ตำนานพระธาตุดวงเดียว (กลางเวียง)
พุทธตำนานเมืองก่อนเก่าพระเจ้าเลียบโลก
ณ สถานที่บ้านเมืองโบราณเก่าก่อน เป็นบ้านเมืองสมัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยเมตตาเสด็จมาโปรดเวไนยสัตว์ บ้านน้อยเมืองใหญ่เป็นอาณาจักรที่ใหญ่เก่าก่อน มีอาณาจักรโกสัมพี (แสนหวี) หริภุญชัย เมืองลับแลลี้ (เมืองลี้) เมืองแพรหลวง (จีนฮ่อ) สุวรรณภูมิ ทวารวดี เดิมทีชนพื้นที่นี้เป็นเผ่าลัวะ หรือละว้า เผ่าลื้อ เผ่าชีมาน เผ่าอาฬวี เผ่าทมิฬ เผ่าฮ่อ และหลายๆ เผ่าอยู่ด้วยกันเป็นเมืองๆ ไป
ความเกี่ยวข้องจากตำนานพระเจ้าเลียบโลกและเมืองลี้
จากตำนานพระเจ้าเลียบโลกกล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าพร้อมพระอรหันต์ ๕๐๐ รูป เหาะมาถึงชนบทแห่งหนึ่ง มีชื่อว่า เมืองลี หรือ ลี้ อันตั้งอยู่ทางทิศใต้แห่งเมืองหริภุญชัย มีพญานาคตนหนึ่งออกมาอภิวาทกราบไหว้พระพุทธเจ้า และขอเกศาธาตุและรอยพระบาทไว้ เพื่อเป็นที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้า พอพระพุทธองค์เสด็จมาลี้ก็เสด็จไปหริภุญชัยต่อ
และจากตำนานวัดพระธาตุดวงเดียวกล่าวไว้ว่า จุลศักราช ๕๑๙ บริเวณตรงพระธาตุดอยกลางเวียงหรือพระธาตุดวงเดียว เมื่อก่อนเป็นเมืองลับแล ลับลี้ กลางดอยป่าไผ่ ก่อนสมัยหริภุญชัย มีพญานาคตนหนึ่งปกปักรักษากองดินหรือจอมปลวกไว้ จนพญาช้างมงคลของเจ้าแม่จามรี โดยเทพดลใจนำขึ้นมาพบที่จะสร้างเมือง จึงกำเนิดเมืองลี้ หรือเมืองลับลี้ เมืองแรกในถิ่นนี้ ต่อมาจึงมีชื่อว่า เมืองลี้ จนถึงปัจจุบัน
แล้วพญาช้างก็เดินมาถึงบริเวณที่มีเนินดินสูงหรือจอมปลวกใหญ่ ข้างบนมีหินก้อนสีขาวคล้ายไข่นกยูงอยู่บนนั้น และมีพญานาคเฝ้าอยู่หนึ่งตัว พญาช้างก็ร้องเสียงดังกึกก้องและเดินวนรอบจอมปลวกสามรอบ และได้เอางวงหักกิ่งไม้ที่มีดอกพัดวีคล้ายทำความสะอาดจอมปลวก และเอางวงยกขึ้นลงทำความเคารพ
คำว่า ลับลี้ อาจมีเกศาธาตุหรือรอยพระบาทของพระพุทธเจ้าซ่อนลึกอยู่ใต้กองดินหรือจอมปลวกใหญ่นี้ (พระธาตุดวงเดียวในปัจจุบัน)
----------------------
(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : พระอธิการปิยวัฒน์ ฐิตสีโล (บุญยืน). ประวัติวัดพระธาตุดวงเดียว (กลางเวียง). เข้าถึงได้จาก : http://www.geocities.com/duangdaew/prayeablok.htm. (วันที่ค้นข้อมูล : ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๖) และจิตรกรรมฝาผนังภาพประวัติวัดพระธาตุดวงเดียวภายในศาลาบาตร วัดพระธาตุดวงเดียว)
ประวัติวัดพระธาตุดวงเดียว (กลางเวียง)
เรียบเรียงโดย พระครูสถิตปิยวัฒน์ (ปิยวัฒน์ ฐิตสีโล)
เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดวงเดียว
หลังพุทธกาล บ้านเมืองแคว้นเขตโกสัมพีเป็นเมืองใหญ่ เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ลุมาจนถึงปีพุทธศักราช ๕๐๐ ถึง ๗๐๐ ปี เจ้าเมืองวิเทหะมีอำนาจมาก ได้คุกคามบ้านเล็กเมืองน้อยแผ่ขยายอาณาเขตมาถึงเมืองโยนก ซึ่งเป็นเผ่าไท สมัยนั้นชาวเมืองโยนกในเขตแถบนั้นถูกกดขี่ข่มเหงทำทารุณกรรมให้เป็นทาส
ชาวเมืองโยนกผู้รักอิสระจึงย้ายมาตั้งอยู่สิบสองปันนาอีกก๊กหนึ่ง ต่อมามีกำลังมากก็ตั้งเมืองหลวงพระบาง สมัยนั้นชาวโยนกมีเจ้าคำภีระเป็นผู้นำ และเมืองก็อยู่ใกล้เขตของขอม ขอมมีอำนาจมาก ได้เรียกเก็บส่วยจากชาวบ้านชาวเมืองโยนก เจ้าคำภีระและชาวเมืองยอมอดทนมาตลอด ต่อมาคนไทเมืองหลวงพระบางมีกำลังขึ้น ได้สู้รบกับขอม ขอมได้พ่ายแพ้และถอยอพยพหนีไปทางทิศใต้ ต่อจากนั้นเมืองหลวงพระบางก็เจริญรุ่งเรืองอยู่นาน
ส่วนตอนบนของเมืองเป็นเผ่าจีนฮ่อ ได้รู้ว่าเมืองหลวงพระบางนี้เจริญรุ่งเรือง จึงได้ยกกำลังมาประชิดเมืองเข้าตีทางด้านหน้าของเมือง ชาวโยนกอยู่สงบมานาน กลัวสู้ไม่ไหว เพราะกำลังของจีนฮ่อมีมากและโหดเหี้ยมที่สุด
เจ้าเมืองมีลูกสาวชื่อ “จามรีนารี” มีรูปร่างหน้าตาสะสวยสูงโปร่ง ชอบทรงม้าเป็นพาหนะ พอพวกจีนฮ่อมาตีเมือง เจ้าเมืองจึงให้พระธิดาจามรีพาบริวารรีบขนของอันมีค่าเป็นทองคำให้หนีออกไปจากเมือง และมีทหารคอยอารักขาออกมาจากอุโมงค์ของเมือง ในที่สุดเมืองก็แตกและเจ้าเมืองก็เสียชีวิต ซึ่งเป็นบิดาของธิดาจามรี บริวารอันเป็นชาวเมืองข้างนอกขอติดตามไปกับเจ้านางจามรี และองค์หญิงจามรีก็พาบริวารหนีมาได้อย่างปลอดภัย คราวนั้นมีทหารที่สนิทติดตามอยู่หลายนาย มีเจ้าพันมหาดที่ปรากฏชื่ออยู่คนหนึ่ง
องค์หญิงจามรีได้พาบริวารชายหญิงผ่านมาทางเชียงรุ้ง เชียงตุง เชียงแสน เมืองจำปี หรือเมืองฝางในปัจจุบัน และที่เมืองจำปีนี้จึงได้ช้างพลายสุวรรณเชือกหนึ่ง ซึ่งเป็นช้างคู่บุญของพระนางจามรี และเจ้าพันมหาดทหารคนสนิทได้เป็นหัตถาจารย์ (ควาญช้าง) จากนั้นก็นำขบวนหนีจากเมืองจำปี ตอนนั้นพระนางตั้งสัจจะอธิษฐานว่าจะไปทางทิศไหนดี ให้ช้างมงคลนี้นำทางไปตลอด จนลุมาถึงแคว้นเชียงดาว พระนางจามรีก็เลยแต่งตั้งให้เจ้าพันมหาดเป็นบุตรบุญธรรมและที่ตรงนั้นจึงเป็นหมู่บ้านชื่อว่า บ้านแม่น๊ะ จนถึงทุกวันนี้
จากนั้นก็อพยพมาเรื่อยๆ พอมาถึงดอย (ภูเขา) อันอยู่ใกล้ฝั่งน้ำแม่ระมิงค์ หรือแม่น้ำปิงในปัจจุบัน ช้างได้ไหลลื่น จึงได้ชื่อว่า ดอยหล่อ อันเป็นอำเภอดอยหล่อในปัจจุบัน ช้างได้ลงสู่แม่น้ำเพื่อจะข้ามฟากไปสู่ฝั่งหน้า พอข้ามแม่น้ำปิงพ้นแล้ว ช้างและคนก็เดินลัดเลาะป่าดงพงไพรมาตามฝั่งแม่น้ำลี้โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ลัดเลาะรอบตรงนั้น จึงได้ชื่อว่า แม่ลอบ ไปตามเชิงเขาแล้วมุ่งตรงข้ามภูเขาดอยยาวทางทิศใต้ ผู้หญิงที่อ่อนแอเหลือกำลังติดตามต่างก็เหน็ดเหนื่อย บางนางก็หายใจยาว เปล่งเสียงออกมา ฮุ่ย ฮุ่ย หุย หุย ดอยลูกนั้นจึงเรียกว่า ดอยหุย ปัจจุบันเพี้ยนเป็น ดอยอีหุย
การอพยพมาลำบากยิ่งนักและระยะทางไกลแสนไกล เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ ชำรุดเสียหาย เครื่องทรงช้างสัมภาระที่เจ้านางจามรีประทับก็หละหลวม จึงได้หยุดซ่อมแซม และเรียกที่นั่นว่า แม่แซม (ปัจจุบันเรียกว่า แม่แสม) พอซ่อมแซมเสร็จแล้ว ท้าวพันมหาดก็ไล่ช้างเดินต่อไป จนกระทั่งถึงที่แห่งหนึ่ง จะปลดปลงเครื่องทรงช้างอีกที เพราะเดินทางมาไกลโขแล้ว จึงกดหัวช้างลง แต่ช้างไม่ยอมคู้เข่าลง เพียงแต่หยุดยืนเท่านั้น ที่นั้นจึงมีชื่อเรียกว่า ทุ่งหัวช้าง จนถึงปัจจุบัน
จากนั้นก็มาเรื่อยๆ ช้างได้หยุด เจ้าราชบุตรก็ปลดปลงเครื่องสัมภาระต่างๆ พักแรมตรงนั้น เนื่องด้วยเจ้าพันมหาดเป็นคนชอบล่าสัตว์เป็นนิสัยมาก่อน พักตรงไหนล่าสัตว์ตรงนั้น ตื่นเช้ามาต้องล่าสัตว์ ถึงคราวเคราะห์กรรมตามทัน ได้ถูกงูเห่าพิษกัดอยู่ในป่าคนเดียว เมื่อถึงเวลาอาหารเช้า พระนางจามรีได้ถามหาบุตรบุญธรรมเพื่อให้มากินข้าวเช้า เพราะเลยเวลามาก็นานจึงแปลกใจ ให้บริวารไปตามก็พบร่างของท้าวพันมหาด จึงได้ช่วยกันพากลับมายังที่พัก รักษาอย่างไรก็ไม่มีท่าทีว่าอาการจะดีขึ้น ในที่สุดก็สิ้นใจตายไปตรงนั้น
ฝ่ายพระนางจามรี เมื่อท้าวพันมหาดถึงแก่พิราลัย ก็ไม่ทราบว่าจะไปทางไหนดี ก็ได้ตกแต่งเครื่องครัวต่างๆ เอาพวงคำประดับช้างที่บ้านปาง จึงได้ชื่อ ช้างพวงคำ ด้วยเหตุที่พระนางตกแต่งงวงช้างด้วยพวงคำนั่นเอง พอประดับช้างบริบูรณ์แล้ว พระนางก็ตั้งสัจจะอธิษฐานวอนเทพยดาอารักษ์ให้นำช้างไปสู่สถานที่ที่ควรจะตั้งเมือง ช้างพวงคำก็ล่องไปตามแม่น้ำลี้มาถึงดอยลูกหนึ่ง ช้างก็เดินกลับคืนหลัง (ดอยนั้นจึงชื่อว่า ดอยคืน)
ช้างพวงคำได้เดินกลับคืนหลังแล้วถึงสถานที่หนึ่ง พระนางจามรีก็ให้คนที่มีกำลังเอาหินก้อนใหม่มาวางเรียงกันที่นั่น ชาวบ้านแถวนั้นเรียก ผายอง แล้วพระนางตั้งจิตอธิษฐานเช่นเดียวกับครั้งแรกเป็นครั้งที่สอง แล้วพญาช้างก็บ่ายหน้าลัดป่าเขาลำเนาไพรมาถึงสถานที่หนึ่ง ขณะนั้นพญาช้างได้สะดุ้งตกใจอะไรบางอย่างที่ไม่เห็นตัว ตรงนั้นเป็นป่าโป่งน้ำดิบ พูดกันว่าผีโป่งหลอก ช้างได้วิ่งไปตามกำลัง (วิ่งหรือหก เป็นคำๆ เดียวกัน) สถานที่นั้นจึงเรียกว่า ป่าหก จนถึงปัจจุบัน พอช้างวิ่งไปไม่ไกล พวงคำที่ติดตัวช้างก็ตกลงตรงนั้น จึงได้ชื่อตรงนั้นว่า บ้านพวงคำ และมีคนอาศัยอยู่มาถึงปัจจุบันนี้
ครั้นช้างวิ่งหนีไปอย่างนั้น พระนางจามรีพร้อมกับบริวารจึงไปสกัดหน้าช้างที่สบแวน จับช้างไม่ได้ เพราะช้างหนีลัดเลาะไปทางห้วยสาย แต่พระนางจามรีและบริวารก็ไม่ทิ้งความพยายามติดตามช้างต่อไป ไปทันช้างที่ฮ่อมต้อ พอจับช้างได้แล้ว พระนางก็ได้ตกแต่งช้างใหม่อีกครั้ง แล้วตั้งสัจจะอธิษฐานเป็นครั้งที่สามว่า ถ้าจะได้สร้างเมืองที่นั้นที่นี่จริงๆ เพื่อเป็นที่ลี้ภัย ก็ขออำนาจเทพยดาดลจิตนำช้างไปแสวงหาที่ตั้งบ้านเมืองด้วยเถิด
เทพเทวาได้ดลใจช้างให้เดินขึ้นไปตามห้วยที่มีแสงแดดยามบ่ายคล้อยสาดส่อง ช้างได้เดินขึ้นจากห้วยแม่แต๊ะ เดินผ่านป่ามาถึงยังห้วยแม่ไป และเดินขึ้นดอยน้อยมานิดหนึ่งมาทางทิศตะวันตกของแม่น้ำลี้ ในที่สุดก็ถึงจุดสำคัญแห่งนั้น ณ จุดนั้นมีจอมปลวกใหญ่และสูง มีหินสีขาวคล้ายกับไข่นกยูงอยู่บนจอมปลวกใหญ่ และสถานที่นั้นได้มีพญานาคปกป้องรักษาเอาไว้ในเขตนี้ เป็นเวลาหลายพันปี
พอพญาช้างได้เห็นเท่านั้นก็ร้องด้วยเสียงกึกก้อง เหมือนเตือนให้รู้ว่าได้พบจุดศูนย์กลางที่จะสร้างบ้านเมืองตรงนี้ให้กับเจ้าแม่จามรีและด้วยแรงอธิษฐาน พญาช้างได้เดินประทักษิณสามรอบ ได้เอางวงหักกิ่งไม้ที่ออกดอกตรงนั้นพัดวีเหมือนทำความสะอาดจอมปลวกใหญ่ แล้วหยุดเอางวงยกขึ้นยกลงเหมือนทำความเคารพสถานที่นั้น คู้เข่าทำท่าไหว้ เสร็จแล้วจากนั้นพญาช้างก็ร้องอีกครั้ง
จวนพลบค่ำ พระนางจามรีและบริวารก็ทำการพักตรงใกล้ๆ จอมปลวกใหญ่ ทางทิศใต้ใต้ต้นไม้มะค่าต้นหนึ่ง (บริเวณต้นโพธิ์ปัจจุบัน) และในยามค่ำคืนนั้น ได้มีลูกแก้วออกจากจอมปลวกใหญ่ลอยไปลอยมา ระหว่างที่ตรงนั้น (บริเวณวัดพระธาตุดวงเดียวปัจจุบัน) กับที่ไม่ไกลจากตรงนั้น (บริเวณวัดพระธาตุห้าดวงปัจจุบัน) ลอยไปมาอยู่ถึงห้าครั้ง ทำให้มีแสงสว่างทั่วบริเวณโดยรอบ
พระนางจามรีจึงเอานิมิตหมายอันดีนี้ สร้างให้เป็นเมืองและวัดติดกันตามเหตุการณ์ที่ปรากฏ โดยสร้างที่จุดแรกพบให้เป็นเขตในเวียงหรือเมือง และสร้างวัดตามที่ลูกแก้วปรากฏนอกเขตนั้น จึงมีนามเรียกมาถึงปัจจุบันว่า "วัดพระธาตุดวงเดียว" และ "วัดพระธาตุห้าดวง"
วันต่อมาพระนางจามรีได้ป่าวร้องให้บริวารประชาชนให้แผ้วถางที่ในเขตให้สะอาด เหลือแต่ไม้ไผ่ห้ามตัด ให้ช้างเดินรอบไปตามแนว คนที่ติดตามพญาช้างก็หมายให้เป็นแนวที่จะขุดเป็นแนวกำแพง (ปัจจุบันยังเห็นเป็นแนวคูเมืองอยู่บ้าง แล้วขุดกั้นน้ำด้วยเขื่อนดิน ทำคันขังน้ำเป็นสระใหญ่ยาวลงไปถึงห้วยแม่แต๊ะ ทำประตูสองประตู คือ ประตูด้านเหนือตรงข้ามเขื่อนห้วยสบเวียงหรือขุนเวียง ประตูด้านใต้ตรงข้ามคูเมือง ทำป้อมยามรักษาเวียงไว้ มีเวรยามรักษาความปลอดภัยตลอดเวลา)
จากนั้นมาไม่นาน พญาช้างคู่บุญได้ทำหน้าที่มาตลอด ได้เป็นพาหนะนำทางจากเมืองจำปีระ (อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบัน) ก็หมดบุญหมดวาสนาต่อพระนางจามรีและชาวเมือง พญาช้างได้เดินไปที่เจดีย์ ซึ่งเป็นที่ตั้งพระธาตุเจดีย์ดวงเดียวในปัจจุบัน แล้วเดินประทักษิณสามรอบและร้องด้วยเสียงอันดังขาดใจตายตรงข้ามกับเจดีย์นั้น พระนางจามรีตลอดชาวเมืองเศร้าโศกเสียใจที่ช้างมงคลมาด่วนตาย แล้วได้ทำการเผาร่างพญาช้าง จากนั้นนำเอากระดูกของพญาช้างมงคลฝังและโรยรอบเจดีย์ และอนุสาวรีย์พญาช้างก็อยู่ติดกับพระธาตุเจดีย์ดวงเดียวมาจนถึงปัจจุบันนี้
หลังจากพระนางจามรีสร้างเมืองสร้างเจดีย์ในเขตพระราชฐานแล้ว พระนางก็ทรงสร้างวัดต่างๆ และสร้างวัดพระธาตุห้าดวงให้ประชาชนพลเมืองลี้ทำบุญสุนทานกัน เป็นวัดแรกของเมืองลี้ และเป็นวัดคู่เมืองติดกับเขตของเมือง คือ เขตพระราชฐานในราชวงศ์ของพระนางจามรี สมัยนั้นเจริญรุ่งเรืองมาก ด้านหลังของเมืองเป็นค่ายทหาร และวัดวาอารามอยู่รอบเมือง
กาลเวลาย่อมเป็นไปตามกฎอนิจจังของสังขารทั้งหลาย พระนางจามรีก็ได้สิ้นพระชนม์หมดอายุขัย ได้ไปเกิดเป็นเทพธิดาทรงอาภรณ์สีเขียวมรกตในตอนนั้น มีชื่อใหม่ว่า "เทพธิดาจามรีมหาเทวี" การเดินทางผ่านบ้านผ่านเมืองมาหลายที่ ชาวบ้านชาวเมืองจึงเรียกชื่อพระนามพระนางจามรีหลายชื่อ คือ เจ้าแม่เจนเมือง เจ้าแม่ลับลี้ พระนางจามรีเทวี เป็นเมืองที่มีผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เป็นเมืองแม่หม้ายปกครอง เป็นเมืองที่ลี้ลับมีไม้ไผ่ปกคลุมทึบในอดีต
พอสิ้นสมัยพระนางจามรี เมืองลี้ลับไม่ลี้ลับอีกต่อไป ผู้ครองเมืองต่อๆ มามีหลายคนแต่ไม่ปรากฏนาม เมืองลี้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อมาและกิตติศัพท์เลื่องลือไปทั่วเมืองใหญ่ ลำดับกิตติศัพท์เลื่องลือได้ไปถึงทางใต้สังคโลก ศรีสัชนาลัยยุคต้นๆ และเมืองทางใต้มีกำลังได้ยกกองทัพมาประชิดแล้วเข้าตีเมืองลี้ แต่ตีไม่ได้ พญาเมืองใต้ทำทีว่าถอยทัพกลับไป
ตอนล่าถอยก็มีแผนที่แยบยลมีความฉลาด ได้ใช้ธนูเอาเงินติดลูกธนูยิงใส่ไม้ไผ่โดยรอบเมือง พอยิงเสร็จก็ถอยกันหมด และเป็นเวลานานพอสมควร ชาวเมืองลี้ก็อุ่นใจ ก็พากันซ่อมแซมประตูและแนวกำแพงเมือง ก็ได้ตัดไม้ไผ่เอามาซ่อมแซม พอตัดไม้ไผ่ก็ได้เห็นเงินติดกับไม้ไผ่อยู่ตามปล้องไม้ไผ่ ทีนี้ความโลภมันสิงอยู่ในจิตกับพวกคนที่ตัดไม้ ก็นัดแนะกันไปตัดไม้ไผ่และเสาะหาเงิน ด้วยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
ทีนี้ไม้ไผ่ที่ถูกตัดเริ่มแห้งตามแนวกำแพงเมืองเห็นได้ชัด หน่วยสอดแนมของทหารทางใต้ที่ปลอมปะปนอยู่กับคนเมืองลี้มานาน ก็ส่งข่าวไปให้ทางใต้ทราบ พอเจ้าเมืองทางใต้ได้ทราบ จึงยกกำลังกองทัพอันยิ่งใหญ่มาอีกครั้ง ตั้งกองทัพโดยรอบเมือง สั่งให้ทหารใช้ลูกธนูติดไฟยิงใส่ไม้ไผ่ที่แห้ง ทำให้ไม้ไผ่ไหม้ลุกลามเข้าไปในเมืองและไปตามบ้านเรือนอันเป็นไม้ เพลิงลุกไหม้และลุกลามเข้าไปตามกัน
ทีนี้ชาวเมืองลี้ก็อลวนอลหม่านดับไฟก็ไม่ได้ สู้ก็ไม่ได้ บ้านก็ไหม้ ต่างก็ร้องไห้เรียกหากัน เสียงหุยเสียงครวญครางเสียงตะโกนหาลูกหาสามี หาพ่อหาแม่ บ้างก็ตาย บ้างก็พรากจากกัน เป็นลมล้มทั้งยืน ที่สู้ก็สู้ ที่ตายก็ตาย ที่เจ็บก็คลานไปมา ที่เหลือแตกตื่นระส่ำระสาย ตกอยู่ในภาวะบ้านแตกสาแหรกขาด เจ้าเมืองลี้ถูกยิงตาย และพญาเจ้าเมืองทางใต้ได้รับชัยชนะกวาดต้อนผู้คนที่เหลือไปเป็นเชลยและข้าทาส ทำการเผาลนเอาทองคำตามวัดวาอารามต่างๆ ทั้งในเมือง (เวียง) และวัดพระธาตุห้าดวง
ตอนนั้นทหารผู้กล้าของเมืองลี้และทหารของทางใต้ได้ล้มตายอยู่ในเมืองลี้ คือ ในตัวเมืองหรือวัดพระธาตุดวงเดียวปัจจุบัน ตายกันทั้งสองฝ่ายเป็นหมื่นๆ คน ซากศพทั้งหญิงชายและลูกเล็กเด็กแดง ตลอดทั้งช้างม้าพาหนะได้เน่าเหม็น แร้งกาหากินกันบินว่อน ที่หนีไปได้ก็เข้าป่า ต่อมาคนที่เหลือรอดก็สืบตระกูลเป็นคนลี้จนทุกวันนี้ และไปเป็นคนของเมืองทางใต้ก็มีเยอะ
หลังจากนั้นเมืองลี้ก็เป็นเมืองร้าง ไม่มีใครสามารถบูรณะให้เป็นเมืองได้อีก เป็นเวลาหลายร้อยปี เพราะมีแต่กองกระดูกของคนและสัตว์ คงเหลือแต่ซากเจดีย์และซากพระวิหาร นอกนั้นสลายไปตามกาลเวลา แต่เจดีย์ยังคงมีให้เห็นจนถึงปัจจุบันนี้ ผู้คนที่ตายไปตรงนั้น บางพวกทำกรรมดีก็ได้ไปเกิดเป็นมนุษย์อีก บางพวกไปเกิดอยู่ต่างบ้านต่างเมืองตามวาสนาบารมี ไปเกิดที่อุดมสมบูรณ์ในเมืองใหญ่ๆ เสวยผลดีที่ได้ทำไว้ ไปเกิดเป็นเจ้าคนนายคน มีบริวารมีทรัพย์สมบัติ ได้ไปเกิดเป็นเทพเทวดาก็มี
ส่วนพวกที่ก่อนจะตายผูกจิตอาฆาตจองเวรจองกรรมกันไว้ ห่วงทรัพย์สมบัติของตน ก็ยังไม่ได้ไปเกิด ดวงวิญญาณยังคงเร่ร่อนอยู่ในบริเวณตรงนั้น ได้รับทุกขเวทนาตามวิบากแห่งกรรม ทั้งปู่ย่าตายายบรรพบุรุษของท่าน เศษกรรมยังไม่หมด หิวโหยอยากเกิดอยากพ้นทุกข์ (เหมือนกับญาติของพระเจ้าพิมพิสารในสมัยพุทธกาล) ยังคงรอส่วนบุญของท่านอยู่
ส่วนที่ได้ไปเกิดเป็นมนุษย์แล้ว ถึงจะอยู่แดนไกล เหมือนมีสิ่งดลใจให้เข้ามา และเมื่อได้เข้าไปแล้ว ก็มีความรู้กับตัวเองอะไรหลายๆ อย่าง เรื่องอย่างนี้มันเป็นปัจจัตตัง คือ รู้ได้เฉพาะตนกับคนบางคนเท่านั้น อันคนเราเกิดแก่เจ็บตายตามกฎอนิจจังทุกภพทุกชาติ ตราบใดที่ยังมีกิเลสตัณหาหมักดองสันดานไม่ได้เข้าสู่พระนิพพาน
บางทีท่านผู้อ่านบางคนในตำนานนี้ ท่านอาจเคยอยู่เคยสร้างไว้มาก่อน และไปเกิดอยู่ในที่ต่างๆ เสวยทรัพย์สมบัติบริวารในที่นั้นๆ ท่านเห็นสมควรเช่นไร สุดแต่จิตใจของท่าน อีกอย่างหนึ่งท่านผู้อ่าน เมื่อมองมาทางธรรม ก็ให้เกิดความสลดสังเวช คิดได้ว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน เจ้านางจามรีก็สิ้นพระชนม์ไปแล้ว ประชาชนชาวเมืองลี้ก็ตายไปหมดแล้วในอดีต และเมืองลับลี้ก็ได้กลายเปลี่ยนชื่อมาเป็นวัดพระธาตุดวงเดียวแล้ว อนิจจัง สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ
วัดร้างมานาน จนถึงปี พ.ศ.๒๕๓๒ พระครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนา แห่งวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อ.ลี้ จ.ลำพูน ได้รับแรงใจจากศรัทธาสาธุชน จึงบูรณะทั้งพระธาตุดวงเดียว พระวิหาร ตามแนวซากเก่าๆ ที่คงเหลือ และได้จัดให้พระภิกษุสงฆ์มาดูแลจำพรรษารักษาศาสนสถาน แต่ก็มีอันเป็นไป คือ
พระที่มาอยู่ก่อนนั้นไม่ปฏิบัติทำกิจวัตร ทำผิดพระวินัย ในที่สุดก็อยู่ไม่ได้ ถูกวิญญาณหลอกหลอนบ้าง เป็นบ้าไปบ้าง ลาสิกขาบ้าง ย้ายไปอยู่ถิ่นที่เจริญพรั่งพร้อมด้วยจตุปัจจัยบ้าง และศรัทธาชาวบ้านประจำวัดทำกิจกรรมทำบุญตักบาตรสักครั้งก็ไม่มี นี่เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่พระภิกษุสงฆ์มาอยู่จำพรรษาวัดพระธาตุดวงเดียวต้องออกบิณฑบาตไปเขตหมู่บ้านศรัทธาวัดอื่น ต้องลงเดินไปกลับระยะทาง ๔ กิโลเมตร ทุกวันทุกเดือนทุกปี เว้นไม่สบายหรือฝนตกหนัก ต้องหยุดพัก พระภิกษุสงฆ์ที่มาอยู่จำพรรษาตามแต่จะอยู่ได้
จนลุมาถึงปี พ.ศ.๒๕๔๐ พระผู้ใหญ่ในอำเภอลี้ได้ประชุมตกลงให้ทางวัดห้วยบง อ.ลี้ จ.ลำพูน จัดส่ง พระบุญยืน ฐิตสีโล ศิษย์พระลูกวัด ให้มาดูแลรักษาการเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดวงเดียว (กลางเวียง) และสมัยหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนายังมีชีวิตอยู่ ท่านได้มาเยี่ยมบ่อย ถามสารทุกข์สุกดิบแล้วมอบปัจจัยให้ดูแลวัดเป็นค่าน้ำค่าไฟฟ้า และมอบหมายงานให้สร้างและบูรณะวัดพระธาตุดวงเดียว "หลวงปู่มีความเมตตาสงสาร ขอให้อยู่ตรงนี้ไปตลอด สงสารเมืองเก่า ไม่มีใครอยากอยู่" หลวงปู่บ่นให้ฟัง
หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนาได้รู้วาระจิตและปฏิปทาของพระบุญยืน ฐิตสีโล ว่าจะเป็นผู้พัฒนาสานต่องานของหลวงปู่ต่อไปในวัดแห่งนี้ หลวงปู่หมดห่วงได้ พระที่สมถะตามมีตามได้มาดูแลรักษาปฏิบัติ หลวงปู่บอกให้สร้างทางขึ้นวัดอีกที่หนึ่ง จะได้เห็นวัดได้ชัดเจน และถึงเวลาที่พระบุญยืนจะได้พัฒนาสานต่องานพระครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนา โดยการสร้างทางเข้าสู่พระธาตุดวงเดียว ระยะทาง ๓๐๐ เมตร พร้อมรางน้ำไหล ตลอดทั้งห้องพักห้องน้ำไว้คอยอำนวยความสะดวกสบายของพระอาคันตุกะและศรัทธาที่มาเยือน
วัดพระธาตุดวงเดียวได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๓ กำหนดเขต กว้าง ๒๓ เมตร ยาว ๔๐ เมตร ประกาศราชกิจจานุเบกษา ฉบับทั่วไป เล่มที่ ๑๒๗ ตอนพิเศษ ๑๐๔ ง วันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๓
ดังนั้นจึงขอเรียนเชิญท่านทั้งหลายที่มีจิตศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนา ได้มีส่วนร่วมสร้างและพัฒนากับวัดพระธาตุดวงเดียว (กลางเวียง) อีกวัดหนึ่ง และขอฝากวัดพระธาตุดวงเดียว (กลางเวียง) อยู่ในความทรงจำของท่าน ขออย่าให้ร้างเหลือแต่แค่ตำนาน ขอให้เป็นวัดอีกแห่งหนึ่งในพระพุทธศาสนา ให้เป็นวัดของพุทธศาสนิกชนทั่วไปของเราชาวพุทธตราบจนครบห้าพันวัสสา
----------------------
(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : พระอธิการปิยวัฒน์ ฐิตสีโล (บุญยืน). ประวัติวัดพระธาตุดวงเดียว (กลางเวียง). เข้าถึงได้จาก : http://www.geocities.com/duangdaew/prayeablok.htm. (วันที่ค้นข้อมูล : ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๖))