แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
ดู: 5156|ตอบ: 9
go

ประวัติหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

IMG_5475.2.JPG



ประวัติหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ

วัดสะแก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา



ข้าพเจ้าได้คัดลอกเนื้อหาประวัติของหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ มาจากหนังสือ “พรหมปัญโญบูชา” ซึ่งเป็นหนังสือที่รวบรวมประวัติและคำสอนของหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ วัดสะแก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีเนื้อหาส่วนของประวัติ จำนวน ๑๓ ตอน ดังนี้


สารบัญ


๑.    ชาติภูมิ

๒.    ปฐมวัยและการศึกษาเบื้องต้น

๓.    สู่เพศพรหมจรรย์

๔.    ประสบการณ์ธุดงค์

๕.    นิมิตธรรม

๖.    เน้นหนักที่การปฏิบัติ

๗.    อ่อนน้อมถ่อมตน

๘.    อุบายธรรม

๙.    ใช้ชีวิตอย่างผู้รักสันโดษและเรียบง่าย

๑๐.   กุศโลบายในการสร้างพระ

๑๑.   เปี่ยมด้วยเมตตา

๑๒.   ท่านเป็นดุจพ่อ

๑๓.   ปัจฉิมวาร


o5.png



ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
          • หนังสือพรหมปัญโญบูชา : เมธา พรพิพัฒน์ไพศาล เรียบเรียง, ๒๕๔๑. หน้า ๑-๒๗.

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑

ชาติภูมิ



พระคุณเจ้าหลวงพ่อดู่ พรหมปัญโญ มีชาติกำเนิดในสกุล หนูศรี เดิมชื่อ ดู่ เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๔๗ ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะโรง ซึ่งเป็นวันเพ็ญวิสาขปุรณมี ณ บ้านข้าวเม่า ตำบลข้าวเม่า อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา


โยมบิดาชื่อ “พุด” โยมมารดาชื่อ “พ่วง” ท่านมีพี่น้องร่วมมารดาเดียวกัน ๓ คน ท่านเป็นบุตรคนสุดท้าย มีโยมพี่สาวอีก ๒ คน มีชื่อตามลำดับดังนี้


• พี่สาวชื่อ ทองคำ สุนิมิต

• พี่สาวชื่อ สุ่ม พึ่งกุศล

• ตัวท่าน


L98.png



ตอนที่ ๒

ปฐมวัยและการศึกษาเบื้องต้น



ชีวิตในวัยเด็กของท่านดูจะขาดความอบอุ่นอยู่มาก ด้วยกำพร้าบิดามารดาตั้งแต่เยาว์วัย นายยวง พึ่งกุศล ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานของท่าน ได้เล่าให้ฟังว่า บิดามารดาของท่าน มีอาชีพทำนา โดยนอกฤดูทำนาจะมีอาชีพทำขนมไข่มงคลขาย


เมื่อตอนที่ท่านยังเป็นเด็กทารก มีเหตุการณ์สำคัญที่ควรบันทึกไว้ คือ ในคืนวันหนึ่งซึ่งเป็นหน้าน้ำ ขณะที่บิดามารดาของท่านกำลังทอดขนมมงคลอยู่นั้น ท่านซึ่งถูกวางอยู่บนเบาะนอกชานคนเดียว ไม่ทราบด้วยเหตุใด ตัวท่านได้กลิ้งตกลงไปในน้ำทั้งคนทั้งเบาะ แต่เป็นที่อัศจรรย์ยิ่งที่ตัวท่านไม่จมน้ำ กลับลอยน้ำจนไปติดอยู่ข้างรั้ว กระทั่งสุนัขเลี้ยงที่บ้านท่านมาเห็นเข้า จึงได้เห่าพร้อมกับวิ่งกลับไปกลับมาระหว่างตัวท่านกับมารดาของท่าน

เมื่อมารดาท่านเดินตามสุนัขเลี้ยงออกมา จึงได้พบท่านลอยน้ำติดอยู่ที่ข้างรั้ว ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้มารดาท่านเชื่อมั่นว่า ท่านจะต้องเป็นผู้มีบุญวาสนามากมาเกิด มารดาของท่านได้ถึงแก่กรรมตั้งแต่ท่านยังเป็นทารกอยู่ ต่อมาบิดามารดาก็จากไปอีก ขณะท่านมีอายุได้เพียง ๔ ขวบเท่านั้น

ท่านจึงต้องกำพร้าบิดามารดาตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก ท่านได้อาศัยอยู่กับยาย โดยมีโยมพี่สาวที่ชื่อสุ่ม เป็นผู้ดูแลเอาใจใส่ และท่านก็ได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนที่วัดกลางคลองสระบัว วัดประดู่ทรงธรรม และวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ

L99.png



ตอนที่ ๓

สู่เพศพรหมจรรย์



เมื่อท่านอายุได้ ๒๑ ปี ก็ได้เข้าพิธีบรรพชาอุปสมบท เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๖๘ ตรงกับวันอาทิตย์ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๖ ณ วัดสะแก ตำบลธนู อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีหลวงพ่อกลั่น เจ้าอาวาสวัดพระญาติการาม เป็นพระอุปัชฌาย์ มีหลวงพ่อแด่ เจ้าอาวาสวัดสะแก (ในขณะนั้น) เป็นกรรมวาจาจารย์ และมีหลวงพ่อฉาย วัดกลางคลองสระบัว เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า "พรหมปัญโญ"

ในพรรษาแรกๆ นั้น ท่านได้ศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดประดู่ทรงธรรม ซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่า วัดประดู่โรงธรรม โดยมีพระอาจารย์ผู้สอนคือ ท่านเจ้าคุณเนื่อง, พระครูชม และหลวงพ่อรอด (เสือ) เป็นต้น

ในด้านการปฏิบัติพระกรรมฐานนั้น ท่านก็ได้ศึกษากับหลวงพ่อกลั่น ผู้เป็นอุปัชฌายะ และหลวงพ่อเภา ศิษย์องค์สำคัญของหลวงพ่อกลั่น ซึ่งมีศักดิ์เป็นอาของท่าน เมื่อท่านบวชได้พรรษาที่สอง ประมาณปลายปี พ.ศ.๒๔๖๙ หลวงพ่อกลั่นก็มรณภาพ


ท่านจึงได้ศึกษาหาความรู้จากหลวงพ่อเภาเป็นหลัก นอกจากนี้ท่านยังได้ศึกษาจากตำรับตำรา เป็นผู้รักการศึกษาค้นคว้า ท่านจึงได้เดินทางไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจากพระอาจารย์อีกหลายท่านที่จังหวัดสุพรรณบุรีและสระบุรี
บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๔

ประสบการณ์ธุดงค์



ประมาณเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๖ ออกพรรษาแล้ว ท่านก็เริ่มออกเดินธุดงค์จากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีเป้าหมายที่ป่าเขาทางแถบจังหวัดกาญจนบุรี และแวะนมัสการสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น ที่พระพุทธฉายและพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี จากนั้นก็เดินธุดงค์ไปยังจังหวัดสิงห์บุรี สุพรรณบุรี จนถึงจังหวัดกาญจนบุรี จึงเข้าพักปฏิบัติตามป่าเขาและถ้ำต่างๆ

หลวงพ่อดู่ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า เริ่มแรกที่ท่านขวนขวายศึกษาและปฏิบัตินั้น แท้จริงมิได้เป็นเพื่อมรรคผลนิพพานแต่อย่างใด หากแต่ท่านต้องการเรียนรู้ให้ได้วิชาต่างๆ เป็นต้นว่า คงกระพันชาตรี ก็เพื่อที่จะสึกออกไปและเอาไปใช้แก้แค้นพวกโจรที่เคยปล้นโยมพ่อโยมแม่ของท่านถึง ๒ คราว ในที่สุดท่านก็สามารถเรียนรู้วิชาเหล่านั้น


แต่เดชะด้วยกุศลผลบุญที่ท่านได้เคยสั่งสมเอาไว้ ทำให้ท่านมิได้นำความรู้นั้นไปใช้ก่อเวรแต่อย่างใดเลย ด้วยท่านเกิดสลดสังเวชตัวเองที่ปล่อยให้อารมณ์ความอาฆาตแค้นกลุ้มรุมทำร้ายเผาใจของท่านเอง อยู่เป็นเวลานานนับสิบๆ ปี เมื่อท่านเกิดปัญญารู้เท่าทันอารมณ์เช่นนี้ จึงนึกอโหสิกรรมแก่โจรเหล่านั้น แล้วมุ่งดำเนินจิตตามทางแห่งศีล สมาธิ และปัญญาอย่างแท้จริง

ในระหว่างที่ท่านเดินธุดงค์อยู่นั้น ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า ได้พบกับฝูงควายป่ามองเห็นแต่ไกล แต่ในที่สุด ท่านก็ตัดสินใจเด็ดเดี่ยวหยุดยืนภาวนานิ่งอยู่ ฝูงควายป่าที่มุ่งตรงมาทางท่านนั้น พอเข้ามาใกล้จะถึงตัวท่าน ก็กลับเดินทักษิณรอบท่านแล้วก็จากไป


ในบางแห่งที่ท่านเดินธุดงค์ไปถึง ท่านก็มักพบกับพวกนักเลงชอบลองของ ครั้งหนึ่งมีพวกนักเลงเอาปืนมายิ่งใส่ท่าน ซึ่งนั่งภาวนาอยู่ในกลด ท่านเล่าว่าพวกนี้เขาไม่เคารพพระ พวกเขาสนใจอย่างเดียวคือ “ของดี” เมื่อปืนยิงไม่ออก พวกเขาจึงเข้ามาแสดงความเคารพพร้อมกับอ้อนวอนขอ “ของดี” ทำให้ท่านต้องเดินธุดงค์หนีไปทางอื่น

การปฏิบัติของท่านในช่วงธุดงค์อยู่นั้น เป็นไปอย่างเอาจริงเอาจัง ยอมมอบกายถวายชีวิตไว้กับป่าเขา ในขณะที่สุขภาพร่างกายของท่านเริ่มแสดงอาการไม่น่าไว้วางใจ คือ บางครั้งท่านเกิดอาการตึงปวดที่ศีรษะถึงขนาดที่ท่านต้องใช้ผ้าโพกศีรษะขณะนั่งภาวนา ส่วนที่เท้าและขาของท่านก็เริ่มมีอาการโรคเหน็บชารุนแรงขึ้น


แม้ถึงกระนั้น ท่านก็มิได้ย่อท้อ กลับสร้างความแข็งแกร่งขึ้นในจิตใจของท่านตามลำดับ เหมือนที่ท่านสอนศิษย์ทุกคนให้รักการปฏิบัติ ให้มีศรัทธาในการประพฤติปฏิบัติ เอาจริงเอาจัง มอบกายถวายชีวิตต่อการประพฤติปฏิบัติจริงๆ ให้สมกับคำว่า พุทธัง ธัมมัง สังฆัง ชีวิตัง เม ปูเชมิ

หลวงพ่อดู่ท่านกล่าวไว้ว่า “นิพพานอยู่ฟากตาย” ถ้าใครกลัวตายก็อย่ามาประพฤติปฏิบัติ ต้องมอบกายถวายชีวิตลงไปว่า ถ้ามันไม่ดีหรือไม่ได้พบความจริงก็ให้มันตาย ถ้ามันไม่ตายก็ให้มันดีหรือได้พบกับความจริง


แม้แต่ท่านเองก็ได้ประโยชน์จากการประพฤติปฏิบัติอย่างนั้นมาแล้ว จึงได้นำมาสอนลูกศิษย์ผู้มุ่งหวังความพ้นทุกข์ ให้เจริญรอยตามแบบอย่างที่ท่านเคยประพฤติปฏิบัติมา

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๕

นิมิตธรรม



อยู่มาวันหนึ่ง เข้าใจว่าปี พ.ศ.๒๕๐๐ เล็กน้อย หลังจากที่ท่านสวดมนต์ทำวัตรเย็นอันเป็นกิจวัตร ซึ่งท่านทำเป็นปรกติไม่ขาด และหลังจากที่ท่านปฏิบัติกิจส่วนตัวเสร็จเรียบร้อยและเข้าจำวัดแล้ว เกิดนิมิตไปว่าได้ฉันดาวที่มีแสงสว่างมากเข้าไป ๓ ดวง ในขณะที่กำลังฉันอยู่นั้นก็รู้สึกว่ากรอบๆ ดี ก็เลยฉันเข้าไปทั้งหมด แล้วจึงตกใจตื่น

เมื่อท่านพิจารณาใคร่ครวญถึงนิมิตธรรมที่เกิดขึ้น ก็เกิดความเข้าใจในนิมิตธรรมนี้ว่า แก้ว ๓ ดวง คือ พระไตรสรณคมน์ นั่นเอง พอท่านว่า “พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ” ก็เกิดอัศจรรย์ขึ้นในจิตท่านพร้อมกับอาการปีติอย่างท้วมท้น ทั้งเกิดเป็นความรู้สึกลึกซึ้งและมั่นใจว่าพระไตรสรณคมน์นี้เป็นแก่นแท้และเป็นรากแก้วของพระพุทธศาสนา ท่านจึงกำหนดเอาเป็นองค์บริกรรมภาวนา

L98.png



ตอนที่ ๖

เน้นหนักที่การปฏิบัติ



หลวงพ่อดู่ท่านให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องของการปฏิบัติสมาธิภาวนา ท่านว่า “ถ้าไม่เอา (ปฏิบัติ) เป็นเถ้าเสียดีกว่า” ในสมัยก่อนเมื่อตอนที่ศาลาปฏิบัติธรรมหน้ากุฏิท่านยังสร้างไม่เสร็จนั้น ท่านก็เมตตาให้ใช้ห้องส่วนตัวที่ท่านใช้จำวัดเป็นที่รับรองสานุศิษย์และผู้สนใจได้ใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรม ซึ่งนับเป็นเมตตาอย่างสูง

สำหรับผู้ที่ไปกราบนมัสการท่านบ่อยๆ หรือมีโอกาสได้ฟังท่านสนทนาธรรม ก็ได้เห็นหลักการสอนของท่านที่จะโน้มน้าวผู้ฟังให้วกเข้าสู่การปรับปรุงแก้ไขตนเอง เช่น

ครั้งหนึ่งมีลูกศิษย์วิพากษ์วิจารณ์คนนั้นคนนี้ให้ฟังในเชิงกล่าวว่า ว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาและความยุ่งยาก แทนที่ท่านจะเออออไปตามอันจะทำให้เรื่องยิ่งบานปลายออกไป ท่านกลับปรามว่า “เรื่องของคนอื่น เราไปแก้เขาไม่ได้ ที่แก้ได้คือตัวเรา แก้ข้างนอกเป็นเรื่องโลก แต่แก่ที่ตัวเรานี่เป็นเรื่องธรรม”

คำสอนของหลวงพ่อดู่ จึงสรุปลงที่การใช้ชีวิตอย่างคนไม่ประมาท หมายถึง สิ่งที่จะต้องไปพร้อมๆ กันก็คือ ความพากเพียรสู่ภาคปฏิบัติในมรรควิถีที่เป็นสาระแห่งชีวิตของผู้ไม่ประมาท ดังที่ท่านพูดย้ำเสมอว่า “หมั่นทำเข้าไว้ๆ”

L99.png



ตอนที่ ๗

อ่อนน้อมถ่อมตน



นอกจากความอดทนอดกลั้นยิ่งแล้ว หลวงพ่อดู่ยังเป็นแบบอย่างของผู้ไม่ถือตัว วางตัวเสมอต้นเสมอปลาย ไม่ยกตนข่มผู้อื่น เมื่อครั้งที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เสงี่ยม) วัดสุทัศนเทพวราราม หรือที่เรียกว่า “ท่านเจ้าคุณเสงี่ยม” ซึ่งมีอายุพรรษามากกว่าหลวงพ่อดู่ ๑ พรรษา มานมัสการหลวงพ่อดู่ โดยยกย่องเป็นครูอาจารย์

แต่เมื่อท่านเจ้าคุณเสงี่ยมกราบหลวงพ่อเสร็จแล้ว หลวงพ่อท่านก็กราบตอบ เรียกว่าต่างองค์ต่างกราบซึ่งกันและกัน เป็นภาพที่พบเห็นได้ยากเหลือเกินในโลกที่ผู้คนทั้งหลายมีแต่จะเติบโตทางด้านทิฏฐิมานะ ความถือตน อวดดี ยกตนข่มท่าน ปล่อยให้กิเลสตัวหลงออกเรี่ยราด เที่ยวประกาศให้ผู้คนทั้งหลายได้รู้ว่าตนดี ตนเก่ง โดยเจ้าตัวก็ไม่รู้ว่าถูกกิเลสขึ้นขี่คอพาบงการให้เป็นไป

หลวงพ่อดู่ไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติธรรมของสำนักไหนๆ ในเชิงลบหลู่หรือเปรียบเทียบดูถูกดูหมิ่น ท่านว่า “คนดีน่ะ เขาไม่ตีใคร” ซึ่งลูกศิษย์ทั้งหลายได้ถือเป็นแบบอย่าง

หลวงพ่อดู่เป็นพระพูดน้อย ไม่มากโวหาร ท่านจะพูดย้ำพูดแต่ในเรื่องของการปฏิบัติธรรมและความไม่ประมาท เช่น


“ของดีอยู่ที่ตัวเรา หมั่นทำ (ปฏิบัติ) เข้าไว้”   

“ให้หมั่นดูจิต รักษาจิต”

“อย่าลืมตัวตาย” และ  

“ให้หมั่นพิจารณา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” เป็นต้น
บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๘

อุบายธรรม



หลวงพ่อดู่เป็นผู้ที่มีอุบายธรรมลึกซึ้ง สามารถขัดเกลาจิตใจคนอย่างค่อยเป็นค่อยไป มิได้เร่งรัดเอาผล เช่น ครั้งหนึ่งมีนักเลงเหล้าติดตามเพื่อนซึ่งเป็นลูกศิษย์มากราบนมัสการท่าน สนทนากันได้สักพักหนึ่ง นักเลงเหล้าผู้นั้นก็แย้งว่า “จะมาใช้ผมสมาทานศีลและปฏิบัติได้ยังไง ก็ผมยังกินเหล้าเมายาอยู่นี่ครับ”

หลวงพ่อดู่ท่านก็ตอบว่า “เอ็งจะกินก็กินไปซิ ข้าไม่ว่า แต่ให้เอ็งปฏิบัติให้ข้าวันละ ๕ นาทีก็พอ” นักเลงเหล้าผู้นั่นเห็นว่า นั่งสมาธิแค่วันละ ๕ นาที ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร จึงได้ตอบปากรับคำจากหลวงพ่อ

ด้วยความที่เป็นคนนิสัยทำอะไรทำจริง ซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ทำให้เขาสามารถปฏิบัติได้สม่ำเสมอเรื่อยมา มิได้ขาดแม้แต่วันเดียว บางครั้งถึงขนาดงดไปกินเหล้ากับเพื่อนๆ เพราะได้เวลานั่งปฏิบัติ จิตของเขาเริ่มเสพคุ้นกับความสุขสงบจากการที่จิตเป็นสมาธิ ไม่ช้านานก็สามารถเลิกเหล้าได้โดยไม่รู้ตัว


ด้วยอุบายธรรมที่น้อมนำมาจากหลวงพ่อ ต่อมาเขาได้มีโอกาสมานมัสการท่านอีกครั้งหนึ่ง ทีนี้หลวงพ่อดู่ท่านให้โอวาทว่า “ที่แกปฏิบัติอยู่ ให้รู้ว่าไม่ใช่เพื่อข้า แต่เพื่อตัวแกเอง” คำพูดของหลวงพ่อทำให้เข้าใจอะไรมากขึ้น ถัดจากนั้นประมาณ ๔ ปี เขาผู้ที่อดีตเคยเป็นนักเลงเหล้าก็ละเพศฆราวาสเข้าสู่เพศบรรพชิต ตั้งใจปฏิบัติธรรมอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้

อีกครั้งหนึ่ง มีชาวบ้านหาปลามานมัสการท่าน และก่อนที่เขาจะกลับ ท่านก็ให้เขาสมาทานศีล ๕ เขาเกิดตะขิดตะขวงใจ กราบเรียนท่านว่า “ผมไม่กล้าสมาทานศีล ๕ เพราะรู้ว่าประเดี๋ยวก็ต้องไปจับปลา จับกุ้ง มันเป็นอาชีพของผมครับ”


หลวงพ่อตอบเขาด้วยความเมตตาว่า “แกจะรู้เหรอว่า แกจะตายเมื่อไหร่ ไม่แน่ว่าแกเดินออกไปจากกุฏิข้าแล้ว อาจถูกงูกัดตายเสียกลางทาง ก่อนไปจับปลา จับกุ้ง ก็ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อตอนนี้แกยังไม่ได้ทำบาปกรรมอะไร ยังไงๆ ก็ให้มีศีลไว้ก่อน ถึงจะมีศีลขาดก็ยังดีกว่าไม่มีศีล”

หลวงพ่อดู่ท่านไม่เพียงพร่ำสอนให้บรรดาศิษย์ทั้งหลายเจริญบำเพ็ญคุณงามความดีเท่านั้น หากแต่ท่านยังได้เน้นย้ำให้เห็นความสำคัญและระมัดระวังในการรักษาไว้ซึ่งคุณงามความดีนั้นๆ ให้คงอยู่นานที่สุด ท่านจะเตือนเสมอๆ ว่าเมื่อเพาะปลูกต้นธรรมด้วยดีแล้ว ก็ต้องคอยหมั่นระวังหนอนและแมลงจะมาทำลาย ต้นธรรมนั้นจึงจะเติบใหญ่สมบูรณ์อย่างเต็มที่


ฉันใดฉันนั้น ธรรมะที่เจริญดีแล้วที่ใจเรา หากเราไม่คอยระวังรักษา โลกธรรมและสิ่งกระทบทั้งหลายก็จะกัดกร่อนจิตเราให้เสื่อมจากธรรมได้

และอีกครั้งหนึ่งที่ท่านแสดงถึงแบบอย่างของความเป็นครูผู้ปราศจากทิฏฐิมานะและเปี่ยมด้วยอุบายธรรมก็คือ ครั้งที่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๒ คน ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่าน มากราบลาพร้อมกับเรียนให้ท่านทราบว่าจะเดินทางไปพักค้างเพื่อปฏิบัติธรรมกับท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน ณ วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี


ท่านฟังแล้วก็ยกมือพนมขึ้นไหว้ไปทางข้างๆ พร้อมกับพูดว่า “ข้าโมทนากับพวกแกด้วย ตัวข้าไม่มีโอกาส” ไม่มีเลยที่ท่านจะห้ามปรามหรือแสดงอาการที่เรียกว่าหวงลูกศิษย์ ตรงกันข้าม มีแต่จะส่งเสริมสนับสนุนให้กำลังใจ เพื่อให้ลูกศิษย์ของท่านขวนขวายในการปฏิบัติธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป

แต่ถ้าเป็นกรณีที่มีลูกศิษย์มาเรียนให้ท่านทราบถึงครูอาจารย์องค์นั้นองค์นี้ ในลักษณะตื่นครูตื่นอาจารย์ ท่านก็จะปรามและพูดเตือนสติว่า “ครูอาจารย์ดีๆ มีอยู่มากก็จริง แต่สำคัญที่แกต้องปฏิบัติให้จริง สอนตัวเองให้มาก นั่นแหละจึงจะดี”

หลวงพ่อดู่ท่านมีแนวทางการสอนธรรมะที่เรียบง่ายฟังง่าย ชวนให้ติดตามฟัง ท่านนำเอาสิ่งที่เข้าใจยากมาแสดงให้เข้าใจง่าย เพราะท่านจะยกอุปมาอุปไมยประกอบในการสอนธรรมะ จึงทำให้ผู้ฟังเห็นภาพและเกิดความเข้าใจในธรรมที่ท่านนำมาแสดง แม้ว่าท่านมักจะออกตัวว่าท่านเป็นพระบ้านนอกที่ไม่รู้อะไร แต่สำหรับบรรดาศิษย์ทั้งหลาย คงไม่อาจปฏิเสธว่าหลายครั้งที่ท่านสามารถพูดแทงเข้าไปถึงก้นบึ้งหัวใจของผู้ฟังทีเดียว


และอีกประการหนึ่ง ด้วยความที่ท่านมีรูปร่างลักษณะเป็นที่น่าเคารพเลื่อมใส เมื่อใครได้มาพบเห็นท่านด้วยตนเองและถ้ายิ่งได้สนทนาธรรมกับท่านโดยตรง ก็จะยิ่งเพิ่มความเคารพเลื่อมใสและศรัทธาในตัวท่านมากขึ้นเป็นทวีคูณ

หลวงพ่อดู่ท่านพูดถึงการประพฤติปฏิบัติของคนสมัยนี้ว่า “คนเราทุกวันนี้ โลกเท่าแผ่นดิน ธรรมเท่าปลายเข็ม เรามัวพากันยุ่งอยู่แต่กับโลก จนเหมือนลิงติดตัง เรื่องของโลก เรื่องเละๆ เรื่องไม่มีที่สิ้นสุด เราไปแก้ไขเขาไม่ได้ จะต้องแก้ไขที่ตัวเราเอง ตนของตนเตือนตนด้วยตนเอง”

ท่านได้อบรมสั่งสอนศิษย์ โดยให้พยายามถือเอาเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาเป็นครูสอนตนเองเสมอ เช่น ในหมู่คณะหากมีผู้ใดประพฤติปฏิบัติดี เจริญในธรรมปฏิบัติ ท่านก็กล่าวชมและให้ถือเป็นแบบอย่าง แต่ถ้ามีผู้ประพฤติผิด ถูกท่านตำหนิติเตียน ก็ให้น้อมเอาเหตุการณ์นั้นๆ มาสอนตนทุกครั้งไป


ท่านไม่ได้ชมผู้ทำดีจนหลงลืมตน และท่านไม่ได้ติเตียนผู้ทำผิดจนหมดกำลังใจ แต่ถือเหตุการณ์นั้นๆ เป็นเสมือนครูที่เป็นความจริงแสดงเหตุผลให้เห็นธรรมที่แท้จริง การสอนของท่านก็พิจารณาดูบุคคลด้วย เช่น คนบางคนพูดให้ฟังเพียงอย่างเดียวไม่เข้าใจ บางทีท่านก็ต้องทำให้เกิดความกลัว เกิดความละอายบ้าง ถึงจะหยุดเลิกละการกระทำที่ไม่ดีนั้นๆ ได้ หรือบางคนเป็นผู้มีอุปนิสัยเบาบางอยู่แล้ว ท่านก็สอนธรรมดา

การสอนธรรมะของท่าน บางทีก็สอนให้กล้า บางทีก็สอนให้กลัว ที่ว่าสอนให้กล้านั้น คือ ให้กล้าในการทำความดี กล้าในการประพฤติปฏิบัติเพื่อถอดถอนกิเลสออกจากใจ ไม่ให้ตกเป็นทาสของกิเลสอยู่ร่ำไป ส่วนที่สอนให้กลัวนั้น ท่านให้กลัวในการทำความชั่ว ผิดศีลผิดธรรม เป็นโทษ ทำแล้วผู้อื่นเดือดร้อน

บางทีท่านก็สอนให้เชื่อ คือ ให้เชื่อมั่นในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เชื่อในเรื่องกรรม อย่างที่ท่านเคยกล่าวว่า “เชื่อไหมหละ ถ้าเราเชื่อจริง ทำจริง มันก็เป็นของจริง ของจริงมีอยู่ แต่เรามันไม่เชื่อจริง จึงไม่เห็นของจริง”

หลวงพ่อดู่ท่านสอนให้มีปฏิปทาสม่ำเสมอ ขยันก็ให้ทำ ขี้เกียจก็ให้ทำ ถ้าวันไหนยังกินข้าวก็ต้องทำ วันไหนเลิกกินข้าวแล้วนั่นแหละ จึงค่อยเลิกทำ

การสอนของท่านนั้น มิได้เน้นแต่เพียงการนั่งหลับตาภาวนา หากแต่หมายรวมไปถึงการกำหนดดู กำหนดรู้ และพิจารณาสิ่งต่างๆ ในความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านชี้ให้เห็นถึงสังขารร่างกายที่มันเกิด-ตายอยู่ตลอดเวลา


ท่านว่าเราวันนี้กับเราเมื่อตอนเป็นเด็ก มันก็ไม่เหมือนเก่า จึงว่าเราเมื่อตอนเป็นเด็ก หรือเราเนี่ยเมื่อวานมันตายไปแล้ว เรียกว่าร่างกายเรามันเกิด-ตายอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก มันเกิด-ตายอยู่ทุกขณะจิต ท่านสอนให้บรรดาศิษย์เห็นจริงถึงความสำคัญของความทุกข์ยากว่า เป็นสิ่งที่มีคุณค่าในโลก

ท่านจึงพูดบ่อยครั้งว่า การที่เราประสบทุกข์ นั่นแสดงว่าเรามาถูกทางแล้ว เพราะอาศัยทุกข์นั่นแหละ จึงทำให้เราเกิดปัญญาขึ้นได้

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๙

ใช้ชีวิตอย่างผู้รักสันโดษและเรียบง่าย




หลวงพ่อดู่ท่านยังเป็นแบบอย่างของผู้มักน้อยสันโดษใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ไม่นิยมความหรูหราฟุ่มเฟือย แม้แต่การสรงน้ำ ท่านก็ยังไม่เคยใช้สบู่เลย แต่ก็น่าอัศจรรย์เมื่อได้ทราบจากพระอุปัฏฐากว่า ไม่พบว่าท่านมีกลิ่นตัว แม้ในห้องที่ท่านจำวัด

มีผู้ปวารณาตัวจะถวายเครื่องใช้และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้กับท่าน ซึ่งส่วนใหญ่ท่านจะปฏิเสธ คงรับไว้บ้างเท่าที่เห็นว่าไม่เกินเลยอันจะเสียสมณสารูป และใช้สอยพอให้ผู้ถวายเป็นสังฆทานโดยผ่านท่าน และเมื่อถึงเวลาเหมาะควรท่านก็จะระบาย โดยจัดสรรไปให้วัดต่างๆ ที่อยู่ในชนบทและยังขาดแคลนอยู่

สิ่งที่ท่านถือปฏิบัติสม่ำเสมอในเรื่องลาภสักการะก็คือ การยกให้เป็นของสงฆ์ส่วนรวม แม้ปัจจัยที่มีผู้ถวายให้กับท่านเป็นส่วนตัวสำหรับค่ารักษาพยาบาล ท่านก็สมทบเข้าในกองทุนสำหรับจัดสรรไปในกิจสาธารณประโยชน์ต่างๆ ทั้งโรงเรียนและโรงพยาบาล

หลวงพ่อดู่ ท่านก็ไม่มีอาการแห่งความเป็นผู้อยากเด่นอยากดังแม้แต่น้อย ดังนั้น แม้ท่านจะเป็นเพียงพระบ้านนอกรูปหนึ่ง ซึ่งไม่เคยออกจากวัดไปที่ไหน ทั้งไม่มีการศึกษาระดับสูงๆ ในทางโลก แต่ในความรู้สึกของลูกศิษย์ทั้งหลาย ท่านเป็นดั่งพระเถระผู้ถึงพร้อมด้วยจริยาวัตรอันงดงาม สงบ เรียบง่าย เบิกบานและถึงพร้อมด้วยธรรมวุฒิที่รู้ถ้วนทั่วในวิชชาอันจำนำพาให้พ้นเกิด พ้นแก่ พ้นเจ็บ พ้นตาย ถึงฝั่งอันเกษม เป็นที่ฝากเป็นฝากตายและฝากหัวใจของลูกศิษย์ทุกคน

ในเรื่องทรัพย์สมบัติดั้งเดิมของท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่นา ซึ่งมีอยู่ประมาณ ๓๐ ไร่ ท่านก็ได้แบ่งให้กับหลานๆ ของท่าน ซึ่งในจำนวนนี้ นายยวง พึ่งกุศล ผู้เป็นบุตรของนางสุ่ม โยมพี่สาวคนกลางที่เคยเลี้ยงดูท่านมาตลอด ก็ได้รับส่วนแบ่งที่นาจากท่านด้วย จำนวน ๑๘ ไร่เศษ


แต่ด้วยความที่นายยวง ผู้เป็นหลานของท่านนี้ไม่มีทายาท จึงคิดปรึกษานางถมยา ผู้เป็นภรรยา เห็นควรยกให้สาธารณประโยชน์ คือยกที่ดินแปลงนี้ให้กับโรงเรียนวัดสะแก ซึ่งหลวงพ่อดู่ท่านก็โมทนาในกุศลเจตนาของคนทั้งสอง

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

7.jpg



ตอนที่ ๑๐

กุศโลบายในการสร้างพระ



หลวงพ่อดู่ท่านมิได้ตั้งตัวเป็นเกจิอาจารย์ การที่ท่านสร้างหรืออนุญาตให้สร้างพระเครื่องหรือพระบูชา ก็เพราะเห็นประโยชน์ เพราะบุคคลจำนวนมากยังขาดที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ท่านมิได้จำกัดศิษย์อยู่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง


ดังนั้นคณะศิษย์ของท่านจึงมีความกว้างขวางออกไป ทั้งที่ใฝ่ใจธรรมล้วนๆ หรือที่ยังต้องอิงกับวัตถุมงคล ท่านเคยพูดว่า “ติดวัตถุมงคล ก็ยังดีกว่าที่จะให้ไปติดวัตถุอัปมงคล” ทั้งที่ท่านย่อมใช้ดุลยพินิจพิจารณาตามความเหมาะควรแก่ผู้ที่ไปหาท่าน

แม้ว่าหลวงพ่อดู่จะรับรองในความศักดิ์สิทธิ์ของพระเครื่องที่ท่านอธิษฐานจิตให้ แต่สิ่งที่ท่านยกไว้เหนือกว่านั้นก็คือ การปฏิบัติ ดังจะเห็นได้จากคำพูดของท่านว่า “เอาของจริงดีกว่า พุทธังฯ ธัมมังฯ สังฆังฯ สรณัง คัจฉามิ นี่แหละของแท้”


จากคำพูดนี้จึงเสมือนเป็นการยืนยันว่า การปฏิบัติภาวนานี้แหละเป็นที่สุดแห่งเครื่องรางของขลัง เพราะคนบางคนแม้แขวนพระที่ผู้ทรงคุณวิเศษอธิษฐานจิตให้ก็ตาม ก็ใช่ว่าจะรอดปลอดภัย อยู่ดีมีสุขไปทุกกรณี อย่างไรเสียทุกคนไม่อาจหลีกหนีวิบากกรรมที่ตนได้สร้างไว้ ดังที่ท่านได้กล่าวไว้ว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็คือ กรรม

ดังนั้นจึงมีแต่พระ “สติ” พระ “ปัญญา” ที่ฝึกฝนอบรมมาดีแล้วเท่านั้น ที่จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติรู้เท่าทันและพร้อมที่จะเผชิญกับปัญหาและสิ่งกระทบต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตอย่างไม่ทุกข์ใจ ดุจว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเสมือนฤดูกาลที่ผ่านเข้ามาในชีวิต บางครั้งร้อน บางครั้งหนาว ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นไปตามธรรมดาของโลก

พระเครื่องหรือพระบูชาต่างๆ ที่ท่านอธิษฐานปลุกเสกให้แล้วนั้น ปรากฏผลแก่ผู้บูชาในด้านต่างๆ เช่น แคล้วคลาด เป็นต้น นั่นก็เป็นเพียงผลพลอยได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ทางโลก แต่ประโยชน์ที่ท่านผู้สร้างมุ่งหวังอย่างแท้จริงนั้นก็คือ ใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติภาวนา มีพุทธานุสติกรรมฐาน เป็นต้น


นอกจากนี้แล้ว ผู้ปฏิบัติสามารถนำพระของท่านมานั่งกำไว้ในมือขณะปฏิบัติสมาธิภาวนา เพื่อจะเอาไว้อาศัยพระรัตนตรัยและพลังจิตที่ท่านตั้งใจบรรจุไว้ในพระเครื่องช่วยน้อมนำและประคับประคองให้จิตรวมสงบได้เร็วขึ้น ตลอดถึงการใช้เป็นเครื่องเสริมกำลังใจและระงับความหวาดวิตกขึ้นขณะปฏิบัติอีกด้วย

สิ่งนี้ก็ถือเป็นประโยชน์ทางธรรมซึ่งจะก่อให้เกิดพัฒนาการทางจิตของผู้ใช้ไปสู่การพึ่งพาตนเองได้ เพราะการที่เราได้อาศัยพุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธังมัง สรณัง คัจฉามิ และสังฆัง สรณัง คัจฉามิ คือ ได้ยึดได้อาศัยพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะในเบื้องต้นก่อน

เมื่อจิตของเราเกิดความศรัทธา โดยเฉพาะอย่างที่เรียกกันว่า ตถาคตโพธิสัทธา คือเชื่อในปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าขึ้นแล้ว เราก็ย่อมเกิดกำลังใจขึ้นว่า พระพุทธองค์เดิมก็เป็นคนธรรมดาเช่นเดียวกับเรา ความผิดพลาดพระองค์ก็เคยทรงทำมาก่อน แต่ด้วยความเพียรประกอบกับพระสติปัญญาที่ทรงอบรมมาดีแล้ว จึงสามารถก้าวข้ามสามโลกสู่ความหลุดพ้น เป็นการบุกเบิกทางที่เคยรกชัฏให้พวกเราได้เดินกัน


ดังนั้นเราซึ่งเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับพระองค์ ก็ย่อมที่จะฝึกฝนอบรมกาย วาจา ใจ ด้วยตัวเราเอง เช่นเดียวกันกับที่พระองค์ทรงกระทำมา พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ กาย วาจา ใจ เป็นสิ่งที่ฝึกฝนอบรมกันได้ ใช่ว่าจะต้องปล่อยให้ไหลไปตามยถากรรม

เมื่อจิตเราเกิดศรัทธาดังที่กล่าวมานี้แล้ว ก็มีการน้อมนำเอาข้อความคำสอนต่างๆ มาประพฤติปฏิบัติขัดเกลากิเลสออกจากใจตน จิตใจของเราก็จะเลื่อนชั้นจากปุถุชนที่หนาแน่นด้วยกิเลส ขึ้นสู่กัลยาณชนและอริยชนเป็นลำดับ


เมื่อเป็นดังนี้แล้ว ในที่สุดเราก็ย่อมเข้าถึงที่พึ่ง คือตัวเราเอง อันเป็นที่พึ่งที่แท้จริง เพราะกายวาจาใจที่ได้ผ่านขั้นตอนการฝึกฝนอบรมโดยการเจริญศีล สมาธิ และปัญญาแล้ว ย่อมกลายเป็นกายสุจริต วาจาสุจริต และมโนสุจริต กระทำสิ่งใด พูดสิ่งใด คิดสิ่งใด ก็ย่อมหาโทษมิได้ ถึงเวลานั้นแม้พระเครื่องไม่มี ก็ไม่อาจทำให้เขาเกิดความหวั่นไหวหวาดกลัวขึ้นได้เลย

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๑

เปี่ยมด้วยเมตตา



นึกถึงสมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธองค์ทรงประชวรหนักครั้งสุดท้ายแห่งปรินิพพาน ท่านพระอานนท์ผู้อุปัฏฐากพระองค์อยู่ตลอดเวลา ได้ห้ามมานพหนุ่มผู้หนึ่งซึ่งขอร้องจะขอเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าขณะนั้น พระอานนท์คัดค้านอย่างเด็ดขาดไม่ให้เข้าเฝ้า แม้มานพขอร้องถึง ๓ ครั้ง ท่านก็ไม่ยอม จนกระทั่งเสียงขอกับเสียงดังถึงพระพุทธองค์

พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “อานนท์ อย่าห้ามมานพผู้นั้นเลย จงให้เข้ามาเดี๋ยวนี้” เมื่อได้รับอนุญาตจากพระอานนท์แล้ว มานพก็เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรมบรรลุมรรคผล แล้วขอบวชเป็นพระสาวกองค์สุดท้าย มีนามว่า “พระสุภัททะ”

พระอานนท์ท่านทำหน้าที่ของท่านถูกต้องแล้ว ไม่มีความผิดอันใดเลยแม้แต่น้อย ส่วนที่พระพุทธเจ้าให้เข้าเฝ้านั้น เป็นส่วนพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงมีต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายโดยไม่มีประมาณ ย่อมแผ่ไพศาลไปทั่วทั้งสามโลก


พระสาวกรุ่นหลังกระทั่งถึงพระเถระหรือครูบาอาจารย์ผู้สูงอายุ โดยทั่วไปที่มีเมตตาสูง รวมทั้งหลวงพ่อย่อมเป็นที่เคารพนับถือของชนหมู่มาก ท่านก็อุทิศชีวิตเพื่อกิจพระศาสนา ก็ไม่ค่อยคำนึงถึงความชราอาพาธของท่าน เห็นว่าผู้ใดได้ประโยชน์จากการบูชาสักการะท่าน ท่านก็อำนวยประโยชน์นั้นแก่เขา

เมื่อครั้งที่หลวงพ่ออาพาธอยู่ ได้มีลูกศิษย์กราบเรียนท่านว่า “รู้สึกเป็นห่วงหลวงพ่อ” ท่านได้ตอบศิษย์ผู้นั้นด้วยความเมตตาว่า “ห่วงตัวแกเองเถอะ” อีกครั้งที่ผู้เขียนเคยเรียนหลวงพ่อว่า ขอให้หลวงพ่อพักผ่อนมากๆ หลวงพ่อตอบทันทีว่า


“พักไม่ได้ มีคนเขามากันเยอะแยะ บางทีกลางคืนเขาก็มากัน เราเหมือนนกตัวนำ เราเป็นครูเขานี่ ครู...เขาตีระฆังได้เวลาสอนแล้วก็ต้องสอน ไม่สอนได้ยังไง”

ชีวิตของท่านเกิดมาเพื่อเกื้อกูลธรรมแก่ผู้อื่น แม้จะอ่อนเพลียเมื่อยล้าสักเพียงใด ท่านก็ไม่แสดงออกให้ใครต้องรู้สึกวิตกกังวลหรือลำบากใจแต่อย่างใดเลย เพราะอาศัยความเมตตาเป็นที่ตั้ง จึงอาจกล่าวได้ว่า ปฏิปทาของท่านเป็นดั่งพระโพธิสัตว์หรือหน่อพุทธภูมิ
ซึ่งเห็นประโยชน์ของผู้อื่นมากกว่าประโยชน์ส่วนตน

ดังเช่นพระโพธิสัตว์หรือหน่อพุทธภูมิอีกท่านหนึ่ง คือ หลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด พระสุปฏิปันโนสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งหลวงพ่อดู่ได้สอนให้ลูกศิษย์ให้ความเคารพเสมือนครูบาอาจารย์ผู้ชี้แนะแนวทางการปฏิบัติอีกท่านหนึ่ง

หลวงพ่อดู่ท่านได้ตัดสินใจไม่รับกิจนิมนต์ออกนอกวัด ตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ.๒๔๙๐ ดังนั้นทุกคนที่ตั้งใจไปกราบนมัสการและฟังธรรมจากท่านจะไม่ผิดหวังเลยว่าจะไม่ได้พบท่าน ท่านจะนั่งรับแขกบนพื้นไม้กระดานแข็งๆ หน้ากุฏิของท่านทุกวันตั้งแต่เช้าจรดค่ำ บางวันที่ท่านอ่อนเพลีย ท่านจะเอนกายพักผ่อนที่หน้ากุฏิ แล้วหาอุบายสอนเด็กวัด โดยให้เอาหนังสือธรรมะมาอ่านให้ท่านฟังไปด้วย

ข้อวัตรของท่านอีกอย่างหนึ่งก็คือ การฉันอาหารมื้อเดียว ซึ่งท่านกระทำมาตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ.๒๕๐๐ แต่ภายหลังคือประมาณปี พ.ศ.๒๕๒๕ เหล่าสานุศิษย์ได้กราบนิมนต์ให้ท่านฉัน ๒ มื้อ เนื่องจากความชราภาพของท่าน ประกอบกับต้องรับแขกมากขึ้น ท่านจึงได้ผ่อนปรนตามความเหมาะสมควรแห่งอัตภาพ ทั้งจะได้การโปรดญาติโยมจากที่ไกลๆ ที่ตั้งใจมาทำบุญถวายภัตตาหารแด่ท่าน

หลวงพ่อแม้จะชราภาพมากแล้ว ท่านก็ยังอุตส่าห์นั่งรับแขกที่มาจากทิศต่างๆ วันแล้ววันเล่า ศิษย์ทุกคนก็ตั้งใจมาเพื่อกราบนมัสการท่าน บางคนก็มาเพราะมีปัญหาหนักอกหนักใจ แก้ไขด้วยตนเองไม่ได้ จึงมุ่งหน้ามาเพื่อกราบเรียนถามปัญหา เพื่อให้หายทุกข์ใจ บางคนมาหาท่านเพื่อต้องการของดี เช่น เครื่องรางของขลัง ซึ่งก็มักได้รับคำตอบจากท่านว่า


“ของดีนั้นอยู่ที่ตัวเรา พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นี่แหละของดี”

บางคนมาหาท่าน เพราะได้ยินข่าวเล่าลือถึงคุณงามความดีศีลาจริยวัตรของท่านในด้านต่างๆ บางคนมาหาท่านเพื่อขอหวยหวังรวยทางลัดโดยไม่อยากทำงาน แต่อยากได้เงินมากๆ บางคนเจ็บไข้ไม่สบายก็มาเพื่อให้ท่านรดน้ำมนต์เป่าหัวให้


บางคนมาขอดอกบัวบูชาพระท่าน เพื่อนำไปต้มดื่มให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ นานาสารพันปัญหาแล้วแต่ใครจะนำมา เพื่อหวังให้ท่านช่วยตน บางคนไม่เคยเห็นท่าน ก็อยากมาดูว่าท่านมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร บ้างแค่มาเห็นก็เกิดปีติสบายอกสบายใจจนลืมคำถามหรือหมดคำถามไปเลย

หลายคนเสียสละเวลา เสียค่าใช้จ่ายเดินทางไกลมาเพื่อพบท่าน ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงอุตส่าห์นั่งรับแขกอยู่ตลอดวัน โดยไม่ได้พักผ่อนเลย และไม่เว้นแม้ยามป่วยไข้ แม้นายแพทย์ผู้ให้การดูแลท่านอยู่ประจำจะขอร้องท่านอย่างไร ท่านก็ไม่ยอมตาม ด้วยเมตตาสงสารและต้องการให้กำลังใจแก่ญาติโยมทุกคนที่มาพบท่าน


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๒

ท่านเป็นดุจพ่อ



หลวงพ่อดู่ท่านเป็นดุจพ่อของลูกศิษย์ทุกๆ คน เหมือนอย่างที่พระกรรมฐานสายพระอาจารย์มั่น เรียกหลวงปู่มั่นว่า “พ่อแม่ครูอาจารย์” ซึ่งถือเป็นคำยกย่องอย่างสูง เพื่อให้สมฐานะอันเป็นที่รวมแห่งความเป็นกัลยาณมิตร

หลวงพ่อดู่ท่านให้การต้อนรับแขกอย่างเสมอหน้ากันหมด ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะ ท่านจะพูดห้ามปรามหากมีผู้มาเสนอตัวเป็นนายหยาดคอยจัดแจงเกี่ยวกับแขกที่เข้ามานมัสการท่าน ถึงแม้จะด้วยเจตนาดี อันเกิดจากความห่วงใยในสุขภาพของท่านก็ตาม


เพราะท่านทราบดีว่า มีผู้ใฝ่ธรรมจำนวนมากที่อุตส่าห์เดินทางไกล เพื่อนมัสการและซักถามข้อธรรมะจากท่าน หากมาถึงแล้วยังไม่สามารถเข้าพบได้โดยสะดวกก็จะทำให้เสียกำลังใจ นี้เป็นเมตตาธรรมอย่างสูง ซึ่งนับเป็นโชคดีของบรรดาศิษย์ทั้งหลายไม่ว่าใกล้หรือไกล ที่สามารถมีโอกาสเข้ากราบนมัสการท่านได้โดยสะดวก

หากมีผู้สนใจการปฏิบัติกรรมฐานมาหาท่าน ท่านจะเมตตาสนทนาธรรมเป็นพิเศษอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย บางครั้งหลวงพ่อก็มิได้กล่าวอะไรมาก เพียงการทักทายศิษย์ด้วยถ้อยคำสั้นๆ เช่น “เอ้า...กินน้ำชาซิ” หรือ “ว่าไง...” ฯลฯ เท่านี้ ก็เพียงพอที่จะทำความปีติให้เกิดขึ้นกับศิษย์ผู้นั้น เหมือนดังหยาดทิพย์ชโลมให้เย็นฉ่ำ เกิดความสดชื่นตลอดร่างกายจน...ถึงจิต...ถึงใจ

หลวงพ่อดู่ท่านให้ความเคารพในองค์หลวงปู่ทวดอย่างมาก ทั้งกล่าวยกย่องในความที่ท่านเป็นผู้ที่มีบารมีธรรมเต็มเปี่ยม ตลอดถึงการที่จะได้มาตรัสรู้ธรรมในอนาคต ให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายยึดมั่นและหมั่นระลึกถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อติดขัดในระหว่างการปฏิบัติธรรม แม้แต่ประสบปัญหาในทางโลก ท่านว่าหลวงปู่ทวดท่านคอยจะช่วยเหลือทุกคนอยู่แล้ว แต่ขอให้ทุกคนอย่าได้ท้อถอยหรือละทิ้งการปฏิบัติ


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

9.1.JPG



ตอนที่ ๑๓

ปัจฉิมวาร



นับแต่ พ.ศ.๒๕๒๗ เป็นต้นมา สุขภาพของหลวงพ่อเริ่มแสดงไตรลักษณะให้ปรากฏอย่างชัดเจน สังขารร่างกายของหลวงพ่อซึ่งก่อเกิดมาจากธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ และมีใจครอง เหมือนเราๆ ท่านๆ


เมื่อสังขารผ่านมานานวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ามีการใช้งานมากและพักผ่อนน้อย ความทรุดโทรมก็ย่อมเกิดเร็วกว่าปรกติ กล่าวคือ สังขารร่างกายของท่านได้เจ็บป่วยอ่อนเพลียลงไปเป็นลำดับ ในขณะที่บรรดาลูกศิษย์ลูกหาทั้งญาติโยมและบรรพชิตก็หลั่งไหลกันมานมัสการท่านเพิ่มขึ้นทุกวัน

ด้วยปณิธานที่ตั้งไว้ว่า “สู้แค่ตาย” ท่านใช้ความอดทนอดกลั้นอย่างสูง แม้บางครั้งจะมีโรคมาเบียดเบียนอย่างหนัก ท่านก็อุตส่าห์ออกโปรดญาติโยมเป็นปรกติ พระที่อุปัฏฐากท่านได้เล่าให้ฟังว่า บางครั้งถึงขนาดที่ท่านต้องพยุงตัวเองขึ้นด้วยอาการสั่นและมีน้ำตาคลอเบ้า


ท่านก็ไม่เคยปริปากให้ใครต้องเป็นกังวลเลย ในปีท้ายๆ ท่านถูกตรวจพบว่าเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว แม้นายแพทย์จะขอร้องท่านเข้าพักรักษาที่ตัวโรงพยาบาล ท่านก็ไม่ยอมไป ท่านเล่าให้ฟังว่า

“แต่ก่อนเราเคยอยากดี เมื่อดีแล้วก็เอาให้หายอยาก อย่างมากก็สู้แค่ตาย ใครจะเหมือนข้า ข้าบนตัวตาย”

มีบางครั้งได้รับข่าวว่า ท่านล้มขณะกำลังลุกเดินออกจากห้อง เพื่อออกโปรดญาติโยม คือประมาณ ๖ นาฬิกา อย่างที่เคยปฏิบัติอยู่ทุกวัน โดยปกติในยามที่สุขภาพของท่านแข็งแรงดี ท่านจะเข้าจำวัดประมาณ ๔-๕ ทุ่ม แต่กว่าจะจำวัดจริงๆ ประมาณเที่ยงคืน-ตีหนึ่ง แล้วมาตื่นนอนประมาณตีสาม มาช่วงหลังที่สุขภาพของท่านไม่แข็งแรง จึงตื่นตอนประมาณตีสี่-ตีห้า เสร็จกิจการทำวัตรเช้าและกิจธุระส่วนตัวแล้ว จึงออกโปรดญาติโยมที่หน้ากุฏิ

ประมาณปลายปี พ.ศ.๒๕๓๒ หลวงพ่อดู่พูดบ่อยครั้งในความหมายว่า ใกล้ถึงเวลาที่ท่านจะละสังขารนี้แล้ว ในช่วงท้ายของชีวิตท่าน ธรรมที่ถ่ายทอดยิ่งเด่นชัดขึ้น มิใช่ด้วยเทศนาธรรมของท่าน หากแต่เป็นการสอนด้วยการปฏิบัติให้ดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งปฏิปทาในเรื่องของความอดทน
สมดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประทานไว้ในโอวาทปาฏิโมกข์ว่า “ขันตี ปรมัง ตโป ตีติกขา ความอดทนเป็นตบะอย่างยิ่ง”

ท่านได้เยียวยาสังขารของท่านซึ่งเปรียบเสมือนเรือนบ้านที่ทรุดโทรมไปตามเหตุปัจจัย ในขณะที่จิตของท่านยังทรงความเป็นปรกติสงบเย็น จนคนที่แวดล้อมท่านไม่อาจสังเกตเห็นถึงปัญหาโรคภัยที่คุกคามท่านอย่างหนักหน่วง ท่านจึงเป็นครูที่เลิศ สมดังพระพุทธโอวาทที่ว่า สอนเขาอย่างไร พึงปฏิบัติให้ได้อย่างนั้น

ดังนั้น ธรรมในข้อ “อนัตตา” ซึ่งหลวงพ่อท่านยกไว้เป็นธรรมชั้นเอก ท่านก็ได้ปฏิบัติให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของลูกศิษย์ทั้งหลายแล้ว ถึงข้อปฏิบัติต่อหลักอนัตตาไว้อย่างสมบูรณ์ จนแม้ความอาลัยอาวรณ์ในสังขารร่างกายที่จะมาหน่วงเหนี่ยวหรือสร้างความทุกข์ร้อนแก่จิตใจท่าน ก็มิได้ปรากฏให้เห็นเลย

ในตอนบ่ายของวันอังคารที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๓ ขณะที่ท่านกำลังเอนกายพักผ่อนอยู่นั้น ก็มีนายทหารอากาศผู้หนึ่งมากราบนมัสการท่านซึ่งเป็นการมาครั้งแรก หลวงพ่อได้ลุกขึ้นนั่งต้อนรับด้วยใบหน้าที่สดใส ราศีเปล่งปลั่งเป็นพิเศษ กระทั่งบรรดาศิษย์ ณ ที่นั่นเห็นผิดสังเกต หลวงพ่อท่านแสดงอาการยินดีเหมือนรอคอยบุคคลผู้นี้มานาน


ท่านว่า “ต่อไปนี้ข้าจะได้หายเจ็บหายไข้เสียที” ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่า ท่านกำลังโปรดลูกศิษย์คนสุดท้ายของท่าน หลวงพ่อดู่ท่านได้แนะนำการปฏิบัติพร้อมทั้งให้เขานั่งปฏิบัติต่อหน้าท่าน ซึ่งเขาก็สามารปฏิบัติได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ท่านย้ำในตอนท้ายว่า “ข้าขอฝากให้แกไปปฏิบัติต่อ”

ในคืนนั้นก็ได้มีคณะศิษย์มากราบนมัสการท่าน ซึ่งการมาในครั้งนี้ ไม่มีใครคิดมาก่อนเช่นกันว่าจะเป็นการมาพบกับสังขารธรรมของท่านเป็นครั้งสุดท้าย หลวงพ่อดู่ได้เล่าให้ศิษย์คณะนี้ฟังด้วยสีหน้าปรกติว่า “ไม่มีส่วนใดของร่างกายที่ไม่เจ็บปวดเลย ถ้าเป็นคนอื่นคงเข้าห้องไอซียูไปนานแล้ว” พร้อมทั้งพูดหนักแน่นว่า “ข้าไปแล้วนะ”

ท้ายที่สุด ท่านก็เมตตากล่าวย้ำให้ศิษย์ทุกคนตั้งอยู่ในความไม่ประมาท


“ถึงอย่างไร ก็ขออย่าได้ละทิ้งการปฏิบัติ ได้ชื่อว่าเป็นนักปฏิบัติก็เหมือนนักมวย ขึ้นเวทีแล้วต้องชก อย่ามัวแต่ตั้งท่าเงอะๆ งะๆ...”

นี้ดุจเป็นปัจฉิมโอวาทของหลวงพ่อ พระ...ผู้เป็นดุจพ่อ พระ...ผู้เป็นดุจครูอาจารย์ พระ...ผู้จุดประทีปในดวงใจของผู้เป็นศิษย์ทุกคน อันจะไม่สามารถลืมเลือนได้เลย

ท่านได้ละสังขารไปด้วยอาการอันสงบด้วยโรคหัวใจในกุฏิท่าน เมื่อเวลาประมาณ ๕ นาฬิกาของวันพุธที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๓ รวมสิริอายุได้ ๘๕ ปี ๘ เดือน อายุพรรษา ๖๕ พรรษา สังขารธรรมของท่านได้ตั้งบำเพ็ญกุศลโดยมีเจ้าภาพสวดอภิธรรมเรื่อยมาทุกวันมิได้ขาด ตลอดระยะเวลาประมาณ ๔๕๙ วัน จนกระทั่งได้รับพระราชทานเพลิงเป็นกรณีพิเศษ ในวันเสาร์ที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๔

พระคุณเจ้าหลวงพ่อดู่ พรหมปัญโญ ได้อุปสมทบและจำพรรษาอยู่ ณ วัดสะแก มาโดยตลอด จนกระทั่งมรณภาพยังความเศร้าโศกและอาลัยแก่ศิษยานุศิษย์และผู้เคารพรักท่านเป็นอย่างยิ่ง อุปมาดั่งดวงประทีปที่เคยให้ความสว่างไสวแก่ศิษยานุศิษย์ได้ดับไป แต่เมตตาธรรมและคำสั่งสอนของท่านจะยังปรากฏอยู่ในดวงใจของศิษยานุศิษย์และผู้ที่เคารพรักของท่านตลอดไป

บัดนี้สิ่งที่คงอยู่มิใช่รูปสังขารของท่าน หากแต่เป็นหลวงพ่อดู่องค์แท้ที่ศิษย์ทุกคนจะเข้าถึงท่านได้ด้วยการสร้างคุณงามความดีให้เกิดให้มีขึ้นที่ตนเอง สมดังที่ท่านได้กล่าวไว้เป็นคติว่า

“ตราบใดก็ตามที่แกยังไม่เห็นความดีในตัว

ก็ไม่นับว่าแกรู้จักข้า

แต่ถ้าเมื่อใด แกเริ่มเห็นความดีในตัวเองแล้ว

เมื่อนั้น ข้าจึงว่าแกเริ่มรู้จักข้าดีขึ้น”


ธรรมทั้งหลายที่ท่านได้พร่ำสอนทุกวรรคตอนแห่งธรรมที่บรรดาศิษย์ได้น้อมนำมาปฏิบัติ นั่นคือ การที่ท่านได้เพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความดีงามบนดวงใจของศิษย์ทุกคน เพื่อให้ต้นธรรมนั้นเติบใหญ่ผลิดอกออกผลเป็นสติและปัญญา


บนลำต้นที่แข็งแรงคือสมาธิ และบนพื้นดินที่มั่นคงแน่นหนาคือศีล สมดังเจตนารมณ์ที่ท่านได้ทุ่มเทด้วยความเหนื่อยยากทั้งชีวิต ด้วยเมตตาธรรมอันยิ่งอันจักหาได้ยากทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

IMG_8289-removebg-preview.3-removebg-preview.png



.....จบเนื้อหาหนังสือ “พรหมปัญโญบูชา” แล้ว

สวัสดีค่ะ

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html
‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2025-1-4 16:51 , Processed in 0.073371 second(s), 16 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.