การเดินทางไปวัดบ้านปาง (วัดจ๋อมสะหรีทรายมูลบุญเรือง)
ใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๐๖ (สายลี้-ลำพูน) เข้าเขตอำเภอเมืองจังหวัดลำพูน ผ่านอำเภอป่าซาง อำเภอบ้านโฮ่ง จนถึงอำเภอลี้ ระยะทาง ๑๐๕ กิโลเมตร ถึงบริเวณกิโลเมตรที่ ๘๘-๘๙ ทางแยกเข้าวัด สามารถเข้าวัดได้ทั้งซอย ๓ และซอย ๔ ระยะทางห่างจากที่ว่าการอำเภอลี้ ๓๗ กิโลเมตร
ทางเข้าวัดบ้านปาง ซอย ๔ บ้านปาง หมู่ที่ ๑ ตำบลศรีวิชัย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน
ที่มาของชื่อ บ้านปาง
บ้านปาง อันหมายถึง ที่พักชั่วคราว ซึ่งสืบเนื่องมาจากทวดของท่านพระครูบาเจ้าศรีวิชัย นามว่า หมื่นผาบ เป็นชาวกะเหรี่ยง (ยางแดง) แต่เดิมก็อยู่อย่างชาวเขาเผ่าอื่นๆ ทั่วไป คือชอบอยู่ตามภูเขาสูงอาศัยการทำพืชไร่ร่อนเร่และหาของป่ามาแลกของกับชาวพื้นเมือง
โดยเฉพาะส่วนตัวหมื่นผาบ ท่านเป็นผู้มีความเข้มแข็งอดทนและมีความฉลาดความสามารถในเรื่องการคล้องช้าง เจ้าหลวงดิเรกฤทธิ์ไพโรจน์ (เจ้าดาวเรือง) เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ ๗ จึงได้ชวนมาเป็นข้าผู้รับใช้ใกล้ชิด ได้ลงมาอยู่ในตัวเมือง ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่บ้านสันป่ายางหลวงและได้เคยร่วมออกรบทัพจับศึกซึ่งต่อสู้กันด้วยหอกดาบกับศึกบ้านศึกเมือง จนบางครั้งต้องคมอาวุธของฝ่ายตรงข้ามบ้าง
ด้วยความกล้าหาญชาญชัยของท่าน จึงได้รับพระกรุณาจากเจ้าผู้ครองนครลำพูนแต่งตั้งให้เป็น "หมื่นผาบ" อันหมายถึง "ผู้สามารถในการปราบศัตรู" และในเรื่องความสามารถของท่านเกี่ยวกับการคล้องช้างนั้น นับว่าอยู่ในระดับหมอคล้องช้างทีเดียว ระหว่างที่ว่างจากศึกสงครามแล้ว ก็เข้าป่าเป็นหมอคล้องช้างให้เจ้าผู้ครองนคร เพื่อมาฝึกใช้เป็นพาหนะในการทำศึกและใช้งานอื่นๆ
ต่อไปสถานที่หมื่นผาบคล้องช้างส่วนใหญ่จะเป็นบริเวณที่ตั้งบ้านปางในปัจจุบัน เพราะในเขตนี้เป็นหุบเขาจึงมีช้างป่ามาก จนเรียกได้ว่าหมื่นผาบมาตั้งปางคล้องช้างเป็นประจำ จนเกิดความรักความคุ้นเคยกับบรรยากาศภูมิประเทศ ต่อมาจึงได้ขออนุญาตเจ้าผู้ครองนครลำพูนมาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่ปางคล้องช้าง อันมีลำห้วยไหลผ่าน จึงได้เรียก ห้วยแม่ปาง
----------------------
(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : พระอานันท์ พุทธธัมโม รวบรวมและเรียบเรียง. (๒๕๕๖, ๑๑ มิถุนายน). หนังสือประวัติของพระครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งลานนาไทย วัดบ้านปาง ตำบลศรีวิชัย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน, หน้า ๑-๒.)
ศาลาเสาไม้โบราณ อยู่ด้านข้างถนนทางเข้าวัดบ้านปาง ซอย ๔ บ้านปาง หมู่ที่ ๑ ตำบลศรีวิชัย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน