แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
เจ้าของ: pimnuttapa
go

ธรรมโอวาทหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๗๘

ทามาก็อต จิ



ทามาก็อต จิ หรือสัตว์เลี้ยงคอมพิวเตอร์ที่แสนจะขี้อ้อนกำลังแพร่ระบาดและเป็นที่นิยมเลี้ยงกันในหมู่นักเรียนนักศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ญี่ปุ่นและในบ้านเรา จนทางโรงเรียนต้องห้ามนักเรียนไม่ให้นำมาโรงเรียน เพราะจะทำให้เสียการเรียน เนื่องจากต้องคอยดูแลทามาก็อตยิ่งกว่าไข่ในหิน ต้องคอยป้อนอาหารให้ทาน พาเข้าห้องน้ำ เจ็บป่วยต้องพาไปหาหมอและอื่นๆ อีกจิปาถะ มิฉะนั้น...มันจะตาย

จากเรื่องทามาก็อต จิ เจ้าสัตว์เลี้ยงปลอม ทำให้ข้าพเจ้าคิดถึงวรรณกรรมที่มีชื่อเสียงเรื่องหนึ่งในอดีต คือ ตลิ่งสูง ซุงหนัก ของนิคม รายยวา กวีซีไรต์ เมื่อหลายปีก่อน

ครั้งนั้น นิคมได้นำเสนอเรื่องความเป็น ของจริง และ ของปลอม ได้อย่างไพเราะกินใจยิ่งนัก นิคม ได้ให้คำงายตัวเอกของเรื่องเรียนรู้และพบคำถามได้โดยการ “ประสบ” กับคำตอบอันเป็นรูปธรรมหลายๆ ครั้ง จนสามารถโยงเข้าสู่ปริศนาในใจได้

คำงาย...เริ่มแกะช้างใหญ่เท่าตัวจริง เขาเริ่มตั้งคำถามว่า “เราเคยเดินทางไกล ได้พบเห็นอะไรหลายอย่าง แต่ตัวเราเองเป็นของใกล้ที่สุด เรากลับไม่เคยเห็นมันเลย” จนเมื่อคำงายแกะช้างได้เป็นตัวเป็นตนแล้ว แต่เขายังหาความเป็นช้างไม่ได้

จนวันหนึ่ง เมื่อเขาอยู่บนหลังพลายสุด ยามที่พลายสุดตกมัน เมื่อเขากุมสติได้ เขาพบว่าสิ่งนี้เองที่เราอยากรู้ เขาคิดขณะความอุ่นและอ่อนละมุนจากตัวช้างแล่นซ่านใต้ร่างเขา มันมีอารมณ์มีเลือดเนื้อ มีชีวิตและวิญญาณ เขาสัมผัสได้ถึงความมุทะลุรุนแรงที่กำลังทะยานไปข้างหน้า รู้สึกถึงความหวาดกลัวและหวั่นไหวชั่วขณะของมัน ความเศร้า ความเจ็บปวด และความตกใจ ขณะดิ้นรนและวิ่งพล่านฟัดเหวี่ยงอยู่กับแอ่งที่หาทางออกไม่ได้

สิ่งที่คำงายค้นพบนี้ ไม่ใช่เพียงแต่ชีวิตและเลือดเนื้อของช้างตัวหนึ่งเท่านั้น แต่คือชีวิตและเลือดเนื้อของมนุษยชาติที่ขาดหายไปในโลกปัจจุบัน โลกที่ผู้คนชื่นชมกับชีวิตที่เป็น “ซาก” มากกว่าชีวิตที่เป็น “จริง”

ดังนั้น คำงายจึงหันกลับมาพิจารณาช้างไม้ของเขาอีกครั้งหนึ่ง และฉงนฉงายนักว่า “คนเรานี่แปลกจริงๆ ไม้ใหญ่มันก็ใหญ่ของมันอยู่แล้ว ใครไม่ได้ทำให้รูปช้างใหญ่ แต่ท่อนไม้มันใหญ่ของมันเอง ตัวมันจริงๆ คือต้นไม้ใหญ่ แต่คนกลับไม่เห็นความสวยและมีค่าของมันตอนมีร่มเงามีชีวิต กลับโค่นมัน ลิดกิ่งใบให้เป็นซากไม้ แล้วเอามาแกะให้เหมือนซากช้างชื่นชมมัน มากกว่าได้เห็นช้างหรือต้นไม้ที่มีชีวิตจริงๆ เสียอีก ทำไปทำมาจะไม่มีของจริงเลยสักอย่าง ไม่ว่าช้างหรือไม้”

เรื่องของทามาก็อต จิ คำงายและพลายสุด เป็นตัวอย่างอันดีให้ข้าพเจ้าได้เข้าใจชัดเจนแจ่มแจ้งขึ้นในเรื่อง ของจริง ของปลอม

บทสนทนาตอนหนึ่ง ที่หลวงพ่อดู่ท่านพูดคุยกับข้าพเจ้าและเพื่อนครั้งที่ได้กราบนมัสการและถวายดอกบัวแก่ท่าน ก่อนที่จะถวายดอกบัว เพื่อนของข้าพเจ้าได้นำดอกบัวมาพับกลีบบัวให้ดูเหมือนเป็นดอกกุหลาบ อีกกลุ่มก็เอาดอกบัวมาพับกลีบเข้าไปทีละชั้นจนเห็นเกสรดอกบัวที่อยู่ด้านใน

หลวงพ่อท่านนั่งมองดูอยู่ ในที่สุดท่านได้ฝากข้อคิดการไปทำบุญครั้งนั้นให้ข้าพเจ้าว่า


“ดอกบัวที่พับกับดอกบัวที่ไม่ได้พับ อย่างไหนอยู่ได้นานกว่ากัน”
“อย่างที่ไม่พับครับ” ข้าพเจ้าตอบ


“เอ้อ! ก็เรามันอยากนี่นา อยากให้เป็นอย่างนั้น อยากให้เป็นอย่างนี้ ข้าฝากแกไปคิดดู”

พับกันไป พับกันมา...ในที่สุดของจริงก็อยู่ได้ทนนานตามธรรมชาติกว่าของที่ถูกพับ และดูจริงๆ แล้วดอกบัวที่ถูกพับเป็นดอกกุหลาบนั้น จะดูเป็นดอกบัวก็ไม่ใช่ จะเป็นดอกกุหลาบก็ไม่เชิง

เอาความเป็นดอกบัว...ถวายท่านดีกว่า
ข้าพเจ้าตอบกับตัวเอง


Rank: 8Rank: 8

5.1.jpg


ตอนที่ ๗๗

หลวงปู่ทวดช่วยชีวิต



ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ เป็นคำสอนของพระพุทธองค์ที่ใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย ความทุกข์ของคนเรานั้นมีมากมายหลายเรื่องหลายอย่าง การเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังที่เพียรพยายามรักษาอย่างไรก็ไม่ยอมหายสักที นี่ก็เป็นความทุกข์ที่ทรมานจิตใจมากเรื่องหนึ่งของมนุษย์เรา

บทความที่ท่านจะได้อ่านต่อไปนี้ เป็นเรื่องของคุณรัตนาภรณ์ อินทรกำแหง ซึ่งเขียนโดย เบญจะ ชินปัญชนะ จากหนังสือขวัญเรือน ได้เล่าไว้ดังนี้

คุณรัตนาภรณ์ อินทรกำแหง เป็นศิลปินดาราที่เด่นดังในอดีตและยังมีผลงานอยู่ทุกวันนี้ ชีวิตจริงของศิลปินท่านนี้ได้ผ่านอุปสรรคมาแล้วอย่างมากมาย ตื่นเต้นเร้าใจยิ่งกว่าภาพยนตร์ที่เธอแสดง และเมื่อถึงบทเศร้าแล้ว เศร้าสลดจนต้องฆ่าตัวตาย


เมื่อหลายปีก่อนคุณรัตนาภรณ์ ได้เกิดล้มป่วยเป็นอัมพาต ลุกเดินไม่ได้ ได้ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลมีชื่อแห่งหนึ่ง หมดเงินไปร่วม ๒ แสนบาท แต่ไม่หาย และไม่ดีขึ้นเลย พอรู้ข่าวว่าที่ไหนมีหมอเก่ง จะรีบให้คนพาไป รักษาแล้วก็เหมือนเดิม รักษาไปจนทรัพย์สินเงินทองเกือบหมด โรคร้ายที่ทรมาน เพราะลุกเดินไม่ได้ก็ยังทรมานใจอยู่ เป็นเช่นนี้อยู่นานถึง ๗ เดือน

ฆ่าตัวตายดีกว่า คนเราเมื่อหมดหนทางไม่มีทางออกก็ต้องคิดสั้น คนที่ต้องอยู่ในสภาพที่ช่วยตัวเองไม่ได้เป็นระยะเวลานานๆ ต้องอยู่แต่ในห้องที่แคบๆ จะทำอะไรต้องอาศัยผู้อื่น มันน่าเบื่อหน่ายคับแค้นใจยิ่งนัก ตายซะจะดีกว่า ชาติที่แล้วคงทำกรรมไว้มาก ขอยอมชดใช้กรรมแต่เพียงเท่านี้

นั่นเป็นคำพูดของคุณรัตนาภรณ์ที่น้อยอกน้อยใจในชะตากรรมของตนเอง ก่อนที่จะตัดสินใจไปตาย เมื่อตัดสินใจแล้ว จึงเดินทางท่องเที่ยวแบบสั่งลา อยากไปที่ไหนก็ไป ชอบใจที่ไหนก็อยู่นานหน่อย เมื่อไปถึงภูเก็ตเกิดความเบื่อ จึงหลบไปชายหาดที่ไม่มีคน สั่งบุตรบุญธรรม (เพราะคุณรัตนาภรณ์หรือคุณแดงไม่มีบุตร) ให้ไปซื้อข้าวปลาอาหารทานกันที่ชายหาด

เมื่อไม่มีใครอยู่แล้ว คุณแดงจึงได้ตั้งจิตอธิษฐานต่อคุณพระรัตนตรัย โดยเฉพาะหลวงพ่อทวดที่เคารพนับถือมาก เพราะเคยได้ประจักษ์ในด้านอิทธิฤทธิ์อภินิหารจากการรอดตายมาแล้ว (ถึงกับได้ชักชวนคุณสมบัติ เมทะนี ดารายอดนิยมในอดีต ช่วยกันสร้างพระเครื่องบูชาหลวงพ่อทวด ถวายให้วัดช้างให้รุ่นหนึ่ง) ช่วงนั้นคุณแดงได้ตั้งจิตอธิษฐานต่อองค์หลวงพ่อทวดไว้ว่า

“ขณะนี้ลูกได้ถูกโรคร้ายเบียดเบียน ทนทุกข์ทรมานเป็นเวลานานแล้ว วันนี้ได้ตัดสินใจขอลาตาย บุญใดที่ลูกได้ทำมาแล้ว ในอดีตชาติก็ดี และในชาตินี้ก็ดี ลูกขออุทิศบุญนั้นให้กับเจ้ากรรมนายเวรที่ได้ล่วงเกินกันมา จะด้วยเจตนาก็ดี ไม่เจตนาก็ดี


ขอให้หลวงพ่อทวด ช่วยเป็นสื่อไปบอกให้เจ้ากรรมนายเวรต่างๆ มารับไปและอโหสิกรรมให้ลูกด้วย และถ้าเมื่อลูกได้หมดกรรมจริงแล้ว ขอให้หลวงพ่อทวดได้เมตตาสงเคราะห์ให้หายจากโรคภัยในวันนี้ด้วย ถ้ายังไม่หาย ลูกขอลาตายในบัดนี้”

เมื่อจบคำอธิษฐานแล้ว คุณแดงก็ลงมือคลานกลิ้งตัวลงทะเลไป เมื่อเจอคลื่นซัดมา ก็กลิ้งกลับไป แต่ก็ยังกระเสือกกระสนคลานต่อไป แล้วก็ถูกคลื่นซัดเข้าฝั่งอีก ต่อสู้กับคลื่นเพื่อที่จะไปให้ลึกพอที่จะจมน้ำแล้วหายใจไม่ออก เป็นเช่นนี้อยู่ครึ่งชั่วโมง จนบุตรบุญธรรมกับคนใช้มาพบเห็น ช่วยพยุงตัวขึ้นฝั่ง ขณะเหนื่อยจนไม่ได้สติ มาตกใจรู้ตัวเพราะเสียงตะโกนลั่นว่า “แม่หายแล้ว! แม่หายแล้ว!”

ปาฏิหาริย์เกิดขึ้นแล้ว เพราะคุณแดงยืนได้แล้ว เดินได้ด้วย หายจากโรคร้ายแล้ว จากคุณพระรัตนตรัยและหลวงพ่อทวดที่ประทานให้ เนรมิตให้โดยใช้เวลาสั้นๆ จากการที่ต้องทรมานอยู่นานถึง ๗ เดือน

นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ข้าพเจ้าขอฝากท่านผู้อ่านไว้เป็นเครื่องเจริญศรัทธา


Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๗๖

รางวัลทุนภูมิพล



เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗ ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีเหตุการณ์หนึ่งซึ่งหลวงปู่ทวดได้เมตตาให้ความช่วยเหลือจนข้าพเจ้าไม่มีวันที่จะลืมไปได้ คือ

วันหนึ่งข้าพเจ้าได้ทราบข่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยจะมีการจัดประกวดการเขียนเรียงความในหัวข้อเรื่อง “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดชกับพุทธศาสนาในสังคมไทย”

ข้าพเจ้าเกิดความสนใจที่จะเขียนเรียงความดังกล่าวขึ้นมาทันที แต่ก็ไม่แน่ใจตนเองว่าจะมีความสามารถเขียนได้ดีสักเพียงใด เมื่อข้าพเจ้าตัดสินใจแน่นอนแล้วว่าจะเขียน จึงได้มากราบพระที่ห้องพระของชุมนุมศึกษาพุทธศาสตร์ฯ ของมหาวิทยาลัย ข้าพเจ้ากราบพระนึกถึงพระคุณครูบาอาจารย์และอาราธนาหลวงปู่ทวดและหลวงพ่อดู่ เพื่อขอความช่วยเหลือจากท่านให้งานเขียนชิ้นนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังนึกอธิษฐานอยู่ในห้องพระเพียงลำพังนี้ ก็บังเกิดนิมิตเป็นหลวงปู่ทวด ท่านเดินออกมาจากโต๊ะหมู่บูชามาหาข้าพเจ้า ข้าพเจ้าแลเห็นภาพตัวเองนั่งคุกเข่า หมอบตัวลง และหงายฝ่ามือทั้งสองยื่นไปข้างหน้าเบื้องหน้าข้าพเจ้า และเห็นเป็นภาพหลวงปู่ทวดยืนสวดมนต์ให้พร พร้อมกับเป่าลงที่มือสองข้างของข้าพเจ้า ในนิมิตนั้นข้าพเจ้าเห็นเป็นอักขระโบราณอยู่เต็มสองฝ่ามือ ข้าพเจ้าจึงกราบเรียนถามหลวงปู่ทวดว่า “อะไรหรือขอรับ? ”

ท่านตอบสั้นๆ ว่า “ความรู้” จากนั้นท่านก็หันหลังเดินกลับหายลับเข้าไปในโต๊ะหมู่บูชา

ข้าพเจ้าปลื้มปีติมากและเกิดเป็นกำลังใจอย่างยิ่งในการเขียนหนังสือครั้งนั้น และได้ใช้เวลากว่าสามเดือน จึงเขียนเรียงความแล้วเสร็จ ขณะที่เขียนหากติดขัดอะไร เมื่อนึกถึงหลวงปู่ทวดจะเหมือนท่านช่วยดลใจให้สามารถเขียนต่อได้ จะค้นคว้าหรือหาข้อมูลอ้างอิงใดๆ ก็ไม่ติดขัดเลย เป็นเรียงความเรื่องยาวขนาดมากกว่า ๓๐ หน้ากระดาษพิมพ์ดีด ซึ่งนับเป็นงานเขียนที่ยาวที่สุดในชีวิตของข้าพเจ้าเลยทีเดียว

เมื่อทางมหาวิทยาลัยประกาศผลการประกวดเรียงความ งานเขียนของข้าพเจ้าเป็นงานชิ้นเดียวในปีนั้นที่ได้รับพระราชทานรางวัลทุนภูมิพล โดยได้เข้ารับพระราชทานรางวัลเป็นทุนการศึกษาจากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันพระราชทานปริญญาบัตร

จากคนที่ไม่เคยเขียนหนังสือ จากคนที่ไม่เคยสนใจงานด้านขีดๆ เขียนๆ มาก่อน จนมาได้รับพระราชทานรางวัล...ทุนภูมิพล ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าข้าพเจ้าจะยินดีและดีใจเพียงใด

ข้าพเจ้าขอกราบแทบเบื้องพระบาทของหลวงปู่ทวดและหลวงพ่อดู่ ขอนมัสการด้วยความเคารพ...ด้วยเศียร...และเกล้า...ที่ทำฝันของข้าพเจ้าให้เป็นจริง


Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๗๕

ถึงวัดหรือยัง



ธรรมะเป็นสิ่งที่มีอยู่รอบๆ ตัวเราทุกๆ คน เพียงแต่ว่าเราจะสามารถมองเห็นและนำมาพิจารณาได้แค่ไหนอย่างไร

ในสมัยพุทธกาล ท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์ แพทย์ประจำองค์พระพุทธเจ้าของเรา สมัยที่ศึกษาอยู่กับอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ก่อนจะสำเร็จวิชาการแพทย์ ท่านให้ถือเสียมไปเที่ยวหาดูว่า สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ใช้เป็นยาไม่ได้ ให้นำมาให้ โดยให้ไปเที่ยวหา ๔ วัน วันละทิศ ทิศละ ๑ โยชน์ รอบเมืองตักศิลา


ท่านหมอชีวกรับคำสั่งอาจารย์ แล้วถือเสียมไปเที่ยวหาตามคำสั่งของอาจารย์ ก็ไม่ได้พบเห็นสิ่งใดที่ไม่ใช่ยาเลย เมื่อกลับมาแล้วเข้าพบอาจารย์ แจ้งความนั้นให้ทราบ อาจารย์จึงกล่าวว่า เธอเรียนวิชาแพทย์สำเร็จแล้ว ความรู้เท่านี้พอเพียงที่เธอจะใช้เป็นอาชีพได้แล้ว

ต้นไม้ทุกชนิด หิน ดิน แร่ต่างๆ มีคุณค่า สามารถนำมาเทียบเป็นยาได้ฉันใด บุคคลผู้มีความฉลาดก็ฉันนั้น รอบๆ ตัวเรา ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าคน สัตว์ สิ่งของ เรื่องราวเหตุการณ์ใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้น และผ่านเข้ามาในชีวิตประจำวันของเรา ไม่มีเรื่องใดที่ไม่สามารถนำมาพิจารณาให้เป็นธรรมะของเราได้เลย พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เรามีความเข้าใจในโลกธรรมทั้ง ๘ อย่าง ได้แก่

ได้ลาภ   เสื่อมลาภ
ได้ยศ     เสื่อมยศ
ได้รับความสุข   ประสบกับความทุกข์
มีคนสรรเสริญ   และมีคนนินทา


ถ้าใจเปรียบเหมือนน้ำนิ่ง เมื่อใจเรากระทบกับโลกธรรม ๘ อย่างนี้แล้วกระเพื่อมไหวไปตามอารมณ์ ก็เป็นโลก แต่ถ้าพิจารณาอย่างมีสติจนเท่าทันโลกธรรม ๘ อย่างแล้ว ไม่ซัดส่ายไปตามอารมณ์ทั้งหมดนี้ ใจก็เป็นธรรมอยู่โดยตลอด

ธรรมะแท้อยู่ที่ใจ มิใช่
อยู่ที่วัด พระสงฆ์ หรือคัมภีร์ใบลาน ที่ล้วนเป็นศาสนสถาน ศาสนบุคคล หรือศาสนวัตถุเท่านั้น หากเราเข้าใจได้อย่างนี้ ศาสนธรรมอันเป็นสิ่งสำคัญที่สุดจะเกิดขึ้นที่ตัวเรา เมื่อนั้นเราก็จะเข้าใจคำว่า พระที่คล้องใจ มิใช่ พระที่คล้องคอ

หลวงพ่อดู่ ท่านสรุปเรื่องนี้ให้ข้าพเจ้าฟังว่า


“ถึงแกมาวัด แต่ใจยังมีโกรธ โลภ หลง ไปตาม ๘ อย่างที่ว่านี้ แกยังมาไม่ถึงวัด แต่ถ้าแกอยู่บ้านหรือที่ไหนๆ แต่ไม่โกรธ ไม่โลภ ไม่หลง ไม่มี ๘ อย่างนี้มากวนใจ ข้าว่าแกมาถึงวัดแล้ว”


Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๗๔

ของโกหก



มีพระพุทธพจน์ว่า


“บุคคลใด เห็นสิ่งอันไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระ และเห็นสิ่งอันเป็นสาระว่าไม่เป็นสาระ บุคคลนั้นมีความดำริผิดประจำใจ ย่อมไม่อาจพบสาระได้

ส่วนบุคคลใด เห็นสิ่งอันเป็นสาระว่าเป็นสาระ สิ่งอันไม่เป็นสาระว่าไม่เป็นสาระ บุคคลนั้นมีความดำริถูกประจำใจ ย่อมสามารถพบสิ่งอันเป็นสาระ”

เรื่องราวเหตุการณ์ บุคคล สัตว์ สิ่งของต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเรานั้น สรรพสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลง ไม่คงที่ และไม่สามารถคงอยู่ตลอดไป หากเราสังเกตฝึกหัดพิจารณาหาเหตุหาผล จนใจคุ้นเคยกับความเห็นตามความจริง เราจะเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทั้งบุคคลและสิ่งของทุกอย่างรอบตัวเราได้ไม่ยากนัก

เราจะเห็นความเป็น พยับแดด...ภาพลวงตา
เหมือนจะจริง...แต่ก็ไม่จริง
เหมือนจะแน่นอนอยู่แล้ว...แต่ที่สุดก็ไม่แน่นอน
เหมือนจะคงที่ถาวร...แต่ที่สุดท้ายก็เสื่อมสลายไป


หลวงพ่อดู่ท่านให้ข้อคิดในเรื่องนี้กับข้าพเจ้าไว้ว่า
“แกไปพิจารณาดูเถอะ ของโกหกทั้งนั้น”


หลวงพ่อมองสิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้เป็นเสมือนของโกหกทั้งนั้น
แล้วเราล่ะ เห็นว่าเป็นอย่างไร


Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๗๓

ตัวประมาท



หลังจากที่หลวงพ่อได้บอกข้อสอบให้ข้าพเจ้าทราบครั้งแรกแล้ว ท่านก็ได้ช่วยข้าพเจ้าทำข้อสอบอีกเป็นครั้งที่ ๒ ที่ท่านช่วยเหลือข้าพเจ้าคราวนี้เป็นวิชา พบ.๒๓๘ วิชาการบริหารงานผลิต ซึ่งมีอาจารย์ผู้สอนหลายท่าน ข้อสอบมีหลายลักษณะทั้งบรรยาย เติมคำ ให้กากบาทหน้าข้อที่ถูกต้องที่สุด ฯลฯ

หลวงพ่อดู่ท่านเคยสอนวิธีทำข้อสอบแบบปรนัย (กากบาทหน้าข้อที่ถูกต้องที่สุด) ให้ข้าพเจ้าว่า เวลาที่เราไม่แน่ใจ แทนที่เราจะเดาสุ่มหรือที่เรียกว่ากาส่งเดช เราจะไม่ทำอย่างนั้น หลวงพ่อท่านสอนให้ข้าพเจ้าหลับตาและนึกถึงหลวงพ่อทวด (หลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด) แล้วกราบเรียนถามท่าน

ขณะที่อยู่ในห้องสอบ เมื่อข้าพเจ้าทำข้อสอบเสร็จแต่เวลายังไม่หมด และยังมีข้อสอบประเภทกากบาทเหลืออีกประมาณ ๑๐ ข้อ ที่ข้าพเจ้าไม่แน่ใจ ข้าพเจ้าไม่รอช้า นึกถึงที่หลวงพ่อสอนทันที ค่อยๆ พิจารณาทีละข้อ หากข้อใดถูกต้อง เมื่อข้าพเจ้าเอาปากกาจิ้มไปที่ตัวเลือกจะเกิดเป็นแสงสว่างขึ้นทันที แต่ถ้าไม่ถูกต้องก็จะมืดและไม่มีแสงสว่าง ข้าพเจ้าทำข้อสอบส่วนที่เหลือด้วยวิธีนี้จนเสร็จเรียบร้อย

หลังจากประกาศผลสอบออกมา ข้าพเจ้าได้เกรด A เช่นเคย เดือนต่อมา ข้าพเจ้าได้มีโอกาสนำเรื่องนี้ไปเรียนถวายให้หลวงพ่อทราบ ในครั้งนั้นมีเพื่อนของข้าพเจ้าซึ่งเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่ง มากราบหลวงพ่อด้วยเช่นกัน เพื่อนข้าพเจ้าคนนี้ได้ฟังเรื่องที่ข้าพเจ้าเล่าถวายหลวงพ่อ เขาจึงได้กราบเรียนหลวงพ่อว่า

ผมได้ทำข้อสอบกากบาทแบบนี้เหมือนกัน ข้อสอบมี ๑๐๐ ข้อ พอเข้าห้องสอบผมก็หลับตานึกถึงหลวงพ่อ ขอให้ช่วยทำข้อสอบด้วย จากนั้นก็ทำข้อสอบโดยใช้วิธีหลับตาเช็คทีละข้อจนครบ ๑๐๐ ข้อ ผลสอบออกมาปรากฏว่าได้ F คือสอบตก ทำไมเป็นอย่างนี้ครับหลวงพ่อ เพื่อนข้าพเจ้าถามหลวงพ่อ

หลวงพ่อมองหน้าเพื่อนข้าพเจ้าและเมตตาอบรมเตือนสติทั้งเพื่อนและข้าพเจ้าว่า


“แกพิจารณาให้ดี นั่นแหละตัวประมาท จำไว้ตัวประมาทนี่แหละตัวตาย”


ตรงกับพุทธพจน์ที่ว่า ความประมาทเป็นหนทางไปสู่ความตาย นั่นเอง


Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๗๒

หลวงพ่อบอกข้อสอบ



ราวปี พ.ศ.๒๕๒๗–๒๕๒๘ สมัยที่ข้าพเจ้ายังเป็นนักศึกษาอยู่ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลวงพ่อดู่ท่านเคยบอกข้อสอบให้ข้าพเจ้าทราบล่วงหน้าและช่วยเหลือข้าพเจ้าในการทำข้อสอบ เท่าที่ข้าพเจ้าจำความได้ถึง ๕ วิชาด้วยกัน

ข้าพเจ้าจะขอเล่าเฉพาะวันที่หลวงพ่อบอกข้อสอบวิชาที่อาจารย์ฉายศิลป์ เชี่ยวชาญพิพัฒน์ เป็นผู้สอน คือวิชาแรงงานสัมพันธ์ คืนวันนั้น เวลาประมาณ ๓ ทุ่ม ก่อนวันสอบ ๑ วัน ข้าพเจ้านั่งอ่านตำราและทบทวนความรู้ที่อาจารย์ได้สอนมาตลอดเทอม


ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังมีสมาธิกับตำราที่อยู่เบื้องหน้า ข้าพเจ้ารู้สึกเย็นวาบขึ้นที่ใจพร้อมกับมีเสียงบอกข้าพเจ้าว่า พระธาตุหลวงปู่ทวดเสด็จ ข้าพเจ้าหันหลังกลับไปมองที่โต๊ะหมู่บูชาในห้องทันทีและเกิดความสงสัยว่า พระธาตุเสด็จมา แล้วท่านอยู่ที่ไหนล่ะ...อยู่ที่กระถางธูป เสียงตอบข้าพเจ้า

ข้าพเจ้าหยุดอ่านหนังสือ เดินตรงมายังโต๊ะหมู่บูชา สายตาหยุดอยู่ที่กระถางธูปใบน้อย...แล้วข้าพเจ้าจะทราบได้อย่างไรล่ะว่าอันไหนเป็นเม็ดกรวด เม็ดทราย อันไหนเป็นพระธาตุ แต่แล้วข้าพเจ้าก็มองเห็นองค์พระธาตุสีน้ำตาลเกือบดำ มีสัณฐานค่อนข้างกลม ขนาดเล็กมากเหมือนไข่ปลา ข้าพเจ้าจึงแยกออกมาจากกระถางธูป เพื่อนำมาบูชา

จากนั้นข้าพเจ้าได้มานั่งอ่านหนังสือต่อ สักครู่ก็มีความรู้สึกเหมือนมีคนบอกให้ข้าพเจ้าเขียนจดหมายวิจารณ์การสอนของท่านอาจารย์ฉายศิลป์ ข้าพเจ้าก็เลยนึกสนุกขึ้นมา นั่งเขียนจดหมายอย่างเอาจริงเอาจังแทนที่จะนั่งอ่านหนังสือ เขียนเสร็จก็พับใส่ซอง ตั้งใจไว้ว่าวันรุ่งขึ้นเมื่อสอบเสร็จ จะนำไปมอบให้อาจารย์ที่ห้องพักของท่าน

วันรุ่งขึ้นเป็นวันสอบ เมื่อข้าพเจ้าได้เห็นข้อสอบซึ่งเป็นข้อสอบบรรยายเสียส่วนใหญ่ ข้าพเจ้าก็ต้องแปลกใจที่หนึ่งในข้อสอบบรรยายข้อใหญ่นั้น ให้วิจารณ์การเรียนการสอนของท่านอาจารย์ฉายศิลป์ ในตอนแรกข้าพเจ้าก็ไม่ค่อยจะแน่ใจตนเองเท่าใดนักว่าเราคิดเอาเองหรือเปล่า เป็นเรื่องบังเอิญหรือไม่ เรื่องพระธาตุเสด็จ หลวงพ่อบอกข้อสอบ ข้าพเจ้าเชื่อว่า หากเป็นท่านผู้อ่านก็คงไม่แน่ใจตนเองเหมือนกัน แต่ในที่สุดก็มีเรื่องที่ยืนยันให้ข้าพเจ้าแน่ใจว่าเป็นเรื่องจริง เพราะเหตุการณ์เกิดซ้ำรอยเดิม

หากเป็นเรื่องบังเอิญ คงไม่สามารถเกิดเรื่องทำนองเดียวกันได้หลายครั้ง หลวงพ่อบอกข้อสอบข้าพเจ้าอีกเป็นครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ และครั้งที่ ๔ ต่างกรรมต่างวาระกัน จนผลการสอบของข้าพเจ้าออกมาได้เกรด A หลายวิชา

ข้าพเจ้าได้พิจารณาดูแล้ว คิดว่าเรื่องนี้หลวงพ่อต้องการสอนอะไรบางอย่างให้แก่ข้าพเจ้า คงมิใช่เพียงแค่การบอกข้อสอบ และก็คงไม่ใช่เอาไว้ให้ข้าพเจ้านำมาเล่าให้หมู่คณะฟังเท่านั้น

ปริศนาธรรมจากนิมิตครั้งนี้ จะจริงหรือเท็จประการใด พระธาตุเสด็จมาจริงหรือไม่ หรือหลวงพ่อบอกข้อสอบจริงหรือไม่ สำหรับข้าพเจ้าแล้ว ถือว่าเป็นปาฏิหาริย์ที่หลวงพ่อเมตตาให้บทเรียนบทต่อมากับข้าพเจ้า เป็นบทเรียนที่นำไปสู่อนุศาสนีย์ปาฏิหาริย์ ให้ข้าพเจ้าได้มีความเข้าใจในธรรมมากขึ้น เป็นสัมมาทิฏฐิมากขึ้น...ในเวลาต่อมา



Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๗๑

เรื่องบังเอิญที่ไม่บังเอิญ



ในชีวิตของเราทุกๆ คน คงเคยได้ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ หลากรสหลากหลาย และในบรรดาเหตุการณ์หลายเรื่องที่ผ่านไปนั้น คงมีบางเรื่องที่เราเคยมีความรู้สึกว่า...ช่างบังเอิญเสียจริงๆ

คำว่า “บังเอิญ” นี้ สำหรับนักปฏิบัติภาวนาแล้ว ดูเหมือนจะขัดกับ “หลักความจริง” ตามคำสอนของพระพุทธเจ้าของเรา ดังเรื่องที่ข้าพเจ้าขอยกมาเป็นตัวอย่างนี้

ภายหลังที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ และได้แสดงธรรมโปรดฤาษีทั้ง ๕ หรือปัญจวัคคีย์ จนได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว วันหนึ่งพระอัสสชิ หนึ่งในปัญจวัคคีย์ได้เข้าไปบิณฑบาตในเมือง ยังมีปริพาชกหรือนักบวชนอกพุทธศาสนารูปหนึ่ง ชื่อ อุปติสสะ เดินมาพบพระอัสสชิเข้า ได้แลเห็นท่าทางอันสงบน่าเลื่อมใส จึงเข้าไปถามท่านว่า

“ใครเป็นศาสดาของท่าน ศาสดาของท่านสอนว่าอย่างใด”

พระอัสสชิตอบว่า

“ธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุ ถ้าต้องการดับ ต้องดับเหตุก่อน พระพุทธองค์ทรงสอนอย่างนี้”

อุปติสสะ ได้ยินคำตอบก็เกิดความประทับใจอย่างยิ่ง จนได้บรรลุธรรมเบื้องต้นในที่นั้นเองและขอเข้าบวชกับพระพุทธเจ้า ต่อมาท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์เป็นพระอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า ที่เรารู้จักกันในนาม "พระสารีบุตร" นั่นเอง

พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาที่ว่าด้วยเหตุกับผล ผลย่อมเกิดแต่เหตุเท่านั้น จะเกิดขึ้นลอยๆ ไม่ได้

หลวงพ่อเคยบอกข้าพเจ้าว่า

“ถ้าเรามีญาณที่จะรู้ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดในชีวิตเรา ไม่มีเรื่องบังเอิญเลย”

ผู้ปฏิบัติภาวนาต้องให้ความสำคัญที่เหตุ มากกว่าให้ความสำคัญที่ผล จึงขอให้ตั้งใจสร้างแต่เหตุที่ดี เพื่อผลที่ดีในวันพรุ่งนี้...และต่อๆ ไป


Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๗๐

ปาฏิหาริย์



ข้าพเจ้าขออนุญาตเขียนเรื่องนี้ เพื่อที่ท่านผู้อ่านจะได้มีความเข้าใจในวิธีการสอนของหลวงพ่อดู่มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง “ปาฏิหาริย์” ที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกันแต่เพียงความหมายของ “อิทธิปาฏิหาริย์” และเหมารวมว่าเป็นสิ่งเดียวกัน ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เท่าที่ข้าพเจ้าได้ยินได้ฟังจากเพื่อนหมู่คณะและที่ประสบด้วยตนเอง จึงเชื่อเหลือเกินว่าศิษย์หลวงพ่อหลายๆ ท่านเคยมีประสบการณ์และเห็นชัดด้วยตนเองมาแล้ว

ในพระพุทธศาสนานี้ พระพุทธเจ้าท่านสอนเรื่องปาฏิหาริย์ไว้มี ๓ อย่าง คือ


๑. อิทธิปาฏิหาริย์ คือ ปาฏิหาริย์ในเรื่องการแสดงฤทธิ์ แสดงความเป็นผู้วิเศษ ดลบันดาลสิ่งต่างๆ เหาะเหินเดินอากาศ นิรมิตกายให้เป็นหลายคนได้ มีหูทิพย์ ตาทิพย์ เป็นต้น


๒. อาเทศนาปาฏิหาริย์ คือ การทายใจ ทายความรู้สึกในใจ ทายความคิดของผู้ถูกสอนได้


๓. อนุศาสนีปาฏิหาริย์ คือ คำสอนที่แสดงความจริง ให้ผู้ฟังรู้และเข้าใจ มองเห็นความเป็นจริงของโลก ให้ผู้ฟังได้ปฏิบัติตามอย่างนี้ ละเว้นการปฏิบัติอย่างนั้น และยังสามารถนำไปประพฤติปฏิบัติตาม จนรู้เห็นได้ผลจริงด้วยตนเอง

ปาฏิหาริย์ทั้ง ๓ อย่างนี้ พระพุทธเจ้าไม่ทรงสรรเสริญ ๒ อย่างแรก คือ อิทธิปาฏิหาริย์ และอาเทศนาปาฏิหาริย์ หากแสดงเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งและไม่นำไปสู่อนุศาสนีปาฏิหาริย์ ซึ่งเป็นปาฏิหาริย์ที่พระองค์ทรงสรรเสริญมากที่สุด

ในเกวัฎฎสูตรได้เล่าถึงครั้งพุทธกาล ก็เคยมีชาวบ้านที่เมืองนาลันทา ชื่อ เกวัฏฏะ ได้กราบทูลพระพุทธเจ้า ขออนุญาตให้พระภิกษุรูปหนึ่งกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ เพื่อให้ชาวเมืองนาลันทาเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงตอบเกวัฏฏะ สรุปได้ความว่า


ทรงรังเกียจปาฏิหาริย์ประเภทฤทธิ์ เนื่องจากปาฏิหาริย์ประเภทฤทธิ์ แม้จะมีฤทธิ์มากมายแต่ก็ไม่อาจทำให้ผู้ถูกสอนรู้ความจริงในสิ่งทั้งหลาย ไม่สามารถแก้ข้อสงสัยในใจตนได้ เมื่อแสดงแล้วผู้ได้พบเห็นหรือได้ยินได้ฟังก็จะงง ดูเหมือนผู้ที่แสดงเก่งแต่ผู้ถูกสอนก็ยังมีความไม่รู้อยู่เหมือนเดิม แต่อนุศาสนีปาฏิหาริย์จะทำให้ผู้ฟังเกิดปัญญาได้รู้ความจริง ไม่ต้องมัวพึ่งพาผู้ที่แสดงปาฏิหาริย์ แต่จะสามารถพึ่งพาตนเองได้

เหตุผลอีกประการหนึ่งคือ หากชาวพุทธมัวแต่ยกย่องผู้มีอิทธิปาฏิหาริย์แล้วอาจทำให้เสียหลักศาสนาได้ เนื่องจากพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแต่ไม่มีอิทธิปาฏิหาริย์ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก จะไม่ได้รับการบำรุงจากชาวบ้าน แต่ผู้ที่ไม่มีคุณธรรมเป็นสาระแก่นสารหากแต่มีอิทธิปาฏิหาริย์ จะมีผู้คนศรัทธาให้ความเคารพนับถือแทน

อย่างไรก็ตาม พระพุทธเจ้าก็มิได้ทรงละการทำฤทธิ์และดักทายใจ ถ้าเราได้ศึกษาพุทธประวัติในบทสวดพาหุงจะพบว่า พระองค์ทรงใช้ฤทธิ์ปราบ เช่น เรื่องพระองคุลิมาล หรือทรงใช้ฤทธิ์ปราบฤทธิ์ เช่น เรื่องพญานาคชื่อนันโทปนันทะหรือพกาพรหม เมื่อปราบเสร็จก็เข้าสู่อนุศาสนีปาฏิหาริย์ คือทรงแสดงคำสอนที่ทำให้เห็นหลักความเป็นจริง ปฏิบัติตามก็พบความจริงแห่งความพ้นทุกข์

หลวงพ่อดู่ท่านก็ได้ดำเนินตามพุทธวิธีการสอนนี้เช่นกัน ข้าพเจ้าและเพื่อนหมู่คณะหลายท่านขอเป็นประจักษ์พยาน ในระยะแรกที่ข้าพเจ้าได้มาวัดสะแกและพบเหตุการณ์ต่างๆ ที่เรียกกันว่า “ปาฏิหาริย์” อันเกี่ยวเนื่องกับหลวงพ่อดู่นี้ ข้าพเจ้าแปลกใจและงุนงงกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น ต่อมาเมื่อได้ศึกษาคำสอนของครูบาอาจารย์มากขึ้น จึงเริ่มมีความเข้าใจที่ถูก และเริ่มรู้ว่าหลวงพ่อต้องการจะสอนอะไรกับเรา

การเรียนธรรมะ การฟังธรรมะของผู้เริ่มสนใจศึกษาหลายๆ ท่าน เปรียบเสมือนการกินยาขม ดังนั้นหลวงพ่อจึงได้ใช้กุศโลบายนำเอา “ปาฏิหาริย์” ทั้งสามอย่างมาใช้กับศิษย์ประกอบกัน จึงสำเร็จประโยชน์ด้วยดี

เหมือนกับท่านให้เราทานยาขมที่เคลือบด้วยขนมหวานเอาไว้ เมื่อทุกคนตระหนักและเข้าใจคุณประโยชน์ของยาขมดีแล้ว ขนมหวานนั้นก็จะหมดความหมายไป


Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๖๙

“งาน” ของหลวงพ่อ



ทุกชีวิตย่อมมีงาน เพราะงานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต บางทีเราอาจลืมไปว่า งานของชีวิตที่เราทำอยู่ดีแล้วพอแล้ว แต่ยังมีงานอื่นที่นอกเหนือจากหน้าที่การงานหรืองานประจำที่เราทำอยู่

ท่านพุทธทาสภิกขุเคยให้โอวาทตอนหนึ่งว่า


“...ให้เอางานในความของคนทั่วไปเป็นงานอดิเรก เอางานคือการปฏิบัติธรรมเป็นงานหลักของชีวิต เป็นการงานที่แท้จริงของชีวิต”

ถ้าเราเข้าใจในความหมายนี้ ชีวิตจะสดใสขึ้น ปลอดโปร่งใจขึ้น ความกังวล ความกลัดกลุ้มจะลดลง ความโลภ ความโกรธ ความหลงจะลดลง หากได้ฝึกสังเกตความคิดและความรู้สึกของตนเอง นี่เป็นงานของชีวิตอีกระดับหนึ่งที่ควรทำความเข้าใจและปฏิบัติให้ถูกต้อง


หลวงพ่อดู่มักจะใช้คำศัพท์ที่ว่าให้ไป “ทำงาน” กับลูกศิษย์ ซึ่งหมายถึง ให้ไป “ภาวนา” หรืออีกนัยหนึ่ง “งาน” ในความหมายของหลวงพ่อดู่ก็คือ “งานรื้อวัฏฏะ” นั่นเอง

ท่านเคยบอกข้าพเจ้าว่า


“ทุกอย่างที่เราทำวันนี้ เพื่อเอาไว้กินวันข้างหน้า พอตายแล้ว โลกเขาขนเอาบาปกันไป แต่เราจะขนเอาบุญเอานิพพานไป”

ในครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้ตรัสกับพระอานนท์และพระอรหันต์ทั้งหลายว่า


“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้จะไปสู่สุคติได้นั้นน้อยมาก เท่ากับโคสองเขาเท่านั้น ผู้ที่จะตกอยู่ในห้วงของอบายภูมินั้นมีเท่ากันกับขนโคทั้งตัว”

อันที่จริงมนุษย์แต่ละคนอยู่ในโลกนี้ชั่วระยะเวลาสั้นเหลือเกิน ถ้าเทียบกับอายุโลกหรือายุของจักรวาล

ถูกของหลวงพ่อเป็นที่สุด...
เวลาไม่กี่ปีบนโลกนี้ เรายังเตรียมอะไรกันตั้งมากมาย ขวนขวายหาซื้อบ้าน ซื้อที่ดิน ซื้อรถยนต์ หาเงินเก็บเงินฝากธนาคาร แสวงหาสมบัติพัสถานจิปาถะ และยังต้องแสวงหาไว้เผื่อลูกเมีย บางคนถึงรุ่นหลานก็ยังกินไม่หมดเลยทีเดียว ทุกชีวิตสิ้นสุดที่ตาย คำเดียวเสมอกันหมด เราพร้อมสำหรับวันนั้นหรือยัง


มาทำงานถวายหลวงพ่อกันเถอะ


‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2024-11-28 01:55 , Processed in 0.054849 second(s), 15 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.