แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
เจ้าของ: pimnuttapa
go

วัดพระบาทยั้งหวีด ม.๓ ต.มะขุนหวาน อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ (รอยพระพุทํธบาทคู่) [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

IMG_2014.jpg



รอยพระพุทธบาทเบื้องซ้าย ประดิษฐานภายใน วิหารครอบรอยพระพุทธบาทเบื้องซ้าย วัดพระบาทยั้งหวีด ค่ะ


IMG_2028.jpg



รอยพระพุทธบาทเบื้องซ้าย (สร้างครอบรอยพระพุทธบาทจริง) วัดพระบาทยั้งหวีด ปรากฏเห็นรอยนิ้วพระบาทด้วย ขนาด ๒ ศอกกว่า ยาว ๓ ศอกกว่าค่ะ



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_2032.jpg



ตำนานรอยพระพุทธบาทยั้งหวีด



(แหล่งที่มา : หนังสือประวัติตำนานรอยพระพุทธบาทยั้งหวีด วัดพระบาทยั้งหวีด (พิมพ์ครั้งที่ ๕). (๒๕๒๓, กรกฎาคม). เชียงใหม่: รุ่งเรืองการพิมพ์.)


นมามิ  พุทธํ  คุณสาครนฺตํ  สตตาสทาตุ   ฐปนฺนธาตุ โยวา กถํ  ชมภูทีเปเทวเกหิปูชิโตสหาโหตุ ฯ

บัดนี้จักได้กล่าวตำนานพระพุทธบาทยั้งหวีด ให้ปรากฏแก่ประชาชนคนและเทวดาทั้งหลายก่อนแลฯ ด้วยเหตุว่า พระมหาสัคคิเถระ อันอยู่ในเมืองพุกาม  และพระมหาโพชฌงค์เถระชาวเมืองกุสินารา พระเถระทั้งสององค์นี้มีความรู้แตกฉานในห้องพระไตรปิฎก ซึ่งได้ศึกษาเล่าเรียนมาอย่างช่ำชองแล้ว  พระเถระทั้งสองก็ชักชวนกันไปศึกษาการพระศาสนาในลังกาทวีป ซึ่งในสมัยนั้น  พระพุทธศาสนายังกำลังเจริญรุ่งเรืองอยู่ในลังกาทวีป  พระเถระทั้งสองได้อาศัยสำเภาไปกับพ่อค้า  ก็ไปถึงเมืองลังกาทวีป  ได้พักอยู่วัดแห่งหนึ่งซึ่งมีนามว่า วัดเสลาราม และในวัดนั้นเองพระเถระทั้งสองได้พบศิลาจารึกพระพุทธบาทและพระธาตุ แผ่นศิลาจารึกนั้นยาว ๗ วา  หนา ๓ วา  ปรากฏว่าพระยาอินทร์ได้ให้เปจจสีลาเทพบุตรมาแกะสลักไว้ เพื่อให้ปรากฏแก่คน และเทพยดา พระมหากษัตริย์ในรุ่นหลังต่อไป แผ่นศิลานั้นอยู่ที่วัดเสลาราม เจ้าอาวาสนามว่า โชติปาลเถระ

จะย้อนมากล่าวถึง นามเจ้าอาวาสวัดเสลาราม  ท่านเจ้าอาวาสวัดนั้นมีปรากฏนามว่า โชติปาลเถระ เมื่อพระเถระทั้งสองได้ไปถึงแล้วก็ได้นมัสการไต่ถามท่านเจ้าอาวาส เจ้าอาวาสก็ทำการปฏิสันถานต้อนรับด้วยไมตรีจิต  และได้ถามพระเถระทั้งสองว่า  ท่านทั้งสองมาจากที่ไหนและได้มาไหว้พระบาทพระธาตุที่นี้  พระเถระทั้งสองก็ตอบว่า  ข้าพเจ้าทั้งสองมาจากชมพูทวีป  เพื่อมานมัสการพระบาทพระธาตุของพระพุทธเจ้าอันมีในเมืองลังกานี้ฯ  แต่นั้นเจ้าอาวาสก็เอาตำนานพระบาทพระธาตุเจ้า  อันมีในชมพูทวีปให้พระเถระทั้งสองดูและบอกว่า  


ตำนานนี้พระพุทธเจ้าได้เทศนาแก่  พระยาอินทร์  พระยาอโศก  และพระอานนท์เถระเจ้าในครั้งเมื่อพระองค์ทรงเสด็จเที่ยวสั่งสอนโปรดเวไนยสัตว์โลก พระพุทธเจ้าได้พาพระอานนท์และพระยาทั้งสองไปทำนายทายไว้ ซึ่งรอยพระบาทและพระธาตุไว้ในชมพูทวีปโน้น  และได้สั่งให้พระเถระทั้งสองจารึกเขียนเอาตำนานนั้นมาด้วย เพื่อให้พระสงฆ์และท้าวพระยามหากษัตริย์ประชาราษฎรได้อ่านได้ดู  แล้วจะได้ทำการสักการบูชา ซึ่งตำนานและรอยพระบาทและพระธาตุนั้นๆ เถิด  

พระเถระทั้งสองก็ตั้งใจศึกษาตำนานนั้นๆ และได้จารึกเป็นตัวอักษรลงในใบลานได้ ๒ ผูก (สองฉบับ)  และพระเถระทั้งสองก็พากันออกเที่ยวนมัสการพระบาทพระธาตุในเมืองลังกาทวีปทุกๆ แห่ง  ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทำนายไว้นั้นฯ  พระเถระทั้งสองได้อยู่ในลังกาทวีป ๓ ปี จึงได้อำลาท่านพระมหาโชติเถระ  ผู้เป็นเจ้าอาวาสกลับมาชมพูทวีปฯ  มาอยู่ในเมืองพุกาม  แล้วเอาตำนานอันตนได้จารึกเขียนมานั้นถวายแก่พระสงฆ์เถระทั้งหลายในเมืองนั้น  อันมีพระสังฆราชธัมมรังษี  เป็นประธาน  


เมื่อพระสงฆ์ทั้งหลายได้อ่านดูแล้วเห็นว่า  ถ้าได้ตรวจค้นดูตามตำนานนั้น ก็อาจจะพบรอยพระพุทธบาทและพระธาตุ  จึงพร้อมใจกันนำเอาตำนานนั้นถวายแด่พระเจ้าสีสุ (กรุงอังวะ) และ พระเจ้ากาลัมพุชา (พุกาม) พระบรมกษัตริย์ทั้งสองได้ทอดพระเนตรเห็นตำนานนั้น  ก็โสมนัสชื่นชมยินดีเป็นอย่างยิ่ง  จึงน้อมพระเศียรลงนมัสการแล้วได้ประกาศให้ประชาชนราษฎรทั้งหลายได้ทราบ  และได้นมัสการพระพุทธบาทพระธาตุอันมีในเมืองอังวะเมืองหงสาวดี  เมืองพุกาม  เมืองอยุธยา  และเมืองนพบุรีศรีนครเชียงใหม่ฯ  

ประชาชนก็กันพากันโสมนัสยินดีเป็นอย่างยิ่ง  ปานประหนึ่งจะได้หน้าพระพักตร์ (หน้า) ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  เมื่อยังทรงพระชนม์อยู่  ประชาชนการความเลื่อมใสได้พากันสละเครื่องประดับออกถวายเป็นพุทธบูชา  บ้างก็ถอดแหวนอันสุบสอดอยู่ในมือของตนเป็นพุทธบูชา  บ้างก็สละเงินทองถวายบูชาในวันนั้น  ได้เงินสองพันบาท  ทองคำสองพันบาท ส่วนพระเจ้าสีสุก็เอาทองคำบูชา ๕๐๐ บาท  พระเจ้ากาลัมพุชาก็บูชาทองคำ ๕๐๐ บาท  รวมวัตถุทั้งหมดอันคนนำมาบูชาในครั้งนั้น  เป็นเงินสองพันบาท  ทองคำหนักสามพันบาทฯ

เมื่อนั้นพระบรมกษัตริย์ทั้งสองพระองค์  จึงให้นายช่างทองคำหล่อหีบทองคำใบหนึ่งกว้าง ๑ ศอก  ยาว ๑ ศอก  สูง ๑ คืบ  ๕ นิ้ว และประดับตกแตกด้วยแก้ว ๗ ประการ  แล้วเอาลวดทองคำผูกใบลานที่จารึกเขียนตำนานพระบาทพระธาตุนั้น  แล้วนำลงบรรจุไว้ในหีบทองคำใบนั้น  นำไปประดิษฐานไว้ในพระวิหารวัดกำพุชา  เมื่อพ.ศ.๑๕๑๑  จุลศักราช  ๓๓๐ฯ  

ต่อมามีพระมหาเถระองค์มีนามปรากฏว่า ลไทเกียง อยู่วัดสวนดอกไม้ตอนเหนือ  ได้ไปศึกษาเล่าเรียนในเมืองพุกามประมาณ ๑๐ ปี  จึงขอคัดลอกเอาตำนานพระบาทพระธาตุอันมีในเมืองนพบุรีนครเชียงใหม่ ๒๘ แห่ง  เมื่อมาถึงเมืองเชียงใหม่แล้ว  ได้พักอยู่ วัดบุพพาราม ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดบุพพารามนี้ ๓ พรรษา  เมื่อพระไทเกียงเถระมีพรรษาได้ ๓๐ พรรษา  พระเจ้าแก้วบรมกษัตริย์ได้อาราธนานิมนต์ท่านมาเป็นเจ้าอาวาสวัดสวนดอกฯ  เมื่อพระเจ้าแก้วได้เห็นตำนานพระบาทพระบรมธาตุเจ้าทั้งหลาย  อันตั้งอยู่ในเมืองนพบุรีนครเชียงใหม่  มีถึง ๒๘ แห่ง  จึงให้นายช่างทำการก่อสร้างบูรณปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมสถานที่เหล่านั้นให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นฯ ต่อจากพระเจ้าแก้วก็มาถึงพระเจ้ายอดเชียงราย พระเจ้ายอดเชียงรายได้ตำนานมาจากมอญรูปหนึ่ง ท่านก็ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แต่ไม่เจริญเท่าสมัยครั้งพระเจ้าแก้วฯ


พระลไทเกียงได้ตำนานมาจากพระมหาพุกำ พระมหาพุกำได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดสวนดอก ๑ พรรษา ในพรรษานั้นพระลไทเกียงเถระมีพรรษาได้ ๕๐ พรรษา ท่านก็ได้อำลาพระเจ้าแก้ว ไปอยู่ป่าฟ้าหลั่ง ได้ ๓๐ พรรษา พระลไทเกียงเถระท่านก็ได้ค้นดูตำนานทั้งหมด ก็ปรากฎว่าสถานที่พระบาทพระธาตุตั้งอยู่นั้นเจริญขึ้นแล้วทุกแห่ง แต่ที่ยังไม่ปรากฎนั้นคือ พระบาทยั้งหวีด, พระธาตุช่างไถ,  ยังแดง ยังหมื่น ยังเหิน และยังเห็น, สถานที่เหยียบรอยพระบาทและที่บรรจุพระเกศาธาตุเหล่านี้ ในเวลานั้นยังไม่ปรากฏว่าตั้งอยู่ในที่แห่งใด แต่จะไปปรากฏในอนาคตกาลข้างหน้าโน้น

เมื่อพุทธศักราช ๒๑๑๙ กับ ๑๐ เดือน ๒๖ วัน จุลศักราช ๙๓๘ ปี ตั้งแต่นั้นไปเมื่อจุลศักราช ๑๐๐๐ ปี พระเจ้าธรรมราชาจักมาสร้างพระอาราม ที่รอยพระบาทที่บรรจุพระเกศาธาตุนั้นๆ ให้เจริญรุ่งเรืองสง่างามปรากฎแก่คนทั้งหลาย ตามตำนานอันพระพุทธองค์ทรงทำนายไว้ว่า มีในชมพูทวีปฯ อันคำว่า ยั้งหวีด, ยังแดง, ยังหมื่น, ยังเห็น, และช่างไถ เหล่านี้ พระเถระเจ้าทั้งสองได้ฟังมาแต่เมืองลังกา แต่สถานที่เหล่านี้ในเวลานั้นยังไม่รุ่งเรือง จะไปรุ่งเรืองในกาลข้างหน้าฯ เมื่อรู้ดังนั้นแล้วพระมหาพุกำก็มาดำริในใจว่า ควรเอาต้นไม้ศรีมหาโพธิ์ ไปปลูกไว้ที่พระพุทธเจ้าได้ถ่ายอุจจาระปัสสาวะ พระมหาพุกำได้เอาพันธุ์ไม้ศรีมหาโพธิ์ต้นที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ันั้นมาเพาะไว้พอใหญ่ขึ้นพอประมาณ ๑ ศอก ก็ได้เอาไปปลูกไว้ที่พระพุทธเจ้าถ่ายอุจจาระปัสสาวะนั้นจริง ตามที่ท่านได้ดำริไว้นั้นทุกประการฯ

IMG_2763.jpg



พระพุทธองค์เสด็จพุทธดำเนินไปถ่ายอุจจาระปัสสาวะใกล้ต้นหวีดประมาณ ๑๔ วา
อุจจาระอันนั้นก็อันตรธานหายไปไม่เป็นอาหารแก่สัตว์ตัวใดตัวหนึ่งเลยฯ ในขณะนั้น เมื่ืื่อพระพุทธเจ้า ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ เสร็จแล้วยังมีพญานาคตนหนึ่ง ชื่อว่า ยสาสัญชัย เป็นบุตรของพญานาคชื่อว่า ธตะฐะ แทรกแผ่นดินออกมาถวายบ่อน้ำเป็นทานพร้อมกับกระบวยทองคำอันประกอบไปด้วยแก้ว ๗ ประการ อันมีค่าควรเมือง พญานาคก็ขออาราธนา พระพุทธองค์ได้ชำระสระสรงพระวรกายพระพุทธองค์ฯ

พญานาคบุหนปัจฉิมไกลจากพระพุทธเจ้า ๒๕ วา พระพุทธเจ้าทรงรับทานน้ำ และกระบวยทองคำของพญานาคแล้วก็ชำระสระสรงพระวรกายที่บ่อน้ำใกล้ต้นไม้หวีด ซึ่งตั้งอยู่ทิศตะวันออก ๕ วา พญานาคก็ขอรอยพระบาทคู่ ไว้ให้เพื่อเป็นที่เคารพกราบไหว้สักการบูชาแก่คนและเทวดา นาคครุฑทั้งหลาย พระพุทธเจ้าก็ทรงมีพระมหากรุณาแก่พญานาค จึงทรงเหยียบรอยพระบาททั้งคู่ให้พญานาคไว้เป็นที่ไหว้สักการบูชาแก่หมู่คน และเทวดา นาคครุฑทั้งหลายฯ

พระพุทธเจ้าจะเสด็จไปที่อื่นก็คืนกระบวยทองคำนั้น ให้แก่พญานาคดังเก่า พญานาคก็เอากระบวยทองคำนั้นลงไปไว้เมืองนาคที่บรรจุพระทันตธาตุเขี้ยวแก้วของพระพุทธเจ้า เพื่อให้เป็นที่สักการบูชาแก่หมู่นาคทั้งหลายฯ

พระพุทธเจ้าได้ถ่ายอุจจาระปัสสาวะแล้วก็เสด็จพุทธดำเนินมายังต้นไม้มะม่วงแมลงวัน ก็ทรงพุทธดำรัสแก่พระยาทั้งสองและพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ตถาคตมาในสถานที่นี้ท่านทั้งหลายได้ขอเกศาธาตุไว้ในที่นี้ภายหน้าได้ชื่อว่า อัมพวนาราม แล

อนึ่งเราตถาคตได้ถ่ายอุจจาระใกล้ต้นไม้หวีด พญานาคตนชื่อ ยสะสัญชัย ได้บุออกมาถวายบ่อน้ำและกระบวยทองคำแก่เราตถาคตให้ได้ชำระพระวรกาย พญานาคได้ขอให้เราไว้รอยพระบาททั้งคู่ เพื่อให้เป็นที่เคารพกราบไหว้สักการบูชาของเหล่าเทวดา มนุษย์ และนาคครุฑทั้งหลาย เราตถาคตก็ได้ทรงเหยียบรอยพระบาททั้งคู่ไว้ใ้ห้ แต่ได้ทรงเหยียบไว้ใหญ่บ้างเล็กบ้าง ไม่เท่ากัน เพราะเราตถาคตเล็งเห็นภัยในอนาคตกาล

โดยชาวเมืองโกสัมพีไม่รู้จักคุณค่าของพระศาสนา มาสร้างบ้าน ทำสวนเลี้ยงสัตว์ และทำเครื่องดักสัตว์เป็นอาชีพ ทำการงานทุจริตผิดศีลธรรม ไม่รู้จักสถานที่เคารพสักการบูชา จะพากันมาซักฟอกเสื้อผ้า ชำระร่างกายที่บ่อน้ำนี้ มิหนำซ้ำจะมาทำลาย รอยพระบาทที่เราตถาคตได้ทรงเหยียบไว้นี้ด้วยมีดและขวาน เพราะเขาเข้าใจว่าเป็นรอยเท้าโยคี (อ้ายเท้าเลิ๊ก) ไม่มีความเคารพยำเกรงแม้แต่คนเดียว มีแต่ดูถูกดูหมิ่น พวกเขาเหล่านั้นต่อไปภายหน้าจะได้เสวยกรรมวิบาก เพราะโทษที่หมิ่นประมาทรอยพระบาทที่เราตถาคตได้ทรงเหยียบไว้นี้คือว่าเขาจักเจ็บไข้ได้ป่วย ฉิบหายวายวอดไปตามๆ กัน

แม้เราตถาคตกรรมวิบากยังไม่สุด ถึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้วก็ตามกำลังอกุศลกรรมวิบากที่เราได้กระทำไว้ก็ยังติดตามสนองฯ คือว่า เมื่อตถาคตได้เกิดมาเป็นบุตรกุฏมพีอยู่ในเมืองพาราณสี มีนามปรากฏว่า โลลัตตกุมาร ได้ไปเที่ยวเล่นตามถนนหนทางกับด้วยเพื่อนเด็กๆ ชาวบ้าน โลลัตตกุมารได้เล่นวาดเขียนรูปรอยเท้าพระปัจเจกพุทธเจ้า ได้เขียนใหญ่บ้างเล็กบ้าง แหว่งหวิ่นบ้างไม่เท่ากัน และเขียนไม่มีนิ้วเท้าเท่านั้น ประหนึ่งบุคคลสวมรองเท้าแล้วไปเหยียบทรายฉะนั้น เหตุไม่ชำนาญศิลป์ในการเขียนอุตริเขียนเล่นไป แล้วกล่าวขึ้นว่า

รอยเท้าพระปัจเจกเจ้าของเรางามแท้หนอ แล้วก็เที่ยวเก็บดอกไม้มาบูชาประนมมือไหว้ เมื่อเล่นๆ ไป ก็เอามีดปลายแหลมที่ตนเอาขีดเขียนนั้น ขีดเล่นรอยเท้านั้นให้เป็นรอยมีดไปแล้วก็ลบด้วยฝ่าเท้าของตน ด้วยอกุศลกรรมวิบากเพียงเท่านั้น เมื่อเราตถาคตเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว ฝูงคนเหล่านั้นจักได้มาทำลายรอยพระบาทนี้ เหตุดังนั้น เราตถาคตมิอาจจะห้ามกรรมวิบากอันเราตถาคตได้กระทำมาแต่บุรพชาติปางก่อนได้ ฉะนั้นเราตถาคตจึงไว้รอยพระบาทตามคำขอของพญานาค

ดูกร อานนท์ เมื่อเราตถาคตเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้วนานได้ ๒๑๑๙ พรรษากับ ๑๐ เดือน ๒๖ วัน จุลศักราช ๙๓๘ ปี คนทั้งหลายจักได้ตำนานพระบาทของเราตถาคตทั้งคู่ และตำนานเกศาธาตุของเราตถาคต ก็จักปรากฏแก่คนทั้งหลายให้เห็นแจ้งชัด เมื่อพุทธศักราชดังกล่าวแล้วนี้ กรรมวิบากที่เราตถาคตได้กระทำไว้แล้วนั้น ก็จักหมดสิ้นไปโดยไม่มีเศษเหลือ มีคนอุปัฏฐากรักษา มีคนมาเลื่อมใสมากและมาถวายเครื่องสักการบูชาเป็นอันมากตราบเท่า ๕๐๐๐ พระวสาแลฯ

เหตุไฉนที่นั่นจึงได้นามว่า “ยั้งหวีด” พึงรู้ดังนี้เพราะที่นั่นเป็นดงป่าไม้หวีด ยังมีไม้หวีดต้นหนึ่งใหญ่โตกว่าไม้หวีดทั้งหมด ที่มีอยู่ในป่านั้น วัดโดยรอบใหญ่ประมาณ ๓๗ ศอก สูงประมาณ ๙๖ ศอก มีกิ่งก้านสาขาแตกเป็นพุ่มคล้ายฉัตรมีกิ่งก้านใหญ่อยู่ ๕ กิ่ง ไกลจากบ่อน้ำไปทางทิศตะวันตก ๕ วา แลฯ พระพุทธเจ้าได้มาพักถ่ายอุจจาระปัสสาวะสถานที่นี้ เหตุนั้นสถานที่นี้จึงได้ชื่อว่า “ยั้งหวีด”


เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสสำแดงเล่าความเป็นไปในอนาคตกาลของรอยพระบาท ที่ได้ทรงเหยียบไว้พร้อมกับเกศาธาตุนั้นแก่พระอานนท์ และพระยาทั้งสองทราบเช่นนี้แล้ว ก็ทรงเสด็จออกจากโคนต้นไม้มะม่วงแมลงวัน อันเป็นที่ทรงประทับนั่งเสวยภัตตาหาร แ้ล้วทรงเอาพระอานนท์และพระยาทั้งสองไปที่ บ่อน้ำ แ้ล้วตรัส "นี่บ่อน้ำอันพญานาคถวายพร้อมกับกระบวนทองคำนั้นรอยพระบาททั้คู่โน้นต้นไม้หวีด ท่านทั้งหลายจงจำไว้สถานที่เช่นนี้เป็นที่ควรจะรู้เห็นควรจะดู ชนทั้งหลายเหล่าใดเหล่าหนึ่งเที่ยวไปยังเจติจาริก จักเป็นคนเลื่อมใสทำกาลกิริยาลง ชนเหล่านั้นจักเ้ข้าถึงสุคติโลกสวรรค์"

IMG_2024.jpg



พระอานนท์จึงกราบทูลรับว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายก็จักจำไว้ซึ่งสถานที่นี้ฯ กราบทูลเช่นนี้แล้วก็กราบทูลอีกว่า ขอพระองค์ได้ทรงพาข้าพุทธเจ้าทั้งหลาย ไปในสถานที่ใดควรปรารถนารอยพระบาทและบรรจุพระเกศาธาตุไว้ในที่นั้นเถิดพระพุทธเจ้าข้าฯ ส่วนสถานที่พญานาคบุออกมาถวายบ่อน้ำ พร้อมกับกระบวยทองคำแก่พระองค์ และพญานาคได้ทูลขอให้พระองค์ทรงไว้รอยพระบาททั้งคู่ พระองค์ก็ทรงกรุณาให้ตามประสงค์ฯ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญสถานที่นี้จะเจริญรุ่งเรือง ดังที่พระองค์ได้ทรงทำนายไว้หรือพระพุทธเจ้าข้าฯ

พระพุทธเจ้าจึงทรงตรัสว่า ดูกรอานนท์ รอยพระบาททั้งคู่ที่เราได้ทรงเหยียบไว้นี้ เป็นครั้งสุดท้าย เมื่อเราตถาคตเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานนานได้ ๒๑๑๙ พรรษา กับ ๑๐ เดือน ๒๖ วัน จุลศักราช ๙๓๘ ปี จะเจริญรุ่งเรืองมีคนเลื่อมใสพระบาทพระธาตุแห่งนี้ ก็จักปรากฎแก่สมณะพราหมณ์นักบุญทั้งหลาย ประชาชนก็จักค้นหาตำนานพระบาทพระธาตุของเราตถาคต แต่ก็ไม่มีใครพบเห็น เขาจะถามกันถึงเรื่องตำนานพระบาทพระธาตุของเราตถาคตเท่านั้น เมื่อภายหลังคนทั้งหลายจะรู้จักลัวะขุนอ้ายกอนคำผู้พี่ และขุนอ้ายท่อนคำผู้น้อง

ขุนลัวะทั้งสองพี่น้องนี้เขาได้กระทำุบุญไว้แต่ชาติปางก่อน คือ ขุนลัวะอ้ายกอนคำได้เอาเสื่อมาปูถวายเราตถาคตนั่งเสวยภัตตาหาร ขุนลัวะท่อนคำได้เอาอาหารใส่ป้อม (กระเช้า) มาถวายเราตถาคตฯ ด้วยเดชบุญที่เขาได้ถวายโภชนาอาหารและอาสนะ คือ เอาเสื่อมาปูถวายเราตถาคตได้ประทับนั่งเสวยภัตตาหารฯ ขุนลัวะอ้ายกอนคำผู้พี่จักได้เกิดในตระกูลรามัญในเมืองกุสินารา จักได้มาอยู่รักษารอยพระบาทของเราทั้งคู่ให้เจริญรุ่งเรือง และเขาจักมีนามปรากฎชื่อว่า นายปอนคำ เพราะเหตุเขาได้เอาข้าวโภชนาอาหารใส่ภาชนะกระเช้าไม้สานมาถวายเราตถาคตฯ

ขุนลัวะอ้ายท่อนคำผู้น้อง เมื่อท่องเที่ยวอยู่ในวัฏฏะสงสาร ก็จักได้มาถือปฏิสนธิกำเนิดในตระกูลรามัญในเมืองอินทาจักมีนามปรากฎ ๔ ชื่อ คือ อานนท์ , คญาณะวิเชียร เพราะเหตุนี้บิดามารดา ของเขาเป็นไทยเงี้ยวชาวเมืองโกสัมพี มารดาเป็นชาวรามัญ ผู่เป็นชาวรามัญเหมือนกัน ย่าเป็นชาวแขก เพราะเหตุนี้เขาจึงมีชื่อ ๓ ชื่อ

นายอานนท์เขาจะมาพบกับนายปอนคำ ที่อยู่รักษาพระบาทยั้งหวีด ต่างก็จักมีปิติยินดีมีความสัมพันธ์ไมตรีซึ่งกันและกัน ก็จักได้พากันอยู่อุปัฏฐากรักษารอยพระบาทและพระธาตุของเราตถาคตให้เจริญรุ่งเรืองฯ ส่วนนายอานนท์จักได้เห็นตำนานรอยพระบาททั้งคู่ และตำนานเกศาธาตุของเราตถาคตแล้ว จักได้เอาออกประกาศให้คนทั้งหลายทราบทั่วกัน จักได้ส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง แล้วเมื่อพบปะกับผู้ใดก็จักบอกให้แก่ผู้นั้นทราบทั่วกันไป ต่อแต่นี้ก็จะเจริญรุ่งเรืองไปทีละเล็กละน้อยยังไม่เจริญรุ่งเรืองเต็มที่ เมื่อสมณะพราหมณ์นักบุญทั้งหลาย มีแต่ความเลื่อมใสพากันมาสักการบูชา ข่าวอันนี้ก็จักเลื่องลือไปถึงท้าวพระยามหากษัตริย์ ก็จักพากันมาทำการสักการบูชารอยพระบาทพระเกศาธาตุทีนี้ก็จะเจริญรุ่งเรืองไปตราบต่อเท่า ๕,๐๐๐ พระวสาแลฯ

ดูกรอานนท์ ขุนลัวะทั้งสอง คือ ขุนอ้ายกอนคำและขุนอ้ายท่อนคำทั้งสองพี่น้องท่องเที่ยวไปในวัฏฏะสงสารก็จะได้เสวยซึ่งความสุขอันมีในมนุษย์โลกและเทวดาโลกตลอดสิ้นกาลอันช้านาน เมื่อใดอริยเมตตรัยเทพบุตรจุติมาเกิดในมนุษย์เมื่อได้ตรัสรู้เป็นพุทธเจ้านั้น ก็จักได้ทำนายขุนอ้ายกอนคำผู้พี่ และขุนอ้ายท่อนคำผู้น้องแลฯ


พระพุทธเจ้าได้ทรงทำนายรอยพระบาทพระเกศาธาตุแก่พระอานนท์และพระยาทั้งสองแล้ว เวลามัชฌิมมยามเที่ยงคืนมาถึง พระองค์ก็ทรงแก้ปัญหาแก่เทวดาทั้งหลายเมื่อปัจฉิมยามใกล้รุ่ง พระองค์ทรงแผ่พระญาณตรวจสัตว์โลกผู้ใดมาปรากฎในข่ายพระญาณ พระองค์ก็เสด็จไปโปรดผู้นั้น เมื่อรุ่งแจ้งแสงอรุณขึ้นมาแล้วพระองค์ก็ชำระพระวรกาย แล้วทรงผ้าจีวร และสังฆาฏิก็เสด็จจาริกเที่ยวไปฯ พระอานนท์ก็ถือบาตร พระยาอินทร์ก็ถือฉัตรกางกั้นถวายฯ พระยาอโศกก็ถือพัด ผ้านิสีทนะ ไม้เท้าธรรมกรก็เสด็จไปก่อนพระุพุทธเจ้าฯ

พระองค์เสด็จไปบิณฑบาตบ้านลัวะชื่อว่า ชัยภูมิ แล้วก็ไปยืนอยู่เหนือศิลาก้อนหนึ่งและได้ไปถ่ายอุจจาระปัสสาวะสถานที่อีกแห่งหนึ่ง แต่ไม่ปรากฎว่ามีในที่แห่งใด ส่วนพระอานนท์ก็รับเอาบาตรไว้ที่ต้นไม้คยอมอยู่ถ้ารอคอยพระพุทธองค์ฯ (ขณะนี้เรียกกันว่า วัดทุ่งตูม ห่างจากวัดพระบาทยั้งหวีดไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๑ กิโลฯ เมื่อพ.ศ.๒๔๗๔ ท่านพระศรีวิัชัย (ครูบาศรีวิชัย) ได้จัดการก่อสร้างศาลารอบพระธาตุและบูรณะพระธาตุโดยการเทคอนกรีตฯ)

เมื่อพระองค์ทรงเสร็จจากธุรกิจแล้ว ก็พาพระอานนท์และพระยาทั้งสองเสด็จไปยังดอยศรีจอมทอง และได้เสวยบิณฑบาตที่ดอยศรีจอมทองนั้น เมื่อเสร็จภัตตกิจแล้วก็เสด็จไปยังดอยเกิ้ง พระยาอินทร์จึงชี้พระหัตถ์ไปยังซอกผาน้ำก็ไหลหลั่งออกมากลายเป็นน้ำบ่อทิพย์ (ขณะเรียกว่า น้ำบ่อทิพย์ของพระยาอินทร์ ซึ่งยังมีปรากฎอยู่จนถึงทุกวันนี้) พระพุทธเจ้าทรงดื่มน้ำและล้างบาตรที่บ่อน้ำนั้นๆ สถานที่นี้พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับครั้งหนึ่งแล้ว เม่ื่อพระองค์เสด็จมาจากอยุธยา และทำนายไว้ฯ เสด็จมาคราวนี้เป็นครั้งที่สองแต่สถานที่นี้ไม่สบายพระหฤทัย เมื่อพระองค์ได้ทรงพักผ่อนตามเวลาพอสมควรแล้วก็เสด็จไปยังเมืองกุสินารานครฯ

พระองค์ได้ตรัสแก่พระอานนท์และพระยาทั้งสองว่า ดูกรอานนท์ เทฺวปาโท รอยพระบาททั้งสอง ที่เราตถาคตได้ทรงเหยียบไว้ที่ป่าไม้หวีดโน้น พญานาคออกมาถวายบ่อน้ำพร้อมด้วยกระบวยทองคำนั้น เราทรงเหยียบรอยพระบาทนั้น เป็นครั้งสุดท้ายฯ เมื่อใกล้จะรุ่งเรืองนั้น ยังมีเด็กเลี้ยงโคสองคน ได้ไปเลี้ยงโคตามชายป่าไม้หวีด ที่ใกล้บริเวณพระบาทที่เราตถาคตทรงเหยียบไว้นั้น เด็กผู้หนึ่งกระหายน้ำนักก็เที่ยวแสวงหาน้ำดื่ม ได้ไปพบบ่อน้ำของพญานาค เด็กผู้นั้นก็ได้ลงไป เพื่อจะดื่มน้ำให้สมกับความอยาก

บังเอิญวันนั้นเป็นวันที่พญานาคออกมารักษารอยพระบาท พญานาคเห็นเด็กคนนั้น ก็เนรมิตแท่งทองคำแท่งหนึ่ง ใหญ่ประมาณเท่าลำหมากมีสีเหลืองอร่ามงามตา ให้ปรากฎแก่เด็กคนนั้นๆ เมื่อเห็นแท่งทองคำอันใหญ่ก็สดุ้งตกใจกลัวจนหมดสติสัมปะชัญญะ มีร่างกายกระด้างไม่ไหวติง อยู่ไม่นานเท่าไรนัก พญานาคก็บันดาลให้เด็กคนนั้นได้สติแล้วจึงรีบวิ่งไปหาเด็กที่เป็นเพื่อนของตน แล้วเล่าความที่ตนได้เห็นนั้นให้เพื่อนฟังว่า ตัวฉันได้ไปเห็นแท่งทองคำอันใหญ่ ที่บ่อน้ำเพื่อนจงไปดูเถิด แล้วเด็กทั้งสองก็พากันไปดูแท่งทองคำอันมีรัศมีเหลืองอร่ามรุ่งเรืองนั้น อันพญานาคหากเนรมิตขึ้น เด็กทั้งสองก็เกิดความกลัว ไม่อาจจะอยู่ในที่นั้นได้ฯ

ดูกรอานนท์ แรกแต่กาลนั้นไปข้างหน้า สถานที่รอยพระบาทยั้งหวีดก็จะเจริญรุ่งเรืองไปทีละเล็กละน้อย และจักมีพญานาคอีกตนหนึ่งชื่อว่า มหาสะสัญชัย ตนเป็นพี่ของพญานาค ยสะสัญชัย ที่ได้บุออกมาถวายบ่อน้ำพร้อมกระบวยทองคำแก่เราตถาคต เพราะพญานาคตนชื่อมหาสะสัญชัยนั้น ยังมิได้มีส่วนช่วยเหลือศาสนาเราตถาคตฯ เพราะฉะนั้นพญานาคตนนั้นเมื่อจุติตายจากความเป็นพญานาคตนชื่อมหายสะสัญชัยนัั้นแล้ว ก็จักได้มาเกิดเป็นมนุษย์ แล้วจักได้ออกบวชเป็นศิษย์ของตถาคตตลอดแก่ แล้วจักได้มาอยู่รักษารอยพระบาทของเราตถาคตตลอดไปทุกๆ ชาติ ให้เจริญรุ่งเรืองตราบต่อเท่า ๕๐๐๐ พระวสาแลฯ

ข้อความที่กล่าวมานี้ ได้คัดมาจากตำนานพระบาทยั้งหวีด ตามเหตุการณ์ และพระพุทธเจ้าได้ตรัสทำนายไว้แด่ท่านพระอานนท์ พระยาอินทร์ และพระยาอโศก ดั่งที่ได้พรรณนามาโดยสังเขปไว้แต่เพียงเท่านี้ฯ

อนึ่ง ตอนที่พระพุทธเจ้าถ่ายอุจจาระปัสสาวะเสร็จแล้ว เสด็จพุทธดำเนินมายังต้นไม้มะม่วงแมลงวันพระยาทั้งสองและพระอานนท์ ขอเกศาธาตุไว้ ต่อไปภายหน้าจักได้ชื่อว่า “อัมพวนารามแล” (ปัจจุบันเรียกว่า มะกับตอง ต.ยุหว่า อ.สันป่าตอง ห่างจากพระบาทยั้งหวีดไปทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ ๓ กิโลเมตรเศษ เป็นพระเจดีย์ประดิษฐานพระธาตุกระดูกซี่โครงซ้ายกับเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า)

ต่อมาสมัยพระเจ้าแก้ว ก็มาถึงพระเจ้ายอดเชียงราย พระเจ้ายอดเชียงรายได้ตำนานมาจากพระมอญรูปหนึ่ง ท่านก็ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นครั้งหนึ่ง ต่อมาเมื่อพ.ศ.๒๔๗๒ ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้บูรณะก่อสร้างวัดพระบาทยั้งหวีดขึ้นใหม่ เดิมเป็นวัดร้าง และวัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๖ เขตวิสุงคามสีมากว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_2467.jpg



IMG_2468.jpg



IMG_2265.jpg



IMG_2463.jpg



สถานที่ถ่ายพระบังคน (ถ่ายอุจจาระ) ของพระพุทธเจ้า อยู่ข้างรอยพระพุทธบาทเบื้องซ้าย ภายใน วิหารครอบรอยพระพุทธบาทเบื้องซ้าย วัดพระบาทยั้งหวีด ใต้่บ่อสถานที่ถ่ายพระบังคน (ถ่ายอุจจาระ) จะเป็นถ้ำ รอยพระพุทธบาทเบื้องซ้ายของจริงของพระพุทธเจ้าประดิษฐานใต้บ่อนี้ มีรูทะลุไปได้ถึงบ่อน้ำทิพย์ ซึ่งอยู่ด้านข้างวิหารค่ะ



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_2510.jpg



พระแก้วมรกต (จำลอง) ประดิษฐานภายใน วิหารครอบรอยพระพุทธบาทเบื้องซ้าย วัดพระบาทยั้งหวีด ค่ะ


IMG_2513.jpg



ทำบุญพระประจำวันเกิด ภายใน วิหารครอบรอยพระพุทธบาทเบื้องซ้าย วัดพระบาทยั้งหวีด ค่ะ



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_2435.jpg



IMG_2540.jpg



วิหารครอบรอยพระพุทธบาทเบื้องขวา วัดพระบาทยั้งหวีด อยู่ข้างวิหารครอบรอยพระพุทธบาทเบื้องซ้ายค่ะ


IMG_2526.jpg



เดี๋ยวเราเข้าไปภายในวิหารครอบรอยพระพุทธบาทเบื้องขวา วัดพระบาทยั้งหวีด กันเลยนะคะ



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_2541.jpg



IMG_2068.jpg



IMG_2583.jpg



ภายใน วิหารครอบรอยพระพุทธบาทเบื้องขวา วัดพระบาทยั้งหวีด ค่ะ



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_2582.jpg



IMG_2577.jpg



IMG_2569.jpg



IMG_2550.jpg



IMG_2656.jpg



พระพุทธรูป ประดิษฐานภายใน  วิหารครอบรอยพระพุทธบาทเบื้องขวา วัดพระบาทยั้งหวีด ค่ะ


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_2549.jpg



IMG_2570.jpg



IMG_2572.jpg



ที่ครอบรอยพระพุทธบาทเบื้องขวา ภายใน วิหารครอบรอยพระพุทธบาทเบื้องขวา วัดพระบาทยั้งหวีด ค่ะ



ประวัติในการพัฒนาบูรณะก่อสร้าง วัดพระบาทยั้งหวีด ในอดีตเท่าที่จำได้มีดังนี้


๑. วัดพระบาทยั้งหวีดเป็นวัดเดิมและมีประวัติตำนานมาแต่โบราณกาล มีปูชนียสถานอันสำคัญที่เคารพ คือรอยพระพุทธบาท ฯลฯ


๒. เมื่อพ.ศ.๒๔๗๒ มีนักบุญที่ควรเคารพนับถือลือชื่อของมหาชน คือ ท่านพระครูบาศรีวิชัย (ครูบาศรีวิชัย) ได้มาบูรณะทำการก่อสร้างกำแพงศาลาบาตรรอบวัด ฯลฯ บริเวณวัดทุกด้าน บัดนี้ยังใช้การได้อย่างสะดวก เมื่อทำการก่อสร้างแล้วมีงานฉลองทำบุญ ๑๑ วัน (ตั้งแต่เดือน ๘ เหนือ ขึ้น ๗ ค่ำ ถึงแรม ๑ ค่ำในสมัยนั้น)


๓. เมื่อพ.ศ.๒๔๗๓ พระปัญญามูล เจ้าอาวาส สร้างกุฏิไว้นอกวัด ๑ หลัง พอถึงพ.ศ.๒๔๙๔ คณะกรรมการมีพระครูอิ่นคำ ยติกาโร เป็นเจ้าอาวาส ได้รื้อกุฏิหลังนี้ มาสร้างศาลาการเปรียญกวมรอยพระพุทธบาทรอยขวาเหนือวิหารในบริเวณวัดมุงด้วยกระเบื้องพื้นเมือง เสร็จปีพ.ศ.๒๔๙๕ ต่อมาถึงวันที่ ๑ เมษายนพ.ศ.๒๕๑๔ ศาลาหลังนี้ชำรุดท่านเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน พร้อมด้วยคณะกรรมการวัดศรัทธาได้ทำการรื้อเพื่อจะสร้างใหม่ให้กว้างใหญ่กว่าเก่าฯ


๔. เมื่อพ.ศ.๒๔๘๑ พระคำ คมฺภีโร ได้ซ่อมบ่อน้ำนาคบุเดิมเทียมนาคบุ และกระบวยทองคำรูปเทียมบ่อตามหลักตำนานเดิม


๕. เมื่อพ.ศ.๒๔๘๒ ได้มีท่านพระครูวิเชียร ปญฺญา อดีตเจ้าคณะอำเภอสันป่าตอง พร้อมด้วยท่านเจ้าคณะตำบลทุกตำบลเจ้าอาวาสทุกวัดและพระภิกษุสามเณรภายนอกมีอดีตนายอำเภอในยุคนั้น พร้อมด้วยข้าราชการอำเภอทุกแผนกการกำนันผู้ใหญ่บ้าน คณะศรัทธาประชาชนและท่านผู้มีจิตศรัทธาโดยทั่วไปทำการก่อสร้างวิหารแทนวิหารเดิมที่ชำรุดให้ดีขึ้นทำการฉลอง ๕ วัน


๖. ปีพ.ศ.๒๔๘๕ ภายในมีท่านเจ้าคณะอำเภอเป็นประธาน ภายนอกมีท่านนายอำเภอเป็นประธาน ร่วมกับท่านผู้มีจิตศรัทธาได้ทำการก่อสร้างโขงครอบรอยพระพุทธบาทในวิหารเพื่อให้เหมาะสมเป็นที่สักการบูชาแทนโขงครอบเดิมที่ชำรุด


๗. เมื่อพ.ศ.๒๔๙๕ คณะกรรมการมีพระครูอิ่นคำ ยติกาโร เจ้าอาวาสเป็นประธาน ได้พร้อมกันสร้างศาลาการเปรียญขึ้น ๑ หลัง (ที่กล่าวแล้วในข้อ ๓) และต่อมาวันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๘ ตรงกับวันศุกร์เดือน ๘ เหนือ ขึ้น ๑ ค่ำคณะกรรมการได้รื้อแท่นพระประธาน ณ ศาลาการเปรียญเพื่อค้นหารอยพระพุทธบาทรอยขวาที่มีอยู่ในอุโมงค์ครอบไว้ เมื่อพบแล้วก็อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ข้างบนแล้วก่อแท่นพระประธานขึ้นฯ ทำถนนหลวงเข้าสู่วัดพระบาทยั้งหวีด ถนนกว้าง ๙ ศอก หลังกว้าง ๑ ก.ม. เศษทำการสมโภชครั้งใหญ่ปีพ.ศ.๒๕๐๐ และมีพิธีปลูกต้นหวีดแทนต้นเดิมในวันวิสาขะบูชาปีนี้เพื่อให้สมที่ว่าวัดพระบาทยั้งหวีดมีงานทำบุญฉลอง ๕ วัน


๘. เมื่อพ.ศ.๒๔๙๕ เช่นเดียวกัน พระครูอิ่นคำ ยติกาโร พร้อมด้วยคณะกรรมการศรัทธา ร่วมกับท่านผู้บริจาคเงินสร้างกุฏิ ๑ หลังทำด้วยไม้ถวายวัดเพื่อเป็นที่อยู่พระเณร บัดนี้ใช้การได้อยู่ (แต่ชำรุดลงบ้าง)


๙. วันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ.๒๔๙๙ ได้มีท่านผู้มีจิตศรัทธาคือ แม่เจ้าเซ็งโฉ่ วณีสอน บ้านม่วงพี่น้อง ตำบลมะขามหลวง ได้สร้างกุฏิขึ้นอีก ๑ หลัง หล่อด้วยคอนกรีต ตัวหลังทำด้วยไม้ สิ้นเงิน ๒๑,๒๗๕ บาท ๗๕ สตางค์ บัดนี้ใช้การได้อยู่


๑๐. วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๗ คณะกรรมการศรัทธาท่านผู้มีจิตศรัทธา ได้นิมนต์ครูบาอินถา สุขวฑฺฒโก วัดพุทธสันติปารังกร ตำบลแม่ก๊า อ.สันป่าตอง มาทำการหล่อลาดบริเวณวัดเพื่อกำจัดหญ้าคา และเพื่อความสะอาด


๑๑. พ.ศ.๒๕๑๐ พระต๋า อุชุโก เจ้าอาวาสในอดีต พร้อมด้วยผู้มีจิตศรัทธา ได้สร้างถังเก็บน้ำหล่อด้วยคอนกรีตและทำแป้บน้ำกระจายไปทั่ววัด (บัดนี้ชำรุดใช้การไม่ได้แล้ว) พระสงฆ์สามเณรทุกรูปที่ได้มาอยู่รักษาปฏิบัติ ณ วัดแห่งนี้ก็อาจมีอยู่บ้างที่ทำการบูรณะพัฒนาแก้ไข แต่ข้าพเจ้ามาอยู่ตอนหลังเป็นผู้รวบรวมประมวลข่าว เมื่อมีการขาดตกบกพร่องประการใดก็ขอได้รับการอภัยจากท่าน เท่าที่ผ่านไปวัดนี้ส่วนมากพระเณรไม่ค่อยมีใครอยู่นานได้ที่อยู่ได้นานจำได้มีท่านเดียวคือ พระครูอิ่นคำ ยติกาโร อดีตเจ้าอาวาส อยู่นานได้ ๑๒ พรรษา นอกจากนี้อยู่ได้ ๗ วัน ๑ เดือน ๆ กว่า ฯลฯ ๒ พรรษา เป็นอย่างนาน



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_2551.jpg



IMG_2036.jpg



รอยพระพุทธบาทเบื้องขวา ประดิษฐานภายใน  วิหารครอบรอยพระพุทธบาทเบื้องขวา วัดพระบาทยั้งหวีด ค่ะ


IMG_2242.jpg



ประวัติการก่อสร้างพัฒนา ตอนที่ ๒ วัดพระบาทยั้งหวีด สมัยท่านเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ร่วมกับพระเณรคณะกรรมการวัดศรัทธา มีดังนี้


๑. เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๑๓ ตรงกับเดือน ๑๐ เหนือขึ้น ๑๒ ค่ำ ภายในมีพระครูขันตยาภรณ์ เจ้าคณะอำเภอสันป่าตอง เป็นประธาน พระครูสุภัทรวิทยาคุณ รองเจ้าคณะอำเภอนี้ และพระมหายรรยงค์ เลขานุการเจ้าคณะอำเภอ ฯลฯ ภายนอกมีนายสุพรรณ์ สิงห์ปุรอุดม นายอำเภอสันป่าตอง คุณโสภา สุวรรณศรีคำ ผู้ช่วยศึกษาธิการอำเภอ (ปัจจุบันนี้เป็นศึกษาธิการอำเภอสันป่าตอง พ.ศ. ๒๕๒๓) ท่านเจ้าอาวาสทุกวัดในตำบลเขต ๑-๒ กำนันผู้ใหญ่บ้าน ในตำบลมะขามหลวง เจ้าหน้าที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัดสาขาสันป่าตอง ศรัทธาประชาชน มีโอกาสได้นำเอาข้าพเจ้าย้ายจากวัดบ้านเปียง ตำบลบ้านแม และมีสามเณรติดตามมาคือส.ณ.มานิตย์ ปันคำ ส.ณ.ดวงคำ ศรีวิชัย ส.ณ.สมศรี กันยวม ส.ณ.อินสม สมคำเอ้ย ส.ณ.สมาน ชาวสิงห์ ส.ณ.อมร เก่งการ บุญเริ่ม ศรีวรรณ์ (บุญเริ่ม ศรีวรรณ์ ได้บวชเป็นสามเณรองค์แรกในวัดนี้) ๗ คนนี้เป็นผู้ติดมาจากวัดบ้านเปียงและได้อยู่ร่วมกันปฏิบัติรักษาวัดวาอาราม ฯลฯ


๒. วันจันทร์ที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๑๓ ได้แก้ไขทำป้ายวัดขึ้นใหม่ให้ดีกว่าเดิม พอถึงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๓ได้ขออนุญาตจากท่านเจ้าคณะอำเภอทำป้ายบอกไว้ ณถนนปากทางเข้ามาวัดพระบาทยั้งหวีดให้นามว่า ทางไปนมัสการรอยพระพุทธบาทยั้งหวีด ๑ ก.ม. พอมาถึงวันที่ ๓ เดือนเมษายน ๒๕๑๗ วันพุธ เดือน ๗ เหนือขึ้น ๑๑ ค่ำก็ได้มีนายสุวรรณ นางคำแสน สุวรรณประสิทธิ์ บ้านม่วงพี่น้องร่วมกับท่านผู้มีจิตศรัทธาบางท่านทำเปลี่ยนขึ้นใหม่ตามเดิม สิ้นเงิน ๑,๐๐๐ บาท ฯ


๓. วันจันทร์ที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๓ โรงบ่อน้ำนาคบุ (โรงบ่อน้ำพญานาค) ดูเป็นที่ชำรุดหักพังใช้การไม่ได้จึงได้ขออนุญาตจากท่านเจ้าคณะอำเภอ เพื่อขอรื้อแล้วสร้างใหม่ได้ตามความประสงค์และได้ร่วมกับท่านผู้มีจิตศรัทธาคือ ครูจันทร์ทิพย์ นางอาจิณ สิงห์แดงบ้านปากทางพระบาทบริจาคเงินสร้างและมีผู้บริจาคอื่นร่วมด้วยสร้างเสร็จเมื่อวันจันทร์ที่ ๓๐ ธันวาคม๒๕๑๓ สิ้นเงิน ๒,๔๘๒ บาท ๘๐ สตางค์ ฯ


๔. วันอังคารที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๑๔ ได้ร่วมกับคณะกรรมการทุกฝ่ายและท่านศรัทธาประชาชนผู้มีจิตศรัทธารื้อศาลาการเปรียญหลังเก่าแล้วสร้างใหม่ใหญ่สูงกว่าแก่เหนือวิหารเสร็จเมื่อวันอังคารที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๑๕ สิ้นเงินในการก่อสร้าง ๗๕,๒๑๘ บาท ๕๐ สตางค์ ทำบุญฉลองวันที่ ๑๓-๑๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๖ตรงกับวันอาทิตย์ขึ้น ๑๒ ค่ำ ถึงแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ เหนือ ฯ


๕. วันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๑๔ วันวิสาขะบูชาขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ เหนือ ภายในมีพระครูขันตยาภรณ์ เจ้าคณะอำเภอสันป่าตอง เป็นประธาน พร้อมด้วยเจ้าคณะตำบลเจ้าอาวาสทุกวัดทุกตำบลในอำเภอสันป่าตอง ภายนอกมีนายสุพรรณ์ สิงห์ปุระอุดม นายอำเภอเป็นประธาน พร้อมด้วยข้าราชการอำเภอทุกแผนกการ กำนันผู้ใหญ่บ้าน และศรัทธาประชาชนทั่วไป ได้ทำพิธีปลูกพระศรีมหาโพธิ์ (ไม้ศรี) ที่ท่านพระครูบาอินถา สุขวฑฺฒโก เจ้าอาวาส วัดพระพุทธสันติปารังกร ตำบลแม่ก๊า ได้นำเชื้อมาจากประเทศอินเดีย ณ พุทธคยาสถานที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้มาปลูก ณ ที่บริเวณหน้าวัดพระบาทยั้งหวีด ด้านหน้าวัดทิศตะวันออกเฉียงใต้เพื่อเป็นที่สักการบูชา บัดนี้ปีพ.ศ.๒๕๒๓ พระศรีมหาโพธิ์ใหญ่โตขึ้นสูงประมาณ ๖ เมตร เมื่อปลูกแล้วนานประมาณ ๖ เดือนได้แตกกิ่งต้นเป็น ๓ กิ่ง เท่ากันดูสง่างดงาม


๖. วันที่ ๘ สิงหาคมพ.ศ.๒๕๑๔ ได้ร่วมกับท่านผู้มีจิตศรัทธา ซื้อฆ้องกลองถวายวัด คือที่วัดเดิมไม่มีมีสิ้นเงิน ๑,๘๐๐ บาท


๗. วันที่ ๑๔ กันยายนพ.ศ.๒๕๑๔ จ้างนายช่างทำรูปและสถานที่พระอุปคุต ณ บริเวณในวัดใต้วิหาร หล่อคอนกรีตทำเป็นเสาเดียวข้างบนทำด้วยไม้มุงสังกะสี รูปพระอุปคุตทำเมื่อวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ.๒๕๑๖ มีนายสุวรรณ นางคำแสน สุวรรณประสิทธิ์ เป็นศรัทธาเจ้าภาพ สิ้นเงิน ๔๐๐ บาท


๘. วันอังคารที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๕ ได้ร่วมกับท่านผู้มีจิตศรัทธา ซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ถวายวัด ๑ เครื่อง ความแรง ๔.๕ ส่ง ๒ กิโลวัต ไฟ ๑๖๐๐ พร้อมทั้งอุปกรณ์ทุกอย่างด้านการโฆษณากระจายเสียง สิ้นเงิน ๑๕,๐๐๐ บาท ผู้บริจาค คือ ๑.พระครูขันตยาภรณ์  เจ้าคณะเภอสันป่าตอง ๑,๐๐๐ บาท พระครูแสน ญาณวโร เจ้าอาวาสวัดพระบาทยั้งหวีด ๑,๒๒๒ บาท แม่เจ้าเซ็งโฉ่ วณีสอน บ้านม่วงพี่น้อง ๒,๐๖๕ บาท นายชั้น นางอารี แย้มขยาย ปากทางพระบาท (บ้านเดิมอยู่อำเภอบางระจันทร์จ.สิงห์บุรี) บริจาค ๑,๐๐๐ บาท นายสุวรรณ นางคำแสน บ้านม่วงพี่น้อง ตำบลมะขามหลวง ๒๕๐ บาท เงินนอกจากนี้ คณะศรัทธารวม ฯ


๙. วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๑๖ ได้ขออนุญาต และร่วมกับท่านผู้มีจิตศรัทธาสร้างโรงบ่อน้ำใหญ่หน้าวัดทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทำด้วยหล่อคอนกรีตเสริมเหล็กดาดฟ้า สิ้นเงินในการก่อสร้าง ๔,๑๘๔ บาท ๕๐ สตางค์บ่อนี้มีประวัติเดิมโดยย่อว่า ท่านครูบาอินตา วันหนองยางหมื่น (ปัจจุบันนี้ว่าวัดศรีเกิด ต.ยุหว่า) ได้สร้างไว้ ครูบาอินตา มรณภาพไปนานได้ ๓๑ ปีต่อมาปีพ.ศ.๒๔๗๒ ครูบาศรีวิชัย ได้มาสร้างวัดพระบาทยั้งหวีด เลยสร้างบ่อนี้ ต่อมาปีพ.ศ.๒๕๐๘ ได้มีหลวงพ่อสม (พระพ่อสม) จากจังหวัดแพร่มาอยู่วัดนี้ จึงได้สร้างเพิ่มเติมอีกพอถึงวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๑๖ ข้าพเจ้าจึงสร้างโรงบ่อนี้อีก


๑๐. (กล่าวคืนหลัง) วันอาทิตย์ที่ ๓ กันยายน พ.ศ.๒๕๑๕ ตรงกับแรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๑๑ เหนือระฆังสัญญาณที่วัดไม่มี จึงได้ร่วมกับท่านผู้มีจิตศรัทธาสร้างถวายวัด ๑ ใบเงินสิ้น ๖๐๐ บาท ต่อมาปี พ.ศ.๒๕๒๐ ได้มีแม่ทร สาระสุข บ้านเลขที่ ๒ ถนนสิทธิวงศ์อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ นำมาทำบุญครบรอบปีเกิด ๑ ใบ ราคา ๗๐๐ บาท รวม ๒ ใบเป็นเงิน ๑,๘๐๐ บาท


๑๑. วันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๑๖ พิมพ์ดีดที่วัดไม่มีใช้ จึงได้เอาเงินส่วนกลางของวัดซื้อ ๑ เครื่อง ยี่ห้อทิปป้าแบบกระเป๋าหิ้ว ราคา ๒,๔๐๐ บาท


๑๒. วันศุกร์ที่๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๖ ตรงกับเดือนยี่ เหนือ ขึ้น ๒ ค่ำได้ร่วมกับผู้มีจิตศรัทธาขออนุญาตหล่อลาดฟุตบาตรรอบกำแพงศาลาชั้นนอกจอดทุกด้านเพื่อความมั่นคงของวัดคือศาลากำแพง ขนาดกว้าง ๑ เมตรความยาวทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ยาวด้านละ ๕๒ เมตร ทิศเหนือทิศใต้ ยาวด้านละ ๕๖เมตร สิ้นเงิน ๕,๔๐๐ บาท


๑๓. วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๗ เดือน ๖ เหนือขึ้น ๘ ค่ำ วันศุกร์ได้ร่วมกับท่านผู้มีจิตศรัทธาซื้อที่ดิน ๑ แปลง เพื่อเป็นที่สร้างอุโบสถใหม่คือที่นาเหนือวัดถวายวัด เป็นราคาเงินสด ๑,๕๐๐ บาท


๑๔. วันที่ ๑๐ ตุลาคมพ.ศ.๒๕๑๙ ก็ได้มีคุณพ่อทองอินทร์ คุณแม่พวงแก้ว บัณฑรานนท์ พร้อมด้วยธิดาคือคุณโยมพวงทอง  บัณฑรานนท์ (วัชรจักร) อาจารย์ผ่อนพรรณ บัณฑรานนท์ เลขที่ ๑๐๙ ถนนมูลเมือง อำเภอเมือง เชียงใหม่บริจาคเงินซือที่ดิน บริเวณหน้าวัดอุโบสถอีก ๑ แปลง เป็นเงิน ๒,๕๐๐ บาท รวมทั้ง ๒ แปลง ติดต่อกันเป็นเนื้อที่ของอุโบสถวัดพระบาทยั้งหวีด ทั้งสิ้น


๑๕.วันศุกร์ที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘ ร่วมกับคณะกรรมการวัด ศรัทธาประชาชนทั่วไปได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ที่ดินดำเนินการสร้างอุโบสถ มีพระราชสิทธาจารย์ วัดพระธาตุดอยสุเทพเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานวางศิลาฤกษ์ สร้างอุโบสถ


๑๖.วันอาทิตย์ที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๐ได้ร่วมกับท่านผู้มีจิตศรัทธาและผู้บริจาคคือแม่บุญหลง คำบุญเรือง บ้านเลขที่ ๑๔๓-๑๔๔ ถนนวัวลาย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ สร้างกำแพงแก้ว (รั้ว) ล้อมพระศรีมหาโพธิ์ตามที่กล่าวแล้วในข้อ ๕ ทำเป็น ๒ ชั้น ชั้นในกว้าง ๒ เมตร ๘เหลี่ยม ชั้นนอก กว้าง ๕ เมตร สี่ด้านมีประตูเข้าออก ๔ ประตูหล่อคอนกรีตดอกซีเมนต์บล็อกสิ้นเงิน ๓,๓๓๙ บาท
.

๑๗. วันอาทิตย์ที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๐ ตรงกับเดือน ๑๐ เหนือ ขึ้น ๔ ค่ำ ได้มีนายสุวรรณ นางคำแสน สุวรรณประสิทธิ์ พร้อมด้วยลูกหลาน บ้านม่วงพี่น้องตำบลมะขามหลวง บริจาคเงินจำนวน ๑๐,๘๐๐ บาท ร.อ.กนกคุณนายบังอร รัตนัย บ้านเลขที่ ๒๙ ถนนเชียงใหม่-ลำพูน ซอย ๗ บริจาค ๑,๒๐๐ บาท อุทิศกุศลให้ ร.อ.พจน์ รัตนัย สร้างห้องสุขา ห้องอาบน้ำ รวม ๕ห้องถวายวัดทางทิศใต้วัด สิ้นเงินรวม ๑๒,๐๐๐ บาท


๑๘. วันเสาร์ที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๑ ตรงกับเดือน ๔ เหนือ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ได้ร่วมกับคณะกรรมการและท่านผู้มีจิตศรัทธาขออนุญาตสร้างโขงล้อมครอบพระพุทธรูปในวิหารเพื่อรักษาความปลอดภัยต่อพระพุทธรูปและสะดวกในการรักษา สิ้นเงินในการใช้จ่าย ๙,๖๘๙ บาท เป็นเงินทุนทางวัด ๒,๐๐๐ บาท พระครูแสนญาณวโร เจ้าอาวาสบริจาค ๕๐๐ บาท  แม่เจ้าเซ็งโฉ่วณีสอน บ้านม่วงพี่น้อง บริจาค ๒,๐๐๐ บาทนายสุวรรณ นางคำแสน สุวรรณประสิทธิ์ และลูกหลานบ้านม่วงพี่น้อง บริจาค ๕๐๐ บาทเหลือจากนี้เป็นเงินที่ท่านผู้มีจิตศรัทธาบริจาคต่ำกว่า ๕๐๐ บาท ลงมา


๑๙. วันพฤหัสที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๒๒ ตรงกับเดือน ๔ เหนือ ขึ้น ๑๔ ค่ำคณะกรรมการทุกฝ่ายภายในมี พระครูขันตยาภรณ์ เจ้าคณะอำเภอสันป่าตอง เป็นประธานพระครูแสน ญาณวโร เจ้าอาวาส ฯลฯ ภายนอกมีนายประพัฒน์ แก้วโพธิ์ นายอำเภอ นายธนิตแสนศรีสวัสดิ์ กำนันตำบลมะขามหลวง นายสมบูรณ์ ตุ่นตามเชื้อ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๑๔ตำบลนี้ พร้อมด้วยคณะกรรมการ และเจ้าของที่นา เพื่อขอขยายถนนให้กว้างเท่าเขตเดิมก็เป็นที่ตกลงกันดี พร้อมกันนั้นทางคณะกรรมการก็ได้ขอซื้อที่นาทางถนนโค้งหน้าวัดทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อถมเป็นถนนทางเดินก็ตกลงเรียบร้อยเป็นราคาเงินสด ๕๐๐ บาท ผู้บริจาคออกเงินซื้อคือคุณรักษ์ชัยคุณโยมสุณี กุลภิรักษ์ เจ้าของโรงงานปั้นกระเบื้อง ร้านตั้งบุ้นเซ้ง เลขที่ ๘๒ ถนนราชดำเนิน (ข้างวัดชัยพระเกียรติ) อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซื้อกับนายคำ ใจตาบ้านทุ่ง ต.มะขามหลวง ได้ถมดินตามเขตที่ตกลงกันเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๒๓บัดนี้รถยนต์เดินผ่านไปมาพอเว้นกันได้


๒๐. ใจความย่อในการสร้างอุโบสถ วัดพระบาทยั้งหวีด เมื่อพ.ศ.๒๕๑๕ ได้ทำรายงานยื่นคำร้องขอพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานวิสุงคามสีมาได้มีพระราชองค์การโปรดเกล้า พระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์พ.ศ.๒๕๑๖ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๐  วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๖ กองพุทธศาสนาสถานกรมการศาสนากระทรวงศึกษาธิการวันที่๙ เดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๑๖ วางศิลาฤกษ์ วันศุกร์ที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘และเริ่มสร้างเป็นลำดับมาวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๒ เดือน ๘ เหนือ ขึ้น ๑๕ ค่ำทำบุญพิธียกช่อฟ้า วันเสาร์ที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๓ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๕ เหนือทำบุญพิธีตัดฝังลูกนิมิต มีท่านเจ้าคุณพระธรรมโมลี วัดพระธาตุหริภุญชัย ลำพูนเจ้าคณะภาค ๗ เป็นประธานสงฆ์ในพิธี พระสงฆ์ที่นิมนต์มาในงานพิธี รวมทั้งหมด ๘๕ รูปที่ได้มาร่วมจริง ๘๕ รูป วันอังคารที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๓ เดือน ๘ เหนือ ขึ้น ๑๕ค่ำ ได้มีคุณรักษชัย คุณโยมสุณี กุลาภิรักษ์ พร้อมด้วยลูกหลาน เลขที่ ๘๒ นนราชดำเนิน อำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีเจตนาศรัทธาจ้างนายช่างทำยอดเสมาเป็นเงิน ๓,๓๐๐ บาท รวมทั้งบริจาคไปแล้วครั้งก่อนเป็นเงิน ๖,๔๐๐บาท กระเบื้องมุงหลังคาอุโบสถนั้น ผู้เป็นศรัทธาเจ้าภาพบริจาค คือ แม่เจ้าเซ็งโฉ่วณีสอน บ้านม่วงพี่น้อง ตำบลมะขามหลวง สิ้นเงิน ๓๗,๘๔๕ บาท


๒๑. ปีนี้เป็นปีที่แล้งขาดแคลนน้ำใช้น้ำอุปโภคพระภิกษุสามเณรที่อยู่ปฏิบัติรักษาวัดวาอาราม ได้มีอาจารย์วันดี จารุจินดาครูสอนร.ร.ยุพราชวิทยาลัย เชียงใหม่ เลขที่ ๒๙ ถนนมูลเมือง ซอย ๕ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่พร้อมด้วยบุตรธิดา ได้มีเจตนาบริจาคเงินจำนวน ๑,๐๐๐บาท เพื่อเป็นค่าจ้างขุดคูที่เก็บน้ำบริเวณเหนือวัด กว้าง ๑ เมตรครึ่ง ลึก ๒ เมตรยาว ๔๔ เมตร ขุดเสร็จวันพุธที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๓



รวบรวมโดย พระครูแสน  ญาณวโร เจ้าอาวาส (เมื่อปีพ.ศ.๒๕๒๓)



“วัดพระบาทยั้งหวีด เป็นวัดที่ศักดิ์สิทธิ์มาแต่นาน ถ้าขาดการพัฒนาก็มัวหมอง

โชคเรายังดีมีรอยพระพุทธบาททั้งซ้ายขวาประดิษฐานไว้

เป็นที่กราบไหว้บูชาสืบศาสนาแทนตัวพระพุทธองค์

วัดนี้จะมั่นคงยืนนานอยู่ได้ เพราะเราและท่านทุกท่านสามัคคีกันช่วยเอาใจใส่พัฒนาการ ฯลฯ”



IMG_2042.jpg



รอยพระพุทธบาทเบื้องขวา วัดพระบาทยั้งหวีด จะเล็กกว่ารอยพระพุทธบาทเบื้องซ้ายและไม่ปรากฏรอยนิ้ว เป็นพระบาทเกือกแก้วค่ะ



งานประเพณีสรงน้ำพระพุทธบาทยั้งหวีด เป็นประจำทุกปี ในวันเดือน ๘ เหนือ เดือน ๖ ใต้ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ตั้งแต่โบราณมา


คำส่งเสริมประเพณีสรงน้ำพระพุทธบาท


พระพุทธเจ้าได้เหยียบพระบาทไว้ในที่ใดที่นั้น จะเห็นกลางชุมชนอำเภอสันป่าตอง ทรงเหยียบไว้ ๒ รอย ซ้าย-ขวา ณ วัดพระบาทยั้งหวีด สมัยแต่ก่อนนั้นครูบาอาจารย์ให้มีประเพณีสรงน้ำต่อๆ กันมา ถึงสมัยท่านพระครูบาศรีวิชัย นักบุญล้านนาไทย ก็มาสร้างศาลาบาตรล้อมวัด ท่านพระครูขันตยาภรณ์ สร้างศาลาการเปรียญ กวมพระบาทที่ศาลาสมัยพระครูแสน ญาณวโร บริหารเจริญรุ่งเรืองสุดขีดเพราะก่อสร้างอุโบสถ ผูกพัทธสีมาสำเร็จเริ่มมีของแปลกก็หลายอย่างคือ ต้นโพธิ์อินเดียแตกออกเป็น ๓ กิ่ง สวยงาม มะม่วงที่ปลูกกลางวัดก็แยกออกเป็น ๓ กิ่ง เหมือนกัน แม้แต่ต้นกล้วยก็ออกปลิเป็น ๓ ใน ต้นเดียวกันใน ต.มะขามหลวง ควรงึดอัศจรรย์นักเหตุการณ์อันใดจึงเป็นอย่างนั้น ผู้เขียนคำส่งเสริมว่าเพราะปุ๋ยดินดีและเพราะอาศัยพระบารมีของพระพุทธเจ้าโปรดทรงถ่ายมูตคูตเว็จ (ส้วม) เหยียบรอยพระบาทไว้ให้เป็นที่สักการบูชาแก่หมู่คนและเทวดาทั้งหลาย ครั้นว่าถึงวันเดือน ๘ เดือนเพ็ญ มาแล้ว ชาวพุทธเราไม่ว่าอยู่ ณ แห่งหนตำบลใด ทั้งในเมืองเชียงใหม่ทั้งอำเภอรอบนอกถิ่นฐานใด และนอกประเทศควรบอก เชิญชวนกันมาสรงน้ำพระพุทธบาทยั้งหวีดจะเป็นการอุดมมงคลแก่ท่านผู้นั้น ด้วยดังพระบาลีว่า ปูชา จ ปูชะนียานํ เอตมํมฺคลมุตฺตมํ.


พระครูปิยธรรมภาณี (บุญมา ธมฺมปญฺโญ)

๓๐ พ.ค. ๒๕๒๓

รองเจ้าคณะอำเภอสันป่าตอง




บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_2655.jpg



จุดธูปเทียน ถวายดอกบัว ดอกไม้ ลูกแก้วจักรพรรดิ พรมน้ำอบ ปิดทอง เป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา และขอโมทนาบุญกับผู้สร้าง ผู้บูรณะ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องในบุญกุศล ณ สถานที่แห่งนี้ทั้งหมดทั้งมวลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและอนาคต และตั้งจิตอธิษฐานเพื่อให้ ณ สถานที่แห่งนี้เป็นที่ตั้งอยู่คู่กับพระพุทธศาสนาสืบต่อไปจน ๕,๐๐๐ ปี ค่ะ สาธุ สาธุ


IMG_2474.jpg



คำไหว้พระพุทธบาท
วัดพระบาทยั้งหวีด ค่ะ



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html
‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2025-1-8 04:05 , Processed in 0.054512 second(s), 15 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.