แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
ดู: 16412|ตอบ: 2
go

พระธรรมเทศนาเรื่อง.. ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร [คัดลอกลิงค์]

Rank: 9Rank: 9Rank: 9

พระธรรมเทศนาเรื่อง.. ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
วันที่: วันอาทิตย์ 26 สิงหาคม 2007 @ 11:41:10
หัวข้อ: รวมคำสอน หลวงพ่อฯ



พระธรรมเทศนาเรื่อง.. ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
(วันศุกข์ที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๒๔)
โดย หลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (๓ จบ)

"ธัมมจักกัปปวัตตนัง หิ อาทิง กตวาติ"


ณ โอกาสบัดนี้ อาตมาภาพจักแสดงพระสัทธรรมเทศนา ในเรื่องที่เนื่องด้วย วันอาสาฬหบูชา เพื่อเป็นเครื่องโสรจสรงองคศรัทธาบารมี ที่บรรดาท่านนิศราทานบดีทั้งหลาย ได้พร้อมใจกันมาบำเพ็ญกุศล ในวันสำคัญของพระพุทธศาสนา

สำหรับ วันอาสาฬหบูชา นี้ ตามพระบาลีว่า เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณ ที่ระหว่างโคนต้นโพธิ์แล้ว หลังจากนั้น องค์สมเด็จพระประทีปแก้ว ก็ทรงอยู่ สุขวิหาร สิ้นประมาณพอสมควร เมื่ออยู่ สุขวิหาร แล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้ว จึงได้ทรงพิจารณา ว่าพระธรรมคำสอนที่เราได้บรรลุแล้วนี้ ปรากฎว่าลึกซึ้งคัมภีรภาพมาก ยากที่บุคคลอื่นใดจะสามารถบรรลุตามได้ จึงเกิดท้อพระทัยที่จะสั่งสอนคนต่อไป แต่อาศัยพระมหากรุณาธิคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเหตุที่องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ทรงบำเพ็ญบารมีถึง ๔ อสงไขยกับแสนกัป ได้มีความปรารถนาที่จะได้รื้อขนสัตว์ ให้พ้นจากความทุกข์ คือ สังสารวัฏ ได้แก่การเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร อาศัยพระมหากรุณาธิคุณขององค์สมเด็จพระพิชิตมารที่ตั้งใจจะเทศน์โปรดบรรดาพุทธบริษัท


อาจารย์ทั้งสองไปเกิดเป็นอรูปพรหม
อันดับแรก องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงระลึกนึกถึงอาจารย์ทั้ง ๒ คือ mท่าน อาฬดาบสสกาลามโคตร กับ ท่าน อุทกดาบสรามบุตร ทั้ง ๒ ท่าน เพราะว่าทั้งสองท่านนี้ ได้สอนให้องค์สมเด็จพระพิชิตมารบรมศาสดาได้ สมาบัติ ๘ คือ รูปฌาณ ๔ และ อรูปฌาณ ๔

สมเด็จพระมหามหามุนีจึงได้ทรงมีพระพุทธดำริว่า ถ้าอาจารย์ทั้งสองคนนี้ ได้ฟังเทศน์กับเราเพียงแค่จบเดียว ทั้งสองท่านก็จะได้บรรลุอรหัตผลทันที หลังจากนั้นองค์สมเด็จพระชินศรีบรมศาสดา จึงได้ใช้กำลังของ จุตูปปาตญาณ และก็ ปัจจุปันนังสญาณ ว่าเวลานี้ ท่านอาจารย์ทั้งสองยังอยู่ที่ไหน แล้วองค์สมเด็จพระจอมไตรก็ทรงทราบ ว่าเวลานี้อาจารย์ทั้งสองตายเสียแล้ว ตายจากความเป็นมนุษญ์ทั้งสองท่าน ก่อนที่จะตายจากความเป็นมนุษย์ จิตไปจับอยู่ในอรูปฌาณ เวลานี้ไปเกิดเป็นอรูปพรหม

สำหรับ อรูปพรหมนี้ ไม่มีกายเป็นเครื่องปรากฏ ไม่มี อายตนะ คือ ไม่มีหู ไม่มีตาสำหรับดูและสำหรับฟัง หมดโอกาสที่จะรับฟังพระธรรมเทศนาขององค์สมเด็จพระบรมศาสดา พระองค์จึงได้ทรงรำพึงในใจว่า เป็นที่น่าเสียดาย อาจารย์ทั้งสองท่านเป็นผู้ฉิบหายเสียแล้วจากความดี ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าการไปเกิดเป็นพรหมก็ดี เป็นรูปพรหมก็ดี ถ้ามีกำลังใจยังไม่ถึงพระอนาคามีเพียงใด ก็จะต้องมาเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร

สำหรับท่านอาจารย์ทั้งสองเป็นอรูปพรหมด้วย แล้วก็ทรงความดีได้ฌานโลกีย์ด้วย คนที่ได้ฌานโลกีย์จะดีถึงสมาบัติ ๘ ก็ตาม ยังไม่มีโอกาสที่จะตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานฉะนั้น จึงจะต้องอาศัยการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารกวันเรื่อยไปจนกว่าจะเป็นอรหันต์

ต่อมาองค์สมเด็จพระภควันต์บรมศาสดาจึงได้ทรงใคร่ครวญต่อไปว่าคนที่ควรจะรับพระธรรมเทศนาบทแรกได้แก่ ๒ ท่านคืออาฬารดาบส และ อุทกดาบส ซึ่งเป็นอาจารย์เดิม เวลานี้ท่านทั้งสองตายไปเป็นอรูปพรหม ไม่มีโอกาสจะรับรส พระธรรมเทศนาแล้วก็ยังมีใครหนอ.. ที่จะรับฟังเทศนาแล้วมีผลบ้าง เพราะตามธรรมดาพระพุทธเจ้าถ้าทรงเทศน์นี่จะมองผลก่อน เพราะว่าสมเด็จพระชินวรทรงมีพระพุทธญาณเป็นพิเศษ ไม่เหมือนสาวกทั้งหลาย เพราะสาวกนี้จะมีญาณอะไรก็มีได้ แต่ขาด พุทธญาณ เพราะพุทธญาณนี้จะมีเฉพาะพระพุทธเจ้าองค์เดียวเท่านั้น

การเทศน์ของพระพุทธเจ้านั้นหวังผล
ฉะนั้นเวลาที่สมเด็จพระภควันต์จะทรงเทศน์โปรดใคร จะต้องทรงทราบว่า ใครหนอแล ที่ควรจะรับพระธรรมเทศวันนี้ แต่ถ้าเราจะไปเทศน์ ก็จะทรงพิจารณาว่าเทศน์เรื่องอะไรจึงจะเหมาะสมกับอัชฌาสัย เมื่อเทศน์จบแล้ว จะมีผลเป็นประการใดคำว่า "ผล" ของพระพุทธเจ้านี้ ก็หมายถึงว่า เป็นพระโสดาบันหรือพระสกิทาคามี หรือพระอรหันต์เป็นต้น ถ้าเทศน์แล้ว ท่านผู้นั้นไม่มีผลได้แต่ฟังอย่างเดียว พระพุทธเจ้าไม่ทรงเทศน์ให้ฟัง เพราะว่าคนที่มีบารมีสมบูรณ์แบบมันมีอยู่ทรงเทศน์โปรดปัญจวัคคีย์

ต่อมา องค์สมเด็จพระบรมครูก็ทรงใคร่ครวญด้วยกำลังของญาณที่พระองค์ทรงมี สมเด็จพระชินศรีก็ทรงทราบว่า ปัญจวัคคีย์ ฤๅษีทั้ง ๕ ที่ออกบวชตามสมเด็จพระบรมศาสดามาตั้งแต่ต้น มี ท่านอัญญาโกณฑัญญะ ท่านวัปปะ ท่านภัททิยะ ท่านมหานามะ และ ท่านอัสสชิ ๕ ท่านด้วยกัน ทั้ง ๕ ท่านนี้ ฟังพระธรรมเทศนาจากองค์สมเด็จพระภควันต์แล้วสมเด็จพระประทีปแก้วทรงทราบว่าทุกท่านจะได้อรหันต์ทั้งหมด เมื่อตัดสินพระทัยแล้ว องค์สมเด็จพะบรมสุคตวันนั้นก็คือ วันพระ วันเพ็ญเดือน ๘ คือเมื่อวานนี้ เมื่อกลางเดือน ๘ องค์สมเด็จพระมหามุนี จึงออกจาก พุทธคยา ที่โคนต้อนโพธิ์ เดินมา ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวง เมืองพาราณสี แต่ความจริงวันนั้น ท่านออกเดินเวลาเท่าไรก็ไม่รู้ บาลีไม่ได้บอกแล้วก็ปรากฏว่า องค์สมเด็จพระบรมครูถึงวันนั้น แต่ทว่าหนทางระยะนั้น ถ้าเวลานี้ถ้าเราจะเดินกันต้องใช้เวลา ๓ วัน ไม่แน่ว่าจะถึง วันนั้นพระพุทธเจ้าเดินเพียงแค่ไม่เต็มวันก็ถึง เห็นจะเดินด้วยกำลังฤทธิ์มากกว่า

ทรงทรมานตนมาถึง ๖ ปี
แต่การจะเข้าไปโปรด ปัญจวัคคีย์ ฤๅษีทั้ง ๕ ก็ต้องมีเหตุเบื้องต้น เพราะว่าในตอนก่อน เมื่อองค์สมเด็จพระทศพลทรงแสวงหาโมกขธรรมปฏิบัติการแสวงหาโมกขธรรมตามวิธีของพราหมณ์ วิธีของพราหมณ์เขาทำอย่างไรพระพุทธเจ้าก็ทำตามนั้นวิธีของพราหมณ์ นั้นชอบการทรมานกาย มีการอดข้าวเป็นต้น มีการกลั้นลมหายใจเข้าออก เอาลิ้นกดเพดานอย่างนี้เป็นต้นพระพุทธเจ้าทรงทรมานตนมาถึง ๖ ปี ร่างกายของพระองค์นั้นก็ปรากฏว่าผอมมาก เห็นกระดูกซี่โครงขึ้นตามผิวหนัง จะเดินไปไหนก็ซวนจะล้ม แม้แต่ขนตามร่างกายก็ร่วงเอามือลูบตามร่างกายขนก็หลุด ทำอย่างนี้มาสิ้นเวลา ๖ ปี แต่ปรากฏว่า องค์สมเด็จพระชินศรีบรมศาสดาทรงยังไม่บรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณ บรรดาพราหมณ์ทั้ง ๕ คน มีท่านอัญญาโกณฑัญญะ เป็นต้น เห็นพระพุทธเจ้าทรงทำอย่างนั้น ซึ่งพราหมณ์คน

อื่นไม่สามารถจะทำได้ก็มีความเลื่อมใน ถือว่าทำดีจริงๆ แต่ต่อมาเมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำไปแล้วไม่สำเร็จมรรคผล องค์สมเด็จพระทศพลอาศัยที่มีพระมหากรุณาธิคณหวังจะรื้อสัตว์ ขนสัตว์ให้พ้นจากความทุกข์ คือมุ่งพระนิพพานอาศัยบารมีของพระองค์นี้มาบันดาลให้เกิดความเข้าใจว่า การบรรลุมรรคผลนี้คงไม่เป็นไปทางกาย เพราะว่าวิธีปฏิบัติของพราหมณ์นี้หนักไปด้ายกาย ไม่ใช่หนักด้านใจ กำลังใจมีแต่ความอดทนอย่างเดียว

คือทรมานกาย ท่านเห็นว่าไม่มีผล จึเปลี่ยนใหม่ กลับมาฉันอาหารเพราะว่าการสำเร็จบรรลุมรรคผลนี้ ต้องเป็นทางใจแน่ จึงกลับมาบิณฑบาต แล้วก็ฉันอาหารตามปกติ จนร่างกายอ้วนพีมีกำลังสมบูรณ์ตอนนี้ปรากฎว่า ปัญจวัคคีย์ ฤๅษีทั้ง ๕ ไม่ชอบใจเห็นว่าพระพุทธเจ้าของเราเป็นผู้มักมากในอาหารและละความพยายามตามแบบของพราหมณ์ จึงได้หนีไปจากพระพุทธเจ้าตอนที่พระพุทธเจ้าจะมาหาพวกท่านทั้ง ๕ นี้ ก็ต้องมีเรื่อง มีเรื่องเพราะเขาไม่ชอบใจ เดิมก็อยู่ที่โคนโพธิ์ด้วยกัน

แล้วต่อมาพระพุทธเจ้าทรงฉันข้าวแล้วฤๅษีพวกนั้นก็หนีพระพุทธเจ้ามาอยู่ ป่าอิสิปตน มฤคทายวัน มาในตอนนี้เอง เมื่องค์สมเด็จพระภควันต์ทรงเข้ามาใกล้ฤๅษีทั้งห้านัดแนะกันว่าจะไม่แสดงความเคารพท่านฤๅษีทั้ง ๕ เห็นองค์สมเด็จพระจอมไตรเข้ามา จึงได้นัดแนะกันว่า "ในเวลานี้ พระสมณโคดม คงจะทนไม่ไหว เมื่อตอนก่อนนี้ พวกเราปฏิบัติเขา เอาอกเอาใจให้ความสะดวก มีความสุข เวลานี้พวกเราทิ้งมาเสียแล้ว คงมีความทุกข์ ไม่มีคนรับใช้ ไม่มีคนปฏิบัติ การที่ พระสมณโคดม มาคราวนี้ คงจะมาหามาพึ่งพวกเราเป็นแน่ ถ้า พระสมณโคดม มา พวกเราจงอย่าลุกขึ้นไปรับบาตร อย่ารับจีวร อย่ารับไม้เท้า แต่ว่าปูอาสนะไว้ให้ หมายความว่า พวกเราทุกคนจงอย่าแสดงความเคารพ"

แต่ครั้นเมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จเข้ามาใกล้จริงๆ สัญญาก็เลยลืมสัญญา ทุกคนก็ปฏิบัติตามเดิม แต่ทว่าเมื่อนำพระพุทธเจ้านั่งลงไปแล้ว ก็ปรากฏว่าเขาแสดงความไม่เคารพด้วยวาจา กลับออกชื่อเฉยๆ เช่นว่า พระสมณโคดม แบบนั้น หรือ พระสมณโคดมแบบนี้ แสดงถึงความไม่เคารพ แต่การที่พระพุทธเจ้าจะทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่บรรดาพุทธบริษัท ถ้าบุคคลใดไม่มีศรัทธา บุคคลใดไม่มีความเคารพ พระพุทธเจ้าจะไม่ทรงเทศน์ เพราะว่าถ้าขืนเทศน์ไปมันก็ไม่มีผลฉะนั้น เมื่อองค์สมเด็จพระทศพลเห็นว่าบรรดา ปัญจวัคคีย์ ฤๅษีทั้ง ๕ มีความไม่เคารพอย่างนั้น สมเด็จพระภควันต์จึงได้ยับยั้งไม่แสดงพระธรรมเทศนาก่อนแต่สมเด็จพระชินวรก็ทรงเตือนใจว่า "เธอทั้งหลาย เวลานี้เราได้บรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว"

ฤๅษีทั้ง ๕ ก็กล่าวแก่องค์สมเด็จพระประทีปแก้วว่า "สมัยก่อนท่านปฏิบัติตนขั้นทรมานกาย จนกระทั่งร่างกายซูบผอมอย่างนั้น จัดว่าเป็นการปฏิบัติในด้านของความดี ยังไม่ได้บรรลุมรรคผล เวลานี้ตนเองเป็นผู้มักมากในอาหาร กินอาหารจนร่างกายอ้วน จะบรรลุมรรคผลได้อย่างไร" สมเด็จพระจอมไตรตรัสว่า "ท่านทั้งหลาย จำได้ไหม ว่าวาจาเช่นนี้เราเคยกล่าวในกาลก่อนหรือเปล่า?" บรรดาฤๅษีทั้ง ๕ ได้ฟังดังนั้นก็คิดได้ว่าในกาลก่อนนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เคยตรัสอย่างนี้ ขณะที่ทำไป ไอ้ที่ว่าเราคิดว่าดีแสนดี แต่ว่าองค์สมเด็จพระชินศรียังไม่ได้บรรลุมรรคผล ก็ยังไม่ได้บอกว่าบรรลุ เวลานี้กลับมาบอกว่าบรรลุมรรคผล เห็นจะเป็นความจริง จึงได้ยอมรับนับถือ บอกว่าถ้าอย่างนั้น นิมนต์เทศน์

ทรงเทศน์ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
เมื่อพระพุทธเจ้าเห็นว่า เขามีความเชื่อและก็เลื่อมใส การเทศน์วันนั้นเป็นการเทศน์ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ใจความของ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร มีว่า จงละส่วนสุด ๒ อย่าง คือ

(๑) อัตตกิลมถายุโยค เวลาที่จะปฏิบัติความดี จงละความเครียดทางร่างกาย อย่าทรมาน นี่หมายความว่า พวกพราหมณ์ชอบทรมานกาย ท่านก็บอกว่า การทรมานกายนี่เราทำมาแล้วยิ่งกว่าบุคคลใดทั้งหมด แต่ก็ไม่ปรากฏว่าได้บรรลุมรรคผล ขอท่านทุกคน เวลาจะปฏิบัติความดี จงเลิกทรมานกายเสีย

(๒) จงละ กามสุขัลลิกานุโยค คือว่า อัตตกิลมถานุโยค ขยันเกินไปขั้นทรมานกาย กามสุขัลลิกานุโยค ขี้เกียจเกินไป คือไม่เอาไหนเลย ท่านบอกว่า ถ้าขณะใดจิตใจเรารักส่วนสุด ๒ อย่างนี้ โอกาสที่จะได้ฌาณโลกีย์ และมรรคผลย่อมไม่ปรากฏ

แล้วองค์สมเด็จพระบรมสุคตตรัสว่า "จงปฏิบัติใน มัชฌิมาปฏิปทา คือ ทำแบบพอสบาย อย่าขี้เกียจเกินไป แล้วก็อย่าขยันเกินไป ถ้าอาการเริ่มจะเครียดเมื่อไร ก็คลายอารมณ์เสีย อย่างนี้เป็นต้น"

ตัณหา ๓ ประการ
หลังจากนั้น องค์สมเด็จพระทศพล ก็ทรงแนะนำให้ตัด ตัณหา ๓ ประการ คือ

(๑) กามตัณหา นี่ก็สิ่งใดยังไม่ได้มาจงอย่านึกถึง อย่าไปคำนึงถึงมัน นั่นก็หมายความว่า สิ่งที่ยังไม่ได้เข้ามา เราก็เฉยๆ แต่คำว่า "เฉย" ในทีนี้หมายความว่า ไม่ต้องการ ถ้าเรายังทำไม่สำเร็จอย่านึกว่า เราจะได้อย่างนั้น เราจะได้อย่างนี้ นั่นก็หมายความว่า สมมุติว่าจะประกอบลาภผล กิจการงานอย่างท่านที่นั่งๆ อยู่ที่นี่น่ะ

(๒) ภวตัณหา สิ่งใดที่ปรากฏมีขึ้นแล้วจงอย่าคิดว่า มันจะทรงตัวตลอดไป จงมีความเข้าใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างจะมีชีวิตก็ตาม ไม่มีชีวิตก็ตาม มันมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความแปรปรวนในท่ามกลาง มีการสลายตัวไปในที่สุด สิ่งที่เราได้มาจงคิดว่า สักวันหนึ่ง ข้างหน้ามันจะค่อยๆ เสื่อมตัวลงไป แล้วในที่สุดของเหล่านี้ และคนประเภทนี้ เรากับเขาก็จะต้องจากกัน ไม่จากเป็น ก็จากตาย เตรียมใจได้ว่าของทุกอย่างจะเป็นสิ่งที่มีชีวิต หรือไม่มีชีวิตก็ตาม จะไม่ทรงตัว ถ้าเราไปคิดว่าของอย่างนี้ จะต้องทรงตัวตามปกติ แต่ว่าเมื่อมีการเคลื่อนไปหรือหายไปละก็เสียใจ ทำให้ใจลำบาก นี่เป็น ภวตัณหา

(๓) วิภวตัณหา นี่ตัวฝืน อย่างกับคนที่เกิดมาไม่อยากแก่ ไม่อยากตาย ได้วัตถุมาแล้ว มันอยากให้ใหม่อยู่เสมอ ไม่อยากให้มันเก่า ไม่อยากให้มันพัง พอมันเก่าใกล้จะพังใจก็ฝืน คนใกล้จะตายหรือว่าแก่ไป ก็ไปหาหมอ ซื้อยากินไม่อยากให้มันแก่ มันจะตายไม่อยากให้มันตาย แล้วมันฝืนได้ไหมล่ะ ไม่มีใครเขาฝืนได้ เรามีบ้านใหม่ จะให้มันใหม่ตลอดกาลตลอดสมัย มันจะใหม่ตลอดกาลได้ไหม ไม่ได้ มันต้องเก่าแล้วก็ไม่อยากให้มันเก่า หาทางฝืนความเก่า ในที่สุดก็ฝืนไม่ได้ ใจก็เป็นทุกข์พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า ถ้าทุกคนต้องการพ้นทุกข์ ขอให้ทุกคนละตัณหา ๓ ประการ ออกไปจากใจ คือ

ประการแรก สิ่งใดที่ยังไม่ได้มา ปรารถนาจะพึงได้ก็จริงแหล่ แต่ทว่าอย่าดิ้นรนเกินไป พยายามทำทุกสิ่งทุกอย่างตามความสามารถให้มันถึงจุดนั้น ถ้ายังไม่ถึง อย่าพึ่งฝันว่าได้ มันจะเป็นทุกข์

ประการที่ ๒ ของที่ได้มาแล้ว จงคิดตามความเป็นจริงว่า ผู้ชาย ผู้หญิง หรือสัตว์ มีคนหรือวัตถุ มันจะต้องมีการเคลื่อนมีการเสื่อมไปเป็นธรรมดา แล้วในที่สุดมันก็พัง ใจจะได้สบาย

ประการที่ ๓ สิ่งใดก็ตามเมื่อมันจะหมดอายุขัยของมันคือต้องพัง เป็นเรื่องธรรมดา

สรุปธรรมะด้วยอริยสัจ ๔
แล้วต่อไปองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงสรุปด้วย อริยสัจ ๔ ซึ่งองค์สมเด็จพระมหามุนีตรัสว่า ทุกสิ่งทุกอย่างของโลกเป็นปัจจัยของความทุกข์ คนเรามีร่างกายก็เป็นปัจจัยของความทุกข์ เพราะร่างกายมันรู้จักหิว รู้จักกระหาย รู้จักหนาว รู้จักร้อน รู้จักป่วยไข้ไม่สบาย รู้จักพลัดพรากของรักของชอบใจ รู้จักตาย คือสภาวะของร่างกายหรือวัตถุในโลกมันเป็นอย่างนี้ ถ้าเราคิดว่ามันจะทรงตัวอยู่ มันจะไม่เคลื่อนไหวเมื่อไรนี่มันเป็นความทุกข์ ให้เกิดกับใจ เราจะต้องยอมรับนับถือว่า วัตถุธาตุใดๆ ทั้งหมดในโลกนี้ไม่มีอะไรทรงตัว เราคิดว่า เรามีร่างกาย ร่างกายมันก็แก่ทุกๆวัน แล้วมันก็พังทุกๆวัน มีวัตถุธาตุ วัตถุธาตุทั้งหมดก็เป็นปัจจัยของความทุกข์ เห็นว่าโลกทั้งโลกที่เราเกิดมานี่ไม่มีความสุข นับตั้งแต่วันเกิดถึงวันตายหาความสุขไม่ได้ ทุกวันมีแต่ความหิว ความกระหาย ความหนาว ความร้อน ความป่วยไข้ไม่สบาย นี่คือความทุกข์นั้นมันมาจากไหนความทุกข์มาจากตัณหา ตัณหาเป็นต้นเหตุให้เกิดความทุกข์ คือ ตัวอยาก

จงตัดความอยากเกิดเป็นคนเสีย
ไอ้ความอยากนี้ ความเป็นจริงมันอยากหลายอย่าง แต่อยากที่มีความสำคัญจริงๆ คืออยากเกิดเป็นคน จงตัดความอยากตัวนี้เสีย มีความรู้สึกว่า การเกิดเป็นคนนี้มันเป็นทุกข์ ถ้าหากว่าเราไม่อยากเกิดเป็นคนเสียอย่างเดียว จะไปเกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็ทุกข์ จะไปเกิดเป็นเทวดาหรือพรหม ก็เป็นทุกข์ รวมความว่า เราตัดความต้องการความอยากเกิด ความอยากเกิดไม่มีสำหรับเรา เราไม่อยากเกิดเป็นคนด้วย ไม่อยากเกิดในอบายภูมิด้วย ไม่อยากเกิดเป็นเทวดาหรือพรหมด้วย สิ่งที่เราตั้งใจจะไปจุดเดียวคือ นิพพาน

ท่านก็บอกว่า ถ้ามี นิโรธ ความดับทุกข์มีมาถึงเมื่อใดละก็ มีความสุขเมื่อนั้นตัวดับทุกข์ตัวนี้จะมีได้อย่างไร ศีล สมาธิ ปัญญา ท่านบอกว่า ต้องอาศัยเหตุ ๓ ประการ ว่าโดยย่อได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา แต่ใน อริยสัจ ๔ ท่านบอกว่าต้องอาศัย มรรค ๘ มรรค ๘ นี่ย่อได้ ๓ อย่างคือ ศีล สมาธิ ปัญญา คำว่า "ศีล" แปลว่า ปกติ ทรงอารมณ์ให้สบาย ทำใจให้สงบ ได้แก่ ศีล ๕ เป็นภาคพื้นเบื้องต้น เป็นศีลของพระโสดาบันและพระสกิทาคามี คือมีศีล ๕ นี่นะ รวมความว่า ถ้าเราจะตัดความทุกข์ ตัดความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ในวัฏสงสาร ก็ต้องอาศัย ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลอันดับต้น คือใช้ศีล ๕ เป็นภาคพื้น อย่าลืมว่า ศีล ๕ นี่เป็น ศีลของพระโสดาบันและพระสกิทาคามี

สำหรับพระโสดาบันกับพระสกิทาคามีนี่ ความสำคัญจริงๆ อยู่ที่ศีล ๕ ถ้าใครทรงศีล ๕ เป็นสมุจเฉทปหานแน่นอนได้เมื่อไรก็เป็นพระโสดาบันกับพระสกิทาคามีแน่นอนสำหรับอารมณ์ที่จะเลยไปนิดหนึ่งก็คือ จิตต้องการพระนิพพานเป็นอารมณ์นี่เอง อย่าลืมนะว่า พระโสดาบัน มี ความเคารพในพระพุทธเจ้าจริง มีความเคารพในพระธรรมจริง มีความเคารพในพระอริยสงฆ์จริง มีศีล ๕ บริสุทธิ์จริง จิตใจต้องการอย่างเดียว ตายเมื่อไรขอไปนิพพานจุดเดียว อย่างนี้เขาเรียกว่าพระโสดาบัน หรือพระ

สกิทาคามี สำหรับพระอนาคามี ฆราวาสรักษาศีล ๘ ถ้าบุคคลใดมีกำลังใจต้องการศีล ๘ เป็นปกติ โดยไม่มีเกณฑ์บังคับหรือ บีบคั้นกำลังใจของตนเอง รักษาศีล ๘ ได้แบบสบายๆ อารมณ์ใจก็เป็นสุข ก้าวเข้าเขตของพระอนาคามี เพราะศีล ๘ เป็นศีลของพระอนาคามี ถ้ากำลังใจเริ่มเข้าเขตพระอนาคามีมรรค ศีล ๕ จะไม่พอใจสำหรับท่านผู้นั้น จะพอใจเฉพาะศีล ๘ ให้พึงทราบเลยทีเดียวว่า เวลานี้อนาคามีมรรคเริ่มมาถึงจิตเราแล้ว

ลองตรวจดูกำลังใจของตน
แต่อย่าลืมว่า ถ้าทำไม่ดีก็ไม่มีผลเหมือนกัน แต่ก็ต้องถอยหลังมาดูกำลังใจตนว่าเราเคารพในพระพุทธเจ้าจริง พระธรรมจริง พระสงฆ์จริง มีในเราไหมและศีล ๕ ของเราบกพร่องไหม เรามีจิตรักพระนิพพานเป็นอารมณ์จริงไหมเมื่อมีความมั่นใจอย่างนี้มีอยู่ ก็มั่นใจว่าเราเป็นพระอริยเจ้าเบื้องต้นคือ พระโสดาบันและพระสกิทาคามี ถ้าพอใจเริ่มรักษาศีล ๘ เป็นปกติ มีความสุขเพราะศีล ๘ อย่างนี้เริ่มเป็นพระอนาคามีเบื้องต้น

การตัดกามฉันทะ
ต่อไปนี้เมื่อเป็นมรรคแล้วก็ต้องทำให้เข้าถึงผล การจะทำให้เข้าไปถึงผลเบื้องต้น ก็ต้องดูตัว กามฉันทะการตัดกามฉันทะ ต้องอาศัยกายคตานุสติ กับอสุภกรรมฐาน ควบคู่กันไปกับวิปัสสนาญาณ

การตัดอวิชชา
สำหรับวิปัสสนาญาณนั้นไม่ต้องมีอะไรใช้ตัวปลายตัวสุด คือ ตัดอวิชชา ไปเลยคือมีความรู้สึกว่า การเกิดเป็นมนุษย์ก็ดี เป็นเทวดาก็ดี เป็นพรหมก็ดี ไม่มีสำหรับเรา เราไม่ต้องการ เราต้องการจุดเดียวคือพระนิพพาน ก็ตัดตัวเดียวตัวสุดท้าย คือ ตัดอวิชชา

แล้วต่อจากนั้นไปก็มานั่งคลำ กายคตานุสติกรรมฐาน กับ อสุภกรรมฐาน ในเมื่อร่างกายของคนและสัตว์ เป็นดินแดนแห่งความสกปรก จนกระทั่งอารมณ์ในเพศไม่เกิดขึ้นกับใจ ถือว่า เราได้หนึ่งในพระอนาคามี และพระอนาคามีนี้มี ๒ ข้อ

แล้วต่อไปก็มาคลำใจด้านของพรหมวิหาร ๔ คือ
ตัวเมตตา ความรัก
กรุณา ความสงสาร
มุทิตา มีจิตอ่อนโยน ไม่อิจฉาริษยาใคร
และ อุเบกขา วางเฉย เฉยในคำสาปคำแช่ง คำค่อนขอด คำค่อนแคะ คำด่า เป็นต้น เขาด่ามาเราโกรธแต่ยับยั้ง

ได้เร็ว ใกล้พระอนาคามีเข้าไปแล้ว เขาด่ามาเราโกรธเหมือนกัน แต่โกรธช้ากว่าปกติ ก็ใกล้มามากเข้าไป เขาด่ามากระทบใจเข้านิดหนึ่ง แล้วก็หล่นไปจวนจะถึงพระอนาคามีผล จนกระทั่งคำด่าของเขาชนต่อหน้าเราไม่มีความรู้สึกโกรธ อันนี้เป็นพระอนาคามีผลแน่ ถ้ากำลังใจของบรรดาท่านพุทธบริษัท ยังอยู่ในพระโสดาบันก็ดี พระสกิทาคามีก็ดี ถ้าเราถึงพะรอนาคามีนี้มีความหมายแน่นอนไปนิพพานแน่

ข้อควรประพฤติปฏิบัติ
คือให้ตั้งใจไว้เสมอว่า ก่อนจะหลับนึกถึงว่า ถ้าการตายคราวนี้ ให้ถือว่าเป็นการตายครั้งสุดท้าย การมีร่างกายนี้พังเมื่อไรเราจะขอไปนิพพาน ตื่นขึ้นมาเวลาเช้ามืดก็ตั้งใจแบบนั้น รวบรวมกำลังใจนึกถึง พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ เป็นอารมณ์ และก็มี อุปสมานุสสติ อุปสมานุสติ นี่หมายถึงว่า นึงถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์ ควรคิดไว้ว่าเราไม่นิยมการเกิดเป็นมนุษย์ เทวดา หรือพรหมต่อไป ถ้าร่างกายนี้พังเมื่อไร เขาขอไปนิพพาน

เมื่อนั้นแล้วก็รวบรวมกำลังใจคิดว่าเราจะตัดโลภะ ความโลภ ด้วยการให้ทาน เราจะตัดโทสะ ความโกรธด้วยความมีเมตตากรุณาทั้ง ๒ ประการ เราจะตัดโมหะ ความหลง ด้วยจิตที่ไม่ต้องการที่จะเกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นเทวดา หรือพรหมต่อไป เราต้องการพระนิพพาน ถ้ากำลังใจของบรรดาท่านพุทธบริษัท ยืนอยู่ได้ในด้านพระโสดาบันกับพระสกิทาคามีแล้ว มีอารมณ์ทรงตัวอย่าง นี้ตายเมื่อไรเป็นอรหันต์เมื่อนั้น

เอาละ บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน ขอจบพระธรรมเทศนาลงคงไว้แต่เพียงเท่านี้นะในที่สุดแห่งพระสัทธรรมเทศนานี้ อาตมภาพขอตั้งสัตยาธิษฐาน อ้างคุณพระศรีรัตนตรัย มีพระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะ ทั้ง ๓ ประการ ของจงดลบันดาลให้บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายโดยถ้วนหน้า มีแต่ความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผล และจงเจริญไปด้วยจตุรพิธพรชัยทั้ง ๔ ประการ มีอายุ วรรณะ สุขุ พละ และปฏิภาณ หากทุกท่านมีความประสงค์สิ่งใด ก็ขอให้ได้สิ่งนั้นสมความปรารถนาทุกประการอาตมาภาพรับประทานวิสัชนามา ก็ขอยุติพระสัทธรรมเทศนาลงคงไว้แต่เพียงเท่านี้

เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้.
ไม่ได้ระบุชื่อผู้ส่งบทความ
ส่งบทความเมื่อวันที่วันเสาร์ 21 กรกฎาคม 2007 @ 12:37:03

ไฟล์แนบ: คุณจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถดูและดาวน์โหลดไฟล์แนบได้ หากยังไม่มีแอคเคานต์หรือยังไม่ได้เป็นสมาชิก กรุณาสมัครสมาชิก

Rank: 1

โมทนาสาธุในธรรมทานค่ะ  สำหรับคำแปลบทสวดธรรมจักร  ถ้าเราเข้าใจความหมายแล้วเวลาฟังหรือสวดในบทภาษาบาลี  จิตจะคล้อยตาม และเห็นภาพเหตุการณ์ไปตามลำดับ  ทำให้  เข้าใจและได้แนวปฏิบัติได้ง่ายขึ้น  และ สามารถนำไปพิจารณาใช้ได้ทั้งทางโลก และ ทางธรรมได้อย่างดี ขอบพระคุณค่ะ

Rank: 1

สาธุ

‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2025-1-15 23:15 , Processed in 0.044875 second(s), 15 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.