แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
ดู: 6066|ตอบ: 2
go

พระโพธิสัตว์กวนอิม (กวนอิมพู่สัก) [คัดลอกลิงค์]

Rank: 9Rank: 9Rank: 9


พระโพธิสัตว์กวนอิม (กวนอิมพู่สัก)
พระโพธิสัตว์กวนอิม เดิมเป็นเทพธิดาที่มาจุติยังโลกมนุษย์ เพื่อมาช่วยปลดเปลี้องทุกข์ภัยแก่มวลมนุษย์ ท่านเป็น ราชธิดาองค์ที่สามของกษัตริย์เมี่ยวจวง ซึ่งมีราชธิดา 3 องค์ องค์โตชื่อ เมี่ยวอิม องค์รองชื่อ เมี่ยวหยวน องค์ที่สามชื่อ เมี่ยวซ่าน คือ พระโพธิสัตว์กวนอิมนั่นเอง ตอนเยาว์วัยท่านเป็นพุทธมามกะ มีความรู้แจ้งในหลักพุทธธรรมอย่างลึกซึ้ง ทรงตั้งพระทัยแน่วแน่ที่จะบำเพ็ญภาวนา เพื่อความหลุดพ้นจากสังสารวัฏ แต่พระเจ้าเมี่ยวจวงพระราชบิดา ไม่เห็นด้วยกับความประสงค์ของราชธิดา ไม่คิดว่าหญิงสาวควรจะฝักใฝ่ในทางธรรม จะบังคับให้เลือกราชบุตรเขย เพื่อจะได้สืบทอดราชบังลังก์ต่อไป แต่องค์หญิงสามไม่สนพระทัยเรื่อง ลาภยศสรรเสริญ หรือราชบัลลังก์แต่อย่างใด



แม้จะถูกพระบิดาดุด่าอย่างไร องค์หญิงก็ไม่เคยนึกโกรธเคืองแต่อย่างใด ต่อมาองค์หญิงสาม จึงได้ถูกขับไปทำงานหนักในสวนดอกไม้ เพื่อเป็นการทำโทษ เช่น หาบน้ำ ปลูกดอกไม้ ทั้งนี้เพื่อทรมานให้เปลี่ยนความตั้งใจ แต่ก็มีเหล่ารุกขเทวดามาช่วยทำงานให้ทั้งหมด พระบิดาเมื่อเห็นว่าวิธีการนี้ไม่ได้ผล จึงรับสั่งให้หัวหน้าแม่ชีนำองค์หญิงไปอยู่ที่วัดนกยูงขาวและ ให้เอางานของแม่ชีทั้งวัดมอบให้องค์หญิงทำคนเดียว แต่องค์หญิง ก็มีพระทัยเด็ดเดี่ยวไม่เปลี่ยนแปลง งานการต่างๆก็มีเหล่าเทวดามาช่วยทำแทนให้อีก พระเจ้าเมี่ยวจวงเข้าใจว่า พวกแม่ชีไม่กล้าเคี่ยวเข็ญใช้งานหนัก ก็ยิ่งกริ้วหนักขึ้น สั่งให้ทหารเผาวัดนกยูงขาวจนวอดเป็นจุณไปพร้อมกับพวกแม่ชีทั้งหมด

มีแต่ พระธิดาเมี่ยวซ่าน เท่านั้นที่ปลอดภัยรอดชีวิตมาได้ พระเจ้าเมี่ยวจวงทราบดังนั้น จึงสั่งให้นำตัวราชธิดาไปประหารชีวิต ตอนนั้นมีเทพารักษ์คอยคุ้มครององค์หญิงสามอยู่ โดยเนรมิตทองคำทิพย์เป็นเกราะหุ้มตัว คมดาบของนายทหารจึงไม่อาจระคายพระวรกาย จนดาบหักสะบั้นถึง 3 ครั้ง 3 ครา พระบิดาทรงกริ้วหนักขึ้น โดยเข้าใจว่า นายทหารไม่กล้าประหารจริง จึงให้ประหารนายทหารแทน แล้วรับสั่งให้จับองค์หญิงไปแขวนคอ ทว่าผ้าแพรที่แขวนคอก็ขาดสะบั้นลงอีก ทันใดนั้นปรากฏมีเสือเทวดาตัวหนึ่งได้นำองค์หญิงขึ้นพาดหลัง แล้วเผ่นหนีไปที่เขาเซียงชัน



ต่อมา เทพไท่ไป๋ ได้แปลงร่างเป็นชายชรามาโปรดองค์หญิง ชี้แนะเคล็ดวิธีการบำเพ็ญเพียรเครื่องดับทุกข์ จนสามารถบรรลุมรรคผล สำเร็จธรรม
ข้างฝ่ายพระบิดาเข้าใจว่าองค์หญิงถูกเสือคาบไปกินเสียแล้ว จึงไม่ได้ติดใจตามราวีอีก ต่อมาไม่นาน บาปกรรมที่พระองค์ก่อไว้ได้ส่งผล กษัตริย์เมี้ยวจวงเกิดป่วยด้วยโรคร้ายแรง ไม่มียาใดที่จะสามารถรักษาให้หายได้


องค์หญิงเมี่ยวซ่าน ได้ทรงทราบด้วยญาณวิถีว่า พระบิดากำลังประสบเคราะห์กรรมอย่างหนัก ด้วยความกตัญญูกตเวทีเป็นเลิศ มิได้ถือโทษโกรธเคืองการกระทำของพระบิดาแม้แต่น้อย ทรงได้สละดวงตาและแขนสองข้างเพื่อรักษาพระบิดาจนหายจากโรคร้าย

องค์หญิง เมี่ยวซ่านนั้น ตอนแรกเป็นชาวพุทธ ตอนหลังเทพไท่ไป๋ได้มาโปรด ชี้แนะหนทางดับทุกข์ ด้วยเหตุนี้ พระโพธิสัตว์กวนอิม จึงเป็นเทพทั้งฝ่ายพุทธและฝ่ายเต๋าในขณะเดียวกัน


พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตต์
พระโพธิสัตต์ผู้มากล้นด้วยความเมตตา

เรื่องของพระโพธิสัตต์พระองค์นี้ มิใช่สิ่งแปลกปลอมในพุทธศาสนา แต่เป็นพระโพธิสัตต์องค์สำคัญ ที่ได้รับการสักการะบูชามากที่สุด ที่อินเดียรูปเคารพมักจะเป็นภาพเขียน ปูนปั้น หินและไม้แกะสลัก ซึ่งปรากฏอยู่ตามฝาผนังถ้ำ วัดวาอาราม สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และวิทยาลัยทางพุทธศาสนาไม่ว่าจะเป็นนาลันทา วิกรมศาลา ไม่จำเพาะแต่ที่อินเดียเท่านั้น ในเอเชียกลาง อาฟกานิสถานก็ปรากฏอย่างมากมาย

ลักษณะของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตต์ในอินเดีย พระพักตร์ พระวรกาย และพระอิริยาบท ตลอดจนการฉลองพระองค์อยู่ในรูปลักษณะของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินจักรพรรดิเป็นมหาราช มิได้มีฉลองพระองค์จนอ่อนพลิ้วอย่างจีน หรืออย่างที่พบกันในปัจจุบันของเมืองไทย ก็ได้อิทธิพลมาจากจีนทั้งสิ้น

เนื่องด้วยพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตต์ ทรงมีพระกตัญญู (เมตตากรุณาธิคุณ) คอยปลดเปลื้องความทุกข์ภัยของสัตว์โลก จึงมีพระเนมิตตกนาม ( นามที่ได้จากลักษณะและคุณสมบัติ )

ตามภาษาจีนเรียกว่า พระกวนอิมพู่สัก แปลว่า พระโพธิสัตต์ที่มีพระกรรณาวธานโลกาศัพท์
หรือเรียกง่ายๆก็คือ ผู้คอยเงี่ยหูสดับรับฟังความทุกข์ของสัตว์โลก

ในพระพุทธศาสนามหายาน คณะสงฆ์จีนนิกาย กล่าวไว้ว่า สามารถเนรมิตกายได้ 32 กาย แล้วแต่ว่าจะไปโปรดใคร มิใช่มีรูปร่างเป็นหญิงดังที่ปรากฏเท่านั้น ที่สำคัญ มี 6 ร่าง คือ
1. อวโลกิเตศวร (กวนอิมพู่สัก)
2. สหัสหัตถ์สหัสเนตรอวโลกิเตศวร
3. เอกาทสมุขีอวโลกิเตศวร
4. หัยครีวอวโลกิเตศวร
5. จัณฑิอวโลกิเตศวร
6. จินดามณีจักรอวโลกิเตศวร


มงกุฏเหนือเศียรเกล้าแห่งพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตต์มหาสัตต์ หลังพุทธศตวรรษที่ 14 มักจะเป็นรูปของพระอมิตาภะในปางสมาธิแทบทั้งสิ้น ในกรณีที่เป็นพระโพธิสัตต์มีหลายเศียร เศียรบนสุดอย่างไรเสียก็ต้องเป็นพระพุทธเจ้าอมิตภะ ดอกบัวสัญญลักษณ์ของกวนอิม คือ บัวสีชมพู สีขาวใช้กับพระมัญชุศรีโพธิสัตต์เท่านั้น ด้วยดอกบัวสีชมพูในตระกูลปัทมะนี้เอง ทำให้พระองค์ได้รับการขนานพระนามว่า " พระปัทมปาณีโพธิสัตต์ "

ด้วยความเมตตา กรุณาต่อสรรพสัตว์อันประมาณมิได้นี้เอง ก่อให้เกิดแนวในการสร้างพระกวนอิมพันมือพันตาในเวลาต่อมา โดยขนานนามพระองค์ท่านว่า พระสหัสสหัตถ์สหัสสเนตรอวโลกิเตศวร หรือถ้าเป็นปาง 4 พระกร เรียก จตุหัตถ์อวโลกิเตศวร

ส่วนพระคาถาสรรพราเชนทร์ ด้วยถ้อยความศักดิ์สิทธิ์ 6 พยางค์
" โอม มณี ปัทเม หุม " นั้นมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า " ษฑักษรีมหาวิทยา " โดยกำหนดให้ปางหนึ่งของพระอวโลกิเตศวร หรือพระษฑักษรีโลเกศวร เป็นพระโพธิสัตต์ผู้รักษามนตราศักดิ์สิทธิ์ 6 พยางค์นี้ ในพุทธศาสนามหายานนั้น ยกย่องพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตต์ ว่าเป็นพระผู้ได้รับธรรมจักรมาโดยตรงจากพระพุทธเจ้า และเป็นผู้นำในการรักษาพระพุทธศาสนา และหมุนธรรมจักรต่อไป

พระคัมภีร์สำคัญๆของพุทธศาสนาฝ่ายมหายานประกอบด้วย คัมภีร์มหาสุขาวดีวยุหสูตร , จุลสุขาวดีวยุหสูตร , อมิตายุรธยานสูตร , ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร , พระสัทธรรมปุณฑรีกสูตร ซึ่งโดยวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของอินเดียและชนชาวจีนแตกต่างกันมาก ดังนั้น เมื่อจำเป็นต้องแปลคัมภีร์เหล่านี้ จึงต้องใช้เวลาในการปรับความเข้าใจในหลักคิดและการใช้ภาษาเป็นอย่างมาก เพื่อมิให้ผิดเพี้ยนไปตามความหมายเดิม แต่คัมภีร์และแนวคิดเกี่ยวกับพระอวโลกิเตศวรนั้น ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างมากเกือบ 800 ปี ตั้งแต่เริ่มต้นคริศตศักราชมาจนถึงจุดสูงสุดในราชวงศ์ถัง ( ราว ค.ศ. 7-8 ) ในช่วงปลายศตวรรษที่ 6 ทางตอนเหนือของประเทศจีนมีวัดของพุทธศาสนามากกว่า 3หมื่นวัด มีพระและชีรวมกันราวๆ 2ล้านคน ส่วนทางใต้ซึ่งเป็นเขตปกครองของราชวงศ์เหลียว มีวัดมากกว่า 2,800 วัด มีพระและชีราวๆ 82,700 รูป

แนวความเชื่อเรื่องพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตต์เริ่มแพร่หลายในประเทศจีนเป็นอย่างมาก พระพุทธเจ้าที่ได้รับการบูชาอย่างแพร่หลายคือ พระอมิตภพุทธเจ้า , พระศากยมุนีพุทธเจ้า , พระไภษัชคุรุพุทธเจ้า , พระไวโรจนพุทธเจ้า เป็นต้น พระโพธิสัตต์ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากคือ กวน เซ ยิน หรือ กวน ยิน หรือคนไทยคุ้นเคยกับการอ่านและสะกดว่า กวนอิม ซึ่งมีต้นรากมาจากพระโพธิสัตต์พระองค์หนึ่งซึ่งปรากฏพระนามในภาษาสันสกฤตว่า อวโลกิเตศวรโพธิสัตต์

จากกวนอิมหน้าม้าเป็นมหาบุรุษ
เทพฝ่ายจีนในระยะเริ่มต้นนั้นมักผสมปนเปกันไประหว่างเพศหญิงและเพศชาย รวมถึงครึ่งมนุษย์ครึ่งสัตว์ด้วย ฉะนั้นเทวปกรณ์ของฝ่ายจีนนั้น จึงมีทั้งเทพและมารด้วยตำนานอันแสนพิสดาร แม้ว่าต้นเค้าของพระเป็นเจ้าแห่งสวรรค์ตะวันตก หรือโลกทิพย์สุขาวดี อันประกอบด้วยพระอมิตภพุทธเจ้า , พระโพธิสัตต์อวโลกิเตศวรมหาสัตต์ , พระโพธิสัตต์มหาสถามะปราบต์มหาสัตต์ จะมีที่มาหลากหลายทางก็ตาม


แต่ทางอินเดียแล้ว รากฐานดั้งเดิมของพระโพธิสัตต์อวโลกิเตศวรมาจาก เทพม้าคู่ ในลัทธิพราหมณ์-ฮินดู ทั้งนี้เมื่อปราชญ์ฮินดูเริ่มปฏิรูปและจัดหมวดหมู่ของพระเวทและเทพเจ้าใหม่ เป็นระยะๆด้วยการสถาปนาพระเป็นเจ้าพระองค์ใหม่ๆ หรือการเพิ่มเติมฤทธิ์เดชอย่างมากมายนั้น ก็เพื่อสร้างศูนย์รวมศรัทธาให้เหนียวแน่น เป็นเครื่องบีบรัดมิให้คนของตนเองถ่ายเทมายังศาสนาพุทธ ที่เกิดขึ้นภายหลัง แต่กลับมีหลักการและคำสอนที่ชัดเจน เข้าใจศึกษาได้ เห็นผลด้วยตนเอง จึงมีผู้เข้ามาศึกษาทางพุทธศาสนาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะคนวรรณะต่ำ ที่ถูกจำกัดสิทธิในทางสังคมในช่วงเวลานั้น การสถาปนาพระเป็นเจ้าพระองค์ใหม่ๆอย่างกรณี พุทธาวตาร ซึ่งถือว่า เป็นนารายณ์อวตารองค์ที่ 9 นั้น เป็นการบิดเบือนความจริง ก็เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ หรือศรัทธา ที่มีต่อพระพุทธเจ้า ให้กลับเข้าไปอยู่ภายใต้ลัทธิพราหมณ์-ฮินดู ตามเดิม เพื่อที่จะกลืนเอาประชาชน ที่หันมานับถือศาสนาพุทธ กลับไปเป็นพวกตน

ดังนั้นเพื่อที่สืบต่อพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืน คณะสงฆ์ของพุทธศาสนาในขณะนั้น จึงมีการผ่อนปรน ปรับหลักคิดเสียใหม่ ด้วยการนำเอาความคิดเรื่องเทพเจ้ามาปรับใหม่ให้กลายเป็นเรื่องพระโพธิสัตต์เสีย เพื่อเป็นการชักจูง โน้มน้าวด้วยเครื่องบันเทิงตั้งแต่คัมภีร์ เทวปกรณ์ ไปจนถึงการประโคมดนตรีขับกล่อมพระโพธิสัตต์ ดังจะเห็นได้ว่า เรื่องสุขาวดีพุทธเกษตรของพระอมิตภพุทธเจ้านั้น น่ารื่นรมย์เพียงไร เป็นแนวทางตอบโต้การบิดเบือนเรื่อง นารายณ์อวตารองค์ที่ 9 ในลักษณะเดียวกัน แต่นโยบายนี้ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย คือสามารถดึงสาวก หรือผู้นับถือไว้ได้ แต่ตัวพระพุทธศาสนาเอง ก็เปลี่ยนแปลงไป แตกเป็นหลายสาย หลายสำนักอาจารย์ จนเป็นมหายาน ในที่สุด

ในสมัยฤคเวทของพราหมณ์นั้น มีเทพเจ้าคู่หนึ่งเป็นม้าแฝด ชื่อ พระกุศลเทพ สร้างบารมีด้วยการโปรดผู้คนซึ่งตกทุกข์ได้ยาก ดังนั้นศาสนาพุทธจึงใช้ระบบสถาปนา เข้าทำนองหนามยอกเอาหนามบ่ง สร้างพระโพธิสัตต์ขึ้นมาพระองค์หนึ่ง เรียกว่า พระหัยครีวโพธิสัตต์ หรือเรียกกันง่ายๆว่า กวนอิมหัวม้า ในสมัยที่เป็นเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์นั้น ม้าแฝดคู่นี้เป็นสัญญลักษณ์แห่งความเมตตา กรุณาและความดีงาม เนื่องด้วยมีอิทธิฤทธิ์มากมาย สามารถทำให้คนตาบอดกลับกลายเป็นคนมีนัยน์ตาปกติ คนเป็นหมันสามารถมีบุตรได้ โคถึกสามารถให้นมแก่ลูกได้ ไม้ผุสามารถออกดอกได้

เพื่อให้แนวคิดในการโปรดสรรพสัตว์ในห้วงทุกข์ ได้รับการต้อนรับมากยิ่งขึ้น จึงก่อให้เกิดรูปลักษณ์อย่างมหาบุรุษขึ้นที่อินเดียก่อน จากนั้นในเมืองจีน ราวๆคริสตศตวรรษที่ 5 กวนอิมจึงค่อยๆขยับฐานะจากม้ามารับสถานภาพของบุรุษเพศครั้งแรก รูปลักษณ์ของใบหน้าซึ่งมีหนวดในการบ่งบอกเพศอย่างชัดเจน จากนั้นจึงเริ่มแปรพักตร์เป็นชายใบหน้าอิ่มเอิบ และฉายแววของความกรุณาปราณีผ่านทางแววตาเพียงเล็กน้อย แม้บางลักษณะจะดูกลืนกันไประหว่างเพศหญิงและเพศชายก็ตามที แต่กระนั้นกวนอิมก็ยังคงรูปแบบของอณูแห่งความเป็นชายมากกว่า จนเมื่อคริสตศตวรรษที่ 8 ภาพลักษณ์ของผู้หญิงเพิ่งจะปรากฏออกมาให้เห็น ในระยะ 200 ปีนี้

โดยเฉพาะในประเทศจีน ต้องยอมรับในความพยายามของศาสนาพุทธฝ่ายมหายานที่ต้องปรับตัวอย่างหนักเพื่อมิให้กลืนหายไปกับลัทธเต๋า (อย่างประเทศไทย ที่มีความเชื่อเดิมในการนับถือผี เทวดา หรือพราหมณ์ ก็ต้องมีกุศโลบายไปอีกอย่างหนึ่ง) ข้างฝ่ายลัทธิเต๋านั้น ก็มีเทพฝ่ายหญิงเหมือนกัน และที่ได้รับความนิยมและศรัทธามากคือ พระมารดาราชินีแห่งทิศตะวันตก สี หวาง มู เหตุที่บัญญัติทิศตะวันตกเช่นเดียวกับพระอมิตภพุทธเจ้าและกวนอิมโพธิสัตต์ เพราะชาวจีนเชื่อว่า เป็นทิศแห่งสรวงสวรรค์ (สุขาวดี) ที่คนตายจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

การเกิดกวนอิมในสถานภาพของเพศหญิงขึ้นมาเพื่อรองรับความจำเป็นทางวัฒนธรรมของชุมชน และต้องการลดกระแสของเพศชายซึ่งมีอำนาจสูงสุดมาแต่เดิม ทุกศาสนาล้วนแต่มีเทวนารีด้วยกันทั้งสิ้น ศาสนาคริสต์มีการบูชาพระนางมาเรีย มารดาของพระเยซูคริสต์ ศาสนาพุทธฝ่ายมหายานสร้างพระแม่กวนอิม ศาสนายิวมีพระนางโซเฟีย หรือแม้แต่ฮินดูเองก็เกิดลัทธิบูชาศักติชายาของมหาเทพขึ้น แม้จะไม่สามารถเปลี่ยนศูนย์กลางอำนาจของฝ่ายชายได้เต็มร้อย แต่ก็ทำให้เกิดมุมมองและวัฒนธรรมทางศาสนาอย่างใหม่ และขยายตัวอย่างกว้างขวาง

หากพิจารณาอย่างลึกซึ้ง ภาพลักษณ์ภายนอกระหว่างพระนางมาเรียกับกวนอิมในเพศหญิง (ปางกวนอิมชุดขาวอุ้มบุตร) เทพธิดาไอซีสกับเทพบุตร พระนางอุมาอุ้มพระคเณศ เหล่านี้ต่างกันแต่ผู้แสดงนำเท่านั้น แต่โดยเนื้อแท้แล้ว ย่อมไม่แตกต่างกัน เพราะนั่นคือการถ่ายเททางวัฒนธรรมระหว่างศาสนาซึ่งมีมาแต่โบราณ

รูปแบบการสร้างรูปเคารพของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตต์มหาสัตต์ในระยะแรกจนถึงราชวงศ์ถัง ได้สร้างขึ้นด้วยแนวคิดเยี่ยงบุรุษเพศ หลังจากนั้นจึงเริ่มสร้างแนวคิดใหม่ กลายเพศจากชายเป็นหญิง ให้สะท้อนถึงความรู้สึกและความเชื่อของประชาชนพื้นบ้าน ให้ห่างไกลแม่แบบซึ่งมาจากอินเดีย จนอาจจะเรียกได้ว่า กวนอิมในรูปลักษณ์ของสตรีนั้น เป็นเอกลักษณ์ที่ได้รับการต้อนรับอย่างกว้างขวางที่เมืองจีน และขยายเข้าสู่ประเทศอื่นๆในแถบเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นเกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฯลฯ (ที่มีคนเชื้อสายจีน อพยพไป) ทั้งนี้เพราะรูปลักษณ์ของฝ่ายหญิงแทนค่าในเรื่องเมตตากรุณาได้มากกว่า ในขณะที่รูปลักษณ์อย่างชายนั้น สะท้อนในเรื่องคุณธรรมมากกว่าความเมตตา

ที่ธิเบต แม้ว่าทางด้านภูมิศาสตร์แล้ว จะใกล้เคียงอินเดียและจีน แต่พระโพธิสัตต์ก็นิยมสร้างอย่างเพศมหาบุรุษ และบางรูปลักษณ์นั้นมีรูปลักษณ์น่าสะพรึงกลัว ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพของประเทศธิเบตที่เคยมีความเชื่อเรื่องธรรมชาติ ความเชื่อในเรื่องยักษ์ มาร ภูติ ผี ปีศาจ และอำนาจเร้นลับต่างๆ ซึ่งเป็นอิทธิพลของศาสนาบอนปะที่ธิเบตนับถือกันมาแต่เดิม ก่อนที่พุทธศาสนาจะเข้าไปเผยแพร่ โดยท่านมหาโยคี คุรุปัทมะสัมภวะ (ศาสนาพุทธ แม้จะเกิดขึ้นมานานแล้วก็ตาม แต่ก็ยังถือว่าเกิดภายหลังลัทธิ ความเชื่ออื่นๆ ที่มีอยู่เดิมในแต่ละท้องถิ่น)

พระโพธิสัตต์ในศาสนาพุทธถูกระบุเพศมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ฉะนั้นกฏอันเข้มงวดนี้จึงต้องแทนค่าด้วยความเมตตาและช่วยเหลือให้ประชาชนพ้นทุกข์ จากนั้นจึงวางกุศโลบายอันแยบยลอีกชั้นหนึ่งเพื่อแปลงโฉมกวนอิมโพธิสัตต์ในคราบบุรุษเพศให้เป็นอิสตรี กฏอันเข้มงวดยังคงอยู่ แต่สร้างวัฒนธรรมใหม่ หรือใช้กฏที่เลี่ยงได้ กล่าวคือ ในโลกมนุษย์ กวนอิมคือเพศหญิง ในโลกสวรรค์ กวนอิมคือเพศชาย โดยใช้ตำนานและความเชื่อท้องถิ่นเข้ามาอธิบายความเปลี่ยนแปลงนั้นๆ เทพเจ้าฝ่ายหญิงจะได้รับความนิยมเพียงพระองค์เดียวหาได้ไม่ ดังนั้นจึงเริ่มรวมเอาเทพีท้องถิ่น เข้ามาอยู่ร่วมวงศ์เทวัญ ด้วยการมอบตำแหน่งตามลำดับชั้นลงไป

เนื่องจากพระโพธิสัตต์พระองค์นี้มีชื่อเสียงสูงสุดในประเทศอินเดียมาแต่เดิม และขยายความเชื่อไปยังนานาประเทศในแถบเอเชีย ดังนั้นเรื่องราวของพระองค์จึงได้รับความสนใจจากนักปราชญ์ทางศาสนา โบราณคดี หลายชาติ หลายภาษา ซึ่งแต่ละท่านให้ความหมายของคำว่า อวโลกิเตศวร แตกต่างกันไป มหาปณิธานของพระโพธิสัตต์พระองค์นี้ คือ หากยังมีสัตว์โลก ตกทุกข์ได้ยาก แม้เพียงคนเดียว จะไม่ขอบรรลุพุทธภูมิ นั่นย่อมแสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติในด้าน พระมหากรุณา ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน โพธิสัตต์ หมายถึง ท่านผู้ที่จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

อวโลกิเตศวร ประกอบขึ้นด้วยคำ 2 คำ คือ อวโลกิตะ หมายถึง ผู้มองมายังเบื้องล่าง และ อิศวร แปลว่า ผู้เป็นใหญ่ หรืออวโลกิเตศวร แปลว่า ผู้เป็นใหญ่ที่มองเห็น พระผู้เป็นเจ้าซึ่งมองดู, พระผู้เป็นเจ้าซึ่งมองลงมาจากเบื้องบน พระผู้เป็นเจ้าผู้มองดูด้วยความเมตตา ผู้ซึ่งได้รับการกล่าวอำลาแล้ว ผู้ที่สามารถบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ คือ อาจจะเป็นพระพุทธเจ้าเมื่อใดก็ได้ แต่ทรงปฏิเสธ เนื่องจากความกรุณาสงสารต่อสรรพสัตว์

ในภาษาสันสกฤต พระโพธิสัตต์พระองค์นี้ยังเรียกอีกพระนามหนึ่งว่า อวโลกิตโลเกศวร ทางจีนนั้น พระภิกษุเหี้ยนจัง (พระถังซัมจั๋ง) เรียกเป็นภาษาจีนว่า กวนเซยินเซอไซ , กวนเซอไซ นักปราชญ์ทางพุทธศาสนาบางท่านให้ข้อคิดที่น่าสนใจว่า คำว่า อิศวร นั้น เป็นตำแหน่งที่ติดมากับพระนามอวโลกิตะ เรียกได้ว่า พระองค์ทรงเป็นพระโพธิสัตต์พระองค์เดียวเท่านั้นที่มีตำแหน่งระบุไว้ท้ายพระนาม ในขณะที่พระโพธิสัตต์พระองค์อื่นหามีไม่ นั่นแสดงให้เห็นถึง ความยิ่งใหญ่ของพระโพธิสัตต์พระองค์นี้
TraveLArounD

เรียบเรียงจาก พระอวโลกิเตศวรกวนอิมโพธิสัตต์
พระพุทธศาสนามหายาน คณะสงฆ์จีนนิกาย
(ทีมงาน โอม มะโม กวนซืออิม ผู่สัก )
และ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี




ไฟล์แนบ: คุณจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถดูและดาวน์โหลดไฟล์แนบได้ หากยังไม่มีแอคเคานต์หรือยังไม่ได้เป็นสมาชิก กรุณาสมัครสมาชิก

Rank: 1

สาธุ พระโพธิสัตว์กวนอิมท่านทรงโปรดเมตตาข้าพเจ้าผู่โง่เขลาตั้งแต่ยังไม่เคยเชื่อถือใดๆ เมื่อได้อ่านอภินิหารที่ผู้คนเขียนลงหนังสือ ข้าพเจ้าก็ทดลองขอว่าถ้าท่านมีจริงขอให้มาบอกเลขหวย แล้วปรากฏว่า ธูปที่จุด เถ้าจากธูปหักห้อยเป็นตัวเลขต่างๆ และออกจริง รางวัลนั้นออกตามวันพุธ ข้าพเจ้า ซื้อด้วยความโลภ รางวัลวันเสาร์ ซึ่งมากกว่าวันพุธ จึงไม่ได้เงินรางวัล และเทียนสีเขียวที่จุดบูชา น้ำตาเทียนห้อยย้อยเป็นรูปหัวมังกร มีหนวด และคอเป็นปล้องเหมือนภาพที่ท่านทรงมังกรเขียว และยังมีอีกมากที่ข้าพเจ้าผู้โง่เขลา ทดลองท่าน จนกระทั่งยอมหมอบราบกราบขอขมาพระองค์แล้ว พระแม่กวนอิมปางรักษาโรคมีคนให้มาบูชา เพราะต้องมาเกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยของผู้คน และตัวเองชึ่งมีกิเลสและขันธ์ห้าจนบัดนี้ และได้เรียนรู้จากขันธ์ห้าของผู้อื่นและตัวเองว่ามีแต่ทุกข์ทั้งสิ้น


   

Rank: 1

สาธุ สาธุ สาธุ ปฏิปทาของท่านงดงามและเปี่ยมด้วยเมตตาจิตเป็นอย่างยิ่งครับ.

‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2024-11-28 04:28 , Processed in 0.041060 second(s), 16 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.