แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
ดู: 5861|ตอบ: 29
go

ขอเชิญร่วมปฏิบัติธรรมเนื่องในวันมาฆบูชา 13-16 กพ. 57 มูลนิธินิธิกร บางปู สมุทรปราการ [คัดลอกลิงค์]

Rank: 1

1. สถานที่ตั้ง : ตรงข้ามกับสว่างคนิเวศสถาน เยื้องวัดอโศการาม เลยฟาร์มจระเข้ไปเล็กน้อย ติดริมถนน จากบางนาอยู่ด้านซ้ายมือ
(ไม่มีค่าใช้จ่ายแล้วแต่จะทำบุญค่ะ)


Rank: 1

อนุโมทนาสาธครับ

Rank: 1

อนุโมทนาสาธุ ให้งานเข้าที่อีกหน่อย ขะขอเป็นศิสร 3 วันครับ

Rank: 1

"อะไรที่จะฆ่าตัวตนให้ขาดลงได้"

ก่อนหน้านั้นจะเล่าให้แม่ชีเกณฑ์ท่านฟังท่านเสมอ เวลาขับรถตัวตนมักจะขึ้นมา พักหลังไม่บีบแตรใส่รถคันที่ช้าแล้ว แต่ในใจก็ยังมีอารมณ์เกิดขึ้น หรือจะบีบแตรขอทางก็ยังมีอารมณ์ปนออกไป เดินช้าก็แล้วแต่ยังฆ่าใจที่ร้อนนี้ไม่ได้เลย ถามท่านว่าอะไรจะฆ่าตัวตนให้ขาดลงได้ ท่านบอกว่าตัวตนมันฝังลึกอยู่ในจิตอยู่ในสันดานจะเอาออกได้ ต้องใช้ปัญญาให้เห็นโทษเห็นภัยมันอย่างแท้จริง ถามว่าแล้วปัญญาอะไรจะทำให้ละมันได้ ความเมตตาปรานีเห็นอกเห็นใจเข้าใจเขาเข้าใจเรานั่นไง และท่านยังบอกว่าแค่เห็นโทษเห็นภัยเฉยๆก็ยังไม่ขาด จะให้ขาดไปเลยต้องใช้สติที่ต่อเนื่องจนเป็นลูกโซ่และหนาแน่นเหมือนกำแพงปูนจนเป็นมหาสติ และปัญญาที่เกิดขึ้นมาพร้อมๆกันโดยฉับพลันเท่านั้นจึงจะตัดมันขาดได้                                    

เตือนตัวเองเสมอตายขณะเกิดอารมณ์อย่างนี้ไปเกิดเป็นงูพิษแน่ กระทั่งวันหนึ่งต้องขับรถทางไกลเข้ากรุงเทพฯ นานมากที่ไม่ได้ขับรถไกลเช่นนี้ ขณะขับเจอสิบล้อแซงโดยไม่เปิดไฟ สิบล้อเบียด แต่ยังใจเย็นได้เพราะคิดได้ว่าที่เรามีของใช้ไม่ขาดมืออยู่นี้ก็ไม่ใช่เพราะพวกเขาหรือ เรามีโอกาสแซงมากกว่าเขาตั้งหลายครั้งเขาเป็นรถใหญ่แซงยากเราควรจะให้โอกาสเขา เจอคันที่ขับช้าก็เข้าใจในสภาพรถของเขาของก็หนักรถก็เก่า เขาก็ไม่อยากขับช้าแต่ภาวะมันจำเป็น                          

การขับรถครั้งนั้นทำให้รู้แล้วว่าความเมตตาปรานีเข้าใจหัวอกของเขานี่เองที่ฆ่าตัวตนลงได้ เป็นการขับรถทางไกลครั้งแรกที่ไม่มีอารมณ์เสียทั้งขาไปและขากลับ เพราะขับด้วยความปรานีต่อรถทุกคันที่ร่วมเส้นทาง หากเราคิดอย่างนี้ได้ใจก็จะเย็นลง แต่กว่าจะเตือนตัวเองเช่นนี้ได้ท่านก็สอนให้เห็นอย่างนี้มาหลายครั้งแล้ว แต่วันใดประมาท สติอ่อน รีบจนลืมนึกถึงหลักความจริงความร้อนใจทนไม่ได้ก็เข้ามาครอบงำ เมื่อเจอรถที่ช้ามากนำหน้า                                       

นึกย้อนไปถึงการขับรถครั้งนั้นขับไปแบบเงียบๆ ไม่เปิดเพลงไม่กินกาแฟไม่ง่วงไม่คิดสิ่งใด ใจจดจ่ออยู่กับการขับรถและคอยสังเกตทุกอย่างอย่างระแวดระวังภัย สติตั้งมั่นต่อเนื่องเป็นเวลาหลายชม.ไม่แว่บไปเรื่องอื่นเลย เมื่อมีปัญญาเกิดขึ้นในขณะนั้นคือการสอนตัวเองให้เข้าใจรถคันอื่น และเห็นว่าความเมตตาปรานีจะทำให้เราฆ่าอัตตาตัวตนลงได้ จากการเห็นในครั้งนั้นความโกรธในใจมีน้อยมาก ทั้งชีวิตปกติและตอนขับรถออกถนนหรือในตลาด แม่ชีเกณฑ์ท่านบอกว่าเพราะมันเห็นจุดแล้วมันจึงไม่ขึ้นมาอีก
                              
วันหนึ่งแม่ชีเกณฑ์ท่านถามว่าจิตที่เป็นอุเบกขาเป็นเช่นไร ตอบท่านไปว่าจิตที่ไม่ยินดียินร้ายต่อทุกเหตุการณ์ที่เข้ามา วันถัดมาต้องขับรถผ่านเส้นทางเดิมที่เราเคยร้อนใจ เจอรถช้าอีกเช่นเคย สังเกตใจตัวเองไม่มีแม้สักนิดที่มันจะขึ้นมา จึงได้คำตอบไปตอบท่านใหม่ว่า จิตที่เป็นอุเบกขาคือจิตที่ไม่ถูกปรุงแต่งต่อสิ่งที่เข้ามากระทบทางตา ทางหู หรือที่เรียกว่าทางอายตนะทั้ง 6 เป็นคำตอบที่เหมือนมาจากหนังสือแต่เป็นคำตอบที่รู้จากเหตุการณ์จริง ท่านบอกว่าทุกสิ่งล้วนมีอยู่ในธรรมชาติแล้วแต่ว่าเราจะมองเห็นไหม ทุกคำตอบล้วนมีอยู่ในใจเราไม่ต้องไปเปิดหนังสือเลยแค่อ่านลงที่ใจดวงนี้
                                   
จากเหตุการณ์นี้มองเข้าไปอีกทำไมจึงไม่มีอารมณ์ขึ้นมา เพราะมันเห็นโทษเห็นภัยของอารมณ์โกรธแล้ว โกรธขึ้นมาก็เหมือนมีไฟมาเผาให้แสบร้อน มันรู้แล้วมันจึงวางลงทันทีในขณะนั้น แต่ช่วงไหนทิ้งการปฏิบัติไปยุ่งกับเรื่องอื่น จะเห็นเลยว่าเมื่อเจอเหตุการณ์เช่นนี้ใจจะทนไม่ได้ต้องพยายามหาทางแซงขึ้นไป แม่ชีเกณฑ์ท่านบอกว่าแม้จะเคยขาดไปแล้ว แต่สิ่งนี้ไม่เคยตายมันมีอยู่ประจำธาตุขันธ์ สติอ่อนกำลังเมื่อใดมันก็ขึ้นมา ท่านบอกว่าสิ่งที่ยากกว่าการทำให้จิตเป็นอุเบกขา คือการรักษาจิตให้เป็นอุเบกขาอยู่อย่างนั้น เราจะประมาทไม่ได้แม้สักวินาทีเดียวไปตราบจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต

Rank: 1

"ทำไมต้องไปที่วัด"

                 มีคนถามว่าทำไมต้องไปปฏิบัติที่วัดให้ยุ่งยาก ทำที่บ้านก็ได้ มันก็ถูกของเขาแต่เรายังตอบไม่ได้ว่าทำไม เราเข้าไปเดินจงกรมในป่า ลึกเข้าไปอีก มีทางเดินโล่งๆอยู่ในนั้น ตรงนั้นไม่มีกุฏิ มีแต่พื้นดินและต้นไม้             เราเล่าให้แม่ชีเกณฑ์ท่านฟังว่าเราพบความแตกต่างของการปฏิบัติที่บ้านและในป่าที่วัดแล้ว ในป่าไม่มีพัดลมเมื่อร้อนก็ต้องทน ในป่าไม่มีที่นอนเมื่อง่วงก็ต้องทน ในป่าไม่มีของกินเมื่อหิวก็ต้องทน           อยู่บ้านเราตามใจกิเลส หิวขึ้นมาก็เดินไปที่ตู้เย็นเอาของออกมากิน หรือเดินไปรู้สึกร้อนก็เปิดแอร์แค่พัดลมไม่พอ ยิ่งง่วงหนักๆไม่ทนเลยเดินไปที่หมอน และที่บ้านมีแต่ความคุ้นเคยขาดความระแวดระวังภัย ไม่มีความตื่นตัว แต่ในป่ามีสัตว์ร้ายเราจะเผลอไม่ได้           ถึงตอนนี้เราจะมีคำตอบตอบคนนั้นแล้วแต่เราไม่คิดจะบอกเขา เพราะคำตอบนี้แจ้งอยู่ในใจเราเพียงเท่านี้ก็พอแล้ว จนกระทั่งเวลาแห่งฝนตกมาถึง เราต้องเดินอยู่เพียงระเบียงเล็กๆหน้ากุฏิที่เคยคิดว่าแคบเดินไม่ได้ แต่กลับเดินได้เป็นปกติ เราคิดได้แล้วว่าที่นี่เดินได้ ที่บ้านกว้างกว่านี้อีกทำไมจะเดินไม่ได้ เรารู้แล้วว่าการเดินจงกรมไม่ได้อยู่ที่สถานที่ อยู่ที่ใจต่างหาก           แม่ชีเกณฑ์ท่านบอกว่าแรกๆก็ต้องหาสถานที่ เพราะทำอยู่ที่บ้านใจเรายังไม่ได้ แต่เมื่อมันเข้าใจแล้วที่ไหนก็เป็นวัดได้ หากมีเหตุไปไม่ได้เราเริ่มทำบ้านให้เป็นวัดได้แล้ว

Rank: 1

        "ที่ตรงนี้ดีไหม"                 

                       มีคนถามแม่ชีเกณฑ์ท่านว่าที่ตรงนี้ทำเลดีไหม ซื้อแล้วจะขาดทุนไหม บอกกับแม่ชีเกณฑ์ท่านว่าเขาอยู่ในพื้นที่ย่อมน่าจะรู้ดีกว่าท่าน จะมาถามท่านทำไม ท่านบอกใช่คนที่ไม่รู้ธรรมจะเป็นเช่นนั้น ไม่มีความเชื่อมั่นในตนเอง จะทำอะไรต้องคอยถามคนอื่น                ท่านตอบไปว่าที่เขาดีอยู่แล้วไม่เคยด่าใคร จะไปว่าเขาไม่ดีได้อย่างไร เราซื้อไปก็บอกกล่าวมาขออยู่อาศัย เจ้าที่ก็เหมือนผู้ใหญ่ในบ้านที่อยู่มาก่อนเรา เราแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนแผ่เมตตาให้ก็อยู่ร่มเย็นเป็นสุขแล้ว ท่านสอนให้พิจารณาด้วยเหตุผลไม่ใช่ทำไปด้วยความหลง               ท่านบอกว่าผู้ใดที่ยังบนบานศาลกล่าว ขอโน่น ขอนี่ ขอพรกับพระจันทร์ ดวงดาว ภูเขา เครื่องบูชา ศาลพระภูมิ ยึดถือเครื่องรางของขลัง ถ่ายพลัง รับพลัง ยึดถือคาถาต่างๆ เชื่อร่างทรง ยังเป็นความเชื่อแบบพราหมณ์ เป็นการเชื่อนอกศาสนาพุทธ พระพุทธองค์ไม่เคยบอกให้ยึดถือสิ่งเหล่านี้ การหนีทุกข์ด้วยวิธีนี้ไม่ใช่หนทางแห่งการพ้นทุกข์ ภูมิธรรมขั้นแรกคือพระโสดาบันก็ไม่ให้ยึดถือสิ่งเหล่านี้          ถามท่านว่าหากเขาทุกข์ให้ทำเช่นไร ท่านบอกหากไม่สบายก็ไปหายากิน หากไม่มีเงินก็ทำมาหากิน หากกลัวคุณไสย์ก็ทำจิตให้มีสติแล้วจะมีพลังป้องกันตัวเอง แล้วเรื่องทุกข์ใจทำอย่างไรเล่า ท่านถามกลับพระพุทธองค์สอนให้ขอพรหรือ แค่นั้นจะช่วยได้หรือ เราตอบไปว่าพระพุทธองค์สอนให้เราหาเหตุแห่งทุกข์แล้วจึงจะดับทุกข์ได้ ท่านบอกว่าหากจะอธิฐานให้อธิฐานสัจจะบารมี เช่นหากข้าพเจ้าหายป่วย ข้าพเจ้าจะบวชรักษาศีลเป็นต้น หรืออธิฐานถึงความดีที่ตนเองได้สะสมมา              เราเป็นอีกคนหนึ่งที่ก่อนหน้านี้ขอพรกับพระจันทร์ทรงกรด ขอพรกับดาวตก ขอพรกับศาลพระภูมิ ขึ้นรถก็ขอกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในรถ ห้อยของกันคุณไสย์ สวดคาถาป้องกันภัย เพียงแต่ไม่ยุ่งกับร่างทรงและไม่ซื้อหวยตีความฝัน มีพระเครื่องและผ้ายันต์ เชื่อตากระตุก ใส่สายสิญจ์ สวดคาถาต่างๆ  ในรถมีสายสิญจ์และพระเครื่อง เพียงแต่ไม่มีพวงมาลัย                เมื่อปฏิบัติไปอย่างต่อเนื่องวันละนิด ใจค่อยๆวางไปเองทีละอย่าง เขารู้ของเขาเองว่าสิ่งนี้ไม่ควรไปยึดถือ เราจะเป็นผู้ถามท่านเองว่าอันนี้วางได้ไหม อันนี้ไม่ทำได้ไหม เพราะอะไรที่วางได้ เพราะรู้สึกเป็นภาระที่ใจ ยึดเกาะอะไรอยู่ใจจะไม่เอาวางทิ้งทันที เพราะมันรู้แล้วว่าการยึดเกาะเป็นทุกข์ มันขยาดกลัวไม่เอาอีก คำที่จำไว้เสมอยึดเกาะคือภพชาติ หากจะถามว่าแล้วไม่ยึดพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์หรือ ใช่ใจเราไม่ได้ยึด แต่เป็นใจที่เป็นเนื้อเดียวกัน มีอยู่โดยที่ไม่ต้องยึด               เราค่อยๆวางไปทีละอย่างตามความรู้สึกของใจ ใจเกาะอะไรก็วางอันนั้น เรารู้แล้วว่าไม่มีสิ่งใดที่วิเศษไปกว่าใจที่พร้อมไปด้วยสติสมาธิและปัญญา แค่สิ่งผิดปกติเล็กน้อยเขาก็รู้ได้ ไม่ใช่มีญาณวิเศษแต่เพราะความมีสติรอบคอบละเอียดละออช่างสังเกตุ เป็นเครื่องบอกต่างหาก เราไม่หวั่นเกรงภัยธรรมชาติ ไม่กลัวความโชคร้าย ไม่กลัวอดตาย ถ้ามีสติดีแล้วเกิดเหตุนั้นจริงก็จะผ่านไปได้              ใจที่เข้าใจใจของตัวเองจึงค่อยละสิ่งที่เคยถือมา เราสละของทุกอย่างออกหมด ไม่ยึดเครื่องบูชาต่างๆ เพราะพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จริงแท้เกิดขึ้นแล้วในใจดวงนี้       
           

Rank: 1

"วิธีแก้อาการโงกง่วงโยกไปโยกมา"
            
                     เริ่มแรกของการปฏิบัติเมื่อผ่านเรื่องการเดินจงกรมมาได้แล้ว เหลือเพียงเรื่องการนั่งสมาธิที่ยังไม่ดีนัก เริ่มแรกนั่งแล้วเงียบหาย ตัวก็หาย สถานที่ก็หาย ตอนแรกคิดว่าดีเพราะไม่ฟุ้งซ่าน แต่รู้สึกไม่มั่นใจ ถามแม่ชีเกณฑ์ท่านว่านั่งแบบนี้ถูกไหม ท่านบอกว่าไม่ได้แล้ว หายเงียบไปแบบนั้นหาใช่ดีไม่ การนั่งสมาธิที่ดีต้องมีสติรู้กายรู้ใจอยู่ครบถ้วน ต้องตื่นอยู่ตลอดเวลาไม่ใช่หายไปไหน ท่านบอกว่าขณะกำลังเกิดภาวะเช่นนั้น ให้แก้ด้วยการลุกเดิน อย่าปล่อยให้ดิ่งหายไปแบบนี้                เมื่อไม่หายไปไหนกลับมาเจออีกภาวะหนึ่งคือโงกง่วงโยกไปโยกมา น่าอายมากหากใครมาเห็น แม่ชีเกณฑ์ท่านบอกว่าเพราะสติมันอ่อนเลยทำให้เสียการทรงตัว ให้เราสำรวจว่าเป็นเพราะร่างกายเราเหนื่อยอ่อนเพลียไหม หรือจะเป็นนิวรณ์ไม่เหนื่อยไม่เพลีย แต่พอเริ่มนั่งก็เริ่มง่วง อันนี้เป็นนิวรณ์แล้ว กลับมาดูตัวเองอาจจะใช่ปกติแล้วเวลาบ่าย 2 ของทุกวัน เราจะงีบหลับ แต่นี่เราไม่ได้นอน และพบว่าหลังอาหารเที่ยง เราจะรู้สึกง่วงอย่างหนัก              เมื่อเริ่มเห็นจุดที่จะแก้การโงกง่วงของตัวเองได้แล้ว จึงเปลี่ยนเวลาการกินอาหารให้เสร็จก่อนเที่ยง ประมาณบ่ายโมงเขาจะง่วงพอดี นอนเสียครึ่งชม.ก่อนไปปฏิบัติธรรม  ทำให้อาการโงกง่วงหายไปและท่านยังบอกอีกว่าอย่าปล่อยให้เป็นอย่างนั้นมันจะติดเป็นนิสัย เราต้องขัดมัน ถ้ามันโงกง่วงให้เราลุกเดินทันที อย่านั่งต่อต้องฝืนลุกขึ้นมา                เมื่อผ่านอาการโงกง่วงมาแล้ว หากนั่งนานเกินไปจะมีการจมแช่อยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ระยะหลังท่านให้นั่ง 5 นาที เดิน 5 นาที เพื่อไม่ให้จมแช่ทั้งขณะเดินและขณะนั่ง นั่ง 5 นาทียังไม่ทันง่วงและไม่จมในความคิด เดิน 5 นาทีก็ยังไม่ทันออกนอกวัด ทำแบบนี้แล้วทำให้มีความรู้สึกตัวต่อเนื่องไม่ขาดตอน แต่กว่าจะแก้ได้ไม่ใช่แค่วันเดียวนะ เราใช้เวลาร่วมๆ 3 เดือนกว่าจะแก้ได้                ถามท่านว่านั่งสมาธิลืมตาได้หรือไม่เพราะหลับตาแล้วจะพาหลับ ท่านบอกว่าจะลืมตาก็ได้ขอให้มีสติรู้ตัวอยู่ เราก็เลยนั่งหลังตรงและลืมตา หากวันไหนง่วงทั้งเดินและนั่งจนเอาไม่อยู่ จะด้วยสภาพร่างกายหรือสภาพอากาศ เราแก้ด้วยการจับไม้กวาดกวาดใบไม้ไปจนหมดชม. ดีกว่าทนนั่งง่วงเดินง่วงอยู่อย่างนั้น           ถามแม่ชีเกณฑ์ท่านว่ามีความคิดเกิดขึ้นมากขณะเดินและนั่ง บางทีคิดไปข้างหน้า บางทีคิดไปข้างหลัง แม่ท่านบอกว่าพอมีความคิดเกิดขึ้นก็ให้หยุดเช่นกำลังจะก้าวเท้าลงหากเห็นมันก็หยุดคาอยู่อย่างนั้น เราทำตามที่ท่านบอกแล้วเราก็เห็นมันดับลงไป และอีกวิธีหนึ่งที่ท่านแนะนำเวลาที่ฟุ้งมากๆให้กำหนดไปเลยคิดหนอ คิดหนอ หลายๆครั้ง หรืออยากหนอ อยากหนอ ถ้ามันอยากขึ้นมา จะช่วยให้หายฟุ้งได้            แม้ขณะนี้จะไม่ดีเลิศมากนักแต่เบาบางจากความฟุ้งซ่านไปมาก เสียงข้างในเงียบขึ้นมากเหลือเพียงแต่เสียงภายนอก แม่ชีเกณฑ์ท่านบอกว่าผู้ใดไปร่วมปฏิบัติธรรมไม่ได้ หากมีปัญหาอารมณ์ใจท่านยินดีจะให้คำแนะนำผ่านทางโทรศัพท์

Rank: 1

   "ใบมะขาม"                                 

                  แม่ชีเกณฑ์ท่านถามว่าใบมะขามขังน้ำได้ไหม ด้วยความที่ไม่ค่อยได้เห็นใบมะขามจึงนึกอยู่นานและตอบท่านไปว่าใบมะขามไม่มีขอบจะขังน้ำได้อย่างไร ท่านก็บอกว่าเหมือนจิตที่เป็นอุเบกขาอยู่เป็นกลางมันจะขังอารมณ์ได้อย่างไร เมื่อมีอะไรมากระทบทางอายตนะทั้ง 6 มันรู้แล้วก็วางไม่เข้าไปสัมผัสถึงใจเหมือนกับน้ำที่อยู่บนใบบัวขังน้ำไม่ได้ ดุจดังใบมะขามก็ไม่สามารถขังน้ำได้มีแต่จะไหลผ่านไม่ได้แทรกซึมเข้าไปในเนื้อใบมะขามเลย                                      

                        ถามท่านว่าอุเบกขาทางโลกกับอุเบกขาทางธรรมต่างกันอย่างไรท่านยกตัวอย่างให้ฟังเช่นลูกดื้อไม่ยอมฟังเตือนก็แล้วจะทิ้งไปเลยก็ไม่ได้จะเปลี่ยนเขาก็ทำไม่ได้ก็ต้องอุเบกขาคือวางแบบยังมีความยินดียินร้ายอยู่ ต้องบังคับให้ตัวเองวางทั้งที่ใจยังไม่วาง วางแบบยังมีอารมณ์ปนอยู่ วางแบบนี้ยังไม่ใช่อุเบกขาที่แท้จริง วางเพราะความจำยอมแต่ใจเขายังไม่ยอม เพราะอย่างนั้นเมื่อใดที่สติอ่อนความไม่อุเบกขาจึงยังแสดงตัวอยู่                                      

                         อุเบกขาที่แท้จริงนั้นคือการวางที่ไม่ต้องบังคับใจไม่มีแม้อารมณ์ใดเจือปนรู้แล้วก็วางลงทันทีในขณะนั้น แต่ทุกอย่างก็ไม่เที่ยงวันใดที่ทิ้งการดูแลใจของตัวเองอารมณ์ก็เกิดขึ้นมาอีก แม่ชีเกณฑ์ท่านจึงบอกเสมออย่าได้ประมาทเราเผลอเมื่อใดมันก็ขึ้นมาเมื่อนั้น ประมาทไม่ได้ไปจนวินาทีสุดท้ายที่สิ้นลม ท่านถามว่าแล้วอย่างนี้เราจะทิ้งการปฏิบัติได้หรือ การปฏิบัติไม่ใช่แค่นั่งหรือเดินวันละชม.แต่หมายถึงทุกลมหายใจเข้าออก ในแต่ละวันหากเราไม่ได้ปฏิบัติแบบเต็มรูปแบบ อย่างน้อยๆเราต้องรู้ทุกขณะว่าใจเราเป็นเช่นไร

Rank: 1

"ทำไมจึงต้องสอบอารมณ์ทีละคน"

มีคนถามว่าทำไมแม่ชีเกณฑ์ท่านต้องสอบอารมณ์ทีละคน ให้รวมกลุ่มกันคุยไม่ได้หรือ และการสอบอารมณ์เป็นอย่างไรเหมือนคุยปกติไหม เราตอบไปว่าแม่ชีเกณฑ์ท่านบอกเสมอ ผู้สอบอารมณ์นั้นจำเป็นมากสำหรับผู้ที่ยังเดินทางอยู่ เห็นชัดจากตัวเอง ตอนแรกไม่ได้คุยกับท่าน ตอนนั้นเริ่มไปปฏิบัติที่วัดแล้ว มีแต่ความตั้งใจแต่ยังไม่มีหนทาง พอเริ่มเดินแบบเอาจริง กลับพบปัญหาว่าเดินแบบเดิมที่ทำมานานแล้วไม่ทำให้เราสงบลงเลย ยิ่งเดินยิ่งคิด แต่แบบไหนหนอที่เหมาะกับเรา เราไม่มีความรู้อะไร ไม่เคยไปอบรมที่ไหน แล้วใครจะให้คำตอบเราได้ พระที่วัดท่านก็บอกให้เดินแบบปกติ แต่ในใจเรารู้สึกว่าไม่ใช่                          

เมื่อมีโอกาสได้คุยกับแม่ชีเกณฑ์ ท่านจึงบอกลองแบบนี้สิ เมื่อลองแล้วเห็นผลเราจึงโทรหาท่านอีก คราวนี้ท่านจะมีคำถามให้เราไปสังเกตดูเช่น เสียงมาหาหูหรือหูไปหาเสียง ท่านมีวิธีสอนให้เราจดจ่ออยู่กับสิ่งตรงหน้าไม่ไปตามความคิดที่ฟุ้งซ่าน เมื่อได้เริ่มปฏิบัติจริง เราจะมีทั้งสิ่งที่จะเล่าให้ท่านฟังและสิ่งที่จะถามท่าน ล้วนแต่เรื่องที่เกิดบนทางจงกรมหรือนั่งสมาธิ  โดยเฉพาะเริ่มแรกที่นั่งสมาธิแล้วหายเงียบสงบเรานึกว่าดีเป็นอย่างนั้นอยู่ 2 อาทิตย์จนมีโอกาสถามท่านจึงหลุดมาได้

เมื่อมาเจออาการโงกง่วงก็ท่านอีกที่ให้คำแนะนำ แรกๆเรื่องที่คุยจะเป็นเรื่องนอกกายของที่พะรุงพะรัง อยู่รอบตัว เมื่อเราวางสิ่งของนอกกายได้แล้ว คราวนี้ก็ถึงเรื่องละเอียดอ่อนที่ฝังอยู่ในใจ จนถึงวันนี้ใจของเราเปลี่ยนไปราวกับคนละคน เราไม่รู้สึกว่าโลกนี้โหดร้ายและไม่ได้รู้สึกว่ามันน่าอยู่   ท่านบอกเสมอผู้สอบอารมณ์สำคัญที่สุด หากเจอผู้ที่ชี้นำได้ถูกทางเราก็จะเดินทางพ้นจากทุกข์ได้เร็ว เป็นบุญของเราที่มีโอกาสได้คุยกับท่าน ในช่วงเวลาสั้นๆไม่ถึงปีความทุกข์ใจที่มีมานานหลายปีมะลายหายไปสิ้น มองไปข้างในเราเห็นเพียงใจว่างเปล่า ไม่มีใครหรือสิ่งใดอยู่ในนั้น                        
  
และอีกคำถามหนึ่งที่อื่นเขามีผู้สอบอารมณ์ไหม ท่านบอกว่าที่ไหนเข้าปฏิบัติยาวๆ จะมีผู้สอบอารมณ์ ท่านเคยเล่าให้ฟังว่าหลวงปู่เลื่อนอาจารย์ของท่านก็สอบอารมณ์ท่านเช่นนี้ ท่านเคยบอกจะช่วยงานหลวงปู่เลื่อนเพื่อตอบแทนพระคุณท่าน แต่หลวงปู่เลื่อนกลับบอกให้ตอบแทนคุณพระพุทธศาสนา ก็เท่ากับตอบแทนคุณท่านแล้ว

Rank: 1

"สิ่งแรกที่เปลี่ยนตัวเอง"           

เริ่มแรกที่ปฏิบัติกับแม่ชีเกณฑ์ ท่านจะมีคำถามให้เราไปหาคำตอบ จากคำถามของท่านเราเห็นอย่างหนึ่งที่ท่านไม่ได้บอก คำถามของท่านทำให้พฤติกรรมเราเปลี่ยนไป เราจึงรู้ว่าที่ผ่านมาทำไมเราอยากโน่นอยากนี่ โกรธง่าย อะไรกระทบก็ไปตามนั้น เพราะเราส่งใจออกไปข้างนอกและตามไปโดยไม่รู้ตัวตลอดเวลา หาเหตุมานานแล้วทำไมเป็นเช่นนั้น ทำไมห้ามไม่ได้                             

ท่านถามเรื่องเสียงทำให้เราเห็นว่าเวลาได้ยินเสียงก็ส่งใจไปไว้ที่คนพูด เห็นภาพก็ส่งใจไปไวัที่ของ ได้กลิ่นก็ส่งใจไปไว้ที่กับข้าว เราพยายามฝืนสิ่งที่เคยทำมาตลอดชีวิต เวลาได้ยินเสียงเราเอาใจไว้ที่หูตัวเอง เห็นภาพก็เอาใจไว้แค่ตา ได้กลิ่นก็เอาไว้แค่จมูก ผ่านไปทำเช่นนี้จนชิน เวลาได้ยินคนคุยกันใจเราก็ยังอยู่ข้างใน เห็นรถบนถนนใจเราก็ยังอยู่ข้างใน เกิดอะไรขึ้นใจเราก็ยังอยู่ข้างใน   นี่คือจุดแรกที่เราเปลี่ยนตัวเองคือการไม่ส่งใจออกไปข้างนอก ท่านบอกว่าเคล็ดลับอยู่ตรงนี้นี่เอง เข้าใจตัวเองเห็นจุดของตัวเอง เอาใจออกไปเกาะทำไม ทำไมไม่ไว้กับตัวเองล่ะ  ทุกข์ก็เพราะอย่างนี้แหละ

‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2024-11-15 05:56 , Processed in 0.030864 second(s), 14 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.