รอยพระพุทธบาท ประดิษฐานบนแท่นศิลาใหญ่ หรือแท่นประทับเสวยภัตกิจ วัดดอยแท่นพระผาหลวง ค่ะ
ตำนานดอยแท่นพระผาหลวง
(แหล่งที่มา: พระชัยวัฒน์ อชิโต สำนักงานธัมมวิโมกข์ วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี. (๒๕๔๙, ๙ กรกฎาคม). ตามรอยพระพุทธบาท ฉบับรวมเล่ม ๒ (พิมพ์ครั้งที่ ๑). กรุงเทพฯ: เยลโล่การพิมพ์, หน้า ๒๒๒-๒๒๔.)
จาก ตำนานวัดข้าวแท่นหลวง
"ในสมัยที่พระพุทธเจ้ามีพระชนมายุได้ ๗๙ พรรษา ขณะทรงสำราญพระอิริยาบถอยู่ในป่าอิปตนมิคทายวัน เมืองพาราณสี พระองค์ทรงรำพึงถึงการเสด็จไปในประจันตคาม เพื่อจักได้อธิษฐานไว้ธาตุและศาสนา ด้วยเหตุว่าอายุแห่งเราใกล้จะนิพพานแล้ว
ครั้นแล้วพระพุทธองค์ด้วยภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป อันมี พระอานนท์ เป็นต้น พร้อมกับพระยาอโศก (เจ้าเมืองกุสินาราย) ก็ได้เสด็จมาตามบ้านน้อยเมืองใหญ่ทั้งหลาย จนกระทั่งเสด็จเลียบขึ้นมาตามฝั่งแม่ระมิงค์ (แม่ปิง) ถึง ลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่
หลังจากเสด็จไปบนดอยสุเทพแล้ว จึงทรงประทานพระเกศา ๘ เส้น ประดิษฐานไว้ใน มหาอาราม ๘ แห่ง รอบเมืองเชียงใหม่ จากนั้นจึงเสด็จไปบรรทมเหนือ ดอยขอนไม้ม่วง (เป็นที่ พระนอนขอนม่วง อ.แม่ริม)
แล้วจึงเสด็จสู่ทิศตะวันออกทรงสรงน้ำที่แม่ระมิงค์ แล้วก็ไปนอนในป่าแพร่งและได้มาสู่ทิศเหนือเพื่อมาบิณฑบาตในยามเช้านั้น หมอกก็ตกลงมามากนัก พระพุทธเจ้าจึงตรัสกับพระอานนท์ว่า สถานที่นี้จักปรากฏว่า บ้านยางหมอก
ในขณะนั้น ยังมีพ่อนาผู้หนึ่งเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จเข้ามาบิณฑบาต จึงเกี่ยวเอาต้นข้าว คือฟางมาปูเป็นอาสนะ แล้วอาราธนาให้พระพุทธเจ้าประทับนั่ง แล้วถวายข้าวน้ำโภชนาหารแก่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย
.ในขณะนั้น ยังมีเทพบุตรองค์หนึ่งได้เข้ามาไหว้พระพุทธเจ้า พระองค์จึงได้ตรัสว่า สถานที่นี้จักเป็นที่ตั้งพระศาสนาแห่งตถาคต ขอให้ช่วยรักษากับทั้งบ้านเมืองนี้ด้วย อันว่าท่านได้อุปัฏฐากรักษาศาสนา ก็เป็นดั่งได้รักษาอุปัฏฐากตถาคต ทรงมีพระบัญชาดังนี้แล้ว จึงตรัสกับพระอานนท์ต่อไปว่า
“ตถาคตมาถึงที่นี้ พ่อนาเอาต้นข้าว (ฟาง มาปูให้ตถาคตนั่ง ภายหน้าบ้านยางหมอกที่นี้ เขาจักเรียกว่า บ้านข้าวแท่น ภายหน้าบ้านนี้จักสัมฤทธิ์ด้วยข้าวมากนักแล...”
ครั้นแล้วพระองค์ก็เสด็จจากบ้านที่นี้ไปสู่ดอยอันมีทางทิศเหนือ ยามนั้น ธุรเทวบุตร ตนนั้นก็เอาบาตรแห่งพระพุทธเจ้าตั้งเหนือหัวแห่งตนแล้วไปตามหลังพระพุทธเจ้าขึ้นสู่ดอยแห่งหนึ่งซึ่งมีผา (หิน) ก้อนหนึ่ง ใหญ่กว่าก้อนหินทั้งหลาย อันมีวรรณะต่างๆ
พระพุทธเจ้าได้เสด็จขึ้นประทับนั่งบนก้อนหินนั้นเพื่อจักฉันภัตตาหาร ในขณะที่พระพุทธองค์กระทำภัตกิจเสร็จแล้ว ธุรเทวบุตรก็ไหว้พระพุทธเจ้า แล้วกราบทูลขอรอยพระพุทธบาท พระองค์จึงประทับไว้บนก้อนหินนั้นด้วยพระบาทเบื้องซ้าย เพื่อให้เป็นที่สักการบูชาแก่คนและเทวดาทั้งหลาย แล้วจึงตรัสกับพระอานนท์ว่า
“ตถาคตได้มานั่งฉันข้าวเหนือหินก้อนนี้และไว้พระบาทที่นี้ ภายหน้าหินก้อนนี้ จักปรากฏชื่อ ”ผาหลวงแท่นพระ” (ปัจจุบันคือ ดอยแท่นพระ นั่นเอง)
ตั้งแต่นั้นมาไม่นานเท่าใด พระพุทธเจ้าก็เสด็จเข้าสู่นิพพานมาถึงพันถ้วนสองปลายปีหนึ่ง ยังมีพรานป่าผู้หนึ่งได้ยิงกวางตัวหนึ่งแล้วเอามาเฉือนแบ่งกันที่เหนือผาพระบาทนี้ ธุรเทวบุตรผู้ได้รับคำสั่งจากพระพุทธเจ้าให้รักษาในที่ทั้งสองแห่งนี้รู้สึกไม่พอใจมากนัก จึงขึ้นไปไหว้พระยาอินทราธิราชผู้เป็นใหญ่
พระยาอินทร์ก็มาเนรมิตเป็นหมูใหญ่ขุดเอาก้อนหินใหญ่ให้เอียงลงไป เพื่อจะไม่ให้ใครเป็นโทษ ตั้งแต่นั้นมาคนทั้งหลายจึงเรียกว่า ผาสะแคง ตราบเท่าถึงกาลบัดนี้”
จาก พุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก
“เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จลงจาก ดอยสุเทพ แล้ว พระองค์ก็เสด็จไปบรรทมที่ดอยลูกหนึ่ง ณ ที่นั้น ยังมีต้นไม้ต้นหนึ่งขึ้นอยู่ข้างทางทิศตะวันตกที่พระพุทธไสยาสน์นั้น (น่าจะเป็นพระนอนขอนม่วง) กิ่งไม้ได้หักตกลงมาในที่นั้น
พระสารีบุตรเห็นเช่นนั้นจึงทูลว่า ภันเต ภควา ข้าแด่พระพุทธเจ้า กิ่งไม้ที่หักลงมานั้น เพราะเหตุอันใดหนอพระเจ้าข้า องค์สมเด็จพระบรมศาสดาจึงตรัสว่า ดูก่อน สารีบุตร หลังจากตถาคตนิพพานไปแล้ว พระธาตุตถาคตจักมาประดิษฐานอยู่ ณ ที่นี้ จักเจริญรุ่งเรืองเป็นที่สักการบูชาแก่คนและเทวดาทั้งหลาย จักปรากฏชื่อว่า “ดอยพระนอน”
เมื่อตรัสพยากรณ์เช่นนั้นแล้ว พระองค์ก็เสด็จไปถึงแม่น้ำระมิงค์ แล้วเสด็จลงสรงในแม่น้ำนั้น เมื่อชำระพระวรกายแล้ว ก็ทรงนุ่งห่มผ้าประทับยืนอยู่ ตรัสแก่พระสารีบุตรว่า ดูก่อนสารีบุตร สถานที่นี้ต่อไปจักได้ชื่อว่า ท่าพระเจ้าอาบน้ำ ต่อไปภายหน้าจักแปรเปลี่ยนเป็น ท่ากาบกว้าง (ใกล้วัดบ้านเด่น ครูบาเทือง)
จากนั้นก็เสด็จเลียบฝั่งแม่น้ำระมิงค์ขึ้นไปถึงที่แห่งหนึ่ง ในที่นั้นมีนก ๒ ตัว ตัวหนึ่งบินมาจากทิศใต้ ตัวหนึ่งบินมาจากทิศเหนือ นกทั้งสองตัวบินมาประสบกัน ณ ที่นั้น และพอดีกับที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงที่นั้นเช่นกัน
นกทั้งสองตัวมีความยินดีเป็นอันมากจึงส่งเสียงร้องว่า “สาสา” ตามภาษาแห่งนก พระพุทธเจ้าจึงตรัสพยากรณ์ว่า ที่ตรงนี้ต่อไปภายหน้าจักได้ชื่อว่า “สบสา” (ปัจจุบันนี้ คือที่ “ปากแม่น้ำสา” เขตอำเภอแม่ริม)
ครั้นตรัสดังนี้แล้ว จึงเสด็จไปถึงต้นไม้ยางต้นหนึ่ง ในสถานที่นั้นยังมีน้ำค้างและหมอกตกลงมาจนครึ้มมืดไปหมด พระสารีบุตรจึงกราบทูลขอให้ประทับหยุดอยู่ที่นี้ก่อน องค์สมเด็จพระชินวรจึงเสด็จเข้าไปสู่ร่มไม้ยาง แล้วตรัสแก่พระสารีบุตรว่า
“ดูก่อนสารีบุตร หลังจากตถาคตนิพพานไปแล้ว ธาตุของตถาคตจักมาประดิษฐานอยู่ ณ ที่นี้ จักเป็นจำเริญรุ่งเรืองยิ่งนัก ต่อไปภายหน้าเมื่อต้นยางต้นนี้ตายไปแล้ว ต้นไม้ศรีมหาโพธิ์ต้นหนึ่งจักปรากฏขึ้นแทน สถานที่นี้จักได้ชื่อว่า “ยางหมอก”
หลังจากนั้น พระองค์ก็เสด็จเลียบฝั่งระมิงค์ขึ้นไปถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง จึงเข้าไปบิณฑบาตในบ้านนั้น ซึ่งมีชื่อว่า บ้านกอก เมื่อทรงรับบิณฑบาตแล้ว จึงเสด็จไปสู่ที่หินก้อนหนึ่งงดงามมาก กว้าง ๑๒ ศอก เมื่อประทับเสวยพระกระยาหารบนหินก้อนนั้น ในเวลานั้น ยังมียักษ์ตนหนึ่งมากั้นฉัตรให้แก่พระพุทธองค์ และยังมีเทวดาองค์หนึ่งโบกพัดจามรีให้แก่พระพุทธองค์เช่นกัน พระสารีบุตรได้กราบทูลว่า สถานที่นี้หาน้ำเสวยไม่ได้ พระองค์ไม่ควรจะเสวยพระกระยาหารที่นี่
ในเวลานั้น องค์สมเด็จภควันต์ทอดพระเนตรเหวแห้งแห่งหนึ่ง อันมีอยู่ทางทิศตะวันออก ไกลจากที่นั่นไปประมาณ ๕๐๐ วา ขณะนั้นมีเทวดาองค์หนึ่งเนรมิตเป็นหมูตัวใหญ่เอาปากดันก้อนหินก้อนหนึ่งในเหวที่นั้น น้ำก็พุ่งทะลักออกมา หมูตัวนั้นก็มาอยู่ตรงพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า
พระสารีบุตรจึงเอาฝาบาตรไปตักน้ำนั้นมาถวายพระพุทธเจ้า แม้นพระองค์จะเสวยและเอาชำระล้างพระวรกายด้วย น้ำนั้นก็หาได้เหือดแห้งไปไม่ คงมีบริบูรณ์ตามเดิม พระสารีบุตรเห็นเป็นอัศจรรย์ จึงกราบทูลถามถึงเหตุนั้น
องค์สมเด็จพระทรงธรรม์จึงตรัสว่า เป็นเพราะว่าสถานที่นี้จักเป็นที่ประดิษฐานแห่งพระรัตนตรัยและธาตุแห่งตถาคต หลังจากพระตถาคตนิพพานไปแล้วได้ ๒,๐๐๐ วัสสา จะมีพระราชองค์หนึ่งพระนามว่า ธัมมิกราชา จะอุบัติเพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนา และจะได้มาปรึกษากับภิกษุสงฆ์ปฏิสังขรณ์สถานที่ประดิษฐานพระรัตนตรัยและอารักขาเทวดา ณ ที่นั้นจักนำเอาสมบัติออกมามอบแก่คนทั้งหลาย
เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์แล้ว ก็เสด็จลุกจากที่นั้นในขณะนั้น มหาปฐพีก็ไหวหวั่นไปมาเป็นที่โกลาหลยิ่ง ซึ่งเป็นนิมิตบอกให้รู้ว่าพระพุทธศาสนาจักมาตั้งมั่นและรุ่งเรืองในที่นั้น พระพุทธองค์ก็ได้ทรงอธิษฐานเหยียบหินก้อนหนึ่งให้รอยพระบาทปรากฏไว้แล้วก็เสด็จจากที่นั้นไป
ต่อมาเทวดาทั้งหลายก็มีความเกรงไปว่าก้อนหินนั้นจักเป็นสาธารณสถานทั่วไปแก่คนและสัตว์ทั้งหลาย จึงได้งัดหินก้อนนั้นให้ตะแคงไว้ สถานที่นั้นจึงมีชื่อว่า “ผาสะแคง” ดังนี้แล...”
ประวัติวัดดอยแท่นพระผาหลวง
(แหล่งที่มา : เอกสารประวัติวัดดอยแท่นพระผาหลวง เขียนโดย พระอาจารย์วัลลภ กิตติภัทโต เจ้าอาวาส วัดดอยแท่นพระผาหลวง)
ตำนานของวัดกล่าวว่า ก่อนที่พระพุทธองค์จะเสด็จปรินิพพานนั้น ได้เสด็จมาเสวยภัตกิจ ณ แท่นหินศิลานี้ ข้างล่างแท่นหินนี้เป็นถ้ำมีฤาษีอยู่ ทราบด้วยฌานว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมา ณ ที่นี้ จึงออกมาสนทนาธรรมและถามปัญหาธรรม ๔ ข้อ ดังนี้
ข้อที่ ๑ ธรรมเหล่าใด ที่ทำให้ตายจากการเป็นมนุษย์แล้วกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ?
ข้อที่ ๒ ธรรมเหล่าใด ที่ทำให้ตายจากการเป็นมนุษย์แล้วกลับมาเกิดเป็นสัตว์ในอบายภูมิ ?
ข้อที่ ๓ ธรรมเหล่าใด ที่ทำให้ตายจากการเป็นมนุษย์แล้วไปเกิดในเทวภูมิ ?
ข้อที่ ๔ ธรรมเหล่าใด ที่นำสัตว์ทั้งหลายข้ามพ้นจากวัฏฏะสงสาร ?
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตอบฤาษีเป็นข้อๆ ดังนี้
ข้อที่ ๑ ธรรมที่จะให้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ คือ การรักษาศีล ๕ ให้บริบูรณ์ มีสติเป็นตัวนำ
ข้อที่ ๒ ธรรมที่ตายจากเป็นมนุษย์แล้วกลับมาเกิดเป็นสัตว์หรืออบายภูมิ คือ อวิชชาตัวไม่รู้ มีโลภ โกรธ หลงเป็นตัวนำ
ข้อที่ ๓ ธรรมที่ตายจากการเป็นมนุษย์และไปเกิดในเทวภูมิ คือ เจริญจิตตั้งมั่นอยู่ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ มีการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นตัวนำ
ข้อที่ ๔ ธรรมที่นำสัตว์ข้ามพ้นจากวัฏฏะสงสาร คือ เจริญจิตให้เป็นสมาธิภาวนาให้เข้าถึงอริยสัจสี่ มีทุกข์ (ให้รู้ทุกข์) สมุทัย (แห่งแห่งทุกข์) นิโรธ (ความดับแห่งทุกข์) มรรค (หนทางแห่งความดับทุกข์)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตอบปัญหาจนฤาษีได้ดวงตาเห็นธรรม และมีพุทธทำนายว่าต่อไป ณ เบื้องหน้าที่พระองค์ทรงประทับนี้ (พระองค์ทรงหันหน้ามาทางตัวเมืองเชียงใหม่) จะเป็นนครใหญ่ และเมื่อเจ้าผู้ครองนครเสด็จมายังแท่นศิลานี้ที่พระองค์ทรงประทับแห่งนี้ เมื่อนั้นจะเป็นยุคทองของพุทธศาสนา ก่อนที่พระองค์จะเสด็จกลับได้ประทับรอยพระบาทของพระองค์ไว้บนแผ่นหินศิลานี้
กาลต่อมา ณ แท่นศิลาที่พระองค์เสด็จมาประทับแห่งนี้ ได้มีสัตว์มาพักอาศัยอยู่ชุกชุมมาก จึงมีนายพรานมาทำการล่าสัตว์ และชำแหละเนื้อบนแท่นศิลาที่พระพุทธองค์ทรงเคยประทับ จึงเกิดมีหมูป่าอันเชื่อกันว่าเป็นเทพเจ้าจำแลงมางัดแท่นศิลาพลิกคว่ำลงเป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก และร่ำลือกันไปทั่วทราบถึงพระเจ้ากือนากษัตริย์ราชวงศ์มังราย ผู้ครองนครล้านนาไทย จึงเสด็จออกไปทอดพระเนตร ณ ที่แห่งนั้น ทรงพบว่ามีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ไม่ปรากฏผู้สร้างประดิษฐานอยู่หลังแท่นศิลา จึงทรงมีพระราชศรัทธาร่วมกับราชวงศ์และข้าราชบริวารสร้างวิหารไม้สักถวายแด่พระพุทธรูปและสร้างรั้วเหล็กรอบพระแท่นศิลานั้น
ปัจจุบันนี้ยังมีหลักฐานเหลือปรากฏเป็นอักษรล้านนาไทย จารึกพระนามของพระองค์ พระมเหสีราชบุตร ราชธิดา เสนาอำมาตย์รอบๆ แท่นศิลานั้น โดยองค์พระพุทธรูปจะประทับหันหลังให้ผู้เข้าไปกราบในพระวิหารอันเป็นปริศนาธรรม และเป็นวัดเดียวที่ท่านจะได้ปิดทองหลังองค์พระปฏิมาและพระพุทธรูปหันหน้าไปทางทิศใต้แห่งเมืองเชียงใหม่
พระพุทธเจ้าทำนายได้สมจริง เพราะหลังจากสร้างวิหารไม้สักนี้แล้ว ๕ ปี พระเจ้ากือนาก็ได้สร้างพระธาตุเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าที่บนดอยสุเทพ
วัดนี้เคยถูกทิ้งร้างมาหลายครั้ง แล้วที่วัดนี้เองเคยเป็นจำพรรษาของพระครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย และพระคุณเจ้าหลวงปู่แหวน สุจิณโณ สมัยท่านเดินธุดงค์อยู่
ในเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๙ พระอาจารย์วัลลภ กิตติภัทโต ได้พบวัดนี้ระหว่างท่านธุดงค์ ท่านพบถ้ำและเขียนรายละเอียดเรื่องราวประวัติวัดนี้ ซึ่งปัจจุบันนี้ถ้ำได้ถูกปิดตามธรรมชาติ แต่อย่างไรก็ตามยังมีหลักฐานยืนยันบริเวณใกล้ถ้ำ ต่อมาพระอาจารย์วัลลภได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดให้เจริญรุ่งเรืองเป็นที่รู้จักและเคารพสักการบูชาของพุทธศาสนิกชน