ตำนานวัดพระธาตุม่วงคำ (ต่อ)
ขณะนั้นพระอินทร์จึงเสด็จลงมาเอาซากศพไปเร็วพลัน แล้วเนรมิตแก้วแหวนเงินทองไว้มากมายในหีบแทน ครั้นพระยาปรมะโฆสาขึ้นไปบนปราสาทพบสิ่งของมีค่าเหล่านั้นก็สงสัย จึงถามไปว่าเอามาจากไหน นางเทวีก็ตอบว่าได้มาจากป่าอันเป็นที่อยู่เดิม เมื่อพระราชสวามีเสด็จกลับไปแล้ว นางก็เสียใจร้องไห้ที่มิได้เห็นแม่ของตน เวลานั้นเทพยดาผู้รักษาปราสาทจึงได้เข้ามาบอกเรื่องราวให้ทราบ นางจึงได้คลายความเศร้าโศกเสียใจ
แล้วได้นำเสด็จไปพร้อมกับพระราชา เพื่อไปเอาสมบัติในป่าอีก ระหว่างทางนางได้คิดถึงพญางูเห่า เทวดาก็เนรมิตเป็นพญางูเห่าตายอยู่ที่เก่า มีร่างอันเน่าและพองอยู่ข้างทาง เมื่อนางเห็นแล้วก็ก้มอภิวาท เอาน้ำมาอาบยังซากศพนั้น พญางูก็กลับมีชีวิตขึ้นมาอีก
ครั้นถามถึงทางที่จะไปและออกเดินทางต่อไป เทวดาก็ทิ้งเพศพญางู แล้วเนรมิตเป็นพญาช้างนอนตายเน่าอยู่ริมทางอีก นางก็นำน้ำมาอธิษฐานลูบไล้ยังซากศพ แต่เทวดาก็ให้ซากศพนั้นหายไปกับตา นางก็เสียใจเดินทางต่อไปยังผาสามเส้า ขณะนั้นเทวดาก็แปลงเป็นหงส์ทองนอนตาย นางก็เอาน้ำมาใส่ปากพร้อมกับลูบคลำ หงส์ทองทั้งคู่บินสู่อากาศแล้วก็ลงมาหานาง แล้วบินหันไปสู่ดอยคำ และเทวดาก็ละเพศจากหงส์ ๒ ตัว แปลงเพศเป็นผู้เฒ่าองคนเฝ้าไร่ฝ้าย
ครั้นนางเดินผ่านมา สองตายายจึงบอกทางไปถึงหนองงู ซึ่งยังมีปรากฏอยู่ทุกวันนี้และฝ้ายที่เฝ้าอยู่นั้นก็ยังมีปรากฏอยู่เช่นกัน แล้วนางจึงไปถึงผาสามเส้ากราบไหว้บูชารอยเท้าแม่หน้าผา พร้อมกับพรรณนาว่าลูกจักตาย ณ ที่เก่าแห่งนี้ เพราะได้โกหกพระสวามีว่ามีสมบัติที่นี้มาก ฝ่ายเทวดาก็มาเนรมิตเป็นพญางู พญาช้าง และพญาหงส์ทองให้เห็นและถามนาง แต่นางไม่ยอมพูด ยกมือไหว้แล้วก็กระโดดลงมายังท้องห้วย
เมื่อกระโดดลงมายังท้องห้วยไปตกใส่ผีเสื้อยักษ์ที่รักษาห้วย ขณะที่กำลังเจ็บป่วยเป็นฝีหนองไปไหนไม่ได้มาหลายวันแล้วนอนร้องครวญครางอยู่ เมื่อร่างของนางตกไปที่ตุ่มฝีนั้น น้ำหนองน้ำเหลืองก็แตกออกมาหายเจ็บปวดทันที
ผีเสื้อยักษ์มันก็ชอบใจยินดีว่านางผู้นี้เป็นผู้มีพระคุณแก่มัน จึงได้มอบทรัพย์สมบัติอันมีค่าแก่นางมากมาย
ต่อมานางก็ได้เป็นอัครมเหสี จนเป็นที่ริษยาของนางเทวีผู้พี่ จนเข้ามาสอบถามเรื่องราวจากน้องสาว
แล้วนางเทวีผู้พี่จึงเดินทางเข้าไปในป่าหวังจะเอาทรัพย์สมบัติบ้าง แต่เป็นด้วยนางเป็นคนไม่ดีขึ้นไปบนหน้าผาเห็นนางยักษิณีผีเสื้อห้วยนอนหลับอยู่ นางก็ยกเท้าขึ้นเหยียบผีเสื้อสะดุ้งตื่น
ผีเสื้อยักษ์จึงพูดว่า นางผู้นั้นหมิ่นประมาทกูและไม่รู้จักบุญคุณพ่อแม่ บาปกรรมอันนั้นคงมาตามทัน จึงได้จับเอานางฉีกกินเป็นอาหาร
นางยักษิณีผีเสื้อห้วยไล่จับเหล่าทหารที่มากับนางบัวแก้วกิน ต่างพากันวิ่งหนีละทิ้ง ฆ้อง กลอง เครื่องดนตรี สถานที่นั้น เรียกว่า "ห้วยละก๊อง" หรือ "ห้วยละฆ้อง" จนถึงบัดนี้
นางยักษิณีผีเสื้อห้วยยังไล่จับช้างที่นางบัวแก้วนั่งมากินเป็นอาหาร ณ สถานที่นั้นเรียกว่า "โทกหัวช้าง" จนถึงบัดนี้
นับแต่นั้นมานางศรีบัวตองก็ได้อยู่ในปราสาทราชมณเฑียรร่วมกับพระยาปรมะโฆสาด้วยความสุขความเจริญ แล้วทรงมีพระราชบุตรสองพระองค์มีนามว่า เจ้าศรีบุญเรือง และเจ้าบุญศิริราชกุมาร และได้บำเพ็ญพระราชกุศลตราบเท่าสวรรคต แล้วได้ไปบังเกิดในสรวงสวรรค์เสวยทิพยสมบัติเป็นใหญ่กว่าเทพบุตรเทพธิดาทั้งหลายสุขเกษมสำราญในวิมานชั้นฟ้านั้น ตามตำนานพระธาตุดอยม่วงคำก็มีเท่านี้
ครั้นพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว บุคคลทั้งหลายเหล่านี้ จึงได้กลับชาติมาเกิด ดังนี้
แม่สุนัข ได้มาเกิดเป็น นางปฏาจารา
นางศรีบัวตอง ได้เกิดเป็น นางพิมพา
ชายผู้เป็นเจ้าของไร่ เกิดมาเป็น พระเทวทัต
พญาช้าง เกิดมาเป็น สุปปะพุทธะ
พญางูเห่า เกิดมาเป็น นางบุตราเถรี
พญาหงส์ทอง เกิดมาเป็น อนาถบิณฑิกเศรษฐี
เจ้าศรีบุญเรือง เกิดมาเป็น พระราหุล
เจ้าบุญศรี เกิดมาเป็น นางอุบลวรรณาเถรี
พรานป่าผู้นั้น ได้เกิดมาเป็น พระอุทายีเถระ
ผีเสื้อยักษ์ ได้เกิดมาเป็น พระองคุลีมาร
พระยาปรมะโฆสา คือ พระตถาคตในกาลบัดนี้
จากนิทานโบราณคดีพื้นบ้านผาสามเส้า-เวียงนางตอง ของชาวจังหวัดลำปางก็ได้นำมาร้องเป็นทำนองพื้นเมืองมานานแล้ว ความจริงก็เป็นเรื่อง “ชาดก” อันสืบเนื่องจากการเสวยพระชาติในสมัยที่พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ ได้อาศัยอาณาเขตประเทศสยามแห่งนี้เป็นที่สร้างสมอบรมพระบรมโพธิสมภารมาหลายชาติหลายสมัย ดังตัวอย่างที่พระธาตุดอยม่วงคำแห่งนี้ ยังมีหลักฐานที่ตำนานกล่าวอ้างไว้จริงหลายแห่งเช่น ณ ผาสามเส้า ทางวัดได้สร้างรูปปั้นของนางบัวแก้ว นางบัวตอง และนางสุนัข ไว้เป็นอนุสรณ์ เพื่อเป็นที่กราบไหว้บูชา นอกจากบริเวณพระธาตุนี้ จะมีต้นมะม่วงป่า ๒ ต้นแล้ว ก็ยังมีรอยช้างหมอบ และรอยเท้าสุนัข เป็นต้น