รอยพระพุทธบาทรังรุ้ง ประดิษฐานภายใน วิหารครอบรอยพระพุทธบาทรังรุ้ง เดิมเป็นรอยพระุพุทธบาทเกือกแก้วเบื้องขวา ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ถูกตกแต่งและก่อปูนเสริมเรียบร้อยแล้ว รอยลึกประมาณสี่นิ้วมือขวาง กว้าง ๒.๕ คืบ ยาว ๓ ศอก ครูบาบุญศรี อภิปุณฺโณ ได้สร้างวิหารครอบรอยพระุุพุทธบาท เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๔๒ ค่ะ
ข้าพเจ้าได้สอบถามผู้พระคุณในโลกวิญญาณ ท่านได้เมตตาบอกว่า “รอยพระพุทธบาทรังรุ้ง เป็นรอยพระพุทธบาทเบื้องขวาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน เป็นรอยพระพุทธบาทที่พระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงได้ประทานให้กับพญานาค” ค่ะ
ตำนานรอยพระพุทธบาทรังรุ้ง
(แหล่งที่มา : นาคฤทธิ์ รวบรวมชำระสะสาง (๒๕๔๐-๒๕๔๕). (๒๕๔๕, ๑ ตุลาคม). พุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับชำระสะสาง (พิมพ์ครั้งที่ ๑). เชียงใหม่ : ลานนาการพิมพ์, หน้า ๑๔๗-๑๔๘.)
กล่าวว่า พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ดอยเกิ้งนั้นนานได้ ๗ วัน ก็เสด็จลงจากยอดภูเขาลูกนั้น ดำเนินไปตามราวป่าแห่งหนึ่งเสด็จลงสู่แม่น้ำระมิงค์ แล้วเสด็จเลียบไปตามฝั่งแม่น้ำขึ้นไปทางทิศเหนือเป็นระยะทางประมาณ ๑๐,๐๐๐ วา ทรงพบลัวะคนหนึ่งกำลังสร้างระหัดพัดน้ำขึ้นใส่นาปลังอยู่ (ศัพท์นาปลังคือ นาดอ, นาเจียง) ลัวะผู้นั้น พอเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จมาก็รีบแก้ผ้าโพกศีรษะออกมาเช็ดพระบาทของพระพุทธองค์ แล้วกลับเอาโพกหัวตามเดิมเมื่อเอาผ้าเช็ดพระบาทแล้ว ผ้าผืนนั้นก็กลายเป็นทองคำไปทั้งผืนก็บังเกิดความยินดียิ่ง แล้วเอาโพกหัวตามเดิม จึงกราบทูลอาราธนาว่า “ข้าแด่พระองค์ผู้เจริญขออาราธนานิมนต์ประทับอยู่โปรดเมตตาข้าพระองค์ในที่นี้ก่อนเถิด” พระพุทธเจ้าก็เสด็จประทับเหนือภูเขาลูกหนึ่งมีอยู่ทิศตะวันตกบ้านลัวะที่นั้น (ดอยอูปธาตุ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่)
ส่วนลัวะผู้นั้นก็รีบวิ่งไปหุงข้าวทำอาหารอย่างละ ๒ หม้อ คือข้าว ๒ หม้อ แกง ๒ หม้อในบัดดลนั้นข้าวและแกงอย่างละ ๒ หม้อนั้น ก็กลับกลายเป็นข้าวทิพย์และแกงทิพย์นำมาถวายแก่พระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธองค์เสวยแล้วข้าวและแกงก็เหลือแม้ถวายแก่พระอรหันต์ทั้งหลายก็เหลือเมื่อพระพุทธองค์เสวยและพระอรหันต์ทั้งหลายฉันแล้วพระเจ้าอโศกราชจึงตรัสแก่ลัวะผู้นั้นว่า “ดูรา ขุนหลวงท่านมาสร้างระหัดพัดน้ำขึ้นใส่นาปลังนั้น ไม่ต้องทำให้ลำบากใจเลยท่านจงสมาทานเอาศีลจากพระพุทธเจ้าเถิด ข้าวของสมบัติที่ท่านจะกินจะบริโภคจะต้องเกิดมีอย่างมากมายเป็นแน่แท้” ลัวะผู้นั้นก็เข้ามากราบสมาทานเบญจศีลจากพระพุทธเจ้า
พระพุทธองค์ก็ทรงประทานเบญจศีลให้เมื่อลัวะผู้นั้นรับเบญจศีลแล้ว ก็กราบอำลาคืนสู่เรือนตนเมื่อถึงเรือนแล้ว ก็เห็นสิ่งของทุกสิ่งในเรือนกลับกลายเป็นทองคำไปสิ้นจึงรำพึงว่า “แต่ก่อนเราทำนาเกือบตายยังไม่พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง วันนี้เรารับศีลจากพระพุทธเจ้าแล้วกลับจากเรือน สิ่งของอันใดก็กลายเป็นทองคำไปสิ้น ศีลของพระพุทธเจ้านี้ประเสริฐแม้เราจะรักษาตลอดชีวิตของเราแล”
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหลังจากทรงให้ศีลแก่ลัวะผู้นั้นแล จึงตรัสแก่พระอรหันต์ทั้งหลายว่า “ดูราภิกษุทั้งหลายในเมื่อตถาคตมาถึงที่นี้ พบลัวะกำลังทำระหัดพัดน้ำขึ้นใส่น้ำ เมื่อถามแล้วลัวะก็ตอบว่า “สถานที่นี้แห้งหอดด้วยน้ำใช้ทำนาจึงต้องทำระหัดพัดน้ำใส่นา” ต่อไปภายหน้าเมืองนี้จะได้ชื่อว่า“เมืองหอดน้ำ” (หอด แปลว่า แห้งแล้ง,โหยหิว ปัจจุบันนี้เป็นอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่)
เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์จบแล้วพระอรหันต์ทั้งหลายและพระเจ้าอโศกราชจึงกราบทูลว่า “ข้าแด่พระองค์ผู้เจริญ ฐานะที่นี้ดียิ่งสมควรตั้งพระศาสนาไว้แห่งหนึ่ง ขอพระองค์ทรงมีพระเมตตาไว้พระเกศาธาตุเถิดพระพุทธองค์ตรัสว่า “ดูราภิกษุทั้งหลายฐานะที่นี้ไม่มีถ้ำช่องเขา ไม่สมควรจะไว้ธาตุ” แล้วพระพุทธองค์ก็เสด็จลุกจากที่นั้นเสด็จไปตามฝั่งแม่น้ำระมิงค์ขึ้นไปทางทิศเหนือไกลประมาณ ๑,๐๐๐ วา ก็ทรงพบหินก้อนหนึ่งรูปร่างเหมือนเต่าพระพุทธองค์ก็ทรงประทับนั่งเหนือก้อนหินก้อนนั้น ในกาลนั้น มีพญานาคตนหนึ่งออกจากที่อยู่แห่งตนเข้ามาอภิวาทพระพุทธเจ้า
เมื่อนั้นพระอรหันต์ พระเจ้าอโศกราช และพญานาค ก็ช่วยกันกราบทูลว่า “ข้าแด่พระพุทธองค์ผู้เจริญ ฐานะที่นี่ควรตั้งศาสนาไว้พระธาตุแท้แล” พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “ฐานะที่นี้ไม่มีถ้ำไม่ควรไว้ธาตุ” จึงกราบทูลต่อไปว่า “แม้นว่าพระองค์ไม่ทรงไว้พระธาตุในสถานที่นี้ขอทรงพระกรุณาไว้รอยพระบาทเถิด” เมื่อกราบทูลแล้วพระพุทธเจ้าก็เสด็จไปทรงเหยียบรอยพระบาทไว้เหนือก้อนก้อนนั้นมีรอยลึกประมาณสี่นิ้วมือขวาง (ฝ่ามือตะแคง)ไว้เป็นที่สักการบูชาแก่คนและเทวดาทั้งหลายแล