แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
ดู: 11250|ตอบ: 15
go

วัดพระธาตุจอมแตง ม.๑๑ ต.สันโป่ง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ (พระเกศาธาตุ) [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

Picture-094.jpg



วัดพระธาตุจอมแตง

ม.๑๑  ต.สันโป่ง  อ.แม่ริม  จ.เชียงใหม่  

[พระเกศาธาตุ]



Rank: 8Rank: 8

Picture-073.jpg


ซุ้มประตูทางเข้า/ออก วัดพระธาตุจอมแตง ครับ


วัดพระธาตุจอมแตง ตั้งอยู่ เลขที่ ๕๐ หมู่ที่ ๑๑ ตำบลสันโป่ง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ วัดแห่งนี้มีเนื้อที่จำนวน ๒๓ ไร่ ๓ งาน ๒๕ ตารางวา  ตามโฉนดเลขที่ ๙๓๖๒ และมีที่ธรณีสงฆ์มีเนื้อที่ ๕ ไร่ ๒ งาน ๙๓ ตารางวา ตามโฉนดเลขที่ ๒๙๕๘๕ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๒๘ งวดที่ ๖ ประจำปี ๒๕๒๗ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๐๖ ตอนที่ ๙ วันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๒๘ กองพุทธศาสนสถาน กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘ และทางกรมศิลปกรได้มาสำรวจขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เป็นเจดีย์พระธาตุจอมแตงเป็นปูชนียสถาน ประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๗๑ ตอนที่ ๓ วันที่ ๕ มกราคม ๒๔๙๗

สภาพถนนหนทางในอดีตนั้นเป็นเพียงถนนคนเดินและเป็นดินลูกรัง ช่วงฤดูฝนไม่สามารถนำยานพาหนะขึ้นมาได้ เนื่องจากรถยนต์ไม่สามารถขึ้นมาได้และสภาพถนนเป็นดินเหนียวและเป็นลูกรัง ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาโดยการสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กจากถนนสายใหญ่ (โชตนาเชียงใหม่ - ฝาง กิโลเมตรที่ ๒๕) ถึงบริเวณเขตพุทธาวาส ประมาณ ๕๐๐ เมตร


Rank: 8Rank: 8

Picture-074.jpg



ป้ายชื่อทางเข้า ศาลกรมหลวงชุมพรฯ อยู่ด้านขวา ซุ้มประตูทางเข้า/ออก วัดพระธาตุจอมแตง ครับ


Picture-075.jpg


เมื่อเราขับรถตรงเข้ามาเรื่อยๆ จะเจอถนนทางแยก ทางตรง จะไปวัดพระธาตุจอมแตง ส่วนทางแยกด้านขวา ที่มีป้ายสีน้ำเงินลูกศรชี้ ทางเข้าศาลกรมหลวงชุมพรฯ ซึ่งเดี๋ยวเราจะไปกราบนมัสการพระบรมธาตุจอมแตงก่อน แล้วค่อยมาศาลกรมหลวงชุมพรฯ ทีหลังนะครับ


Picture-077.jpg



เราจะไปวัดพระธาตุจอมแตง ก็ขับรถข้ามสะพาน ตรงไปตามถนนนี้เรื่อยๆ เลยครับ



Rank: 8Rank: 8

Picture-078.jpg


ถึงวัดพระธาตุจอมแตง แล้วครับ


Picture-079.jpg



พระพุทธรูป
ประดิษฐานใต้ต้นโพธิ์ วัดพระธาตุจอมแตง ครับ



Rank: 8Rank: 8

Picture-114.jpg


Picture-089.jpg



บันไดนาคทางขึ้น/ลง อุโบสถ - พระบรมธาตุจอมแตง วัดพระธาตุจอมแตง ครับ



Rank: 8Rank: 8

Picture-092.jpg


Picture-091.jpg



อุโบสถ วัดพระธาตุจอมแตง กว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๑๒ เมตร สร้างเมื่อ ๒๕๒๘ เป็นการก่อด้วยอิฐถือปูนหลังคาโครงสร้างไม้ มุงด้วยกระเบื้อง และได้รับบูรณปฏิสังขรณ์ภายในและเปลี่ยนกระเบื้องหลังคาใหม่ และได้มีการฉลองปอยหลวง ๓ วัน ๓ คืน ผูกพัทธสีมา ฝังลูกนิมิต เมื่อพุทธศักราช ๒๕๒๙ ครับ


Picture-112.jpg


วัดพระธาตุจอมแตง บางช่วงก็ถูกทิ้งร้าง ทำให้พระพุทธรูปองค์ศักดิ์สิทธิ์ คือ พระพุทธรูปฝนแสนห่า พระสิงห์หนึ่ง พระประธานในอุโบสถ อันเป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านได้ถูกขโมยไป ต่อมาบางช่วงก็ปรับปรุง มีทั้งพระสงฆ์ ราชการ ฆราวาส และศรัทธาประชาชนได้ร่วมกันบูรณะมาจนกระทั่งทุกวันนี้

สิ่งก่อสร้างที่ได้ทำการรื้อออก และได้สร้างขึ้นมาใหม่ เช่น กุฏิ ศาลาการเปรียญ ศาลาบำเพ็ญบุญ บันได ราวรอบลานพระธาตุ เป็นต้น หลักฐานสำคัญบางส่วนที่เป็นฐานบริเวณพระธาตุที่ก่อด้วยก้อนอิฐเก่าๆ ตอนนี้ถูกปิดด้วยการสร้างฐานลานพระธาตุที่สร้างขึ้นมาใหม่ สามารถดูได้จากช่องที่เปิดไว้ด้านล่างของฐานที่ต่อเติมขยายออกมาครับ


รายนามผู้มีหน้าที่รับผิดชอบและเจ้าอาวาส วัดพระธาตุจอมแตง ที่ปรากฏชัดเจนจนถึงปัจจุบัน
รูปที่ ๑-๓ พระพม่าไม่ปรากฏนาม                                           พ.ศ. ๒๓๘๕ – ๒๔๕๔
รูปที่ ๔    เจ้าอธิการจันตา            อดีตเจ้าคณะตำบลริมเหนือ     พ.ศ. ๒๔๕๕ – ๒๔๗๐
รูปที่ ๕    พระอธิการตื้อ  วุฒิธัมโม                                         พ.ศ. ๒๔๗๐ – ๒๔๘๘
รูปที่ ๖    พระครูอุดมวุฒิคุณ         อดีตเจ้าคณะอำเภอแม่ริม        พ.ศ. ๒๔๘๘ – ๒๔๙๕
รูปที่ ๗    พระครูสุภัทรคุณ           อดีตเจ้าคณะตำบลสันโป่ง       พ.ศ. ๒๔๙๕ – ๒๕๑๐
รูปที่ ๘    พระครูอมรธรรมประยุต   อดีตเจ้าคณะอำเภอแม่ริม        พ.ศ. ๒๕๑๐ – ๒๕๑๗
รูปที่ ๙    พระครูวุรุฬห์ธรรมโกวิท  อดีตเจ้าคณะตำบลสันโป่ง       พ.ศ. ๒๕๑๗ – ๒๕๒๑
รูปที่ ๑๐  พระครูปิยธรรมภาณี                                               พ.ศ. ๒๕๒๑ – ๒๕๔๘
รูปที่ ๑๑  พระสุระ  วิสุทธิญาโณ    รักษาการเจ้าอาวาส               พ.ศ. ๒๕๔๘ – ปัจจุบัน



Rank: 8Rank: 8

Picture-108.jpg



พระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระธาตุจอมแตง กว้าง ๘ เมตร ยาว ๘ เมตร สูง ๑๕ เมตร บูรณปฏิสังขรณ์เมื่อ พ.ศ.๒๓๘๕ เป็นพระธาตุทรงล้านนาโบราณ ปฏิสังขรณ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๗ เป็นแบบโบราณสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปกรแล้ว มีพระเจดีย์ ๒ องค์ โดยมีลักษณะการตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน องค์หนึ่งเป็นองค์ใหญ่และอีกหนึ่งองค์เป็นองค์เล็ก ลักษณะเป็นศิลปะแบบเหลี่ยม มีจำนวนจากฐานองค์พระเจดีย์ขึ้นไปถึงฐานยอดพระเจดีย์มี ๙ ชั้น ครับ



Picture-107.jpg


Picture-106.jpg



Picture-105.jpg



ซุ้มพระพุทธรูป พระเจดีย์องค์เล็ก วัดพระธาตุจอมแตง ครับ  


Rank: 8Rank: 8

Picture-095.jpg


พระบรมธาตุเจดีย์ (พระบรมธาตุจอมแตง) วัดพระธาตุจอมแตง ประดิษฐานบรรจุพระเกศาธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าครับ


พระบรมธาตุเจดีย์ ด้านบนเจดีย์มีลักษณะเป็นรูประฆังคว่ำ ต่อจากนั้นมียอดพระเจดีย์ปลายแหลมเป็นชั้นๆ ปล่องๆ ทรงกลมขึ้นไป ด้านบนมียอดฉัตรทำด้วยโลหะ ๗ ชั้น เจดีย์นี้ได้มีการสร้างอันเก่าแก่ที่นับว่าเป็นปูชนียวัตถุและโบราณสถาน มีด้านทิศตะวันออกติดกับอุโบสถ

ที่ว่าเป็นปูชนียวัตถุนั้น ก็เพราะว่ามีประวัติศาสตร์ได้กล่าวว่า ชาวบ้านได้ถือเอาองค์พระเจดีย์นั้น อันมีพระเกศาของสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ในลูกแตงที่พระองค์เสด็จมาในสมัยพุทธกาล พระองค์ได้ทรงอธิษฐานพระเกศาไว้ในลูกแตง ชาวบ้านจึงได้สร้างเป็นสถูปครอบลูกแตงไว้ เพื่อบูชาสักการะ


อนึ่งหากปีใด ดินฟ้าอากาศวิปริตแปรปรวน เกิดฝนแล้งไม่ตกตามฤดูกาล ชาวบ้านก็จะพากันสมาทานศีล ๕ ศีล ๘ รักษาอุโบสถศีล และได้นิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ ทำบุญตักบาตร ฝนก็จะตกลงมาตามความต้องการ เป็นเหตุให้ข้าวกล้าไร่นามีความอุดมสมบูรณ์ นี้คือความอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน

วัดนี้ถึงแม้ว่าจะได้รับการดูแลรักษา การก่อสร้าง การจัดงานเป็นประจำทุกปีมานานมากแล้วตั้งแต่บรรพบุรุษที่ผ่านมาทุกๆ รุ่น แต่ไม่มีพระภิกษุสามเณรเข้ามาจำพรรษาหรือมีมาจำพรรษาแต่ไม่นาน เพราะเนื่องจากว่าวัดแห่งนี้ตั้งอยู่บนเนินเขาสูง และห่างไกลจากหมู่บ้าน ทำให้ยากลำบากต่อพระสงฆ์ที่จะเข้ามาจำพรรษาในวัดแห่งนี้ การจำพรรษาในช่วงฤดูฝนนั้นมีความยากลำบากแก่การเดินทางไปรับอาหารบิณฑบาต ไม่มีน้ำดื่มอุปโภคบริโภค ไม่มีกุฏิพักอาศัย ทำให้ไม่สะดวกในการจำพรรษาของพระสงฆ์ ฉะนั้นวัดแห่งนี้จึงได้รับการดูแลจากคณะสงฆ์ของอำเภอแม่ริมเป็นสำคัญ

และเมื่อเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนามาถึง คณะสงฆ์อันมีพระมหาเถระ มีเจ้าคณะอำเภอแม่ริม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และมีนายอำเภอแม่ริม เป็นประธานฝ่ายฆราวาส จะได้นิมนต์พระสงฆ์มาประกอบพิธีกรรม และนำพาชาวบ้าน ศรัทธาประชาชน ศิษยานุศิษย์จำนวนมากมาร่วมทำบุญและทำความสะอาด ถางหญ้าไม่ให้รกรุงรังแก่สถานที่ และได้มีการกำหนดให้มีการจัดงานสรงน้ำพระธาตุ ตักบาตรข้าวสาร เป็นงานประจำปีของอำเภอแม่ริม เพื่อช่วยเหลือพระสงฆ์ที่จะเข้ามาจำพรรษาและมาปฏิบัติธรรมบำเพ็ญภาวนาในสถานที่แห่งนี้

หลังจากพระครูปิยธรรมภาณี (ศรีมูล ปิยธัมโม) ได้เข้ามารับตำแหน่งเจ้าอาวาสแห่งนี้เป็นต้นมา วัดแห่งนี้ได้มีพระสงฆ์มาจำพรรษาตลอดเรื่อยมาโดยไม่ขาด และได้มีการพัฒนาในด้านต่างๆ ทั้งด้านศาสนกุศล ศาสนวัตถุ และศาสนธรรม จนมีความเจริญรุ่งเรืองจนถึงทุกวันนี้




Rank: 8Rank: 8

Picture-093.jpg



ประวัติวัดพระธาตุจอมแตง  




ตามหนังสือแม่ริมระบือ บันลือแม่สา และหนังสือที่มีหลวงปู่พระครูสุภัทรคุณ (หลวงปู่คำปัน สุภัทโท) อดีตเจ้าคณะตำบลบ้านโป่ง ได้แต่งไว้เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๐ ได้กล่าวไว้ว่า

จากการได้สืบประวัติและการเล่าสืบๆ ต่อกันมาว่า วัดแห่งนี้ได้มีประวัติเกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล กล่าวคือ ครั้งเมื่อพระพุทธเจ้าทรงอธิษฐานประทับรอยพระบาทซ้อนลงไปเป็นรอยที่ ๔ ณ พระพุทธบาทสี่รอย ต่อจากนั้นพระองค์ก็ได้เสด็จมาตามไหล่เขาจนบรรลุถึงเขาลูกหนึ่งซึ่งเป็นที่อยู่ของฝูงแรด (ดอยขี้แรดหรือเขาขี้แรด) ห่างจากดอยขี้แรดไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๑ กิโลเมตร

มีพวกล๊วะปลูกบ้านอาศัยอยู่และทำไร่ทำสวนใกล้ๆ กับเชิงเขานั้น เมื่อพระองค์เสด็จมาถึงบนเขาขี้แรดพร้อมเหล่าสาวกเป็นเวลาใกล้เที่ยง ขณะนั้นมีล๊วะสองตายายกำลังทำสวนอยู่ที่เชิงเขา ได้เห็นพระองค์เสด็จมากับพระสาวก ก็เกิดปลื้มปิติมาก จึงได้หอบหิ้วเอาแตงกวาขึ้นไปถวาย เมื่อพระองค์รับแตงกวาเหล่านั้นมาแล้ว ก็ทรงถวายแก่พระสาวกกันจนครบ ด้วยอำนาจอิทธิฤทธิ์บารมีของพระองค์ได้ทรงอธิษฐานลูกแตงกวาไว้ ๑ ลูก


หลังจากนั้นพระองค์ไดทรงโปรดสัมโมทิยคาถาด้วยพระโอษฐ์อันมีเสียงพระสุระเสียงอันไพเราะแก่ล๊วะสองตายาย เมื่อล๊วะสองตายายลากลับแล้ว พญาแรดพร้อมหมู่บริวารที่พากันอาศัยอยู่ตามเชิงเขาก็ถือโอกาสพากันมาเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงโปรดอนุเคราะห์ด้วยพระเมตาธรรม เมื่อพญาแรดและบริวารกลับไปแล้ว พระพุทธองค์ทรงตั้งจิตอธิษฐานถอนพระเกศาใส่ลงไปในลูกแตงกวาที่เหลือ และทรงกระทำอาการแย้มพระโอษฐ์ เหล่าพระสาวกได้เห็นเช่นนั้นก็พากันทูลถามว่าเหตุใดพระองค์ทรงกระทำอาการเยี่ยงนั้น พระองค์ก็ตรัสว่าต่อไปภายภาคหน้า สถานที่นี่จะชื่อว่า “พระธาตุจอมแตง”

กล่าวถึงล๊วะสองตายายได้เล่าเรื่องที่ตนพบเห็นพระพุทธเจ้าให้ลูกหลานฟัง ลูกหลานได้ฟังก็ดีใจพากันส่งเสียงร้องเพื่อให้รู้กันทั่วเลยเกิดมีเสียงโกลาหลเป็นการใหญ่ ต่อมาหมู่บ้าน นี้จึงได้ชื่อว่า “บ้านสันลัวะออ” ได้ชักชวนกันจะไปเฝ้าพระพุทธองค์ เมื่อไปถึงปรากฏว่า พระพุทธองค์ได้เสด็จไปแล้วคงพบแต่แตงกวาที่ใส่พระเกศาไว้เท่านั้น พวกล๊วะเหล่านั้นต่างก็ยกแตงกวามาตั้งไว้ในที่อันควรเพื่อกราบบูชาโดยขุดหลุมลึก ๑ คาวุธ แล้วสร้างมณฑปครอบไว้ ทุกๆ วันพระจะพากันมาไหว้สวดมนต์ภาวนา


จากประวัติศาสตร์นั้นไม่ได้ปรากฏผู้สร้างวัดที่ชัดเจน สันนิษฐานกันว่าประมาณปี พ.ศ.๒๒๗๕ ได้มีพระมหาเถระ ๒ รูป เดินทางมาจากประเทศ ได้มาบำเพ็ญบารมีธรรมที่แห่งนี้ และได้ชักชวนชาวบ้านที่อยู่ไม่ไกลจากที่นี่ ร่วมกันสร้างเจดีย์ครอบมณฑปเดิมที่มีความทรุดโทรมปรักหักพังเอาไว้ มณฑปนั้นมีขนาดกว้าง ๒ เมตร ยาว ๒ เมตร สูง ๔ เมตร ติดกระจกแบบศิลปะพม่าซึ่งมีลักษณะเป็นประตูโขงทั้ง ๔ ด้าน แต่ละด้านจะมีรูปเทพพนม นางกินรี รูปสิงห์ รูปมอม ก่อเป็นรูปทรงเจดีย์อยู่ด้านบน ไปประดับไปด้วยแก้วอย่างวิจิตรงดงาม เจดีย์ที่ครอบมณฑปนั้นปัจจุบันได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นมาหลายครั้ง

ตามคำบอกเล่าของพ่อหนานอินทร์จักร ถาวร ลูกของพ่อขุนสันโป่งประสิทธิ์ ถาวร ได้เล่าว่า สมัยพ่อหนานยังเป็นเด็กเล็กๆ นั้น พ่อแม่จะพากันขึ้นมาจำศีลภาวนาทุกวันพระ ยังจำได้ว่าพระเจดีย์เก่าแก่ มีความสวยงาม ประดับประดาด้วยแก้วสีสันลวดลายดี แต่ว่าถูกพวกมนุษย์ใจบาปพากันมาเจาะค้นหาทรัพย์สมบัติจนมีแต่รูโพรงไปทั่วเจดีย์จวนล้มมิล้มแหล่ ต่อมาปี พ.ศ.๒๔๔๕ ได้มีพระอินทร์ตา เจ้าอาวาสวัดเจดียสถาน พร้อมด้วยพ่อขุนสันโป่งประสิทธิ์ถาวร พ่อหนานคำ พร้อมด้วยผู้เฒ่าผู้แก่จำนวนมาก จึงได้มาร่วมกันบูรณปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ใหม่ โดยการรื้อพระธาตุเพื่อสร้างพระธาตุองค์ใหม่ แต่รื้อไปรื้อมา ประตูโขงได้ล้มลงมาทับพระปานจนมรณภาพ เลยเก็บศพไว้ เมื่อสร้างพระเจดีย์เสร็จแล้ว ก็ได้จัดฉลอง ๗ วัน ๗ คืน พร้อมกับทำบุญปลงศพพระปาน การฉลองครั้งนี้ได้จัดทำกันที่วัดเจดียสถาน โยงด้ายสายสิญจน์มาที่วัดพระธาตุจอมแตง

ต่อมาประมาณ พ.ศ.๒๔๗๐ ได้มีนายม่องแอ๋ (อีกชื่อหนึ่งว่า ม่องกี่) เป็นชาวพม่าแต่มีถิ่นฐานบ้านช่องอยู่ที่เชียงใหม่ แต่มีจิตศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก ได้มาทำการปฏิสังขรณ์และมาสร้างวิหารเป็นตึก ได้สร้างพระพุทธรูปขึ้นไว้เป็นที่บูชาอีก ๔ องค์ พร้อมกับได้สร้างบันไดขึ้นถึงบริเวณปากประตูวิหาร และได้มีการจัดงานฉลองในเดือน ๖ ใต้ เดือน ๘ เหนือ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ซึ่งตรงกับงานบุญประเพณีสรงน้ำพระธาตุ แต่ต่อมาด้วยความไม่สะดวกในเดือน ๖ ใต้ เดือน ๘ เหนือ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ตรงกับช่วงฤดูฝน ทำให้ยากลำบากแก่สาธุชนทั้งหลาย จึงได้ทำการเลื่อนการทำบุญประเพณีสรงน้ำพระธาตุมาเป็นเดือน ๓ ใต้ เดือน ๕ เหนือ ขึ้น ๑๕ ค่ำ จนถึงทุกวันนี้ และได้มีเจ้าแม่ดารารัศมี มาจัดพิธีทำบุญทอดจุลกฐิน นำเอาฝ้ายมาปั่น มาทอ มาเย็บ มาย้อมที่วัด ที่ท่านพระครูอภัยสารทะเป็นประธานในการรับผ้าจุลกฐิน

ตั้งแต่นั้นมาจึงได้มีพระมาประพฤติปฏิบัติธรรมตลอดมา ทั้งที่เป็นพระเดินธุดงค์พระเกจิอาจารย์นำลูกศิษย์มาร่วมกันปฏิบัติธรรมอยู่เสมอ เช่น หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ครูบาอินทรจักรรักษา วัดน้ำบ่อหลวง ครูบาพรหมมา วัดพระพุทธบาทตากผ้า หลวงปู่แหวน วัดดอยแม่ปั๋ง เป็นต้น ได้มาเพื่อปฏิบัติธรรมเจริญพระกรรมฐาน


พ.ศ.๒๕๐๗ กรมชลประทานได้ทำการขุดคลอดชลประทานผ่านเขตหน้าวัด ซึ่งเป็นวัดร้างที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ และด้วยความลาดชันของบริเวณดังกล่าว จึงทำให้บริเวณของตัวพระธาตุนั้นได้ทรุดตัวลงไปเรื่อยๆ จนมาถึงช่วงที่พระเดชพระคุณอมรธรรมประยุตเจ้าคณะอำเภอแม่ริมในขณะนั้น (พ.ศ.๒๕๔๙ ปัจจุบันที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่) พร้อมด้วยคณะสงฆ์จึงได้มาร่วมกันพัฒนาวัดที่มีความทรุดโทรม เพื่อใช้ในกิจของพระพุทธศาสนาสืบมาจวบจนถึงปัจจุบันนี้)

ต่อมาปี พ.ศ.๒๕๑๓ ท่านพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระครูอมรธรรมประยุต ร่วมด้วยคณะสงฆ์ในอำเภอแม่ริม มีพระครูวิรุฬธรรมโกวิท อดีตรองเจ้าคณะอำเภอแม่ริม จังหวัดเจดียสถาน และหลวงปู่คำปัน สุภัทโท อดีตเจ้าคณะตำบลสันโป่ง วัดสันโป่ง ได้ร่วมกับชาวบ้านศรัทธาประชาชนได้มาช่วยกันรื้อวิหารหลังเก่านั้น แล้วสร้างวิหารหลังใหม่เป็นแบบจัตุรมุข เสร็จเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๖ พร้อมด้วยการจัดงานฉลองและเปลี่ยนการจัดงานสรงน้ำพระธาตุจากเดือน ๖ ใต้ เดือน ๘ เหนือ มาเป็นเดือน ๓ ใต้ เดือน ๕ เหนือ ตั้งแต่บัดนั้นมา

พ.ศ.๒๕๒๑ ทางคณะสงฆ์จึงได้แต่งตั้งให้พระศรีมูล ปิยธัมโม มารักษาการเจ้าอาวาส วัดพระธาตุจอมแตง ตั้งแต่นั้นมาจึงได้มีผู้ดูแล มีพระสงฆ์มาจำพรรษาตลอดมาโดยมิขาด



Rank: 8Rank: 8

Picture-101.jpg



เดี๋ยวเรามากราบนมัสการพระบรมธาตุจอมแตง วัดพระธาตุจอมแตง พร้อมกันนะครับ

  (กล่าวนะโม ๓ จบ) โสภะคะวา อิติอะระหัง โสกะคะวา สัมมาสัมพุทโธ เจติยา สะปะสัทธาตุ โยนิจจัง พุทธะเกสา สัมพุทเธนะ ปะติฏฐิตา อะหัง วันทามิ ธาตุโย อะหัง วันทามิ สัพพะโสฯ

ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระพุทธ พระธรรม และพระอริยสงฆ์เป็นที่พึ่ง ข้าพเจ้าขอกราบนอบน้อมบูชาพระคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงเสียสละสั่งสมบารมีนับชาติมิถ้วน ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ประกาศธรรมนำเวไนยสัตว์ออกจากสังสารวัฏ พร้อมกราบพระธรรม  และพระอริยสงฆ์ ขอตั้งสัจจะอธิษฐานด้วยอานิสงส์ผลแห่งบุญนี้ จงเป็นปัจจัยให้ได้ถึงซึ่งพระนิพพาน แม้ต้องเกิดในทิพย์จุติใดๆ ขอเกิดภายใต้ร่มเงาพระพุทธศาสนา ได้พบสัตบุรุษผู้รู้ธรรมอันประเสริฐมีกรรมสัมพันธ์ที่ดี ได้เกิดท่ามกลางกัลยาณมิตร ห่างไกลจากพาล มีโอกาสฟังธรรมประพฤติธรรม จนเป็นปัจจัยให้เจริญด้วยสติและปัญญาญาณ ตามส่งชาตินี้และชาติต่อๆไป จนถึงพระนิพพานในกาลอันควรเทอญ กรรมใดๆที่ล่วงเกินต่อพระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์ และสรรพสัตว์ทั้งหลายในอดีตชาติก็ตามปัจจุบันชาติก็ตาม กราบขออโหสิกรรมทั้งหมดทั้งสิ้น ขออุทิศกุศลผลบุญให้แต่ท่านผู้มีพระคุณ ญาติพี่น้อง เจ้ากรรมนายเวร ตลอดจนท่านที่ขวนขวายในกิจที่ชอบในการดำรงรักษาไว้ซึ่งประเทศชาติ  พระพุทธศาสนา และองค์พระมหากษัตริย์ทั้งที่เป็นมนุษย์และอมนุษย์ ขอให้ท่านทั้งหลายดังกล่าวนามมานั้นจงประสบแต่ความดี ปราศจากความทุกข์และมีความสุขฯ ทั่วกันทุกท่านเทอญ



‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2024-11-5 17:59 , Processed in 0.115470 second(s), 16 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.