แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
เจ้าของ: pimnuttapa
go

วัดบ้านปาง ม.๑ ต.ศรีวิชัย อ.ลี้ จ.ลำพูน [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

S__33112067.jpg



IMG_6583.JPG



ประวัติของพระครูบาเจ้าศรีวิชัย

(นักบุญแห่งล้านนาไทย)

วัดบ้านปาง ต.ศรีวิชัย อ.ลี้ จ.ลำพูน



ท่านพระครูบาเจ้าศรีวิชัย สิริวิชโย หรืออีกนามหนึ่งที่ชาวล้านนานิยมเรียกท่านว่า "ครูบาเจ้าศีลธรรม" แต่ท่านเองจะออกนามท่านว่า "พระชัยยาภิกขุ" บ้าง "พระศรีวิชัยยาชนะภิกขุ" บ้าง

พระผู้ทรงคุณประโยชน์ทางด้านพระศาสนา ท่านได้ถือกำเนิดที่หมู่บ้านปาง ตำบลแม่ตืน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เมื่อวันอังคารที่ ๑๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๒๐ ปีขาล เดือน ๙ เหนือ (เดือน ๗ ใต้) ขึ้น ๑๑ ค่ำ เวลาประมาณ ๑๘.๐๐ น.

บิดาของท่านพระครูบาเจ้าศรีวิชัย นามว่า "นายควาย" เป็นบุตรของนายอ้าย ซึ่งเป็นลูกเขยของหมื่นผาบ ที่ได้ย้ายภูมิลำเนาจากตัวเมืองมากับหมื่นผาบในคราวเดียวกัน ซึ่งหมื่นผาบคือผู้มาบุกเบิกตั้งรกรากบ้านปางขึ้นมาและท่านเป็นทวดของพระครูบาเจ้าศรีวิชัย

และมารดาของท่านพระครูบาเจ้าศรีวิชัย นามว่า "นางอุสา" เป็นลูกของพ่อหนานใจ อยู่แขวงเมืองลี้ ห่างจากบ้านปางประมาณ ๔๐ กิโลเมตร นายควายได้ไปสู่ขอนางอุสามาอยู่กินเป็นสามีภรรยาที่บ้านปาง และได้อยู่กินกันตามประเพณีของชาวโลก จนเกิดบุตรชายหญิงด้วยกัน ๕ คน คือ

๑. นายอินทร์ไหว  
๒. นางอวน  
๓. นายอินตาเฟือน (พระครูบาเจ้าศรีวิชัย)  
๔. นางแว่น  
๕. นายทา

ท่านพระครูบาเจ้าศรีวิชัย สิริวิชโย ได้ถือกำเนิดภายในกระท่อมน้อยท่ามกลางหุบเขาของหมู่บ้านปาง เป็นบุตรคนที่ ๓ ของนายควายและนางอุสา

นิมิตหมายก่อนที่นางอุสาจะตั้งครรภ์บุตรคนที่ ๓ นั้นคือ คืนหนึ่งนางอุสาได้ฝันว่า ได้เข้าไปในป่าลึก เห็นต้นโพธิ์ใหญ่มากต้นหนึ่งแผ่กิ่งก้านสาขาร่มกว้าง และมีสรรพสัตว์ใหญ่น้อยนานาพันธุ์มาอาศัยอยู่ตามร่มโพธิ์ อันมีกิ่งใบทอดเป็นร่มกว้างนั้นเต็มไปหมด ดูแล้วทำให้เพลิดเพลินอารมณ์ เป็นบรรยากาศที่น่าประทับใจเสียนี่กระไร เหมือนโลกนี้ทั้งโลกมารวมกันอยู่ ณ จุดนี้ เป็นบรรยากาศที่ดูอบอวลเต็มไปด้วยความรักความเมตตาซึ่งกันและกัน

เมื่อฟ้าสางสว่างแล้ว นางอุสาก็เล่าเรื่องความฝันให้นายควายฟัง และได้ปรึกษาเข้าใจกันเอาว่านี่เป็นนิมิตที่ดี นับตั้งแต่วันนั้นมานางอุสาก็รู้สึกว่ามีอาการตั้งครรภ์บุตรคนที่ ๓ ขึ้นมาแล้ว พอครบกำหนดเวลาใกล้จะคลอด ขณะที่นางอุสาเจ็บท้องจวนจะให้กำเนิดนักบุญผู้ยิ่งใหญ่แห่งล้านนาไทย เวลานั้นแม่หมอตำแย ต่างก็เฝ้าเอาใจใส่เพื่อให้นางอุสาบรรเทาความเจ็บปวด

ทันใดนั้นท้องฟ้าที่สว่างโล่งกลับวิปริตมืดครึ้มไป พายุพัดกระหน่ำพาเอาสายฝนเทลงโครมจากฟากฟ้า เสียงฟ้าร้องคำรณคำรามสนั่นอสุนีบาตฟาดเปรี้ยงปร้างลงมา ทันใดนั้นแผ่นดินก็ไหวสั่นสะเทือนไปทั่ว ทำให้กระท่อมน้อยหลังนั้นโอนเอนปานจะเอียงลง ในวินาทีนั้นทารกก็คลอดออกมาพร้อมกับเสียงร้องไห้ เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง พายุ เสียงฟ้าร้อง สายฝน และแผ่นดินก็หยุดไหว

ทุกคนในที่นั้นต่างก็ตะลึงในเหตุการณ์อันประหลาดถึงกับนิ่งอึ้งกันไปพัก เวลานั้นเป็นเวลาพลบค่ำพอดี วันนั้นตรงกับวันอังคารที่ ๑๑ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๒๐ ปีขาล เดือน ๙ เหนือ (เดือน ๗ ใต้) ขึ้น ๑๑ ค่ำ เวลาประมาณ ๑๘-๑๙ นาฬิกา

อาศัยปรากฏการณ์อันวิปริตประหลาดยิ่งนั้น ถือเป็นนิมิตอันเป็นมงคลตั้งนามบุตรชายว่า “อินตาเฟือน” (ซึ่งหมายถึง การกำเนิดของท่าน เกิดปรากฏการณ์ให้สะเทือนสะท้านถึงองค์อมรินทร์บนสรวงสวรรค์) บางคนก็เรียกนามว่า “ฟ้าร้อง”

ตามหลักพุทธพจน์พระองค์ได้ทรงตรัสไว้ว่า ถ้าพระโพธิสัตว์เจ้าจะอุบัติขึ้นมาในโลกจะต้องเกิดปรากฏการณ์แผ่นดินไหว กรณีของท่านพระครูบาเจ้าศรีวิชัยนี้ ถ้าถือตามหลักพระพุทธพจน์นี้แล้ว พระครูบาเจ้าท่านก็ต้องเป็นพระโพธิสัตว์พระองค์หนึ่งที่อุบัติขึ้นมา เพื่อฟื้นฟูบูรณปฏิสังขรณ์พุทธสถานที่สำคัญๆ ทั่วดินแดนล้านนาไทยในการสร้างบารมีธรรม เพื่อเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตข้างหน้า

ดังหลักฐานที่พระครูบาเจ้าศรีวิชัยจารึกจารลงท้ายพระไตรปิฎกฉบับล้านนา ที่ท่านสร้างขึ้นทุกผูกว่า ".....ปรารถนาขอหื้อข้าฯ ได้ตรัสรู้ปั๋ญญา สัพพัญญูโพธิญาณเจ้าจิ่มเทอญฯ"

เมื่อเยาว์วัยท่านเป็นเด็กเลี้ยงง่าย และอยู่ในโอวาทคำสั่งสอนของบิดามารดาช่วยประกอบสัมมาอาชีวะ ปรกติท่านชอบเลี้ยงวัวเลี้ยงควายและรักความสงบตามธรรมชาติป่าเขา เป็นบรรยากาศที่ช่างเหมาะสมกับอุปนิสัยที่จะปลูกฝังโพธิญาณของพระโพธิสัตว์เจ้าทุกประการ

จนกระทั่งท่านอายุได้ ๑๗ ปี จึงได้เริ่มต้นรับการศึกษา โดยศึกษาอักษรไทยล้านนา หัดเทศน์พระธรรมคัมภีร์พร้อมกับท่องบทสวดมนต์และคำขอบรรพชา ตลอดจนศึกษากิจวัตรที่พระเณรจะพึงปฏิบัติกับพระครูบาขัติยะ หรือคนทั่วไปเรียกท่านว่า “ครูบาแข้งแขะ” เพราะท่านเดินขากะเผลกๆ ท่านเป็นพระอยู่ในอำเภอป่าซางได้เดินธุดงค์มาสู่บ้านปาง พักอยู่ตรงบริเวณวัดร้าง ซึ่งร้างมาหลายร้อยปี (อยู่เชิงเขาเหนือวัดบ้านปางในปัจจุบัน)  

ต่อมาเมื่อนายอินตาเฟือนอายุได้ ๑๘ ปี จึงได้บรรพชาเป็นสามเณร โดยพระครูบาขัติยะ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับสมญานามว่า “สามเณรศรีวิชัย” สามเณรศรีวิชัยก็ได้รับการอบรมสั่งสอนนิสัยธรรมวินัยจากพระครูบาขัติยะ และปฏิบัติอุปัฏฐากพระอุปัชฌาย์ด้วยความเคารพยำเกรงโดยตลอด

เมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๑ อายุของสามเณรศรีวิชัยก็ย่างเข้า ๒๑ ปี พระครูบาขัติยะพร้อมด้วยโยมบิดามารดาและญาติพี่น้อง จึงได้จัดให้มีงานอุปสมบทขึ้น (ซึ่งก็ได้จัดพิธีอย่างง่ายๆ ตามโบราณจารย์ มิได้จัดงานมหรสพการรื่นเริงเฮฮา) ณ พัทธสีมา วัดบ้านโฮ่งหลวง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน โดยมี พระครูบาสมณะ (พระครูบาสม สมโณ) เจ้าอาวาสวัดบ้านโฮ่งหลวง เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้รับฉายานามว่า “สิริวิชโย ภิกขุ” ตั้งแต่บัดนั้น ท่านพระครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงได้นับถือพระครูบาสม สมโณ เป็นอาจารย์องค์ที่ ๒
        
เมื่ออุปสมบทแล้ว ก็กลับมาอยู่ปฏิบัติอุปัฏฐากครูบาขัติยะได้ ๑ พรรษา เมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๒ หลังจากอุปสมบทได้ ๑ ปี แล้วท่านได้ขอลาไปศึกษากัมมัฏฐานและปฏิบัติธรรมกับพระครูบาอุปละ (อุบล) วัดดอยแต อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน (ในปี ๒๕๒๘ วัดพระธาตุดอยแต ได้โอนวัดมาขึ้นต่อตำบลเหมืองจี้ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน) ซึ่งสมัยนั้นชาวลำพูนนับถือท่านว่าเป็นผู้มีความเฉลียวฉลาด ปฏิบัติเคร่งครัด

พระครูบาอุปละ (อุบล) ได้เมตตาถ่ายทอดครองวัตรปฏิบัติวิชชาอาคมให้พระศรีวิชัยสมควรแก่ภูมิธรรมเป็นเวลา ๑ พรรษา หลังจากได้ศึกษากัมมัฏฐานและปฏิบัติธรรมกับพระครูบาอุปละได้ ๑ พรรษา จึงได้อำลากลับมาสู่วัดบ้านปาง ตั้งจิตอธิษฐานปฏิบัติทบทวนภูมิธรรมพิจารณาวัตรปฏิบัติธรรมโดยเคร่งครัดเสมอต้นเสมอปลาย และท่านจึงได้นับถือพระครูบาอุปละ (อุบล) เป็นอาจารย์ผู้สั่งสอนกัมมัฏฐานเป็นองค์สุดท้าย

จนถึงพุทธศักราช ๒๔๔๔ พระครูบาขัติยะได้จาริกออกจากบ้านปางไปยังถิ่นอื่น และไม่ได้กลับมาอีกเลย ไม่รู้ข่าวว่ามรณภาพที่ไหน ขณะนั้นพระครูบาเจ้าศรีวิชัยอายุได้ ๒๔ ปี พรรษา ๔ เป็นผู้ทรงศีลาจารวัตรงดงามและพรรษามากกว่าเพื่อนภิกษุสามเณร ท่านจึงได้รับช่วงปกครองวัดเป็นเจ้าอาวาส

ในปีนั้นเอง ท่านพระครูบาเจ้าศรีวิชัยได้พิจารณาเห็นว่า ปัจจุบันที่ตั้งวัดอยู่กลางหมู่บ้าน ไม่สะดวกแก่การปฏิบัติธรรม เพราะการบำเพ็ญสมณธรรมอารามอยู่ใกล้บ้านไม่ได้รับความสงบดีนัก จึงได้พร้อมกันกับพระปั๋น พระผู้อยู่ในอาวาสเดียวกัน ไปเสาะแสวงหาสถานที่ที่เหมาะสมแก่สมณวิสัย

ทีแรกไปดูสถานที่ม่อนพระป่า (อยู่ทิศตะวันตกบ้านปาง) ท่านอธิษฐานดูแล้วเห็นว่ายังไม่เหมาะสม จึงได้พากันเลือกดูสถานที่บนเนินเขา จึงได้ย้ายขึ้นไปสร้างวัดใหม่ เป็นอรัญวาสี (วัดป่า) อยู่บนเนินเขาเหนือหมู่บ้านที่เป็นวัดปัจจุบันนี้  

ท่านได้ตั้งสัตยาธิษฐานกับองค์พระศรีรัตนตรัยและเหล่าเทพยดาเจ้าทั้งหลายว่า ถ้าหากว่าการที่จะสร้างวัดวาอารามขึ้นมา ณ สถานที่แห่งนี้ จะเป็นความเจริญรุ่งเรืองนำความสุขสวัสดีแล้ว ขอให้เกิดศุภนิมิตอันดีงามให้เห็นปรากฏในคืนนี้ด้วยเถิด

และแล้วในคืนนั้นเอง พระครูบาเจ้าศรีวิชัยก็ได้เกิดนิมิตฝันเห็นพระจันทร์เต็มดวงลอยคว้างอยู่ในหมู่เมฆ เปล่งรัศมีอันงามยิ่งเป็นที่สำราญแก่ผู้ได้พบเห็นในยามวิกาล ท่านเพ่งมองดูแสงสว่างยิ่งจ้าจนพร่าตา ดวงจันทร์ก็ค่อยๆ เลื่อนลอยลงมาใกล้ตัวท่านพระครูบาเจ้า แผ่แสงสว่างยิ่งกว่าธรรมดา ทำให้ท่านถึงกับสะดุ้งตื่นทั้งฝัน

ท่านจึงถือเอาว่าเป็นศุภนิมิตอันดียิ่ง จะทำให้เกิดความสุขความสำราญแก่ผู้อยู่พำนัก จึงได้ไปขออนุญาตจากเจ้าคณะหมวดเพื่อตั้งอารามขึ้น ณ สถานที่แห่งใหม่ ก็ได้รับความเห็นชอบอนุมัติให้สร้างได้

การสร้างวัดใหม่ได้เริ่มขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๔ ท่านพระครูบาเจ้าศรีวิชัย สิริวิชโย อายุได้ ๒๔ ปี พรรษา ๔ ท่านได้นำพระเณรและศรัทธาชาวบ้านร่วมกันไปสู่เขตหมายที่ได้กำหนดแล้ว จึงขอให้นายควายโยมบิดาเป็นผู้แผ้วถางเป็นปฐมฤกษ์ให้เกิดความเป็นสิริมงคล

ต่อจากนั้นพระเณรศรัทธาชาวบ้านต่างก็ขยันขันแข็งช่วยกันทั้งแรงกายแรงใจ ปรับสถานที่บนเนินเขาให้เรียบร้อยเสมอและขยายอาณาบริเวณให้กว้างออกไป บ้างก็ขนเอาหินมาก่อซ้อนเป็นกำแพงเป็นเขตพุทธาวาส เขตสังฆาวาส และเขตที่กำหนดอาณาบริเวณชั้นนอก บ้างก็สร้างกุฏิ วิหาร ศาลาบาตรร่วมกันอย่างครึกครื้น เพราะต่างก็ชื่นชมบุญญาบารมีของท่านพระครูบาเจ้า ว่าเป็นผู้ทรงวัตรปฏิบัติเคร่งครัด

การสร้างวัดก็สำเร็จเป็นบางส่วนที่จำเป็นแล้ว จึงได้พากันย้ายขึ้นไปอยู่บนอรัญวาสีอาวาสแห่งใหม่นี้ ได้ตั้งนามวัดใหม่ว่า "วัดจ๋อมสะหรีทรายมูลบุญเรือง” แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงเรียก “วัดบ้านปาง” เนื้อที่บริเวณวัดทั้งหมดมี ๑๖๐ ไร่ แต่ที่กำหนดในเขตกำแพงมี ๒๐ ไร่ กำแพงหินที่ก่อล้อมรอบมี ๔ ชั้น ถ้ารวมกำแพงแก้วรอบองค์พระธาตุเป็น ๕ ชั้น

ท่านพระครูบาเจ้าศรีวิชัย ท่านสร้างวัดใหม่ขึ้นท่านก็จินตนาการโยงใยให้คล้อยเหตุการณ์ครั้งพระพุทธองค์คือ พยายามจัดให้เป็นอรัญวาสี (วัดป่า) กำแพงก็ใช้หินเป็นก้อนๆ ก่อซ้อนเรียงรายเป็นระเบียบ เพราะท่านไม่ทำลายธรรมชาติ กลับทำให้ธรรมชาติผุดเด่นขึ้นเอง และท่านพระครูบาเจ้าศรีวิชัยก็ได้เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก เมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๔

ท่านพระครูบาเจ้าศรีวิชัย สิริวิชโย เป็นผู้ทรงศีลาจารวัตรปฏิบัติครองแห่งธุดงค์ ๑๓ บำเพ็ญสมณะและวิปัสสนากัมมัฏฐานอย่างเคร่งครัด มุ่งมั่นปฏิบัติธรรมเจริญรอยตามพระยุคลบาทพระบรมศาสดา ท่านจะคอยแนะนำอบรมสั่งสอนพระเณร เด็กวัด และแนะนำศรัทธาญาติโยมสาธุชนให้เกิดความเคารพเลื่อมใส ให้ตั้งมั่นอยู่ในศีลในธรรม ช่วยกันทำนุบำรุงบวรพระพุทธศาสนา ไม่ให้ทอดทิ้งจารีตประเพณีอันดีงาม

กิตติศัพท์การครองวัตรอันเคร่งครัดของท่านได้เลื่องลือไปทั่ว มีคนเกิดศรัทธามาทำบุญถวายทักขิณาทานมากขึ้นตามลำดับ บรรดาพระภิกษุ สามเณร ตามวัดต่างๆ ต่างตำบล ต่างอำเภอ ได้พากันมาขอฝากตัวเป็นสานุศิษย์เป็นอันมาก และได้มีกุลบุตรจำนวนมากมาขอบรรพชาอุปสมบทอยู่ในสำนักบ้านปาง

พระครูบาเจ้าศรีวิชัย ได้อาศัยความศรัทธาของประชาชนและสานุศิษย์ ได้ร่วมกันก่อสร้างพัฒนาบูรณะวัดวาอาราม พระธาตุ พระบาท พระเจดีย์ ศาสนสถานรวม ๑๐๖ แห่ง ใน ๖ จังหวัด คือ จังหวัดลำพูน จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำปาง จังหวัดเชียงราย จังหวัดพะเยา และจังหวัดแม่ฮ่องสอน

ผลงานที่ยิ่งใหญ่ที่ประชาชนชาวไทยยกย่องไม่รู้ลืมก็คือ เป็นองค์ประธานในการสร้างทางขึ้นสู่พระธาตุดอยสุเทพ ระยะทาง ๑๒ กิโลเมตร ใช้เวลาสร้าง ๕ เดือน ๒๒ วัน คือเริ่มสร้างเมื่อวันที่  ๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๗ เวลา ๑๐.๐๐ น. และเปิดใช้ทางขึ้นดอยสุเทพครั้งแรก เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๗๘ ค่าก่อสร้างประมาณ ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท (ยี่สิบล้านบาท) โดยไม่ใช้งบประมาณของรัฐบาล

นับตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๖๙-๒๔๗๑ ท่านพระครูบาเจ้าศรีวิชัย พร้อมด้วยบรรดาสานุศิษย์ได้รวบรวมพระไตรปิฎกฉบับล้านนาที่ถูกทอดทิ้งอยู่ตามวัดต่างๆ จากตำบล อำเภอ และจังหวัดต่างๆ แล้วร่วมกันจัดให้เป็นหมวดหมู่เป็นธัมมขันธ์ ทำการสังคายนาจารลงในใบลานขึ้นมาใหม่ เพื่อไว้เป็นหลักฐานในการศึกษาค้นคว้าหาแนวทางประพฤติธรรมวินัย สืบอายุบวรพระพุทธศาสนาต่อไป ตามจำนวนดังนี้

๑. พระวินัยทั้ง ๕  จำนวน ๑๐ มัด  รวม ๑๗๐ ผูก
๒. นิกาย ๕  จำนวน ๕ มัด  รวม ๖๙ ผูก
๓. อภิธรรม ๗ คัมภีร์  จำนวน ๗ มัด  รวม ๑๔๕ ผูก
๔. ธรรมบท  จำนวน ๒๑ มัด  รวม ๑๔๕ ผูก
๕. สุตตสังคหะ  จำนวน ๗ มัด  รวม ๗๖ ผูก
๖. สมันตปาสาทิกา  จำนวน ๔ มัด  รวม ๔๕ ผูก
๗. วิสุทธิมรรค  จำนวน ๓ มัด  รวม ๗๖ ผูก
๘. ธรรมสวนะชาดก  จำนวน ๑๒๖ ผูก  รวม ๑,๒๓๒ ผูก
๙. ธรรมโตนที่คัดไว้เป็นกัปล์และเป็นผูก  รวม ๑๗๒ ผูก
๑๐. สัททาทั้ง ๕  จำนวน ๘ มัด  รวม ๓๘ ผูก
๑๑. กัมมวาจา  จำนวน ๖ มัด  รวม ๑๐๔ ผูก
๑๒. กัมมวาจา  จำนวน ๑ มัด  รวม ๑๐๘ ผูก
๑๓. มหาวรรค  จำนวน ๑๓๕ มัด  รวม ๒,๗๒๖ ผูก
๑๔. ธรรมตำนานและชาดก  จำนวน ๑ มัด  รวม ๑๗๒ ผูก
๑๕. ธรรมบารมี  จำนวน ๑๐ มัด  รวม ๑๒๒ ผูก

รวมมัดทั้งหมดมี ๓๔๔ มัด  รวมผูกทั้งหมดมี ๕,๔๐๘ ผูก

รวมค่าใช้จ่ายการสร้างพระไตรปิฎก ค่าจ้างเขียนลงในใบลาน ค่าทองคำเปลวติดขอบใบลาน และค่าใช้จ่ายตอนทำพิธีถวายพระไตรปิฎก รวมทั้งหมด ๔,๒๓๒ รูเปีย

ผลงานจัดทำสังคายนาพระไตรปิฎกฉบับล้านนาไทยของท่านพระครูบาเจ้าศรีวิชัยในครั้งนี้ นับว่าเป็นหลักฐานประกาศถึงความเป็นผู้ทรงความรู้ทางพระไตรปิฎก ทั้งสามารถรวบรวมจัดเป็นหมวดหมู่ขึ้นใหม่ได้นี้ มิใช่เป็นเรื่องธรรมดา นี่หากว่าท่านคือบัณฑิตผู้ทรงความรู้ยิ่งองค์หนึ่ง อีกทั้งท่านยังมีปฏิปทาในข้อวัตรปฏิบัติเป็นสงฆ์องค์อริยะอันเป็นแบบอย่างที่ดียิ่ง และได้ให้การบรรพชาพระภิกษุสามเณรกว่าหนึ่งพันรูป

ท่านพระครูบาเจ้าศรีวิชัยได้มรณภาพ เมื่อวันอังคารที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๘๑ ปีขาล ในเวลาเที่ยงคืน ๕ นาที ๓๐ วินาที รวมสิริอายุได้ ๖๐ ปี ๘ เดือน ๑๐ วัน ณ วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน (ตรงสถานที่สร้างสถูปอนุสาวรีย์)

การมรณภาพของท่านพระครูบาเจ้าศรีวิชัย ยังความเศร้าสลดอาลัย นักบุญผู้ทรงศีลจึงได้พากันหลั่งไหลมาสู่วัดบ้านปางมากมาย ศพของท่านพระครูบาเจ้าศรีวิชัย สิริวิชโย ได้ตั้งบำเพ็ญกุศลให้ผู้ที่เคารพศรัทธาเลื่อมใสกราบสักการบูชาที่วัดบ้านปาง เป็นเวลา ๒ ปี จึงได้เคลื่อนมาตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดจามเทวี อ.เมือง จ.ลำพูน นานถึง ๗ ปี

และได้มีหมายกำหนดการพระราชทานเพลิงของท่านพระครูบาเจ้าในวันที่ ๒๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๘๙ เวลา ๑๒.๐๐ น. แต่เผาจริง เวลาเที่ยงคืน โดยมีพลตรี พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี และจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้อัญเชิญเพลิงพระราชทาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากสำนักพระราชพิธีและประชาชนมาถวายเพลิงเป็นจำนวนมาก

และประชาชนเหล่านั้นได้เข้าแย่งชิงอัฐิธาตุของพระครูบาเจ้าศรีวิชัยตั้งแต่ไฟยังไม่ทันมอดสนิทดี ถึงขนาดขี้เถ้าก็ไม่มีเหลือ แม้แต่พื้นดินตรงที่พระราชทานเพลิงก็ยังมีผู้คนขุดเอาไปสักการบูชา อัฐิธาตุของพระครูบาเจ้าศรีวิชัยที่เจ้าหน้าที่สามารถรวบรวม ได้แบ่งอย่างเป็นทางการ ๗ ส่วน ๖ จังหวัด แบ่งไปบรรจุสถานที่สำคัญต่างๆ ดังนี้

ส่วนที่ ๑   บรรจุที่วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน
ส่วนที่ ๒   บรรจุที่วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่
ส่วนที่ ๓   บรรจุที่วัดพระแก้วดอนเต้า
สุชาดาราม จังหวัดลำปาง
ส่วนที่ ๔   บรรจุที่วัดศรีโคมคำ (วัดพระเจ้าตนหลวง) จังหวัดพะเยา
ส่วนที่ ๕   บรรจุที่วัดพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่
ส่วนที่ ๖   บรรจุที่วัดน้ำฮู จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ส่วนที่ ๗  บรรจุที่วัดบ้านปาง จังหวัดลำพูน

---------------------


(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : ป้ายประวัติท่านพระครูบาเจ้าศรีวิชัย ภายในปราสาททองอนุสาวรีย์พระครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดบ้านปาง และพระอานันท์ พุทธธัมโม รวบรวมและเรียบเรียง. (๒๕๕๖, ๑๑ มิถุนายน). หนังสือประวัติของพระครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งลานนาไทย วัดบ้านปาง ตำบลศรีวิชัย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน, หน้า ๑-๑๙, ๑๒๒-๑๒๕.)


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

DSC01605.JPG



สถูปพระครูบาเจ้าศรีวิชัย ประดิษฐานภายในปราสาททองอนุสาวรีย์พระครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดบ้านปาง



IMG_6574.JPG



IMG_6575.JPG



IMG_6622.JPG



IMG_6634.JPG



สถูปพระครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดบ้านปาง

เป็นสถานที่มรณภาพและบรรจุอัฐิธาตุของพระครูบาเจ้าศรีวิชัย สิริวิชโย โดยมีพระอานันท์ พุทธธัมโม จังหวัดพะเยา เป็นประธานดำเนินการสร้าง และพระธรรมปัญญาบดี เจ้าคณะภาค ๗ วัดปากน้ำภาษีเจริญ กทม. เป็นประธานวางศิลาฤกษ์ โดยความอุปถัมภ์ของท่านอุบาสกกวงเม้ง ท่านอุบาสิกาปิติอร แซ่เล้า พร้อมครอบครัว และคณะบริษัท โอซีบี ๑๙๙๒ จำกัด


DSC01608.JPG



คำนมัสการพระครูบาเจ้าศรีวิชัย
(ตั้งนะโม ๓ จบ) อะยังวุจจะติ สิริวิชะยะจะนะ จะ มหาเถโร อุตตะมัง สีลัง นะระเทเวหิ ปูชิโต โสระโห ปัจจะยาทิมหิ มหาลาภา ภะวันตุเม อะหัง วันทามิ สัพพะทา อะหัง วันทามิ สิระสา อะหัง วันทามิ สัพพะโส สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิฯ

...คำแปล...(ดังข้าพเจ้าจะกล่าวต่อไปนี้ พระมหาเถระเจ้ารูปใด ผู้มีนามว่าศรีวิชัย ผู้มีศีลอันอุดม ผู้อันนรชนและเหล่าทวยเทพทั้งหลายบูชาแล้ว ผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาลทั้งปวง ด้วยการนอบน้อมนั้นเป็นปัจจัย ขอลาภอันใหญ่จงบังเกิดมีแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขออภิวาทซึ่งพระมหาเถระเจ้ารูปนั้นตลอดกาลทั้งปวง ข้าพเจ้าขออภิวาทซึ่งพระมหาเถระเจ้ารูปนั้นด้วยเศียรเกล้า ข้าพเจ้าขออภิวาทซึ่งพระมหาเถระเจ้ารูปนั้นโดยประการทั้งปวง สาธุ สาธุ สาธุ (ดีละ ดีละ ดีละ) ข้าพเจ้าขออนุโมทนาฯ)


(เสร็จแล้วให้ตั้งจิตระลึกถึงพระครูบาเจ้าศรีวิชัย แล้วอธิษฐานตามกุศลเจตนา)



IMG_6592.jpg



IMG_6596.jpg



IMG_6606.JPG



หุ่นรูปเหมือนพระครูบาเจ้าศรีวิชัย จำลองตอนมรณภาพ ประดิษฐานภายในปราสาททองอนุสาวรีย์พระครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดบ้านปาง



IMG_6599.JPG



หุ่นรูปเหมือนพระครูบาเจ้าศรีวิชัย จำลองตอนมรณภาพ วัดบ้านปาง


พระครูบาเจ้าศรีวิชัย สิริวิชโย นักบุญอมตะแห่งล้านนาไทย มรณภาพ เมื่อวันอังคารที่ ๒๑ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๘๑ ปีขาล เวลาเที่ยงคืน ๕ นาที ๓๐ วินาที รวมสิริอายุ ๖๐ ปี ๘ เดือน ๑๐ วัน (ปรกติท่านพระครูบาเจ้าจะนอนหันหัวไปทางทิศใต้ คืนวันมรณภาพก็หันหัวไปทางทิศใต้)



IMG_6597.JPG



ประวัติย่อเหตุการณ์วันมรณภาพพระครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดบ้านปาง  


ในวันแรม ๑๓ ค่ำ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐ ท่านจึงเรียกบรรดาสานุศิษย์มาพร้อมหน้ากัน แล้วสั่งเสียว่า


"ท่านทั้งหลาย! เราเห็นจะไปไม่รอดแน่ อาการครั้งนี้หนักนัก ขอท่านทั้งหลายอย่าได้ละทิ้งการงานที่เราทำไว้ จงจัดการก่อสร้างการทำบุญ การทำคุณงามความดีให้สืบต่อกันไป เวลานี้อาการป่วยทำให้สังขารทรุดหนักทวีขึ้นทุกวัน และมันจะต้องแตกดับอย่างแน่นอน


ขอท่านทั้งหลายจงจำคำเตือนใส่ใจเอาไว้ ประพฤติปฏิบัติธรรมให้เกิดความเจริญและความสุขทั้งแก่ตัวเองและแก่เพื่อนร่วมโลกสืบต่อไป"


ขณะเดียวกันข่าวการอาพาธของท่านพระครูบาเจ้า ได้กระจายไปทั่วทุกมุมเมือง ข่าวนี้รู้ไปถึงเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูน และข้าหลวงประจำจังหวัด ตลอดถึงชาวลำพูนทั้งหลาย ต่างก็ได้พร้อมกันประชุมปรึกษาหารือกันว่าจะทำประการใดดี เพราะต่างก็ห่วงใยในอาการป่วยของท่านพระครูบาเจ้า


ในการปรึกษาหารือครั้งนั้น ท่านเจ้าคุณวิมลญาณ เจ้าคณะจังหวัดลำพูน และบรรดาคณะสงฆ์ทั้งหลายพร้อมด้วยเจ้าจักรคำและทุกคนในที่นั้น มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า ไม่ควรทอดทิ้งให้ท่านพระครูบาเจ้าศรีวิชัยให้การรักษาตัวที่วัดบ้านปาง เพราะอาจจะเป็นอันตรายแก่ชีวิต และคณะสงฆ์ยินดีจะไปอาราธนาพระครูบาเจ้าศรีวิชัยจากวัดบ้านปาง


เมื่อปรึกษาหารือเป็นที่ตกลงกันแล้ว เจ้าคุณวิมลญาณ จึงได้ให้รวบรวมขบวนรถและรีบเดินทางออกจากจังหวัดลำพูนโดยรีบด่วน เมื่อถึงวัดบ้านปาง จึงอาราธนานิมนต์ท่านพระครูบาเจ้าศรีวิชัยเดินทางไปรักษาตัวที่จังหวัดลำพูน ท่านพระครูบาเจ้าท่านรู้ตัวดีว่าการรักษาคงไม่ได้ประโยชน์อะไรนัก แต่เมื่อเห็นเจตนาดีมีคณะสงฆ์และคนมากันจำนวนมากด้วยความหวังดี ท่านจึงตกลงรับคำ


ดังนั้นในวันแรม ๕ ค่ำ พุทธศักราช ๒๔๘๑ ขบวนอันยาวเหยียดก็เดินทางออกจากวัดบ้านปาง อำเภอลี้ ได้พักแรมไประหว่างทางค่อยๆ ไป ใช้เวลา ๕ วัน จึงถึงตัวเมืองลำพูน จึงได้รับการอาราธนานิมนต์พำนักรักษาตัวที่วัดจามเทวี มีทั้งหมอไทย หมอจีน หมอแขก หมอฝรั่ง ต่างก็ช่วยกันเยียวยารักษาอย่างดีที่สุด อาการก็ไม่ได้ดีขึ้น


ณ วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน การรักษาพยาบาลได้เป็นไปอย่างดีที่สุด แต่อาการของท่านมีแต่ทรุดกับทรง ไม่มีทีท่าว่าทุเลาลง ดังนั้นในวันแรม ๕ ค่ำ เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๑ ท่านได้ขอร้องให้นำท่านกลับสู่วัดบ้านปาง บรรดาสานุศิษย์ได้ปฏิบัติตามโดยอาราธนานิมนต์ท่านขึ้นรถ เพื่อออกเดินทางท่ามกลางบรรดาผู้มีจิตศรัทธาตามส่งอย่างคับคั่ง


เมื่อถึงวัดบ้านปาง ท่านพักรักษาตัวอยู่ที่กุฏิในวัดบ้านปาง จนถึงวันแรม ๖ ค่ำ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๘๑ อาการป่วยของท่านหนักลง จนไม่สามารถจะพลิกตัวได้ โรคริดสีดวงทวารของท่านพระครูบาเจ้าเป็นรูทะลุถึง ๓ รู น้ำเหลืองไหลซึมอยู่ตลอดเวลา จนทำให้ท่านผอมจนเหลือแต่หนังหุ้มกระดูกหมดเรี่ยวแรง แต่ท่านก็ยังมีสติเป็นเยี่ยม ท่านได้มีรับสั่งให้สานุศิษย์นำเสลี่ยงมาหามท่าน นำท่านไปชมรอบบริเวณวัดแล้วออกไปนอกกำแพง


โดยก่อนหน้านั้น ท่านได้สั่งให้ปลูกกุฏิมุงด้วยหญ้าคาอยู่นอกเขตกำแพงวัด เมื่อขึ้นกุฏิแล้ว ท่านก็ให้เอาคนโทหลั่งน้ำ ประกาศต่อสานุศิษย์ว่า ขอมอบวัดวาอารามทั้งหมดนี้ให้อยู่ในความปกครองของสงฆ์สืบต่อไป ท่านพระครูบาเจ้ายังมีรับสั่งให้นายช่างชาวจีน ช่างประจำตัวของท่าน ชื่อนายช่างหลิ่ม ให้สร้างโลงศพและปราสาท ๕ ยอด นายช่างหนานสิระสา เป็นผู้ประดับดอกรดน้ำลายทองรอบโลงและปราสาท ๕ ยอด อย่างวิจิตรสวยงาม


และพระครูบาเจ้าท่านเคยพูดถึงโรคภัยไข้เจ็บของท่านว่า "เราเป็นโรคกรรมแต่อดีตมาตามทัน คือเมื่ออดีตชาติเราก็เคยเป็นพระได้ถือไม้เท้าปลายแหลม ๓ ง่าม ได้ไปแทงใส่ก้นกบตัวหนึ่งเข้า กบได้รับเวทนาจึงเป็นเวรแก่กัน เวทนาของเราเดี๋ยวนี้คงไม่ต่างอะไรกันกับกบตัวนั้น ถึงอย่างไรเราก็ปลงตกแล้ว ไม่ให้เป็นเวรเป็นภัยแก่กันอีกต่อไป เราหวังให้สิ้นภพสิ้นชาติ ขอให้เป็นพระโปรดโลกองค์หนึ่งในวันข้างหน้า เราจะละสังขารไปในเดือนนี้แล้ว ขอให้ท่านทั้งหลายจงดูความวิปริตของท้องฟ้าไว้เป็นสัญญาณเถิด"


และท่านยังย้ำอีกว่า "หากเรามรณภาพแล้ว อย่าเอาซากศพของเราไว้ในเขตวัดเป็นอันขาด เพราะเป็นเขตของพระรัตนตรัย อย่าเอาซากศพอันเป็นของปฏิกูลไปตั้งวางยังสถานที่อันสูงส่งและบริสุทธิ์ และอย่าเอาศพของเราไว้ด้านทิศตะวันตกของวัด"


คืนวันแรม ๒ ค่ำ ดวงจันทร์มีเพียงเสี้ยวประดับฟ้ากลับดูลางเลือน ท้องฟ้าเหมือนมีพยัพเมฆมาบดบังดูมืดทะมึน อะไรกันนั่น! ท้องฟ้าที่เคยมีดวงดาวประดับกลับมืดทะมึน มองดูก้อนเมฆคล้ายอสูรร้ายมาจับกุมอย่างหนาแน่น ทุกคนที่มองดูท้องฟ้าในคืนวันนั้นด้วยความรู้สึกสะท้าน จริงหรือ? ที่ท่านพระครูบาเจ้าว่า จงดูความวิปริตของท้องฟ้าเป็นสัญญาณ อนิจจา!! มันถึงแล้วหรือนี้!


ความเงียบได้ครอบงำบ้านปางทุกหัวระแหง แมลงและสัตว์ที่หากินกลางคืนสงบเงียบไม่มีการส่งเสียง คล้ายกับมันกำลังสงบนิ่งไว้อาลัยอย่างสุดเศร้า ในกุฏิน้อยที่มุงด้วยหญ้าคาของท่านพระครูบาเจ้าศรีวิชัยนั้นเล่า ร่างของท่านนอนเหยียดยาว ดวงตาหลับสนิท แต่ท่านก็ประคองสติให้ตั้งมั่นอยู่ในพุทธานุสติมิได้ขาด เสียงของท่านพูดออกมาอย่างอิดโรยและแผ่วเบาว่า


"ขอให้ธุเจ้าเอาธรรมมาเทศนาให้ฟังด้วย เราอยากฟังพุทธโอวาทเป็นครั้งสุดท้าย" ธรรมที่บรรดาสานุศิษย์นำมาเทศน์ทั้งหมด ๔ ผูก คือ


๑. ธรรมมังคละสูตร

๒. ธรรมโลกวุฒิ

๓. ธรรมบารมี

๔. ธรรมจักร


ขณะที่ท่านข่มโรคาพาธสงบจิตฟังธรรมเทศนาอยู่นั้น ท่านมักจะถามด้วยเสียงแหบแห้งแทบจะไม่ได้ยินว่า "ถึงเวลา ๑๒ โมงหรือยัง" ถามเช่นนี้เป็นระยะๆ นานๆ ครั้งจะได้ยินเสียงถอนหายใจและสะอึก อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงเวทนาอันแรงกล้าที่กำลังคุกคามตัวท่าน ถูกความอดทนคือขันติเข้าข่ม เป็นอาการถอนหายใจ พอท่านถามอีกครั้งได้รับคำตอบว่าใกล้เที่ยงคืนแล้ว ท่านพระครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงโบกมือให้หยุดอ่านธรรมเทศนาผูกที่ ๔ ลง (พระครูบาตา เป็นผู้เทศนา) ซึ่งอ่านไปได้ครึ่งผูก


แล้วท่านพระครูบาเจ้าได้สำรวมจิตตั้งมั่นอยู่ในฌานสมาบัติ ร่างของท่านก็ได้นิ่งไม่ไหวติง มีแต่ลมหายใจเข้าออกอย่างแผ่วเบา และขาดหว้งเป็นระยะๆ ในที่สุดลมปราณก็ขาดออกจากร่างของท่านพระครูบาเจ้าศรีวิชัย สิริวิชโย นักบุญอมตะแห่งล้านนาไทย ในเวลาเที่ยงคืน ๕ นาที ๓๐ วินาที ตรงกับวันอังคารที่ ๒๑ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๘๑ ปีขาล รวมสิริอายุ ๖๐ ปี ๘ เดือน ๑๐ วัน (ปรกติท่านพระครูบาเจ้าจะนอนหันหัวไปทางทิศใต้ คืนวันมรณภาพก็หันหัวไปทางทิศใต้)


ขณะที่ท่านพระครูบาเจ้าดับขันธ์ นายวังเงิน สุนัลหงษ์ นายน้อยแก้ว พลเมฆ เป็นผู้ตีปาน (กังสดาล) ตามธรรมเนียมนิยมถือว่าเป็นการบอกทิศทาง พอบรรดาศิษย์ทั้งหลายตั้งสติได้ ซึ่งมีพระทองสุข ซึ่งเป็นพระผู้อุปัฏฐาก ได้เอาน้ำผึ้งกรอกปากศพของท่านพระครูบาเจ้า เพื่อกันไม่ให้ศพเน่าเหม็น


พอรุ่งขึ้นก็นำร่างของท่านออกมาชำระน้ำขมิ้นส้มป่อยน้ำอบน้ำหอม เอาศพของท่านนอนไว้ ๗ วัน ๗ คืน เพื่อให้สานุศิษย์ได้เห็นและทำการถวายสักการะ จึงได้บรรจุในโลงรดน้ำลายทอง ที่ท่านสั่งให้สร้างเตรียมไว้แล้ว (เป็นที่น่าแปลก ศพของท่านพระครูบาเจ้าเก็บไว้ตั้ง ๗ วัน แต่ศพของท่านไม่มีการเปลี่ยนแปลง)


โดยการนำของตาปะขาวปี ซึ่งเป็นศิษย์อาวุโสได้สั่งให้นายช่างหนานหมวกสร้างเมรุปราสาทด้านทิศตะวันตก แล้วตาปะขาวปีได้นำคนแผ้วถางทางรอบวัด ที่จะนำศพของท่านพระครูบาเจ้าจากด้านตะวันออกที่ท่านนอนมรณภาพ ไปสู่ทิศตะวันตกของวัด


บรรดาสานุศิษย์ได้อาราธนาศพของท่านพระครูบาเจ้า ขึ้นสู่ปราสาท ๕ ยอด ที่เตรียมไว้ในเมรุที่สร้างขึ้นใหม่ในวันจันทร์ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือนยี่ (เหนือ) พุทธศักราช ๒๔๘๒ พระศพของพระครูบาเจ้าศรีวิชัย ได้ตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดบ้านปาง ๒ ปี


เมื่อข่าวการมรณภาพของพระครูบาเจ้า ทราบถึงสำนักพระราชวัง จึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชเพลิงศพจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระองค์จึงได้มีพระราชโองการรับสั่งให้ช่างหลวงจัดเตรียมสร้างโกศบรรจุศพพร้อมพระราชทานเพลิง


พอเรื่องจากสำนักพระราชวังทราบมาถึงเจ้าวรทัต ณ ลำพูน (ราชบุตรของเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้าย) ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสมัยนั้น จึงได้ร่วมกับชาวเมืองลำพูนคิดกันว่า จะต้องอัญเชิญอาราธนาศพของท่านพระครูบาเจ้าศรีวิชัย มาประกอบพิธีพระราชทานเพลิงที่วัดจามเทวี เมืองลำพูน ซึ่งเป็นวัดที่ท่านสร้างเป็นวัดสุดท้าย เพราะวัดบ้านปางอยู่ที่ไกลกันดาร ถนนหนทางก็ไม่สะดวกโดยประการทั้งปวง


พอทางเชียงใหม่รู้ข่าวว่าทางลำพูนจะอาราธนาศพของท่านพระครูบาเจ้าประกอบพิธีพระราชทานเพลิง ก็อยากจะได้ศพของท่านพระครูบาเจ้าไปประกอบพิธีในจังหวัดของตน จนเกิดการโต้เถียงเกือบจะเกิดการนองเลือด ในที่สุดก็ยอมจำนนต่อชาวลำพูน ที่อ้างเอาอมตะวาจาของท่านพระครูบาเจ้ามายืนยันอย่างแข็งขันว่า


"ตราบใดที่น้ำแม่ปิงไม่ไหลล่องขึ้นเหนือ ท่านจะไม่ขอเหยียบย่างแผ่นดินเมืองเชียงใหม่" นี่น้ำแม่ปิงยังไม่ย้อนไหลกลับ จะเอาศพของท่านไปได้อย่างไร ชาวเชียงใหม่จึงจนด้วยเหตุผล เพราะต่างก็รู้สึกซึ้งในจิตใจว่าท่านพระครูบาเจ้าได้ลั่นวาจาอะไรออกไปแล้วก็เหมือนประกาศิตของเทพเจ้าผู้วิเศษ จึงยอมแพ้ชาวลำพูนด้วยประการนี้


การนำศพของท่านพระครูบาเจ้าศรีวิชัย สิริวิชโย ออกไปจากถิ่นฐานของท่านในครั้งนั้น ไม่มีใครในบ้านปางจะเต็มใจให้ไป แต่ก็เกรงกลัวอำนาจทางฝ่ายบ้านเมือง จึงไม่กล้าที่จะปฏิเสธและขัดขวางยับยั้งอย่างไรได้ ศพของท่านพระครูบาเจ้าศรีวิชัย สิริวิชโย ได้ตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดจามเทวีนานถึง ๗ ปี จึงได้มีหมายกำหนดการพระราชทานเพลิงขึ้นในวันที่ ๒๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๘๙


ในปีเดียวกันนั้นเอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ก็ถูกลอบปลงพระชนม์เสียก่อน ทางสำนักพระราชวังจึงได้เรียนเชิญพลตรี พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี และจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากสำนักพระราชพิธีได้อัญเชิญเพลิงพระราชทาน


เมื่อมาถึงสถานีรถไฟวังตองแล้ว ข้าราชการและประชาชนจึงได้พร้อมกันไปอัญเชิญเพลิงพระราชทานแห่มาที่วัดจามเทวี ทางฝ่ายคณะสงฆ์ก็ได้อาราธนาพระพิมลธรรม (อาจอาสภะ) วัดมหาธาตุ ซึ่งเป็นเจ้าคณะภาคพายัพ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ศพของท่านพระครูบาเจ้าศรีวิชัยได้ตั้งบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นงานครั้งยิ่งใหญ่ถึง ๑๕ วัน ๑๕ คืน ประชาชนมากันทั่วสารทิศมากมายเป็นประวัติศาสตร์


เจ้าหน้าที่ฝ่ายพระราชพิธีได้อาราธนาร่างของท่านพระครูบาเจ้ามาประกอบพิธีชำระตามแบบเจ้านายในราชวงศ์ เสร็จแล้วจึงบรรจุลงในโกศและอาราธนาขึ้นไปสู่เมรุปราสาท (ใต้ต้นโพธิ์ใหญ่ในปัจจุบัน) เวลา ๑๒.๐๐ น. พลตรี พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้อัญเชิญเพลิงพระราชทานมาจุด แล้วพระสงฆ์สมณศักดิ์ สวดหน้าไฟ เป็นเสร็จพระราชพิธี


ต่อจากนั้นถึงเวลาเที่ยงคืนจึงได้จุดพระเพลิงเผาจริงๆ เจ้าหน้าที่ต้องทำงานกันอย่างแข็งขัน แม้จะเป็นเวลาดึกดื่นเที่ยงคืนแล้วก็ตาม มหาชนก็ยังเนืองแน่น เฝ้าดูพระเพลิงเผาร่างนักบุญของเขา ไฟยังไม่ทันมอดสนิทดี ประชาชนต่างแย่งกันดับไฟยื้อแย่งอัฐิธาตุของท่านพระครูบาเจ้ากันอย่างชุลมุน


ในที่สุดเจ้าหน้าที่ก็สามารถที่จะรวบรวมได้เป็นส่วนใหญ่ จึงปล่อยให้ประชาชนแย่งกันไปตามเรื่องราว เพราะเขาเหล่านั้นมีความศรัทธาอันแรงกล้า ถึงขนาดขี้เถ้าก็ไม่มีเหลือ สุดแต่พื้นดินตรงที่ร่างนักบุญถูกเผาก็ยังขุดกันเอาไปสักการบูชา


การใช้จ่ายงานพระราชทานเพลิงศพ ของท่านพระครูบาเจ้าศรีวิชัย สิริวิชโย ที่วัดจามเทวี ๑๕ วัน ๑๕ คืน รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดเป็นเงินประมาณ ๗๕,๐๐๐ บาท ปัจจัยทั้งหมดนี้ได้มาจากการบริจาคของศรัทธาประชาชน และได้จากการจำหน่ายเหรียญพระครูบาเจ้ารุ่น ๒๔๘๒


หลังจากงานพระราชทานเพลิงศพของท่านพระครูบาเจ้าได้ผ่านไปแล้ว ทางฝ่ายคณะกรรมการจัดงานทั้งฝ่ายบรรพชิตและฝ่ายคฤหัสถ์ได้ปรึกษากันเป็นเรื่องใหญ่อีกว่า ควรจะทำประการใดเกี่ยวกับอัฐิธาตุของท่านพระครูบาเจ้าศรีวิชัย จึงต่างได้ลงมติเป็นเสียงเดียวกันว่าจะแบ่งเป็น ๖ ส่วน ๕ จังหวัด คือ

ส่วนที่ ๑  มอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน บรรจุไว้ที่วัดจามเทวี


ส่วนที่ ๒  มอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ บรรจุไว้ที่วัดสวนดอก


ส่วนที่ ๓  มอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง บรรจุไว้ที่วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม


ส่วนที่ ๔  มอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย บรรจุไว้ที่วัดศรีโคมคำ (วัดพระเจ้าตนหลวง หรือวัดทุ่งเอี้ยง จ.พะเยา)


ส่วนที่ ๕  มอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ บรรจุไว้ที่วัดพระธาตุช่อแฮ


ส่วนที่ ๖  มอบให้วัดบ้านปาง บรรจุในถิ่นกำเนิด และเป็นสถานที่มรณภาพของท่านพระครูบาเจ้า ซึ่งคณะศรัทธาสาธุชนผู้เคารพเลื่อมใสในแต่ละแห่ง ได้พร้อมกันสร้างอนุสาวรีย์ไว้เป็นองค์แทนคุณงามความดีของท่าน เพื่ออนุชนรุ่นหลังจะได้เจริญรอยตาม


ส่วนที่วัดบ้านปางก็ได้สร้างสถูปพร้อมด้วยมณฑปปราสาททำด้วยหินอ่อน ณ บริเวณสถานที่ท่านมรณภาพ และได้สร้างเสาศิลาจารึกไว้ ณ สถานที่ท่านกำเนิด พร้อมกันนั้นก็ได้สร้างพิพิธภัณฑ์ เพื่อเก็บรักษาเครื่องอัฐบริขารและสิ่งของที่ท่านเคยใช้มาก่อนแล้ว


จึงนับได้ว่า วัดบ้านปางเป็นปูชนียสถานที่สำคัญยิ่งเกี่ยวกับชีวิตของพระครูบาเจ้าศรีวิชัย สิริวิชโย ผู้เป็นนักบุญแห่งล้านนาไทย เพราะเป็นวัดที่ท่านเริ่มสร้างเป็นแห่งแรก และยังเป็นสถานที่ท่านดับขันธ์มรณภาพอีกด้วย


ขอดวงวิญญาณอันบริสุทธิ์ของท่านพระครูบาเจ้า ซึ่งสถิตอยู่สรวงสวรรค์ชั้นดุสิต โปรดได้หยั่งทราบถึงการเจริญรอยตามบาทวิถีของพระคุณท่าน และขอได้โปรดอนุโมทนาในกุศลเจตนาของข้าพเจ้าทั้งหลายด้วยเทอญ


-----------------


(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : พระอานันท์ พุทธธัมโม รวบรวมและเรียบเรียง. (๒๕๕๖, ๑๑ มิถุนายน). หนังสือประวัติของพระครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งลานนาไทย วัดบ้านปาง ตำบลศรีวิชัย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน, หน้า ๑๗๗-๒๐๔.)


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_6515.JPG



IMG_5847.JPG



IMG_5851.JPG



IMG_6527.JPG



ทางไปอนุสาวรีย์พระครูบาเจ้าศรีวิชัย พระนั่งองค์ใหญ่ พระนอนใหญ่ วัดบ้านปาง



IMG_6531.JPG



ข่วงป๋าระมีธรรมพระครูบาเจ้าศรีวิชัย ๑๓๖ ปี๋ (๑๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๗) นักบุญอมตะแห่งล้านนาไทย วัดบ้านปาง


"ยินดีต้อนรับ

สู่ดินแดนนักบุญล้านนา

ไหว้สาปารมี ๑๓๖ ปี ครูบาเจ้าศรีวิชัย

๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๗

ณ วัดบ้านปาง อ.ลี้ จ.ลำพูน"



IMG_6547.JPG



IMG_6556.JPG



IMG_6538.JPG



DSC01602.JPG



ปราสาททองอนุสาวรีย์พระครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดบ้านปาง

เป็นมณฑปปราสาทหินอ่อนครอบสถูปที่บรรจุอัฐิธาตุพระครูบาเจ้าศรีวิชัย ตรงสถานที่มรณภาพของท่านพระครูบาเจ้าศรีวิชัย

พระอานันท์ พุทธธัมโม ดำเนินการสร้าง โดยความอุปถัมภ์ของคุณเชิดชัย-คุณศิริเพ็ญ วิไลลักษณ์ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานประกอบพิธียกช่อฟ้าปราสาทหินอ่อน
และดร.ประกอบ หุตะสิงห์ องคมนตรี ประกอบพิธียกฉัตรปราสาทหินอ่อน ได้มีงานทำบุญฉลองสมโภชสถูปบรรจุอัฐิธาตุพระครูบาเจ้าศรีวิชัยและปราสาทหินอ่อน ในวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๔


IMG_6614.JPG



จิตรกรรมฝาผนัง ภายในปราสาททองอนุสาวรีย์พระครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดบ้านปาง


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_6512.JPG



DSC01598.JPG



ศาลาครอบรอยมือรอยเท้าของพระครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนา วัดบ้านปาง


IMG_6505.JPG



DSC01600.JPG



IMG_6496.JPG



รอยมือรอยเท้าของพระครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนา (วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อ.ลี้ จ.ลำพูน) วัดบ้านปาง


IMG_6499.JPG



คำไหว้รอยมือรอยเท้าพระครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนา
(ว่านะโม ๓ จบ) พระครูบา ชัยยะวงศา ภิกขุ หัฐ ปาทะ วาระยุตตะระ ปาทะ วรัง สิระสา นะมามิ อหัง อายุ วรรณัง สุกขัง พลัง



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_6514.JPG



IMG_6145.JPG



IMG_6182.JPG



ต้นโพธิ์ใหญ่ วัดบ้านปาง


IMG_6209.JPG



DSC01578.JPG



IMG_6261.JPG



IMG_6215.JPG



รอยเท้าของพระครูบาเจ้าศรีวิชัย ประดิษฐานใต้ต้นโพธิ์ใหญ่ วัดบ้านปาง



IMG_6281.JPG



รอยมือรอยเท้าของพระครูบาเจ้าศรีวิชัย ประดิษฐานใต้ต้นโพธิ์ใหญ่ วัดบ้านปาง


IMG_6211.JPG


DSC01577.JPG



IMG_6275.JPG



รอยมือรอยเท้าของพระครูบาเจ้าอภิชัยขาวปี (วัดพระพุทธบาทผาหนาม อ.ลี้ จ.ลำพูน) ประดิษฐานใต้ต้นโพธิ์ใหญ่ วัดบ้านปาง


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_5883.JPG



เรียนเชิญคณะศรัทธาญาติโยมที่มาถวายสังฆทาน หรือถวายจตุปัจจัย เพื่อบำรุงวัดบ้านปาง ขอเรียนเชิญที่ศาลาบำเพ็ญบุญ “ศรีวิไจยาธรรมานุสรณ์” หน้าต้นโพธิ์ใหญ่ วัดบ้านปาง



IMG_6284.JPG



ศาลาบำเพ็ญบุญ “ศรีวิไจยาธรรมานุสรณ์” วัดบ้านปาง


คณะศรัทธาวัดบ้านปาง สร้างถวายเมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๙



IMG_6225.JPG



IMG_6237.JPG



IMG_6242.JPG



พระประธานและพระพุทธรูปต่างๆ ประดิษฐานภายในศาลาบำเพ็ญบุญ “ศรีวิไจยาธรรมานุสรณ์” วัดบ้านปาง


IMG_6245.JPG



พระมุนีศรีสัพพัญญูพระพุทธเจ้า (พระประธาน) ประดิษฐานภายในศาลาบำเพ็ญบุญ “ศรีวิไจยาธรรมานุสรณ์” วัดบ้านปาง


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_6451.JPG



IMG_6455.JPG



อุโบสถ วัดบ้านปาง



IMG_6166.JPG



ศาลา ๓ ครูบา วัดบ้านปาง


IMG_6163.JPG



รูปเหมือนพระครูบาเจ้าศรีวิชัย (นักบุญแห่งล้านนาไทย) ประดิษฐานภายในศาลา ๓ ครูบา วัดบ้านปาง



คำไหว้พระครูบาเจ้าศรีวิชัย
(ว่านะโม ๓ จบ) อะยังวุจจะติ สิริวิชะยะจะนะ จะ มหาเถโร อุตตะมัง สีลัง นะระเทเวหิ ปูชิโต โสระโห ปัจจะยาทิมหิ มหาลาภา ภะวันตุเม อะหัง วันทามิ สัพพะทา อะหัง วันทามิ สิระสา อะหัง วันทามิ สัพพะโส สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิฯ


IMG_6164.JPG



รูปเหมือนพระครูบาเจ้าอภิชัยขาวปี
(วัดพระพุทธบาทผาหนาม อ.ลี้ จ.ลำพูน) ประดิษฐานภายในศาลา ๓ ครูบา วัดบ้านปาง


คำไหว้พระครูบาเจ้าอภิชัยขาวปี
(ว่านะโม ๓ จบ) สาธุ อะหัง นะมามิ พระอภิชัยยาชะนะภิกขุ เสตะเถระ สีละวันตา นะวะโลกุตตระ ธัมมะ บัณฑิตตัง
กะตัง ปุญญัง ปะติสังขาระ วะระพุทธะสาสะนัง อะระหันตะ โพธิสัตโต ปุญญังโน เมนาโถ สิระสา นะมามิ


IMG_6162.JPG



รูปเหมือนพระครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนา
(วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อ.ลี้ จ.ลำพูน) ประดิษฐานภายในศาลา ๓ ครูบา วัดบ้านปาง


คำไหว้พระครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนา
(ว่านะโม ๓ จบ) สาธุอะหังนะมามิ พระชัยยะวงศาภิกขุ อาริเยนะ อังคาระวิชัยโย บัณฑิตโต๋ ทะสะปารมีโย ทะสะอุปปารมีโย ทะสะปรมัตถปารมีโย กะต๋า ปุณญังโน เมถาโถ เมถาถัง สิระสา นะมามิ


IMG_6472.JPG



IMG_6453.JPG



หอระฆัง วัดบ้านปาง


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

DSC01566.JPG



ประวัติวัดบ้านปาง



วัดบ้านปาง เริ่มสร้างเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๔ โดยการสร้างของพระครูบาเจ้าศรีวิชัย สิริวิชโย อายุ ๒๔ ปี พรรษา ๔ มีนายควาย โยมบิดาเป็นผู้แรกแผ้วถางเป็นปฐมฤกษ์ แรกสร้างพระครูบาเจ้าตั้งนามว่า “วัดจ๋อมสะหรีทรายมูลบุญเรือง” แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงเรียกตามนามบ้านว่า “วัดบ้านปาง”  

เนื้อที่บริเวณวัดทั้งหมดมี ๑๖๐ ไร่ แต่ที่กำหนดในเขตกำแพงมี ๒๐ ไร่ กำแพงหินที่ก่อล้อมรอบมี ๔ ชั้น ถ้ารวมกำแพงแก้วรอบองค์พระธาตุเป็น ๕ ชั้น
และท่านพระครูบาเจ้าศรีวิชัยก็ได้เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก เมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๔

พระครูบาเจ้าศรีวิชัยได้สร้างวัดใหม่ขึ้น ท่านก็จินตนาการโยงใยให้คล้อยเหตุการณ์ครั้งพระพุทธองค์คือ พยายามจัดให้เป็นอรัญวาสี (วัดป่า) กำแพงก็ใช้หินเป็นก้อนๆ ก่อซ้อนเรียงรายเป็นระเบียบ เพราะท่านไม่ทำลายธรรมชาติ กลับทำให้ธรรมชาติผุดเด่นขึ้นเอง ทำให้วัดป่าวัดดอยห่างไกลชนบท ถนนหนทางรถเรือก็ไม่มี เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว

ภายในไม่กี่ปีก็มีพระสงฆ์สามเณรอาศัยอยู่พำนักกันเป็นจำนวนมาก สมัยนั้นถือว่าวัดบ้านปางเป็นวัดหลวงวัดหนึ่งของเมืองลำพูน ท่านพระครูบาเจ้าได้ปลูกต้นมะม่วงไว้ทั่วบริเวณวัดเหมือนสวนอัมพวัน อีกด้านหนึ่งก็ปลูกต้นไผ่ให้เหมือนเวฬุวนาราม


และรอบบริเวณวัดก็เป็นไม้รังที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งลักษณะต้นใบและดอกของไม้รังก็คล้ายต้นสาละมากเหมือนสวนลุมพินีสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า และป่าสาละวันสถานที่พระพุทธเจ้าทรงดับขันธ์ปรินิพพานธาตุ และมีต้นตาลมากมายในบริเวณวัด ก็เป็นเรื่องเกี่ยวโยงสมัยครั้งพุทธกาลทั้งนั้น


รายนามลำดับเจ้าอาวาสวัดบ้านปาง

๑. องค์ที่ ๑ พระครูบาศรีวิชัย สิริวิชโย  เป็นเจ้าอาวาส ๓๗ ปี (พ.ศ.๒๔๔๔-๒๔๘๑)

๒. องค์ที่ ๒  พระทองสุข ธัมมสโร  เป็นเจ้าอาวาส ๖ ปี ลาสิกขา

๓. องค์ที่ ๓  พระแสง  เป็นเจ้าอาวาส ๓ ปี มรณภาพ

๔. องค์ที่ ๔  พระไจยา  เป็นเจ้าอาวาส ๑ ปี ย้ายไปที่อื่น

๕. องค์ที่ ๕  พระแก้ว รัตนญาโณ  เป็นเจ้าอาวาส ๙ ปี ลาสิกขา

๖. องค์ที่ ๖  พระอธิการกองคำ ธัมมรัตตโน  เป็นเจ้าอาวาส ๑๓ ปี ลาสิกขา

๗. องค์ที่ ๗  พระวิลาส ธัมมทินโน  เป็นเจ้าอาวาส ๒ ปี ลาสิกขา

๘. องค์ที่ ๘  พระทองอิ่น  เป็นเจ้าอาวาส ๓ ปี ลาสิกขา

๙. องค์ที่ ๙  พระบุญเมือง พุทธสโร  เป็นเจ้าอาวาส ๕ ปี มรณภาพ

๑๐. องค์ที่ ๑๐  พระสุทัศน์ สุวัฒฑโณ  เป็นเจ้าอาวาส ๗ ปี ลาสิกขา

๑๑. องค์ที่ ๑๑  พระนิยม โชติธัมโม  เป็นเจ้าอาวาส ๑ ปี ลาสิกขา

๑๒. องค์ที่ ๑๒  พระครูสิริวิชยางกูร (จรูญ สุจิตฺโต)  เป็นเจ้าอาวาส (รับตำแหน่งปี พ.ศ.๒๕๓๐)

๑๓. องค์ที่ ๑๓  พระครูบาอเนก อาสโภ  เป็นเจ้าอาวาส พ.ศ.๒๕๕๗

๑๔. องค์ที่ ๑๔  พระกล ฐานวโร  เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน (รับตำแหน่งปี พ.ศ.๒๕๕๙)


----------------------


(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : พระอานันท์ พุทธธัมโม รวบรวมและเรียบเรียง. (๒๕๕๖, ๑๑ มิถุนายน). หนังสือประวัติของพระครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งลานนาไทย วัดบ้านปาง ตำบลศรีวิชัย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน, หน้า ๑๕, ๑๘, ๒๑๐. และเว็บแดนนิพพาน ดอทคอม เรียบเรียงใหม่ (๒๕๖๕, มิถุนายน))


2.jpg



ตราประจำวัดบ้านปาง และ ตราประจำตัวพระครูบาเจ้าศรีวิชัย


(แหล่งอ้างอิงภาพ : พระอานันท์ พุทธธัมโม รวบรวมและเรียบเรียง. (๒๕๕๖, ๑๑ มิถุนายน). หนังสือประวัติของพระครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งลานนาไทย วัดบ้านปาง ตำบลศรีวิชัย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน, ปกหลัง.)

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_6488.jpg



IMG_6490.JPG



IMG_6170.JPG



พระบรมธาตุเจดีย์ ประดิษฐานด้านหลังพระวิหารพระครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดบ้านปาง



IMG_6186.JPG



IMG_6152.JPG



IMG_6310.JPG



IMG_6175.JPG



IMG_6290.JPG



IMG_6317.JPG



IMG_6295.JPG



IMG_6481.JPG



พระบรมธาตุเจดีย์ วัดบ้านปาง


ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยการสร้างของพระครูบาเจ้าศรีวิชัย เจ้าอาวาสวัดบ้านปาง รูปที่ ๑ เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๘

หลังจากก่อสร้างพระธาตุเจดีย์สำเร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านพระครูบาเจ้าได้ทำบุญให้ทาน เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย เป็นงานใหญ่ พร้อมกับฉลองกุฏิใหญ่และบันไดนาคด้านทิศเหนือ ทำบุญ ๑๕ วัน ๑๕ คืน


IMG_6255.JPG



คำนมัสการพระบรมธาตุเจดีย์

(ว่านะโม ๓ จบ) วันทามิ เจติยัง สัพพัง สัพพัฏฐาเนสุ ปะติฏฐิตา สะรีระธาตุโย เกศาธาตุโย อะระหันตา ธาตุโย เจติยัง คันทะกุฏิง จะตุละสี ติสสะหัสเส ธัมมักขันเธ สัพเพสัง ปาทะเจติยัง อะหังวันทามิ ธาตุโย อะหังวันทามิ ทุระโส อะหังวันทามิ สัพพะทา อะหังวันทามิ สิระสาฯ


IMG_6492.JPG



ขอโมทนาบุญกับผู้สร้าง ผู้บูรณะ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องในบุญกุศล ณ สถานที่แห่งนี้ทั้งหมดทั้งมวลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและอนาคต สาธุ สาธุ สาธุ



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_6686.JPG



ทางเข้าเขตพุทธาวาสทิศตะวันออก วัดบ้านปาง



IMG_6408.JPG



IMG_6407.JPG



รูปปั้นกุมภัณฑ์ ๒ ตน ประดับทางเข้าเขตพุทธาวาสทิศตะวันออก วัดบ้านปาง


IMG_6331.JPG



ทางเข้าเขตพุทธาวาสทิศเหนือ วัดบ้านปาง


DSC01596.JPG



รูปปั้นกุมภัณฑ์ ๒ ตน ประดับทางเข้าเขตพุทธาวาสทิศเหนือ วัดบ้านปาง

คณะศรัทธา คุณกุคั่น-คุณเครือวัลย์ กลัมพากร พร้อมด้วยญาติพี่น้องทุกคน เป็นเจ้าภาพบูรณะ เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๖ สิ้นค่าบูรณะทั้งหมด ๑๐๕,๙๕๕ บาท


IMG_6358.JPG



พระวิหารและพระบรมธาตุเจดีย์ วัดบ้านปาง


โดยการสร้างของท่านพระครูบาเจ้าศรีวิชัย (นักบุญแห่งล้านนาไทย) อดีตเจ้าอาวาสองค์แรกวัดบ้านปาง



IMG_6412.JPG



พระวิหารพระครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดบ้านปาง

ดยการสร้างของพระครูบาเจ้าศรีวิชัย เจ้าอาวาสวัดบ้านปาง รูปที่ ๑ เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๙


DSC01580.JPG



ประวัติพระวิหารพระครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดบ้านปาง



พระวิหารพระครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดบ้านปาง สร้างโดยพระครูบาเจ้าศรีวิชัย เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๙ หลังจากที่ท่านพระครูบาเจ้าเดินทางกลับจากกรุงเทพฯ จากพิจารณาคดีครั้งสุดท้าย คราวถูกกล่าวหาครั้งที่ ๔ อายุ ๕๘ ปี ถึง อายุ ๕๙ ปี

ท่านพระครูบาเจ้าศรีวิชัยเดินทางกลับไปถึงวัดบ้านปางไม่กี่วัน ท่านจึงได้รื้อพระวิหารหลังเดิม แล้วทำการก่อสร้างพระวิหารขึ้นมาใหม่ โดยเทคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหลัง ระหว่างการก่อสร้างได้มีชาวบ้านและพระเณรมาช่วยทำงานจำนวนมาก และจะต้องหาบน้ำจากในหมู่บ้านขึ้นมาบนวัด เพื่อผสมปูนในการเทคอนกรีตด้วยความเหน็ดเหนื่อย วันหนึ่งๆ ต้องหาบน้ำขึ้นบนวัด ซึ่งเป็นเนินเขาคนละหลายเที่ยว

มีอยู่วันหนึ่ง ท่านพระครูบาเจ้าเห็นพระเณรต้องหาบน้ำ จึงเกิดความรู้สึกเวทนา จึงรำพึงว่า "สาธุ! ขอเทวบุตรเทวดาเจ้าทั้งหลายโปรดได้เอ็นดูสงสารพระเณร จงช่วยบันดาลให้ฝนตกลงมามีน้ำมาสร้างพระวิหารหลังนี้ให้สำเร็จด้วยเถิด" เวลานั้นประมาณ ๑๐.๐๐ น. พอถึงเวลา ๑๕.๐๐ น. ฝนได้เทลงมาห่าใหญ่ จนน้ำขังเต็มสระบนวัด สามารถนำน้ำมาสร้างพระวิหารได้โดยตลอด วันนั้นตรงกับเดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๙

นายช่างที่ทำลายดอกหน้าบันด้านตะวันออก ชื่อนายช่างหนานแก้ว นายช่างที่ทำลายดอกหน้าบันด้านตะวันตก ชื่อนายช่างหนานหมวก นายช่างที่ทำแท่นพระประธานวิหาร ชื่อนายช่างดิ่งและนายช่างเส่ง นายช่างที่สร้างพระประธาน ชื่อพระหน่อคำ (ชาวอำเภอดอยสะเก็ด)

การก่อสร้างพระวิหารยังไม่ทันเสร็จ บรรดาผู้มีความปรารถนาดีและต้องการบูรณะซ่อมแซมวัดจามเทวี ก็พากันเดินทางมานิมนต์พระครูบาเจ้าศรีวิชัยมาจำพรรษา ได้พากันมารับท่านเข้าสู่เมืองลำพูนอีกครั้งหนึ่ง เมื่อการทำบุญฉลองที่วัดจามเทวีเสร็จ ท่านจึงได้เดินทางกลับมาสร้างพระวิหารวัดบ้านปางที่ยังไม่เรียบร้อยต่อไปอีก

ท่านมาทำได้ไม่ทันไร ชาวจังหวัดลำพูนได้พากันเดินทางไปสู่บ้านปาง มาปรึกษาขออาราธนานิมนต์ท่านไปสร้างสะพานใหญ่ เพื่อเชื่อมการคมนาคมระหว่างเชียงใหม่กับจังหวัดลำพูน สถานที่จะสร้างคือ สะพานข้ามแม่น้ำปิงระหว่างอำเภอสันป่าตองจังหวัดเชียงใหม่กับจังหวัดลำพูน การคมนาคมสายนี้อำนวยประโยชน์อย่างมากทั้งปัจจุบันและอนาคต ท่านยินดีรับนิมนต์ เพื่อจะสร้างเป็นอนุสรณ์ชิ้นสุดท้ายในชีวิตของท่าน (สะพานศรีวิชัยในปัจจุบัน)

พระวิหารได้มาสร้างเสร็จหลังจากพระครูบาเจ้าศรีวิชัยมรณภาพแล้ว ระหว่างศพของพระครูบาเจ้าตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดบ้านปาง บรรดาศิษย์ทั้งหลายก็ได้เร่งสร้างพระวิหารที่ยังคงค้างให้สำเร็จในปีพุทธศักราช ๒๔๘๒ แล้วทำบุญถวายทานพร้อมเครื่องอัฐบริขารหลายร้อยชุด ซึ่งท่านพระครูบาเจ้าได้เตรียมไว้เพื่อถวายพระสงฆ์

-----------------


(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : พระอานันท์ พุทธธัมโม รวบรวมและเรียบเรียง. (๒๕๕๖, ๑๑ มิถุนายน). หนังสือประวัติของพระครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งลานนาไทย วัดบ้านปาง ตำบลศรีวิชัย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน, หน้า ๑๗๐-๑๗๑, ๑๗๔, ๑๘๗.)



IMG_6311.JPG



อ่างหมักปูนขาวสมัยพระครูบาเจ้าศรีวิชัย ตอนสร้างพระวิหารหลังเดิม พ.ศ.๒๔๖๖ วัดบ้านปาง


IMG_6391.JPG



บันไดนาคทางขึ้นด้านหน้า พระวิหารพระครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดบ้านปาง


IMG_6417.JPG



DSC01586.JPG



ประตูทางเข้าด้านหน้า พระวิหารพระครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดบ้านปาง

สร้างถวายโดย พระครูบาเจ้าเทือง นาถสีโล (วัดบ้านเด่น จังหวัดเชียงใหม่)


DSC01587.JPG



ภายในพระวิหารพระครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดบ้านปาง


IMG_6442.JPG



IMG_6439.JPG



พระประธานและพระพุทธรูปต่างๆ ประดิษฐานภายในพระวิหารพระครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดบ้านปาง


IMG_6437.JPG



พระประธาน ประดิษฐานภายในพระวิหารพระครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดบ้านปาง

นายช่างที่สร้างพระประธาน ชื่อ พระหน่อคำ (ชาวอำเภอดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่) โดยเอาแบบพระพุทธรูปพระเจ้าเก้าตื้อในวัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้นแบบในการสร้างพระพุทธรูป


IMG_6435.JPG



รูปเหมือนพระครูบาเจ้าศรีวิชัย (นักบุญแห่งล้านนาไทย) ประดิษฐานภายในพระวิหารพระครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดบ้านปาง


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html
‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2024-11-16 05:39 , Processed in 0.123339 second(s), 15 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.