แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
ดู: 3961|ตอบ: 1
go

อภิญญาผลสมาบัติ ตอนที่2 (พุทธพยากรณ์พิเศษ) [คัดลอกลิงค์]

Rank: 9Rank: 9Rank: 9

อภิญญาผลสมาบัติ ตอนที่2 (พุทธพยากรณ์พิเศษ)
วันที่: วันจันทร์ 10 กันยายน 2007 @ 15:53:26
หัวข้อ: รวมคำสอน หลวงพ่อฯ




อภิญญาผลสมาบัติ ตอน๒ (พุทธพยากรณ์พิเศษ)
จากหนังสือ พระราชพรหมยาน พิมพ์ครั้งที่๑ ปี ๒๕๓๖
ส่งบทความโดย grumgrim

วันนี้ขณะที่หลวงพ่อท่านทำวัตร ว่า โยโส ภควา อรหัง สัมมาสัมพุทโธ ปากท่านก็ทำวัตรไปด้วยความเลื่อมใส ท่านก็ใช้กำลังผลอภิญญาสมาบัติของท่านติดต่อตรงกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรื่องนี้ทำได้ง่ายๆ ไม่ยากนัก เป็นการแบ่งกำลังใจของเราส่วนหนึ่งทำงานที่ตรงนี้ ส่วนหนึ่งก็ไปจุดใดจุดหนึ่งได้ตามประสงค์ การกระทำอย่างนี้ ถ้าคล่องจริงๆ ส่วนมากมักจะเป็นพวกที่ปรารถนาพระโพธิญาน ท่านเขียนไว้ย่อเหลือเกินว่า กราบทูลถึงเรื่องของกิเลส ท่านกล่าวว่าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงโปรดว่ามีเรื่องกระทบใจ ท่านบอกว่าเวลานี้มันมีเรื่องกิเลสเข้ามากระทบใจเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แล้วก็มีจริงๆ หมายความว่าพระพุทธเจ้าตรัสว่าระหว่างนี้ต้องระวังนะ กิเลสเล็กกิเลสน้อยมันจะเข้าจูงใจกระทบใจอยู่เสมอ ความจริงกิเลสใหญ่มันชนะมาแล้วก็คือกิเลสผู้หญิง ผู้หญิงอยากจะมาชวนเอาไปเป็นผัว ชนะแล้ว ไม่เป็นแล้ว แล้วก็บอกว่าเมื่อเราชนะมาแล้วก็จงระวังเรื่องกระทบใจคือปฏิฆะ การชนะกามราคะนั่นหมายความว่าจะก้าวเข้าสู่ความเป็นอนาคามี เวลานี้ นั่นจุดหนึ่งของพระอนาคามีที่จะเข้าถึง เราชนะแล้ว แต่ก็จะต้องระวังอีกจุดหนึ่งที่จะเข้าถึงความเป็นพระอนาคามี นั่นคือปฏิฆะความโกรธความพยาบาท อารมณ์ที่สร้างความโกรธให้เกิดขึ้นอันนี้ต้องระวัง มันจะเข้ามาเล่นงานเข้าอีก

เป็นอันว่าท่านกล่าวว่า เมื่อสมเด็จพระชินสีห์ท่านบอกว่าระวังนะเรื่องที่จะมากระทบใจและท่านก็ประสบจริงๆ ขณะที่เจริญพระกรรมฐานอยู่นั่นเอง เวลาประมาณ 10.00 น. ก็มีพระผู้ทรงเกียรติท่านหนึ่งมีความเดือดร้อนมาแจ้งว่ามีโจทก์เขาฟ้องเรื่องการเงิน แล้วก็มาขอให้ช่วยจัดการเรื่องนั้นด้วย ถามว่าจะทำประการใด ท่านก็เลยชี้แจงไปว่าเราสู้ตามความเป็นจริง การเงินเรื่องนี้เขาฟ้องเพราะกลั่นแกล้ง เพราะมีพระอีกฝ่ายสนับสนุนให้ฟ้อง เรื่องนี้ไม่เป็นไร จะมีคนเขาช่วยเหลือ

เมื่อพระองค์นั้นไปแล้ว ท่านก็เริ่มทำกรรมฐานของท่านใหม่ จนกระทั่งถึงเวลา 11.00 น. กินข้าวเพล ท่านว่าวันนี้ดีมาก มีเรื่องกระทบใจแล้วนะยังดีมาก เพราะว่าตอนเช้าเป็นเรื่องของการเจริญสมาธิถึงอันดับขั้นสูงสุดก็พบพระพุทธเจ้า ก็สูงสุด ก็เท่านั้น เมื่อคลายลงมาก็ถามองค์สมเด็จพระบรมครูองค์สมเด็จพระจอมไตรตรัสว่า เวลานี้เจ้าไม่ใช่ปุถุชนแล้ว เจ้าเลยโครตภูมาแล้ว สัตตักขัตตุงนั้น เธอได้ตั้งแต่กลางพรรษาก่อนโน้น แต่ว่าเวลานี้เป็นโกลังโกละ เป้ฯพระโสดาบันชั้นกลาง ต่อไปนี้ไม่เกินเจ็ดวันนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป นับตั้งแต่วันนี้ไป 5 วัน จะได้เอกพิชี ในพรรษานี้ถ้าเธอไม่เกียจคร้านอย่างต่ำจะได้อนาคามีหรือว่าถ้าขยัน หรือว่าทำดีๆ ทำให้ถูก จะถึงที่สุดคืออรหัตผล

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2506 ท่านอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนา คือท่านมหากัจจายนะโปรดให้โอวาทว่า จงกำจัดอุปทานนั้นเสีย อุปาทานนั้นได้แก่ ฉันทะคือความพอใจหนึ่ง ราคะคือความกำหนัดยินดีหนึ่ง ฉันทะ คือความพอใจในการเกิดเป็นมนุษย์ การเกิดเป็นเทวดา การเกิดเป็นพรหม ราคะคือเห็นว่ามนุษย์โลกสวยน่าอยู่ เทวโลกสวยน่าอยู่สบาย พรหมโลกสวยน่าอยู่สบาย จงอย่ามีในใจของเธอ ตัดอารมณ์อย่างนี้เสียให้ขาดไป เรามีความพอใจอย่างเดียวคือพระนิพพาน ท่านกล่าวว่าฉันทะเกิดขึ้น ให้พิจารณาว่า อนิจจังมันไม่เที่ยงหนอ ทุกขังมันไม่เที่ยงหนอ อนัตตา เมื่อฉันทะความพอใจเกิดขึ้น ก็บอกว่าอนิจจังมันไม่เที่ยง อย่าไปเกาะมันเลยโลกมนุษย์ พรหมโลก เทวโลก มันไม่อยู่กันจริงจัง เป็นมนุษย์เดี๋ยวก็ตาย เป็นเทวดาหรือว่าพรหมเดี๋ยวก็จุติ ทุกขัง มนุษย์ทุกข์มาก เทวโลกกับพรหมโลกก็ยังทุกข์เพราะยังไม่เสร็จกิจ มีกิจที่จะต้องทำต่อไป อนัตตาอาการทั้งหลายทั้งสามภพนี้มันสลายตัวเสมอ มันไม่มีการทรงตัว

เวลาที่เจริญพระกรรมฐานในคืนวันที่ 24 องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้มาโปรดเมตตาบอกคาถา พระองค์ตรัสให้ทำให้แจ้งด้วย ทำทุกขณะจิตที่จิตพล่าน คาถา อิติสัมมา สัมพุทธัสสะ มะมะจิตตัง ถ้าเวลาใดที่จิตเกิดอาการฟุ้งซ่านขึ้นมา ให้ทิ้งคำภาวนาอย่างอื่นเสียให้หมด กำหนดลมหายใจเข้าออก ว่าคาถานี้ตามสบายๆ กำลังของสมาธิจะรวมตัวได้รวดเร็ว

เวลา 24.00 น. โรคมันก็กำเริบมา นั่งยันเวลา 10.30 น. ลงมือ 24.00 น. เจ้าโรคกระเพาะมันก็ดันเข้ามาจุกแน่นเสียด อึดอัดเกือบจะหายใจไม่ออก ตอนนี้เองจิตก็จับพระนิพพานเป็นอารมณ์ คิดว่าขันธ์5มันเลว เลี้ยงมันแล้ว ทะนุถนอมมันแล้ว ทำทุกสิ่งทุกอย่าง ก่อนจะทำก็กินหยูกกินยาป้องกันไว้แล้ว แต่ว่ามันก็ไม่ทรงตัว เวลานี้อาการเสียดอาการจุกมันแน่นเข้ามาถึงหน้าอกจนเกือบจะหายใจไม่ออก ก็เลยตัดสินใจเสียว่าตายเสียได้ก็ดี เอ็งพังไปเถิดเจ้าขันธ์ห้า ที่มีความอกตัญญูไม่รู้คุณคน เราปรนเปรอเจ้าเท่าไรเจ้าไม่มีความรู้สึก เราจะทำความดีเจ้ามารบกวน ก็ดีแล้วเชิญพัง เธอกับฉันแยกกันนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ขึ้นชื่อว่าขันธ์ห้าอย่างเจ้า เราเกลียดเสียยิ่งกว่าสุนัขเน่าอีก ท่านบอกว่าอารมณ์ของท่านมันเป็นอย่างนั้น เกลียดมันจริงๆไม่ต้องการมันอีก

ตอนนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาแล้ว ก็ทรงสั่งว่า คืนนี้ใจมันแย่งกันนะ เดี๋ยวจะภาวนาบทนั้น เดี๋ยวจะภาวนาบทนี้ เดี๋ยวจะพิจารณาบทนี้ ถ้าอารมณ์มันแย่งกันอย่างนี้แล้ว การลรรลุมรรคผลมันจะช้ำ ทำให้มันทรงตัวเรียงตามลำดับ การเรียงลำดับก็นับกันมาตั้งแต่
1.จับอานาปนสติกรรมฐาน ควบกับพุทธานุสสติกรรมฐาน
2.หลังจากนั้นเอาจิตทรงพรหมวิหารสี่
3. จับกายคตาสติ
4. จับมรณัสสติ
5. จับอุปสมานุสติ
6. จับอริยสัจ

ว่ากันมาตามลำดับให้จิตมันทรงตัว พระองค์สั่งว่าให้ทำไปตามลำดับ เพราะจิตเรามันยุ่ง องค์ภาวนาผ่านลำดับไม่เป็นเรื่อง แล้วก็เพ่งสังโยชน์เข้า เมื่อองค์ภาวนาผ่านลำดับมาแล้ว จิตหยุด ให้เพ่งสังโยชน์สิบ วัดดูว่าเวลานี้สังโยชน์สิบประการเราตัดตัวไหนไปได้แล้วบ้าง ที่ตัดได้แล้วมันทรงตัวไหม ถ้ามันไม่ทรงแสดงว่าเราตัดไม่ได้จริง ถ้าส่วนใดที่ทรงตัวอยู่แสดงว่าอันนั้นได้จริง

ตอนเช้ามืดมีอารมณ์แน่นสนิทชิดเชื้อ สังโยชน์ทุกตัวจะไม่มีจิตเกาะ มันสลายหายไปเหมือนธุลีที่ปราศจากการแปดเปื้อนภาชนะ ในขณะนั้นเองก็ปรากฏว่ามีฉัพพรรณรังสีรัศมีหกประการพวยพุ่งออกมาจากฟากฟ้าสว่างจ้าทั้งหกสี แล้วก็ปรากฏว่ามีพระรูปพระโฉมขององค์สมเด็จพระมหามุนีปรากฏชัด ทรงแย้มพระโอษฐ์น้อยๆ
เมื่อองค์สมเด็จพระพิชิตมารทรงแสดงพระองค์ชัด สมเด็จพระทรงสวัสดิ์ก็ได้ทรงมีพระพุทธฎีกาว่า สัมพเกสี เธอพร้อมไปด้วยอริยมรรคทั้ง ๒ แล้ว ระหว่างนี้เธอเป็นเอกพิชีแล้ว และกำลังเสวยผลของเอกพิชี สำหรับผลของเอกพิชีนี้จะต้องรักษาผลนี้ไปอีก 3 วัน

วันที่ 25 กรกฎาคม 2506 วันนี้มีอากาศประหลาดมาก ตอนเช้าเริ่มทำพระกรรมฐาน ฉันข้าวเสร็จเข้าห้องจับอารมณ์พระกรรมฐาน เอาจิตเข้าอภิญญาผลสมาบัติ ใช้เวลาผ่านไป 10 นาที แต่เข้าแล้วก็เข้ากัน เลยทรงตัวดิ่ง มคนมาเคาะประตูเรียก แกเคาะเบาๆ เฉยก็เลยเคาะดังก็เลยต้องลุกไป ต้องวางอารมณ์ทรงอารมณ์ไว้เพียงแค่ปฐมฌาน แต่ขณะที่คุยกับแขกใช้อารมณ์อุปจารสมาธิ แต่พอแขกผ่านไปก็เริ่มทำใหม่ ใจก็โปร่งมีอารมณ์เป็นสุข ถึงแม้ว่าใครเขาจะมาคุย เขาจะมาขัดคอก็ไม่มีอารมณ์กระทบกระทั่ง มันโปร่งสบายๆ อารมณ์เย็นๆ มีความสุขเหมือนนั่งอยู่ในนิพพาน

เมื่อแขกไปแล้วก็เห็นองค์สมเด็จพระพิชิตมาร แล้วก็บรรดาพระอรหันต์ทั้งหลายที่นิพพานไปแล้วมากมาย พร้อมทั้งเทวดาและพรหม มากันเยอะไปหมด ทั่วจักรวาบ เต็มจักรวาล มองไปทางไหนก็เห็นเต็มไปหมด ไม่มีจุดว่าง สมเด็จพระพิชิตมารตรัสว่าจงทำวิปัสสนา ท่านว่าอย่างนั้นนะ ท่านบอกให้ทำวิปัสสนาให้จับอริยสัจ พอจับอริยสัจแล้วก็จับสังโยชน์เข้ามาเทียบกับอริยสัจ และก็มาใช้อารมณ์ตัดอวิชชา คือ ฉันทะกับราคะ ทำอย่างนี้พอจิตทรงตัวดี มีความสบาย มีความโปร่งแล้ว ก็มีเสียงบอกว่าเวลานี้เธอเหลือแต่มานานุสัยเท่านั้น มานานุสัยก็คือ มานะที่เป็นตัวอนุสัย ความจริงตัวมานะนั่นมีนิดๆ หน่อยๆ การถือตัวถือตนท่านบอกว่าเหลือแต่มานุสัยกับอะไรอีกอย่างหนึ่งจำไม่ได้ ได้ยินเสียงเท่านั้นแล้วจิตโปร่งสบาย

ต่อมาปรากฏนิมิตเห็นคนถือมีดมา ๒ เล่ม เขาโยนให้เล่มหนึ่ง แล้วก็พูดว่าลุกขึ้นมาสู้กัน ถ้าเก่งจริงลุกขึ้นมาสู้กัน ท่านบอกว่าเราไม่เอา เมื่อเขาอยากจะฟันก็ตามใจ เชิญ ก็บอกเขาว่าเชิญสิคุณ อยากจะฟันแขนฟันขาผ่าอกก็ตามใจ เวลานี้ฉันไม่เอาขันธ์ห้าฉันเกลียดมันเต็มทีแล้ว ถ้าเธอต้องการช่วยสับให้มันพังเสียเดี๋ยวนี้ ฉันจะมีความสุข พอพูดจบคนนั้นเขาก็พูดว่าแล้วกัน เราเสียท่าเสียแล้ว เราโดนพระอรหันต์เล่นงานเอาเสียแล้วหรือนี่ นี่เราแย่จริงๆ พระองค์นี้เรานึกว่าเป็นพระธรรมดา จะลองดูสักหน่อย ที่แท้กลายเป็นพระอรหันต์ไปเสียแล้วหรือนี่

วันที่ 26 กรกฎาคม 2506 เวลาเช้าเดินทางไปนครสวรรค์ อารมณ์มีความผ่องใสเป็นกรณีพิเศษ นั่งรถไปลมโชยมา ใจสบาย อารมณ์ผ่องใส ใครเขาจะคุยกันไม่มีความสนใจ ถ้าเขาถามก็หันไปพูดกับเขา ถ้าเขาไม่ถามใจก็สบาย เวลานี้ใช้วิปัสสนาญาณตัดปัญจขันธ์เป็นอารมณ์ ไม่มีความรู้สึกว่าขันธ์ของเรา ขันธ์ห้าของเรา ไม่ว่าขันธ์ห้าของใคร มันไม่เป็นตัวเป็นตนมองแล้วมันมีสภาพเหมือนอากาศธาตุ ถ้าจะไปดูเวลาที่มันรวมตัว มีความรู้สึกคล้ายๆ สุนัขเน่า ไม่มีความเยื่อใย ท่านกล่าวว่าวันนี้มีความสุขที่สุดในชีวิต ซึ่งไม่เคยมีในกาลก่อน มันมีความสุขเยือกเย็น มีอารมณ์เบาจัดว่าเป็นนิรามิสสุข คือสุขที่ไม่อิงอามิส ไม่อิงวัตถุ ไม่อิงสีสันวรรณะ ไม่อิงอารมณ์ใดๆ ทั้งหมด มันสุขเพราะจิตว่างจากอุปทานขันธ์

เมื่อกลับมาถึงวัดเวลา 13.00 น.เศษ เวลานั้นได้พบองค์สมเด็จพระทศพล โปรดมาให้โอวาทว่า พระโสดาบันนั้นเป็นผู้ที่มีสมาธิตั้งแต่ปฐมฌานถึงฌานสี่ เมื่อจิตมั่นแล้วมีปัญญาเล็กน้อยในการพิจารณาขันธ์ยังคงมีความหวั่นไหวอยู่ อารมณ์ของพระโสดาบันยังคงมีความหวั่นไหวอยู่มากท่านบอกว่ามากกว่าความมั่นคง คือ ท่านกล่าวว่ามีความหวั่นไหวมากกว่าความมั่นคง แต่ว่าสิ่งใดที่ได้แล้วไม่มีกลับถอย เชื่อมั่นในคุณพระรัตนตรัย ถ้าเป็นฆราวาสก็มีศีลห้าบริสุทธิ์ ถ้าเป็นพระก็มีศีล 227 ข้อบริสุทธิ์ แต่ว่ายังมีการทรงอกุศลที่ไม่เป็นโทษอยู่ มีรัก มีร่วมรัก มีบุตร มีโกรธ มีด่าหรือไม่ทำร้ายอย่างหนัก แล้วก็ยังมีความต้องการความร่ำรวยในทรัพย์ ติดในทรัพย์ที่ได้มาโดยชอบธรรม เป็นต้น

พระสกิทาคามีก็มีจิตเหมือนกันกับพระโสดาบันขั้นเอกพิชี แต่ทว่ากิเลสทั้งหลายเบาหน่อย อารมณ์ในด้านกามราคะมันด้านจริงๆ อารมณืในโลภะความโลภไม่มี คิดอย่างเดียวว่าทรัพย์สินเท่าที่จะพึงมีอยู่ เราจะทำทรัพย์สินนั้นให้เป็นส่วนของสาธารณประโยชน์ทั้งหมด คือเป็นประโยชน์ในด้านพุทธศาสนาด้วย เป็นประโยชน์ในการสงเคราะห์ด้วย เรียกว่าทำกันให้หมดทุกอย่างเท่าที่จะพึงทำได้ การเก็บเงินไว้ไม่มี ทรัพย์สินใด ทั้งหมดที่มีแจกจ่ายหมด เอาเหลือไว้แต่เพียงใช้ ของดีที่มีอยู่ไม่เก็บไว้ใช้ทำบุญหมด ดูถึงอารมณ์ของพระโสดาบันและพระสกิทาคามีมีความยินดีในการบริจาคทานเป็นปกติ ไม่อิ่มไม่เบื่อในการบำเพ็ญกุศล ปรารถนาที่จะบำเพ็ญตนให้เป็นให้มีอารมณ์สูงขึ้นไปกว่านั้น

สกิทาคามีสมเด็จพระบรมครูท่านว่ายังมีโกรธแต่ไม่ผูกโกรธ ยังหวั่นไหวแต่ว่าเกลียดกามคำว่าหวั่นไหวคือ อารมณ์ยังมีความไหวอยู่นิดหน่อย เมื่อกระทบความโกรธ รู้ว่านี่เขาทำให้เป็นที่ไม่พอใจเรา แต่ว่าหล่นหายไปเลยคือไม่ติดอยู่ กระทบนิดหนึ่ง คำว่าปฏิฆะแปลว่ากระทบ คือว่ากระทบนิดหนึ่ง แล้วก็เกิดความไม่พอใจ ความไม่พอใจกระทบปุ๊บหายปั๊บได้ทันที ก็เหมือนกับไม่มีความโกรธ ท่านว่ายังหวั่นไหวอยู่บ้างแต่หวั่นไหวนิดเดียว เหมือนกับลมพัดมาใบไม้ไหวแป๊บก็ทรงตัวหยุดนิ่ง นี่จัดเป็นสังขารุเปกขาญานอย่างสูง ท่านบอกว่าเกลียดกาม คำว่ากามารมณ์ คำว่าเกลียดกาม คือกามระหว่างเพศ เห็นเพื่อนต่างเพศ เคยน่ารักเคยน่าใคร่น่าปรารถนา แต่ความรู้สึกคราวนี้เห็นเพื่อนต่างเพศเห็นเป็นเหมือนศพในป่าช้า มองดูภายนอก เครื่องแต่งตัวเลยไปถึงหนัง เลยเข้าไปถึงเนื้อ เลยเข้าไปข้างใน ตับ ไต ใส้ ปอด เลยเข้าไปข้างในเห็นโปร่งไปหมด ว่าร่างคนทั้งคนเต็มไปด้วยความน่าเกลียดเหมือนกับศพเน่า หมดความหวั่นไหว คือไม่มีความรู้สึกในการปรารถนาในกามารมณ์ พระพุทธองค์กล่าวต่อไปว่า เธอก็มีความเพียรด้วยการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ควรระมัดระวัง เธออาจจะถึงที่สุดภายในพรรษานี้

ทรงกล่าวต่อไปว่า การพิจารณาขันธ์ห้าของเธอทำถูกแล้ว การมุ่งละฉันทะกับราคะคิดว่าไม่มีอะไรนั้นถูก แต่ว่าควรจะพิจารณาระวังทวารทั้งหก ซึ่งมีอารมณ์เกิดจากจักษุ เป็นต้น คือหมายความว่า ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกกระทบกลิ่น ลิ้นสัมผัสกาย การถูกต้องสัมผัสอารมณ์ใจครุ่นคิด ทรงกล่าวต่อไปว่า ระวังอารมณ์อันเกิดจากจักษุเป็นต้นไว้ด้วย คิดไว้พิจารณาให้มากจะมีผลมหาศาล

แล้วก็มีพระพุทธโอวาทต่อไป ตอนนี้เป็นโอวาทสุดท้ายเพื่อจบกิจ ท่านทรงกล่าวว่าให้มหาโมคคัลานะมาสอน แล้วท่านมหาโมคคัลลานะมาสอนขั้นที่สุดว่า จงกำหนดความไม่มีของขันธ์ห้า ให้ถือว่าขันธ์ห้ามันไม่มี มันไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของเรา มันมีแล้วเหมือนกับว่าไม่มี คือไม่สนใจในมันเสียเลย แล้วก็ทุกสิ่งทั้งหมดให้เป็นเอกัคตารมณ์ หมายความว่าขันธ์ห้าก็ดี ธาตุทั้งหลายอย่างอื่นก็ดี มีความรู้สึกว่ามันไม่มีสำหรับเรา คำว่าให้เป็นเอกัคตารมณ์คือ ให้ทรงอารมณ์นี้เป็นหนึ่ง ไม่มีอารมณ์ที่สอง มีอารมณ์ที่เข้าใจว่ามีหนะไม่มีอีกแล้ว ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่มีสำหรับเรา คือขันธ์ห้าได้แก่ ร่างกายของเราก็ดี วัตถุธาตุทั้งหลายในโลกก็ดี ไม่มีสำหรับเรา อารมณ์ทรงอยู่อย่างนี้ให้เป็นปกติ เรียกว่าเอกัคตารมณ์

แล้วท่านโมคคัลลานะก็บอกให้เพ่งอารมณ์อันจะพึงเกิดจากรูป จากกลิ่น จากเสียง จากรส จากสัมผัส จากอะไรทุกอย่างทั้งหมด ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้สัมผัสกลิ่น ลิ้นสัมผัสรส กายสัมผัสอารมณ์ใจ ท่านบอกว่าทั้งหมดเป็นรูป ท่านว่าทั้งหมดเป็นรูปที่มันไม่มีเสียงก็เป็นเสียงที่มันไม่มี กลิ่นก็เป็นกลิ่นที่มันไม่มี รสก็เป็นรสที่มันไม่มี สัมผัสก็เป็นสัมผัสที่มันไม่มี มันไม่มีตรงไหน ไม่มีตรงที่มันสลายไป รูปเห็นแล้วก็ผ่านไป เสียงได้ยินแล้วก็ผ่านไปทั้งหมด อย่าเอามันเข้ามาขังไว้ในใจ มันสัมผัสประสาทแล้วก็ผ่านไป มันมีสภาพไม่มี อย่าเอาใจไปนึกว่ามันมี ท่านพระโมคคัลานะบอกต่อไปว่าจงไม่ยึดถือ คือปล่อยไปเสีย ไม่ให้เกาะมันอยู่ ไม่ยินดีกับมันด้วย แล้วก็ไม่ยินร้ายกับมันด้วย ยินดีคือชอบใจ ยินร้ายคือไม่ชอบใจ มันจะไปมาอย่างไรก็ช่าง ทำให้เป็นเอกัคตารมณ์ คือทำให้อารมณ์ทรงอยู่อย่างนั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลง มันจะมีอารมณ์ชิน แล้วก็ตั้งอุเปกขาญานไว้ว่า คำว่าอุเปกขาแปลว่าวางเฉย มีความรู้สึกไว้ว่าเราจะวางอารมณ์ความเฉยไว้อยู่เสมอ ว่าเราจะไม่ยึดถือสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด เราจะเฉยโดยไม่ยอมยึดอารมณ์อย่างนี้ไว้ แล้วทรงใจให้ผ่องใสในพรหมวิหารสี่ โดยถือว่าสัตว์ทั้งหลายทั้งหมดควรได้รับความเมตตา ควรได้รับการสงสาร ให้ตั้งใจให้ดีโดยไม่เกียจคร้าน หากไม่มีความประมาทจิตจะพ้นอาสวะ นับตั้งแต่นี้ไปครบ 60 วัน ไม่เกิน 60 วัน





ไฟล์แนบ: คุณจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถดูและดาวน์โหลดไฟล์แนบได้ หากยังไม่มีแอคเคานต์หรือยังไม่ได้เป็นสมาชิก กรุณาสมัครสมาชิก

Rank: 1

ขอโมทนาสาธุในความเมตตาของหลวงพ่อที่เขียนอธิบายการปฏิบัติไว้อย่างละเอียดค่ะ  เก้าพยายามหาคำตอบของการปรากฏฉัพพรรณรังสีรัศมีหกประการที่เป็นลำแสงกว้างสวยยาวเต็มท้องฟ้ามาสามเดือนแล้วค่ะ  (ตั้งแต่ต้นเดือนมกรา 2555)   ที่แท้คำตอบบอกแนวทางการปฏิบัติต่อไปอยู่ที่นี่เอง  โชคดีแท้ แปลกมากอยู่ๆ ก็เข้ามาในเวปนี้โดยบังเอิญ  ขอโมทนาบุญในธรรมทานกับท่านเจ้าของกระทู้และเวปมาสเตอร์ด้วยนะคะ  เก้าขออนุญาตคัดลอกเพื่อนำไปปฏิบัติต่อไปนะคะ  ขอบพระคุณมากๆ ค่ะ

‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2024-11-1 07:34 , Processed in 0.068670 second(s), 15 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.