ประวัติวัดเสลารัตนปัพพตาราม (วัดไหล่หินหลวงแก้วช้างยืน) และ
ตำนานพระมหาป่าเกสระปัญโญ
(จัดทำโดย พระครูสุนทรเสลคุณ (ชัยพร อตฺตสาโร ปะละ) เจ้าคณะตำบลไหล่หินและเจ้าอาวาส เรียบเรียงจากประวัติวัดไหล่หินหลวง (๔ กันยายน ๒๕๑๒) โดย สามเณรดวงจันทร์ ครุขยัน)
ศาสตราจริกาอ้างว่า สมัยหนึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าครั้งยังทรงพระทรมานสำราญอยู่ในเขตเชตวันวิหาร มีคืนวันหนึ่งยามใกล้รุ่งพระองค์ทรงรำพึงว่าตั้งแต่กูตถากตะได้ตรัสรู้พระสัพพัญญูตญาณมา ถึงบัดนี้นับได้ ๒๕ พรรษา แล้วต่อเมื่อกูมีพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา เมื่อใดกูตถากตะก็จะได้เสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน แล้วควรกูจะอธิษฐานธาตุให้ย่อยเพื่อให้คนทั้งหลายและพระอรหันต์ได้นำไปบรรจุไว้เป็นที่บูชาเสมอเหมือนดังกูตถากตะยังทรงมีพระชนอยู่ ทรงรำพึงดังนี้แล้ว
พอพระองค์ดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้วได้ ๒๑๘ ปี ยังมีพระยาองค์หนึ่งทรงพระนามว่า ศรีธรรมโศกราช ได้ทรงชนะข้าศึกทั้งหลายแล้วได้อาศัยเจ้านิโครธสามเณรอยู่ได้เลิกถอยความเลื่อมใสต่อพวกเดียรถีย์ทั้งหลายเสียแล้ว จึงบังเกิดปสาทศรัทธาอันแก่กล้าต่อบวรพระพุทธศาสนาอยากจะสร้างเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีจำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์พระธรรมขันธ์
ต่อมาพระองค์ทรงพิจารณาหาพระสารีริกธาตุของพระพุทธองค์ดังกล่าว ก็พบที่เมืองราชคฤห์นคร แล้วพระองค์ก็อัญเชิญมาสู่เมืองปาตรีบุตรนคร พระองค์ทรงแบ่งพระบรมสารีริกธาตุมอบให้พระเถระเจ้าทั้งสองพระองค์ คือ พระกุมารกัสสปะ และพระเมฆิยะเถระเจ้า ท่านได้นำพระอัฐิของพระพุทธองค์บรรทุกหลังช้างมาจากประเทศอินเดีย เพื่อนำไปบรรจุไว้ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง
พอขบวนอัญเชิญมาถึงม่อนหินแห่งนี้ ขบวนช้างเชือกนั้นก็ไม่ยอมเดินทางต่อ ถึงเจ้าจะขับจะใสอย่างไร ช้างก็ไม่ยอมเดินทางต่อ อันเป็นเหตุที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก องค์พระอรหันต์ผู้เป็นประมุขของขบวนนั้น จึงพร้อมด้วยผู้คนที่ติดตามได้ปรึกษาหารือกันว่าสมควรที่จะสร้างองค์พระเจดีย์องค์หนึ่งเพื่อเป็นอนุสรณ์และได้อัญเชิญพระอัฐิของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรรจุเอาไว้ด้วย โดยก่อพระเจดีย์สูง ๔ ศอก พระอรหันต์ทั้งสองพระองค์ทรงทำนายพยากรณ์เอาไว้ว่า สถานที่แห่งนี้จักได้ชื่อตามเหตุการณ์ที่ผ่านมาว่า “วัดเสลารัตนปัพพตาราม” (วัดไหล่หินหลวงแก้วช้างยืน) เพื่อให้สมกับที่เป็นมาของวัด
แล้วพระอรหันต์ทั้งสองพระองค์พร้อมด้วยผู้คนที่ติดตามก็นำขบวนช้างไปได้อย่างน่าอัศจรรย์ก็ไปบรรจุไว้ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง ฉะนั้นท่านผู้เฒ่าผู้แก่เล่าสืบๆ กันมาว่า วัดไหล่หิน เป็นพี่ของวัดพระธาตุลำปางหลวงเพราะว่าพระบรมธาตุนำมาบรรจุทีหลัง
ต่อมาราวประมาณ จ.ศ.๑๐๐๐ เศษ (ตรงกับพุทธศักราชได้ ๒๑๘๑) โดยสร้างเป็นอารามเล็กๆ สถานที่แห่งนี้มีพระภิกษุสามเณรมาอาศัยบวชเรียนเป็นจำนวนมาก และมีสามเณรน้อยองค์หนึ่งได้เดินทางมาจากวัดหลวงป่าซางเมืองหริภุญชัย (ตอนนี้ยังไม่แน่และไม่ปรากฏชัด) ได้มาอาศัยร่วมกับสามเณรวัดนี้ สามเณรน้อยองค์นี้เป็นผู้สันโดษยินดีด้วยของมีอยู่ใช้ผ้าจีวรสีคล้ำ และไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ บนศีรษะมีแต่โรคเรื้อรัง (โรคขี้โขกขี้ขาก) ไม่มีใครจะสนใจและนับถือ พระเณรในวัดเดียวกันที่โตกว่าก็ชอบรังแก อีกประการหนึ่งก็ไม่ชอบท่องบ่นเล่าเรียน เขียนอ่าน ตามสมภารวัดท่านสั่งเท่าไรนัก ไม่เอาใจใส่ มักเก็บตัวอยู่แต่ผู้เดียวปลีกตัวออกจากหมู่คณะ
มีวันหนึ่ง ครั้นใกล้เข้าฤดูเข้าพรรษา พระอาจารย์ที่ท่านได้มอบธรรมใบลานมหาเวสสันดรชาดกกัณฑ์มหาพลให้ไปท่องเล่าเรียนเพื่อจะได้แสดงโปรดคณะศรัทธาฟังเสียงทำนองเณรน้อย พอวันเข้าพรรษา แต่สามเณรน้อยองค์นี้ก็หาได้ท่องบ่นเล่าเรียนไม่ คล้ายกับไม่สนใจใยดีอะไรเลยถึงกับท่านอาจารย์ไม่พอใจหาว่าเป็นผู้เกียจคร้าน ไม่เชื่อฟังคำสั่งสอน
พอถึงวันเข้าพรรษา วันนั้นท่านอาจารย์ก็เรียกสามเณรน้อยองค์นั้นไปแสดงธรรมให้ศรัทธาชาวบ้านฟัง แต่เณรน้อยองค์นั้นเมื่อกราบพระรัตนตรัยและท่านอาจารย์แล้ว จึงได้วางธรรมใบลานผูกนั้นไว้หน้าพระประธาน ตนเองก็ขึ้นไปนั่งบนธรรมาสน์ด้วยมือเปล่า แสดงโดยปฏิภาณปากเปล่า ท่านอาจารย์ก็นึกสงสัย จึงหยิบธรรมใบลานผูกนั้นมาตรวจดูตามไปด้วย แต่ปรากฏว่าสามเณรเทศนาได้ดีไม่มีผิดพลาดแม้แต่ตัวเดียวตลอดทั้งกัณฑ์ ซึ่งนอกจากเทศน์ได้ถูกต้องแล้ว ยังแก้ไขข้อความผิดในคัมภีร์อีกด้วย เช่น มีข้อความตอนหนึ่งในกัณฑ์กล่าวพรรณนาถึงพันธุ์ไม้ในป่าว่า “ใบจ้อล่อหูกวาง” แต่ท่านเทศน์เป็น “ใบจ้อล่อหูฟาน” เมื่อสมภารถามท่านให้เหตุผลว่าจ้อล่อ (อินทนิล) น่าจะมีใบเหมือนหูฟาน (เก้ง) มากกว่าหูกวาง
เมื่อท่านอาจารย์ทดสอบความรู้ความสามารถของเณรน้อยนี้แล้ว ท่านอาจารย์จึงเก็บธรรมใบลานทั้งหมดที่มีอยู่ในวัดมาตัดเชือกออกทุกผูกทุกกัณฑ์มากองปนกันเป็นกองเดียวกัน แล้วให้เณรน้อยเป็นผู้เรียงให้ได้เป็นผูกใดผูกนั้น ปรากฏว่าสามเณรน้อยองค์นั้นเรียงได้เป็นอย่างดีใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมงก็เสร็จเรียบร้อยไม่มีผิดพลาดให้เหมือนเดิมทุกอย่างแม้แต่ใบเดียว ต่อจากนั้นมาจึงมีผู้เลื่อมใสในตัวสามเณรน้อย และมีผู้เกรงขามเลื่องลือในตัวท่าน
ต่อมา จ.ศ.๑๐๑๒ (พ.ศ.๒๑๙๓) ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ นามฉายาตามที่พระอุปัชฌาย์ท่านตั้งไว้ว่า “มหาเกสระปัญโญภิกขุ” และได้ตำแหน่งเจ้าอาวาส ทำให้วัดไหล่หินหลวงเจริญรุ่งโรจน์ เพราะท่านเป็นผู้เลื่องลือและก็ได้เล่าสืบๆ กันมาดังนี้ ท่านพระมหาเกสระปัญโญ เป็นพระนักปฏิบัติ นักศึกษาศาสนธรรมคำสั่งสอนอันยืนยงปรากฏว่าท่านมีความรู้แตกฉานสามารถแต่งและเขียนธรรม (จาร) ได้วันละมาก เล่ากันว่าท่านเขียนอักขระพื้นเมืองเหนือลงในใบลานด้วยเหล็กจารวันหนึ่งๆ ได้มูลเหล็กจารเต็มกะลามะพร้าว (มะพร้าวเต่า) ซึ่งหาใครเสมอเหมือนมิได้เลย
นอกจากนี้ท่านยังได้ประพฤติปฏิบัติสมณธรรมอย่างจริงจังโดยปฏิบัติอยู่ที่ถ้ำฮางฮุ้ง (ถ้ำฮุ้งคาว) ซึ่งอยู่ใกล้บ้านทุ่งขาม หมู่ที่ ๕ ตำบลไหล่หิน (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นตำบลใหม่พัฒนา) จนจิตเป็นสมาธิได้ฌาณสมาบัติมีอภินิหาร เป็นอัจฉริยะสามารถเหาะเบื้องบนหนอากาศได้ เพราะท่านพระมหาเกสระปัญโญ มีอภินิหารดังกล่าวแล้วนี่เอง จึงเลื่องลือท่านว่าท่านไปบิณฑบาตโปรดสัตว์ให้ศรัทธาสาธุชนถึงที่ไกลๆ ได้ เล่ากันว่าท่านจำวัตรอยู่ที่วัดไหล่หินตื่นเช้าไปบิณฑบาตศรัทธาถึงหมู่บ้านไทยใหญ่ แคว้นเชียงตุง (เป็นเขตของสหภาพพม่าเดี๋ยวนี้) ทุกเช้า
จนวันหนึ่งอุบาสกไทยใหญ่ (เงี้ยว) ผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในตัวท่านได้นมัสการถามท่านว่า “ท่านพระคุณเจ้าจำพรรษาอยู่วัดใดพระคุณเจ้า” ฝ่ายท่านพระมหาเกสระปัญโญ จึงตอบเป็นคำปริศนาว่า “เจริญพรอาตมาอยู่วัด “บุบบ่แตก” หรือ “ขบบ่แตก” (ขบไม่แตก) เจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงได้ฟังดังนั้น แล้วได้สั่งให้เสนาอำมาตย์เที่ยวค้นวัดชื่อดังกล่าวจนทั่วเมืองเชียงตุง ก็ไม่พบวัดชื่อดังกล่าวแห่งใด
ด้วยแรงศรัทธาเลื่อมใสในตัวท่านเป็นล้นพ้น อยู่มาวันหนึ่งเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงก็สั่งให้เสนาอำมาตย์เอามะพร้าวลูกหนึ่งมาปลอกเปลือกออกแล้วขูดให้เกลี้ยงแล้วผ่ากะลาออกเป็นสองซีกแล้วให้เก็บรักษาเอาไว้ซีกหนึ่ง อีกซีกหนึ่งเอาไปใส่บาตรพระเถระเจ้า ขณะเมื่อมาบิณฑบาตในตอนเช้าพร้อมกับนมัสการว่า “ขออาราธนาพระคุณเจ้าฉันเนื้อมะพร้าวแล้วเก็บกะลาไว้ด้วย” ข้าพเจ้าจะได้ไปรับเอากะลาทีหลัง
จากนั้นอุบาสกไทยใหญ่ได้สั่งให้บริวารออกติดตามหาวัดของพระเถระเจ้าและกะลามะพร้าวดังกล่าวโดยแรงศรัทธาแรงกล้าในองค์พระเถระ ต่อมาเป็นเวลา ๗ เดือน เสนาอำมาตย์พวกหนึ่งได้เดินทางมาทางเขลางค์นครได้ถามสืบๆ กันมาก็ได้พบวัดไหล่หินแห่งนี้ จึงได้แวะนมัสการพระเถระก็เกิดความปรีดาปราโมทย์ยิ่งนัก
พวกเสนาอำมาตย์จึงนมัสการถามท่านว่า “กะลามะพร้าวที่ท่านเจ้าฟ้าเชียงตุงได้ถวายพระคุณเจ้ามีอยู่หรือเปล่า” พระมหาเกสระปัญโญเจริญพรตอบว่า ยังมีอยู่พร้อมกับหยิบกะลามะพร้าวออกมาจากใต้เตียงนอนยื่นให้เสนาอำมาตย์ของเจ้าฟ้าเชียงตุงก็ได้ตามความประสงค์ที่ได้เที่ยวตามหาเป็นเวลาแรมปี อย่างนี้ก็ได้เอาซีกกะลามะพร้าวของท่านพระมหาเกสระปัญโญและซีกของตนมาประกบดูก็ใช่คู่กันจริง
จึงกราบลาท่านมหาเกสระปัญโญ กลับไปแจ้งความให้เจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงได้รับทราบ แล้วจึงได้พาข้าทาสบริวารเดินทางมาทางจังหวัดเชียงรายได้ผ่านดอยมันหมูมา จึงได้ให้เสนาอำมาตย์ตัดไม้มันหมูมาเป็นเสาวิหาร ไม้ที่นำมาจากดอยมันหมูนั้นมีอยู่ตรงหน้าพระประธานทางทิศใต้ต้นที่หนึ่ง เดี๋ยวนี้ได้เอาปูนหล่อครอบ เสาต้นนี้ปรากฏว่าเมื่อฝนจะตกน้ำจะท่วมบ้าน จะปรากฏว่ามีน้ำมันซึมออกมาให้เห็น เป็นข้อสังเกตเอาไว้นับว่าเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก
ขณะที่ท่านมหาป่าเกสระยังอยู่ที่กุฏิเดิม ลำบากและขาดแคลนหลายสิ่งหลายอย่าง ไม่มีทั้งวิหารและเสนาสนะ ชาวไทใหญ่กลุ่มนั้นจึงกลับไปพาช่างไทใหญ่ฝีมือดีและร่วมกับชาวบ้านแถบนั้นช่วยกันสร้างวิหารวัดไหล่หินหลังนี้ขึ้นมา สำหรับพ่อปู่ทอนและพ่อปู่ยักข์ก็ได้มาร่วมก่อสร้างร่วมกับเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงในปี จ.ศ.๑๐๔๕ พ.ศ.๒๒๒๖ และไม่ยอมกลับบ้านเชียงใหม่จนเป็นที่มาของเหล่าปู่ทอนและเหล่าปู่ยักข์มาจนถึงปัจจุบันนี้
รายนามเจ้าอาวาส วัดไหล่หินหลวง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
๑. พระมหาเถระเจ้า (ไม่ทราบชื่อและฉายาที่แน่นอน) พ.ศ.๒๐๙๓
พระมหาป่าเจ้ารูปที่ ๑ ท่านครูบาได้จารคัมภีร์ใบลานหลายเรื่อง อาทิ อัฏฐนิบาตชาดก จารเมื่อ ๒๐๙๓ และได้ปลูกต้นไม้ยางนา (ธุดงควัตร) สร้างป่าในวัด และไม่รับตำแหน่งเจ้าอาวาส
๒. พระอุตมะ (องค์แรก)
๓. ครูบาคันธวงศา
๔. พระสุมนต์
๕. พระสินชัย
๖. พระสังฆราชกุดี
๗. พระมหาป่าเกสระปัญโญ พ.ศ.๒๑๗๓-๒๒๙๕
พระมหาป่าเจ้ารูปที่ ๒ ธำรงพระไตรปิฏก จารคัมภีร์ใบลานได้มากที่สุดในแคว้นลานนาไทย เป็นพระนักปฏิบัติ เป็นผู้นำในการพระศาสนา และพระอริยบุคคลแห่งนครลำปาง ระยะห่างอายุพระมหาป่าเจ้ารูปที่ ๒ กับ พระมหาป่าเจ้ารูปที่ ๑ ห่างกัน ๑๒๗ ปี
๘. ครูบาก๋าวีเจ้า พ.ศ.๒๒๔๗-๒๓๙๐
แตกฉานทางศัพทศาสตร์และศาสตร์ต่างๆ ฟังและดูกิริยาอาการของสัตว์ทุกชนิดได้ ชาติภูมิ บ้านแม่แก้(บ้านกิ่ว) ปัจจุบันบ้านแม่แก้ เรียกตามนามลำน้ำจากบ้านแม่แก้เป็นหนองบัวและเป็นบ้านกิ่วตอนเจ้าติ๊บจ้าง(ทิพย์ช้าง) ตีพม่าที่วิหารลำปางหลวงแตกหนีมาทางกองกิ่ว(ทางแคบ) พ.ศ.๒๒๗๕ เป็นต้นมา
๙. ครูบาคำ
๑๐. ครูบาอุตมะ (องค์กลาง)
๑๑. ครูบากาวี (องค์กลาง)
๑๒. ครูบาอุตมะ (องค์เล็ก)
๑๓. ครูบาปวงคำ
๑๔. ครูบากาวี (องค์สุดท้าย)
๑๕. พระอินถาถาวโร
๑๖. เจ้าอธิการแก้วสุทัทธสีโล
๑๗. พระคำป้อพลธมฺโม รก.
๑๘. เจ้าอธิการจันทร์ตาจนฺทรํสี (อุรา)
๑๙. เจ้าอธิการศรีวรรณจกกวโร (ตาวี)
๒๐. พระสมพรเขมธมฺโม (ธรรมนูญ) รก.
๒๑. พระอธิการทองอนามโย (จอมแปง)