- สมัครสมาชิกเมื่อ
- 2009-1-22
- เข้าสู่ระบบล่าสุด
- 2024-7-16
- สิทธิ์ในการอ่าน
- 150
- เครดิต
- 0
- โพสต์
- 5082
- สำคัญ
- 4
- UID
- 13
|
| | | |
ประวัติวัดพระธาตุจอมปิง
(แหล่งที่มา : ป้ายประวัติพระธาตุจอมปิง ภายใน วัดพระธาตุจอมปิง)
พระนางจามเทวี ขณะมาสร้างวัดพระธาตุลำปางหลวงเสร็จแล้วก็ได้มาสร้างวัดพระธาตุจอมปิงอีก จากนั้นวัดก็ร้างไป ต่อมาท่านนันทปัญญา พี่เลี้ยงของพระเจ้าลกคำ (เจ้าติโลกราช เจ้าเมืองเชียงใหม่) ได้ทำการบูรณะ ซึ่งเมืองนี้มีชื่อว่าเมืองจุมภิตาราม ท่านนันทปัญญามีเพื่อนชื่อว่า อ้ายจอมแพร่ ทั้งสองได้สร้างวัดคนละวัด วัดที่อ้ายจอมแพร่สร้างคือ วัดจอมปิงลุ่ม ปัจจุบันนี้ วัดที่ท่านนันทปัญญาสร้างชื่อ วัดจอมพี่เลี้ยง (วัดพระธาตุจอมปิง)
ถึง พ.ศ.๒๐๐๐ ได้เกิดศึกพระยาได้ยกทัพมาประชิดเมืองลำปาง (สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา) เจ้าหมื่นด้งนครไม่อยู่ไปราชการที่เชียงใหม่ เหลือแต่พระนางราชเทวีกำลังตั้งครรภ์เจ้าหาญแต่ท้อง ได้แต่งกายเป็นชายออกไปสู้รบจนกองทัพพระยาใต้พ่ายไป เมื่อเจ้าหมื่นด้งนครและเจ้าติโลกราชทราบก็ยกกองทัพจากเมืองเชียงใหม่มาช่วย สถานที่รบเรียกว่า “มหาสนุก” และได้ฉลองชัยชนะที่วัดนี้ พระนางได้สร้างเจดีย์ไว้องค์หนึ่ง ส่วนสัณฐานดังกองข้าวเปลือกได้ตั้งชื่อวัดเสียใหม่ว่า “วัดจอมพิงค์ชัยมงคล” จนเพี้ยนมาเป็น จอมปิง ในปัจจุบัน
การบูรณะวัดพระธาตุจอมปิงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
เริ่มตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี ต่อจากนั้นมีจอมปี่เลี้ยง (จอมพี่เลี้ยง) และอ้ายจอมแพร่ได้มาบูรณะพระธาตุให้ใหญ่ และต่อมาก็มีพระมหาอัญญาโกณฑัญญะมารักษาไว้ในสมัยหนึ่ง พระกำพีละ (พระพุทธคัมภีระ) สมัยหนึ่ง และต่อนั้นก็มีผ้าขาวสามคนและพระป๋าระมี (พระมหาปารมี) สมัยหนึ่ง พระป๋าระมีอายุได้ ๙๕ ปี ก็มามรณะตอนนั้น ชะต๋าคาตได้ ๘๗๐ ธรรมจันดามณีสมัยหนึ่ง
ต่อมามีพระธรรมจันต๋า (พระธรรมจินดา) กับมหาปัญญาวงค์ษา (พระมหาบารกาชื่อ ญาณวงษา) ชะต๋าคาตได้ ๘๙๙ ต่อจากนั้นมีพระเจ้าแผ่นดินเชียงใหม่ ได้มาวัดธรณีสงฆ์ วัดจากพระธาตุ ด้านเหนือสองร้อยวา ด้านใต้สองร้อยวา ตะวันออกเอาแม่น้ำเป็นแดน ตะวันตกเอาทางเป็นแดน ต่อมามีฟ้าผ่าพระธาตุชำรุดไปเล็กน้อย ครูบาจินดามาบูรณะให้เหมือนเดิม ต่อมาครูบาสุนันตะและคณะสงฆ์มาบูรณะอุโบสถที่สร้างไว้หน้าพระวิหาร สักกะ ๑๒๘๐ แล้วต่อมาครูบาสุนันตะใช้ชาวบ้านไปนิมนต์ครูบาปีมาสร้างกำแพง และต่อจากนั้น ครูบาสุนันตะได้ใช้สามเณรอริยะ (อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุจอมปิง) ไปนิมนต์ครูบาศรีวิชัยมาสร้างวิหารหลังนี้
สามเณรอริยะได้ขอกุฏิหลังเก่าจากครูบาสุนันตะ มาสร้างไว้นอกกำแพงด้านใต้ สามเณรอริยะได้บวชเป็นพระ อยู่ต่อมาสึกออกไป พออายุ ๗๐ ปี กลับมาบวชได้ ๑๒ พรรษา ต่อมาเจ้าคณะอำเภอป่าแข กับกำนันแปงภักดี พร้อมคณะกรรมการและชาวบ้านมารื้อพระอุโบสถหลังเก่า ที่อยู่หน้าพระวิหารมาสร้างไว้ทางเหนือพระธาตุ
อนึ่ง ในหนังสือประชุมตำนานล้านนาไทย ได้กล่าวเกี่ยวกับประวัติของวัดพระธาตุจอมปิง สรุปใจความได้ว่า
"...พระเจ้าติโลกราชกษัตริย์เมืองเชียงใหม่ มีพี่เลี้ยงเป็นชาวจุมพิตานคร (ชื่อเดิมของหมู่บ้านจอมปิง จังหวัดลำปาง) ชื่อว่า “นันทปัญญา” เมื่อนันทปัญญาเห็นว่าพระเจ้าติโลกราชได้ขึ้นครองเมืองแล้วจึงขอพระบรมราชานุญาติกลับไปอยู่บ้านเดิม ซึ่งพระเจ้าติโลกราชก็ทรงอนุญาตพร้อมกับพระราชทานช้างม้า บ่าวไพร่ และยกบ้านส่วยยางทองเป็นบ้านส่วยแก่พี่เลี้ยงนันทปัญญา
เมื่อท่านนันทปัญญากลับมาอยู่ที่เมืองจุมพิตาแล้ว ท่านได้สหายสนิทเป็นพ่อค้าคนหนึ่งชื่อ “อ้ายจอมแพร่” ซึ่งอ้ายจอมแพร่ได้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ๆ กับท่านนันทปัญญา ภายหลังผู้เฒ่าทั้งสองได้แข่งกันสร้างวัดขึ้น โดยท่านนันทปัญญาสร้างวัด ณ สถานที่ตั้งขององค์เจดีย์ ซึ่งพระนางจามเทวีเคยสร้างไว้ก่อนแล้ว
สำหรับอ้ายจอมแพร่ได้สร้างวัดขึ้น ณ ที่ลุ่มแห่งแม่น้ำจิ่ม และได้ไปขอพระพุทธรูปจากหัวเวียงซึ่งมีนามว่า “พระเจ้าหัวคำ” มาประดิษฐานไว้ในวัด ต่อมาไม่นานเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมขึ้นที่วัดของอ้ายจอมแพร่ ท่านนันทปัญญาจึงให้สหายนำพระพุทธรูปพระเจ้าหัวคำมาประดิษฐานที่วัดของตน และช่วยกันบูรณะให้วัดแห่งนั้นมีขนาดใหญ่โตขึ้น พร้อมกับตั้งชื่อวัดว่า “วัดจอมพี่เลี้ยง”
จวบจนถึงปี พ.ศ.๒๐๐๐ ได้เกิดศึกครั้งใหญ่ขึ้น เนื่องจากสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กษัตริย์เมืองใต้ (พิษณุโลก) ได้ยกทัพมาตีเมืองลำปางในขณะเจ้าเมืองลำปางไม่อยู่ มีเพียงพระนางราชเทวีซึ่งทรงตั้งพระครรภ์อยู่ แต่ด้วยความกล้าหาญและรักแผ่นดินยิ่ง พระนางจึงนำกองทัพออกรบโดยใช้อุบายว่าให้ทหารตีฝุ่นและลากไม้ตีดินพร้อมกับโห่ร้องกันว่าพระญาเจ้าเมืองมาแล้ว กองทัพของพระบรมไตรโลกนาถได้ยินเช่นนั้นจึงถอยทัพหนีไป ดังนั้นสถานที่ซึ่งใช้ในการรบจึงได้รับการขนานนามว่า “มหาสนุก”
ครั้นพระญาติโลกราชได้ทราบข่าว ทรงยกกองทัพมากลับเข้าเมืองลำปางเพื่อขับไล่ข้าศึกจนสำเร็จ จากนั้นพระองค์และเจ้าเมืองลำปางได้ไปบ้านของพี่เลี้ยงนันทปัญญา โดยให้พระนางราชเทวีอยู่ที่เมือง พระนางจึงสร้างเจดีย์ใหม่ขึ้นครอบเจดีย์องค์เก่าที่พระนางจามเทวีได้สร้างไว้ก่อนแล้วในวัดจอมพี่เลี้ยง ครั้นพระเจ้าติโลกราชและเจ้าเมืองลำปางเดินทางกลับมาทั้งสองพระองค์ได้ทำการสักการะพระพุทธรูปในวัด พร้อมกับประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าไว้ในเจดีย์องค์ใหม่ซึ่งสร้างขึ้นนั้น และก่อนที่จะเดินทางกลับเมืองเชียงใหม่ พระเจ้าติโลกราชได้เปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่เป็น “วัดจอมพิงค์ชัยมงคล”
ใจความในประชุมตำนานล้านนาไทย มีต่ออีกว่า “เมื่อท่านนันทปัญญาตายไป คนทั้งหลายได้นำเอาขอช้าง เครื่องช้างทอง และฆ้องทองมาฝังไว้ที่หน้าวัด แต่เมื่อพระมหาอัญญาโกณฑัญญเถระ พระเถระรูปหนึ่งได้ขึ้นดำรงเจ้าอาวาสวัดจอมพิงค์ชัยมลคลแล้ว ท่านได้นำฆ้องทอง ขอช้าง ตลอดจนเครื่องทองทั้งหลายที่ฝังอยู่หน้าวัดมาหล่อเป็นพระพุทธรูปประดิษฐานที่วัด ภายหลังพระพุทธคัมภีระ พระเถระรูปหนึ่งได้ร่วมกับนักบุญทั้งหลายสร้างวิหารขึ้นที่วัดจอมพิงค์ชัยมงคลในปีกัดไส้ เดือน ๕ ออก ๑๑ ค่ำ วันอาทิตย์
การบูรณะวัดมีมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงครั้งที่มหาเจดีย์ซึ่งพระนางจามเทวีสร้างขึ้นได้พังลงมา เจ้าอาวาสวัดในขณะนั้นคือพระมหาปารมี จึงร่วมกับชาวบ้านสร้างวิหารน้อยครอบเจดีย์ไว้โดยการสนับสนุนของเจ้าเมืองหาญสิทัศน์ เมื่อปีกัดใส้ศักราชได้ ๘๗๓ ตัว ในเดือน ๕ แรม ๘ ค่ำ วันเสาร์ไทยกัดเหม้า ฤกษ์ ๑๙ ตัว จากนั้นเมื่อพระมหาปารมีมรณภาพไปแล้ว เจ้าอาวาสสรูปต่อมา คือพระมหาธรรมจัณดา มณีจินดาได้ชักชวนเหล่าศรัทธาสร้างคูหาพระเจ้าขึ้นมาในปีกาบสันเดือน ๕ ออก ๒ ค่ำ วันอังคาร ไทร้วงเร้า ศักราชได้ ๘๘๘ ตัว
ต่อมาในปีกดยี ศักราช ๘๙๔ ตัว ในเดือน ๕ เพ็ญ เม็งวันอาทิตย์ พระมหาสามีชื่อธรรมจินดาพร้อมด้วยกับพระมหาบารกาชื่อ ญาณวงษา พร้อมกับเหล่าศรัทธาได้ร่วมกันสร้างมหาเจดีย์ขึ้นที่วัด โดยในครั้งนั้นพระญาแก้ว กษัตริย์เมืองเชียงใหม่ (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.๒๐๓๘ - ๒๐๖๘) และเหล่าเสนาอำมาตย์เมืองเชียงใหม่ทำบุญเป็นเงินจำนวน ๒,๗๐๗ บาท ลักษณะขององค์เจดีย์ที่สร้างขึ้นครั้งนั้น มีความกว้าง ๙ วา และสูง ๑๗ วา ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธรูปจำนวนหลายสิบองค์
เหตุการณ์ในช่วงเวลาต่อมาของวัดพระธาตุจอมพิงค์ชัยตามที่ปรากฏในหนังสือเล่มเดียวกันกับข้างต้น คือ “ในปีกดไจ้ศักราช ๙๐๒ ตัว ในเดือน ๑๒ แรม ๑๓ ค่ำ วันอังคารพระเมืองแก้วโปรดให้สร้างพระพุทธรูปขึ้นมาองค์หนึ่งเพื่อประดิษฐานไว้ในวิหารวัดจอมพิงค์ชัยมงคล (บางตำรากล่าวว่าพระองค์ทรงครองราชย์ถึง พ.ศ. ๒๐๖๘ หรือ จ.ศ. ๘๘๗ เท่านั้น) พร้อมกันนั้นได้มีกฎหมายกำหนดเขตพัทธสีมาของวัดไว้ที่ด้านเหนือ ๒๐๐ วา และที่ด้านใต้อีก ๒๐๐ วา จากนั้นในปีก่าเหม้า ศักราชได้ ๙๐๕ ตัว เดือนยี่ ออก ๑๒ ค่ำ วันเสาร์ไทกาบสัน สมเด็จมหาราชเจ้าแผ่นดิน เสด็จออกมาอยู่โรงกลางและปลงราชอาญาแก่แสนหลวงตีช่องตีนันทะเภรี หื้อคราดนาไว้เป็นราราชทานกับวัดจอมพิงค์ชัย … ”
รายนามเจ้าอาวาสวัดพระธาตุจอมปิง เท่าที่ทราบ ได้แก่
๑. พระมหาอัญญาโกณฑัญญเถระ
๒. พระพุทธคัมภีระ
๓. พระมหาปารมี
๔. พระมหาธรรมจัณดา มณีจินดา
๕. พระธรรมจินดา
๖. พระมหาบารกาชื่อ ญาณวงษา
๗. พระแปง จันทร์เรือง (พ.ศ. ๒๔๗๐ - ๒๔๗๘)
๘. พระผัด ธิดา (พ.ศ. ๒๔๗๘ – ๒๔๘๐)
๙. พระกิ้มคำหนัก (พ.ศ. ๒๔๘๐ - ๒๔๘๒)
๑๐. พระแก้วมา ศรีพรม (พ.ศ. ๒๔๘๓ – ๒๔๙๘)
๑๑. พระหา ต๊ะโก (พ.ศ. ๒๔๙๙ – ๒๕๑๑)
๑๒. พระปุกดำ ใจบุญ (พ.ศ. ๒๕๑๒ – ๒๕๑๖)
๑๓. พระทอง ต๊ะโก (พ.ศ. ๒๕๑๖ – ๒๕๑๘)
๑๔. พระประสิทธิ์ ไชยราช (พ.ศ. ๒๕๑๘ - ๒๕๑๙)
๑๕. พระปันแก้ว แก้วจำปา (พ.ศ. ๒๕๑๙ – ๒๕๒๔)
๑๖. พระอินทร์ จันทร์ปาน (พ.ศ. ๒๕๒๔ - ปีใดไม่ระบุ)
๑๗. หลวงพ่อแก้ว จรธมฺโม (ไชยราช) (พ.ศ. ๒๕๓๖ – ๒๕๔๒)
๑๘. พระครูปลัดประหยัด วรัญาโณ
งานประเพณี วัดพระธาตุจอมปิง
๑. สรงน้ำพระบรมธาตุ วันสงกรานต์ที่ ๑๖ เม.ย. ทุกปี
๒. ประเพณีแปดเป็ง ตรงกับวันวิสาขบูชา ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ เหนือ (๖ ใต้) มีการสรงน้ำพระธาตุ แห่ครัวตานและจุดบ้องไฟแข่งขันเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเมืองลำปาง ทุกๆ ปี นอกจากที่กล่าวมาแล้วภายในหมู่บ้านยังมีประเพณีเก่าแก่และน่าสนใจอีกมากมาย
| | | | |
|
|