แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
เจ้าของ: pimnuttapa
go

วัดพระธาตุลำปางหลวง อ.เกาะคา จ.ลำปาง (รอยพระพุทธบาท , พระเกศาธาตุ ฯ ) [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

แก้ไขครั้งสุดท้าย: 2010-12-23 06:50 โดย pimnuttapa


DSC06472.jpg

พระนาคปรก เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ที่สุดในกรุงละโว้สมัยนั้น ศิลปกรรมสมัยลพบุรี สร้างจากหินสีเขียว หน้าตักกว้าง ๒๐ นิ้ว สูง ๒๘ นิ้ว ครั้นเมื่อ พ.ศ. ๑๒๑๕ พระราชบิดาของพระนางจามเทวีมอบให้มาประดิษฐานไว้ ณ วิหารละโว้ (วิหารพระเจ้าศิลาหรือวิหารจามเทวี) วัดพระธาตุลำปางหลวง ค่ะ



Rank: 8Rank: 8

แก้ไขครั้งสุดท้าย: 2010-12-23 06:50 โดย pimnuttapa


DSC06474.jpg

พระพุทธรูปต่างๆ ประดิษฐานด้านหน้า บุษบก ภายใน วิหารละโว้ (วิหารพระเจ้าศิลาหรือวิหารจามเทวี) วัดพระธาตุลำปางหลวง ค่ะ



Rank: 8Rank: 8

แก้ไขครั้งสุดท้าย: 2010-12-23 06:51 โดย pimnuttapa


DSC06473.jpg

พระพุทธรูปต่างๆ ประดิษฐานด้านข้าง บุษบก ภายใน วิหารละโว้ (วิหารพระเจ้าศิลาหรือวิหารจามเทวี) วัดพระธาตุลำปางหลวง ค่ะ



Rank: 8Rank: 8

แก้ไขล่าสุด pimnuttapa เมื่อ 2009-5-29 08:05  

DSC06475.jpg

ปล่องหนานทิพย์ช้าง อยู่ด้านข้าง วิหารละโว้ (วิหารพระเจ้าศิลาหรือวิหารจามเทวี) วัดพระธาตุลำปางหลวง ค่ะ

ประวัติปล่องหนานทิพย์ช้าง


ในระหว่างปีพ.ศ. ๒๒๗๒ - ๒๒๗๕ บ้านเมืองในล้านนาไทยมิได้เป็นปกติสุข เกิดการจราจลไปทุกหนทุกแห่งบ้านเมืองในล้านนาไทย เช่น เชียงแสน เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน เชียงใหม่ ต่างเมืองก็ตั้งตัวเป็นอิสระไม่รวมกันเป็นกลุ่มก้อนชันกาลก่อน เชียงแสน เชียงราย ตกอยู่ในอำนาจของพม่า เชียงใหม่มีเจ้าองค์คำ (หรือองค์นก) เป็นเจ้าผู้ครองนครและกำลังพุ่งติดพันกับพม่าอยู่ เมืองลำพูนมีท้าวมหายศครองนคร เมืองแพร่เมืองน่านต่างก็มีเจ้าผู้ครองนครเป็นอิสระ

ส่วนนครลำปางนั้นไม่มีเจ้าผู้ครองนคร มีแต่ขุนเมือง ๔ คน ควบคุมกันอยู่ แต่บังคับราชการงานเมืองไม่สิทธิ์ขาด เพราะมัวแต่แก่งแย่งอำนาจกัน ในขณะนั้นมีพระภิกษุรูปหนึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดนายาง (บ้างก็ว่าวัดนายาบ บัดนี้อยู่ในเขตอำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง) มีความรู้เชี่ยวชาญในวิทยาคม ไสยศาสตร์ เป็นผู้ที่นิยมนับถือของชาวเมืองว่าเป็นผู้มีบุญ มีผู้มาสมัครเป็นลูกศิษย์และบริวารเป็นอันมาก และสมภารวัดสามขา สมภารวัดบ้านฟ่อน ก็ได้ลาสิกขาออกมาเป็นเสนาซ้ายขวาของสมภารวัดนายาง ซึ่งลาสิกขาบทแล้วนั้นตั้งเป็นก๊กขึ้นก๊กหนึ่ง ซึ่งขุนเมืองทั้ง ๔ นั้นหาอาจปราบปรามได้ไม่

ครั้นข่าวนี้ได้ทราบถึงท้าวมหายศผู้ครองนครลำพูน ก็ยกทัพมายังนครลำปางเพื่อจะปราบปรามผู้มีบุญนั้น สมภารวัดนายางได้คุมสมัครพรรคพวกออกต่อสู้กองทัพเมืองลำพูนเป็นสามารถสู้รบกันถึงคลุมบอนที่ตำบลป่าตัน กองทัพสมภารวัดนายางสู้กองทัพเมืองลำพูนมิได้ ก็แตกพ่ายหยีไป สมภารวัดนายางกับเสนาซ้ายขวาและพวกที่ยังเหลืออยู่จึงไปยังวิหารหลวงวัดพระธาตุลำปางหลวง กองทัพเมืองลำพูนก็ยกไปล้อมวัดพระธาตุลำปางหลวงไว้ ครั้นเวลาค่อนรุ่งสมภารวัดนายางกับพวกหลบหนีออกจากที่ล้อมได้ ก็พาพวกหลบหนีมุ่งลงไปทางใต้ กองทัพเมืองลำพูนไล่ติดตามทันกลางทาง จึงเกิดการสู้รบกันอีก สมภารวัดนายางกับพรรคพวกได้แต่ไม้ค้อน (ไม้ตะพด) กับไม้เสารั้วสวนเป็นอาวุธเข้าต่อสู้ทัพเมืองลำพูนเป็นสามารถจนชาวลำพูนจวนจะแพ้อยู่แล้ว บังเอิญสมภารวัดนายางถูกกระสุนของชาวลำพูนที่ระหว่างคิ้วล้มลง เสนาซ้ายขวาเข้าประคองก็ถูกกระสุนล้มลงทั้งคู่ เสนาวัดบ้านฟ่อนถูกกระสุนที่หางตา เสนาวัดสามขาถูกที่หัวเข่าถึงแก่มรณกรรมทั้งสามคน ส่วนพรรคพวกนั้นเมื่อเห็นประมุขเป็นอันตรายก็พากันหลบหนีไป ที่หนีไม่ทันก็ถูกพวกลำพูนฆ่าตายที่นั้น

เมื่อได้ชัยชนะแล้ว กองทัพลำพูนก็ยกมาตั้งอยู่ที่วัดลำปางหลวง แล้วให้คนออกไปเรียกเก็บเงินภาษีและบังคับเอาข้าวของทรัพย์สิน ข้าวปลาอาหารไปบำรุงกองทัพ เมื่อผู้ใดขัดขวางไม่ยอมให้หรือไม่มีจะให้ก็จับตัวมาลงโทษและทารุณกรรมต่างๆ เป็นที่ทนทุกข์เวทนา บ้างก็ถึงแก่ชีวิต ทำให้ชาวเมืองนครลำปางได้รับความเดือนร้อนเป็นอันมาก ผู้หญิงใดสวยงามก็ถูกบังคับให้เป็นนางบำเรอ ครั้นแล้วท้าวมหายศแม่ทัพเมืองลำพูนก็คิดอุบายแต่งตั้งให้หาญฟ้าแมบ หาญฟ้าง้ำ หาญฟ้าฟื้น นายทหารเอกซ่อนอาวุธเข้าไปเจรจาความเมืองต่อขุนเมืองทั้ง ๔ คือ แสนหนังสือ แสนเทพ นายเรือน จะเรน้อย และท้าวขุนทั้งหลายประชุมกันที่สนามว่าการนั้น พอถึงเวลาได้ที่ก็พร้อมกันฟันแทงขุนเมืองลำปางล้มตายลงหลายคน และกองทัพเมืองลำพูนก็ยกหนุนเข้ามาปล้นเอาเมืองลำปาง ได้ล่าฆ่าฟันผู้คนจุดไฟเผาพลาญบ้านเมืองราษฏรไหม้เป็นอันมาก พวกขุนนางที่รอดตายคือ ท้าวลิ้นก่าน จะเรน้อย นายน้อยธรรมและชาวบ้านพากันหนีไปอาศัยอยู่ตามที่ต่างๆ คือ ประตูผา เมืองลอง เมืองตีบ เมืองต้า เมืองเมาะ เมืองจาง เมืองนครลำปาง ครั้งนั้นได้กลายเป็นเมืองร้างไปหาผู้คนอยู่อาศัยมิได้ เพราะต่างก็กลัวข้าศึกชาวเมืองลำพูน

ครั้งนั้นมีพระมหาเถรรูปหนึ่ง เป็นเจ้าอธิการพระแก้วชมพูเป็นที่นับถือของประชาชนเป็นอันมาก ท่านดำริการที่จะกอบกู้เมืองนครลำปางให้พ้นจากอำนาจของกองทัพเมืองลำพูนซึ่งมายึดครองอยู่นั้น จึงได้ซ่องสุมผู้คนและลูกศิษย์ลูกหาไว้ ครั้นได้กำลังพอสมควรแล้ว จึงไปเจรจาว่ากล่าวกับจะเรน้อยและท้าวลิ้นก่านที่หนีอยู่ยังประตูผา (เหนือเมืองนครลำปาง) ขอให้กลับมาคิดกอบกู้บ้านเมือง แต่ขุนเมืองทั้งสองเกิดการท้อถอยเสียแล้ว จึงแจ้งแก่พระมหาเถรเจ้าว่า สุดแล้วแต่พระมหาเถรเจ้าจะเลือกเอาผู้ใดสามารถขับไล่ข้าศึกถอยไปและกอบกู้บ้านเมืองได้สำเร็จแล้ว ก็ขอมอบบ้านเมืองให้ผู้นั้นปกครองตลอดไป
         
พระมหาเถระเจ้าวัดพระแก้วชมพูได้ทราบดังนั้น ก็กลับมาวัดแล้วปรึกษากับญาติโยมและบรรดาศิษยานุศิษย์ว่า เมื่อไม่มีผู้ใดสามารถกอบกู้บ้านเมืองได้ เราจักขอลาสิกขาเพื่อจะเป็นหัวหน้ากอบกู้บ้านเมือง พวกญาติโยมและศิษย์ทั้งหลายต่างคนก็ขอนิมนต์ไว้ก่อน ขอให้ครูบาเจ้าจงคิดดูเรื่องโหราศาสตร์ ครูบาเจ้าก็ชำนาญมาก ขอให้ครูบาเจ้าลงเลขทำนายดู พระมหาเถรเจ้าก็ทำตามตำราที่เรียนมาจนเรียบร้อยก็เห็นว่า “หนานทิพย์ช้าง” นายบ้านคอกงัวซึ่งเป็นผู้มีสติปัญญาและธนูเป็นอันมาก และเคยเป็นหมอคล้องช้างป่าได้ คนทั้งหลายจึงเรียกว่า ทิพย์ช้าง พระมหาเถรเจ้าจึงใช้ให้คนไปเรียกตัวทิพย์ช้างมาไต่ถามว่า จะกอบกู้บ้านเมืองจากพวกข้าศึกชาวลำพูนได้หรือไม่ ทิพย์ช้างก็รับรองอย่างแข็งขันว่า “ข้าศึกชาวลำพูนก็เดินดิน กินข้าวเหมือนกับเรา เราหาเกรงกลัวไม่”

Rank: 8Rank: 8

แก้ไขล่าสุด pimnuttapa เมื่อ 2009-5-29 08:07  

DSC06497.jpg

รอยกระสุนปืน รั้วด้านหน้า พระบรมธาตุลำปางหลวง วัดพระธาตุลำปางหลวง ค่ะ

ประวัติปล่องหนานทิพย์ช้าง (ต่อ)


พระมหาเถรเจ้าจึงตั้งให้ทิพย์ช้างเป็นที่ “เจ้าทิพย์เทพบุญเรือน” เป็นหัวหน้าคุมคน ๓๐๐ คน ไปรบกับทัพเมืองลำพูนที่วัดพระธาตุลำปางหลวง เจ้าทิพย์เทพบุญเรือนจึงแต่งตั้งให้หนานนันต๊ะสาร   หนานชัยพล น้อยไชยจิต ชาวบ้านผู้กล้าหาญและฝีมือเข้มแข็งเป็นแม่กองคุมไพร่พลแบ่งเป็น ๓ กอง กองละ ๑๐๐ คน ยกออกจากเวียงดิน (คือบ้านคอกงัวของทิพย์ช้าง ซึ่งได้สถาปนาว่า เวียงดิน อยู่ทางเหนือเมืองลำปาง) มุ่งตรงไปยังวัดพระธาตุลำปางหลวง ซึ่งท้าวมหายศตั้งพักไพร่พลอยู่ เจ้าทิพย์เทพบุญเรือน (ทิพย์ช้าง) ยกไปถึงนั้น เป็นเวลากลางคืนค่อนข้างดึกและโอบล้อมวัดพระธาตุลำปางหลวงไว้อย่างแข็งแรงทุกด้าน เมื่อจัดวางกำลังเรียงรายไว้โดยรอบแล้ว เจ้าทิพย์บุญเรือนก็ลอดคลานเข้าไปภายในวัดพระธาตุลำปางหลวงทางท้องร่องสำหรับระบายน้ำเวลาฝนตก (เป็นช่องระบายน้ำกว้างประมาณ ๑ ศอก อยู่ทางทิศตะวันตกและมีจนทุกวันนี้) และเข้าไปถึงภายในวัดโดยง่าย

เมื่อเจ้าทิพย์เทพบุญเรือนลอดเข้าไปถึงภายในวัดชั้นในแล้ว ก็เข้าไปถามยามรักษาการณ์ว่า ท้าวมหายศเมืองลำพูนอยู่ที่ไหน ยามรักษาการณ์ตอบว่า ท้าวมหายศอยู่ข้างทางในหมู่พลมีธุระสิ่งใดหรือ เจ้าทิพย์เทพบุญเรือนก็ตอบว่า ข้ามาจากเมืองลำพูน เจ้าแม่เทวี (หมายถึง ชายาท้าวมหายศ) ใช้ให้มาส่งหนังสือด่วน ยามรักษาการณ์ได้ฟังเช่นนั้นแล้วก็หลงเชื่อว่านึกเป็นความจริง จึงอนุญาตให้เจ้าหนานทิพย์เทพบุญเรือนเข้าไปหา ท้าวมหายศซึ่งกำลังเล่นหมากรุกกับทหารคนสนิทและนางบำเรอที่วิหารหลวงมุมตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อเจ้าหนานทิพย์บุญเรือนเห็นและแน่ใจว่าบุคคลตรงหน้านั้นคือ ท้าวมหายศ จึงคลานเข้าส่งหนังสือที่ปลอมมานั้นให้แก่ท้าวมหายศ เมื่อท้าวมหายศรับหนังสือนั้นแล้ว เจ้าทิพย์บุญเรือนก็ถอยออกมาได้ที่พอสมควร จึงยกปืนที่ถือไปนั้นยิงท้าวมหายศทันที ท้าวมหายศถูกกระสุนล้มลงขาดใจตายในวงหมากรุก

Rank: 8Rank: 8

แก้ไขล่าสุด pimnuttapa เมื่อ 2009-5-29 08:09  

DSC06496.jpg

รอยกระสุนปืน รั้วด้านหน้า พระบรมธาตุลำปางหลวง วัดพระธาตุลำปางหลวง ค่ะ

ประวัติปล่องหนานทิพย์ช้าง (ต่อ)


ลูกกระสุนที่ยิงท้าวมหายศยังทะลุไปถูกรั้วทองเหลืองของพระเจดีย์ (ตามที่เห็นอยู่ทุกวันนี้) แล้วเจ้าทิพย์เทพบุญเรือนก็รีบหลบหนีลอดออกไปตามช่องระบายน้ำที่เข้ามา แล้วนำทหารลำปางเข้าโจมตีทันที ทหารเมืองลำพูนไม่รู้เนื้อรู้ตัว ก็ถูกทหารลำปางฆ่าตายเป็นอันมาก ที่เหลือตายก็แตกพ่ายหนีไป เจ้าทิพย์เทพบุญเรือนยกทัพติดตามไปจนถึงดอยดินแดง (ดอยผีปันน้ำ) จึงเลิกทัพกลับ และแวะนมัสการพระที่วัดปงยางคก ซึ่งเป็นวัดที่เคยบวชเรียนอยู่ ต่อมาจึงมีประเพณีเมื่อถึงเทศกาลตานก๋วยสลาก (ทานสลากภัต) ประจำปี ต้องจัดที่วัดปงยางคกก่อนวัดอื่นในนครลำปาง และเลยมาขอขมาเทพารักษ์และพระธาตุลำปางหลวง เมื่อขับไล่ปราบกองทัพเมืองลำพูนแตกพ่ายหนีไปแล้ว พระมหาเถรเจ้าวัดพระแก้วชมพูพร้อมด้วยประชาราษฏรชาวเมืองทั้งหลายก็พร้อมใจกันตั้งพิธีปราบดาภิเษกสรงน้ำมุรธาภิเศกให้หนานทิพย์ช้างหรือเจ้าทิพย์เทพบุญเรือนสถาปนาให้เป็น “เจ้าสุละวะฤาไชยสงคราม” เจ้าผู้ครองนครลำปาง ในปี พ.ศ. ๒๒๗๕ (จุลศักราช ๑๐๙๒) ในครั้งนั้นนครลำปางปกครองตนเองเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อเชียงใหม่หรือกรุงศรีอยุธยา

ต่อมาพระเจ้าสุลวฤาไชยมีพระโอรส ๗ องค์ จึงถูกเรียกว่าราชวงศ์เจ้า ๗ ตน ได้ส่งพระโอรสไปปกครองหัวเมืองต่างๆ ภายหลังอาณาจักรทางเหนือก็ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าอีกประมาณ ๒๐๐ ปี จนถึงสมัย ร.๑ พญากาวิละได้ขอกำลังจากสยามไปช่วยรบกับพม่า ร.๑ จึงได้ส่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ไปช่วยรบจนได้ชัยชนะกลับมา อาณาจักรทางเหนือจึงยอมเข้าเป็นส่วนหนึ่งกับสยาม ร.๑ ทรงตั้งพญากาวิละขึ้นเป็นเจ้าเมืองปกครองเชียงใหม่ เป็นต้นตระกูล ณ เชียงใหม่ ค่ะ

Rank: 8Rank: 8

แก้ไขล่าสุด pimnuttapa เมื่อ 2009-5-29 08:11  

DSC06517.jpg

วิหารน้ำแต้ม วัดพระธาตุลำปางหลวง ค่ะ

ประวัติวิหารน้ำแต้ม คำว่า น้ำแต้ม แปลว่า ภาพเขียน วิหารน้ำแต้ม คือวิหารภาพเขียน ส่วนการสร้างนั้นไม่ปรากฏมีการกล่าวถึงอย่างชัดเจนอยู่ในตำนานและเอกสารใดๆ แต่จากข้อความที่ปรากฏในตำนานและศิลาจารึกทำให้เชื่อได้ว่า วิหารหลังนี้ควรจะสร้างขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ทั้งนี้มีข้อความที่ปรากฏในตำนานวัดพระธาตุลำปางหลวงและศิลาจารึกที่วัดพระธาตุลำปางหลวงกล่าวตรงกันว่าใน พ.ศ. ๒๑๐๖ ได้มีการหล่อ "พระเจ้าล้านทอง" ขึ้น ถัดนั้นมาก็ได้มีการหล่อพระพุทธรูปสำริดขึ้นองค์หนึ่ง น้ำหนักได้สามหมื่นทองแล้วนำมาประดิษฐานไว้ในวิหารด้านเหนือ ซึ่งวิหารในที่นี้ก็คือ วิหารน้ำแต้ม ที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือขององค์พระบรมธาตุ จากหลักฐานดังกล่าวทำให้สันนิษฐานได้ว่า วิหารน้ำแต้มควรจะสร้างขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการหล่อพระเจ้าล้านทองในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๒ เพื่อประดิษฐานพระเจ้าสามหมื่นทอง แต่บางแห่งก็เข้าใจว่าสร้างในสมัยพระเจ้าติโลกราชประมาณปี พ.ศ. ๒๐๔๔ เจ้าหาญแต่ท้องเป็นผู้สร้าง

Rank: 8Rank: 8

แก้ไขล่าสุด pimnuttapa เมื่อ 2009-5-29 08:13  

DSC06482.jpg

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม วิหารน้ำแต้ม วัดพระธาตุลำปางหลวง

วิหารน้ำแต้ม เป็นวิหารขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือขององค์พระธาตุลำปางหลวง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เป็นวิหารโถงขนาด ๕ ห้อง มีผนังปิดทึบเฉพาะห้องท้ายวิหารที่ยกเก็จออกไปเท่านั้น แผงผังของวิหารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มียกเก็จออกทางด้านหน้า ๒ ช่วง ด้านหลัง ๑ ช่วง ฐานเป็นพื้นปูนยกสูงขึ้นมาประมาณ ๓๐ เซนติเมตร โครงสร้างของวิหารเป็นแบบเสาคานรับน้ำหนักเสา วิหารมีทั้งเสาไม้และเสาปูน

กล่าวคือ เสาข้างวิหารทั้งสองด้านและเสากลางคู่หน้าสุด จะเป็นเสาปูนสี่เหลี่ยมจัตุรัส ส่วนเสาหลวงจะเป็นเสาไม้กลมตั้งเป็นคู่อยู่กลางวิหาร โครงสร้างหลังคาจะเป็นระบบที่ทางล้านนาเรียกว่า ขื่อม้าตั่งไหม หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินขอลดชั้นลงด้านหน้าสองชั้นด้านหลังหนึ่งชั้น ซึ่งสอดคล้องกับการย่อเก็จของส่วนฐานและลดหลังคาปีกนกด้านข้างลงข้างๆ ละหนึ่งตับ ชายคาของหลังคาด้านข้างคลุมลงมาต่ำมาก จึงทำให้รูปทรงของวิหารดูค่อนข้างเตี้ยซึ่งเข้าใจว่าเพื่อกันน้ำฝนและแสงแดด รวมทั้งยังมีฝาหยาบหรือคอสองช่วยปกป้องแสงแดดและน้ำฝนไว้อีกชั้นหนึ่ง

ห้องท้ายวิหาร ผนังจะก่ออิฐฉาบปูนสูงขึ้นไปจนจรดท้องขื่อทั้งสามด้าน ทำให้มีลักษณะเป็นห้องหรือกระเป่าก่อเป็นฐานยกสูงขึ้นประมาณ ๘๐ เซนติเมตร เต็มพื้นที่ สำหรับเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปไม้หลายองค์ บริเวณด้านหน้าของห้องท้ายวิหารจะมีฐานชุกชีขนาดเล็ก มีลักษณะเป็นฐานบัวลูกแก้วยกเก็จสองชั้นกว้างประมาณหนึ่งเมตรเศษ ต่อยื่นออกมา ตรงกึ่งกลางจากฐานห้องท้ายวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประธานของวิหารหลังนี้ ซึ่งก็คือ พระเจ้าสามหมื่นทอง

จากการตรวจสอบบริเวณรอยแตกที่ส่วนฐานห้องท้ายวิหารที่เป็นจุดเชื่อมต่อกับฐานชุกชีประดิษฐานพระเจ้าสามหมื่นทอง ได้พบว่า ส่วนของฐานห้องท้ายวิหารได้ก่อทับปิดส่วนหนึ่งของฐานชุกชีไว้ จึงเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ฐานที่ก่อปิดเต็มพื้นที่ของห้องท้ายวิหารนั้น เป็นสิ่งก่อสร้างที่ทำขึ้นใหม่ในภายหลัง แต่เดิมห้องท้ายวิหารน่าจะมีฐานแคบๆ อยู่ติดผนังปูนท้ายวิหารเป็นแนวยาวตลอดสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปต่างๆ โดยไม่มีส่วนใดเชื่อมต่อกับฐานชุกชีพระเจ้าสามหมื่นทองเลย ซึ่งการทำฐานติดกับผนังท้ายวิหารเช่นนี้ มีหลักฐานปรากฏอยู่ที่วิหารวัดเวียง และวิหารวัดปงยางคก

Rank: 8Rank: 8

แก้ไขล่าสุด pimnuttapa เมื่อ 2009-5-29 08:15  

DSC06490.jpg

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม วิหารน้ำแต้ม วัดพระธาตุลำปางหลวง (ต่อ)

จากร่องรอยของฐานชุกชีเดิมของพระเจ้าสามหมื่นทองที่ถูกก่อปิดทับนั้น ได้พบว่า บริเวณดังกล่าวของเดิมจะมีการทารัก (ชาด) เป็นสีพื้นไว้โดยไม่มีการประดับลวดลายใดๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ลวดลายปิดทองลายฉลุที่ประดับฐานชุกชีพระเจ้าสามหมื่นทอง ปัจจุบันนี้เป็นงานที่ทำขึ้นใหม่ในระยะหลัง และควรจะเป็นช่วงเวลาเดียวกับการก่อฐานเต็มพื้นที่ห้องท้ายวิหาร การซ่อมแซมทำขึ้นในช่วงใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่เมื่อพิจารณาถึงเงื่อนไขในทางประวัติศาสตร์และลักษณะของลวดลายที่ปรากฏแล้ว เชื่อว่าวิหารน้ำแต้มได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่วัดพระธาตุลำปางหลวงได้รับการทำนุบำรุงจากเจ้านายในสายตระกูลเชื้อเจ้าเจ็ดตนค่อนข้างมาก

ในการปฏิสังขรณ์ครั้งนั้น คงได้มีการเปลี่ยนตัวไม้โครงสร้างเครื่องบนใหม่เกือบทั้งหมด แต่ก็ไม่ได้มีการทำงานลายคำประดับตกแต่งใหม่แต่อย่างใด ดังนั้นที่บริเวณตัวไม้โครงสร้างหลังคาจึงไม่ปรากฏร่องรอยของงานลายคำอยู่เลย ยกเว้นขื่อบางตัวที่ไม่ได้ถูกเปลี่ยนออกไป ซึ่งยังคงเหลือร่องรอยให้เห็นว่า แต่เดิมโครงสร้างหลังคาของวิหารแห่งนี้จะมีงานศิลปกรรมลายคำประดับตกแต่งอยู่ด้วย นอกจากนี้ที่บริเวณหน้าแหนบหรือหน้าบันด้านในกับแผงคอสองและเสาปูนด้านข้างของวิหารได้พบมีภาพจิตรกรรมเขียนสีประดับอยู่ด้วย

ส่วนหน้าแหนบหรือหน้าบันทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เป็นช่องลูกฟักในแบบโครงสร้างม้าตั่งไหมที่เรียบๆ มีลวดลายสลักไม้เฉพาะที่กรอบช่องกลางเท่านั้น ตอนล่างลงมาของหน้าแหนบด้านหน้าเป็นโก่งคิ้วหรือรวงผึ้งเรียบๆ คันทวยเป็นไม้สลักลวดลายรูปพญาลวงประกอบกับลวดลายพรรณพฤกษาหลายรูปแบบ ป้านลมจะเป็นแบบไม้แผ่นตรง ปาดเรียบ ปิดหัวแป บริเวณปลายป้านลมชำรุด ช่อฟ้าด้านหน้าเป็นปูนปั้นมีลักษณะเป็นแท่งเหลี่ยมตั้งตรง ส่วนที่อยู่ด้านหลังจะเป็นดินเผา จึงทำให้เข้าใจว่า ของเดิมควรเป็นดินเผา ส่วนที่เป็นปูนนั้นคงจะเป็นส่วนที่ซ่อมแซมในภายหลัง ช่อฟ้าดังกล่าว มีลักษณะคล้ายคลึงกับช่อฟ้าดินเผาเคลือบในสมัยสุโขทัย สันหลังคาประดับด้วยแผ่นดินเผาที่ปั้นเป็นกระหนกตัวเหงาปักยึดติดกับปูนสันหลังคาตลอดแนว ทำหน้าที่คล้ายบราลี บริเวณกึ่งกลางสันหลังคาจะมีดินเผาแผ่นเดี่ยว ขนาดใหญ่กว่าดินเผาแผ่นอื่นๆ ทำรูปทรงและลวดลายเป็นพุ่มปลายแหลม ทำหน้าที่เป็นปราสาทเฟื้องค่ะ

Rank: 8Rank: 8

แก้ไขครั้งสุดท้าย: 2010-12-23 06:51 โดย pimnuttapa


DSC06489.jpg

พระเจ้าสามหมื่นทอง เป็นพระพุทธรูปสำริดลงรักปิดทองขนาดหน้าตักกว้าง ๒ ศอก ๑ คืบ สูง ๒ ศอก ๑ คืบ (กว้าง ๕๒ นิ้ว สูง ๗๑ นิ้ว) สร้างประมาณปี พ.ศ. ๒๐๔๔ โดยพระชายาของเจ้าหาญศรีธัตถะ มหาสุรมนตรี เป็นผู้สร้างถวาย ประดิษฐานเป็นพระประธานภายใน วิหารน้ำแต้ม วัดพระธาตุลำปางหลวง ค่ะ



‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2024-11-5 22:31 , Processed in 0.041377 second(s), 15 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.