แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
เจ้าของ: pimnuttapa
go

วัดพระธาตุทุ่งตูม ต.มะขุนหวาน อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ (พระเกศาธาตุ , พระบรมธาตุซี่โครงซ้าย) [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

IMG_1931.JPG



คำไหว้พระบรมธาตุเจ้าทุ่งตูมอัมพวนาม ค่ะ


IMG_1874.JPG



เดี๋ยวเรามากราบนมัสการพระธาตุทุ่งตูม  วัดพระธาตุทุ่งตูม พร้อมกันเลยนะคะ

(กล่าวนะโม ๓ จบ) วันทามิ  เจติยัง  สัพพัง  สัพพัฏฐาเนสุ  ปะติฏฐิตา  สะรีระธาตุโย  เกศาธาตุโย  อะระหันตา  ธาตุโย  เจติยัง  คันทะกุฏิง  จะตุละสี  ติสสะหิสเส  ธัมมักขันเธ  สัพเพสัง  ปาทะเจติยัง  อะหังวันทามิ  ธาตุโย  วันทามิทุระโส  อะหังวันทามิ สัพพะทา  อะหัง  วันทามิ  สิระสา ฯ

ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระพุทธ พระธรรม และพระอริยสงฆ์เป็นที่พึ่ง ข้าพเจ้าขอกราบนอบน้อม บูชาพระคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงเสียสละสั่งสมบารมีนับชาติมิถ้วน ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ประกาศธรรมนำเวไนยสัตว์ออกจากสังสารวัฏ พร้อมกราบพระธรรม  และพระอริยสงฆ์ ขอตั้งสัจจะอธิษฐานด้วยอานิสงส์ผลแห่งบุญนี้ จงเป็นปัจจัยให้ได้ถึงซึ่งพระนิพพานแม้ต้องเกิดในทิพย์จุติใดๆ ขอเกิดภายใต้ร่มเงาพระพุทธศาสนา ได้พบสัตบุรุษผู้รู้ธรรมอันประเสริฐมีกรรมสัมพันธ์ที่ดี ได้เกิดท่ามกลางกัลยาณมิตร ห่างไกลจากพาล มีโอกาสฟังธรรมประพฤติธรรม จนเป็นปัจจัยให้เจริญด้วยสติและปัญญาญาณ ตามส่งชาตินี้และชาติต่อๆไป จนถึงพระนิพพานในกาลอันควรเทอญ กรรมใดๆที่ล่วงเกินต่อพระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์ และสรรพสัตว์ทั้งหลายในอดีตชาติก็ตามปัจจุบันชาติก็ตาม กราบขออโหสิกรรมทั้งหมดทั้งสิ้น ขออุทิศกุศลผลบุญให้แก่ท่านผู้มีพระคุณ ญาติพี่น้อง เจ้ากรรมนายเวร ตลอดจนท่านที่ขวนขวายในกิจที่ชอบในการดำรงรักษาไว้ซึ่งประเทศชาติ  พระพุทธศาสนา และองค์พระมหากษัตริย์ทั้งที่เป็นมนุษย์และอมนุษย์ ขอให้ท่านทั้งหลายดังกล่าวนามมานั้นจงประสบแต่ความดี ปราศจากความทุกข์และมีความสุขฯ ทั่วกันทุกท่านเทอญ



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

DSC00715.jpg



IMG_1917.JPG



จารึกการบูรณะพระธาตุทุ่งตูมของครูบาอินถา  สุขวฒฺโก

พ.ศ.๒๕๕๐  สำนักงานพัฒนาภาค  ๓  นำโดยพลตรียงยศ  คงแถวทอง  ได้ทำการบูรณะเจดีย์โดยการทาสีใหม่และยกฉัตรในวันวิสาขบูชา  พ.ศ.๒๕๕๐


IMG_1928.JPG



จุดธูปเทียน ถวายดอกบัว ดอกไม้ ลูกแก้วจักรพรรดิ และพรมน้ำอบ เป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา และขอโมทนาบุญกับผู้สร้าง ผู้บูรณะ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องในบุญกุศล ณ สถานที่แห่งนี้ทั้งหมดทั้งมวลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและอนาคต และตั้งจิตอธิษฐานเพื่อให้ ณ สถานที่แห่งนี้เป็นที่ตั้งอยู่คู่กับพระพุทธศาสนาสืบต่อไปจน ๕๐๐๐ ปี ค่ะ สาธุ สาธุ



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_1927.JPG



การบูรณะวัดพระธาตุทุ่งตูม (ต่อ)



ครูบาศรีวิชัย  (พ.ศ.๒๔๒๑ – ๒๔๘๑)

ซึ่งข้อมูลจากการสัมภาษณ์พ่ออุ้ยด้วง สมจันทร์  อดีตผู้ใหญ่บ้านขุนคง และพ่อน้อยตา  แก้วปัน  อายุ ๙๖ ปี ได้ให้ข้อมูลตรงกันว่า  เมื่อครูบาเจ้าศรีวิชัยได้มาสร้างพระธาตุทุ่งตูมนั้น  มีศรัทธาคือเจ็กต้น  เจ็กอุย  ปู่กิม  ได้ถวายเหล็ก  หิน  ปูน  และทรายในการสร้างพระธาตุ  โดยการสร้างไม่ได้ก่ออิฐถือปูนดังเช่นการก่อสร้างทั่วไป  แต่ใช้วิธีหล่อปูนเป็นชั้นๆ  ขึ้นไป  จึงสามารถมองเห็นพระธาตุองค์ที่อยู่ด้านใน  ในขณะที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยทำการก่อสร้างอยู่นี้  ท่านก็ถูกนิมนต์ให้ไปนั่งหนักวัดอื่นๆ  ท่านจึงให้ครูบาอภิไชยขาวปีควบคุมการก่อสร้างต่อไป  ซึ่งครูบาเจ้าศรีวิชัยก็ได้กลับมาเป็นช่วงๆ  เช่นในการยกฉัตรพระธาตุ  ฉลองวิหาร  และฉลองพระธาตุทุ่งตูมตามลำดับ  เมื่อการก่อสร้างบูรณะสำเร็จลงแล้ว  ก็ได้จัดงานฉลองสมโภชถึง  ๗  วัน  ๗  คืน  โดยพ่อน้อยตา  แก้วปันได้ให้ข้อมูลว่า  งานฉลองนี้มีคนมาร่วมงานมากมาย  มีทั้งคนพื้นราบและชาวเขา  คนเยอะตลอด  ๗  วัด  ๗  คืน  ร้านค้าขายของตั้งแต่วัดพระธาตุทุ่งตูมยาวมาถึงบ้านขุนคง

ในการบูรณะวัดพระธาตุทุ่งตูมในครั้งนี้  ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้สร้างพระวิหาร  ศาลารายรอบพระวิหาร  สร้างเจดีย์ครอบเจดีย์องค์เดิม  ซึ่งก็ยังคงสภาพมาจนถึงปัจจุบัน  และเป็นที่น่าสังเกตว่า  องค์พระเจดีย์มีความคล้ายคลึงกับเจดีย์วัดพระสิงห์  อ.เมือง  จ.เชียงใหม่อีกด้วย


การบูรณะในยุคปัจจุบัน


พ.ศ.๒๔๙๓  พระครูบุญศรี  สีลวิสุทฺโธ  ได้บูรณะพระวิหารที่ครูบาศรีวิชัยได้บูรณะมาก่อนโดยคงสภาพเดิมไว้ทั้งหมด
พ.ศ.๒๕๐๓  พระครูมหาพุทธาภิบาล  หรือครูบาอินถา  สุขวฒฺโก  วัดสันคอกช้าง  ตำบลแม่ก๊า  ได้ลาดซีเมนต์บริเวณลานวัด  พร้อมทั้งยกฉัตรพระธาตุทุ่งตูมใหม่ในวันที่  ๒๑  กุมภาพันธ์  พ.ศ.๒๕๐๓





บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_1896.JPG



การบูรณะวัดพระธาตุทุ่งตูม (ต่อ)



การบูรณะพระธาตุทุ่งตูมจากหลักฐานตำนาน พ.ศ.๒๑๓๖ – ๒๑๗๘

สมัยราชครูเจ้าตนชื่ออุตมะ  คุณฺณธชฺมา  ก่อครอบพระเจดีย์หลังก่อนนั้นในปีกล่าไส้  ศักราชได้  ๙๕๕  อยู่แล้วย้ายวิหารหันหน้าไปทางทิศเหนือในปีเมืองเล้า ได้ตำนานอันนี้ก็ในปีนั้น มาถึงปีกล่าเหม้า  จึงได้มาแปลเป็นคำไทยทั้งหมด

พระมหาสังฆราชตนชื่อว่า  ชินจกฺกสาร  จึงจักมาบูรณะวิหารเสียให้เป็นอยู่และสักการะแล  เอาเป็นที่ไว้กราบไหว้อันเป็นที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุเจ้าในอัมพวนารามนี้ในปีดับไค้  จุลศักราชได้  ๙๙๗  ตัว  เพื่อให้วิญญูชนทั้งหลายบังเกิดจิตศรัทธาในพระเกศาธาตุเจ้า  สำเร็จก่อนแล

ในช่วงท้ายของตำนานพระธาตุทุ่งตูม  ได้มีการจารึกเรื่องราวเกี่ยวกับการบูรณะพระธาตุทุ่งตูมว่า  ราชครูอุตมะคุณธัชมาได้สร้างเจดีย์ย์ครอบเจดีย์ย์องค์เดิมในปีจุลศักราช  ๙๕๕  (พ.ศ.๒๑๓๖)  ย้ายวิหารหันขึ้นทางทิศเหนือในปีเล้า  (ปีระกา  ถัดมาอีก  ๔  ปี  คือปี  พ.ศ.๒๑๔๐)  ได้ตำนานพระธาตุทุ่งตูมในปีนี้เช่นกัน  ถึงปีเหม้า  (ปีเถาะ  ถัดมาอีก  ๖  ปี  คือปี  พ.ศ.๒๑๔๖)  ได้นำตำนานนี้ให้ชาวกรุงอังวะแปลเป็นคำไทยทั้งหมด  หลังจากนั้นพระมหาสังฆราชเจ้าชินจักกะสาระได้บูรณะพระวิหารในปีไก๊  (ปีกุน)  จุลศักราช  ๙๙๗  (พ.ศ.๒๑๗๘)

หลักฐานนี้แสดงให้เห็นว่า  วัดพระธาตุทุ่งตูมสร้างก่อน  พ.ศ.๒๑๓๖  อย่างแน่นอน  สันนิษฐานฐานว่าอาจสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์มังรายหรือก่อนหน้านั้นในสมัยหริภุญชัย  และเป็นวัดที่สมบูรณ์แล้ว  กล่าวคือ  มีพระเจดีย์ย์และวิหาร  ในอดีตคงเป็นวัดที่มีความสำคัญต่อท้องถิ่น   เนื่องจากมีการบูรณะโดยพระสงฆ์เรื่อยมาจนถึงระดับพระสังฆราช  และเป็นที่น่าสังเกตว่า  มีการย้ายพระวิหารหลวงให้หันหน้าไปทางทิศเหนือ  ซึ่งโดยปกติพระวิหารมักหันหน้าไปทางทิศตะวันออก


การบูรณะพระธาตุทุ่งตูมโดยเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ พ.ศ.๒๔๔๖

พระพุทธเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์  (พ.ศ.๒๔๐๒ – ๒๔๕๒)  เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่  ๘  (พ.ศ.๒๔๔๔ – ๒๔๕๒)   ได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดพระธาตุทุ่งตูมในปี  พ.ศ.๒๔๔๖  โดยได้ยกฉัตรพระเจดีย์ย์รวมทั้งจัดงานฉลองสมโภชหรือปอยหลวงอย่างยิ่งใหญ่  จากการที่พระพุทธเจ้าอินทวโรรสได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดพระธาตุทุ่งตูมนั้น  เป็นหลักฐานยืนยันความสำคัญของพระธาตุทุ่งตูมที่มีต่ออำเภอสันป่าตองในอดีต


IMG_1890.JPG



การบูรณะพระธาตุทุ่งตูมโดยครูบาศรีวิชัย  (ประมาณ  พ.ศ.๒๔๗๐)

หลังจากครูบาเจ้าศรีวิชัยได้พ้นข้อหาอธิกรณ์แล้ว  ท่านก็ได้บูรณะวัดหลายแห่ง  วัดแรกที่ท่านทำการบูรณะคือเจดีย์ย์บ่อนไก่แจ้  จังหวัดลำปาง  ซึ่งทันทีที่ท่านตัดสินใจ  ศรัทธาประชาชนต่างร่วมมือร่วมใจทยอยหลั่งไหลมาช่วยกันในการก่อสร้าง  บ้างก็นำวัสดุอุปกรณ์สิ่งของมาถวาย  บ้างก็ถวายทรัพย์สินเงินทอง  บ้างก็เสียสละแรงกาย  จึงทำให้งานบูรณะสำเร็จอย่างรวดเร็ว  หลังจากนั้นท่านก็ไปทำการบูรณะวัดพระธาตุหริภุญไชย  พระธาตุดอยเกิ้ง  สร้างพระธาตุ  กุฏิ  บันใดนาค  วัดบ้านปาง  วัดศรีโคมคำ  จังหวัดพะเยา  พระธาตุจอมทอง  จังหวัดพะเยา  พระธาตุช่อแฮ  จังหวัดแพร่  ตามลำดับ

ในปี  พ.ศ.๒๔๖๗  เจ้าแก้วนวรัตน์  เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่  ตลอดจนพระราชชายาเจ้าดารารัศมี  พระยาท้าวแสน  หลวงอนุสารสุนทร  และคหบดีชาวเชียงใหม่  ได้อาราธนานิมนต์ครูบาเจ้าศรีวิชัยมาเป็นประธานในการบูรณะวัดพระสิงห์  หลังจากที่ท่านได้บูรณะวัดพระสิงห์แล้ว  ก็จัดงานฉลองหรือปอยหลวง  ในการนี้  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่  ๗  และสมเด็จพระนางเจ้ารำไปพรรณี  ทรงประทับทอดพระเนตรขบวนเครื่องไทยทานตามแบบโบราณล้านนาด้วย

ในตำนานครูบาศรีวิชัยแบบพิสดาร  ของสถาบันวิจัยสังคม  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ได้กล่าวถึงรายละเอียดการบูรณะวัดในล้านนาว่า

...ครั้นเสร็จจากการทำบุญให้ทานวัดพระสิงห์  พระศรีวิชัยเจ้าภิกขุตนนั้น  ก็ลงไปสร้างพระธาตุโท่งตูม  ใต้เวียงเชียงใหม่  ถึงวันเดือนยี่  แรม  ๖  ค่ำ  ท่านลงไปทานโฮง  หมู่ยางเป็นศรัทธาทำทานที่บ้านปาง  ถึงเดือน  ๖  เพ็ง  เสร็จการทำบุญแล้ว  ท่านเลยไปสร้างธาตุแม่ตื๋น  แล้วกลับขึ้นมาพระบาทตากผ้า  เลยมาเชียงใหม่  แล้วขึ้นไปสร้างพระธาตุสบฝาง  แล้วก็เลยไปสร้างดอยตุงเหนือเมืองฝาง  แล้วท่านก็กลับมาเชียงราย  เลยไปจอมแว่  เลยมาพะเยา  แล้วท่านก็เลยลงมาลำปาง  มาทานแท่นแก้วที่ลำปาง  แล้วก็มาเชียงใหม่  แล้วท่านก็ไปยกฉัตรพระธาตุโท่งตูม  เสร็จแล้วกลับขึ้นมาสร้างช่อฟ้าป้านลมพระนอนขอนม่วง  หัวเวียงเชียงใหม่  เสร็จแล้วกลับไปทานโฮงโท่งตูม  เสร็จแล้วเลยไปทานขั้นใดนาควัดบ้านปาง  เสร็จแล้วไปทานเพดสร้อย  เสร็จแล้วไปเอาฉัตรธาตุปินหวาน  ขึ้นไปทานธาตุป่าตาล  เมืองเถิน  แล้วไปสร้าง(ธาตุ)จอมสวนเมืองลี้  แล้วไปทานธาตุดอยแม่ลี้  แล้วไปทานธาตุแม่ตื๋น  เสร็จแล้วกลับมาทานพระธาตุทุ่งตูม..
.


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตำนานพระธาตุทุ่งตูม (ต่อ)



IMG_1820.JPG



ข้อมูลจาก...เว็บพระธาตุทุ่งตูม (http://www.phrathatthungtoom.com/)

พระพุทธเจ้าจึงกล่าวว่า ดูรามหาราช  สถานที่นี้เป็นสถานที่พระพุทธเจ้ามาฉันข้าวภัตตาหารถึง  ๔  พระองค์แล้ว ลัวะทั้งสองได้ยินดังนั้น  มักมีใจใคร่อยากได้เส้นพระเกศาธาตุไว้ให้ปรากฏเป็นที่บูชาสักการะแก่คนแลเทวดาทั้งหลายสืบไป  เขาจึงมาขอยังสถานที่แห่งนี้แล หนทางอันเราเสด็จประทานเส้นพระเกศาธาตุ ประทับรอยพระพุทธบาท และพุทธทำนายพยากรณ์โดยลำดับ ก็เป็นสถานที่ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับการจาริกโปรดเวไนยสัตว์นั้นว่าเมื่อเราไปถึงไหนตั้งแต่เมืองอยุธยาขึ้นมาโดยลำดับแล  พระอานนท์และอรหันต์สาวก ๕๐๐ รูปตามเสด็จ  พระพุทธเจ้าไปทำนาย  บัญญัติสถาปนาพระธาตุแลพระบาทไว้ในเมืองสวรรณภูมิและดินแดนล้านนาเป็นต้นว่า  เมืองลื้อไว้พระบาทเจ้าสี่รอย  ยังดอยเกิ้งไว้เกศาธาตุ  ในเมืองหรอดไว้พระบาทหนึ่งรอย  ยังหาดนาคไว้พระบาทเบื้องซ้าย  ดอยศรีจอมทองไว้เกศาธาตุ  


รอดถึงในอัมพวนารามทุ่งตูมแห่งนี้ก็เป็นที่ไว้เกศาธาตุ แล้วเมื่อเราตถาคตปรินิพพานไปแล้ว  พระอานนท์ พญาอโศก ควัมปัตติ พร้อมด้วยท่านทั้งหลาย จงรับเอาธาตุกระดูกซี่โครงเบื้องซ้ายของเรา มาประดิษฐานไว้กับพระเกศาธาตุผมแห่งเราอันประดิษฐานที่อัมพวนารามทุ่งตูมแห่งนี้ เมื่อภายหลังเราตถาคตปรินิพพานไปแล  ให้นำพระธาตุเรามาบรรจุรวมไว้พร้อมเส้นพระเกศา ไว้ในที่อันเราทำนายนั้นเถิด  ก็จักเป็นที่ลือชาปรากฏชื่อธาตุมหาธาตุ  ยังจักปรากฏในตำนานตลอดไป

จนถึงในยั้งหวีดไว้พระบาท ในเมืองแจ่มไว้พระบาทเบื้องซ้ายหนึ่งแห่งชื่อว่า สหมุนชอน  ไว้พระบาทหนึ่งรอย  ดอยน้อยไว้เกศาธาตุ  ในลำปางไว้พระเกศาธาตุแล พระพุทธเจ้าเสด็จไปในเมืองนครเมืองแพร่ พระยารอเซิงเมืองเชียงแสนเชียงราย  เมืองฝางเมืองหางเมืองพระยาก  เมืองชวาด  ดอยสุเทพ  สวนดอกไม้ดอนพรั่งเมืองเชียงใหม่  เมืองลำพูนแล  ในเมืองทั้งหลายฝูงนี้  พระพุทธเจ้าก็เอาพญาทั้ง  ๒  คือพระยาอินทร์แลพระยาอโศก และพระอานันท์พร้อมทั้งสาวกติดตามไปประทานเส้นพระเกศาทำนายตำนานไว้พระเกศาธาตุ พระบรมธาตุส่วนต่างๆ และพระบาทเจ้า  ในที่อันควรไว้ให้สักการบูชาแก่คนทั้งหลายก่อนแล

แล้วตรัสทำนายต่อว่า อันพระเกศาธาตุยังลัวะผู้พี่รับเอาด้วยมือข้างขวานี้  จักรุ่งเรืองเป็นมหาสาแคว้นใหญ่ยิ่งกว่าทุกแห่งแล เส้นอันลัวะผู้น้องรับเอาด้วยมือเบื้องซ้ายนี้ จักรุ่งเรืองภายหลังแล

ในเกศาธาตุอันลัวะผู้น้องเอานั้น ควัมปัตติแลคนทั้งหลายและพระยาอโศก  พระยาอินทร์  พญาพรหม  ก็มาขุดเป็นอุโมงค์ลึก  ๑๕  วา  พร้อมกั้นก่อกำแพงทองคำ กำแพงแก้ว  เอายังแก้ว  ๗  ประการรองพระเกศาธาตุนั้นแล้ว  เนรมิตปราสาทแก้วมรกตชั้นหนึ่ง ปราสาทแก้วมุกดาชั้นหนึ่ง ปราสาทแก้วมหานิลชั้นหนึ่ง  ไว้ภายในอุโมงค์นั้น  ให้เป็นที่ตั้งประดิษฐานเกศาธาตุเส้นลวะผู้น้องไว้ในอัมพวนารามทุ่งตูมในวันเพ็ญ เม็งวัน  ๔  แล

พญาวอกตัวน้องได้สังวาลอันพระยานาคให้มันก็ถอดสังวาลบูชาพระเกษาธาตุของพระพุทธเจ้า  แล้วปรารถนาอธิษฐานขอพรว่า  เมื่อพ่อข้ายังมีชีวิต  วันนั้นได้ให้รวงเผิ้ง  ๗  รวงถวายเป็นมหาทานเป็นทานถ้วนหนึ่ง  ข้าไปตักน้ำมาให้ถวายทานเป็นมหาทานถ้วน  ๒  ที่ข้าสละชีวิตกลิ้งไปบนให้หญ้าและให้น้ำค้างแห้งเสียตกเสีย  เป็นหนทางแก่พระพุทธเจ้าเสด็จเป็นมหาทานถ้วน  ๓  ที่ข้าถอดสังวาลบูชาพระเกศาธาตุเจ้าเป็นมหาทานถ้วน  ๔  แล  ด้วยเตชะบุญทั้งหลายฝูงนี้  เมื่อข้าจุติตายจากอันเป็นสัตติรัจฉานแล้ว  ขอให้ข้าได้ไปเกิดในตระกูลเท้าพญามหากษัตริย์ผู้ประเสริฐ  เมื่อใดศาสนามาตั้งมั่นแล้วในอัมพวนารามทุ่งตูมแห่งนี้  ขอให้ข้าได้เกิดเป็นเจ้าเศวตฉัตรนั่งบันลังแท่นคำเหลืองบ้านเมืองที่นี้แด่เถิด

วอกตัวน้องปรารถนาเช่นนี้แล้วก็ไหว้พระเกศาธาตุในที่นั้น  อันมีระอึดคำ (อิฐทองคำ) แล้วระอึดเงิน (อิฐเงิน) แล้วระอึดแก้ว (อิฐแก้ว) ๗ ประการ ได้แปดหมื่นสี่พันก้อน  แม้แต่ดินก้อนเดียวก็ไม่มีแล

พระอินทร์ใส่ยนต์กรงจักรแก้วไว้  ๗  ชั้นแล  เหตุนั้นว่าเกศาธาตุเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์มากนัก  จึงสั่งให้เทวดาตน ๑ ชื่อ อัชชะะบาล ให้อยู่รักษายังพระเกศาธาตุทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตน ๑ ชื่อ  สุมนท์  อยู่รักษายังพระเกศาธาตุด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

เมื่อประทานไว้เกศาธาตุในอัมพวนารามทุ่งตูมแล้ว  ก็เอาเกศาธาตุเส้นอันลวะผู้พี่รับเอาด้วยมือขวานั้น  ไปสถาปนาไว้ในเมืองเจลาภูมิคือว่าลำพูนปัจจุบัน (สันนิฐานว่าเป็นพระธาตุหริภุญไชย)  ก็เป็นดังสถาปนาในอัมพวนารามทุ่งตูมนั้นทุกอย่างแล  เป็นกองบุญกองกุศลอันยิ่งใหญ่ที่  ลัวะทั้ง  ๒ ได้กระทำแก่เกศาธาตุ  อีกทั้งลัวะผู้พี่นำไปไว้ในเมืองเจรภูมิจึงได้ชื่อว่า เมืองลำพูนเพราะเหตุก็ยังได้อานิสงค์อีกมากนักนั้นแล

ควัมปัตติกราบไหว้ทูลถามพระพุทธเจ้าต่ออีกว่า  ในที่นี้ประดิษฐานพระเกศาธาตุเจ้า  ๒  เส้นนี้  เจดีย์ยังไม่มีพระพุทธเจ้ากล่าวว่า  เออ  ควัมปัตติ  เจดีย์ไม่มีแล  เมื่อตถาคตนิพพานแล้วพุทธศักราชได้ ๒๑๘  ปี  ยังจักมีพญาตน  ๑  ชื่ออโศกธรรมราช  เกิดมาปรากฏค้ำชูพุทธศาสนา  จักสร้างเจดีย์  ๘๔,๐๐๐  หลัง  วิหาร  ๘๔,๐๐๐  หลัง  ในเจลาภูมินั้นถูกสร้างขึ้นหนึ่งหลัง  ในอัมพวนารามนี้ถูกสร้างขึ้นหนึ่งหลัง  จักปรากฏเมื่อตถาคตนิพพานแล้วได้  ๒๐๐๐  วสาปลาย  จึงปรากฏเกิดขึ้นแล

ภายภาคหน้าแต่นั้นไปแล้ว ยังจักมีพญาตน  ๑  มีลูกชาย  ๒  พระองค์  จักได้ปราบประเทศฝูงคนแล  ควัมปัตติเถรไหว้พระพุทธเจ้าถามว่า  พญาผู้นั้นจักได้แก่บุคคลผู้ใดหรือ  พระพุทธเจ้ากล่าวว่า  พญาวอกตัวพี่ผู้ถวายให้รวงเผิ้งเป็นทานแก่กูตถาคตในป่าอัมพวนารามนั้นแล  เมื่อมันได้เป็นพญาเจ้าเมืองแล้ว  จักปรากฏชื่อว่า  มังทราแล  มันจักประกอบด้วยสัมปัตติ  เตชะอนุภาพเสมอดั่งเทวดาในชั้นฟ้าตาวติงสาดาวดึงส์นั้นแล

ลูกพระยาวอกตัวพี่  เมื่อเราตถาคตยังดูเล็งเห็นมันขึ้นต้นไม้แล้วปัสสาวะตกมา  เมื่อได้เป็นท้าวพระยาแล้ว  จักมล้างศาสนาตถาคตให้ฉิบหาย  จักขุดเจาะ  เผาที่แก้วรัตนะทั้งสามประการเสียแล  เมื่อกูตถาคตนิพพาน  ๒๑๒๒  วสา  ลูกพระยาวอกตัวน้องนี้จักได้เป็นท้าวพระยากินเมืองที่นี้แล

เกศาธาตุอันไว้ในอัมพวนารามนี้ยังจักมีสับปุริสะท่านหนึ่งแล  ชื่อว่า  ราชวสัง  เป็นลูกศิษย์ตถาคต  จักได้ฤกษ์ยกยอสถาปันนาสถานที่แห่งนี้  ให้ปรากฏรุ่งเรืองแก่คนแลเทวดาทั้งหลายแล

ควัมปัตติกกราบไหว้ทูลถามพระพุทธเจ้าถามว่า  สับปุริสะตนนั้นได้ชื่อว่า  ราชวสัง ด้วยเหตุใดฤา พระพุทธเจ้ากล่าวว่า  ดูราควัมปัตติ  ท้าวตนนั้นได้เป็นพระยานาคตน  ๑  เมื่อว่าตถาคตยังเป็นพระโพธิสัตว์วันนั้น  ได้เทศนาธรรมสอนแก่ท่านนาคตนนั้นนานได้  ๓  ปี  ก็เป็นประการหนึ่งแล้วแล  ในกาลบัดนี้พระตถาคตมาฉันข้าวไม่มีน้ำ  ท่านก็ให้น้ำพุออกมาแล  ตถาคตจักใคร่ให้ปรากฏแก่คนแลเทวดาทั้งหลาย จึงไว้รอยพระบาทแก่พญานาคแล  เหตุดั่งนั้นได้ชื่อว่า  ราชวสังตามชาติก่อน

ลูกพญาวอกตัวน้องไปตักเอาน้ำอันพญานาคทำให้ผุดออกมานั้น  มาถวายให้ทานแก่กูตถาคตแล  เหตุดั่งนั้นลูกพญาวอกตัวน้องกับทัั้งพญานาคจักได้เป็นสหายกันแล  พญานาคให้น้ำพุออกมาเป็นทานแก่พระพุทธเจ้า  ปรารถนาว่าด้วยว่าเตชะการที่ข้าพญานาคชื่อว่าสัญไชยถวายทานน้ำอันนี้เป็นทานแก่พระพุทธเจ้า  เมื่อใด  ศาสนาเสื่อมลงถอยดั่งนั้น  ขอให้ข้าพเจ้าได้เกิดมายังฤกษ์นั้นได้ยกยอศาสนาพระพุทธเจ้าในอัมพวนารามที่นี้ให้เจริญรุ่งเรื่องด้วยเถิด  พระพุทธเจ้าก็อนุโมทนาว่า  คำปรารถนาของท่านจงสัมฤทธิ์แก่ท่านพญานาคสัญไชยตามความปรารถนาดังนั้นทุกประการดังอั้นเถิด

วันนั้นพระพุทธเจ้าจักเจรจาด้วยควัมปัตติเถร  เมื่อใดตถาคตนิพพานแล้วได้  ๒๑๒๕  ปี  มังทราผู้พ่อจุติแล้ว  ลูกพญาวอกตัวพี่นี้จักได้เป็นท้าวพระยาแทนพ่อ  ก็จักชื่อมังทราตามชื่อพ่อมันแล

ในกาลนั้น เทวดาอันรักษาเศวตฉัตร  เทวดารักษาราชมนเทียร  เทวดาฝน  เทวดาลม  จักลืมกาลอันรักษา  เทวดาอันรักษาจักรวาลก็จักลืมรักษาด้วย  ยามนั้นกลียุคก็จักเกิดมีได้เมืองหงสาวตินั้น  จักเข่นฆ่าจักฟันแทงกันรบรากัน  ทั้งบ้านทั้งเมืองจักวุ่นวายระสำระสายถนนหนทางจักถูกตัดขาดทางเข้าเมืองจัดปิดมีอันเป็นล้มสะหลายไป  เจดีย์วิหารพังเสียหายมากนัก  คนทั้งหลายจักหนีเสียบ้านเสียเมืองไปสู่ทิศทางทั้งสี่  จักมีเหลืออยู่  ๕  บ้าน  คือ  อังคะหมู่หนึ่ง  ชองคลาหมู่หนึ่ง แม่จักครึดหมู่หนึ่ง  อปโคหมู้หนึ่ง  สรีทเตหมู่หนึ่ง  จักเป็นบ้านใหญ่  เป็นที่ทางพญาแล  แม่น้ำน้อยจักกลับกลายเป็นแม่น้ำสายใหญ่เสียแล

ภายหน้าแต่นั้นเล้า  เมืองทั้งหลาย  ๔ เมือง  นั้นก็จักฉิบหายเสียหมด  คนอันอยู่ในเมืองทั้ง  ๔  นั้น  เมื่อไปอยู่ในที่ใด  ที่นั้นจักฉิบหาย   เป็นดั่งไฟไหม้กัลป์นั้นแล  ท่าเรือทั้งหลาย  ๕๔๑  ก็จักฉิบหายเสียแล  ก็จักมีระหว่างนี้  คนทั้งหลายกลุ่มน้อย  จักเกิดเป็นกลุ่มใหญ่แล

ควัมปัตติเถรถามพระพุทธเจ้าว่า  เมืองทั้งหลาย  ๔  อันนั้น  จักได้เมืองอันใดฤา  พระพุทธเจ้ากล่าวว่า  เมืองทั้งหลาย  ๔  เมืองอันนั้นจักได้แก่  เมืองหงสาวติหนึ่ง  ตองอูหนึ่ง  อังวะหนึ่ง  โยธิยาหนึ่ง  จักว่างเปล่าเสียหมดแล

ดูราควัมปัตติ  ในเมื่อธรรมิกราชตนนั้นกินเมืองได้  ๑๗  ปี  มีเมืองใดดั่งนั้น  บ้านเมืองนั้น  จักฉิบหายมากนัก  ยอดดอยสิงกุตระนั้นจักมีเจดีย์หลัง  ๑  ภายล่างเจดีย์นั้น  กระดูกคนตายกองกัน  กองกระดูกขึ้นสูงสุดท่าปลายต่นตาลแล  บ้านเมืองทั้งหลายจักฉิบหายทุกแห่ง  คนทั้งหลายจักเอาของเป็นแก้วทั้ง  ๓  อันมีค่าไป  แล้วเขาก็จักฉิบหายไป  คนทั้งหลายรบราฆ่าฟันกันอย่างหนักมากนักแล

ในพระเกศาธาตุทั้ง  ๒  เส้น  อันตถาคตพระพุทธเจ้าให้แก่ลวะทั้ง  ๒  พี่น้อง  ประดิษฐานไว้ในเจลาภูมิลำพูน และอัมพวนารามทุ่งตูมแห่งนี้  คนทั้งหลายฝูงผู้มาไหว้สักการปูชา  ปรารถนาอันใดก็สัมฤทธิ์ทุกสิ่งอัน  พญาเจ้าตนตรองเมืองนี้จักรบชนะแก่ข้าศึกทั้งมวล เหตุอันได้ให้ถวายวัตถุเป็นทานแก่ตถาคตในชาติปางนี้  ในอัมพวนารามที่นี้นั้นแล

พระพุทธเจ้าทำนายเท่านี้  แล้วอยู่ในป่านั้น  ๗  วัน  ก็สู่มัชฌิมเทศ  อยู่สอนสัตว์โลกทั้งหลาย  ให้ได้ถึงสุข  ๓  ประการ  ตั้งอยู่นาน  ๔๕  วสา  ก็นิพพานในเมืองกุสินาราวันนั้นแล

ราควัมปัตติจึงทูลถามพระพุทธเจ้าต่อว่า  เหตุใดวัตถุสมบัติแห่งมังทราผู้เป็นพ่อ  เสมอดั่งสมบัติแห่งเทวดาเหตุใดฤา  เหตุมันได้ขอขมายังพระพุทธเจ้า  แล้วจึงขึ้นต้นดอกไม้  ยื่นมือไปเอาว่าจักเด็ดเอาดอกไม้  จึงพลัดตกจากต้นไม้  ยามจักใกล้ตาย  พระพุทธเจ้าให้สรณะคมณ์แก่มันว่า  พุทธํ  สรณํ  คจฺฉามิ  แลถึง  ตติยมฺปิ  สงฺฆํ  สรณํ   คจฺฉามิ  ดังนี้  ด้วยอานิสงส์อั้นนั้น  เมื่อจุติก็ได้ไปเกิดในตาวติงสาสวรรค์ชั้นดาวดึงส์   ได้ยังสัมบัติทิพย์  มีบริวารพันหนึ่งอยู่ในวิมานสูง  ๗  โยชน์  เมื่อจุติจากที่นั้นได้เกิดในอังวะในปีกล่าเร้า  ศักราชได้  ๘๕  ตัว  ภายหลังได้ถึงราชสมบัติ  ประกอบด้วยเตชาอนุภาพ  ปราบแพ้ประเทศราชทั้งหลายมากนัก  ด้วยดังพระพุทธเจ้าแห่งเราทำนายไว้อย่างนั้นแล

ศาสนาพระพุทธเจ้านี้  แก่นแท้เป็นที่เพิ่งแก่สัตว์โลกทั้งหลายแล้ว  เหตุดั่งนั้นบุคคลทั้งหลายผู้มีปัญญา ควรกระทำสักการะปูชาแก่ชินธาตุ  ก็เสมอดั่งได้ถึงสุขตามอันปรารถนาด้วยประการฉะนี้แล


IMG_1879.JPG



การบูรณะวัดพระธาตุทุ่งตูม



ในสมัยพระแม่เจ้าจามเทวี

เขียนไว้ในหนังสือจอมนางหริภุญไชย ในบทความตำนานพื้นเมืองฉบับนายสุทธวารี หน้า ๗๑ บรรทัดที่ ๖ ลงไปกล่าวว่าการสร้างสรรค์ความเจริญให้แก่นครหริภุญไชยในปฐมการนั้น พระนางจามเทวีเป็นผู้วางระบบต่างๆ ด้วยพระองค์เองทั้งหมด ได้แก่ทรงแต่งตั้งพระนางเกษวดีเป็นผู้รักษาพระนครและเวียงต่างๆ พระนางปทุมวดีเป็นกรรมวัง ทรงตั้นข้าราชการตำแหน่งต่างๆ และพระราชทานที่ดินสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของชาวไตยองทางทิศตะวันตกพระนคร คือบ้านเวียงยอมปัจจุบันนี้ ทรงให้ชาวละโว้ที่ตามเสด็จมาด้วยไปตั้งถิ่นฐานทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ คือแถบวัดละโว้ อ.หางดง จ.เชียงใหม่เวลานี้ สวนชาวมอญนั้นโปรดฯให้ไปอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของพระนครคือบริเวณที่ปัจจุบันเป็นบ้านหนองดู และทรงเหล่าทหารม้าไปอยู่ ณ เวียงหน้าด่านหรือเวียงตระการ

เวียงหน้าด่านตามตำนานฉบับนายสุทรวารีปัจจุบันคือเวียงท่าการ อยู่ที่ ต.ทุ่งเสียว อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่นั้นเอง ณที่นี้พระนางสรงสร้าป้อมปราการ ตลอดจนพระอาราขึ้นอย่างใหญ่โต ได้แก่ อารามพระเจ้าทองทิพย์ และทรงบรรจุพระพุทธรูปไว้มากมาย สถานที่อื่นที่กล่าวไว้ด้วยว่าทรงสร้าง ได้แก่อัมพวนารามหรือปัจจุบันคือ วัดพระธาตุเจ้าทุ่งตูม และทันตนคร ปัจจุบันทั้งสองแห่งนี้อยู่ใน อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่

ตามตำนานท้องถิ่น ได้กล่าวถึงการเสด็จมาสร้างพระธาตุเจ้าทุ่งตูมด้วยว่า พระนางทรงสุบินนิมิตเห็นช้างผู้กำงาเขียวอัญเชิญพระธาตุไว้บนหลัง แล้วนำขบวนเข้าไปประดิษฐานที่ป่าแห่งหนึ่ง  โดยมีเทวดาและพญาวอกคอยอยู่เฝ้ารักษา ครั้นถึงสฐานที่โล่งแจ้งเรียบเป็นหน้ากลองท่ามกลางต้นไม้ใหญ่ปกคลุม พบพระเจดีย์เก่าขนาดสูงสามวา แต่เปล่งไปด้วยรัศมีแห่งพระธาตุองค์นั้นก็บังเกิดความอัศจรรย์พระธาตุเจดีย์ก็ทะลุเป็นอุโมค์ลึกลงไปแล้วพญาช้างผู้กำงาเขียวจึงหยุดที่ตรงนั้นทำการเวียนประทักษิณ สามรอบ  พระนางทรงตื่นพระบรรทม ใคร่ ครวญถึงพระสุบินนิมิต จึงได้เสียงยิงธนูอธิษฐาน ลูกธนูได้ยิงไปตกยังป่าอัมพวนาราม

เมื่อพระนางเสด็จมาถึงป่าอัมพวนาราม (ป่ามะม่วง) อันเป็นที่อยู่อาศัยของชนกลุ่มลัวะ และประดิษฐานเส้นพระเกศาพระบรมธาตุกระดูกซี่โครงเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้า จึงรู้ด้วยญาณทิพย์แห่งพระองค์ว่าสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ทรงพระสุบินอย่าแน่นอน และยังเป็นที่บรรจุพระเกศาธาตุ กระดูซี่โครงเบื้องซ้ายของพุทธเจ้า

ทรงเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในองค์พระธาตุ จึงได้น้อมถวายสักการะองค์พระธาตุ และสละทรัพย์ปัจจัยสร้าง ปฏิสังขรณ์ องค์พระธาตุ บรรจุเครื่องทรง อาภร ของมีค้าทั้งหลาย ไว้ในองค์พระธาตุ มีทองคำ ๗ ล้อเกวียน เงิน ๗ ล้อเกวียน นาค ๗ ล้อเกวียน พร้องทั้ง แก้วแหวนเพชรนิลจินดา เครื่องใช้มีค่าดั่งทองทั้งหลายที่ได้รับถวายจากหัวเมืองต่างๆ นำมาบรรจุไว้ที่นี้ สร้างวิหาร และสถานที่ประกอบสาสนะกิจสงฆ์ มอบหมายให้ชนกลุ่มลัวะในบริเวณนี้ ๓๐๐ ครัวเรือนเป็นข้าอุปัฏฐากพระธาตุ ตลอดจนถึงตัวพระราชครูเจ้ามหาวิมังคละเป็นเจ้าอารามปกครอง พระสงฆ์และบูชาอุปัฏฐากพระธาตุ เสร็จแล้วมีการเฉลิมฉลองเป็นการใหญ่ ๗ วัน ๗ คืน นิมนต์สาธุเจ้าหัววัดอารามมาสวดเจริญพระพุทธมนต์จนพระธาตุเสด็จมามากมาย

แล้วจึงได้อธิษฐานขอพรกับองค์พระบรมธาตุเจ้า ให้ข้าราษฎร์ทั้งหลาย หัวเมืองปกครองต่างๆ ในเขต จงอยู่เย็นเป็นสุข ยังให้เกิดปาฏิหาริย์แผ่นดินเลื่อนลั่น รอยพระพุทธบาทที่พระพุทธองค์เจ้า ๔ พระองค์ทรงประทับไว้ที่ได้พระธาตุทุ่งตูมแห่งนี้ ลอยผุดขึ้นมาจากแผ่นดิน ให้พระนางได้กราบสักการบูชา แล้วลบเลือนหายไปในแผ่นดินดังเดิม หลังจากนั้นพระนางก็ได้น้อมถวายกลองใบหนึ่งไว้กับพระธาตุเจ้าทุ่งตูมขนาดเท่า ๓ คนโอบ ยาว ๑๕ วา ไว้ตีสักการบูชาพระธาตุในวันพระเดือนมืดเดือนเพ็ญ พร้อมทั้งได้ทำการก่อพระธาตุเจดีย์ยกยอดฉัตรพระธาตุ    ถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทอง พร้อมเครื่องหอมต่างๆ สรงองค์พระธาตุสืบไป


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตำนานพระธาตุทุ่งตูม (ต่อ)



IMG_1867.JPG



ข้อมูลจาก...เว็บพระธาตุทุ่งตูม (http://www.phrathatthungtoom.com/)

(แหล่งที่มา : เว็บพระธาตุทุ่งตูม ดอท คอม. ตำนานพระธาตุทุ่งตูม. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก :http://www.phrathatthungtoom.com/. (วันทีีี่ค้นข้อมูล : ๒ มิถุนายน ๒๕๕๕)


พุทโธมํคลสมฺภูโต  สมฺพุทโธ  ทีปทุตฺตโม  พุทธมํคลมาคมฺม  สพฺพทุกขา  ปมุญจเร  กริยาอันคนแลเทวดาทั้งหลายจักได้ถึงสุข  ๓  ประการ มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่ตั้ง  มีพระนิพพานเป็นยอดนั้น  ก็อาศัยซึ่งแก้วรัตนะ  ๓  ประการ  ก็จักได้ถึงแล  แก้วรัตนะ  ๓  ประการนี้  อันเป็นแก้วประเสริฐเลิศอุดมยิ่งนักกว่าสิ่งใด  หาสิ่งจักเสมอเหมือนไม่ได้แล

พระพุทธเจ้าแห่งเราเป็นพระแล้วได้  ๘๐  วสา  ยังมีลูกศิษย์พระพุทธเจ้ารูปหนึ่งชื่อ  ควัมปัตติ  เป็นชาวเมืองสะเธิม  ขออนุญาตแก่พระพุทธเจ้ามาสู่เมืองสะธิมเพื่อโปรดเมตตาแม่แห่งตน  พญาสะเธิมแลชาวเมือง สะเธิมยินดีในคุณของควัมปัตติเถร  จึงให้ควัมปัตติไปนิมนต์พระพุทธเจ้ามาโปรดหมู่บ้านแห่งตน  พระพุทธเจ้าก็แย้มพระสรวลหัวเราะ  เหตุพระองค์เล็งเห็นพระยาวอก  ๓  ตัวอยู่ป่าที่นั้น  ก็จักได้ให้ทานแก่พระพุทธเจ้า  แลจักได้ถึงในสุคติเกิดสุขสามประการมากนักแล

พระพุทธเจ้าเสด็จพร้อมพระอานนท์แลภิกษุสงฆ์  ๕๐๐  รูป  ไปสู่เมืองทนังคทราว  ตหวานศรี  ทำนายที่นั้นแล้ว พระพุทธเจ้าก็เสด็จไปสู่เมืองทหวายแล  ยังมีฤๅษีตน  ๑  ชื่อว่า  นิลคังคา  ขอเกศาธาตุแห่งพระพุทธเจ้าแล้ว  พระพุทธเจ้าก็ให้เกศาธาตุเส้น  ๑  แก่ฤๅษีที่นั้นแล้ว  พระพุทธเจ้าก็ไปสู่เมืองอตุลพาราณสี  พระยาอินทร์เนรมิตอารามไว้ที่นั้น  และนิมนต์พระพุทธเจ้าให้เข้าสำราญในที่นั้นแล

ชาวเมืองอตุลพาราณสี  มีพญาเป็นประธาน  ก็ฟังธรรมพระพุทธเจ้าในที่นั้นแล  ยังมีราชบุตรท่านหนึ่งชื่อ ทิสานาค ก็บวชเป็นภิกษุตามไปกับพระพุทธเจ้าแล  พระพุทธเจ้าจักไปทำนายเบื้องหน้าว่า  ในอนาคตบ้านเมืองอันนี้จักมีชื่อสองชื่อ  ชื่อหนึ่งว่า  สาลยา  ไทยว่าพระนอน  อีกชื่อหนึ่งว่า  กาธสอ  ไทยว่าเมืองขี้หย้านแล  บัดนี้เรียกว่า เมืองสลงแล

ถัดจากนั้น  พระพุทธเจ้าก็ไปถึงที่แห่งหนึ่งชื่อ ปรมัม ณ ที่นั้นทรงเทศนาสั่งสอนยะสอยักข์ ๕๐๐ ตน ให้ถึงโสดาปัตติผล  เหตุพระพุทธเจ้าเทศนามังคละสูตร  ภูเขาอันชื่อว่ามังคละนั้นแล ภายหน้าจักได้ชื่อว่า  มกุตโลแล

จากนั้น พระพุทธเจ้าจึงเสเด็จไปสู่เมืองสะเธิม อยู่ทิศตะวันออกเมืองสะเธิม  หันพระรัศมีไปทางทิศใต้  ยามนั้นยังมีพญาอุสุภะราช (วัว) พร้อมฝูง ๕๐๐  ตัว  ข้ามมากินหญ้าในม่อนดอยแห่งนั้น  แลเห็นรัศมีพระพุทธเจ้า  แหงนหน้าดูเห็นพระพุทธเจ้า จึงข้ามมาริมป่าสัก มากราบไหว้พระพุทธเจ้าแล

พระพุทธเจ้าจึงเจรจากับด้วยพระอานนท์ว่า  ดูราอานนท์  พญาวัวอุสุภะราชตัวเป็นใหญ่นี้  มันจักได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้ารูปหนึ่งเหมือนดั่งเราตถาคตนี้ในกาลภายหน้านี้แล  มันใคร่ได้เกศาธาตุเราแล  พระยาอินทร์รู้ว่าพระพุทธเจ้าจักให้เกศาธาตุแก่พญาวัวตัวนั้น ดั่งนั้นจึงเอาพระอบแก้วมามอบถวายให้แก่พระพุทธเจ้า  พระพุทธเจ้าก็เอามือขวาลูบอุตตมังคละ  ได้เกศาธาตุเส้นหนึ่งไปใส่ในพระอบ  พระยาอินทร์รับเอาไปห้อยไว้เขาวัวอุสุภะราชตัวนั้น  วัวอุสุภะราชตัวนั้นก็เอาเกศาธาตุขึ้นไปบนยอดดอย  ตั้งไว้เหนือหน้าผาที่นั่นแล  พระยาอินทร์ก็เนรมิตเจดีย์แก้วมรกต  บรรจุพระเกศาธาตุพระพุทธเจ้าไว้ตรงนั้นแล  เหตุดั่งนั้นดอยนั้นจึงชื่ออุสุภะราชนั้นแล

พระพุทธเจ้าเทศนาแก่พญาสะเธิมแล  ครั้งนั้นยังมีฤๅษี ๗ ตน  มาขอเอาเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า  พระพุทธเจ้าก็ประทานให้เกศาธาตุ  ๗  เส้นแก่ฤๅษี  ๗  ตนนั้นแล  ฤๅษีทั้ง ๗ ตนนั้นทูลเอาเกศาธาตุวางไว้บนหัวของตน  นำขึ้นประดิษฐานไว้เหนือยอดดอย  ดอยนั้นจึงชื่อเรียกว่า อิสฺสโย ดั่งนั้นแล

เศรษฐี พร้อมด้วยนางทั้งหลายพันนาง ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า  จึงได้เป็นอรหันต์ทุกคนแล  แม่ควัมปัตติเถรก็ได้เป็นอรหันต์แล้วนวันนั้น  ก็บวชอยู่กับด้วยภิกษุณีทั้งหลายแล

ส่วนพระยาสะเธิมยังไม่ได้ถึงมักผลนิพพานแต่อย่างใด  จึงมีความน้อยใจยิ่งนัก  อดที่จะร้องไห้ขึ้นมาไม่ได้  พระพุทธเจ้าจึงกล่าวว่า  ดูก่อนรามหาราช  ศาสนาพระตถาคตเจ้าแห่งเรา  พระธรรม  ๘๔,๐๐๐  ขันธ์   พระพุทธรูป  ชินะธาตุยังจักปรากฏตั้งอยู่  ๕๐๐๐ ปี  มหาราชอย่าได้น้อยใจไปเลย

ดั่งนั้น พระยาสะเธิมจึงมีความปิติยินดีเป็นอย่างยิ่งเป็นเหตุให้ได้ถึงโสดาบันในวันนั้นแล  พระพุทธเจ้าจึงใส่ชื่อว่า  ศิริธรรมาโศกวันนั้นแล  เมืองสะเธิมนั้นมีทางทิศตะวันออกเมืองหงสาแล  ลัวะเจขม พี่น้องเป็นปู่ควัมปัตติก็ตามเสด็จด้วยกับพระพุทธเจ้าไป

พระพุทธเจ้าพรากจากที่นั้นแล้ว  ก็หันหน้ามาทางทิศตะวันวันออกของสุริโย อันว่าพระอาทิตย์  เทศนาโปรดเทวดาอินทร์ เทพ พรหม  อรหันต์  ๕๐๐  รูปก็ดี  พญาสะเธิมศิริธรรมาโศกก็ดี  คนทั้งหลายฝูงอื่นก็ดี  ก็มาตามเสด็จด้วยพระพุทธเจ้าแล


IMG_1873.JPG



พระพุทธเจ้าเสด็จมาโดยลำดับมาถึงแม่น้ำน้อยสายหนึ่งเลียบฝั่งน้ำขึ้นมา  เหนือข้างแม่น้ำน้อยแห่งนั้น  มีป่าใหญ่อยู่  ๓  ป่า  เงียบสงัดจากหมู่คน  มีหมู่พระยาวอก ๑,๐๐๐ ตัว  ฝูงไหนมีบริวาร  ๔๐๐  ตัว  เหนือแม่น้ำแห่งนั้น  มีป่าป่าหนึ่งชื่ออัมพวนาราม  มีพระยาวอก ๓  ตัว นั้นอาศัยอยู่ภายในป่า  ได้เอารวงเผิ้ง  ๗  รวงมาไว้ว่าจักกิน  พญาวอกตัวน้องทราบว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาที่ป่าแห่งนี้ยินดี  จึงเจรจาแก่พญาวอกผู้เป็นพ่อให้เอารวงผึ้งมาถวายทานแก่พระพุทธเจ้า  พญาวอกตัวพี่ก็เห็นพ้องต้องตามอย่างเดียวกันนั้นแล  พญาวอกตัวพ่อยินดียิง  จึงไปเอารวงเผิ้งทั้ง  ๗  รวงนั้น  ใส่บาตรถวายแก่พระพุทธเจ้าและทั้งอรหันต์ ทั้ง ๕๐๐ รูปที่นั้นแล

พญาวอกผู้เป็นพ่อมีความปีติยินดีเป็นอย่างมาก  วิ่งขึ้นต้นดอกไม้  ยื่นมือไปหมายว่าจักเด็ดเอาดอกไม้ถวายแก่พระพุทธเจ้า  ก็เกิดเหตุพลัดตกลงจากต้นไม่นั้นตกใส่ตอไม้อันหนึ่ง  เสียบเข้าที่กระดูกซี่โครงไว้จนตาย  ก่อนตายหันหน้าไปยังพระพุทธเจ้า  พระพุทธเจ้าก็ให้สรณะคมณ์แก่มัน  ดอกไม้อันมีในมือพญาวอกนั้น  ก็หากมาปรายยื่นถวายบูชาแด่พระพุทธเจ้าที่นั้นแล  พญาวอกตัวนั้นก็ขาดใจตายไปในที่ที่สุด

พระอานันท์ก็ถามพระพุทธเจ้าว่า  ข้าแต่พระพุทธเจ้า  พญาวอกผู้เป็นพ่อนี้ตายไปได้ไปเกิดที่ใดหรือ  พระพุทธเจ้ากล่าวขึ้นว่า  ดูก่อนอานันท์  พญาวอกตัวนี้ตายด้วยจิตปาสาทะ  อันดีโดยถึงธรรมแห่งเราตถาคตได้ไปเกิดในปราสาททิพย์  มีพื้นได้  ๗  ชั้น  มีบริวารรับใช้พันหนึ่ง  สถิตในสรวงสรรค์ชั้นฟ้าตาวติงสา ดาวดึงส์แล

พระอานันท์ถามพระพุทธเจ้าว่า  ข้าแก่พระพุทธเจ้า  พญาวอก  ๓  ตัวพ่อลูกนี้  ภายหน้านี้ยังจักได้เป็นอย่างไดฤาพระพุทธเจ้าตรัสว่า  ดูราอานันท์  พระยาวอกตัวนั้นมันจักได้เป็นพระยาในเมืองหงส์สาวดี  ประกอบด้วยสมบัติเข้าของเงินทอช้างม้าเป็นดั่งสมบัติแห่งเทวดาในชั้นฟ้าตาวติงสาดาวดึงส์นั้น  จักได้ดค้ำชูพระพุทธศาสนาตถาคตให้รุ่งเรือง  มันจักได้สร้างยังเจดีย์หลังหนึ่งในท่ามกลางเมืองอันนั้น   เสมอดั่งพระธาตุเกตุแก้วจุฬามณีเจดีย์ ด้านทิศตะวันตกเจดีย์หลังนั้นมันจักสร้างปราสาทหลังหนึ่ง  มีพื้นได้  ๗  ชั้น  เสมอดั่งเวชยนต์ปราสาทของพระอินทร์แล

ลูกพญาวอกตัวพี่นี้  เมื่อตถาคตยังเล็งเห็น  มันขึ้นต้นไม้แล้วปัสสาวะตกลงมา  เมื่อหน้ามันได้เป็นท้าวพระยา  จักทำให้ศาสนาตถาคตให้ฉิบหายมากนัก  แล้วมันก็จักฉิบหายไปด้วยแล

พญาวอกตัวน้องนี้  มันออกปากถวายทานรวงผึ้งแก่พระพุทธเจ้าก่อน  มันจักได้เป็นท้าวพระยาในเมืองอันนี้ก่อนผู้พี่แล  ตัวพี่มันออกปากถวายทานทีหลัง  มันจึงได้เป็นท้าวพระยาแทนพ่อ  เมื่อภายหลังแล

พระพุทธเจ้าทำนายที่นั้นแล้ว  จึงย้ายพระบาทพระพุทธเจ้าไปต่อ รู้ว่าไชยภูมิมีเมืองตระกาน (เวียงท่าการ)  มีวันตกเฉียงใต้ พระพุทธเจ้าไม่เสด็จไป  พระพุทธเจ้าจึงเสด็จไปสู่ยังเมืองเจลาภูมิ  คือว่าลำพูนแล  มีทิศตะวันออกเฉียงเหนือ  พระพุทธเจ้าทำนายที่นั้นแล้ว  จึงขึ้นมาทิศหนตะวันตกเมืองเจลาภูมิ  มีแม่น้ำน้อยสายหนึ่ง  มีคนอาศัยคนอยู่ทางทิศตะวันออกแม่น้ำนั้น  ๗  หลังคาเรือนด้วยกันซึ้งเป็นญาติของควัมปัตติ  เขาทั้ง ๗  เรือนนั้น  เป็นคนกลุ่มลัวะ กลุ่มคนเหล่านั้น เป็นลัวะพี่น้อง ยังไม่ได้กินข้าวเช้า  ด้วยเหตุว่ารู้ว่าพระพุทธเจ้าจักมาบินฑบาตร จึงรอที่จะใสบาตรถวายพระพุทธเจ้า เมือพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงจึงถวายข้าภัตตาหารแก่พระพุทธเจ้า แล้วหากถามว่าจะฉันข้าวบินฑบาตรหรือยัง พระพุทธเจ้าตอบว่ายังไม่ฉันยังไม่ฉัน พระอานนท์  พระอรหันต์ทั้งหลายก็ยังไม่ฉัน  พระยาอโศกก็ยังไม่เสวย

ด้วยเมื่อพระพุทธเจ้าทราบด้วยพระญาณตื่นพระบรรทมตอนเช้าว่าจะต้องเสด็จมายังป่าอัมพวนาราม (ป่ามะม่วง)  เพื่อประทานพระเกศาธาตุ และทำนายพยากรณ์ถึงการนำพระธาตุกระดูกซี่โครงเบื้องซ้ายแห่งพระองค์มาประดิษฐานที่นั้นพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงชายป่าก็เล็งเห็นพญาวอกตัวน้องมารอรับเสด็จพระพุทธเจ้าอยู่ก่อนหน้าแล้ว เล่นซึ่งหญ้าและน้ำค้างอันค้างติดกันอยู่บนยอดหญ้าและต้นไม้  จึงนอนกลิ้งไปมาให้หญ้าแลน้ำค้างตกเสีย  ไม่ให้ถูกผ้าพระพุทธเจ้า แลพระฝ่าบาทของพระพุทธเจ้า สละซึ่งชีวิตของตนน้อมถวายแก่พระพุทธเจ้าแล  

ครั้งนั้นพระยานาคเจ้าตนชื่อว่าสัญไชย เห็นถึงความอุสาหะศรัทธาของพญาวอกผู้น้องที่มีต่อพระพุทธเจ้า จึงได้ถอดสร้อยสังวาลของตนห้อยคอให้แก่พญาวอกตัวน้องนั้นแล้ว  หลังจากนั้นลัวะเจขมพี่น้องได้ให้ทานถวายข้าวบาตรแก่พระพุทธเจ้า  พระพุทธเจ้ารับบินฑบาตแล้วก็เอาบาตรห้อยไว้กับต้นไม้คะยอม แล้วเสด็จไปถ่ายพระบังคมที่ป่าไม้หวีด (เป็นวัดพระบาตรยั้งหวีดปัจจุบัน) จากนั้นเทวดาที่อยู่อัมพวนาราม  ๒  ตน  จึงได้ไปนิมนต์พระพุทธเจ้ากลับคืนมาฉันภัตตาหาร ที่อัมพวนารามเราแล พระพุทธเจ้าก็กล่าวว่าน้ำในที่นี้ไม่มีจักฉัน  จึงจะย้ายพระบาทเสด็จต่อไปในที่อื่น พญานาคเจ้าตัวชื่อว่าสัญไชย  จึงเอาจะงอยปากของตนมาจรดดินเกิดเป็นน้ำพุ่งออกมาแล  พระพุทธเจ้าก็ได้ประทับยังที่นั้นเพื่อฉันภัตตาหารแล ก็ได้ชื่อว่าในอัมพวนารามทุ่งตูมแล

ลัวะทั้ง  ๒  ได้ถวายให้ทานภัตตาหารแก่พระพุทธเจ้า  พระพุทธเจ้ายังไม่ฉัน พระพุทธเจ้ายังทรงเล็งดูเห็นวอกตัวน้องนั้นรู้ด้วยปัญญาอันฉลาด และไหวพริบศรัทธาแห่งพุทธเจ้า  จึงไปเอาบาตรของพระพุทธเจ้าไปตักเอาน้ำทิพย์ที่พญานาคสัญไชยสร้างเสก มาประเคนถวายพระพุทธเจ้าและพระอรหันตาทั้งหลาย  ฉันข้าวแล้ว  จึงเทศนาภัตตาอนุโมทนาแก่ลัวะทั้ง  ๒  พี่น้องกับพญานาค พร้อมทั้งพญาวอกตัวน้องแล

พระพุทธเจ้าเล็งเห็นรู้แล้ว  จักใคร่ให้ปรากฏแก่คนทั้งหลาย  จึงถามเทวดาทั้ง  ๒  ที่เฝ้ารักษายังป่าอัมพวนารามทุ่งตูมแห่งนี้ว่า  ดูก่อนราเทวดา  ท่านทั้ง  ๒  มีอายุเท่าใดฤา  เทวดาตนชื่อว่าอัชชะบาลทูลตอบพระพุทธเจ้าว่า  ข้าพุทธเจ้ามีอายุได้  ๓๐  กัปแล  เทวดาตนชื่อสุมนะทูลตอบพระพุทธเจ้าว่า  ข้าพระพุทธเจ้ามีอายุ  ๑๒  กัปแล

พระพุทธเจ้าทรงตรัสถามต่อว่า  ดูราเทวดาทั้ง  ๒  พระพุทธเจ้าทั้งหลายแต่ก่อนมาฉันข้าวภัตตาหารที่นี้กี่ตนแล้วฤา  เทวดาทั้งสองจึงตอบทูลถวายว่า  ข้าแด่พระพุทธเจ้า  พระพุทธเจ้ากกุสันโธ  พระพุทธเจ้าโกนคมน  พระพุทธเจ้ากสฺสโป  เสด็จมาฉันข้าวที่อัมพวนารามทุ่งตูมนี้ทุกพระองค์แล  พระพุทธสมณะโคดมเจ้าพระองค์เป็นองค์ถ้วน  ๔  บัดนี้แล

ดั่งนั้น  ลัวะทั้ง  ๒  พี่น้องซึ้งมาถวายข้าวภัตตาหารแก่พระพุทธเจ้าก็กล่าวแก่พญาอโศกว่า  ข้าพเจ้าทั้ง ๒ มีใจใคร่อยากได้พระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าไว้สักการบูชา  ขอให้ท่านพญาอโศกโปรดทูลขอประทานเส้นพระเกศาแก่ข้าทั้ง ๒ ด้วยเถิด  พญาอโศกไหว้พระพุทธเจ้าแล้วจึงกล่าวขอเส้นพระเกศาธาตุ


พระพุทธเจ้า  พระพุทธเจ้าเอามือลูบอุตตมังคละ  ได้เส้นพระเกศาธาตุ  ๒  เส้น  เส้นหนึ่ง  ประทานให้แก่ลวะผู้พี่  มันยื่นมือข้างขวาเข้ามารับเอา  พระยาอินทร์เอาพระอบแก้วมาให้แก่มัน  มันรับเอาใส่เกศาธาตุแล้ว  อีกเส้นหนึ่งนั้นประทานให้แก่ลัวะผู้น้อง  มันรับเอาด้วยมือเบื้องซ้าย  พระยาอินทร์เอาพระอบแก้วมหานิลมาใส่เช่นเดียวกันนั้นแล

พระอานนท์กับพญาอโศกถามพระพุทธเจ้าว่า  ลัวะทั้ง  ๒  พี่น้อง  ใคร่ขอเกศาธาตุ  ทำไมไม่ขอยังบ้านเมืองตนคือว่าเมืองสะเธิมละ  เหตุใดหรือจึงมาขอเอาที่ป่าอัมพวนารามแห่งนี้



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_1824.JPG



ตำนานพระธาตุทุ่งตูม



ข้อมูลจาก...หนังสือตามรอยพระพุทธบาท ฉบับรวมเล่ม ๑
โดย พระชัยวัฒน์ อชิโต

(แหล่งที่มา : พระชัยวัฒน์ อชิโต สำนักงานธัมมวิโมกข์ วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี. (๒๕๔๙, ๑ มกราคม). ตามรอยพระพุทธบาท ฉบับรวมเล่ม ๑ (พิมพ์ครั้งที่ ๑).  กรุงเทพฯ: เยลโล่การพิมพ์, หน้า ๓๗๒.)


กล่าวว่า “.....ขณะที่องค์สมเด็จพระชินสีห์เสด็จมาบิณฑบาตที่บ้านกอนหลวง-กอนน้อยนั้น มีหัวหน้าหมู่บ้านสองคนเป็นพี่น้องกัน ผู้พี่มีชื่อว่า ขุนอ้ายกอนคำ ผู้น้องมีชื่อว่า ขุนอ้ายท่อนคำ ได้เอาเสื่อมาปูถวายให้พระพุทธองค์ประทับนั่งที่ใต้ต้นมะม่วงต้นหนึ่ง แล้วจึงได้ถวายภัตตาหารแด่พระพุทธเจ้า

เมื่อพระองค์ฉันเสร็จแล้ว จึงประทานเส้นพระเกศา ๑ เส้น พร้อมกับได้ตรัสสั่งว่า เมื่อเราตถาคตปรินิพพานแล้ว ท่านทั้งหลายจงเอากระดูกซี่โครงเบื้องซ้ายมาบรรจุไว้กับพระเกศาธาตุนี้เถิด

หลังจากนั้นทรงมีพุทธดำรัสแก่พระอานนท์ว่า “ดูก่อนอานนท์...ตถาคตมาในสถานที่นี้ ท่านทั้งหลายได้ขอเกศาธาตุไว้ ในที่นี้ภายหน้าจักได้ชื่อว่า “อัมพวนาราม” (ขณะนี้เรียกว่ามะกับตอง ต.ยุหว่า ห่างไกลจากวัดพระบาทยั้งหวีดประมาณ ๓ กิโลเมตร แต่ในหนังสือประวัติพระแม่เจ้าจามเทวี บอกว่าปัจจุบันคือ วัดทุ่งตูม)”


IMG_1836.JPG



ข้อมูลจาก...หนังสือพุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับชำระสะสาง

(แหล่งที่มา : นาคฤทธิ์ รวบรวมชำระสะสาง (๒๕๔๐-๒๕๔๕). (๒๕๔๕, ๑ ตุลาคม). พุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับชำระสะสาง (พิมพ์ครั้งที่ ๑). เชียงใหม่: ลานนาการพิมพ์, หน้า๒๒๖.)



กล่าวว่า “ผู้ที่พบตำนานพระบาทยั้งหวีดคือ ขุนลัวะอ้ายปอนคำ เมื่อพระพุทธเจ้าทำนายให้แจ้งล่วงหน้าแล้ว ก็เสด็จไปบิณฑบาตบ้านนายช่างทอง แล้วทรงเหยียบพระบาทที่ศิลาก้อนหนึ่ง (ปัจจุบันอยู่ที่ วัดทุ่งตูม ต.มะขุนหวาน ห่างจากวัดพระบาทยั้งหวีดไปตะวันออกประมาณ ๑ กิโลเมตร)

จากนั้นพระพุทธองค์ก็พาพระอานนท์กับพระยาทั้งสองเสด็จไปยังดอยศรีจอมทอง เสวยบิณฑบาตที่นั่น เสร็จภัตตกิจแล้วก็เสด็จไปยังดอยเกิ้ง พระยาอินทร์จึงชี้พระหัตถ์ไปยังซอกผาน้ำไหลหลั่งออกมากลายเป็นน้ำบ่อทิพย์ สถานที่นี้พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับครั้งหนึ่งแล้วตอนเสด็จมาจากอยุธยา คราวนี้เป็นครั้งที่สอง

พญานาคอีกตนหนึ่งเป็นตนพี่ชื่อ มหาสะสัญชัย ยังมิได้มีส่วยช่วยเหลือศาสนาเราตถาคตฯ เมื่อจุติตายจากความเป็นนาคก็จักได้มาเกิดเป็นมนุษย์ แล้วจักได้ออกบวชเป็นศิษย์ของตถาคตตลอด แก่แล้วจักได้มาอยู่รักษารอยพระบาทของเราตถาคตตลอดไปทุกๆ ชาติ ให้เจริญรุ่งเรืองตราบต่อเท่า ๕๐๐๐ พระวสาแลฯ พระพุทธเจ้าได้ตรัสทำนายไว้แก่ท่านพระอานนท์ พระยาอินทร์และพระยาอโศก ดั่งที่ได้พรรณนามาโดยสังเขปไว้แต่เพียงเท่านี้ฯ

อนึ่ง ตอนที่พระพุทธเจ้าถ่ายอุจจาระปัสสาวะเสร็จแล้ว เสด็จพุทธดำเนินมายังต้นไม้มะม่วงแมลงวัน พระยาทั้งสองและพระอานนท์ขอพระเกศาธาตุไว้ ต่อไปภายหน้าจักได้ชื่อว่า “อัมพวนารามแล” (ปัจจุบันเรียกว่า มะกับตอง ต.ยุหว่า อ.สันป่าตอง) ห่างจากพระบาทยั้งหวีดไปทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ ๓ กิโลเมตรเศษ เป็นพระเจดีย์ประดิษฐานพระธาตุกระดูกซี่โครงซ้ายกับเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า”

IMG_1854.JPG



ข้อมูลจาก...เว็บพระธาตุทุ่งตูม (http://www.phrathatthungtoom.com/)

(แหล่งที่มา : เว็บพระธาตุทุ่งตูม ดอท คอม. ตำนานพระธาตุทุ่งตูม. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก :http://www.phrathatthungtoom.com/. (วันทีีี่ค้นข้อมูล : ๒ มิถุนายน ๒๕๕๕)


ติโลกเสฐํวสิโร  รุหํยํ  ทมิลสฺสทินํ  อิธราปิ  ตนฺตํ  เทเวหิรกฺขํ  อติเตชวนฺตํ  นยอิภิลามํ  สิรสานมามิ  สรีสรีวรเณด  ธาทพิเสฐ  พิสุทธครานรุจิ  อำรุงบางลือเลิตเรือง  แตรดภูม

บัดนี้จักได้กล่าวถึงตำนานอัมพวนารามพระธาตุเจ้าทุ่งตูมอันท่านทะมิลละบาน ศรัทธา  พร้อมเหล่าเทพและมนุษย์ทั้งหลาย ได้ชุมนุมพร้อมเพรียงต่อตั้งพระอัมพวนาราม  อันเทพทั้งหลายสถิตอยู่รักษาเฝ้าพระเกศาธาตุสององค์ให้ปรากฏแก่สายตาเทพเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย  ดุจพระเกตุแก้วจุฬามณีศรีมหาธาตุ  ให้เป็นที่ลือเลื่องแก่ฝูงชนอันมาสักการบูชาได้ชื่อว่าพระบรมธาตุเจ้าทุ่งตูม อันประดิษฐานไว้แล้วในอัมพวนาราม  ผู้ข้าขอถวายกระพุ่มเศียรกล้าว  สาบาทพระบังคมพระเกษาธาตุและบรมธาตุเจ้าอันเป็นกระดูซี้โครงเบื้องซ้ายแห่งพระพุทธโคดมเจ้าแล ฯ

บัดนี้ไส้  ปีกล่าเหม้า  จุลศักราชได้  ๙๖๔  ตัว ปีพุทธศักราช ๒๑๔๕  เดือน  ๔  เหนือออก  ๔  ค่ำ  เม็งวัน  ๔  ไทรวายสง้า  ยามเที่ยงวัน  ราชครูลวะนาง  ได้ตำนานพระเกศาธาตุพระธาตุเจ้าแต่เมืองเบงหมอน  นำเริ่มมาเป็นตัวหนังสือเม็ง  คำก็เป็นคำเม็ง  ราชครูเจ้าให้มาแต่งแต้มเป็นคำอังวะแล้วที่นั้น ตั้งใจเอาให้ทะเรตคะหม่องมะคะ  แต่งแปลเป็นคำไทย  ชะลุนหม่องดูแล้วอธิบายเป็นโวหารไทย เสร็จแล้วจึงเขียนแต่งออกไว้ให้นักปราชญ์เจ้าทั้งหลายได้สดับรับฟัง  ด้วยดังจักกล่าวต่อไปนี้แล



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_1804.JPG


พระบรมธาตุเจดีย์ ประดิษฐานด้านหลัง วิหาร วัดพระธาตุทุ่งตูม ค่ะ


IMG_1898.JPG



พระบรมธาตุเจดีย์  วัดพระธาตุทุ่งตูม เป็นที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุและพระบรมธาตุซี่โครงซ้ายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระสมณโคดม และ
สถานที่นี้เป็นสถานที่พระพุทธเจ้ามาฉันข้าวภัตตาหารถึง  ๔ พระองค์แล้ว มีประเพณีสรงน้ำพระธาตุและพระพุทธรูปโบราณ รวมถึงอนุสาวรีย์พระครูบาเจ้าศรีวิชัย สิริวิชฺชโย (ในวันเดือน ๙ เป็ง  เดือนเก้าเหนือ)

ปัจจุบันวัดพระธาตุทุ่งตูมเป็นสำนักปฏิบัติธรรมวิปัสสนากรรมฐาน มีการปฏิบัติธรรมถวายกองทานเป็นประจำทุกเดือนในวันอาทิตย์ที่ ๒ ของเดือน เพื่อเน้นที่จะพัฒนาจิตใจสาธุชนที่เข้ามาสู่วัดพระธาตุทุ่งตูมค่ะ



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_1785.JPG



IMG_1747.JPG



IMG_1794.JPG



IMG_1797.JPG



ภาพสวยๆ ภายใน วิหาร วัดพระธาตุทุ่งตูม ค่ะ


IMG_1798.JPG


เดี๋ยวเราออกจากวิหาร ไปไหว้สาพระธาตุทุ่งตูมกันต่อนะคะ



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_1762.JPG



IMG_1776.JPG



พระเจ้าทันใจ ประดิษฐานภายใน วิหาร วัดพระธาตุทุ่งตูม ค่ะ

(นะโม ๓ หน แล้วว่า ๓ จบ)  ตะมะหัง  ขิปปะจิตตะ  พุทธัง  อะภิปูชะยามิ  ตะมะหัง  ขิปปะจิตตะ  พุทธัง  เมสิ  ระสา  อะภิปูชะยามิ  ขิปปะจิตตะ  พุทธานุภาเวนะ  สะทา  โสตถี  ภะวะตุเม   ขิปปะจิตตะ  พุทธานุภาเวนะ  สะทา  มะหาลาโภ  ภาวะตุเม   ขิปปะจิตตะ  พุทธานุภาเวนะ  สะทา  มะหา  ยะโส  ภาวะตุเม



IMG_1767.JPG


รูปเหมือนครูบาเจ้าศรีวิชัย ประดิษฐานภายใน วิหาร วัดพระธาตุทุ่งตูม ค่ะ


IMG_1764.JPG


รูปพระครูวิหารกิจจานุการ (หลวงปู่ปาน  โสนันโท) ประดิษฐานภายใน วิหาร วัดพระธาตุทุ่งตูม ค่ะ


IMG_1770.JPG



รูปหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (พระมหาวีระ ถาวโร, หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ) ประดิษฐานภายใน วิหาร วัดพระธาตุทุ่งตูม ค่ะ



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html
‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2025-1-23 02:54 , Processed in 0.056835 second(s), 15 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.