ประวัติพระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย
พุทธสถานของวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม
ตำบลนาทราย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน
ที่มาแห่งนาม พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานนามพระมหาธาตุเจดีย์นี้ว่า "พระมหาเจดีย์ศรีเวียงชัย"
พุทธเจดีย์พระเจ้าห้าพระองค์ สิ่งสักการะแทนองค์พระศาสดาทั้งห้าของภัทรกัป แห่งแรกที่สร้างด้วยศิลาแลงทั้งองค์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ประดิษฐาน ณ วัดหนองวัวเฒ่า บ้านหนองปู หมู่ที่ ๙ ตำบลนาทราย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน (ปัจจุบันนี้เรียกว่า "พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย" พุทธสถานของวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม)
เจตนารมณ์ในการสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย
เพื่อให้ประเทศไทยได้มีพุทธเจดีย์ที่เป็นเครื่องหมายแห่งการมาตรัสรู้โปรดเวไนยสัตว์ของพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์ ซึ่งได้แก่
๑. พระพุทธเจ้ากกุสันธะ
๒. พระพุทธเจ้าโกนาคมนะ
๓. พระพุทธเจ้ากัสสปะ
๔. พระพุทธเจ้าโคตมะ (พระสมณโคดม) องค์ปัจจุบัน
๕. พระศรีอริยเมตไตรย พุทธเจ้าที่จะมาตรัสรู้ในอนาคต
มโนปณิธานของหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา
เพื่อเป็นสักขีพยานว่า หลวงปู่และลูกหลาน รวมทั้งผู้ที่ร่วมสร้างพระมหาเจดีย์นี้ ได้เกิดมาร่วมบำเพ็ญบารมีในพระศาสนาของสมเด็จพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์ปัจจุบันในภัทรกัปนี้
แม้นหากลูกหลานของหลวงปู่ ตลอดจนผู้ที่ได้ร่วมสร้างพระมหาเจดีย์แห่งนี้ ยังไปไม่ถึงฝั่งคือ พระนิพพานฉันใด ก็ขอให้เกิดมาบำเพ็ญบารมีเพื่อเข้าสู่ฝั่งคือ พระนิพพานในพระศาสนาของสมเด็จพระศรีอริยเมตไตรยสัมมาสัมพุทธเจ้าโน้นเถิด เพื่อรอการตรัสรู้ของสมเด็จพระศรีอริยเมตไตรยสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นการอาราธนาพระบรมธาตุของพระองค์มาบรรจุในองค์พระมหาเจดีย์ที่สร้างไว้แล้วนี้
หนองวัวเฒ่าสังเวชนียสถานที่ศักดิ์สิทธิ์
หนองวัวเฒ่า นับว่าเป็นสังเวชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย พระสมณโคดมพุทธเจ้าทรงเคยเสวยพระชาติเป็นพญาโคอุศุภราชโพธิสัตว์และได้ปลงสังขาร ณ สถานที่แห่งนี้
หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนาจึงได้ปรารภเหตุนี้ ในการสร้างพระมหาเจดีย์ครอบบริเวณดังกล่าวเอาไว้ เพื่อรักษาผืนแผ่นดินอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังต่อๆ มา ได้ระลึกถึงความสำคัญของสถานที่นี้และเพื่อเป็นที่กราบไหว้สักการบูชาของพุทธศาสนิกชนทั้งหลายต่อไปในอนาคต
สัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า ๔ พระองค์ในภัทรกัป ที่บรรจุไว้ในพระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย
(๑) หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนาอธิษฐานขอพระบรมธาตุของพระโคตมพุทธเจ้า ก่อนที่จะสร้างพระมหาเจดีย์
๑.๑ ครั้งที่ ๑ เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๘ หลวงปู่ได้พระบรมธาตุ ลักษณะกลมใสองค์ใหญ่ จำนวน ๑ องค์ และวรรณะสีเขียวมรกตเหมือนเพชรที่เจียระไนแล้ว จำนวน ๑ องค์ รวมเป็น ๒ องค์ หลวงปู่บอกว่า เป็นน้ำหล่อเลี้ยงพระหฤทัย
๑.๒ ครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๘ ได้พระบรมธาตุส่วนกลางกะโหลกพระเศียร จำนวน ๑๒ องค์
(๒) บริขารของพระพุทธเจ้า ๓ พระองค์ ที่ล่วงมาแล้ว ได้แก่
๒.๑ ไม้เท้าจากพระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากอง แทนไม้เท้าทองคำ (สุวัณณะทันฑัง) ของพระพุทธเจ้ากกุสันโธ
๒.๒ เครื่องกรองน้ำและคนโทน้ำจากพระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากอง แทนธมกรกของพระพุทธเจ้าโกนาคมนะ
๒.๓ ผ้าห่มองค์พระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากอง แทนผ้าจีวรของพระพุทธเจ้ากัสสปะ
(๓) ในกาลต่อมา สมเด็จพระสังฆราชฯ ได้ทรงพระเมตตาประทานพระบรมสารีริกธาตุ จำนวน ๙ องค์ มาบรรจุในองค์พระมหาเจดีย์นี้ด้วย เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๕
รายละเอียดการก่อสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัยโดยสังเขป
๑. ออกแบบและริเริ่มให้มีการก่อสร้างโดย : หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา
๒. ลักษณะองค์พระมหาเจดีย์ : เป็นปฏิมากรรมขนาดใหญ่ ศิลปะล้านนา ที่ก่อด้วยศิลาแลงทั้งองค์ โดยกำหนดให้มีพระมหาเจดีย์องค์ใหญ่เป็นองค์ประธานอยู่ตรงกลาง และมีพระเจดีย์องค์เล็กเป็นบริวารล้อมรอบอยู่ ๔๘ องค์ ตามแบบพระสถูปเจดีย์ศิลปะลังกา
๓. ความหมาย : พระมหาเจดีย์องค์ใหญ่ตรงกลาง เป็นพระเจดีย์ประจำปีเกิดของคนที่เกิดปีมะเมีย (ปีม้า)
• พระเจดีย์องค์เล็ก ๑๐ องค์ เป็นเจดีย์ประจำปีเกิด ๑๐ ปีนักษัตร
• พระเจดีย์องค์เล็ก ๒๘ องค์ หมายถึง พระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์ ที่ล่วงมาแล้ว
• พระเจดีย์องค์เล็กที่เหลืออีก ๑๐ องค์ หมายถึง พระพุทธเจ้า ๑๐ พระองค์ ที่จะมาตรัสรู้ในอนาคต
๔. ขนาดองค์พระมหาเจดีย์ : สร้างบนเนื้อที่ ๖ ไร่ โดยฐานของพระมหาเจดีย์องค์ใหญ่รวมทั้งบริวารทั้งหมด มีขนาดกว้าง ๔๐x๔๐ เมตร ความสูงขององค์พระมหาเจดีย์ โดยวัดจากพื้นถึงบัวยอดฉัตร ๗๑ เมตร
๕. งบประมาณในการก่อสร้าง : ๑๕๒ ล้านบาท
๖. ระยะเวลาในการก่อสร้าง : วางศิลาฤกษ์ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีกุน ตรงกับวันวิสาขบูชา ที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๘ รวมระยะเวลาก่อสร้างถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๘ เป็นเวลา ๑๐ ปี ในสมัยรัชกาลที่ ๙
พระครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนา บอกว่า
“ คนที่ไม่มีโอกาสไปกราบไหว้ถึงที่พระมหาเจดีย์ชเวดากอง
แต่ได้มากราบไหว้ที่พระเจดีย์นี้ ก็มีอานิสงส์มากเช่นกัน ”
-----------------
(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : ป้ายประวัติพระมหาเจดีย์ศรีเวียงชัย พุทธสถานของวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม)
หัวใจของพระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย
๑. ช่องตรงกลาง ประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิ ขนาด ๓๐ นิ้ว ต้นโพธิ์ ๑ ต้น อยู่ด้านหลังพระพุทธรูป ไม้เท้าหินอ่อน เครื่องกรองน้ำหินอ่อน ไม้แก่นจันทน์ จากประเทศอินเดีย หีบหินอ่อนบรรจุผ้าจีวร ๓๐ เมตร บรรจุในหีบแก้วชั้นหนึ่ง ไม้เท้าทำจากพญาไม้หุ้มด้วยเงิน ตาลปัตรแบบล้านนาทำด้วยทองเหลืองปิดทอง และพระธาตุต่างๆ ตลอดจนเครื่องสักการบูชาที่มีผู้ศรัทธานำมาถวาย (อาทิ แก้ว แหวน เงินทอง)
๒. ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางรำพึง มองพิจารณารัตนบัลลังก์ (แท่นแก้ว)
๓. ทิศเหนือตรง ประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลา
๔. ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประดิษฐานพระพุทธชินราช ขนาด ๓๐ นิ้ว มีซุ้มเรือนแก้ว
๕. ทิศตะวันออกตรง ประดิษฐานพระพุทธรูปปางประทานพร มีรูปคนเลี้ยงแพะ มีรูปแพะ ๒ ตัว มีพระพุทธรูป ขนาด ๙ นิ้ว ๑๐ นิ้ว ประมาณ ๒๐๐ องค์ รวมทั้งพระแก้วบรรจุ
๖. ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางนาคปรกอยู่กลางสระโบกขรณี มีน้ำล้อมรอบ มีสำเภาเงิน สำเภาทอง (น้ำได้มาจากน้ำทิพย์ ๗ บ่อ คือ บ่อน้ำทิพย์ที่วัดพระบรมธาตุแก่งสร้อย, วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม, วัดพระพุทธบาทสามยอด (บ้านโฮ่ง), วัดพระพุทธบาทตะเมาะ, ดอยขะม้อ ลำพูน (อยู่บนยอดเขา), วัดแม่ต๋ำ (ลำปาง), บ่อน้ำพระฤาษี (นอกหมู่บ้านห้วยต้ม)
๗. ทิศใต้ตรง ประดิษฐานพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร มีไม้โพธิ์ (ไม้นิโครธ) รูปท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ ถวายบาตร ๔ ใบ แด่พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าอธิษฐานจิตว่า ถ้าพระองค์สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าจริง ก็ขอให้บาตรทั้ง ๔ ใบ รวมเป็นใบเดียว และมีรูปปั้นตปุสสะกับภัลลิกะ ถือข้าวสัตตู (ข้าวมธุปายาส) รูปพระอินทร์ถือถาดสมอดำ รูปท้าวมหาพรหมอาราธนาพระพุทธเจ้าเทศนาธรรม
๘. ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ประดิษฐานพระมหาอุปคุต และหม้อบรรจุพระธาตุอยู่หน้าพระอุปคุต
๙. ทิศตะวันตกตรง ประดิษฐานพระพุทธรูปปางประทานพร รูปพระพุทธบิดา พระพุทธมารดา
นอกจากนี้แล้ว หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา ได้เมตตาให้ศิษยานุศิษย์และผู้ที่มีจิตศรัทธาทั่วไป
๑. นำพระพุทธรูปประจำวันเกิดของแต่ละคนมาถวายบรรจุในพระมหาเจดีย์ ซึ่งมีขนาด ๓๐ นิ้ว, ๒๐ นิ้ว หรืออย่างน้อยสุดขนาด ๙ นิ้ว จำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์ (เท่าจำนวนพระธรรมขันธ์)
๒. พระพุทธรูปยืนปางต่างๆ เฉพาะองค์พระสูง ๘๐ นิ้ว (ไม่รวมพระเกศ) ฐานสูง ๔ นิ้ว พระเกศดอกบัวตูม พ่นสีทองคำเคลือบแลคเกอร์ เพื่อประดิษฐานไว้ในฐานอุโมงค์ของพระมหาเจดีย์
๓. สร้างรูปเหมือนพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ท่านั่งสมาธิ หน้าตักกว้าง ๓๐ นิ้ว ฐานสูง ๔ นิ้ว เพื่อประดิษฐานไว้รอบพระมหาเจดีย์
----------------------
(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม. พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก : http://www.oocities.org/huaytom/viangchai_plan.htm. (วันที่ค้นข้อมูล : ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๘))