แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
ดู: 9597|ตอบ: 0
go

ประวัติพระมหากัสสปเถระ [คัดลอกลิงค์]

Rank: 1

ประวัติพระมหากัสสปเถระ
เอตทัคคะผู้เป็นยอดของภิกษุทั้งหลายผู้ถือธุดงค์


สมัยของพระปทุมุตตระพุทธเจ้า
กระทำมหาทานพระปทุมุตตระพุทธเจ้ากับภิกษุหกล้านแปดแสนองค์
ได้ยินว่า ในอดีตกาล ปลายแสนกัป ในสมัยของพระพุทธเจ้าพระนาม พระปทุมุตตระ เมื่อพระองค์เสด็จเข้าไปอาศัยกรุงหงสวดี ประทับอยู่ในเขมมฤคทายวัน มีเศรษฐีผู้หนึ่งชื่อว่า เวเทหะ มีทรัพย์สมบัติ ๘๐ โกฎิ เมื่อรับประทานอาหารเช้าแล้วก็สมาทานอุโบสถศีล ถือของหอมและดอกไม้เป็นต้นไปพระวิหาร เพื่อบูชาองค์พระศาสดา ครั้นถึงแล้วจึงไหว้แล้วนั่งอยู่ในพระวิหารนั้น ขณะนั้นพระปทุมุตตระพุทธเจ้าได้กระทำการสถาปนาสาวกองค์ที่ ๓ นามว่า มหานิสภเถระ ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะผู้เป็นยอดของภิกษุผู้สอนธุดงค์ เวเทหะอุบาสกได้ฟังพระดำรัสนั้นแล้วก็บังเกิดความเลื่อมใส จนเมื่อเวลาจบพระธรรมกถาแล้ว หมู่พุทธบริษัทอื่นก็ได้ออกไปจากพระวิหารแล้ว เวเทหะอุบาสกจึงถวายบังคมพระศาสดาแล้วกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์ทรงรับอาราธนาของข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้
พระศาสดาตรัสว่า อุบาสก ภิกษุสงฆ์มากนะ
อุบาสกทูลถามว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ภิกษุสงฆ์ทั้งสิ้นมีประมาณเท่าไร พระพุทธเจ้าข้า?
พระศาสดาตรัสว่า มีประมาณหกล้านแปดแสนองค์
อุบาสกกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขออาราธนาพระภิกษุสงฆ์ทั้งหมด แม้แต่สามเณรรูปเดียวก็อย่าเหลือไว้ในวิหาร
พระศาสดาทรงรับนิมนต์ด้วยดุษณีภาพ เวเทหะอุบาสกรู้ว่าพระศาสดาทรงรับนิมนต์แล้ว จึงทูลลาแล้วกลับไปยังเรือนของตน แล้วตระเตรียมมหาทานในวันรุ่งขึ้น พร้อมกับส่งคนให้ไปกราบทูลเวลาภัตตาหารแด่พระศาสดา
ในวันรุ่งขึ้นพระศาสดาทรงถือบาตรและจีวร มีภิกษุสงฆ์ห้อมล้อมไปยังเรือนของเวเทหะอุบาสก ทรงประทับนั่งบนอาสนะที่อุบาสกจัดไว้ถวาย ทรงเสวยภัตาหาร มีข้าวต้มเป็นต้น ในระหว่างนั้น เวเทหะอุบาสกก็นั่งอยู่ที่ใกล้พระศาสดา

พบพระภิกษุผู้ถือธุดงควัตร

ระหว่างนั้น พระมหานิสภเถระ ผู้ซึ่งได้รับการสถาปนาเป็นเอตะทัคคะผู้เป็นยอดของภิกษุผู้สอนธุดงค์เมื่อวันวาน กำลังเที่ยวบิณฑบาต เดินไปยังถนนหน้าบ้านท่านเวเทหะอุบาสกนั้น อุบาสกเห็นพระเถระเดินบิณฑบาตอยู่ จึงลุกขึ้นไปไหว้พระเถระแล้วกล่าวนิมนต์ว่าว่า
ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงให้บาตร พระเถระได้ให้บาตร อุบาสกกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ขอนิมนต์เข้าไปในเรือนนี้แหละ ขณะนี้พระศาสดาก็ประทับนั่งอยู่ในเรือน
พระเถระกล่าวว่า ไม่ควรนะอุบาสก
อุบาสกรับบาตรของพระเถระใส่บิณฑบาตเต็มแล้ว ได้ นำออกไปถวาย จากนั้นได้เดินส่งพระเถระไป แล้วกลับมานั่งในที่ใกล้พระศาสดา กราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระมหานิสภเถระนี้ แม้ข้าพระองค์กล่าวว่า พระศาสดาประทับอยู่ในเรือน ท่านก็ไม่ปรารถนาจะเข้ามา พระมหานิสภเถระนั่น มีคุณยิ่งกว่าพระองค์หรือหนอ อันธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมไม่มีวรรณมัจฉริยะ (ตระหนี่คุณความดีของคนอื่น)
ลำดับนั้น พระศาสดาทรงตรัสว่า ดูก่อนอุบาสก เรานั่งคอยภัตตาหารอยู่ในเรือน แต่พระมหานิสภเถระนั้นไม่นั่งคอยภิกษาในเรือนอย่างนี้ เราอยู่ในเมือง พระมหานิสภเถระนั้นอยู่ในป่าเท่านั้น เราอยู่ในที่มุมบัง พระมหานิสภเถระนั้นอยู่กลางแจ้งเท่านั้น ดังนั้น พระมหานิสภเถระนั้นมีคุณอย่างนี้

ตั้งความปรารถนาจะเป็นเอตทัคคะ

เวเทหะอุบาสกนั้น ตามปกติก็เป็นผู้เลื่อมใสดียิ่งอยู่แล้ว เมื่อได้ฟังพระพุทธดำรัสดังนั้น จึงเป็นเสมือนไฟที่ลุกโพลงอยู่ แล้วยังถูกราดซ้ำด้วยน้ำมันฉะนั้น และคิดว่า สมบัติอื่นเราไม่ต้องการ เราเพียงปรารถนา ความเป็นยอดของภิกษุทั้งหลาย ผู้ถือธุดงค์เป็นวัตร ในสำนักของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต
เวเทหะอุบาสกนั้นจึงได้นิมนต์พระศาสดาอีก และได้ทำการถวายมหาทานอย่างนั้นต่อไปอีก ๗ วัน ในวันที่ ๗ ได้ถวายไตรจีวรแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน เมื่อถวายทานแล้วเวเทหะอุบาสกได้หมอบกราบพระบาทของพระศาสดา แล้วกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรม ของข้าพระองค์ ผู้ถวายมหาทาน ๗ วัน ข้าพระองค์มิได้ปรารถนาสมบัติของเทวดา หรือสมบัติของท้าวสักกะ มาร และพรหม แม้สักอย่างหนึ่ง ด้วยผลแห่งการถวายมหาทานนี้ จงเป็นปัจจัยให้ข้าพระองค์ได้เป็นยอดของภิกษุผู้ทรงธุดงค์ ๑๓ เช่นเดียวกับตำแหน่งของพระมหานิสภเถระ ในสำนักของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต
สมเด็จพระบรมศาสดาทรงตรวจดูว่า ที่เวเทหะอุบาสกปรารถนาตำแหน่งอันใหญ่นี้ จะสำเร็จหรือไม่ ครั้นทรงเห็นว่าความปรารถนาของอุบาสกนั้นสำเร็จ จึงทรงตรัสว่า ความปรารถนาในตำแหน่งนั้นของท่านจักสำเร็จในสมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม ที่จักอุบัติขึ้นในอนาคตอีกแสนกัปนับจากนี้ ท่านจะเป็นพระสาวกที่ ๓ ของพระโคดมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่ามหากัสสปเถระ เวเทหะอุบาสกได้ฟังพุทธพยากรณ์นั้นแล้ว ก็ปิติยินดีเป็นอย่างยิ่ง ด้วยทราบว่าพุทธพยากรณ์ของพระบรมศาสดาย่อมไม่มีเปลี่ยนเป็นอื่น ดังนั้นในระหว่างช่วงอายุที่เหลืออยู่ของอุบาสกนั้น เขาก็ได้ทำการถวายทานโดยประการต่าง ๆ รักษาศีล กระทำกุศลกรรมนานับประการ เมื่อเวเทหะอุบาสกสิ้นชีพแล้วก็ไปเกิดในสวรรค์

เอกสาฏกพราหมณ์

นับแต่นั้น เขาได้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสุคติภูมิทั้งทั้งในภูมิเทวดาและมนุษย์ภูมิ จนในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ ในสมัยของพระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งทรงประทับอยู่ในมฤคทายวัน กรุงพันธุมดี อุบาสกนั้นก็จุติจากเทวโลก ไปเกิดในตระกูลพราหมณ์เก่าแก่ตระกูลหนึ่ง อาศัยอยู่กับนางพราหมณี พราหมณ์ และ พราหมณีนั้น มีผ้านุ่ง อยู่เพียงผืนเดียวเท่านั้น คนทั้งหลายจึงเรียกพราหมณ์นั้นว่า เอกสาฏกพราหมณ์ เมื่อเหล่าพราหมณ์ประชุมกัน ด้วยกิจบางอย่าง พราหมณ์ก็ต้องให้นางพราหมณีอยู่บ้าน ตนเองไปประชุมกับเหล่าพราหมณ์ เมื่อถึงคราวพวกพราหมณีประชุมกัน ตัวพราหมณ์เองก็ต้องอยู่บ้าน นางพราหมณีจะห่มผ้านั้นไปประชุม

พระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม

ในสมัยพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามวิปัสสีนั้น พระพุทธองค์จะทรงแสดงพระธรรมเทศนาทุก ๆ ๗ ปี ในปีนั้น ซึ่งเป็นเวลาถึงกำหนดที่พระพุทธองค์จะทรงแสดงพระธรรมเทศนา ก็ได้มีความโกลาหลขึ้นอย่างใหญ่หลวง เทวดาทั้งหลายทั่วชมพูทวีป ได้บอกแก่เอกสาฏกพราหมณ์นั้นว่า พระศาสดาจะทรงแสดงธรรมในวันนี้ พราหมณ์ได้ทราบข่าวนั้น ก็พูดกะนางพราหมณีว่า
แม่มหาจำเริญ เธอจักฟังธรรมกลางคืนหรือกลางวัน
นางพราหมณีพูดว่า พวกฉันชื่อว่าเป็นหญิงแม่บ้าน ไม่อาจฟังกลางคืนได้ขอฟังกลางวันเถิด
แล้วให้พราหมณ์อยู่เฝ้าบ้าน ส่วนตนเองนั้นก็ห่มผ้าซึ่งมีอยู่เพียงผืนเดียวไปฟังธรรมในตอนกลางวันพร้อมกับพวกอุบาสิกา ครั้นเมื่อฟังธรรมแล้ว ก็กลับมาพร้อมกับพวกอุบาสิกา ครั้นถึงเวลาค่ำพราหมณ์ ได้ให้นางพราหมณีอยู่บ้าน ตนเองก็ห่มผ้านั้นไปฟังพระธรรมเทศนายังพระวิหาร เวลานั้นสมเด็จพระบรมศาสดาประทับนั่งบนธรรมาสน์ที่เขาตกแต่งไว้ท่ามกลางพุทธบริษัท ทรงแสดงธรรมกถาอันวิจิตร เมื่อพราหมณ์นั่งฟังธรรมอยู่ท้ายเหล่าพุทธบริษัท ก็บังเกิดปิติ ขึ้นทั่วทั้งร่างในเวลาปฐมยามนั่นเอง พราหมณ์นั้นจึงดึงผ้าที่ตนห่มออกมาคิดว่า จะถวายผ้าที่ตนห่มนั้นแด่พระทศพล ในเวลาเดียวกันนั้นความหวงแหนในผ้าห่มซึ่งตนมีเพียงผืนเดียวก็บังเกิดขึ้นแก่พราหมณ์นั้น และคิดว่า พราหมณีกับเรามีผ้าห่มผืนเดียวเท่านั้น ผ้าห่ม ผืนอื่นใด ๆ เราก็ไม่มี และถ้าไม่มีผ้าห่มก็ออกไปข้างนอกไม่ได้ พราหมณ์นั้นจึงตกลงใจไม่ต้องการถวายโดยประการทั้งปวง ครั้นเมื่อปฐมยามผ่านไป พราหมณ์ก็เกิดปีติเหมือนอย่างที่เกิดเมื่อช่วงปฐมยามขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งในช่วงมัชฌิมยาม พราหมณ์คิดเหมือนอย่างนั้น แล้วไม่ได้ถวายเหมือนเช่นนั้นอีก ครั้นเมื่อมัชฌิมยามล่วงไป ปีติเหมือนอย่างนั้นนั่นแหละ ก็เกิดขึ้นแก่พราหมณ์อีกเป็นครั้งที่สามในช่วงปัจฉิมยาม พราหมณ์นั้นตัดสินใจว่า เป็นไรเป็นกัน ค่อยรู้กันทีหลัง คิดดังนั้นแล้วก็ดึงผ้าห่มมาวางแทบพระบาทพระบรมศาสดา ปรบมือขึ้น ๓ ครั้งแล้ว และร้องว่า ชิตํ เม, ชิตํ เม, ชิตํ เม (เราชนะแล้ว ๆ ๆ)
เวลานั้น พระเจ้าพันธุมราชประทับนั่งสดับธรรมอยู่ภายในม่านหลังธรรมาสน์ ได้ทรงสดับดังนั้น จึงส่งราชบุรุษให้ไปถามพราหมณ์นั้นว่า เขาพูดทำไม เมื่อราชบุรุษไปถาม พราหมณ์จึงกล่าวว่า คนอื่นนอกจากข้าพเจ้า เมื่อจะเอาชัยชนะต่อกองทัพข้าศึก จะต้องขึ้นพาหนะ เช่นช้างเป็นต้น ถือโล่หนัง และดาบเป็นอาวุธ เข้าต่อกรกับข้าศึกจึงจะได้ชัยชนะ แต่ชัยชนะเช่นนั้นไม่น่าอัศจรรย์ ส่วนตัวเราได้ทำลายจิตตระหนี่แล้ว ถวายผ้าที่ห่มอยู่แด่พระทศพล ชัยชนะของเรานั้นจึงน่าอัศจรรย์
ราชบุรุษจึงไปกราบทูลเรื่องราวนั้นแด่พระราชา พระราชารับสั่งว่า พวกเราไม่รู้สิ่งที่สมควรแก่พระทศพล แต่พราหมณ์นั้นรู้ จึงทรงรับสั่งให้ส่งผ้าสำรับหนึ่ง คือผ้านุ่งกับผ้าห่ม ไปพระราชทาน พราหมณ์เห็นผ้าคู่นั้นแล้วคิดว่า ถ้าเรามิได้กระทำอะไรพระราชาก็คงไม่พระราชทานอะไรให้แก่เรา เป็นเพราะเรากล่าวคุณทั้งหลายของพระบรมศาสดาหรอก ท่านจึงได้พระราชทาน ดังนั้นจะมีประโยชน์อะไรแก่เรากับรางวัลที่ได้รับโดยอาศัยพระคุณของพระบรมศาสดา คิดดังนั้นจึงได้ถวายผ้าสำรับนั้นแด่พระทศพลเสียเลย
พระราชา ตรัสถามว่า พราหมณ์ทำอย่างไร ทรงสดับว่า พราหมณ์ถวายผ้าสำรับนั้นนั้นแด่พระตถาคต จึงรับสั่งให้ส่งผ้าคู่ ๒ สำรับพระราชทานไปอีก พราหมณ์นั้นได้ถวายผ้าคู่ ๒ สำรับนั้นแด่พระศาสดา พระราชาก็ทรงส่งผ้าคู่ ๔ สำรับไปพระราชทานอีก พราหมณ์ก็นำผ้าที่ได้รับถวายพระศาสดาอีกเช่นเดิม ทำเช่นนี้จนกระทั่งพระราชาทรงส่งผ้าไปพระราชทาน ถึง ๓๒ สำรับ พราหมณ์จึงคิดว่า การทำดังนี้ เป็นเหมือนตั้งใจจะให้พระราชทานเพิ่มขึ้นแล้วจึงจะรับเอา จึงถือเอาผ้า ๒ สำรับ คือ เพื่อตนเองสำรับ ๑ เพื่อนางพราหมณีสำรับ ๑ แล้วถวายพระทศพล ๓๐ สำรับ แต่นั้นมาพราหมณ์ก็ได้เป็นผู้คุ้นเคยกับพระบรมศาสดา
ครั้นวันหนึ่งพระราชาทรงสดับธรรมในสำนักของพระบรมศาสดาในฤดูหนาว ได้พระราชทานผ้ากัมพลแดงสำหรับห่ม ส่วนพระองค์มีมูลค่าพันหนึ่งแก่พราหมณ์ แล้วรับสั่งว่า นับแต่นี้ไป ท่านจงห่มผ้ากัมพลแดงผืนนี้ฟังธรรมเถิด พราหมณ์นั้นคิดว่า ผ้ากัมพลแดงนี้จะมีประโยชน์อะไรกับกายอันโสโครก เปื่อยเน่าของเรานี้ จึงได้ถวายทำเป็นเพดานเหนือเตียงของพระตถาคตภายในพระคันธกุฎี
อยู่มาวันหนึ่ง พระราชาเสด็จไปพระวิหารแต่เช้าตรู่ ประทับนั่งในที่ใกล้พระบรมศาสดาในพระคันธกุฏี ในขณะนั้น พระพุทธรัศมีมีพรรณ ๖ ประการ ส่องไปกระทบที่ผ้ากัมพล สีแดงของผ้ากัมพลก็บรรเจิดจ้าขึ้น พระราชาทอดพระเนตรเห็นก็จำได้จึงกราบทูลพระศาสดาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผ้ากัมพลผืนนี้ของข้าพระองค์ ๆ ให้เอกสาฏกพราหมณ์ พระทศพลทรงตรัสว่ามหาบพิตร พระองค์พระราชทานเพื่อบูชาพราหมณ์ พราหมณ์ถวายเพื่อบูชาอาตมภาพ พระราชาทรงเลื่อมใสว่า พราหมณ์รู้สิ่งที่เหมาะที่ควร พระองค์เองกลับไม่รู้ จึงพระราชทานสิ่งที่เป็นของเกื้อกูลแก่มนุษย์ทุกอย่าง ๆ ละ ๘ ชนิด ๘ ครั้ง ให้เป็นของประทานชื่อว่า สัพพัฏฐกทาน แล้วทรงตั้งให้เป็นปุโรหิต พราหมณ์นั้นคิดว่า ชื่อว่าของ ๘ ชนิด ๘ ครั้ง ก็เป็น ๖๔ ชนิด จึงตั้งสลากภัต ๖๔ ที่ ถวายแด่พระสงฆ์ แล้วให้ทาน รักษาศีลตลอดชีวิต จุติจากชาตินั้นไปเกิดในสวรรค์
เกิดในระหว่างกาลของพระโกนาคมน์พุทธเจ้า และพระกัสสปทศพลพุทธเจ้า
จุติจากสวรรค์กลับมาเกิดในเรือนของกฏุมพี ในกรุงพาราณสี ในระหว่างกาลของพระพุทธเจ้า ๒ พระองค์ คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าโกนาคมน์ และพระกัสสปทศพลในกัปนี้ ครั้นเจริญวัยขึ้นก็แต่งงานมีเหย้าเรือน อยู่มาวันหนึ่ง ระหว่างที่เดินเที่ยวพักผ่อนไปในป่า.ก็พบพระปัจเจกพุทธเจ้าทรงกระทำจีวรกรรม (คือการ เย็บจีวร) อยู่ที่ริมแม่น้ำ แต่ผ้าอนุวาต (ผ้าแผ่นบาง ๆ ที่ทาบไป ตามชายสบงจีวรและสังฆาฎิ) มีไม่พอจึงทรงเริ่มจะพับเก็บ เขาเห็นเข้าจึงกล่าวถามพระปัจเจกพุทธ เจ้าว่า เพราะอะไรจึงจะพับเก็บเสียเล่า เจ้าข้า พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวว่า ผ้าอนุวาตไม่พอ เขากล่าวว่า โปรดเอาผ้าสาฏกนี้ทำเถิดเจ้าข้า เขาถวายผ้าสาฏกแล้ว ตั้งความปรารถนาว่า ขอความเสื่อมใด ๆ ขอจงอย่าได้มี ในที่ที่ข้าพเจ้าได้เกิดเถิด
ต่อมาพระปัจเจกพุทธเจ้า เสด็จเข้าไปบิณฑบาต ณ ยังเรือนของเขา ในตอนนั้น ภรรยาและน้องสาวของเขากำลังทะเลาะกัน เมื่อน้องสาวของเขาถวายบิณฑบาตแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว ก็กล่าวพาดพิงถึงพี่สะใภ้ว่า ขอให้เราจงห่างไกลหญิงพาลเช่นนี้ร้อยโยชน์ ภรรยาของเขาที่กำลังยืนอยู่ที่ลานบ้านได้ยินเข้าจึงคิดว่า พระรูปนี้จงอย่าได้ฉันอาหารที่นางคนนี้ถวาย จึงจับบาตรพระปัจเจกพุทธเจ้ามาเทบิณฑบาตทิ้งแล้วเอาเปือกตมมาใส่จนเต็ม น้องสาวเขาเห็นพี่สะไภ้ทำเช่นนั้นจึงกล่าวว่า หญิงพาล เจ้าจงด่าจงบริภาษเราก่อนเถิด การเทภัตตาหารจากบาตรของท่านผู้ได้บำเพ็ญบารมีมา ๒ อสงไขยเช่นนี้ แล้วใส่เปือกตมให้ นั้นเป็นการไม่สมควรเลย
ภรรยาของเขาครั้นได้ฟังก็เกิดความสำนึกขึ้นได้ จึงกล่าวว่า โปรดหยุดก่อนเจ้าข้า แล้วเทเปือกตมออก ล้างบาตรแล้วชะโลมด้วยผงเครื่องหอม แล้วได้ใส่ของมีรสอร่อย ๔ อย่างเต็มบาตร แล้ววางถวายบาตรลงในมือของพระปัจเจกพุทธเจ้า ตั้งความปรารถนาว่า สรีระของเราจงผุดผ่องเหมือนบิณฑบาตอันผุดผ่องนี้เถิด พระปัจเจกพุทธเจ้าอนุโมทนาแล้วเหาะขึ้นสู่อากาศ
เกิดในสมัยพระกัสสปทศพลพุทธเจ้า
ผัวเมียแม้ทั้งสองนั้นเมื่อครบชั่วอายุขัยแล้ว ตายลงก็ไปเกิดบนสวรรค์ จุติจากสวรรค์นั้นอีกครั้ง อุบาสกเกิดเป็นบุตรเศรษฐีมีสมบัติ ๘๐ โกฏิในกรุงพาราณสี ในครั้งพระกัสสปทศพลสัมมาสัมพุทธเจ้า ฝ่ายภรรยาเกิดเป็นธิดาของเศรษฐีเหมือนกัน เมื่อเขาเจริญวัย พวกญาติก็นำธิดาของเศรษฐีมายังเรือนบุตรเศรษฐีหมายจะตกแต่งเป็นภรรยาแก่บุตรเศรษฐี ด้วยอานุภาพของกรรมซึ่งได้กระทำไว้แก่พระปัจเจกพุทธเจ้าในชาติก่อน พอนางถูกส่งตัวเข้าไปยังตระกูลของสามี ทั่วทั้งสรีระเกิดกลิ่นเหม็นเหมือนส้วมที่เขาเปิดไว้ ตั้งแต่ย่างเข้าไปภายในธรณีประตู เศรษฐีกุมารถามว่า กลิ่นเหม็นนี้เป็นของใคร ครั้นได้ฟังว่าเป็นกลิ่นของลูกสาวเศรษฐี จึงให้นำส่งนางกลับไปเรือนตระกูล ธิดาเศรษฐีถูกส่งกลับไปกลับมาในทำนองนี้ถึง ๗ ครั้ง
ครั้นเมื่อพระกัสสปทศพลเสด็จปรินิพพานแล้ว พุทธศาสนิกชนเริ่มก่อพระเจดีย์สูงโยชน์หนึ่งด้วยอิฐทอง ทั้งหนาทั้งแน่น มีราคาก้อนละหนึ่งแสน เมื่อเขากำลังสร้างพระเจดีย์กันอยู่ ธิดาเศรษฐีคนนั้นคิดว่า เราต้องถูกส่งกลับถึง ๗ ครั้งแล้ว ชีวิตของเราจะมีประโยชน์อะไร จึงให้ยุบสิ่งของเครื่องประดับตัว แล้วนำไปทำอิฐทอง ยาวศอก กว้างคืบ สูง ๔ นิ้ว และถือก้อนหรดาลและมโนสิลา เก็บเอาดอกบัว ๘ กำ ไปยังสถานที่ที่สร้างพระเจดีย์ ขณะนั้นก้อนอิฐแถวหนึ่งที่กำลังก่อมาต่อกันนั้นเกิดขาดอิฐแผ่นต่อเชื่อม นางจึงพูดกับช่างว่า ท่านจงวางอิฐก้อนนี้ลงตรงนี้เถิด นายช่างกล่าวว่า นางผู้เจริญ ท่านมาได้เวลาพอดี ขอท่านจงวางเองเถิด นางจึงขึ้นไปเอาน้ำมันผสมกับหรดาลและมโนสิลา วางอิฐติดอยู่ได้ด้วยเครื่องยึดนั้น แล้วบูชาด้วยดอกอุบล ๘ กำมือไว้ข้างบนอิฐทองนั้น นางยกมือไหว้แล้วตั้งความปรารถนาว่า ในที่ที่เราเกิด ขอจงมีกลิ่นจันทน์ฟุ้งออกจากตัว กลิ่นอุบลจงฟุ้งออกจากปาก แล้วไหว้พระเจดีย์ ทำประทักษิณรอบพระเจดีย์แล้วกลับไป
ครั้นแล้วในขณะนั้นเอง เศรษฐีบุตรก็เกิดระลึกถึงเศรษฐีธิดาที่เขานำมาที่เรือนครั้งแรก ในพระนครเวลานั้นก็มีงานนักขัตฤกษ์เสียงกึกก้อง เขาจึงพูดกับคนรับใช้ว่า คราวนั้น เจ้านำธิดาเศรษฐีมายังเรือนนี้ นางนั้นอยู่ที่ไหน คนรับใช้กล่าวว่าอยู่ที่เรือนตระกูลของนางขอรับ นายท่าน เศรษฐีบุตรกล่าวว่า พวกเจ้าจงพามา เราจักเล่นนักขัตฤกษ์กับนาง พวกคนรับใช้ของบุตรเศรษฐีจึงไปยังเรือนตระกูลของนาง ไปไหว้นางแล้วยืนอยู่ นางจึงถามว่า ท่านทั้งหลายมาทำไมกัน พวกคนรับใช้ของบุตรเศรษฐีจึงบอกเรื่องราวที่มานั้น
นางกล่าวว่า ท่านทั้งหลาย เราเอาเครื่องอาภรณ์บูชาพระเจดีย์เสียแล้ว เราไม่มีเครื่องอาภรณ์ คนรับใช้เหล่านั้นจึงไปบอกแก่บุตรเศรษฐี ๆ จึงกล่าวว่า จงนำนางมาเถิด เราจะให้เครื่องประดับนั้นแก่นาง พวกคนรับใช้จึงไปนำนางมา กลิ่นจันทน์และกลิ่นอุบลขาบฟุ้งไปทั่วเรือน พร้อมกับที่นางเข้าไปในเรือน บุตรเศรษฐีจึงถามนางว่า ครั้งแรกมีกลิ่นเหม็นฟุ้งออกจากตัวเธอ แต่บัดนี้ กลิ่นจันทน์ฟุ้งออกจากตัว กลิ่นอุบลฟุ้งออกจากปากของเธอ นี่อะไรกัน ธิดาเศรษฐีจึงเล่ากรรมที่ตนกระทำตั้งแต่ต้น บุตรเศรษฐีเลื่อมใสว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นนิยยานิกธรรมหนอ จึงเอาเครื่องปกคลุมที่ทำด้วยผ้ากัมพล ยาวประมาณโยชน์หนึ่งหุ้มพระเจดีย์ทองเป็นพุทธบูชา แล้วเอาดอกประทุมทองขนาดใหญ่เท่าล้อรถประดับที่พระเจดีย์ทองนั้น ดอกประทุมทองที่แขวนห้อยไว้มีขนาด ๑๒ ศอก บุตรเศรษฐีนั้นครั้นอยู่จนสิ้นอายุในมนุษยโลกแล้วก็ไปเกิดในสวรรค์

กำเนิดในตระกูลอำมาตย์
จุติจากสวรรค์นั้น บังเกิดในตระกูลอำมาตย์ตระกูลหนึ่ง ซึ่งพำนักอยู่ในที่ห่างจากกรุงพาราณสีประมาณโยชน์หนึ่ง ฝ่ายลูกสาวเศรษฐีจุติจากเทวโลกเกิดเป็นพระราชธิดาองค์ใหญ่ ในราชตระกูล
เมื่อคนทั้งสองนั้นเจริญวัย ในหมู่บ้านที่กุมารอยู่มีงานนักขัตฤกษ์ กุมารนั้นต้องการจะไปเที่ยวงานกล่าวกับมารดาว่า แม่จ๋า แม่จงให้ผ้าสาฎกฉัน ฉันจะห่มไปเล่นนักขัตฤกษ์ มารดาได้นำผ้าที่ใช้แล้วมาให้เขา เขาปฏิเสธว่า ผ้านี้หยาบไปจ้ะแม่ นางก็นำผ้าผืนอื่นมาให้ แต่ไม่ว่าจะนำผ้าผืนใดมา เขาก็ปฏิเสธว่าผ้านั้นหยาบไป มารดาจึงกล่าวกะเขาว่า ลูก เราเกิดในตระกูลเช่นนี้ พวกเราไม่มีบุญที่จะได้ผ้าเนื้อละเอียดกว่านี้หรอก เขากล่าวว่า แม่จ๋า ถ้าอย่างนั้น ฉันจะไปยังที่ที่จะได้ผ้าที่มีเนื้อละเอียดกว่านี้ มารดากล่าวว่า ลูกเอ๋ย แม่ปรารถนาให้เจ้าได้ราชสมบัติในกรุงพาราณสีวันนี้ทีเดียวน่ะ เขาไหว้มารดาแล้วกล่าวว่า ฉันไปละแม่ มารดาว่า ไปเถอะลูก นัยว่ามารดาของเขามีความคิดว่า มันจะไปไหนเสีย คงจะนั่งที่นี่ ที่นั่นอยู่ในเรือนหลังนี้แหละ
กุมารนั้นก็ออกไปตามเหตุแห่งกรรมที่กำหนดไว้ จนถึงกรุงพาราณสี แล้วเข้าไปนอนคลุมศีรษะอยู่บนแผ่นมงคลศิลาอาสน์ ในพระราชอุทยานของพระเจ้าพาราณสี ในวันนั้นเป็นวันที่พระเจ้าพาราณสีสวรรคตแล้วเป็นวันที่ ๗ เหล่าอำมาตย์ทั้งหลายเมื่อทำการถวายพระเพลิงพระศพแล้ว ก็นั่งปรึกษากันอยู่ที่พระลานหลวง ปรารภว่าว่า พระราชามีแต่พระธิดา ไม่มีพระราชโอรส ราชสมบัติไม่มีพระราชาปกครองเป็นเรื่องไม่สมควร ใครสมควรจะได้เป็นพระราชา เหล่าอำมาตย์ต่างก็ออกความเห็นว่า ท่านโน้นควรเป็น ท่านนี้ควรเป็น ปุโรหิตกล่าวว่า ไม่ควรเลือกมาก เอาเถอะ พวกเราจะบวงสรวงเทวดาแล้วเสี่ยงราชรถไปเพื่อหาผู้ที่สมควรจะครองราชย์ อำมาตย์เหล่านั้นจึงจัดแจงเทียมม้า ๔ ตัว แล้วตั้งเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ๕ อย่าง กับเศวตรฉัตรไว้บนรถแล้วปล่อยราชรถนั้นไป แล้วให้ประโคมดนตรีตามไปข้างหลัง ม้านำราชรถออกทางประตูด้านทิศปราจีน บ่ายหน้าไปทางพระราชอุทยาน อำมาตย์บางพวกกล่าวว่า รถบ่ายหน้าไปทางพระราชอุทยาน เพราะม้ามีความคุ้นเคยกับอุทยาน พวกท่านจงให้กลับมา ปุโรหิตกล่าวว่า อย่าให้กลับ ม้านำราชรถไปยังแท่นที่กุมารนอนอยู่ กระทำประทักษิณแก่กุมารแล้วจึงได้หยุดราวกับเตรียมพร้อมที่จะให้ขึ้น ปุโรหิตจึงเดินเข้าไปเลิกชายผ้าห่มด้านเท้าของกุมารที่นอนหลับอยู่เพื่อตรวจดูพื้นเท้าของกุมาร ครั้นตรวจดูแล้วจึงกล่าวว่า ไม่เพียงแค่ชมพูทวีปนี้ทวีปเดียว แต่ท่านผู้นี้สมควรได้ครองราชย์ในทวีปทั้ง ๔ มีทวีปสองพันเป็นบริวาร แล้วสั่งให้ประโคมดนตรีขึ้น ๓ ครั้ง
อำมาตย์ถวายราชสมบัติ
เมื่อกุมารนั้นได้ยินเสียงประโคมดนตรีจึงตื่นขึ้น แล้วเปิดผ้าที่คลุมหน้าขึ้นมองดูเหล่าอำมาตย์ที่มาห้อมล้อมอยู่แล้วพูดว่า ท่านทั้งหลาย พวกท่านมาด้วยกิจกการอะไรกัน พวกอำมาตย์ทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ เหล่าข้าพระองค์ขอถวายราชสมบัติแก่พระองค์ กุมารถามขึ้นว่า แล้วพระราชาของพวกท่านไปไหนเสียเล่า ? อำมาตย์ตอบว่า ได้เสด็จทิวงคตเสียเมื่อ ๗ วันที่แล้ว กุมารถามต่อไปว่า พระราชโอรสหรือพระราชธิดาของท่านไม่มีหรือ ? อำมาตย์ ข้าแต่สมมติเทพ พระราชธิดามี พระราชโอรสไม่มี กุมารรับว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น เราจักครองราชย์ เหล่าอำมาตย์ได้ยินรับสั่งเช่นนั้น จึงสั่งให้สร้างมณฑปสำหรับอภิเษกในขณะนั้นทันที แล้วประดับพระราชธิดาด้วยเครื่องอลังการทุกอย่างนำมายังพระราชอุทยานทำการอภิเษกกับกุมาร
เมื่อพระกุมารทำการอภิเษกแล้ว ประชาชนนำผ้ามีราคาแสนหนึ่งมาถวาย พระกุมารกล่าวว่า นี้อะไรท่าน พวกอำมาตย์ทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ผ้านุ่งพระเจ้าข้า, พระกุมาร ผ้านี้เนื้อหยาบไป มีผ้าอื่นที่เนื้อละเอียดกว่านี้หรือไม่ ? อำมาตย์ข้าแต่สมมติเทพ ในบรรดาผ้าที่มนุษย์ทั้งหลายใช้สอย ผ้าที่เนื้อละเอียดกว่านี้ไม่มี พระเจ้าข้า พระกุมารกล่าวว่า พระราชาของพวกท่านทรงผ้านุ่งเช่นนี้หรือ ? อำมาตย์ พระเจ้าข้า ข้าแต่สมมติเทพ พระกุมาร พระราชาของพวกท่านคงจะไม่มีบุญ พวกท่านจงนำพระเต้าทองมา เราจะทำให้ได้ผ้า อำมาตย์เหล่านั้นนำพระเต้าทองมาถวาย พระกุมารนั้นลุกขึ้นล้างพระหัตถ์ บ้วนพระโอฐ เอาพระหัตถ์วักน้ำสาดไปทางทิศตะวันออก ในขณะนั้นเอง ต้นกัลปพฤกษ์ก็ชำแรกแผ่นดินทึบผุดขึ้นมา ๘ ต้น ทรงวักน้ำสาดไปอีกทั่วทิศ ๓ ทิศอย่างนี้คือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก ทิศเหนือ ต้นกัลปพฤกษ์ผุดขึ้นในทิศทั้ง ๔ ทิศละ ๘ ต้น รวมเป็น ๓๒ ต้น พระกุมารนั้นทรงปรารถนาผ้าทิพย์จากต้นกัลปพฤกษ์ ครั้นได้แล้วจึงทรงนุ่งผ้าทิพย์ผืนหนึ่ง ทรงห่มผืนหนึ่ง ดังนี้แล้วให้ยกฉัตรขึ้น ทรงประดับตกแต่งพระองค์ ทรงขึ้นช้างตัวประเสริฐเข้าพระนคร ขึ้นสู่ปราสาทเสวยมหาสมบัติ
ครั้งกาลเวลาผ่านไป วันหนึ่งพระเทวีเห็นมหาสมบัติของพระราชาแล้ว ทรงปรารภแก่พระสวามีว่า ข้าแต่สมมติเทพ ในอดีตกาลพระองค์ได้ทรงศรัทธาต่อพระพุทธทั้งหลาย ได้ทรงกระทำกรรมดีไว้ในอดีต ในชาตินี้จึงทรงได้มหาสมบัติเช่นนี้ ในชาติปัจจุบันนี้ ยังไม่ทรงกระทำกุศลที่จะเป็นปัจจัยแก่อนาคต พระราชาตรัสว่า เราจักทำกุศลแก่ใคร เรายังไม่เห็นผู้มีศีล พระเทวีทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ชมพูทวีปไม่ว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลายดอก พระองค์โปรดทรงตระเตรียมทานไว้เท่านั้น หม่อมฉันจะอาราธนาพระอรหันต์ในวันรุ่งขึ้น
พระราชารับสั่งให้ตระเตรียมทานไว้ที่ประตูด้านทิศปราจีน พระเทวีทรงอธิษฐานองค์อุโบสถศีลแต่ตรู่ ทรงบ่ายหน้าไปทางทิศตะวันออกหมอบลงบนปราสาทชั้นบนแล้วกล่าวว่า ถ้าพระอรหันต์มีอยู่ในทิศนี้ พรุ่งนี้ขอนิมนต์มารับภิกษาหารของข้าพเจ้าทั้งหลายเถิด ปรากฏว่าในทิศนั้นไม่มีพระอรหันต์มาปรากฎ พระนางก็ได้ให้แจกจ่ายสักการะที่เตรียมไว้นั้นแก่คนกำพร้า และยาจก ในวันรุ่งขึ้นทรงตระเตรียมทานไว้ทางประตูทิศใต้แล้วได้กระทำเหมือนอย่างนั้น ก็ไม่มีพระอรหันต์มาปรากฎในทิศนั้น ในวันรุ่งขึ้นทางประตูทิศตะวันตกก็เช่นเดียวกัน

ถวายทานพระปัจเจกพุทธเจ้า
ในวันที่ทรงตระเตรียมไว้ทางประตูทิศเหนือ พระมหาปทุมปัจเจกพุทธเจ้าผู้เป็นพี่ชายของพระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ ผู้เป็นโอรสของพระนางปทุมวดี อยู่ในป่าหิมพานต์ เรียกพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้เป็นน้องชายซึ่งถูกพระเทวีนิมนต์อย่างนั้นมาว่า ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย พระเจ้านันทราชนิมนต์ท่านทั้งหลาย ท่านจงรับนิมนต์ของท้าวเธอเถิด พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นรับนิมนต์แล้ว ในวันรุ่งขึ้นเมื่อล้างหน้าที่สระอโนดาดแล้วเหาะไปลงที่ประตูทางด้านทิศเหนือ
เหล่าชนมากราบทูลแก่พระราชาว่า ข้าแต่สมมติเทพ พระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ มาแล้วพระเจ้าข้า พระราชาเสด็จ ไปพร้อมกับพระเทวี ทรงไหว้แล้วรับบาตรนิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายขึ้นสู่ปราสาท ถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น ในเวลาเสร็จภัตตกิจ พระราชาทรงหมอบที่ใกล้เท้าพระสังฆเถระ พระเทวีหมอบที่ใกล้เท้าพระสังฆนวกะ แล้วกล่าวว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย ข้าพเจ้าทั้งหลายขออาราธนาท่านทั้งหลาย จงให้ปฏิญญาเพื่ออยู่ในที่นี้จนตลอดอายุของข้าพเจ้าทั้งหลายเถิด ครั้นท่านรับปฏิญญาแล้ว จึงให้ตกแต่งสถานที่สำหรับอยู่อาศัยแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นในพระอุทยาน คือ บรรณศาลา ๕๐๐ หลัง ที่จงกรม ๕๐๐ ที่ แล้วให้ท่านอยู่ในที่นั้นนั่นแล

เหล่าพระปัจเจกพุทธเจ้าทรงปรินิพพาน

ครั้นกาลเวลาล่วงไป เมืองชายแดนของพระราชาก่อการกำเริบขึ้น พระองค์ทรงกล่าวแก่พระเทวีว่า พี่จะไประงับเหตุที่เมืองชายแดน เธออย่าละเลยพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย แล้วเสด็จออกไปจากพระนคร ในระหว่างที่พระองค์ยังไม่เสด็จกลับ พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายก็สิ้นอายุสังขาร.ในวันเดียวกัน
ในวันนั้น พระมหาปทุมปัจเจกพุทธเจ้า ทรงฌานตลอดราตรีทั้ง ๓ ยาม ในเวลาอรุณขึ้น ทรงยืนเหนี่ยวแผ่นกระดานสำหรับใช้เป็นที่ยึด แล้วทรงปรินิพพานด้วย อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ พระปัจเจกพุทธเจ้าที่เหลือทั้งหมด ก็ปรินิพพานในลักษณะเดียวกัน ในวันรุ่งขึ้น พระเทวีทรงให้ตกแต่งที่นั่งของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายด้วยดอกไม้ จุดเครื่องหอม นั่งคอยพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายมา เมื่อไม่เห็นมาจึงส่งราชบุรุษไปดูว่าเกิดเหตุใดขึ้นกับพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ราชบุรุษนั้นไปเปิดประตูบรรณศาลาของพระมหาปทุมปัจเจกพุทธเจ้า ไม่พบท่านในบรรณศาลานั้น จึงไปยังที่จงกรม เห็นท่านยืนพิงแผ่นกระดานสำหรับยึด จึงไหว้ แล้วกล่าวว่า ได้เวลาแล้วเจ้าข้า ราชบุรุษนั้นเห็นว่าท่านไม่ทรงตอบจึงคิดว่าท่านหลับ จึงเดินไปเอามือลูบที่หลังเท้า จึงรู้ว่าท่านได้เสด็จปรินิพพานแล้ว เพราะเท้าทั้งสองเย็นและแข็ง จึงไปยังสำนักของพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์ที่ ๒ เมื่อรู้ว่าองค์ที่ ๒ ปรินิพพานแล้วเช่นกัน ก็ไปยังสำนักของพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์ที่ ๓ สุดท้ายก็รู้ว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าทุกองค์ปรินิพพานแล้ว จึงไปกราบทูลว่า ข้าแต่พระเทวี พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายทรงปรินิพพานแล้ว พระเทวีทรงกรรแสงคร่ำครวญ เสด็จออกไปที่บรรณศาลานั้นพร้อมกับชาวเมือง รับสั่งให้เล่าสาธุกีฬา (การเล่นที่เกี่ยวกับเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) กระทำฌาปนกิจสรีระของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย แล้วเก็บธาตุสร้างพระเจดีย์ ไว้

พระราชาเสด็จกลับ

เมื่อพระราชาทรงปราบเมืองชายแดนให้สงบแล้วเสด็จกลับมา รับสั่งถามพระเทวีผู้เสด็จมาต้อนรับถึงพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย พระเทวีทูลว่า พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายปรินิพพานเสียแล้ว พระราชาทรงพระดำริ ว่า มรณะยังเกิดแก่บัณฑิตทั้งหลายเช่นนี้ พวกเราก็จะไม่พ้นไปเช่นกัน พระองค์จึงไม่เสด็จเข้าไปในพระนคร เสด็จเข้าไปยังพระราชอุทยานเลยทีเดียว รับสั่งให้เรียกพระโอรสองค์ใหญ่มาแล้วมอบราชสมบัติแก่พระโอรสนั้น แล้วทรงผนวชเป็นสมณะ ฝ่ายพระเทวีก็ทรงผนวชอยู่ในพระราชอุทยานนั้นเช่นกัน พระราชาและพระเทวีทั้งสองนั้น บำเพ็ญฌาน จนถึงอายุขัยจึงได้ตายแล้วไป บังเกิดในพรหมโลก

‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2024-12-22 16:06 , Processed in 0.043102 second(s), 14 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.