แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
ดู: 10591|ตอบ: 0
go

ประวัติพระปชาบดีโคตมีเถรี [คัดลอกลิงค์]

Rank: 1

ประวัติ พระปชาบดีโคตมีเถรี
เอตทัคคะผู้รู้ราตรีนาน

พระปชาบดีโคตมีเถรีผู้ได้รับการแต่งตั้งจากพระบรมศาสดาให้เป็นยอดของภิกษุณีทั้งหลายผู้รู้ราตรีนาน ก็โดยเหตุ ๒ ประการ คือโดยเป็นผู้ยิ่งด้วยคุณ เพราะท่านแสดงให้ผู้อื่นเห็นเป็นอย่างชัดเจนในคุณข้อนี้ของท่าน และไม่เพียงเนื่องจากเหตุข้อนี้เท่านั้น แต่ยังเป็นการแต่งตั้งโดยเหตุที่ท่านได้ตั้งความปรารถนาไว้ตลอดแสนกัป ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับดังต่อไป
ตั้งความปรารถนาไว้ในอดีต
ในกัปที่แสนแต่กัปนี้ พระพิชิตมารพระนามว่าปทุมุตระได้เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว ครั้งนั้น ท่านพระปชาบดีโคตมีได้เกิดในสกุลอำมาตย์ ซึ่งสมบูรณ์ด้วยเครื่องอุปการะทุกสิ่ง เจริญ รุ่งเรืองร่ำรวย ในพระนครหังสวดี บางครั้ง ท่านพร้อมด้วยบิดามีหมู่ทาสีห้อมล้อม เข้าไปเฝ้าพระนราสภพระองค์นั้น พร้อมด้วยบริวารเป็นอันมาก ได้เห็นพระพิชิตมารทรงแสดงธรรมอยู่  แล้วเกิดจิตเลื่อมใส ได้เห็นพระผู้นำนรชนทรงตั้งพระภิกษุณีผู้เป็นพระมาตุจฉาไว้ในตำแหน่งผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายฝ่ายผู้รู้ราตรีนาน จึงถวายมหาทานและปัจจัยเป็นอันมาก แด่พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น พร้อมทั้งพระสงฆ์ ๗ วัน แล้วได้หมอบลงแทบพระบาท มุ่งปรารถนาตำแหน่งนั้น

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นได้ตรัสท่ามกลางบริษัทใหญ่ว่า สตรีใดได้นิมนต์พระผู้นำโลกพร้อมด้วยสงฆ์ให้ฉันตลอด ๗ วันเราจักพยากรณ์สตรีนั้น ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าว
ในกัปที่แสนแต่กัปนี้ พระศาสดาพระนามว่าโคดม ซึ่งทรงสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก สตรีผู้นี้จักได้เป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น จักเป็นโอรสอันธรรมนิรมิต จักได้เป็นพระสาวิกาของพระศาสดา มีนามว่าโคตมี จักได้เป็นพระมาตุจฉาบำรุงเลี้ยงชีวิตของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น จักได้ความเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายฝ่ายผู้รู้ราตรีนาน
ครั้งนั้น ท่านได้สดับพระพุทธพยากรณ์นั้นแล้ว มีใจปราโมทย์ บำรุงพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นด้วยปัจจัยทั้งหลายตราบเท่าสิ้นชีวิต
ในสมัยว่างพระพุทธเจ้าในระหว่างสมัยพระกัสสปพุทธเจ้ากับพระพุทธเจ้าแห่งเราทั้งหลาย
จุติจากเทวโลกในพุทธันดรหนึ่งอีก ไปบังเกิดเป็นภรรยาหัวหน้าทาส ผู้ปกครองทาส ๕๐๐ คน พระนางเป็นหัวหน้าทาสี ผู้ปกครองทาสี ๕๐๐ คน ในกรุงพาราณสี ทำงานด้วยกัน พักอยู่ในที่เดียวกัน. (หัวหน้าทาสในเวลานั้น มาเกิดเป็นพระนันทกเถระในพุทธุปปาทกาลนี้)

ครั้งนั้น สมัยเข้าพรรษา พระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ ลงจากเงื้อมเขานันทมูลกะ ไปที่ป่าอิสิปตนะ เที่ยวบิณฑบาตในกรุงแล้วกลับมาป่าอิสิปตนะ ท่านพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นทรงดำริว่า เราควรจักขอหัตถกรรมงานช่างฝีมือ เพื่อทำกุฎีสำหรับเข้าจำพรรษา เพราะผู้จะเข้าอยู่จำพรรษาในฤดูฝน ทั้งปฏิบัตินาลกปฏิปทา จำต้องเข้าอยู่ในเสนาสนะ ประจำ ที่มุงบังด้วยเครื่องมุงบัง ๕ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง สมจริงดังพระพุทธดำรัสนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่มีเสนาสนะไม่พึงเข้าอยู่จำพรรษา ภิกษุใดฝ่าฝืน ต้องอาบัติทุกกฏ ดังนี้ เพราะเหตุนั้น เมื่อ ใกล้ฤดูฝน จวนถึงกาลจะเข้าพรรษา ถ้าได้เสนาสนะนั่นก็บุญละ ถ้าไม่ได้ ก็จำต้องแสวงหาหัตถกรรมทำ เมื่อไม่ได้หัตถกรรม ก็พึงทำเสียเอง ภิกษุไม่มีเสนาสนะไม่ควรเข้าอยู่จำพรรษา นี้เป็นธรรมดาประเพณี เพราะเหตุนั้นพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นคิดว่า เราจำจักต้องขอหัตถกรรม จึงห่มจีวรเข้าไปสู่พระนครเวลาเย็น ยืนอยู่ที่ประตูเรือนของเศรษฐี
นางทาสีหัวหน้า ถือหม้อน้ำกำลังเดินไปท่าน้ำ เห็นเหล่าพระปัจเจกพุทธเจ้าเดินเข้าพระนคร
เศรษฐีรู้เหตุที่พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นมาแล้ว ก็กล่าวว่าข้าพเจ้าไม่มีเวลา โปรดไปเถิด
ลำดับนั้น ทาสีหัวหน้าถือหม้อน้ำจะเข้าไป เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นกำลังเดินจากพระนคร จึงลดหม้อน้ำลง แล้วไหว้อย่างนอบน้อม เผยปากถามว่า ทำไมหนอ พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย พอเข้าไปแล้วก็ออกไป
ท่านตอบว่า เราพากันมา ก็เพื่อขอหัตถกรรมงานสร้างกุฎีสำหรับอยู่จำพรรษา
นางจึงถามว่า ได้ไหมล่ะเจ้าข้า
ตอบว่า ไม่ได้ดอก อุบาสิกา
นางถามว่า จำเป็นหรือที่คน ใหญ่ ๆ เท่านั้นจึงจะทำกุฎีนั้นได้ หรือแม้คนยากจนก็ทำได้
ท่านตอบว่า ใคร ๆ ก็ทำได้
นางจึงกล่าวว่า ดีละเจ้าข้า พวกดิฉันจักช่วยกันทำ ขอโปรดรับอาหารของดิฉันในวันพรุ่งนี้
นิมนต์แล้ว ก็ถือหม้อน้ำพักไว้ที่ทางท่าน้ำที่มาแล้ว กล่าวกับนางทาสีทั้งหลายว่า พวกเจ้าจงอยู่ตรงนี้กันนะ
เวลาที่ทาสีเหล่านั้นมา ก็กล่าวว่า พวกเจ้าทั้งหลาย พวกเราจักทำงานเป็นทาสีสำหรับคนอื่นกันตลอดไปหรือ หรือว่า อยากจะพ้นจากการเป็นทาสีเขา
เหล่าทาสีก็ตอบว่า พวกเราอยากพ้นเสียวันนี้นี่แหละ แม่เจ้า
นางจึงกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น เหล่าพระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ ที่ยังไม่ได้หัตถกรรม เราก็นิมนต์ให้ฉันในวันพรุ่งนี้แล้ว พวกเจ้าจงให้สามีของพวกเจ้า ให้งานหัตถกรรมเสียวันหนึ่ง
เหล่าทาสีก็รับว่า ดีละ แล้ว บอกพวกสามี เวลาที่เขาออกมาจากดงเวลาเย็น สามีเหล่านั้นรับปากแล้วมาประชุมกันที่ประตูเรือนทาสีหัวหน้า
ครั้งนั้น ทาสีหัวหน้าจึงกล่าวว่า พ่อทั้งหลาย พรุ่งนี้พวกเจ้าจงถวายหัตถกรรมแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายด้วย แล้วบอกอานิสงส์ พร้อมกับขู่คนที่ไม่อยากจะทำด้วยโอวาทอันหนักหน่วงให้ทุกคนยอมรับ
รุ่งขึ้น นางถวายอาหารแก่เหล่าพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วให้การนัดหมายแก่ลูกทาสทุกคน ทันใดนั้นเอง ลูกทาสเหล่านั้นก็พากันเข้าป่า รวบรวมทัพพสัมภาระแล้ว สร้างกุฎีทีละหลังเป็นร้อย ๆ หลัง จัดบริเวณมีที่จงกรมเป็นต้น วางเตียง ตั่ง น้ำฉัน น้ำใช้เป็นต้นไว้
แล้วจึงอาราธนาพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายให้รับปฏิญญาที่จะอยู่จำพรรษา ณ ที่นั้นตลอดไตรมาส พร้อมทั้งให้จัดเวรถวายอาหาร ทาสีผู้ใดไม่อาจถวายในวันเวรของตนได้ ทาสีหัวหน้าก็นำอาหารจากเรือนตนถวายแทนทาสีผู้นั้น
ทาสีหัวหน้าบำรุงมาตลอดไตรมาสอย่างนี้ ครั้นสิ้นกาลเข้าพรรษาแล้ว ก็ให้ทาสีคนหนึ่งๆ จัดผ้าสาฎกคนละผืน รวมเป็นผ้าสาฎกเนื้อหยาบ ๕๐๐ ผืน นางให้เปลี่ยนแปลงผ้าสาฎกเนื้อหยาบเหล่านั้น ทำเป็นไตรจีวรถวายพระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายไปสู่เขาคันธมาทน์ทางอากาศทั้งที่ทาสีเหล่านั้นเห็นอยู่นั่นแล.
ทาสีเหล่านั้นทุกคนทำกุศลจนตลอดชีวิต ก็บังเกิดในเทวโลก ส่วนนางทาสีผู้เป็นหัวหน้า เมื่อจุติจากภพนั้นแล้ว ก็มาบังเกิดในเรือนของหัวหน้าช่างทอหูก ไม่ไกลกรุงพาราณสี ต่อมาวันหนึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ โอรสพระนางปทุมวดี (ต่อมาในพุทธุปปาทกาลนี้ พระนางปทุมวดีมาบังเกิดเป็น พระอุบลวรรณาเถรี) ที่พระเจ้ากรุงพาราณสีนิมนต์ไว้มาถึงประตูพระราชนิเวศน์ไม่พบคนใด ๆ ที่จะดูแล จึงกลับออกไปทางประตูกรุง ไปยังหมู่บ้านช่างทอหูกนั้น หญิงผู้นั้นเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย นึกเอ็นดู ก็ไหว้หมดทุกองค์แล้วถวายอาหาร พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ฉันอาหารเสร็จแล้ว ก็ไปสู่เขาคันธมาทน์อย่างเดิม.
ทาสทั้งพันคนนั้นที่ได้ทำกุศลมาด้วยกัน เมื่อตายแล้วก็เกิดในสวรรค์. นางทาสีทั้ง ๕๐๐ คนนั้น ในบางทีก็เกิดเป็นภรรยาของทาสทั้ง ๕๐๐ คนนั้น. บางทีแม้ทั้งหมดก็เกิดเป็นภรรยาของทาสผู้เป็นหัวหน้าเท่านั้น
ต่อมา ในกาลครั้งหนึ่งหัวหน้าทาสเคลื่อนจากเทวโลกมาบังเกิดในราชตระกูล. เทวกัญญาทั้ง ๕๐๐ นั้น ก็มาเกิดในตระกูลที่มีสมบัติมาก เมื่อเจ้าชายนั้นได้เสวยราชย์ก็นำหญิงเหล่านั้นไปสู่พระราชวังเป็นนางสนม
พวกนางท่องเที่ยวเวียนว่ายอยู่ในวัฎสงสารอยู่โดยทำนองนี้ ครั้นในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าของพวกเรา หัวหน้าทาสก็มาเกิดเป็นพระนันทกเถระ เอตทัคคมหาสาวกผู้ให้โอวาทสอนภิกษุณี พวกนางทาสทั้ง ๕๐๐ ก็มาเกิดในตระกูลกษัตริย์ในโกลิยนครบ้าง ในเทวทหนครบ้าง.ทั้งหมดต่างก็ได้เป็นชายาของเจ้าชายในพระราชวงศ์ทั้งหมด ซึ่งต่อมาเมื่อเกิดกรณีการวิวาทระหว่างสองนครเรื่องการแย่งชิงน้ำในแม่น้ำโรหิณี จนจะเกิดสงครามระหว่างสองพระนครขึ้น จนพระผู้มีพระภาคทรงต้องออกมาสงบศึก กษัตริย์ทั้งสองพระนครจึงได้ถวายเจ้าชายในราชตระกูล นครละ ๕๐๐ องค์ไห้ออกบวชตามเสด็จพระผู้มีพระภาค รายละเอียดในเรื่องนี้จะได้กล่าวต่อไป
มาเป็นราชธิดาในโกลิยวงศ์ในสมัยพระโคตมพุทธเจ้า
ในพุทธุปปาทกาลนี้ นางผู้เป็นหัวหน้าทาสีในครั้งนั้นก็มาถือปฏิสนธิในพระราชวังของพระเจ้ามหาสุปปพุทธะ กรุงเทวทหะ ก่อนพระศาสดาของเราบังเกิด เป็นกนิษฐภคินีของพระนางมหามายา ผู้เป็นพระพุทธมารดา ในวันขนานพระนาม พราหมณ์ทั้งหลายได้รับสักการะแล้ว เห็นพระลักษณสมบัติของพระนางแล้ว ได้พยากรณ์ว่า ถ้าพระนางนี้จักได้พระธิดา พระธิดาจักเป็นอัครมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ ถ้าจักได้พระโอรส พระโอรสจักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ พระปชาของพระนางจักเป็นผู้ยิ่งใหญ่ โดยประการแม้ทั้งสองนั้นเทียว ดังนี้ พระญาติทั้งหลายจึงได้ขนานพระนามของพระนางว่า ปชาบดี

พระเจ้าสุทโธทนมหาราชทรงมงคลอภิเษกกับพระนางทั้งสองพระองค์ เวลาที่ทรงเจริญวัยแล้วทรงนำไปอยู่พระราชนิเวศน์ของพระองค์ ต่อมา พระโพธิสัตว์ของเราจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต ทรงถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางมหามายาเทวี ในวันที่ ๗ ตั้งแต่วันที่พระโพธิสัตว์ประสูติแล้ว พระนางมหามายาเทวีก็สวรรคต บังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต พระเจ้าสุทโธทนมหาราชก็ทรงสถาปนาพระนางมหาปชาบดีโคตมี พระมาตุจฉาของพระมหาสัตว์ไว้ในตำแหน่งพระอัครมเหสี เวลานั้น นันทกุมารก็ประสูติ พระมหาปชาบดีนี้ ทรงมอบพระนันทกุมารแก่พระพี่เลี้ยงนางนมให้เป็นผู้ดูแลพระนันทกุมารผู้เป็นพระราชโอรสแท้ ๆ ส่วนพระองค์เองทรงประคบประหงมบำรุงพระโพธิสัตว์ด้วยพระองค์เอง
พระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระศาสนา
ครั้นเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกจากวังในวันที่พระนางยโธราพิมพาประสูติพระโอรสคือ ราหุลราชกุมาร บำเพ็ญเพียรจนเมื่อทรงตรัสรู้แล้ว ก็ได้เสด็จไปยังป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ได้ทรงแสดงพระธรรมจักรกับกัปปวัตนะสูตร โปรดภิกษุปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ต่อมา ทรงแสดงอนุปทาพิกถาโปรดกุลบุตรชื่อ "ยสะ" ซึ่งเป็นบุตรเศรษฐี ชาวเมืองพาราณสีให้ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ต่อแต่นั้นมา ๒-๓ วัน ทรงแสดงธรรมโปรดสหายของท่านยสะทั้ง ๕๔ คน ให้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

จากนั้นก็ได้ส่งพระสาวกทั้งหลายออกไปประกาศพระศาสนา ส่วนพระองค์เองได้เสด็จไปยังตำบลอุรุเวลา กรุงราชคฤห์ ระหว่างทางได้ทรงพบชายหนุ่มจำนวน ๓๐ คน เป็นสหายกันเรียกว่า ภัททวัคคีย์ ทรงแสดงธรรมโปรดให้บรรลุมรรคผล ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา แล้วทรงส่งไป ประกาศพระพุทธศาสนาทั้ง ๓๐ องค์
ตอนบ่ายวันนั้นพระพุทธองค์ก็เสด็จไปยังตำบลอุรุเวลาริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ณ ตำบลนี้พระองค์ได้ทรงโปรดชฎิล ๓ พี่น้องและบริวารทั้ง ๑,๐๐๐ รูปให้ได้บรรลุมรรคผล สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด
จากนั้นพระพุทธองค์ได้ทรงพาพระอรหันต์ผู้เป็นชฎิลจำนวน ๑,๐๐๐ รูป นั้นเสด็จไปยังกรุงราชคฤห์ นครหลวงแห่งแคว้นมคธ เพื่อแสดงธรรมโปรดพระเจ้าพิมพิสาร ตามที่ได้ทรงให้ปฏิญญาไว้เมื่อก่อนที่จะทรงตรัสรู้ พระเจ้าพิมพิสารทรงมีพระราชศรัทธาถวายพระเวฬุวัน นับเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา
ต่อมาถึง วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนมาฆะ (เดือน ๓) พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรด ปริพาชกซึ่งเป็นสหายกัน  ๒ คน คือ อุปติสสะ และ โกลิตะ พร้อมทั้งบริวารรวมทั้งตัวเองด้วยจำนวน ๒๕๐ คน ที่พระเวฬุวันวิหาร ประทานเอหิภิกขุสัมปทาถ้วนทุกคน ปริพาชกที่เป็นบริวารได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั่วทุกคน ส่วนอุปติสสะและโกลิตะผู้เป็นหัวหน้ายังมิได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในวันนั้น แต่ต่อมาไม่นานก็ได้บำเพ็ญเพียรจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ภายหลังพระพุทธองค์ทรงยกย่องพระอุปติสสะ เป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา คือ พระสารีบุตรอัครสาวก ยกย่องพระโกลิตะเป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้าย คือ พระมหาโมคคัลลานะอัครสาวก
หลังจากที่ได้ทรงเปิดประชุมจาตุรงคสันนิบาต ในตอนบ่ายแห่งวันเพ็ญเดือนมาฆะ และทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ต่อพระสงฆ์อรหันต์สาวกจำนวน ๑,๒๕๐ องค์ในที่ประชุมนั้นแล้ว ต่อจากนั้นมา พระพุทธองค์ได้ทรงส่งพระอริยสาวกจำนวน ๑,๒๕๐ องค์นั้นออกไปประกาศพระพุทธศาสนา
พระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบข่าว
กิตติศัพท์ได้เลื่องลือไปถึงกรุงกบิลพัสดุ์ว่า พระพุทธองค์เมื่อได้ตรัสรู้แล้ว และได้เสด็จจารึกโปรดเวไนยชนให้เลื่อมใสออกบวชเป็นพระสงฆ์ และเป็นอุบาสกอุบาสิกาจนได้สำเร็จมรรคผลเป็นจำนวนมาก และขณะนี้กำลังประทับอยู่ที่พระเวฬุวันวิหาร กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ

พระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดาทรงทราบกิตติศัพท์นั้นแล้ว จึงทรงส่งทูตมาทูลอาราธนาพระพุทธองค์ให้เสด็จไปกรุงกบิลพัสดุ์ คณะทูตทั้งหมดเมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าก็เลื่อมใส ขอบวชเป็นพระภิกษุและสำเร็จเป็นพระอรหันต์ทุกองค์ พระเจ้าสุทโธทนะได้ส่งทูตมาอย่างนี้อีก ๘ ครั้ง ทุกครั้งก็เป็นเช่นเดิมคือคณะทูตทั้งหมดออกบวชและสำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด และไม่มีผู้ใดทูลอาราธนาพระพุทธองค์ให้เสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ พระพุทธองค์จึงยังมิได้เสด็จ ต่อมา ย่างเข้าปีที่ ๒ นับแต่ตรัสรู้ พระเจ้าสุทโธทนะ จึงทรงส่งทูตมาอาราธนาอีก โดยทรงมอบให้กาฬุทายีอำมาตย์เป็นหัวหน้าคณะทูตที่มาคราวนี้ก็ได้บวชเป็นพระสงฆ์ และได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งคณะ
ครั้นย่างเข้าฤดูร้อน พระกาฬุทายีจึงทูลอาราธนาพระพุทธองค์เสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ตามคำอาราธนาของพระพุทธบิดา พระพุทธองค์พร้อมพระอริยสงฆ์จำนวน ๒ หมื่นรูป จึงได้เสด็จไปโดยมีพระกาฬุทายี เป็นผู้นำทางเสด็จดำเนินเป็นเวลา ๖๐ วันก็ถึงกรุงกบิลพัสดุ์ประทับอยู่ที่นิโครธรามใกล้ป่ามหาวันซึ่งพระญาติจัดไว้ถวาย ได้ทรงแสดงเวสสันดรชาดกโปรดพระประยูรญาติให้เลื่อมใส แล้วพระญาติพระวงศ์ต่างก็ลาเสด็จกลับโดยไม่มีแม้แต่พระองค์เดียวที่จะนิมนต์พระผู้มีพระภาคเพื่อรับบิณฑบาตในวันรุ่งขึ้น
พระผู้มีพระภาคเสด็จออกบิณฑบาตภายในกรุงกบิลพัสดุ์
วันรุ่งขึ้น พระศาสดาทรงแวดล้อมด้วยภิกษุสองหมื่นองค์ เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงกบิลพัสดุ์ มหาชนก็เล่าลือกันว่า ได้ยินว่า สิทธัตถราชกุมาร เที่ยวเดินไปตามบ้านต่าง ๆ เพื่อขอข้าว พระนางภัททากัจจานาได้ยินข่าวดังนั้นก็ทรงพระดำริว่า แต่ก่อน พระลูกเจ้าเสด็จเที่ยวไปด้วยวอทองอย่างยิ่งใหญ่ในพระนครนี้แหละ บัดนี้ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ถือบาตรเที่ยวไปเพื่อขอข้าว จะงามหรือหนอ จึงทรงเปิดสีหสัญชรทอดพระเนตรดูอยู่ ก็ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเสด็จพระดำเนินไปตามถนน จึงเสด็จไปกราบทูลแด่พระเจ้าสุทโธทนะว่า พระโอรสของพระองค์เสด็จเที่ยวไปตามบ้านเรือนเพื่อขอข้าว

พระราชาทรงสลดพระทัย ทรงเสด็จออกไปโดยเร็ว ประทับยืนเบื้องพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วตรัสว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะเหตุไร พระองค์จึงทรงกระทำหม่อมฉันให้ได้อาย เพื่ออะไร จึงเสด็จเที่ยวไปเพื่อก้อนข้าว ทำไมพระองค์จึงกระทำความสำคัญว่า ภิกษุทั้งหลายมีประมาณเท่านี้ไม่อาจได้ภัตตาหาร
พระศาสดาตรัสว่า มหาบพิตร อันนี้เป็นวงศ์ เป็นจารีตของอาตมภาพ
พระราชาตรัสว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันทั้งหลายมีวงศ์เป็นกษัตริย์มหาสมมตราชมิใช่หรือ ก็ในวงศ์กษัตริย์มหาสมมตราชนั้น แม้กษัตริย์พระองค์หนึ่งชื่อว่าเที่ยวไปเพื่อภิกขาจาร ย่อมไม่มี
พระศาสดาตรัสว่า มหาบพิตร ชื่อว่าวงศ์นี้เป็นวงศ์ของพระองค์ แต่ชื่อว่าพุทธวงศ์นี้ คือ พระทีปังกร พระโกณฑัญญะ พระกัสสปะ เป็นวงศ์ของอาตมภาพ และพระพุทธเจ้าอื่น ๆ นับได้หลายพันได้สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยการภิกขาจารเท่านั้น
ตรัสพระคาถาบทหนึ่งประทานแก่พระพุทธบิดา ในขณะที่ประทับยืนในระหว่างถนนนั้นแล เมื่อสิ้นพระคาถานั้น พระราชาดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล แล้วทรงรับบาตรของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงนิมนต์ให้เสด็จขึ้นสู่มหาปราสาท
พระนางมหาปชาบดีโคตมีบรรลุพระโสดาบัน
ในขณะนั้น พระนางมหาปชาบดีทรงเฝ้ารับเสด็จอยู่บนพระมหาปราสาทนั้น ณ ที่นั้นทรงตรัสพระคาถาอีกบทหนึ่งว่า ธมฺมญฺจเร  พึงประพฤติธรรม เป็นต้น.ยังพระนางมหาปชาบดี ให้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล ยังพระราชาให้ดำรงอยู่ในสกทาคามิผล จากนั้นพระราชาทรงอังคาสด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีต

พระนางมหาปชาบดีถวายผ้าห่ม
จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น เมื่อพระนางมหาปชาบดีโคตมี ทรงเห็นพระรูปของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ทรงพระดำริว่า พระอัตภาพของบุตรเรางดงามหนอดังนี้ ลำดับนั้น พระนางก็เกิดพระโสมนัสเป็นกำลัง แต่นั้น ทรงพระดำริว่าเมื่อบุตรของเราอยู่ในวังตลอด ๒๙ ปี เราก็ไม่เคยถวายสิ่งใด แม้สักว่าผลกล้วยเพียงผลเดียวนั้นเทียว บัดนี้เราจักถวายผ้าจีวรแก่บุตรนั้น.และยังทรงคิดต่อไปอีกว่า ก็ในกรุงราชคฤห์นี้มีผ้าราคาแพงมากมาย แต่การที่จะถวายผ้าที่ซื้อมาเหล่านั้นไม่ทำให้เราดีใจ สู้ผ้าที่เราทำเองนั้นไม่ได้ เราจำจะต้องทำผ้าเองถวาย ดังนี้.

ดังนั้นพระนางจึงทรงให้สร้างโรงงานทอผ้าในภายในพระราชวังนั้นเทียว ทรงให้เรียกช่างศิลป์ทั้งหลาย พระราชทานเครื่องบริโภค ขาทนียะและโภชนียะของพระองค์นั้นแลให้แก่ช่างศิลป์ทั้งหลายแล้วทรงให้ทอผ้า.พระนางพร้อมด้วยคณะพระพี่เลี้ยงนางนม เสด็จไปทอผ้าตามสมควรแก่กาลเวลา ก็ในวันนั้น พระนางมหาปชาบดีโคตมี เสด็จมาสู่โรงงานทอผ้าของศิลปินทั้งหลาย ทรงให้นำฝ้ายมาจากตลาด ทรงขยำ ทรงยีด้วยพระหัตถ์ กรอด้ายอย่างละเอียด แล้วทอเป็นผืนผ้า
ในกาลที่ผ้านั้นทอเสร็จแล้ว ทรงทำการสักการะใหญ่แก่ช่างศิลป์ทั้งหลายแล้ว ทรงใส่ผ้าคู่หนึ่งในหีบอันมีกลิ่นหอม ทรงให้ถือผ้า ทูลแด่พระราชาว่า หม่อมฉันจักถือผ้าจีวรไปถวายแก่บุตรเรา พระราชาตรัสสั่งให้เตรียมทางเสด็จ ราชบริวารทั้งหลายปัดกวาดถนน ตั้งหม้อน้ำเต็ม ยกธงผ้าทั้งหลาย ตกแต่งทางตั้งแต่พระทวารพระราชวังจนถึงพระวิหารนิโครธาราม ให้เกลื่อนกล่นด้วยดอกไม้ ฝ่ายพระนางมหาปชาบดีทรงประดับเครื่องอลังการทุกอย่าง พร้อมด้วยคณะพระพี่เลี้ยงนางนมแวดล้อมแล้ว ทรงทูนหีบผ้า เสด็จไปยังสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว กราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผ้าใหม่คู่นี้ เป็นของหม่อมฉัน หม่อมฉันกรอด้าย ทอเอง ตั้งใจอุทิศพระผู้มีพระภาค ขอพระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์ โปรดรับผ้าใหม่ทั้งคู่ของหม่อมฉันเถิด ฯ
เมื่อพระนางกราบทูลแล้วอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรโคตมี พระนางจงถวายสงฆ์เถิด เมื่อถวายสงฆ์แล้ว จักเป็นอันพระนางได้บูชาทั้งอาตมภาพและสงฆ์
พระนางมหาปชาบดีโคตมีได้กราบทูลอ้อนวอนว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันสามารถนำผ้าจีวรทั้งหลายจากคลังผ้าถวายแก่ภิกษุร้อยรูปบ้าง พันรูปบ้าง แต่ผ้าใหม่คู่นี้หม่อมฉันกรอด้ายเอง ทอเอง ตั้งใจอุทิศพระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดรับผ้าใหม่คู่นั้นของหม่อมฉันเถิด
พระนางกราบทูลอย่างนี้ถึง ๓ ครั้ง แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสห้ามอย่างนั้นทั้งสามครั้ง
ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงให้ถวายผ้าใหม่คู่ที่พระนางจะถวายแด่พระองค์ แก่พระภิกษุสงฆ์เล่า
ตอบว่า เพราะเพื่อทรงอนุเคราะห์พระมารดา ก็ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทรงมีพระดำริว่า เจตนา ๓ อย่างคือ บุพเจตนา มุญจนเจตนา อปราปรเจตนา ของพระนางมหาปชาบดีนี้ เกิดขึ้นปรารภเราแล้ว จงเกิดขึ้นปรารภพระภิกษุสงฆ์บ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้ เจตนาทั้ง ๖ อย่างก็จะรวมเป็นอันเดียวกัน จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขตลอดกาลนานแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมีนั้น ดังนี้
ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห้ามถึง ๓ ครั้งแล้ว ทรงให้ถวายแก่สงฆ์ทรงมุ่งหมายอะไร
ตรัสอย่างนั้น เพื่อชนรุ่นหลัง และเพื่อทรงให้เกิดความยำเกรงในสงฆ์ด้วย นัยว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระดำริอย่างนี้ว่า ตัวเรานั้นดำรงอยู่ไม่นาน แต่ศาสนาของเราจักตั้งอยู่ในพระภิกษุสงฆ์ ชนรุ่นหลังจงทำความยำเกรงในสงฆ์ให้เกิดขึ้น ดังนี้ จึงทรงห้ามถึง ๓ ครั้งแล้ว ทรงให้ถวายสงฆ์.ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น พระศาสดาจึงทรงให้ถวายผ้าใหม่คู่หนึ่งที่พระนางจะถวายแด่พระองค์ให้แก่สงฆ์ ทักขิไณยบุคคลชื่อว่า สงฆ์ เพราะฉะนั้น ชนรุ่นหลังทำความยำเกรงให้เกิดขึ้นในสงฆ์ จักเห็นว่าปัจจัยสี่เป็นสิ่งพึงถวายสงฆ์ เมื่อไม่ลำบากด้วยปัจจัยสี่ สงฆ์ก็จักเรียนพระพุทธวจนะ ทำสมณธรรม เมื่อเป็นอย่างนั้น ศาสนาของเราจักตั้งอยู่ถึง ๕,๐๐๐ ปี ดังนี้
พระนางมหาปชาบดีโคตมีทรงพรรพชาเป็นพระภิกษุณี
ต่อมา พระศาสดา ทรงอาศัยกรุงเวสาลีประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา สมัยนั้น พระเจ้าสุทโธทนมหาราช ทรงทำให้แจ้งพระอรหัตแล้วปรินิพพาน ภายใต้พระมหาเศวตฉัตร.

ครั้งนั้น พระนางมหาปชาบดี เกิดว้าเหว่พระหฤทัยปรารถนาจะทรงผนวช  ก็ประจวบเกิดเหตุที่ชาวพระนครทั้ง ๒ คือ เมืองกบิลพัสดุ์ กับเมืองโกลิยะ ทะเลาะกันในเรื่องการแย่งน้ำในแม่น้ำโรหิณีที่ไหลผ่านระหว่างนครทั้งสอง จนถึงขั้นจะรบกัน พระศาสดาจึงได้เสด็จไปเทศนาอัตตทัณทสูตรโปรดหมู่พระญาติในระหว่างเมืองทั้งสองให้เข้าใจกัน เจ้าทั้งหลายทรงเลื่อมใสแล้วจึงได้มอบถวายพระกุมารฝ่ายละ ๒๕๐ องค์ให้บวชตามเสด็จพระผู้มีพระภาค ครั้นเมื่อบวชแล้ว พระชายาของท่านเหล่านั้นก็ได้ส่งข่าวไปยังพระภิกษุหนุ่มเหล่านั้น ทำให้ท่านเหล่านั้นเกิดความไม่ยินดีในเพศสมณะ. พระศาสดาทรงทราบว่า ภิกษุเหล่านั้นเกิดความเบื่อหน่ายในสมณวิสัย จึงทรงนำภิกษุหนุ่ม ๕๐๐ รูปเหล่านั้นไปสู่สระชื่อว่ากุณาละ ประทับนั่งบนแผ่นหินที่ทรงเคยประทับนั่งในครั้งที่พระองค์เสวยพระชาติเป็นนกดุเหว่า. ทรงเทศนาด้วยเรื่องกุณาลชาดกเพื่อบรรเทาความไม่ยินดีของภิกษุเหล่านั้นลงจบเทศนาพระภิกษุหนุ่มทั้งหมดนั้นดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล แล้วทรงนำกลับมาสู่ป่ามหาวันอีกครั้งหนึ่ง ทรงกระทำพระภิกษุเหล่านั้นให้ดำรงอยู่ในพระอรหัตตผล
ฝ่ายพระชายาของพระภิกษุเหล่านั้น เมื่อได้ส่งข่าวไปเพื่อจะดูใจพระภิกษุเหล่านั้นว่ายังปรารถนาในเพศคฤหัสถ์อยู่หรือไม่ ก็ได้รับคำตอบไปว่า พวกเราไม่ปรารถนาที่จะครองเรือน. พระนางเหล่านั้นทรงดำริว่า เมื่อเป็นอย่างนั้นก็ไม่มีประโยชน์อันใดที่พวกเราจะกลับไปยังเรือน เราจะไปเข้าเฝ้าพระนางมหาปชาบดีเพื่อขออนุญาตบรรพชา แล้วจักออกบวช. พระชายาทั้ง ๕๐๐ นางจึงเข้าไปเฝ้าพระนางมหาปชาบดีทูลว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า ขอพระแม่เจ้าโปรดอนุญาตให้หม่อมฉันทั้งหลายบวชเถิด
พระนางมหาปชาบดีเองก็ทรงปรารถนาที่จะออกบวชอยู่แล้ว จึงได้พาสตรีเหล่านั้นไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
พระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาตให้สตรีบวช
โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตกรุงกบิลพัสดุ์ ในสักกะชนบท ครั้งนั้น พระนางมหาปชาบดีโคตมีเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ขอประทานวโรกาส พระพุทธเจ้าข้า ขอสตรีพึงได้ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว

พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามว่า อย่าเลย โคตมี เธออย่าชอบใจ การที่สตรี ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วเลย
แม้ครั้งที่สอง และ ครั้งที่สาม ที่พระนางทูลอ้อนวอนต่อพระผู้มีพระภาคเพื่อทรงอนุญาตให้สตรีบวชได้ แต่พระผู้มีพระภาคก็ทรงห้ามเสียทั้งสามครั้ง
ครั้งนั้น พระนางมหาปชาบดีโคตมี ทรงน้อยพระทัยว่า พระผู้มีพระภาค ไม่ทรงอนุญาตให้สตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว มีทุกข์ เสียพระทัย มีพระพักตร์นองด้วยน้ำพระเนตร ทรงกันแสง พลางถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณ เสด็จกลับไป ฯ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในกรุงกบิลพัสดุ์ ตาม พระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จหลีกจาริกทางพระนครเวสาลี เสด็จจาริกโดยลำดับ ถึงพระนครเวสาลี ข่าวว่า พระองค์ประทับอยู่ที่กูฏาคารสาลาป่ามหาวัน เขตพระนครเวสาลีนั้น
พระนางมหาปชาบดีโคตมีทรงถือเพศบรรพชาด้วยพระองค์เอง
ครั้งนั้น พระนางมหาปชาบดีโคตมีให้ปลงพระเกสา ทรงพระภูษาย้อมฝาด พร้อมด้วยนางสากิยานีมากด้วยกัน เสด็จตามพระพุทธองค์ไปทางพระนครเวสาลี เสด็จถึงเมืองเวสาลี กูฏาคารสาลาป่ามหาวัน โดยลำดับ เวลานั้นพระนางมีพระบาททั้งสองพอง มีพระวรกายเกลือกกลั้วด้วยธุลี มีทุกข์ เสียพระทัย มีพระพักตร์นองด้วยน้ำพระเนตร ได้ประทับยืนกันแสงอยู่ที่ซุ้มพระทวารภายนอก

ได้ยินว่าพระนางมหาปชาบดีได้มีความคิดอย่างนี้ว่า เรานี้ ทั้ง ๆ ที่พระตถาคตไม่ทรงอนุญาตแล้ว ก็ถือเพศบรรพชาด้วยตนเองทีเดียว แล้วก็ความที่เราถือเพศบรรพชาอย่างนี้ เกิดปรากฏเป็นที่ทราบไปทั่วชมพูทวีปแล้ว ถ้าพระศาสดาทรงอนุญาตบรรพชาไซร้ ข้อนั้นเป็นการดี แต่ถ้าพระองค์จักไม่ทรงอนุญาตไซร้ จักมีความครหาอย่างใหญ่หลวง พระนางทรงปริวิตกอย่างนี้จึงไม่อาจจะเข้าไปยังวิหาร ได้ยืนทรงกรรแสงอยู่.
ท่านพระอานนท์ได้เห็นพระนางมหาปชาบดีโคตมี มีพระบาททั้งสองพอง มีพระวรกายเกลือกกลั้วด้วยธุลี มีทุกข์ เสียพระทัย มีพระพักตร์นองด้วยน้ำพระเนตร ประทับยืนกันแสงอยู่ที่ซุ้มพระทวารภายนอก จึงได้ถามถึงสาเหตุกับพระนาง
พระนางตอบว่า พระอานนท์เจ้าข้า เพราะพระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาต ให้สตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
พระอานนท์กล่าวว่า ดูกรโคตมี ถ้าเช่นนั้น พระนางจงรออยู่ที่นี่แหละ สักครู่หนึ่ง จนกว่าอาตมาจะทูลขอพระผู้มีพระภาคให้ทรงอนุญาตให้สตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตได้
พระอานนทเถระทูลขออนุญาตให้สตรีบวชได้ต่อพระศาสดาถึง ๓ ครั้ง
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า พระนางมหาปชาบดีโคตมีนั้น มีพระบาททั้ง ๒ พอง มีพระวรกายเกลือกกลั้วด้วยธุลี มีทุกข์ เสียพระทัย มีพระพักตร์นองด้วยน้ำพระเนตร ประทับยืนกันแสงอยู่ที่ซุ้มพระทวารภายนอก ด้วยน้อยพระทัยว่า พระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาตให้สตรีออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิต ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว ขอประทานวโรกาส ขอสตรีสามารถออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตได้เถิด พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามว่า อย่าเลย อานนท์ เธออย่าชอบใจ การที่สตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วเลย
แม้ครั้งที่สอง และครั้งที่สาม ที่ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลอ้อนวอนต่อพระผู้มีพระภาค แต่พระองค์ก็ยังทรงห้ามเสียทั้งสามครั้ง
พระอานนท์ทูลขออนุญาตโดยอ้างเหตุผลแห่งความสามารถของสตรี
ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ได้มีความคิดดังนี้ว่า พระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาตให้มาตุคามออกบวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว ผิฉะนั้น เราพึงทูลขอพระผู้มีพระภาคให้มาตุคามออกบวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้วโดยปริยายอื่น

ท่านพระอานนท์จึงได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญมาตุคามออกบวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว สามารถจะทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล หรืออรหัตผลได้หรือไม่ พระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ มาตุคามออกบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว สามารถทำให้แจ้งแม้โสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตผลได้ ฯ
พระอานนทเถระทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ถ้าสตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว สามารถเพื่อทำให้แจ้งแม้ซึ่งโสดาปัตติผล สกิทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตผลได้ พระพุทธเจ้าข้า พระนางมหาปชาบดีโคตมี พระมาตุจฉาของพระผู้มีพระภาค ทรงมีอุปการะมาก ทรงประคับประคอง เลี้ยงดู ทรงถวายขีรธารา เมื่อพระชนนีสวรรคต ได้ให้พระผู้มีพระภาคเสวยขีรธารา ขอประทานวโรกาส ขอสตรีพึงได้การออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ฯ
ทรงกำหนดครุธรรม ๘ ประการเป็นเงื่อนไข
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรอานนท์ ถ้าพระนางมหาปชาบดีโคตมี ทรงรับครุธรรม ๘ ประการ นั่นแหละเป็นอุปสมบทของพระนาง คือ :

๑. ภิกษุณีอุปสมบทแล้ว ๑๐๐ ปี ต้องกราบไหว้ ลุกรับ ทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรมแก่ภิกษุที่อุปสมบทในวันนั้น ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต
๒. ภิกษุณีไม่พึงอยู่จำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต
๓. ภิกษุณีต้องหวังธรรม ๒ ประการ คือ ถามวันอุโบสถ ๑ เข้าไปฟังคำสั่งสอน ๑ จากภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต
๔. ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้ว ต้องปวารณาในสงฆ์สองฝ่าย โดยสถานทั้ง ๓ คือ โดยได้เห็น โดยได้ยิน หรือโดยรังเกียจ ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต
๕. ภิกษุณีต้องธรรมที่หนักแล้ว ต้องประพฤติปักขมานัตในสงฆ์ ๒ ฝ่าย ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต
๖. ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทาในสงฆ์ ๒ ฝ่าย เพื่อสิกขมานาผู้มีสิกขา อันศึกษาแล้วในธรรม ๖ ประการครบ ๒ ปีแล้ว ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต
๗. ภิกษุณีไม่พึงด่า บริภาษภิกษุ โดยปริยายอย่างใดอย่างหนึ่ง ธรรม แม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต
๘. ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ปิดทางไม่ให้ภิกษุณีทั้งหลายสอนภิกษุ เปิดทาง ให้ภิกษุทั้งหลายสอนภิกษุณี ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต
ดูกรอานนท์ ก็ถ้าพระนางมหาปชาบดีโคตมี ยอมรับครุธรรม ๘ ประการนี้ ข้อนั้นแหละจงเป็นอุปสัมปทาของพระนาง ฯ
พระอานนทเถระทูลเรื่องครุธรรม ๘ ประการต่อพระนางมหาปชาบดีโคตมี
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์รับทราบครุธรรม ๘ ประการที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติ แล้วเข้าไปหาพระนางมหาปชาบดีโคตมี ชี้แจงว่า ถ้าพระนางยอมรับครุธรรม ๘ ประการ ข้อนั้นแหละจักเป็นอุปสัมปทาของพระนาง
พระนางมหาปชาบดีโคตมีกล่าวว่า ข้าแต่ท่านพระอานนท์ ดิฉันยอมรับ ครุธรรม ๘ ประการนี้ ไม่ละเมิดตลอดชีวิต เปรียบเหมือนหญิงสาว หรือชายหนุ่ม ที่ชอบการแต่งกาย เมื่ออาบน้ำสระเกล้าแล้ว ได้พวงอุบล พวงมะลิ หรือพวงลำดวนมาแล้ว ก็พึงประคองรับด้วยมือทั้งสอง ตั้งไว้เหนือเศียรเกล้าฉะนั้น ฯ
เหตุให้พรหมจรรย์ไม่ตั้งอยู่นาน
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า พระนางมหาปชาบดีโคตมี ยอมรับครุธรรม ๘ ประการแล้ว พระมาตุจฉาของพระผู้มีพระภาคอุปสมบทแล้ว
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ก็ถ้าสตรีจักไม่ได้ออกจากเรือนบวช เป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว พรหมจรรย์จักตั้งอยู่ได้นาน สัทธรรมจะพึงตั้งอยู่ได้ตลอดพันปี ก็เพราะสตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว บัดนี้ พรหมจรรย์จักไม่ตั้งอยู่ได้นาน สัทธรรมจักตั้งอยู่ได้เพียง ๕๐๐ ปีเท่านั้น
ดูกรอานนท์ สตรีได้ออกจากเรือนบวชเป็น บรรพชิตในธรรมวินัยใด ธรรมวินัยนั้นเป็นพรหมจรรย์ไม่ตั้งอยู่ได้นาน เปรียบเหมือนตระกูลเหล่าใดเหล่าหนึ่งที่มีหญิงมาก มีชายน้อย ตระกูลเหล่านั้นถูกพวก โจรผู้ลักทรัพย์กำจัดได้ง่าย
อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนหนอนขยอกที่ลงใน นาข้าวสาลีที่สมบูรณ์ นาข้าวสาลีนั้นไม่ตั้งอยู่ได้นาน
อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือน เพลี้ยที่ลงในไร่อ้อยที่สมบูรณ์ ไร่อ้อยนั้นไม่ตั้งอยู่ได้นาน
ดูกรอานนท์ บุรุษกั้น ทำนบแห่งสระใหญ่ไว้ก่อน เพื่อไม่ให้น้ำไหลไป แม้ฉันใด เราบัญญัติครุธรรม ๘ ประการแก่ภิกษุณี เพื่อไม่ให้ภิกษุณีละเมิดตลอดชีวิต ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ
พุทธานุญาตให้อุปสมบทภิกษุณี
ครั้งนั้น พระมหาปชาบดีโคตมีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถวาย บังคม ได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้พระนางมหาปชาบดีโคตมีเห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว ทีนั้นพระนางมหาปชาบดีโคตมี จึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคทำประทักษิณกลับไป
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงนำเหตุที่เกิดนั้น มาบัญญัติเป็นพระพุทธานุญาต โดยทรงมีรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายอุปสมบทภิกษุณี ฯ
เหล่าพระภิกษุณีเข้าใจการอุปสมบทของพระมหาปชาบดีโคตมีคลาดเคลื่อน
เมื่อได้ทรงมีพระพุทธบัญญัติอย่างนั้นแล้ว เหล่าสตรีอื่นก็ได้อุปสมบทโดยพระภิกษุเป็นพระภิกษุณี ตามที่มีพระพุทธานุญาต ต่อมาภิกษุณีเหล่านั้นได้กล่าวกะพระมหาปชาบดีโคตมีว่า พระแม่เจ้ายังไม่ได้อุปสมบท แต่พวกดิฉันอุปสมบทแล้ว เพราะพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้อย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลายพึงให้อุปสมบทภิกษุณี
ครั้นกล่าวอย่างนั้นแล้ว ภิกษุณีทั้งหลายประพฤติรังเกียจอยู่ย่อมไม่ทำอุโบสถ ไม่ทำปวารณาร่วมกับพระนางเลย
ลำดับนั้น พระมหาปชาบดีโคตมีเข้าไปหาท่านพระอานนท์ อภิวาทแล้วได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้ว กล่าวว่า ท่านพระอานนท์ ภิกษุณีเหล่านั้นพูดกะดิฉันอย่างนี้ว่า พระแม่เจ้ายังไม่ได้อุปสมบท แต่พวกดิฉันอุปสมบทแล้ว เพราะพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้อย่าง นี้ว่า ภิกษุทั้งหลายพึงให้อุปสมบทภิกษุณี ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
พระศาสดาทรงสดับคำของท่านพระอานนท์แล้ว จึงตรัสว่า "ครุธรรม ๘ ประการ เราให้แล้วแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมี เราเองเป็นอาจารย์ เราเองเป็นอุปัชฌายะของพระนาง
ดูกรอานนท์ พระมหาปชาบดีโคตมี รับครุธรรม ๘ ประการ แล้วในกาลใด พระนางชื่อว่าอุปสมบทแล้วในกาลนั้นทีเดียว
ชื่อว่าความรังเกียจในพระขีณาสพทั้งหลาย ผู้เว้นแล้วจากทุจริตทั้งหลายมีกายทุจริตเป็นต้น อันเธอทั้งหลายไม่ควรทำ"
พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาตพรที่พระเถรีทูลขอ
ครั้งนั้น พระมหาปชาบดีโคตมี เข้าไปหาท่านพระอานนท์ อภิวาท ได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกล่าวว่า ท่านพระอานนท์ ดิฉันจะทูลขอ พรอย่างหนึ่งกะพระผู้มีพระภาคว่า ขอประทานพระวโรกาส พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาตการกราบไหว้ การลุกรับ การทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่ภิกษุและภิกษุณี ตามลำดับผู้แก่
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วกราบทูลเรื่องดังกล่าวแด่พระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ข้อที่ตถาคตจะอนุญาตการกราบไหว้ การลุกรับ การทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่มาตุคามนั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส เพราะพวกอัญญเดียรถีย์ที่มีธรรมอันกล่าวไม่ดีแล้วเหล่านี้ ยังไม่กระทำการกราบไหว้ การลุกรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรมแก่มาตุคาม ก็ไฉนเล่า ตถาคตจักอนุญาตการกราบไหว้ การลุกรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรมแก่มาตุคาม
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงทำการกราบไหว้ การลุกรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่มาตุคาม รูปใดทำ ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ

‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2024-11-16 16:56 , Processed in 0.044047 second(s), 14 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.