แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
ดู: 12663|ตอบ: 10
go

พระเจดีย์เก่า โบราณสถานเวียงท่ากาน อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ (สังเวคฐานเจดีย์) [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8


DSC06057.jpg



พระเจดีย์เก่า โบราณสถานเวียงท่ากาน

บ.ท่ากาน  ต.บ้านกลาง  อ.สันป่าตอง  จ.เชียงใหม่

[สังเวคฐานเจดีย์]


โบราณสถานเวียงท่ากาน ได้ปรากฏชื่อของเวียงท่ากานในเอกสารตำนานหลายฉบับกล่าวถึงเมืองแห่งนี้ว่า พันนาทะการ เป็นเมืองเก่าแก่แห่งหนึ่งในสมัยหริภุญชัย มีความเจริญมั่นคงและเป็นเมืองบริวารของเมืองหริภุญชัย พระแม่เจ้าจามเทวีบูรณะขึ้นมาในปีพ.ศ.๑๒๐๓ ให้เป็นเวียงหน้าด่าน จนถึงสมัยพญามังรายช่วงก่อนสร้างเมืองเชียงใหม่ ได้โปรดให้นำต้นศรีมหาโพธิ์ ที่นำมาจากลังกามาปลูกที่เวียงท่ากาน

ต่อมาถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ หลังจากพญากาวิละ สามารถฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่และดินแดนล้านนาได้สำเร็จ ได้ยกทัพไปกวาดต้อนเอาชาวไตลือจากเวียงยอง หรือชาวไตยองในเขตรัฐฉานของประเทศพม่าส่วนหนึ่งให้เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เวียงท่ากาน ซึ่งก็คือชาวบ้านท่ากานในทุกวันนี้

โบราณสถานที่สำคัญของวัดแห่งนี้จะมีอายุเก่ากว่าเมืองเชียงใหม่เล็กน้อย คือ เจดีย์ทรงกลมแบบล้านนา กับเจดีย์แปดเหลี่ยม ซึ่งขึ้นทะเบียนโบราณสถาน และกำหนดขอบเขตเมื่อปีพ.ศ.๒๕๒๒ โบราณวัตถุที่พบทั้งภายในและภายนอกตัวเวียงจำนวนหนึ่ง ได้แก่ พระพุทธรูปหินทราย พระพุทธรูปดินเผา ซึ่งบางองค์มีจารึกเป็นอักษรมอญโบราณ รูปพระโพธิสัตว์ที่บุด้วยสำริด เงิน และทองคำ ล้วนเป็นหลักฐานของศิลปกรรมในสมัยหริภุญชัย พระพิมพ์จำนวนมาก ไหเคลือบสีน้ำตาลบรรจุกระดูก และเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หยวน (พ.ศ.๑๘๒๓-๑๙๑๑)



Rank: 8Rank: 8

DSC05984.jpg


บริเวณที่ตั้งของโบราณสถานเวียงท่ากาน ตั้งอยู่ในเขตท้องที่บ้านท่ากาน ตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ หรือทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของของเวียงหริภุญชัย ได้ปรากฏมีร่องรอยของโบราณสถานอยู่แห่งหนึ่ง มีชื่อเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า เวียงท่ากาน

ลักษณะของผังเมืองหรือเวียงโบราณท่ากาน เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้างประมาณ ๕๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๗๕๐ เมตร มีแนวคูเมือง ๑ ชั้น กว้างประมาณ ๘ เมตร และมีกำแพงดินล้อมรอบ ๒ ชั้น แต่ปัจจุบันเหลือสภาพให้เห็นเพียง ๓ ด้าน ยกเว้นด้านทิศใต้ ตัวเวียงตั้งอยู่บนเนินสูง พื้นที่โดยรอบเป็นพื้นที่ราบลุ่มห่างจากลำน้ำปิงประมาณ ๓ กิโลเมตร ทางด้านทิศตะวันออกมีลำน้ำแม่ขานไหลผ่านห่างจากตัวเวียงประมาณ ๒ กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีลำเหมืองสายเล็กๆ ที่ชักน้ำจากแม่น้ำขานเข้ามาสู่คูเมืองทางด้านทิศใต้ และยังมีลำเหมืองขนาดเล็กชักน้ำเข้ามาใช้ภายในตัวเวียงทางด้านทิศตะวันออก

การเดินทางไปโบราณสถานเวียงท่ากาน ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข ๑๐๘ สายเชียงใหม่ – ฮอด ระยะทางประมาณ ๓๔ กิโลเมตร เส้นทางผ่านอำเภอหางดง และ ผ่านอำเภอสันป่าตอง จนถึงแยกเข้าบ้านท่ากาน บริเวณปากมางบ้านทุ่งเสี้ยว แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไป เป็นระยะทางเข้าประมาณ ๒ กิโลเมตร โดยผ่านพื้นที่บ้านต้นกอก ก็จะมาถึงหมู่บ้านเวียงท่ากาน



การเดินทางไปโบราณสถานเวียงท่ากาน ดูข้อมูลแผนที่จากเว็บ google ได้ตามลิงค์นี้ค่ะ

https://www.google.co.th/maps/place/%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%99/@18.5504022,98.8788508,17z/data=!3m1!4b1!4m5!3m4!1s0x30dbcbaaa899fdcb:0xda7bdd2ebe21ccce!8m2!3d18.5504022!4d98.8810395



Rank: 8Rank: 8

DSC06058.jpg



พระเจดีย์เก่าแก่ สันนิษฐานว่าเป็น  “สังเวคฐานเจดีย์”  ค่ะ

(แหล่งที่มา : นาคฤทธิ์ รวบรวมชำระสะสาง (๒๕๔๐-๒๕๔๕). (๒๕๔๕, ๑ ตุลาคม). พุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลกฉบับชำระสะสาง (พิมพ์ครั้งที่ ๑). เชียงใหม่: ลานนาการพิมพ์, หน้า ๑๔๙-๑๕๐.)



ตำนานพระเจ้าเลียบโลก กล่าวว่า หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงเหยียบรอยพระพุทธบาทแก้วข้าว อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ แล้ว จากนั้นพระพุทธเจ้าเสด็จเลียบขึ้นไปทางทิศเหนือ ทรงบรรลุถึงสถานที่แห่งหนึ่งแล้วทรงหันพระพักตร์ไปทางทิศบูรพา

ทรงรำพึงว่า “อายุตถาคตได้ ๖๐ พรรษา ยังคงเหลืออีก ๒๐ พรรษา ก็จะปรินิพพาน ธาตุตถาคตจะมาบรรจุในเมืองนี้มากกว่าเมืองอื่น” ธรรมสังเวชก็บังเกิดแก่พระตถาคต ต่อไปภายหน้าสถานที่นี้จักได้ชื่อว่า “สังเวคฐานเจดีย์” แล (น่าจะเป็นเจดีย์เก่าแก่เมืองท่ากาน อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่)


DSC06055.jpg



DSC06056.jpg




ประวัติโบราณสถานเวียงท่ากาน



เวียงท่ากาน หรือสมัยก่อนเรียกกันว่า พันนาทะการ เป็นเมืองที่มีความเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอาณาจักรหริภุญชัย มีอายุมากกว่า ๑,๒๐๐ ปี เชื่อกันว่าเวียงท่ากานคงจะเริ่มสร้างในสมัยพระเจ้าอาทิตยราชกษัตริย์แห่งแคว้นหริภุญชัย ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ซึ่งจะเป็นเมืองเล็กๆ ที่มีความสำคัญเมืองหนึ่งของแคว้นหริภุญชัย สืบต่อมาจนถึงสมัยพญามังราย (พ.ศ.๑๘๐๔–๑๘๕๔) ช่วงก่อนตั้งเมืองเชียงใหม่ ก็ปรากฏชื่อในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ว่า “เวียงพันนาทะการ” คงจะเป็นเมืองที่มีความสำคัญเมืองหนึ่ง เพราะพญามังรายโปรดให้นำต้นศรีมหาโพธิ์ที่นำมาจากลังกาทวีปต้นหนึ่งในจำนวนสี่ต้นมาปลูกที่เวียงพันนาทะการดังปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ความว่า

“เจ้าพระยามังรายก็เอาคำปูน ๕๐๐ ฝากมหาเถรเจ้าไปบูชามหาโพธิ์เจ้าในเมืองลังกา แล้วบูชามหาโพธิ์ในลังกา มหาเถรทั้ง ๔ ตน อธิษฐานว่าผู้ข้าทั้งหลายจักเอาศาสนาพุทธเข้าเมื่อดลในล้านนาผิว่าจักก้านกุ่งรุ่งเรืองแท้ ขอหื้อลูกมหาโพธิ์ตกลงเหนือจีวรแห่งตูข้า แค่ว่าอั้น ลูกมหาโพธิ์ตกลงเหนือจีวรแห่งเขาเจ้าและตนและลูก มหาเถรทั้งสี่ก็เอามหาโพธิ์ใส่ในบาตรแห่งตน ลูกมหาโพธิ์ก็งอกออกทั้ง ๔ ต้น ก็เอามาหื้อแก่พญามังรายเอาไปปลูกที่ต่งยางเมืองฝางต้นหนึ่ง เอาไปปลูกยังรั้วนางต้นหนึ่ง เอาไปปลูกยังพันนาทะการต้นหนึ่ง พญาเม็งรายก็หื้อราชมารดาแห่งตนชื่อว่า เทพคำข่ายและนางปายโคเอาไปปลูกแทนที่ไม้เดื่อเกลี้ยง วัดกานโถมต้นหนึ่งนั้นแล”

เวียงท่ากานเป็นเมืองที่มีเจ้าเมืองปกครองในสถานภาพภายใต้การปกครองของเมืองเชียงใหม่ เป็นแหล่งสะสมเสบียงอาหารเพราะเป็นถิ่นที่อุดมสมบูรณ์ ชื่อของเวียงท่ากานปรากฏในเอกสารโบราณเกี่ยวกับเมืองเชียงใหม่ในสมัยพระเจ้าติโลกราช (พ.ศ. ๑๙๘๔–๒๐๓๐) กล่าวว่า พระองค์ได้ยกทัพไปตีเมืองเงี้ยวและได้นำเชลยชาวเงี้ยวไปอยู่ที่เวียงพันนาทะการ คงจะหมายความว่า ในช่วงนี้เวียงพันนาทะการมีฐานะเป็นเมืองขึ้นเมืองหนึ่งของเชียงใหม่ เพราะคำว่า พันนา ภาษาไทยเหนือหมายถึง ตำบล

หลังจากที่พม่าเข้ามาตีเมืองเชียงใหม่ได้ในสมัยพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ในปีพ.ศ. ๒๑๐๑ เวียงท่ากานก็ตกอยู่ในอำนาจของพม่าเช่นกัน ต่อมาทางเชียงใหม่ได้ต่อสู้กับพม่าจนเมืองเชียงใหม่ร้างไปประมาณ ๒๐ ปีเศษ คือในช่วงระหว่างพ.ศ. ๒๓๑๘–๒๓๓๙ พระยากาวิละตีเมืองเชียงใหม่คืนจากพม่าได้จึงกวาดต้อนพวกไทยยองเข้ามาอยู่ตราบจนเท่าทุกวันนี้


ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๕๐๘ คือการค้นพบเมืองเวียงท่ากานเป็นครั้งแรก โดยชมรมศึกษาวัฒนธรรมโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ในครั้งนั้นการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองนี้ยังมีไม่มากนัก นับแต่นั้นมาได้มีผู้สนใจศึกษา และนักวิชาการต่างๆ ได้สำรวจศึกษาพื้นที่โบราณสถาน โบราณวัตถุของเมืองโบราณแห่งนี้เรื่อยมา



Rank: 8Rank: 8

DSC05982.jpg



DSC06022.jpg



เมื่อประมาณกลางปี ๒๕๒๗ คณะอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมมือกับหน่วยศิลปากรที่ ๔ กองโบราณคดี ขุดหลุมทดสอบทางโบราณคดี โดยมีเป้าหมายเพื่อการศึกษารูปแบบของภาชนะดินเผาในเมืองโบราณเวียงท่ากาน ในหลุมทดสอบหลุมหนึ่งด้านทิศตะวันตกของวัดท่ากาน ได้พบโครงกระดูกมนุษย์จำนวน ๒ โครง ในความลึกประมาณ ๒ เมตร แต่เป็นที่น่าเสียดายหลุมทดสอบมีขนาดเล็กไป และในการขุดค้นไม่พบหลักฐานใดๆ ร่วมกับโครงกระดูกที่จะยืนยันได้ว่า โครงกระดูกนั้นเป็นของคนในสมัยใด

ในปีถัดมาคือประมาณกลางปีพ.ศ. ๒๕๒๘ หน่วยศิลปากรที่ ๔ กองโบราณคดี ได้ขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณแหล่งที่พบโครงกระดูกดังกล่าว และศึกษาชั้นดินทางโบราณคดีในบริเวณตัวเมือง จากการศึกษาเบื้องต้นพอจะอธิบายผลการศึกษาได้ว่า โครงกระดูกที่พบนั้นคงจะมีอายุไม่เก่าแก่มากนัก ควรจะอยู่ในสมัยล้านนา เพราะในช่วงระยะเวลาดังกล่าวอาจจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่ยังคงมีประเพณีการฝังศพเช่นนี้เหลืออยู่ และต่อมาได้มีการขุดพบโครงกระดูกที่บริเวณเขตบ้านสันกอเก็ดบริเวณไม่ห่างจากเวียงท่ากานมากนัก พบหลักฐานเป็นเครื่องถ้วยสมัยล้านนาถูกฝังในหลุมเดียวกัน จึงเป็นหลักฐานยืนยันข้อสันนิษฐานดังกล่าว

ต่อมาในปีงบประมาณ ๒๕๓๑ หน่วยศิลปากรที่ ๔ เชียงใหม่ จึงได้ทำการขุดแต่งและบูรณะเจดีย์โบราณสถานกลางเมือง ๒ องค์คือ เจดีย์แปดเหลี่ยมแบบหริภุญชัย ๑ องค์ และเจดีย์ทรงกลมแบบองค์เรือนธาตุอีก ๑ องค์ ได้พบหลักฐานประเภทโบราณวัตถุจำนวนมากทั้งเศษภาชนะดินเผาแบบหริภุญชัย พระพุทธรูปสำริด เป็นต้น อนึ่ง หลักฐานทั้งทางด้านโบราณวัตถุและรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของเจดีย์ ซึ่งมีการบูรณะซ่อมแซมมาแล้วหลายครั้ง สามารถกำหนดอายุโบราณสถานดังกล่าวได้ว่า น่าจะมีอายุตั้งแต่สมัยหริภุญชัยตอนปลาย ลงมาถึงสมัยล้านนาตอนต้น ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘ – พุทธศตวรรษที่ ๒๑ ๒๒

จากที่กล่าวมาแล้วย่อมแสดงให้เห็นว่า กลุ่มโบราณสถานเวียงท่ากานมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ประกอบกับชาวบ้านท่ากานมีความตื่นตัวในการอนุรักษ์เมืองเวียงท่ากาน รวมทั้งได้ให้ความร่วมมือกับทางราชการในการถากถาง ทำความสะอาดบริเวณโบราณสถานจนได้รับโล่พระราชทานจากพระหัตถ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะบุคคลผู้สนับสนุนการอนุรักษ์ดีเด่นประจำปี ๒๕๓๑ เนื่องในโอกาสวันอนุรักษ์มรดกไทย

จากการสำรวจพบว่า มีโบราณสถานที่มีอยู่ในเวียงท่ากานมีอยู่จำนวน ๑๓ กลุ่ม กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ โดยเหตุที่เวียงท่ากานร้างไปเป็นเวลานาน จึงทำให้ไม่ทราบถึงประวัติความเป็นมาและชื่อของโบราณสถานแต่ละกลุ่มเหล่านั้นได้ ดังนั้นชื่อที่กลุ่มโบราณสถานร้างในทุกวันนี้จะเรียกไปตามชาวบ้านกลุ่มใหม่ที่ตั้งชื่อเรียกกันขึ้นมาใหม่



Rank: 8Rank: 8

DSC05985.jpg


กลุ่มที่ ๑ โบราณสถานกลุ่มกลางเวียง เป็นกลุ่มโบราณสถานที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ตั้งอยู่บริเวณเวียงท่ากาน

โบราณสถานกลุ่มกลางเวียง เป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่ที่สุดที่ตั้งอยู่บริเวณกลางเวียง ในขอบเขตพื้นที่ประมาณ ๑๔ ไร่ โบราณสถานที่สำคัญที่ปรากฏ เจดีย์ ๒ องค์ ซึ่งเป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมองค์หนึ่ง นอกนั้นจะเป็นเนินโบราณสถานที่เป็นฐานเจดีย์ วิหาร และอื่นๆ ทั้งได้รับการขุดแต่งบูรณะแล้วและยังไม่ได้ขุดแต่งมีจำนวนไม่ต่ำกว่า ๒๐ แห่ง เป็นที่น่าสังเกตว่าวัดแห่งนี้จะหันหน้าไปทางทิศใต้ ซึ่งเป็นทิศที่แม่น้ำปิงไหลผ่านในสมัยโบราณ

โบราณสถานเกือบทั้งหมดที่ปรากฏในทุกวันนี้ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากทั้งภายในและภายนอกเวียงท่ากานมีทั้งหมด ๑๓ กลุ่ม ส่วนใหญ่จะเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีอายุสมัยล้านนา จะมีเพียงเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม ที่ตั้งอยู่ในกลุ่มโบราณสถานกลางเวียงท่ากานเท่านั้น ที่เชื่อกันว่าอยู่ในอายุสมัยหริภุญชัย



DSC05982.jpg



พระเจดีย์แปดเหลี่ยม ซึ่งมีรูปทรงสูง องค์ระฆังเล็ก ลักษณะโดดเด่นเป็นเจดีย์ประธานของวัดแห่งนี้ ตั้งอยู่ด้านหลังของวิหารขนาดใหญ่ พระเจดีย์องค์นี้เชื่อกันมาแต่เดิมว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีอายุอยู่ในสมัยหริภุญชัย แต่จากลักษณะลวดบัวของพระเจดีย์ที่ปรากฏซึ่งประกอบไปด้วย ฐานล่างที่เป็นฐานบัวอีกชุดหนึ่ง  เหนือขึ้นไปเป็นหน้ากระดานสี่ชั้นซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป เนื่องจากสภาพที่ชำรุดมาแต่เดิมและการบูรณะของกรมศิลปากรเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา  ทำให้ลักษณะของฐานเจดีย์ในส่วนนี้ค่อนข้างสับสน แต่เหนือขึ้นไปจากนี้จะปรากฏร่องรอยของลวดบัวที่ชัดเจนขึ้น และไม่มีร่องรอยของการซ่อมแซม ซึ่งจะเป็นฐานของบัวลูกแก้วเส้นเล็กสี่เส้นรองรับหน้ากระดานและมาลัยเถร มาลัยเถามีลักษณะเป็นบัวคว่ำซ้อนกันขึ้นไป ๗ ชั้น

องค์ระฆังกลมส่วนยอดหักหายไป แบบแผนของลักษณะเจดีย์เช่นนี้ไม่เคยปรากฏเห็นที่ใดๆ มาก่อน ดังนั้นจึงเชื่อว่าน่าจะเป็นบัวคว่ำซ้อนกันขึ้นไป ๗ ชั้นนั้น เป็นแบบแผนทางศิลปกรรมของเจดีย์ล้านนาอย่างหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลมาจากเจดีย์แบบสุโขทัย ดังตัวอย่างเช่น เจดีย์พระธาตุดอยสุเทพ ซึ่งมีมาลัยเถาเป็นฐานบัวคว่ำซ้อนกันขึ้นไปสี่ชั้น ด้วยเหตุนี้จึงเชื่อว่าเจดีย์แปดเหลี่ยมแห่งนี้น่าจะเป็นเจดีย์รูปแบบหนึ่งของล้านนา โดยมีพัฒนาการต่อเนื่องมาจากเจดีย์แบบพระธาตุดอยสุเทพและควรมีอายุอยู่ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๒


DSC06054.jpg



เจดีย์ทรงกลม มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงกลมแบบเชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่นิยมก่อสร้างมากในล้านนา โดยเฉพาะที่เมืองเชียงใหม่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑ แม้ว่าโบราณสถานที่ปรากฏอยู่จะเป็นสิ่งก่อสร้างในสมัยล้านนา

จากหลักฐานยืนยันให้เห็นว่า กลุ่มโบราณสถานกลางเวียงนี้คงเป็นวัดสำคัญของเวียงท่ากานมาตั้งแต่สมัยหริภุญชัย และคงได้รับการบูรณะซ่อมแซมสืบเนื่องต่อมาจนถึงสมัยล้านนาปัจจุบัน โบราณวัตถุส่วนหนึ่งได้เก็บรักษาไว้ที่วัดท่ากาน และอีกส่วนหนึ่งได้จัดแสดงอยู่ในศูนย์บริการการท่องเที่ยว ซึ่งอยู่ภายในเขตโบราณสถานกลุ่มกลางเวียง



Rank: 8Rank: 8

DSC06059.jpg



ศูนย์บริการข้อมูล โบราณสถานเวียงท่ากาน ค่ะ


DSC06017.jpg


ภายใน ศูนย์บริการข้อมูล โบราณสถานเวียงท่ากาน จะมีการจัดแสดงนิทรรศการประวัติเวียงท่ากาน โบราณสถานต่างๆ ในเวียงท่ากาน และโบราณวัตถุต่างๆ ที่ถูกค้นพบในเวียงท่ากานค่ะ  


Rank: 8Rank: 8

DSC06009.jpg



ครกและสากดินเผา ถูกค้นพบที่โบราณสถานกลางเวียง จัดแสดงอยู่ภายใน ศูนย์บริการข้อมูล โบราณสถานเวียงท่ากาน ค่ะ



DSC06012.jpg



ตะคันดินเผา ใช้จุดไฟให้แสงสว่าง ถูกค้นพบที่โบราณสถานกลางเวียง จัดแสดงอยู่ภายใน ศูนย์บริการข้อมูล โบราณสถานเวียงท่ากาน ค่ะ


DSC06040.jpg



เครื่องถ้วยจีน สมัยราชวงศ์หมิง ถูกค้นพบที่โบราณสถานกลางเวียง จัดแสดงอยู่ภายใน ศูนย์บริการข้อมูล โบราณสถานเวียงท่ากาน ค่ะ


Rank: 8Rank: 8

DSC06020.jpg



ภาพโครงกระดูกมนุษย์ พบที่หลุมขุดค้นเวียงท่ากานในปีพ.ศ. ๒๕๑๔ จัดแสดงอยู่ภายใน ศูนย์บริการข้อมูล โบราณสถานเวียงท่ากาน ค่ะ


DSC06042.jpg


ภาพบนกลาง     แจกันเคลือบสีน้ำตาล
ภาพบนขวา       ไหเคลือบสีน้ำตาล ผลิตจากแหล่งเตาสันทราย อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒

ภาพล่างซ้าย      หม้อดินเผาเนื้อดินธรรมดา และไหเคลือบสีน้ำตาล

ภาพล่างขวา      ไหบรรจุกระดูกเคลือบสีน้ำตาล พบที่โบราณสถานวัดอุโบสถ ผลิตจากแหล่งเตาสันทราย อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒



DSC06044.jpg



ภาพบน             บาตรสำริดมีฝาปิด พบที่วัดอุโบสถ ภายในบรรจุเครื่องถ้วยจีน จาน ชามลายคราม สมัยราชวงศ์หมิง (พ.ศ. ๑๙๑๑ - ๒๑๘๗)

ภาพกลางซ้าย   ชามลายคราม สมัยราชวงศ์หมิงผลิตจากแหล่งเตาจิงเต๋อเจิ้น มณฑลเจียงซี
ภาพกลางขวา    ชามลายคราม

ภาพล่างซ้าย     ชามเขียนลายครามสีบนเคลือบด้วยสีแดงและเขียว เป็นเครื่องถ้วยในกลุ่มชานโถว อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒

ภาพล่างขวา      ชามเขียนลายสีบนเคลือบ


DSC06024.jpg



ภาพบนซ้าย      พระบุทองคำ ปางประทานอภัย ศิลปปาละ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๗ ปัจจุบันเก็บรักษาที่วัดท่ากาน

ภาพบนกลาง    พระบุเงิน ปางมารวิชัย ศิลปหริภุญไชย อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ ปัจจุบันเก็บรักษาที่วัดท่ากาน

ภาพบนขวา       พระพิมพ์ (พระแผงห้าร้อย) ศิลปหริภุญไชย พบมากที่เวียงท่ากาน

ภาพล่างซ้ายและภาพล่างกลาง    พระบุทองคำ ปางมารวิชัย สวมมงกุฎทรงเทริด ศิลปหริภุญไชย อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ ปัจจุบันเก็บรักษาที่วัดท่ากาน

ภาพล่างขวา     ภาชนะดินเผา ศิลปหริภุญไชย อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติเชียงใหม่


Rank: 8Rank: 8

DSC05989.jpg



อาคารคลัง
โบราณสถานเวียงท่ากาน ค่ะ


DSC05998.jpg


ภายใน อาคารคลัง โบราณสถานเวียงท่ากาน จะเป็นที่เก็บชิ้นส่วนลายปูนปั้นต่างๆ ของโบราณสถานและโบราณวัตถุอื่นๆ ที่ถูกค้นพบในโบราณสถานเวียงท่ากานค่ะ


DSC05995.jpg


ชิ้นส่วนภาชนะเครื่องปั้นดินเผาต่างๆ ที่ถูกค้นพบในโบราณสถานเวียงท่ากาน อยู่ด้านหลัง อาคารคลัง โบราณสถานเวียงท่ากาน ค่ะ


DSC05991.jpg



โครงกระดูกมนุษย์ พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านนายจันทร์ติ๊บ อายุประมาณ ๔๐๐-๖๐๐ ปี อยู่ด้านข้าง อาคารคลัง โบราณสถานเวียงท่ากาน ค่ะ


DSC06061.jpg



DSC05993.jpg



การเดินทางท่องเที่ยวทำบุญที่โบราณสถานเวียงท่ากาน ในส่วนโบราณสถานกลางเวียง วันนี้ก็ขอจากกันไปด้วยภาพพระเจดีย์ และภาพเจริญมรณานุสสติ (นึกถึงความตายเป็นอารมณ์) เลยนะคะ สวัสดีค่ะ


Rank: 8Rank: 8

ขอขอบพระคุณและโมทนาบุญอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :        
        •  โบราณสถานเวียงท่ากาน ต.บ้านกลาง  อ.สันป่าตอง  จ.เชียงใหม่
        •  กรมศิลปากรที่ ๘ จังหวัดเชียงใหม่
        •  
นาคฤทธิ์ รวบรวมชำระสะสาง (๒๕๔๐-๒๕๔๕). (๒๕๔๕, ๑ ตุลาคม). พุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลกฉบับชำระสะสาง (พิมพ์ครั้งที่ ๑). เชียงใหม่: ลานนาการพิมพ์, หน้า ๑๔๙-๑๕๐.
        •  http://www.pantown.com/content.php?name=content1&area=3&id=23105
        •  และทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการท่องเที่ยวทำบุญครั้งนี้

หมายเหตุ   
ถ้าหากข้าพเจ้าพบข้อผิดพลาดจากภาพที่ลงบอร์ดไปเรียบร้อยแล้วว่าไม่ตรงกับข้อมูลที่ถูกต้องในภายหลัง หรือพบว่าสถานที่นั้นมีโบราณวัตถุ โบราณสถาน ฯลฯ ที่สำคัญแต่ยังไม่ได้นำมาลงบอร์ด ข้าพเจ้าขออนุญาตนำภาพหรือข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสถานที่นั้นนำมาลงบอร์ดเพิ่มเติมในภายหลัง เพื่อประโยชน์สูงสุดในการเผยแผ่พระศาสนาสืบต่อไป และขออภัยในความบกพร่องต่างๆ ในฐานะปุถุชนที่ย่อมทำผิดและถูกสลับกันไป หวังว่าสมาชิกและท่านผู้อ่านทุกท่านจะให้อภัยในความบกพร่องทั้งปวงแก่ข้าพเจ้าด้วย

ถ้าหากสมาชิกท่านใดมีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัดพระธาตุหรือรอยพระพุทธบาทที่ลงบอร์ดนี้เรียบร้อยแล้ว สามารถโพสข้อมูลเพิ่มเติมนั้นต่อจากบอร์ดข้างล่างนี้ได้เลย เพื่อประโยชน์สูงสุดในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาสืบต่อไป ขอขอบพระคุณและโมทนาบุญเป็นอย่างสูงสำหรับธรรมทาน





‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2025-1-8 05:59 , Processed in 0.039842 second(s), 16 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.