แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
ดู: 2189|ตอบ: 0
go

ประวัติหลวงปู่ปาน วัดบางนมโค (ชุดเก่า) ตอนที่ ๓ [คัดลอกลิงค์]

Rank: 9Rank: 9Rank: 9

ประวัติหลวงปู่ปาน วัดบางนมโค (ชุดเก่า) ตอนที่ ๓
วันที่: วันพุธ 18 กรกฎาคม 2007 @ 0:25:45
หัวข้อ: บทความคำสอนปกิณกะ




ประวัติหลวงปู่ปาน วัดบางนมโค (ชุดเก่า) ตอนที่ ๓

ตอนที่ ๒ "เป็นหมอรักษาคนไข้" โดยหลวงพ่อพระราชพรหมยาน

(ต่อจากฉบับที่แล้ว)

ท่านบอกว่า... กุญแจดอกนั้นนะ ฉันเป่าทุกวัน มีการเสกคาถาเป่าทุกวัน วันละหลายสิบครั้ง จนกุญแจดำ ดำที่เคลือบไปด้วยสีน่ะ สีลอกหมด ขาวเป็นเงินทีเดียว สีกุญแจนี่ขาวเป็นเงิน เพราะว่าการจับไปจับมา จับมาจับไปนี่สีมันก็ลอก ผลที่สุดก็กลายเป็นขัดกุญแจไป เหล็กแท้ๆ ขาวผ่อง

ท่านบอกว่า ไอ้ที่เป่ามันไม่ออกก็เพราะสมาธิมันดีไม่พอ อารมณ์จิตมันยังคิดข้องอยู่ เวลาที่เสกคาถาก็นึกอยากจะให้กุญแจหลุด มาวันหนึ่งตอนเช้า ท่านตื่นขึ้นมาแต่เช้า แต่ยังไม่ทันจะว่าคาถา นึกว่าไหนลองเป่าดูซิ ไม่ว่าคาถากุญแจจะหลุดไหม เพราะว่าจิตน่ะความจริงมันทรงสมาธิอยู่ เพราะภาวนาคาถาบทนั้นทั้งกลางวันกลางคืนไม่ได้ขาด ไม่ยอมให้ว่าง พอหยิบกุญแจขึ้นมาเป่าก็ปรากฏว่าหลุดทันที ทีนี้ต่อไปเมื่อไหร่ก็ตามเมื่อหยิบกุญแจขึ้นมาเป่า จะว่าคาถาหรือไม่ว่ากุญแจมันก็หลุด

ต่อมาเมื่อดอกเดียวไม่พอ ก็เอามาเป่าคราวเดียวสองดอก สามดอกมันก็หลุด ผลที่สุดหนักๆ เข้าก็เอากุญแจมาแขวน แขวนในราวเป็นราวๆ อุดเข้าไว้ พอเอามือตบทีเดียวกุญแจก็หลุด ท่านบอกนั่นสมาธิมันทรง คือตั้งตัวเสียได้ รู้จักวางกำหนดใจ กำหนดจิตเข้าสู่อารมณ์พอเหมาะพอดี

เมื่อหลวงพ่อสุ่น ได้ทราบอย่างนั้นแล้ว ท่านก็มาบอกว่า ปาน! อารมณ์จิตแบบนี้แหละมันเป็นอารมณ์จิตสำหรับอภิญญา เพราะว่า อภิญญาสมาบัติ จะต้องทรงสมาธิแน่นอนอย่างนั้น เมื่อท่านทราบอารมณ์ของสมาธิสำหรับการจะบำเพ็ญ อภิญญาสมาบัติแล้ว ในที่สุดท่านก็พยายามเจริญกรรมฐานทุกกองเท่าที่หลวงพ่อสุน ให้ปฏิบัติ ถึงระบบฌานในที่สุดของกรรมฐานกองนั้นๆ ทั้งหมด ปรากฏว่าภายในพรรษาเดียวท่านทรงกรรมฐานในด้านสมถะได้เกินกว่า ๑๐ กอง

ครั้นเมื่อออกพรรษาแล้ว หลวงพ่อสุ่น ได้เรียก หลวงพ่อปาน เข้าไปหาแล้วบอกว่า ปาน! การบวชนี่ถ้าเราเรียนแต่เพียงสมถกรรมฐานวิปัสสนากรรมฐานอย่างเดียวก็ไม่สมควร เพราะว่าเธอจะต้องโตต่อไป ฉันพิจารณาดูแล้วว่าบุญบารมีของเธอนี้มาก จะต้องปกครองพระ จะต้องบวชตลอดชีวิต ฉะนั้นคนที่จะเป็นครูบาอาจารย์คนอื่น ต้องมีความรู้รอบตัว ไม่ใช่ว่าเฉพาะว่าเจริญกรรมฐานอย่างเดียว คืออย่างใดอย่างหนึ่งเท่าที่รู้ตามลำดับนี้ การปฏิบัติกรรมฐานให้ได้มรรคผลนะ เป็นการสมควร แต่ทว่ายังแคบนักควรจะมีความรู้ในด้านพระพุทธศาสนาให้ครบถ้วนบริบูรณ์ ควรรู้ทั้งอรรถและพยัญชนะ หมายความว่ารู้ทั้งคำอธิบายและต้นบทแห่งพระบาลี และท่านก็บอกว่าต่อแต่นี้ไปออกพรรษาแล้วเธอก็ควรไปศึกษาพระปริยัติธรรมที่เมืองบางกอกคือกรุงเทพฯ เสียก่อน ศึกษาให้มีความรู้ให้มีความเข้าใจ เรียนบาลีให้แปลหนังสือออก จะได้แปลพระไตรปิฏกได้ จะได้มีความรู้เข้าใจชัด เมื่อแปลหนังสือได้แล้วก็จะได้นำเอาหลักสูตรต่างๆ มาเป็นเครื่องค้นคว้าสำหรับสอนศิษยานุศิษย์จึงจะสมควร

และสำหรับด้านสมถะวิปัสสนานั้นก็ไม่ควรจะละ ขณะที่เรียนพระปริยัติก็ควรจะปฏิบัติไปด้วย เพราะว่าการศึกษาพระปริยัติต้องใช้ความจำมาก ภาษาบาลีในสมัยที่เรียน มูลกัจจายน์ กว่าจะแปลศัพท์ได้แต่ละตัวก็ต้องตั้งสูตรต้องวิเคราะห์กันมามาก เขาเรียกว่าสูตร ลงตัวทีละตัวต้องจำสูตรได้ แล้วสูตรทั้งหมดปรากฏมีหลายร้อยสูตร

และต่อจากนั้นไปก็ต้องจำธาตุ จำปัจจัย จำวิภัติ จึงจะแปลหนังสือได้ครบถ้วน ขณะที่จำธาตุ ปัจจัย วิภัติได้ทั้งหมดเรียบร้อยแ ล้ว ก็รู้จัก สัมพันธ์ การเดินประโยค การแปลหนังสือภาษาบาลีย่อมไม่เหมือนภาษาอื่น มีไวยากรณ์ที่มีความลึกซึ้งละเอียดลออมาก บอกเพศครบทุกอย่างละเอียดลออ เมื่อหลวงพ่อปานตกลงที่จะศึกษาตามท่าน ท่านก็ส่งให้ไปอยู่ วัดสระเกศไปเรียนอยู่ที่นั่น ๖ ปี เป็นพรรษาที่ ๗ ท่านเรียนจบบาลีสมัยนั้นแต่ไม่ได้สอบแปลถึงพระอภิธรรม แต่ท่านเล่าให้ฟังว่าขณะที่แปลหนังสือนั้น พอแปล วิสุทธิมรรค ซึ่งเป็นหลักสูตรของประโยค ๘ ท่านมีความสนใจมาก ท่านแปลจนกระทั่งจำได้ทั้งหมดในกรรมฐาน ๔๐ กอง ในศีลนิเทศ ในสมาธินิเทศ ในปัญญานิเทศ สำหรับด้านวิสุทธิมรรค

ศีลนิเทศ ท่านว่าด้วยศีล ละเอียดลออมากกว่าที่เรารู้กันปัจจุบันนี้มาก ถ้าใครเคยอ่านวิสุทธิมรรคในศีลนิเทศแล้วย่อมมีความเข้าใจในศีลครบถ้วน เพราะวิธีการปฏิบัติศีลมีมากมายเหลือเกิน จัดเป็นกระดาษพิมพ์สำหรับแปดหน้ายก ต้องใช้หนังสือตั้งหลายร้อยหน้า นี่เฉพาะศีลอย่างเดียว

สำหรับสมาธินิเทศ ก็หนังสือแปดหน้ายกหลายร้อยหน้าเหมือนกัน

ปัญญานิเทศ ในส่วนวิปัสสนาญาณก็เหมือนกัน ท่านบอกว่า ท่านแปลได้คล่องและก็จำเนื้อความได้ทั้งหมด เรียกว่าไม่จน

เวลาต่อมาในสมัยที่ท่านเป็นนักเทศน์ท่านใช้ วิสุทธิมรรค เป็นพื้น การอธิบายในวิสุทธิมรรคท่านอธิบายได้ถึง ๕ ชั้น คำว่า อธิบาย ๕ ชั้น นี่อธิบายตั้งแต่ยากลงมาหาง่าย ๕ ระดับด้วยกัน คนฟังทุกระดับชั้นฟังแล้วเข้าใจหมด คือพูดให้เข้าใจง่ายๆ ดูเหมือนจะง่ายกว่าหนังสือคู่มือปฏิบัติกรรมฐานตามที่ฉันเขียนไว้เสียอีก เพราะนั่นฉันก็เขียนตามความสามารถของฉัน ฉันเขียนไว้แล้วอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ อยู่แล้ว แต่คำอธิบายของท่านที่อธิบายให้ฉันฟังในเวลาปฏิบัติกรรมฐาน ท่านอธิบายให้เข้าใจง่ายยิ่งกว่านั้น นี่ปัญญาของท่านดี ท่านมีความฉลาด เมื่อท่านกลับมาถึงวัด ทีแรกก็กลับเข้ามาวัดบางปลาหมอ หลวงพ่อสุ่น ก็บอกว่า ปาน! วัดบางปลาหมอ นี่มันมีวัตถุครบถ้วนทุกอย่าง มีโบสถ์ มีศาลา มีกุฏิ มีอะไรต่อะไรพร้อม แต่ว่า วัดบางนมโคนี่ยังไม่มีอะไร เป็นวัดร้างมาก่อน หลวงปู่คล้ายมารื้อถอนขึ้น เป็นวัดโบราณจริงๆ เป็นวัดเก่า มีพระบรมสารีริกธาตุอยู่ที่วัดนั้น เธอจงไปบูรณะ วัดบางนมโคเถิด เป็นวัดในตระกูลของเธอ และเธอควรจะบูรณะให้สมบูรณ์บริบูรณ์ เธอทำได้ เพียงท่านมีบัญชา หลวงพ่อปานก็ปฏิบัติตาม และท่านสั่งว่า เมื่อไปถึงวัดล่ะก็ให้สร้างเจดีย์ก่อน ท่านบอกสถานที่ให้สร้าง ท่านบอกว่า ที่ตรงนั้นหน้าโบสถ์เก่ามีพระบรมสารีริกธาตุโบราณ ท่านโบราณาจารย์ฝังเอาไว้ ๓ องค์

เมื่อมาถึงแล้วท่านก็เริ่มปรารภการสร้างเจดีย์ ชาวบ้านก็เห็นชอบด้วย แล้วพร้อมกันนั้นท่านก็ตั้งโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรมสอนบาลี และก็สอนนักธรรม คือความรู้ในด้านพระธรรมวินัยตามที่ศึกษามา ปรากฏว่ามีนักเรียนทั้งหมด ๓๐๐ คน เห็นจะได้ ท่านว่าอย่างนั้น คนที่อยู่หัวเมืองต่างๆ ที่มีความสนใจไปเรียนกัน แม้กระทั่งคนที่อยู่เป็นชาวเหนือ ชาวจังหวัดพิษณุโลก เชียงใหม่ ก็ยังลงไปเรียนกับท่าน นี่แสดงว่าท่านมีความรู้รอบจริงๆ

ฉันเองก็เห็นว่าท่านมีความรู้รอบ สมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ฉันสอบเป็นมหาเปรียญ แปลหนังสือยังสู้ท่านไม่ได้ ท่านยังสอนแนะนำอีกตั้งหลายอย่าง และในด้านความรู้รอบตัวในทางพระพุทธศาสนา ท่านก็มีความรู้มาก ท่านเป็นนักเทศน์ถามอะไรท่านไม่จน เมื่อขณะที่ท่านมาสร้างเจดีย์ท่านบอกว่า มีพรรษาย่างเข้าพรรษา ๘ เพราะว่าบวชอยู่วัดบางปลาหมอ ๑ พรรษา อยู่กรุงเทพฯ เสีย ๖ - ๗ พรรษา

ฉันต้องทำงานเองทุกอย่าง ต้องดำกูดดำทรายเอง ตัวดำเป็นนิล เพราะอาศัยอยากได้บุญ อยากเกื้อกูลพระพุทธศาสนา แต่ว่าชาวบ้านเขาก็สงเคราะห์ฉันดีทุกอย่าง วัสดุก่อสร้างทั้งหมด ฉันได้อาศัยชาวบ้านเขาทุกอย่าง นี่เพราะเจดีย์นี้สร้างอยู่ปีหนึ่ง เพราะเจดีย์องค์นี้สูงมากอยู่ เห็นจะเกือบ ๒๐ วา มีฐานใหญ่ เมื่อสร้างพระเจดีย์แล้วท่านก็เปิดช่องไว้สำหรับบรรจุพระ นี่เป็นอันดับแรก

เรื่องการเจริญพระกรรมฐานท่านบอกฉันไม่เคยขาด ฉันปฏิบัติครบถ้วนทุกอย่างตามที่ครูบาอาจารย์แนะนำ แล้วก็ทำเป็นปกติ ทั้งๆ ที่จะทำงานเหน็ดเหนื่อยฉันก็ปฏิบัติกรรมฐานถึงแม้ว่าจะต้องสอนหนังสือลูกศิษย์ลูกหาฉันก็ปฏิบัติพระกรรมฐาน ฉันไม่ยอมให้เวลาของกรรมฐานว่างจากจิตใจของฉันเลย คนที่จะเข้าถึงความดีเขาปฏิบัติกันอย่างนี้ คนที่มีบารมีจริงๆ เมื่อเกิดมาอยู่ในสำนักก็พบพระอรหันต์ถึง ๓ องค์ คือคู่สวด ๒ องค์ และพระอุปัชฌาย์ ๑ องค์ นี่เป็นอันดับแรก และเป็นพระอรหันต์ขั้นอภิญญาสมาบัติเสียด้วย หมายความว่าเป็นอภิญญา ๖ มี ฤทธิ์เดช สามารถจะทำอะไรต่ออะไรต่างๆ ได้ แต่เรื่องอภิญญาของท่านนี้จะงดไว้ก่อน จะไม่กล่าวในที่นี้

ต่อมาท่านบอกว่า ในเมื่อมีลูกศิษย์ลูกหามาก ไม่มีอะไรจะเลี้ยงก็ต้องเป็นนักเทศน์ใครนิมนต์ไปเทศน์ก็ไปเทศน์โปรด เขาให้มาได้บ้าง มีอะไรเท่าไหรก็เอาไปเป็นอาหารเลี้ยงลูกศิษย์ลูกหาจนหมด ตามปกติท่านตั้งโรงครัวใหญ่ทุกวัน แม้ว่ากระทั่งเวลาที่ฉัน ไปบวชก็เหมือนกัน ท่านหุงข้าวต้มด้วยกะทะ ให้มีคนหุงข้าวด้วยกะทะ เป็นกะทะๆ วันหนึ่ง ๓ กะทะทุกวัน กับข้าวที่ชาวบ้านให้มาไม่พอ ท่านก็เอาเงินที่มีอยู่ซื้ออาหารเลี้ยงพระเลี้ยงคน นี่ท่านเลี้ยงคนมาก

นอกจากเป็นนักเทศน์แล้วท่านก็เป็นหมอ วิชาหมอของท่าน ท่านบอกว่า ท่านได้จากกรรมฐาน ท่านทำน้ำมนต์รักษาโรคทุกอย่าง แล้วก็ ยาประจำของท่านก็มีอยู่ ๒ อย่าง คือ

๑. ยาใบมะกากับข่าหม้อหนึ่ง
๒. ยาใบมะกากับหญ้าแพรกหม้อหนึ่ง


ถ้าคนป่วยเป็นสตรีที่มีครรภ์หรือว่าไม่ใช่สตรีที่มีครรภ์ แต่เป็นโรคปวดศรีษะ ท่านให้กินยาใบมะกากับหญ้าแพรก

ถ้าคนป่วยที่ไม่ใช่สตรีมีครรภ์ หรือไม่เป็นโรคปวดศรีษะ ท่านให้กินยาใบมะกากับข่า เพียงแค่ ๒ อย่างนี้หาย

และนอกจากน้ำมนต์กับยาในมะกาแล้วก็มี โรคเรียกลม คือคนไข้นั่งเป็นแถวๆ เรียงหน้ากระดาน ท่านก็เอามีดหมอสับลงที่กระดานห่างๆ คนไข้จะมีอาการดิ้นโอดครวญร้องโวยวาย ถ้าเป็นโรค ถ้าโรคนั้นหายแล้วก็จะไม่มีความรู้สึกอะไร นี่เป็นวิชาหมอของท่าน พอเวลาคนไข้ที่จะมารักษา ท่านก็มีวิธีตรวจคือ ให้กินหมาก เสกหมากให้หนึ่งคำให้กิน คนไข้บางคนหมากนั้นหมากอย่างเดียวกัน อาจจะมีรสหวาน รสขม รสเปรี้ยวยัน บางทีก็ร้อนหูร้อนหน้า อาการอย่างใดปรากฏก็บอกอาการถึงว่าเป็นโรคอย่างนั้น ถ้าเป็นคนไข้ที่ไม่เป็นอะไรเลยก็กินหมากอร่อยไม่ยันไม่เปรี้ยว ไม่ขมไม่ขื่น นี่เป็นวิธีตรวจโรคของท่าน

ถ้าลองท่านตรวจโรคแบบนี้ถ้าไม่ปรากฏตามอาการที่ท่านพอจะรักษาได้ ท่านบอกว่าโรคอย่างนี้ต้องไปโรงพยาบาล ท่านไม่กักโรคเอาไว้ คือไม่ใช่เป็นหมอเดาสุ่ม เพราะโรคอย่างไหนก็ตามถ้าท่านรับไว้รักษา ถ้าลองท่านรับรองคนนั้นหายทุกคน

(โปรดติดตามตอนต่อไป)
จากธัมมวิโมกข์ ฉบับที่ ๓๑๖ กรกฏาคม ๒๕๕๐


ไฟล์แนบ: คุณจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถดูและดาวน์โหลดไฟล์แนบได้ หากยังไม่มีแอคเคานต์หรือยังไม่ได้เป็นสมาชิก กรุณาสมัครสมาชิก
‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2025-1-8 04:04 , Processed in 0.026066 second(s), 15 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.