แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
ดู: 17178|ตอบ: 6
go

พุทธานุสสติถึงสมาบัติ (วิธีเข้าปฐมฌานอย่างง่าย) [คัดลอกลิงค์]

Rank: 9Rank: 9Rank: 9

พุทธานุสสติถึงสมาบัติ (วิธีเข้าปฐมฌานอย่างง่าย)
วันที่: วันพฤหัสบดี 27 กันยายน 2007 @ 20:09:44
หัวข้อ: รวมคำสอน หลวงพ่อฯ




ที่มา
http://www.putthawutt.com/

พุทธานุสสติถึงสมาบัติ

วันนี้ จะได้พูดถึงพุทธานุสสติกรรมฐานต่อ เมื่อวานนี้ได้พูดมาถึงการเจริญกรรมฐานด้านพุทธานุสสติกรรมฐานจากระบบปฏิบัติตามแบบที่พิจารณาพระคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ใคร่ครวญตามความดีที่องค์สมเด็จพระชินศรี ทรงสั่งสอนตามแบบนี้ที่ในวิสุทธิมรรคท่านกล่าวว่า การเจริญพุทธานุสสติกรรมฐานย่อมมีกำลังแค่อุปจารสมาธิ แต่สำหรับพระอาจารย์ผู้สอนที่มีความฉลาด ท่านสอนต่อ ๆ กันมาคือ สามารถดัดแปลงเอาพุทธานุสสติกรรมฐานให้เป็นฌานสมาบัติ จนกระทั่งเข้าถึงฌาน ๔ ได้ วันนี้ก็จะได้อธิบายการเจริญพระกรรมฐานในด้านพุทธานุสสติกรรมฐานจากอารมณ์อุปจารสมาธิ มาเป็นฌาน ๔ การเจริญพระกรรมฐานถ้ามีความเข้าใจ กรรมฐานทุกกองก็ทำเป็นฌาน ๔ ได้เหมือนกันหมด แล้วก็ต่อเป็นสมาบัติ ๘ ก็ได้

การเจริญพุทธานุสสติกรรมฐานให้เป็นฌาน ท่านก็ใช้คำภาวนาเป็นพื้นฐาน คือ ใคร่ครวญตามความดีที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนตามแบบที่กล่าวมาแล้ว ถ้าต้องการให้เป็นฌานอย่างยิ่ง ก็งดการพิจารณานั้นเสีย จิตน้อมยอมรับนับถือความดีของพระพุทธเจ้า ที่ชื่อว่าจิตน้อมยอมรับนับถือความดีของพระพุทธเจ้านี่ เราไม่ได้ถือเนื้อ ถือหนัง ถือรูปร่างของท่านเป็นสำคัญ เนื้อหนังรูปร่างของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ามิได้ถือว่าเป็นพระพุทธเจ้า เพราะความเป็นพระพุทธเจ้ามาจากการบรรลุธรรมะพิเศษ ไม่ใช่ว่าเกิดมาเป็นคนแล้วก็เป็นพระพุทธเจ้า

ฉะนั้น พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ ในตอนที่จะเข้าสู่การดับขันธ์เข้าสู่พระปรินิพพานที่ระหว่างนางรังทั้งคู่ว่า
"อานันทะ ดูก่อนอานนท์ เมื่อเรานิพพานไปแล้ว พระธรรมวินัยที่เราสอนเธอทั้งหมดนี่ จะเป็นศาสดาสอนเธอ"(ศาสดา นี่แปลว่า ครู)

นี่เราจะเห็นได้ว่า ความเป็นพระพุทธเจ้า ก็คือ พระธรรมคำสั่งสอนนั่นเอง เรามาเปลี่ยนแปลงจากการพิจารณาความดี เอาจิตเข้ามาจับความดีจุดเล็ก คือ แทนที่จะเป็นการใคร่ครวญ กลับมาภาวนา นึกว่า พระพุทธเจ้าทรงมีพระมหากรุณาธิคุณยิ่งใหญ่ เราจะผูกใจของเราไปจับอยู่เฉพาะความดีของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ท่านจึงสอนให้ใช้คำภาวนาแทนที่จะพิจารณา แต่ว่าเราก็ไม่ทิ้งคำพิจารณาความดีของพระพุทธเจ้า ให้จิตเข้าถึงความดีของพระองค์ เป็นการสร้างธรรมปีติ ความมั่นในใจความดีก่อน

เมื่อเราพิจารณาความดี ใคร่ครวญความดีของพระองค์แล้ว เมื่อใจสบายก็จับอารมณ์เป็นสมาธิพิเศษ คือ ใช้อานาปานุสสติควบกันไป โดยใช้คำภาวนาว่า พุทโธ นี่ง่ายดี ความจริง การภาวนาในด้านพุทธานุสสติกรรมฐานนี่ว่าได้หลายอย่าง อิติปิ โส เบื้องต้นทั้งหมดทั้ง ๙ ข้อ เราว่าได้ทุกข้อ จะว่าข้อใดข้อหนึ่งก็ตาม ก็ชื่อว่าเป็น พุทธานุสสติกรรมฐานทั้งนั้น แต่ว่าการที่ท่านตัดเอาใช้คำว่า พุทโธ เพราะเป็นการสะดวกแก่บุคคลผู้ฝึกจิตในตอนแรก

ในตอนต้น ให้พิจารณาลมหายใจเข้าออกพร้อมคำภาวนา เวลาหายใจเข้านึกว่า พุท เวลาหายใจออกนึกว่า โธ อันดับแรกจับเอาแค่จมูกก่อน หายใจเข้าก็นึกว่า พุท หายใจออกก็โธ แค่นี้ให้จิตสบาย พอจิตมีความสบาย มีกำลังเป็นสมาธิสูงขึ้น จิตจะรู้ลมกระทบสัมผัสภายใจ หายใจเข้าลมจะกระทบจมูก กระทบหน้าอก กระทบศูนย์เหนือสะดือ หายใจออก กระทบศูนย์เหนือสะดือ กระทบหน้าอก กระทบริมฝีปากหรือจมูก ถ้าปรากฏว่าลมกระทบ ๓ ฐาน มีความรู้สึกแบบสบายหรือมีจิตใจละเอียดไปยิ่งกว่านั้น รู้สึกลมไหลลงไปตั้งแต่ยันท้อง ไหลจากท้องมายันจมูก ออกทางจมูกอย่างนี้ก็ยิ่งดีใหญ่ ที่จะมีความรู้สึกอย่างนี้ต้องปล่อยลมหายใจเข้าออกตามธรรมดา อย่าหายใจแรง ๆ ยาว ๆ หรือบังคับให้หนัก ๆ อันนี้ไม่ได้ ต้องปล่อยลมหายใจไปตามกฎธรรมดา ที่เราจะรู้ได้ก็อาศัยสติสัมปชัญญะของเรามันดีหรือมันเลวเท่านั้น ถ้าสติสัมปชัญญะของเราดี จิตเป็นสมาธิมากก็รับสัมผัสได้ ๓ ฐาน ถ้ามีอารมณ์ละเอียดไปกว่านั้น ก็รู้ลมไหลเหมือนกับน้ำไหลเข้าน้ำไหลออก ถ้ารู้ลมได้ ๓ ฐานก็ดี หรือรู้ลมไหลออกไหลเข้าตลอดเวลา อย่างนี้ชื่อว่าจิตเป็นฌาน เรียกว่า ปฐมฌานพร้อมกันก็ทรงคำภาวนาไว้ด้วย ถ้าภาวนาไปภาวนาไป รู้สึกว่าลมหายใจเบาลง เบาน้อยลง จิตใจมีความชุ่มชื่น คำภาวนาหายไป หยุดภาวนาไปเฉย ๆ แต่มีใจสบาย ลมหายใจอ่อนลง มีความชุ่มชื่นมากกว่า จิตทรงมากกว่า อย่างนี้เป็น ฌานที่ ๒

ถ้าต่อไปความชุ่มชื่นหายไป มีแต่อาการเครียด จิตใจสบาย ลมหายใจเบาลง ได้ยินเสียงภายนอกน้อยลงไปเบาลงไปมาก จิตใจทรงตัวดิ่ง มีอาการไม่อยากเคลื่อน มีร่างกายคล้ายกับมีอาการทรงตัวเหมือนหลักปักแน่น ๆ หรือว่าใครเขามัดตัวตรึงไว้เฉย ๆ ไม่อยากเคลื่อน ใจสบาย แนบนิ่ง นิ่งสนิท จิตไม่อยากจะขยับเขยื้อนไปไหน อันนี้เรียกว่า ฌานที่ ๓ นี่คำภาวนาไม่มีเหมือนกัน คำภาวนานั้นมีแค่ตั้งแต่ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ หรือ ปฐมฌานเท่านั้น

ต่อไปเริ่มต้นเราจับคำภาวนา แล้วก็ต่อมาปรากฏว่าจิตมีอารมณ์สว่างสดใส มีจิตใจชุ่มชื่น มีอารมณ์ทรงตัวเป็นปกติ ไม่เคลื่อนไหวไปไหน ทรงตัวแบบสบาย หรือความโพลงอยู่ในใจ เป็นความสว่างมาก แต่ว่าไม่ปรากฏลมหายใจ หูไม่ได้ยินเสียงภายนอก แม้จะเอาปืนใหญ่หรือพลุมาจุดใกล้ ๆ ก็ไม่ได้ยิน อย่างนี้เป็นอาการของ ฌานที่ ๔

ถ้าจะถามตอบกันตามแบบฉบับของการเจริญสมาธิ ไอ้เรื่องยุงกินริ้นกัดนี่ มันไม่กวนใจเราตั้งแต่อุปจารสมาธิ พอจิตผ่านปีติเข้าถึงสุข มันจะมีความสุขเยือกเย็น มีความสบายไอ้เรื่องเสียงที่เราได้ยินก็เหมือนกัน มันก็ไม่กวนใจ ใจเราก็มีความสบาย ร่างกายก็ไม่ปวดไม่เมื่อย ไม่มีอะไรทั้งหมด มันสุขจริง ๆ มีแต่จิตใจชุ่มชื่น ยุงกินริ้นกัดหรือเปล่า อันนี้ไม่รู้กัน ไม่รู้ว่ายุงมันกินหรือเปล่า แต่ว่าส่วนมากยุงไม่กวน แต่บางท่านก็กวนเหมือนกัน บางทีนั่งพอเลิกแล้วเป็นตุ่มหมดตัวปรากฏว่ายุงกัด แต่เวลาขณะที่ปฏิบัติทรงจิตเป็นสมาธิไม่รู้สึกว่ายุงกัด นี่ความจริง เรื่องการสัมผัสกับอาการภายนอก แต่จิตไม่ยอมรับสัมผัสจากประสาท เริ่มมีตั้งแต่ตอนสุข เพราะคำว่า สุข นี่ มันต้องไม่มีคำว่า ทุกข์ มันสุขจริง ๆ หาตัวทุกข์ไม่ได้ ถ้าเมื่อยมันก็ไม่สุข ถ้ารู้ว่ายุงมากวนที่หูมันก็ไม่สุข ถ้ารู้ว่ายุงกินแล้วคันหรือเจ็บมันก็ไม่สุข มันเป็นทุกข์ นี่คำว่า สุข ตัวนี้ก็ตัดอาการเหล่านี้ไปทั้งหมด ความจริงเรื่องเสียงก็ดี ที่เราจะรำคาญภายนอก หรือยุงกินริ้นกัดก็ดี มันตัดกันแค่สุขยังไม่ถึงปฐมฌาน แต่ว่าอาการของความสุขและปฐมฌาน นี่มันใกล้เคียงกันมาก เขาบอกว่า ห่างกันแค่เส้นผมผ่า ๘ เท่านั้น ขอบรรดาทุกท่านจำไว้ด้วย ถ้าว่าใครเขาถามละก็ ตอบเขาแบบนี้ ถามว่ายุงกินไหม? บอกบางองค์กินบางองค์ไม่กิน ถามว่าทำไมยุงกินหรือไม่กิน กัดหรือไม่กัดไม่เหมือนกัน บางองค์ก็ถูกกวนบางองค์ก็ไม่ถูกกวน ก็ต้องตอบว่า ถ้าองค์ใดหรือท่านใดมี พรหมวิหาร ๔ ครบถ้วน มีจิตทรงพรหมวิหาร ๔ เป็นปกติ ท่านผู้นั้นยุงไม่กินริ้นไม่กัด ถ้าบกพร่องในพรหมวิหาร ๔ มันกัดแน่ มันกินแน่ นี่ตอบเขาอย่างนี้ แล้วก็ตอบตัวของเราเองเสียด้วย นี่เป็นอาการของฌาน ๔ ตามปกติ เมื่อถึงฌาน ๔ แล้วก็ต้องพยายามทรงฌาน ทรงสมาธิ จะเป็นอันดับไหนก็ตาม ให้มันมีการคล่องตัวที่เรียกว่า วสี จะเป็นฌาน ๑ ฌาน ๒ ฌาน ๓ อะไรก็ตาม ให้มันคล่องจริง ๆ นึกขึ้นมาเมื่อไรจิตเป็นสมาธิทันที เดินไปเดินมา เหนื่อย ๆ นั่งปั๊บจิตจับปุ๊บเป็นสมาธิทันที ทำงานมาเหนื่อย หาบน้ำหาบท่ามาอย่างหนัก ทำงานหนักวางของปั๊บนั่งปุ๊บ จิตจับเป็นสมาธิทันที ทรงตัวได้ทันที นี่ต้องหัดให้คล่องอย่างนี้ จึงชื่อว่าเป็นผู้ได้ฌานหรือผู้ทรงฌาน ไม่ใช่สักแต่ว่าทำกันส่งเดชไป อารมณ์มันจะใช้อะไรไม่ได้ ถ้าทำกันส่งเดชได้บ้างไม่ได้บ้าง เขาไม่ถือว่าได้ แต่ก็ยังดีตายเป็นเทวดาได้ แต่เป็นพรหมไม่ได้

ถ้าจิตเราสามารถจะทรงฌานได้ทุกขณะจิตละก็ เป็นพรหมได้แน่นอน เพราะเวลาที่ป่วยไข้ไม่สบาย เกิดทุกขเวทนามาก เราก็เอาจิตจับเข้าฌานทันที ทุกขเวทนามันก็คลายตัว ดีไม่ดีไม่รู้สึกตัว เพราะจิตและประสาทมันไม่ยอมรับรู้ซึ่งกันและกัน มันแยกจากกันเด็ดขาด

หากว่าเราจะทรงฌานด้านพุทธานุสสติกรรมฐานเข้าถึงฌานที่ ๘ เราจะทำอย่างไรแบบท่านบอกไว้ว่า พุทธานุสสติกรรมฐานและอนุสสติทั้งหมด เว้นไว้แต่อานาปานุสสติ จะเข้าถึงอุปจารสมาธิเท่านั้น ท่านว่าไว้อย่างนั้น เราก็ดัดแปลงให้เข้าถึงฌาน ๘ เสียให้หมดมันจะเป็นยังไงไป ทำเป็นเสียอย่างเดียวมันก็ทำได้ เข้าใจแล้วก็ทำได้ พระพุทธเจ้าไม่ได้จำกัด

ถ้าเราจะทรงฌาน ๘ ทำยังไง แทนที่เราจะภาวนาเฉย ๆ เราก็จับภาพพระพุทธรูปกำหนดภาพไว้ ลืมตาดูภาพพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งก็ได้ นึกถึงภาพพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งก็ได้ ที่เราต้องการ เรามีความเลื่อมใสพอใจอยู่ เวลาจับลมหายใจเข้าออกภาวนาว่า พุทโธ ก็นึกเห็นภาพขององค์สมเด็จพระบรมครู จะเป็นพระพุทธรูปก็ได้ ให้ปรากฏอยู่ในใจ ไม่ใช่ไปนั่งคอยให้ภาพลอยมาแบบนี้ใช้ไม่ได้ ภาวนาไปแล้วก็นึกถึงภาพไปด้วย จะนึกอยู่ในอก ให้เห็นอยู่ในอก หรือเห็นภายนอกก็ได้ไม่จำกัด

ถ้านึกถึงภาพนั้นตามภาพเดิม อย่างนี้เรียกว่า อุคคหสมาธิหรืออุคคหนิมิต ถ้าภาพเดิมนั้นขยายไปเปลี่ยนแปลงไปชักจะใหญ่ขึ้นจะสูงขึ้น จะเล็กลง แล้วก็มีสีสันวรรณะเริ่มเปลี่ยนแปลงไปทีละน้อย ๆ จากสีเดิมกลายเป็นสีจางไปนิดหน่อย จางลงไปจางลงไป แต่เรารู้สึกอารมณ์จิตนึกเห็นชัด นึกเห็นนะ ไม่ใช่ภาพลอยมา อารมณ์จิตนึกเห็นชัด จนกระทั่งปรากฏเป็นแก้วใส อย่างนี้ก็ชื่อว่าเป็น อุปจารสมาธิตอนกลาง

ตอนนี้แก้วใสที่กลายเป็นแก้วประกายพรึก แพรวพราวไปหมดทั้งองค์ จิตใจสามารถจะบังคับให้ภาพนั้นเล็กก็ได้ จะให้ใหญ่ก็ได้ สูงก็ได้ ต่ำก็ได้ ตั้งอยู่ข้างหน้าก็ได้ ข้างหลังก็ได้ตามใจนึก นึกอย่างไร ภาพนั้นปรากฏไปตามนั้น มีความใสสะอาดสุกใสเป็นกรณีพิเศษ อย่างนี้องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ ท่านกล่าวว่าเป็น ปฐมฌาน

การจับภาพนี่จับให้สนิท ให้คิดอยู่เมื่อไรได้เมื่อนั้น เดินไปบิณฑบาต เดินไปธุระ นั่งอยู่ นึกเห็นเมื่อไรเห็นได้เมื่อนั้นทันที นี่อย่างนี้เป็น กสิณด้วย เป็นพุทธานุสสติกรรมฐานด้วย

ถ้าการเห็นภาพแบบนั้นปรากฏว่า คำภาวนาว่า พุทโธหายไป ภาพใสขึ้นผิดกว่าเดิม อันนี้เป็น ฌานที่ ๒ แต่มีจิตชุ่มชื่น อาการของจิตมันเหมือนกัน ภาพใสสะอาดขึ้น มีการทรงตัวมากขึ้น มีความแจ่มใสขึ้น ความชุ่มชื่นหายไป มีอาการเครียด จิตทรงตัวแนบนิ่งสนิท แล้วก็ลมหายใจน้อย ได้ยินเสียงภายนอกเบา อันนี้เป็น ฌานที่ ๓ การเห็นภาพชัดเจนแจ่มใสมากเป็นกรณีพิเศษ สว่างไสวคล้ายกับพระอาทิตย์ทรงกลด หรือว่าคล้ายกับกระจกเงาที่สะท้อนแสงแดดดวงใหญ่ ใจไม่ยุ่งกับอารมณ์อย่างอื่น เป็นอุเบกขารมณ์ทรงสบาย เห็นแนบนิ่งสนิท จะนั่งนานเท่าไรก็เห็นได้ตามความปรารถนา หูไม่ได้ยินเสียงภายนอก ไม่ปรากฏลมหายใจ อย่างนี้เป็นฌานที่ ๔ ก็ยังเป็นรูปฌานอยู่

ทีนี้ถ้าหากว่าเราจะทำเป็นอรูปฌาน จะทำอย่างไร เราจะทำถึงฌาน ๘ กันนี่ นี่เป็นวิธีแนะนำปฏิบัติตามผลแห่งการปฏิบัติจริง ๆ ไม่ใช่เกาะตำราเสียจนแจ แล้วไปไหนไม่พ้น เขาทำแบบนี้ จับภาพพระพุทธเจ้าองค์นั้นแหละ ที่เป็นประกายพรึกอยู่ เพ่งจับจุดให้จิตจับดี เมื่อจิตทรงอารมณ์ดีแล้วก็เพิกภาพนั้นให้หายไป คำว่า เพิก เป็นภาษาโบราณ คือ นึกว่าขอภาพนี้จงหายไป จับ อากาสานัญจายตนะแทน คือ พิจารณาอากาศว่า อากาศนี้หาที่สุดมิได้ มันเวิ้งว้างว่างเปล่า ไม่มีจุดจบ จับอากาศเป็นอารมณ์อย่างนี้ เรียกว่า อากาสานัญจายตนะ จิตทรงอยู่ในด้านของฌาน ๔ จับอากาศ ความหวั่นการเคลื่อนไหวของอากาศว่า ว่างมาก โลกนี้หาอะไรเป็นที่สุดมิได้ หานิมิตเครื่องหมายอะไรไม่ได้เลย หาจุดจบไม่ได้ จนกระทั่งจิตทรงอารมณ์ทรงตัวดีแล้ว อย่างนี้จัดเป็นอรูปฌานที่ ๑ ถ้าจะเรียกกันว่าฌาน ก็เป็นที่ ๕ สมาบัติที่ ๕

เมื่อจับอารมณ์ของอากาศได้แบบสบาย ๆ ใจสบาย นึกขึ้นมาว่า อากาศมันเวิ้งว้าง ทุกอย่างมันว่างเปล่าเป็นอากาศไปหมด โลกทั้งโลกไม่มีอะไรทรงตัว คนเกิดมาแล้วก็ตาย สัตว์เกิดมาแล้วก็ตาย ต้นไม้เกิดมาแล้วก็ตาย ภูเขาไม่ช้ามันก็พัง บ้านเรือนโรงก็พัง ผลที่สุดมันก็ว่างไปหมด อย่างนี้เรียกว่า จิตเข้าถึงอากาศได้เป็นอย่างดี อากาสานัญจายตนะ

ทีนี้ก็มาเป็น วิญญาณัญจายตนะ นึกถึงวิญญาณ คือ จิต สภาวะของจิต ที่มีอารมณ์คิดเป็นปกติ มันก็ไม่มีอาการทรงตัว มันหาที่สุดไม่ได้ มันไม่มีอะไรทรงอยู่เฉพาะแน่นอน เดี๋ยวมันก็คิดอย่างนั้น เดี๋ยวมันก็คิดอย่างนี้ เดี๋ยวมันก็คิดอย่างโน้น ขึ้นชื่อว่าเอาจิตมีอารมณ์เกาะว่า นั่นเป็นเรา นี่เป็นเรา นี่มันไม่มีอะไรจริง ความจริงจิตมีสภาพไม่นิ่ง จิตมีสภาพไม่แน่นอน เดี๋ยวมันก็ชอบอย่างนั้น เดี๋ยวมันก็ชอบอย่างนี้ เดี๋ยวมันก็ต้องการอย่างโน้น จึงถือว่าอารมณ์ของจิตนี่หาที่สุดมิได้

นี่เราไม่มีความต้องการอารมณ์อย่างนี้ จนกระทั่งอารมณ์จิตของเรานี้มีความแนบแน่นสนิท ไม่มีความผูกพันอะไร ในด้านร่างกายก็ดี ในวัตถุก็ดี ไม่เอา แล้วก็ไม่สนใจ ต้องการอย่างเดียว อากาศคือ ความว่างเปล่าปราศจากแม้แต่จิต

ถ้าถือว่าขณะใดยังมีขันธ์ ๕ ยังมีภาพอยู่ ยังมีจิตเป็นเครื่องเกาะ มันมีความทุกข์อย่างนี้ ถ้าจิตมันทรงอยู่ได้ตลอดเวลา นึกขึ้นมาเมื่อไร อารมณ์ว่างไม่เกาะอะไรทั้งหมด มันจะเป็นอย่างไรก็ช่างหัวมัน สภาวะทั้งหลายในโลกไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเราเลย มันไม่มีอะไรทรงตัว มีอารมณ์ว่างหาที่สุดมิได้ ถ้าเราเกาะโลกอยู่เพียงใด ก็ชื่อว่าเราเป็นผู้มีทุกข์ นี่ อาการอย่างนี้คล้ายคลึงวิปัสสนาญาณมาก อย่างนีเรียกว่าได้ วิญญาณัญจายตนะฌาน นี่เป็นอารมณ์ เราพูดกันถึงอารมณ์ ถ้าไปอ่านตาแบบบางทีจะค้านกัน

เมื่อเราได้วิญญาณัญจายตนะแล้ว ก็ชื่อว่าได้สมาบัติที่ ๖ อย่าลืมนะว่า เราต้องจับภาพพระพุทธรูปเป็นกสิณก่อน ต่อมาเราก็เพิกให้หายไป ถือเอากสิณนำให้จิตมันจับเป็นอารมณ์ทรงตัวก่อนนั่นเอง เพราะกสิณเป็นของหยาบ จับให้ทรงตัวแล้ว จงนึกว่า ขอภาพนี้จงหายไป

ทีนี้ก็มาพิจารณาฌานที่ ๗ สมาบัติที่ ๗ คือ อากิญจัญญายตนะฌาน พิจารณาว่า โลกนี้มันไม่มีอะไรเหลือเลยนี่ มันพังหมดมันสลายตัวหมด ตึกรามบ้านช่อง เขาสร้างขึ้นมาอย่างดี ๆ ก็พัง บ้านเมืองเก่า ๆ เขาสร้างแข็งแรงก็พัง กำแพงเมืองใหญ่อย่างกำแพงเมืองจีน กำแพงเมืองไทย กำแพงเมืองฝรั่ง เขาสร้างแข็งแรงมากที่สุด มันก็พัง ภูเขามันก็มีอาการผุ เขาเอาดินมาทำลูกรัง มันก็ผุจมหายไปหมด คนก็ดี สัตว์ก็ดี ต้นไม้ก็ดี เรือนโรงก็ดี นี่เมื่อถึงที่สุดแล้วไม่มีอะไรเหลือ อากิญจัญญายตนะ นี่เขาแปลว่า หาอะไรเหลือไม่ได้ จิตใจว่างจากอารมณ์ เลยไม่ยึดถืออะไรทั้งหมด อะไรเล่าที่เป็นสาระสำหรับเราไม่มี แม้แต่ร่างกายของเรานี้ ไม่ช้ามันก็พัง การทรงร่างกายอยู่อย่างนี้มันเป็นทุกข์ เราไม่ต้องการมีร่างกายอีก

ถ้าอารมณ์อย่างนี้มันทรงตัวได้ดีแล้ว ก็ชื่อว่าเราได้ อากิญจัญญายตนะฌาน เป็น สมาบัติที่ ๗ ทีนี้มาสมาบัติที่ ๘ จับภาพพระพุทธรูปเป็นอารมณ์ทรงอารมณ์แจ่มใสให้ใจสบาย เป็นอุเบกขารมณ์ อรูปฌานนี่ก็ทรงฌาน ๔ นั่นเอง แต่มาจับเป็นส่วนอรูป อารมณ์มันเท่ากัน มาจับ เนวสัญญานาสัญญายตนะฌาน เรามีสัญญาความรู้สึก ทำตนเหมือนคนไม่มีสัญญา เพราะเห็นว่าร่างกายไม่มีสาระ ร่างกายไม่มีแก่นสาร ร่างกายเป็นปัจจัยของความทุกข์ วัตถุทั้งหมดไม่มีอะไรเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ไม่มีอะไรเป็นที่อาศัยจริงจัง ตายแล้วก็เอาไปไม่ได้

ทีนี้เวลาร่างกายมันจะหิว มันมีอาหารกินก็กิน ไม่มีกินก็ทำสบาย รู้สึกว่าหิวแล้วทำเหมือนว่าไม่หิว มันหนาวมันไม่มีอะไรจะเป็นเครื่องปกปิด ก็นอนมันเฉย ๆ มันหนาวก็หนาวไป ทำเหมือนว่าเป็นคนไม่หนาว ร้อนก็ทำเฉย ๆ ทำเหมือนว่าเป็นคนไม่ร้อน ใครเขาด่าว่าอะไรก็ทำเหมือนว่าไม่มีคน ไม่สนใจกับอะไรทั้งหมด มีสัญญาก็เหมือนกับคนไม่มีสัญญา คือ ความจำมันมีอยู่ แต่ทำเหมือนกับคนที่ไม่มีความจำ ทำแบบนี้แล้วจิตมันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ จิตมันเป็นสุขถือว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา หนาวก็หนาวไป ช่างหัวมันไม่สนใจ ร้อนก็ร้อนไป มันอยากหิว หิวก็หิวไป ไม่มีจะกินก็แล้วไป มีกินก็กิน ไม่มีก็ไม่กิน มันอยากจะแก่ก็แก่ไป มันอยากจะป่วยก็ป่วยไป มันจะตายเมื่อไรก็ช่างหัวมัน ขันธ์ ๕ ไม่ดีไม่มีประโยชน์ เพราะเรามีขันธ์ ๕ คือ มีร่างกาย เราจึงมีร้อน มีหนาว มีสุข มีทุกข์ มีหิว มีกระหาย มีปวดอุจจาระปัสสาวะ ขันธ์ ๕ มันไม่ดี เราไม่ตั้งใจจะคบเลย ไม่ต้องการจำอะไรมันทั้งหมด ไม่สนใจอะไรกับมันเลยทั้งหมด อย่างนี้เรียกว่าเป็น สมาบัติที่ ๘ นี่อาการมันใกล้วิปัสสนาญาณเต็มที

ฉะนั้น องค์สมเด็จพระชินศรีจึงกล่าวว่า คนทีได้สมาบัติ ๘ แล้ว ถ้าเจริญวิปัสสนาญาณ พระโบราณาจารย์สมัยโบราณท่านบอกว่า เพียงแค่เคี้ยวหมากแหลกเดียวก็เป็น พระอรหันต์

หากว่าเราได้สมาบัติ ๘ แบบนี้แล้ว ใช้สมาบัติ ๘ เป็นพื้นฐาน พิจารณาวิปัสสนาญาณในด้าน สังโยชน์ ๑๐ คือ มีสักกายทิฏฐิ เป็นต้น หรือว่า พิจารณา อริยสัจ ๔ วิปัสสนาญา ๙ หรือ พิจารณาขันธ์ ๕ ก็ตาม ประเดี๋ยวเดียวมันก็เป็นพระโสดา สกิทาคา อนาคา

พอเข้าถึงพระอนาคามี เราก็ได้ปฏิสัมภิทาญาณ มีกำลังครอบงำ วิชชา ๓ อภิญญา ๖ ทั้งหมด เราได้ไปหมดเลย ไม่ต้องไปฝึกกันเหมือนสมัยเป็นฌานโลกีย์

อะไรก็ตามที่พระวิชชา ๓ ทำได้เราก็ทำได้ พระอภิญญา ๖ ทำได้เราก็ทำได้ การรู้ภาษาคน ภาษาสัตว์ ไม่ต้องเรียน รู้หมด เข้าใจหมดทุกอย่าง มีความฉลาดในการย่อข้อความที่เยิ่นเย้อ ข้อความที่ยาวเราย่อให้สั้นแบบได้ความ เขาพูดมาสั้น ๆ เราขยายออกไปให้ยาวให้ได้ความชัด เราทำได้อย่างดี อย่างนี้เรียกว่า ปฏิสัมภิทาญาณ

เอาละ บรรดาทุกท่านวันนี้เราพูดถึง พุทธานุสสติกรรมฐาน ถึงจุดนี้ สมาบัติ ๘ ซึ่งท่านทั้งหลายไม่เคยฟังมาก่อน แต่ว่าผมทำมาก่อน ผมทำได้ ที่พูดให้ฟังนี่ ผมทำได้ แต่ว่าทำตามอาจารย์สอน ไม่ใช่ผมสร้างขึ้นเอง ความจริง ความรู้นี้องค์สมเด็จพระบรมครูก็ทรงแนะนำไว้ แต่ว่าไม่มีใครนำมาสอนกัน ไม่ใช่ว่าไม่มีใครเลยนะ มีใครมาสอนกันผมก็ไม่รู้ ที่ผมรู้ขึ้นมาได้ ก็เพราะอาจารย์รุ่นก่อนท่านมีความฉลาด สามารถดัดแปลงคำสอนขององค์สมเด็จพระบรมโลกนาถ ไม่ใช่ดัดแปลงหรอก เอามารวมกัน เอาอนุสสติ คือ พุทธานุสสติ อานาปานุสสติ กสิณ เข้ามารวมกันเข้าหมดเป็นจุดเดียวกัน

เมื่อได้เข้าถึงฌาน ๔ แล้ว ก็จับเอาภาพพระพุทธรูปเป็นกสิณยืนโรง แล้วก็เพิก จับอรูปฌาน นี่ความฉลาดของการเจริญพระกรรมฐานมีคุณแบบนี้

เอาละ สำหรับวันนี้ การพูดสำหรับวันนี้ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ต่อแต่นี้ไปขอทุกท่านตั้งกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา สวัสดี

ส่งบทความโดย คุณ grumgrim

ไฟล์แนบ: คุณจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถดูและดาวน์โหลดไฟล์แนบได้ หากยังไม่มีแอคเคานต์หรือยังไม่ได้เป็นสมาชิก กรุณาสมัครสมาชิก

Rank: 1

satu satu sau

Rank: 1

อนุโมทนาครับ  ชอบบทความนี้มากครับ หลวงพ่อสอนเข้าใจง่ายมากครับ

Rank: 1

น้อมกราบหลวงพ่อ สาาธุ....น้อมกราบอนุโมทนามิ สาาาธุ

Rank: 1

ผมทำได้แค่ อุปจารสมาธิ อนุโมทนาสาธุ

Rank: 1

อ่านจนจบ เก็บความรู้ตามตลอด  ได้วิธีปฏิบัติตรงจากหลวงพ่อ  เพื่อต่อยอดขึ้นเรื่อยๆ  ขอกราบโมทนาในความเมตตาอธิบายขั้นตอนการพิจารณาอย่างละเอียดของหลวงพ่อ และขอโมทนาในความเมตตาของท่านเจ้าของกระทู้ที่เผยแพร่เป็นธรรมทานด้วยนะคะ  เก้าขออนุญาตคัดลอกไปฝึกปฏิบัติตามต่อไปด้วยนะคะ  ขอบพระคุณค่ะ

Rank: 1

สาธุครับ ขออนุโมทนาสาธุครับ ขอน้อมไปเพื่อปฏิบัติครับท่านพ่อ สาธุ

‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2025-1-16 01:44 , Processed in 0.051890 second(s), 15 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.