แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
เจ้าของ: pimnuttapa
go

วัดเมืองแปง ม.๑ ต.เมืองแปง อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

IMG_9088.JPG



วิหาร วัดเมืองแปง

ภายในวิหารประดิษฐานพระเจ้าแปงปาย (พระพุทธสิหิงค์ รุ่นที่ ๓ หรือพระสิงห์ ๓) เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสน เป็นพระเก่าแก่ สร้างเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๒๐ มีลักษณะสวยงามมาก จึงถือเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองแปง


IMG_9082.JPG



พระบรมธาตุเจดีย์ ประดิษฐานด้านหลังวิหาร วัดเมืองแปง


IMG_9069.JPG



IMG_9078.JPG



IMG_9098.JPG



IMG_9077.JPG



พระบรมธาตุเจดีย์ วัดเมืองแปง

ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระพุทธรูปเก่าแก่ พระคู่บ้านคู่เมืองแปง คือพระสิงห์หนึ่งกับพระเพชร และพระพุทธรูปอีกองค์ไม่ระบุชื่อบรรจุไว้ทางทิศตะวันตกของพระธาตุเจดีย์ด้วย

โดยพระครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย ได้เคยมาบูรณะสร้างพระเจดีย์ครอบพระธาตุองค์เดิม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๑ แล้วท่านครูบาเจ้าได้ไปบูรณะพระเจดีย์ที่ บ้านวัดจันทร์ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ จากนั้นกลับมาบูรณะพระธาตุเจดีย์ที่นี่ต่อจนแล้วเสร็จ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๔

กาลต่อมาจนถึง พ.ศ.๒๕๒๔ พระธาตุเจดีย์ได้มีการบูรณะอีกครั้งหนึ่ง โดยมี ลุงบุญดี (บ้านสบสา) เป็นผู้รับเหมาบูรณะ

ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๔ พระอธิการอภิภูพงษ์ ฐิตธมฺโม เจ้าอาวาสวัดเมืองแปง พร้อมคณะศรัทธา ได้บูรณะเสริมพระเจดีย์ใหม่ให้ใหญ่ขึ้น สูงกว่าองค์เดิมอีก ๖ เมตร โดยสร้างครอบองค์เดิมที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้สร้างไว้ เนื่องจากพระธาตุองค์เดิมทรุดโทรมไป

การบูรณะได้มีการเปลี่ยนแปลงบางส่วน แต่ยังคงรักษารูปแบบเดิมบางส่วนไว้ พระเจดีย์ทาสีทองใหม่ จากองค์เดิมเป็นพระเจดีย์สีขาว ส่วนฐานเจดีย์เดิมเป็นสี่เหลี่ยมก็เปลี่ยนมาทำเป็นบัวคว่ำบัวหงาย


และทางวัดได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระอรหันตธาตุ และวัตถุมงคลหลายอย่างเพิ่มอีก บรรจุไว้ที่องค์พระเจดีย์ เพื่อเป็นที่เคารพสักการบูชา

----------------------


(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : ป้ายประวัติพระบรมธาตุ (ครูบาเจ้าศรีวิชัย) วัดเมืองแปง)


IMG_9068.JPG



คำนมัสการพระบรมธาตุเจดีย์
(ว่านะโม ๓ จบ) วันทามิ เจติยัง สัพพัง สัพพัฏฐาเนสุ ปะติฏฐิตา สะรีระธาตุโย เกศาธาตุโย อะระหันตา ธาตุโย เจติยัง คันทะกุฏิง จะตุละสี ติสสะหัสเส ธัมมักขันเธ สัพเพสัง ปาทะเจติยัง อะหังวันทามิ ธาตุโย อะหังวันทามิ ทุระโส อะหังวันทามิ สัพพะทา อะหังวันทามิ สิระสาฯ


IMG_9097.JPG



ขอโมทนาบุญกับผู้สร้าง ผู้บูรณะ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องในบุญกุศล ณ สถานที่แห่งนี้ทั้งหมดทั้งมวลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและอนาคต สาธุ สาธุ สาธุ


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_9103.JPG



ประวัติวัดเมืองแปง


เรียบเรียงโดย นิตยา หล้าพรม (ครูแอน)



แต่เดิมวัดเมืองแปงเคยเรียกขานกันว่า “วัดศรีดอนชัย” เนื่องจากเป็นวัดที่ตั้งอยู่บนยอดเนินเขา ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเรียกว่า “ศรีวิชัย” ตามชื่อของครูบาศรีวิชัย หรือ ครูบาศีลธรรม นักบุญแห่งล้านนา ซึ่งได้เคยจาริกมาที่วัดแห่งนี้ แล้วริเริ่มสร้างวัดขึ้นครอบวัดเดิมซึ่งเป็นวัดร้าง

เมื่อเวลาผ่านไปจึงได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีว่ามีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานวิสุงคามสีมาแก่วัดเมืองแปง เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๓๘ ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า ชื่อเป็นทางการตามราชกิจจานุเบกษาของวัดนี้ คือชื่อ วัดเมืองแปง

ก่อนที่จะเป็นวัดศรีดอนชัยนั้น บนเนินเขามีสภาพเป็นวัดร้าง มีแต่ซากอิฐซากปูนคลุมรกเรื้อ ไม่มีใครกล้าหาญย่างกรายล่วงล้ำเข้าไปในเขตวัด จะมีเพียงแต่วัวควายของชาวบ้านที่พลัดหลงเข้าไปในเขตวัดเท่านั้น  

เนื่องจากบริเวณนี้มีภูตผีดุร้ายมาก โดยเฉพาะผีกะยักษ์ (ผีกะ เป็นภาษาคำเมือง หมายถึง ผีปอบ) ซึ่งคอยทำร้ายชาวบ้านบ่อยครั้งมาก เมื่อผีกะยักษ์ทำร้ายชาวบ้านเมื่อใดก็จะมีอาการป่วยไข้โดยหาสาเหตุไม่ได้ ชาวบ้านก็จะจัดหาไก่และเหล้าขาวมาเลี้ยงเซ่นไหว้ บริเวณวัดจึงมีสุ่มไก่วางทิ้งไว้ระเกะระกะเป็นจำนวนมาก

เพราะเหตุที่ผีร้ายมีฤทธิ์กล้าแข็งมากนี้เอง ชาวบ้านจึงสร้างวัดที่ที่ต่ำลงมาจากยอดเนินเขาประมาณ ๑๐๐ เมตร ซึ่งก็คือบริเวณโรงเรียนบ้านเมืองแปงในปัจจุบัน มีลักษณะเป็นวัดแบบชั่วคราว เพราะมีเพียงโรงเรือนแค่ ๒ โรง ไว้ใช้สำหรับประกอบศาสนกิจเสีย ๑ โรง ส่วนอีกโรงใช้สำหรับพระและเณรจำวัด

ก่อนหน้านั้นมีชาวบ้านเมืองแปงคนหนึ่งชื่อว่า นายนุ เป็นชาวปกาเกอะญอ (“Pga K' Ngaw” เป็นคำสุภาพที่ชาวกะเหรี่ยงเรียกตนเอง) เป็นคนที่มีลักษณะค่อนข้างจะนักเลง และชอบสักลายลงยันต์คาถาทั่วตัว และได้ไปคลุกคลีติดตามครูบาศรีวิชัยอยู่ที่วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่

เวลาผ่านไปนานเข้าก็เกิดความเลื่อมใสในพระบวรพระพุทธศาสนา จึงได้ขอบวชกับครูบาศรีวิชัยที่วัดพระสิงห์นั้นเอง และมีชื่อทางพระ ได้รับฉายาว่า “พระอินทนนท์

เมื่อได้เรียนรู้พระธรรมมาแล้ว ครูบาศรีวิชัยจึงให้พระนุ หรือพระอินทนนท์ มาเป็นเจ้าอาวาสวัดเมืองแปงเป็นรูปแรก ตามคำขอนิมนต์ของชาวบ้านเมืองแปง ซึ่งขณะนั้นเป็นวัดชั่วคราว มีพระนุซึ่งเป็นเจ้าอาวาส เพียง ๑ รูป มีสามเณร ๖ รูป มีเด็กวัด ๕ คน และมรรคนายก ๑ คน

เมื่อพระนุมาอยู่จำพรรษาได้ระยะหนึ่ง จนกระทั่งปีพุทธศักราช ๒๔๗๑ ครูบาศรีวิชัย ก็ได้จาริกมาที่อำเภอปาย และผ่านมาที่บ้านเมืองแปงแห่งนี้ แล้วเห็นว่าวัดร้างที่ยอดเนินเขานั้นเหมาะสมมากกว่า จึงให้ย้ายวัดขึ้นไปอยู่บนยอดเนินเขานั้น

แต่ด้วยความที่ชาวบ้านหวาดกลัวต่อผีกะยักษ์ ครูบาศรีวิชัยจึงได้เป็นผู้นำชาวบ้านขึ้นไปก่อสร้างด้วยตนเอง โดยท่านเป็นผู้วางหลักปักเขตแดนในการสร้างพระธาตุและวิหาร ซึ่งก็เป็นฐานเดิมของวัดร้างนั้นเอง เชื่อกันว่าเป็นเพราะบารมีอันแก่กล้าของครูบาศรีวิชัยนี้เองที่ทำให้ผีร้ายเกรงกลัวและชาวบ้านสามารถก่อสร้างวัดได้สำเร็จ

ครูบาศรีวิชัยมาพำนักอยู่ที่วัดเมืองแปงเพียง ๑ วัน ๑ คืน เท่านั้น จึงได้จาริกไปยังบ้านวัดจันทร์เป็นอันดับต่อไป แต่ท่านใช้เวลานี้ได้อย่างคุ้มค่ามาก เพราะท่านได้สร้างคุณูปการแก่ชาวบ้านเมืองแปงอย่างยิ่ง

นอกจากท่านจะได้เป็นประธานในการก่อสร้างวัดแล้ว ท่านยังเป็นพระอุปัชฌาย์ในการบรรพชาให้แก่ ด.ช.แสน กัลยา ด.ช.ขันธ์ และด.ช.ตา โดย ด.ช.แสน มีฉายาว่า “ใจยา” ด.ช.ขันธ์ มีฉายาว่า “ธรรมขันธ์” และด.ช.ตา มีฉายาว่า “จินะ”

จากนั้นท่านได้จาริกไปยังบ้านวัดจันทร์ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ และต่อไปยังบ้านยั้งเมิน บ้านม่อนเปี๊ยะ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ แล้วจึงกลับไปวัดพระสิงห์ตามเดิม

พระนุ สามเณร และชาวบ้านเมืองแปงทั้งหลายจึงได้ร่วมมือร่วมใจกันก่อสร้างวัดไปจนสำเร็จ โดยท่านให้การสนับสนุนด้านอุปกรณ์ก่อสร้างต่างๆ เช่น ถังน้ำ ซึ่งใช้ในการขนปูน ทราย ฯลฯ รวมทั้งยอดพระธาตุซึ่งเป็นโลหะ โดยชาวบ้านต้องเดินทางไปเอามาจากวัดพระสิงห์เอง

ในสมัยนั้นการเดินทางลำบากมาก ต้องเดินทางด้วยเท้ารอนแรมกันเป็นเดือนๆ การก่อสร้างนั้นเริ่มจากการก่อสร้างพระธาตุก่อน ส่วนวิหารนั้นสร้างแบบชั่วคราวไปก่อน โดยรื้อไม้จากวัดเก่ามาสร้าง ส่วนปูนที่ใช้นั้นใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการผสม เพราะไม่มีปูนซีเมนต์เหมือนเช่นปัจจุบัน  

โดยชาวบ้านต้องไปขุดหินปูนมาจากทุ่งผาจัน มีลักษณะเป็นหลืบเข้าไปในผา มีความกว้างประมาณคนเข้าไปนอนได้ ๑๐ คน ที่ผาจันนี้มีหินปูนจำนวนมาก ชาวบ้านก็ได้เรียกที่แห่งนี้ว่า เตาปูน มาจนถึงทุกวันนี้

วิธีการผสมปูนนั้น ทำได้โดยการเอาหนังวัวหนังควายและไม้ไก๋มาแช่น้ำ เอาน้ำเมือกเหนียวมาผสมกับหินปูนและทราย ส่วนไม้เสาของวิหารนั้น ชาวบ้านทั้งหญิงชายได้ช่วยกันชักลากมาตามลำน้ำปาย ใช้เชือกปอ ๒ เส้น เป็นเชือกที่ฝั้นกันขึ้นมาเอง มีคนตีกลองเป็นสัญญาณนำในการชักลากด้วย

เล่ากันว่าชาวบ้านสมัยนั้นให้ความร่วมมือกันดีมาก ทั้งหญิงชาย ไม่เว้นแต่เด็กๆ ก็มาช่วยหยิบช่วยจับตามแรงที่มี สร้างอยู่ไม่นานก็แล้วเสร็จ และถวายเป็นถาวรวัตถุในพระพุทธศาสนาในปีพุทธศักราช ๒๔๗๔ หลังจากนั้นจึงไปสร้างวิหารพระพุทธบาทต่อไป

----------------------


(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : นิตยา หล้าพรม (ครูแอน). ประวัติศาสตร์ศึกษา : ประวัติวัดเมืองแปง (วัดศรีดอนชัย), ๒๗ กันยายน ๒๕๕๑. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก : https://www.gotoknow.org/posts/212182 (วันที่ค้นข้อมูล : ๑๓ มกราคม ๒๕๖๗)


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_9085.JPG



วัดเมืองแปง



วัดเมืองแปง (ศรีวิชัย) สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๓๖๙ ตามประวัติวัดแจ้งว่า มีนายเตปิน พรมเทพ เป็นผู้ใหญ่บ้านได้นำราษฎรในหมู่บ้านของตนไปแผ้วถางบุกเบิก และสร้างกุฏิขึ้นประมาณปี พ.ศ.๒๔๕๑ เป็นต้นมา         

ต่อมา พ.ศ.๒๔๗๑ พระครูบาเจ้าศรีวิชัย ได้มาสร้างเจดีย์และวิหารขึ้น แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๔ และมอบให้ พระนุ อินทนนท์ (หรือพระอินทนนท์) ลูกศิษย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย อยู่จำพรรษาที่นี้

วัดเมืองแปง มีเนื้อที่ทั้งหมด ๒ ไร่ ๓ งาน ๗๒ ตารางวา น.ส.๓ อาณาเขต ทิศเหนือประมาณ ๖๒ วา จดโรงเรียนบ้านเมืองแปง ทิศใต้ประมาณ ๓๖ วา จดทางสาธารณะ ทิศตะวันออกประมาณ ๔๒ วา จดลำเหมืองสาธารณะ ทิศตะวันตกประมาณ ๒๔ วา จดทางสาธารณะ  

รายนามลำดับเจ้าอาวาสวัดเมืองแปง เท่าที่ทราบนามดังนี้

๑. พระบุญปั๋น  ปญฺญาวโร   (พ.ศ.๒๓๖๗-๒๔๑๐)

๒. พระนุ  อินทนนท์   
(*รับตำแหน่งประมาณปี พ.ศ.๒๔๖๘)

๓. ครูบาก๋ำ   (ได้มาอยู่จำพรรษาประมาณ ๒ พรรษา)

๔. พระอธิการสม  โสภโณ   (พ.ศ.๒๔๘๖-๒๕๔๔)

๕. พระอธิการสิงห์คำ  สจฺจวโร   (พ.ศ.๒๕๔๔-๒๕๔๙)

๖. พระอธิการอภิภูพงษ์  ฐิตธมฺโม   (พ.ศ.๒๕๕๐-ปัจจุบัน)

ปัจจุบันวัดเมืองแปงมีพระภิกษุประจำ ๑ รูป
คือ พระอธิการอภิภูพงษ์ ฐิตธมฺโม และสามเณร ๑ รูป คือ สามเณรชิณวัตร นุวงค์

ข้อมูล ณ พ.ศ.๒๕๕๖


(*หมายเหตุ: เจ้าอาวาสองค์ที่ ๒ ไม่ทราบปีที่แน่ชัดที่ได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส แต่จากประวัติวัดเมืองแปง เมื่อก่อนพ.ศ.๒๔๖๘ เดิมวัดเมืองแปงได้ตั้งอยู่ที่โรงเรียนบ้านเมืองแปงในปัจจุบัน

และต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๘ วัดได้ย้ายจากที่ตั้งเดิมขึ้นมาอยู่ที่นี่ คือสถานที่ตั้งของวัดเมืองแปงปัจจุบัน พระนุ อินทนนท์ ท่านจึงถือได้ว่าเป็นเจ้าอาวาสวัดเมืองแปงรูปแรก (รูปที่ ๑) อ้างอิงตามสถานที่ตั้งของวัดเมืองแปงในปัจจุบัน)

----------------------


(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : ป้ายประวัติวัดเมืองแปง และสยามทูเว็บดอทคอม. ประวัติวัดเมืองแปง (ศรีวิชัย). (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก : http://khnasngkpai.siam2web.com//?cid=872594 (วันที่ค้นข้อมูล : ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๖)


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_9056.JPG



วัดเมืองแปง ตั้งอยู่ เลขที่ ๕๑ บ้านเมืองแปง หมู่ที่ ๑ ตำบลเมืองแปง อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย



IMG_9057.JPG



ป้ายวัดเมืองแปง


IMG_9059.JPG



ปูชนียสถานปูชนียวัตถุวัดเมืองแปง

๑. วิหาร
๒. พระบรมธาตุเจดีย์

๓. รอยพระพุทธบาท

๔. พระเจ้าแปงปาย

๕. พระพุทธรูปสำริด และพระพุทธรูปสำริด ศิลปะล้านนา

๖. พระพุทธรูปสำริด รุ่นสิงห์ ถูกอัญเชิญมาจากพระพุทธบาทเมืองแปง

๗. พระพุทธรูปทรงเครื่อง

๘. อนุสาวรีย์พระครูบาเจ้าศรีวิชัย

๙. กุฏิสงฆ์
๑๐. ซุ้มประตู

๑๑. หอระฆัง
๑๒. ศาลาราย
๑๓. โรงครัว


IMG_9058.JPG


ซุ้มประตู วัดเมืองแปง

เป็นซุ้มเฉลิมพระเกียรติสร้างเนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุ ๘๐ พรรษา


IMG_9060.JPG



IMG_9061.JPG



IMG_9062.JPG



รูปปั้นสิงห์คู่ ประดับซุ้มประตู วัดเมืองแปง


IMG_9111.JPG


IMG_9067.JPG



บรรยากาศภายใน วัดเมืองแปง



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html
‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2024-12-1 03:47 , Processed in 0.092007 second(s), 15 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.