แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
เจ้าของ: pimnuttapa
go

นิทานกฎแห่งกรรมก่อนนอน [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๙

ธรรมะจากโสเภณี

L56.1.png



พระอัมพปาลีเถรี ในอดีตชาติท่านก็ได้บำเพ็ญบารมีไว้มาก ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระนามว่า สิขี ท่านได้บวชเป็นภิกษุณี

วันหนึ่ง ท่านไหว้พระเจดีย์แล้ว ก็เดินประทักษิณเวียนขวา โดยมีพระอรหันต์เถรีองค์หนึ่งเดินไปก่อน พระเถรีนั้นได้ถ่มน้ำลาย ก้อนน้ำลายนั้นไปตกในลานพระเจดีย์โดยท่านไม่รู้ ฝ่ายภิกษุณีรูปนี้เดินไปภายหลัง เห็นเข้าจึงด่าพระเถรีว่า “อีแพศยาชื่ออะไรนะ มาถ่มน้ำลายที่ตรงนี้”


ภิกษุณีรูปนี้สมาทานสิกขาบทด้วยดี แล้วเกลียดการเข้าอยู่ในครรภ์ ปรารถนาจะเกิดเป็นอุปปาติกะ ด้วยการตั้งจิตเช่นนั้น ในพระราชอุทยานในกรุงเวสาลี พนักงานเฝ้าพระราชอุทยานพบเด็กนั้น จึงนำเข้าพระนครเพราะเหตุที่เกิดที่โคนต้นมะม่วง นางจึงถูกเรียกว่า อัมพปาลี

ครั้งนั้น เมื่อนางโตเป็นสาวแล้ว บรรดาเจ้าชายทั้งหลายเห็นนางมีรูปร่างสะสวย น่าชม น่าเลื่อมใส ทั้งแสดงคุณพิเศษ มีเสน่ห์น่ารักใคร่ เป็นต้น ต่างก็ต้องการจะได้นางเป็นหม่อมห้ามของตน จึงเกิดการทะเลาะวิวาทกัน


นางจึงนำความไปฟ้องร้อง ฝ่ายคณะผู้พิพากษาได้รับคำฟ้องของนาง เพื่อจะระงับการทะเลาะวิวาทของเหล่าราชกุมาร จึงได้ตั้งนางไว้ในตำแหน่งคณิกาหญิงแพศยา ว่านางจงเป็นของทุกๆ คน

นางอัมพปาลีมีศรัทธาในพระศาสนา จึงสร้างวิหารไว้ในสวนของตนแล้วมอบถวายพระภิกษุสงฆ์ โดยมีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธาน ภายหลังเธอฟังธรรมในสำนักของพระวิมลโกณฑัญญเถระ ผู้เป็นบุตรของตน แล้วมีศรัทธาออกบวชเจริญวิปัสสนา อาศัยความที่สรีระของตนคร่ำคร่าลงเพราะความชรา ก็เกิดความสังเวชใจ เมื่อจะแสดงถึงความสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง จึงได้กล่าวคาถาว่า

แต่ก่อน ผมของข้าพเจ้ามีสีดำ เสมือนสีแมลงภู่มีปลายงอน
เดี๋ยวนี้ ผมของเหล่านั้นก็กลายเป็นเสมือนป่านปอเพราะชรา


แต่ก่อน มวยผมของข้าพเจ้าเต็มด้วยดอกไม้หอมกรุ่น เหมือนผอบที่อบกลิ่น
เดี๋ยวนี้ ผมนั้นมีกลิ่นเหมือนขนแพะเพราะชรา


แต่ก่อน ผมของข้าพเจ้าดกงาม ด้วยปลายที่รวบไว้ด้วยหวี และเข็มเสียบ เหมือนป่าไม้ทึบที่ปลูกไว้เป็นระเบียบ
เดี๋ยวนี้ ผมนั้นก็บางลงในที่นั้นๆ เพราะชรา


แต่ก่อน มวยผมดำ ประดับทอง ประดับด้วยช้องผมอย่างดี สวยงาม
เดี๋ยวนี้ มวยผมนั้นก็ร่วงเลี่ยนไปทั้งศีรษะเพราะชรา


แต่ก่อน คิ้วของข้าพเจ้าสวยงาม คล้ายรอยเขียนที่จิตรกรบรรจงเขียนไว้
เดี๋ยวนี้ กลายเป็นห้อยย่นลงเพราะชรา


แต่ก่อน ดวงตาทั้งคู่ของข้าพเจ้า ดำขลับมีประกายงาม คล้ายแหวนมณี
เดี๋ยวนี้ ถูกชราทำลายเสียแล้วจึงไม่งาม


แต่ก่อน เมื่อวัยสาวจมูกของข้าพเจ้าโด่งงามเหมือนเกลียวหรดาล
เดี๋ยวนี้ กลับเหี่ยวแฟบเพราะชรา


แต่ก่อน ใบหูทั้งสองของข้าพเจ้าสวยงามเหมือนตุ้มหูที่ช่างทำอย่างประณีตเสร็จเรียบร้อยแล้ว
เดี๋ยวนี้ กลายเป็นห้อยย่นเพราะชรา


แต่ก่อน ฟันของข้าพเจ้าสวยงาม เหมือนหน่อตูมของต้นกล้วย
เดี๋ยวนี้ กลับหักดำเพราะชรา


แต่ก่อน ข้าพเจ้าพูดเสียงไพเราะเหมือนนกดุเหว่าที่ปกติเที่ยวไปในไพรสณฑ์ในป่าใหญ่ส่งเสียงร้องไพเราะ
เดี๋ยวนี้ คำพูดของข้าพเจ้าก็พูดพลาดเพี้ยนไปในที่นั้นๆ


แต่ก่อน คอของข้าพเจ้าสวยงามกลมเกลี้ยงเหมือนสังข์ขัดเกลี้ยงเกลาดีแล้ว
เดี๋ยวนี้ กลายเป็นงุ้มค้อมลงเพราะชรา


แต่ก่อน แขนทั้งสองของข้าพเจ้าสวยงาม เปรียบเสมือนไม้กลอนกลมกลึง
เดี๋ยวนี้ กลายเป็นลีบเหมือนกิ่งแคคดเพราะความชรา


แต่ก่อน มือทั้งสองของข้าพเจ้าสวยงาม ประดับด้วยแหวนทองงามระยับ
เดี๋ยวนี้ กลายเป็นเสมือนเหง้ามันเพราะชรา


แต่ก่อน ถันทั้งสองของข้าพเจ้าอวบอัด กลมกลึงประชิดกันและงอนสล้างสวยงาม
เดี๋ยวนี้ กลายเป็นหย่อยยาน เหมือนถุงหนังที่ไม่มีน้ำเพราะชรา


แต่ก่อน กายของข้าพเจ้าเกลี้ยงเกลา ดังแผ่นทองสวยงาม
เดี๋ยวนี้ กลายเป็นสะพรั่งด้วยเส้นเอ็นอันละเอียดเพราะชรา


แต่ก่อน แข้งทั้งสองของข้าพเจ้าประดับด้วยกำไลทองเกลี้ยงเกลาสวยงาม
เดี๋ยวนี้ กลายเป็นเหมือนต้นงาขาดเพราะชรา


แต่ก่อน เท้าทั้งสองของข้าพเจ้าสวยงาม เปรียบเหมือนรองเท้าหุ้มปุยนุ่ม
เดี๋ยวนี้ แตกเป็นริ้วรอยเพราะชรา


บัดนี้ ร่างกายนี้ เป็นเช่นนี้ คร่ำคร่าเป็นแหล่งที่อยู่แห่งทุกข์เป็นอันมาก ปราศจากเครื่องลูบไล้ เป็นเรือนชรา พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริงเป็นคำแท้ ไม่แปรเป็นอื่น

พระอัมพปาลีเถรีนี้ ท่านพิจารณาทบทวนอนิจจตาความไม่เที่ยงในธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๓ ทั้งหมด โดยมุข (ปาก) คือกำหนดความไม่เที่ยงในอัตภาพของตนอย่างนี้แล้ว ยกขึ้นสู่ทุกขลักษณะและอนัตตลักษณะในอัตภาพของตน ตามแนวอนิจจลักษณะนั้น และขะมักเขม้นเจริญวิปัสสนาอยู่ก็ได้บรรลุพระอรหัต โดยลำดับมรรค



อรรถกถาอัมพปาลีเถรีคาถา

พระไตรปิฎกและอรรถกถา เล่ม ๕๔ หน้า ๓๕๘

L55.png

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๒๐

ผู้ฆ่าย่อมได้รับการฆ่าตอบ

L56.1.png



พระพุทธเจ้า เมื่อขณะประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภถึง “มตกภัต” คือข้าวที่อุทิศให้คนตาย มีความพิสดารว่า

ในกาลนั้น คนทั้งหลายย่อมฆ่าแพะ เป็นต้นเป็นอันมาก ทำให้เป็นมตกภัต (อาหารเพื่อผู้ตาย) เพื่อญาติทั้งปวงที่ตายไปแล้ว ภิกษุทั้งหลายเห็นคนเหล่านั้นได้กระทำอย่างนั้น จึงได้กราบทูลพระศาสดาว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้มนุษย์ทั้งหลาย ย่อมกระทำสัตว์ทั้งหลายที่มีชีวิตเป็นอันมาก ให้ถึงความสิ้นชีวิต แล้วให้เชื่อว่า มตกภัต ความเจริญในการให้มตกภัตนี้ย่อมมีอยู่หรือ พระเจ้าข้า?”

พระศาสดาตรัสว่า  “ภิกษุทั้งหลาย! ชื่อว่าความเจริญอะไรๆ ในการทำปาณาติบาต แม้เขาที่กระทำด้วยคิดว่า พวกเราจักให้มตกภัต ดังนี้ ย่อมไม่มี แม้ในการก่อน บัณฑิตทั้งหลายนั่งในอากาศ แสดงธรรมกล่าวโทษในการทำปาณาติบาตนี้ ให้ชาวชมพูทวีปทั้งสิ้นละเว้น เพราะสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นเป็นผู้ถูกภพชาติปกปิดไว้” แล้วได้ทรงนำเอาเรื่องในอดีตชาติ มาแสดงดังต่อไปนี้

ในอดีตกาลนานมาแล้ว เมื่อสมัยพระเจ้าพรหมทัตทรงครองราชสมบัติในพระนครพาราณสี มีอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ผู้สำเร็จวิชาคนหนึ่ง คิดว่าจักให้มตกภัต จึงให้จับแพะมาตัวหนึ่ง แล้วได้กล่าวกะศิษย์ของตนว่า “พ่อทั้งหลาย พวกเธอจงนำแพะตัวนั้น ไปที่แม่น้ำเอาระเบียบดอกไม้สวมคอ เจิม และประดับประดา แล้วจงนำมา”


พวกศิษย์เหล่านั้นรับคำแล้ว ได้พาแพะตัวนั้นไปยังแม่น้ำ ให้อาบน้ำ เจิม และประดับประดาแล้ว พักรอไว้ที่ฝั่งแม่น้ำ ส่วนแพะตัวนั้นได้ระลึกถึงกรรมเก่าของตนได้ จึงเกิดความดีใจว่าเราจะได้พ้นจากความทุกข์ในวันนี้แล้ว จึงได้หัวเราะลั่นประดุจต่อยหม้อดิน แต่กลับคิดว่าพราหมณ์นี้ฆ่าเราแล้ว จักได้ความทุกข์ที่เราได้แล้ว จึงเกิดความกรุณาต่อพราหมณ์นั้น จึงได้ร้องไห้ด้วยเสียงอันดัง

ในขณะนั้นพวกศิษย์จึงได้ถามแพะนั้นว่า “แพะผู้สหาย เจ้าหัวเราะและร้องไห้ด้วยเสียงดังลั่น เพราะเหตุไรหนอจึงหัวเราะ? และเพราะเหตุไรหนอเจ้าจึงร้องไห้?” แพะได้กล่าวว่า “พวกท่านจงถามเหตุผลนั้นกะเรา ในสำนักอาจารย์ของท่านเถิด”


พวกศิษย์จึงได้นำแพะตัวนั้นไปหาอาจารย์ทิศาปาโมกข์ พร้อมทั้งได้แจ้งเหตุให้อาจารย์ทราบแล้ว อาจารย์ได้ฟังคำรายงานของศิษย์แล้ว จึงได้ถามแพะว่า “แพะผู้สหาย เพราะเหตุไรเจ้าจึงหัวเราะแล้วก็ร้องไห้”

ฝ่ายแพะได้หวนระลึกถึงกรรมเก่าที่ตนได้กระทำไว้ในอดีต จึงได้กล่าวกะพรามหณ์ผู้เป็นอาจารย์ว่า “ท่านพราหมณ์ เมื่อชาติก่อนเราก็เป็นพราหมณ์ผู้สาธยายมนต์เช่นเดียวกับท่านนี้แหละ มีความคิดว่าจะให้มตกภัต จึงได้ฆ่าแพะตัวหนึ่งแล้วให้มตกภัต


เพราะที่เราฆ่าแพะตัวหนึ่งนั้น เราจึงถูกเขาตัดศีรษะมาแล้ว ๔๙๙ ชาติ ชาตินี้เป็นชาติที่ ๕๐๐ ของเรา ซึ่งเป็นการใช้กรรมชาติสุดท้าย เราจึงเกิดความดีใจว่า เราจะได้พ้นทุกข์อันยาวนาน เห็นปานนี้แล้ว ด้วยเหตุนี้เราจึงหัวเราะ

แต่ที่เราร้องไห้ เพราะด้วยความกรุณาในตัวท่าน ด้วยคิดว่าเบื้องต้นเราฆ่าแพะตัวหนึ่ง ได้รับความทุกข์คือถูกตัดศีรษะถึง ๕๐๐ ชาติ แต่จะพ้นทุกข์นั้นในวันนี้ ส่วนท่านพราหมณ์ฆ่าเราแล้ว ท่านก็จะต้องได้รับความทุกข์ถูกตัดศีรษะถึง ๕๐๐ ชาติเหมือนเรา”


พราหมณ์กล่าวว่า “แพะผู้สหาย เธออย่ากลัวเลย เราจะไม่ฆ่าเจ้า” แพะได้กล่าวกะพราหมณ์ว่า “ท่านพราหมณ์ ท่านพูดอะไร? เมื่อท่านจะฆ่าเราก็ตาม หรือไม่ฆ่าเราก็ตาม วันนี้เราก็ไม่อาจจะพ้นจากความตายไปได้” พราหมณ์ได้กล่าวกะแพะว่า “แพะผู้สหาย เจ้าอย่ากลัวเลย เราจะช่วยอารักขาคุ้มครองเจ้าประดุจเงาตามตัวเลย”

แพะได้กล่าวว่า “ท่านพราหมณ์ การอารักขาคุ้มครองของท่านมีประมาณน้อย ส่วนบาปที่เราได้ทำแล้วมีกำลังมากกว่า” พราหมณ์ได้ปล่อยแพะไปแล้วกล่าวว่า “เราจะไม่ให้ใครๆ ได้ฆ่าแพะตัวนี้” จึงได้พาพวกศิษย์ช่วยอารักขาคุ้มครองแพะตามแพะไป


ฝ่ายแพะพอถูกปล่อยแล้ว ก็ได้ชะเง้อคอเริ่มจะกินใบไม้ ซึ่งอาศัยแผ่นหินแห่งหนึ่ง ที่เกิดอยู่ในบริเวณนั้น ในทันใดนั้นเอง ขณะที่แพะกำลังชะเง้อคอจะกินใบไม้นั้นเอง ฟ้าก็ได้ผ่าลงที่แผ่นหินนั้น สะเก็ดหินชิ้นหนึ่งแตกกระเด็นมาตัดคอแพะ ซึ่งกำลังชะเง้ออยู่ให้ศีรษะขาดตกไปต่อหน้ามหาชน

ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นรุกขเทวดาอยู่ในที่นั้น พระโพธิสัตว์นั้น เมื่อมหาชนอยู่นั้น ได้นั่งขัดสมาธิในอากาศด้วยเทวานุภาพ แล้วกล่าวว่า


“ถ้าสัตว์ทั้งหลายพึงรู้อย่างนี้ว่า การเกิดในภพชาติต่างๆ เป็นทุกข์ สัตว์จึงไม่ควรฆ่าสัตว์ เพราะว่าผู้ปกติฆ่าสัตว์ย่อมเศร้าโศก”

พระโพธิสัตว์ได้แสดงธรรมนั้นแล้ว มหาชนเกิดความกลัวภัยในนรก พากันงดเว้นจากปาณาติบาต ฝ่ายพระโพธิสัตว์ครั้นแสดงธรรมและยังมหาชนให้ตั้งอยู่ในเบญจศีลแล้ว ก็ได้เกิดตามยถากรรม ฝ่ายมหาชนได้พากันดำเนินอยู่ในโอวาทของพระโพธิสัตว์ มีการให้ทานและรักษาศีล เป็นต้น เมื่อสิ้นชีพแล้วก็ไปบังเกิดในเทพนคร ยังเทพนครให้เต็มแล้ว


มตกภัตตชาดก

พระไตรปิฎกและอรรถกถา เล่ม ๕๕ หน้า ๒๖๘

L55.png

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๒๑

กรรมตามสนอง

L56.1.png


พระพุทธเจ้า เมื่อประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน กรุงสาวัตถี ทรงปรารภเปรต ๔ ตน ที่ได้รับผลกรรมต่างกัน ดังนี้

ในอดีตกาลนานมาแล้ว ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงสาวัตถีมากนัก มีพ่อค้าโกงหนึ่ง เลี้ยงชีพด้วยการโกงต่างๆ มีการโกงตาชั่ง เป็นต้น วิธีการโกงตาชั่งของเขาก็คือ เอาฟ่อนข้าวสาลีเคล้าด้วยดินแดงทำให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น เอาแกลบปนกับข้าวสาลี เป็นต้น


ลูกชายของเขาโกรธพ่อ ว่าพ่อไม่ให้เกียรติเพื่อนของเขาที่มาบ้าน แต่ทำพ่อไม่ได้ ก็เลยพาลเอาเชือกหนัก ๒ เส้น ไปตีศีรษะมารดา

ส่วนลูกสะใภ้ของเขา แอบไปลักกินเนื้อส่วนรวมที่เก็บไว้ทำอาหาร เมื่อถูกซักถามด้วยความสงสัย ก็สาบานว่าถ้าเขากินเนื้อจริง ก็ขอให้ไปเกิดในชาติใดๆ จงเฉือนสันหลังของตนเองกินทุกชาติไป


ฝ่ายภรรยาของเขา เมื่อคนมาขอสิ่งของบางอย่าง ทั้งที่มีอยู่ก็บอกว่าไม่มี พอถูกคาดคั้นก็สาบานว่า ถ้ามีสิ่งของจริงก็ขอให้กินคูถเป็นอาหารทุกชาติไปเถิด

สมัยต่อมา คนเหล่านั้นก็ได้ถึงแก่กรรม คนทั้ง ๔ คนนั้นได้รับผลกรรมตามสนอง ดังนี้

เปรตพ่อค้าโกง
ได้รับผลกรรม ด้วยการเอามือทั้งสองข้าง กอบเอาแกลบที่ลุกโพลงด้วยผลกรรม แล้วเกลี่ยลงที่ศีรษะของตนเอง ได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัส

เปรตลูกชายพ่อค้าโกง ได้รับผลกรรม ด้วยการเอาค้อนเหล็กตีหัวตัวเองอยู่เรื่อยๆ ได้รับความทุกข์แสนสาหัส

เปรตหญิงสะใภ้ ได้รับผลกรรม ด้วยการเอาเล็บของตนเอง ที่ทั้งกว้างและยาว มีความคมมาก กรีดเนื้อที่แผ่นหลังของตนเองกิน เสวยทุกขเวทนาหาประมาณมิได้

เปรตภรรยา ได้รับผลกรรม ด้วยการเอามือกอบคูถ (อุจจาระ) พร้อมด้วยตัวหนอนกิน ได้เสวยทุกข์อย่างมหันต์

เปรตทั้งสี่ตนได้รับเสวยทุกข์อย่างหนัก จนวันหนึ่งพระมหาโมคคัลลานะได้เดินทางไปบนภูขา และได้ไปถึงที่นั่น จึงพบเปรตทั้ง ๔ ตน และได้ถามถึงบุพกรรม เปรตเหล่านั้นก็เล่าถวาย


ครั้นพระเถระเดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้า จึงได้กราบทูลเรื่องเปรต ๔ ตนถวาย พระพุทธเจ้าจึงทรงนำเอาเรื่องนี้มาเป็นเหตุ แล้วทรงแสดงธรรมแก่พุทธบริษัท พระธรรมเทศนาจึงได้เกิดประโยชน์แก่มหาชนด้วยประการฉะนี้แล


อรรถกถาภุสเปตวัตถุ

L55.png


Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๒๒

เปรตขอส่วนบุญ

L56.1.png



พระพุทธเจ้า เมื่อประทับอยู่ที่พระวิหารเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ ทรงปรารภแก้ข้อข้องใจเรื่องเสียงเปรตญาติของพระเจ้าพิมพิสาร ดังนี้

ในอดีตกาล นับย้อนหลังไป ๙๒ กัป แต่ภัททกัปนี้ ได้มีนครหนึ่งชื่อว่า กาสี มีพระราชาทรงพระนามว่า ชัยเสน มีพระราชเทวีพระนามว่า สิริมา และมีพระโพธิสัตว์นามว่า ผุสสะ ได้บังเกิดในพระครรภ์ของพระนาง และต่อมาได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณโดยลำดับ


พระเจ้าชัยเสนเกิดความคิดเห็นแก่ตัวขึ้นว่า บุตรของเราเป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นของเรา พระธรรมเป็นของเรา และพระสงฆ์ก็เป็นของเรา เมื่อคิดเห็นดังนี้ ก็ทรงอุปัฏฐากด้วยพระองค์เองทุกวัน ไม่ทรงยอมให้คนอื่นร่วมด้วย

พระพุทธเจ้ามีพี่น้องสามคน ผู้ต่างมารดากัน เป็นพระกนิษฐภาดาของพระพุทธเจ้า พากันคิดว่า อันธรรมดาว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมอุบัติเพื่อประโยชน์แก่ชาวโลกทั้งมวล มิใช่เพื่อประโยชน์เฉพาะบุคคลผู้เดียว และพระบิดาของพวกเราก็ไม่ยอมให้โอกาสแก่ชนเหล่าอื่นเลย “ทำอย่างไรหนอ พวกเราจะพึงได้อุปัฏฐากพระพุทธเจ้า และพระภิกษุสงฆ์บ้าง?”

พี่น้องทั้งสามพระองค์นั้น ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า เอาเถิดพวกเราจะทำอุบายสักอย่างหนึ่งให้ได้ จึงไปสร้างสถานการณ์ชายแดน ประหนึ่งว่าเกิดการปั่นป่วน พระราชาทรงสดับว่า ชายแดนเกิดความปั่นป่วน จึงได้จัดส่งพระโอรสทั้งสามพระองค์ไปปราบปัจจันตชนบท ครั้นพี่น้องทั้งสามไปปราบสงบแล้วจึงกลับมา

พระราชาทรงพอพระทัย โปรดประทานพรว่า “พวกลูกๆ ปรารถนาสิ่งใด ก็จงถือเอาสิ่งนั้นเถิด” พี่น้องทั้งสามพระองค์กราบทูลว่า “ข้าพระองค์ปรารถนาจะอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า” พระราชาตรัสว่า “ขอให้เว้นการอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าเสีย พวกเธอจงเลือกเอาอย่างอื่นเถิด”

พระราชบุตรทั้งสาม
กราบทูลยืนยันว่า “พวกข้าพระพุทธเจ้าไม่ต้องการอย่างอื่น พระเจ้าข้า” พระราชาตรัสว่า “ถ้าอย่างนั้นพวกเธอจงกำหนดเวลามาเถิด” พวกพระราชบุตรทูลขออุปัฏฐาก ๗ ปี พระราชาก็ไม่ทรงอนุญาต จึงได้ต่อรองลงมา ๖ ปี ๕ ปี ๔ ปี ๓ ปี ๒ ปี ๑ ปี ๗ เดือน ๖ เดือน ๕ เดือน ๔ เดือน จนกระทั่งลดลงมาเหลือ ๓ เดือน จึงทรงอนุญาต

พระราชบุตรทั้งสามพระองค์พากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ปรารถนาจะอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าตลอด ๓ เดือน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า จงทรงรับการอยู่จำพรรษาตลอด ๓ เดือนนี้แก่ข้าพระองค์เถิด”

พระพุทธเจ้าทรงรับด้วยอาการดุษณีภาพ (คือนิ่ง) พระราชบุตรเหล่านั้นจึงส่งลิขิตไปถึงนายเสมียนในชนบทของตนว่า พวกเราจะอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าตลอด ๓ เดือนนี้ ขอท่านจงจัดแจงสัมภาระต่างๆ สำหรับการอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้า มีวิหารเป็นต้น


นายเสมียนเหล่านั้นจัดแจงทุกอย่างแล้ว ได้มีลิขิตตอบไป ฝ่ายพระราชบุตรทั้งสามนั้น ต่างนุ่งผ้ากาสายะ พร้อมทั้งบุรุษ ๑,๐๐๐ คน ผู้ร่วมทำการขวนขวาย ได้พากันอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์โดยความเคารพ

ฝ่ายบุตรคฤหบดีคนหนึ่ง ผู้เป็นห้องเครื่องของพระราชบุตรทั้ง ๓ พร้อมด้วยภริยา เป็นผู้มีความศรัทธาเลื่อมใส เขาได้ถวายทานวัตรแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธานโดยเคารพ ฝ่ายเสมียนในชนบท พากันเข้าไปพร้อมชาวชนบทประมาณ ๑๑,๐๐๐ คน ได้ให้ทานโดยเคารพอย่างยิ่ง


ในคนเหล่านั้น ชาวชนบทบางพวกได้เกิดขัดใจกันขึ้น เขาเหล่านั้นจึงได้พากันทำอันตรายแก่ทาน พากันกินไทยธรรมด้วยตนเองและเอาไฟเผาโรงครัว ฝ่ายราชบุตรทั้ง ๓ ครั้นอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าครบ ๓ เดือนแล้ว ก็ได้พาพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์กลับพระวิหาร

บรรดาท่านเหล่านั้น เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว พระราชบุตรทั้งสาม เสมียนในชนบท และผู้ร่วมงานกุศลทั้งหมด เมื่อถึงแก่กรรมแล้ว ก็ไปบังเกิดในสวรรค์ตามลำดับ ส่วนพวกชนที่ขัดใจกันและทำลายไทยธรรม ก็พากันไปบังเกิดในนรก ชนทั้งสองพวกนั้น จากสวรรค์ถึงสวรรค์ จากนรกถึงนรก ด้วยอาการอย่างนี้ผ่านไป ๙๒ กัป


ครั้นลุถึงภัทรกัปนี้ ในพระศาสนาแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า กัสสปะ คนผู้ขัดใจกันเหล่านั้นมาเกิดเป็นเปรต ในสมัยนั้นพวกมนุษย์พากันให้ทาน แล้วอุทิศเพื่อเปรตทั้งหลาย ผู้เป็นญาติของตนๆ ว่า

“ขอผลแห่งทานนี้ จงสำเร็จแก่พวกญาติของเราเถิด” บรรดาพวกเปรตญาติเหล่านั้น ต่างก็ได้เสวยสมบัติ ส่วนพวกบรรดาเปรตที่ญาติไม่ได้ทำบุญอุทิศให้ คือเปรตพวกที่ขัดใจกันและพากันเผาโรงครัวนั้น ต่างก็พากันไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้ากัสสปะ แล้วกราบทูลถามว่า


“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์จะพึงได้เสวยสมบัติอย่างพวกเขาบ้างไหมหนอ” พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนเปรตทั้งหลาย ในบัดนี้พวกเธอยังไม่ได้ แต่ในอนาคตจะมีพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า โคดม ในกาลนั้นแหละจะมีพระราชานามว่า พิมพิสาร ใน ๙๒ กัป จากภัททกัปนี้ พระองค์ได้เป็นญาติของเธอ พระองค์ได้ถวายทานแด่พระพุทธเจ้าแล้วจะอุทิศแก่พวกเธอ”

พวกเปรตได้ฟังดังนั้น ก็เกิดความดีใจตื่นเต้น เหมือนกับว่าตนจะได้รับผลแห่งทานในวันรุ่งขึ้นก็ไม่ปาน ครั้นพุทธันดรหนึ่งผ่านไป พระพุทธเจ้าแห่งเราทั้งหลายอุบัติขึ้นแล้ว พระราชบุตรทั้งสาม พร้อมทั้งบริวารเหล่านั้น ๑,๐๐๐ คน จุติจากสวรรค์แล้วได้มาเกิดในสกุลพราหมณ์ในกรุงราชคฤห์ แล้วต่างพากันออกบวชเป็นฤษี และได้เป็นชฎิล ๓ พี่น้อง ตั้งสำนักอยู่ที่คยาสีสะประเทศ


นายเสมียนในชนบท ได้มาเกิดเป็นพระเจ้าพิมพิสาร ส่วนบุตรคฤหบดีผู้เป็นขุนคลัง ได้มาเกิดเป็นเศรษฐีชื่อ วิสาขะ และภริยาของบุตรคฤหบดีได้มาเกิดเป็นธิดาของเศรษฐีนามว่า ธรรมทินนา ส่วนคนนอกนั้นก็ได้มาเกิดเป็นบริวารของพระราชานั่นเอง

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลกแล้ว ล่วงไป ๗ สัปดาห์ ก็ได้เสด็จมายังกรุงพาราณสี ทรงโปรดพระปัญจวัคคีย์ โปรดชฎิล ๓ พี่น้อง พร้อมทั้งบริวาร ๑,๐๐๐ คน แล้วเสด็จไปยังกรุงราชคฤห์ โปรดพระเจ้าพิมพิสารจนได้บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว


พระเจ้าพิมพิสารทรงนิมนต์พระพุทธเจ้าพร้อมทั้งภิกษุสงฆ์ เพื่อรับภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น รุ่งเช้าพระพุทธเจ้าจึงเสด็จไปรับมหาทานในพระราชนิเวศน์ ส่วนพวกเปรตญาติของพระเจ้าพิมพิสาร ก็ได้มารอรับส่วนบุญด้วยหวังว่าพระราชาจะทรงอุทิศผลบุญให้

ฝ่ายพระราชาเมื่อถวายทานแล้ว ก็ทรงดำริว่าจักหาสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้า ว่าจะทรงประทับที่ไหนหนอ? จึงทำให้ทรงลืมอุทิศส่วนบุญไปให้พวกเปรตญาติเสียสนิท พวกเปรตญาติที่รออยู่ เมื่อไม่ได้รับผลบุญจึงเสียใจ ในเวลากลางคืนนั้น จึงได้พากันร้องโหยหวน อันน่าสะพรึงกลัวอย่างยิ่ง ในที่ใกล้พระราชนิเวศน์ที่บรรทม พระราชาก็ทรงตกพระทัย


รุ่งเช้าจึงทรงเสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วกราบทูลเรื่องเสียงนั้นให้ทรงทราบ พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า เสียงร้องนั้นมิได้เป็นนิมิตร้ายแต่ประการใด แต่เป็นเสียงเปรตญาติของพระองค์มารอส่วนบุญ ที่เมื่อวันก่อนพระองค์ถวายทานแล้ว มิได้อุทิศแก่พวกเขา พวกเขาจึงพากันผิดหวัง และมาส่งเสียงร้องดังกล่าว

พระราชาตรัสถามว่า “เมื่อหม่อมฉันถวายทานแม้ในบัดนี้ เปรตเหล่านั้นจะได้รับหรือพระเจ้าข้า” พระพุทธเจ้าดำรัสว่า “ได้ มหาบพิตร” พระราชาจึงทรงนิมนต์พระพุทธเจ้า พร้อมทั้งภิกษุสงฆ์เพื่อรับภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น พระพุทธเจ้าทรงรับด้วยดุษณีภาพ
พระเจ้าพิมพิสารเสด็จกลับพระราชนิเวศน์ ทรงสั่งให้จัดแจงมหาทานเตรียมไว้

ในวันรุ่งขึ้น พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงพระราชนิเวศน์ ทรงประทับบนที่อาสนะที่บรรจงจัดไว้ ฝ่ายเปรตเหล่านั้นก็พากันมารอ ด้วยหวังว่าวันนี้พระราชาถวายทานแล้ว จะทรงอุทิศผลบุญให้พวกเขาบ้างเป็นแน่ จึงพากันไปยืนอยู่ในที่ต่างๆ

พระพุทธเจ้าได้ทรงกระทำให้พระราชาได้ทรงเห็นเปรตเหล่านั้น พระราชาเมื่อจะทรงหลั่งน้ำทักษิโณทก (กรวดน้ำ) จึงทรงอุทิศว่า “ขอผลบุญแห่งทานนี้ จงสำเร็จแก่พวกญาติด้วยเถิด” ในทันใดนั้นเอง สระโบกขรณีอันดารดาษด้วยดอกอุบลได้บังเกิดแก่พวกเปรต เปรตเหล่านั้นได้พากันอาบและดื่มในสระนั้น ได้ระงับความกระวนกระวาย ความลำบาก และความกระหาย ได้เป็นผู้มีสีดังทองคำ

พระราชาได้ถวายข้าวยาคู ของเคี้ยว และของบริโภค แล้วอุทิศให้ ในขณะนั้นเอง ข้าวยาคู ของเคี้ยว และอาหารอันเป็นทิพย์ ก็ได้บังเกิดแก่เปรตเหล่านั้น เปรตเหล่านั้นพากันบริโภคอาหารทิพย์เหล่านั้นแล้ว ต่างก็มีร่างกายผ่องใสกระปรี้กระเปร่า


ลำดับนั้นพระราชาได้ถวายผ้า ที่นอน ที่นั่ง แล้วทรงอุทิศให้ ในขณะนั้นเอง เครื่องประดับชนิดต่างๆ เช่น ผ้า ปราสาท เครื่องลาด ที่นอน เป็นต้น อันเป็นทิพย์ก็ได้บังเกิดแก่เปรตเหล่านั้น และสมบัติของเปรตเหล่านั้นก็ได้ปรากฏต่อพระพักตร์พระราชา โดยการอธิษฐานของพระพุทธเจ้า พระราชาทรงทอดพระเนตรแล้ว ทรงพอพระทัยยิ่งนัก

เมื่อพระพุทธเจ้าเสวยพระกระยาหารแล้ว ทรงแสดงอนุโมทนา โดยทรงนำเอา “ติโรกุฑฑเปตวัตถุ” มาทรงแสดงแก่พระราชา ดังนี้


“เปรตทั้งหลาย พากันสู่เรือนของตน แล้วยืนอยู่ภายนอกฝาเรือน ที่ตรอก กำแพง ทางสามแพร่ง และยืนอยู่ที่ใกล้บานประตู เมื่อข้าว น้ำ ของกิน ของบริโภคเพียงพอ เขาเข้าไปตั้งไว้แล้ว แต่ญาติของเปรตเหล่านั้นระลึกไม่ได้ เพราะกรรมของสัตว์เป็นปัจจัย เหล่าอนุชนผู้อนุเคราะห์ ย่อมให้น้ำและโภชนะอันสะอาด ประณีตสมควรแก่ญาติทั้งหลายตามกาล ดุจทานที่มหาบพิตรถวายฉะนั้น

ด้วยเจตนาอุทิศว่า ขอทานนี้แล จงสำเร็จผลแก่ญาติทั้งหลายของเรา ขอญาติทั้งหลายของเราจงเป็นสุขเถิด ส่วนเปรตผู้เป็นญาติเหล่านั้น พากันมาชุมนุมในที่นั้น เมื่อข้าวและน้ำมีอยู่เพียงพอ ย่อมอนุโมทนาโดยเคารพว่า เราได้สมบัติเพราะเหตุแห่งญาติเหล่าใด ขอญาติของเราเหล่านั้น จงมีอายุยืนนาน  


การบูชาเป็นพวกญาติได้ทำแล้วแก่พวกเราทั้งหลาย และญาติทั้งหลายผู้ให้ก็ไม่ไร้ผล เพราะในภูมิเปรตนั้น การกสิกรรม การโครักขกรรมไม่มี การค้าขายก็ไม่มี การซื้อการขายด้วยเงินตราก็ไม่มี สัตว์ทั้งหลายผู้ไปบังเกิดในภูมิเปรตนั้น ย่อมมีชีวิตอยู่ด้วยผลแห่งทาน ที่ญาติทั้งหลายในโลกมนุษย์นี้อุทิศไปให้

น้ำฝนที่ตกลงในที่ดอน ย่อมไหลลงไปสู่ที่ลุ่มฉันใด ทานอันญาติหรือมิตรให้แล้ว จากมนุษย์โลกนี้ ย่อมสำเร็จผลแก่เปรตทั้งหลายฉันนั้นเหมือนกัน ห้วงน้ำใหญ่เต็มแล้ว ย่อมยังสาครให้เต็มเปี่ยมฉันใด ทานอันญาติหรือมิตรที่ให้แล้ว จากมนุษย์โลกนี้ ย่อมสำเร็จผลแก่เปรตทั้งหลายฉันนั้นเหมือนกัน


กุลบุตรเมื่อหวนระลึกถึงอุปการคุณ ที่ท่านทำแล้วในกาลก่อนว่า คนโน้นได้ให้สิ่งของแก่เราแล้ว คนนั้นได้ทำอุปการคุณแก่เราแล้ว ญาติมิตรและสหายได้ให้สิ่งของแก่เรา และได้ช่วยทำกิจกรรมของเรา ดังนี้

พึงให้ผลบุญแก่เปรตทั้งหลาย ด้วยว่าการร้องไห้ก็ตาม ความเศร้าโศกก็ตาม การพิไรร่ำไรก็ตาม ไม่ควรทำลาย เพราะการร้องไห้เป็นต้นนั้น ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่เปรตทั้งหลาย (แม้ว่าจะร้องไปอย่างไร) ญาติทั้งหลายก็คงเป็นอยู่อย่างนั้น อันทานนี้แล ที่ให้แล้ว และตั้งไว้ดีแล้วในสงฆ์ ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่เปรตนั้นโดยพลัน สิ้นกาลนาน


ญาติธรรม (คือเปรตญาติ) มหาบพิตรก็ได้แสดงให้ปรากฏแล้ว การบูชาอันยิ่งเพื่อเปรตทั้งหลาย มหาบพิตรก็ได้กระทำแล้ว และพลังกายมหาบพิตรก็ได้เพิ่มให้แก่ภิกษุทั้งหลายแล้ว บุญมีประมาณไม่น้อย มหาบพิตรก็ได้ทรงกระทำแล้วแล”

ในเวลาจบพระธรรมเทศนา ธรรมภิสมัยได้มีแก่สัตว์ ๘๔,๐๐๐ ผู้มีใจสลดด้วยการพรรณนาโทษของการเกิดในเปรตวิสัย แม้ในวันที่ ๒ พระองค์ก็ทรงแสดงติโรกุฑฑเทศนานี้แหละ แก่เหล่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ธรรมภิสมัยเช่นนั้นแหละ ได้มีด้วยอาการอย่างนี้ถึง ๗ วันแล

อรรถกถาติโรกุฑฑเปตวัตถุ

L55.png

Rank: 8Rank: 8

  ตอนที่ ๒๓

เปรตโยมพ่อเจ้าคุณ

L56.1.png



เมื่อคืนวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๓๗ เวลาทุ่มครึ่ง เปิดวิทยุ พล.ม. ๒ ฟัง เป็นเสียงของท่านเจ้าคุณพระธรรมธีรราช มหามุนี (โชดก ญาณสิทธิ) ในสมัยที่มีสมณศักดิ์ที่พระเทพสิทธิมุนี

ท่านได้เล่าถึงโยมพ่อของท่าน ตายแล้วไปเกิดเป็นเปรต ท่านเชื่อว่าเป็นเปรตแน่ ไม่ได้เห็นตัว ได้ยินแต่เสียง มาทำงานเหมือนตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ เหตุที่ท่านเชื่อเช่นนั้น เพราะโยมพ่อของท่าน เป็นผู้รักเมียรักลูกอย่างมาก หวังที่จะให้ตัวท่านเรียนถึงปริญญาเอก แต่โยมพ่อท่านก็มาตายเสียก่อน


ตัวท่านเองก็เลยจบแค่ป.๔ พอมาบวชจึงได้เรียนจนได้เปรียญ ๙ โยมพ่อของท่านเป็นโรคอหิวาตกโรคตาย ก่อนตายโยมพ่อท่านได้ทำงานค้างไว้หลายอย่าง จึงเกิดความเป็นห่วงหรือโลภะ ท่านว่าคนที่ตายแล้วโลภะจะต้องไปเกิดเป็นเปรตทุกคน

ท่านเองพร้อมด้วยญาติๆ ทุกคนในบ้าน ได้ยินเสียงโยมพ่อมาทำงานทุกคืน และเดือนก็หงายสว่าง แต่มองไปไม่เห็นตัว ผู้ที่มองเห็นก็คือหมาในบ้าน มันหอนอย่างโหยหวน ท่านเล่าว่าโยมแม่ได้ทำบุญถวายสังฆทาน แล้วอุทิศส่วนบุญไปให้ ตั้งแต่วันนั้นก็ไม่มาอีกเลย


ได้เล่าเรื่องเปรตโยมพ่อเจ้าคุณ ซึ่งเป็นเปรตนอกตำรามาแล้ว ก็ขอเล่าเรื่องเปรตนอกตำรา ที่ประสบกับตนเองไว้สักเรื่อง ส่วนว่าจะจริงหรือเท็จ ผู้เขียนไม่รับรอง แต่ส่วนตัวแล้วก็เชื่อ ๕๐-๕๐ เรื่องมีอยู่ว่า

เมื่อสมัยที่ผู้เขียนยังเป็นบุรุษไปรษณีย์ ประจำอยู่ที่ไปรษณีย์กลางบางรัก กทม. เมื่อราว ๒๐ กว่าปีมาแล้ว วันนั้นเกิดนึกอย่างไรไม่ทราบ ได้นึกถึงโยมเตี่ยที่ตายไปแล้ว ที่มีแต่ความลำบากตลอดชีวิต บุญทานการกุศลต่างๆ ก็ไม่เคยเห็นท่านทำเลย เวลาท่านตายก็ตายอย่างน่าอนาถ


ท่านป่วยเป็นโรคปอดเรื้อรัง ได้เข้ามารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลกลาง และตายอย่างผีไม่มีญาติ สมัยนั้นศพไม่มีญาติ เขาจะนำเอาศพไปฝังไว้ที่ป่าช้า วัดพลับพลาชัย และผู้เขียนก็แยกกับท่านตั้งแต่ยังเล็กๆ พอเป็นหนุ่มใกล้จะบวชพระ ได้เดินทางเข้ามากทม. และไปสืบหา เขาก็ว่าได้ล้างป่าช้าไปนานแล้ว ด้วยความสำนึกว่าอย่างไรเสีย เตี่ยจะต้องได้รับความลำบากแน่

คืนนั้นหลังไหว้พระแล้ว ก็ได้อธิษฐานจิตว่า ถ้าโยมเตี่ยและโยมแม่ไปเกิดอยู่ที่ไหน ขอให้มาเข้าฝันบอกด้วย จะได้ทำบุญไปให้ หลังจากนั้นไม่ทราบว่ากี่คืน ก็ได้ฝันเห็นโยมเตี่ย

ในฝันว่า ตัวท่านเล็กนิดเดียวแต่มีตะปูตำทั้งตัว นอนบิดตัวร้องครวญครางตลอด ผู้เขียนก็เรียกท่านว่า “เตี่ยๆๆ” ท่านก็ไม่รู้สึกตัว จนกระทั่งตกใจตื่นขึ้น ใจเต้นแรงมาก ทั้งกลัวและทั้งสงสาร

เช้ามืดวันนั้น ออกมาทำงานแต่เช้า นั่งรถผ่านมาทางปากครอกจันทร์ เลยลงไปซื้อข้าว ๑ ถ้วย กับ ๑ อย่าง ยืนรอพระที่นั้น สักครู่ก็มีพระบิณฑบาตเดินผ่านมา จึงได้ใส่บาตรและอุทิศส่วนบุญไปให้ ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่เคยฝันอีกเลย

L55.png

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๒๔

เหตุที่เกิดเป็นหญิงแพศยา

L56.1.png



เล่ากันว่า พระอัฑฒกาสีเถรี ในสมัยศาสนาของพระพุทธเจ้า พระนามว่า กัสสปะ เธอเกิดในเรือนตระกูล พอรู้ความแล้วได้ไปฟังธรรมในสำนักของภิกษุณีทั้งหลาย มีศรัทธาแล้วได้ออกบวช แต่ท่านได้ด่าพระเถรีผู้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งว่า อีแพศยา

เมื่อท่านได้ทำกาละในชาตินั้น ก็ต้องไปหมกไหม้อยู่ในนรกจนถึงพุทธกาลนี้ ท่านได้มาเกิดในตระกูลเศรษฐีมีสมบัติมากในแคว้นกาสี แต่พอเจริญวัยแล้วก็ตกจากตระกูล มาเป็นหญิงแพศยา (โสเภณี) มีชื่อว่า อัฑฒกาสี


ครั้นต่อมา มีศรัทธาปรารถนาจะไปอุปสมบทเป็นภิกษุณี ในสำนักของพระศาสดาที่นครสาวัตถี แต่พอพวกนักเลงรู้ข่าวว่าเธอจะเดินทางไป เขาก็ไปดักจะปล้นกลางทาง เธอจึงส่งทูตไปบวชแทน พระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่อง จึงทรงอนุญาตให้ทำการบวชโดยทูต พอบวชแล้วไม่นาน ท่านได้เจริญวิปัสสนาบรรลุพระอรหัต พร้อมทั้งปฏิสัมภิทาทั้งหลาย มีบันทึกไว้ในอุปทานว่า

“ในภัทรกัปนี้ มีพระพุทธเจ้าเผ่าพงศ์พรหมมียศมาก พระนามว่ากัสสปะ ประเสริฐกว่าพวกบัณฑิตเสด็จอุบัติแล้ว ครั้งนั้น ข้าพเจ้าบวชในศาสนาของพระพุทธเจ้านั้น สำรวมในปาฏิโมกข์และอินทรีย์ ๕ รู้ประมาณในอาหาร ประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่ บำเพ็ญเพียรอยู่


ข้าพเจ้ามีใจชั่ว ด่าภิกษุณีผู้ปราศจากอาสวะ (กิเลส) ได้กล่าวในคราวนั้นว่า อีแพศยา ข้าพเจ้าต้องหมกไหม้อยู่ในนรกเพราะบาปกรรมนั้น ข้าพเจ้าได้เกิดในสกุลหญิงแพศยา ต้องอาศัยคนอื่นเขามากทีเดียว

และในชาติหลัง ข้าพเจ้าเกิดในตระกูลเศรษฐีแคว้นกาสี มีรูปสมบัติเหมือนอัปสรในเทวโลก ด้วยผลแห่งพรหมจรรย์ มหาชนเห็นข้าพเจ้าน่าทัศนา จึงตั้งไว้ในตำแหน่งหญิงแพศยาประจำกรุงราชคฤห์อันอุดม เพราะผลที่ข้าพเจ้าด่าภิกษุณี

ข้าพเจ้าได้ฟังพระสัทธรรมอันประเสริฐ ที่พระพุทธเจ้าตรัสแล้วสมบูรณ์ด้วยบุพวาสนา ได้บวชเป็นภิกษุณี เมื่อเดินทางไปเฝ้าพระพิชิตมารเพื่อจะอุปสมบท ทราบข่าวพวกนักเลงดักอยู่กลางทาง จึงได้อุปสมบทโดยทูต กรรมทุกอย่างทั้งบุญและบาปหมดสิ้นไปแล้ว ข้าพเจ้าพ้นสงสารทั้งปวงแล้ว ความเป็นหญิงแพศยาก็สิ้นไปแล้ว


ข้าแต่พระมหามุนี ข้าพเจ้ามีความชำนาญในอิทธิฤทธิ์ทั้งหลาย และในทิพโสตธาตุ มีความชำนาญเจโตปริยญาณ ข้าพเจ้ารู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณและทิพยจักษุอันหมดจดวิเศษ มีอาสวะทั้งปวงสิ้นแล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มี”


อรรถกถาอัฑฒกาสีเถรีคาถา

พระไตรปิฎกและอรรถกถา เล่ม ๕๔ หน้า ๕๒

L55.png

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๒๕

เศรษฐีขี้เหนียว

L56.1.png


พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภเศรษฐีชื่ออาคันตุกะ ผู้มีชีวิตเป็นอยู่อย่างคนยากจน ดังนี้

ในพระนครสาวัตถี มีเศรษฐีคนหนึ่งที่ชื่อว่า อาคันตุกะ เขาเป็นคนมั่งมีทรัพย์มาก แต่ไม่ยอมให้แก่ผู้อื่นด้วย เมื่อมีผู้นำเอาอาหารที่ประณีตมีรสอร่อยต่างๆ มาให้ เขาจะไม่รับประทานอาหารนั้น แต่จะรับประทานเฉพาะปลายข้าว โดยมีน้ำผักดองเป็นกับข้าว ๒ อย่างเท่านั้น

เมื่อมีผู้นำผ้าเนื้อดีจากแคว้นกาสี ที่รีดและอบมาให้ เขาก็จะให้นำเอาไป จะนุ่งห่มก็แต่ผ้าเนื้อหยาบกระด้างเท่านั้น เมื่อเขานำรถที่ตระการไปด้วยแก้วแกมทอง อันเทียมด้วยม้ามาให้ ก็ให้นำเอารถนั้นออกไป แต่จะใช้รถเล็กที่ทำด้วยไม้ธรรมดา

เมื่อเขากั้นฉัตรทองให้ ก็ให้เขาเอาฉัตรทองนั้นออกไป แต่จะกั้นด้วยฉัตรที่ทำจากใบไม้แทน ตลอดชีวิตของเขาไม่เคยทำบุญเลยแม้แต่อย่างเดียว เมื่อเขาถึงแก่กรรมแล้ว จึงได้ไปเกิดในขุมนรก พระราชาทรงให้ขนสมบัติที่ไม่มีบุตรรับมรดกของเศรษฐีนั้น เข้าไปเป็นของหลวงทั้งหมด ต้องใช้เวลาจนถึง ๗ วันจึงหมด เพราะมีสมบัติมากมาย

พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงบัญชาให้ขนทรัพย์สมบัติของท่านเศรษฐีขี้เหนียวเข้าท้องพระคลังหลวงเสร็จแล้ว ได้ทรงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วได้กราบทูลว่า


“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เศรษฐีชื่ออาคันตุกะในพระนครสาวัตถีได้ถึงแก่กรรมแล้ว เศรษฐีนั้นมีสมบัติมากมาย แต่ก็ไม่ได้ใช้สอยด้วยตนเอง และไม่ยอมให้ผู้อื่นใช้ด้วย ทรัพย์ของเขาจึงเป็นเสมือนสระโบกขรณีที่ผีเสื้อยักษ์หวงแหนไว้ วันเดียวก็ไม่ได้เสวยรสอันประณีตจากโภชนะ ตนก็ต้องเข้าไปสู่ปากมัจจุราชเสียแล้ว

คนผู้ไม่มีบุญ และมีความตระหนี่อย่างนี้ เขาได้ทำกรรมอะไรไว้จึงได้มีทรัพย์มากมายอย่างนี้ และด้วยเหตุอะไรจิตของเขา จึงไม่ยินดีใช้สอยทรัพย์และบริโภคโภชนะพระเจ้าข้า?


พระศาสดาตรัสว่า “ขอถวายพระพรมหาบพิตร เศรษฐีนั้นได้ทำเหตุให้ได้ทรัพย์ ๑ และที่ได้ทรัพย์มาแล้วไม่ใช้สอย ๑” ทรงนำเอาอดีตกรรมของเศรษฐีมาตรัสว่า เมื่ออดีตกาลท่านเศรษฐีได้เกิดในเมืองพาราณสี เขาไม่มีศรัทธา และมีความตระหนี่ไม่ให้อะไรแก่ใคร และไม่สงเคราะห์ใคร

วันหนึ่ง ขณะที่เขากำลังเดินทางจะไปเฝ้าพระราชา ได้พบพระปัจเจกพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า ตครสิขี กำลังเดินบิณฑบาตอยู่ เขาไหว้แล้วทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ได้อาหารแล้วหรือ?”


พระปัจเจกพุทธเจ้าตรัสว่า “ท่านมหาเศรษฐี อาตมภาพกำลังเดินไปเรื่อยๆ มิใช่หรือ?” นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยังไม่ได้อาหาร เศรษฐีจึงได้บังคับชายคนหนึ่งให้พาพระปัจเจกพุทธเจ้าไปที่บ้านของตน ให้เขาบรรจุภัตตาหารให้เต็มบาตรแล้วถวายท่านไป

ชายผู้นั้นได้นำพระปัจเจกพุทธเจ้าไปที่บ้านเศรษฐี ให้ท่านประทับนั่ง แล้วให้ภรรยาเศรษฐีจัดภัตตาหารให้ ภรรยาเศรษฐีได้บรรจุอาหารอันประณีต มีรสเลิศนานาชนิดให้จนเต็มบาตร แล้วถวายท่านไป


เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าออกเดินมาตามถนน ก็ได้พบเศรษฐีซึ่งกำลังเดินทางกลับมาจากการเข้าเฝ้าพระราชาพอดี เศรษฐีเห็นพระองค์แล้วทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ได้รับภัตตาหารแล้วหรือ?” พระปัจเจกพุทธเจ้าตรัสตอบว่า “ได้แล้ว ท่านมหาเศรษฐี”

ท่านเศรษฐีได้แลดูในบาตรของพระองค์แล้ว ไม่อาจทำจิตให้เลื่อมใสได้ เกิดความเสียดายคิดว่า “ภัตตาหารของเรานี้ ถ้าให้ทาสหรือกรรมกรของเรากินแล้ว ก็ยังจะได้แรงงานบ้าง น่าเสียดายหนอ! เราเสื่อมเสียทรัพย์สินเปล่าแล้วหนอ”


ท่านเศรษฐีไม่อาจทำอปรเจตนา คือเจตนาหลังจากให้ทานแล้วให้บริบูรณ์ได้ ธรรมดาทานนั้น เมื่อบุคคลให้ทานด้วยเจตนาในการให้ทาน ๓ กาลคือ ก่อนให้ กำลังให้ และหลังจากให้แล้ว มีจิตเลื่อมใสตลอดทั้ง ๓ กาลดีย่อมจะมีผลมาก

พระศาสดาตรัสว่า
“ขอถวายพระพรมหาบพิตร อาคันตุกะเศรษฐีได้รับทรัพย์มาก เพราะได้ถวายอาหารพระปัจเจกพุทธเจ้า แต่ที่ไม่อาจใช้สอยทรัพย์สมบัติได้ เพราะไม่อาจทำอปรเจตนาให้สมบูรณ์ คือเจตนาหลังจากให้ทานแล้วเกิดเสียดายขึ้นมา


พระราชาทูลถามอีกว่า “ก็เหตุไฉนเขาจึงไม่มีบุตรเล่า พระเจ้าข้า?”

พระพุทธเจ้าตรัสว่า
“ขอถวายพระพรมหาบพิตร แม้เหตุแห่งการไม่มีบุตร เขาก็ได้ทำเหตุไว้แล้ว” เมื่อพระราชาทรงทูลอ้อนวอน จึงได้ทรงนำเอาอดีตชาติของอาคันตุกะเศรษฐีมาตรัสเล่า ดังนี้


ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสด็จครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลเศรษฐีมีสมบัติ ๘๐ โกฏิ เมื่อเติบใหญ่แล้ว มารดาบิดาได้ล่วงลับไปแล้ว เพื่อจะได้มัดจิตใจของน้องชายไว้ จึงให้สร้างโรงทานไว้ที่ประตูเรือน ให้มหาทานไปครองเรือนไป

ต่อมาท่านมีบุตรชายคนหนึ่ง พอเวลาลูกเดินได้ ท่านได้เห็นโทษในกามทั้งหลาย เห็นอานิสงส์ในการออกบวช จึงได้มอบสมบัติทั้งหมดให้น้องชายพร้อมทั้งลูกและเมีย แล้วให้โอวาทว่า “น้องจงอย่าประมาท จงให้ทานต่อไปเถิด”

พระโพธิสัตว์ได้ออกบวชเป็นฤษี ทำฌานและอภิญญาให้เกิดขึ้นแล้วที่ป่าหิมพานต์ ฝ่ายน้องชายก็ได้มีลูก ๑ คน เขาเกิดความคิดว่า เมื่อลูกของพี่ชายยังอยู่ สมบัติจะต้องถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน จึงคิดที่จะฆ่าลูกของพี่ชายเสีย


วันหนึ่ง เขาจึงชวนลูกของพี่ชายไปอาบน้ำที่แม่น้ำ เมื่อได้มีโอกาสจึงเอาหลานถ่วงน้ำจนตายไป เมื่อภรรยาถามถึงลูกที่เขาพาไปอาบน้ำว่าไปไหนเสีย? เขาก็แก้ว่าเด็กว่ายน้ำเล่นแล้วก็หายไป ค้นหาไม่พบ นางก็ได้แต่ร้องไห้ แล้วก็ปลงลงจึงนิ่งเฉยเสีย

พระโพธิสัตว์ทราบเหตุนั่นแล้ว จึงได้เหาะมาทางอากาศยืนที่ประตูเรือนไม่เห็นโรงทาน แม้เพียงโรงทานอสัตบุรุษผู้นี้ก็ล้มเลิกเสียแล้ว เมื่อน้องชายรู้ว่าพี่ชายมา ก็ลงมาไหว้นิมนต์ให้ขึ้นปราสาท ให้ฉันโภชนะอันประณีต เสร็จภัตตกิจแล้ว พระโพธิสัตว์ได้ถามว่า “หลานชายไปไหนเสียแล้ว?”


น้องชายตอบว่า “เขาตายไปแล้วครับท่าน” พี่ชายซักต่อไปว่า “เขาตายด้วยโรคอะไร” น้องชายตอบว่า “เขาเล่นน้ำแล้วหายไปครับ” พระโพธิสัตว์ว่า “อสัตบุรุษเอ๋ย! เจ้าไม่รู้หรือว่า สิ่งที่เจ้าทำนั้นเรารู้แล้ว เจ้าฆ่าเด็กเพราะความโลภมิใช่หรือ?”

พระโพธิสัตว์ได้แสดงธรรมด้วยลีลาว่า “นกเขาชื่อมัยหกะ บินไปเกาะที่ต้นเลียบ ซึ่งมีผลสุกแล้วร้องว่าของกูๆ เมื่อกำลังร้องอยู่ ฝูงนกที่บินมารวมกัน พากันกินผลเลียบแล้วบินหนีไป มันก็ยังคงร้องอยู่นั่นเองฉันใด?


บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน รวบรวมทรัพย์สมบัติไว้มากมาย ตนเองก็ไม่ได้ใช้สอยเลย และไม่มอบส่วนแบ่งแก่ญาติทั้งหลายด้วย เขาไม่ใช้สอยผ้านุ่งผ้าห่ม ไม่รับประทานภัตตาหาร ไม่ทัดทรงดอกไม้ ไม่ลูบไล้เครื่องลูบไล้ ไม่ใช้อะไรสักครั้งเดียว และไม่สงเคราะห์ญาติทั้งหลาย

เมื่อบ่นเพ้ออยู่อย่างนี้ว่า ของกู ของกู หวงแหนไว้ ภายหลังพระราชาบ้าง โจรบ้าง ทายาทผู้ไม่เป็นที่รักบ้าง เอาทรัพย์ไป คนนั้นก็ยังบ่นเพ้ออยู่อย่างนั้นแหละ ส่วนผู้มีปรีชาใช้สอยเองด้วย และสงเคราะห์ญาติด้วย ด้วยการสงเคราะห์นั้น เขาย่อมได้รับเกียรติ เมื่อละจากโลกนี้ไปแล้ว ก็ย่อมจะบันเทิงในสวรรค์


อรรถกถามัยหกสกุณชาดก

พระไตรปิฎกและอรรถกถา เล่ม ๕๙ หน้า ๑๖๑

L55.png


Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๒๖

ทำอย่างไรได้อย่างนั้น

L56.1.png



พระพุทธเจ้า เมื่อประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน กรุงสาวัตถี ได้ทรงปรารภถึงนางเปรต ซึ่งเคยเป็นช่างทอผ้าคนหนึ่ง ดังนี้

ในครั้งนั้นมีภิกษุประมาณ ๑๒ รูป เรียนพระกรรมฐานจากพระพุทธเจ้าแล้ว ได้พิจารณาถึงสถานที่อันเหมาะสมแก่การอยู่จำพรรษา เมื่อใกล้เข้าพรรษา ได้เห็นราวป่าอันน่ารื่นรมย์แห่งหนึ่ง สมบูรณ์ด้วยร่มเงาต้นไม้ แหล่งน้ำสะดวก และสถานที่ออกบิณฑบาตก็อยู่ไม่ไกลนัก จึงพากันพักที่นั่นคืนหนึ่ง

ครั้นรุ่งขึ้นจึงไปบิณฑบาตยังหมู่บ้านช่างทอผ้า ๑๑ คน ซึ่งอาศัยอยู่ในหมู่บ้านนั้น ช่างทอผ้าเหล่านั้นเห็นภิกษุแล้ว ก็เกิดความยินดีจึงนิมนต์มายังเรือนของตน เมื่อถวายอาหารแล้วก็ได้ถามความประสงค์ ทราบว่าท่านกำลังหาที่พักจำพรรษา จึงได้พร้อมใจกันนิมนต์ ให้พักจำพรรษาในที่นั้น


โดยอุบาสกและอุบาสิกา ๑๐ คน รับที่จะสร้างกุฏิให้ท่านพักองค์ละหลัง ส่วนหัวหน้าช่างทอผ้าคนเดียวรับสร้าง ๒ หลัง จึงครบภิกษุ ๑๒ รูป และแต่ละคนนั้นก็พากันอุปถัมภ์คนละรูป ฝ่ายภรรยาของหัวหน้าช่างทอผ้า นางไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส เป็นคนตระหนี่และเป็นมิจฉาทิฐิไม่ให้ความร่วมมือในการอุปถัมภ์พระ สามีจึงต้องไปนำน้องสาวของภรรยามาช่วย

ฝ่ายน้องเมียมีความเคารพศรัทธาเลื่อมใสพระ เขาจึงมอบความเป็นใหญ่ในการเลี้ยงพระให้นาง และนางก็ได้จัดการอย่างเรียบร้อย ช่างทอผ้าทั้งหมดต่างก็พากันถวายผ้าสาฎกแก่ภิกษุผู้จำพรรษาเหล่านั้นรูปละผืน

ฝ่ายภรรยาของหัวหน้าช่างทอผ้า ผู้มีความตระหนี่ มีจิตชั่วร้าย ด่าว่าสามีของตนว่า ทานคือข้าวและน้ำ ที่ท่านให้แก่ภิกษุเหล่านี้ จงเป็นอุจจาระ ปัสสาวะ หนองและเลือดในโลกหน้า และผ้าสาฎกก็จงเป็นแผ่นเหล็กลุกโพลงเถิด

ในกาลต่อมา คนเหล่านั้นก็ได้ถึงแก่กรรมทั้งหมด โดยช่างทอผ้าหัวหน้าไปเกิดเป็นรุกขเทวดาที่มีอานุภาพในดงไฟไหม้ ส่วนภรรยาของเขาไปเกิดเป็นนางเปรต อยู่ในที่ไม่ไกลจากรุกขเทวดานั่นเอง นางเปรตเปลือยกายรูปร่างขี้เหร่ มีความหิวกระหาย จึงไปหารุกขเทวดาผู้เป็นอดีตสามี แล้วกล่าวว่า

“นาย! ฉันไม่มีผ้านุ่งห่ม และหิวกระหายเหลือเกิน ขอท่านจงให้ผ้า ให้ข้าวและน้ำแก่ฉันด้วยเถิด” ฝ่ายรุกขเทวดาจำนางได้ เกิดความสงสาร จึงได้เอาผ้า ข้าวและน้ำไปให้นางเปรตกิน อาหารทิพย์เหล่านั้นก็กลายเป็นอุจจาระ ปัสสาวะ หนองและเลือดไปในทันที พอเอาผ้าสาฎกไปให้นางนุ่งห่ม ผ้านั้นก็กลายเป็นแผ่นเหล็กที่ลุกแดงในทันที นางเปรตได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัสรับสลัดผ้าทิ้งในทันทีแล้วก็วิ่งร้องคราญคราวต่อไป

ในสมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งออกพรรษาแล้ว จึงเดินทางเพื่อจะไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พอเดินทางมาถึงดงไฟไหม้พร้อมกับหมู่เกวียน จึงพักอยู่ในดงไฟไหม้นั้น โดยท่านหลีกไปพักโคนต้นไม้วิเวกแห่งหนึ่ง ปูสังฆาฏิลงแล้วก็นอนหลับไป หมู่เกวียนก็เดินทางต่อไป


ฝ่ายภิกษุนอนพักเหนื่อยไปตื่นหนึ่ง พอตื่นขึ้นมาก็ไม่เห็นหมู่เกวียน จึงเดินทางหลงเข้าไปถึงที่อยู่ของรุกขเทวดา รุกขเทวดาเห็นภิกษุแล้วก็แปลงรูปเป็นคน เข้าไปหาภิกษุนั้นกระทำปฏิสันถาร นิมนต์ให้เข้าไปยังวิมานของตน ถวายยาทาเท้า เป็นต้น

ในขณะนั้นนางเปรตก็ได้เข้าไปหาเทวดา ขอข้าว น้ำ และผ้าอีก เขาจึงเอาข้าว น้ำ และผ้ายื่นให้นาง พอนางรับข้าวก็กลายเป็นอุจจาระ น้ำก็กลายเป็นปัสสาวะ หนองและเลือด ส่วนผ้าก็กลายเป็นแผ่นเหล็กที่ลุกโชน


ภิกษุเห็นดังนั้นก็เกิดความสลดใจ จึงได้ถามถึงสาเหตุในอดีตชาติ เทวบุตรนั้น ครั้นได้แสดงกรรมในชาติก่อนของนางจบลงแล้ว จึงกล่าวแก่ภิกษุนั้นว่า “ท่านขอรับ! ท่านมีอุบายอะไรที่จะทำให้นางเปรตพ้นสภาพนี้ได้บ้างหรือไม่?”

ภิกษุนั้นจึงกล่าวว่า “มีอยู่อุบาสก! ถ้าท่านถวายทานแด่พระพุทธเจ้า แก่พระอริยสงฆ์หรือแก่ภิกษุรูปเดียวก็ได้ แล้วอุทิศผลแก่นางเปรตนี้ และนางเปรตได้รับอนุโมทนา นางเปรตก็ย่อมจะพ้นสภาพนี้ได้” ฝ่ายเทวบุตรนั้น จึงได้ถวายข้าวและน้ำอันประณีตแก่ภิกษุนั้น แล้วก็ได้อุทิศผลนั้นแก่นางเปรต


ในทันใดนั้นเอง นางเปรตนั้นก็มีจิตใจเอิบอิ่ม มีร่างกายผ่องใส กระปรี้กระเปร่าอิ่มด้วยอาหารอันเป็นทิพย์ เทวบุตรได้ถวายคู่ผ้าทิพย์ในมือของภิกษุนั้น โดยอุทิศแด่พระพุทธเจ้าและอุทิศผลนั้นแก่นางเปรต ในขณะนั้นเองนางก็นุ่งผ้าทิพย์ ประดับเครื่องประดับอันเป็นทิพย์พรั่งพร้อมด้วยสิ่งที่ปรารถนาทั้งปวง นางได้กลายเป็นเทพอัปสร

ฝ่ายภิกษุนั้นก็ได้เดินทางไปถึงกรุงสาวัตถี ด้วยอานุภาพของเทวดาจึงได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าในพระเชตวัน ถวายบังคมแล้วถวายคู่ผ้าสาฎก และกราบทูลความนั้นทั้งหมด พระพุทธเจ้าได้ทรงนำเรื่องนี้เป็นเหตุ แล้วแสดงพระธรรมเทศนาแก่พุทธบริษัทที่มาประชุมกัน เรื่องของเทวบุตรและนางเปรตได้เป็นประโยชน์แก่มหาชนแล้ว


อรรถกถามหาเปสการเปติวัตถุ

L55.png

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๒๗

โทษของการทำแท้ง

L56.1.png


พระพุทธเจ้า เมื่อประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน กรุงสาวัตถี ได้ทรงปรารภถึงนางเปรตตนหนึ่ง ที่เคี้ยวกินลูกของตน ดังนี้

ในกรุงสาวัตถี ได้มีภรรยาของกุฎุมพีคนหนึ่ง ซึ่งอยู่ในหมู่บ้านไม่ไกลจากกรุงสาวัตถีมากนัก นางเป็นหญิงหมัน พวกญาติของสามีกล่าวกันว่าภรรยาของเจ้าเป็นหมัน พวกเราจะนำหญิงสาวอื่นมาให้เจ้า แต่ด้วยความรักที่มีต่อภรรยามาก เขาจึงไม่ต้องการ

ฝ่ายภรรยาเมื่อทราบดังนั้น จึงได้กล่าวกับสามีว่า
“คุณพี่จ๋า ดิฉันเป็นหมัน ไม่อาจจะให้บุตรแก่คุณพี่ได้ พี่ควรจะนำหญิงอื่นมาเป็นภรรยา วงศ์ตระกูลของเราจะได้ไม่ขาดสูญ”

ฝ่ายสามีจึงเห็นด้วย โดยไปหาหญิงสาวมาเป็นภรรยาน้อย อยู่มาไม่นานนักภรรยาน้อยก็ตั้งท้อง พอหญิงหมันรู้ก็เกิดความริษยา เกรงว่าเมียน้อยจะเป็นใหญ่ในเรือน และผัวจะรักเมียน้อยมากกว่าตน จึงคิดวางแผนจะทำให้ครรภ์ของนางตกไป โดยไปเกลี้ยกล่อมนางปริพาชกคนหนึ่งให้ช่วยทำครรภ์ของเมียน้อยให้ตก และเมียน้อยก็ครรภ์ตกไป


นางจึงไปเล่าให้แม่ของตนทราบ ฝ่ายแม่ของเมียน้อยเมื่อรู้ว่า ครรภ์ของลูกสาวตกไป เพราะแผนของเมียหลวง จึงได้ประชุมพวกญาติแล้วกล่าวโทษเมียหลวง ส่วนเมียหลวงไม่ยอมรับว่าตนวางแผน เขาถึงให้นางสบถสาบาน นางจึงกล่าวว่า

“ถ้าฉันทำครรภ์ให้ตก ขอให้ฉันตายไปสู่ทุคติ เป็นอยู่ด้วยหิวโหย ขอให้ฉันคลอดบุตรทั้งเวลาเย็นและเช้าครั้งละ ๔ คน แล้วก็กินลูกเสียก็ยังไม่อิ่ม ขอให้ฉันมีกลิ่นตัวเหม็นอยู่เป็นนิตย์ และถูกแมลงวันไต่ตอมเถิด” อยู่ไม่นานนางก็ทำกาละ แล้วไปเกิดเป็นเปรต มีรูปร่างขี้เหร่อยู่ไม่ไกลบ้านเดิมนั้นเอง

ในสมัยนั้นมีพระเถระ ๘ รูป เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านก็พากันเดินทางมายังกรุงสาวัตถี เพื่อจะเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าตามธรรมเนียม จึงเดินทางผ่านมาทางนั้น ท่านเห็นว่าราวป่าใกล้บ้านของหญิงนั้น เป็นป่าไม้ร่มรื่นและน้ำท่าสมบูรณ์ จึงพร้อมใจกันพักในป่านั้นก่อน


ฝ่ายนางเปรตนั้น จึงได้แสดงตนให้พระเถระเหล่านั้นเห็น พระเถระจึงได้ถามบุพกรรมของนาง นางเปรตจึงได้เล่าให้ฟัง ดังปรากฏเรื่องราวข้างต้น และได้เล่าถึงผลแห่งบาปกรรม ที่ทำให้เมียน้อยต้องแท้งลูก และตนได้รับผลในปัจจุบันว่า

“ท่านผู้เจริญ ดิฉันเป็นเปรตถึงทุคติ เกิดในยมโลก เพราะกระทำกรรมชั่วไว้ จึงต้องจากโลกนี้ไปสู่เปตโลก เวลาเช้าดิฉันคลอดบุตร ๕ คน เวลาเย็นดิฉันคลอดบุตรอีก ๕ คน แล้วก็กินลูกเหล่านั้นทั้งหมด แม้จะกินลูกถึงวันละ ๑๐ คน ก็ไม่อาจจะระงับความหิวได้ หัวใจของดิฉันเร่าร้อนหมกหมุ่นเพราะความหิว ดิฉันไม่ได้ดื่มที่ควรดื่ม ขอพระคุณเจ้าจงดูดิฉันผู้ถึงความวอดวายเช่นนี้เถิด

นางเปรตได้กล่าวเพิ่มเติมประวัติข้างต้นอีกว่า “เมื่อชาติก่อน มีหญิงร่วมผัวของดิฉันอีกคนหนึ่ง นางมีครรภ์ ดิฉันคิดชั่วต่อเขา มีจิตคิดประทุษร้าย ได้กระทำครรภ์ของเขาให้ตกไป เขามีครรภ์ ๒ เดือนเท่านั้น ก็ไหลออกเป็นเลือด


ในกาลนั้น มารดาของเขาโกรธดิฉันมาก จึงได้เชิญพวกญาติมาประชุมและซักถาม ให้ดิฉันทำการสบถ และขู่เข็ญให้ดิฉันกลัว ดิฉันจึงได้กล่าวคำสบถและกล่าวมุสาวาทอย่างร้ายกาจว่า

ถ้าดิฉันทำชั่วดังนั้น ก็ขอให้ดิฉันกินเนื้อบุตรเถิด ดิฉันจึงมีกายเปื้อนด้วยหนองและเลือด กินเนื้อบุตรทั้งหลาย เพราะวิบากแห่งกรรม คือการทำครรภ์ให้ตก และพูดมุสาวาททั้ง ๒ นั้น


ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ดิฉันเป็นอดีตภรรยาของกุฎุมพีในหมู่บ้านนี้เอง ดิฉันขอโอกาสเถิด ขอท่านทั้งหลายจงไปที่เรือนของกุฎุมพีนี้ เมื่อเขาเห็นท่าน เขาก็จะพึงถวายทาน และเมื่อเขาถวายทานแล้ว ขอให้เขาจงอุทิศผลแห่งทานนั้นแก่ดิฉันด้วย ด้วยผลแห่งบุญนั่น ย่อมจะทำให้ดิฉันพ้นจากสภาพเปรตในอัตภาพนี้ได้”

พระเถระเหล่านั้นได้รับคำของนาง และมีจิตคิดอนุเคราะห์นาง จึงไปยังเรือนของกุฎุมพี แจ้งเรื่องราวทั้งหมดให้เขาทราบ อดีตสามีก็มีความเลื่อมใสยินดีรับบาตร และนิมนต์ให้พระเถระเหล่านั้นนั่ง ให้ฉันอาหารอันประณีต


ครั้นฉันเสร็จแล้วก็อนุโมทนา กุฎุมพีก็อุทิศทานนั้นแก่นางเปรต ในขณะนั้นเอง สมบัติทิพย์ก็ได้ปรากฏแก่นางเปรต คือ พ้นจากสภาพเปรตไปเป็นเทพธิดา ได้ไปปรากฏตัวต่อกุฎุมพีในคืนนั้นเอง

พระเถระได้เดินทางจนถึงพระเชตวัน และกราบทูลเรื่องทั้งหมดแก่พระพุทธเจ้า และพระพุทธเจ้าก็ได้นำมาแสดงต่อพุทธบริษัทในที่ประชุมมหาชนได้รับทราบจึงเกิดความสลดใจ พากันงดเว้นจากความริษยาและตระหนี่ พระธรรมเทศนานั้น จึงได้ก่อประโยชน์แก่มหาชนด้วยประการฉะนี้แล


อรรถกถาปัญจปุตตขาทกวัตถุ

L55.png


Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๒๘

ยอดของผู้เสื่อมลาภ

L56.1.png



พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร
กรุงสาวัตถี ทรงปรารภพระโลสกติสสเถระ ผู้เป็นยอดแห่งภิกษุผู้เสื่อมลาภ อันพระภิกษุรูปนี้ท่านมีประวัติ ดังนี้

พระโลสกติสสเถระ ท่านเกิดในตระกูลของชาวประมงนางหนึ่งในแคว้นโกศล ในคราวที่ท่านถือปฏิสนธิ คือกำลังอยู่ในท้องนั้น ทำให้แม่ของท่านและชาวประมงในหมู่บ้านนั้นถูกไฟไหม้บ้าน ๗ ครั้ง และถูกพระราชาปรับค่าสินไหมถึง ๗ ครั้งอีกด้วย ชาวหมู่บ้านจึงพากันเดือดร้อนทุกครัวเรือน


มหาชนในหมู่บ้านต่างพากันคิดว่า เมื่อก่อนพวกเราไม่เคยได้รับภัยพิบัติเช่นนี้ ชะรอยว่าในหมู่พวกเรานี้น่าจะมีคนกาลกิณี (กาลกรรณี) เกิดขึ้นแล้วเป็นแน่ เมื่อปรึกษาตกลงกันแล้ว จึงได้พร้อมใจกันแยกออกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายละ ๕๐๐ ครอบครัว จาก ๕๐๐ แยกออกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายละ ๒๕๐ ครอบครัว จาก ๒๕๐ ครอบครัว ย่อยลงมาจนเหลือ ๑ ครอบครัว จึงได้รู้ว่าผู้เป็นกาลกิณีคือตระกูลของโลสกติสสะ

มหาชนเหล่านั้นจึงพากันรุมโบยตีขับไล่ครอบครัวนี้ให้ออกไปจากหมู่บ้านนี้ ครอบครัวของท่านจึงต้องออกไปอยู่ที่อื่น และการหากินที่ฝืดเคืองมากต้องอดยากแร้นแค้นจนมารดาของท่านคลอด บิดามารดาของท่านก็ต้องอดทนรอให้ท่านโตจนพอเดินได้ แม่ของท่านจึงจำใจเอากระเบื้องใส่มือ พลางเสือกไสว่า “ลูกเอ๋ย เจ้าจงไปหากินเองเถิด แม่ทนไม่ไหวแล้ว” พูดแล้วแม่ก็หลบหนีไป


ท่านก็จำต้องถือกระเบื้องขอทานเขาไป อดมื้อกินมื้อเรื่อยไป ค่ำมืดที่ไหนก็หลับนอนไม่เป็นที่ น้ำท่าก็ไม่ได้อาบ ร่างกายจึงดูดุจปีศาจคลุกฝุ่น ต้องเลี้ยงชีวิตด้วยความลำเค็ญแสนสาหัส ท่านได้กลายเป็นเด็กจรจัด มีอายุได้ ๗ ขวบ ก็ต้องไปหากินเม็ดข้าวที่ชาวบ้านเขาล้างหม้อเททิ้งไว้ ต้องไปเก็บข้าวกินทีละเม็ดเหมือนกา ช่างน่าเวทนายิ่งนัก

ครั้งนั้น ท่านพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร ได้ออกบิณฑบาตในเมืองสาวัตถี ได้เห็นเด็กน้อยนี้แล้วเกิดความสงสารยิ่งนัก จึงแผ่เมตตาจิต แล้วเรียกว่า


“มานี่เถิด เจ้าเด็กน้อย”
เด็กน้อยมายืนไหว้พระเถระอยู่


พระเถระจึงได้ถามเขาว่า “เจ้าเป็นชาวบ้านไหน?” พ่อแม่ของเจ้าอยู่ที่ไหน?”
เด็กน้อยตอบว่า “ท่านขอรับ กระผมไร้ที่พึ่ง พ่อแม่ของกระผมพูดว่า เพราะกระผมทำให้ท่านต้องลำบาก ท่านจึงทิ้งกระผมแล้วหนีไปขอรับ”


พระเถระถามว่า “เออ ถ้าเช่นนั้นเธออยากบวชไหมเล่า”
เด็กน้อยตอบว่า “ท่านขอรับ กระผมน่ะอยากบวช แต่คนกำพร้าและอนาถาอย่างกระผมใครเขาจะบวชให้ล่ะขอรับ?”


พระเถระกล่าวว่า “เราจะบวชให้เธอเอง”

เด็กน้อยกล่าวว่า “สาธุ ท่านขอรับ โปรดเมตตาอนุเคราะห์ให้กระผมได้บวชเถิด”


ท่านพระสารีบุตรได้เมตตา ให้ของเคี้ยวของบริโภคแก่เขา แล้วก็ได้พาเขาไปวัด ท่านอาบน้ำให้เอง แล้วให้เขาบวชเณร พออายุครบบวชพระ ท่านก็บวชพระให้ มีชื่อต่อมาว่า “โลสกติสสเถระ”

พระโลสกติสสเถระ เป็นผู้ที่ไม่มีบุญทางลาภเสียเลย คือตั้งแต่เกิดมาจนบวชเป็นพระ ท่านไม่เคยฉันอาหารอิ่มท้องเลย แม้ในคราวที่มีการบริจาคมหาทานที่เรียกว่า "อสทิสทาน” คือ ทานอันยิ่งใหญ่ ท่านก็ยังได้ฉันไม่เต็มท้อง ได้ฉันเพียงต่อชีวิตไปวันๆ เท่านั้น


แม้คราวไปบิณฑบาต มีผู้จะใส่บาตรท่านเพียงกระบวยเดียว แต่บาตรของท่านก็ปรากฏเหมือนมีอาหารเต็มขอบบาตรแล้ว ผู้ใส่บาตรก็เลยไม่ใส่ เลยไปใส่บาตรพระรูปหลังๆ เป็นเช่นนี้อยู่เสมอมา ต่อมาท่านเจริญวิปัสสนาจนได้บรรลุพระอรหันต์ แม้กระนั้นท่านก็ยังเป็นผู้มีลาภน้อยฉันไม่อิ่มท้อง จึงทำให้สุขภาพของท่านทรุดโทรมมากจนถึงวันที่จะปรินิพพาน

ในวันที่ท่านจะปรินิพพานนั้น ท่านพระสารีบุตรรู้ว่าวันนี้ ท่านพระโลสกติสสเถระได้ฉันอาหารอิ่มสักวันหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรจึงได้พาท่านโลสกติสสเถระเข้าไปบิณฑบาตด้วยกันในเมืองสาวัตถี เพราะได้พาท่านไปด้วยจึงทำให้พระสารีบุตรพลอยอดไปด้วย ไม่มีแม้แต่คนที่ยกมือไหว้เอาเสียเลย


ท่านพระสารีบุตรจึงกล่าวว่า “อาวุโส เธอจงไปนั่งคอยผมอยู่ในโรงอาหารเถิด” พอส่งพระโลสกติสสเถระไปแล้วเท่านั้น มหาชนต่างพากันดีใจพากันพูดว่า “พระผู้เป็นเจ้าของเรามาแล้ว” ต่างพากันนิมนต์ให้นั่งฉันภัตตาหาร

พระสารีบุตรก็ได้ส่งอาหารที่ได้แล้วนั้นๆ ไปถวายพระโลสกติสสเถระ คนที่เอาอาหารไปส่งก็พากันลืมเสียเลยกินกันเองหมด เมื่อพระสารีบุตรมาถึงก็ได้ทราบว่าท่านยังไม่ได้ฉันอาหารเลย ก็เกิดความสลดใจ

ท่านพระสารีบุตรพิจารณาว่า ยังพอมีเวลาอยู่ จึงได้ถือบาตรเข้าไปในพระราชวังของพระเจ้าปเสนทิโกศล พระราชาทรงทราบว่ามิใช่กาลของอาหารคาว จึงได้บรรจุอาหารหวาน ๔ อย่างจนเต็มบาตร พอมาถึงก็เรียกพระโลสกติสสเถระมาฉัน โดยพระสารีบุตรต้องถือบาตรไว้เอง มิฉะนั้นอาหารนั้นจะต้องหกหรือหายไปหมด


พระโลสกติสสเถระจึงได้ฉันขนมหวาน ๔ อย่าง ที่พระสารีบุตรนำมาให้จนอิ่ม แม้กระนั้นขนมนั้นก็ไม่พร่อง เพราะด้วยกำลังแห่งฤทธิ์ของพระสารีบุตร และมื้อนั้นก็เป็นมื้อที่อิ่มเป็นมื้อแรกและมื้อสุดท้าย เพราะท่านก็ได้ปรินิพพานในวันนั้นเอง

พระพุทธเจ้าได้เสด็จมายังที่อยู่ของท่าน ทรงรับสั่งให้ปลงสรีระเก็บเอาธาตุทั้งหลายก่อพระเจดีย์บรรจุไว้ ในครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลาย เห็นน่าอัศจรรย์จริง ท่านพระโลสกติสสเถระมีบุญน้อยมีลาภน้อย อันผู้มีบุญน้อยมีลาภน้อยเห็นปานนี้ ยังบรรลุอริยธรรมได้อย่างไร?” พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปยังธรรมสภา ตรัสถามมูลเหตุนั้นแล้ว จึงได้ตรัสว่า

“ภิกษุทั้งหลาย! โลสกติสสะผู้นี้ ได้ประกอบกรรมคือความเป็นผู้มีลาภน้อย และความเป็นผู้ได้อริยธรรมของตนด้วยตนเอง เนื่องด้วยในชาติก่อน เธอได้กระทำอันตรายแก่ลาภของผู้อื่น จึงเป็นผู้มีลาภน้อย แต่เธอเป็นผู้บรรลุอริยธรรมได้ ด้วยผลที่ได้เคยบำเพ็ญวิปัสสนา คือ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตามาก่อน”


ครั้นแล้ว พระพุทธเจ้าทรงนำเอาเรื่องในอดีตของท่านพระโลสกติสสเถระมาตรัสเล่าประกอบ ดังนี้

ในอดีตกาล ครั้งสมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ ภิกษุรูปหนึ่งอยู่ในสำนักแห่งหนึ่งในหมู่บ้าน โดยมีกุฎุมพีผู้หนึ่งให้ความอุปถัมภ์ เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย มีศีล และหมั่นบำเพ็ญวิปัสสนา

ในครั้งนั้นมีพระอรหันต์องค์หนึ่ง ซึ่งอยู่ในป่าหิมพานต์ ได้มาถึงบ้านของกุฎุมพี ผู้อุปัฏฐากภิกษุนั้น จึงนิมนต์ให้ท่านเข้าสู่เรือน ถวายภัตตาหารแล้วได้สดับธรรมเล็กน้อย มีความเลื่อมใสและเคารพ จึงได้นิมนต์ให้ท่านไปพักที่สำนักในหมู่บ้านที่มีภิกษุรูปหนึ่งเป็นเจ้าสำนักอยู่ ตกเย็นจึงจะไปเยี่ยม


พระเถระจึงไปพักกับภิกษุรูปนั้น ท่านเจ้าสำนักได้ปฏิสันถาร แล้วถามท่านว่า “ท่านได้ภัตตาหารแล้วหรือ?” พระเถระตอบว่า “ผมได้แล้วครับ” ภิกษุถามต่อไปว่า “ท่านได้ที่ไหนเล่า?” ครั้นตอบภิกษุเจ้าถิ่นแล้ว ท่านก็ได้เก็บบาตร จัดสถานที่เรียบร้อยแล้ว ท่านก็ได้เจริญฌานมีความสุขในผลสมาบัติ พอตกเย็นกุฎุมพีก็มาเยี่ยมพร้อมทั้งพวงดอกไม้และประทีปน้ำมัน ฟังธรรมแล้วนิมนต์ทั้งสองรูปให้รับบาตรในวันรุ่งขึ้น

ฝ่ายภิกษุเจ้าสำนักคิดว่า กุฎุมพีคงถูกพระเถระยุให้แตกกับเราเสียแล้ว ถ้าท่านยังอยู่ในสำนักนี้ก็คงจะไม่นับถือเรา เกิดความไม่พอใจพระเถระ คิดว่าเราควรจะแสดงอาการไม่ให้ท่านอยู่ในสำนักนี้ คิดดังนี้แล้ว เวลาท่านมาปรนนิบัติจึงไม่พูดด้วย


ฝ่ายพระเถระก็ทราบอาการของเจ้าสำนักดี จึงได้คำนึงว่า พระเถระรูปนี้ย่อมไม่ทราบว่าเราไม่ติดในลาภหรือในหมู่ เพราะความที่ท่านเป็นพระอรหันต์หมดกิเลสแล้ว จึงกลับไปที่พัก ยับยั้งอยู่ด้วยสุขฌานและสมาบัติ

เช้าวันรุ่งขึ้น ภิกษุเจ้าสำนักได้ตีระฆังด้วยหลังเล็บและเคาะประตูด้วยหลังเล็บ แล้วเข้าไปสู่เรือนของกุฎุมพี กุฎุมพีรับบาตรและนิมนต์ให้ท่านนั่ง แล้วได้ถามว่า

“ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระอาคันตุกะเถระไปไหนเสียเล่า จึงไม่มาด้วย?” ท่านเจ้าสำนักตอบว่า อาตมาไม่ทราบความประพฤติของพระผู้ใกล้ชิดสนิทสนมของคุณ อาตมาตีระฆัง เคาะประตูแล้ว ก็ไม่อาจจะปลุกให้ท่านตื่นได้ เมื่อวานฉันโภชนะอันประณีตในเรือนของคุณแล้ว คงอิ่มอยู่จนวันนี้ บัดนี้ก็ยังนอนหลับอยู่นั่นเอง”


ฝ่ายพระเถระองค์อรหันต์ กำหนดเวลาภิกขาจารของตนแล้วก็เหาะไปในอากาศ ได้ไปบิณฑบาตในที่อื่น กุฎุมพีได้นิมนต์เจ้าสำนัก ใส่ข้าวปายาสจนเต็ม แล้วกล่าวว่า “ข้าแต่ผู้เจริญ พระเถระนั้นเห็นจะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าพระคุณเจ้าจงนำข้าวปายาสนี้ไปถวายท่านด้วยเถิด”

พระเถระรับบาตรไปแล้ว เดินไปคิดไปว่า ถ้าพระภิกษุนั้นได้รับข้าวปายาสนี้แล้ว ถึงเราจะฉุดคอไปก็คงจะไม่ยอมไปจากที่นี่ ถ้าเราจะเอาข้าวนี้ให้แก่คนอื่น เรื่องก็คงจะรู้ถึงกุฎุมพี ถ้าเราเททิ้งในน้ำ เนยใสก็จะลอยขึ้น ถ้าทิ้งในพื้นดิน นกการุมกิน คนก็จะรู้ กำลังเดินคิดว่าจะทิ้งที่ไหนดีหนอ? ก็พอดีเดินมาถึงที่นากำลังไหม้ไฟอยู่ จึงคุ้ยถ่านขึ้น แล้วเอาข้าวเทลงไป แล้วกลบด้วยถ่าน แล้วจึงไปสำนัก


ครั้นไม่เห็นภิกษุรูปนั้น จึงได้คิดว่า ชะรอยภิกษุรูปนั้นคงจะเป็นพระอรหันต์ รู้ความคิดของเราแล้ว จึงไปเสียที่อื่นเป็นแน่ โอ เพราะท้องเราเป็นเหตุ เราทำกรรมไม่สมควรเลย นับแต่วันนั้นเป็นต้นไป ท่านก็กลายเป็นมนุษย์ เปรต อยู่ไม่นานก็ตายไปเกิดในนรก ภิกษุนั้นหมกไหม้อยู่ในนรกหลายแสนปี

ด้วยเศษของกรรมนำให้ไปเกิดเป็นยักษ์ถึง ๕๐๐ ชาติ ไม่เคยได้กินอาหารเต็มท้องสักวัน จนถึงวันจะตายจึงได้กินอิ่ม คือได้กินรกคนเต็มท้องอยู่วันหนึ่ง มาเกิดเป็นหมาอีก ๕๐๐ ชาติ ก็กินไม่อิ่มเช่นกัน มากินอิ่มท้องแล้วก็ตาย ตายจากหมาแล้ว ก็มาเกิดในตระกูลคนเข็ญใจในแคว้นกาสี

ตั้งแต่วันที่เขาเกิดมา ตระกูลนั้นก็ยิ่งยากจนลงไปอีก แม้แต่น้ำและปลายข้าวเพียงครึ่งท้องก็ไม่เคยได้ เขามีชื่อว่า มิตตพินทุกะ พ่อแม่ของเขาไม่อาจจะทนทุกข์ อันเกิดจากความอดอยากได้ จึงได้พูดกะเขาว่า “ไปเถิดไอ้ลูกกาลกิณี ไปกินเองเถิด” พูดพลางก็ไล่ตีเขาออกจากบ้านไป เขาไม่มีที่กินที่นอน ก็ได้ท่องเที่ยวไปจนถึงเมืองพาราณสี

สมัยนั้นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ บอกศิลปะแก่มาณพ ๕๐๐ คน ในสมัยนั้นชาวเมืองพาราณสี ได้ให้ทุนแก่คนยากจนเข็ญใจ ได้ศึกษาเล่าเรียนศิลปะ จึงได้ให้ทุนแก่มิตตพินทุกะ แต่เขาเป็นเด็กหยาบคาย ไม่เชื่อฟังโอวาท เที่ยวชกต่อย เกะกะเรื่อยไป แม้พระโพธิสัตว์จะสั่งสอนเขาก็ไม่เชื่อฟัง เพราะเหตุนั้นเมื่อเติบโตเขาจึงเป็นคนโง่เขลา

ครั้งนั้น เขาเกิดทะเลาะกับพวกเด็กๆ ทั้งไม่เชื่อฟังคำสั่งสอน จึงหนีเที่ยวไปถึงชายแดนตำบลหนึ่ง รับจ้างเขาเลี้ยงชีวิต ให้หญิงเข็ญใจเป็นภรรยา นางเกิดบุตรกับเขา ๒ คน ชาวบ้านนั้นก็ได้มอบให้เขาเป็นคนบอกข่าวดีและข่าวร้าย ให้ค่าจ้างและปลูกกระท่อมให้พักที่ประตูหมู่บ้าน

เมื่อนายมิตตพินทุกะมาอยู่แล้ว หมู่บ้านชายแดนนั้นถูกราชทัณฑ์ ๗ ครั้ง ไฟไหม้ ๗ ครั้ง บ่อน้ำพัง ๗ ครั้ง พวกเขาจึงปรึกษากันว่า แต่ก่อนที่มิตตพินทุกะยังไม่มา พวกเราไม่เคยมีเรื่องอย่างนี้ ตั้งแต่เจ้ามิตตพินทุกะมาอยู่ พวกเราแย่ไปตามๆ กัน จึงช่วยกันรุมตี
เขาจึงต้องพาลูกและเมียไปอยู่ที่อื่น


เขาผ่านเข้าไปในดงของอมนุษย์แห่งหนึ่ง พวกอมนุษย์ได้รุมกันจับลูกและเมียของเขาฆ่าและกินเนื้อ ส่วนตัวเขาได้หนีรอดไปได้ จึงเที่ยวไปถึงท่าเรือแห่งหนึ่งชื่อคัมภีระ ประจวบกับเป็นเวลาที่เขาจะปล่อยเรือเดินทะเล เขาจึงสมัครเป็นลูกเรือ พอเรือเดินไปในมหาสมุทรได้ ๗ วัน เรือก็หยุดอยู่กลางทะเลเหมือนมีใครมาฉุดไว้

ชาวเรือเหล่านั้นจึงต่างพากันจับสลากกาลกิณี สลากกาลกิณีก็ได้มาตกแก่มิตตพินทุกะถึง ๗ ครั้ง พวกชาวเรือจึงโยนลูกบวบไม้ไผ่ให้เขาแพหนึ่ง แล้วช่วยกันจับเขาโยนลงไปในแพ เรือจึงได้แล่นต่อไปได้ มิตตพินทุกะได้นอนในแพไม้ไผ่ที่ลอยไปตามกระแสน้ำในทะเล


ด้วยอานิสงส์ที่ได้เคยรักษาศีล เมื่อสมัยเป็นพระในศาสนาของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้พบกับเทพธิดา ๔ นาง ซึ่งอยู่ในวิมานแก้วผลึกหลังหนึ่งในทะเล ได้เสวยสุขสำราญอยู่ในวิมานนั้นตลอด ๗ วัน เสวยทุกข์ ๗ วัน นางเทพธิดาทั้ง ๔ นางนั้น ว่าที่จริงก็เป็นเปรตที่อยู่วิมานได้เสวยสุข ๗ วัน แล้วก็เสวยทุกข์ ๗ วัน จึงได้สั่งมิตตพินทุกะให้รอนางอยู่ที่นี่ก่อนจนกว่านางจะมาอีกใน ๗ วัน แล้วนางเทพธิดาเหล่านั้นก็พากันไป

เมื่อนางเทพธิดาไปแล้ว มิตตพินทุกะก็ลงนอนในแพไม้ไผ่ลอยไปเรื่อยๆ ก็ไปพบนางเทพธิดา ๘ นางในวิมานเงิน เทพธิดาเหล่านั้นก็เป็นเปรตอยู่ในวิมานเช่นเดียวกัน เมื่อได้อยู่กับเทพธิดาเหล่านั้น เขาก็ได้นอนในแพไม้ไผ่ลอยในทะเลต่อไป จนไปพบกับเทพธิดา ๑๖ นางในวิมานแก้วมณี แล้วเขาก็นอนลอยแพไปอีก จนไปพบกับเทพธิดาอีก ๓๒ นางในวิมานทอง นางเหล่านั้นก็ให้รอนางอีก เขาก็ไม่รอ


เมื่อเขาลอยแพไป เขาก็ไปพบเมืองยักษ์ ซึ่งอยู่ระหว่างเกาะในเมืองนั้น มียักษิณีตนหนึ่ง กำลังแปลงกายเป็นแพะเที่ยวอยู่ มิตตพินทุกะไม่รู้ว่าเป็นยักษ์แปลงกายเป็นแพะ เมื่อเห็นแพะก็นึกอยากจะกินเนื้อแพะ จึงได้กระโดดไปจับที่เท้าแพะ นางยักษ์แปลงก็เลยยกมิตตพินทุกะขึ้นสลัดด้วยความแรงอันเกิดจากอานุภาพของยักษ์ มิตตพินทุกะเลยลอยข้ามทะเลไปตกที่พุ่มไม้แห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ในเมืองพาราณสี ซึ่งแม่แพะของพระราชาหลายตัวกำลังหากินอยู่

ในสมัยนั้นแม่แพะได้ถูกโจรลักขโมยไปอยู่เสมอ แต่ยังจับตัวโจรไม่ได้ พอมิตตพินทุกะเห็นแพะอีก ก็เกิดความคิดว่าที่เราต้องถูกแพะดีด แล้วมาตกอยู่ที่นี่ ก็เพราะเราจับแพะที่เท้า อย่ากระนั้นเลย ถ้าเราจับแพะที่เท้าอีก มันก็คงจะดีดเราไปตกอยู่ในวิมานของเทพธิดาในทะเลอีก คิดดังนั้นแล้ว เขาก็กระโดดจับที่เท้าแพะทันที แม่แพะพอถูกคนจับเท้า มันก็ได้ร้องเสียงดังด้วยความตกใจ


คนที่เลี้ยงแพะหลายคนก็ได้กรูกันมาจับเขาพลางร้องว่า “กูคอยมึงมานานแล้ว ไอ้หัวขโมยแพะของหลวงคงเป็นมึงนี่เอง” ต่างช่วยกันรุมซ้อม แล้วจับมัดไปสู่พระราชวัง ในขณะที่นำตัวเขาเดินทางไปพระราชวัง ก็ได้พบกับพระโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ของเขา อาจารย์เห็นเขาก็จำได้ จึงได้พูดกับคนเลี้ยงแพะว่า “พ่อคุณทั้งหลาย คนนี้เป็นลูกศิษย์ของเรา พวกท่านจับเขาเพราะเหตุอะไร?”

พวกคนเลี้ยงแพะตอบว่า “ท่านอาจารย์ขอรับ มันเป็นคนร้ายขโมยแม่แพะของหลวง กำลังจับแม่แพะที่เท้า พวกผมจึงได้จับเขาจะเอาไปลงโทษขอรับ” พระโพธิสัตว์ขอร้องว่า “ถ้าเช่นนั้นจงให้เขามาเป็นทาสของเราเถิด เขาจะได้อาศัยเราเลี้ยงชีวิตต่อไป” พวกคนเลี้ยงแพะกล่าวว่า “ดีแล้วขอรับท่านอาจารย์” แล้วก็มอบตัวเขาให้แก่อาจารย์ไป


พระโพธิสัตว์ได้ถามเขาไปว่า “ตลอดเวลาที่เจ้าหายไปนั้น เจ้าไปอยู่ที่ไหน?” มิตตพินทุกะก็ได้เล่าเรื่องทั้งหมดให้ท่านอาจารย์ฟังโดยตลอด พระโพธิสัตว์จึงได้กล่าวว่า “คนที่ไม่กระทำตามถ้อยคำของผู้หวังดี ก็ย่อมจะได้เสวยความทุกข์อย่างนี้”

ครั้นแล้ว พระโพธิสัตว์ก็ได้กล่าวคำอันสุภาษิตว่า


“บุคคลใดแล เมื่อท่านผู้หวังดี เอ็นดู เกื้อกูล สั่งสอน แต่มิได้กระทำตามถ้อยคำของท่านบุคคลนั้น ย่อมจะเศร้าโศก เหมือนอย่างกับมิตตพินทุกะ จับแพะแล้วยังเศร้าโศกอยู่ฉะนั้น”


อรรถกถาโลสกชาดก

พระไตรปิฎกและอรรถกถา เล่ม ๕๖ หน้า ๑

L55.png

‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2024-11-1 12:28 , Processed in 0.075991 second(s), 15 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.