แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
เจ้าของ: UMP
go

สวนปฏิบัติธรรมชมวิว บ.นางิ้ว อ.สังคม จ.หนองคาย สถานที่เหมาะแก่การปลีกวิเวก [คัดลอกลิงค์]

Rank: 1

"นั่งสมาธิแล้วความจำหาย บางทีพุทธโธก็หาย แต่ก็จะดึงกลับมา จะเดินนั่งนอนยืนมีแต่พุทธโธ ฟังธรรมได้ทั้งคืน จิตของลูกเป็นอะไร แก้ไขอย่างไรค่ะ" 

ขณะที่นั่ง พอหายใจเข้าพุท พอหายใจออกโธปุบ ให้ใช้สติสำรวจอาการ 32 ของตัวเอง จากปลายเท้าจรดหัว จากหัวจรดปลายเท้าว่า ยังนั่งตัวตรง ตัวเอน คอก้ม คอหักมั้ย ให้มีสติเห็นสมบูรณ์เหมือนลืมตาอยู่ทุกขณะ แล้วจะไม่มีอาการอย่างนั้น ที่มันวูบหายไปเพราะสมาธิลงลึก แล้วจิตดิ่งลงในสมาธิ สติอ่อนมันเลยวูบหายไปแว่บเดียว เหมือนตัวเองไม่มีตัวไม่มีตน 

อย่านั่งนาน ให้นั่งแค่ 10 นาที เดิน 10 นาที ไปจนครบชม. พอสติแก่กล้าขึ้น มีสติสมบูรณ์เมื่อไหร่ นั่งนานก็จะไม่เป็นอาการนั้น ทำถูกแล้ว ไม่ว่าอะไรเกิดขี้น ก็ให้มีสติรู้อยู่กับพุทกับโธ แต่อย่าลืมสำรวจตัวเองอยู่ทุกขณะ รู้ตัวเองทุกขณะ ว่าครบถ้วนบริบูรณ์อยู่ นั่งอยู่ท่าอะไร จิตก็จะไม่ลงลึก เพราะมีสติสมบูรณ์

ที่ฟังธรรมได้ทั้งคืน เพราะจิตมีศรัทธา มีความเลื่อมใสในธรรม จิตมันจดจ่อ ถ้าจิตมาอยู่กับกายก็ให้หยุดฟัง ให้ฟังจิต เอาจิตกับสติมาตั้งอยู่กับตัวเอง จิตจะไม่คล้อยไปกับเสียงธรรม ปฏิบัติให้มากแล้วจะเข้าใจสิ่งที่ฟัง ฟังแค่ 5 นาที แต่เข้าถึงและเข้าใจ ก็มีอานิสงส์มากกว่าฟังทั้งคืน


Rank: 1

"หนูจะเดินปัญญายังไงค่ะ คุณแม่ชี" 

เวลาคุณนั่งตัวก้มตัวเงย คุณมีสติรู้ตัวอยู่ตลอดมั้ย หูได้ยินเสียงคุณมีสติรู้มั้ยว่าเสียงเข้ามา พอเสียงมากระทบแล้วคุณยินดียินร้ายมั้ย คุณเกลียด คุณชัง คุณโกรธมั้ย พอใจไม่พอใจคุณมีมั้ย 

ขณะคุณกำลังนั่งสมถะ คุณลองปิดพัดลม ไปที่ธรรมชาติๆ อากาศร้อนๆคุณหงุดหงิดมั้ย คุณทำใจเป็นกลางได้มั้ย ขณะที่อากาศร้อนใจทุรนทุรายมั้ย ใจมันทนได้มั้ย ดีซะอีกให้เรามีสติรู้ตัวอยู่ตลอดเพราะมันจะไม่สงบ ไม่เงียบ ไม่เย็น อากาศมันร้อนทางกาย ใจมันจะร้อนด้วยรึเปล่า เราต้องแยกแยะตรงนี้ 

ถ้าคุณอยากเข้าสู่ปัญญา ขณะร้อนพอมีลมพัดโชยมา คุณรู้มั้ย ให้คุณรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง อารมณ์ที่มาสัมผัส หูได้ยินเสียง จมูกคุณได้กลิ่น นั่งสมาธิหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ได้กลิ่นอาหาร กลิ่นอะไรเข้ามาคุณรู้สึกมั้ย คุณรู้มั้ยตอนลิ้นสัมผัสอาหาร คุณสังเกตว่ารสอาหารมันอยู่เฉพาะลิ้น หรือกลืนลงไปในลำคอมันยังมีรสอยู่ หรือไม่มีรส คุณพิจารณานี่ ยกปัญญาขึ้นมา ว่ารู้เท่าทันสิ่งเหล่านี้มั้ย 

เวลาคุณมีอารมณ์มาสัมผัสทางหูได้ยิน ที่อารมณ์ไม่พอใจถูกตำหนิติเตียน ถูกเขาว่า ถูกเขานินทา ดูสิว่าคุณโกรธมั้ย มันมาจากไหนล่ะ ก็มาจากมันมีตัวกู เขาว่าให้เรานี่นา แล้วตัวเราอยู่ตรงไหนละ ค้นหาสิ ค้นหาสิว่าตัวอยู่ตรงไหน มีแข้งมีขามีหู มีตาแยกออกเป็นอย่างๆ แต่อย่าเพิ่งแยก ให้คุณกำหนดรู้ไป ปัญญาคุณเกิดเมื่อไหร่เดี๋ยวเขาก็จะบอกเอง ขอให้ปฏิบัติ ให้รู้เท่าทันอารมณ์ เดี๋ยวปัญญาเขาเกิด 

ตอนที่เฉย คุณดีใจในอารมณ์ที่เฉย ที่นิ่งที่เย็นมั้ย มีความรู้สึกว่าเสพอารมณ์ในใจมั้ย อารมณ์สุข มีความพอใจอยู่ลึกๆมั้ย คุณจะปล่อยวางตัวตนได้ คุณต้องรู้ว่ามันมีพิษมีภัยยังไง คุณต้องเข้ามาเรียนรู้ใจของคุณ ทุกขณะที่อารมณ์มากระทบว่าคุณเป็นยังไง


Rank: 1

"คุยกับคุณแม่ชีเกณฑ์ ผู้สร้างสวนปฏิบัติธรรมชมวิว บ.นางิ้ว อ.สังคม จ.หนองคาย"

สอบถามการปฏิบัติหรือสอบอารมณ์กับ คุณแม่ชีเกณฑ์ ได้ที่ 086-1009373 (วันทูคอล) และ 086-8540049 (ดีแทค) 11.00-16.00 น. , 19.00-22.00 น , 4.00-5.00 น.


Rank: 1

"ตกภวังค์หลับและฟุ้งซ่านมาก คิดหนอก็แล้วมันไม่หยุด ทำอย่างไรดีค่ะ"

นั่ง 5 นาทีและลุกขึ้นเดิน ถ้ายังหลับอีกหดเวลาลงมาแค่ 2 นาที หรือพอมันกำลังจะไหลลงไปก็ลุกเดินทันที เดินได้สักรอบก็ลงมานั่ง ทำไปอย่างนี้จนครบชม.

ยิ่งเดินจงกรมไปเรื่อยๆ ไม่เห็นอาการเกิดดับ เรื่องที่คิดมันก็ไม่ดับ ให้ลองเดิน-หยุดช้าๆ 6 จังหวะ จะบริกรรมออกเสียงหรือบริกรรมในใจก็ได้ ให้จิตอยู่กับการเคลื่อนของเท้า จังหวะหยุด และคำบริกรรม จิตจะทิ้งอารมณ์ที่เกาะอยู่มารับรู้คำบริกรรมและการเคลื่อนของเท้าถี่ๆ และการหยุดที่เท้า สติจะถูกกระตุ้นให้รับรู้บ่อยๆ มันก็จะหายง่วง และหายฟุ้งซ่าน

วิธีเดิน 

1. ยกส้น..(หยุด)...หนอ...(หยุด)

2. ยก...(หยุด)...หนอ...(หยุด)

3. ย่าง...(หยุด)...หนอ...(หยุด)

4. ลง...(หยุด)...หนอ...(หยุด)

5. ถูก...(หยุด)...หนอ...(หยุด)

6. เหยียบ...(หยุด)...หนอ...(หยุด)

ถ้าทำอย่างไรก็ไม่หยุดคิดและไม่หายง่วง จะเดินเร็วเหมือนวิ่งก็ได้ แต่ถ้าใจมันเซ็ง อะไรก็ทำไปแบบงั้นๆ ให้ลุกขึ้นเปลี่ยนอิริยาบถ จับไม้กวาดกวาดบ้านหรือถ้ามาวัดก็กวาดใบไม้ในวัด สักพักความคิดก็ดับ อาการง่วงก็หายไป และให้เราสำรวจตัวเอง พักผ่อนพอไหม ถ้ามันน้อยเกินก็ปรับเวลาให้เหมาะสม 

เรื่องมันคาอยู่ในใจเรามากมั้ย ตัดสินใจจัดการให้เด็ดขาดแล้วก็วาง และเตือนตัวเอง หากเราตายไปขณะนี้ จิตเราต้องไปเกาะคนนั้นนั้นแน่นอน ไปเกิดเป็นจิ้งจกตุ๊กแกในบ้านเขา ถ้าอารมณ์รุนแรงมันก็จะไปเกิดเป็นสัตว์ที่ดุร้าย สัตว์ที่มีพิษร้ายในบ้านเขาแน่นอน เตือนมันบ่อยๆให้มันกลัว มันจะได้วาง


Rank: 1

"เมื่ออารมณ์เข้าแทรกกำหนดอย่างไร"

ผู้ที่บริกรรมพุทหายใจเข้าก็จับดูพุท หายใจออกก็โธ ผู้ที่พองหายใจเข้าก็ดูอาการท้องพอง หายใจออกก็ดูอาการท้องยุบ ผู้ที่ไม่ปรากฏพองยุบเห็นแต่อาการลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ก็ดูแต่อาการและให้มีสติระลึกรู้ประคองตั้งจิตไว้ 

คำว่าประคองคือมีสติให้ต่อเนื่อง ให้เห็นว่าขณะนี้ที่เรากำลังบริกรรมพองหรือยุบ จิตของเราวิ่งออกไปหาอารมณ์อื่นมั้ย มีอารมณ์พอใจและอารมณ์ยินร้ายเข้ามาแทรกในจิตเรามั้ย ถ้าเข้ามาแทรกก็พิจารณาว่า รู้หนอๆ หรือว่ากำหนดไปตามอาการที่มันคิด ที่มันมีความรู้สึก คิดถึงอะไรก็คิดหนอๆ อย่างเดียวก็ได้ ถ้าหงุดหงิด ก็หงุดหงิดหนอๆ ทุกข์ก็ทุกข์หนอๆ มีความทุกข์มีความคับแค้นใจ นิวรณ์ 5 ชอบใจ ไม่ชอบใจ ง่วง ฟุ้ง สงสัย 6 คือนิมิต ให้กำหนดอารมณ์ที่อยู่ในใจ แล้วให้กลับมาดูพอง ดูยุบ 

พอหูได้ยินเสียงก็ได้ยินหนอๆ แต่ให้หยุดพองหยุดยุบ ให้ไปกำหนดแต่อาการที่มันแทรกเข้ามา แล้วก็กลับมาดูพองยุบ สงบก็รู้ว่าสงบ ไม่สงบก็รู้ว่าไม่สงบ รู้สึกเห็นอาการทุกอย่างในกาย เวทนาเกิดขึ้น เจ็บปวดก็รู้ มีสติรู้ว่า เออ มันเป็นธรรมดาของมัน พระพุทธองค์ท่านชี้แนวโลกุตตระ รู้อะไรละอย่างเดียว ไม่ยึด ไม่ติด ไม่เกาะ เพราะการยึดการติด เป็นภพเป็นชาติ 

ผู้ใดที่เข้าฌานเพื่อระงับจากนิวรณ์ทั้งหลายได้ง่าย มันก็ยังเป็นณานที่ไม่ใช่ทางหลุดพ้น เป็นณานโลกีย์ที่ยังยึด ยังติดอยู่ ไม่รู้เนื้อรู้ตัว ออกมาถึงรู้ ถ้าตายจะไปอยู่ในอรูปพรหม ไม่มีหู ไม่มีตา จมูกก็ไม่มี มีช่องเล็กๆ เหมือนน้ำเต้า มีรูให้ลมออกจากตรงนั้น มีแต่ความรู้สึกอย่างเดียว ตั้งอยู่เหมือนก้อนหิน ไม่กระดุกกระดิกหลายหมื่นปี ออกจากนั้นก็เวียนว่ายตายเกิดอีก 

ทำไมไม่มีแข้งไม่มีขาเพราะตอนนั่งเข้าณาน รู้สึกเหมือนตัวเองไม่มีตัวไม่มีตน มีแต่ความรู้สึกลมหายใจเข้าลมหายใจออก อะไรมาต้องกายก็ไม่รับรู้ หูได้ยินเสียงไม่รับรู้ แต่มันเป็นไปไม่ได้ เพราะเรามีกายหยาบอยู่จำเป็นต้องรู้ตัวทั่วพร้อม เราถึงจะทำลายขันธ์ได้ พระพุทธองค์ท่านไม่สรรเสริญเพราะทำให้เราไปยึด ไปเกาะไปติดอยู่ เมื่อถึงเวลามันก็จะเป็นไปเองจากสมาธิที่มีสติ และจะเป็นณานที่เป็นสัมมา มีสติครบถ้วนบริบูรณ์



Rank: 1

"ลมหายใจเข้ามีลักษณะอย่างไร"

ขณะที่เราหายใจเข้า รู้ว่าขณะนี้จิตของเราอยู่กับปัจจุบันอารมณ์มั้ย ให้รู้ว่าลมหายใจเข้ามันยาวขนาดไหน เหมือนแม่ให้บริกรรมพอง ดูสิมันสุดตรงไหน มีอาการพองอยู่ตรงไหน แล้วมันมีลักษณะอย่างใด หายใจเข้าไปให้เต็มปอด ดูว่าขณะนี้เราหายใจเข้ายาวสุดมั้ย แล้วความรู้สึกนึกคิดขณะที่หายใจเข้ามีอารมณ์เจือปนมั้ย มีความปรุงแต่ง มีความรู้สึก มีอุปาทานอะไรอยู่ในใจเรามั้ย ใจเราสอดส่ายไปหาอารมณ์ห่วงใยอะไรรึเปล่า 

ให้เราอยู่กับลมหายใจทุกขณะ ให้พิจารณาตามไป มีสติรู้ตามมากมั้ย หายใจเข้าเต็มปอดสุดอยู่ตรงไหน มีความคับแค้นอึดอัดลมหายใจมั้ย หรือมันปลอดโปร่ง มันเบาในกายมั้ย ให้มีสติรู้ตัวทั่วพร้อมอย่างนี้ แล้วดูว่าอารมณ์ที่หายใจเข้า มันมีแต่ลมหรือมันมีความรู้สึกนึกคิด มีเวทนาในใจมั้ย ความยึดถือ ห่วงสมบัติ ห่วงลูก ห่วงสามี ห่วงความที่จะไม่มี อยู่ในจิตมั้ย

ให้เรารู้เท่าทันว่า เรากำลังทุกข์ เรากำลังเกาะอยู่กับอารมณ์อันใด ให้เรารู้ขณะที่ลมหายใจเข้ายาว ลมหายใจเข้าสั้น เราก็รู้ว่ามันสั้น มันอยู่ในช่วงใด อยู่สุดท้องน้อยหรืออยู่เหนือสะดือขึ้นมา หรือแค่ลมหายใจอยู่ปลายจมูกหรือปลายหน้าอกเรา หรืออยู่แค่ช่วงคอ เมื่อมันแผ่วเบา บางคนบอกว่าเหมือนไม่หายใจเพราะจิตไม่ได้มีอารมณ์ใดๆ จิตที่ไม่เกาะเกี่ยว จิตที่เบา ลมหายใจเข้าก็เหลือน้อย เบา หายใจเข้าให้รู้ หายใจออกให้รู้ หายใจเข้ายาวก็ให้รู้ หายใจออกสั้นก็ให้รู้ รู้อาการว่ามันเบามันหนัก เรารู้อาการว่าจิตมีแต่ความว่างเปล่ากับลมหายใจมั้ย หรือมีความขุ่นมัวอยู่ในใจมั้ย

ถ้าบริกรรมก็ให้คำบริกรรมกับลมหายใจเข้าหรือออก เป็นขณะเดียวกันไปจนสุดลม ไม่ต้องไปบังคับ ทำใจให้สบาย เบาๆ เป็นหนึ่งเดียวกัน และดูว่าเราตามรู้ทุกขณะมั้ยหรือมันแว่บไปคิด มันเกิดความรู้สึกอะไรเข้าแทรกมั้ย ถ้ามันคิดไม่ยอมกลับมาให้กำหนดคิดหนอๆ หรือกำหนดไปตามความรู้สึกที่มันขึ้นมา มันง่วง ตกภวังค์ หรือไม่มีกำลังที่จะหยุดคิด ก็ให้ลุกขึ้นเดินจงกรม ถ้าเดินจงกรมก็ยังไม่หาย ให้จับไม้กวาดมากวาดใบไม้แทน ตามรู้อาการเคลื่อนไหวไป จะทำให้เราสลัดความคิดนั้นออกไปได้

คุณแม่ขอฝากคำถามทิ้งท้ายสำหรับการดูลมหายใจ หายใจเข้าก่อนที่ลมจะออกมันหยุดก่อนมั้ย พอหายใจออกไปแล้ว ก่อนที่มันจะกลับเข้ามามันหยุดก่อนมั้ย และอีกคำถาม หายใจเข้ากับหายใจออก เป็นขณะเดียวกันหรือคนละขณะ


Rank: 1

"เสียงมาหาหูหรือหูไปหาเสียง"

เมื่อเริ่มปฏิบัติกับคุณแม่ ขณะที่ใจยังทุกข์และฟุ้งซ่านมาก ท่านให้คำถามนี้เป็นการบ้าน ท่านให้เวลาให้เราดูให้ดีให้มั่นใจที่สุดก่อนจะตอบ แม้จะได้ยินเสียงมาชั่วชีวิตแต่ไม่เคยสนใจว่า มันมาหาเราหรือเราไปหามัน ท่านให้เราหาคำตอบนี้ไปทำไมหนอ ไม่เคยมีใครถามเช่นนี้ สำหรับคำตอบนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องหาด้วยตัวเองจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด

ผลจากการหาคำตอบ เพิ่งรู้ตัวว่านี่เราส่งจิตออกไปฟังเสียงข้างนอกที่ต้นกำเนิดตลอดเลย ถึงว่าสิมันจึงถูกปรุงแต่งง่ายไม่เคยทันกิเลสในใจเลย เราเข้าใจความเป็นจริง ไม่จำเป็นต้องพุ่งใจทั้งหมดออกไปฟังเสียงที่ต้นกำเนิด แค่ที่หูหรือไม่ไปไหนก็ได้ยิน 

เสียงมีมากกว่าที่เคยได้ยิน ได้ยินเสียงนี้แล้วดับ ไปได้ยินอีกเสียง เสียงนั้นดับก็มาได้ยินอีกเสียง เสียงนี้ดับก็มาได้ยินเสียงนี้อีก เราไม่สามารถเลือกฟังเสียงได้ ชอบหรือไม่ชอบก็ต้องได้ยิน ทุกเสียงเกิดแล้วดับ ไม่มีอะไรเหลือตกค้างอยู่เลย เสียงที่ไม่ชอบมันขังอยู่ในใจ เสียงคนพูดมันเกิดความคิด เสียงภาษาอังกฤษมันว่างเปล่า 

บ้านนี้เปิดเพลงเสียงผ่านเลยไป บ้านคนที่เราไม่ชอบเปิดเพลง มันขังอยู่ในใจ เพลงสากลมันก็ผ่าน เพลงเด็กวัยรุ่นเร็วๆ มันขังอยู่ในใจ ความคิดกับเสียงที่ได้ยินดังเท่ากัน เพิ่งเข้าใจว่าเราได้ยินเสียงเพราะการรับรู้ของใจ เสียงไหนไม่สนใจก็ไม่ได้ยิน คิดต่อเนื่องยาวๆ เสียงที่ได้ยินก็น้อยลง หยุดคิดก็ได้ยินมากขึ้น

เมื่อเข้าใจจึงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองเสียใหม่ คือไม่ส่งใจออกไปฟังเสียงข้างนอก มันพุ่งออกไปรับรู้ก็ดึงมันกลับมา พยายามบอกความจริงให้มันเข้าใจให้ถูกต้อง กลิ่นกับข้าวในครัว ภาพที่เห็น ลมที่พัดเย็นก็เช่นเดียวกันเกิดที่จมูก ที่ตาและผิวของเรา ไม่ใช่ในครัว ไม่ใช่ภาพที่เห็นและไม่ใช่ในอากาศ ไม่ต้องส่งใจออกไปให้เหนื่อย ทุกอย่างเกิดในบ้านของเรา ไม่ต้องวิ่งออกไปก็รู้ได้

ความจริงหนึ่งที่ประจักษ์ เสียงทุกเสียงเกิดแล้วดับทันที แล้วเสียงที่เขาว่าเมื่อนานมาแล้วทำไมยังดังอยู่ในหัวเรา เสียงมันดับไปแล้วนี่นาแล้วใครละที่ว่าเราอยู่นี่ โอ้ อนิจจา เราต่างหากละที่ว่าตัวเอง ตำหนิตัวเอง เขาไม่ผิดอะไรเลย คนที่ทำให้เราจมทุกข์อยู่นี่ไม่ใช่เขา แต่เป็นเราต่างหาก เมื่อรู้ตัวมันก็หยุดจมทุกข์ ลุกขึ้นมาปัดฝุ่นทำตัวเองเสียใหม่ สนใจชีวิตปัจจุบันมากขึ้นและก้าวเดินต่อไป

คุณแม่ท่านย้ำเสมอ จะเดิน จะนั่งหูต้องได้ยินเสียง ในชีวิตประจำวันหูก็ต้องได้ยินเสียงอยู่ตลอด ใช่ถ้าเราทิ้งความคิดหูก็จะได้ยินเสียง ไม่จมกับความคิดนานเกินไป เป็นการกระตุ้นให้มีสติอยู่กับตัวตลอด จุดเล็กๆ นี้เอง เสียงมาหาหูหรือหูไปหาเสียง หากเข้าใจอย่างถ่องแท้ นี่คือจุดที่ทำให้เกิดปัญญาต่อยอดขึ้นไปอีก เราจะเข้าใจการปฏิบัติธรรมได้ง่ายและละเอียดละออ 

ภาพจาก http://www.oknation.net/blog/hom ... FallVilMediSTxt.jpg


Rank: 1

"การเดินจงกรม 6 จังหวะ สำหรับผู้ที่ทุกข์ใจและฟุ้งมาก"

1. ยกส้น...(หยุด)...หนอ...(หยุด)
2. ยก...(หยุด)....หนอ...(หยุด)
3. ย่าง...(หยุด)...หนอ...(หยุด)
4.ลง...(หยุด)...หนอ...(หยุด)
5. ถูก...(หยุด)....หนอ...(หยุด)
6. เหยียบ...(หยุด)....หนอ...(หยุด)

นอกจากจะรับรู้ที่เท้า ปาก ใจ หูก็ยังคงได้ยินเสียง บางทีมันก็รู้ลมหายใจ ตาก็เห็นสัตว์ที่เดินบนพื้นดิน รู้อากาศร้อนเย็น จิตแว่บออกไปคิดก็รู้

ออกเสียงดังทุกจังหวะและคำว่าหนอ ให้การรับรู้ของเท้า ปากและใจตรงกัน หากความคิดเข้าแทรกหยุดค้างไว้ทันที ความคิดดับจึงไปต่อ หากมันไม่ยอมดับก็ค้างไว้เลย เมื่อขาเริ่มเกร็งมันจะทิ้งความคิดมารับรู้อาการที่ขา การเดินจงกรมเช่นนี้ เป็นวิธีที่ขัดใจมากสำหรับผู้ที่ใจร้อน อารมณ์รุนแรง มันจะดิ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน 

ขณะที่หยุดค้างไว้ ให้เราดูใจที่มันดิ้น มันหยุดดิ้นเมื่อไหร่จึงจะไปต่อ อดทนฝืนจิตไม่ทำตามที่มันสั่งให้ได้ 1-2 อาทิตย์มันก็จะหยุดดิ้น ยกเว้นคนที่ไม่สม่ำเสมอและไม่เอาจริง เมื่อมันหยุดดิ้นความสงบเย็นจะเกิดขึ้น 4 วันแรกจะปวดเมื่อยไปทั้งตัว เริ่มแรกตัวจะเอียงซ้ายเอียงขวาให้ทำความรู้สึกไปตามอาการเอียง ถ้ามันคิดติดกันเป็นลูกโซ่ ให้กำหนด คิดหนอๆเอาจนมันหยุด 

วิธีนี้เป็นวิธีหักดิบ ผู้ที่ความอดทนน้อยมักจะถอยไปเสียก่อน สิ่งที่จำเป็นมากคือความต่อเนื่อง อย่างน้อยวันละ 1 ชม. เป็นเวลา 2 อาทิตย์จึงจะเริ่มเห็นผลชัดเจน หลังการปฏิบัติทุกครั้ง คุณแม่ท่านให้แผ่เมตตาเจาะจงให้เจ้ากรรมนายเวรเราก่อน เมื่อจิตใจเราเข้มแข็งขึ้นจึงจะแบ่งปันให้ผู้อื่นได้ และหมั่นตักบาตรให้เขาด้วย 

เรื่องใดที่ขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำอีก ให้พิจารณาไตร่ตรอง ทำไมใจเรายังคิดเรื่องนี้ ยังคาใจตรงไหน ตัดสินใจเด็ดขาดกับมันว่าจะทำยังไงแล้วก็วางมัน และคอยเตือนตัวเองหากตายขณะนี้ ต้องไปเกิดเป็นจิ้งจกตุ๊กแกเฝ้าอยู่บ้านเขาแน่นอน การรับรู้หลายจุดถี่ๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดสติและให้สติเร็วขึ้น 

เมื่อมีสติ ก็จะเกิดสมาธิ และปัญญาในการแก้ไขปัญหาก็จะตามมา ส่วนการหยุดนั้น เพื่อให้เห็นการเกิดดับของการรับรู้และความคิด ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกิดแล้วดับในทันที เมื่อเข้าใจในความเป็นจริง มันก็จะค่อยๆ ยอมรับว่าทุกสิ่งมันจบไปแล้ว และเลิกที่จะไปขุดคุ้ยขึ้นมาอีก เมื่อถึงเวลาที่จิตเขาก้าวเดินเองได้ คำบริกรรมก็จะค่อยๆ เลือนหายไป 

ภาพจาก....http://topicstock.pantip.com/cha ... 4907/A12094907.html


Rank: 1

"จิตตกภวังค์"

ผู้ปฏิบัติธรรม : แม่ชีค่ะ ช่วงหลังเวลานั่งสงบหรือไม่สงบก็ปล่อยมันไป ถ้ามันไม่สงบคิดตลอดก็ให้มันคิดไป มองไปเรื่อยๆ ก็รู้ว่ากำลังคิด สักพักมันก็สงบไปเอง ที่สงสัยคือเราเห็นมันตลอดอยู่ดีๆ มันหายไป เราตกภวังค์ไปรึเปล่า

คุณแม่ชีเกณฑ์ : คุณโยมมีสติรู้มันไป รู้ไปรู้มา ไม่ปรุงแต่งมันก็เลยหยุด เพราะจิตคุณโยมเป็นหนึ่ง มันก็เลยสลายไป ถ้าปรุงแต่งมันไม่มีคำว่าหยุด คำว่าตกภวังค์จะอยู่ในลักษณะนี้ นั่งอยู่อาการโงกอ่อนเอนจะไม่รู้ตัวเลย นั่งอยู่ก็ไม่รู้ว่าตัวเองนั่ง หายไปเหมือนอยู่บนอากาศ เขาเรียกว่าจิตตกภวังค์ นิ่งไม่รู้จักตัวเอง คิดก็ไม่รู้ว่าคิด 

เวลาไปประสบกับอารมณ์ข้างนอก มันโกรธรู้ใช่มั้ย ถึงมันไม่ดับไปชั่วขณะ ก็ตามมันไป ไม่ต้องนั่งสมาธิมันก็หายไปเองเพราะไม่ไปปรุงแต่ง มันก็สลายไปแต่ช้า ไม่เหมือนดับด้วยปัญญาที่ดับได้อย่างฉับพลัน คุณโยมนั่งหูได้ยินเสียงมั้ย 

ผู้ปฏิบัติธรรม : แรกๆก็ได้ยิน ต่อไปก็ไม่ได้ยิน
คุณแม่ชีเกณฑ์ : เขาเรียกว่าจิตมันนิ่ง เข้าสู่ภวังค์แต่ภวังค์ยังไม่ลึก ภวังค์ที่มีความรู้ตัวอยู่ ถ้าใครเข้าภวังค์ไม่รู้อะไรเลย ตัวเอนก็ไม่รู้อันนั้นลำบาก มันมีแต่สมาธิ ไม่มีสติควบคุมกาย ต้องเจริญทั้งสติ สมาธิ ปัญญาให้เท่ากันมันจะสมบูรณ์ เพิ่มสติ เพิ่มปัญญาเข้าไปให้มันดับได้ทัน มันไม่ทันก็รู้เท่าทันอย่าหลบมัน อย่านั่งนาน นั่ง 5-10 นาทีแล้วก็เดิน 5-10 นาที สลับไปมากระตุ้นให้มันรู้ตัวตลอด 

พอเริ่มไม่ได้ยินเสียง ไม่รู้ตัว ลุกทันทีอย่าให้ติดเป็นนิสัย พอนั่งใช้จิตสำรวจกายตั้งแต่หัวจรดเท้า ตั้งแต่เท้าจรดหัวเป็นระยะ นั่งหลังงอมั้ยยืดขึ้นมาให้ตรง หูได้ยินเสียงมั้ย ร้อนหรือเย็น ใจมันคิดมั้ย ลมเข้าลมออกรู้ตลอดมั้ย พอมันกำลังจะจมแช่ลุกทันที ดีขึ้นแล้วก็ค่อยๆเพิ่มเวลา แล้วตอนนั้นจะเป็นสัมมาทิฏฐิ รู้หมด รู้ได้เต็มเปี่ยม ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ เป็นกลางๆ เกิดขึ้นมันก็รู้แต่ไม่ไปยึดไปติด จนมันจางคลายเราก็รู้


Rank: 1


‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2025-1-21 17:23 , Processed in 0.053901 second(s), 13 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.