แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
เจ้าของ: pimnuttapa
go

วัดพระมหาบรมธาตุเจ้าดอยเกิ้ง อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ (เกศาธาตุ, พระบรมธาตุนลาฏเบื้องซ้าย) [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

IMG_9174.jpg



สมเด็จพระชินธาตุสัมมาสัมพุทธเจ้า

(๑) ในทุกยุคพุทธสมัยพระบรมสารีริกธาตุทุกองค์ล้วนแต่เป็นที่ตั้งรำลึกถึงพระคุณอันเลิศล้ำมิอาจประมาณได้ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายทรงเกื้อกูลหนุนนำให้อนุชนเกิดความเลื่อมใสศรัทธาเข้ามาสร้างสมบารมีเพื่อให้เข้าถึงความเป็นผู้ที่ไม่ประมาทสมดังพระปัจฉิมโอวาทในสมเด็จพระพิชิตมารพระองค์นั้น ทว่าในสังคมชุมชนที่กำลังถูกความเจริญทางด้านวัตถุหรือลัทธิวัตถุนิยมเข้าครอบงำชีวิตจิตใจของผู้คนอยู่มาก ได้มีการกล่าวพาดพิงไปถึงพระบรมธาตุเป็นเพียงวัตถุธาตุที่มิจำเป็นต้องเคารพเทิดทูนอย่างเคร่งครัดอีกสืบไปให้เป็นเสมือนหนึ่งว่าสมเด็จประทีปแก้วยังทรงดำรงพระชนม์ชีพอยู่ในฐานะเป็นพระบิดาทางธรรมแต่อย่างใด (หรืออีกนัยหนึ่ง พระองค์ท่านทรงเป็นทูลกระหม่อมพ่อในวิวัฎฎะของกัลยาณชนทั้งหลายนั้นเอง) เป็นสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่จักทำให้พระอมตธรรมนี้เสื่อมสูญสิ้นไปได้

(๒) จึงเห็นสมควรที่จะช่วยกันปลุกเร้ากุศลธรรมให้อนุชนได้บังเกิดอารมณ์มหากุศลให้มีขึ้นภายในจิตใจว่า แท้จริงแล้วสมเด็จพระทศพลยังทรงดำรงพระชนม์ชีพอยู่ ด้วยพระธรรมอันได้ชื่อว่า ผู้ใดก็ตามเมื่อเข้าถึงอมตธรรมหรือปิดประตูอบายภูมิ ๔ ในเบื้องต้นแลหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในเบื้องปลายเข้าถึงความดับเย็นแล้วฉันใดก็ย่อมจักได้ชื่อว่าเป็นผู้ประเสริฐหรืออริยบุคคลที่ไม่อาจถือได้ว่าเป็นผู้ที่ตายแบบสูญเปล่าอีกเลยฉันนั้น แม้ว่าจักถึงแก่ชีพิตักษัยไปแล้วก็ตาม ดุจดังการเสด็จสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระนางเจ้าสามาวดี พระอัครมเหสีในพระเจ้าอุเทนราชพร้อมด้วยพระอริยสาวิกาบริวารเมื่อครั้นพุทธกาลดังนี้เป็นอาทิ

เพื่ออุปการะเกื้อกูลอนุชนให้ดำเนินตามรอยพระบาทของสมเด็จพระบรมสุคตสืบไป ด้วยการเฉลิมพระเกียรติคุณวิบุลยยศพระบรมธาตุอันประทับอยู่ในพระบรมสถูปเจดีย์ที่อันสมควรใดๆ เป็นของประจำสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ ขึ้นเป็นสมเด็จพระชินธาตุสัมมาสัมพุทธเจ้าถวายเป็นพระพุทธประเพณีทุกยุคทุกพุทธสมัยภายหลังสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์เสด็จดับขันธ์ปรินพพานแล้วสักการบูชาอย่างยิ่งด้วยเศียรเกล้าเฉกเช่นเดียวกันกับพระบรมธาตุอื่นใดทุกพระองค์ฉะนั้นแล (มีหลักฐานปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์ถูปวงศ์ ประเทศศรีลังกา สรุปความได้ว่า พระอริยบุคคลกราบไหว้ ลุกรับ ยกมือไหว้ แสดงความเคารพเทิดทูนพระบรมธาตุอย่างสูงด้วยการเรียกขานว่า “สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

IMG_9200.jpg



สมเด็จพระชินธาตุสัมมาสัมพุทธเจ้า (ต่อ)

(๓) ขอเทพพรหมทั้งปวงมีพระอริยเทพพรหม พระโพธิสัตว์ เทพพรหม ดังนี้เป็นต้น พร้อมด้วยพระยมราชาแลนายนิธิยบาลทั้งปวง รวมทั้งมนุษย์/รูปนามใดที่ได้ทราบการเฉลิมพระบรมธาตุในครั้งนี้เป็นสักขีพยาน แลช่วยผดุงรักษาพระเกียรติคุณวิบุลยยศของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายให้ทรงปรากฎไปทั่วสามภพทั้งในภัทรกัปนี้แลทุกยุคพุทธสมัยสืบไปชั่วกัปชั่วกัลป์ ขอให้ชนทั้งหลายทุกชาติพันธุ์จงบังเกิดความรักใคร่ปรองดองสามัคคีต่อกันโดยถ้วนหน้า รวมทั้งขอให้ผู้หมั่นบูชากราบไหว้เป็นนิตย์มิได้ขาดด้วยจิตใจบริสุทธิ์สะอาด จงได้รับอานิสงส์ให้ถึงพร้อมไปด้วยมนุษยสมบัติ สวรรคสมบัติ แลนิพพานสมบัติ ให้เป็นผู้มีสัมมาทิฐิอย่างมั่นคง ละเว้นอนันตริยกรรมทั้ง ๕ อกุศลทั้งปวงในเบื้องต้นทุกภพทุกชาติตลอดไป

รวมทั้งได้ดวงตาเห็นธรรมให้สอดคล้องกับพระมหากัจจายนเถรคาถาความว่า “ผู้มีปัญญาถึงมีตาดี” ก็ทำเหมือนคนตาบอด ถึงมีหูดีก็ทำเหมือนดังคนหูหนวก ถึงมีปัญญาก็ทำดังคนใบ้ ถึงมีกำลังก็ทำเป็นดังคนทุธพล แต่เมื่อประโยชน์เกิดขึ้น ถึงจะนอนอยู่ในเวลาใกล้ตายก็ทำประโยชน์นั้นได้” ในเบื้องปลาย เพื่อจักได้นำมาสร้างสรรค์ความสุขสงบร่มเย็นให้แก่สามภพในกาลข้างหน้าทุกยุคทุกสมัยสืบทอดพระอมตธรรมให้ยืนยาวนานกว่าที่เคยเป็นอยู่ตลอดไปด้วยเทอญฯ

(๔) ผู้ริเริ่มการเฉลิมพระบุคลาธิษฐานพระบรมสารีริกธาตุทุกองค์ทำการมหาฐาปนาด้วยมหากุศลเจตนาเคารพเทิดทูนอย่างสูงสุดด้วยเศียรเกล้าถวายเป็นอริยสมบัติรักษาชาติ ศาสนา กษัตริย์ ฉลองพระองค์สมเด็จเจ้าฟ้าจันทรมณฑลโสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกษัตริย์-พระอสุรินทราหูเวทบุตร (พระราหู) พระกวนอิมมหาโพธิสัตว์ (เทพเจ้าแห่งความเมตตากรุณา) ให้ล่วงหลุดพ้นจากความเป็นทาสใดๆ ในสามภพ เป็นผู้มีความเพียบพร้อมไปด้วยพุทธชาตาและบุญญาธิการมิอาจประมาณได้ตลอดชั่วกัปชั่วกัลป์ ขออนุโมทนาสาธุการกับศรัทธาทุกท่านในฐานะที่ได้ตั้งมหากุศลเจตนาร่วมกันถวายทั้งอามิสบูชาและปฏิบัติบูชาแด่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ถวายไว้เพื่อภายหน้าฯ


IMG_9165.jpg



IMG_9185.jpg



จุดธูป เทียน ถวายดอกบัว เป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา และขอโมทนาบุญกับผู้สร้าง ผู้บูรณะ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องในบุญกุศล ณ สถานที่แห่งนี้ทั้งหมดทั้งมวลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและอนาคต และตั้งจิตอธิษฐานเพื่อให้ ณ สถานที่แห่งนี้เป็นที่ตั้งอยู่คู่กับพระพุทธศาสนาสืบต่อไปจน ๕๐๐๐ ปี ค่ะ สาธุ สาธุ



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_9275.jpg



ตำนานพระมหาบรมธาตุเจ้าดอยเกิ้ง (เรียบเรียงใหม่) บทเสริม

จากห้วยน้ำถึงดวงประทีปดวงแรกมีความไกล ๒๕๐ วา และจากประทีปดวงนั้นไปถึงปากถ้ำ ยาว ๗๐ วา จากปากถ้ำถึงประทีปดวงใน ยาว ๗ วา จากประทีปดวงในถึงผอบ ยาว ๑๐ วา จากปากถ้ำถึงยอดเขาไกล ๒๕๐ วา จากยอดเขาถึงผอบไกล ๑๐๐ ศอก

ฝ่ายพม่าครึ่งชาติ (ลูกครึ่ง) เมื่อครั้ง เป็นโยคีรักษาศีลอยู่ที่ภูเขานี้ได้มรรคผลครั้งเมื่อสดับพระธรรมเทศนาในพระธรรมคาถาว่า “อนิจจา วะตะ สังขารา.....ฯลฯ” ของพระพุทธองค์ โยคีเหล่านั้นก็อยู่รักษาพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า หลังกาลสมัยเสด็จปรินิพพานได้ ๓๗ ปี โยคีก็ถึงแก่กรรมลง ก่อนถึงแก่กรรมได้นำเอาหินก้อนหนึ่งมาปิดปากถ้ำและถึงแก่กรรมในถ้ำนั้นและได้จุติเป็นเทวดาอยู่รักษาถ้ำนั้นอีก

ในถ้ำมีรอยพระพุทธบาทในเรือ และเทวดาองค์นี้จะได้เป็นสาวกแห่งพระศรีอาริยเมตตรัยที่จะจุติในภายหน้า เทวดาองค์นี้บางครั้งอยู่ในถ้ำ บางครั้งอยู่ในเรือ วันพระจะไปไหว้พระธาตุที่พระองค์ทำนายไว้ในชมพูทวีปทุกแห่ง เทวดาองค์นี้บางทีแปลงกายเป็นชาวบ้านมีรูปร่างน่าเกลียด ปากเบี้ยว นุ่งห่มจีวรเก่าๆ เดินซอกแซกไปมา ผ้าเปื้อนน้ำหมาก มือถือลูกประคำสีขาว ใครพบมองดูที่เงาของเขา ถ้าไม่ปรากฏเงาให้เชื่อเถิดว่าเป็นโยคีเทวดา หรือบุคคลใดมีความประสงค์จะเข้าไปไหว้พระธาตุในถ้ำอย่ากลัวเขา โยคีจะพาเราไปแล้วจะหายตัวไป ดังนี้แล

IMG_9270.jpg



ตำนานพระมหาบรมธาตุเจ้าดอยเกิ้ง (เรียบเรียงใหม่) บทเสริม (ต่อ)

ยังมีโยคีอีกองค์หนึ่งชื่อ “จะสุเทวะลาสี” ได้ออกจากป่าหิมพานต์ และมาอยู่รักษา พระธาตุดอยเกิ้งอยู่ใต้ปากถ้ำมีหินก้อนหนึ่งรูปร่างคล้ายสิงห์ เขานั่งอยู่ใกล้ๆ ต้นมะขามป้อมมีบ่อน้ำบ่อหนึ่งในนั้น บ่อน้ำที่ไม่เคยเหือดแห้งมีตลอดกาล โยคีองค์นี้รักษาพระธาตุดอยเกิ้ง ๗ วัน ไปอยู่ป่าหิมพานต์ ๗ วัน (ตำนานนี้พระอินทร์ที่เชิงเขาสุมภูตะ ทวีปลังกาได้ให้ไว้)

ตำนานดอยเกิ้งนี้มีพระมหาเถระเจ้าองค์หนึ่ง เป็นชาวลังกานามว่า “สัทธรรมรังษี" จะไปไหว้พระพุทธบาทที่เขาสุวรรณอุตตะลังกา ลงไปสรงน้ำพบลายพระหัตถ์เป็นอักษรเขียนรำพึงถึงภูเขาที่ชื่อดอยเกิ้ง ตถาคตมาถึงที่นี้แล้ว ขุนแสนทองได้นำสัปทนทองคำมากั้นแสงแดดให้เราตถาคต เราจึงได้ชื่อว่า ดอยเกิ้ง

ตำนานว่าด้วยพระมหาบรมธาตุเจ้าดอยเกิ้ง จึงจบลงตรงบรรทัดนี้ด้วยประการฉะนี้.



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_9167.jpg



ตำนานพระมหาบรมธาตุเจ้าดอยเกิ้ง (เรียบเรียงใหม่) (ต่อ)

พระอุบาลี (หลานของขุนแสนทอง) ได้ตามเสด็จพระพุทธเจ้าไปไม่นานนัก เพราะสังขารไม่เที่ยง ก็ได้รำพึงถึงกาลวาระสุดท้ายของตน ก็คิดอยากไปนิพพานยังบ้านปู่ เมื่อคิดดีแล้วก็เข้าไปกราบลาพระพุทธเจ้า เพื่อไปอวสานอายุในดินแดนของปู่ พระพุทธเจ้าจึงตรัสแก่อุบาลีว่า “ท่านอุบาลี กลับบ้านเกิดเมืองนอน ตงยากจักกลับมาหาเรา ตถาคตจึงขอให้ท่านอุบาลีแสดงฤทธานุภาพเทศนาธรรมให้ตถาคตฟังก่อนเถิด”

ครั้นพระอุบาลีเข้าจตุถฌานแล้วได้อภิญญาฌานเสด็จขึ้นสู่อากาศเวหา ถึงความสูงประมาณ ๗ เท่าของต้นตาล ก็นั่งขัดสมาธิเหนือเวหา แล้วจึงเทศนากราบไหว้ที่เท้า ๕ ครั้ง นอบน้อมถวายก้มประมนกรเหนือเศียรแล้วออกมาจนสุดสายตาแห่งพระพุทธเจ้า แล้วเหาะไปในอากาศลัดมือเดียวก็ถึงเมืองปู่ของพระอุบาลี แล้วบอกเหตุการณ์อันใกล้วาระ ที่องค์ท่านอุบาลีจะมาถึงแก่ปู่แล้วให้นึกน้อยใจตนเองว่า

“โอ้หนอ โอ้หนอ ตัวเรานี้คิดว่าปู่จะสิ้นบุญก่อนเรา แต่บัดนี้เราเสียอีกจะสิ้นบุญก่อนปู่ จำเราต้องเทศนาธรรมโปรดปู่ก่อนเถิด” แล้วท่านอุบาลีก็เสด็จขึ้นอากาศประมาณ ๒ ชั่วต้นตาล แล้วเทศนาธรรมบรรยายหลายประการ ปู่ของพระอุบาลีก็ทำการสักการบูชามากมายเมื่อเสด็จปรินิพพาน ปู่ของพระอุบาลีก็ทำการฌาปนกิจถวายเสร็จแล้วเก็บพระอัฐิธาตุใส่โกฏิเก็บรักษาไว้สักการบูชา

ส่วนพระพุทธเจ้านั้น ทรงโปรดสรรพสัตว์ทั้งหลายตราบเท่าอายุ ๘๐ พรรษา เมื่อใกล้ปรินิพพานก็เสด็จมาเมืองกุสินาราแล้วตั้งสัจจาธิษฐานขอเก็บอัฐิธาตุของตถาคตคือ พระนลาฏข้างซ้ายและกระดูกหน้าผากด้านซ้าย) ขออธิฐานให้เก็บอัฐิธาตุชิ้นนี้ไว้ที่ดอยเกิ้ง

ขุนแสนทองอยู่รักษาเคารพเกศาธาตุแห่งพระพุทธเจ้าจนอายุ ๗๓ ปี ก็จุติสังขารไปเกิดเป็นเทวบุตรอยู่วิมานแห่งรุกขเทวดารักษาต้นไม้ต้นหนึ่งสูง ๑๒ โยชน์ อยู่รักษาพระเกศาธาตุจนตราบเท่า ๕,๐๐๐ ปี เมื่อไรพระศรีอาริยเมตตรัยลงมาเกิด เมื่อนั้นขุนแสนทองก็จะได้มาเกิดเป็นอัครสาวกองค์หนึ่ง

25.jpg



พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ๒๑๘ ปี ได้มีพญาองค์หนึ่งทรงพระนามว่า “ศรีธรรมโศกราช” อยู่ในเมืองปาตลีบุตร มาเกิดในศาสนาของพระพุทธเจ้า และมีพระมหาโมคคัลลานและปุตติสละเถระเจ้าเป็นประธานในพระอรหันต์ทั้งหลาย ในระหว่างมีการประชุมสังคายนาแล้วได้สร้างวิหารไว้รอบ ๒ ล้าน ๘ แสนหลัง และก่อนพระเจดีย์ไว้ ๘ หมื่น ๗ พันหลัง แล้วไปขุดพระธาตุแห่งพระพุทธเจ้าซึ่งพระมหากัสสปเถระเจ้าและพระเจ้าอชาตศัตรูได้ฝังไว้ในกรุงราชคฤห์ออกมาเพื่อนำไปแจกตามหัวเมืองต่างๆ ๘,๔๐๐ เมือง

IMG_9166.jpg



ตำนานพระมหาบรมธาตุเจ้าดอยเกิ้ง (เรียบเรียงใหม่) (ต่อ)

ครั้งนั้นพระอรหันต์เจ้า ๕๐๐ รูป ได้มารับพระธาตุแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหมดพร้อมด้วยธรรมภิธกไปแจกตามหัวเมืองต่างๆ ที่พระพุทธองค์ทรงทำนายไว้เป็นลำดับจนมาถึงเจดีย์ซึ่งมีพ่อค้าสองคนพี่น้อง ชื่อตุปุสสะ และภัลลิกะ ได้มาถวายข้าวมธุปายาสแก่พระพุทธองค์ในวันพระและได้ขอพระเกศา ๒ องค์ (ผม ๒ เส้น) เพื่อนำไปประดิษฐานเหนือภูเขาชื่อดอยสิตัสตถราชะปัปปัตตา ในอุระชนบท

พระอรหันต์เจ้าทรงรำพึงว่าเกศา ๒ เส้นนี้ พ่อค้าสองพี่น้องจักนำไปสร้างเป็นเจดีย์ไว้ที่นี้อาจไม่รุ่งเรืองไปตราบถึง ๕,๐๐๐ ปีในภายภาคหน้า พระศาสนาก็จะเป็นสมบัติของสาธารณชนว่าดังนั้นแล้วพระอรหันต์จึงนำพระเกศา ๒ องค์ เดินทางไปจนถึงภูเขาชื่ออุจจุปัปปัตตาหรือดอยเกิ้ง ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของห้วยที่มาบรรจบกัน มีต้นมะส้านลำต้นใหญ่โตวัดโดยรอบ รวมได้ ๗ กำมือ

พญาศรีธรรมโศกราช ก็รีบสร้างโกฏิทองคำใบหนึ่งกว้าง ๓ ศอก แล้วสร้างพระนอน (พระปางไสยาสน์) องค์ยาว ๗ ศอก และพระพุทธรูปองค์เล็กๆ นั่งเรียงกันอีก ๓ องค์ สูง ๓ ศอก มีพระพุทธรูปองค์เล็กๆ อีก ๕๐๐ องค์ พระแก้ว พระเงิน พระทองคำ พระไม้แกะสลัก พระอินทร์ มีครบทุกประการบริบูรณ์ พร้อมหีบบรรจุพระธรรม ๗ หีบ ฆ้อง ๑ ใบ กว้าง ๒ วา พร้อมด้วยฉัตรและแส้ สร้างด้วยฝีมือชาวมอญ พร้อมด้วยเครื่องบูชาทุกประการ

พระอรหันต์เจ้าทั้งหลายก็ได้กล่าวกับลูกหลานขุนแสนทองว่า สูเจ้าทั้งหลาย จงไปนำเอาผอบธาตุของพระอุบาลีมาเก็บรักษาไว้ในถ้ำนี้เถิด ในภายภาคหน้าตัวเราก็จะมรณภาพลงจักหาผู้ดูแลไม่ได้ บุตรหลานพระอุบาลีจึงได้นำผอบบรมธาตุพระอุบาลีมาไว้ในถ้ำนั้น

ครานั้น  พระอรหันต์เจ้าทั้งหลายและพญาศรีธรรมโศกราช จึงนำผอบธาตุของพระพุทธเจ้ากับ
พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นนั้นนำไปสู่ปากถ้ำ พระอินทร์เจ้าก็นำฉัตรมากั้นแสงแดด พากันเดินสู่ปากถ้ำ เปิดประตูถ้ำและลั่นไกยนต์ เมื่อถึงตรงที่เก็บพระเกศาธาตุ ๒ องค์ ใส่ไว้ในผอบแรก นำมารวมใส่ในผอบใหญ่ด้วยกันแล้วนำพระนลาฏข้างซ้ายรวมลงในผอบเกศา ๒ องค์ แล้วนำออกมาจากถ้ำ ว่ายน้ำมาทางทิศตะวันออก และนำพระบรมธาตุอีกทะนานหนึ่งซึ่งได้มาจากลังกาทวีปนำเข้ามารวมกันในผอบลูกใหญ่แล้วตั้งไว้บนแท่นทองคำ

แท่นนี้สูง ๓ ศอก วางไว้บนผอบของพระอุบาลี แล้วก่อสร้างรอบๆ ประมาณ ๒ วา ชั้นกลางมีหีบธรรม ๗ หีบ ชั้นล่างบรรจุพระพุทธรูปแทนองค์พระพุทธเจ้า หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้เหมือนดังแท่นบูชาพระในบ้านเราที่บูชา อาสนะก็ตั้งบูชาไว้อย่างเดิม ส่วนฆ้องใบนั้นพระอินทร์ได้ทำขอห่วงเหล็กไว้บนฆ้อง ลั่นบูชาทุกวันพระ ฆ้องนี้คน ๑๐ คนตีถึงจะดัง ส่วนพญาศรีธรรมโศกราช ก็สร้างประตูกว้าง ๑ คืน ๒ ศอก มีภาพเขียนพราหมณ์ มีคำเขียนไว้บนพุงและมอบดาบกายสิทธิ์ (ดาบสรีกั๋นไจย) อยู่เฝ้าประตูซ้ายขวา แล้วนำหินก้อนหนึ่งขนาดเท่าร่มมาปิดประตูถ้ำทางทิศเหนือซึ่งมีต้นประดู่ต้นหนึ่ง ทางทิศใต้มีต้นราชพฤกษ์ต้นหนึ่งเป็นเครื่องหมายไว้

IMG_9165.jpg



ตำนานพระมหาบรมธาตุเจ้าดอยเกิ้ง (เรียบเรียงใหม่) (ต่อ)

พระอรหันต์เจ้าทั้งหลายก็นำหินก้อนเล็ก ขนาดข้าวเหนียวจี่ (ข้าวเหนียวปิ้ง) ไปตั้งไว้ทางทิศเหนือจอมภูเขานั้น เพื่อเป็นเครื่องหมายพระบรมธาตุเจ้า แล้วพระอินทร์ก็รำพึงว่าฉัตรทองคำของเรานี้ เมื่อพระพุทธองค์ยังทรงมีชีวิตอยู่นั้น เราได้กั้นฉัตรนี้แก่ระองค์เอขึ้นไปสู่เขาลูกนี้และเมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว เราก็กั้นฉัตรแก่พระบรมธาตุเจ้าขึ้นมาบนเขานี้ด้วย เราจะนำฉัตรนี้ตั้งถวายไว้กับพระบรมธาตุนี้ตราบเท่า ๕,๐๐๐ ปีดีกว่า แล้วพระอินทร์ก็ตั้งฉัตรนั้นไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของภูเขามีเทวดา ๘ องค์ อยู่รักษา ๘ ทิศด้วย

เมื่อกลับลงมาถึงห้วย พระอินทร์ได้กล่าวกับพญาศรีธรรมโศกราชว่า “ข้าแต่มหาราชขอให้ท่านหลอมประทีปดวงหนึ่งให้เท่ากับประทีปดวงที่ประดิษฐานไว้ในถ้ำนั้นเถิด” พญาศรีธรรมโศกราชได้หลอมประทีปดวงหนึ่งปากกว้าง ๑ วา สูง ๑ ศอก หนาเท่าหัวแม่มือ พระอินทร์ก็บรรจุน้ำมันทิพย์และไส้เทียนเท่าแขนแล้วจุดประทีปไว้ตลอดเวลาในที่นั้น

พญาศรีธรรมโศกราชได้ถามพระอินทร์ว่า จะให้หลอมสร้างประทีปไว้ที่ตรงไหนอีกเพื่อให้บุคคลได้แลเห็นเป็นที่หมาย พระอินทร์จึงกล่าวว่า “ดูกรมหาราช ในกาลข้างหน้านี้พระศาสนาจักรุ่งเรือง แล้วจักมีพม่าลูกครึ่งคนหนึ่งเป็นคนขี้เมา มีอยู่วันหนึ่งพม่าคนนี้ก็ดื่มเหล้าจะหาอาหารใดมาแกล้มเหล้าก็ไม่มีเลย จึงสะพายแหแล้วเดินไปตามฝั่งแม่น้ำระมิงค์ แล้วเดินไปทางทิศเหนือที่ปากห้วย แลเห็นประทีปมีรัศมีลูกหลานพม่าคนนี้ก็ถามว่า ไฟนี้มีชื่อว่าอะไร แล้วพากันมาดูถึงที่ก็เห็นเป็นดวงประทีป พม่าก็กล่าวว่า อันนี้คือไฟประทีปบูชาพระบรมธาตุเจ้านี้แหละว่าดังนั้นแล้วก็มีความยินดียิ่งนัก จึงเผาแหทิ้งเสีย และทุบไหเหล้าพร้อมกันเลย และโกนผมบวชเป็นปะขาวก็เป็นอุบาสกอุบาสิกา”

พระอรหันต์พร้อมทั้งพญาศรีธรรมโศกราช และพระอินทร์ก็ได้นำพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าไปแจกตามบ้านน้อยเมืองใหญ่ ตามที่พระองค์ได้ทรงทำนายไว้แล้วก็สิ้นสุดภารกิจเมื่อเดินทางมาถึงเมืองปาตลีบุตร ซึ่งเป็นเมืองที่พญาศรีธรรมโศกราชครองอยู่

นี้แหละจะขอเล่าสู่กันให้ได้ฟังได้อ่าน ขอชักชวนปวงชนทั้งหลายได้มานมัสการยังดอยเกิ้งแห่งนี้ ผู้ใดได้มาแล้ว ต่อไปนี้จนถึงอนาคตให้ได้รู้และเล่าขานต่อกันว่า พระสารีริกธาตุพระพุทธเจ้าก็มาบรรจุในภูเขาลูกนี้ สถานที่แห่งนี้ก็จักรุ่งเรืองและเลื่องฤาชาปรากฏในพระพุทธศาสนาจักเป็นมหาอารามใหม่หลังหนึ่ง ด้วยปวงชนก็จะมาบำเพ็ญบูชาพระสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าที่ตรงนี้แหละ ตราบใดที่พม่าขี้เมาไม่ได้มาพบ บุคคลใดบุคคลหนึ่งก็จักมาพบเข้าสักวัน



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_9175.jpg



ตำนานพระมหาบรมธาตุเจ้าดอยเกิ้ง (เรียบเรียงใหม่) (ต่อ)

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาแล้ว ก็เดินทางกลับไปพักอยู่ในป่าเชตวันอาราม ส่วนพระอรหันต์ทั้งหลาย พร้อมด้วยพระอินทร์ พญาสีสู่ พญาโศกราช และขุนแสนทอง ก็ได้นำผอบทองคำลงไปสู่ในถ้ำทางทิศตะวันออก พระอินทร์เจ้าได้เนรมิตถ้ำให้เป็น ๓ ชั้น กว้าง ๑ วา สูง ๓ ศอก ชั้นบนนั้นเก็บผอบแก้วไว้บนชั้นทองคำ ขุนแสนทองก็นำสัปทนทองคำที่กั้นให้พระพุทธเจ้า กางให้กับพระธรรมถึกและพระเกศาธาตุ

พระพุทธองค์ทรงรำพึงว่า

“ใยภายภาคหน้า ปวงชนทั้งหลายจะไม่รู้จักจุดประทีปบูชาตถาคต พระองค์จึงทรงรวบรวมทองคำทิพย์เท่าเม็ดผักกาด แล้วมอบให้พระอินทร์สั่งให้พระวิษณุกรรมหลอมประทีปกว้าง ๑ วา หนา ๑ นิ้ว ลึก ๓ วา แล้วใส่น้ำมันทิพย์ไว้ บรรจุสายสิญจน์แทนไส้ตะเกียงโตเท่าแขนของมนุษย์ให้จุดไว้ในชั้นล่าง”

เมื่อเสร็จแล้ว พระวิษณุกรรมได้อธิษฐานไว้ว่า “ตราบใดที่พระสารีริกธาตุแห่งตถาคตยังไม่เข้าสู่โคนต้นศรีมหาโพธิ์ ขอให้ไฟดวงนี้อย่าดับเป็นอันขาด และน้ำมันก็อย่าได้เหือดแห้งไป” แล้วพระวิษณุกรรมจึงกราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า “อันพระสารีริกธาตุของพระองค์ จะมาตั้งไว้ในภูเขานี้หรือพระเจ้าข้า และเมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้วนานเท่าไรศาสนาของพระองค์จึงจักรุ่งเรืองไปในภาคหน้า พระเจ้าข้า”

26.jpg



พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “ดูกรมหาราช อันพระสารีริกธาตุจักตั้งอยู่ในภูเขาลูกนี้ เมื่อตถาคตปรินิพพานไปแล้ว ๒,๕๖๗ ปี ๒ เดือน ๒๕ วัน ศาสนาก็จักรุ่งเรือง”

พระอรหันต์ พญาโศกราช พญาสีสู่ และพระอินทร์เจ้าก็ทูลถามพระพุทธเจ้าความว่า “ภูเขาลูกนี้หรือพระเจ้าข้าที่พระองค์ทรงทำนายว่าจะบรรจุพระบรมสารีริกธาตุแห่งพระองค์ก็ดีพระเจ้าข้า จะได้เป็นที่ประเสริฐในภายภาคหน้าจักปรากฏชื่อไปนานแสนนาน” และพระพุทธองค์ทรงกล่าวอีกว่า “ตถาคตมาถึงภูเขาลูกนี้ ขุนแสนทองก็นำสัปทนทองคำมากั้นแสงแดดให้เราตถาคตจักให้ชื่อว่า “ดอยเกิ้ง”

ยังเป็นนิมิตแห่งภูเขาลูกนี้ด้วยกับมีเทวดาองค์หนึ่งกล่าวว่า “ข้าแต่พระพุทธเจ้า ข้าจักอยู่รักษาพระบรมธาตุนี้ ข้าฯไม่มีวิมาน แล้วจักอาศัยอยู่ตรงไหนจึงจะดี” พระพุทธองค์ทรงกล่าวว่า “ดูกรเทวดากับรุกขเทวดาอีกองค์หนึ่งอยู่ภายใต้โน้น ไม่ไกลจากที่นี่มากนัก อีก ๗ วัน รุกขเทวดานั้นจะมาจุติวิมานแก่เทวดาเจ้า แล้วก็จักลำดับจากชั้นวิมานมาจุติขึ้นไว้ให้ หากผู้ใดใคร่รักษาพระสารีริกธาตุแห่งตถาคตก็ขอให้รักษาสัก ๗ วันก่อนเถิด” เทวดาองค์นั้นยินดีเป็นยิ่งนัก

IMG_9171.jpg



ตำนานพระมหาบรมธาตุเจ้าดอยเกิ้ง (เรียบเรียงใหม่) (ต่อ)

ขุนแสนทองเมื่อได้ยินพระพุทธเจ้ากล่าวกับเทวดานั้นก็ได้ทูลถามว่า ตนได้นำสัปทนทองคำกั้นแดดถวายจักได้รับอานิสงส์อันใด เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน “ดูกรเทวดากับรุกขเทวดาอีกองค์หนึ่งอยู่ภายใต้โน้น ไม่ไกลจากที่นี่มากนัก อีก ๗ รุกขเทวดานั้นจะมาจุติวิมานแก่เทวดาเจ้า แล้วก็จักลำดับจากชั้นวิมานจุติขึ้นไว้ให้ หากผู้ใดใคร่รักษาพระสารีริกธาตุแห่งตถาคตก็ขอให้รักษาสัก ๗ วันก่อนเถิด” เทวดาองค์นั้นยินดีเป็นยิ่งนัก

ขุนแสนทองเมื่อได้ยินพระพุทธเจ้ากล่าวกับเทวดานั้นก็ได้ทูลถามว่า ตนได้นำสัปทนทองคำกั้นแดดถวายจักได้รับอานิสงส์อันใด เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน “ดูกรขุนแสนทองมีรุกขเทวดาองค์หนึ่งอยู่ทางทิศเหนือไม่ไกลจากที่นี้ อีก ๗ วัน ก็จะจุติจากวิมานแล้ววิมานนั้นสูง ๑๒ โยชน์ ด้วยอานิสงส์ของท่าน เมื่อท่านสิ้นบุญไปแล้วจักได้ไปเกิดเป็นเทวบุตรและมีวิมานนั้นสูงได้ ๑๒ โยชน์ ด้วยอานิสงส์ของท่าน เมื่อท่านสิ้นบุญไปแล้วจักได้ไปเกิดเป็นเทวบุตรและมีวิมานอยู่อาศัยดูแลรักษาพระสารีริกธาตุแห่งตถาคตในภูเขานี้ นับนานได้ ๕,๐๐๐ ปี

เมื่อใดพระศรีอาริยเมตตรัยลงมาจุติ ขุนแสนทองจักได้เป็นสาวกองค์หนึ่งด้วย ขุนแสนทองมีความยินดียิ่งนัก ได้ขออาราธนานิมนต์พระพุทธเจ้าอยู่ เพื่อจักได้เป็นกุศลผลบุญอันยิ่งใหญ่แก่ตนถึง ๗ วัน กับได้ปรารภกราบลาไปสู่เมืองของตน พระพุทธเจ้าทรงตรัสถามว่า “บ้านท่านอยู่ไกลจากที่นี่เพียงไร” ขุนแสนทองทูลถวายว่า บ้านเมืองตนมีอยู่ประมาณครึ่งการุต และไกลออกไป ๕๐๐ ขาธนู และในวันรุ่งขึ้นขุนแสนทองได้นำหลานตนเองอายุ ๑๗ ปี มาฝากเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า ทั้งได้นำโภชนาอาหารอันประณีตพร้อมด้วยลูกสมอถวายแด่พระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าฉันแล้ว พระอานนท์จึงทูลถามจักนำอาหารที่เหลือไปไว้ ณ แห่งใดดี

พระพุทธองค์จึงกล่าวว่า “ดูกรอานนท์ ที่ใดไม่เป็นที่สาธารณะก็นำไปเทไว้ที่นั้น และหากผู้ใดมากินอาหารนั้นก็จักเจริญด้วยธรรมทั้งปวง ๕ ประการแก่เขาผู้นั้นแล” พระอานนท์พิจารณาที่อันควรแล้ว จึงเดินไปทางทิศตะวันตกของเขาลูกนั้นประมาณ ๕๘๐ วา ซึ่งมีจอมปลวกสูงเกิดขึ้นระหว่างหิน ๓ ก้อน คล้ายก้อนเส้า (เตาหุงโบราณ) เทอาหารและอธิษฐานว่าน้ำเหลือจากการฉันอาหารแล้วของพระพุทธเจ้านี้ ขอรินน้ำสมอไพรต้นนี้สู่แผ่นดินตรงนี้ อย่าได้มีความแห้งแล้งเลย ทั้งสมอต้นนี้ก็อย่าได้แห้งตายลงเลย ขอให้สมอไพรต้นนี้จงอายุ ๕,๐๐๐ ปี ด้วยเถิด หากว่าสมภารรูปใดมาพบ หรือบุคคลใดมาดื่มน้ำนี้แล้วก็จักเจริญด้วยธรรม ๕ ประการ เป็นต้นว่า จักมีอายุยืนนาน มีลักษณะงดงาม ดังคำอธิษฐานของพระอานนท์ด้วยเถิด”

เมื่อขุนแสนทอง นำหลานของตนมามอบถวายแด่พระพุทธเจ้าเพื่ออุปสมบทแล้ว พระพุทธเจ้าก็ได้บวชให้เป็นพระภิกษุ แล้วสอนวิปัสสนากัมมัฏฐานให้พอภาวนาได้ วันหนึ่งก็ได้เป็นพระอรหันต์ในวันนั้น ได้รับมงคลนามจากพระพุทธเจ้าว่าอุบาสกผู้เป็นเป็นโยมอุปัฏฐากพระพุทธเจ้ากับผู้ดูแลใกล้ชิด

ณ ที่เหนือภูเขาอุจจุปัปปัตตา พระพุทธองค์ได้ประทับอยู่เทศนาโปรดมนุษย์เทวดาทั้งหลายได้ ๗ วัน ๗ คืน เมื่อสรรพสัตว์ทั้งหลายสดับพระธรรมเทศนาของพระองค์ได้ ๗ วัน ๗ คืน ได้รับรสพระธรรมอันวิเศษบรรลุธรรมเป็นโสดาบันจำนวนถึง ๘๔,๐๐๐ คน ส่วนขุนแสนทองนั้นถวายเครื่องไทยทานอันเป็นทานมหากุศลแก่พระพุทธเจ้าและเหล่าอรหันต์เจ้า ๕๐๐ องค์ ในเวลา ๗ วัน ๗ คืน รวมข้าวของถวายทานทั้งหมดเป็นประมาณโกฏิหนึ่ง

ครั้นแล้ว พระพุทธเจ้าก็เสด็จดำเนินตามไหล่เขานั้นมาลงสู่แม่น้ำระมิงค์ กับเสด็จพระราชดำเนินสำรวจดูสถานที่อันจะเก็บพระบรมอัฐิธาตุไว้ในอนาคต เมื่อพระองค์ทำนายไว้แล้วก็เสด็จผ่านหมู่บ้านใหญ่น้อย และเทศนาธรรมโปรดชาวบ้านแถบนั้น แล้วจึงเสด็จกลับป่าเชตวันอารามที่พระองค์ประทับเป็นประจำ

ขณะนั้น พระอุบาลีเถระก็ติดตามพระพุทธเจ้า เหล่ารุกขเทวดาตามลำดับนั้น ก็จุติพรากจากวิมานของตนได้ไปจุติในทิพยวิมานชั้นฟ้าแห่งชั้นจาตุมหาราชิกา ส่วนเทวดาผู้รักษาพระบรมอัฐิธาตุแห่งพระพุทธเจ้านั้น ก็ได้ไปสู่วิมานของตน

27.jpg



วันซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จจากดอยเกิ้งไป ขุนแสนทองก็ไปหาเพื่อนบ้านจำนาน ๑๑๖ คน ซึ่งอาศัยอยู่ตามเชิงดอยอุจจุปัปปัตตาไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นหมู่บ้านประมาณ ๑๐๐ หลังคาเรือน ขุนแสนทองกล่าวว่า “เพื่อนทั้งหลาย ตัวเรานี้เป็นขุนเมื่ออายุ ๒๕ ปี จึงได้สถาปนาแทนพ่อว่า บัดนี้พระพุทธเจ้าพระองค์ประกอบไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันมหาศาลทั้งยังโปรดตัวเรา พระองค์ได้มอบพระเกศาธาตุให้เป็นที่สักการบูชาแก่เรา ๑ องค์ (หนึ่งเส้น) ยาว ๘ นิ้ว

เรามีความยินดียิ่งนักขอให้หมู่บ้านเรา ๑๐๐ ครอบครัวนี้ ช่วยบริจาคข้าวเปลือกปีละ ๗ ถัง (เจ็ดต๋าง) เริ่มมาตั้งแต่ปู่ย่าตาทวดแห่งตระกูลเรา ยังมิได้ขอสิ่งใดจากสูเจ้า (ท่านทั้งหลาย) เลย ตัวเราจะขอนำข้าวเปลือกนี้บริจาคทานรอบๆ ภูเขา อันเป็นการค้ำชูพระธาตุดอยเกิ้งนี้ไว้ อย่าให้คนทั้งหลายมาเบียดเบียนพระบรมธาตุแห่งพระพุทธเจ้านี้ และสูเจ้าทั้งหลายก็จะได้เป็นข้าราชบริภารของพระพุทธเจ้าไว้ด้วย หมู่บ้านนี้ภายหน้าขอตั้งชื่อไว้ว่า “บ้านแว้ง” เถิด” ปวงชนทั้งหลายต่างเห็นดีด้วย ตามขุนแสนทองทุกประการ หมู่บ้านนี้ยังอยู่ที่นั่นตลอดมาจนทุกวันนี้



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_9267.jpg



ตำนานพระมหาบรมธาตุเจ้าดอยเกิ้ง (เรียบเรียงใหม่) (ต่อ)

เมื่อรุ่งสว่าง พระพุทธองค์พร้อมด้วยพระอรหันต์เสด็จโดยกลางหาวนภากาศ (เหาะเหินโดยญาณสมาบัติ) ถึงแม่น้ำระมิงค์ที่เชิงเขาอุจจุปัปปัตตา ดำริจะชำระล้างพระโอษฐ์และแปรงพระทนต์ แต่เสด็จหาที่ประทับยืนอันเหมาะสมมิได้ คงมีแต่ปากถ้ำแห่งเชิงเขาอุจจุปัปปัตตาเท่านั้น ขณะนั้นมีพญานาคตัวหนึ่งอยู่รักษาปากถ้ำ เห็นพระพุทธองค์ประทับยืนอยู่ที่นั้นจึงออกจากพื้นน้ำแล้วน้ำถวายน้ำแก่พระพุทธองค์เพื่อสรงพระพักตร์ แปรงพระทนต์และบ้วนพระโอษฐ์เสร็จแล้วพระพุทธองค์ทรงหยิบหินก้อนหนึ่งขึ้นมาแล้วเสด็จต่อขึ้นไปตามลำน้ำ เมื่อเทวดาเล็งเห็นว่าจักมีคุณประโยชน์แก่สัตว์โลกทั้งปวง จึงได้ตะแครงหินก้อนนั้นลงไปไว้ ณ แม่น้ำระมิงค์ทางทิศตะวันตก

ขณะนั้น มีบริวารผู้รับใช้ของพญาขุนแสนทอง ๒ คน ออกเที่ยวป่าพบพระพุทธองค์ ตรงขุนห้วยแม่น้ำนั้น จึงกลับไปนำความเข้าแจ้งแก่พญาขุนแสนทองให้ทรงรับทราบ พญาขุนแสนทองทราบดังนั้นก็ดีพระทัยเป็นยิ่งนัก ดำริว่าเราควรจะนำสัปทน (ร่ม) ทองคำไปกั้นแสงพระอาทิตย์ เพื่อเป็นการคารวะแก่พระพุทธเจ้า พระองค์จึงนำสัปทนทองคำกว้าง ๗ วา หนาประมาณนิ้วหัวแม่มือ เดินทางไปยังที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่

พระพุทธองค์เสด็จตามลำห้วยถึงที่มาบรรจบกันแล้วจึงได้ทรงซักจีวร เมื่อข้ามน้ำไปยังอีกฝั่งหนึ่งแล้วก็ได้ตากจีวรแห้ง แล้วแวะเข้าห้วยทางซ้ายไปถึงเชิงดอยพบพญาสีสู่ เมื่อพญาสีสู่พบพระพุทธองค์ก็ให้มีความยินดีเป็นที่ยิ่ง ก้มลงกราบแทบพระบาทและทูลถามพระพุทธเจ้าว่าเสด็จมาเมื่อใด ครั้งนั้นพบพระองค์ที่ป่าเชตวันอาราม บัดนี้พระพุทธองค์ เสด็จมาถึงที่นี้ในเวลาอันรวดเร็ว ระอค์เสด็จมาแล้วได้กี่วันพระเจ้าข้า พระพุทธองค์ทรงกล่าวว่า

“ดูกร มหาราช ตั้งแต่พบกันคราวนั้นถึงปัจจุบันนี้ได้ ๒ เดือน กับ ๒๕ วัน มหาราชท่านมาหยุดที่ตรงนี้เพราะเหตุใด”

พญาสีสู่ได้กราบทูลแก่พระพุทธเจ้าตามความที่ต้องการประสบกับความทุกขเวทนาครั้งนี้ หลังจากนั้นได้ถวายบิณฑบาตแก่พระพุทธเจ้า เมื่อรับบิณฑบาตแล้วพระพุทธเจ้าทรงประทับนั่งลงบนหินก้อนหนึ่ง และทรงวางบาตรลงบนก้อนหินนั้น เมื่อฉันภัตตาหารเสร็จ ก็ทรงแสดงพระธรรมเทศนาเพื่อระงับทุกขเวทนาแก่พญาสีสู่ว่า

“อะนิจจา  วะตะ  สังขารา                อุปปาทะวะยะธัมมิโน
อุปปัชชิตวา   นิรุชฌันติ                  เตสัง  วูปะสะโม  สุโข”


เมื่อพระองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาจบแล้ว ด้วยพระคาถานี้สรรพสัตว์ทั้งหลายจำนวน ๘๔,๐๐๐ คน ได้มาฟังก็บรรลุธรรมวิเศษ ส่วนพญาสีสู่ก็ระงับทุกขเวทนาได้แต่ยังไม่บรรลุธรรม พระพุทธเจ้าทรงรู้ด้วยญาณปัญญาจึงทรงตรัสถามพญาสีสู่ให้แจ้งความจริงว่า

“มหาราช มีความปรารถนาสิ่งใดเล่า”

พญาสีสู่จึงกราบทูลว่า “ข้าพเจ้ามีความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง เหมือนกับพระพุทธองค์ในกาลข้างหน้าโน้น ข้าพเจ้ายังไม่ทราบว่าจะได้สมปรารถนาหรือไม่ พระเจ้าข้า”

31.jpg



พระพุทธเจ้าพิจารณาดูตามบุญบารมีของพญาสีสู่อันได้สร้างสมไว้มากนัก จึงทรงทำนายว่าพญาสีสู่ก็จะได้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งมีชื่อว่า “อภิภูน” อันจะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า พญาสีสู่ทราบดังนั้นให้มีความยินดียิ่งนัก จึงถวายเรือของตนพร้อมด้วยเครื่องบริโภคในเรือให้แก่พระพุทธเจ้า และพระพุทธเจ้าได้ทรงยืนประทับรอยพระบาทข้างหนึ่งไว้บนเรือ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่พญาสีสู่ แล้วกล่าวว่า

“ดูกร มหาราช ได้ถวายเรือแก่ตถาคต เราก็ได้ประทับรอยพระบาท เพื่อเป็นกุศลผลบุญแก่มหาราชตลอดสิ้นกาลนาน”

ในกาลนั้นมีอุบาสกผู้หนึ่งนามปุระสะ มีก้อนหินก้อนหนึ่งรูปร่างสัณฐานคล้ายหลังเต่ากว้าง ๓ ศอก ยาว ๗ ศอก พระพุทธองค์ทรงประทับรอยพระบาทบนหินนั้น พญาสีสู่ได้ทำการสักการะแล้วนำหินนั้นมาก่อเป็นอุโมงค์ยั้งเรือไว้ เพื่อมิให้เป็นสรณะแก่สัตว์ในภายหลังนำไปใช้ส่วนตัวเนื่องจากเรือนั้นถวายแก่พระพุทธเจ้าแล้วพญาสีสู่ได้อธิษฐานว่า “เรือลำนี้ซึ่งได้ถวายแก่พระพุทธเจ้าแล้วพระองค์ได้ประทับรอยพระบาทไว้ด้วยขอให้รักษาและอยู่ในที่นานถึง ๕,๐๐๐ พรรษา แห่งายุของพระพุทธศาสนา ขอเรืออย่าได้สลักหักพังเลย อุโมงค์นี้ก็ขอให้มั่นคงถาวรด้วยดีเถิด บุคคลใดอย่าได้รื้อถอนออกเสีย เมื่ออธิษฐานเก็บฝังเรือนั้นแล้ว พระพุทธองค์ก็เสด็จขึ้นสู่ภูเขาอุจจุปัปปัตตาทางทิศตะวันออก

พระอินทร์ผู้เป็นใหญ่ในเหล่าเทวดาของสรวงสวรรค์ก็มายกหินที่พระพุทธเจ้าประทับนั่งก้อนนั้น นำไปวางไว้กลางเรือเพื่อเป็นสักขีพยานแห่งปวงชน และได้นำฉัตรมากั้นแสงอาทิตย์แด่พระพุทธองค์ ส่วนขุนแสนทองก็นำสัปทนทองคำมากั้นแสงอาทิตย์ด้วยเช่นกัน

IMG_8893.jpg



IMG_9160.jpg



ตำนานพระมหาบรมธาตุเจ้าดอยเกิ้ง (เรียบเรียงใหม่) (ต่อ)

ครั้นพระพุทธเจ้าเสด็จถึงบนยอดเขาและประทับนั่งที่นั่นแล้ว พระอินทร์นั่งทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ถือฉัตรมากั้นถวาย ส่วนขุนแสนทองนั่งทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือโดยกั้นสัปทนทองคำถวายพระพุทธเจ้า พระองค์จึงตรัสพุทธพจน์ออกมาว่า “สถานที่นี้งามนัก” จบคำปราศรัยเหล่าพระอรหันต์ พระอินทร์ พญาอโศกราช พญาสีสู่และขุนแสนทอง พร้อมด้วยโยคีได้ขอพระเกศาธาตุแห่งพระพุทธเจ้า ด้วยเห็นว่าบริเวณนี้งดงามนัก ควรจักบรรจุพระเกศาไว้เพื่อเป็นที่เคารพสักการบูชาของคนทั้งหลาย

28.jpg



พระพุทธเจ้าพิจารณาว่าเมื่อถึงกึ่งพุทธกาลหน้าตถาคตจักรุ่งเรืองที่นี่ และสรรพสัตว์ทั้งหลายก็จะมาทั่วทุกสารทิศ เขาก็จะได้บูชาสมประสงค์ พระองค์จึงได้เสยพระเกศาโดยใช้พระหัตถ์เบื้องขวาสางพระเกศาได้มาหนึ่งเส้น แล้วปล่อยให้ลอยลงมาในอนาคตตกลงเบื้องหน้าเหล่าพระอรหันต์ พญาโศกราช พญาสีสู่ ขุนแสนทอง และโยคีทั้งหลาย เมื่อได้รับพระเกศาแล้วจึงเก็บบรรจุผอบต่างๆ เช่น ผอบแก้ว ผอบทองคำ ผอบเงิน แล้วบรรจงเก็บในสำเภาทองคำ เสร็จแล้วกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า พระองค์ประสงค์จักเก็บไว้ในที่ใดต่อไป

พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า “ถ้ำนี้มีบริเวณเป็นที่กว้างขวางมาก มีประตู ๓ ประตู น่าเก็บพระสารีริกธาตุแห่งตถาคตรวมทั้งพระธรรมถึก และพระวรกายของตถาคตท่านทั้งหลายจงไปเก็บไว้ที่นั้นเถิด” พระอินทร์เจ้าจึงกราบทูลว่า “พระองค์มีพระประสงค์จะวางสารีริกธาตุพระธรรมถึกกับทั้งพระวรกาย ไว้ตรงไหน”

พระพุทธเจ้า กล่าวพระพุทธพจน์ว่า “ดูกรมหาราชเจ้า ท่านจงเนรมิตให้เป็น ๓ ชั้นเถิด ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ๒๑๘ ปี ภายหน้าจักมีพญาองค์หนึ่งนามอโศกราชจะมาเริ่มต้นพระศาสนาของตถาคต พร้อมด้วยพระอรหันต์ ๑๐๐ องค์ ก็จะมาพบสารีริกธาตุพระอัฐิพระนลาฏซ้าย (กระดูกหน้าผากซ้าย) ของตถาคตครึ่งหนึ่งพร้อมด้วยพระสารีริกธาตุเม็ดเล็กๆ อีก ๓ ทะนาน ให้แบ่งเก็บดังนี้

ชั้นบน                ให้เก็บพระสารีริกธาตุ
ชั้นกลาง             ให้เก็บพระธรรมถึก
ชั้นล่าง                มอบให้พญาศรีโศกราช สร้างพระรูปของตถาคตไว้เหมือนองค์จริงเถิด



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_9153.jpg



ตำนานพระมหาบรมธาตุเจ้าดอยเกิ้ง (เรียบเรียงใหม่)

ในสมัยหนึ่ง ขณะที่พระพุทธองค์ทรงเทศนาธรรม ณ เชตวันอารามมหาวิหาร ที่พระองค์ประทับอยู่นั้นเป็นทางผ่านของเมืองต่างๆ ขณะนั้นพระศรีธรรมราชา เจ้าเมืองสิบสองปันนา ซึ่งเป็นพระสหายของพญาสีสู่ เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ ได้รับเชิญเป็นแขกเมืองสุวรรณภูมิมีการเลี้ยงต้อนรับอย่างสมเกียรติตามประเพณีนิยม ครั้นถึงเวลากลับ พระเจ้าสีสู่ได้เสด็จไปส่งโดยยกรื้อพลทหารประจำพระองค์ไปด้วย เพื่อเป็นเกียรติแก่แขกเมือง ในระหว่างการเดินทางพระเจ้าสีสู่ทรงทราบว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาทรงโปรดสรรพสัตว์ในป่าเขตเชตวันอารามจึงเกิดศรัทธา และได้ตรึกตรองว่าควรเข้าไปเฝ้าพระตถาคตอันเป็นอนัตตา พระองค์จึงตัดสินพระทัยไปเฝ้าพระพุทธองค์ก่อน ครั้นแล้วเมื่อเสด็จถึงและประทับในที่เหมาะสมแล้ว พระพุทธองค์ก็ตรัสว่า

“ดูกรมหาราช ท่านได้มากราบเราตถาคตแล้วท่านจักเดินทางไปยังเมืองของท่านหรือจักเดินทางไปยังเมืองอื่นที่ไหนกันมหาราช”

พญาสีสู่จึงทูลตอบคำถามพระพุทธองค์ว่าจะเดินทางไปเยี่ยมส่งพระสหายนามว่า พระศรีธรรมราชา เจ้าเมืองสิบสองปันนา ทราบว่าพระพุทธองค์ประทับ ณ ที่นี้ หากเดินทางผ่านไปก่อนก็จะไม่มีโอกาสได้เฝ้านมัสการพระองค์ ดังนั้น จึงมากราบนมัสการพระพุทธองค์ก่อนเดินทางต่อไป ความทราบดังนั้น พระพุทธองค์จึงทรงรับสั่งว่า

“ดูกรมหาราช ในปัจจุบันนี้อยู่ในระหว่างเข้าพรรษาตถาคตจะอยู่เทศนาธรรมแก่ปวงชนและเทวดาทั้งหลายในป่าเชตวันอารามแห่งนี้เป็นเวลา ๓ เดือน มหาราชจะไปเยี่ยมพระสหายก็เชิญไปก่อน แล้วกลับมาพบตถาคตอีกครั้งหนึ่งก็ได้”

30.jpg



พญาสีสู่ดีพระทัยมาก จึงอำลาพระพุทธเจ้าไปเยี่ยมพระสหาย พญาสีสู่ได้อธิษฐานบารมีขอให้น้ำในมหาสมุทรมีมากขึ้นเพื่อนำเรือญาณไปสู่พระสหาย ด้วยบุญญาอธิษฐานนั้น เหล่านางพระคงคาและเทวดาก็บันดาลให้มีน้ำปริมาณมาก สามารถแล่นเรือบรรลุตามวัตถุประสงค์ได้พญาสีสู่มีความยินดีเป็นยิ่งนัก ได้ตกแต่งบรรณาการอันเป็นเครื่องบริโภค กับทั้งเป็นของฝากพระสหายและพวกข้าราชบริการลงบรรจุในเรือไม้ประดู่ลำยาวประมาณ ๑๐ ศอก (๕ หลา) มีห้อง ๘ ห้อง มีของครบบริบูรณ์ พอเรือแล่นถึงดอยอุจจุปัปปัตตาได้จอดพักอยู่ ครั้นตกดึกในคืนนั้นน้ำในมหาสมุทรเกิดแห้ง น้ำลดลง เรือของพญาสีสู่แล่นต่อไปไม่ได้ จึงร้องไห้เสียใจเป็นทุกขเวทนาเป็นยิ่งนัก แทบจะสิ้นสติลง เพราะต้องพักลงอยู่ที่นั่น

IMG_9156.jpg



ตำนานพระมหาบรมธาตุเจ้าดอยเกิ้ง (เรียบเรียงใหม่) (ต่อ)

กล่าวถึงพระพุทธองค์ ขณะที่พบพญาสีสู่นั้น พระองค์มีพระชนมายุ ๖๐ พรรษา เหลือเวลาอีก ๒๐ พรรษา ก็จะเสด็จสู่ปรินิพพาน พระองค์ทรงรำพึงถึงสังขารว่าสถานที่ใดหนอเราจักเก็บอัฐิธาตุของเรา ครั้นเมื่อออกพรรษาแล้วพระองค์จึงได้เสด็จไปเมืองสาวัตถีราชธานีไปบิณฑบาตยังโรงทานแห่งพญาปเสนทิโกศล ซึ่งได้นำอาหารมาบิณฑบาตและได้ทูลถามพระพุทธองค์ว่า ออกพรรษาแล้วถึง ๗ เดือน ยังจะทรงเทศนาธรรมแก่ปวงชนและเทวดาในป่าเชตวันอารามอีกต่อไปหรือไม่ พระพุทธองค์ทรงตอบว่า “ตถาคตจะค้นหาที่เก็บอัฐิของตน เมื่อพบแล้วบอกให้มหาราชได้รับทราบในโอกาสต่อไป”

ครั้งนั้นพญาอโศกมหาราช ผู้ครองนครกุสินารา พระองค์มีพระราชบิดานามว่า “โศกราช” พระเจ้าปู่นามว่า “ศรีธรรมโศกราช” พระเจ้าปู่ของพระองค์ทรงปรารภไว้ว่า “ใครพบพระพุทธเจ้าที่ทรงพระนามว่าโคตมะจะเกิดอัศจรรย์ต่างๆ เช่น แผ่นดินไหว แผ่นดินซึ่งหนาสองแสนสี่หมื่นโยชน์จะสั่นไหว พอดีขณะนั้นเกิดแผ่นดินไหวขึ้นมา จึงรับสั่งให้ข้าราชบริพารออกค้นหาพราหมณ์ผู้มีความรู้จบไตรเพทมีคุณวิเศษมาถามดูได้ความว่าเป็นนิมิตแห่งการเกิดของพระพุทธเจ้า พญาโศกราชที่ครองนครอยู่ในขณะนั้นมีความยินดีปรีดามาก พระองค์ทรงรำพึงว่า “เรานี้จะได้เห็นพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า เราจะไม่ห่วงสมบัติใดที่มีอยู่เลย จักปวารณาเป็นอุบาสกในพระพุทธเจ้าแล้วจึงมอบราชสมบัติให้ราชบุตรครองแทน”

ทางด้านพระพุทธองค์นั้นได้ทรงอธิษฐานทำนายการเก็บอัฐิธาตุ ถึงแม่น้ำระมิงค์ที่ไหลจากทางทิศเหนือบรรจบกับแม่น้ำยมุนานที ซึ่งไหลมาจากทางทิศตะวันออก พระองค์เสด็จประทับอยู่ ณ ที่ริมฝั่งแม่น้ำซึ่งแม่น้ำทั้งสองสายมาบรรจบกันและรำพึงด้วยความหยั่งรู้ว่า พระองค์จักต้องเสด็จไปตามแม่น้ำยมุนานทีก่อน แล้วจึงค่อยตัดทางไปทางแม่น้ำระมิงค์ ตัดสินพระทัยแล้วจึงได้เดินทางโดยพระองค์เองเรื่อยๆ ไปจนถึงขุนแม่น้ำแพร่และแม่น้ำน่าน

ครั้นใกล้รุ่งอรุณ พระองค์ทรงเล็งญาณตรวจสรรพสัตว์โลกเห็นพญาสีสู่ประสบความผิดหวังเพราะน้ำแห้งเรือแล่นเข้าเมืองไม่ได้ ประสบทุกขเวทนาแทบอกแตกตาย พระองค์ดำริว่าพญาองค์นี้มีบุญบารีมมากนัก เราควรจะไปโปรด มิฉะนั้นจะสิ้นชีวิตไปเปล่าและพระองค์ทรงรำพึงถึงเทศนาธรรมกถาที่จะไปโปรดให้สัตว์โลกทั้งหลายจำนวน ๘๔,๐๐๐ คน ให้บรรลุมรรคผลในการโปรดครั้งนั้น



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_9142.jpg



ตำนานพระมหาบรมธาตุเจ้าดอยเกิ้ง (ต่อ)

นโม ตสฺสตฺถูฯ ตตฺถ สตฺตาเห ภควา วิหริตฺวา ตโต ภควา คนฺตฺวา อญฺญต รสฺมี สมปต ดูกรสัปปุรุษทั้งหลาย พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ดอยเกิ้งที่นั้น นานได้ ๗ วัน ก็เสด็จลงจากยอดภูเขาลูกนั้น ทรงดำเนินไปตามราวป่าแห่งหนึ่ง เสด็จลงสู่แม่น้ำระมิงค์ แล้วเสด็จเลียบโลกไปตามฝั่งแม่น้ำขึ้นไปทางทิศเหนือเป็นระยะทางประมาณ ๑๐,๐๐๐ วา ทรงพบลัวะคนหนึ่ง กำลังสร้างระหัดพัดน้ำขึ้นใส่นาปรังอยู่ (ศัพท์นาปลังคือ นาดอ, นาเจียง) ลัวะผู้นั้นพบเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จมา ก็รีบแก้ผ้าโพกศีรษะออกมาเช็ดพระบาทของพระพุทธเจ้า แล้วกลับเอาโพกหัวตามเดิม เมื่อผ้าเช็ดพระบาทแล้ว ผ้าผืนนั้นก็กลายเป็นทองคำไปทั้งผืน ก็บังเกิดความยินดียิ่ง จึงกราบทูลอาราธนาว่า “ข้าแด่พระองค์ผู้เจริญ ขออาราธนานิมนต์ประทับอยู่โปรดเมตตาข้าพระองค์ในที่นี้ก่อนเถิด” พระพุทธเจ้าก็เสด็จประทับเหนือภูเขาลูกหนึ่ง มีอยู่ทิศตะวันตกบ้านลัวะที่นั้น (ดอยอูปธาตุ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่)

ส่วนลัวะผู้นั้น ก็รีบวิ่งไปหุงข้าวทำอาหารอย่างละ ๒ หม้อ คือข้าว ๒ หม้อ แกง ๒ หม้อ ในบัดดลนั้นข้าวและแกงอย่างละ ๒ หม้อนั้น ก็กลับกลายเป็นข้าวทิพย์และแกงทิพย์ นำมาถวายแก่พระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธองค์เสวยแล้ว ข้าวและแกงก็เหลือแม้ถวายแก่พระอรหันต์ทั้งหลายก็เหลือ เมื่อพระพุทธองค์เสวยและพระอรหันต์ทั้งหลายฉันแล้ว พระเจ้าอโศกราชจึงตรัสแก่ลัวะผู้นั้นว่า “ดูรา ขุนหลวง ท่านมาสร้างระหัดพัดน้ำขึ้นใส่นาปลังนั้น ไม่ต้องทำให้ลำบากใจเลย ท่านจงสมาทานเอาศีลจากพระพุทธเจ้าเถิด ข้าวของสมบัติที่ท่านจะกินจะบริโภค จะต้องเกิดมีอย่างมากมายเป็นแน่แท้”  ลัวะผู้นั้นก็เข้ามากราบสมาทานเบญจศีลจากพระพุทธเจ้า

พระพุทธองค์ก็ทรงประทานเบญจศีลให้ เมื่อลัวะผู้นั้นรับเบญจศีลแล้ว ก็กราบอำลาคืนสู่เรือนตนเมื่อถึงเรือนแล้ว ก็เห็นสิ่งของทุกสิ่งในเรือนกลับกลายเป็นทองคำไปสิ้น จึงรำพึงว่า “แต่ก่อนเราทำนาเกือบตายยังไม่พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง วันนี้เรารับศีลจากพระพุทธเจ้า แล้วกลับจากเรือน สิ่งของอันใดก็กลายเป็นทองคำไปสิ้น ศีลของพระพุทธเจ้านี้ประเสริฐแม้ เราจะรักษาตลอดชีวิตของเราแล”

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลังจากทรงให้ศีลแก่ลัวะผู้นั้นแล จึงตรัสแก่พระอรหันต์ทั้งหลายว่า “ดูราภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อตถาคตมาถึงที่นี้ พบลัวะกำลังทำระหัดพัดน้ำขึ้นใส่น้ำ เมื่อถามแล้ว ลัวะก็ตอบว่า “สถานที่นี้แห้งหอดด้วยน้ำใช้ทำนา จึงต้องทำระหัดพัดน้ำใส่นา” ต่อไปภายหน้าเมืองนี้จะได้ชื่อว่า “เมืองหอดน้ำ” (หอด แปลว่า แห้งแล้ง, โหยหิว ปัจจุบันนี้เป็นอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่)

IMG_9198.jpg



ตำนานพระมหาบรมธาตุเจ้าดอยเกิ้ง (ต่อ)

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์จบแล้ว พระอรหันต์ทั้งหลายและพระเจ้าอโศกราชจึงกราบทูลว่า “ข้าแด่พระองค์ผู้เจริญ ฐานะที่นี้ดียิ่ง สมควรตั้งพระศาสนาไว้แห่งหนึ่ง ขอพระองค์ทรงมีพระเมตตาไว้พระเกศาธาตุเถิด พระพุทธองค์ตรัสว่า “ดูราภิกษุทั้งหลาย ฐานะที่นี้ไม่มีถ้ำช่องเขา ไม่สมควรจะไว้ธาตุ” แล้วพระพุทธองค์ก็เสด็จลุกจากที่นั้นเสด็จไปตามฝั่งแม่น้ำระมิงค์ขึ้นไปทางทิศเหนือไกลประมาณ ๑,๐๐๐ วา ก็ทรงพบหินก้อนหนึ่งรูปร่างเหมือนเต่า พระพุทธองค์ก็ทรงประทับนั่งเหนือก้อนหินก้อนนั้น ในกาลนั้น มีพญานาคตนหนึ่งออกจากที่อยู่แห่งตน เข้ามาอภิวาทพระพุทธเจ้า

เมื่อนั้นพระอรหันต์ พระเจ้าอโศกราชและพญานาค ก็ช่วยกันกราบทูลว่า “ข้าแด่พระพุทธองค์ผู้เจริญ ฐานะที่นี่ควรตั้งศาสนาไว้พระธาตุแท้แล” พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “ฐานะที่นี้ไม่มีถ้ำ ไม่ควรไว้ธาตุ” จึงกราบทูลต่อไปว่า “แม้นว่าพระองค์ไม่ทรงไว้พระธาตุในสถานที่นี้ ขอทรงพระกรุณาไว้รอยพระบาทเถิด” เมื่อกราบทูลแล้วพระพุทธเจ้าก็เสด็จไปทรงเหยียบรอยพระบาทไว้เหนือก้อนก้อนนั้น มีรอยลึกประมาณสี่นิ้วมือขวาง (ฝ่ามือตะแคง) ไว้เป็นที่สักการบูชาแก่คนและเทวดาทั้งหลาย แล (รอยพระพุทธบาทเกือกแก้วรังรุ้ง บ.แม่ป่าไผ่ ต.นาคอเรือ อ.ฮอด)



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_8881.jpg



IMG_9176.jpg



ตำนานพระมหาบรมธาตุเจ้าดอยเกิ้ง (ต่อ)

นับแต่ยอดเขาลงมาถึงปากถ้ำระยะทาง ๑๐๐ วา กับ ๑ ศอก มัชฌิมบุรุษ นับแต่ปากถ้ำเข้าถึงพระเกศาธาตุระยะทาง ๔๐๐ วา มัชฌิมบุรุษ ที่ประตูถ้ำนั้นมีไม้หกกอหนึ่ง เมื่อเวลาใบมันร่วง มันจะร่วงไปทางทิศตะวันออก ตั้งเทวดา ๘ องค์ ชื่อเทวดาทวารเฝ้ารักษาไว้ พระอินทร์ทรงเนรมิตยนตร์จักรผันป้องกันไว้ทางทิศตะวันตกและทิศตะวันออก กับปล่องอากาศด้านบนของถ้ำจะต้องแม่นลึกแค่คอ ซึ่งแม่น้ำนั้นเกิดมีอยู่ในถ้ำที่นั้น เมื่อข้ามแม่น้ำแล้วไปตามช่องถ้ำไกลประมาณ ๘๐๐ วา (บางฉบับว่า ๘,๐๐๐ วา จึงออกมาด้วยช่องอากาศของถ้ำ สร้างรูปยักษ์ ๒ ตนไว้ที่นั้น แล้วบรรจุทองคำไว้ในท้องยักษ์คนละหนึ่งแสนทองคำ ใช้แก้วปทัมราคเป็นดวงตาของยักษ์ทั้ง ๒ ตน ที่หน้าผากหุ้มด้วยแผ่นทองคำ มีมือถือพระขรรค์ ให้เฝ้ารักษาอยู่ซ้ายขวาของประตูถ้ำใส่ชื่อว่า ยักษ์ทวาร

เมื่อทุกอย่างสำเร็จเรียบร้อยแล้ว จึงพากันกลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้าที่ยอดภูเขา พระพุทธองค์ตรัสถามว่า “ท่านทั้งหลายไปกันเป็นอันนานยิ่ง” จึงกราบบังคมทูลว่า “ข้าแต่พระพุทธเจ้า ข้าพระองค์ทั้งหลายไปสร้างแต่งแปลงรูปยักษ์ ๒ ตน อยู่ฝ่ายตะวันตก เหตุนี้จึงมากันช้า”  พระพุทธองค์ตรัสว่า “ดีนักแล” แล้วพระพุทธองค์ก็ตรัสแก่พระพระมหาอานนท์ว่า “ดูรา อานนท์ บัดนี้ตถาคตมีอายุได้ ๖๐ ปีแล้ว เมื่ออายุตถาคตเต็ม ๘๐  ปีบริบูรณ์ ก็จะดับขันธปรินิพพานไปแล้ว เมื่อตถาคตปรินิพพานไปแล้ว ท่านจงเอาธาตุกระดูกหน้าผากด้านซ้ายมาประดิษฐานไว้ในดอยที่นี้ เพื่อเป็นที่ไหว้แก่คนและเทวดาทั้งหลาย เสมอดังตถาคตยังดำรงอายุอยู่


IMG_8896.jpg



IMG_9141.jpg



ตำนานพระมหาบรมธาตุเจ้าดอยเกิ้ง (ต่อ)

สถานที่อยู่ทางทิศตะวันออกนี้ ราบเรียบสม่ำเสมอดี ต่อไปเป็นเมืองหนึ่งชื่อว่า “เมืองอตุลนคร” เมืองนี้จะเป็นที่อยู่แห่งคนและนักบวชผู้มีบุญเป็นจำนวนมาก ในที่นี้จะเป็นที่ประชุมแห่งคนที่มีบุญทั้งหลาย จะเป็นผู้รักษาพระธาตุและหีบทองคำสำหรับใส่พระไตรปิฎก เมืองนี้จะรุ่งเรืองด้วยพระรัตนตรัยอุดมด้วยพระเถรานุเถระตั้งอยู่ในไตรสรณาคมน์เสมอกันทุกองค์เทวดาจะนำพระธาตุออกมาให้คนและเทวดาทั้งหลายได้สักการบูชา ตถาคตมีชีวิตอยู่เพื่อสมบัติสุข ๓ ประการ แก่คนทั้งหลายฉันใด ส่วนสารีริกธาตุกระดูกหน้าผากตถาคตฝ่ายซ้าย  ที่มาประดิษฐานอยู่ในดอยนี้ ก็จะนำความสุข ๓ ประการมาให้แก่คนและเทวดาทั้งหลายฉันนั้น”

พระมหาอานนทเถระก็กราบทูลถามว่า “ข้าแด่พระพุทธเจ้า ดอยลูกนี้จะเป็นที่ประดิษฐานพระธาตุเจ้าอันประเสริฐ ต่อไปภายหน้าดอยลูกนี้จะมีชื่อประการใด” พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ดูกร อานนท์ เมื่อตถาคตมาถึงที่นี้ ลัวะทั้งหลายเอาเกิ้ง (สัปทน) มากั้นให้เรา สถานที่นี้มีนิมิตเป็นไปกับด้วยเกิ้ง เช่นนี้ ต่อไปภายหน้าจะได้ชื่อว่า “ดอยเกิ้ง” (พระธาตุดอยเกิ้ง อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่) สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสถิตสำราญอยู่ที่ยอดภูเขาที่นั้น ทรงแสดงธรรมเทศนาสั่งสอนลัวะทั้งหลาย มีขุนแสนทองเป็นต้น พวกเขาได้นำโภชนาหารมาถวายแก่พระพุทธองค์ทุกวัน

ส่วนว่าพระอัสสชิเถระ และพระอตุลเถระ ที่พระพุทธเจ้ารับสั่งให้อยู่ปฏิบัติรักษาพระบาทผาน้อยเมืองลา อันมีในเมืองอาควี คือเมืองลี้ (แต่ตามเรื่องกล่าวว่า ท่านทั้งสองอยู่เมืองลี้) ท่านอยู่ปฏิบัติพระบาทผาน้อยเมืองลานั้น ท่านจำเริญภาวนาจนสำเร็จพระอรหัตตผล แล้วจึงปรึกษากันว่า “ดูราอาวุโส พระพุทธเจ้าทรงพระเมตตาสั่งเราว่า เมื่อเราทั้งสองจำเริญภาวนาสำเร็จมรรคสำเร็จผลแล้ว จงไปตามหาตถาคตทางทิศตะวันตกเฉียงใต้โน้นเถิด” (เรื่องตอนที่เกี่ยวกับเมืองลี้ว่า ทิศตะวันตกตรง)

บัดนี้เราทั้งสองสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว เราทั้งสองควรติดตามไปเฝ้าพระพุทธองค์เถิด เมื่อปรึกษากันแล้ว ก็ชวนกันเหาะมาทางอากาศติดตามหาพระพุทธองค์ จึงมาพบพระพุทธองค์ที่ดอยเกิ้งนั้น เมื่อทั้งสองถวายอภิวาทแล้ว พระพุทธองค์ก็ตรัสถามว่า “ท่านทั้งสองมาโดยด่วนแท้หนอ” พระเถระทั้งสองก็กราบทูลว่า “ข้าแต่พระพุทธองค์ข้าพระองค์มาโดยด่วน เพื่อจะมาอภิวาทพระพุทธองค์ ด้วยว่าข้าพระองค์ทั้งคู่ได้บรรลุธรรมวิเศษแล้ว จึงมาอภิวาทพระพุทธองค์แล”

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ดีแล ท่านทั้งสองจงชวนกันกลับไปอยู่รักษาพระบาทผาน้อยที่นั้น ก็เท่ากับได้อยู่อุปัฏฐากตถาคตทุกวันแล” พระเถระทั้งสองรูปนั้นก็รับสนองพระพุทโธวาทว่า “สาธุ ดีแล” แล้วก็ถวายอำลาพระพุทธเจ้ากลับไปสู่ผาน้อยอันเป็นที่อยู่ของตน อุปัฏฐากพระพุทธบาทที่นั้นได้นาน ๓ วัน ก็ถึงแก่นิพพานไปในวันเดียวกันทั้งสององค์

คนและเทวดาทั้งหลายก็มาส่งสักการฌาปนกิจพระเถระทั้งสอง แต่ไฟหาได้ไหม้แม้ร่างของท่านไป พระอินทร์ที่มากับด้วยพระพุทธเจ้าในเวลานั้นท่านขึ้นไปชั้นฟ้า ประทับนั่งบนแท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ก็รู้สึกเร่าร้อนและแข็งกระด้าง จึงเล็งทิพยเนตรดู ก็รู้ว่าท่านอัสสชิเถระและท่านอตุลเถระนิพพานไปแล้ว คนทั้งหลายมาพร้อมกันฌาปนกิจแต่ไฟหาไหม้สรีระร่างของท่านไม่ พระอินทร์จึงเหาะไปกราบทูลพระพุทธเจ้าที่เชิงดอยเกิ้งที่นั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ดูกร มหาราช การที่จะฌาปนกิจพระทั้งสองรูปนั้น ในกาลบัดนี้ไฟไม่ไหม้หรอก ทั้งสองรูปนั้นรอพระศรีอริยเมตไตรมาฌาปนกิจ ในกาลต่อไปภายหน้าเท่านั้น”

พระอินทร์ทรงสดับพุทธดำรัสเช่นนั้นก็ไปเนรมิตโลงหินกับเตียงหิน ๒ ชุด เพื่อบรรจุสรีระแห่งพระอัสสชิเถระและพระอตุลเถระแล้วนำไปไว้ในถ้ำท้องภูเขาที่นั้นเพื่อรอพระอริยเมตไตรเจ้า เมื่อพระอริยเมตไตรเจ้าเสด็จอุบัติมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว จะทรงฌาปนกิจศพท่านทั้งสองตามวิบากกรรมของท่านแล

พระอรหันต์เจ้าทั้งหลายที่นิพพานไปแล้ว แต่สรีระร่างยังไม่เน่าเปื่อยมีอยู่ ๔ องค์ คือ พระมหากัสสปเถระ นิพพานแล้วสรีระร่างกายของท่านยังอยู่ในระหว่างภูเขา ๓ ลูก ที่สุมกันอยู่ในเมืองราชคฤห์ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองอังวะ ๑.พระจุฬกัสสปเถระ นิพพานในระหว่างภูเขาเมืองมิถิลา คือเมืองหนองแสในบัดนี้ ๑.พระอัสสชิเถระ, พระอตุลเถระ ๑ ทั้งสองรูปหลังนี้ นิพพานที่พระบาทผาน้อยเมืองลา ในแคว้นเมืองฮ่อ แล้วเอาใส่โลงหินไว้ เมื่อพระอินทร์ทรงพิจารณาหาที่รักษาสรีระร่างกายของมหาเถระเจ้าทั้งสองในถ้ำพระบาทที่ดอยเกิ้งแคว้นเมืองเชียงใหม่ ที่นั้น ก็มีแลฯ



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_9132.jpg



ตำนานพระมหาบรมธาตุเจ้าดอยเกิ้ง (ต่อ)

ตั้งแต่หัวเรือคำนี้ไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๑๐ วา มีถ้ำแห่งหนึ่งงามยิ่งนัก เป็นรูโค้งเข้าไปสู่ท้องดอยกว้างเท่าวิหารใหญ่หลังหนึ่ง โยคีรูปนี้อยู่ที่ปากถ้ำ จากนั้นไปยังมีพระอรหันต์รูปหนึ่งชื่อว่า “จุนทเถร” (บางฉบับว่า จันทเถระ, จุรันทเถระ) เป็นลูกชาวเมืองกุจฉินารา ท่านมาอยู่วิเวกภาวนาในถ้ำที่นั้น ใช้เวลาว่างจารคัมภีร์ที่เป็นพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า คือพระไตรปิฎก ได้ผงใบลานเต็มกอบมือ โยคีรูปนั้นสร้างหีบทองคำ ๗ ใบ ใส่คัมภีร์ไว้ในที่สุดของถ้ำ ทำเป็น ๓ ชั้น ราบเรียบเสมอเข้าไป ๓ วา สูงขึ้นไปอีก ๓ วา กลับราบเรียบเข้าไปอีก ๓ วา ไปตันเสียที่นั้น

ชั้นล่างนั้นเป็นที่อยู่แห่งพระจุนทเถรภาวนา ชั้นกลางเป็นที่อยู่แห่งโยคี และโยคีสร้างเจดีย์ทองคำสูง ๗ ศอก นับแต่เจดีย์ทองคำเข้าไป ๓ ศอก สร้างพระพุทธรูปทองคำไว้ ๓ องค์ แต่ละองค์สูง ๑ คืบ ต่อจากหลังพระพุทธรูปทองคำเข้าไป ๓ ศอก สร้างพระพุทธรูปไสยาสน์องค์หนึ่งยาว ๓ ศอก ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ชั้นบนสร้างเป็นแท่นทองคำ ๗ แท่น เพื่อวางหีบพระคัมภีร์ไตรปิฎกทั้ง ๗ หีบ ที่พระจุนทเถระได้จารไว้ ต่อจากนั้นก็หล่อฆ้องทองคำไว้ ๑ ใบ ปากกว้าง ๒ วา (บางฉบับว่า ๔ วา) สิ้นทองคำหนึ่งล้านหนึ่งหมื่น แขวนไว้ที่ประตูตรงไปถึงพระเจดีย์ เทวดาถึง ๒ องค์ จึงจะตีฆ้องนี้ดัง ถ้าใช้คนตีต้องให้คนถึง ๑๐ คน จึงจะตีดัง เทวดายังตีบูชาพระพุทธเจ้า ทุกวันพระเที่ยงคืนจะได้ยินเสียงดังคล้ายเสียงแมลงภู่บินอยู่ในถ้ำ

เมื่อท่านจุนทเถระยังมีชีวิตอยู่ ภิกษุทั้งหลายก็ดี นักปราชญ์ทั้งหลายก็ดี ประสงค์จะศึกษาเล่าเรียน ก็มาขอยืมคัมภีร์หนังสือของท่านจุนทเถระเอาไปศึกษาเล่าเรียน ยึดเป็นแบบฉบับหลักฐานได้ เพราะเหตุว่าพระอรหันต์เขียนเป็นที่ถูกต้องยิ่งนัก เมื่อท่านจุนทเถระจะนิพพาน ท่านได้เก็บรวบรวมใส่หีบทองคำไว้เหมือนเดิม แล้วจึงนิพพานไปในถ้ำแห่งนั้น

IMG_9140.jpg



ตำนานพระมหาบรมธาตุเจ้าดอยเกิ้ง (ต่อ)

ต่อจากนั้นขุนแสนทองก็นิมนต์โยคีรูปนั้นอยู่เฝ้ารักษาที่ผาเรือที่นั้น (บางฉบับว่า ให้ท่านเจ้าสี่ตนมารักษา) กาลครั้งนั้น พระโยคีก็ออกจากถ้ำเข้ามาอภิวาทกราบไหว้พระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ตรัสถามว่า “ดูราโยคี ท่านมาอยู่ที่นี้ด้วยเหตุอะไร?” โยคีกราบทูลว่า “พระอรหันต์องค์ที่เป็นลูกศิษย์ของพระองค์ มีชื่อจุนทเถระท่านมาอยู่วิเวกที่ถ้ำหิน ท่านมาจารคัมภีร์ธรรมของพระองค์ไว้ทั้ง ๓ ปิฎก ข้าพระองค์มาสร้างเจดีย์ทองคำสำหรับใส่คัมภีร์ไว้ที่นี้

ท่านจุนทเถระนิพพานไปก่อนที่พระองค์จะเสด็จมาถึงที่นี้สักเล็กน้อย ส่วนข้าพระองค์ได้สร้างพระเจดีย์ทองคำสูง ๗ ศอก พระพุทธรูปทองคำ ๓ องค์ สร้างพระพุทธไสยาสน์ ยาว ๓ ศอก และสร้างฆ้องทองคำ ๑ ใบ กว้าง ๒ วา ข้าพระองค์ได้สร้างไว้ที่นี่แล” พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุโมทนาว่า “สาธุ ดีนักแล การที่ท่านกระทำเช่นนั้นถือว่าเป็นบุญแก่ท่านเป็นอันมาก อานิสงส์ก็มีแก่ท่านเป็นอันมากหาที่สุดมิได้”

เมื่อนั้นลัวะทั้งหลายมีขุนแสนทองเป็นประธาน ก็พากันมากราบไหว้พระพุทธเจ้า และพระพุทธองค์ก็เสด็จลุกจากที่ประทับ ทรงเหยียบรอยพระบาทเบื้องขวาไว้ที่แท่นผาคำ ที่พระพุทธองค์ทรงประทับนั่งในเรือทองคำนั้นแล้ว พระพุทธองค์ก็เสด็จขึ้นสู่ดอยผาเรือ พระอินทร์ก็ถือฉัตรกั้นพระพุทธองค์ ขันทองเห็นเช่นนั้นก็บังเกิดความโสมนัสรำพึงว่า “ตั้งแต่เราเกิดมาก็พึ่งมาพบเห็นพระพุทธเจ้าในวันนี้” รำพึงเช่นนี้แล้ว จึงวิ่งไปเอาเกิ้งคำ (สัปทนทองคำ) มากั้นให้พระพุทธองค์ แต่ไม่ทันจึงวิ่งตามพระพุทธเจ้ามาทันที่ยอดดอย พระพุทธองค์ทรงประทับนั่งเหนือยอดดอยแห่งหนึ่ง ขุนลัวะแสนทองก็กั้นสัปทนทองคำ พระพุทธองค์อยู่ด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ส่วนพระอินทร์ทรงถือฉัตรกั้นพระพุทธองค์อยู่ด้านตะวันออกเฉียงใต้ มีพระอรหันต์และพระเจ้าอโศกราชนั่งอยู่เป็นบริวาร

IMG_8898.jpg



ตำนานพระมหาบรมธาตุเจ้าดอยเกิ้ง (ต่อ)

พระเจ้าอโศกราชทอดพระเนตรดูทิศานุทิศ แล้วทรงเห็นสถานที่นั้นงดงามยิ่ง จึงกราบทูลขอพระเกศาธาตุซึ่งพระพุทธเจ้า “ข้าแด่พระพุทธเจ้า สถานที่นี้จักงามยิ่งนัก สมควรตั้งพระศาสนาที่หนึ่งแล” พระพุทธองค์ทรงรำพึงดูสถานที่นั้น ทรงเห็นว่าเป็นครึ่งบ้านครึ่งเมือง ศาสนาตถาคตก็พอจักรุ่งเรืองได้ คนทั้งหลายจะชวนกันมาไหว้นบสักการบูชาเป็นอันมาก แล้วก็ทรงลูบพระอุตมังคศีรษะ ทรงได้พระเกศาธาตุมาหนึ่งองค์ ทรงมอบให้แก่พระอรหันต์และพระเจ้าอโศก จึงตักกระบอกไม้รวกทำเป็นผอบใส่พระเกศาธาตุ แล้วเอาใส่ในผอบทองคำใหญ่ ๗ กำมือ

ทูลถามพระพุทธองค์ว่า “ในบริเวณที่นี้มีถ้ำอยู่ที่ไหนบ้าง พระเจ้าข้า?” พระพุทธองค์ตรัสว่า “มีอยู่ในภูเขาลูกนี้ ศิษย์ตถาคตชื่อ “จุนทเถระ” เป็นลูกชาวเมืองกุจฉินารา มาอยู่วิเวกที่ผาแห่งนี้ นิพพานไปก่อนหน้าตถาคตมาถึง “หีบคัมภีร์คำสั่งสอนของตถาคต ๗ หีบ ก็มีอยู่ในถ้ำแห่งนี้ ท่านทั้งหลายจงนำเอาเกศาธาตุไปบรรจุที่นั้นเถิด” พระอรหันต์ พระอานนทเถระ และพระเจ้าอโศกราช ร่วมกับพระอินทร์ ก็อัญเชิญพระเกศาธาตุลงไปจากยอดเขานับแต่ยอดเขาลงไป  ๑๐๐ วา (บางฉบับว่า ๘๐๐ วา) ก็พบปากถ้ำ  เห็นโยคีรูปนั้นแล้วก็เข้าไปพบเจดีย์ทองคำ เห็นฆ้องทองคำที่โยคีสร้างไว้ ก็ขึ้นไปชั้นบนอันเป็นที่เก็บหีบพระคัมภีร์ไตรปิฎก ก็วางผอบพระเกศาธาตุไว้เหนือแท่นทองคำใกล้กับหีบพระไตรปิฎกนั้น



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_9129.jpg



ตำนานพระมหาบรมธาตุเจ้าดอยเกิ้ง (คัดมาจากตำนานพระเจ้าเลียบโลก ในกัณฑ์ที่ ๘-๙-๑๑)

ครั้งเมื่อพระพุทธองค์มีพระชนมายุได้ ๖๐ พรรษา ได้เสด็จมาทำนายพระธาตุในแคว้นสุวรรณภูมิตามหมู่บ้านนิคมต่างๆ ขณะนั้นเมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าเสด็จไปทางทิศตะวันตกไกลประมาณ ๑๐,๐๐๐ วา ก็ทรงบรรลุถึงแม่น้ำระมิงค์ (แม่ปิง) ก็เสด็จขึ้นสู่ดอยผาเรือในเชิงเขาที่นั้น แล้วตรัสถามพระเจ้าอโศกราชว่า “ดูรามหาราช ผาเรือนี้เป็นรูปเรือจริงหรือ?” พระเจ้าอโศกราชทรงกราบทูลว่า “ผาเรือนี้เป็นรูปเรือจริง” พระพุทธองค์ตรัสถามต่อไปว่า “เป็นเรือของใครนำมาไว้ที่นี้หรือ”

พระเจ้าอโศกราชก็กราบทูลว่า “ข้าแต่พระพุทธองค์ผู้ประเสริฐ แต่เมื่อปฐมกัปป์เริ่มขึ้นในครั้งนั้น มีพระยาองค์หนึ่งชื่อว่า “สิงสุ พายเรือมาถึงที่นี้” พระพุทธองค์ตรัสถามว่า “มาจากทิศใดหรือ” พระเจ้าอโศกราชก็ทรงเล่าเรื่องต่อไปว่า “พระยาสิงสุองค์นั้นพายเรือมาจากทิศตะวันตก พอมาถึงที่นี้น้ำก็บก (น้ำแห้ง) เรือเลยเกยตื้น พระยาองค์นั้นก็ไม่สามารถที่จะพายเรือไปได้ เลยทิ้งไว้ที่นี่ แล้วจึงเสด็จหนีไปทางบกและถึงแก่อนิจกรรม”  พระพุทธองค์ตรัสถามว่า “พระยาสิงสุมีฤทธิ์เดชานุภาพจริงหรือ?” พระเจ้าอโศกกราบทูลว่า “พระยาสิงสุมีฤทธิ์แท้แล”

เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบเช่นนี้แล้ว ก็ทรงเล็งดูอนาคตด้วยอนาคตังสญาณ ก็ทรงทราบว่า “พระยาสิงสุองค์นั้นจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในอนาคต” จึงทรงเหยียบรอยพระบาทไว้เหนือผาเรือนี้ เพื่อให้เป็นบุญแก่พระยาสิงสุ แล้วก็ประทับนั่งเหนือแท่นทองคำท่ามกลางเรือนั้น (ดอยผาเรือ อยู่บริเวณดอยเกิ้ง อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่)

IMG_9124.jpg



ตำนานพระมหาบรมธาตุเจ้าดอยเกิ้ง (ต่อ)

อุบัตินิทานเหตุการณ์ที่พระเจ้าสิงสุทรงนำเรือมาไว้ที่นี้ ผู้มีปัญญาพึงรู้ต่อไปนี้เถิด เมื่อถึงปฐมกัปป์เริ่มก่อตั้งนั้น ในเวลานั้นยังไม่มีพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติมาในโลกแม้แต่พระองค์เดียว ในเวลานั้นน้ำมหาสมุทรก็เหือดแห้งลงไปทีละน้อย จนเชิงเขาแห่งนั้นโผล่พ้นน้ำมหาสมุทรออกมา  ตอนนั้นน้ำนั้นลดพ้นมาถึงเมืองอโยธิยาทวารวดี พระเจ้าสิงสุองค์นั้นประสูติในเมืองม่าน (พม่า) คือเมืองอังวะ ทรงมีฤทธิ์เดชานุภาพมาก

วันหนึ่งพระเจ้าสิงสุทรงสำราญพระทัย จึงรับสั่งให้สร้างเรือทองคำขึ้นลำหนึ่งกว้าง ๘ ศอก ยาว ๑๐ วา ถ่อและพายก็ทำด้วยทองคำ เมื่อสร้างเรือทองคำเสร็จ จึงนำแท่นทองคำตั้งไว้ในเรือ (ฉบับของวัดหัวขัวและวัดต้นแงะ อำเภอเมือง ลำพูน กล่าวว่า “เอาแท่นทองคำแท่นหนึ่งกว้าง ๖ ศอก หนา ๑ ศอก มาตั้งไว้ในเรือ) แล้วถ่อไปในน้ำมหาสมุทรแต่ถ่อไม่ถึง จึงพายไปแล่นไปในน้ำตลอดวัน พายมาถึงดอยลูกใด ค่ำแล้วก็นอนเสียที่นั้น ตื่นขึ้นก็พายต่อมาตามลำดับ

IMG_9122.jpg



ตำนานพระมหาบรมธาตุเจ้าดอยเกิ้ง (ต่อ)

จนกระทั่งถึงเชิงเขาลูกนี้ ก็นอนที่นี้ ๑ คืน พอตื่นเช้าขึ้นมาน้ำแห้งเรือติดอยู่บนบก ยังมีหว่างภูเขาแห่งหนึ่งกว้าง ๑๒ วา พระองค์ก็ลากเรือตกลงไปในระหว่างภูเขานั้น จะเอาออกก็ออกไม่ได้ จึงลงไปเหหัวไปทางทิศตะวันตกแล้วตรัสว่า “ผู้ไม่พิจารณาไม่รู้ว่าเป็นเรือ ผู้ใดมีบุญจึงจะพบ แล้วก็เสด็จหนีไปทางบก ไปถึงเมืองชะแลมคำก็ถึงแก่อนิจกรรมที่นั่น ไม่ทันกลับไปถึงเมืองม่าน นับตั้งแต่นั้นมาน้ำมหาสมุทรก็แห้งลงไปปีละ ๑ วา ๒ วา ตลอดนานเข้าที่นี้ก็กลายเป็นเมืองแห่งหนึ่ง เรือทองคำลำนั้นก็เลยกลายเป็นผาเรือ จมอยู่ระหว่างภูเขาที่นั้น

เพราะเหตุใดน้ำในมหาสมุทรจึงแห้งไป ตามที่ได้รู้มาว่า “สะดือน้ำมหาสมุทรเป็นรูกว้างได้ ๑๐๐ โยชน์ น้ำปั่นเป็นเกลียวลงไปถูกเปลวไฟนรกเป็นอันดำคล้ำยิ่งนัก ประดุจน้ำมันหมูหยดใส่ไฟ  หรือไม่ก็เหมือนน้ำหยดลงสู่ทั้งเหล็กร้อนเสียงดังฉ่าๆ นั้นแหละ ยังมีปูตัวหนึ่งใหญ่กว้างได้ ๕๐๐ โยชน์ มันมีวิบากเกิดมาคู่กับโลกจนตราบสิ้นกัปป์ ปูตัวนั้นก็ใช้ลำตัวมันปิดรูสะดือทะเลไว้ เมื่อไฟนรกพุ่งมาถึงงอกของมัน มันรู้สึกร้อนก็เผยอตัวขึ้น น้ำมหาสมุทรก็พุ่งเป็นเกลียวลงในรูสะดือทะเลไป

เมื่อเป็นเช่นนั้น น้ำมหาสมุทรก็แห้งลดลงไปเล็กน้อย เมื่อเปลวไฟนรกไม่พุ่งขึ้นมาถูกตัวของมัน มันก็ใช้อกปิดรูสะดือทะเลไว้ เหตุนั้นน้ำมหาสมุทรจึงขึ้นมานิดหน่อย เมื่อใดปูตัวนั้นร้อนมันยกอกมันขึ้น น้ำมหาสมุทรก็ปั่นเกลี่ยวลงไป เหตุนั้นน้ำมหาสมุทรเลยแห้งไปทีละเล็กน้อย จนเป็นเหตุให้พระยาสิงสุนำเรือมาทิ้งไว้เชิงเขา และน้ำมหาสมุทรแห้งไปจึงทิ้งเรือทองคำไว้ที่ระหว่างก้อนหินนั้น เป็นเวลานานยิ่งจนเรือทองคำเป็นผาเรือไปอยู่ที่เชิงเขาทองคำแห่งนี้ ได้ชื่อว่า “ดอยผาคำ”

ถึงกาลเมื่อพระพุทธเจ้าโคตรมะของเราเสด็จอุบัติมาเป็นครูแก่โลก ที่นี้เป็นเมืองลัวะ ลัวะผู้หนึ่งเป็นขุนชื่อว่า “ขุนแสนทอง” เป็นใหญ่แก่ลัวะทั้งหลายในอาณารัฐที่นี้ เป็นมิตรกับโยคีผู้หนึ่งซึ่งอยู่ในเมืองผาสี มาสร้างสมบัติสิ่งของให้แก่มัน โยคีรูปนี้มีร่างกายสูงได้ ๘ ศอก มีกำลังเท่าช้างสาร ๗ เชือก เหตุว่ามันได้หล่อกินน้ำบ้า (ไม่ทราบว่าน้ำอะไร บางฉบับว่า “น้ำบ้อป่า, น้ำบายา) เกิดมาตั้งแต่ศาสนาพระพุทธเจ้ากกุสันธะ

เมื่อพระพุทธเจ้ากกุสันธะ เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้วก็กินน้ำบ้าห้าร้อยนั้นอีก (บางฉบับว่า น้ำบ้าและยาห้าร้อย) เลยมีอายุยืนยาวมาถึงสมัยพระพุทธเจ้าโกนาคมนะ เสด็จอุบัติมาเป็นครูแก่โลกและเสด็จนิพพานไป มันก็กินน้ำบ้าห้าร้อยน้ำนั้นอีก ก็มีอายุยืนยาวมาถึงสมัยพระพุทธเจ้ากัสสปะเสด็จมาเป็นครูแก่โลก และเสด็จนิพพานไป มันก็กินน้ำบ้ายาห้าร้อยนั้นอีกเลยมีอายุยืนยาวมาถึงสมัยพระพุทธเจ้าโคตมะของเราทั้งหลาย ขุนลัวะแสนทองผูกมิตรกับโยคีรูปนี้ เพื่อให้โยคีมาสร้างสมบัติสิ่งของให้แก่ตน



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html
‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2025-1-22 11:55 , Processed in 0.085181 second(s), 15 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.