แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
ดู: 4295|ตอบ: 9
go

คำสอน "ปลดกิเลส" [คัดลอกลิงค์]

Rank: 1

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย visutti เมื่อ 2012-1-25 14:50

ปลดกิเลส
ท่านพระโยคาวจรทั้งหลาย  ระหว่างนี้ท่านก็ได้พากันทำวัตรสวดมนต์  และก็พากันสมาทานพระกรรมฐานแล้ว  ต่อแต่นี้ไปก็จะได้มาคุยถึงวิธีการปฏิบัติ  แต่เมื่อเราจะมาคุยกันนี่ก็อยากจะถามว่า  ปฎิปทาที่จะเข้าถึงความเป็นพระโสดาบันมันยังเกินวิสัยของท่านหรือเปล่า
พระโสดาบันละสังโยชน์ได้ 3 อย่างคือ


1. สังกายทิฏฐิ  เห็นว่าอัตภาพร่างกายนี้ไม่ใช่เรา  ไม่ใช่ของเรา ร่างกายไม่มีในเรา  จิตใจของเรายอมรับถือกฎธรรมดา  ร่างกายเกิดมาแล้วต้องแก่ ป่วย พลัดพรากจากของรักของชอบใจ  และมีความตายไปในที่สุดและขณะที่เราทรงตัวมันก็เต็มไปด้วยความทุกข์  อาการอย่างนี้จับใจของท่านแล้วหรือยัง  ท่านยอมรับธรรมดาได้แล้วหรือยัง่าธรรมดาของเรานี้จะหนีความทุกข์ไม่พ้น  ถ้าเรามีร่างกายก็มีการกระทบกระทั่งกับอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ  มีความปราถนา  ไม่สมหวัง ต้องป่วยไข้  ไม่สบาย  ความตายจะเข้ามาถึง

เวลานี้ท่านมีคามกล้าแล้วหรือยัง  กล้าต่อความตายที่มันจะตายโดยปกติ  จะตายโดยอาการเช่นใดก็ช่างแต่ต้องตายแน่  คิดไว้แล้วหรือยัง  หรือว่าความเมาในร่างกาย  หรือเรียกว่าเราปรับปรุงร่ากายยังไงก็ตามมันไม่สวยหรอก  เพราะว่าร่างกายของเรานี้มันสกปรกทีนี้เรื่องของร่างกายผ่านไป

2. วิจิกิจฉา  เรื่องสงสัยในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าคลายความสงสัยแล้วหรือยัง  ที่พระพุทธเจ้ากล่าวว่า
ชาติปิ  ทุกขา      ความเกิดเป็นทุกข์
ชราปิ  ทุกขา      ความแก่เป็นทุกข์
มรณัมปิ  ทุกขัง  ความตายเป็นทุกข์
นี่หมายความว่าถ้าเราเกิดมาแล้วเรายึดถือว่าร่างกายมันเป็นของเรา  หรือเมื่อถึงเวลาคามแก่เข้ามาถึงเราก็หนักใจ  เพราะนี่มันแก่เสียแล้วหรือนี่  แย่สิ! เราทำอะไรมันก็ไม่ไหว  นี่เรียกว่าเรามีอุปาทานขันธ์  ยึดมั่นในร่างกายเกินไป  นี่พอเราป่วยขึ้นมาก็เกรงไปว่า  นี่ถ้าเราตายเสียแล้ว  ลูกก็ดี หลานก็ดี เหลนก็ดี  นี่มันจะทำยังไงกัน  ทรัพย์สินทั้งหลายก็มีไม่พอใช้ไม่พอกิน  อารมณ์นอกคอกอย่างนี้ยังมีอยู่สำหรับท่านอยู่หรือเปล่า


เมื่อความตายจะเข้ามาถึงจริงๆเราก็มานั่งรำพึงรำพันว่า  แหม…นี่เกิดมาน้อยเกินไป  เกิดหลายๆวันกว่านี้ก็จะดี  นี่ความเสียดายชีวิตอย่างนี้ยังมีสำหรับท่านหรือไม่  ถ้ากฎของกรรมอันใดมันเกิดขึ้นกับท่าน  คือทำให้เกิดความไม่สบายกายไม่สบายใจ  อย่างนี้จิตของท่านยอมรับนับถือกฏของกรรมหรือเปล่า  จะไปนั่งบนเจ้าบนเทวดา  บนผีสางนางไม้ที่ไหนก็ตาม  ขออย่าให้แก่  ขออย่าให้ป่วย  ขออย่าให้มีอาการขัดข้อง  ขออย่าให้จน  ขอให้อยู่อย่างเป็นปกติ  จิตของท่านอย่างนี้มีหรือเปล่า  ถ้ามันมีอยู่มันก็ยังใช้ไม่ได้
เป็นอันว่าตั้งหน้าตั้งตาจับอารมณ์พระโสดาบันกันเสียให้ได้  จะได้พ้นทุกข์  เพราะการเป็นพระโสดาบันนี่บรรเทาการเกิด  เรายังไม่ได้งดเกิด  เพราะว่าถ้าเราไม่บรรเทาเสียแล้ว  เราทีต้องเกิดนับชาติไม่ถ้วน  คือไม่มีนิมิตเครื่องหมาย  การเกิดแต่ละชาติมันเป็นทุกข์ที่พระพุทธเจ้าว่าอย่างนั้น  นี่มาคุยกันตอนเช้าๆ เพราะอารมณ์ของท่านยังดี  แต่ว่าเสียงคนพูดสิมันไม่ดีมันเป็นไข้หวัด  ช่างมันนะ  ขันธ์ 5 ไม่ใช่เรา  พอพูดกันเสียงไม่เพราะไม่เป็นไร  เอารู้เรื่องก็แล้วกัน


3. สีลัพพตปรามาส  ทีนี้การปฎิบัติเพื่อความเป็นพระโสดาบันที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งนั่นก็คือ ศีล 5 จิตใจของท่านรักษา ศีล 5 ได้เป็นปกติแล้วหรือยัง  เรื่องศีล 5 นี่มีความสำคัญมาก  เพราะว่าพระโสดาบันนี่ไม่มีอะไรมาก  แค่มีศีล 5 เข้มข้น  เคารพในพระพุทธเจ้าเห็นว่าร่างกายนี่มีการเกิด  การแก่  การเจ็บ  การตาย  เป็นของธรรมดา  เพราะยังมีกิเลสเต็มตัวแต่ว่าขังกิเลสไว้  ไม่ละเมิดศีลนั่นเอง  ยังรักยังมีผัวมีเมียได้  แต่ว่าไม่นอกใจผัว  ไม่นอกใจเมีย  ไม่ละเมิดศีล 5 ยังรวยได้แต่ก็ไม่คดโกงใคร  ยังมีความหลงอยู่ในขันธ์ 5 ยังมีอยู่

แต่ว่าไม่ยึดมั่นเกินไป  ตายก็ช่างมัน  มีอารมณ์รักพระนิพพานเป็นที่สุดอย่างนี้อารมณ์ของท่านเข้าถึงแล้วหรือยังนั่งใคร่ครวญดู  ดูกำลังใจของท่านไม่ต้องไปดูใครเขา  ในเมื่อเราเห็นคนแก่  เห็นคนป่วย  เห็นคนตาย  เห็นคนมีทุกข์ยาก  ท่านเคยคิดถึงไหมว่าการเกิดนี่มันทุกข์  อย่ามาเกิดกันเลยบอกใจไว้อย่างนี้บ้างหรือเปล่า  ถ้ายังบกพร่องอยู่ก็โปรดทราบว่าความเป็นพระโสดาบันของท่ายังไม่ปรากฎ
ทีนี้ให้หัวข้อเรื่องนี้ว่า  “เรามาเป็นพระอริยะเจ้ากันเถิด”  ความจริงการเป็นพระอริยะเจ้าไม่ใช่ของหนัก  เป็นของเบา  เพราะว่าเราปลด กิเลส  ตัณหา  อุปาทาน  ให้มันน้อยลง มันเบาลง  คือว่าถ่าเราเป็นพระโสดาบันได้ก็เบามาก  เพราะว่ายังเกิดอีก 7 ชาติ หรือ 3 ชาติ หรือว่า 1 ชาติ  นี่ก่อนที่เราจะพิจารณาเรื่องอะไรทั้งหมด  ถ้ายังปลดไม่ได้  ถ้าปลดได้ก็พิจารณาเป็นพระอนาคามีต่อไป  สำหรับพระสกิทาคามีกับพระโสดาบันระดับเดียวกัน  แต่ว่าจิตละเอียดกว่ากันเท่านั้น

รู้อารมณ์ของใจ
ทีนี้เรามานั่งนึกดูสิว่าทำไมหนอเราจึงจะเป็นพระอริยเจ้ากันได้  นี่เราก็มานั่งนึกดูอย่างนั้น  ที่เราจะเป็นพระอริยเจ้ากันได้เราก็ต้องมานั่งดูใจ  ดูอารมณ์ของใจที่พระพุทธเจ้าเรียกว่าจริตเรามาพูดถึง  โทสะจริต แล้วนะ ก่อนที่เข้าวิปัสสนาญาณน่ะจับสมถะเสียก่อน  ให้จิตมันทรงตัว  ถ้าจิตมันดิ้นรนกระสับกระส่ายเราก็คุมอารมณ์  จับลมหายใจเข้าออก  ใช้คำภาวนาก็ได้  ไม่ใช้ก็ได้  คุมอารมณ์ให้มันทรงตัวเสียก่อน  ที่เรียกกันว่าสมาธิ  พอใจสบายปัญญามันก็เกิด  มันจะได้คุมใจไม่ให้เราคิดนอกรีตนอกรอยไป

นี่สมมติว่าตอนก่อนเราพูดกันถึงโทสะจริต  ถ้าโทสะจริตจะเข้ามาข้องใจก็ระงับด้วย  พรหมวิหาร 4 หรือว่ากสิณ 4 อันนี้มีในแบบแล้วนี่  เราก็ไปเปิดดูใน “ คู่มือการปฏิบัติ ” นี่เรามาเตือนกันนะ  เวลานี้ไม่ใช่เวลาสอน  เวลานี้มาคุยกันมาเตือนกันเตือนกันนะ  เวลานี้ไม่ใช่เวลาสอน  เวลานี้มาคุยมาเตือนกันด้วยความหวังดีในฐานะที่เป็นพี่เป็นน้องกัน  ทุกคนเป็นสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ก็ถือว่าเป็นพุทธชิโนรสเป็นลูกพระพุทธเจ้าเหมือนกัน  อาตมาเองไม่ได้เคยคิดว่าจะเป็นอาจารย์ของท่าน  เคยคิดอย่างเดียวว่าเป็นพี่เป็นน้องกันเราเป็นพี่กันน้องกัน  เราก็มาคุยอย่างพี่อย่างน้อง

นี่เราก็มานั่งดูจริตอีกตัวหนึ่งอีกจุดหนึ่งก็คือโมหะจริตกับวิตกจริต
วิตกจริต  ความคิดใคร่ครวญไตร่ตรองไม่ตกลงใจ  ตัดสินใจอะไรไม่ได้  มีความสงสัยอยู่เป็นปกติ
สำหรับ  โมหะจริต  นั้นมีความหยาบอยู่มาก  ไม่ค้นคว้าหาความจริง  คิดว่านั่นของกู  นี่ก็ของกู  ร่างกายของเรามันจะต้องไม่ตาย  มันจะต้องไม่แก่  มันจะต้องไม่ป่วย  ทรัพย์สินทั้งหลายที่เป็นสิ่งที่มีชีวิตก็ตามหรือไม่มีชีวิตก็ตาม  จะต้องทรงตัวตลอดเวลา  นี่เป็นอาการของโมหะ  เห็นชาวบ้านเขาตายก็ไม่คิดว่าตัวจะตาย  เห็นชาวบ้านเขาป่วยก็ไม่คิดว่าตัวจะป่วย  เห็นชาวบ้านเขาลำบากหรืองานที่เราทำมันลำบากมันมีทุกข์  เราก็ไม่คิดว่าเาจะมีทุกข์  นี่เป็นอารมณ์ของโมหะ
ถ้าอารมณ์ฟุ้งซ่านที่ว่าเรารำคาญเสียงภายนอกบ้าง  จัดตั้งอารมณ์ไม่อยู่บ้าง  นี่เป็นอาการของโมหะและวิตก 2 ประการและก็วิตกจริตกับโมหะจริตทั้ง 2 อย่างนี้  ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแนะนำให้โปรดยับยั้งอารมณ์นี้ด้วยการเจริญ อานาปานุสสติกรรมฐาน อย่างเดียว  หรือจับลมหายใจเข้าออก  เวลาหายใจเข้ารู้อยู่ว่าหายใจเข้า  เวลาหายใจออกรู้อยู่ว่าหายใจออก  หายใจเข้ายาวหรือสั้น  หายใจออกยาวหรือสั้นก็ให้รู้อยู่ขณะใดที่จิตยังรู้ลมหายใจเข้าหายใจออกแบบนี้  นี่แหละชื่อว่าจิตมีสมาธิ  พออารมณ์สบายแล้วเราก็มาพิจารณาขันธ์ 5 กันและก็ปลดเปลื้องขันธ์ 5 ตามหลักของอริยสัจ
อริยสัจข้อต้นนี่ยังไม่จบ  ที่กล่าวว่า ชาติปิ ทุกขา  ความเกิดเป็นทุกข์  ความจริงความเกิดตัวเดียวมันไม่สำคัญ  สำคัญไอ้เพื่อนของความเกิดน่ะสิ  พอเกิดขึ้นมาแล้วมันก็ต้องการหาเพื่อน  มันก็เอาไอ้ตัวแก่เข้ามา  ตัวเปลี่ยนแปลงเข้ามา  ตัวหิว  ตัวกระหาย  ตัวร้อน  ตัวขัดข้องในอารมณ์ต่างๆ  ตัวป่วยไข้ไม่สบาย  ตัวพลัดพรากจากของรักของชอบใจ  ตัวอยากโน่นอยากนี่  และก็มีความตายไปในที่สุด  นี่เจ้าตัวเกิดมันนำมาที่ทำให้เราทุกคนต้องตกอยู่ในสภาพของความทุกข์อย่างนี้  ก็เพราะเจ้าตัวเกิดมันนำมา

เลิกเกิด
แล้ววิธีที่เราจะไม่เกิดเราจะทำยังไง  เรื่อง ชาติปิ  ทุกขา  ของดไว้ชั่วขณะหนึ่ง  เรามาพูดถึงแนวทางที่เราจะไม่เกิดกัน  เอาไม่เกิดกันเลย  ไม่ใช่ผ่อนเกิด  แต่ทว่าไอ้การที่จะไม่เกิดกันเลยทีเดียวน่ะไม่ได้  ต้องผ่อนเป็นการชำระหนี้ผ่อนกันไปก่อน  การที่เาจะสกัดกั้นการเกิดให้น้อยลงก็ดี  หรือว่าจะตัดการเกิดให้หยุดไปเข้าถึงพระนิพพานก็ดี  พระพุทธเจ้าบอกว่ามีกฎอยู่ 10 อย่าง  ที่เราเรียกกันว่าบารมี 10 บารมี นี่เขาแปลตามภาษาบาลีแปลว่าเต็ม  แต่เนื้อแท้จริงๆต้องใช้  กำลังใจให้เต็ม  ไม่ใช่เอาวัตถุมาเต็ม คือ


1. ทานบารมี  จิตใจของท่านพร้อมแล้วหรือยังที่จะให้ทานตามความสามารถ  เพราะการให้ทานนี่เป็นการทำลายโลภะ  ความโลภ
2. ศีลบารมี  ศีลของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่องหรือเปล่า  ทุกวันท่านพิจารณาศีลของท่านหรือเปล่าว่าครบถ้วนไหม
3. เนกขัมมบารมี  การถือบวช  การถือบวชในที่นี้ก็หมายถึงว่าเป็นการระงับนิวรณ์ 5 ประการ  คือ กามฉันทะ  เห็นรูปสวย  เสียงเพราะ  กลิ่นหอม  รสอร่อย  และสัมผัสที่ต้องการมั่วสุมไปด้วยกามารมณ์เป็นโทษ  มันเป็นอนิจจัง  ไม่มีการทรงตัว  รูปมันไม่สวยไม่จริงสวยนิดหนึ่ง  แล้วแก่ไปเสื่อมไปทุกวัน  เสียงผ่านหูแล้วก็หายไป  กลิ่นหอมกระทบจมูกแล้วก็หายไป  สัมผัสที่เรานึกว่าดี  ความจริงมันเป็นปัจจัยนำโทษมานี่หมายถึงว่าสัมผัสระหว่างมันนำโทษมาให้  หากต้องการสัมผัสแบบนั้นงานมาก  งานมันก็เกิดขึ้นมาก  กำลังใจก็ต้องรักษาไว้ซึ่งกันและกัน  ต้องเอาใจคนโน้น  ต้องเอาใจคนนี้หนักใจมาก
4. ปัญญาบารมี  นี่เราเห็นหรือยังว่าการเกิดเป็นทุกข์เกิดมาแล้วนี่ภาระต่างๆเต็มไปหมด  ที่พูดไปแล้วนี่มีแต่ความทุกข์ทั้งนั้น  หาความสุขไม่ได้  ถ้าเราจะสุขได้จริงๆก็ต้องวาง การเกิด  คือวางขันธ์ 5 นี่เป็นปัญญาบารมี
5. ทีนี้ วิริยบารมี  ได้แก่ความเพียร  เรามีความเพียรครบถ้วนแล้วหรือยัง  คือใช้กำลังใจเป็นสำคัญ  ไปหักห้ามความชั่วไม่ให้เข้ามายุ่งกับใจ
6. ทีนี้มา  ขันติบารมี  แปลว่าความอดทน  การกระทำความดีที่ฝืนอารมณ์เดิมต้องอดทน  เพราะใจมันคอยจะต่ำ  มันคบกิเลส  ตัณหา  อุปาทาน  คือมีความรัก  ความโลภ  ความโกรธ  ความหลง  นี่เราก็พิจารณาเห็นว่าความรักก็เป็นโทษความโกรธก็เป็นโทษ  ความหลงก็เป็นโทษ  ในเมื่อสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นโทษ  เราจะฝืนกำลังใจที่มันคบกันมานานแล้ว  เราก็ต้องใช้ความอดทน  ไม่อย่างนั้นเราก็จะทรงตัวอยู่ไม่ได้
7. ต่อไป  สัจจบารมี  ความจริงใจ  ที่เราตั้งใจจะห้ำหั่นกิเลสทั้ง 3 ประการให้มันสิ้นไป  เราจะไม่ละความพยายามทรงสัจจะเข้าไว้  จะไม่ยอมทิ้งสัจจะคือความจริงใจ  แต่ว่าการรักษาสัจจะจะต้องให้พอดีพอควร  อย่าทำเกินพอดี  การนั่งกรรมฐานเครียดเกินไป  พระพุทธเจ้าไม่ใช้  ใช้อารมณ์ย่อหย่อนเกินไปไม่ใช้  ใช้อารมณ์แค่พอดีๆเพื่อรักษาอาการของขันธ์ 5 ให้ปกติ
8. และต่อไป  อธิฐานบารมี   อธิษฐานต้องตั้งใจไว้เลยว่าการปฏิบัติแบบนี้  เราต้องการพระนิพพาน  ไม่ใช่สักแต่เพียงว่าทำเป็นแค่อุปนิสัย  ถ้าอารมณ์คิดว่าเป็นแค่อุปนิสัยมันขี้เกียจง่าย  ตั้งใจไว้เฉพาะชาตินี้ทั้งชาติอย่างเลวที่สุดเราจะเป็นพระโสดาบันให้ได้
9. และอีกอันหนึ่งคือ  เมตตาบารมี  เมตตาบารมีตัวนี้ก็เป็นตัวตัดโทสะ  ความพยาบาท  นี่เป็นกิเลสตัวสำคัญ  สำหรับปัญญาบารมีนั้นตัดโมหะ
10. อุเบกขาบารมี  ทรงอารมณ์เฉยในเมื่อกฏของกรรมที่เราทำไว้เป็นอกุศลในชาติก่อนที่เราทำมันมาให้ผล  เราก็มีอารมณ์สบาย  อะไรมันจะเกิดแก่เราบ้าง  เราก็สบายที่เราเรียกว่าสังขารุเบกขาญาณ  คือร่างกายมันจะเจ็บจะแก่เราก็สบาย เฉย  เรารู้ว่าจะแก่  ถ้าเราจะป่วยใจเราก็สบาย  เพราะรู้ว่ามันจะป่วย  รักษาตัวเหมือนกัน  หายก็หาย  ตายแหล่ช่างมัน  ของรักของชอบใจที่จะต้องพลัดพรากจากกัน  เรารู้ว่านี่เป็นธรรมดาอารมณ์ใจก็ เฉย สบาย  เพราะรู้ว่าเป็นธรรมดา  เราจะจากไปก็ห้ามมันไม่ได้  คนที่รักกันกับเราเขาประกาศเป็นศัตรูก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา  เพราะเขากับเรายังมีกิเลสกัน  ต่างคนต่างมีกิเลส  เขาจะไปมันเป็นเรื่องของเขาเราไม่ตาม  ถ้าเขาจะมาเราก็ไม่ปฏิเสธพร้อมยอมรับ  ใจสบาย  เป็นอุเบกขาบารมี  ร่างกายมันจะตายจะพังก็ช่าง  จัดเป็นอุเบกขาบารมี

รวมความว่าบารมีทั้ง 10 ประการ คือ
1. จิตพร้อมจะให้ทาน
2. จิตทรงศีลอยู่เสมอ
3. เราพร้อมที่จะระงับนิวรณ์ทั้ง 5 ประการ
4. เรามีปัญญาที่จะรู้แจ้งเห็นจริงตามกฎของธรรมดามีอารมณ์ยอมรับนับถือกฎของธรรมดาเป็นปกติ
5. เรามีความเพียรเพื่อจะทำลายกิเลสให้พินาศไป
6. เรามีขันติ  คือความอดทน  ทนต่อการฝืนอารมณ์เพราะอารมณ์มันคอยต่ำ  เราจะดึงขึ้นสูง  มันก็จะคอยลงต่ำต้องทนดึงเข้าไว้
7. สัจจะ  เมื่อตั้งใจว่าจะทำลายกิเลสแล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาทำลายกิเลสกันเรื่อยไป  ไม่ถอยหลัง
8. อธิฐานตั้งอารมณ์ไว้ตรงว่าเราจะเข้าไปหาพระนิพพานให้ได้  จะไม่ยอมถอยหลัง  จับจุดไว้จุดเดียวเท่านั้น
9. เมตตา  ประกาศตนเป็นคนมีความรักความปราถนาในการสงเคราะห์คนทั้งหมด  และสัตว์ทั้งหมด  ไม่ถือว่าใครเป็นศัตรูร้ายของเรา
10. อุเบกขา  มีความวางเฉย  วางเสียได้เมื่อกฏของกรรมจะเข้ามาสนองตน
ที่องค์สมเด็จพระทศพลทรงสอนบารมีทั้ง 10 ประการ  ก็คือกำลังใจ  ถ้ากำลังใจของท่านทั้ง 10 ประการครบถ้วนบริบูรณ์
ละก็ความเป็นพระโสดาบันก็เป็นเรื่องเล็ก  เพราะอะไรเพราะว่าเรามีเครื่องมือพร้อมแล้ว  ทีนี้เราก็มาพิจารณาบารมีทั้ง 10 ประการ  ตอนนี้เราก็ต้องหันเข้าไปดูความเกิด  เรื่องของความเกิดนี่มีความร้ายแรงอีกตัวหนึ่ง  นี่เวลาเหลือไม่ถึง 10 นาที  นี่เราก็มานั่งดูกันว่าอะไรหนอ  ความเกิดมันนำมา  สร้างความทุกข์นั่นก็คือความหิว


ที่พระพุทธเจ้ากล่าวว่า
ชิฆัจฉา  ปรมา  โรคา
“ ความหิวมันเป็นโรคอย่างยิ่ง ”
ความหิวนี่ต้องทำให้เราลำบาก  หิวนี่มันหลายหิว  หิวอาหารก็หิว  หิวเหล้าก็หิว  หิวรักก็หิว  หิวรวยก็หิว  หิวอยากจะมีความเด่น  อยากจะมีวาสนาบารมีก็หิว  หิวอยากจะฆ่าชาวบ้าน  อยากจะด่าชาวบ้านก็หิว  มันหิวไปทุกอย่าง  ความหิวประเภทนี้มันเป็นภัย  ทีนี้เรามาว่ากันถึงความหิวถึงเรื่องอาหารอย่างเดียวพอ การกินข้าวเข้าไปคำหนึ่งนั้นบรรดาท่านผู้ฟังหรือพระโยคาวจรที่รัก  อาหารที่จะตกเข้ามาถึงปากเรา  มันมีทุกข์ตลอดเวลา  พระพุทธเจ้าเคยสอนไว้อย่างนั้น  เคยรับฟังมาแบบนี้เพราะว่ามีทุกข์หนัก


คำข้าวคำเดียวนี่ทุกข์หนัก  จะพูดให้ฟังแต่โดยย่อ  เอาไปเป็นเครื่องคิดว่าไอ้ความเกิดมันไม่ดีแบบนี้แหละ  ข้าวสุกที่มันจะเข้าปากเรา  ก่อนที่มันจะเป็นข้าวสารกว่าจะทำเป็นข้าวสารได้  ถ้าทำเป็นข้าวสุกก็ต้องหาอุปกรณ์ คือ หม้อ เตา น้ำ ฟืน เอาข้าวสารมาแล้วก็หุงกิน  อาการที่ต้องหุงแบบนี้มันต้องประกอบการงาน  ต้องใช้กำลังกาย  กำลังปัญญา  กำลังความคิด  แล้วก็ต้องใช้ทรัพย์หาวัตถุนี่มันก็สร้างความลำบาก  สร้างความทุกข์  เรานั่งๆ  นอนๆ  สบายกว่า

นี่มันจะเป็นข้าวสารมาได้ก็มาจากข้าวเปลือก  ก่อนที่จะมาเป็นข้าวเปลือก  ข้าวสารมันก็ต้องสีต้องซ้อมต้องทำให้เป็นข้าวสารขึ้นมา  นี่ก็ต้องใช้ความเหน็ดเหนื่อย  บางท่านไม่ได้ซ้อมไม่ได้ดี  เราจะซื้อข้าวสารและการจะมีเงินซื้อข้าวสาร  เราก็ต้องทำงานที่มันเหนื่อย  

ไอ้เรื่องจากการกินนี่มันเหนื่อยที่สุดถึงยันวันตาย  ไม่มีจบ  เราเกิดกี่ปีกี่ชาติถ้าเรายังเกิดอยู่  เราก็ต้องเหนื่อยแบบนี้
ทีนี้คำข้าวคำเดียวพระพุทธเจ้าบอกว่าข้าวเปลือกมาจากไหน  มาจากต้นข้าวมันอยู่ในรวง  ทีนี้การที่จะไปนำมาเป็นข้าวกินได้มันก็ต้องไปเก็บไปเกี่ยว  ไปตากแดดมาเหนื่อยลำบากยากกายมาก  ทนความร้อนความหนาว  บางทีหนาวจัดๆก็ต้องแช่ในน้ำเกี่ยวข้าวกันก็มี  อาการอย่างนี้มันเป็นอาการของความทุกข์เป็นผลมาจากการเกิด  ทีนี้ข้าวก่อนที่จะเป็นรวงมันก็ต้องเป็นต้น  เราก็ต้องไปไถนาต้องไปหว่านข้าวเสียก่อน  และก็ต้องมาบำรุงข้าวให้เจริญ  อันนี้ก็ต้องอาศัยความเหน็ดเหนื่อย  ก็ไปนั่งนึกเอาเองแล้วกัน  จะไม่พูดให้ยาวนัก


ทีนี้ต่อมาพระพุทธเจ้าท่านบอกว่า  ไอ้เจ้านานี่มันจะปรากฏขึ้นได้ยังไง  ก่อนที่เราจะไถนาจะหว่านข้าวก็ต้องมีอุปกรณ์  มีวัว มีควาย  มีแอก  มีไถ  มีอุปกรณ์ต่างๆทั้งหลายเหล่านี้  เราต้องหามาได้ด้วยเงิน  กว่าจะหาเงินมาซื้ออุปกรณ์ได้เสร็จ  มันก็แสนลำบากยากเหลือเกิน  เหน็ดเหนื่อยมาก  เมื่อได้แล้วก็ต้องมาทำนาทำไร่ทำหว่าน  นี่องค์สมเด็จพระพิชิตมารทรงถอยหลังลงไปว่าพื้นที่นาที่เราจะปลูกข้าวได้นี่เดิมมันเป็นป่า  เราก็ต้องไปโค่นป่ามาทำนา   ลองคิดดูว่าตัดไม้กว่าจะขาดแต่ละต้น  ขุดตอแต่ละตอ  กว่าจะลากไม้ไปพ้นพื้นที่ที่เราจะทำนามันมีความเหน็ดเหนื่อยขนาดไหน

อันนี้ก็มาเป็นเรื่องของความทุกข์  ไอ้การเหนื่อยเป็นเรื่องของความทุกข์  ทีแรกก็ทุกข์เพราะอาหาร  ทีนี้กว่าที่อาหารจะเกิดขึ้นมาได้เราก็ต้องไปนั่งบุกป่าฝ่าดง  และก็ในเมื่อเรามีที่ทำมาหากินเสร็จ  มีอาหารกินเสร็จ  และก็อาหารประเภทไหนบ้างที่สร้างความสุขให้แก่เรา  นี่เจ้าตัวเกิดนี่มันหาความทุกข์มาให้  มานั่งดูสิว่าอาหารประเภทไหนมันสร้างความสุขให้แก่เรากินแล้วไม่แก่  กินแล้วไม่ป่วย  กินแล้วไม่จน  กินแล้วไม่มีการขัดคอขัดใจกับใคร  กินแล้วไม่ตาย  และกินแล้วมีความสุขตลอดเวลาทั้งกำลังกายกำลังใจมีไหม  มีบ้างไหม  และก็อาการประเภทไหนกินแล้วอิ่มตลอดกาลตลอดสมัยมีบ้างไหม  ถ้าอย่างนี้ท่านก็จะตอบว่าไม่มี  ถ้ามันไม่มีอย่างนี้ที่เราจะต้องกินอาหารเพราะอะไร  ทำการงานเพราะอะไร  ก็เพราะเราเกิด  ถ้าเราไม่เกิดเสียอย่างเดียว  ความทุกข์ประเภทนี้มันมีหรือเปล่า  ก็ไม่มี

ที่พระพุทธเจ้ากล่าวว่า  ชาติปิ  ทุกขา  ความเกิดเป็นทุกข์  บรรดาพระโยคาวจรทั้งหลายเห็นหรือยังว่าการเกิดอย่างเดียว  ขณะที่มันอยู่ในครรภ์มารดาก็ทุกข์มากอยู่แล้ว  พอออกมาจากครรภ์มารดานี่มันก็ยิ่งทุกข์หนัก  พวกท่านเห็นความทุกข์ของการเกิดแล้วหรือยัง  เกิดแล้วก็พาพ่วงสิ่งอื่นมาอีกตั้งเยอะแยะ  นับไม่ถ้วน  ทำงานตั้งแต่วันเกิดถึงวันตายมันก็ไม่จบ  ถ้าเราไปเกิดใหม่มันก็เป็นแบบนี้  เพราะอาศัยมีความเกิด  พระพุทธเจ้าจึงได้ค้นคว้าหาคุณธรรมที่ทำให้ไม่ต้องเกิดภพ
นี่องค์สมเด็จพระนราสภทรงค้นพบแล้ว  จึงได้มาสอนเราเหบ่าพุทธบริษัท  ว่าการที่จะไม่เกิดได้จริงๆ  ต้องมีเครื่องมือทั้ง 10 ประการ  ที่เรียกกันว่าบารมี 10 ประการ ให้เรามีกำลังใจพร้อมเสมอ  ถ้าจิตใจของท่านพร้อมเสมอเมื่อไหร่ท่านเป็นพระอริยเจ้าเมื่อนั้น  บารมี 10  บารมี 10 นี่มีความสำคัญมาก  เห็นไหมล่ะบรรดาท่านพุทธบริษัท  ว่าบารมี 10 นี่เป็นตัวบรรลุทีเดียว  ถ้าหากว่าเราพร้อมแบบเบาๆ  เราก็เป็นพระโสดาบัน  พร้อมละเอียดลงไปหน่อยหนึ่งเราก็เป็นพระสกิทาคามี  


พร้อมมากขึ้นไปกว่านั้นหน่อยหนึ่งมีกำลังใจสูง  เราก็เป็นพระอนาคามี  ถ้าพร้อมหมดบริบูรณ์เราก็เป็นพระอรหันต์
ทีนี้บารมีทั้ง 10 ประการก็ได้แก่  ศีล สมาธิ ปัญญา รวมความแล้วก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา  ของเรานั่นเอง  ศีลบริสุทธิ์เป็นปกติ  เมื่อมีปัญญาแล้วเราก็ให้ทานได้  เราก็ผูกมิตรได้  เป็นการสร้างบารมีทุกอย่างครบถ้วน  ตัวปัญญานี่มีความสำคัญ  และเราก็มีสมาธิตั้งมั่น  เพราะอะไร  เพราะว่าคนที่มีปัญญาจะไม่ยอมให้ใจสอดส่ายไปสู่ในอารมณ์ของความชั่ว  จะต้องรักษาตัวให้ดีอยู่เสมอ  หมั่นในการให้ทานในการตัดความโลภ  หมั่นในการรักษาศีลเพราะเป็นการปิดอบายภูมิ  กันไม่ให้เราลงนรก  ใช้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณากฎของธรรมดา  จิตยอมรับนับถือกฎของธรรมดา  เมื่อจิตยอมรับนับถือของกฎธรรมดาเสียอย่างเดียวเราก็เป็นพระอริยเจ้าเป็นถึงพระอรหัตผล
แต่ทว่าใจของพระโยคาวจรทุกคนยังไม่ถึงอรหัตผล  เราก็ใช้ปัญญาเข้าไปหาความจริงเพียงแค่เบาๆว่า ร่างกายนี้มันไม่ใช่ของเราจริงๆ  มันไม่ใช่ของเรา  มันจะพังรอมร่ออยู่แล้ว  มันพังลงไปทุกวัน  


ยอมรับนับถือกฎของธรรมดา
ไม่เร่าร้อนใจเมื่อร่างกายแก่
ไม่เร่าร้อนใจเมื่อป่วย
ไม่เร่าร้อนใจเมื่อต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจ
ไม่เร่าร้อยใจเมื่อความตายเข้ามาถึง
ไม่สงสัยในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
มีศีล 5 บริสุทธิ์
แล้วก็มีอารมณ์จับพระนิพพานเป็นอารมณ์
เรามีความรักอยู่ในขอบเขตของศีล  มีความรวยอยู่ในขอบเขตของศีล  เราโกรธใครได้แต่เราไม่ทำร้ายเขา  เราไม่เมาร่างกายจนเกินไป  ร่างกายเมาแต่ว่าเมาน้อย  หมายความว่าเราเมาแต่เพียงแค่ทรงตัวอยู่  ความสวยความงามแต่งกันตามความนิยมเท่านั้น  ไม่ผูกพันจนเกินไป  คิดว่าตายแล้วก็เลิกกัน
เอาล่ะท่านบรรดาพระโยคาวจรทุกท่าน  สัญญาณบอกเวลาหมด 30 นาทีผ่านมานานแล้ว  สำหรับคืนนี้ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้  ต่อแต่นี้ไปก็ขอให้ทุกท่านตั้งใจพิจารณาจิตใจของท่านตามที่กล่าวมาตลอดเวลาทุกวินาที  ไม่ช้าจิตใจของท่านก็จะเข้าถึงความเป็นอริยเจ้าสมความปราถนา

Rank: 1

ใครพิมพ์เป็นธรรมทานเนี่ย สุดยอดจริงๆ

Rank: 1

สาธุ

Rank: 1

สาธุ

Rank: 1

คนอ่านเหนื่อยกว่าฟัง คนถอดความเหนื่อยกว่าคนอ่าน คนพิมพ์ต้องวิริยะกว่าจะพิมพ์จบ โมทนาทุกดวงจิตที่มีส่วนในการเคลื่อนวงล้อแห่งธรรม ขอความเพียรส่งผลให้บรรลุธรรมตามเหตุปัจจัยครับ

Rank: 1

สาธู_/l\_

Rank: 1

ขอโมทนาในธรรมทานกับท่านเจ้าของกระทู้ด้วยค่ะ   นี่เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง ซึ่งเป็นสภาวะที่ไม่ยากเลยค่ะ  ขอให้ทุกท่านเริ่มจากมีความตั้งใจในการดำเนินชีวิตด้วยการดำรงสติทุกขณะ  ในการพยายามพึ่งตนเองให้ได้มากที่สุด  พยายามไม่เบียดเบียนผู้อื่นทั้งความคิด คำพูดและการกระทำ ให้คิดและทำด้วยสติ  อะไรที่มากระทบให้รับรู้และเรียนรู้  (ผลเกิดจากเหตุถ้าเรารู้จักในการพิจารณา)  ฝึกทำให้ชิน ทีละเรื่องๆ  พอชินแล้ว  มันอยู่ในวิสัย การตั้งมั่นในศีลห้าให้ได้ทีละข้อย่อมไม่ยาก     เมื่อตั้งมั่นในศีลห้าได้อย่างมั่นคงเป็นปกติ  สภาวะต่างๆ จะตามมาไม่ยากค่ะ  เอาใจช่วยให้ลองทำกันนะคะ สู้ สู้ ค่ะ

Rank: 1

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทนามิ

Rank: 1

สาธุ

Rank: 1

สาธุ เป็นคำสอนที่ดีมากมีคุณภาพมาก






สูตรบาคาร่า
‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2024-12-1 00:18 , Processed in 0.105132 second(s), 14 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.