"คุณแม่บอกให้รู้ตัวว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ให้มีสติอยู่กับตัวตลอดเวลา มันยากจังเลยคะ มันฟุ้งซ่าน บางครั้งเบื่อมาก อยู่บ้านก็ทำทุกวันแต่ไม่เคยเต็มที่ มีเหตุผลอ้างสารพัดที่จะคอยขัดขวางเราไม่ให้ทำความดี"
คุณแม่ท่านบอกว่า....ทำที่บ้านไม่ได้ ทนกิเลสไม่ไหว ไปที่ไหนก็ได้ที่คิดว่าเป็นสถานที่ที่ทำให้เราตัดขาดจากโลกภายนอก วันธรรมดาไม่ได้ ก็ไปในวันหยุด เดี๋ยวเขาก็พัฒนาขึ้นเอง จากอาทิตย์ละชม. กลายเป็นวันละชม. จากวัดก็จะกลายเป็นบ้าน ความคิดมันไม่มีตัวตน จะไปห้ามมันคิดก็ไม่ได้ มันเป็นธรรมดาเรายังมีสัญญาความจำอยู่ มันขึ้นมาก็ดีแล้ว เราจะได้รู้ว่ามีอะไรค้างคาอยู่ในใจ ถอนออกเมื่อไหร่มันก็ไม่ขึ้นมาอีก แต่จะเป็นเรื่องใหม่แทน
สติเราอ่อนจึงห้ามไม่ให้คิดไม่ได้ ผู้ปฏิบัติต้องผ่านด่านนี้ทุกคน หลายคนติดอยู่แค่นี้เลิกปฏิบัติไปเลย นี่เป็นนิวรณ์เครื่องขวางกั้นผู้ปฏิบัติธรรมไม่ให้ไปไหน มันชอบคิด ก็เอาความคิดนี่แหละเป็นกรรมฐาน ปล่อยให้มันคิด แล้วสังเกตความคิด มันไม่คิดไปข้างหน้า ก็คิดไปข้างหลัง บางเรื่องคิดเพราะตาไปกระทบกับสิ่งภายนอก บางเรื่องมาจากในใจ บางเรื่องคิดเพราะพอใจจะคิด บางเรื่องคิดแล้วโกรธ บางเรื่องมันคิดแล้วเสียใจ เรื่องนี้ดับ ก็วิ่งไปคิดเรื่องใหม่
เลิกปฏิบัติมันเลิกคิดทันที พอเริ่มปฏิบัติมันก็เริ่มคิด เคยนับมั้ยมันคิดกี่เรื่อง ถามมันสิเหนื่อยไหม วิธีตามดูความคิดอย่างชาญฉลาดคือ เมื่อมันคิดขึ้นมาฝืนใจไว้อย่าไปคิดต่อ ปล่อยให้มันดับลง เรื่องใหม่มาก็ทำเหมือนเดิม แต่ถ้ากำลังไม่พอฝืนมันไม่ได้ เผลอไปปรุงแต่งต่อ คำบริกรรมการกำหนดจำเป็นก็ตอนนี้ จิตจะวิ่งมาจับคำที่เราพูดขึ้นทันที เรื่องที่คิดก็ดับลงสั้นลงไม่ถูกสานต่อ พอเริ่มคิด เราก็กำหนด คิดหนอๆๆ จนมันหยุด มันมาอีกแต่คราวนี้ช้าอยากขึ้นแล้ว ก็กำหนด อยากหนอ ๆๆ หรือโกรธแล้วก็กำหนด โกรธหนอๆๆ
วิธีที่สองตัดกำลังตั้งแต่ต้นทาง นั่งไปมันเริ่มคิดลุกขึ้นเดินทันที เดินๆไปสงบได้สักพักมันเริ่มคิด เลิกเดินเปลี่ยนเป็นนั่งทันที อย่าไปบอกให้มันรู้ตัว ทำเหมือนหักหน้ามัน ในหนึ่งชม.ให้ทำอย่างนี้ มันคิดเมื่อไหร่ เราก็เปลี่ยนอิริยาบถทันที
วิธีที่สาม ทำอย่างไรก็ไม่หาย เดินอย่างเดียวยังไม่ต้องนั่งสมาธิ แต่ขอให้เป็นการเดินที่รู้อยู่กับปัจจุบันทุกขณะ จะบริกรรมก็ออกเสียงดังๆ โดยไม่ต้องอายใคร อาจจะใช้ลมหายเข้าออกเป็นการบริกรรมก็ได้ เช่น ก้าวขาไปเราหายใจเข้ายาวๆ วางขาลงเราหายใจออกยาวๆ จิตจะมาเกาะที่ลมหายใจแทนความคิด
ขณะที่เดินจงกรมกี่จังหวะก็ช่าง หากความคิดเกิดขณะที่เรายกเท้า ก้าวเท้า หรือวางเท้า ให้หยุดค้างไว้ พอความคิดดับเราค่อยไปต่อ เมื่อสติเร็วขึ้น เราจะเห็นทันว่าความคิดเกิดขณะใด การเห็นการเกิดดับของความคิดนี่แหละ เมื่อใจเข้าใจแล้ว เขาก็จะไม่ไปปรุงต่อ เพราะเขารู้แล้วว่าเดี๋ยวมันก็ดับ ความคิดจะค่อยๆสั้นลง จนหายไปในที่สุด จะเกิดความเย็นขึ้นในใจแทนที่แต่อย่าได้ไปติดในสุขนั้น มันสุขก็ให้กำหนดไว้สุขหนอ เย็นหนอ ความยินดีก็พาเราไปเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก
ทำงานไปให้กำหนดไปด้วย มันคิดก็คิดหนอ มือเอื้อมไปหยิบอะไรก็หยิบหนอ ยกหนอ เวลาเดินก็ซ้ายหนอ ขวาหนอ ก้มหนอ เงยหนอ บิดหนอ การทำอย่างนี้ทำให้เราชินกับการกำหนด อาจจะฝืนในวันแรก แต่เมื่อชินจะทำไปแบบสบายๆ จะเริ่มรู้สึกสนุกกับการกำหนด เบากายเบาใจ เมื่อความคิดโดนสะกัด มันก็จะค่อยๆถอยทัพลงไป มีแต่ไม่มากเหมือนเดิมไม่ต้องกลัวว่าจะกำหนดไปตลอดชีวิต ถึงวันเขาจะวางของเขาเอง
นี่เป็นด่านแรกที่ทุกคนต้องผ่าน ถามตัวเองอยากเลิกคิดจริงไหม ถ้าไม่ตั้งใจจริงทุกวิธีที่บอกก็เปล่าประโยชน์ เราต้องฝืนทำไป จากชม.เป็นวัน จากวันเป็นเดือน คงจะมีสักวันที่เราเหนือมัน ยังมีอีกหลายด่านที่คุณต้องผ่าน ไม่จบป.1 แล้วคุณจะไป ป.2 ได้อย่างไร