พระเจดีย์เก่าแก่ สันนิษฐานว่าเป็น “สังเวคฐานเจดีย์” ค่ะ
(แหล่งที่มา : นาคฤทธิ์ รวบรวมชำระสะสาง (๒๕๔๐-๒๕๔๕). (๒๕๔๕, ๑ ตุลาคม). พุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลกฉบับชำระสะสาง (พิมพ์ครั้งที่ ๑). เชียงใหม่: ลานนาการพิมพ์, หน้า ๑๔๙-๑๕๐.)
ตำนานพระเจ้าเลียบโลก กล่าวว่า หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงเหยียบรอยพระพุทธบาทแก้วข้าว อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ แล้ว จากนั้นพระพุทธเจ้าเสด็จเลียบขึ้นไปทางทิศเหนือ ทรงบรรลุถึงสถานที่แห่งหนึ่งแล้วทรงหันพระพักตร์ไปทางทิศบูรพา
ทรงรำพึงว่า “อายุตถาคตได้ ๖๐ พรรษา ยังคงเหลืออีก ๒๐ พรรษา ก็จะปรินิพพาน ธาตุตถาคตจะมาบรรจุในเมืองนี้มากกว่าเมืองอื่น” ธรรมสังเวชก็บังเกิดแก่พระตถาคต ต่อไปภายหน้าสถานที่นี้จักได้ชื่อว่า “สังเวคฐานเจดีย์” แล (น่าจะเป็นเจดีย์เก่าแก่เมืองท่ากาน อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่)
ประวัติโบราณสถานเวียงท่ากาน
เวียงท่ากาน หรือสมัยก่อนเรียกกันว่า พันนาทะการ เป็นเมืองที่มีความเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอาณาจักรหริภุญชัย มีอายุมากกว่า ๑,๒๐๐ ปี เชื่อกันว่าเวียงท่ากานคงจะเริ่มสร้างในสมัยพระเจ้าอาทิตยราชกษัตริย์แห่งแคว้นหริภุญชัย ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ซึ่งจะเป็นเมืองเล็กๆ ที่มีความสำคัญเมืองหนึ่งของแคว้นหริภุญชัย สืบต่อมาจนถึงสมัยพญามังราย (พ.ศ.๑๘๐๔–๑๘๕๔) ช่วงก่อนตั้งเมืองเชียงใหม่ ก็ปรากฏชื่อในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ว่า “เวียงพันนาทะการ” คงจะเป็นเมืองที่มีความสำคัญเมืองหนึ่ง เพราะพญามังรายโปรดให้นำต้นศรีมหาโพธิ์ที่นำมาจากลังกาทวีปต้นหนึ่งในจำนวนสี่ต้นมาปลูกที่เวียงพันนาทะการดังปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ความว่า
“เจ้าพระยามังรายก็เอาคำปูน ๕๐๐ ฝากมหาเถรเจ้าไปบูชามหาโพธิ์เจ้าในเมืองลังกา แล้วบูชามหาโพธิ์ในลังกา มหาเถรทั้ง ๔ ตน อธิษฐานว่าผู้ข้าทั้งหลายจักเอาศาสนาพุทธเข้าเมื่อดลในล้านนาผิว่าจักก้านกุ่งรุ่งเรืองแท้ ขอหื้อลูกมหาโพธิ์ตกลงเหนือจีวรแห่งตูข้า แค่ว่าอั้น ลูกมหาโพธิ์ตกลงเหนือจีวรแห่งเขาเจ้าและตนและลูก มหาเถรทั้งสี่ก็เอามหาโพธิ์ใส่ในบาตรแห่งตน ลูกมหาโพธิ์ก็งอกออกทั้ง ๔ ต้น ก็เอามาหื้อแก่พญามังรายเอาไปปลูกที่ต่งยางเมืองฝางต้นหนึ่ง เอาไปปลูกยังรั้วนางต้นหนึ่ง เอาไปปลูกยังพันนาทะการต้นหนึ่ง พญาเม็งรายก็หื้อราชมารดาแห่งตนชื่อว่า เทพคำข่ายและนางปายโคเอาไปปลูกแทนที่ไม้เดื่อเกลี้ยง วัดกานโถมต้นหนึ่งนั้นแล”
เวียงท่ากานเป็นเมืองที่มีเจ้าเมืองปกครองในสถานภาพภายใต้การปกครองของเมืองเชียงใหม่ เป็นแหล่งสะสมเสบียงอาหารเพราะเป็นถิ่นที่อุดมสมบูรณ์ ชื่อของเวียงท่ากานปรากฏในเอกสารโบราณเกี่ยวกับเมืองเชียงใหม่ในสมัยพระเจ้าติโลกราช (พ.ศ. ๑๙๘๔–๒๐๓๐) กล่าวว่า พระองค์ได้ยกทัพไปตีเมืองเงี้ยวและได้นำเชลยชาวเงี้ยวไปอยู่ที่เวียงพันนาทะการ คงจะหมายความว่า ในช่วงนี้เวียงพันนาทะการมีฐานะเป็นเมืองขึ้นเมืองหนึ่งของเชียงใหม่ เพราะคำว่า พันนา ภาษาไทยเหนือหมายถึง ตำบล
หลังจากที่พม่าเข้ามาตีเมืองเชียงใหม่ได้ในสมัยพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ในปีพ.ศ. ๒๑๐๑ เวียงท่ากานก็ตกอยู่ในอำนาจของพม่าเช่นกัน ต่อมาทางเชียงใหม่ได้ต่อสู้กับพม่าจนเมืองเชียงใหม่ร้างไปประมาณ ๒๐ ปีเศษ คือในช่วงระหว่างพ.ศ. ๒๓๑๘–๒๓๓๙ พระยากาวิละตีเมืองเชียงใหม่คืนจากพม่าได้จึงกวาดต้อนพวกไทยยองเข้ามาอยู่ตราบจนเท่าทุกวันนี้
ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๕๐๘ คือการค้นพบเมืองเวียงท่ากานเป็นครั้งแรก โดยชมรมศึกษาวัฒนธรรมโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ในครั้งนั้นการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองนี้ยังมีไม่มากนัก นับแต่นั้นมาได้มีผู้สนใจศึกษา และนักวิชาการต่างๆ ได้สำรวจศึกษาพื้นที่โบราณสถาน โบราณวัตถุของเมืองโบราณแห่งนี้เรื่อยมา