เปรียบเสมือนบิดาคนที่สองของข้าพเจ้า (เจ้าอาวาสวัดองค์ปัจจุบัน ๒๕๕๐)  สั่งงานด้วยความใจจดใจจ่อ อาจจะเป็นเพราะบุพเพกตปุญญตาหรือความคึกคะนองปากของอาตมาภาพก็ว่าได้ ที่จู่ๆ ก็ถามพระอาจารย์เจ้าอาวาสว่า “ตุ๊ปี้ครับ ถ้าเฮาแป๋งพระธาตุบนดอยป๊อกดินกี่ได้ถ้าจะดีแต้” (หลวงพี่ครับถ้าเราสร้างพระธาตุไว้บนยอดดอยป๊อกดินกี่ได้ถ้าจะดีนะครับ)

ด้วยคำพูดทีเล่นทีจริงดังกล่าวนี้ เปรียบประดุจการหว่านเมล็ดพืชบุญลงไปในนาบุญที่ยังว่างอยู่ให้เติมเต็ม ทำให้พระอาจารย์เจ้าอาวาสถึงกับชะงักและครุ่นคิดอยู่ชั่วขณะหนึ่ง แล้วก็พูดขึ้นมาว่า “ก็อยากจะสร้างเหมือนกัน ศรัทธาประชาชนได้เล่าสืบต่อกันมาว่า มักจะมีองค์พระธาตุลอยแสดงปาฏิหาริย์บนยอดเขาให้เห็นในวันเพ็ญอยู่บ่อยๆ) พระอาจารย์เจ้าอาวาสจึงตัดสินใจไปบอกกับพ่อครูประสิทธิ์ อินเสาร์ ผู้เป็นเจ้าภาพการก่อสร้างพระธาตุเจดีย์ และประกาศให้ศรัทธาชาวบ้านรับทราบและเชิญชวนกันขึ้นไปสำรวจบนดอยป๊อกดินกี่ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของวัด หากว่าข้างบนนั้นมีวัดหรือพระธาตุตั้งอยู่บนดอยนั้นจริงตามคำร่ำลือก็จะสร้างพระธาตุเจดีย์ต่อไป

รุ่งเช้าจึงนิมนต์พระสงฆ์และสามเณรในวัด และศรัทธาชาวบ้านประมาณ ๑๕๐ คน เดินเท้าขึ้นไปบนดอย ก็ได้พบก้อนอิฐขนาดใหญ่มีอยู่กระจัดกระจาย ทั้งบนพื้นดินและใต้ดิน และพบต้นไม้เปา และรอยพระพุทธบาทผาต๊ะ ที่ชาวบ้านเล่าลือกันว่าพระธาตุมักจะแสดงปาฏิหาริย์อยู่บริเวณยอดเขาด้วย ทำให้ทุกรูปทุกคนเกิดปิตีและมีสัททสัญญาณขึ้นพร้อมกันว่า ไม่สร้างพระธาตุเจดีย์ไว้ในวัดแล้ว แต่จะสร้างพระธาตุเจดีย์ครอบต้นไม้ต้นเปานี้ไว้ จึงทำการบวงสรวงเหล่าเทวดาที่ปกปักษ์รักษาบนดอยป๊อกดินกี่แห่งนั้นว่าถ้าเป็นบุญกุศลที่จะได้มาบูรณะสร้างถาวรวัตถุขึ้นมาใหม่ ขอให้เทวดาทั้งหลายจงช่วยดลจิตดลใจ คนที่เคยคิดเคยสร้างชาติก่อน ให้กลับมาร่วมกันบูรณะก่อสร้างขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง

นับแต่นั้นมาก็ได้ทำการก่อสร้างและแล้วเสร็จในเวลาไม่นานนัก ด้วยงบประมาณการก่อสร้างทั้งหมดของพ่อครูประสิทธิ์ อินเสาร์ อุบาสกในสมัยนั้น แต่ด้วยงบประมาณที่จำกัด และความยากที่จะขึ้นไปควบคุมการก่อสร้างได้ (เพราะทางขึ้นไปอยู่อีกหมู่บ้านหนึ่ง ไม่เหมือนในปัจจุบันนี้) ทำให้องค์พระธาตุเจดีย์ไม่ค่อยถูกต้องตามแบบแปลนและแบบแผนจารีตประเพณีท้องถิ่นมากนัก ประกอบกับทางขึ้นไปนมัสการบูชาไม่ค่อยสะดวก จึงทำให้ประเพณีสักการบูชาที่เคยปฏิบัติมาขาดช่วงไปหลายปี อีกทั้งพระธาตุก็ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลาเพราะขาดคนดูแลเอาใจใส่รักษา




Rank: 8Rank: 8

แก้ไขครั้งสุดท้าย: 2010-12-24 07:23 โดย pimnuttapa


Picture-136.jpg

หลักฐานข้อมูลและแนวสืบค้นเกี่ยวกับที่มาของพระบรมธาตุศรีเมืองปง วัดพระธาตุบ้านปง

พระบรมธาตุศรีเมืองปง วัดพระธาตุบ้านปง  สร้างขึ้นมาใหม่ในสมัยของพระมหาดวงจันทร์ จันทโชโต (ยอดแก้ว) อดีตเจ้าอาวาส ผู้มีบาทบาทสำคัญในการพัฒนาวัด เมื่อวันพฤหัสที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๐๘ ตรงกับวันขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขา สูงประมาณ ๘๖๐ เมตร ทางด้านทิศตะวันตกของวัด ภูเขาลูกนี้ชาวบ้านต่างเรียกกันว่า “ป๊อกดินกี่” (ป๊อก – ลูก, เนินเขา / ดินกี่ – อิฐ) หรือรวมกันเรียกว่า “เนินอิฐ” ทางผู้เขียน (เจ้าอาวาสวัดองค์ปัจจุบัน ๒๕๐๐) ได้วิเคราะห์ข้อมูลจากสภาพภูมิประเทศที่ตั้งพระธาตุเจดีย์ในปัจจุบัน, หลักฐานที่ปรากฏ, การสัมภาษณ์และสอบถาม ซึ่งพอจะสรุปถึงที่มาของพระธาตุฯ ให้เห็นชัดเจนดังนี้


หลักฐานที่ปรากฏ พระบรมสารีริกธาตุ บรรจุในกระบอกไม้ไผ่ มีสัณฐานคล้ายเมล็ดถั่วหัก  ประมาณ ๑๕ องค์ ซึ่งอยู่คู่กับวัดมาหลายชั่วอายุคน ก่อนที่จะทำการบรรจุไว้ในพระเจดีย์ มีก้อนอิฐโบราณขนาดใหญ่ ประมาณ ๑๕ คูณ ๑๐ เซนติเมตร มีอยู่จำนวนมากทั้งบนดินและใต้ดินทั่วบริเวณนั้น, ต้นไม้เปา (ไม้เส็ง) ขนาดใหญ่ ๔ ต้น (ปัจจุบันเหลือเพียง ๑ ต้น), ผาต๊ะ, ป๋าทะ, (ร่องรอยหินคล้ายกับรอยเท้า ซึ่งชาวบ้านเล่าสืบต่อกันมาและเชื่อกันกันว่าเป็นรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้า)

การสอบถาม/คำบอกเล่า
ผู้เขียนได้ทำการสอบถาม และได้ฟังคำบอกเล่าจากศรัทธาชาวบ้านปงหลายต่อหลายคน เกี่ยวกับความเป็นมาของวัดและพระธาตุศรีเมืองปง ซึ่งก็ได้คำตอบที่ใกล้เคียงกันมาก อาทิเช่น พ่ออุ้ยแดง อินติ ฯลฯ ได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า “ป้ออุ้ยเกิดมาก็หันมีวัดอยู่ติ๊ดตี้นี้ เป้นวัดตี้แป๋งมาหลายเจ้นคนแล้ว เพราะป้อของป้อๆ อุ้ยเล่าหื้อฟังว่าเกิดมาก็หันวัดแล้ว” (ตาเกิดมาก็เห็นมีวัดอยู่ตรงนี้ เป็นวัดที่สร้างมานานหลายชั่วอายุคนแล้ว เพราะทวดของทวดของโยมพ่อของตา ก็เล่าให้ฟังว่าเกิดมาก็เห็นมีวัดอยู่ตรงนี้)  พระธาตุก็เช่นเดียวกัน มักจะแสดงปาฏิหาริย์ให้เห็นในคืนวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ ดวงใสงดงาม บางครั้งดวงเล็กบางครั้งดวงใหญ่ สลับไปมา คนที่มีบุญเท่านั้นจึงจะได้เห็น ตาก็เคยเห็นแค่ครั้งเดียว : สอบถามครั้งเมื่อผู้เขียน (เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ๒๕๕๐) ยังเป็นสามเณรอยู่

ประสบการณ์จริง จากข้อมูลและหลักฐานจริงๆ ที่ได้ยกมานำเสนอ และตัวผู้เขียน (เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ๒๕๕๐) เองก็เคยประสบกับเหตุการณ์อันน่าอัศจรรย์ใจเกี่ยวกับพระธาตุองค์นี้มาแล้ว เมื่อคืนวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๔๖ เวลา ๐๒.๐๐ น. ทางผู้เขียน (เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ๒๕๕๐พิจารณาด้วยโยนิโสมนสิการแล้วเชื่อว่า ยอดภูเขาลูกนี้ ต้องเป็นที่ตั้งของพระธาตุเจดีย์หรือเคยเป็นศาสนสถานอย่างหนึ่งในทางพระพุทธศาสนาที่มีความสำคัญและเกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของศรัทธาชาวบ้านแห่งนี้เป็นแน่แท้




Rank: 8Rank: 8

แก้ไขล่าสุด pimnuttapa เมื่อ 2009-5-21 06:00  

Picture-159.jpg

ลักษณะสภาพภูมิประเทศที่ตั้งพระบรมธาตุเจดีย์ในปัจจุบัน ประดิษฐานอยู่บนยอดเขาสูงสุด  มีลักษณะเป็นเนินเขาที่ไม่สูงมากนัก มีความโดดเด่นคือ แม่น้ำท่าช้างไหลผ่านด้านหน้า ประดุจนำความชุ่มฉ่ำอุดมสมบูรณ์พูนผลมาให้ มีเนินเขาสลับซับซ้อนเหมือนเป็นหนึ่งกำแพงแข็งแกร่งป้องกันอยู่ด้านหลัง สงบ ร่มรื่นและชุ่มฉ่ำในยามเหม้นตัวสันต์ฤดูค่ะ

Rank: 8Rank: 8

แก้ไขครั้งสุดท้าย: 2010-12-24 07:24 โดย pimnuttapa


Picture-133.jpg

มูลเหตุแห่งการประกอบกุศลกรรมและการบูรณปฏิสังขรณ์ พระบรมธาตุศรีเมืองปง วัดพระธาตุบ้านปง

หลังจากได้ทำพิธีอบรมสมโภชพุทธาภิเษกพระพุทธนิมิตศรัทธาสามัคคี ขึ้นในวันที่ ๑๓ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๔๖ และในคืนนั้นเองเวลาประมาณตีสองกว่า ผู้เขียนได้ออกไปยืนคุยโทรศัพท์ติดต่อกับคณะสงฆ์ที่จะมาสวดเบิกพระเนตร (เป็นประเพณีทางภาคเหนือเมืองล้านนา) ที่หน้าวัดเสร็จกิจแล้ว กำลังจะเดินกลับเข้าไปในวิหารหลวงจู่ๆ ก็เห็นแสงสีขาวเจิดจ้าและนวลใสบริเวณเหนือองค์พระธาตุเจดีย์ที่บนยอดเขา

ทำให้อาตมาภาพถึงกับเกิดปีติขนลุกพองทั่วทั้งสัพพังกาย นึกในใจว่าคงจะเป็นทิพย์ญาณที่พระบรมธาตุได้แผ่ให้เป็นสักขีพยานอนุโมทนาบุญในครั้งนี้ จึงได้ยกมือขึ้นประนมพร้อมกับตั้งสัจจะอธิษฐานว่า “หากข้าพเจ้ามีบุญวาสนาบารมีและพระบรมธาตุมีความศักดิ์สิทธิ์จริง ขอให้สามารถสร้างบันไดขึ้นไปนมัสการสักการบูชาพระบรมธาตุได้สำเร็จเร็ววันด้วยเทอญ ซึ่งก็สามารถสร้างบันไดขึ้นไปได้สำเร็จจริงสมกับคำสัจจะอธิษฐาน ด้วยความร่วมมือของศรัทธาชาวบ้านและทั่วไป โดยใช้เวลาเพียง ๗ เดือน ๑๗ วันเท่านั้น

ด้วยเหตุผลทั้ง ๒ ประการที่ได้กล่าวไว้แต่ต้นแล้วว่า องค์พระธาตุเจดีย์ในปัจจุบันนี้ทรุดโทรมและมีรอยแตกร้าวบางจุด และไม่ถูกต้องตามแบบแปลนโครงสร้างทางเทคนิค อีกทั้งยังไม่ถูกต้องตามแบบแผนจารีตประเพณีล้านนา ผู้เขียนและคณะกรรมการวัดจึงได้ปรึกษาหารือกันและมีความเห็นพ้องต้องกันว่า  ไม่ควรที่จะปล่อยให้ความผิดพลาดทั้งหลายเหล่านี้ เป็นข้อมูลที่ผิดพลาดไปถึงอนุชนรุ่นหลัง ควรที่จะมีการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุศรีเมืองปง ให้ถูกต้องตั้งแต่ปัจจุบันนี้เป็นต้นไป โดยจะทำการบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุเจดีย์เดิมให้ถูกต้องทั้งแบบแปลน โครงสร้างทางเทคนิคและแบบแผนจารีตประเพณีท้องถิ่นล้านนา

และจะทำการก่อสร้างโลหะปราสาทล้านนาหลักแรกของโลกครอบองค์พระธาตุเจดีย์องค์เดิมไว้ข้างใน ซึ่งการก่อสร้างบูรณปฏิสังขรณ์ในครั้งนี้ต้องใช้ทุนทรัพย์เป็นจำนวนมาก ทางวัดยังขาดทุนทรัพย์เป็นจำนวนมาก จึงบอกบุญมายังท่านทั้งหลายเพื่อจะได้ช่วยกันสละทุนทรัพย์ของท่านตามจิตกำลังศรัทธา สร้างพระมหาธาตุสุวรรณเจดีย์ศรีเมืองปง และโลหะปราสาทล้านนา เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานพระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์, พระอรหันต์ธาตุ, และเป็นสถานที่กราบไหว้สักการบูชาแก่คนและเทวดาทั้งหลาย ตลอดจนถวายไว้ในบวรพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนยาวนานสืบต่อไป




Rank: 8Rank: 8

แก้ไขครั้งสุดท้าย: 2010-12-24 07:27 โดย pimnuttapa

  
Picture-151.jpg

แนวคิดและความมุ่งหมายในการปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ พระบรมธาตุศรีเมืองปง มงคลคีรี วัดพระธาตุบ้านปง

การจัดภูมิทัศน์ตามแนวทางหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา ตามสภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปของชุมชนในเส้นทางสายสะเมิง ที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์และสวยงาม ประกอบด้วยภูเขา ลำธาร ต้นไม้ เป็นต้น นักท่องเที่ยวและคนทั่วไปจึงนิยมมาพักผ่อน เดินทางสัญจรผ่านไปมา ด้วยความน่ารื่นรมย์ของธรรมชาติในแถบนี้ จึงมีแหล่งท่องเที่ยวและที่พักเกิดขึ้นมากมายตลอดเส้นทางนี้

แม้ว่าแนวทางธุรกิจการท่องเที่ยวที่จะมีการเติบโตและขยายตัวอยู่ทุกๆ ขณะ แต่ชุมชนบ้านปง ก็ยังคงมีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาโดยมั่นคงตลอดมา โดยมีโครงการที่จะทำเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา คือ

๑.บูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุเจดีย์ศรีเมืองปง
๒.ก่อสร้างโลหะปราสาททิพยวิมานคำ เมืองล้านนา
๓.สร้างถนนรถยนต์บนยอดเขา

อันจะเป็นความสะดวกกับการขึ้นไปนมัสการสักการบูชาพระบรมธาตุเจดีย์ของชุมชนบ้านปงและผู้เดินทางต่อไป เพื่อให้ถาวรวัตถุและศาสนสถานนี้ทรงคุณค่าเป็นที่รวมจิตใจของชุมชนให้ได้ใกล้ชิดกับคำสั่งสอน โดยให้มีสภาพสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมอันจะสามารถบำเพ็ญศาสนกิจให้มีความเจริญในพระพุทธศาสนาต่อไป อีกทั้งให้อนุชนรุ่นหลังได้เกิดความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตน ช่วยกันรักษามรดกโลก ศิลปกรรมและวัฒนธรรมสืบไป




Rank: 8Rank: 8

แก้ไขครั้งสุดท้าย: 2010-12-24 07:28 โดย pimnuttapa


Picture-142.jpg

การจัดรูปแบบการก่อสร้างโลหะปราสาททิพยวิมานคำ เมืองล้านนา พระบรมธาตุศรีเมืองปง มงคลคีรี วัดพระธาตุบ้านปง

จึงนำเสนอแนวทางตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาแสดงคุณค่าเอกลักษณ์ของศิลปกรรม ความเชื่อของท้องถิ่นโดยใช้รูปแบบวัสดุ กรรมวิธีให้ผสานเข้ากับธรรมชาติ ด้วยงบประมาณที่จำเป็นและเหมาะสม โดยนำแนวคิดของโครงสร้างพระพุทธศาสนา โดยมีองค์หลักสำคัญคือ พระรัตนตรัย ที่ประกอบด้วยพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อันเป็นที่พึ่งอันประเสริฐสูงสุดในพระพุทธศาสนาตามแนวคิดดังนี้

พระพุทธ คือ   

๑.    สัมมาสัมพุทธะ     
๒.    ปัจเจกพุทธะ

พระธรรม คือ

๑.    ปริยัติ ได้แก่ พระวินัย, พระสูตร, พระอภิธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
๒.    ปฏิบัติ ได้แก่ ศีล, สมาธิ (สมถะ), ปัญญา (วิปัสสนา)
๓.    ปฏิเวธ ได้แก่ ญาณ, อภิญญา, อริยมรรค (องค์ 8), อริยผล, นิพพาน

พระสงฆ์ ได้แก่  บุคคลเหล่านี้ คือ คู่แห่งบุรุษ ๔ คู่ นับเรียงตัวบุรุษได้ ๘ บุรุษ จำแนก ๔ คู่
คู่ที่ ๑   โสดาปัตติมรรค    โสดาปัตติผล
คู่ที่ ๒   สกิทาคามิมรรค    สกิทาคามิผล
คู่ที่ ๓   อนาคามิมรรค      อนาคามิผล
คู่ที่ ๔   อรหัตตมรรค        อรหัตตผล






Rank: 8Rank: 8

แก้ไขครั้งสุดท้าย: 2010-12-24 07:28 โดย pimnuttapa

  
Picture-152.jpg

รูปแบบที่นำเสนอก่อสร้างโลหะปราสาททิพยวิมานคำ เมืองล้านนา พระบรมธาตุศรีเมืองปง มงคลคีรี วัดพระธาตุบ้านปง ประกอบด้วย

๑. พระบรมธาตุเจดีย์  องค์ประกอบครบถ้วนสมบูรณ์ ประดิษฐานพระพุทธรัตนะ
๒. ศาลาบาตร หรือระเบียงคดแบบแผนท้องถิ่นล้านนา ประดิษฐานพระธรรมรัตนะ
๓. สัตตมหาสถาน ได้แก่ ต้นศรีมหาโพธิ์ ๑ อชปาลนิโครธ ๑ ต้นมุจจลินท์ ๑ ต้นราชายตนะ ๑ อนิมิสสเจดีย์ ๑ รัตนฆรเจดีย์ ๑ รัตนจงกรมเจดีย์ ๑
๔. บันไดนาค ๔๔๔ ขั้น

๕. บันไดทางเดิน (ธิษฐานนัยแห่งมรรคา) และหอบูชาประทีปส่องขนานคู่ตลอดทาง
๖. อรหัตตมรรค,     อรหัตตผลสถาน       อยู่ท่ามกลางป่าไม้โพธิ์
๗. อนาคามิมรรค,   อนาคามิผลสถาน     อยู่ท่ามกลางป่าไม้นิโครธ
๘. สกิทาคามิมรรค, สกิทาคามิผลสถาน  อยู่ท่ามกลางป่าไม้ไผ่เวฬุ
๙. โสดาปัตติมรรค, โสดาปัตติผลสถาน   อยู่ท่ามกลางป่าไม้สาระ

๑๐. ซุ้มประตูโขง (ธิษฐานนัยแห่ง เขาพระสุเมรุ) ท่ามกลางต้นไม้ประจำทวีปทั้ง ๔ ได้แก่  
ไม้หว้า             ประจำชมพูทวีป
ไม้กระทุ่ม         ประจำอมรโยคานทวีป
ไม้กัลปพฤกษ์    ประจำอุตตรกุรุทวีป
ไม้ซีก              ประจำบุพพวิเทหทวีป
ไม้ปริชาติ         ประจำพิภพของหมู่เทพ
ไม้แดฝอย         ประจำพิภพของอสูร
ไม้งิ้วฉิมพลี       ประจำพิภพแห่งพระยาครุฑ


๑๑. สระทั้ง ๗  คือ อโนดาตสระ กัณณมุณฑสระ รกการสระ ฉัททันตสระ กุณาลสระ มัณฑาภินีสระ สีหปปาตสระ
๑๒. หอครูบาเจ้าศรีวิชัย (นักบุญแห่งล้านนาไทย)





Rank: 8Rank: 8

แก้ไขครั้งสุดท้าย: 2010-12-24 07:31 โดย pimnuttapa


Picture-148.jpg

ความหมายในส่วนโครงสร้างโลหะปราสาททิพยวิมานคำ แห่งเมืองปงยั้งม้า วัดพระธาตุบ้านปง

๑. หลังคา ๑ ชั้น หมายถึง โครงสร้างหลักของพระพุทธศาสนา อันประกอบด้วยพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์  ส่วนยอดสุดเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ

๒. ซุ้มปราสาท ๒๘ ซุ้ม หมายถึง พุทธบัลลังก์ หรือ สถานที่ประดิษฐานพระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์ อันได้แก่


๒.๑     พระตัณหังกรพุทธเจ้า        ผู้เป็นวีรบุรุษยิ่งใหญ่
๒.๒     พระเมธังกรพุทธเจ้า          ผู้มีพระยศใหญ่
๒.๓     พระสรณังกรพุทธเจ้า         ผู้ทรงเกื้อกูลแก่โลก
๒.๔     พระทีปังกรพุทธเจ้า           ผู้ทรงพระปัญญาสว่างไสว
๒.๕     พระโกณทัญญะพุทธเจ้า     ผู้ทรงเป็นพระประมุขของหมู่ชน

๒.๖     พระมงคลพุทธเจ้า            ผู้ทรงเป็นบุรุษประเสริฐ
๒.๗     พระสุมนะพุทธเจ้า            ผู้ทรงเป็นปราชญ์ มีพระทัยดี
๒.๘     พระเรวัดพุทธเจ้า              ผู้ทรงเพิ่มพูนความยินดี
๒.๙     พระโสภิตพุทธเจ้า            ผู้ทรงสมบูรณ์ด้วยพระคุณ
๒.๑๐   พระอโนมทัสพุทธเจ้า        ผู้ทรงเยี่ยมยอดในหมู่ชน
๒.๑๑   พระปทุมพุทธเจ้า              ผู้ทรงทำให้โลกสว่าง
๒.๑๒   พระนารทพระพุทธเจ้า        ผู้ทรงเป็นสารถีประเสริฐ
๒.๑๓   พระปทุมุตตระพุทธเจ้า       ผู้ทรงเป็นหลักของสัตว์
๒.๑๔   พระสุเมธพุทธเจ้า             ผู้ไม่มีบุคคลเปรียบ
๒.๑๕   พระสุชาตพุทธเจ้า            ผู้เลิศในโลกทั้งปวง
๒.๑๖   พระปิยทัสสีพุทธเจ้า          ผู้เป็นชนประเสริฐ
๒.๑๗   พระอัตถทัสสีพุทธเจ้า        ผู้ทรงประกอบด้วยพระกรุณา
๒.๑๘   พระธัมมทัสสีพุทธเจ้า        ผู้ทรงขจัดความมืด
๒.๑๙   พระสิทธัตถะพุทธเจ้า         ผู้ไม่มีบุคคลเสมอในโลก
๒.๒๐   พระติสสะพุทธเจ้า             ผู้ประเสริฐกว่านักปราชญ์ทั้งหลาย
๒.๒๑   พระปุสสะพุทธเจ้า             ผู้ทรงประธานธรรมอันประเสริฐ
๒.๒๒   พระวิปัสสีพุทธเจ้า             ผู้หาบุคคลเปรียบมิได้
๒.๒๓   พระสิขีพุทธเจ้า                 ผู้เป็นพระบรมศาสนาเกื้อกูลแก่สัตว์
๒.๒๔   พระเวสสภูพุทธเจ้า             ผู้ทรงประทานความสุข
๒.๒๕   พระกกุสันธะพุทธเจ้า           ผู้นำของหมู่สัตว์
๒.๒๖   พระโกนาคมนะพุทธเจ้า       ผู้ทรงละความชั่วอันเป็นข้าศึก
๒.๒๗   พระกัสสปพุทธเจ้า              ผู้ทรงสมบูรณ์ด้วยสิริ
๒.๒๘   พระโคตมะพุทธเจ้า            ผู้ประเสริฐกว่าในวงศ์ศากยะ

๓. สัตตกัณฑ์ หรือสัตบริกัณฑ์  หมายถึง ทิวเขาทั้ง ๗ ที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ อันได้แก่ ยุคนธร อิสินธร กรวิก สุทัศ เนมินธร วินตกะ และอัสกัณ ตามคติจักรวาลของไทยที่ได้รับมาจากอินเดียในอดีต สำหรับในล้านนา เป็นคำเรียกเชิงเทียนรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ทำด้วยไม้แกะสลักและสลักปิดทองงดงามมีที่สำหรับปักเทียนไล่จากยอดถึงฐานทั้งสองด้านรวม ๗ ที่ และถือว่าเป็นเครื่องสักการะชั้นสูง
๔. บันได ๔ ทิศ กล่าวคือ รสธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ลึกซึ้งกินใจเป็นที่ซาบซึ้งแก่คนและเทวดาทั้งหลาย เป็นที่น่าใคร่ชวนใจเข้าไปสดับตรัสฟังยิ่งนัก

๕. โลกุตระภูมิ ๑๑ อันประกอบด้วย เทวดา ๑๖ ชั้นฟ้า ๑๕ ชั้นดิน ล้อมรอบปราสาทและฐาน
๖. ฐาน ๔ เหลี่ยม นัยยะแห่งธรรมะจตุราริยสัจ ๔ อันประกอบด้วยทุกข์, สมุทัย, นิโรธ, มรรค
๗. ฐาน ๘ เหลี่ยม นัยยะแห่งธรรมะอัฏฐาริยมรรค ๘ ประการ คือ สัมมาทิฐิ, สัมมาสังกัปโป, สัมมาวาจา, สัมมากัมมันโต, สัมมาอาชีโว, สัมมาวายาโม, สัมมาสติ, สัมมาสมาธิ
๘. ทางขึ้น – ลง ๑ ทาง นัยยะแห่งธรรมะเอการิยมรรค คือมัชฌิมปฏิปทา (ทางสายกลาง)
๙. ยอดฉัตร จำนวน ๑๗ ยอด คือนัยยะแห่งสติปัฏฐาน ๔ , สัมมัปธาน ๔, โลกุตระธรรม ๔ รวมทั้งหมด ๑๗ ยอด อันเป็นส่วนแห่งยอดธรรมที่จะสามารถทำให้พ้นจากสังสารวัฏฏสงสารนี้ได้





Rank: 8Rank: 8

แก้ไขครั้งสุดท้าย: 2010-12-24 07:31 โดย pimnuttapa


Picture-149.jpg

พระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุ

พระบรมธาตุ หรือพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุนั้น เป็นสิ่งที่แสดงถึงความสำคัญของศาสนา ธรรมะ และผู้ปฏิบัติ เป็นหลักฐานของมรรค ผล นิพพาน  อำนาจบารมีพลังจิตอันบริสุทธิ์ อันประมาณมิได้ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอรหันต์ ซึ่งเป็นมงคลสูงสุด  แก่ผู้ที่ได้สักการบูชา เป็นผลให้ได้รับความสุข ความเจริญและส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติธรรมเข้าถึงธรรมและสมาธิได้ดียิ่งขึ้น

พระบรมสารีริกธาตุ ของวัดพระธาตุบ้านปง (อรัญญวาส) ก็เช่นเดียวกัน ได้มีผู้สอบถามด้วยความสงสัย ตามประสาของปุถุชนผู้ข้องอยู่ในโลกียะวิสัยว่า “พระธาตุนี้เป็นส่วนไหนของพระพุทธเจ้า และได้มาจากที่ใด” ทางผู้เขียนใคร่วิสัชนาให้เข้าใจกันดังนี้ว่า ตามตำนานพระพุทธสาระธาตุองค์ใหญ่ทั้ง ๗ องค์ ซึ่งพระเตโชธาตุ (ไฟ) มิได้สังหารให้ทำลาย คงเหลือยู่ดังนี้


๑. พระอุณหิศ (กระดูกหน้าผาก) ประดิษฐานอยู่ ณ เมืองอนุราชสิงหฬ
๒. พระรากขวัญเบื้องขวา (กระไหปลาร้าขวา) ประดิษฐานอยู่ ณ เมืองอนุราชสิงหฬ
๓. พระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระไหปลาร้าซ้าย) ประดิษฐานอยู่ ณ พรหมโลก
๔. พระทาฒธาตุขวาเบื้องบน (พระเขี้ยวแก้วขวาบน) ประดิษฐานอยู่ ณ พรหมโลก
๕. พระทาฒธาตุซ้ายเบื้องบน (พระเขี้ยวแก้วซ้ายบน) ประดิษฐานอยู่ ณ คันธารรัฐ
๖. พระทาฒธาตุขวาเบื้องล่าง (พระเขี้ยวแก้วขวาล่าง) ประดิษฐานอยู่ ณ ลังกาสิงหฬ
๗. พระทาฒธาตุซ้ายเบื้องล่าง (พระเขี้ยวแก้วซ้ายล่าง) ประดิษฐานอยู่ ณ นาคพิภพ

พระบรมสารีริกธาตุ มีสัณฐานดังเมล็ดถั่วแตกอย่างหนึ่ง ข้าวสารหักอย่างหนึ่ง เมล็ดพันธุ์ผักกาดอย่างหนึ่ง มีพรรณดังสีทองอุไร สีแก้วผลึก หรือแก้วมุกดา สีชมพู แดง สีทับทิม สีดอกพิกุล อย่างทองอุไรนั้นบางทีมีรูทะลุลอดเส้นผมลอดได้ ส่วนพระบรมธาตุของวัดพระธาตุบ้านปง มงคลคีรี (อรัญญวาส) มีสัณฐานคล้ายเมล็ดถั่วแตก มีหลายสี มีประมาณ ๑๕ องค์

การเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในครานั้นเป็นการสิ้นไปแห่งสังขารทั้งปวง แต่พระบรมสารีริกธาตุยังคงเหลืออยู่ ไม่สิ้นไปจากโลก หากแต่แพร่กระจัดกระจายไปทั่วทิศานุทิศ เพื่อขจรขยายพระบารมีธรรมของพระองค์ ดังที่ปรากฏในตำนานพระบรมธาตุมากมายว่า “หลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานได้ ๒๐๘ ปี พระยาศรีธรรมิกาโศกราชเสวยราชสมบัติอยู่ ณ ชมพูทวีป ได้ทรงโปรดให้ท้าวพระยาทั้งหลายสร้างมหาเจดีย์ ๘๔,๐๐๐ องค์ และโปรดให้ชุมชนพระอรหันต์ทั้งหลาย ให้ช่างทำโกฏิทอง, โกฏิเงิน, โกฏิแก้ว นำพระบรมธาตุบรรจุไว้ ในโกฏิทั้ง ๓ แล้วทำการฉลองบูชาสักการะเป็นการใหญ่ ครบ ๗ วัน แล้วพร้อมกันอธิษฐานว่า “เมื่อพระพุทธองค์มีพระชนม์อยู่ ได้เสด็จไปสู่ที่ใด ก็ขออาราธนาให้พระบรมธาตุไปสู่ที่นั้นเถิด หลังจากนั้นพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าก็เสด็จลอยไปทางอากาศไปสู่ที่ต่างๆ ตามที่พระพุทธองค์ได้ตั้งสัจจะอธิษฐานและทำนายไว้”

ด้วยเหตุนี้เองพระบรมธาตุของวัดพระธาตุบ้านปง มงคลคีรี (อรัญญวาส) ก็อาจจะเป็นหนึ่งในจำนวนนั้นก็เป็นได้ ซึ่งทางผู้เขียนก็ไม่สามารถที่จะบอกได้ว่าเป็นส่วนใดของพระพุทธเจ้า แต่ถึงกระนั้น จุดประสงค์ของโครงการปรับปรุงและบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุศรีเมืองปงครั้งนี้มุ่งหวังให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลกว่า “พระบรมธาตุ” เป็นเครื่องยืนยันถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นว่า เป็นสัจจะธรรมอย่างแท้จริง และเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นถึงผลแห่งการประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ซึ่งผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบก็สามารถบรรลุธรรมเข้าสู่พระนิพพานได้เหมือนกัน แม้กระทั่งพระอริยสงฆ์ในปัจจุบันก็สามารถเข้าสู่พระนิพพาน เป็นพระอรหันต์ได้

อุบาสกอุบาสิกาก็เช่นเดียวกัน หากว่าประพฤติปฏิบัติตามคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และตัดแล้วซึ่งกิเลสทั้งปวงก็สามารถบรรลุ มรรค ผล นิพพาน ได้ดังปรากฏมาแล้วในครั้งพุทธกาลฯ และจุดประสงค์อีกข้อหนึ่งคือ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการเร่งประพฤติปฏิบัติธรรมตามคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อให้หลุดพ้นจากวัฏฏสงสารนี้ ทั้งยังเกิดความเชื่อมั่นในพระพุทธพจน์ที่ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว จากการได้ร่วมสร้างและสักการบูชาพระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันที่ดีที่สุด ถึงผลแห่งการประพฤติดีปฏิบัติชอบ และพลังแห่งความดีอันบริสุทธิ์ได้อย่างไม่ต้องสงสัยเลยทีเดียว




‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2024-12-1 02:04 , Processed in 0.062680 second(s), 15 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.