รอยพระพุทธบาทผาผึ้ง ประดิษฐานภายในมณฑปครอบรอยพระพุทธบาท วัดพระพุทธบาทผาผึ้ง
รอยพระพุทธบาทผาผึ้ง วัดพระพุทธบาทผาผึ้ง
เป็นรอยพระพุทธบาทเกือกแก้วเบื้องซ้าย ไม่ปรากฏรอยนิ้ว ของพระโคตมสัมมาสัมพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๔ หรือองค์ปัจจุบัน) ในภัทรกัป ทรงเหยียบประทับไว้บนดอยผาผึ้ง ซึ่งเป็นหินแคลไซต์ ส้นพระบาทและขอบรอยฝ่าพระบาทที่เหยียบลงไปมองเห็นได้ชัดเจน
ค้นพบโดย เด็กชายชื่น ต๊ะสกุล เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๗ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๗ นายชื่น ต๊ะสกุล ได้นิมนต์ พระครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนา (วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อ.ลี้ จ.ลำพูน) มาเป็นประธานในการสร้างวัด
ที่เห็นเป็นรอยกลางพระบาทนั้น พระเจ้าอโศกมหาราชเจาะเอาของบูชาเข้าใส่ไว้ เข้าใจว่าจะถูกหัวขโมยมาเจาะเอาไปภายหลัง นอกจากพระพุทธบาทผาผึ้งที่ประดิษฐานในมณฑปครอบรอยพระพุทธบาทแล้ว พระอธิการสีมา นริสฺสโร เจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทผาผึ้ง ท่านได้เมตตาเล่าให้ฟังว่า
"วัดพระพุทธบาทผาผึ้ง ยังมีรอยพระพุทธบาทอีก ๒ รอย และรอยพระบาทพระอรหันต์อีก ๑ รอย ประดิษฐานอยู่บนดอยผาผึ้ง คือ ด้านทิศเหนือ มีรอยพระพุทธบาท ๑ รอย ด้านทิศตะวันออก มีรอยพระพุทธบาท ๑ รอย และด้านทิศตะวันตก มีรอยพระบาทพระอรหันต์ ๑ รอย"
ตำนานพระพุทธบาทผาผึ้ง
จากหนังสือพุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับชำระสะสาง กัณฑ์ที่ ๕ หน้า ๘๒-๘๔ กล่าวไว้ว่า
นโม ตสฺสตฺถุ ฯ ดูรา สัปปุรุษทั้งหลาย สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสพยากรณ์พระบาทบ้านสวนเยลลวงบ้านจบแล้ว ก็เสด็จไปถึงดอยผาแห่งหนึ่ง พวกทมิฬทั้งหลายมีหลายบ้านหลายที่ก็ป่าวประกาศกันมาทำบุญ
เขาก็พูดกันว่า “ตูทั้งหลายไปดักข่ายนกทิ้งไว้กลางกิ่วโน้น นกแก้วมาถูกตาข่ายพาเอาข่ายบินไปหมด เหลือแต่ความว่างเปล่า” บ้านหนึ่งก็พูดว่า “ดอยหินดอยผาอันเป็นเงื้อมอยู่ข้างหน้านั้น เป็นบ้านเราทั้งหลาย”
ลัวะที่มาจากบ้านหนึ่งก็พูดว่า “ตูอยู่บ้านโน้นมองดูท้องฟ้า เห็นพระพุทธเจ้าเสด็จเหาะผ่านมา มีรัศมีรุ่งเรือง จนมาถึงดอยแห่งนี้ เราทั้งหลายเห็นแล้ว ก็ชวนกันติดตามมาทำบุญ”
ลัวะบ้านหนึ่งไม่ทราบว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมา เขาพากันไปบอก ก็เลยรีบมาแต่ตัวเปล่า ถูกถามว่า “สูมีอะไรมาทำบุญ” พวกเขาจึงพูดว่า “เราทั้งหลายรีบมา กระทั่งย่ามใส่ยาสูบก็ลืมเอามาด้วย เลยไม่ได้มีอะไรมาทำบุญ”
ลัวะบ้านหนึ่งเขาใช้ให้ไปบอก เมื่อมาถึงก็พูดกันว่า “เราทั้งหลายอยู่บ้านพูดกันว่า คนอยู่บ้านร่องห้วยที่ต่ำ คงไม่รู้ไม่เห็นอะไรหนอ ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายไม่ไปบอกให้รู้ ก็คงไม่ได้มา เมื่อมาแล้วจึงรู้ว่า พระพุทธเจ้าเสด็จมาจริง เราคอยรู้คอยอภิวาทกราบไหว้ คอยทำบุญมานานแล้ว”
ลัวะอีกคนหนึ่งอยู่บ้านแห่งหนึ่งกล่าว เราอยู่บ้านก็รู้ว่าสัพพัญญูพระพุทธเจ้าไม่เสด็จไปเมตตาทางท้องดอยผาฝ่ายใต้ ใช่ว่าทางดอยผาฝ่ายเหนือก็ไม่รู้ไม่เห็นเหมือนกัน จึงไม่เห็นมา สหายฝ่ายทางนี้ไปบอกจึงทราบ แล้วจึงพากันมาเดี๋ยวนี้แหละ”
ลัวะอีกบ้านหนึ่งมาถึงแล้วก็พูดกันว่า “สหายเอ๋ย พวกตูรู้ข่าวว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมา ใคร่รู้ใคร่เห็นใคร่นมัสการบูชาแท้ พอได้ยินเสียงฆ้องดังโมงๆ ตูข้าทั้งหลายก็เดินลัดตัดทางมาที่เดิม ได้มาพบมาเห็นและได้อภิวาทกราบไหว้แท้”
ลัวะอีกบ้านหนึ่งมาถึงแล้วก็พูดว่า “สหายเอ๋ย ตูข้าทั้งหลายอยู่ที่บ้าน มองเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จมาทางอากาศ เห็นหยุดลงที่ผาดอยที่นี้ ตูข้าทั้งหลายจึงติดตามขึ้นมาทำบุญ”
ลัวะอีกบ้านหนึ่งมาถึงแล้วก็พูดว่า “สหายเอ๋ย ตูอยู่บ้านม่อนดอยที่ต่ำมองไม่เห็นพระพุทธเจ้าเสด็จมาเมตตา พอดีพวกสูสหายทั้งหลายไปบอกจึงทราบ แล้วจึงพากันเดินลัดดอยลัดป่ามาถึงที่นี้ จึงได้อภิวาทกราบไหว้และได้ทำบุญ”
ลัวะอีกบ้านหนึ่งมาถึงแล้วก็พูดว่า “สหายเอ๋ย ตูทั้งหลายไม่ทราบว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาเมตตา คนทั้งหลายทางบ้านก็ไปไร่ไปสวน สหายทางนี้ไปบอกจึงทราบ พากันมาจากบ้านไร่เรือนไร่โน้น มาไหว้มาทานพระพุทธเจ้า”
ทมิฬทั้งหลายเขาก็พร้อมกันแต่งข้าวน้ำโภชนาหาร ทูลถวายแก่พระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงรับ แล้วพวกเขาก็กราบทูลขอรอยพระบาท ก็ทรงพระเมตตาเหยียบรอยพระบาทไว้หนึ่งรอย เพื่อไว้สักการบูชาแก่คนและเทวดาทั้งหลาย
แล้วก็ทรงพยากรณ์ว่า “ดูราอานนท์ ต่อไปภายหน้าบ้านนี้จะได้ชื่อว่า “บ้านท้อง” เพราะคำพูดของพวกเขาว่า “ตูข้าอยู่บ้านท้อง” นั้นแหละ ลัวะอีกบ้านหนึ่งจะได้ชื่อว่า “บ้านผ่อ” เพราะคำพูดของเขาว่า “ข้าทั้งหลายอยู่บ้านผ่อหัน (มองเห็น) พระพุทธเจ้า”
อีกบ้านหนึ่งจะได้ชื่อว่า “บ้านแผว” เพราะคำพูดของเขาว่า “ข้าทั้งหลายเห็นพระเจ้ามาแผว (มาถึง) จึงติดตามมาทำบุญ” อีกบ้านหนึ่งจะได้ชื่อว่า “บ้านยัวะ” เพราะคำพูดของเขาว่า “ข้าทั้งหลายเห็นพระเจ้ามาทางอากาศสะยัวะ (คือรัศมีที่แผ่ออก)”
อีกบ้านหนึ่งจะได้ชื่อว่า “บ้านจำห้วย” เพราะคำพูดของเขาว่า “ข้าทั้งหลายบ้านห้วยบ้านต่ำมองไม่เห็นพระพุทธเจ้าเสด็จมา” อีกบ้านหนึ่งจะได้ชื่อว่า “บ้านจำคอง” เพราะคำพูดของเขาว่า “ข้าทั้งหลายอยู่บ้านคองหา (คอยหา) พระพุทธเจ้ามาโปรดเมตตา”
ลัวะอีกบ้านหนึ่งจะได้ชื่อว่า “บ้านขอน” เพราะคำพูดของเขาว่า “ข้าทั้งหลายมัวเมาทำมาหากินเลี้ยงร่างกายอยู่เลยมองไม่เห็นพระพุทธเจ้า” ลัวะอีกบ้านหนึ่งจะได้ชื่อว่า “บ้านเสียถุง” เพราะคำพูดของเขาว่า “ข้าทั้งหลายรีบมาจนถุงยาสูบหายและลืมเสีย”
บ้านลัวะอีกบ้านหนึ่งจะได้ชื่อว่า “บ้านซ่าง” เพราะคำพูดของเขาว่า “นกแก้วถูกตาข่ายเอาตาข่ายหายไปทิ้งแต่ของซางไว้” ต่อไปภายหน้าจะแปรเปลี่ยนเป็น “บ้านซวางเสียหาย”
ลัวะอีกบ้านหนึ่งจะได้ชื่อว่า “บ้านโมง” เพราะคำพูดของเขาว่า “ข้าทั้งหลายได้ยินเสียงฆ้องดังโมงๆ จึงได้รีบเดินลัดตัดทางมา ลัวะอีกบ้านหนึ่งจะได้ชื่อว่า “บ้านม่วงย่าง” เพราะคำพูดของเขาว่า “พระเจ้าย่าง (เดินมาทางอากาศ)”
ลัวะอีกบ้านหนึ่งจะได้ชื่อว่า “บ้านไร่” เพราะคำพูดของเขาว่า “คนทั้งบ้านไปแปลงไร่ (ทำไร่) มาจากบ้านไร่เรือนไร่” ลัวะอีกบ้านหนึ่งจะได้ชื่อว่า “บ้านแง้ม” เพราะคำพูดของพวกเขาว่า “ตั้งแต่ดอยผาอันเป็นเงื้อม (เป็นเงื้อมแต่เล็กกว่าเงื้อม) นั้นไปข้างหน้า เป็นเขตแดนบ้านแห่งตูข้า”
ลัวะอีกบ้านหนึ่งจะได้ชื่อว่า “บ้านผาใต้” อีกบ้านหนึ่งจะได้ชื่อว่า “บ้านผาเหนือ” เพราะเขาพูดกันว่า “ดอยผาใต้หรือว่าดอยผาเหนือ” พระบาทนี้จะได้ชื่อว่า “พระบาทผาน้อย” (มีพระบาทผาผึ้ง บ้านผาใต้ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน) (ปัจจุบันนี้เรียกว่า "รอยพระพุทธบาทผาผึ้ง" อยู่ที่วัดพระพุทธบาทผาผึ้ง บ้านผาต้าย หมู่ที่ ๑ ตำบลแม่ลาน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน)
พระพุทธองค์จึงมีพุทธบัญญัติให้พระอานนท์อยู่แสดงพระธรรมเทศนาสั่งสอนพวกลัวะทั้งหลายอยู่ที่นั้น ส่วนสมเด็จพระสุคตเจ้าก็เสด็จไปตามหลังเขา แล้วเสด็จข้ามไปทางทิศใต้ลงไปถึงแม่น้ำใหญ่แม่หนึ่ง
ในกาลครั้งนั้น พระมหาอานนท์เถรเจ้า ก็แสดงพระธรรมเทศนาแก่ลัวะทั้งหลาย เมื่อแสดงธรรมจบแล้วนั้น จึงพาพระอรหันต์ พระอินทร์ และพระเจ้าอโศก ติดตามพระพุทธเจ้าไป
----------------------
(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : นาคฤทธิ์ รวบรวมชำระสะสาง (๒๕๔๐-๒๕๔๕). (๒๕๔๕, ตุลาคม). พุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับชำระสะสาง (พิมพ์ครั้งที่ ๑). เชียงใหม่ : ลานนาการพิมพ์, หน้า ๘๒-๘๔.)
ประวัติวัดพระพุทธบาทผาผึ้ง
วัดพระพุทธบาทผาผึ้ง ตั้งอยู่ที่บ้านผาต้าย หมู่ที่ ๑ ตำบลแม่ลาน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๑๗ ไร่ ๓ งาน ๓๗ ตารางวา
อาณาเขต ทิศเหนือประมาณ ๓ เส้น ๑๑ วา จดภูเขาผาผึ้ง ทิศใต้ประมาณ ๓ เส้น ๑๑ วา จดลำห้วยผาผึ้ง ทิศตะวันออกประมาณ ๕ เส้น ๑๗ วา จดภูเขาผาผึ้ง ทิศตะวันตกประมาณ ๑๕ เส้น ๑๗ วา จดที่ดินเอกชน
อาคารเสนาสนะประกอบด้วย วิหาร ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ และศาลาอเนกประสงค์ ปูชนียวัตถุมี พระพุทธรูปต่างๆ รอยพระพุทธบาท และรอยพระบาทตั้งอยู่บนดอยผาผึ้ง
วัดพระพุทธบาทผาผึ้ง สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒ ตามประวัติวัดแจ้งว่า วัดพระพุทธบาทผาผึ้งได้ชื่อตามรอยพระพุทธบาทผาผึ้ง ซึ่งได้ค้นพบเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๗ โดยเด็กชายชื่น ต๊ะสกุล ได้พบเข้าโดยบังเอิญ จึงได้นำเรื่องไปบอกต่อนายธนันชัย ต๊ะสกุล ผู้เป็นพ่อ ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน และได้นำลูกบ้านไปสักการบูชาทุกวันสำคัญทางศาสนา
ต่อมาได้นิมนต์พระครูบาถาและพระสุพรรณ มาจำพรรษาตามลำดับ โดยพระสุพรรณ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทผาผึ้ง รูปที่ ๑ (ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๐-๒๔๘๕) เมื่อพระทั้ง ๒ รูป ได้มรณภาพลง จึงได้มีสภาพเป็นวัดร้าง
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๗ นายชื่น ต๊ะสกุล ได้นิมนต์พระครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนา (วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อ.ลี้ จ.ลำพูน) มาเป็นประธานในการบูรณะสร้างและตั้งวัด
และได้มีงานประเพณีสรงน้ำพระพุทธบาทผาผึ้ง ทุกแรม ๘ ค่ำ เดือน ๙ เหนือ (ตรงกับเดือน ๗ ปีไทย) เป็นประจำทุกปี
----------------------
(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : หนังสือประวัติวัดพระพุทธบาทผาผึ้ง หน้า ๘๖๑. และเว็บแดนนิพพาน ดอทคอม เรียบเรียงใหม่ (๒๕๖๖, เมษายน) ได้รับความอนุเคราะห์หนังสือจาก พระอธิการสีมา นริสฺสโร เจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทผาผึ้ง)
รายนามลำดับเจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทผาผึ้ง เท่าที่ทราบนามมีดังนี้
๑. รูปที่ ๑ พระสุพรรณ พ.ศ.๒๔๘๐-๒๔๘๕
๒. รูปที่ ๒ ครูบาอิ่นแก้ว กาวิโร พ.ศ.๒๕๒๙
๓. รูปที่ ๓ พระอธิการสีมา นริสฺสโร เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน (รับตำแหน่งปี พ.ศ.๒๕๕๖)
(บันทึกข้อมูลเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๗)
คำนมัสการพระพุทธบาท
(ว่านะโม ๓ จบ) ยัง ตัตถะ โยนะกะปุเร มุนิโน จะปาทัง ตัง ปาทะ วะลัญชะนะ มะหัง สิระสา นะมามิฯ