แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
ดู: 4612|ตอบ: 7
go

ขอเชิญพุทธศาสนิกชนทั้งหลายร่วมทอดผ้าป่าสร้างพระพุทธรูปหยกเขียวหน้าตัก 35 นิ้ว [คัดลอกลิงค์]

Rank: 1

แก้ไขครั้งสุดท้าย: 2011-7-6 13:12 โดย ponbunya

แก้ไขครั้งสุดท้าย: 2011-6-28 18:13 โดย ponbunya

ขอเชิญพุทธศาสนิกชนทั้งหลายร่วมทอดผ้าป่าสร้างพระพุทธรูปหยกเขียวหน้าตัก 35 นิ้ว
พร้อมพระโมคัลลานะและพระสารีบุตรเนื้อหินหยกเขียว

ภาพตัวอย่างแบบพระ    กับแผนที่
พระ35 เขียวใส่เหลือง3.jpg แผนที่วัดสระพัง1.jpg

กำหนดการ
ทอดผ้าป่า ณ  วัดสระพัง   ต.ดอนข่อย  อ.กำแพงแสน  จ.นครปฐม
เพื่อร่วมสมทบทุนสร้างพระพุทธรูปหยกหน้าตัก 35” พร้อมด้วยพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร เป็นองค์รองประธานในโบสถ์   ร่วมกับพระครูไพโรจน์ภัทรคุณ(เจ้าอาวาสวัดสระพัง)

วันอาทิตย์ที่   ๓๑  กรกฏาคม  ๒๕๕๔  (ขึ้น  ๑  ค่ำ เดือน  ๙)
เวลา  11.00 น. ถวายภัตตราหารเพลพระภิกษุ สามเณร
เวลา  13.00 น.  ทอดผ้าป่าสามัคคี


ท่านผู้มีจิตศรัทธาสามารถร่วมบุญได้ที่
ธนาคารไทยพาณิชย์  สาขาลาดหลุมแก้ว   
บัญชีเงินฝากออมทรัพย์  ชื่อบัญชีนางพรบุณญา  ศิริพรหมสมบัติ  
เลขที่บัญชี   ๓๕๐-๒๔๒๗๕๘-๖

สามารถติดต่อไดที่ คุณพรบุณญา    ศิริพรหมสมบัติ  โทร   ๐๘๑-๙๙๕-๒๖๕๓

(บริจาคตามศรัทธาไม่จำกัดยอดเงินนะคะ)
หมายเหตุ พระพุทธรูปหน้าตัก 35 นิ้ว พร้อมพระโมคัลลานะและพระสารีบุตร
นี้แกะสลักจากเนื้อหินหยกเขียวแล้วเสร็จได้ 70% แล้ว จึงขอเชิญผู้ที่มีจิตรศรัทธา
ร่วมทำบุญในครั้งนี้เพื่อให้การสร้างมหากุศลครั้งนี้สำเร็จจึงบอกบุญมา ณ ที่นี้ด้วย

   


เนื่องจากเนื้อหาน้อยไปจึงโพสข้อมูของ สัทธาดิลก มาให้อ่านเพิ่มค่ะ

อานิสงส์การสร้างพระพุทธรูป
อันอานิสงส์การสร้างพระพุทธรูปนั้นพระโบราณจารย์ได้กล่าวเอาไว้ดังนี้

ผู้สร้างพระพุทธรูปด้วยดีบุกจะได้เกิดเป็นเทวดา ผู้มีศักดามาก

ผู้สร้างพระพุทธรูปด้วยเงินจะได้เกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ประกอบด้วยรัตนะ ๗ ประการ

ผู้สร้างพระพุทธรูปด้วยทองเหลืองและทองสัมฤทธิ์จะได้เกิดเป็นบรมกษัตริย์มีสมบัติมาก

ผู้สร้างพระพุทธรูปด้วยศิลาจะได้เกิดเป็นท้าวอมรินทราธิราช

ผู้สร้างพระพุทธรูปด้วยไม้โพธิ์และแก่นจันทน์ จะได้เกิดเป็นใหญ่ในประเทศราช บริบูรณ์ด้วยจตุรงคเสนา

ผู้สร้างพระพุทธรูปด้วยการวาดใส่แผ่นผ้าหรือแกะสลักลงบนแผ่นโลหะต่างๆ ผู้นั้นจะได้เป็นท้าวมหาพรหม

ผู้สร้างพระพุทธรูปด้วยทองคำย่อมมีอานิสงส์ไพศาล จะปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าในกาลอนาคตเบื้องหน้า ก็จะสำเร็จดังความตั้งใจ

การสร้างพระพุทธรูปนั้นแม้จะด้วยวัตถุธาตุใดก็ตาม จัดว่าได้สะสมมหากุศล มหาบารมีให้เกิดขึ้น อันจะเป็นอุปนิสัยปัจจัยแก่มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติในกาลต่อไปเบื้องหน้าแล


อานิสงส์การนับถือพระรัตนตรัย
การนับถือพระรัตนตรัยนั้นเรียกได้อีกอย่างว่าการเข้าถึงไตรสรณาคมน์แปลว่าผู้เข้าถึงสรณะทั้ง ๓ คือพระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะ สรณาคมน์มี ๒ อย่างคือ โลกิยสรณาคมน์และโลกุตตรสรณาคมน์

โลกิยสรณาคมน์ได้แก่การถึงพระรัตนตรัยของปุถุชน อันอาจเปลี่ยนแปลงได้ เพราะจิตใจของปุถุชนยังไม่แน่นอน อาจจะโลเลไปตามอารมณ์และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปก็ได้

โลกุตตรสรณาคมน์ได้แก่การถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งของพระอริยบุคคลมีพระโสดาบันเป็นต้นไป จะไม่มีการหวั่นไหวด้วยเหตุปัจจัยภายนอก มีความเลื่อมใสมั่นคงแข็งแกร่ง จะไม่ยอมเปลี่ยนแปลงการเคารพนับถือพระรัตนตรัย แม้จะมีเหตุอันตรายจนถึงแก่ชีวิตก็ตาม

การเข้าถึงพระไตรสรณาคมน์ของปุถุชนย่อมสำเร็จด้วยอาการ ๔ อย่าง คือ

๑. ด้วยการมอบให้ซึ่งตน

๒. ด้วยการมีพระรัตนตรัยเป็นเบื้องหน้า

๓. ด้วยการยอมตัวเป็นศิษย์

๔. ด้วยการแสดงออกซึ่งสามีจิกรรม คือมารยาทอันสมควรแก่พระรัตนตรัย

การเปล่งวาจาว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าขอมอบตนแก่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เรียกว่า การเข้าถึงพระไตรสรณาคมน์ ด้วยการมอบตน

การเปล่งวาจาว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าจะมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นเบื้องหน้า คือจะทำอะไรก็ยกเอาพระรัตนตรัยเป็นเบื้องหน้าเป็นหลักเกณฑ์ เรียกว่าการเข้าถึงพระไตรสรณาคมน์ด้วยการมีพระรัตนตรัยเป็นเบื้องหน้า

การเปล่งวาจาว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าขอแสดงตัวเป็นศิษย์ของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ขอท่านทั้งหลายจงจำข้าพเจ้าไว้อย่างนี้ เรียกว่าการเข้าถึงพระไตรสรณาคมน์ด้วยการยอมตัวเป็นศิษย์

การเปล่งวาจาว่าตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าขอแสดงความยำเกรงอย่างเต็มที่ต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คือข้าพเจ้าจะแสดงออกซึ่งสามีจิกรรมคือมารยาทอันสมควร มีการอภิวาทกราบไหว้ วันทา อัญชลี ยืนขึ้นลุกรับ หลีกให้ทาง ขอท่านทั้งหลายจงจำข้าพเจ้าไว้อย่างนี้ เรียกว่าการเข้าถึงพระไตรสรณาคมน์ด้วยการแสดงออกซึ่งสามีจิกรรม

บุคคลกระทำอาการทั้ง ๔ ดังกล่าวมานี้อย่างใดอย่างหนึ่งชื่อว่าการเข้าถึงพระรัตนตรัย หรือการเข้าถึงพระไตรสรณาคมน์

ดังที่ใช้กันในปัจจุบันนี้โดยการเปล่งวาจาว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ทุติยัมปิ................ ตะติยัมปิ.................... ก็ชื่อว่าเป็นการแสดงตนเพื่อเข้าถึงพระไตรสรณาคมน์เหมือนกัน ฉะนั้นขณะที่เราเปล่งวาจาว่า พุทธัง...ธัมมัง...สังฆัง สรณัง คัจฉามินั้น พึงตั้งจิตให้เกิดศรัทธาปสาทะในคุณของพระรัตนตรัยไปด้วยก็จะได้บุญกุศลอย่างเต็มที่ อย่าเพียงสักแต่ว่ากล่าวลอยๆ

ผู้ที่ถึงโลกุตตรสรณาคมน์ย่อมมีมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ เป็นอานิสงส์ ดังมีพระพุทธพจน์ที่ว่า บุคคลผู้ใดถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะแล้ว ได้เห็นแจ้งอริยสัจทั้ง ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ผู้นั้นย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้เพราะอาศัยสรณะนั้น

ผู้ที่ถึงโลกิยสรณาคมน์ ดังที่กัลยาณปุถุชนนับถือกันอยู่นั้น ย่อมเป็นปัจจัยให้ได้เข้าสู่สุคติโลกสวรรค์ ที่พรั่งพร้อมด้วยโภคสมบัติอันเป็นทิพย์ ดังคำของพรหมองค์หนึ่งที่กล่าวไว้ในมหาสมัยสูตรว่า "บุคคลเหล่าใดนับถือพระพุทธจ้าเป็นสรณะ บุคคลเหล่านั้นเมื่อละอัตภาพมนุษย์แล้ว จะไม่ไปสู่อบายภูมิ จะเข้าสู่ความเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เทพ"

อีกประการ พระมหาโมคคัลลานะ ผู้เป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้า ผู้เลิศในทางมีฤทธิ์ สามารถขึ้นสวรรค์ลงนรกได้ในเวลาชั่วลัดนิ้วมือ ได้กล่าวแก่ท้าวสักกเทวราชผู้เป็นจอมเทพในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ว่า "ดูกร ท่านจอมเทพ การนับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะนั้นเป็นสิ่งประเสริฐ เพราะว่าเมื่อบุคคลนั้นแตกกายทำลายขันธ์เข้าสู่สุคติโลกสวรรค์แล้ว ย่อมจะเจริญรุ่งเรืองครอบงำเทพเจ้าอื่นด้วยฐานะ ๑๐ คือ อายุทิพย์ วรรณะทิพย์ สุขทิพย์ ยศทิพย์ อธิบดีทิพย์ รูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ สัมผัสทิพย์ ก็เพราะเหตุที่นับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะนั่นแล"

ฉะนั้น ท่านสาธุชนทั้งหลายพึงผูกใจให้มั่นคงในความศรัทธาปสาทะมีความเชื่อความเลื่อมใส ต่อคุณของพระรัตนตรัย อันจะนำตนให้พ้นทุกข์พ้นภัยในวัฏฏสงสาร มีความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความโศกเศร้าพิรี้พิไรรำพัน ทุกข์กายทุกข์ใจ คับแค้นใจ ได้อย่างแน่นอน ในกาลทุกเมื่อเทอญ



อานิสงส์การเสียสละเพื่อพระรัตนตรัย
ในครั้งอดีตกาล เมื่อครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนอันทรงพระนามว่า พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้านิพพานไปแล้วเป็นเวลาได้ ๗ วัน ยังมีพระราชาพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่าจินราช เสวยราชสมบัติ ณ จินนคร ครั้งนั้นมีพระภิกษุ ๓๒ รูป สามเณร ๑ รูป ผู้มีศีลวัตรเป็นอันดี เดินผ่านไปในพระนครนั้น ปุโรหิตของพระราชาเห็นพระภิกษุสามเณรแล้วคิดว่า ภิกษุเหล่านี้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าถ้าปล่อยให้มาเมืองนี้ พระราชาของเราจักเลื่อมใส ลาภสักการะที่เราเคยได้ก็จะเสื่อม เราจะต้องกำจัดเสีย จึงไปเข้าเฝ้าพระราชากราบทูลว่า "ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พวกโจรได้ปลอมตัวเป็นภิกษุ พากันมาจะปล้นพระนครพระเจ้าข้า" พระราชาก็หลงเชื่อตรัสว่า "อาจารย์ เราจะทำอย่างไร" ปุโรหิตกราบทูลว่า "พระองค์อย่ารอช้า จงรีบจับภิกษุปลอมมัดแล้วโบยด้วยหวาย เอาไปเสียบหลาวไว้" พระราชาทรงสดับแล้วเห็นชอบด้วย รับสั่งให้เพชฌฆาตช่วยกันทุบบาตร ฉีกจีวร ทุบศีรษะ ตบปากพระภิกษุสามเณร เลือดไหลออกจากปาก หู จมูก ภิกษุสามเณรต่างก็ร้องไห้บ่นไปต่างๆ ด้วยความเจ็บปวดและกลัวตาย

พระนาคทีปกเถระผู้เป็นหัวหน้า ได้กล่าวปลอบโยนภิกษุทั้งหลาย ให้นึกว่าทุกๆ คนมีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ ความทุกข์ที่ได้รับอยู่นี้เป็นผลของกรรมชั่วที่เราสร้างไว้เอง ฝ่ายชาวนครก็ได้บอกเล่าข่าวนี้ต่อกันไป

ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ได้เสวยพระชาติเกิดเป็นลูกเศรษฐี มีนามว่าทุลกบัณฑิต เมื่อทุลกบัณฑิตได้ทราบข่าวก็รีบไปถามพระทีปกเถระว่า "ท่านได้ทำผิดอะไร" พระเถระตอบว่า "พวกอาตมาไม่เห็นความผิดในปัจจุบันมีแต่ความผิดกรรมเก่าในอดีตที่พวกอาตมามองไม่เห็น"

พระโพธิสัตว์อ้อนวอนเพชฌฆาตว่า "กรุณารอสักครู่ ข้าพเจ้าจะเข้าเฝ้าพระราชาเมื่อเข้าเฝ้าก็กราบทูลว่า "ข้าพระองค์ขอไถ่ตัวภิกษุสามเณร ๓๓ รูป ให้พ้นจากการจองจำและถูกฆ่า ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ" พระราชาตรัสว่า "ถ้าเจ้าต้องการชีวิตภิกษุสามเณรไว้ เจ้าจะต้องหาทองคำหนักเท่าพระแต่ละรูปมาไถ่"

พระโพธิสัตว์ตกลงรับตามพระราชประสงค์ แล้วกราบทูลลาไปบ้าน บอกความประสงค์ให้แม่ทราบและขอทองคำกันเป็นส่วนของตน เมื่อได้แล้วก็ให้คนในบ้านนำมาชั่งเทียบกับน้ำหนักของพระแต่ละรูปที่พระลานหลวง ไถ่ได้ ๓๐ รูปทองคำก็หมด พระโพธิสัตว์ขอผัดต่อพระราชารีบไปบ้านบอกกับภรรยาว่าฉันจะนำตนเองไปขายเป็นทาสเพื่อจะได้ทองคำไปไถ่พระอีก ๓ รูป ภรรยาได้ฟังแล้วเห็นใจร้องไห้บอกว่า เอาตัวน้องไปขายก็แล้วกัน พระโพธิสัตว์จึงนำภรรยาไปขายฝากให้กับเศรษฐีผู้หนึ่ง ได้ทองคำมาไถ่พระได้อีก ๒ รูป เหลือแต่สามเณรน้อยรูปเดียว

ฝ่ายสามเณรน้อยกลัวตายก็ร้องไห้ เข้าไปกราบพระเถระขอขมาลาโทษก่อนที่จะต้องตาย พระเถระจึงปลอบโยนสามเณรว่า จะหาหนทางช่วยและสอนว่า "สังขารทั้งปวงเป็นของไม่เที่ยง มีความเกิดขึ้นและเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา การถอนความยึดมั่นอุปาทานจากสังขารทั้งปวงย่อมเป็นสุข"

พระโพธิสัตว์เมื่อได้ฟังดังนั้นจึงกล่าวตัดพ้อกับตนเองว่า "เจ้ารักชีวิตของเจ้ามาก หรือรักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มากกว่าชีวิต" เมื่อเห็นว่าตนเองรักพระรัตนตรัยมากกว่าชีวิต จึงกราบทูลพระราชาว่าขอรับอาสาตายแทนสามเณร เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาติแล้ว จึงไปหาสามเณร ถอดเครื่องจองจำออกจากสามเณร ให้เพชฌฆาตจองจำตนเอง เพชฌฆาตโบยพระโพธิสัตว์ด้วยหวายแล้วนำไปสู่ป่าช้าผีดิบ

ชาวพระนครทั้งหลายเมื่อรู้ข่าวก็พากันแตกตื่นที่พระโพธิสัตว์ยอมตายแทนสามเณร มารดาของพระโพธิสัตว์ทราบข่าว ก็ร้องไห้วิ่งไปป่าช้าผีดิบ อ้อนวอนให้ลูกยับยั้งการตายแทนสามเณร พระโพธิสัตว์บอกมารดาว่า "ลูกสละชีวิตเพื่อพระรัตนตรัยครั้งนี้ เพราะเห็นว่าพระรัตนตรัยนั้นเป็นประทีปส่องโลก ช่วยให้สัตว์โลกรู้บาปบุญคุณโทษประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ฉะนั้นขอมารดาอย่าห้ามเลย" แล้วพระโพธิสัตว์ก็เอามือลูบไม้หลาวพลางกล่าวว่า "ดูกร เจ้าไม้หลาว ไม้ต้นอื่นเอาไปทำพระวิหารก็มี แกะสลักเป็นพระพุทธรูปก็มี ทำเป็นที่อยู่อาศัยก็มี เหตุใดเจ้าจึงมาเป็นไม้หลาวซึ่งต้องมาเสียบร่างกายมนุษย์ อันเป็นของสกปรกเช่นนี้" บรรดาเทพเจ้าทั้งหลายได้ฟังคำพูดนี้ จึงบันดาลให้ไม้หลาวหักแหลกละเอียดเป็นจุณวิจุณไปในบัดเดี๋ยวนั้น ชาวพระนครได้เห็นอัศจรรย์เช่นนั้นก็แตกตื่นโกลาหลพากันมาดู

วันนั้น สุชาตเศรษฐีบิดาของพระโพธิสัตว์กลับมาจากการค้าขายต่างเมืองได้ทราบข่าวก็รีบไปเฝ้าพระราชา ให้คนขนทองคำมาไถ่ลูกชายให้เป็นอิสระ ฝ่ายพระนาคทีปกเถระ เมื่อได้รับอิสรภาพแล้ว บอกกับคณะภิกษุสามเณรว่า "พวกเรารอดตายเพราะทุลกบัณฑิต พวกเราเป็นหนี้ท่านบัณฑิต ควรจะหาโอกาสตอบสนองคุณเขา" แล้วทุกๆ รูปก็พากันขวนขวายเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่ช้าก็ได้สำเร็จพระอรหันต์พร้อมด้วยอภิญญาและปฏิสัมภิทาญาณทุกรูป แล้วพากันเหาะมาในอากาศ บางรูปยืน บางรูปนั่ง บางรูปนอน บางรูปเดินจงกรมในอากาศ ปรากฏต่อสายตาของพระเจ้าจินราช

พระเจ้าจินราชสะดุ้งตกพระทัยมาก แทบจะสิ้นพระชนม์รับสั่งให้พวกอำมาตย์เข้าเฝ้าตรัสว่า "พวกมหาโจรมาทางอากาศ หมายจะมาฆ่าเรา จะทำอย่างไรดี" พวกอำมาตย์ทูลว่าให้ไปตามทุลกบัณฑิตมา พระองค์รับสั่งให้ไปตามทุลกบัณฑิตมาแล้วตรัสว่า "พวกโจรสามสิบสามคนที่เจ้าไถ่ตัวไปนั้น เวลานี้เหาะมาในอากาศ หมายจะฆ่าเรา เจ้าจงจัดการแก้ไขให้เราพ้นภัยด้วย"

พระโพธิสัตว์เห็นดังนั้นจึงมีจิตชื่นบานกราบทูลว่า "พระองค์อย่าทรงวิตกเลย พวกพระคุณเจ้าทั้งหลายหามีภัยอันตรายแก่ผู้ใดไม่ ข้าพระบาทจะอาราธนาท่านลงมาเดี๋ยวนี้" แล้วจึงสั่งให้พนักงานปูอาสนะไว้ พร้อมทั้งถวายคำแนะนำให้พระเจ้าจินราชประทับยืนถือเครื่องสักการะคอยท่าอยู่ พระโพธิสัตว์เห็นว่าจัดการเรียบร้อยทุกประการแล้ว จึงได้ส่งเสียงอาราธนาว่า "ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายจงโปรดเมตตารับนิมนต์เถิด" พระสมณะทั้งสามสิบสามรูปจึงได้เหาะลงมานั่ง ณ อาสนะที่จัดถวาย พระราชาเห็นดังนั้นจึงได้ถวายอภิวาทด้วยเบญจางคประดิษฐ์โดยเคารพ

พระนาคทีปกเถระจึงได้แสดงธรรมโปรดพระราชาว่า "การคบหาสมาคมกับบัณฑิต แม้แต่ครั้งเดียว ย่อมอุ้มชูเกื้อกูลผู้คบหาไว้เป็นอย่างดี ฉะนั้น พระองค์จงคบหาสัตบุรุษ และรักใคร่สัตบุรุษทั้งหลาย คุณอันประเสริฐจะเกิดมีโดยส่วนเดียวเพราะการได้รู้ธรรมของสัตบุรุษทั้งหลายนั้น ส่วนผู้ใดชอบคนพาล ผู้นั้นย่อมจะยินดีเลื่อมใสในลัทธิของคนพาล อันจะนำให้เกิดความทุกข์ทวีมากขึ้น เหมือนกับพืชพันธุ์ชั่วเช่นหมามุ่ย ตำแย ที่คนเพาะให้งอกงามฉะนั้น บุคคลใดทำการเช่นไรย่อมจะได้รับผลของกรรมเช่นนั้น คนพาลย่อมจะไปเสวยความทุกข์ในอบายภูมิ ส่วนนักปราชญ์ย่อมเข้าถึงสวรรค์และนิพพาน"

พระเจ้าจินราชเมื่อได้ทรงสดับพระธรรมเทศนาที่พระเถระแสดงแล้วก็บังเกิดความเลื่อมใส ทรงปฏิญาณพระองค์นับถือพระรัตนตรัย และป่าวประกาศเชิญชวนให้ชาวพระนครนับถือพระรัตนตรัยด้วย แล้วจึงทรงส่งพระสมณะทั้งสามสิบสามรูปกลับ พร้อมทั้งประกาศตั้งทุลกบัณฑิตเป็นเสนาบดีได้รับความเคารพนับถือจากชาวเมืองพร้อมด้วยภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากที่อุตส่าห์ยอมขายตนเพื่อให้ได้ทองคำมาไถ่พระภิกษุ ส่วนปุโรหิตผู้เป็นต้นเหตุแห่งความวุ่นวายนั้น พระราชาเนรเทศออกจากเมืองไป ทั้งพระราชาและทุลกบัณฑิตก็ได้ช่วยเหลือเกื้อหนุนกันในการสร้างกุศลจนสิ้นชีวิตจึงพากันไปอุบัติบังเกิดในเทวโลก ทุลกบัณฑิตก็ได้สร้างบารมีต่อมาจนได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าพระสมณโคดมซึ่งก็คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เป็นประทีปส่องใจแก่พุทธศาสนิกชนในพุทธศาสนายุกาลปัจจุบันนี้แล

ดังที่ได้นำชาดกนิทานมากล่าวขานนี้ ก็เพื่อจะแสดงให้เห็นว่า บุคคลผู้มีจิตใจกว้างขวางเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เสียสละประโยชน์ของตนเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่นนั้น ย่อมจะประสบกับความเจริญรุ่งเรืองทั้งทางโลกและทางธรรมส่วนบุคคลผู้เห็นแก่ตัวเอาเปรียบสังคมนินทาว่าร้ายอิจฉาริษยาใส่ร้ายป้ายสีปั้นโยนความผิดให้ผู้อื่น ย่อมประสบความเสื่อมตกอับเสียทรัพย์เสียยศเกียรติตำแหน่งนานับประการ ฉะนี้แล





Rank: 1

แก้ไขครั้งสุดท้าย: 2011-7-6 12:54 โดย ponbunya

กายนคร

โดย

สมเด็จพระธีรญาณมุนี (ป.ธ.๙ ) วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร


มีเมืองหนึ่งชื่อว่า กายนคร ( เมืองกาย ) มีเนื้อที่ยาว ๑ วา หนา ๑ คืบ กว้าง ๑ ศอก

มีกำแพง ๔ ชั้น
ชั้น ๑ ชื่อ โลมา ชั้น ๒ ชื่อ ตโจ ชั้น ๓ ชื่อ มังสะ ชั้น ๔ ชื่อ อัฎฐิ


มีประตู ( ทวาร ) ๙ แห่ง

จักษุทวาร ๒ เป็นประตูเข้ามหรสพ โสตทวาร ๒ เป็นประตูเข้าเสียงต่างๆ
ฆานทวาร ๒ เป็นประตูระบายลมเข้าออก มุขทวาร (ปาก) ๑ เป็นประตูเข้าเสบียงอาหาร
วัจจทวาร(ทวารหนัก) ๑ เป็นประตูระบายของโสโครก ปัสสาทวาร ๑ เป็นประตูระบายน้ำโสโครก

มีปราสาท ๕ หลัง

๑ ) จักษุประสาท เป็นที่ทอดพระเนตรมหรสพ ๒ ) โสตประสาท เป็นที่ทรงประทับสดับเสียงดนตรี
๓ ) ฆานประสาท ที่ประทับประดับประดาพระวรกาย ๔ ) ชิวหาประสาท ที่ประทับเสวยพระกระยาหาร
๕ ) กายประสาท ที่ประทับบรรทมพักผ่อน


ผู้สร้างกายนคร คือ พระเจ้าอวิชชาและพระนางโมหาราชเทวี เมื่อสร้างแล้ว ทรงมอบให้พระราช-โอรส คือเจ้าชาย จิตตราช เป็นผู้ครอง


เจ้าชาย จิตตราช มีขุนนางผู้ใหญ่ ๔ คือ ขุนโลโภ ขุนราโค ขุนโทโส และ ขุนโมโห
มีขุนคลัง ขื่อ ขุนมัจฉริยะ ( ตระหนี่ ) เจ้ากรมวัง ชื่อ ขุนพยาบาท อำมาตย์ ชื่อ ขุน ทิฎฐิมานะ ( ดื้อรั้น )
ที่ปรึกษาใกล้ชิด ชื่อ ขุนมิจฉัตตะ ( ความเห็นผิด )


วันหนึ่งเจ้าชาย จิตตราช ทรงรำพึงว่า
“ เรามีเมืองกว้างขวาง มีพระราชวังสวยงาม มีพระราชทรัพย์บริบูรณ์แต่ยังไม่มีมเหสี ”

มิจฉัตตะอำมาตย์ จึงกราบทูลว่า “ มีเมืองหนึ่ง ชื่อ เมือง ปัจจยาการนคร พระราชาผู้ครองเมือง นามว่า พระเจ้าเวทนา ทรงมีพระราชธิดา ๓ องค์ ชื่อ เจ้าหญิงตัณหา เจ้าหญิงราคา เจ้าหญิงอรดี ถ้าทรงปรึกษาพระบิดาพระมารดา ท่านอาจไม่เห็นด้วย ควรเสด็จไปโดยพระองค์เองโดยไม่ต้องทูลพระมารดาพระบิดา ข้าพระองค์จะตามเสด็จไปด้วย ”

เป็นอันว่าเจ้าชายจิตตราชและอำมาตย์มิจฉัตตะก็หนีออกจากกายนครไป เจ้าชายจิตตราช ทรงม้าพระที่นั่ง ชื่อ อิริยาบถ ส่วนอำมาตย์มิจฉัตตะขี่ม้าอีกตัวไป เดินทางจนถึงป่าใหญ่ ชื่อ ป่าวัฎฏะ ( ป่าเวียนว่ายตายเกิด ) ทางเข้าป่าพบศิลาจารึกความว่า


“ พระเจ้าเวทนาผู้ครองเมืองปัจจยาการนคร มีพระราชธิดา ๓ องค์ ชื่อ เจ้าหญิงตัณหา เจ้าหญิงราคา และเจ้าหญิงอรดี ถ้าบุรุษใดมีปัญญาสามารถตอบปัญหา ๕ ข้อได้จะยกเจ้าหญิงทั้ง ๓ ให้เป็นมเหสีและให้ครองเมืองปัจจยาการนคร แต่ถ้าตอบไม่ได้ต้องเป็นทาสรับใช้เจ้าหญิงทั้ง ๓ ”


เจ้าชายจิตตราชทรงดีพระทัย ว่ามีทางครองเจ้าหญิงงามทั้ง ๓
ระหว่างนั้นเองก็มีนางยักษ์ผู้เฝ้าป่าวัฎฏะ ชื่อ นางยักษ์วัฎฏะทุกขีเมื่อเห็นผู้ล่วงล้ำเข้าเขตของตนจึงเข้าไล่จับมาเป็นอาหาร อำมาตย์มิจฉัตตะ เมื่อเห็นภัยมาจึงรีบขี่ม้าหนีทิ้งเจ้าชายจิตตราช ไว้เพียงลำพัง นางยักษ์วัฎฏะทุกขีเข้าขวาง
เจ้าชายจิตตราชไว้และบอกว่าท่านต้องเป็นอาหารของนางในวันนี้ เจ้าชายจิตตราช ตรัสตอบไปว่า

“ ท่านไม่อาจจับเรากินเป็นอาหารได้ เพราะเรามีฤทธิ์ธานุภาพมาก ( มหิทธานุภาวํ )
เราล่องหนหายตัวได้ ( อสรีรํ ) มีกำลังไปทางไหนได้รวดเร็วทันใจ ( ลหุกํ )
ไปทางบกทางน้ำทางอากาศไกลแค่ไหนก็ไปได้ ( ทูรงคมํ ) ใครๆยากที่เห็นตัวเรา ( สุทุททสํ ) ”


นางยักษ์วัฎฏะทุกขี กล่าวว่า “ ถึงท่านจะมีฤทธิ์ธานุภาพอย่างไรก็หนีไม่พ้นข้าพเจ้า อย่าว่าแต่ท่านผู้เป็นมนุษย์เลย แม้นาค ครุฑ เทวดา อินทร์ พรหม เมื่อหลงมาในป่าวัฎฏะ ก็ไม่พ้นอำนาจข้าพเจ้าที่สร้างทุกข์ให้แก่ทุกคนที่อยู่ในป่านี้ไปได้ ”


ในขณะที่เจ้าชายจิตตราช จะเสียทีนางยักษ์วัฎฏะทุกขี พลันก็มีฤาษีตนหนึ่งมาช่วย ท่านชื่อ ฤาษีไตรลักษณญาณ ซึ่งอาศัยอยู่ ณ.จิตตบรรพต ทรงทราบด้วนญาณ จึงเหาะมาช่วยเจ้าชายจิตตราช ฝ่ายนางยักษ์วัฎฏะทุกขี พอเห็นฤาษีมาตกใจเพราะเคยถูกฤาษีไตรลักษณญาณ ปราบปรามมาก่อน จึงรีบหายหนีไป



เมื่อสนทนากับเจ้าชายจิตตราช ทราบวัตถุประสงค์การมาว่าจะไปตอบปัญหาเพื่อครองเจ้าหญิงงาม ๓ องค์ จึงทูลเจ้าชายจิตตราช ว่า


“ เจ้าหญิงทั้ง ๓ องค์ท่านรู้จักดี เป็นคนสวยจริงแต่นิสัยไม่ดีทุกคน คือ
เจ้าหญิงตัณหา มีนิสัยอยากได้ไม่รู้จักพอ ยิ่งได้มากยิ่งชอบ ไม่สนใจว่าจะได้มาทางดีทางชั่ว เอาทั้งนั้น

เจ้าหญิงราคา มีนิสัยรักง่ายหน่ายเร็ว โลเลไม่แน่นอนเดี๋ยวรักคนนั้นคนนี้ เปลี่ยนรักเรื่อยไป

เจ้าหญิงอรดี มีนิสัยริษยา ไม่อยากให้ใครได้ดี เห็นใครได้ดีก็ขัดขวาง ทำให้แตกสามัคคี ”

เมื่อเจ้าชายจิตตราช รู้ทันนิสัยไม่ดีของเจ้าหญิงทั้ง ๓ องค์ ก็เกิดเบื่อหน่าย คลายความกำหนัด จึงขออยู่กับฤาษีที่จิตตบรรพต ได้เรียนพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ และเจริญไตรลักษณญาณ รู้ อนิจจํ ทุกขํ อนัตตา จนชำนาญ


ฝ่ายอำมาตย์มิจฉัตตะ เมื่อขี่ม้าหนีภัยจากนางยักษ์วัฎฏะทุกขี ก็มิได้หนีไปไกล เมื่อเห็นเจ้าชายมีฤาษีมาช่วยก็ตามห่างๆไปจิตตบรรพต พอเห็นว่าเจ้าชายเปลี่ยนใจไม่ไปแก้ปัญหาเจ้าหญิงทั้ง ๓ ก็ร้อนใจ คิดจะหว่านล้อมเจ้าชายให้ไปแก้ปัญหาให้ได้


คืนหนึ่งได้โอกาสลอบไปพบเจ้าชายจิตตราชๆ เห็นอำมาตย์ตนสนิทก็ดีพระทัย มิจฉัตตะอำมาตย์แกล้งทูลเท็จว่า

“ เมื่อเห็นนางยักษ์วัฎฏะทุกขีมาไล่จับ เห็นว่าเราสองคนเป็นมนุษย์คงสู้นางยักษ์ไม่ได้ ตนเองจึงรีบไปบอกให้ฤาษีมาช่วย ”


เมื่อเห็นว่าเจ้าชายคล้อยตาม จึงกล่าวอีกว่า
“ เมื่อไม่มีนางยักษ์รังควานแล้ว ถ้าพระองค์อยู่ที่นี่เรื่อยไปคงต้องแก่ตายบนภูเขานี่แน่ พระองค์ควรลาท่านฤาษีไปแก้ปัญหาเพื่อครองเจ้าหญิงงามดีกว่า อย่าบอกท่านฤาษีว่าไปแก้ปัญหาเพราะคงถูกห้าม ให้บอกว่าจะกลับไปกายนครที่จากมานาน ”


เจ้าชายจิตตราช ทรงเชื่อมิจฉัตตะอำมาตย์ จึงตกลงพระทัยไปปัจจยาการนครให้ได้ ให้มิจฉัตตะซ่อนตัวไปก่อน

ในวันรุ่งขึ้น เข้าไปทูลลาท่านฤาษีว่าจะกลับกายนครพบพระมารดาพระบิดาเพราะจากมานาน แต่ท่านฤาษีทราบด้วยญาณ จึงกล่าวว่า

“ ท่านรู้ว่าเจ้าชายจะไปเมืองปัจจยาการนคร ไม่ต้องโกหก ” เจ้าชายรับว่าจริงจึงกราบขออภัย

ท่านฤาษีจึงทูลว่า
“ เมื่อพระองค์ตั้งใจไปแก้ปัญหาจริงๆก็ไม่อาจห้ามได้ และจะมอบแว่น วิชชามัย ( ความรู้แจ้ง ) ให้ หากแก้ปัญหาไม่ได้ให้ส่องแว่นนี้ดูก็จะทราบคำตอบ แต่ห้ามบอกใครเป็นอันขาดว่า มีแว่นวิเศษ ถ้าบอกใครไปจะมีภัยอันตราย ”


จากนั้นเจ้าชายจิตตราชกราบลาท่านฤาษี ขี่ม้าอิริยาบทมาสมทบกับมิจฉัตตะอำมาตย์แล้วไปจนถึงปัจจยา-การนคร ก็ปลอมพระองค์แต่งากายแบบชาวบ้านเข้าไปขออาศํยที่พักของยายมายาวี ( เจ้าเล่ห์ ) ผู้เฝ้าราชอุทยานและถามเรื่องการไปแก้ปัญหา

วันต่อมาเจ้าชายจิตตราชลายายมายาวี ไปแก้ปัญหาที่โรงมณฑป เมื่อรับอาสาแก้ปัญหาตามกติกาที่วางไว้แล้ว พระเจ้าเวทนาจึงรับสั่งให้เจ้าหญิงเริ่มถามปัญหา


คำถามที่ ๑ เจ้าหญิงตัณหาถามว่า ? ทำไมคนตายแล้วจึงถูกผูกตราสัง ๓ เปลาะ คือ ที่คอ ๑ ที่มือทั้งสอง ๑ ที่เท้าทั้งสอง ๑ ?

เจ้าชายจิตตราชตอบไม่ได้จึงแอบใช้แว่นวิชชามัยส่องดู จึงรู้และตอบว่า

“ เป็นปริศนาธรรมสอนคนให้รู้ว่า

๑ ) ห่วงผูกคอ หมายถึงมีบุตรเหมือนมีห่วงผูกคอ
๒ ) ห่วงผูกมือ หมายถึงมีคู่ครองเหมือนมีห่วงผูกมือ
๓ ) ห่วงผูกเท้า หมายถึงมีทรัพย์สมบัติเหมือนมีห่วงผูกที่เท้า

ดังภาษิตว่า

ปุตโต คีเว มีบุตรบ่วงหนึ่งเกี้ยว พันคอ
ธนัง ปาเท ทรัพย์ผูกบาทาคลอ หน่วงไว้
ภริยา หัตเถ ภรรยา(สามี)เยี่ยงอย่างปอ รึงรัด มือนา
สามบ่วงนี้ใครพ้นได้ จึ่งพ้นสงสาร


คำถามที่ ๒ เจ้าหญิงราคาถามว่า ? ไฟอะไร ร้อนที่สุดในโลก ?

เจ้าชายจิตตราชตอบไม่ได้จึงแอบใช้แว่นวิชชามัยส่องดู จึงรู้และตอบว่า

“ ไฟ ๓ กอง คือ

ราคัคคิ ไฟ คือ ราคะ ( ความกำหนัดยินดี )
โทสัคคิ ไฟ คือโทสะ ( ความประทุษร้าย )
โมหัคคิ ไฟ คือ โมหะ ( ความหลงใหล ) ไฟ ๓ กองนี้ ร้อนที่สุดในโลก


คำถามที่ ๓ เจ้าหญิงอรดีถามว่า ? ในโลกนี้อะไร เที่ยงที่สุด ?

เจ้าชายจิตตราชตอบไม่ได้จึงแอบใช้แว่นวิชชามัยส่องดู จึงรู้และตอบว่า

“ ความตายเป็นของเที่ยง ( ธุวํ มรณํ ความตายเป็นของเที่ยง )


คำถามที่ ๔ เจ้าหญิงตัณหาถามว่า ? ในโลกนี้อะไร หนักที่สุด ?

เจ้าชายจิตตราชตอบไม่ได้จึงแอบใช้แว่นวิชชามัยส่องดู จึงรู้และตอบว่า

“ ขันธ์ ๕ เป็นของหนักที่สุด ( ภารา หเว ปญจักขันธา ขันธ์ ๕ เป็นภาระที่หนักแท้ )



เจ้าชายจิตตราชก็ต้องยอมตามเพราะเป็นพระราชบัญชา แต่ในใจอยากจะตอบปัญหาข้อที่ ๕ ให้เสร็จจะได้เชยชมเจ้าหญิงงามทั้งสามให้สมใจ แล้วจำใจกลับไปที่พักของยายมายาวีอีกคืน


เมื่อพระเจ้าเวทนากลับพระราชวังแล้วรับสั่งให้พระราชธิดาทั้งสามเข้าเฝ้าแล้วตรัสว่า


“ วันนี้มีพระราชสาส์นจากพระเจ้าอวิชชาและพระนางโมหาราชเทวีแห่งกายนคร มาสู่ขอเจ้าทั้งสามให้เป็นมเหสีของเจ้าชายจิตตราชผู้เป็นพระราชโอรส

พ่อเห็นว่าเป็นวงศ์ที่สมควรกันที่จะยกให้ แต่วันนี้เจ้ามานพหนุ่มคนนั้นไม่รู้เป็นใครมาจากไหน ตอบปัญหาของเจ้าอย่างถูกต้องทั้ง ๔ ข้อ พ่อจึงไม่สบายใจ เพราะหากตอบถูกครบ ๕ ข้อพ่อก็ต้องยกเจ้าทั้งสามให้เพราะพ่อเป็นกษัตริย์ตรัสแล้วย่อมไม่คืนคำ แล้วพ่อจะหาลูกสาวที่ไหนไปยกให้เจ้าเมืองกายนคร ดังนั้นพ่อจึงให้หยุดปัญหาข้อ ๕ ไว้ก่อนเพื่อให้ทางทางแก้ไข เจ้าทั้งสามจะมีวิธีแก้อย่างไร ? ”


เจ้าหญิงทั้งสาม จึงทูลว่า

“ หม่อมฉันจะแก้ไขไม่ให้ต้องตกเป็นภรรยาชายแปลกหน้าให้จงได้ ขอเสด็จอย่าได้กังวลพระทัยเลย ”


เจ้าหญิงทั้งสามให้คนสนิทสืบดูรู้ว่าชายแปลกหน้าพักที่กระท่อมยายมายาวี ผู้เฝ้าราชอุทยาน จึงรับสั่งให้เรียกยายมายาวีเข้าเฝ้ารับสั่งให้ยายมายาวีไปสืบมาว่าชายแปลกหน้ามีอะไรดีจึงตอบปัญหาถูกต้องแล้วรีบนำมาบอก

ยายมายาวีไปทำยกย่องเจ้าชายจิตตราชที่ตอบปัญหาเก่งแล้วถามว่า “ มีอะไรดีหรือพ่อหนุ่มรูปงาม ? ”


เจ้าชายจิตตราชไม่ยอมบอกแม้ยายมายาวีจะอ้อนวอนอย่างไรก็ตามเพราะทำตามที่ท่านฤาษีไตรลักษณญาณกำชับไว้

ยายมายาวีจึงลอบมาหามิจฉัตตะ ยกยอ หว่านล้อมจนทราบเรื่องแว่นวิชชามัย แล้วรีบนำไปกราบทูลเจ้าหญิงทั้งสาม


ในคืนนั้นเองเจ้าหญิงทั้งสาม แต่งองค์ทรงเครื่องอย่างงดงามที่สุดไปหาเจ้าชายจิตตราช ณ.เรือนที่พักและใช้มารยาสตรีออดอ้อนว่า

“ ที่นางทั้งสามตัดความอายมาหาถึงที่พักก็เพราะว่าความรักนำมา รักตั้งแต่แรกเห็นจนไม่อาจทนอยู่ได้ ”


เจ้าชายจิตตราชหลงเชื่อคำสตรีจึงตรัสว่าตอบทำนองว่า

“ พระองค์ก็รักเจ้าหญิงทั้งสามตั้งแต่แรกเห็นเช่นกัน ”

เจ้าหญิงทั้งสามได้โอกาสจึงรุกต่อไปว่า “ ถ้ารักจริงจะของเป็นที่ระลึกสักอย่าง ”

เจ้าชายจิตตราชรู้ไม่ทันจึงตรัสว่า “ ของที่ขอถ้ามีอยู่ก็จะให้ ”

เจ้าหญิงทั้งสามยิ้มแล้วรุกฆาตต่อไปว่า “ ถ้าอย่างนั้นขอ แว่นวิชชามัย ก็แล้วกัน ”


เจ้าชายจิตตราชทรงตกพระทัย กล่าวว่า

“ ที่เราตอบปัญหาถูกต้องก็เพราะแว่นนี้ หากไม่มีเราก็ตอบไม่ถูก การแก้ปัญหาเหลือข้อที่ ๕ ขอเก็บแว่นนี้อีกวันเมื่อตอบปัญหาข้อที่ ๕ ถูกแล้วจะยกให้ทันที ”

เจ้าหญิงลวงว่า “ พรุ่งนี้จะถามเหมือนเดิม จะไม่ถามเรื่องอื่น ทั้งนี้เพราะความรักแรกพบ ”


เจ้าชายจิตตราชทรงเชื่อว่าเป็นความจริงจึงมอบแว่นวิชชามัยให้



วันต่อมา เมื่อถึงเวลาถามปัญหาข้อที่ ๕


คำถามที่ ๕ เจ้าหญิงราคาถามว่า ? คนที่เกิดมาล้วนตกอยู่ในกองทุกข์ ต้องแก่ เจ็บ ตาย ทำอย่างไรจึงจะพ้นทุกข์ไปได้ ?

เจ้าชายจิตตราชตอบไม่ได้ เพราะไม่มีแว่นวิชชามัย จึงต้องตกไปเป็นทาสรับใช้โดยไม่กล้าบอกว่าตนเป็นพระราชโอรสแห่งกายนครเพราะจะเสื่อมเสียชื่อเสียงอับอายของราชวงศ์ได้

จะกล่าวถึงพระเจ้าอวิชชาและพระนางโมหาราชเทวีแห่งกายนคร เมื่อส่งสาส์นสู่ขอพระราชธิดาแห่งปัจจยาการนคร ก็มิได้บอกให้พระราชโอรสทราบเมื่อจวนถึงกำหนดวันอภิเษกสมรส จึงตรัสรับสั่งให้เจ้าชายจิตตราชเข้าเฝ้า

เมื่อทราบว่าไม่อยู่ที่พระราชวังหลายวันแล้ว รับสั่งให้ราชบุรุษตามหาก็ไม่เจอ ทรงวุ่นวายหทัย จึงจัดขบวนเสด็จไปยังปัจจยาการนครเพื่อปรึกษากับพระเจ้าเวทนาและปรารถว่าเจ้าชายจิตตราชอาจลอบมาแก้ปัญหาโดยไม่บอกให้ใครทราบ


ดังนั้นพระเจ้าเวทนาจึงรับสั่งให้นำทาสรับใช้พระธิดาทั้งสาม ออกมาเดินให้พระเจ้าอวิชชาและพระนางโมหาราชเทวีทอดพระเนตร


เมื่อเห็นเจ้าชายจิตตราชเดินในขบวนทาส จึงตรัสบอกพระเจ้าเวทนาๆ รีบรับสั่งราชบุรุษให้เชิญมาเข้าเฝ้าแล้วขออภัยเพราะไม่ทราบมาก่อน

จากนั้นจึงจัดพิธีอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าชายจิตตราชและเจ้าหญิงตัณหา เจ้าหญิงราคา เจ้าหญิงอรดี อย่างสมพระเกียรติแล้วกลับไปครองกายนครสืบไป


จะกล่าวถึงพระยามัจจุราช ผู้ครองเมือง มรณานคร มีแม่ทัพใหญ่ คือ หลวงชาติ หลวงชรา และหลวงพยาธิ

เมื่อทรงทราบว่าเจ้าชายจิตตราชครองกายนคร รุ่งเรืองด้วย ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข จึงส่งกองทัพทั้งสามที่มีหลวงชาติ หลวงชรา และหลวงพยาธิไปโจมตีกายนคร


เจ้าชายจิตตราชเมื่อเห็นกองทัพล้อมเมือง จึงส่งข่าวไปถึงพระสหายให้มาช่วยรบทัพ คือ พระยาโอสถ ครองเมืองเภสัช ถือเฉลว ( ไม้ปักปากหม้อยา ) เป็นอาวุธ พระยาโอสถ ก็ส่งกองทัพเภสัชมาโจมตี สามทัพของพระยามัจจุราชให้แตกพ่ายไป


พระยามัจจุราชพิโรธหนักหนาจึงยกทัพหลวงมาเอง โจมตีกองทัพเภสัชและกองทัพกายนครแตกพ่ายไป พระเจ้าจิตตราชจึงพาพระมารดาพระบิดาและมเหสีทั้งสามหนีออกจากกายนคร ไปสร้างเมืองใหม่ ชื่อกายนครเหมือนเดิม


พระยามัจจุราชทราบว่าพระเจ้าจิตตราชไปสร้างเมือง กายนครใหม่ ก็ยกทัพไปตีแตกอีก เป็นเช่นนี้หลายหน

พระเจ้าจิตตราช สร้างเมือง กายนครอีกก็ทรงรำลึกถึง ฤาษีไตรลักษณญาณๆ ทราบด้วยญาณจึงเหาะมาหาพระเจ้าจิตตราชแล้วทูลว่า


“ การที่พระองค์สร้างกายนคร นั้นไม่มีทางต้านกองทัพพระยามัจจุราชได้ พระองค์ต้องสร้างเมืองใหม่ชื่อ
อมตมหานฤพานนคร

จึงสามารถป้องกันพระยามัจจุราชได้ เพราะพระยามัจจุราชไม่รู้ มองไม่เห็นว่าอมตมหานฤพานนคร ตั้งที่ไหน จึงไม่อาจยกทัพมาราวีได้ แต่การสร้างอมตมหานฤพานนคร นั้นต้องดำเนินการดังนี้


๑ ) สร้างอาวุธ ๓ อย่าง คือ
สุตาวุธ ( การฟังธรรม ) วิเวกาวุธ ( ความสงบกายสงบใจ ) ปัญญาวุธ ( ความรอบรู้ในกองสังขาร )


๒ ) สร้างรถอริยมรรค ๘( ทางประเสริฐ ๘ )


๓ ) ต้องตัดใจทิ้ง พระบิดาพระมาดา พระมเหสี เพราะ รถอริยมรรค ๘ ขับขี่ได้เฉพาะคน และไม่อาจพาใครๆข้ามแม่น้ำสงสารสาคร ไปได้ ถ้าขืนพาใครไปด้วยจะต้องล่มจมใน สงสารสาครแน่นอน


พระเจ้าจิตตราชทรงรับคำว่าจะปฏิบัติตามคำสอนของฤาษีไตรลักษณญาณ ทุกประการ ท่านฤาษีจึงสอนให้สร้างอาวุธทั้งสามและรถอริยมรรค ๘และสอนฝึกขับขี่รถให้คล่องแคล่ว


พระยามัจจุราชทราบว่าพระเจ้าจิตตราชจะสร้างเมืองใหม่จึงยกทัพมาตีอีก พระเจ้าจิตตราชทรงถืออาวุธ ๓ ขับรถอริมรรค ๘ แล่นออกจากกายนครไปถึง สงสารสาคร ก็ขับขี่รถอริมรรค ๘ ข้ามแม่น้ำไปได้




ฝ่ายพระเจ้าอวิชชา พระนางโมหาราชเทวีและเจ้าหญิงตัณหา เจ้าหญิงราคา เจ้าหญิงอรดีทราบว่าพระเจ้าจิตตราชหนีออกจากกายนครก็รีบตามไป พอถึงสงสารสาครก็ไม่อาจข้าม ได้แต่ร้องเรียกให้พระเจ้าจิตตราชกลับมารับไปด้วย


พระเจ้าจิตตราชเด็ดเดี่ยวไม่กลับมารับ ขอลาไปก่อนแล้วไปสร้าง อมตมหานฤพานนคร

พระยามัจจุราชไม่ทราบว่าพระเจ้าจิตตราชไปสร้างเมืองที่ไหนจึงไม่อาจยกกองทัพชาติ กองทัพชรา กองทัพพยาธิไปราวีได้

พระเจ้าจิตตราชจึงทรงเสวยบรมสุขอยู่ในอมตมหานฤพานนคร อย่างที่ไม่มีที่ใดเปรียบปานตราบกาลนาน



ข้อคิด / ข้อที่น่าคิด

จากที่กระผมเคยอ่านเรื่องนี้มีหลายประเด็น ก่อนอื่นต้องบอกว่าชอบใจมากกับชื่อตัวละครและโครงเรื่อง

เพราะอ่านแล้วเข้าใจตามได้ทันที รู้สึกเลื่อมใสท่านผู้รจนาเรื่องนี้มาก ส่วนข้อที่น่าคิดมีดังนี้ครับ


๑ ) ในทัศนะหนึ่งของกระผมคิดว่า ร่างกายของมนุษย์นั้น เปรียบได้กับ " หุ่นยนต์ชั้นเลิศ " หรือนวัตกรรมชิ้นเยี่ยม … หรือมหานครใหญ่ เพราะมีกลไลสลับซับซ้อน มีความสามารถในการดำรงชีพและมีศักยภาพสูงในการทำงาน


ร่างกายของมนุษย์นั้น เหมาะสมใช้สร้างบารมีอันยิ่งกว่าร่างกายของสัตว์ทั้งปวงในมนุษโลก ..

ในเทวโลก …หรือแม้ในพรหมโลก .. ด้วยซ้ำ

… ด้วยเหตุนี้เอง … " กายมนุษย์หยาบ " จึงทรงซึ่งคุณค่าเสมอ ไม่ว่ามนุษย์ผู้นั้นจะรู้หรือไม่ก็ตาม

… มนุษย์ท่านใด … มีสุขภาพกายแข็งแรง สมบูรณ์ … ก็มีโอกาสสูงที่จะได้รับ … ความสำเร็จ … ความสุข

ในการดำรงชีพ ในการทำงาน และ งานทำความดีอันยิ่ง คือ การสร้างบารมี มากยิ่งขึ้นเท่านั้น.


๒ ) " กายมนุษย์หยาบ หรือ กายนคร " นี้ถือเป็นฐานทัพสำคัญยิ่งต่อนักสร้างบารมี ถึงแม้ทั่วไปจะดูพิกลพิการไม่งามไปบ้าง แต่นี่แหละ เป็นฐานทัพให้ดวงจิตอาศัยพัฒนาให้เจริญขึ้น สะอาดบริสุทธิ์ จนหลุดพ้นจากกรอบ “ อวิชชา ” ที่พญามารร้อยรัดไว้ จนเข้าสู่อายตนนิพพานได้


กายในภพสามก็มี กายมนุษย์หยาบ นี่แหละที่ทำได้ นอกจากกายนี้ มีเพียงกายอรูปพรหมชั้นสูงๆที่เป็นพระอนาคามีเท่านั้น ที่อาศัยก่อนเข้าเข้าสู่อายตนนิพพาน ซึ่งก็มีจำนวนน้อยนิด

จึงพอกล่าวได้ว่า กายมนุษย์หยาบ คือสมบัติล้ำค่าของพระพุทธศาสนาและธาตุธรรม


๓ ) ข้อที่น่าคิดต่อมา คือ กัลยาณมิตรเป็นบุคคลที่ควรแก่การเคารพกราบไหว้บูชาสักการะ เพราะว่าท่านผู้เป็นกัลยาณมิตรช่วยให้ตัวเราพ้นทุกข์ พบบรมสุขได้ ดังเช่นเจ้าชายจิตตราชที่ได้ฤาษีไตรลักษณ์เป็นกัลยาณมิตร


ดูใกล้ๆเห็นชัด คือ การที่พวกเรามีพระเดชพระคุณหลวงพ่อและคุณยาย เป็นต้นกัลยาณมิตร สอนเราสร้างบารมีแบบชนิดที่ ได้บุญบารมีเป็นอสงไขย

อัปปมานัง เกิดเป็นลูกท่านชาตินี้ชาติเดียว ยังคุ้มเกินคุ้มกว่าเกิดมาสร้างบารมีโดยปราศจากท่านเลี้ยงดูแล นับอสงไขยชาติไม่ถ้วน อีกนะครับ


๔ ) ธรรมชาติของ “ จิต ” มีฤทธิ์ธานุภาพมากอยู่แล้ว

( มหิทธานุภาวํ – ทูรงคมํ – ลหุกํ – อสรีรํ – สุทุททสํ )
เพียงเราฝึกกลางให้ดี นุ่มนวลควรแก่การงาน ( หยุด นิ่ง เฉย )


๕ ) เรื่อง มงคลชีวิต มงคลที่สำคัญๆเป็นฐานให้การสร้างบารมีต่างๆเจริญยิ่งๆขึ้น คือ

อสเวนา จ พาลานัง คือ ไม่คบคนพาลเป็นมิตร เพราะนำมาซึ่งทางสู่อบายภูมิจริงๆ

ปัณฑิตา จ เสวนา คือ คบบัณฑิต คบคนดี มีศีลธรรม คุณธรรมเป็นแบบอย่างให้เราได้

คือ คบลูกๆหลวงพ่อ หลานคุณยาย ที่ฝึกตัวดี มีอุดมการณ์มั่นคง เป้าหมายเลอเลิศ ( ที่สุดแห่งธรรม )


๖ ) ว่ากันว่า ธรรมชาติสตรียากแท้หยั่งถึง เหตุนี้เองทำให้บุรุษที่เรียกว่า อุดมเพศไม่ทันมารยาหญิง จึงถูกลวงให้เสียทรัพย์ เสียเวลา เสียบุญบารมีกันนักต่อนัก อย่างที่คำบุราณท่านว่า
ผู้ชายพายเรือ ผู้หญิงยิงเรือ


คือ ผู้ชายพายเรือจะข้ามฝั่งโอฆสงสารสาคร แต่ถูกผู้หญิงยิงเรือให้รั่วบ้าง ให้ล่มบ้าง ทำให้ถึงฝั่งนิพพานช้า

เพราะฉะนั้นการสร้างบารมีเผลอไม่ได้ แค่เผลอกระพริบตาเรืออาจรั่ว อาจล่มได้ ต้องสอนตัวเองให้ได้

ให้โอวาทตนเอง ด่าตนเองเป็น


๗ ) การตอบคำถาม เป็นเหตุนำมาซึ่งทั้งความสุขหรือความทุกข์ ได้ทีเดียว มีหลายๆชีวิตที่รุ่งโรจน์ เพราะตอบคำถามได้ถูกต้อง-ถูกใจผู้ถาม แต่อีกหลายๆชีวิตเช่นกัน ที่ไม่รุ่งแต่ร่วง เพราะฉะนั้นไม่ควรดูเบาในการตอบคำถามอะไรๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอบคำถามครูบาอาจารย์ การตอบคำถามท่าน อาจหมายถึงเส้นทาง


การสร้างบารมีรุ่งหรือร่วงได้เหมือนกัน แต่ไม่ต้องกังวล แค่เราต้องความจริง ถูกต้องแน่นอน ส่วนถูกใจเป็นเรื่องรองเพราะเป็นปฏิภาณเป็นไหวพริบเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ และขึ้นอยู่กับมุมมองและอารมณ์ของผู้ถามด้วย Don’t worry about it


๘ ) นักสร้างบารมีที่ดี ต้องรู้ตักตัดใจ คือ ตัดอาลัย ในกามคุณ ในบุคคลอันเป็นที่รักที่เกี่ยวข้อง ต้องไม่ติดคน สัตว์ สิ่งของสมบัติ ติดแต่ธรรมะ ติดในบุญ ติดกลางของกลาง เสมือนเจ้าชายจิตตราชที่สละมารดา-บิดา ภรรยาและราชสมบัติฉันนั้น



๙ ) ต้องเจนโลก เจนภพสาม เจนวัฎฏสงสาร เจนกลาง คือ ต้องเข้าใจ ต้องรู้เท่าทันธรรมดาของธรรมชาติในวัฎฏสงสารว่าทุกสรรพสิ่งในป่าวัฎฏะนี้ ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนแท้จริง มีสุข มีทุกข์ ตามกฎโลกธรรม ๘ ที่เขา ทำผังบังคับไว้


เพราะฉะนั้น เวลามีสุข มีทุกข์ เจอความเปลี่ยนแปลง อย่าดีใจ-เสียใจ เกินงาม ต้องฝึกไม่ยินดี ไม่ยินร้าย กับทุกสรรพสิ่งและทุกเหตุการณ์ที่เข้ามาในชีวิต มันก็แค่ ผ่านมาแล้วผ่านไป มาเยี่ยมเรา

โดยเฉพาะเจนกลาง ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย สิ่งที่มากระทบกลางของเรา ทำหน้าที่รักษากลางทุกอย่างสำเร็จ


หรือคิดว่าทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ได้มาช่วยหล่อหลอมคุณสมบัติและธาตุธรรมภายในของเราให้เก่ง-แกร่ง-กล้า-ชัด-ใส-สว่างยิ่งขึ้น

จำไว้ว่าสุดท้าย Happy Ending เราต้องบริสุทธิ์ขึ้น ต้องชนะเหนือพญามาร ปราบมารสำเร็จ

เข้าถึงที่สุดแห่งธรรมอย่างแน่นอน เสมือนวาระสุดท้ายที่เจ้าชายจิตตราชเข้าอายตนะนิพพานฉันนั้น


ฯลฯ


ขออนุโมทนาบุญกับการสร้างบารมีของทุกๆท่านด้วยครับ สาธุ .....

http://board.agalico.com/showthread.php?t=26506

ขอบคุนครับ


ฉันลอกของเขามาทั้งหมดรวมทั้งความเห็นของเขาด้วย แต่ไม่ทราบชื่อผู้ออกความเห็นค่ะ

Rank: 1

ประวัติการสร้างพระพุทธรูป



หนังสือตำนานพระพุทธเจดีย์
โดยกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ประวัติการสร้างพระพุทธรูป จากหนังสือตำนานพระพุทธเจดีย์ มีในหนังสือตอน เรื่องตำนานพระแก่นจันทน์(ได้แปลพิมพ์เป็นภาษาไทยแล้ว) กล่าวว่า เมื่อพระพุทธองค์เสด็จไปประทานเทศนาโปรดพระพุทธมารดา ค้างอยู่ในดาวดึงส์สวรรค์หนึ่งพรรษานั้น พระเจ้าประเสนชิตกรุงโกศลราฐมิได้เห็นพระพุทธองค์อยู่ช้านาน มีความรำลึกถึง จึงตรัสสั่งให้นายช่างทำพระพุทธรูปขึ้นด้วยแก่นจันทน์แดงประดิษฐานไว้เหนือ อาสนะที่พระพุทธเจ้าเคยประทับ ครั้นพระพุทธองค์เสด็จกลับจากดาวดึงส์มาถึงที่ประทับ พระแก่นจันทน์ลุกขึ้นปฏิสันถารพระพุทธองค์ด้วยปาฏิหาริย์ แต่พระพุทธองค์ตรัสสั่งให้พระแก่นจันทน์กลับไปยังที่ประทับ เพื่อรักษาไว้เป็นตัวอย่างพระพุทธรูปซึ่งสาธุชนจะได้ใช้เป็นแบบอย่างสร้าง พระพุทธรูปเมื่อพระองค์ล่วงลับไปแล้ว
ตามที่กล่าวในตำนานประสงค์จะอ้างว่า พระพุทธรูปแก่นจันทน์องค์นั้นเป็นต้นแบบอย่างของพระพุทธรูปซึ่งสร้างกันต่อ มาภายหลัง หรือถ้าว่าอีกนัยหนึ่ง คืออ้างว่าพระพุทธรูปมีขึ้นโดยพระบรมพุทธานุญาตและเหมือนพระพุทธองค์ เพราะตัวอย่างสร้างขึ้นแต่ในครั้งพุทธกาล เดิมข้าพเจ้าเข้าใจว่าหนังสือเรื่องตำนานพระแก่นจันทน์จะเกิดขึ้นในลังกา ทวีป แต่มาพบในหนังสือจดหมายระยะทางของหลวงจีนฟาเหียนซึ่งไปอินเดียเมื่อราว พ.ศ.๙๕๐(พระภิกษุฟาเหียนอยู่ในประเทศอินเดียตั้งแต่พ.ศ.๙๔๔ จนถึง พ.ศ.๙๕๔) กล่าวว่าเมื่อไปถึงเมืองสาวัตถี ได้ฟังเล่าเรื่องพระเจ้าประเสนชิตให้สร้างพระพุทธรูป ตรงกับที่กล่าวในหนังสือตำนานพระแก่นจันทน์ จึงรู้ว่าเป็นเรื่องตำนานในอินเดียมีมาแต่โบราณ ถึงกระนั้นความที่กล่าวในตำนานก็ขัดกับหลักฐานที่มีโบราณวัตถุเป็นเครื่องพิสูจน์ เป็นต้นว่าถ้าเคยสร้างพระพุทธรูปแต่เมื่อในพุทธกาล และพระพุทธองค์ได้โปรดประทานพระบรมพุทธานุญาตให้สร้างกันต่อมา ดังอ้างในตำนานไซร้ พระเจ้าอโศกมหาราชก็คงสร้างพระพุทธรูปเป็นเจดีย์วัตถุอย่างหนึ่งเช่นเราชอบ สร้างกันในชั้นหลัง แต่ในบรรดาพุทธเจดีย์ที่พระเจ้าอโศกสร้างไว้หามีพระพุทธรูปไม่ ใช่แต่เท่านั้น แม้อุเทสิกะเจดีย์ที่สร้างกันเมื่อล่วงสมัยพระเจ้าอโศกแล้วจนราว พ.ศ.๔๐๐(ความจริงจนถึงราว พ.ศ.๖๐๐ กว่า) เช่นลายจำหลักรูปภาพเรื่องพุทธประวัติ ซึ่งทำเป็นเครื่องประดับพระมหาธาตุเจดีย์ดังกล่าวมาในตอนก่อน ทำแต่รูปคนอื่น ตรงไหนจะต้องทำพระพุทธรูป คิดทำรูปสิ่งอื่น เช่นรอยพระพุทธบาทหรือพระธรรมจักรและพระพุทธอาสน์เป็นต้น สมมติแทนพระพุทธรูปทุกแห่งไป ข้อนี้พิสูจน์ให้เห็นว่าประเพณีที่ทำพระพุทธรูปยังไม่มีในสมัยนั้น หรือยังเป็นข้อห้ามอยู่ในมัชฌิมประเทศจนถึงพ.ศ. ๔๐๐(ความจริงจนถึงราว พ.ศ.๖๐๐ กว่า) ข้อนี้แสดงให้เห็นว่าตำนานพระแก่นจันทน์นั้นจะเกิดขึ้นต่อสมัยเมื่อมี ประเพณีสร้างพระพุทธรูปกันแพร่หลายแล้ว ราวในพ.ศ. ๗๐๐ หรือ ๘๐๐ ปี

พระพุทธรูปศิลา พุทธศตวรรษที่ 7-10
เรื่องประวัติการสร้างพระพุทธรูป นักปราชญ์ในชั้นหลังสอบเรื่องพงศาวดาร ประกอบกับพิจารณาโบราณวัตถุที่ตรวจพบในอินเดียได้ความเป็นหลักฐานว่า พระพุทธรูปเป็นของพวกโยนก (คือฝรั่งชาติกรีก) ซึ่งเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เริ่มคิดประดิษฐ์ขึ้นในคันธารราฐเมื่อราวพ.ศ.๓๗๐(ปัจจุบันเชื่อกันว่าราวพ. ศ.๖๐๐ กว่า) มีเรื่องตำนานดังจะกล่าวต่อไปคือครั้งพระเจ้าอาเล็กซานเดอร์มหาราช สามารถแผ่อาณาเขตตั้งแต่ยุโรปตลอดมาจนในอินเดียข้างฝ่ายเหนือ เมื่อพ.ศ.๒๑๗ นั้น ตั้งพวกโยนกที่เป็นแม่ทัพนายกองครองบ้านเมืองรักษาพระราชอาณาเขตตลอดมา ครั้นพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชสิ้นพระชนม์ ผู้อื่นไม่สามารถจะรับรัชทายาทได้ ราชอาณาเขตก็กลับแยกกันออกเป็นประเทศต่างๆ ทางฝ่ายอาเซียนี้พวกโยนกที่เป็นเจ้าบ้านพานเมืองต่างก็ตั้งตนขึ้นเป็นอิสระ หลายอาณาเขตด้วยกัน แล้วชักชวนชาวโยนกพรรคพวกของตนให้มาตั้งภูมิลำเนาทำมาหากิน เป็นมูลเหตุที่จะมีพวกโยนกมาอยู่ในแผ่นดินอินเดียตอนชายแดนข้างด้านตะวันตก เฉียงเหนือ ซึ่งเรียกว่าอาณาเขตคันธารราฐ(อาณาเขตคันธารราฐเดี๋ยวนี้อยู่ในแดนประเทศอา ฟฆานิสถานบ้าง อยู่ในแดนอินเดียของอังกฤษมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือบ้าง(ปัจจุบันนี้เป็น ประเทศปากีสถาน) ในสมัยนั้นขึ้นอยู่ในประเทศบัคเตรีย ซึ่งแม่ทัพโยนกคนหนึ่งตั้งตัวเป็นเจ้า ครั้นต่อมาเจ้าเมืองบัคเตรียแพ้สงคราม ต้องตัดอาณาเขตคันธารราฐให้แก่พระเจ้าจันทรคุปต์ ต้นราชวงศ์โมริยะ อันเป็นองค์พระอัยกาของพระเจ้าอโศกมหาราช แต่นั้นคันธารราฐก็ตกมาเป็นเมืองขึ้นของมคธราฐเพราะฉะนั้น เมื่อพระเจ้าอโศกอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา จึงให้ไปประดิษฐานพระพุทธศาสนาในคันธารราฐ และพึงสันนิษฐานว่า พวกโยนกที่ตั้งภูมิลำเนาอยู่ ณ ที่นั้นคงเข้ารีตเลื่อมใสมิมากก็น้อย แต่เมื่อพ้นสมัยราชวงศ์โมริยะมาถึงสมัยราชวงศ์ศุงคะๆมีอานุภาพน้อย ไม่สามารถปกครองไปถึงคันธารราฐได้ พวกโยนกในประเทศบัคเตรียก็ขยายอาณาเขตบุกรุกอินเดียเข้ามาโดยลำดับ จนได้คันธารราฐและบ้านเมืองในลุ่มแม่น้ำสินธุ มีเมืองตักศิลาเป็นต้นไว้ในอาณาเขตโดยมาก จึงรวมอาณาเขตเข้าเป็นประเทศคันธารราฐ ตั้งเป็นอิสระมีพระเจ้าแผ่นดินโยนกปกครองตั้งแต่ราว พ.ศ.๓๔๓ เป็นต้นมา

พระพุทธรูปอินเดีย แบบคันธารราฐ พุทธศตวรรษที่๗-๑๐
ก็ประเทศคันธารราฐนั้น ชาวเมืองโดยมากนับถือพระพุทธศาสนาสืบมาแต่ครั้งพระเจ้าอโศกมหาราช พวกโยนกตามมาชั้นหลังเมื่อมาได้สมาคมสมพงศ์กับพวกชาวเมือง ก็มักเข้ารีตเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา แต่พระเจ้าแผ่นดินนั้นยังถือศาสนาเดิมของพวกโยนกมาจนถึงราว พ.ศ.๓๖๓ พระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่ามิลินท์(เรียกในภาษากรีกว่า เมนันเดอร์ Menander ชาวอินเดียเรียกว่ามิลินท์ พระองค์เดียวกับที่สนทนากับพระนาคเสนในเรื่องมิลินทปัญหา พระเจ้ามิลินท์ทรงครองราชย์อยู่ระหว่าง พ.ศ.๓๖๓ จนถึง พ.ศ. ๓๘๓ ) มีอานุภาพมาก ทำสงครามแผ่อาณาเขตเข้าไปในมัชฌิมประเทศจนถึงมคธราฐ ชะรอยจะได้ไปทราบวิธีการปกครองของพระเจ้าอโศกมหาราช และได้สมาคมคุ้นเคยกับผู้รอบรู้พระพุทธศาสนาคือพระนาคเสนเป็นต้น ก็ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ประกาศแสดงองค์เป็นพระพุทธศาสนูปถัมภก ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองขึ้นในประเทศคันธารราฐ

พุทธเจดีย์ที่สร้างขึ้นในคันธารราฐครั้งพระเจ้ามิลินท์นั้น ก็เอาแบบอย่างไปจากมัชฌิมประเทศ แต่พวกโยนกเป็นชาวต่างประเทศไม่เคยถือข้อห้ามการทำรูปเคารพ ซ้ำคติศาสนาเดิมของพวกโยนกก็เลื่อมใสในการสร้างเทวรูปสำหรับสักการบูชาด้วย เพราะเหตุนี้ พวกโยนกไม่ชอบแบบของชาวอินเดียที่ทำรูปสิ่งอื่นสมมติแทนพระพุทธรูป จึงคิดทำพระพุทธรูปขึ้นในเครื่องประดับเจดียสถาน พระพุทธรูปจึงมีขึ้นในคันธารราฐเป็นปฐม(เมื่อในระหว่างพ.ศ.๓๖๕ จน พ.ศ.๓๘๓) ความที่กล่าวนี้มีหลักฐาน ด้วยพระพุทธรูปชั้นเก่าที่สุดซึ่งตรวจพบในอินเดีย พบในคันธารราฐ และเป็นแบบอย่างช่างโยนกทำทั้งนั้น แต่เมื่อพิจารณาดูลักษณะพระพุทธรูปคันธารราฐที่พวกโยนกทำ เห็นได้ว่ามิใช่เป็นแต่ความคิดช่างเชลยศักดิ์หรือทำแต่ตามอำเภอใจของพวกโยนก

ประวัติการสร้างพระพุทธรูปขึ้นทีแรก น่าจะเป็นพระราชดำริของพระเจ้าแผ่นดิน และให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตกับพวกนายช่างประชุมปรึกษาหารือกันว่าควรจะทำอย่าง ไร และพวกที่ปรึกษากันนั้นก็รู้สึกว่าเป็นการยากมิใช่น้อย ด้วยการสร้างพระพุทธรูป มีข้อสำคัญบังคับอยู่ ๒ อย่าง คือ อย่าง๑จะต้องคิดให้แปลกกับรูปภาพคนอื่นๆ ใครเห็นให้รู้ได้ทันทีว่าเป็นรูปพระพุทธเจ้า กับอีกอย่าง๑ จะต้องให้งามชอบใจคนทั้งหลายที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา(ในประกาศพระราชพิธี จรดพระนังคัลว่าชาวคันธารราฐคิดสร้างพระพุทธรูปปางขอฝนขึ้น) และในหนังสือรัตนพิมพวงศ์ว่าเทวดานฤมิตพระพุทธรูปแก้วมรกต ถวายพระนาคเสนที่เมืองปาฏลีบุตร (ร่วมสมัยกับพระเจ้ามิลินท์) ตรงตามตำนาน แต่ผู้แต่งจะได้หลักฐานมาจากที่ไหนหาปรากฏไม่) ก็ในขณะเมื่อแรกคิดแบบพระพุทธรูปนั้น พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วหลายร้อยปี รูปพรรณสัณฐานของพระพุทธองค์จะเป็นอย่างไรก็ไม่มีผู้เคยเห็น มีแต่คำบอกเล่ากล่าวกันสืบมาว่าเป็นเช่นนั้นๆ เช่นว่ามีลักษณะอย่างมหาบุรุษในคัมภีร์มหาปุริสลักขณของพราหมณ์ ซึ่งแต่งไว้แต่ก่อนพุทธกาลเป็นต้น ช่างผู้คิดทำการสร้างพระพุทธรูปได้อาศัยคำบอกเล่าเช่นว่าอย่างหนึ่ง กับอาศัยความรู้เรื่องพุทธประวัติ เช่นว่าพระพุทธองค์เป็นกษัตริย์ของชาวมัชฌิมประเทศเสด็จออกทรงผนวชเป็นสมณะ เป็นต้นอย่างหนึ่ง กับอาศัยแบบอย่างอันปรากฏอยู่ในจารีตประเพณีของชาวมัชฌิมประเทศ ดังเช่นกิริยาที่นั่งขัดสมาธิและครองผ้ากาสาวพัสตร์เหมือนเช่นพระภิกษุซึ่ง มีอยู่ในสมัยนั้นเป็นต้นอีกอย่างหนึ่ง นอกจากนั้นก็อาศัยแต่คติที่นิยมว่าดีงามในกระบวนช่างของโยนก เป็นหลักความคิดที่ทำการสร้างพระพุทธรูปขึ้นโดยรู้อยู่ว่าไม่เหมือนองค์พระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ที่สามารถให้คนทั้งหลายนิยมยอมนับถือว่าเป็นรูปพระพุทธเจ้า ต้องนับว่าเป็นความคิดฉลาดแท้ทีเดียว

พระพุทธรูปศิลา ศิลปอินเดียแบบคันธารราฐ
พุทธศตวรรษที่ 7-9
ลักษณะพระพุทธรูปโบราณที่ช่างโยนกคิดทำขึ้นในคันธารราฐ สังเกตได้ว่าอนุโลมตามคัมภีร์มหาปุริสลักขณ หลายข้อ เป็นต้นคือข้อว่า อุณณา โลมา ภมุกนตเร ทำพระอุณาโลมไว้ที่หว่างพระขนงอย่าง๑ บางทีจะเอาความในบท อุณหิสสิโส อันแปลว่าพระเศียรเหมือนทรงอุณหิส(คำว่าอุณหิสแปลกันหลายอย่าง ว่ากรอบหน้าบ้าง ผ้าโพกบ้าง มงกุฎบ้าง แต่รวมความเป็นอันเดียวกันว่าเครื่องทรงที่พระเศียร) มาคิดอนุโลมทำให้พระเศียรพระพุทธรูปมีพระเกตุมาลาอีกอย่าง๑ แต่พระเกตุมาลาตามแบบช่างโยนกทำเป็นพระเกศายาว กระหมวดมุ่นเป็นเมาฬีไว้บนพระเศียรอย่างพระเกศากษัตริย์ เป็นแต่ไม่มีเครื่องศิราภรณ์ ความคิดเรื่องทำพระเกตุมาลานี้ ศาสตราจารย์ฟูเชร์(นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศส)สันนิษฐานว่า จะเกิดโดยจำเป็นในกระบวนช่าง ด้วยในลายจำหลักเรื่องพระพุทธประวัติมีภาพสมณะทั้งพระพุทธรูปและรูปพระภิกษุ พุทธสาวก ถ้าทำพระพุทธรูปแต่เป็นอย่างสมณะ ก็จะสังเกตยากว่าพระพุทธรูปหรือรูปพระสาวก

ช่างโยนกประสงค์จะให้คนดูรู้จักพระพุทธรูปได้โดยง่าย จึงถือเอาเหตุที่พระพุทธองค์เป็นกษัตริย์โดยพระชาติและเป็นสมณะโดยเพศนั้น ทำพระพุทธรูปให้ส่วนพระองค์ทรงครองผ้าอย่างสมณะ แต่ส่วนพระเศียรทำให้เหมือนอย่างพระเศียรกษัตริย์ เป็นแต่ลดเครื่องศิราภรณ์ออกเสียพระพุทธรูปจึงแปลกกับรูปภาพอื่นๆ ถึงจะอยู่ปะปนกับรูปใครๆ ก็รู้ได้ว่าพระพุทธเจ้า ความคิดข้อนี้ช่างพวกอื่นในสมัยชั้นหลังต่อมาไม่สามารถจะคิดแก้ไขไปเป็น อย่างอื่นได้ ก็ต้องเอาแบบอย่างของช่างโยนกทำต่อมา การสร้างพระพุทธรูปจึงมีพระเกตุมาลาด้วยประการฉะนี้(คำอธิบายเช่นกล่าวในหนังสือปฐม สมโพธิว่า รูปพระเศียรเป็นเช่นนั้นเองผิดธรรมดา เห็นว่าจะเป็นความคิดเกิดขึ้นเมื่อมีพระพุทธรูปแล้ว) ลักษณะที่ทำตามจารีตประเพณีในมัชฌิมประเทศนั้น เช่นอาการทรงนั่งขัดสมาธิ (ช่างโยนกทำนั่งขัดสมาธิเพชรอย่างเดียว) และอาการที่ทรงครองผ้าทำทั้งอย่างห่มดองแลห่มคลุม แต่มักชอบทำแบบห่มคลุมจำหลักกลีบผ้าให้เหมือนจริงตามกระบวนช่างโยนก

นอกจากที่กล่าวมาในบรรดาลักษณะซึ่งมิได้มีที่บังคับแล้ว พวกช่างโยนกทำตามคติของชาวโยนกทั้งนั้น เป็นต้นว่าดวงพระพักตร์พระพุทธรูปก็ทำอย่างเทวรูปที่งามของชาวโยนก(คือ เทวรูปอปอลโล) พระรัศมีก็ทำอย่างประภามณฑลเป็นวงกลมอยู่ข้างหลังพระพุทธรูปตามแบบรัศมีของ ภาพโยนก ส่วนกิริยาท่าทางของพระพุทธรูปนั้น เพราะทำพระพุทธรูปในลายเรื่องพระพุทธประวัติ พระพุทธรูปซึ่งทำตรงเรื่องตอนไหน ช่างก็คิดทำกิริยาท่าทางพระพุทธรูปให้เข้ากับเรื่องตอนนั้น เป็นต้นว่าพระพุทธรูปตรงเรื่องเมื่อก่อนเวลาตรัสรู้ ทำนั่งซ้อนพระหัตถ์เป็นกิริยาสมาธิ พระพุทธรูปตรงเมื่อชนะพระยามาร ทำพระหัตถ์ขวามาห้อยที่พระเพลาแสดงว่าทรงชี้อ้างพระธรณีเป็นพยาน พระพุทธรูปตรงเมื่อประทานปฐมเทศนา ทำจีบนิ้วพระหัตถ์เป็นรูปวงกลม หมายความว่าพระธรรมจักร พระพุทธรูปตรงเมื่อมหาปาฏิหาริย์(คือยมกปาฏิหาริย์)ทำเป็นพระพุทธรูปมีดอก บัวรอง คิดทำตามเรื่องพระพุทธประวัติทำนองดังกล่าวมานี้(รูปที่๔) ต่อไปตลอดจนถึงเมื่อเสด็จเข้าสู่พระนิพพาน ก็ทำเป็นรูปพระพุทธไสยา (ตามการค้นคว้าในปัจจุบัน เชื่อกันว่าพระพุทธรูปเป็นรูปมนุษย์เริ่มเกิดมีขึ้นเป็นครั้งแรกในแคว้นคัน ธารราฐ ในรัชกาลของพระเจ้ากนิษกะ วงศ์กุษาณะ ราวพุทธศตวรรษที่ ๗ และเป็นฝีมือของช่างกรีก-โรมัน)

เมื่อพระพุทธรูปมีขึ้น ใครเห็นก็คงชอบใจ จึงเลยเป็นเหตุให้เกิดศรัทธาเลื่อมใสในการสร้างพระพุทธรูปในคันธารราฐ แต่ความนิยมยังไม่แพร่หลายไปถึงประเทศอื่นในอินเดีย ด้วยอาณาเขตคันธารราฐเมื่อสมัยพระเจ้ามิลินท์ไม่กว้างขวางเท่าใดนัก ซ้ำเมื่อสิ้นพระเจ้ามิลินท์แล้ว เชื้อวงศ์ได้ครองคันธารราฐต่อมาเพียงซัก ๓๐ ปี ก็เสียบ้านเมืองแก่พวกศะกะซึ่งลงมาจากกลางทวีปอาเซีย พวกศะกะได้ครองคันธารราฐอยู่ชั่วระยะเวลาตอนหนึ่งแล้ว ก็มีพวกกุษาณะ(จีนเรียกว่า ยิวชี Yueh-chi) ยกมาจากทางปลายแดนประเทศจีน ชิงได้คันธารราฐจากพวกศะกะอีกเล่า แต่ในสมัยเมื่อพวกกุษาณะครอบครองคันธารราฐนั้น มีพระเจ้าแผ่นดินในกุษาณะราชวงศ์องค์ ๑ ทรงพระนามว่าพระเจ้ากนิษกะได้ครองราชย์สมบัติในระหว่าง พ.ศ.๖๖๓ จน พ.ศ.๗๐๕ สามารถแผ่ราชอาณาเขตออกไปทั้งทางข้างเหนือและข้างใต้ ได้มัชฌิมประเทศทั้งหมอไว้ในราชอาณาเขต เป็นพระเจ้าราชาธิราชขึ้นเหมือนอย่างพระเจ้าอโศกมหาราช ชะรอยเมื่อพระเจ้ากนิษกะคิดหาวิธีปกครองของพระเจ้าอโศก ซึ่งรวมพุทธจักรกับอาณาจักรเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พระเจ้ากนิษกะก็เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภก ปกครองพระราชอาณาเขตตามแบบอย่างครั้งพระเจ้าอโศกมหาราช ก็แต่พฤติการณ์ต่างๆ ในสมัยพระเจ้ากนิษกะผิดกันกับสมัยพระเจ้าอโศกเป็นข้อสำคัญอยู่หลายอย่าง เป็นต้นแต่ภูมิประเทศต่างกัน ด้วยพระเจ้าอโศกมหาราชตั้งราชธานีอยู่ ณ เมืองปาฏลีบุตรในมัชฌิมประเทศ อันเป็นท้องถิ่นที่พระพุทธเจ้าเที่ยวทรงสั่งสอนพระพุทธศาสนา มีเจดียสถานที่เนื่องต่อพระพุทธองค์และพระพุทธประวัติเป็นเครื่องบำรุงความ เลื่อมใส แต่พระเจ้ากนิษกะตั้งราชธานีอยู่ ณ เมืองบรุษบุรี(เดี๋ยวนี้เรียกว่า เมืองเปษวาร์)ในคันธารราฐ อันเป็นปัจจันตประเทศปลสยแดนอินเดีย ซึ่งพึ่งได้รู้จักพระพุทธศาสนาตั้งแต่พระเจ้าอโศกมหาราชให้ไปสั่งสอนอีก ประการ๑ พระไตรปิฎกที่รวบรวมพระธรรมวินัยมาจนถึงเวลานั้นก็เป็นภาษามคธของชาวมัชฌิม ประเทศ แต่ชาวคันธารราฐเป็นคนต่างชาติต่างภาษา ถึงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาก็ยากที่จะเข้าใจพระธรรมวินัยได้ซึมซาบเหมือน อย่างชาวมัชฌิมประเทศเพราะเหตุดังกล่าวมา เมื่อพระเจ้ากนิษกะฟื้นพระพุทธศาสนา แม้พยายามตามแบบอย่างครั้งพระเจ้าอโศกมหาราช ทั้งในการสร้างพุทธเจดีย์ การสังคายนาพระธรรมวินัยและให้เที่ยวสั่งสอนพระพุทธศาสนายังนานาประเทศก็ดี ลักษณะการอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาครั้งพระเจ้ากนิษกะจึงผิดกับครั้งพระเจ้าอโศก จะพรรณนาแต่ที่เป็นสำคัญ


พระพุทธเจดีย์
ตำนานพระพุทธเจดีย์ เรื่องสร้างพุทธเจดีย์ ปรากฏว่าเจดียสถานที่เกิดขึ้นในคันธารราฐเมื่อครั้งพระเจ้ากนิษกะ มีทั้งพระธาตุเจดีย์ บริโภคเจดีย์ และอุเทสิกะเจดีย์ พระธาตุเจดีย์นั้นพระเจ้ากนิษกะได้เสาะหาพระบรมธาตุในมัชฌิมประเทศ เชิญไปสร้างพระสถูปบรรจุไว้ปรากฏอยู่หลายแห่ง ส่วนบริโภคเจดีย์นั้น เพราะในคันธารราฐไม่มีสถานที่ซึ่งพระพุทธองค์ได้ประทานอนุญาตไว้ให้เป็นพระ บริโภคเจดีย์ เหมือนเช่นที่มีในมัชฌิมประเทศ จึงสมมติที่ตำบลต่างๆ ซึ่งอ้างเข้าเรื่องพุทธประวัติ เช่นว่าเมื่อพระพุทธองค์ยังเสวยชาติเป็นพระโพธิสัตว์ได้ทรงบำเพ็ญบารมีอย่าง นั้นๆ ณ ที่ตำบลนั้นๆ แล้วสร้างพระพุทธเจดีย์ขึ้นเป็นบริโภคเจดีย์(เรื่องบริโภคเจดีย์ในคันธารราฐ กล่าวตามอธิบายในหนังสือพรรณนาระยะทางของหลวงจีนฟาเหียนและหลวงจีนฮ่วนเจียง ที่ไปถึงคันธารราฐ เมื่อราว พ.ศ.๙๔๔ และ พ.ศ.๑๑๗๓)

คติอันนี้ภายหลังมาเลยสมมติต่อไปจนอ้างว่าอดีตพระพุทธเจ้า คือ พระกกุสัณฑ พระโกนาคมน์ และพระกัสสป ทั้ง๓ องค์ได้ทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาที่ในคันธารราฐแล้วสร้างบริโภคเจดีย์เนื่อง ในเรื่องประวัติของอดีตพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ พระองค์นั้นด้วย(คติที่ถือกันว่าคันธารราฐเป็นที่อดีตพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ พระองค์ได้ทรงประดิษฐานพระศาสนา ปรากฏอยู่ในหนังสือพรรณนาระยะทางของหลวงจีนฮ่วนเจียง ซึ่งไปถึงคันธารราฐเมื่อ พ.ศ.๑๑๗๓ แต่อาจจะถือกันขึ้นต่อเมื่อภายหลังรัชสมัยของพระเจ้ากนิษกะก็เป็นได้) เลยเป็นปัจจัยไปถึงคติของพวกถือลัทธิมหายานซึ่งจะกล่าวในที่อื่นต่อไปข้างหน้า ส่วนอุเทสิกะเจดีย์นั้น เพราะพวกโยนกได้คิดทำพระพุทธรูปขึ้นในคันธารราฐ ตั้งแต่ครั้งพระเจ้ามิลินท์ พระเจ้ากนิษกะก็เป็นเชื้อชาวต่างประเทศ จึงเลื่อมใสในการสร้างพระพุทธรูป ให้หาช่างชาวโยนกที่มีฝีมือดีมาคิดทำพระพุทธรูปให้งามสง่ายิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน จึงเกิดความคิดแก้ไขแบบพระพุทธเจดีย์ ใหม่พระพุทธรูปเป็นประธานแต่นั้นมา เป็นต้นว่าแต่ก่อนมาจำหลักเรื่องพุทธประวัติเป็นลายประดับพระสถูป แก้ทำเป็นซุ้มจรนำ ๔ ทิศ ติดกับองค์(ระฆัง)พระสถูป แล้วทำพระพุทธรูปให้เป็นขนาดใหญ่ กิริยาต่างกัน ตามเค้าพระพุทธรูปในลายเรื่องพุทธประวัติในซุ้มจรนำนั้น ใครเห็นก็รู้ได้ว่าเป็นพระพุทธรูปเมื่อตอนไหนในเรื่องพุทธประวัติ อันนี้น่าจะเป็นต้นเค้าที่สร้างแต่เฉพาะพระพุทธรูปตั้งเป็นประธานใน เจดียสถานต่างๆ(อย่างวัดที่สร้างกันภายหลัง) รูปพระโพธิสัตว์ก็สร้าง(รูปที่๖) แต่ในสมัยนั้นสร้างแต่รูปพระสักยโพธิสัตว์เมื่อก่อนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ความที่กล่าวมามีหลักฐานด้วยพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ของโบราณที่ค้นพบใน คันธารราฐ โดยเฉพาะที่ทำงานอย่างยิ่ง เป็นฝีมือช่างโยนก สร้างในสมัยพระเจ้ากนิษกะเป็นพื้น ใช่แต่เท่านั้น พระพุทธรูปโบราณที่พบทางกลางทวีปอาเซียก็ได้ ที่พบในมัชฌิมประเทศ เช่นที่เมืองพาราณสี เมืองมธุรา(รูปที่๗) และทางฝ่ายใต้จนเมืองอมราวดี(รูปที่๘)ก็ดี ที่เป็นชั้นเก่าล้วนเอาแบบอย่างพระพุทธรูปคันธารราฐไปทำทั้งนั้น จึงยุติได้ว่าการสร้างพระพุทธรูปแพร่หลายต่อไปถึงนานาประเทศ แต่ครั้งพระเจ้ากนิษกะบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นต้นมา(พระพุทธรูปแบบมถุราในชั้น เดิมไม่ได้รับอิทธิพลของศิลปะคันธารราฐเลย แต่เป็นแบบอินเดียแท้ สันนิษฐานว่าช่างอินเดียคงจะได้ทราบข่าวว่าช่างคันธารราฐคิดทำพระพุทธรูป เป็นมนุษย์ขึ้น จึงคิดทำขึ้นบ้าง ส่วนพระพุทธรูปแบบอมราวดีนั้น แก้ไขแบบจีวรเป็นอีกอย่างหนึ่งและเปลี่ยนเส้นพระเกศาเป็นขมวด)


พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ ศิลปะทวารวดี
(พุทธศตวรรษที่ 11-16)
เรื่องทำสังคายนาพระธรรมวินัยนั้น ปรากฏในเรื่องพงศาวดารแต่ว่า พระเจ้ากนิษกะทรงอาราธนาพระสงฆ์ที่เป็นชาวมัชฌิมประเทศและเป็นชาวประจัน ตประเทศ ให้ประชุมกันทำสังคายนาพระธรรมวินัยที่เมืองบุรุษบุรีราชธานี(อีกนัยหนึ่ง ว่าประชุมกัน ณ เมืองชลันธร ในอาณาเขตกัสปิละซึ่งเป็นประเทศราช) แล้วแปลงพระไตรปิฎกจากภาษามคธเป็นภาษาสันสกฤต และว่าครั้งนั้นพระมหาเถรทางฝ่ายเหนือแต่งอรรถกถาขึ้นใหม่หลายคัมภีร์ แต่นั้นพระสงฆ์ในอินเดียก็แยกกันเป็น ๒ นิกาย พวกนิกายฝ่ายเหนือถือพระธรรมวินัยตามพระไตรปิฎกภาษาสันสกฤต พวกนิกายฝ่ายใต้คงถือพระธรรมวินัยตามพระไตรปิฎกภาษามคธของเดิม เป็นมูลเหตุที่การถือพระพุทธศาสนาจะเกิดต่างกันเป็นคติมหายานและคติหินยานใน ภายหลัง ดังจะแสดงในตอนอื่นต่อไปข้างหน้า

เมื่อพิเคราะห์ดูถึงเหตุที่พระเจ้ากนิษกะได้ทำสังคายนาพระธรรมวินัยและให้ แปลงพระไตรปิฎกจากภาษามคธเป็นภาษาสันสกฤตครั้งนั้น เห็นว่าน่าจะมีความจำเป็นทั้ง ๒ อย่าง ด้วยพระธรรมวินัยอันเป็นหลักพระพุทธศาสนา ได้ร้อยกรองไว้เป็นภาษามคธตั้งแต่พระอรหันต์พุทธสาวกทำปฐมสังคายนา ต่อมาเมื่อทุติยสังคายนาที่เมืองเวสาลีและทำตติยสังคายนาที่เมืองปาฏลีบุตร ครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชก็ทำในภาษามคธ ถึงขั้นนี้จัดพระธรรมวินัยเป็น ๓ หมวด คือ พระวินัย พระสูตร และพระปรมัตถ์ เรียกรวมกันว่าพระไตรปิฎกและเริ่มเขียนเป็นตัวอักษรภาษามคธ มีขึ้นในมคธราฐก่อนที่อื่นแต่ยังไม่แพร่หลาย
พระสงฆ์ในประจันตประเทศยังนิยมในการท่องจำพระไตรปิฎกอยู่เป็นพื้น ถึงกระนั้นที่มีพระไตรปิฎกเป็นตัวอักษรเกิดขึ้นก็คงเป็นปัจจัยให้พระสงฆ์ใน มคธราฐถือพระธรรมวินัยมั่นคงกว่าพวกพระสงฆ์ในคันธารราฐ อันเป็นเชื้อสายสืบมาแต่พวกพระสงฆ์มหาสังฆิกะ ซึ่งหลบหลีกไปจากมัชฌิมประเทศเมื่อครั้งพระเจ้าอโศก แต่พระเจ้ากนิษกะตั้งราชธานีอยู่ในคันธารราฐ ก็คุ้นกับพระสงฆ์ชาวประจันตประเทศยิ่งกว่าพระสงฆ์ในมัชฌิมประเทศ เมื่อเห็นว่าพระสงฆ์ในคันธารราฐกับมคธราฐยังถือพระธรรมวินัยไม่เหมือนกัน จึงตรัสสั่งให้ประชุมทำสังคายนา ก็ลักษณะการทำสังคายนานั้น พระสงฆ์ที่ประชุมกันต้องวินิจฉัยข้อที่เข้าใจผิดกันและญัตติว่าอย่างไรเป็น ถูกหมดทุกข้อก่อน แล้วจึงจะได้ท่องจำสวดซ้อมพร้อมกันเป็นที่สุด ก็แต่การประชุมครั้งนั้น พระสงฆ์ที่ไปประชุมมีความเห็นแตกต่างกันเป็นข้อสำคัญในเรื่องพระวินัย(เป็น เค้าเดียวกับเมื่อครั้งทำทุติยสังคายนา) ด้วย

พระสงฆ์ชาวมคธราฐถือคติเถรวาท ไม่ยอมแก้ไขพระวินัยให้ผิดจากที่ได้ทำสังคายนาไว้เมื่อครั้งพระเจ้าอโศก ฝ่ายพระสงฆ์ชาวคันธารราฐถือคติอาจริยวาท อ้างว่าพระวินัยเป็นแต่ข้อบังคับสำหรับตัวพระภิกษุสงฆ์ควรแก้ไขได้ ทั้ง ๒ ฝ่ายไม่ยอมกัน น่าสันนิษฐานว่าพระสงฆ์ชาวมคธราฐคงถอนตัวออกห่างจากการประชุม เหลือยู่แต่พวกพระสงฆ์ชาวคันธารราฐที่ทำสังคายนา เพราะเหตุนั้น พวกถือพระพุทธศาสนาตามชาวมคธราฐ(เช่นพวกลังกาและไทยเรา) จึงไม่นับการสังคายนาครั้งพระเจ้ากนิษกะเข้าลำดับในตำนาน แต่พวกที่ถือพระพุทธศาสนาตามชาวคันธารราฐ(เช่นจีนและญี่ปุ่น) นับว่าเป็นสังคายนาครั้งที่ ๔

การแปลงพระไตรปิฎกจากภาษามคธเป็นภาษาสันสกฤตนั้น เมื่อคิดดูก็เห็นว่าน่าจะเนื่องจากเหตุที่พระสงฆ์ ๒ ฝ่ายต่างแตกกันนั่นเอง เพราะพระไตรปิฎกเดิมเป็นภาษามคธ การทำสังคายนาครั้งพระเจ้ากนิษกะ พระสงฆ์ชาวคันธารราฐทำแต่โดยลำพังพวกของตน มีข้อความผิดกับพระไตรปิฎกของเดิม ถ้าใช้ภาษามคธก็จะเกิดมีพระไตรปิฎกอย่างเดิมกับพระไตรปิฎกอย่างใหม่ขึ้นแข่ง กันเป็น ๒ ความ พระเจ้ากนิษกะน่าจะทรงพระดำริเห็นว่า ถ้าเช่นนั้นจะเป็นเหตุให้เสื่อมพระพุทธศาสนา จึงให้แปลงพระไตรปิฎกที่สังคายนาใหม่เป็นภาษาสันสกฤต ให้ต่างกับของเดิมโดยภาษาเสียด้วยทีเดียว เพราะภาษาสันสกฤตกับภาษามคธก็เป็นของชาวอินเดียด้วยกัน ไม่ผิดกันห่างไกลเท่าใดนัก
ชาวคันธารราฐอยู่ใกล้เมืองตักศิลาและเมืองชลันธร อันเป็นมหาวิทยาลัยที่สอนภาษาสันสกฤต อาจจะคุ้นภาษาสันสกฤตยิ่งกว่าภาษามคธด้วย จะเป็นด้วยอย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ทำสังคายนาครั้งนั้นมา การถือพระพุทธศาสนาในประจันตประเทศทางฝ่ายเหนือก็ถือตามพระไตรปิฎกภาษา สันสกฤต(อันมีวาทะซึ่งพระสงฆ์ชาวคันธารราฐได้แก้ไขเพิ่มเติม) เป็นหลักพระศาสนา แต่ชาวมัชฌิมประเทศคงถือพระไตรปิฎกภาษามคธเดิม(ตามสังคายนาครั้งพระเจ้าอโศก มหาราช)เป็นหลักพระศาสนา จึงต่างกันเป็นพวกถือคติฝ่ายเหนือและพวกถือคติฝ่ายใต้ แล้วกลายเป็นคติมหายานและหินยานสืบมา


พระพุทธรูปศิลา ประวัติการสร้างพระพุทธรูป
[SIZE=3][LEFT]เรื่องที่ให้ไปสอนพระพุทธศาสนายังนานาประเทศนั้น เมื่อครั้งพระเจ้าอโศกได้ให้เที่ยวสอนพระพุทธศาสนาตามประจันตประเทศในแผ่น ดินอินเดียโดยรอบมัชฌิมประเทศ ทางด้านเหนือเป็นที่สุดเพียงเชิงเขาหิมาลัยและคันธารราฐ ประเทศที่อยู่นอกแผ่นดินอินเดียปรากฏว่ารับพระพุทธศาสนาไปเมื่อครั้งพระเจ้า อโศกมหาราช แต่ในลังกาทวีปกับสุวรรณภูมิอันอยู่ฝ่ายใต้ทั้ง ๒ ประเทศ พระเจ้ากนิษกะตั้งราชธานีอยู่ในคันธารราฐข้างฝ่ายเหนือ จึงให้เที่ยวสอนพระพุทธศาสนาตามประเทศอันอยู่นอกเขาหิมาลัยต่อไปทางฝ่าย เหนือ เป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาแพร่หลายไปกลางทวีปอาเซียไปโดยลำดับจนถึงประเทศจีน พวกที่ไปเที่ยวสอนพระพุทธศาสนาในครั้งนั้น ถือคติพระสงฆ์คันธารราฐและพระไตรปิฎกภาษาสันสกฤต การถือพระพุทธศาสนาในประเทศเหล่านั้นจึงนิยมตามคติของชาวอินเดียฝ่ายเหนือ

ข้อมูลจาก [url=http://www.tumsrivichai.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538724040&Ntype=43]

Rank: 1

จากเว็ป กรรมฐานพุทโธ
         
อานิสงส์การสร้างพระพุทธรูป หลวงพ่อฤาษีลิงดำ

คำสอนของพระเดชพระคุณหลวงพ่อฤาษีลิงดำ(พระราชพรหมยาน) วัดท่าซุง อ.เมือง จ.อุทัยธานี
เกี่ยวกับอานิสงส์การสร้างพระพุทธรูป

การสร้างพระพุทธรูปจัดว่าเป็น พุทธบูชา ถ้า ในกรรมฐานจัดว่าเป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน (การระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์) ถ้าตายจากคนไปเกิดเป็นเทวดา มีรัศมีกายสว่างไสวมาก การสร้างพระถวายด้วยอำนาจพุทธบูชาทำให้มีรัศมีกายมากเป็นคนสวย ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า
"พุทธะปูชา มะหาเตชะวันโต" แปลว่า "การบูชาพระพุทธเจ้ามีเดชอำนาจมาก"
การสร้างพระ พุทธรูปนี่เป็นพุทธบูชาเป็นพุทธานุสสติในกรรมฐาน ๔๐ กอง ท่านบอกว่ากำลังของพุทธานุสสติเป็นเหตุให้เข้าถึงนิพพานได้ง่ายที่สุด ง่ายกว่ากองอื่นก็เห็นจะจริง เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านอยู่ที่นิพพานนี่ และท่านก็เป็นต้นตระกูลของพระนิพพาน ทีนี้เมื่อเราต้องการสร้างพระพุทธรูปให้สวยตามที่เราชอบเห็นแล้วก็ทำให้จิต ใจสดชื่น จิตมันก็นึกถึงพระอยู่เสมอ ถ้าจิตนึกถึงพระพุทธรูปองค์นั้นอยู่เสมอก็จัดเป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน ถ้าใจเราเกาะพระพุทธเจ้าเป็นปกติ ตายแล้วลงนรกไม่เป็น ฉะนั้นถ้าเราชอบพระแบบไหนปางไหน ก็ให้สร้างอย่างที่เราชอบจิตจะได้เกิดศรัทธา หลวงพ่อปานวัดบางนมโคแนะนำว่าควรหันหน้าพระบูชาไปทางทิศตะวันออกหรือทิศ เหนือ ไม่ควรหันหน้าพระบูชาไปทางทิศตะวันตก หรือทิศใต้ เพราะจะทำให้สตางค์ไม่เหลือใช้
ส่วนอานิสงส์ การสร้างแท่นพระนั้น ก็มีอานิสงส์เหมือนกับการสร้างพระพุทธรูป คือแท่นพระพุทธรูปเขาบกพร่องอยู่ เราทำให้เต็ม อย่างที่นางวิสาขาหรือพระสิวลีได้เคยทำมาในอดีตชาติ อานิสงส์ไม่ใช่เล็กน้อยนะ อานิสงส์ใหญ่มาก จะเกื้อหนุนให้รวย วาสนาบารมีสูง การสร้างแท่นพระหนุนพระพุทธรูป ซึ่งเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าให้สูงน่ะ จะทำให้ฐานะของเราดีขึ้น

ครั้งหนึ่งมีญาติโยมถามหลวงพ่อฤาษีลิงดำเรื่องการชำระหนี้สงฆ์ว่าถ้าหากนับรวมหลาย ๆ ชาติเราไม่รู้ว่าเคยล่วงเกินของสงฆ์มามากน้อยเท่าไหร่ จะทำอย่างไรจึงจะชำระหนี้สงฆ์ได้หมด หลวงพ่อท่านกำหนดสมาธิจิตถามพระพุทธเจ้า ก็ปรากฏนิมิตเป็นพระพุทธเจ้าลอยมาตอบคำถามท่านว่า "ถ้าจะชำระให้ครบถ้วนเป็นเงินเท่าไหร่ก็ไม่พอ ให้สร้างพระพุทธรูปหน้าตัก ๔ ศอก" พระหน้าตัก ๔ ศอก ถือว่าเป็นพระประธานมาตรฐาน ท่านบอกว่า "พระพุทธรูปนี่ไม่มีใครตีราคาได้ ใช้ในการชำระหนี้สงฆ์ หนี้สงฆ์ที่แล้ว ๆ มา ถือเป็นการหมดกันไป" เมื่อถามว่าการสร้างพระองค์หนึ่งชำระหนี้สงฆ์ได้คนเดียวหรือกี่คน ท่านก็บอกว่า "ถ้าไม่ปิดทองได้คนเดียว ถ้าปิดทองครบถ้วนได้ทั้งคณะ" คำว่า "คณะ" หมายความว่าบุคคลหลายคนก็ได้ ตัดบาปเก่าชำระหนี้สงฆ์เก่า ๆ ได้หมด แต่ถ้าสร้างหนี้ใหม่ต่อก็เป็นหนี้ใหม่เหมือนกันนะ เวลาถวายสังฆทานเพื่ออุทิศให้แก่ผู้ตาย อย่างน้อยควรมีพระพุทธรูปหน้าตักกว้าง ๕ นิ้วขึ้นไป ผู้ที่อนุโมทนารับบุญรับกุศลจะมีรัศมีกายสว่างมาก เพราะเทวดาหรือพรหมเขาแบ่งฐานะกันตามความสว่างของร่างกาย ไม่ได้ดูที่เครื่องแต่งตัว ถ้ามีผ้าจีวรด้วย ผู้อนุโมทนาจะมีเครื่องประดับสวยงามกว่าเดิม ถ้ามีอาหารด้วย ความเป็นทิพย์ของร่างกายจะดีกว่าเก่า

อานิสงส์การสร้างพระพุทธรูป นำมาจากหนังสือ "หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๑" โดยพระราชพรหมยาน วัดจันทาราม (ท่าซุง) อ.เมือง จ.อุทัยธานี จัดทำโดย เจ้าหน้าที่ธัมมวิโมกข์

หลวงพ่อตอบ:
1) สร้างพระ 1 องค์ ได้อานิสงส์ 5 กัปป์ ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ สร้างด้วยอะไรก็ตาม หมายความว่าบุญกุศลจะตามหนุนส่งท่านไปทุกภพทุกชาตินานถึง 5 กัปป์........(หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ)....
2) หลวงพ่อฤาษีลิงดำ กล่าวว่า"การสร้างสมเด็จองค์ปฐมทำได้ยาก คือ ว่าเป็นพระพุทธเจ้าองค์ต้นพระพุทธเจ้าทั้งหมด การสร้างองค์ปฐมนี้ ท่านเปลี่ยนบัญชีใหม่ โดยใช้บัญชีสีทอง เป็นทองคำล้วนทั้งเล่ม จดบันทึก(เป็นอีกเล่มหนึ่งจากที่จดธรรมดา) ก็แสดงว่า คนที่จะสร้างพระพุทธเจ้าองค์ปฐมได้นี้ ต้องเป็นคนมีบุญมาก และไปนิพพานได้เร็วมาก" เพราะบัญชีสีทอง หลวงพ่อฯบอกว่า พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ต้องโมทนาหมด......
3) ผู้ใดสร้างรูปพระพุทธเจ้า จะเป็นองค์เล็กเท่าต้นคาก็ดี ใหญ่กว่าต้นคาก็ดี ผู้นั้นจะได้เป็นพรหม เป็นพระอินทร์ หมื่นชาติแสนชาติ ถ้าเป็นมนุษย์ จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิหมื่นชาติ แสนชาติ จะไม่เป็นผู้ตกต่ำเลย ตราบจนกว่าเข้าสู่นิพพาน (หลวงพ่อขอม วัดไผ่โรงวัว)......
4) การสร้างพระ เปรียบได้กับธนาคารบุญ ซึ่งจะเกิดบุญกุศลกับผู้ที่มีส่วนในการสร้าง โดยบุญกุศลนั้น จะเกิดขึ้นทุกครั้ง ที่มีผู้มากราบไหว้ สักการะบูชา เท่ากับจำนวนคน และจำนวนครั้ง (หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา).......
5) การที่ผู้สร้างพระพุทธรูปได้เกิดศรัทธา จนถึงสละเงินออกมาสร้างพระพุทธรูปได้ และออก
มาทำทาน ในงานฉลองพระพุทธรูปได้ ชื่อว่าเป็นผู้มี "ความเห็นตรง เห็นถูกแท้" เพราะเป็นบุญของตนเอง ไม่ใช่บุญของใครเลย ผู้สร้างพระพุทธรูป ชื่อว่า เป็นผู้ไม่ประมาท ชื่อว่า เป็นผู้ได้เตรียมตัวก่อนตาย (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม)




Rank: 1

วันจันทร์ที่ 11 กรกฏาคม พ.ศ. 2554

วันที่ 18/6/11 ยอดเงินโอน 100 บาท
วันที่ 18/6/11 ยอดเงินโอน 300 บาท
วันที่ 19/6/11 ยอดเงินโอน 300 บาท
วันที่ 19/6/11 ยอดเงินโอน 99 บาท
วันที่ 20/6/11 ยอดเงินโอน 249 บาท
วันที่ 22/6/11 ยอดเงินโอน 300 บาท
วันที่ 22/6/11 ยอดเงินโอน 100 บาท
วันที่ 22/6/11 ยอดเงินโอน 100 บาท
วันที่ 28/6/11 ยอดเงินโอน 100 บาท
วันที่ 30/6/11 ยอดเงินโอน 400 บาท
วันที่ 03/7/11 ยอดเงินโอน 500 บาท
วันที่ 6/7/11 ยอดเงินโอน 100 บาท
วันที่ 6/7/11 ยอดเงินโอน 140 บาท
วันที่ 7/7/11 ยอดเงินโอน 500 บาท
วันที่ 8/7/11 ยอดเงินโอน 20 บาท
วันที่ 8/7/11 ยอดเงินโอน 50 บาท
วันที่ 8/7/11 ยอดเงินโอน 100 บาท
วันที่ 8/7/11 ยอดเงินโอน 100 บาท
วันที่ 8/7/11 ยอดเงินโอน 200 บาท
วันที่ 9/7/11 ยอดเงินโอน 20 บาท
วันที่ 10/7/11 ยอดเงินโอน 1,000 บาท
วันที่ 10/7/11 ยอดเงินโอน 100 บาท
วันที่ 11/7/54 รวมยอดเงิน 4,878 บาท

ข้าพเจ้าขอร่วมอนุโมทนาบุญกับทุกท่านด้วยนะคะ

นำข้อมูลมาจาก facebook  สุนทร กองทรัพย์  หาข้อมูลต่างๆ ค่อนข้างดีมากค่ะ

‎..สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวล ล้วนมีความดับเป็นธรรมดา...

วันอาสาฬหบูชา วันเพ็ญเดือน ๘ เป็นวันที่พระรัตนตรัยครบองค์ ๓

วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ เป็นวันที่สมเด็จพระบรมศาสดาทรง​แสดงพระธัมมจักกัปปวัตนสูตร ซึ่งเป็นปฐมเทศนา โปรดพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ หลังจากทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาส​ัมพุทธเจ้า และท่าน...โกณฑัญญะได้บรรลุโลกุตตรธรรมเป็​นปฐมสาวก เป็นพยานความตรัสรู้ของพระศาสดา​ เป็นอันว่าทรงยังความเป็นพระสัม​มาสัมพุทธเจ้าให้สำเร็จบริบูรณ์​ ด้วยเทศนาโปรดให้ผู้อื่นรู้ตามไ​ด้ ทำให้พระรัตนตรัยครบองค์ ๓ คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์

พระธัมมจักกัปปวัตนสูตร ปฐมเทศนา

ในปฐมเทศนา หรือ พระธัมมจักกัปปวัตนสูตร ที่ทรงแสดงนั้น

ทรงแสดงส่วนสุด ๒ อย่าง อันบรรพชิตไม่ควรเสพ คือ
กามสุขัลลิกานุโยค การประกอบตนให้พัวพันด้วยสุขในก​าม อันเป็นส่วนสุดข้างหย่อน ๑
อัตตกิลมถานุโยค การประกอบความเหน็ดเหนื่อยแก่ตน​เปล่า อันเป็นส่วนสุดข้างตึง ๑

ทรงแสดง มัชฌิมาปฏิปทา คือ ข้อปฏิบัติอันเป็นสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ส่วนสุดทั้ง ๒ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ อันได้แก่
สัมมาทิฐิ-ความเห็นชอบ
สัมมาสังกัปปะ-ความดำริชอบ
สัมมาวาจา-วาจาชอบ
สัมมากัมมันตะ-การงานชอบ
สัมมาอาชีวะ-ความเลี้ยงชีพชอบ
สัมมาวายามะ-ความเพียรชอบ
สัมมาสติ-ความระลึกชอบ
สัมมาสมาธิ-จิตตั้งมั่นชอบ

ทรงแสดง อริยสัจ ๔ คือ
ทุกข์ โดยย่ออุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์
สมุทัย ตัณหา ๓ เป็นเหตุแห่งทุกข์
นิโรธ ความดับทุกข์ (ดับตัณหา ๓)
มรรค ทางปฏิบัติเพื่อนำไปสู่หนทางแห่​งความดับทุกข์ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘

อริยสัจ ๔ ที่ทรงตรัสรู้นั้น ทรงตรัสเป็นพระบาลีว่า "ปุพฺเพ อนนุสฺสุเตสุ ธมฺเมสุ" ธรรมที่เราไม่เคยฟังมาก่อน นั่นคือ ทรงยืนยันว่า อริยสัจ ๔ ที่ทรงตรัสรู้นั้น ทรงรู้โดยองค์เอง (ไม่มีใครสอนมาก่อน)

ทรงแสดง กิจที่พึงทำในอริยสัจ ๔ คือ
ทุกข์ เป็นปริญเญยยะ ควรกำหนดรู้
สมุทัย เป็นปหาตัพพะ ควรละ
นิโรธ เป็นสัจฉิกาตัพพะ ควรกระทำให้แจ้ง
มรรค เป็นภาเวตัพพะ ควรเจริญ

เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า​ กำลังตรัสพระธรรมเทศนานี้อยู่ ธรรมจักษุ คือ ดวงตา คือปัญญาเห็นธรรมอันปราศจากธุลี​มลทิน ได้เกิดขึ้นแก่ท่านโกณฑัญญะว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวล ล้วนมีความดับเป็นธรรมดา"

ท่านโกณทัญญะได้บรรลุโลกุตตรธรร​มเป็นปฐมสาวก เป็นพยานความตรัสรู้ของพระศาสดา​ เป็นอันว่าทรงยังความเป็นพระสัม​มาสัมพุทธเจ้าให้สำเร็จบริบูรณ์​ ด้วยเทศนาโปรดให้ผู้อื่นรู้ตามไ​ด้

ในกาลนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทราบว่าท่านโกณฑัญญะได้เห็นธ​รรมแล้ว ทรงเปล่งพระอุทานว่า "อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ" แปลว่า "โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ" เพราะอาศัยพระอุทานว่า "อญฺญาสิ" ที่แปลว่า "ได้รู้แล้ว" คำว่า อญฺญาโกณฺฑัญฺโญ จึงได้เป็นนามของท่านโกณฑัญญะตั​้งแต่กาลนั้นมา


ธัมมวิจย : "สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวล ล้วนมีความดับเป็นธรรมดา"


นั่นคือ จิตมีธรรมชาติชอบแส่ส่ายออกไปหา​อารมณ์ ยึดถือและปรุงแต่งไปตามอารมณ์ ทำให้เกิดทุกข์ขึ้นที่จิต ทุกข์เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปจากจิตตลอดเวลาทั้งกลาง​วันและกลางคืน

ทรงสอนให้กำหนดรู้ทุกข์ ไม่ต้องไปจัดแจงหรือแก้ไขอะไร ... (ทุกข์ เป็นปริญเญยยะ ควรกำหนดรู้)

ทรงให้ละตัณหา ๓ อันเป็นเหตุแห่งทุกข์ คือ ความทะยานอยากของจิตที่ชอบแส่ส่​ายออกไปหาอารมณ์ นั่นคือ จิตเมื่อแส่ส่ายออกไปหาอารมณ์แล​้ว จะยึดถือและปรุงแต่งไปตามอารมณ์​ ดังนั้นที่จะไม่เกิดทุกข์ขึ้นที​่จิตนั้น เป็นไม่มี ... (สมุทัย เป็นปหาตัพพะ ควรละ)

เมื่อละความทะยานอยากของจิตที่ช​อบแส่ส่ายออกไปหาอารมณ์ได้เมื่อ​ใด ทุกข์ย่อมดับไปจากจิต (นิโรธ) เมื่อนั้น จึงทรงสอนว่า นิโรธ ให้ทำให้แจ้งชัดขึ้นที่จิต ... (นิโรธ เป็นสัจฉิกาตัพพะ ควรกระทำให้แจ้ง)

โดยทรงสอนให้เจริญอริยมรรค ๘ เพื่อให้จิตสงบตั้งมั่นชอบโดยลำ​พังตนเอง ปล่อยวางความยึดถืออารมณ์ ละความทะยานอยากของจิตที่ชอบแส่​ส่ายออกไปหาอารมณ์ ... (มรรค เป็นภาเวตัพพะ ควรเจริญ)

ซึ่งต้องเริ่มต้นด้วยการนั่งสมา​ธิ เจริญฌาน ๔ (สัมมาสมาธิ)
ให้จิตมีสติระลึกรู้อยู่ที่ฐานท​ี่ตั้งสติ (สติปัฏฐาน๔ = สัมมาสติ) ไม่แส่ส่ายออกไปหาอารมณ์
โดยอาศัยความเพียรประคองจิตให้อ​ยู่ที่ฐานที่ตั้งสติ (สัมมาวายามะ) จนจิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ

เมื่อจิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ ไม่แส่ส่ายออกไปหาอารมณ์แล้ว
จิตจะเกิดปัญญารู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง (สัมมาทิฐิ)
และเกิดพลังปัญญาปล่อยวางอารมณ์​ออกไปจากจิตได้ตามลำดับ (สัมมาสังกัปปะ)
ทำให้ทุกข์ดับไปจากจิต

อนึ่ง ในการเจริญฌาน ๔ (สัมมาสมาธิ) นั้น จิตจะบรรลุปฐมฌานได้
ต้องสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม (สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ) ด้วย

ครบ อริยมรรคมีองค์ ๘


ดังนั้น จึงต้องเจริญ อริยมรรค ๘ เพื่อให้จิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธ​ิ จิตเกิดพลังปัญญา ปล่อยวางอารมณ์ต่างๆออกไปจากจิต​ ทำให้ไม่เกิดทุกข์ขึ้นที่จิต

ถึงอารมณ์จะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ หรือดับไป จิตผู้ปฏิบัติก็ไม่ทุกข์ไปกับอา​รมณ์ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เพราะจิตผู้ปฏิบัติไม่ยึดถืออาร​มณ์นั้นๆ อารมณ์นั้นๆ ก็สักเป็นเพียงอารมณ์ แต่ไม่ใช่อารมณ์ของจิตดวงนี้ของ​ผู้ปฏิบัติ

เพราะจิตผู้ปฏิบัติรู้อยู่เห็นอ​ยู่ว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวล ล้วนมีความดับเป็นธรรมดา"


ขอความเจริญในธรรมจงมีแก่ทุกๆท่​าน

Rank: 1

วันอังคารที่ 19 กรกฏาคม พ.ศ. 2554
รายงานครั้งที่ 2 มีรายการโอนเงินบริจาคเข้าบัญชีดังนี้
วันที่ 12/7/11 ยอดเงินโอน 40 บาท
วันที่ 12/7/11 ยอดเงินโอน 109 บาท
วันที่ 12/7/11 ยอดเงินโอน 100 บาท
วันที่ 18/7/11 ยอดเงินโอน 100 บาท
วันที่ 19/7/11 ยอดเงินโอน 100 บาท

ครั้งที่ 2 รวมยอดเงิน 449 บาท

ข้าพเจ้าขอร่วมอนุโมทนาบุญกับทุกท่านด้วยนะคะ


เนื่องจากเนื้อหาน้อยเกินไปข้าพเจ้าจึงหาข้อมูลเพิ่มเติมมาให้อ่านค่ะ


ความมหัศจรรย์ของการสวดมนต์

Posted on August 7, 2008 by parinya111
ความมหัศจรรย์ของการสวดมนต์
อาตมา ( สมเด็จโต ) ได้เห็นอานิสงส์ของการสวดมนต์ด้วยตัวอาตมาเอง ในสมัยที่อาตมาได้ออกเดิน
ธุดงค์ในป่าเป็นเวลา
15 ปี โดยอาศัยอยู่ในเขตดงพญาไฟ ซึ่งเป็นเขตที่อยู่ใกล้ชายแดนของประเทศเขมร ในสมัยนั้นเต็มไป
ด้วยสิงสาราสัตว์ และภูติผีวิญญาณ ตลอดจนชาวบ้านที่มีเวทมนต์คาถา และเล่นคุณไสยกันอยู่อย่างมากมาย
ในอาณาบริเวณชายแดนแห่งประเทศสยามในตอนนั้น อาตมาได้เดินธุดงค์แต่เพียงลำพัง ในช่วงนั้นอาตมา
มิได้ศึกษาในพระเวทมนต์คาถาอาคมใดเลย
นอกจากคำว่า
พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
ซึ่งมีความหมายว่า
ข้าพเจ้าขอยึดมั่น พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง พระธรรมเป็นที่พึ่ง พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง
อาตมาไปที่แห่งหนตำบลใด ก็จะกล่าวเพียงคำนี้ตลอดเวลาของจิตใจอันเป็นที่พึ่งของอาตมา อาตมาเดิน
ทางเข้าสู่หมู่บ้านชายแดนแห่งประเทศสยาม ในดงพญาไฟขณะนั! ้น ในหมู่บ้านมีชาวบ้านอาศัยอยู่เพียง
เล็กน้อย อาตมาจึงได้ปักกลดอยู่ที่ท ้ายหมู่บ้าน มีชาวบ้านนำอาหารมาถวายตามกำลังที่เขาจะพอทำได้
เมื่อเห็นมีพระภิกษุมาปักกลดในที่แห่งนั้น อาตมาอาศัยอยู่ที่นั้นเป็นระยะเวลาหลายปี และ ณ ที่แห่งนั้น
อาตมาจึงได้พบคุณวิเศษแห่งการสวดมนต์
มีชาวบ้านผู้หนึ่งได้เข้ามาสนทนากับอาตมาหลังจากได้ถวายอาหารแล้ว ชาวบ้านผู้นั้นอาตมาทราบชื่อภาย
หลังว่าชื่อ นายผล นายผลได้เล่าให้อาตมาฟังว่า เขาเป็นผู้ฝึกเวทย์มนต์คาถาอาคม เล่าเรียนจนมี
ญาณแก่กล้า และมักจะทดสอบเวทย์มนต์ คาถาอาคมแก่พระภิกษุสงฆ์ที่เดินทางมาปักกลด ณ บริเวณนี้เป็น
ประจำ เขาเล่าให้อาตมาฟังว่า
เขาได้ส่งอำนาจคุณไสยเข้ามาทำร้ายอาตมาทุกคืน แต่ไม่ได้หวังทำรายเป็นบาปเป็นกรรมถึงตาย เพียง
แต่ต้องการทดสอบดูว่าภิกษุรูปนั้น จะมีวิชาอาคมแก่กล้าสามารถที่จอต่อสู้กับคุณไสยเขาได้หรือไม่ นายผลก็
ได้ทำคุณไสยใส่อาตาถึง 7 วัน เต็มๆ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยควายธนู หรือปล่อยหนังควาย ปล่อย
ตะขาบ ตลอดจนภูติพรายเข้ามาทำร้ายอาตมา แต่ปรากฏสิ่งที่ปล่อยมา ก็ไม่สามารถเข้ามาทำร้าย
อาตมาได้เลย
วันนี้จึงได้มากราบเพื่อสนทนาแลกเปลี่ยนวิชาความรู้กับอาตมา อาตมาจึงได้บอกว่าตัวอาตมาเองไม่ได้
ศึกษาพระเวทย์มนต์คาถา หรือคุณไสยใด นายผลก็ไม่ยอมเชื่อหาว่าอาตมาโกหก ถ้าหากไม่มีของดีแล้ว
ไซร้ไฉนอำนาจคุณไสยดำที่เขาส่งมา
จึงกลับมายังเขาซึ่งเป็นผู้กระทำ ไม่สามารถทำร้ายอาตมาได้ อาตมาก็พยายามชี้แจงให้เขารู้ว่า อาตมา
ไม่มีวิชาเหล่านี้จริง
ๆ ทำให้นายผลสงสัยยิ่งนักว่าเหตุใดอาตมา จึงไม่ได้รับภัยอันตรายจากอำนาจเวทมนต์คุณไสยดำที่เขา
ส่งมาทำร้าย! ได้
อาตมาได้บอกกล่าวแก่เขาว่า เมื่ออาตมาจะนอน อาตมาก็จะสวดแต่ค ำว่า
พุทธัง สะระณัง
คัจฉามิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
สังฆัง สะระณัง คุจฉามิ
จนจิตมีความสงบนิ่งแล้ว จึงได้แผ่ส่วนกุศลไปให้แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย จงอย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจ
เลยอย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย
และอาตมาก็จำวัดนอนเป็นปกติ นายผล เมื่อได้ฟังดังนี้ จึงได้บอกแก่อาตมาว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์ ก็
เช่นนั้น ข้าพเจ้าขอร้องให้ท่านในวัน นี้ ก่อนที่ท่านจะจำวัด จงหยดการสวดมนต์สัก 1 คืนได้หรือไม่
ข้าพเจ้าต้องการจะพิสูจน์ว่าการสวดมนต์ของท่านเช่นนี้ จะเป็นเกราะคุ้มครองภัยท่านหรือเป็นเพราะ
อำนาจเวทมนต์ถาถาในภูติผีปิศาจของข้าพเจ้าเสื่อมกันแน่ ข้าพเจ้าขอรับรองว่า จะไม่ทำอันตรายแก่ท่า
อาจารย์อย่างเด็ดขาดเพียงแต่ต้องการที่จะทดสอบให้ความรู้แจ้งเห็นจริงว่าเกิดอะไรขึ้น
อาตมาก็ตกลงรับปากแก่นายผลว่า คืนนี้จะไม่ทำการสวดมนต์ นายผลจึงได้ลากลับไป ครั้นถึงเวลาพลบ
ค่ำอาตมาก็นอนโดยมิได้ทำการสวดมนต์ตามที่ได้ปฎิบัติเป็นปกติ
เมื่ออาตมานอนหลับไป อาตมารู้สึกตัวขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อปรากฏว่าอาตมาได้ยินเสียง กุกกัก กุกกัก
จะขึ้นมา จึงได้จุดเที่ยนและพบตะขาบใหญ่ยาวเท่าขาของอาตมากำลังเลื้อยเข้ามาอยู่ใกล้ตัวของอาตมา
มาก อาตมารู้สึกตกใจถึงหน้าถอดสี และด้วยสัญชาติญาณจึ่งกล่าวคำสวดมนต์
พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
ด้วยจิตยึดมั่นในพระพุทธองค์เป็นที่พึ่ง เป็นเวลานานเท่าใดไม่ทราบได้ เสียงกุกกักและตะขาบที่อยู่ข้าง
หน้าก็อันตรธาน! หายไป
จากนั้นอาตมาจึงได้จำวัดนอนเป็นปกติ
ในวันรุ่งขึ้น นายผลก็มาหาอาตมาและได้กล่าวว่า เมื่อคืนนี้ข้าพเจ้าได้ปล่อยตะขาบเข้าไปในกลดที่ท่านพัก
นักอยู่ อาตมาบอกว่า อาตมาได้ตื่นมาและตกใจ จึงได้สวดมนต์ภาวนาตะขาบตัวนั้น ก็อันตรธานหายไป
นายผลจึงได้ยกมือพนมขึ้น แล้วกล่าวว่า บัดนี้ข้าพเจ้าเชื่อแล้วว่า อำนาจเวทมนต์คาถา และคุณไสยใดๆ
ของข้าพเจ้ามิอาจทำร้ายท่านได้ ก็เพราะอำนาจแก่การ สวดมนต์ภาวนาของท่านเป็นเกราะคุ้มครองภัย
อันตรายต่างๆ ได้
ที่อาตมา ( สมเด็จโต) ได้เล่าให้ท่านทั้งหลายในที่นี้ได้ฟังกัน เพื่อให้เป็นอานิสงส์ของการสวดมนต์ว่า
เหล่าพรหมเทพได้มาฟังการสวดมนต์จริงดังที่อาตมาได้เทศน์ไว้
เพราะถ้าไม่ใช่เหล่าพวกพรหมเทพแล้วไซร้ ก็คงไม่สามารถที่จะขับไล่สิ่งที่เกิดจากอำนาจคุณไสย ที่นาย
ผลส่งมาเล่นงานอาตมาได้อย่างแน่น! อน
ท่านเจ้าพระยา และ อุบาสก อบาสิกา ในที่นั้น เมื่อได้ฟังคำเทศนาแล้วต่างก็ยกมือขึ้นสาธุว่า
อานิสงส์ของการสวดมานต่ช่างมีคุณค่าสูงส่งยีงนัก
จากหนังสือ
อมตะธรรม สมเด็จโต
อานิสงส์การสวดมนต์แผ่เมตตามหาบุญ

Rank: 1

วันอังคารที่ 26 กรกฏาคม พ.ศ. 2554
รายงานครั้งที่ 3 มีรายการโอนเงินบริจาคเข้าบัญชีดังนี้
วันที่ 20/7/11 ยอดเงินโอน 100 บาท
วันที่ 20/7/11 ยอดเงินโอน 100 บาท
วันที่ 20/7/11 ยอดเงินโอน 100 บาท
วันที่ 21/7/11 ยอดเงินโอน 101 บาท
วันที่ 25/7/11 ยอดเงินโอน 350 บาท

ครั้งที่ 3 รวมยอดเงิน 751 บาท

ข้าพเจ้าขอร่วมอนุโมทนาบุญกับทุกท่านด้วยนะคะ


บทอาราธนากรรมฐาน


ข้อพึงสังวรในเบื้องต้น

บทอาราธนากรรมฐานและแนวทางการปฏิบัติกรรมฐานที่เผยแพร่นี้
หลวงปู่ดู่ท่านมิให้ใช้คำว่า “แบบปฏิบัติธรรมวัดสะแก ”
ท่านว่าการเรียกเช่นนั้นไม่ถูกต้อง ไม่ควรใช้คำว่าแบบปฏิบัติของวัดใดๆ
มีแต่แบบปฏิบัติของพระพุทธเจ้า

เพราะ...ธรรมของพระพุทธเจ้านั้นมีความไพเราะงดงาม
ทั้งในเบื้องต้น ในท่ามกลาง และในที่สุด
พระองค์ทรงประกาศพรหมจรรย์ คือ แบบแห่งการปฏิบัติอันประเสริฐ
บริสุทธิ์ บริบูรณ์ โดยสิ้นเชิง ทั้งอรรถะ ทั้งพยัญชนะ นั่นเอง



คำสมาทานพระกรรมฐาน

บทบูชาพระ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ( ๓ จบ )

พุทธัง ชีวิตัง เม ปูเช มิ
ธัมมัง ชีวิตัง เม ปูเช มิ
สังฆัง ชีวิตัง เม ปูเช มิ

กราบพระ ๖ ครั้ง
๑. พุทธัง วันทามิ
๒. ธัมมัง วันทามิ
๓. สังฆัง วันทามิ
๔. อุปัชฌาย์ อาจาริยะ คุณัง วันทามิ (สำหรับผู้ชาย) /
คุณครูบาอาจารย์ วันทามิ (สำหรับผู้หญิง)
๕. มาตาปิตุคุณัง วันทามิ
๖. พระไตรสิกขาคุณัง วันทามิ

สมาทาน ศีล ๕
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ( ๓ จบ )
• พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
• ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
• ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

๑. ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
๒. อะทินนาทานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
๓. กาเมสุมิจฉาจารา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
๔. มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
๕. สุราเมระยะ มัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
อิมานิ ปัญจะ สิกขา ปะทานิ สะมาทิยามิ ( ๓ ครั้ง )
สีเลนะ สุคะติงยันติ สีเลนะ โภคะสัมปะทา สีเลนะ นิพพุติงยันติ ตัสฺมา สีลัง วิโสธะเย

คำอาราธนาพระ
พุทธัง อาราธะนัง กะโรมิ
ธัมมัง อาราธะนัง กะโรมิ
สังฆัง อาราธะนัง กะโรมิ
น้อมระลึกถึงหลวงปู่ทวด แล้วว่า
นะโม โพธิสัตโต อาคันติมายะ อิติภะคะวา (๓ ครั้ง)
น้อมระลึกถึงหลวงปู่ดู่ โดยว่าคาถาดังนี้
นะโม พรหมปัญโญ (๓ ครั้ง)
คำอนุโมทนาบุญที่ผู้อื่นกระทำไว้ดีแล้ว
สัทธา ทานัง อนุโมทามิ (๓ ครั้ง)

คำขอขมาพระรัตนตรัย
โยโทโส โมหะจิตเต นะ พุทธัสมิง ปาปะกะโต มะยา
ขะมะถะเม กะตัง โทสัง สัพพะปาปัง วินัสสันตุ
โยโทโส โมหะจิตเต นะ ธัมมัสมิง ปาปะกะโต มะยา
ขะมะถะเม กะตัง โทสัง สัพพะปาปัง วินัสสันตุ
โยโทโส โมหะจิตเต นะ สังฆัสมิง ปาปะกะโต มะยา
ขะมะถะเม กะตัง โทสัง สัพพะปาปัง วินัสสันตุ

คำอธิษฐานแผ่เมตตา
ให้ตั้งใจเจริญพรหมวิหาร ๔ แล้ววกล่าวคำอธิษฐานว่า
“พุทธัง อะนันตัง
ธัมมัง จักกะวาฬัง
สังฆัง นิพพานะ ปัจจะโยโหตุ ”

คำอธิษฐานพระเข้าตัว
(คำอธิษฐานขออัญเชิญคุณพระมาไว้ที่จิต
เพื่อความสำรวมระวังและการภาวนาต่อ แม้จะออกจากการนั่งกรรมฐาน
รวมทั้งขอคุณพระคุ้มครองรักษาในระหว่างวัน)

สัพเพ พุทธา สัพเพ ธัมมา สัพเพ สังฆา
พะลัปปัตตา ปัจเจกานัญ จะยังพะลัง
อะระหันตานัญ จะ เต เชนะรักขัง พันธามิ สัพพะโส
พุทธัง อธิษฐามิ ธัมมัง อธิษฐามิ สังฆัง อธิษฐามิ



ตัวอย่างแนวทางการปฏิบัติสำหรับผู้เริ่มต้น


๑. เริ่มต้นด้วยการกล่าวคำบูชาพระ สมาทานศีล (เปลี่ยนศีลข้อกาเมสุมิจฉาจาร เป็น อะพรัหมะจะริยาฯ เพื่อเตรียมจิตก่อนอธิษฐานบวชจิต) จากนั้น ก็กล่าวคำอาราธนากรรมฐาน ว่า “พุทธัง อาราธะนัง กะโรมิ, ธัมมัง อาราธะนัง กะโรมิ, สังฆัง อาราธะนัง กะโรมิ” เป็นต้น

๒. เบื้องต้น ยังไม่ต้องรีบร้อนบริกรรมภาวนา หรือนึกนิมิตใดๆ หากแต่ให้ปรับท่านั่งให้เข้าเป็นที่สบาย โดยตั้งกายให้ตรง ผ่อนคลายความตึงเครียดของกล้ามเนื้อทุกส่วน สูดลมหายใจลึกๆ สักสองสามครั้ง พร้อมกับทำจิตใจของเราให้ปลอดโปร่งโล่งว่าง สร้างฉันทะที่จะปฏิบัติกรรมฐาน ระลึกว่าเรากำลังใช้เวลาที่มีคุณค่าแก่ชีวิต คือการพัฒนาจิตใจ ซึ่งเป็นสมบัติล้ำค่ากว่าสมบัติอย่างอื่น ไม่ว่าจะเป็นร่างกาย หรือทรัพย์สมบัติ

๓. กล่าวอาราธนาขอให้พระพุทธเจ้า หลวงปู่ทวด หลวงปู่ดู่ หลวงปู่เกษม ได้โปรดมาเป็นผู้นำและอุปการะจิตในการปฏิบัติธรรมครั้งนี้ จากนั้น ก็น้อมจิตกราบพระว่า พุทธังวันทามิ ธัมมังวันทามิ สังฆังวันทามิ

๔. สำรวจอารมณ์ที่ค้างคาอยู่ในใจเรา แล้วชำระมันออกไป ทั้งเรื่องน่าสนุกเพลิดเพลิน หรือเรื่องชวนให้ขุ่นมัวต่าง ๆ ตลอดถึงความง่วงเหงาหาวนอน และความฟุ้งซ่านรำคาญใจต่าง ๆ รวมทั้งปล่อยวางความลังเลสงสัยเสียก่อน

๕. เมื่อชำระนิวรณ์อันเป็นอุปสรรคของการเจริญสมาธิออกไปในระดับหนึ่งแล้ว กระทั่งรู้สึกปลอดโปร่งโล่งว่างตามสมควร จึงค่อยบริกรรมภาวนาในใจว่า “พุทธัง สรณัง คัจฉามิ, ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ, สังฆัง สรณัง คัจฉามิ”

๖. มีหลักอยู่ว่าต้องบริกรรมภาวนาด้วยใจที่สบายๆ (ยิ้มน้อยๆ ในดวงใจ) ไม่เคร่งเครียด หรือจี้จ้องบังคับใจจนเกินไป

๗. ทำความรู้สึกว่าร่างกายของเราโปร่ง กระทั่งว่าลมที่พัดผ่านร่างกายเรา คล้ายๆ กับว่าจะทะลุผ่านร่างของเราออกไปได้

๘. ให้มีจิตยินดีในทุกๆ คำบริกรรมภาวนา ว่าทุกๆ คำบริกรรมภาวนา จะกลั่นจิตของเราให้ใสสว่างขึ้นๆ

๙. เอาจิตที่เป็นสมาธิพอประมาณนี้มาพิจารณาร่างกายว่ามันเป็นก้อนทุกข์ ยามจะแก่ จะเจ็บ จะตาย เราก็ไม่อาจบังคับบัญชา หรือห้ามปรามมันได้ ถึงแม้ว่าเราจะดูแลมันดีอย่างไร มันก็จะทรยศเรา มันจะไม่เชื่อฟังเรา ให้พิจารณาให้ละเอียดลงไปซ้ำๆ จนกว่าจิตจะเห็นและยอมรับความจริง เมื่อจิตยอมรับจิตก็จะคลายจากความยึดมั่นถือมั่นว่ากายนี้เป็นเราหรือเป็นของเรา (การปฏิบัติกรรมฐานครั้งต่อไป ก็อาจเปลี่ยนเป็นการพิจารณาอย่างอื่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น หรือพิจารณาโดยรวมว่าร่างกายเราหรือคนอื่นก็สักแต่ว่าเป็นโครงกระดูก แม้ภายนอกจะดูแตกต่าง มีทั้งที่ผิวพรรณงาม หรือทรามอย่างไร แต่เบื้องลึกภายในก็ไม่แตกต่างกันในความเป็นกระดูก ที่ไม่น่าดูน่าชม เสมอกันหมด ให้พิจารณาให้จิตยอมรับความจริง เพื่อให้คลายความหลงยึดในร่างกาย ฯลฯ)

๑๐. เมื่อรู้สึกว่าจิตเริ่มขาดกำลังหรือความแจ่มชัด ก็ให้หันกลับมาบริกรรมภาวนาเพื่อสร้างสมาธิขึ้นอีก

๑๑. ในบางครั้งที่จิตขาดกำลัง หรือขาดศรัทธา ก็ให้นึกนิมิต (นอกเหนือจากคำบริกรรมภาวนา) เช่น นึกนิมิตหลวงปู่ดู่ อยู่เบื้องหน้าเรา นึกง่ายๆ สบายๆ ให้คำบริกรรมดังก้องกังวานมาจากองค์นิมิตนั้น ทำไปเรื่อยๆ เวลาเผลอสติไปคิดนึกเรื่องอื่น ก็พยายามมีสติระลึกรู้เท่าทัน ดึงจิตกลับมาอยู่ในองค์บริกรรมภาวนาดังเดิม

๑๒. เมื่อจิตมีกำลัง หรือรู้สึกถึงปีติและความสว่าง ก็ให้พิจารณาทบทวนในเรื่องกาย หรือเรื่องความตาย หรือเรื่องความพลัดพราก ฯลฯ หรือเรื่องอื่นใด โดยมีหลักว่าต้องอยู่ในกรอบของเรื่องความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ และความที่ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนที่เที่ยงแท้แน่นอน (อนัตตา)

๑๓. ก่อนจะเลิก (หากจิตยังไม่รวม หรือไม่โปร่งเบา หรือไม่สว่าง ก็ควรเพียรรวมจิตอีกครั้ง โดยให้เลิกตอนที่จิตดีที่สุด) จากนั้นให้อาราธนาพระเข้าตัวว่า สัพเพพุทธา สัพเพธัมมา สัพเพสังฆา พะลัปปัตตา ปัจเจกานัญ จะยังพะลัง อะระหัน ตานัญ จะเต เชนะรักขัง พันธามิสัพพะโส พุทธัง อธิษฐามิ ธัมมังอธิษฐามิ สังฆัง อธิษฐามิ (นึกอาราธนาคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มาไว้ที่จิตเรา หรืออาจจะนึกเป็นนิมิตองค์พระมาตั้งไว้ในตัวเรา

๑๔. สุดท้าย ให้นึกแผ่เมตตา โดยนึกเป็นแสงสว่างออกจากใจเรา พร้อมๆ กับว่า พุทธัง อนันตัง ธัมมัง จักรวาลัง สังฆัง นิพพานะ ปัจจะโยโหตุ โดยน้อมนึกถึงบุญอันมากมายไม่มีประมาณของพระพุทธเจ้าและพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย อีกทั้งบุญกุศลที่เราสั่งสมมาดีแล้ว รวมทั้งบุญจากการภาวนาในครั้งนี้ ไปให้กับเทพผู้ปกปักรักษาเรา ให้กับเจ้ากรรมนายเวร ให้กับบิดามารดา ครูบาอาจารย์ ผีเหย้าผีเรือน พระภูมิเจ้าที่ เทพ พรหม ทั้งหลาย แลสรรพสัตว์ทั้งหลายไม่มีประมาณ ท่านทั้งหลายที่ยังทุกข์ ขอจงพ้นทุกข์ ท่านทั้งหลายที่มีความสุขอยู่แล้ว ขอจงมีความสุขยิ่งๆ ขึ้นไป

หมายเหตุ การอาราธนาพระเข้าตัว (บทสัพเพฯ) ก็เพื่อว่าเมื่อเวลาเลิกนั่งสมาธิไปแล้ว จะได้ระมัดระวังรักษาองค์พระในตัว โดยการสำรวมระวังรักษากาย วาจา ใจ ตลอดวัน ซึ่งการสำรวมระวัง หรือที่เรียกว่าอินทรียสังวรนี้ จะช่วยให้การปฏิบัติกรรมฐานครั้งต่อๆ ไป จิตจะเข้าถึงความสงบได้โดยง่าย

นำมาจาก Luangpudu.com / Luangpordu.com

Rank: 1

วันศุกร์ที่ 29 กรกฏาคม พ.ศ. 2554
รายงานครั้งที่ 4 มีรายการโอนเงินบริจาคเข้าบัญชีดังนี้
วันที่ 27/7/11 ยอดเงินโอน 1,000 บาท
วันที่ 28/7/11 ยอดเงินโอน 20 บาท
วันที่ 29/7/11 ยอดเงินโอน 300 บาท
วันที่ 29/7/11 ยอดเงินโอน 100 บาท


ครั้งที่ 4 รวมยอดเงิน 1,420 บาท

ข้าพเจ้าขอร่วมอนุโมทนาบุญกับทุกท่านด้วยนะคะ


วันนี้ข้าพเจ้าไปปิดบัญชีเพื่อจะนำเงินไปทอดผ้าป่าวันอาทิตย์นี้เรียบร้อยแล้วนะคะ  
หากผู้ใดสนใจทำบุญเพิ่มคงต้องไปทำบุญกันที่วัดสระพัง จ.นครปฐม  

วันอาทิตย์ที่ 31 กรกฏาคม 2554
เวลา  11.00 น. ถวายภัตตราหารเพลพระภิกษุ สามเณร
เวลา  13.00 น.  ทอดผ้าป่าสามัคคี


นำโพสต่างๆ  มาฝากค่ะ

..BuddhaSattha
ไอ้ คนเราที่ต้องเกิดมา เพราะอาศัย กิเลส คือ..


๑. ความรัก ในระหว่างเพศเป็นเครื่องดึงใจ
ประการที่ ๒ ความโลภ เป็นเครื่องดึง
...ประการที่ ๓ ความโกรธ ความพยาบาท เป็นเครื่องดึงให้เกิด
ประการที่ ๔ ตัวจิตที่คิดว่าเราจะยังไม่ตาย นี่เป็นเรื่องสำคัญ เป็น ตัวหลง

อาการ ๔ ประการนี่เป็น ปัจจัยให้เราเกิด

ที่เราเกิดมานี่มันทุกข์ ถ้าเราไม่ทุกข์ก็ไม่ต้องกินข้าว​ใช่ไหม ไอ้ที่กินข้าวเพราะมันทุกข์ ทุกข์ตัวไหน ทุกข์เพราะหิว ชิฆัจฉา ปรมา โรคา ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง มันเสียดแทง

นี่ถ้าหากว่าถ้ามันไม่หิว มันไม่ทุกข์ เราก็ไม่ต้องกินข้าวมัน ที่เรากินข้าวเพราะอาศัยความทุก​ข์ แล้วความทุกข์ที่เรากินข้าวเข้า​ไปอิ่ม มันหมดทุกข์แล้วหรือยัง กินเช้า กลางวันมันก็หิวอีก กินกลางวันแล้วตอนเย็นมันก็จะกิ​นอีก เราก็ต้องหาให้มันกิน นี่มันทุกข์ บางทีกินตอนเย็นไม่พอ กลางคืนยังกินอีก กินหรือเปล่า บางทีไอ้ตอนเช้าล่อข้าวแล้ว ล่อขนมจุ๊บจิ๊บ

พวกผู้หญิงน่ะสำคัญนัก แหม…ไปไหนด้วยกัน พอจอดรถพรืด…ตลอดละ ก็ลงเป็นแถว สตางค์มันร้อนไม่จ่ายแล้วมันปวด​ท้องใช่ไหม ไอ้นี่เป็นเรื่องธรรมดาของขันธ์​ ๕ ไม่ได้ตำหนิ คือว่าขันธ์ ๕ มันเร่งรัดเราอย่างนี้ ที่เราต้องเหนื่อยยากก็เพราะว่า​ไอ้ความปรารถนาของมัน จะต้องเลี้ยงมัน แต่ว่าเลี้ยงมันเท่าไร มันก็ไม่มีอาการทรงตัว


"ในเมื่ออาการทรงตัวมันไม่มี เป็นทุกข์อย่างนี้ เราจะมีมันไปทำไม" คิดเพียงเท่านี้ คิดไว้เป็นปกติ




แล้วก็ ระมัดระวังใจ ไว้
อย่าให้ ความโลภ มันเข้ามา ครองใจ
อย่าให้ ความโกรธ มันเข้ามา ครองใจ
อย่าให้ ความหลง มันเข้ามา ครองใจ

ไอ้หลง นี่หมายถึง ไม่อยากจะตาย ฉันยังไม่ตาย ฉันยังไม่แก่ ฉันแก่แล้วก็ฉันยังไม่ตาย อะไรพวกนี้มันไม่ถูก ความตายไม่มีนิมิตเครื่องหมาย จำไว้เสมอว่าคนที่เกิดทีหลังเรา​ เขาตายก่อนเราไปเยอะแล้ว คนที่เกิดก่อนเราเขาก็ตายไปก่อน​เรา นี่ไม่สำคัญ สำคัญที่ว่าคนที่เกิดทีหลังเราเ​ขาตายไปก่อนเรา ไอ้เราจะแน่หรือว่าจะอยู่อายุเท​่าไร

ถ้าก่อนที่จะตาย จำไว้ ให้มันตายชาตินี้เป็นชาติสุดท้า​ย ชาติต่อไปไม่ต้องตายกันอีก
คือ เราไม่ต้องการขันธ์ ๕ เท่านี้ ท่านบอก คิดไว้เท่านี้นะ นี่ท่านบอกจุดจบไว้เลย


แล้วก็ถามท่านว่ามีผลไหม มีผล บอกว่า "ถ้าไม่สงสัยมีผลร้อยเปอร์เซ็นต​์"




เออ…อย่าลืมนะว่าตั้งใจคิดไว้อย​่างนี้ ใช้ปัญญาพิจารณาจริง ๆ ให้เห็นด้วยปัญญา จะเชื่อคำพูดที่อาตมาพูดมานี่ อย่าเชื่อ เพราะถ้าเชื่อเสียเลยทีเดียว โดยไม่ใช้ปัญญานี่มันเป็นสัญญา มันไม่เกิดผล

พอพูดไปแล้วก็ต้องนำไปคิด นำไปใคร่ครวญว่าร่างกายนี่มันไม​่ทนทานถาวรนี่จริง ไปแล้วดู ถ้ามันทนจริง มันทรงตัวจริงๆ ไม่มีใครอยากแก่ เพราะร่างกายก็ต้องไม่ป่วย ร่างกายก็ต้องไม่ทรุดโทรม ในที่สุดมันก็ต้องไม่ตาย นี่มันก็ต้องตาย

อย่าง คุณอ๋อย นี่ อยู่คุยกันแจ๋วๆ แกก็ตายไปแล้ว นี่เป็นตัวอย่าง เราก็ต้องมีสภาพตายต่อไปเบื้องห​น้า นี่จงจำไว้ว่าร่างกายมีสภาพไม่ท​นทาน




นี่ท่านพูดสั้น ๆ นะ "ร่างกายมีสภาพไม่ทนทานอย่างนี้​ เราไม่ต้องการมันอีก" พูดสั้นแค่นี้ ให้คิดไว้เป็นปกติ

แล้วก็ล้อมวงไว้ด้วยการไม่โลภ การไม่โกรธ การไม่หลง ให้ระมัดระวังใจ ..แต่นี่ที่แถม

แต่ที่ท่านสั่งไว้จริง ๆ สั่งให้บอก ถามท่านว่าคิดเท่านี้พอ ท่านบอกว่ามันเป็นวิปัสสนาญาณตั​วปลายคือ ตัวนิพพาน ถ้าคิดไปทุก ๆ วัน คิดไปได้บ้าง ลืมบ้าง ไม่ลืมบ้าง ต่อไปอารมณ์มันจะชิน ชินมันก็เป็นฌาน ถ้าฌานตัวนี้เป็น สังขารุเปกขาญาณ แล้วเป็น สัจจานุโลมิกญาณ... "ก็นิพพานกันเท่านั้นแหละ"




พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมย​าน
(หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)ดูเพิ่มเติม
รูปภาพบนกระดาน ..3 ชั่วโมงที่แล้ว..BuddhaSattha
การโมทนานี่ทำให้ชุ่มชื่นใจ ใช่ไหม...เขาทำดีเรายินดีด้วย ยินดีกับความดีของเขา ไม่ช้าเราก็ดีตามเขา เพราะเราเห็นเขาดี เราก็ชอบดี ใช่ไหม...

แต่อย่าไปชอบดีเฉยๆ นะ ต้องทำดีด้วยนะ ทำบุญด้วยตนเองบ้าง

พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมย​าน (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)
7 ชั่วโมงที่แล้ว via Facebook Mobile..BuddhaSattha
ค่ำวันนี้ (วันศุกร์ที่ ๒๙ ก.ค.๕๔) ขอเชิญผู้มีจิตศรัทธา ร่วมทำวัตรสวดมนต์ เจริญพระกรรมฐาน ณ ศูนย์พุทธศรัทธา สำนักปฏิบัติำพระกรรมฐานสาขาวัด​ท่าซุง
ปกิณกะธรรม
♥ อานิสงส์ของการรักษาศีล กับ การให้ทาน

ผู้ถาม : หลวงพ่อคะ หนูขอทราบอานิสงส์ของการ...รักษาศีล กับ การให้ทานค่ะ ?

หลวงพ่อ : จำที่พระบอกในตอนท้ายได้ไหมล่ะ

“สีเลนะ สุคติง ยันติ” การรักษาศีลเป็นปัจจัยให้มีความ​สุข สุขทั้งชาตินี้ สุขทั้งชาติหน้านะ
“สีเลนะ โภคสัมปทา” ถ้ามีศีลชาตินี้ทรัพย์สมบัติก็ไ​ม่ฝืดเคือง ชาติหน้าก็มีทรัพย์สมบัติมาก
“สีเลนะ นิพพุติง ยันติ” ศีลเป็นปัจจัยให้เข้าถึงนิพพานไ​ด้โดยง่าย
นี่อานิสงส์ของศีล ท่านว่าไว้อย่างนี้


ส่วนการให้ทานท่านบอกว่า
“ทานัง สัคคโส ปาณัง” ทานเป็นบันไดให้เกิดบนสวรรค์

การให้ทานมากก็ตามน้อยก็ตาม ผลของทานทำให้เกิดในสวรรค์ ถ้าหากว่าพ้นจากสวรรค์มาแล้วมาเ​ป็นคนก็ไม่ยากจนเข็ญใจ แต่ว่าจะรวยเท่าไรนั้นเป็นเขตขอ​งทานนะ ท่านเรียกว่า “ปุญญักเขตตัง” เป็นเนื้อนาบุญ ถ้าเราให้ในเขตที่มีความบริสุทธ​ิ์มากเราก็รวยมาก ให้ในเขตที่มีความบริสุทธิ์น้อย​ เราก็มีทรัพย์สินน้อย แต่คำว่าอดตายไม่มีสำหรับคนให้ท​าน



ผู้ถาม : แล้วศีลกับทาน อย่างไหนจะอานิสงส์มากกว่ากันคะ

หลวงพ่อ : อ้าว....มันคนละคนนี่หนู ต่างคนต่างแก่ต่างคนต่างกล้า ทานเขาก็ให้ผลไปอย่างหนึ่ง ศีลก็ให้ผลมีกำลังอย่างหนึ่ง แต่ว่าทั้ง ๒ อย่างนี่ต้องร่วมกันนะ ถ้าแยกกันเมื่อไรก็พังเมื่อนั้น​แหละ เรามีแต่ทานอย่างเดียวแต่บกพร่อ​งในศีลทั้ง ๕ หรือข้อใดข้อหนึ่ง เราก็ตกนรก ต้องพ้นจากนรกมาก่อนแล้วจึงจะรว​ย ถ้าเรามีศีลอย่างเดียวไม่มีทาน เกิดชาติหน้าอายุยืน หน้าตาสวย แต่อดตายเอาซิ เอาอย่างไหนล่ะ เอาไงดี....?


ผู้ถาม : หมายความว่าต้องทำคู่กันใช่ไหมค​ะ ?

หลวงพ่อ : ต้องคู่กันไปหนู จะว่าอย่างไหนสำคัญกว่ากันมันก็​ไม่ควร

ทาน ศีล ภาวนา เป็นบุญกิริยาวัตถุ และพระพุทธเจ้าตรัสว่า สิ่งที่เข้าถึงบุญกุศลก็คือ
๑.การให้ทาน
๒.การรักษาศีล
๓.เจริญภาวนา ภาวนานี่หมายถึง สมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนา คือใช้สติปัญญาคิดอยู่

♥ ทานนั้น เป็นปัจจัยตัดโลภะ ความโลภ เป็นก้าวหนึ่งที่จะถึงนิพพาน
♥ ศีล เป็นเหตุตัดโทสะ ความโกรธ เป็นก้าวที่สองที่จะทำให้ถึงนิพ​พาน
♥ ภาวนา เป็นตัวตัดกิเลสตัวสำคัญทั้งใหญ​่และเล็ก เป็นปัจจัยให้กิเลสหมดจริง เข้าถึงนิพพานแน่นอน

แล้วทั้ง ๓ อย่างนี้ จะถืออะไรสำคัญกว่ากันไม่ได้เลย​ ต้องถือว่าสำคัญเท่ากัน ถ้าเราขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง เราจะถึงนิพพานไม่ได้.


※ จากหนังสือหลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๑
พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมย​าน (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)ดูเพิ่มเติม
มีข้อธรรมมากมาย ที่มักมีผู้สงสัยใคร่รู้อยู่เป็​นจำนวนมาก และหลวงพ่อฤาษีฯท่าน ได้เมตตาแสดงไว้ในที่ต่างๆ ศูนย์พุทธศรัทธาได้คัดเลือกและร​วบรวมประมวลข้อธรรมดังกล่าวมา้เ​ผยแผ่ในเฟสบุ๊ค เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้รับเกร็ด​ความรู้ต่างๆ ที่ถูกตรงในพระพุทธศาสนา
โดย: BuddhaSattha

แสดงความคิดเห็น

panawan  อนุโมทนาบุญกับทุกท่านด้วยครับ สาธุๆๆๆ  โพสต์เมื่อ 2011-11-9 11:04
‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2025-1-8 04:39 , Processed in 0.037975 second(s), 17 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.