แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
ดู: 13802|ตอบ: 26
go

วัดพระธาตุดอยน้อย ต.ดอยหล่อ อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ (พระบรมธาตุส่วนพระเศียรเบื้องซ้าย) [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

DSC06146.jpg



วัดพระธาตุดอยน้อย

ต.ดอยหล่อ  อ.ดอยหล่อ  จ.เชียงใหม่  

[พระบรมธาตุส่วนพระเศียรเบื้องซ้าย]



Rank: 8Rank: 8


DSC06072.jpg


วัดพระธาตุดอยน้อย ตั้งอยู่ ตำบลดอยหล่อ อำเภอดอยหล่อ (แยกพื้นที่ออกจากอำเภอจอมทอง สมัยก่อนเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอจอมทอง) จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่บนดอยน้อยๆ ลูกหนึ่ง คือดอยไม่สูงนัก ทางทิศตะวันออกของถนนสายเชียงใหม่ - ฮอด บนยอดดอยนั้นจะเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งตามตำนานกล่าวว่า เป็นวัดที่พระแม่เจ้าจามเทวีได้ทรงสร้างขึ้น เมื่อครั้งตอนเสด็จมาตามลำน้ำปิง เพื่อมาครองเมืองหริภุญชัย (ลำพูน) ตามคำเชิญของสุเทวฤาษี ประมาณปีพ.ศ.๑๒๐๑ จึงได้ขึ้นมาทรงสร้างพระบรมธาตุเจดีย์แห่งนี้ไว้

เมื่อนับมาจนถึงกระทั่งปัจจุบันนี้ (พ.ศ.๒๕๕๒) วัดพระธาตุดอยน้อยนี้ก็สร้างมาแล้ว ๑๓๕๑ ปี มีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ พระบรมธาตุเจดีย์ โข่งพระ (กรุพระ) อุโบสถ วิหาร และพระพุทธรูปหินอ่อนแกะสลักทั้งองค์เล็กองค์ใหญ่ บริเวณวัดตั้งอยู่บนเขาติดลำน้ำปิง มองเห็นทิวทัศน์โดยรอบทุกทิศ มีพื้นที่วัดทั้งสิ้นประมาณ ๑๓๔ ไร่ ๓ งาน ๗ ตารางวา


อาณาเขตติดต่อ วัดพระธาตุดอยน้อย
ทิศตะวันตกและตะวันออก             ยาวประมาณ ๑๓ เส้น
ทิศเหนือและทิศใต้                      ยาวประมาณ ๗ เส้น
ทิศเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ   ติดกับที่นา
ทิศตะวันออก                             ติดกับลำน้ำแม่ปิง

คำขวัญของวัดพระธาตุดอยน้อย
วัด  -  งามล้ำ    สง่าพาใจ  สุข
พระ -  นำทาง    พ้นทุกข์  เกษม   ใส
ธาตุ -  ส่องแสง  รุ่งเรือง   เปลือง  อำไพ
ดอย -  ร่วมใจ    พัฒนา   พา    ชื่นชม
น้อย -  ภิรมย์     สถิต     มั่น    นิรันดร



Rank: 8Rank: 8


DSC06065.jpg


ซุ้มประตูทางเข้า/ออก วัดพระธาตุดอยน้อย ครับ

การเดินทางไปวัดพระธาตุดอยน้อย ใช้เส้นทางตามทางหลวงหมายเลข ๑๐๘ กม.ที่ ๔๓-๔๔ ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ ๔๔ กิโลเมตร ตรงข้ามสำนักงานพัฒนาภาค ๓ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนาดอยหล่อ จะมีทางแยกเข้าไปถึงยอดดอยห่างจากถนนใหญ่ ประมาณ ๑,๕๐๐ เมตร หากมาจากตัวเมืองเชียงใหม่ทางเข้าวัดจะอยู่ฝั่งด้านซ้าย แต่ถ้ามาจากอำเภอจอมทอง ก็จะต้องกลับรถเลี้ยวขวาเข้าไปครับ



การเดินทางไปวัดพระธาตุดอยน้อย ดูข้อมูลแผนที่จากเว็บ google ได้ตามลิงค์นี้ครับ

https://www.google.com/maps/place/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%98%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2/@18.464933,98.803896,17z/data=!3m1!4b1!4m2!3m1!1s0x30dbb64df0a78599:0xb3409d2ca70d8304?hl=th


DSC06080.jpg


DSC07870.jpg



บันไดนาคทางขึ้น/ลง วัดพระธาตุดอยน้อย ยาว ๑๒๐ เมตร มี ๒๔๗ ขั้น สร้างเมื่อปีพ.ศ.๒๕๑๙ ครับ


DSC07872.jpg


รูปปั้นพญานาค บันไดนาคทางขึ้น/ลงด้านหน้า วัดพระธาตุดอยน้อย ครับ



Rank: 8Rank: 8

DSC07871.jpg


ถนนทางขึ้น/ลงโดยรถยนต์ วัดพระธาตุดอยน้อย ครับ


DSC06079.jpg



ทางเข้าไปสำนักแม่ชีจามเทวี วัดพระธาตุดอยน้อย อยู่บริเวณด้านข้างซ้ายบันไดนาคทางขึ้น/ลงครับ


Rank: 8Rank: 8

DSC06093.jpg


DSC06085.jpg



อนุสาวรีย์พระสุพรหมยานเถระ (ครูบาพรหมา พรหมจักโก) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทตากผ้า ต.มะกอก อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ชาตะ ๓๐ สิงหาคม ๒๔๔๑ มรณภาพ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๒๗ อายุ ๘๗ ปี พรรษา ๖๗ ประดิษฐานด้านหน้า อุโบสถ วัดพระธาตุดอยน้อย ครับ


DSC06116.jpg



ประวัติอนุสาวรีย์พระสุพรหมยานเถระ (ครูบาพรหมา พรหมจักโก) วัดพระธาตุดอยน้อย

ความเป็นมาของการสร้างอนุสาวรีย์พระสุพรหมยานเถระนี้ จัดสร้างขึ้นโดยคณะศิษยานุศิษย์ เพื่อเป็นอนุสรณ์น้อมระลึกถึงพระคุณของครูบาฯ ที่มีต่อบรรดาศิษยานุศิษย์ ทั้งบรรพชิตและฆราวาส เป็นการประกาศเกียรติคุณที่ท่านได้บำเพ็ญไว้ในพระพุทธศาสนาอย่างมาก สมกับเป็นพระเถระที่ปฏิบัติถึงอริยศีล อริยสมาธิ อริยปัญญา บริบูรณ์ด้วยวิชชาและวิมุติ เป็นปูชนียบุคคลที่ควรบูชาเพื่อให้อนุชนที่มีกุศลจิตประพฤติปฏิบัติตามเป็นเยี่ยงอย่าง

มูลเหตุสำคัญสองประการในการสร้าง คือ ประการแรกเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีที่มีต่อท่านครูบาฯ ที่ท่านได้เมตตาแสดงมหากริยาโปรดคณะศิษย์ให้มีปัญญาเข้าใจในธรรมจักขุ (มีดวงตาเห็นธรรมโดยระบบจิตสู่จิต) ในคืนวันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ ประการที่สอง เนื่องจากท่านครูบาฯ อาพาธหนักหลายเดือน ทางคณะศิษย์ฯ จึงพร้อมใจกันขออนุญาตท่านสร้างรูปเหมือนยืน โดยอาศัยกุศลเจตนาให้ท่านเจริญอิทธิบาทสี่ในการรักษาอาพาธให้หายเป็นปกติ จนสามารถยืนถ่ายรูปทำแบบปั้นรูปเหมือนได้ เมื่อท่านครูบาฯ หายเป็นปกติดีแล้ว คณะศิษย์ฯ จีงสร้างรูปเหมือนไปถวายแก่ท่านที่วัดพระพุทธบาทตากผ้า เมื่อวันเสาร์ที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๔

ท่านครูบาฯ ปรารภว่าจะนำรูปเหมือนมาประดิษฐาน ณ วัดพระธาตุดอยน้อย เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการออกเดินธุดงค์และได้มาจำพรรษาที่วัดนี้เป็นแห่งแรก ในวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๒๗ ก่อนมรณภาพ ๓ วัน ท่านครูบาฯ พร้อมด้วยคณะศิษย์ฯ มาเลือกวันที่ก่อสร้างอนุสาวรีย์ ณ ที่นี้ ซึ่งบ่ายหน้าไปทางวัดพระพุทธบาทตากผ้า อนุสาวรีย์แห่งนี้ใช้เวลา ๓ ปีเศษ จึงแล้วเสร็จ และกระทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๓๑ เมษายน ๒๕๓๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ ครับ


Rank: 8Rank: 8

DSC06119.jpg


DSC06121.jpg



อุโบสถ วัดพระธาตุดอยน้อย ครับ

ประวัติอุโบสถและพัทธสีมา วัดพระธาตุดอยน้อย


เมื่อพระแม่เจ้าจามเทวีได้เสด็จจากละโว้ (ลพบุรี) ได้มาสร้างพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ แล้วได้ทำการสร้างอุโบสถผูกพัทธสีมา เพื่อเป็นที่ทำสังฆกรรมของพระสงฆ์ เมื่อพ.ศ.๑๒๐๑ ในคราวสร้างพระธาตุดอยน้อย พัทธสีมาแห่งนี้มีการสร้างแปลกกว่าที่อื่นๆ คือทางด้านหลังใช้หินทำเป็นรูปท้ายเรือฝังลึกลงไปในฐานอุโบสถ ๓ ศอก ด้านหน้าใช้หินทำเป็นศิลาจารึกปักไว้คล้ายหัวเรือ กว้างประมาณ ๒ ศอก หนาประมาณ ๑ คืบ แต่แตกออกเป็นหลายชิ้นจึงได้เก็บรวบรวมฝังไว้ใต้ฐานอุโบสถ ส่วนหัวเรือมีอักษรจารึกไว้ ได้ย้ายไปข้างพระเจดีย์ทิศใต้

อุโบสถหลังแรกได้ชำรุดทรุดโทรมลง เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่กษัตริย์พระเมืองแก้ว ได้มอบให้ขุนดาบเรือนมาบูรณะพระธาตุและบูรณะอุโบสถขึ้นใหม่เมื่อปีพ.ศ.๒๐๙๖

ต่อมาหลังปีพ.ศ.๒๓๐๐ วัดได้ร้างไปด้วยสงครามพม่ารุกราน ราษฎรย้ายถิ่นฐาน วัดจึงขาดการดูแลจนถึงปีพ.ศ.๒๔๗๕ ครูบาอินทจักร ครูบาพรหมา ครูบาคัมภีระ ครูบามูล ได้มาจำพรรษาบูรณะวัดร้างขึ้นใหม่ ตอนนั้นสภาพของอุโบสถเหลือแต่ฐานล่างมีศิลาจารึกสองแผ่น ด้านหน้าเป็นหัวแหลมคล้ายหัวเรือมีอักษรจารึกไว้ (ในปัจจุบันอยู่ข้างพระเจดีย์ทิศใต้)

ด้านหลังเป็นท้ายตัดเหมือนท้ายเรือได้ถูกผู้ร้ายทุบทำลายไปหลายชิ้น ต่อมาภายหลังจึงรวบรวมฝังไว้ใต้ฐานอุโบสถคราวบูรณะเมื่อพ.ศ.๒๔๗๕ และได้สร้างอุโบสถขึ้นครอบฐานเดิม แต่สภาพของพัทธสีมาคงไว้สภาพเดิมเป็นศิลปะล้านนา บูรณะซ่อมแซมหลังคาเมื่อพ.ศ.๒๕๓๙ ตัวอุโบสถยังคงเป็นปูนขาวเหมือนเดิม นับว่าอุโบสถแห่งนี้ได้สร้างขึ้นถึง ๓ ครั้ง อุโบสถหลังนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างพระธาตุดอยน้อยในปัจจุบันนี้



Rank: 8Rank: 8

DSC06104.jpg


DSC06147.jpg



พระบรมธาตุดอยน้อย วัดพระธาตุดอยน้อย เป็นเจดีย์ทรงหริภุญชัยผสมดอยสุเทพ ศิลปะแบบลังกาทรงระฆังคว่ำ ฐานย่อมุม ฐานกว้าง ๙ เมตร สูง ๒๑ เมตร ครับ   


Rank: 8Rank: 8

DSC06158.jpg


ตำนานพระบรมธาตุดอยน้อย

ก่อนที่จะกล่าวถึงประวัติการสร้างพระบรมธาตุดอยน้อยที่วัดพระธาตุดอยน้อยนั้น ก็ขอกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของพระแม่เจ้าจามเทวี ถึงสาเหตุที่มาสร้างวัดพระธาตุดอยน้อยนี้ เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจยิ่งขึ้นไปอีก จึงขอตัดเอาประวัติพระแม่เจ้าจามเทวี เฉพาะทรงอำลาเจ้าพระยาผู้เป็นพระราชบิดา แล้วออกเดินทางโดยทางเรือมาตามลำน้ำปิงเท่านั้น ถ้าให้ลำดับแต่กำเนิดมานั้นก็จะยาวและเกินความต้องการของผู้อ่าน เมื่อท่านพระฤาษีได้ทรงสร้างนครหริภุญชัย (ลำพูน) เสร็จแล้ว

ท่านพระฤาษีทั้งสองก็ได้ไปปรึกษากันเพื่อคัดเลือกหาผู้จะมาเป็นใหญ่มาปกครองอาณาประชาราษฎร์ในนครหริภุญชัยนี้ จึงได้ไปขอพระราชธิดาของพระเจ้าละโว้มหาราช (ลพบุรี) มีพระนามว่า จามเทวี มาปกครองนครหริภุญชัย เมื่อพระเจ้าละโว้มหาราชได้ทราบจากพระฤาษี ก็ได้ให้พระราชธิดาจามเทวีทรงตัดสินพระทัยแล้ว พระแม่เจ้าจามเทวีจึงได้เสด็จขึ้นไปกราบทูลลาพระเจ้าละโว้มหาราช กราบทูลขอพรเพื่อให้เป็นสิริมงคลให้มีความเจริญรุ่งเรืองแก่ตนเองในภายหน้าด้วยว่า “ข้าแต่พระราชบิดาเป็นเจ้า พระองค์มีความประสงค์ให้ข้าน้อยไปเป็นนางพญาอยู่เสวยราชสมบัติ อยู่ในพระนครหนขุนน้ำโพ้นแท้ ข้าน้อยขอรับพระราชทานไปตามพระประสงค์ของพระราชบิดาในครั้งนี้ ด้วยความพอใจของลูกเป็นอย่างยิ่งหาที่สุดมิได้” แต่ทว่า ข้าน้อยขอกราบพระราชทูลขอเอาสิ่งที่เป็นสิริมงคลไปด้วย เพื่อประกอบกิจให้เป็นประโยชน์ในภายหน้าเป็นต้นว่า

(๑) ข้าน้อยขอพระมหาเถระที่ทรงปิฎก ประมาณ ๕๐๐ องค์
(๒) หมู่ผ้าขาวทั้งหลาย ที่ตั้งอยู่ในเบญจศีล ๕๐๐  คน
(๓) บัณฑิต ๕๐๐  คน
(๔) หมู่ช่างสลัก ๕๐๐ คน
(๕) ช่างแก้วแหวน ๕๐๐  คน
(๖) พ่อเลี้ยง ๕๐๐  คน
(๗) แม่เลี้ยง ๕๐๐  คน
(๘) หมู่หมอโหรา ๕๐๐  คน
(๙) หมอยา ๕๐๐  คน
(๑๐) ช่างเงิน ๕๐๐  คน
(๑๑) ช่างทอง ๕๐๐  คน
(๑๒) ช่างเหล็ก ๕๐๐ คน
(๑๓) ช่างเขียน ๕๐๐  คน
(๑๔) หมู่ช่างทั้งหลายต่าง ๆ ๕๐๐  คน
(๑๕) พ่อเวียก (การงานหัวหน้าฝ่ายโยธา) ทั้งหลาย ๕๐๐ คน


DSC06152.jpg



ตำนานพระบรมธาตุดอยน้อย (ต่อ)

เพื่อให้สำเร็จทั้งภายในและภายนอกอย่างแท้จริง พระยาละโว้มหาราช จึงจัดทุกสิ่งให้ตามความประสงค์ของพระแม่เจ้าจามเทวีทุกประการ เมื่อพระสุกกทันตเทวฤาษี นายคะวะยะไปแล้ว พระแม่เจ้าจามเทวีเข้าไปสั่งอำลาพระยา แล้วก็นิมนต์พระมหาเถระเจ้าจำนวน ๕๐๐ รูป และชาวช่างทั้งหลาย อย่างละ ๕๐๐ คน ลงเรือบัวรมวลแล้ว เมื่อถึงเดือน ๑๒ แรม ๘ ค่ำ วันอังคารของไทย เต่าสง้าติถี ๒๓ ตัว นาทีติถี ๑๔ พระจันทร์จรณะเสด็จเข้าเที่ยวเทียมนักขัตตฤกษ์ตัวถ้วน ๖ ชื่ออาฒเทวดา ปรากฎในเมถุนวาโยราคีนาทีฤกษ์ ๒๔ ตัว ยามตูดจ้าย พระแม่เจ้าจามเทวีมีบริวารอันมาก ก็ยาตราขึ้นมาตามกระแสน้ำแม่ระมิงค์ อันมีเจ้าสุกกทันตฤาษี นายคะวะยะ

หากมาแล้วก่อนนาแลยักษ์ทั้งหลาย ๑,๐๐๐ ตน มีเทโดยักษ์เป็นประธาน หากมาตามรักษา พระแม่เจ้าจามเทวีก็ขึ้นมาตั้งเมืองหนึ่งชื่อพระบาง แล้วขึ้นมาตั้งเมืองคนชิก เมืองปุรรัฎฐะ เมืองมุราณ เมืองเทพบุรี เมืองบางพละ เมืองราเสียด แล้วขึ้นมาถึงที่แห่งหนึ่งเป็นหาดเชี่ยวนักแห่งนั้นชื่อว่า “หาดเชี่ยว” แล้วมาถึงที่หนึ่งผ้าเปียกชุ่มด้วยน้ำ พระแม่เจ้าจามเทวีว่าแม่เลี้ยงทั้งหลายเอาผ้าออกตากเสียให้แห้งนั้นแล้ว พระแม่เจ้าจามเทวีก็ตั้งเมืองนั้นให้ชื่อว่า “เมืองตากแห้ง” (ปัจจุบัน จ.ตาก) แล้วขึ้นมาที่หนึ่ง รี้พลโยธาทั้งหลาย เป็นเอาเหงาหอดหิวนักจึงหื้อยั้งพักอยู่ แลพิจารณาในท้องแห่งกูนี้ (คือ ครรภ์) จักเป็นฉันในวาจาอั้น ส่วนว่ารัศมีพระอาทิตย์ อันรวมด้วยรัศมีน้ำต้องตนพระแม่เจ้าจามเทวีและไปต้องท้องดอยนั้น ปรากฏว่าเป็นรูปคนสามคน คือว่ารูปแห่งพระแม่เจ้าจามเทวีและลูกแห่งพระแม่เจ้าจามเทวีอันมียังในท้อง ๒ คน พระแม่เจ้าจามเทวีก็มีใจชื่นชมยินดียิ่งนัก ที่นั้นได้ชื่อว่า “สามเงา” หั้นแล

พระแม่เจ้าจามเทวีขึ้นมาถึงเกาะอันหนึ่งแล้ว พระแม่เจ้าจามเทวีก็ได้อาบน้ำทาขมิ้น ที่นั้นได้ชื่อว่า “เกาะขมิ้น” และถัดมานั้นพระแม่เจ้าจามเทวีได้มาถึงระหว่างดอยที่สุดแห่งแก่งทั้งหลาย ก็ได้มีหญิงผู้หนึ่งอันขึ้นมาด้วยกับพระแม่เจ้าจามเทวีก็มาเสียชีวิตเสียที่นั้น พระแม่เจ้าจามเทวีก็ได้เลิกซากส่งสการหญิงผู้นั้นเสีย พระแม่เจ้าจามเทวีก็มาดำหัวที่นั้นได้ชื่อว่า “แก่งส้มป่อย” พระแม่เจ้าจามเทวีก็มาถึงที่แห่งหนึ่งยิ่งร้อนกระหายมากนัก จึงให้คนเอาเรือไปจอดอยู่เงื้อมผา อันหนึ่งมีใจอยากอาบน้ำ เลยได้ชื่อว่า “ผาอาบนาง” ต่อมาจนเท่าทุกวันนี้แล พระแม่เจ้าจามเทวีขึ้นมาถึงที่หนึ่งเห็นดอย กั้งน้ำเสียเหมือนจักไปไม่ได้ พระแม่เจ้าจามเทวีใช้คนไปดูก็เห็นคลองเรือมีอยู่พอเห็นดอยลัดขวางแม้น้ำอยู่ พระแม่เจ้าจามเทวีจึงให้ช่างแต้ม (วาด) รูปช้างไว้ ที่นั่นได้ชื่อว่า “ผาแต้ม” หั้นแล

พระแม่เจ้าจามเทวีมาถึงแก่งอันหนึ่งเป็นอันใหญ่เชี่ยวแรงนัก ฟองน้ำอันไหลทุบตีกันและแตกเป็นดั่งพวงดอกไม้ อันท่านหากร้อยเป็นสร้อยเป็นสายงามนักจึงได้ชื่อว่า “แก่งสร้อย” พระแม่เจ้าจามเทวีจึ่งตกเอาเชือกฝ้ายกับลัวะทั้งหลายอันอยู่บริเวณที่นั้นทั้งมวล เพื่อจักเอามาชักเรือขึ้นแก่ง เมื่อนั้นลัวะทั้งหลายก็เริ่มร่วมกันฝั้นเชือกฝ้ายได้ ๔ เส้น มาถวายหันแล เหตุนั้นจึงได้ชื่อว่า “๔ เส้นสันกลางเป็น“ ลัวะต่อใหญ่ต่อหลวงกว่าลัวะทั้งหลายหั้นแล พระแม่เจ้าจามเทวีชักเรือขึ้นพ้นแก่งนั้นแล้วก็ให้ตั้งเมืองที่นั้น ชื่อว่า “เมืองสร้อย” และนางคราจากที่นั่น ขึ้นมาถึงที่หนึ่ง เต่าปลาทั้งหลายเบียดกันนัก นางจึ่งตั้งเมืองนั้นชื่อ “ปลาเต่าแล”

พระแม่เจ้าจามเทวีมาถึงที่หนึ่งราบเพียงงามใจพอนัก จึงให้ตั้งบ้านอันหนึ่ง ริมแม่น้ำทรา จึงเรียกว่า “บ้านทราแล” พระแม่เจ้าจามเทวีขึ้นมาถึงที่หนึ่ง ซึ่งเมื่อพระพุทธเจ้ายังทรมาน โปรดเวไนยสัตว์ พระพุทธเจ้าเหยียบก้อนหินหนึ่งไว้เป็นรอยพระบาท เพื่อไว้เป็นที่กราบไว้และบูชาแก่คนและเทวดาคณาทั้งหลาย พระแม่เจ้าจามเทวีขึ้นมาถึงที่นั่น แล้วไปสักการบูชานมัสการพระบาทเจ้าที่นั่น พระแม่เจ้าจามเทวีก็ได้ตั้งชื่อเมืองนั้นว่า “ฮอด” (ปัจจุบัน อ.ฮอด) พระแม่เจ้าจามเทวีออกจากที่นั้นมา จนถึงเมืองอังครัฎฐ ที่นั่น น้ำไหลมาหาวังอันหนึ่งเป็นอันบ่ายอันเหงี่ยง เอาเรือขึ้นก็สะแกงไป จึงเรียกว่า “วังสะแกง” หั้นแล


Rank: 8Rank: 8

DSC06127.jpg


กำเนิดวัดพระธาตุดอยน้อย

พระแม่เจ้าจามเทวีได้ตัดความรักและความอาลัยแยกทางกับพระราชสวามี คือ พระเจ้ารามราช ด้วยการสละเพศเป็นแม่ชี ตอนที่เสด็จไปครองเมืองหริภุญชัย เรือพระที่นั่งได้ผ่าน อ.สามเงา และ อ.ฮอด จนกระทั่งถึงเขตแดนหริภุญชัย ในวันแรม ๑๒ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเส็ง พุทธศก ๑๒๐๑ ในขณะที่ตามเสด็จมาด้วยกันทางลำน้ำระมิงค์ (แม่ปิง) พระแม่เจ้าจามเทวีพร้อมด้วยโยธาประชากร เริ่มเข้าสู่เขตดินแดนหริภุญชัย เนื่องจากลำน้ำระมิงค์ยามนี้ไหลเชี่ยวมาก เมื่อขึ้นตามลำน้ำมาจะเห็นเนินข้างเขียวชอุ่ม ก็ปรารถนาจะสร้างพระเจดีย์ จักได้ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุอันนำมาจากเมืองละโว้

จึงปรึกษากับปวงชนทั้งหลายที่ตามเสด็จมาด้วยกัน ต่างก็เห็นชอบด้วย จึงให้นายพรานธนู ผู้ที่มีความรู้ในทางไตรเพท ตั้งสัจจะอธิษฐานยิงธนู เพื่อจักหาที่ประดิษฐานพระเจดีย์ เพื่อสถิตไว้ซึ่งพระบรมสารีริกธาตุเจ้า นายขมังธนูรับพระราชโองการแล้วก็ยิงธนู ให้คนทั้งหลายตามดูยังที่ลูกธนูจักตก ก็ปรากฏว่าลูกธนูตกลงยังดอยน้อย ริมฝั่งแม่น้ำระมิงค์ จึงให้หยุดพักไพร่พล ณ สถานที่แห่งนั้น และทรงให้คนทั้งมวลสร้างพระเจดีย์ทำการประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และขนานนามที่นั่นว่า “ปะวีสิถะเจดีย์” (ปัจจุบันคือพระธาตุดอยน้อย อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่)


ระยะเวลาเดินทางมาดอยนี้ นับเป็นเวลา ๕ วัน วันที่เริ่มสร้างพระเจดีย์ ตรงกับวันขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะเส็ง พุทธศักราช ๑๒๐๑ พระองค์ทรงสร้างพระเจดีย์ทองคำบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และสร้างพระพุทธรูปเท่าพระองค์ หมู่เศรษฐีที่ติดตามมา ก็ได้ทรงสร้างพระพุทธรูปไว้เป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งสิ่งของต่าง ๆ ที่มีค่า ซึ่งนำมาจากเมืองละโว้ เป็นต้นว่า แก้ว แหวน เงิน ทอง สิ่งของ ที่พระแม่เจ้าจามเทวีและเศรษฐีนำมาเข้าบรรจุไว้ในพระเจดีย์ แล้วได้ทรงสถาปนาให้ช่างก่อสร้างโขง เพื่อบรรจุพระเครื่องรางของขลังต่างๆ แล้วก็สร้างพระพุทธรูปบรรจุไว้ในโขงแห่งนั้นหันหน้าพระพักตร์ไปทางทิศทั้งสี่

ในคราวนั้นพระสงฆ์ที่เดินทางมากับพระแม่เจ้าจามเทวีก็ได้ทรงผูกพัทธสีมา เพื่อทำกิจของพระสงฆ์ ห่างจากพระเจดีย์ไปประมาณ ๕๐ เมตร ก็สร้างพระเจดีย์แล้วเสร็จ ในวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเส็ง พุทธศักราช ๑๒๐๑ ใช้เวลาการก่อสร้าง ๑ เดือน กับ ๖ วัน เมื่อสร้างเสร็จแล้ว จึงได้ทรงเฉลิมฉลอง ๓ วัน ๓ คืน เสร็จแล้วนำเอาเครื่องราชสักการะต่างๆ พร้อมกับเครื่องแห่พระธาตุเจ้าและสิ่งของที่ใช้กับพระธาตุเจ้า และสิ่งของที่ใช้กับพระธาตุอีกหลายๆ อย่าง ฯลฯ นำเข้าเก็บไว้ในถ้ำ แล้วได้โอกาสหยาดน้ำ ให้ผ้าขาว ๔ ตน คือ ผ้าขาวเทียน ๑ ผ้าขาวตา ๑ ผ้าขาวคิม ๑ พร้อมกับลูกหลาน ๔ ครัว กับบ้าน ๔ บ้าน ทั้งนาและหนอง พร้อมกับสิ่งของที่มีศรัทธานำมาถวายเจดีย์ให้เป็นของผู้อยู่อุปัฏฐากรักษาพระเจดีย์องค์นี้ ไปตามประสงค์ ต่อจากนั้นขบวนเสด็จได้ข้ามฝั่งน้ำระมิงค์ ณ สถานที่นั้น และก็เดินทางต่อไปยังเมืองหริภุญชัย (ลำพูน)


ต่อมามีครูบาเจ้าศรีวิชัยและครูบาขาวปี ได้บูรณะพระบรมธาตุดอยน้อย สมัยต่อมา ท่านครูบาคัมภีระ ผู้เป็นน้องชายของท่านครูบาพรหมจักรฯ วัดพระพุทธบาทตากผ้า ก็ได้มาเป็นเจ้าอาวาสแห่งนี้ แล้วท่านได้มรณภาพไปนานแล้ว มีประเพณีสรงน้ำพระธาตุและสวดเบิกทุกปี มีประเพณีสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ ในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ (เหนือ) ซึ่งเป็นวันวิสาขบูชามาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนี้


Rank: 8Rank: 8

DSC06159.jpg



เดี๋ยวเรามากราบนมัสการพระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระธาตุดอยน้อย พร้อมกันเลยนะครับ

  (กล่าวนะโม ๓ จบ) วันทามิ  เจติยัง  สัพพัง  สัพพัฏฐาเนสุ  ปะติฏฐิตา  สะรีระธาตุโย  เกศาธาตุโย  อะระหันตา  ธาตุโย  เจติยัง  คันทะกุฏิง  จะตุละสี  ติสสะหิสเส  ธัมมักขันเธ  สัพเพสัง  ปาทะเจติยัง  อะหังวันทามิ  ธาตุโย  วันทามิทุระโส  อะหังวันทามิ สัพพะทา  อะหัง  วันทามิ  สิระสา ฯ


DSC06156.jpg

ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระพุทธ พระธรรม และพระอริยสงฆ์เป็นที่พึ่ง ข้าพเจ้าขอกราบนอบน้อม บูชาพระคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงเสียสละสั่งสมบารมีนับชาติมิถ้วน ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ประกาศธรรมนำเวไนยสัตว์ออกจากสังสารวัฏ พร้อมกราบพระธรรม  และพระอริยสงฆ์ ขอตั้งสัจจะอธิษฐานด้วยอานิสงส์ผลแห่งบุญนี้ จงเป็นปัจจัยให้ได้ถึงซึ่งพระนิพพานแม้ต้องเกิดในทิพย์จุติใดๆ ขอเกิดภายใต้ร่มเงาพระพุทธศาสนา ได้พบสัตบุรุษผู้รู้ธรรมอันประเสริฐมีกรรมสัมพันธ์ที่ดี ได้เกิดท่ามกลางกัลยาณมิตร ห่างไกลจากพาล มีโอกาสฟังธรรมประพฤติธรรม จนเป็นปัจจัยให้เจริญด้วยสติและปัญญาญาณ ตามส่งชาตินี้และชาติต่อๆไป จนถึงพระนิพพานในกาลอันควรเทอญ กรรมใดๆที่ล่วงเกินต่อพระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์ และสรรพสัตว์ทั้งหลายในอดีตชาติก็ตามปัจจุบันชาติก็ตาม กราบขออโหสิกรรมทั้งหมดทั้งสิ้น ขออุทิศกุศลผลบุญให้แต่ท่านผู้มีพระคุณ ญาติพี่น้อง เจ้ากรรมนายเวร ตลอดจนท่านที่ขวนขวายในกิจที่ชอบในการดำรงรักษาไว้ซึ่งประเทศชาติ  พระพุทธศาสนา และองค์พระมหากษัตริย์ทั้งที่เป็นมนุษย์และอมนุษย์ ขอให้ท่านทั้งหลายดังกล่าวนามมานั้นจงประสบแต่ความดี ปราศจากความทุกข์และมีความสุขฯ ทั่วกันทุกท่านเทอญ



‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2024-11-28 05:37 , Processed in 0.065329 second(s), 16 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.