แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
ดู: 11518|ตอบ: 2
go

อรรถกถานันทโกวาทสูตร [คัดลอกลิงค์]

Rank: 1

อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สฬายตนวรรคนันทโกวาทสูตร
๔. อรรถกถานันทโกวาทสูตรนันทโกวาทสูตรขึ้นต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:-
ในสูตรนั้น คำว่า ก็โดยสมัยนั้นแล ความว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงได้รับการขอร้องจากพระมหาปชาบดีโคตมีแล้ว ก็ทรงส่งภิกษุณีสงฆ์ไปแล้วรับสั่งให้ภิกษุสงฆ์เข้าประชุม ทรงกระทำภาระแก่สงฆ์ว่า ภิกษุทั้งหลายที่เป็นเถระจงเปลี่ยนเวรกันสอนพวกภิกษุณี พระอานนท์กล่าวหมายเอาความข้อนั้น จึงกล่าวคำนี้.
ในสูตรนั้น คำว่า ปริยาเยน หมายถึง โดยวาระ.
คำว่า ไม่ปรารถนา คือ เมื่อถึงเวรของตนแล้ว ผู้สอนภิกษุณีจะไปบ้านไกล หรือเอาเข็มมาเย็บผ้าเป็นต้น แล้วสั่งให้พูดแทนว่า นี้คงจะเป็นความล่าช้าของภิกษุนั้น แต่การเปลี่ยนเวรกันสอนนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงกระทำภาระ เพราะเหตุแห่งพระนันทกเถระเท่านั้น.
เพราะเหตุไร เพราะเมื่อพวกภิกษุณีเหล่านี้ได้เห็นพระเถระแล้ว จิตก็จะเลื่อมใสแน่วแน่. เพราะเหตุนั้น พวกนางภิกษุณีเหล่านั้นจึงอยากรับคำสอนของท่าน ประสงค์จะฟังธรรมกถา ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ทรงทำโอวาทโดยวาระว่า เมื่อถึงเวรของตนแล้ว นันทกะจะแสดงโอวาทจะกล่าวธรรมกถา ฝ่ายพระเถระไม่ยอมทำเวรของตน.
หากมีคำถามว่า เพราะเหตุไร
ก็ตอบว่า นัยว่าภิกษุณีเหล่านั้น เมื่อพระเถระเสวยราชสมบัติในชมพูทวีปเมื่อชาติก่อน เป็นนางสนม. พระเถระได้ทราบเหตุการณ์นั้นด้วยบุพเพนิวาสญาณ จึงคิดว่า ภิกษุอื่นที่ได้บุพเพนิวาสญาณ เมื่อได้เห็นเรานั่งกลางภิกษุณีสงฆ์นี้ชักเอาข้อเปรียบเทียบและเหตุการณ์ต่างๆ มากล่าวธรรมอยู่ ก็จะพึงมองเหตุการณ์นี้แล้วสำคัญคำที่จะพึงกล่าวว่า ท่านนันทกะไม่ยอมทิ้งพวกนางสนมจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ท่านนันทกะที่มีนางสนมห้อมล้อมนี้ ช่างงามแท้. เมื่อพิจารณาเห็นความข้อนี้ พระเถระจึงไม่ยอมทำเวรของตน.
และเล่ากันมาว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า ธรรมเทศนาของพระเถระเท่านั้น จึงจะเป็นที่สบายแก่ภิกษุณีเหล่านี้ จึงรับสั่งเรียกพระนันทกะมาในครั้งนั้นแล. เพื่อรู้ว่าภิกษุณีเหล่านั้นเมื่อชาติก่อนเป็นนางสนมของพระเถระมา จึงมีเรื่องดังต่อไปนี้.
มีเรื่องเล่ากันมาว่า ครั้งก่อน ที่กรุงพาราณสีมีพวกทำงานด้วยลำแข้งอยู่ ๑,๐๐๐ คน คือ ทาส ๕๐๐ คน ทาสี ๕๐๐ คน ทำงานด้วยกัน พักอยู่ในที่เดียวกัน. พระนันทกเถระนี้เป็นหัวหน้าทาสในเวลานั้น พระโคตมีเป็นหัวหน้าทาสี นางเป็นภรรยาที่ฉลาดสามารถของหัวหน้าทาส. แม้พวกทำงานด้วยลำแข้งทั้ง ๑,๐๐๐ คน เมื่อจะทำบุญกรรม ก็ทำด้วยกัน. ต่อมาเวลาเข้าพรรษา มีพระปัจเจกพุทธเจ้า ๕ องค์ จากเงื้อมเขานันทมูลกะมาลงที่อิสิปตนะ เที่ยวบิณฑบาตในกรุงแล้วก็ไปสู่อิสิปตนะนั่นแหละ คิดว่า พวกเราจะขอหัตถกรรมเพื่อประโยชน์แก่กุฏิอยู่จำพรรษา ห่มจีวรเข้าไปสู่กรุงในตอนเย็น ยืนที่ประตูเรือนเศรษฐี. นางหัวหน้าทาสี กระเดียดหม้อน้ำไปท่าน้ำได้เห็นพวกพระปัจเจกพุทธเจ้าที่กำลังเข้าสู่กรุง. เศรษฐีได้ฟังเหตุการณ์ที่พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นมา ก็พูดว่า พวกเราไม่มีเวลาว่างนิมนต์ไปเถอะ.
ครั้งนั้น นางหัวหน้าทาสี กำลังทูนหม้อน้ำเข้าไปก็เห็นพวกพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นกำลังออกมาจากกรุง จึงยกหม้อน้ำลงน้อมไหว้ ปิดหน้าแล้วทูลถามว่า พวกพระผู้เป็นเจ้าสักว่าเข้าสู่กรุงแล้วก็ออกมา อะไรกันหนอ.
ปัจ. พวกอาตมา มาเพื่อขอหัตถกรรมแห่งกุฏิจำพรรษา.
ทา. ได้หรือเปล่า เจ้าคะ.
ปัจ. ไม่ได้หรอก อุบาสิกา.
ทา. ก็แหละกุฏินั้น พวกคนใหญ่คนโตเท่านั้นจึงจะทำได้ หรือแม้แต่พวกคนยากจนก็ทำได้.
ปัจ. ใครผู้ใดผู้หนึ่งอาจทำได้.
ทา. ดีล่ะ เจ้าค่ะ พวกดิฉันจะทำถวาย พรุ่งนี้นิมนต์รับภิกษาของดิฉันนะคะ นิมนต์ไว้แล้วก็เอาน้ำไป แล้วกระเดียดหม้อน้ำมายืนที่ทางท่าน้ำอีก พูดกับพวกทาสีที่เหลือซึ่งพากันมาแล้วว่า พวกเธอจงอยู่นี้แหละ ในเวลาที่ทุกคนมาแล้วก็พูดว่า แม่ นี่พวกเธอจะทำงานเป็นขี้ข้าคนอื่นตลอดไปหรือ หรืออยากจะพ้นจากความเป็นขี้ข้า. พวกทาสีตอบว่า อยากจะพ้นในวันนี้แหละ แม่เจ้า. นางจึงว่า ถ้าเมื่อเป็นอย่างนั้น พรุ่งนี้ฉันได้นิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้ง ๕ องค์ที่ไม่ได้หัตถกรรมมาฉัน ขอให้พวกเธอจงให้พวกสามีของพวกเธอให้หัตถกรรมสักวันเถิด. พวกนางเหล่านั้นก็รับว่า ได้ แล้วก็บอกแก่สามีในเวลาที่มาจากดงในตอนเย็น.
พวกเขาก็รับว่า ตกลง แล้วก็พากันไปประชุมที่ประตูเรือนของพวกหัวหน้าทาส. ลำดับนั้น นางหัวหน้าทาสีกล่าวกะพวกเขาเหล่านั้นว่า พ่อทั้งหลาย พรุ่งนี้ขอให้พวกคุณจงให้หัตถกรรมแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายเถิดนะคะ แล้วก็บอกอานิสงส์ ขู่แล้ว ปกป้องพวกที่ไม่อยากทำด้วยโอวาทที่หนักแน่น.
วันรุ่งขึ้น นางได้ถวายอาหารแด่พวกพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วให้สัญญาณแก่พวกลูกทาสทุกคน. ทันใดนั้น พวกลูกทาสเหล่านั้นก็เข้าป่า รวบรวมเครื่องเคราร้อยก็ทั้งร้อย สร้างกุฏิกันแต่ละหลังๆ มีบริวารคือที่จงกรมเป็นต้นหลังละแห่งๆ วางเตียง ตั่ง น้ำดื่มและภาชนะสำหรับใส่ของที่ต้องฉันเป็นต้นไว้ ขอให้พวกพระปัจเจกพุทธเจ้าทำปฏิญญาเพื่อประโยชน์อยู่ในกุฏินั้นตลอดสามเดือน แล้วตั้งเวรถวายอาหารกัน. ในวันเวรตน ใครไม่สามารถ นางหัวหน้าทาสีก็ขนเอาจากเรือนตนเองมาถวายแทนผู้นั้น.
เมื่อนางหัวหน้าทาสีปรนนิบัติตลอดสามเดือนอย่างนี้เสร็จแล้ว ก็ให้ทาสแต่ละคนสละผ้ากันคนละผืน ได้ผ้าเนื้อหยาบ ๕๐๐ ผืน ให้พลิกแพลงผ้าเหล่านั้น ทำเป็นไตรจีวรถวายพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้ง ๕ องค์. พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายก็หลีกไปตามสำราญ. แม้คนผู้ทำงานด้วยลำแข้งทั้งพันคนนั้นได้ทำกุศลมาด้วยกัน ตายแล้วก็เกิดในเทวโลก. แม่บ้านทั้ง ๕๐๐ คนนั้น บางทีก็เป็นภรรยาของชายทั้ง ๕๐๐ คนนั้น. บางทีแม้ทั้งหมดก็เป็นภรรยาของลูกทาสผู้เป็นหัวหน้าเท่านั้น.
ต่อมา ในกาลครั้งหนึ่ง ลูกหัวหน้าทาสเคลื่อนจากเทวโลกมาบังเกิดในราชตระกูล. ถึงเทวกัญญาทั้ง ๕๐๐ นั้นก็มาเกิดในตระกูลที่มีสมบัติมาก เมื่อเจ้าชายนั้นได้เสวยราชย์ก็ไปสู่พระราชวัง เป็นนางสนม. เมื่อพวกนางท่องเที่ยวอยู่โดยทำนองนี้ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าของพวกเรา ก็มาเกิดในตระกูลกษัตริย์ในโกลิยนครบ้าง ในเทวทหนครบ้าง.
แม้พระนันทกะเล่า เมื่อบวชแล้วก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์. ลูกสาวหัวหน้าทาสี เจริญวัยแล้ว ก็ดำรงอยู่ในตำแหน่งอัครมเหสี ของพระเจ้าสุทโธทนมหาราช. ถึงหญิงนอกนี้ก็ไปสู่วัง (คือเป็นพระชายา) ของราชบุตรเหล่านั้น. เจ้าชาย ๕๐๐ องค์ ซึ่งเป็นพระสวามีของพวกพระนางเหล่านั้น ได้ทรงฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา ในเพราะการทะเลาะกันเกี่ยวกับแย่งน้ำ แล้วก็ทรงผนวช. พวกเจ้าหญิงก็ทรงส่งพระสาส์น เพื่อให้พวกเจ้าชายเหล่านั้นกระสัน. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพาพวกท่านผู้กระสันเหล่านั้นไปสระดุเหว่าแล้ว ทรงให้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล ในวันประชุมใหญ่ก็ทรงให้ตั้งอยู่ในความเป็นพระอรหันต์. แม้เจ้าหญิงทั้ง ๕๐๐ องค์นั้นเล่า ก็พากันออกไปบวชในสำนักพระมหาประชาบดี.
พึงแสดงเรื่องนี้อย่างนี้ว่า หัวหน้าทาสนี้คือ ท่านพระนันทกะ นางทาสีเหล่านี้แหละ คือภิกษุณีเหล่านั้น ดังนี้.
คำว่า ราชการาโม ได้แก่ วัดที่พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงสร้างไว้ในสถานที่คล้ายถูปาราม ที่ส่วนทิศใต้ของพระนคร.
คำว่า สมฺมปฺปญฺญาย สุทิฏฺฐํ คือที่เห็นตามเหตุ ตามการณ์ ด้วยวิปัสสนาปัญญา คือตามความเป็นจริง.
คำว่า ตชฺชํ ตชฺชํ คือ มีปัจจัยนั้นเป็นตัวแท้ มีปัจจัยนั้นเป็นสภาพ. มีคำที่อธิบายว่า ก็แล เวทนานั้นๆ เพราะอาศัยปัจจัยนั้นๆ จึงเกิดขึ้น.
คำว่า ปเควสฺส ฉายา ความว่า ความที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยรากเป็นต้นก็ไม่เที่ยง ตั้งแต่เริ่มแรกทีเดียว.
คำว่า อนุปหจฺจ คือไม่เข้าไปประหาร บุคคลทำเนื้อให้เห็นก้อนๆ แล้วปล่อยให้หนังห้อยย้อยมา ชื่อว่าย่อมเข้าไปกำจัดกายคือเนื้อ ในคำว่า ไม่เข้าไปกำจัดนั้น บุคคลทำให้หนังติดกันเป็นพืด แล้วปล่อยให้เนื้อทั้งหลายห้อยย้อยมาชื่อว่าย่อมเข้าไปกำจัดกายคือหนัง ไม่ทำอย่างนั้น.
คำว่า วิลิมํสมหารุ พนฺธนํ ได้แก่ เนื้อที่พอกที่ติดที่หนังทั้งหมดนั่นเอง. ท่านกล่าวหมายเอากิเลสในระหว่างทุกอย่างนั่นแหละว่า มีเครื่องผูกคือกิเลสสังโยชน์ในระหว่างดังนี้.
ถามว่า ทำไม ท่านจึงกล่าวคำว่า ก็เจ็ดอย่างเหล่านี้แล.
ตอบว่า เพราะปัญญาใดที่ท่านว่า ปัญญานี้ย่อมตัดกิเลสทั้งหลายได้ ปัญญานั้นลำพังอย่างเดียวแท้ๆ ไม่อาจตัดได้โดยธรรมดาของตน.
ก็เหมือนอย่างว่า ขวานโดยธรรมดาของตนแล้วจะตัดสิ่งที่ต้องตัดให้ขาดไม่ได้ ต่อเมื่ออาศัยความพยายามที่เกิดจากตนนั้นของบุรุษแล้ว จึงจะตัดได้ฉันใด เว้นจากโพชฌงค์อีก ๖ ข้อแล้ว ปัญญาก็ไม่สามารถจะตัดกิเลสทั้งหลายได้ ฉันนั้นเหมือนกัน. เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวอย่างนั้น.
คำว่า ถ้าอย่างนั้น ความว่า เธอแสดงอายตนะภายใน ๖ ภายนอก ๖ กองวิญญาณ ๖ การเทียบประทีป เทียบต้นไม้และเทียบโค แล้วจบเทศนาลงด้วยความสิ้นไปแห่งอาสวะด้วยโพชฌงค์ ๗ อย่าง เพราะเหตุใด เพราะเหตุนั้น แม้พรุ่งนี้ เธอก็พึงสั่งสอนพวกภิกษุณีเหล่านั้นด้วยโอวาทนั้นแล.
คำว่า สา โสตาปนฺนา ความว่า ภิกษุณีที่ต่ำกว่าเขาหมดทางคุณ ธรรมก็เป็นโสดาบัน. ที่เหลือก็เป็นสกทาคามินี อนาคามินีและขีณาสพ.
ถามว่า ถ้าเมื่อเป็นอย่างนั้น จะมีความดำริบริบูรณ์ได้อย่างไร.
ตอบว่า จะมีความดำริบริบูรณ์ได้ด้วยความบริบูรณ์แห่งอัธยาศัย.
จริงอยู่ ภิกษุณีรูปใดมีความคิดอย่างนี้ว่า เมื่อไรหนอแล เรากำลังฟังธรรมเทศนาของพระคุณเจ้านันทกะ พึงทำให้แจ้งโสดาปัตติผลในอาสนะนั่นแล. ภิกษุณีนั้นก็ได้ทำให้แจ้งโสดาปัตติผล. ภิกษุณีรูปใดมีความคิดว่า สกทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตตผล นางภิกษุณีรูปนั้นก็ทำความเป็นพระอรหันต์ให้แจ่มแจ้ง. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เป็นผู้ชื่นใจและมีความดำริที่บริบูรณ์แล้วแล.


Rank: 1

โมทนา สาธู

Rank: 1

สาธุ สาธุ

‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2024-11-16 16:42 , Processed in 0.055010 second(s), 14 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.