แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
ดู: 4581|ตอบ: 4
go

การฝึกอภิญญาหก [คัดลอกลิงค์]

Rank: 9Rank: 9Rank: 9

การฝึกอภิญญาหก
วันที่: วันจันทร์ 10 กันยายน 2007 @ 16:02:11
หัวข้อ: รวมคำสอน หลวงพ่อฯ

การฝึกอภิญญาหก

การที่บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายตั้งใจจะมาฝึกพระกรรมฐาน พระกรรมฐานที่บรรดาท่านฝึกอยู่นี่ เป็นการเตรียมตัวเพื่ออภิญญาหก คือมันสูงกว่าวิชชาสาม กรรมฐานนี่ความจริง ถ้าเราจะฝึกกันจริงๆ ตามแบบมันก็หลายพันแบบด้วยกัน แต่ว่าทุกแบบต้องมาลงใน ๔๐ แบบ ที่เรียกว่ากรรมฐาน ๔๐

กรรมฐาน ๔๐ นี่เป็นต้นแบบใหญ่อย่าลืมว่ากรรมฐานไม่ได้มีแบบเดียวนะแล้วแต่ละ ๔๐ แบบ แยกเอาการฝึกข้อปลีกย่อยได้เป็นพันๆ จะเป็นการฝึกข้อปลีกย่อยกี่พันแบบแล้วต้นฐาน ๔๐ แบบก็ตาม ก็ย่อเป็นกรรมฐาน ๔ หมวดต้องเข้าหมวดใดหมวดหนึ่งให้ได้ ถ้าเข้าหมวดใดหมวดหนึ่งไม่ได้นั่นคือ ไม่ใช่กรรมฐานที่พระพุทธเจ้าสอนไว้

หมวดที่ ๑ เรียกว่า สุกขวิปัสสโก ที่บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายฝึกกันเป็นปกติ หมวดนี้ไม่มีความเป็นทิพย์ของจิต ไม่สามารถเห็นสวรรค์ เห็นเทวดาเห็นพรหมโลกได้ไม่สามารถจะไปได้แต่ว่ามีญาณสมบัติได้ เป็นพระอริยเจ้าได้ ไปนิพพานได้

หมวดที่ ๒ เรียกว่าเตวิชชโช หมวดนี้พอจิตเข้าถึงอุปจารสมาธิแล้วต้องฝึกทิพจักขุญาณ เมื่อฝึกทิพจักขุญาณได้แล้ว ก็ต้องเข้าไปฝึกปุพเพนิวาสานุสสติ คือระลึกชาติได้ เมื่อได้ทั้ง ๒ ประการแล้วใช้กำลังณานทั้ง ๒ ประการเข้าช่วยวิปัสสนาญาณเป็นพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี พระอรหันต์เรียกว่า พระวิชชาสาม หมวดนี้สามารถเห็นสวรรค์ นรก เห็นพรหมโลก หรืออะไรก็ได้ทั้งหมด แต่ไปไม่ได้ ได้แต่เห็นอย่างเดียว นั่งตรงนี้คุยกับเทวดาหรือพรหมก็ได้ นั่งคุยตรงนี้กับสัตว์นรกก็ได้ อย่างนี้วิชชาสาม

แต่หมวดที่บรรดาท่านพุทธบริษัทปฏิบัติกันอยู่นี้ เป็นหมวดของอภิญญาหกนี่เราไปได้ไปได้ตามชอบใจ จะไปสวรรค์ ไปพรหมโลก ไปนิพพาน ไปนรกเปรต อสุรกายไปได้หมด ประเทศต่างๆ ไกลแสนไกลแค่ไหน ประเทศในมนุษย์โลก นี่มันไม่ไกลหรอก เราสามารถไปได้ดวงดาวต่างๆ ที่ฝรั่งจะไปเราก็ไปได้ไม่ต้องลงทุนอย่างนี้เป็น...อภิญญาหก

สำหรับปฏิสัมภิทาญาณ นี่มีความรู้ฉลาดมาก ปฏิสัมภิทาญาณมีความสามารถคลุมหมด คลุมสุกขวิปัสสโกด้วยเอาไว้ในตัว เอาวิชชาสามเข้าไว้ด้วย แล้วก็ฉลาดมาก คือว่าฉลาดในธรรมขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทุกอย่าง เรียกว่าปฏิสัมภิทาญาณ

สำหรับตอนนี้ขอคำแนะนำเรื่องของอภิญญาหก มาแนะนำแก่บรรดาท่านพุทธบริษัทคือว่าทุกคนเวลานี้เป็นการเตรียมตัวเพื่ออภิญญาหก มโนมยิทธินี่เขาถือว่าเตรียมตัวเพื่ออภิญญาหก เหมือนนักเรียนเตรียมเข้ามหาวิทยาลัย เตรียมตัวไว้ก่อนซ้อมไว้

อภิญญากจริงๆ บรรดาท่านพุทธบริษัทอาจจะทำได้จนเป็นสาธารณะต่อ เมื่อถึง พ.ศ. ๒๕๔๓ ตอนนั้นถ้าคนไม่ขี้เกียจ จะสามารถทำอภิญญาหกได้ เวลานี้จะได้เป็นบคคลบางคน อย่างนักเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบ เวลานี้เธอสามารถใช้กำลังอภิญญาหกได้บางส่วน คือไปไหนก็ไปทั้งตัว จะไปนรก ไปสวรรค์ ไปพรหมโลก ก็ยกตัวร่างกายไปเลย แต่ว่ากำลังของอภิญญาหกจริงๆ ยังใช้หมดไม่ได้ ใช้ได้เฉพาะแค่รู้ เพราะกำลังจริงๆ จะเข้ามาถึง พ.ศ. ๒๕๔๓ ถ้าถึง พ.ศ. ๒๕๔๔ อันนี้เป็นสาธารณะจริงๆ

สำหรับอภิญญาหกบรรดาท่านพุทธบริษัท ก็เราก็ไปกันอย่างที่เราฝึกนี่แหละเราสามารถแสดงฤทธิ์แสดงเดชได้ ต้องการจะทำอะไร แค่นึกมันก็เกิดขึ้นทันที ถ้าเราเป็นคนแก่ อยากจะให้คนอื่นเห็นเป็นคนหนุ่มสาว นึกว่าให้เห็นอย่างคนขนาดนั้น อายุแบบนั้น รูปร่างแบบนี้มันก็เป็นทันทีเอากันแค่นึก

อภิญญาหกที่เขาใช้แค่นึกเท่านั้นนะ ไม่ใช่ไปนั่งเข้าสมาธิเสียเวลา ๑ นาที อันนี้ใช้ไม่ได้ แค่นึกปั๊บมันจะเป็นทันที นึกอยากจะไปไหนร่างกายถึงทันทีทันใด มันเร็วกว่าลัดนิ้วมือหนึ่ง จะไปสวรรค์ จะไปนรก จะไปประเทศไหนก็ตาม พอนึกปั๊บมันจะไปถึงเลย นี่เป็นกำลังของอภิญญาหกส่วนหนึ่ง

ฉบับนี้ก็ขอแนะนำบรรดาท่านพุทธบริษัท ในด้านการเตรียมตัวก่อน การเตรียมตัวเวลานี้เราใช้กำลังของมโนมยิทธิไม่เต็มกำลัง ที่ใช้เวลานี้เป็นกำลังส่วนหน้า ส่วนหน้าที่ขั้นเป็นกำลังของวิชชาสาม ว่าใช้กำลังของอภิญญาจริงๆ เราไปกันไม่ได้ ฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านแนะนำให้ลดกำลังส่วนหน้าลง คือใช้กันแค่ อุปจารสมาธิ ถ้าเป็นกำลังของฌาณ ๔ เป็นพื้นฐาน ถึงแม้ว่าจะได้ครึ่งกำลังก็ถือว่าเป็นการเตรียมตัว เหมือนนักเรียนเตรียมปีแรกต่อไประหว่างพรรษานี้จะเริ่มฝึกเต็มกำลังใครทำได้ก็ได้ ไม่ได้ก็แล้วไป ครูมีหน้าที่สอน เป็นเรื่องความฉลาดของคน ใครโง่มากก็ไม่ได้เลย โง่น้อยก็ได้บ้าง ถ้าพยายามไม่โง่เลยได้ทั้งหมด แต่ว่าฝึกเต็มกำลังได้นี่ถือว่า กำลังจิตของเราได้ครึ่งหนึ่งของอภิญญาหก และหลังจากนั้นก็จะขอฝึกฝนอภิญญาหกต่อไป ค่อยๆ ฝึก

สำหรับเบื้องต้นนี้บรรดาท่านพุทธบริษัทที่ได้แล้วก็ดี เพิ่งจะฝึกก็ดี หรือตั้งใจจะมาฝึกก็ดี ให้ใช้กำลังใจตามนี้ไว้ก่อนรักษาความดีไว้คือ

๑. พยายามไม่สนใจในจริยาของบุคคลอื่น
ใครเขาจะดีใครเขาจะเลวแบบไหนมันเรื่องของเขา เราสนใจเฉพาะกำลังใจของเราเอง กำลังใจของเรามันดีหรือมันเลว เพราะเราไม่ได้ห่วงตัวเอง เราไปห่วงคนอื่นเขา ประโยชน์อะไรจะเกิดกับเรา คนอื่นเขาเลวก็เป็นเรื่องของเขา คนอื่นเขาดีก็เป็นเรื่องของเขา ถ้าเราไปสนใจเขา เราก็ทิ้งความดีไปหาความเลว

อันดับแรก ให้ห่วงใจตัวเองว่าเวลานี้ จิตที่เราจะพึงทำน่ะ มันพร้อมแล้วหรือยังที่จะรักษาความดี คือ

มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา คำว่ามีศรัทธาในพระพุทธศาสนานี่ ความเชื่อในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์เราพร้อมแล้วหรือยัง ถ้าวันไหนมีความสงสัยขึ้นมาให้ชื่อว่าเราเลวเสียแล้ว

การกำจัดความชั่วที่เป็นความโลภ คือการคิดอยากได้ในทรัพย์สินสมบัติของบุคคลอื่นเอามาเป็นของตนโดยไม่ชอบธรรม และจิตไม่คิดมีการเผื่อแผ่มันเกิดขึ้นกับใจเราไหม ถ้ามีก็เตือนใจบอกเราเลวไปแล้ว คือกำลังใจของเรามีให้คิดว่าขึ้นชื่อว่า ทรัพย์สมบัติของใครก็ตามทีเราไม่สามารถจะได้มาโดยชอบธรรมเราไม่เอา แล้วกำลังใจเป็นจาคานุสสติ คิดว่าถ้าใครเขามีทุกข์ ถ้าไม่เกินวิสัยเราจะช่วย ถ้ากำลังใจทั้ง ๒ ประการนี้ยังอยู่ประจำใจเสียแล้ว ความดีด้านโลภะการกำจัดโลภะของเรามีในใจ โลภะ ความโลภไม่เกาะใจนี่ดีมาก ทั้งหมดนี้เป็นข้อที่ ๑

๒. การคิดประทุษร้ายบุคคลอื่นมีไหม
อยากจะคิดให้คนนั้นเป็นอย่างนั้น คนนี้เป็นอย่างนี้ อยากจะคิดเข่นฆ่า อยากจะคิดทรมานเขามีไหม ถ้ามันมีถือว่าใช้ไม่ได้ ต้องคิดว่าคนเกิดมา คนก็ดี สัตว์ก็ดี เกิดมามันต้องตายกันหมด ถ้าเราจะทรมานเขาให้ลำบากก็ไม่ต้องไปทรมาน มันลำบากอยู่แล้ว ทุกคนมีความหิว ทุกคนมีความร้อน มีความกระหาย มีการป่วยไข้ไม่สบาย ปวดอุจจาระ ปัสสาวะ มีการงานที่จะต้องทำ มีความแก่ลงไปทุกวัน มีความตายในที่สุด เขาถูกทรมานอยู่แล้วไม่ต้องไปช่วยเขา ถ้าไปช่วยเขาเราจะเลวมากขึ้น คิดอย่างเดียวว่าเราจะเป็นมิตรที่ดีของคนและสัตว์ทั้งโลก แต่ว่าเผลอบ้างอะไรบ้างเป็นของธรรมดา ถ้าจิตยังไม่ถึงที่สุดคิดไว้อย่างนี้เชื่อว่าความดีเข้าถึงใจเรา เป็นการทำลายความโกรธ

๓. ทำลายความหลง
เราเมาในร่างกายเกินไปไหม เมาในทรัพย์สินเกินไปไหม ชีวิตที่เกิดมานี่มันต้องตาย จิตเราเคยคิดถึงความตายไหม ถ้ายังไม่คิดถึงความตายนี่มันเลวที่สุด เมื่อกิดขึ้นมาแล้วสมบัติที่จะพึงได้คือแก่ทุกวัน ไอ้กำลังความแก่มันมีอยู่ ก็อย่าไปลืมความแก่ คิดว่าเรามันต้องแก่ทุกวัน ไอ้ความแก่ของเรานี่มันจะแก่ถึงไหนไม่แน่ ให้คิดว่าความตายจะมาถึงเราในวันนี้ไว้ก่อน มันแก่มาแค่นี้ถือว่าแก่นานแล้ว แต่วันนี้อาจจะตายก็ได้ ให้กำลังใจพร้อมไว้คือ ไม่เมาในชีวิตอย่างนี้องค์สมเด็จพระธรรมสามิสรกล่าวว่า เป็นผู้ทำลายความหลงในจิต เอากันอย่างย่อนะ

ถ้าเราคิดว่าความตายตื่นขึ้นมาตอนเช้าคิดว่าความตายอาจจะมีกับเราในวันนี้เราทำอย่างไร เราอยากไปสวรรค์ หรือเราอยากไปพรหมโลกเวลาตาย หรืออยากจะไปนิพพาน แต่ว่าสังคมนี้ไม่ต้องการสวรรค์ ไม่ต้องการพรหมโลก ต้องการนิพพาน

ถ้าเราต้องการนิพพานก็ทบทวนความดีของเรา ที่เราฝึกกรรมฐานน่ะ วิมานของเราที่นิพพานมีหรือเปล่า ถ้าวิมานของเรามีที่นิพพานน่ะ บารมีเราเต็มแล้ว เราก็ไม่ควรจะสละสิทธิ์ เพราะว่าคนที่มีบารมีเต็ม มีวิมานที่นิพพานน่ะ คนนั้นมีสิทธิจะไปนิพพานในชาตินี้ แต่ว่าที่ไม่ไปกันก็มีเยอะมัวเมาในชีวิตเกินไปสละสิทธินิพพานไปชาติต่อไป อันนี้โง่มาก

ถ้าเราคิดว่ามีวิมานที่นิพพานของเรามี เวลาตอนเช้ามืดตื่นขึ้นมา เราร่างกายมันเพลียไม่อยากนั่งก็ไม่ต้องนั่ง นอนแบบนั้นแหละรวบรวมกำลังใจ ตัดสินใจว่าร่างกายมันเลวอย่างนี้ ไม่ต้องการมันอีก ความเป็นมนุษย์มีแต่ความวุ่นวาย มีแต่ความทุกข์ไม่ต้องการมันอีก เราต้องการจุดเดียวคือนิพพาน เพียงเท่านี้พุ่งใจไปนิพพานทันทีไปนั่งอยู่ข้างหน้าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลยก็ดี เข้าวิมานของเราก็ได้ ถ้าเข้าในวิมานของเราถ้าเราไม่เห็นพระพุทธเจ้า พอนึกถึงท่านปั๊บท่านจะมาทันที เราก็ตัดสินใจว่า ถ้าร่างกายมันตายวันนี้หรือเมื่อไรก็ตามขอมาที่นี่จุดเดียว

แค่นี้บรรดาท่านพุทธบริษัท ก่อนจะตายวันนั้นท่านต้องเป็นพระอรหันต์ก่อนเป็นยังไง มันเป็นเองไม่ต้องห่วงหรอก ทำจิตอย่างนี้กันทุกวันเป็นอรหันต์เอง วันก่อนจะตายและวันนั้นก็นิพพาน แค่นี้บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่านต้องทำให้ได้

ต่อไปนี้ก็จะพูดถึงการปฏิบัติ เข้ามาใหม่ๆ
อันดับแรก ทุกคนต้องมีศรัทธาไว้ก่อน เรื่องของพระศาสนานี่ไม่ศรัทธา ความเชื่อนี่ ไม่ได้ผลเลย

ประการที่สอง ฝึกตัดกังวล ขณะที่มาอยู่ที่วัดนี่ไม่ห่วงอะไรมาเลยที่บ้าน ถ้าคนฉลาดนี่เขาไม่ห่วง ไอ้คนห่วงน่ะคนโง่ ใช้ปัญญาคิดนิดนึงว่า เรานั่งอยู่ตรงนี้ ทางบ้านมันจะเกิดอะไรขึ้น เราเห็นไหม เรารู้ไหม เรารู้ไม่ได้ เห็นไม่ได้ แต่ว่าถ้าเราได้มโนมยิทธิ ถ้าเราห่วงเราย่องไปประเดี๋ยวหนึ่งก็ได้ และเวลานี้ต้องตัดความห่วง เวลานี้ทำจิตให้มันดี พยายามตัดความห่วงให้มาก ถ้าความกังวลคือความห่วงไม่มี จิตมันก็เริ่มเป็นสมาธิ เรียกว่านิวรณ์ไม่กวนใจ หลังจากนั้นทุกคนคุมศีลให้บริสุทธิ์ ตั้งแต่บัดนี้ไปจนกว่าจะถึงวันตาย ไม่ใช่เฉพาะวันนี้และไม่ใช่อยู่ที่วัด ถ้าหากว่าคุมศีลไม่ได้วันไหน ญาณมันหล่น ปฏิบัติอย่างนี้คือ

๑. จะไม่ทำลายศีลด้วยตนเอง
๒. ไม่ยุยงส่งเสริมให้บุคคลอื่นทำลายศีล
๓. ไม่ยินดีเมื่อบุคคลอื่นทำลายศีลแล้ว


หลังจากนั้นถ้าเรายังไม่เป็นพระอนาคามี นิวรณ์มันยังตัดไม่ได้ เอาแค่ระงับ ชั่วคราว คือ

๑. กามฉันทะ ความพอใจในเพศตรงข้าม ยามปกติต้องมีและก็ต้องใช้ ก่อนจะทำกรรมฐานมันก็มี และต้องใช้ เลิกกรรมฐานแล้วก็มีแล้วก็ใช้ อันนี้ไม่มีใครเขาว่า แต่ว่าเวลาที่เราจะเริ่มทำจิตเป็นสมาธิ ตัดกำลังนี้ออกจากใจไปชั่วคราว เวลานี้เราไม่ต้องการอะไรทั้งสิ้น

๒. ความไม่พอใจอย่าให้มี

๓. ไอ้ความง่วงนี่ ถ้าเราโง่มันก็ง่วง ไม่โง่ก็ไม่ง่วง แล้วเวลาจะทำอย่าให้มันดึกเกินไป ใช้เวลาหัวค่ำ กลางวัน เวลาไหนก็ได้เวลาทำ ต้องเป็นคนไม่มีเวลาแน่นอน เวลาไหนเราก็ทำได้ เวลาเราจะง่วงจะเพลียจัด เราก็อย่าไปทำมันซิ ไม่มีความง่วง

๔. ควบคุมกำลังใจว่าเวลานี้ฉันจะภาวนา เวลานี้ฉันจะพิจารณาเวลานี้ฉันรู้ลมหายใจเข้าออก อย่างอื่นอย่าเข้ามายุ่งกับฉัน

๕. เราจะไม่สงสัยในผลปฏิบัติ หลังจากนั้นสมเด็จพระทรงสวัสดิโสภาค ให้ฝึกตื่นขึ้นมาเช้าคิดไว้เสมอว่า วันนี้เราจะเป็นมิตรที่ดีของคนและสัตว์ทั่วไป บุคคลใดมีความทุกข์ เราจะเกื้อกูลให้มีความสุข ถ้าหากว่าถ้ามีใครเพลี่ยงพล้ำเราจะไม่ซ้ำเติม

แค่นี้แหละบรรดาท่านพุทธบริษัท กำลังใจทรงแค่นี้เราถือว่าเป็นผู้ทรงฌาน รักษาอารมณ์อย่างนี้ไว้ได้ฌานทุกอย่าง ฌานทุกอย่างจะไม่มีเสื่อม มีแต่ก้าวหน้า ต่อไปเป็นการรักษากำลังใจ นี่เป็นเรื่องเบื้องต้นของมโนมยิทธิ จะไม่อธิบายถึงผล ผลต่างๆ ก็คือครูฝึกให้แล้ว ถ้าทรงกำลังได้อย่างนี้ คำว่าเสื่อม คำว่าถอยหลังไม่มี

ต่อไปที่บอกไว้ในเบื้องต้นว่า การฝึกแบบนี้เป็นการเตรียมตัวเพื่ออภิญญาหก ทีนี้คำว่าอภิญญาหกนี่มันก็ต้องมี "อาสวักขยญาณ" คือตัดกิเลส ถ้าตัดกิเลสไม่ได้ เขาถือเป็นอภิญญาห้า

อภิญญาห้านี่เราจะฝึกกันทำไม ฝึกกันเท่าไนมันก็ยังลงนรกอยู่ อย่างพระเทวทัตได้อภิญญาห้าเหาะลงนรกไปเลย มันต้องเป็นอภิญญาหก คือตัดกิเลสให้ได้ ตัดกิเลสนี่มี ๓ ตอน คือ สังโยชน์ ๑๐ มีความตัดจริงๆ ๓ ตอน ทีแรกตัดตอนต้นให้ได้

ตอนต้นคืออารมณ์ของพระโสดาบันและสกิทาคามี ถ้าคนที่มีวิมานที่นิพพานแล้วทำไม่ได้อย่างนี้ อยากจะพูด ภาษาไม่หยาบก็จะไม่พูด แต่จะพูดให้ฟัง ที่ว่าอยากจะพูดว่าเลวกว่าหมา นี่พูดไม่ได้หรอกบอกให้ฟัง คือว่าถ้ามีวิมานอยู่ที่นิพพานนี่กำลังใจของเราบารมีมันถึงนิพพานแล้ว สังโยชน์ ๓ ตัดไม่ได้ก็ลเวเต็มที สังโยชน์ ๓ มีอะไรบ้าง กำลังของพระโสดาบันกับสกิทาคามีนี่ต้องได้ กำลังของพระโสดาบัน สกิทาคามี เขามีความรู้สึกอย่างไร เอาความรู้สึกที่มีอยู่ประจำตัวคือ

๑. มีความรู้สึกว่าชีวิตนี้มันต้องตาย จะตายเมื่อไรก็ช่าง คิดว่าอาจจะต้องตายวันนี้ไว้เสมอ คุมความดีไว้ แค่นี้คิดไม่ได้ก็เลวเต็มที

๒ . ใช้ปัญญาพิจารณาความดีของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ว่าเราควรเคารพนับถอไหม แค่นี้ยังสงสัยก็เลวอีกแล้ว

๓. ทรงศีลให้บริสุทธิ์ตามฐานะของตัว ฆราวาสนี่แค่ศีล ๕ พอ พระก็ ๒๒๗ และก็มากกว่านั้นนะ คืออภิสมาจารนี่มีอีกเยอะ ธรรมนี่มีอีกเยอะ สามเณรนี่ศีล ๑๐ พร้อมกับเสขิยวัตร ๗๕ เฉพาะฆราวาสนี่แค่ศีล ๕ ทรงให้ได้ ถ้าทรงศีล ๕ ได้ก็ดี ถามว่าทรงวันไหนบ้าง ทรงตั้งแต่วันนี้ไปจนกว่าจะหมดลมหายใจเข้าออก อารมณ์ของพระโสดาบัน สกิทาคามี มีแค่นี้เป็นพระอริยเจ้าแล้ว ตัดกิเลสเบื้องต้นได้แล้ว ถ้าได้อภิญญาคือเป็นอภิญญาหกอีก ๒ จุด จะไม่พูดถึง ไม่จำเป็น เอาแค่นี้ให้ได้ก่อน หลังจากนั้นเป็นการซักซ้อมไว้เพื่ออภิญญา

ฉะนั้นการฝึกอภิญญานี่มันมี ๒ แบบ คนที่ไม่เคยได้มาในชาติก่อน เราฝึกอีกแบบหนึ่ง คนที่เคยได้แล้วในชาติก่อนเราก็ฝึกอีกแบบหนึ่ง

วันนี้จะพูดเฉพาะคนที่ได้แล้วมาในชาติก่อน และคนที่ได้มโนมยิทธิมาแล้ว ทุกคนเคยได้มาแล้วทั้งนั้น ถ้ากาลเวลาเข้าถึงทำไม่ได้ แสดงว่าคบความโง่ไว้มากกว่าความฉลาด ฉะนั้นเคยได้มาแล้วต้องเอาของเก่ามาใช้ให้ได้ เวลานี้มโนมยิทธิที่ฝึกได้แล้วต้องทำให้เข้มข้น อย่าปล่อย เพราะมันเป็นก้าวแรกที่จะเข้าสู่อภิญญา วิธีปฏิบัติเบื้องต้น มีความสำคัญต้องทำ ให้ทรงกำลังใจตามนี้ คือไม่ต้องไปไล่หน้ากสิณ ทีแรกคิดว่าจะไล่กสิณเล่นโก้ๆ ท่านบอก

"ไม่จำเป็น คนพวกนี้ไม่จำเป็นต้องไปนั่งไล่กสิณ เพียงแค่กำลังใจเข้าถึงฌานเท่านั้นแหละเข้าถึงเต็มกำลัง อภิญญาเก่าจะเข้าทันทีใช้ได้หมดเลย"


แต่ว่าต้องเป็น พ.ศ. ๒๕๔๓ ขึ้นไปให้เริ่มใช้ตั้งแต่เวลานี้ เริ่มใช้ตั้งแต่เวลานี้จิตจะได้ทรงตัว ถ้าคนก็จะเป็นคนดี ถ้าพระก็จะเป็นพระดี ไอ้พระเลวๆ ที่มันเลวมันไม่ได้ทำ ถ้าพระวัดนี้พระองค์ไหนเลว ไม่พลาดอเวจีหรือโลกันตนรก อย่าลืมนะ

นี่วิธีรักษากำลังใจเพื่ออภิญญา เมื่อตอนที่องค์ปฐมท่านมา ท่านบอกใช้อย่างนี้ ให้จับภาพพระพุทธเจ้าเป็นปกติ ให้จิตทรงกำลังฌาน ๔เป็นปกติ ไอ้ทรงฌาน ๔ เป็นปกติ ฌาน ๔ นี่เวลาเราออกจากร่างกาย นี่เราเป็นฌาน ๔ แล้ว แต่นั่นเป็นฌาน ๔ เบื้องต้นที่มีกำลังอ่อน ต้องใช้ให้มีกำลังเข้มข้น นั่นคือนึกถึงภาพพระพุทธเจ้าเมื่อไร นึกปั๊บเห็นทันที นึกจับภาพพระรูปพระโฉมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ชัดเจนแจ่มใส ตามกำลังให้ได้ทุกวัน ทุกวันและทุกเวลาที่เราต้องการ ไม่ใช่นั่งรอเวลาเงียบสงัด ไม่ใช่อย่างนั้น เดินไปเดินมาทำงานอยู่นึกปั๊บให้เห็นเลย เห็นแล้วขออธิษฐานพระพุทธเจ้าขอพระองค์ทรงโตขึ้น ใหญ่ขึ้น สว่างกว่านี้เล็กลง อยู่ข้างบน สูงมาก สูงน้อย เราทำอย่างนั้น อย่าคิดว่าเป็นการปรามาสพระรัตนตรัย ไม่ใช่ นี่อาตมาแนะนำเอง

ขอให้ทรงกำลังใจให้เป็นอย่างนี้เป็นปกติ เพราะการเดินไปเดินมา พระก็ตามเดินไปบิณฑบาตเดินไปทำงาน ทำอะไรอยู่ให้เห็นภาพพระพุทธรูปเป็นปกติที่ต้องการจะเห็น ถ้าอย่างนี้ทุกคนจะอยู่ในเกณฑ์สำรวม ความวุ่นวายจะไม่มีในจิต ความเลวของคนของพระจะไม่มี ญาติโยมสังเกตไว้นะ ถ้าพระองค์ไหนมันเลว มันไม่ทำแบบนี้หรอก ถ้าจับแบบนี้อารมณ์เลวไม่มีแล้วงานจะต้องเป็นไปตามปกติ นักเจริญนักกรรมฐานนี่เขาเคร่งครัดในงาน เพราะต้องเป็นคนเคร่งครัดในกาลเวลา ถ้าไม่เคร่งครัดในกาลเวลาทำไม่ได้ แม้แต่กรรมฐานเบื้องต้น เขาก็เคร่งครัดในกาลเวลาหรือการงาน

รวมความว่าถ้าจับภาพเป็นปกติ สำหรับเรื่องกสิณนี่ไม่ใช่ของแปลกและลองเล่นกสิณอย่างใดอย่างหนึ่งไว้เป็นอดิเรก อย่าใจร้อน อันดับแรกจับภาพพระพุทธเจ้าให้ชัดเจน ต้องฝึกตัวนี้ก่อน เดินไปเดินมานึกเมื่อไรเห็นภาพปั๊บทันที นอนหลับตื่นปั๊บเห็นปั๊บทันที ปวดท้องขี้ เดินเข้าส้วมนึกถึงภาพพระพุทธเจ้าก็ชัด ต้องอย่างนี้อภิญญาไม่ใช่มานั่งทำ เขาเดินทำเขาวิ่งทำกัน

การทรงกำลังของสมาธิ เมื่อได้ทุกขณะแล้วอย่าใจร้อน เมื่อได้ตามความต้องการนึกเมื่อไรเห็นชัดเจน นึกเมื่อไรเห็นชัด ต่อนั้นไปก็เอากสิณอย่างใดอย่างหนึ่งมาเล่นเป็นงานอดิเรก กสิณลมนี่มันเล่นยาก ความจริงอยากจะให้เล่นกสิณลม กสิณลมนี่มันเหาะได้นะโก้ดี แต่มันเล่นยาก ถ้าไม่ฉลาดนี่มันเล่นยาก เอาง่ายๆ ดีกว่าถ้าปฐวีกสิณก็ได้หรืออาโปกสิณก็ได้ เอาง่ายๆ

ถ้าปฐวีกสิณก็จับดินขึ้นมา เอาดินสีอรุณขึงไว้ทำวงกลมให้โตพอที่ตามองเห็นแล้วไม่เห็นขอบวงกลม จับภาพให้ทรงตัวแต่ก็ไม่สะดวกอีก ต้องอาโปกสิณดีกว่า

อาโปกสิณเล่นง่าย ถ้ามันทำได้อย่างใดอย่างหนึ่ง มันได้หมด ถ้าอาโปกสิณเอาน้ำมาใสแก้วไว้หรือใส่ขันจับภาพพระพุทธเจ้าเดินไปเดินมาก็เห็นชัด นั่งก็เห็นชัด พอจับภาพพระพุทธเจ้าเห็นชัดเจนแจ่มใสแพรวพราวเป็นระยับ เป็นฌาน ๔ ทรงตัว ขอพระองค์โตขึ้น เล็กลง อย่างนี้สะดวกมาก ได้แน่นอนจิตไม่ว่อกแวกตามกำลัง ตั้งวเลาไว้ ๑๐ นาที ๒๐ นาที ๓๐ นาที ให้ทรงตัว ให้ได้ ถ้า ๓๐ นาทีมันไหลไปนิดหนึ่ง ยังใช้ไม่ได้ ยังเล่นกสิณไม่ได้ มันทรงจริงๆ ภาพทรงตัวเวลานั้นก็เอาน้ำมาตั้ง จับภาพพระพุทธเจ้าให้ชัดเจนแจ่มใส เป็นกำลังของฌาน ๔ คือแพรวพราวเป็นระยับเป็นณาน ๔

หลังจากนั้น ถอยหลังมา ขอกำลังบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้าว่า น้ำในแก้วหรือในขันขอให้แข็ง จิ้มไปตรงไหน ตรงนั้นให้แข็ง แล้วเข้าฌาน ๔ ใหม่ จับภาพพระพุทธเจ้าใหม่ ทำใจเฉยไว้ ถอยหลังออกมาอีกทีทรงจิตเข้าถึงอุปจารสมาธิอธิษฐานว่าน้ำนี้จงแข็ง แล้วจิ้มปั๊บไป แข็งหรือยัง ยังไม่แข็งก็แล้วไป เพราะเวลาของมันยังไม่ถึง ซ้อมไว้จนกว่าจะถึง พ.ศ. ๒๕๔๓

ทำไปทุกวันๆ เล่นแบบนี้ เล่นเป็นปกติ ไม่ช้าก็จะมีการทรงตัว อธิษฐานไป อธิษฐานมาน้ำเกิดแข็งตามความชอบใจ เรายังต้องใช้เวลาอยู่ ยังเป็นกำลังของอภิญญาไม่ได้ ยังอ่อนมากไป ถ้าจะเป็นกำลังของอภิญญาจริงๆ ก็จับน้ำมาน้ำที่ไหนก็ตาม น้ำในแม่น้ำ น้ำในคลองน้ำในบ่อก็ตาม นึกว่าน้ำที่จับไปจงแข็ง แหย่ปั๊บทันที แข็งทันที อย่างนี้เป็นตัวอภิญญาแน่ หลังจากนั้นก็ใช้กำลังของกสิณให้พอใจ กำลังของกสิณคือ

๑. ปฐวีกสิณ อธิษฐานของอ่อนให้เป็นของแข็ง อยากจะเดินบนน้ำก็อธิษฐานว่า เท้าที่เราก้าวไปตรงไหนให้น้ำแข็งเหมือนดิน เฉพาะที่ก้าวนะ อย่าไปเสือกอธิษฐานให้หมดทั้งคลองนะ มันไม่ถูกการจราจรเขาเสีย อย่างนี้ก้าวไปได้สบาย อยากจะเดินไปในอากาศ อธิษฐานว่าเท้าที่ข้าพเจ้าจะก้าวไปในอากาศ เหยียบตรงไหนให้แข็งเหมือนดิน เดินได้สบาย

๒. อาโปกสิณ ทำของแข็งให้เป็นของอ่อน หินมันแข็งทำให้เป็นของอ่อน เหล็กมันแข็งทำให้อ่อน แล้วฝนไม่ตกทำให้ตกได้ทุกอย่าง

๓ เตโชกสิณ ไฟนี่ถ้ามันหนาวเกินไป อธิษฐานเตโชกสิณ ให้มีความอบอุ่นแค่นั้นแค่นี้ ต้องการให้ไฟลุกล้อมใครเสียก็ได้ ใครพูดไม่ดีอธิษฐานให้ไฟล้อม มันเดินไม่ได้อยู่ตรงนั้นแหละ ถ้ามันไม่ขมาก็ไม่เลิกกัน อย่าไปเล่นแบบนี้นะ ถ้าเล่นแบบนี้กสิณเสื่อม หรือบางทีความมืดก็ใช้เตโชกสิณช่วยให้แสงเกิด

๔. วาโยกสิณ กสิณเหาะนึกอยากจะให้เราไปไหน นึกแปบเดียวมันจะไปถึงทันที นึกอยากจะให้ใครมาหาเรา ก็คิดถึงวาโยกสิณปั๊บหอบคนนั้นมา มันจะมานั่งปุ๊บนั่งข้างหน้าเลย เอาแค่นึกไม่ใช่ตั้งท่านะ ตั้งท่าใช้ไม่ได้

๕. ปิตกกสิณ ถ้าของสีดำ สีแดงก็ตาม ต้องการคิดให้เป็นสีเหลือง สีทอง และแผ่นดินนี่ต้องการให้เป็นสีทองเมื่อไหร่ มันจะเป็นทองได้ทันที ไอ้บ้านหลังนี้ถ้าเป็นตึกเป็นไม้ เราคิดจะให้เป็นสีทอง สีทองมันก็เป็น

๖. โอทาตกสิณ โอทาตกสิณนี่ถ้าของมันขาว มันเขียว มันแดงนี่ ต้องการให้มันขาว นึกให้มันขาวมันจะขาวเลย แต่ก็มีกสิณอื่นอีกเยอะ รวมความว่ากำลังของกสิณทั้งหมดเป็นเรื่องเล็กๆ ถ้าเราทำเบื้องต้นได้

ฉะนั้นขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย เตรียมฝึกอภิญญาเวลานี้จะเตรียมใช้กำลังใหญ่ไว้ได้เลย ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าถ้าทำอย่างนั้นมโนมยิทธิของทุกคนจะไม่มีคำว่าเสื่อม จะมีความทรงตัวแล้วจะเข้มแข็งขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกำลังที่จะตัดสังโยชน์ ๓ ต้องทำให้ได้ อันนี้ไม่ใช่คำขอร้อง เป็นคำสั่ง!!! ว่าคนที่ต้องการความดีถึงนิพพาน หรืออภิญญาก็ตาม ต้องทำสังโยชน์ ๓ ให้ได้ คือ

๑. มีความรู้สึกไว้ทุกวันเวลาตื่นเช้า ว่าชีวิตนี้มันต้องตาย ถ้าตายแล้วเราไม่ยอมไปอบายภูมิ

๒. เราจะยึดพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์เป็นที่พึ่ง เป็นกำลังใจของเราด้วยความเคารพอย่างยิ่ง

๓ จะทรงศีล ๕ ให้บริสุทธิ์


เท่านี้แหละ แล้วหลังจากนั้นก็ใช้กำลังใจ พระอรหันต์ไว้ประจำใจคือ ขึ้นชื่อว่ามนุษยโลกมันเป็นทุกข์ เราไม่ต้องการมันอีก พรหมโลกกับเทวโลกสุขจริงแต่สุขไม่นาน ไม่ต้องการมันอีก เราต้องการจุดเดียวคือนิพพาน อย่างนี้เป็นอารมณ์พระอรหันต์ รักษากำลังใจตามนี้ไว้ เมื่อถึงอายุขัยเมื่อไร ก่อนจะตายจะเป็นพระอรหันต์เมื่อนั้น เมื่อตายเมื่อไรก็ไปนิพพาน

ถ้ายังไม่ไปนิพพานเพียงใดถ้าโอกาสมี ถ้าเราสามารถใช้อภิญญาได้ แต่ว่าการใช้อภิญญานี่ต้องใช้ให้ถูกต้อง พระพุทธเจ้าท่านห้ามพระนะ ถ้าไม่มีคนเห็นใช้ได้ ถ้ามีคนเห็นใช้ไม่ได้ แล้วก็มีประโยชน์มาก

สำหรับคำแนะนำการฝึกอภิญญาหกก็ขอจบเพียงเท่านี้....

จากนิตยสารธัมมวิโมกข์ ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๕๐


ไฟล์แนบ: คุณจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถดูและดาวน์โหลดไฟล์แนบได้ หากยังไม่มีแอคเคานต์หรือยังไม่ได้เป็นสมาชิก กรุณาสมัครสมาชิก

Rank: 1

อนุโมทนาสาธุๆๆๆ

Rank: 1

น้อมกราบหลวงพ่อ สาาธุ....น้อมกราบโมทนา สาาธุ

Rank: 1

อนุโมทนาสาธุ

Rank: 1

สาธุ อ่านแล้วได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีกมากเลยค่ะ  ขอกราบโมทนากับหลวงพ่อในความเมตตาได้อธิบายการพิจารณาอย่างละเอียด  และขอโมทนาในธรรมทานกับท่านเจ้าของกระทู้ด้วยค่ะ  เก้าขออนุญาตคัดลอกไปฝึกปฏิบัติต่อไปนะคะ ขอบพระคุณค่ะ

‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2024-12-1 02:47 , Processed in 0.042942 second(s), 15 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.