ทางเข้าเขตพุทธาวาสทิศตะวันออก วัดบ้านปาง
รูปปั้นกุมภัณฑ์ ๒ ตน ประดับทางเข้าเขตพุทธาวาสทิศตะวันออก วัดบ้านปาง
ทางเข้าเขตพุทธาวาสทิศเหนือ วัดบ้านปาง
รูปปั้นกุมภัณฑ์ ๒ ตน ประดับทางเข้าเขตพุทธาวาสทิศเหนือ วัดบ้านปาง
คณะศรัทธา คุณกุคั่น-คุณเครือวัลย์ กลัมพากร พร้อมด้วยญาติพี่น้องทุกคน เป็นเจ้าภาพบูรณะ เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๖ สิ้นค่าบูรณะทั้งหมด ๑๐๕,๙๕๕ บาท
พระวิหารและพระบรมธาตุเจดีย์ วัดบ้านปาง
โดยการสร้างของท่านพระครูบาเจ้าศรีวิชัย (นักบุญแห่งล้านนาไทย) อดีตเจ้าอาวาสองค์แรกวัดบ้านปาง
พระวิหารพระครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดบ้านปาง
โดยการสร้างของพระครูบาเจ้าศรีวิชัย เจ้าอาวาสวัดบ้านปาง รูปที่ ๑ เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๙
ประวัติพระวิหารพระครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดบ้านปาง
พระวิหารพระครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดบ้านปาง สร้างโดยพระครูบาเจ้าศรีวิชัย เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๙ หลังจากที่ท่านพระครูบาเจ้าเดินทางกลับจากกรุงเทพฯ จากพิจารณาคดีครั้งสุดท้าย คราวถูกกล่าวหาครั้งที่ ๔ อายุ ๕๘ ปี ถึง อายุ ๕๙ ปี
ท่านพระครูบาเจ้าศรีวิชัยเดินทางกลับไปถึงวัดบ้านปางไม่กี่วัน ท่านจึงได้รื้อพระวิหารหลังเดิม แล้วทำการก่อสร้างพระวิหารขึ้นมาใหม่ โดยเทคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหลัง ระหว่างการก่อสร้างได้มีชาวบ้านและพระเณรมาช่วยทำงานจำนวนมาก และจะต้องหาบน้ำจากในหมู่บ้านขึ้นมาบนวัด เพื่อผสมปูนในการเทคอนกรีตด้วยความเหน็ดเหนื่อย วันหนึ่งๆ ต้องหาบน้ำขึ้นบนวัด ซึ่งเป็นเนินเขาคนละหลายเที่ยว
มีอยู่วันหนึ่ง ท่านพระครูบาเจ้าเห็นพระเณรต้องหาบน้ำ จึงเกิดความรู้สึกเวทนา จึงรำพึงว่า "สาธุ! ขอเทวบุตรเทวดาเจ้าทั้งหลายโปรดได้เอ็นดูสงสารพระเณร จงช่วยบันดาลให้ฝนตกลงมามีน้ำมาสร้างพระวิหารหลังนี้ให้สำเร็จด้วยเถิด" เวลานั้นประมาณ ๑๐.๐๐ น. พอถึงเวลา ๑๕.๐๐ น. ฝนได้เทลงมาห่าใหญ่ จนน้ำขังเต็มสระบนวัด สามารถนำน้ำมาสร้างพระวิหารได้โดยตลอด วันนั้นตรงกับเดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๙
นายช่างที่ทำลายดอกหน้าบันด้านตะวันออก ชื่อนายช่างหนานแก้ว นายช่างที่ทำลายดอกหน้าบันด้านตะวันตก ชื่อนายช่างหนานหมวก นายช่างที่ทำแท่นพระประธานวิหาร ชื่อนายช่างดิ่งและนายช่างเส่ง นายช่างที่สร้างพระประธาน ชื่อพระหน่อคำ (ชาวอำเภอดอยสะเก็ด)
การก่อสร้างพระวิหารยังไม่ทันเสร็จ บรรดาผู้มีความปรารถนาดีและต้องการบูรณะซ่อมแซมวัดจามเทวี ก็พากันเดินทางมานิมนต์พระครูบาเจ้าศรีวิชัยมาจำพรรษา ได้พากันมารับท่านเข้าสู่เมืองลำพูนอีกครั้งหนึ่ง เมื่อการทำบุญฉลองที่วัดจามเทวีเสร็จ ท่านจึงได้เดินทางกลับมาสร้างพระวิหารวัดบ้านปางที่ยังไม่เรียบร้อยต่อไปอีก
ท่านมาทำได้ไม่ทันไร ชาวจังหวัดลำพูนได้พากันเดินทางไปสู่บ้านปาง มาปรึกษาขออาราธนานิมนต์ท่านไปสร้างสะพานใหญ่ เพื่อเชื่อมการคมนาคมระหว่างเชียงใหม่กับจังหวัดลำพูน สถานที่จะสร้างคือ สะพานข้ามแม่น้ำปิงระหว่างอำเภอสันป่าตองจังหวัดเชียงใหม่กับจังหวัดลำพูน การคมนาคมสายนี้อำนวยประโยชน์อย่างมากทั้งปัจจุบันและอนาคต ท่านยินดีรับนิมนต์ เพื่อจะสร้างเป็นอนุสรณ์ชิ้นสุดท้ายในชีวิตของท่าน (สะพานศรีวิชัยในปัจจุบัน)
พระวิหารได้มาสร้างเสร็จหลังจากพระครูบาเจ้าศรีวิชัยมรณภาพแล้ว ระหว่างศพของพระครูบาเจ้าตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดบ้านปาง บรรดาศิษย์ทั้งหลายก็ได้เร่งสร้างพระวิหารที่ยังคงค้างให้สำเร็จในปีพุทธศักราช ๒๔๘๒ แล้วทำบุญถวายทานพร้อมเครื่องอัฐบริขารหลายร้อยชุด ซึ่งท่านพระครูบาเจ้าได้เตรียมไว้เพื่อถวายพระสงฆ์
-----------------
(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : พระอานันท์ พุทธธัมโม รวบรวมและเรียบเรียง. (๒๕๕๖, ๑๑ มิถุนายน). หนังสือประวัติของพระครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งลานนาไทย วัดบ้านปาง ตำบลศรีวิชัย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน, หน้า ๑๗๐-๑๗๑, ๑๗๔, ๑๘๗.)
อ่างหมักปูนขาวสมัยพระครูบาเจ้าศรีวิชัย ตอนสร้างพระวิหารหลังเดิม พ.ศ.๒๔๖๖ วัดบ้านปาง
บันไดนาคทางขึ้นด้านหน้า พระวิหารพระครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดบ้านปาง
ประตูทางเข้าด้านหน้า พระวิหารพระครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดบ้านปาง
สร้างถวายโดย พระครูบาเจ้าเทือง นาถสีโล (วัดบ้านเด่น จังหวัดเชียงใหม่)
ภายในพระวิหารพระครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดบ้านปาง
พระประธานและพระพุทธรูปต่างๆ ประดิษฐานภายในพระวิหารพระครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดบ้านปาง
พระประธาน ประดิษฐานภายในพระวิหารพระครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดบ้านปาง
นายช่างที่สร้างพระประธาน ชื่อ พระหน่อคำ (ชาวอำเภอดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่) โดยเอาแบบพระพุทธรูปพระเจ้าเก้าตื้อในวัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้นแบบในการสร้างพระพุทธรูป
รูปเหมือนพระครูบาเจ้าศรีวิชัย (นักบุญแห่งล้านนาไทย) ประดิษฐานภายในพระวิหารพระครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดบ้านปาง